วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันทึกธรรม เมษายน ๒๕๐๙



บันทึกธรรม เมษายน ๒๕๐๙


พยายามทำจิตให้เป็นปกติสบาย ไม่ฟุ้งเฟ้อซ่านถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วภาวนาตั้งสติให้อยู่ในอารมณ์เดียว พอสมาธิเกิดจะเห็นแสงสว่างเหมือนแสงไฟฟ้า พิจารณาใช้ปัญญาวิปัสสนาต่อไป ถ้าหากภาวนาเท่าไร ๆ จิตก็ไม่สงบลงได้ ท่านให้ใช้ปัญญาเลยทีเดียว พิจารณาธาตุขันธ์ ปัญจกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรืออาการ ๓๒ หรืออะไร ๆ ก็ได้ เช่น เรื่องนรกสวรรค์ พุทธานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น คิดนึกไปไตร่ตรองไปใจมันจะสงบลงเอง เมื่อได้ใช้ปัญญาชั่วขณะหนึ่งและจิตสงบก็ให้พักอยู่ในสมาธินั้นสักครู่หนึ่ง คือภาวนาเรื่อย ๆ ไป ให้จิตเป็นสมาธิมาก ๆ ขึ้นแล้วจึงหวนกลบมาใช้ปัญญาต่อไป

ท่านเปรียบเหมือนกรรมกรทำงานแบกหาม เขาเริ่มทำงานสองโมงเช้า พอเที่ยงเขาก็หยุดพักจริง ๆ บ่ายโมงเขาก็เริ่มทำงานใหม่ จนบ่ายสี่โมงเย็นก็หยุดเลิกงาน คือทำงานหนื่อยแล้วต้องหยุดพักผ่อนชั่วคราวจึงทำงานต่อไปใหม่ การปฏิบัติทางจิตต้องทำอย่างนี้ต้องให้จิตมีเวลาได้พักผ่อนบ้าง ขืนใช้ปัญญาตะบันไปไม่ถูกหลัก ขืนสงบเป็นสมาธิเสียเรื่อยก็ไม่มีประโยชน์ มันเหมือนกับสมาธิหัวหลักหัวตอ เป็นเสาไม้ตั้งโด่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย หรือเวลาจิตสงบเกิดนิมิตเห็นโน่นเห็นนี่ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ให้พิจารณาสังขารว่าเป็นปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ดู ๆ ไปจนจิตละคลายความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นอนัตตา ตัวตนสัตว์ บุคคล หญิง ชาย นั้นของเราของเขา พิจารณาจนเกิดเบื่อหน่ายในสังขารนี้ ให้ท่องคาถา ๒ บทนี้ไว้ให้ขึ้นใจ คือ

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา

สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา ติ

ควบคุมใจ



ควบคุมใจ

พระพุทธเจ้าว่าเราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนทาง ทางออกจากโลก ทางไปสวรรค์ก็ดี ทางไปนิพพานก็ดี เราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้เท่านั้นแหละ ตนนั่นแหละ พวกอุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลายต้อง ทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระสาวกทั้งหลาย ก็ทำเอาเองทั้งนั้น ตนแหละทำให้ตน ตนจะออกจากโลกก็แม่นตน ตั้งอกตั้งใจทำใส่ตน ตนจะติดอยู่ในโลกก็แม่นใจของตนไม่อยากไป เพราะหลงตนหลงตัว ทางปฏิบัติน่ะเราก็ได้ยินได้ฟังมาแล้ว แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเอา พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอน หรือครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ก็ไม่หนีจากกายคตา คือ ปัญจกรรมฐานนี่แหละ ต้องพิจารณา เราจะพิจารณานอกมันไปก็เป็นนอกไปเสีย ไกลไปเสีย เพื่อให้จิตให้ใจนั่นแหละ รู้จักสกนธ์กายอันนี้ รู้จักก้อนอันนี้ว่ามันเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใครสักคน เรานี้ได้สมบัติอย่างดีคือสกนธ์ กายนี้ มีหู ตา จมูก ลิ้น กายดี มีใจดี ได้สมบัติอันดีมาใช้ เราจะใช้สอยมัน เราจะเดินทางไปสวรรค์ก็ดี จะเดินทางไปพระนิพพานก็ดี ต้องอาศัยอันนี้ จะมีแต่ดวงจิตอย่างเดียวก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งสิ้น


พระพุทธเจ้าท่านได้เทศน์ไว้ว่า มโนปุพพงฺคมาธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลาย จะทำดี ทำกุศลดี ก็ใจนี่แหละเป็นผู้ถึงก่อน เป็นผู้ถึงพร้อม จะทำบาปอกุศลก็ใจนี่แหละ จะเป็นผู้ผ่องแผ้วแจ่มใสเบิกบานก็ใจนี่แหละ จะเศร้าหมองขุ่นมัวก็ใจนี่แหละ ใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้วก็ไม่มีความสุขอยู่ในโลก จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ครั้นผ่องแผ้วละก็ พระพุทธเจ้าท่านว่า มนสาเจ ปสนฺเนนะ บุคคลผู้มีใจผ่องแปล้วดีแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็มีความสุข แม้จะทำอยู่ก็มีความสุข ตโตน สุขมเนวติ อยู่ที่ไหน ๆ ก็มีความสุข มีความสุขเหมือนกะเงาเทียมตนไป ฉายาว อนุปายินี เหมือนเงาเทียมตนไป ไปสวรรค์ก็ดี มามนุษย์ก็ดี
เพราะเหตุนั้นแหละ ให้เราพากันตั้งใจอบรม ตั้งสติไว้ที่ใจ ควบคุมใจให้มีสติมีสัมปชัญญะ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ การทำการพูดการคิดก็อย่าให้มัน ผิดมันพลาดไป ควบคุมให้มันถูก ครั้นมันผิดมันพลาด เราก็มีสติยั้งไว้ ละ ปล่อยวางไม่เอามัน ทางมันผิดน่ะ พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทางไปนรก ทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก ทางไปพระนิพพาน พระองค์ ก็บอกไว้แล้วให้วางกายให้เป็นสุจริต วาจาให้บริสุทธิ์ ใจให้บริสุทธิ์ นี้ทางไปสวรรค์ ทางมามนุษย์ ทางไปพระนิพพาน ให้บริสุทธิ์อย่างนี้ ทางไปนรกนั่นเรียกว่าทุจริตนั้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันนี้ทางไปนรก เราจะเว้นเสียไม่ไปละ รู้จักแล้ว เราจะไปแต่ทางที่ราบรื่น ทางสบาย การเดินก็ทางกาย วาจา ใจเท่านั้นแหละ ผู้ที่จะเที่ยวเอาภพเอาชาติ นับกัปนับกัลป์ไม่ได้ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา คือดวงจิตของเรานี่เอง ดวงจิตของเรานี่เองเป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรแล้วก่อเล่า ไม่เบื่อสักที ก็แม่นดวงจิตของเรานี่แหละ เพราะเหตุนั้นเราจึงต้องอบรมจิตใจของเราให้ดี ให้ใจรู้เสีย ใจนี่แหละมันเป็นผู้หลงจนนับภพนับชาติไม่ได้ ภพน้อยภพใหญ่ เที่ยวอยู่ในสังสารจักรนี่ จึงให้เข้าใจเสียว่าเจ้ากรรมนายเวรคือใจ ตัวกรรมแม่นใจ ดวงใจอันเดียว วิญญาณอันเดียวเป็นตัวกรรม แต่งกรรมเสียแล้วให้เวียนตายเวียนเกิดที่นี่ ไม่เลิก เรารู้จักแล้วเราต้องควบคุมใจ แนะนำสั่งสอนใจ ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ว่าเอาย่อ ๆ นี่แหละ กว้างขวางก็ได้ยินมาพอแฮง (แรง) แล้ว เอาย่อ ๆ ควบคุมใจเท่านั้นแหละเดี๋ยวนี้ ใจนี้เจ้าของนรกก็แม่นใจนี่แหละ ม่าง (เลิก, ทิ้ง) นรกก็แม่นใจนี่แหละ ครั้นมันไม่ดีละก็ร้อนเป็นทุกข์เหมือนใจจะขาด ครั้นใจไม่ดีละมันกลุ้มใจเป็นทุกข์จนฆ่าตัวตายนี่แหละ ถือว่าเราเป็นเรานี่ก็เพราะใจนี่แหละไม่ใช่อื่นดอก เพราะมันไม่รู้ ท่านเรียกว่าอวิชชา ตัวใจนี่แหละอวิชชา เราจึงควรสดับตรับฟังแล้วก็ค้นคว้าพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผล


ทุกข์มันมาจากไหน ให้พิจารณาทุกข์ก่อน ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ มันมาจากไหนค้นขึ้นไปซิ เห็นแต่มาจากโง่นั้นแหละ ดวงจิตเป็นผู้โง่ มันต้องเป็น มันต้องเดือดร้อน มันถึงใคร มันถึงปรารถนา มันถึงอยากเป็นนั่น เป็นนี่ มันไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเกลียดเพราะชัง มันชังมันก็ไม่อยากเป็นแ แล้วก็หาของมาแก้ไข หาคิดอีหยังมาทา หนังเหี่ยวก็อามาทาลอกหนังออก มันได้กี่วัน มันก็เหี่ยวอย่างเก่า นี่หาทางแก้ดู ท่านว่าวิภวตัณหา มันเป็นกับดวงใจ เราสดับรับฟังอยู่ อบรมอยู่ทุกวันนี้ ทำความเพียร อยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอยากรู้จักใจของเรา ครั้นรู้แล้ว ก็คุมเอาแต่ใจนี่ ขัดเกลาเอาแต่นี่ สั่งสอนเอาแต่นี่ ให้มันรู้เท่าสังขารนี่แหละ มันไม่รู้เพราะมันโง่ว่า แม่นหมดทั้งก้อนนี้ เป็นตัวเรา เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ยึดถือไป ยึดถือออกไปรอบ ๆ แผ่นดิน ยึดในตัวยังไม่พอ ยึดแผ่นดินออกไปอีก นี่แหละเพราะความหลงก็ยึด ทั้งการทำการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนวิชาคือศิลปะทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อจะบำรุงบำเรอครอบครัวของตน บำรุงบำเรอตนให้แป็นสุข บำรุงพระศาสนา ค้ำจุนพระศาสนาก็เป็นการดี ขอให้รู้เท่าแล้วอย่าไปยึดมัน เท่านั้นแหละ

ในปฏิจจสมุปบาทท่านว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ท่านว่าได้ดับความโง่อันเดียวเท่านั้น ผลดับหมด เพราะธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลาย คือ ดีก็ดี ชั่วก็ดี ไหลมาแต่เหตุคือความโง่ ความไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นตัวตน ก็ได้รับผลเป็นสุขเป็นทุกข์สืบไป ท่านเรียกว่า วัฏฏะ การวน วนไม่มีที่สิ้นสุด เราท่องเที่ยวอยู่นี่ตั้งแต่แผ่นดินเป็นแผ่นดินมาแล้ว ทุกคนนี่แหละ คุณหมอก็ดี คุณหญิงก็ดี เกิดมาชาตินี้นับว่าบุญบารมีอันพวกท่านทั้งหลายได้อบรม ศีล ๕ศีล ๘ รักษาอุโบสถ รักษากรรมบท ๑๐ จึงเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์เกิดมาก็ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ไม่เป็นผู้มักหน่าย มีความพอใจแสวงหาวิชาศิลปะ จนได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นสูง นี่ก็เพราะบุญกุศลของเราได้สร้างสมอบรมมา จึงว่า ปุพเพกตปุญญตา คือบุญได้สร้างสมไว้แล้วกแต่กาลก่อน แล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร


ประเทศอันสมควรก็หมายเอาสกนธ์กายอันนี้หรือจะหมายเอาแผ่นดิน ฟ้า อากาศ ก็ได้ หรือจะหมายเอาประเทศที่มีพระพุทธศาสนาตั้งมั่นถาวร และมีอาจารย์นักปราชญ์แนะนำสั่งสอนได้ อันนี้ก็ว่าประเทศอันสมควร ปุพเพกตปุญญตา พวกเราได้เคยอบรมสร้างสมบุญกุศลมาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงเป็นผู้บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร ประเทศเราได้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่บรรพบุรุษจนตราบเท่าทุกวันนี้ เราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนา แล้วก็ได้ตั้งตนไว้มั่นที่ชอบ คือตั้งตนไว้ในการสดับตรับฟังทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางโลกก็ดี เกื้อกูลอุดหนุนโลกให้เจริญ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำอัตตประโยชน์ ประโยชน์ของตนก็ได้แล้ว และโยชน์ของผู้อื่นของโลกก็ได้อยู่ นี่แหละชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบ แล้วก็ตั้งตนอยู่ในศีล ในการภาวนา ตั้งตนอยู่ในการสดับรับฟัง นี่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนในที่ชอบ ท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันประเสริฐสุด ให้มีสติควบคุมใจของตน อันนี้ก็ชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบอย่างสูงสุด

นี้แหละ ให้ควบคุมดวงจิตของเราให้รู้จักเสีย เจ้ากรรมนายเวรก็คือดวงจิตของเรานี่แหละ ผีนรกก็เป็นดวงจิตอันนี้ สวรรค์ก็เป็นดวงจิตอันนี้ พรหมโลกก็ดวงจิตอันนี้ ครั้นรู้จักแล้ว ก็ทำความเพียรต่อไปจนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในอัตภาพของตนที่เป็นมาหลายภพหลายชาติ การเกิดเวียนไปเวียนมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่การสดับรับฟัง มีแต่การบริจาคให้ทาน มีแต่ศีลของตน เท่านี้เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในติดตามไปกับดวงจิตของเราทุกภพทุกชาติ จิตเมื่อมันทำความชั่วไว้แล้วก็ไม่ลืม ใครไม่ต้องการสักคนหมดทั้งนั้น ความชั่วบาปกรรม ให้คิดดู แต่นักโทษเขาลัก เขาปล้นสะดมภ์แล้ว เขาก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ตามป่าเขาตามถ้ำตามดง เพราะเขาไม่ปรารถนาจะให้พวกตำรวจไปจับเขา อันนี้มันก็ไม่พ้นดอกบาปน่ะ ฉันใดก็ดี ครั้นทำลงแล้ว ทำบาป อกุศลจิตก็เป็นผู้จำเอา ไปตกนรกก็แม่นดวงจิตนั้นแหละเป็นผู้ตก


อัตภาพคือ ร่างกายของเรานี้มันก็นอนทับดิน ส่วนดินมันก็เป็นดิน ส่วนน้ำมันก็เป็นน้ำ ส่วนลมส่วนไฟมันก็เป็นลมเป็นไฟของเก่ามัน ครั้นพ้นแล้วก็กลับมาถือเอาดินเอาน้ำของเก่าอีกเท่านั้นแหละ แล้วก็มาใช้ดินน้ำไฟลมนี่แหละครบบริบูรณ์ เอามาใช้ในทางดีทางชอบ ก็เป็นเหตุให้ได้สำเร็จมรรคผล พระนิพพาน พรพุทธเจ้าสร้างบารมีก็อาศัยดินอันนี้แหละ ประเทศอันสมควรอันนี้แหละ สาวกจะไปพระนิพพานตามพระพุทธองค์ก็อาศัยอัตภาพอันนี้ครั้นไม่อาศัยอัตภาพอันนี้ก็มีแต่ดวงจิตหรือมีแต่ร่างซื่อ ๆ ก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งนั้นเหมือนกันทั้งนั้น พวกเทพยดาได้วิมานชมความสุขอยู่ตลอดชีวิต ชมบุญชมกุศล ก็ทำเอามาแต่เมืองมนุษย์ ครั้นจุติแล้วก็ได้ไปเสวยผลบุญกุศลของตน ครั้นหมดบุญแล้วก็ลงมาเมืองมนุษย์มาสร้างอีกแล้วแต่จะสร้างเอา อันชอบบุญก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบุญ อันชอบบาปก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบาป เหมือนพระเทวทัตนั่น ต่างคนต่างไปอย่างนั้น
อาตมาบอกไว้เท่านั้นว่า ให้มีสติคุมดวงจิต สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตว์อเวจีก็แม่นจิต พระอินทร์พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร จิตไม่มีตนมีตัว จิตเหมือนวอก (ลิง) นี่แหละ แล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงจะแต่ง บอกไม่ได้ ไหว้ไม่ฟัง เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน ก็จิตนั้นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั่นแหละเป็นผู้ว่า มันไม่มีตนไม่มีตัวดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสีย ให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้วไม่ไปก่อภพ ก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพานละ แน่ะ พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น ให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันเห็นว่าเป็นของสวยของงามของดี ดวงจิตนั้นเมื่อมีสติควบคุม มีสัมชัญญะค้นหาเหตุผลใคร่ครวญอยู่ มันเลยรู้เห็นว่าอัตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตนั่นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่า จิตหลุดพ้น ถึงวิมุตติ วิมุตติ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา

วิมุตติคือความหลุดพ้น



วิมุตติคือความหลุดพ้น

การทำความดี มีการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา เป็นต้น การทำความชั่ว มีกายทุจริต วจีทุจริต เป็นต้น ครั้นเราทำความดี ความดีจะตามสนองให้เรามีความสุข มีสุคติเป็นที่ไป ครั้นเราทำความชั่ว ความชั่วจะตามสนองให้เรามีความทุกข์ มีทุคติเป็นที่ไป พวกเราได้อัตภาพ ร่างกายมาสมบูรณ์บริบูรณ์ ก็เป็นเพราะปุพเพกตปุญญตา บุญของเราได้ทำมาแต่ปางก่อน พวกเราจึงไม่ควรประมาท ควรรีบทำคุณความดี ละความชั่ว ความชั่วก็ให้เห็นว่ามันพาไปใน ทางไม่ดี ทำแล้วได้รับความเดือดร้อน ตกนรกทั้งเป็นนั่นแหละ พวกเรามีการมาทำบุญให้ทาน มีการสดับรับฟังธรรมะ รักษาศีลภาวนา ก็พาให้เกิดความสบายใจ นั่นแหละบุญ เห็นกันที่นี่แหละ ไม่ต้องลาตายแล้วจึงจะไปสวรรค์ แล้ว ใจดีก็เป็นสวรรค์แล้ว ใจร้ายก็เป็นนรก เดี๋ยวนี้แหละ

เพราะเหตุนี้ จงทำใจให้ร่าเริง อย่างไปทำให้เศร้าหมอง ขุ่นมัว มันจึงจะมีความสบาย จึงจะมีความสุข เพราะฉะนั้นจึงควรทำความดี อย่าประมาท ให้พากันทำสติสัมปชัญญะให้รู้ตัวอยู่ทุกเมื่อ คือความรู้ตัวในการกระทำ ก่อนทำอะไรลงไปให้คิดเสียก่อนว่ามันได้ผลดีหรืออย่างไรต่อไปข้างหน้า ถ้ารู้ว่ามันไม่ดี ให้ความทุกข์เราก็ไม่ทำ ประกอบแต่คุณงามความดี ให้ระลึกรู้ว่าเมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ไม่ได้ทำเสียเปล่าหรอก ทำเหตุลงไปแล้วไม่ได้รับผลไม่มีหรอกในโลกนี้ เหตุดีก็ต้องได้รับผลดี เหตุชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว มันจะสูญหายไปไม่มี
การปฏิบัติธรรมนั้นไม่มีโทษมี แต่คุณ คือ จิตไม่ขุ่นมัว จิตผ่องใน จิตเบิกบาน จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีความสุข ไม่มีความทุกข์ จะเข้าสู่สังคมใด ๆ ก็องอาจกล้าหาญ การทำความเพียร เมื่อสมาธิเกิดมีขึ้นแล้ว จะไม่มีความหวั่นไหว ไม่มีความเกียจคร้านต่อการงานทั้งทางโลกทั้งทางธรรม จากนั้นก็เป็นปัญญาที่จะมาเป็นกำบัง เมื่อปัญญาเกิดขึ้นแล้วรู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ จะเรียนทางโลกก็สำเร็จ จะทำทางธรรมก็สำเร็จ พระพุทธเจ้าท่านจึงสั่งสอนอบรม ให้เกิดให้มีขึ้นมา เบื้องต้นตั้งแต่ศีล ศีลเป็นที่ตั้งของสมาธิ สมาธิเป็นที่ตั้งของปัญญา ไม่ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางมาแห่งวิมุตติคือความหลุดพ้นด้วยกัน
ธรรมทั้งหลายตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีทุกขา มีอนิจจา มีอนัตตา ทั้งสามนี้ให้สำนึก พึงรู้ ทุกขัง ชาติ ความเกิดมาเป็นทุกข์ อนิจจัง มันไม่เที่ยง มันแปรเป็นอื่น อนัตตา ไม่ใช่ตัวตน บอกมันก็ไม่ฟัง บอกไม่ให้มันแก่มันก็แก่ ฟันบอกฟันไม่ให้มันหลุดมันก็หลุด หัวบอกไม่ให้มันหงอกมันก็หงอก หนังบอกไม่ให้มันเหี่ยวมันก็เหี่ยว ผลที่สุดไม่นานก็นอนตายทับแผ่นดิน ส่วนดินก็ไปเป็นดิน ส่วนน้ำก็ไปเป็นน้ำ ส่วนลมก็ไปเป็นลม เหลือแต่ดวงวิญญาณนี้เท่านั้น นี่ธาตุ ๔ ให้พิจารณาแยกออก ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธาตุดินต่างหาก ธาตุน้ำต่างหาก ธาตุลมต่างหาก ธาตุไฟต่างหาก มารวมกันแล้วก็แตกดับไป เป็นของไม่แน่นอน เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ทุกขังมีแต่ทุกข์ ถ้าใครไปยึดไปถือ

ส่วนอริยสัจ ๔ ให้พิจารณาให้รู้ให้เห็นตามเป็น จริง ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละเสีย นิโรธ ควรทำให้แจ้ง มรรค ควรทำให้เกิดให้มี ชาติ ความเกิด ชรา ความแก่ พยาธิ ความเจ็บ มรณะ ความตาย นี่ทุกขสัจ ทุกข์มันเกิดมาจากไหน ทุกข์เป็นตัวผล สมุทัยเป็นตัวเหตุ สมุทัยคือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ความใคร่ในรูปที่สวยที่งามในวัตถุ กามต่าง ๆ มีเงินทองข้าวของเป็นต้น เรียกว่า กามตัณหา ความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นโน่นเป็นนี่ อยากเป็นเศรษฐีคหบดี เป็นต้น เรียกว่า ภวตัณหา ความไม่พอใจ ของได้มาแล้วหายไปก็เกิดความไม่พอใจร่างกายของตนก็ดี ของคนอื่นก็ดี

เมื่อแก่ลงมามีความชำรุดทรุดโทรม ผมหงอก ฟันหัก แก้มตอบเป็นต้น เลยไม่พอใจ หรือเสียงเขาด่า เขานินทา ได้ยินเข้าก็เกิดความไม่พอใจ นี้เรียกว่าวิภวตัณหา ตัณหาทั้ง ๓ ประการนี้เป็นเหตุให้สัตว์ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร ในภพน้อยภพใหญ่ นับกัปนับกัลป์ไม่ได้ ตัณหามันเกิดขึ้นจากไหน ต้องค้นหาเหตุมัน เหตุมันเกิดจากอายตนะภายในและ อายตนะภายนอกมาสัมผัสกัน ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้ธรรมารมณ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เพียรสำรวมเพียรละไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ทำจิตให้เป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์ นี่เรียกว่า การดับตัณหา


การทำความเพียร การสำรวม และการทำความดีทุกอย่างเพื่อละตัณหานี้แหละเป็นทางมรรค เมื่อปัญญาเห็นความเกิดขึ้นความดับไปของสังขารทั้งหลายทั้งปวง เห็นแน่ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงธาตุ ๔ มาประชุมกันเข้าแล้วก็แตกสลายไปอย่างนี้แต่ไหนแต่ไรมา ฐิติธรรมมีการตั้งขึ้น มีอยู่ แล้วดับไป พิจารณารู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ ไม่หวั่นไหว เรียกว่านิโรธ คือผู้วางเฉยต่ออารมณ์ดังนี้แหละ...

วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

หลวงปู่ขาวตอบปัญหาธรรม ตายแล้วสูญ



ถาม ปู่ครับพวกหลานมากราบเยี่ยมปู่ เพราะได้ยินกิตติศัพท์เกียรติคุณปู่มานาน แต่จะไม่ขอรบกวนอะไรมาก มีข้องใจอยู่อย่างหนึ่งที่คนเขาว่า “ตายแล้วสูญ” ไม่ได้เกิดเป็นอะไรต่อไปอีกเลยตลอดไป ความจริงที่ศาสนาสอนให้เป็นอย่างไร ปู่



ตอบ คัมภีร์กิเลสสอนไว้ว่า บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี สัตว์ทั่วโลกธาตุตายแล้วสูญสิ้นโดยประการทั้งปวง ไม่มีชิ้นส่วนเหลือเป็นสาระพอให้เกิดต่อไปอีกได้ เหล่านี้เคยมีผู้ถามมามากต่อมากแล้ว และก็ได้ตอบไปมากต่อมากเช่นเดียวกัน
ในธรรมของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ตรัสสอนไว้เป็นแบบเดียวกันอย่างตายตัวว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มีและนิพพานมี สัตว์ทั่วแดนโลกธาตุที่ยังมีกิเลส อวิชชาครองใจ เวลาตายแล้วต้องเกิดอีกวันยังค่ำ เว้นพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น นอกนั้นเป็นจำพวกตกอยู่ในแหล่งแห่งความเกิดแล้วตายเล่าตลอดไปจนกว่าจะทำใจซึ่งเป็นที่ฝังจมของเชื้อแห่งภพชาติให้สิ้นจากเชื้อนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว

จึงจะสิ้นสุดยุติการเกิด - ตายอย่างหมดเยื่อใย ให้หลานเลือกเฟ้นเอาเอง จะเอาคัมภีร์กิเลสที่ชื่อว่า “คัมภีร์แสนปลิ้นปล้อนหลอกลวงสัตว์” ก็ได้ จะเอาคัมภีร์ธรรมทีชื่อว่า “คัมภีร์เด็ดเพชรน้ำหนึ่งในการสังหารกิเลส” ก็ได้ หรือจะเอาเป็นคาถาว่ากิเลสทุกประเภท สรณํ คจฺฉามิ ขึ้นชื่อว่ากิเลสแล้วเราคว้าหมดก็ได้ พุทธํ ธมฺมํ สงฺฆํ สรณํ คจฉามิ ขึ้นชื่อว่าพระรัตนตรัยแล้วเราน้อมรับหมดก็ได้


ถาม โอ้โฮ คัมภีร์ของปู่นี้พิสดารจริง เพิ่งได้ยินนี่เอง ไปเขียนมาจากไหนปู่ หลานไม่เคยได้ยินใครพูดมาก่อนเลย

ตอบ เรียนมาจากป่าจากเขา จากถ้ำ เงื้อมผา ป่าช้า ป่าชัฏ ซอกห้วย ริมธาร และจากความอดอยากขาดแคลน จากความเดนตายในการเรียนการปฏิบัติ ตามจี้ ไม่ใช่ได้มาอย่างสะดวกสบายดังผู้มาเยี่ยมทั้งหลายที่ถามเอาๆ ถ้าอยากรู้คาถาเหล่านี้ประจักษ์กับตัวเอง ไม่ต้องแบกความสงสัยอันหนักหน่วงต่อไป ว่าตายแล้วเกิดอีก หรือตายแล้วสูญ ก็ต้องปฏิบัติด้วยจิตภาวนาตามธรรมที่ท่านสอนไว้ เมื่อการปฏิบัติและผลสมบูรณ์แล้ว คำว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ จะไม่นอกเหนือไปจากการพิสูจน์ด้วยข้อปฏิบัติไปได้เลย ต้องรู้ต้องเห็นเพราะเป็นหนทางให้รู้ให้เห็นความจริงโดยตรง
พระพุทธเจ้าแลพระอรหันต์ทั้งหลายเป็นจำนวนล้านๆ ล้วนพิสูจน์จากธรรมปฏิบัติ จิตภาวนาทั้งสิ้น ท่านจึงรู้ได้เห็นได้โดยไม่ต้องถามกันและถามใคร แล้วนำธรรมเหล่านั้นมาสอนโลก โดยผลัดเปลี่ยนกันมาจนถึงพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันคือพระสมณโคดมของพวกเราชาวพุทธ ให้ได้กราบไหว้บูชาและปฏิบัติตามอยู่เวลานี้ จะสงสัยไปไหน กิเลสเคยหลอกโลกให้สงสัยและล่มจมมามากต่อมากและนานแสนนานแล้ว ทำไมจึงไม่พากันเบื่อหน่ายอิ่มพอในโทษของมันบ้าง พอได้ลืมตาอ้าปากเข้าสู่ธรรมดวงประเสริฐเลิศในไตรภพ


ถาม ที่ว่าตายแล้วสูญนั้น เป็นกลหลอกลวงของกิเลสหรือปู่

ตอบ ใช่ ร้อยทั้งร้อยล้วนเป็นกลลวงของกิเลสทั้งนั้น ธรรมท่านมิได้หลอกลวงใคร นอกจากปลุกสัตว์โลกให้ตื่นจากหลับจากหลงไปตามกิเลสเท่านั้นธรรมท่านไม่หลอกสัตว์ ธรรมท่านเมตตาสัตว์ ธรรมท่านจริงจังต่อสัตว์ผู้ทุกข์ยากอยากให้พ้นทุกข์พ้นภัยถ่ายเดียว


ถาม การเกิด เกิดได้ทั่วๆ ไปหรือเกิดได้ในคนในสัตว์ชนิดเดียว ปู่ เช่นเคยเกิดเป็นคนแล้วต้องมาเกิดเป็นคนซ้ำๆ อีกอยู่ทำนองนั้น หรืออาจไปเกิดเป็นสัตว์อื่นๆ กำเนิดอื่นๆ เป็นเทวดา อินทร์ พรหมก็ได้ โปรดเมตตาด้วย ปู่

ตอบ ตามแต่วิบากดี-ชั่วของสัตว์แต่ละรายทำไว้ผลักดันและหนุนค้ำให้ไปเกิดในกำเนิดต่างๆ ทั้งต่ำแลสูง อวิชชาคือกิเลสตัวฝังลึกอยู่ในใจเป็นเชื้อพาให้สัตว์เกิดวิบากดี-ชั่วพาให้เกิดในกำเนิดต่ำสูง ทุกข์สุขมากน้อยตามกำลังวิบากนั้นๆ สัตว์จะไปเกิดเอาตามความต้องการของตนย่อมไม่ได้ ต้องไปตามวิบากดี-ชั่วเรื่อยมาและเรื่อยไปอยู่ทำนองนี้ ถ้ามีบุญก็ไปสูงและเป็นสุข ถ้ามีบาปก็ไปต่ำและเป็นทุกข์ ถ้ามีบุญมากก็ไปสูงมากและสุขมากตามวิบากบุญ ถ้ามีบาปมากก็ไปต่ำมากและทุกข์มากตามวิบากบาปผลักไสไป
จงทราบให้ถึงใจ ปู่พูดอย่างตั้งใจว่า อวิชชาในจิตนั้นแล เป็นตัวยืนโรงที่พาให้สัตว์เกิด-ตาย เกิด-ตาย วกเวียนไปมาไม่มีเวลาจบสิ้นลงได้ ถ้าอยากจบสิ้นการเกิด-ตาย จงทำลายอวิชชาภายในใจออกให้หมด เมื่ออวิชชาสิ้นซาก การเกิด-ตายก็สิ้นซากไปตามๆ กันอย่างไม่มีปัญหา แต่การตายแล้วสูญนั้น มันเพลงอัศจรรย์ของอวิชชากล่อมสัตว์โลกให้ตาบอดต่างหาก ไม่มีความจริงแม้ ๑ เปอร์เซ็นต์แฝงอยู่เลยมันโกหก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์แท้ๆ จงจำ จงเข็ดหลาบในเพลงของมัน อย่าหาญไปลอง ถ้าไม่อยากตาบอดตลอดกัปกัลป์ จะว่าปู่ไม่บอก

   ปู่สงสารรีบบอกอยู่โต้งๆ นี่แหละ ฟังนะ คำว่า ตายสูญไม่มี อย่าเชื่อ อวิชชาอุตริร่ายมนต์โกหกสัตว์โลก แต่คำว่าตายแล้วเกิด นั่นมีทั่วแดนโลกธาตุ พระธรรมท่านประกาศยืนยันเรื่อยมา จงเป็นที่ลงใจและมั่นใจ อย่ารวนเร เดี๋ยวอวิชชาคว้าไปต้มยำขยำกับน้ำพริก จะว่าปู่ไม่ฉุดไม่คว้าเอาไว้ ปล่อยให้จมไปกับมัน เอาละพอกินพอใช้ขนาดนี้แล้ว ไป ปู่เหนื่อย


ถาม คำว่า บาป บุญ นรก สวรรค์ นิพพาน เหล่านี้ มีอยู่โลกไหนกันแน่ ปู่

ตอบ มีอยู่ในท่ามกลางแห่งโลกมนุษย์ แต่มิใช่มนุษย์มิใช่สัตว์ มิใช่เปรต ผี เทวบุตร เทวดา อินทร์ พรหม มิใช่ ต้นไม้ ภูเขา มิใช่ดิน น้ำ ลม ไฟ มิใช่วัตถุแร่ธาตุต่างๆ ในโลกสมมุติ นิพพานมีอยู่ในวิมุตติสถาน แต่มิใช่มีอยู่ในชื่อที่ว่า นิพพาน

นิพพาน และวิมุตติธรรมที่กล่าวถึงเหล่านี้ มีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตน มิได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ บุคคลใด สิ่งใดทั้งสิ้น สิ่งที่จะรับทราบธรรมเหล่านี้ได้ มิใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมิใช่วิชาทางโลกทุกๆ แขนง และเรียนวิชาธรรมจนจบพระไตรปิฎกแต่มิได้ปฏิบัติ ตลอดเครื่องพิสูจน์ใดๆ ที่โลกใช้กัน มีใจเท่านั้นที่ปรับตัวด้วยหลักธรรม คือ ด้วยการปฏิบัติจิตภาวนาดังพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านปฏิบัติและรู้เห็นประจักษ์พระทัยและใจมาแล้วมากต่อมากจนไม่อาจนับอ่านจำนวนท่านได้ ท่านเหล่านี้แม้พระองค์และองค์เดียวมิได้ถามกันและถามใครเลย ทรงปฏิบัติจิตภาวนาโดยหลักธรรมที่จะทำให้รู้ให้เห็น ก็ทรงรู้ทรงเห็น และรู้เห็นขึ้นกับตนเอง

ฉะนั้น การที่จะแก้ความสงสัยให้หายในบาป บุญเป็นต้นนั้น ต้องพิสูจน์กันด้วยการปรับจิตใจโดยการปฏิบัติธรรม มีจิตภาวนาเป็นสำคัญ จนรู้เห็นประจักษ์ใจแล้ว ความสงสัยแม้จะเคยครองหัวใจมาตั้งกัปตั้งกัลป์หรือตั้งแต่วันเกิดก็ดับวูบลงในทันที มิได้อ้างกาลเวลาที่เคยยึดครองหัวใจมาเลย เช่นเดียวกับความมืดแม้จะเคยมืดมาตั้งกัปตั้งกัลป์ก็ตาม เพียงเปิดไฟสว่างจ้าขึ้นเท่านั้น ความมืดก็หายไปเองโดยมิได้อ้างกาลเวลาที่เคยมืดมาฉะนั้น

การรู้เห็นบาปบุญเป็นต้น ตลอดสัจธรรมทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ไม่จำต้องมีกาลสถานที่มาเกี่ยวข้องและกีดกัน ความจริงเท่านั้นจะเปิดความจริงขึ้นมาให้ผู้ปฏิบัติจริง ได้รู้เห็นความจริงที่มีอยู่ทั้งหลายได้ประจักษ์แจ้งโดยไม่อ้างกาลว่าสมัยโน้นสมัยนี้ เพราะกรรมเป็นปัจจุบันธรรมตลอดมาแต่กาลไหนๆ แม้สวากขาตธรรมที่ตรัสไว้ก็เป็นปัจจุบันธรรมสดๆ ร้อนๆ ควรแก่การนำมาพิสูจน์สิ่งลี้ลับทั้งหลาย ซึ่งก็เป็นปัจจุบันธรรมเช่นเดียวกันได้อย่างไม่มีปัญหา

ที่เป็นปัญหาอันใหญ่โตในหัวใจสัตว์ไม่ให้มองเห็นความจริงทั้งหลายได้ ก็มีกิเลสตัวทำให้มืดบอดอย่างเดียวเท่านั้น พาสร้างบาปและลงนรก ทั้งที่มันโกหกว่าบาปไม่มี นรกไม่มี แต่สัตว์โลกโดนไม่หยุดหย่อนผ่อนคลายบ้างเลย ส่วนบุญ สวรรค์ นิพพานไม่ต้องกล่าวถึงเพราะเป็นธรรมชาติที่มันไม่ต้องการให้สัตว์โลกคิดและสนใจอยู่แล้ว ทั้งนี้เพราะขาดผลรายได้และนโยบายของมัน
ว่าไง ที่นี่ ปู่ได้อธิบายให้จนหมดพุงแล้ว จะเชื่อหรือไม่เชื่อ ธรรมก็มีเท่านี้ไม่สามารถจะอธิบายให้ละเอียดกว่านี้ได้ ประการหนึ่งจงทำความเข้าใจไว้ว่า คำว่า บาปมี บุญมี นรกมี สวรรค์มี นิพพานมีนั้น

ธรรมชาติเหล่านี้มีอยู่ทำนองเดียวกันกับคำว่า ”ธรรมมีอยู่” แต่ไม่สามารถสัมผัสธรรมชาติเหล่านี้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เพราะมิใช่วิสัยของกันและกัน มันเป็น อฐานะ คือเป็นไปไม่ได้ มีใจเท่านั้นสามารถสัมผัสได้แต่ผู้เดียว เมื่อปรับใจด้วยภาคปฏิบัติให้เหมาะสมกับธรรมชาตินั้นและธรรมขั้นนั้นๆ แล้ว ความจริงก็มีเท่านี้

วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประโยชน์ ๓ อย่าง ที่มนุษย์ควรบำเพ็ญ


ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ

วัดเจติยาคิรีวิหาร(ภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย


คนเราเกิดมาต้องรู้จักทำประโยชน์ ถ้าไม่ทำประโยชน์ก็ไม่ใช่มนุษย์ เขาเรียกว่า หมานุษย์ พระพุทธองค์ท่านสอนมนุษย์ให้ทำประโยชน์ทั้ง 3 ประการคือ
ประโยชน์ปัจจุบัน
ประโยชน์ภายภาคหน้า
ประโยชน์อย่างยิ่ง
ประโยชน์เหล่านี้ มนุษย์เราควรจะกระทำไปพร้อมๆ กับชีวิตที่ยังเป็นๆ สดๆ อยู่


ประโยชน์ปัจจุบัน
ประโยชน์ปัจจุบัน ยังพอแยกแยะออกไปอีกว่า เราควรจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่ใครบ้าง


โลกัตถประโยชน์ ให้ทำประโยชน์แก่โลก คือ แก่ส่วนรวม สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ ก็ให้พากันปรับปรุงพัฒนาขึ้นในวัตถุนั้น สิ่งนั้น ทั้งด้านวัตถุและด้านจิตใจ ด้านวัตถุ ก็ให้สร้างสรรค์ถาวรวัตถุที่จะเป็นประโยชน์ใช้สอยได้สำหรับส่วนรวม เช่น ถนน วัดวาอาราม ศาลา สระน้ำ โรงเรียน เป็นต้น ด้านจิตใจ ก็ให้ช่วยเหลือเจือจาน เทศนา สั่งสอน แนะนำให้เขามีความคิดที่ถูกต้อง ดีงาม ไม่หลงใหลไปในทางที่ผิด ให้รู้จักทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับทุกข์...ให้มีความสุขกาย สบายใจ


ญาตัตถประโยชน์ ให้ทำประโยชน์แก่ญาติพี่น้อง คือ สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อันคำว่า “ญาติ” นี้ มิใช่หมายความเฉพาะญาติทางสายโลหิตอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายความถึงญาติทางโลกด้วย มนุษย์เราเกิดมาร่วมชาติร่วมศาสนา ร่วมพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน ก็เหมือนญาติสนิทมิตรสหายกันทั้งนั้น ต้องมีการสงเคราะห์บำรุงซึ่งกันและกัน ด้วยกายสงเคราะห์ ด้วยวาจาสงเคราะห์ และด้วยใจสงเคราะห์ มีการแบ่งสันปันส่วนซึ่งกันและกัน มีความเห็นพร้อมเพรียงกัน มีทิฏฐิเสมอกัน มีความสามัคคีปรองดองกัน ไม่แตกแยกกัน รักษา พัฒนา บำรุง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ของตน อย่าไปคิดโค่น หรือล้มทำลาย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มันเป็นสิ่งอัปรีย์ เป็นของไม่ดี ทำความชั่ว ความเสียหาย เป็นบาปเป็นกรรม เป็นโทษแก่ตน


อัตตัตถประโยชน์ ให้ทำประโยชน์แก่ตน สิ่งใดที่เป็นประโยชน์แก่ตนก็ทำขึ้นซี บาป...มันเป็นโทษ มีโทษ ไม่มีประโยชน์ ทำแล้วมันเป็นโทษ เป็นทุกข์ เป็นภัย เป็นอันตราย ก็อย่าทำ ส่วนบุญกุศล คุณความดีมันเป็นประโยชน์ พึงพากันหมั่นบำเพ็ญกระทำขึ้น สิ่งใดที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง ผิดศีลธรรม ตามพระพุทธศาสนา พึงพากัน เลิก ละ หลีก เว้น อย่ากระทำ นอกจากจะไม่กระทำแล้ว อย่าพากันดำริ ตริตรึกนึกคิดขึ้น มันเป็นโทษ มันทำลายประโยชน์ของชาติ ของศาสนา ของพระมหากษัตริย์ ประพฤติตนให้เป็นประโยชน์แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คือทำตนให้เป็นพลเมืองดี ทำมาหากินโดยซื่อสัตย์สุจริต ไม่ผิดกฎหมายบ้านเมือง เป็นผู้ประกอบแต่การงานที่ปราศจากโทษ เว้นการงานที่มีโทษ หมั่นประกอบการงานที่เป็นประโยชน์ หมั่นรักษาทรัพย์สมบัติของตน ที่ตนแสวงหามาได้ ด้วยความหมั่นในทางที่ชอบ อย่าพากันเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายทรัพย์ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ พึงพากันเว้นสิ่งที่เป็นอบาย เช่น การดื่มน้ำเมา เหล้า กัญชา ยาฝิ่น เฮโรอีก อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท และเป็นเหตุแห่งความฉิบหายของโภคสมบัติ...เหล่านี้พึงพากันหลีก ละ เลิก เว้น อย่าพากันทำขึ้น การเที่ยวกลางคืนในตรอกมืดให้ผิดเวลาเนืองๆ หรือเที่ยวล่าสัตว์ในป่าดงในเวลากลางคืน อันนี้ก็เป็นเหตุแห่งความฉิบหายของโภคสมบัติ และแม้ร่างกายของเราด้วย อย่าพากันนิยมยกย่องสรรเสริญ การเที่ยวดูการละเล่น การเล่นการพนัน เป็นที่ตั้งแห่งความประมาท พึงพากันหลีกเว้น อย่านิยมชมชอบ คบคนชั่วเป็นมิตร พึงพากันละเว้น เพราะเป็นเหตุแห่งความฉิบหายโภคสมบัติ การเป็นคนขี้เกียจ ขี้คร้าน งอมือ งอเท้า ไม่ทำกิจการงาน ก็เป็นสิ่งควรหลีกเลี่ยงละเว้นทั้งสิ้น ให้เลี้ยงชีพในทางที่ชอบ อย่าพากันประกอบอาชีพในทางที่ผิด มันไม่ดี เป็นบาป เป็นโทษ พึงคบมิตรที่ดี คบเพื่อนดี อย่าคบคนชั่วเป็นมิตร คบแต่คนที่ซื่อสัตย์สุจริต มีเมตตาอารี สามัคคีปรองดองซึ่งกันและกัน
การทำประโยชน์ ทั้งแก่โลก-โลกัตถประโยชน์ แก่ญาติ- ญาตัตถประโยชน์ และแก่ตน- อัตตัตถประโยชน์นี้ เป็นประโยชน์ปัจจุบัน เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน พึงพากันประพฤติปฏิบัติให้ได้ครบทั้ง 3 ประการ มีชีวิตอยู่ ก็ต้องบำรุงรักษาตน ให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง ให้เป็นประโยชน์แก่ญาติมิตร มิตรสหาย รอบข้าง ให้เป็นประโยชน์แก่โลกโดยส่วนรวม เช่นนี้จึงถือว่า พร้อมด้วยประโยชน์ 3 เป็นคนมีประโยชน์ เป็นมนุษย์ ไม่ใช่หมานุษย์ มีแต่ผู้ยกย่องสรรเสริญ ถ้าเราอยากได้ความสุข ความเจริญ อยากได้ประโยชน์ในปัจจุบัน ก็ต้องประพฤติปฏิบัติเอาเช่นนี้สิ


ประโยชน์ภายภาคหน้า
ประโยชน์ภายภาคหน้า คือ นับแต่กายแตกสบายแล้ว ต้องมีคติที่ไปเพราะยังมีกรรม ท่านจึงให้บำเพ็ญประโยชน์ไว้สำหรับเป็นที่พึ่งของเราเมื่อตายไปแล้ว ถ้าเราไม่บำเพ็ญประโยชน์ไว้ ตายไปก็จะเป็นคนตายทุกข์ ตายยาก ตายลำบาก ตายหอด ตายหิว ตายกอด ตายกุม ตายคุม ตายขัง ตายอด ตายอยาก เพราะตนไม่บำเพ็ญประโยชน์ไว้ในภายภาคหน้า เรียกว่า ไม่มีสมบัติติดตัวไปในภพในชาติข้างหน้าเลยการที่จะให้มีประโยชน์ภายภาคหน้านั้น ต้องมีศรัทธาความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีศรัทธา ความเชื่อ ความเลื่อมใสในทาน ศีล ภาวนา เชื่อในบุญ เชื่อในบาป พึงพากันให้ทาน เป็นนักเสียสละ บำเพ็ญการกุศล ช่วยสาธารณกุศล สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ศีล-รักษาศีล เว้นสิ่งที่เป็นบาป ประกอบแต่สิ่งที่เป็นบุญเป็นกุศล เป็นประโยชน์แก่ตน แก่ญาติ แก่โลก พึงพากันหมั่นสดับตรับฟังคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พึงมีปัญญารอบรู้ในบาปบุญคุณโทษ การใดเป็นประโยชน์และการใดมิใช่ประโยชน์ ภาวนา-พิจารณาสังขารร่างกายของตนให้เห็นเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ให้เห็นเป็นของมิใช่ตน ประเดี๋ยวเดียวมันก็ร่วงหล่น ตายไป ดับไป ฉิบหายไป ไม่มีอะไรที่จะเหลืออยู่เลย สิ่งจะติดตัวของเราได้ ก็มีแต่บาปและบุญเท่านั้น ฉะนั้นท่านจึงให้เลิกบาป บำเพ็ญแต่บุญ ถ้าเราเกิดมาทำแต่บาป ตายไปเราก็ไปสู่ทุคติ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ถ้าเราทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ตายไปเราก็ไปสู่สุคติ มนุษยสุข สวรรคสุข นิพพานสุข ถ้าเราประสงค์ประโยชน์ภายภาคหน้า ก็ต้องประพฤติปฏิบัติดังนี้


ประโยชน์อย่างยิ่ง
ประโยชน์อย่างยิ่งของมนุษย์เราก็คือ พระนิพพานนั่นเอง ให้รู้จักดับกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง อย่าให้มีที่ใจของเรา ถ้าเราดับกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ เหล่านี้หมดแล้ว ก็ถึงพระนิพพานเท่านั้น ไม่มีความสงสัยเลยดังนั้น พวกเราที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาแล้ว เป็นโชคอันประเสริฐของเรา อย่าปล่อยชีวิตของตนให้ล่วงเลยจากประโยชน์เปล่าๆ เกิดมาต้องทำประโยชน์จึงเป็นมนุษย์ ถ้าไม่ทำประโยชน์เหล่านี้ เขาไม่เรียกว่ามนุษย์ เขาเรียกว่า หมานุษย์ - สัตว์เดรัจฉาน ไม่มีสรณะ ไม่มีที่พึ่ง ตายไปก็ทุกข์ยาก ปากหมอง ตายทุกข์ ตายยาก ตายลำบาก เพราะไม่ได้ทำคุณงามความดีไง้ ตายอด ตายอยาก เพราะไม่ได้บำเพ็ญทานไว้ ตายกอด ตายกุม ตายคุม ตายขัง ตายมีหนี้สิน ตายมีโทษ เพราะไม่ได้รักษาศีลให้พากันเข้าใจดังนี้แล

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

มึงไม่ใช่พระดอก มึงไม่ใช่พระดอก


ได้เด็ก ๕ ขวบเป็นอาจารย์
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ตอนอยู่วัดแสนสำราญ ตอนนั้นอายุประมาณ ๓๐ กว่าๆ ได้เด็กกับผู้หญิงเป็นอาจารย์ อาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อนี่คือใคร
อาจารย์ใหญ่ของหลวงพ่อนี่เด็กอายุ ๕ ขวบ ทำไมจึงว่าอาจารย์ใหญ่ มันเดินตามหลังแม่มันมา แม่มันมาใส่บาตร พอมาแล้วมันมองหน้า 

"มึงไม่ใช่พระดอก มึงไม่ใช่พระดอก"
ทีแรกหงุดหงิดจะโกรธมัน เอ้า! พอรู้สึกว่าตัวเองจะโกรธมัน เลยมานึกได้ว่า 
"อ๋อ! ถูกของมันนี้ เราไม่ใช่พระ ถ้าเป็นพระอย่าโกรธซิ" 
ก็เลยหายโกรธ เลยถือเอาบักน้อยนี่เป็นอาจารย์

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

นิทาน...ไอ้ชาติคน




เรื่องนี้เล่าสืบกันมาแต่โบราณว่า...
กาลครั้งหนึ่ง..มีสุนัขสองแม่ลูกพากันเดินไปที่วัด ระหว่างทางจะต้องผ่านป่าช้าที่ทิ้งศพ ขณะนั้นได้เห็นศพ ๆ หนึ่งขึ้นอืดอยู่ข้างทาง สองแม่ลูกหยุดดู ลูกหมาเกิดนึกใคร่จะได้ลิ้มรสศพ จึงกล่าวกับแม่ว่า
“แม่จ๋า ให้ลูกกินลูกนัยน์ตาของศพนี้เสียก่อนเถอะ แล้วเราค่อยไปกัน” 


แม่หมาเองกำลังยืนพิจารณาซากศพด้วยสังเวช เมื่อได้ยินลูกกล่าวดังนั้นก็ถึงกับสะดุ้ง ท้วงขึ้นทันทีว่า
“อย่า ! อย่าเชียวนะลูกไอ้ลูกนัยน์ตาของคนนี่หละมันชั่วช้าสิ้นดี มีแต่จะสอดส่องส่ายมองหาแต่สิ่งสวย ๆ งาม ๆ สิ่งที่เป็นอัปมงคล ภาพยนตร์ ละคร ดนตรี มีแต่จองเอา ๆ จนจิตใจฟุ้งซ่าน เจ้าขืนกินเข้าไปซิ จิตของเจ้าจะทราม ?” 


ลูกหมาได้ยินดังนั้น ก็เปลี่ยนมาวิงวอนแม่อีกว่า
“ถ้าเช่นนั้นให้ลูกกินหูมันเถอะ” 


แม่หมารีบสวนขึ้นทันได้ว่า 
“ถึงหูก็ดีเสียเมื่อไหร่ล่ะ มันเฝ้าแต่จะเงี่ยฟังเสียงประจบสอพลอ เสียงดนตรีที่แสนจะแสบแก้วหูเสียงอุบาทว์ที่ยั่วยุกามารมณ์ส่วนคำสอนรสพระธรรมนั้น เขาไม่ยอมให้ลอดเข้าหูไป อย่าเลยลูก ?” 
ลูกหมาไม่สิ้นพยายาม กล่าวว่า
“ถ้าอย่างนั้น ให้ลูกกินจมูกมันก็แล้วกัน”


แม่หมาขึ้นเสียง 
“ก็อีกนั้นหละ ! ไอ้จมูกของมันชอบแต่จะสูดดมกลิ่นที่เป็นต้นเหตุแห่งความใคร่ กลิ่นธูปควันเทียนอันเป็นสัญลักษณ์ทางธรรมเสียอีก ไม่ยักมีใครใฝ่หา ชั่วสิ้นดี อย่าเลยลูก" 


ได้ยินดังนั้น ลูกหมาก็วอนต่อไปว่า
“ถ้าอย่างนั้นลูกขอกินลิ้นมันนะ” 


แม่หมาขัดขึ้นอีกว่า 
“ลิ้นนั่นหรือ ก็เลวร้ายพอ ๆ กัน มันมีแต่จะตวัดไปตวัดมาด้วยความสับปลับปลิ้นปล้อน โกหกมกเท็จสิ้นดี” 


ลูกหมาจึงว่า
“ถ้าอย่างนั้นกินมือมันดีกว่า” 


แม่หมาร้องดังขึ้นอีกว่า 
“มือก็ใช่จะดีเสียเมื่อไหร่ล่ะ มันชอบแต่จะหยิบฉวยเอาสิ่งของของคนอื่นด้วยการลักขโมย ตบโน่นตีนี่แม้พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ก็ใช่มือประทุษร้ายได้” 


ลูกหมาพยายามเปลี่ยนความตั้งใจว่า
“ถ้างั้นลูกกัดกินเท้ามันเถอะ” 


แม่หมาปรามอีกว่า “ตีนคนก็อีกนั้นหละ มันมีแต่จะเยื้องย่างเข้าทางอุบายมุข หรือย่องหนักย่องเบา ไอ้ที่เต้นแร้งเต้นกาสะบัดเร่า ๆ ไปมาจนไม่รู้ว่าลิงหรือคน นั่นก็มิใช่ตีนดอกหรือ ? อย่าดีกว่าลูก 


ลูกหมาอ้อนวอนเป็นครั้งสุดท้าย
“งั้นลูกกินหัวใจมันก็แล้วกัน” 


แม่หมาได้ยินดังนั้น ตกใจร้องเสียงหลงตวาดว่า
“อย่านะ อย่าเป็นอันขาด หัวใจนั่นมันร้ายเสียยิ่งกว่าอะไรหมดมันเต็มอักอยู่ด้วยโทสะ โมหะ เต็มอัดไปด้วยความโลภความเห็นแก่ตัว มีแต่มุ่งกอบโกยเอา ไม่รู้จักพอไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของผู้อื่น อิจฉาริษยาพยาบาท อาฆาตมุ่งร้ายต่อกัน ชั่วสิ้นดี เจ้ากินเข้าไปซิ เจ้าจะเสียศักดิ์ศรีแห่งตระกูล” 


ได้ยินแม่ว่าดังนั้น สุนัขน้อยก็ถ่มน้ำลายรดศพนั้นพลางสะบัดหน้าชวนแม่ให้รีบ ๆ เดินต่อไป พร้อมกับรำพึงในใจว่า
“โธ่เอ๋ย ช่างไม่มีอะไรดีเลยนะ......ถุย ไอ้ชาติคน..!”