วันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพที่ ๘๐ พระมหากัสสปกับพระอริยสงฆ์ยกปฐมสังคายนา สืบอายุพระศาสนามาถึงบัดนี้


ภาพที่ ๘๐
พระมหากัสสปกับพระอริยสงฆ์ยกปฐมสังคายนา สืบอายุพระศาสนามาถึงบัดนี้


ตอนถวายพระเพลิงพระศพพระพุทธเจ้าที่เมืองกุสินารา  เป็นเวลาที่พระสงฆ์สาวกซึ่งเดินทาง
มาชุมนุมกันที่เมืองนี้มีจำนวนมากกว่าครั้งใดๆ    จึงเมื่อถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว   พระมหากัสสปซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ได้จัดให้มีการประชุมพระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรกขึ้นที่เมืองกุสินารา


เรื่องที่ประชุมคือ       เรื่องจะสังคายนาพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ 
ท่านได้ปรารภเรื่องเสี้ยนหนามพระศาสนาที่ท่านได้ประสบเมื่อระหว่างเดินทางมา ที่พระภิกษุแก่กล่าวแสดงความยินดีที่พระพุทธเจ้านิพพานให้ที่ประชุมทราบด้วย


ที่ประชุมมีมติเลือกพระสงฆ์เถระ  ๓ รูปเป็นประธานทำหน้าที่สังคายนา  คือ  พระมหากัสสป  
พระอุบาลี  และพระอานนท์  ในการนี้ให้พระมหากัสสปเป็นประธานใหญ่  ให้มีหน้าที่คัดเลือกจำนวนสมาชิกสงฆ์ผู้จะเข้าประชุมทำสังคายนา  พระมหากัสสปคัดเลือกพระสงฆ์ได้ทั้งหมด  ๕๐๐  รูปแล้วตกลงเลือกเอานครราชคฤห์แห่งแคว้นมคธเป็นสถานที่สถานที่ประชุม    ส่วนเวลาประชุมคือตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นไป  หรืออีก  ๓  เดือนนับแต่นี้


หลังจากนั้น  พระสงฆ์ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประชุมทำสังคายนา  ต่างเดินทางมุ่งหน้าไป
ยังเมืองราชคฤห์  เมื่อไปถึงทางคณะสงฆ์ได้ขอความอุปถัมภ์จากบ้านเมืองแห่งนี้  ในด้านการซ่อมวิหารที่พักสงฆ์  ตกแต่งสถานที่ประชุมซึ่งจัดขึ้นในถ้ำปาสาณคูหาในภูเขาเวภารบรรพตซึ่งอยู่นอกเมือง


ทางคณะสงฆ์ได้ขอให้ทางบ้านเมืองประกาศห้ามนักบวชและพระสงฆ์อื่นๆ  ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยว
ข้องกับการประชุมทำสังคายนาเข้ามาอยู่ในเมืองราชคฤห์    ตลอดเวลาที่สงฆ์ทั้งหมดทำสังคายนาอยู่    ทั้งนี้เพื่อป้องกันอุปสรรคขัดขวาง  อันอาจจะเกิดมีเป็นเหตุให้การประชุมทำสังคายนาเป็นไปโดยความไม่เรียบร้อยนั่นเอง

ภาพที่ ๗๙ โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร



ภาพที่ ๗๙
โทณพราหมณ์แบ่งสรรพระบรมธาตุแก่พราหมณ์และกษัตริย์ ๗ พระนคร




ข่าวพระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองกุสินาราแล้ว    เจ้ามัลลกษัตริย์แห่งนครนี้พร้อมด้วยคณะสงฆ์
ได้ถวายพระเพลิงแล้วนั้น ได้แพร่ไปถึงบรรดาเจ้านครแห่งแคว้นต่างๆ  บรรดาเจ้านครเหล่านั้นจึงได้ส่งคณะฑูตรีบรุดมายังเมืองกุสินาราพร้อมด้วยพระราชสาส์น


คณะฑูตทั้งหมดมี  ๗  คณะ  มาจาก  ๗  นคร   มีทั้งจากนครใหญ่  เช่น  นครราชคฤห์  แห่ง
แคว้นมคธ ที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนาเป็นแห่งแรก  และนครอื่นๆ เช่น  กบิลพัสดุ์  เมืองประสูติ
ของพระพุทธเจ้า  คณะฑูตทั้ง ๗ เมื่อเดินทางมาถึงเมืองกุสินาราก็ได้ยื่นพระราชสาส์นนั้นแก่เจ้ามัลลกษัตริย์  ในพระราชสาส์นนั้นมีความว่า  เจ้านครทั้ง ๗ มาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเพื่อนำไปบรรจุในสถูปให้เป็นที่สักการบูชาไว้ที่นครของตน  พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ตอบปฏิเสธแข็งขันไม่ยอมให้  โดยอ้างเหตุผลว่าพระพุทธเจ้านิพพานที่เมืองของตน  พระบรมสารีริกธาตุจึงเป็นสมบัติของเมืองนี้เท่านั้น


เมื่อเจ้ามัลลกษัตริย์ไม่ยอมแบ่ง  บรรดาเจ้านครทั้ง ๗  ก็ไม่ยอม จะขอส่วนแบ่งให้ได้  สงคราม
แย่งพระบรมสารีริกธาตุก็ทำท่าจะเกิดขึ้น  แต่พอดีท่านผู้หนึ่งซึ่งชื่อ 'โทณพราหมณ์' ได้ระงับสงครามไว้เสียก่อน   โทณพราหมณ์อยู่ในเมืองกุสินารา  ตามประวัติแจ้งว่าเป็นผู้เฉลียดฉลาดในการพูด  เป็นที่เคารพนับถือของบรรดาเจ้านคร และเป็นผู้มีชื่อเสียงในเรื่องเกียรติคุณ ได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นเลขา
ธิการสหประชาติในสมัยปัจจุบัน  คือได้ระงับสงครามไว้เสียทัน  โดยได้ปราศรัยให้ที่ประชุมฟังว่า


"พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทรงสรรเสริญขันติธรรมและสามัคคีธรรม  แล้วเราทั้งหลายจะมาทะเลาะวิวาททำสงครามกันเพราะพระบรมสารีริกธาตุเป็นเหตุทำไม    มาแบ่งกันให้ได้เท่าๆ    กันดีกว่า   พระบรมสารีริกธาตุจักได้แพร่หลายและเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั่วโลก"


ที่ประชุมเลยตกลงกันได้  โทณพราหมณ์จึงทำหน้าที่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วน
โดยใช้ตุมพะ  คือทะนานทองเป็นเครื่องตวง  ให้เจ้านครทั้ง  ๗  คนละส่วน  เป็น  ๗  ส่วน   อีกส่วนหนึ่งเป็นของเจ้านครกุสินารา  แล้วเจ้านครทั้งหมดต่างอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุนั้นไปเป็นที่ระลึก  แล้วนำไปบรรจุไว้ในสถูปต่างหาก  การแจกพระบรมสารีริกธาตุก็เสร็จสิ้นสุดลงด้วยความเรียบร้อย

ภาพที่ ๗๘ พอพระมหากัสสปถวายบังคมบาทพระพุทธศพ เพลิงสวรรค์ก็บันดาล ลุกโชติช่วง



ภาพที่ ๗๘
พอพระมหากัสสปถวายบังคมบาทพระพุทธศพ เพลิงสวรรค์ก็บันดาล ลุกโชติช่วง




เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว     ทางคณะสงฆ์และทางบ้านเมือง   คือ  เจ้ามัลลกษัตริย์ผู้ครอง
เมืองกุสินารา  ได้ทำพิธีสักการบูชาพระศพพระพุทธเจ้าอยู่เป็นเวลาถึง  ๖  วัน    ในวันที่  ๗  จึงเชิญพระศพเป็นขบวนไปทางทิศเหนือของเมือง   ผ่านใจกลางเมือง   แล้วเชิญพระศพไปมกุฏพันธนเจดีย์   ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง  เพื่อถวายพระเพลิง  วันที่กำหนดจะถวายพระเพลิงนั้น  ตรงกับวันแรม  ๘  ค่ำเดือน  ๖  ซึ่งทุกวันนี้ทางเมืองไทยเราถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง  เรียกว่า  'วันอัฐมีบูชา'


ผู้เชิญหรือหามพระศพพระพุทธเจ้า   เรียกว่า  'มัลลปาโมกข์'   มีจำนวน  ๘  นาย   แต่ละนาย
รูปร่างใหญ่กำยำล่ำสัน  มีกำลังมาก  'มัลลปาโมกข์'  แปลว่า  หัวหน้านักมวยปล้ำ


พระศพพระพุทธเจ้าห่อด้วยผ้าใหม่  ที่ปฐมสมโพธิบอกจำนวนไว้ว่ามีถึง  ๕๐๐  ชั้น  ถอดเอาใจความว่ามีหลายชั้นนั่นเอง  แต่ละชิ้นซับด้วยสำลี  แล้วเจ้าหน้าที่เชิญลงประดิษฐานในหีบทองที่เต็มไปด้วยน้ำหอม  แล้วปิดฝาครอบไว้  แล้วเชิญขึ้นจิตกาธานที่ทำด้วยไม้หอมหลายชนิด


พอได้เวลาเจ้าหน้าที่ได้จุดไฟขึ้นทั้ง  ๔   ด้าน   ตำนานว่าจุดเท่าไรไฟก็ไม่ติด    เจ้าหน้าที่ทาง
บ้านเมืองจึงเรียนถามพระอนุรุทธ์  (พระอนุรุทธ์เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีทิพยจักษุ  มีศักดิ์เป็นพระอนุชาของพระพุทธเจ้าเป็นพระสาวกได้สำเร็จพระอรหันต์) พระอนุรุทธ์จึงแจ้งให้ทราบว่า  เป็นเพราะเทพเจ้าต้องการให้รอพระมหากัสสป  ซึ่งกำลังเดินทางมายังไม่ถึงได้ถวายบังคมพระศพเสียก่อน    ต่อมาเมื่อพระมหากัสสปพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเดินทางมาถึง     ได้ถวายบังคมพระศพพระพุทธเจ้าแล้ว    จึงเกิดเพลิงทิพย์ด้วยเทวาฤทธานุภาพ


ภายหลังจากนั้น  เพลิงได้ไหม้พระสรีระของพระพุทธเจ้าจนหมดสิ้น  เหลืออยู่แต่พระอัฐิ  พระเกศา  พระทนต์  และผ้าอีกคู่หนึ่ง  พระพวกมัลลกษัตริย์ได้นำน้ำหอมหลั่งลงดับถ่านไฟที่จิตกาธาน    แล้วเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่สัณฐาคารศาลา  คือหอประชุมกลางเมือง  รอบหอประชุมนั้นจัดทหารถืออาวุธพร้อมสรรพคอยพิทักษ์รักษา  และทำสักการบูชาด้วยฟ้อนรำ   ดนตรี  ประโคมขับ   และดอกไม้นานาประการ  และมีนักขัตฤกษ์เอิกเกริกกึกก้องฉลองถึง  ๗  วันเป็นกำหนด

ภาพที่ ๗๗ พระสงฆ์ปุถุชนได้ฟังข่าวปรินิพพานซึ่งอาชีวกบอกแก่พระมหา กัสสปก็ร้องไห้



ภาพที่ ๗๗
พระสงฆ์ปุถุชนได้ฟังข่าวปรินิพพานซึ่งอาชีวกบอกแก่พระมหา กัสสปก็ร้องไห้




ภาพที่เห็นอยู่นี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว    คือตอนพระมหากัสสปกำลังเดิน
ทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า    ตอนก่อนพระพุทธเจ้าจะนิพพานนั้น    พระสงฆ์สาวกที่จาริกออกไปประกาศพระ
ศาสนาตามแคว้นและเมืองต่างๆ     ในสมัยนั้น    เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระพุทธเจ้าจะนิพพานที่เมืองกุสินาราต่างก็เดินทางมุ่งหน้ามาเมืองนี้เป็นจุดเดียวกัน  ที่อยู่ใกล้ก็มาทันเฝ้าพระพุทธเจ้า  ส่วนที่อยู่ไกลไปก็มาไม่ทัน


พระมหากัสสปเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่  ที่พระพุทธเจ้าทรงเคยยกย่องให้เกียรติเทียบเท่าพระองค์   ท่านรีบเดินทางมาพร้อมด้วยพระสงฆ์หลายร้อยรูป   มาถึงเมืองปาวา   แดดกำลังร้อนจัด   จึงพาพระสงฆ์แวะพักชั่วคราวระหว่างทางภายใด้ร่มไม้แห่งหนึ่ง    ขณะนั้น    ท่านเห็นอาชีวกคือนักบวชนอกศาสนาพุทธคนหนึ่ง   เดินทางสวนมาจากเมืองกุสินารา  มือถือดอกมณฑารพ   พระมหากัสสปจึงถามข่าวพระพุทธเจ้า  อาชีวกตอบว่าพระสมณโคดมนั้นนิพพานมาได้เจ็ดวันแล้ว   แล้วชูดอกมณฑารพให้ดูว่าตนเก็บได้มาจากสถานที่ที่พระพุทธเจ้านิพพาน  ดอกมณฑารพตามตำนานว่าเป็นดอกไม้สวรรค์  ออกดอกและบานในเวลาคนสำคัญของโลกมีอันเป็นไป


ทันใดนั้น    ก็บังเกิดอาการสองอย่างขึ้นในหมู่พระสงฆ์ที่เดินทางมาพร้อมกับพระมหากัสสป  
พระสงฆ์ฝ่ายหนึ่งที่สำเร็จอรหันต์แล้วต่างดุษณีภาพด้วยธรรมสังเวชว่า  พระพุทธเจ้านิพพานเสีย  ฝ่ายพระสงฆ์ปุถุชนต่างอดกลั้นความเศร้าโศกเสียใจไว้ไม่ได้   บางองค์ร้องไห้  โฮ...     บางองค์ยกมือทั้งสองขึ้นร้องคร่ำครวญ  บางองค์ล้มกลิ้งลงกับพื้นดิน  มหาปรินิพพานสูตร บันทึกไว้ว่า  อาการล้มกลิ้งของภิกษุนั้นเหมือนคนถูกตัดขาทั้งสองขาดในทันที


แต่มีอยูรูปหนึ่งนามว่าสุภัททะ  (คนละองค์กับที่บวชพระสาวกอง๕สุดท้ายของพระพุทธเจ้า)  
เป็นพระที่บวชเมื่อแก่   เข้าไปพูดปลอบโยนพระสงฆ์ทั้งปวงที่กำลังร้องไห้ว่า  "คุณ!  คุณ!  จะร้องไห้เสียใจทำไม  พระพุทธเจ้านิพพานเสียได้นั่นดีนักหนา  ถ้าพระองค์ยังอยู่  พวกเราทำอะไรตามใจไม่ได้   ล้วนแต่ว่าอาบัติทั้งนั้น  ต่อนี้ไปพวกเราจะสบาย  พระองค์นิพพานเสียได้นั่นดีแล้ว"


พระมหากัสสปได้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวก็อดสังเวชมิได้ว่า  พระพุทธเจ้าเพิ่งนิพพานได้เพียง  ๗  วัน  เสี้ยนหนามพระศาสนาก็บังเกิดขึ้นเสียแล้ว  แล้วท่านก็พาพระสงฆ์รีบออกเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา  เพื่อให้ทันถวายบังคมพระศพพระพุทธเจ้า

ภาพที่ ๗๖ ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน



ภาพที่ ๗๖
ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน




ก่อนเสด็จนิพพานเล็กน้อย  คือภายหลังทรงโปรดสุภัททะปริพาชกแล้ว  พระพุทธเจ้าประทาน
โอวาทพระสงฆ์  โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย  มีหลายเรื่องด้วยกัน  เช่น  เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่  คือ  คำว่า  'อาวุโส'  และ  'ภันเต'   อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า  'คุณ'  และภัตเตว่า  'ท่าน'


พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า  พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน  หรือที่อ่อนอายุ
พรรษากว่าว่า  'อาวุโส'  หรือ  'คุณ'  ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา  พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า  'ภันเต'  หรือ  'ท่าน'


ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม  ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์
ทรงสั่งสอนไว้แล้วก็ให้ถามเสียจะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม


ปรากฏตามท้องเรื่องใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า  ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าใน
ข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย


เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น  เรื่องนี้ก็ไม่มีพรสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า   แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ฃัดเจนก่อนจะนิพพานว่า  พระภิกษุรูปใด


ตรัสบอกพระอานนท์ว่า  "ดูก่อนอานนท์  ธรรมก็ดี  วินัยก็ดี  ที่เราได้แสดงไว้   และบัญญัติไว้ด้วยดี  นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต  เมื่อเราล่วงไปแล้ว"


ครั้นแล้ว  พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า  "ภิกษุทั้งหลาย!  บัดนี้เราขอเตือน
พวกท่านให้รู้ว่า  สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา  ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"


หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย     จนกระทั่งนิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น  ๑๕  ค่ำ  
เดือน  ๖  หรือวันเพ็ญวิสาขะ  ณ  ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง

ภาพที่ ๗๕ ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล นับเป็นปัจฉิมเวไนย



ภาพที่ ๗๕
ทรงแสดงธรรมโปรดสุภัททะปริพาชกให้สำเร็จมรรคผล นับเป็นปัจฉิมเวไนย


พระอานนท์สร่างจากความเสียใจถึงร้องไห้แล้ว  ท่านก็เข้าไปแจ้งข่าวในเมืองตามพระดำรัส
รับสั่งของพระพุทธเจ้า  เพื่อรายงานให้เจ้ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราทราบว่า   พระพุทธเจ้าจะนิพพานในตอนสิ้นสุดแห่งราตรีวันนี้แล้ว  แจ้งว่าใครจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ให้รีบไปเฝ้าเสียแต่ในขณะนี้   จะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่ได้เฝ้า

พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ที่กำลังประชุมกันอยู่ในเมือง        ด้วยเรื่องพระพุทธเจ้านิพพานต่างก็ถือ
เครื่องสักการะมาเฝ้าพระพุทธเจ้ากันเนืองแน่นที่สุด  แต่ละคนน้ำตานองหน้า  ร่ำไห้รำพันต่างๆ นานา  เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าจะนิพพาน

ในจำนวนคนที่มาเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งนี้  มีปริพาชกคนหนึ่งนามว่า  'สุภัททะปริพาชก'  คือ
นักบวชนอกศาสนาพุทธพวกหนึ่ง

สุภัททะปริพาชกเข้าหาพระอานนท์  ภายหลังเจ้ามัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินาราได้เข้าเฝ้าแล้ว
บอกว่าใคร่จะขออนุญาตเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า    เพื่อทูลถามปัญหาบางอย่างซึ่งข้องใจมานาน     พระอานนท์ปฏิเสธปริพาชกผู้นี้ว่าอย่าเลย  อย่าได้รบกวนพระพุทธเจ้าเลย  เพราะตอนนี้กำลังจะนิพพาน

ขณะนั้น    พระพุทธเจ้าซึ่งทรงได้ยินการโต้ตอบกันระหว่างพระอานนท์กับสุภัททะปริพาชก
จึงตรัสบอกพระอานนท์ว่าพระองค์ทรงอนุญาตให้สุภัททะปริพาชกเข้าเฝ้าได้        เมื่อสุภัททะปริพาชกได้โอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า  จึงทูลถามปัญหาที่ข้องใจมานาน  ปัญหาข้อหนึ่งว่าสมณะผู้ได้บรรลุมรรคผลในศาสนาอื่นนอกจากพระพุทธศาสนามีหรือไม่    พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ไม่มี   แล้วทรงแสดงธรรมให้ปริพาชกฟังโดยละเอียด

สุภัททะปริพาชกฟังแล้วเสื่อมใส    ทูลขอบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า   พระพุทธเจ้า
ตรัสว่านักบวชในศาสนาอื่นจะมาขอบวชเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระองค์นั้น  จะต้องอยู่ปริวาสครบ  ๔  เดือนก่อนจึงจะบวชได้  สุภัททะปริพาชกกราบทูลพระพุทธเจ้าว่าอย่าว่าแต่  ๔  เดือนเลย จะให้อยู่ถึง  ๔  ปี  ก็ยอม

พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตเป็นกรณีพิเศษ    ให้พระสงฆ์จัดการบวชให้สุภัททะปริพาชกในคืนวันนั้น  สุภัททะปริพาชกจึงนับเป็นสาวกองค์สุดท้ายของพระพุทธเจ้า

ภาพที่ ๗๔ พระอานนท์ไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรพระวิหาร ร้องไห้รำพันถึงพระพุทธองค์



ภาพที่ ๗๔
พระอานนท์ไปยืนเหนี่ยวสลักเพชรพระวิหาร ร้องไห้รำพันถึงพระพุทธองค์




พระอานนท์เป็นพระภิกษุอุปัฏฐานของพระพุทธเจ้า  ก่อนท่านรับตำแหน่งนี้   เคยมีพระภิกษุหลายรูปทำหน้าที่นี้มาก่อน  แต่ท่านเหล่านั้นรับหน้าที่ดังกล่าวไม่นาน  ก็กราบทูลลาพระพุทธเจ้าออกไป  ผู้รับหน้าที่อุปัฏฐานพระพุทธเจ้าเป็นเวลานานที่สุด  จนพระพุทธเจ้านิพพาน  จึงได้แก่พระอานนท์


โดยความสัมพันธ์ทางพระญาติ  พระอานนท์มีศักดิ์เป็นพระอนุชาหรือน้องชายของพระพุทธ
เจ้า  เพราะบิดาของท่านเป็นน้องชายของบิดาของพระพุทธเจ้า  นี่ว่าอย่างสามัญ


ตลอดเวลาที่รับหน้าที่อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า  พระอานนท์ตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปทุกหนทุก
แห่ง  คอยปรนนิบัติอุปัฏฐากพระพุทธเจ้ามิได้บกพร่อง  ด้วยเหตุดังกล่าวท่านจึงไม่มีเวลาบำเพ็ญกิจส่วนตัว  พรรคพวกรุ่นเดียวกันที่ออกบวชพร้อมกัน  (ยกเว้นพระเทวทัต)   ต่างได้สำเร็จอรหันต์กันทั้งสิ้น   ส่วนพระอานนท์ได้สำเร็จมรรคผลเพียงชั้นโสดาเท่านั้น


เมื่อพระพุทธเจ้าจวนจะนิพพาน  ท่านจึงมีภาระเพิ่มมากขึ้น  เหนื่อยทั้งกายและใจ  ใจท่านว้า
วุ่นไม่เป็นส่ำ    พอได้ยินพระพุทธเจ้าบอกพระสงฆ์เกี่ยวกับเรื่องพระองค์จะนิพพาน    พระอานนท์ไม่อาจจะอดกลั้นความเสียใจและอาลัยพระพุทธเจ้าไว้ได้      ท่านจึงหลบหลีกออกจากที่เฝ้า   เข้าไปยังวิหารแห่งหนึ่ง  ไปยืนอยู่ข้างบานประตูวิหาร   มือเหนี่ยวสลักเพชรหรือลิ่มสลักกลอนประตูแล้วร้องไห้   โฮๆ  พลางรำพันว่าตัวเรา   ยังเป็นอริยบุคคลชั้นต่ำ  ยังไม่สำเร็จอรหันต์   พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นทั้งพระศาสดาและพระเชษฐาของเราก็จักมานิพพานจากเราไปก่อนเสียแล้ว


พระพุทธเจ้าทรงเห็นพระอานนท์หายไปจากที่เฝ้า จึงตรัสถามพระสงฆ์ถึงพระอานนท์ ทรงทราบแล้วรับสั่งให้ท่านเข้าเฝ้า  แล้วตรัสพระธรรมเทศนาเตือนสติพระอานนท์ว่าอย่าได้เศร้าโศกเสียใจ


ตอนหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสบอกอานนท์ว่า  ท่านเป็นคนมีบุญ  อย่าได้ประมาท  เมื่อพระองค์
นิพพานแล้วไม่ช้า    ท่านจักได้สำเร็จอรหันต์  (พระอานนท์ได้สำเร็จอรหันต์ภายหลังพระพุทธเจ้านิพพาน
ได้สามเดือน)

ภาพที่ ๗๓ เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่


ภาพที่ ๗๓
เสด็จถึงสาลวันกรุงกุสินารา โปรดให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างไม้รังทั้งคู่




พระพุทธเจ้าพร้อมกับพระสงฆ์บริวารเสด็จไปถึงชานเมืองกุสินาราในเวลาจวนค่ำ  เสด็จข้ามแม่น้ำหิรัญวดี  แล้วเสด็จเข้าไปในอุทยานนอกเมืองนั้น  ที่มีชื่อว่า  'สาลวโนทยาน'


เมืองต่างๆ  ในสมัยพระพุทธเจ้าส่วนมาก   มีอุทยานเหมือนสวนสาธารณะอย่างทุกวันนี้   สำหรับประชาชนในเมืองและชนชั้นปกครองได้อาศัยเป็นที่พักผ่อนกันทั้งนั้น  กรุงราชคฤห์ก็มีอุทยานชื่อ  ลัฏฐิวันที่เรียกว่าสวยตาลหนุ่ม   กบิลพัสดุ์เมืองประสูติของพระพุทธเจ้าก็มีลุมพินีวัน   กุสินาราจึงมีสาลวโยานดังกล่าว


สาลวโนทยานอยู่นอกเมืองกุสินารา     มีต้นไม้ใหญ่สองต้นเคียงคู่กันอยู่   เรียกว่า   'ต้นสาละ'  อุทยานแห่งนี้จึงได้นามตามต้นสาละว่าสาลวโนยานดังกล่าว


เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปถึงอุทยานแห่งนี้แล้ว   ตรัสสั่งให้พระอานนท์ตั้งเตียง  หันทางเบื้องศีรษะ  ไปทางทิศเหนือ  ให้เตียงอยู่ระหว่างใต้ต้นสาละทั้งคู่  ตรัสว่า  "เราลำบากและเหน็ดเหนี่อยมาก  จักนอนระงับความลำบากนั้น"


พระอานนท์จัดตั้งเตียงและปูผ้ารองเสร็จแล้ว  พระพุทธเจ้าเสด็จบรรทมตะแคงข้างขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ  ตั้งพระบาทซ้อนเหลี่ยมกัน   ดำรงสติสัมปชัญญะแล้วตั้งพระทัยจะเสด็จบรรทมเป็นไสยาวสาน  (นอนเป็นครั้งสุดท้าย)  เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า  'อนุฐานไสยา'  แปลว่า  นอนโดยจะไม่ลุกขึ้นอีก


ปฐมสมโพธิว่า  "ในขณะนั้นเอง   มิใช่ฤดูกาลจะออกดอกเลย   แต่สาละทั้งคู่ก็ผลิดอกออกบาน  
ตั้งแต่โคนรากเบื้องต้นถึงยอด และทั่วทุกกิ่งสาขาก็ดาดาด (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานใช้  ดารดาษ  หรือดาษดา)  ด้วยดอกแลสะพรั่ง   แล้วดอกสาละนั้น   ก็ร่วงหล่นลงบูชาพระพุทธเจ้า  ดอกมณฑารพดอกไม้ทิพย์ของสวรรค์ตลอดถึงจุณจันทน์สุคนธชาติของทิพย์ก็โปรยปรายลงจากอากาศ  ดนตรีสวรรค์ก็บันลือประโคม  เป็นมหานฤนาทโกลาหลเพื่อจะบูชาพระพุทธเจ้าในกาลอันเป็นอวสานพระองค์"

ภาพที่ ๗๒ ปุกกุสะบุตรแห่งมัลลกษัตริย์แวะเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อ เกลี้ยงสีทอง



ภาพที่ ๗๒
ปุกกุสะบุตรแห่งมัลลกษัตริย์แวะเข้าเฝ้าถวายผ้าเนื้อ เกลี้ยงสีทอง




ในขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ภายใต้ร่มพฤกษาริมฝั่งแม่น้ำ  ซึ่งอยู่ในระหว่างทางที่จะไปยัง เมืองกุสินารานั้น  ได้มีชายผู้หนึ่งนามว่าปุกกุสะ ผู้เป็นบุตรของมัลลกษัตริย์  เดินทางมาจากเมืองกุสินาราจะไปยังเมืองปาวา  มาถึงตรงที่พระพุทธเจ้าประทับหยุดพักจึงเข้าไปพัก


พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้เขาฟังเกี่ยวกับเรื่องธรรมอันเป็นสันติ       ปุกกุสะฟังแล้วเกิดความเลื่อมใส  จึงถวายผ้าสิงคิวรรณสองผืนแด่พระพุทธเจ้า   ผ้าสิงคิวรรณ  คือผ้าเนื้อดี  ละเอียด  ประณีต  มีสีเหมือนสิงคี  'สิงคี'  แปลว่า  ทองคำ


เขากราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  ผ้าสิงคิวรรณคู่นี้ผืนหนึ่งสำหรับห่ม  อีกผืนหนึ่งสำหรับนุ่งเป็น
ผ้าพิเศษเนื้อเกลื้อง    ตัวเขาเคยนุ่งห่มเป็นครั้งคราว    เขาได้เก็บรักษาไว้   แต่บัดนี้จะขอถวายพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้าทรงรับผืนหนึ่ง    อีกผืนหนึ่งทรงบอกให้ปุกกุสะนำไปถวายพระอานนท์   ชายผู้นั้นได้ทำตามพุทธประสงค์  กราบถวายอภิวาทพระบาทพระพุทธเจ้า  แล้วออกเดินทางต่อไป


หลังจากนั้น  พระอานนท์ได้นำผ้าที่ชายผู้นั้นถวายท่านเข้าไปถวายพระพุทธเจ้า  พระพุทธเจ้า
ทรงนุ่งผืนหนึ่งและห่มอีกผืนหนึ่ง     พอพระพุทธเจ้าทรงนุ่งและห่มผ้าสิงคิวรรณแล้ว    ปรากฎว่าพระกาย
ของพระพุทธเจ้าฉายพระรัศมีเปล่งปลั่งและผุดผ่องผิดปกติยิ่งกว่าครั้งใดๆ  ที่พระอานนท์เคยเห็นมา   พระ
อานนท์จึงกราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่น่าอัศจรรย์มาก


พระพุทธเจ้าตรัสพระอานนท์บอกว่า  พระกายของพระองค์มีพระรัศมีเปล่งปลั่งผิดปกติ  มีอยู่สองครั้งเท่านั้น  ครั้งหนึ่งเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ  อีกครั้งหนึ่งคือเมื่อก่อนวันจะปรินิพพานคือวันนี้  แล้วตรัสว่า


"ดูก่อนอานนท์!  สิ้นสุดคืนวันนี้  เราจักนิพพานแล้ว  มาเดินทางต่อไปยังกุสินารากันเถิด"


พระอานนท์รับพุทธาณัติ  คือคำสั่งจากพระพุทธเจ้า  แล้วเรียนให้พระสงฆ์ทั้งปวงที่ตามเสด็จ
ให้ทราบเพื่ออกเดินทางต่อไป

ภาพที่ ๗๑ เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาถวาย



ภาพที่ ๗๑
เสด็จไปกรุงกุสินารา ทรงกระหายน้ำ โปรดให้พระอานนท์ ไปตักน้ำมาถวาย




ระหว่างทางเสด็จไปเมืองกุสินารา  ภายหลังทรงฉันสูกรมัททวะของนายจุนทะแล้ว    พระพุทธเจ้าทรงประชวรด้วยพระโรคปักขันธิกาพาธอย่างหนัก  จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน  ณ  ที่นั้นเสีย  ก่อนกำหนด  แต่ทรงระงับอาพาธนั้นเสียได้ด้วยขันติบารมี  คือ  ความอดกลั้น


ปักขันธิกาพาธเป็นพระโรคอย่างหนึ่งซึ่งเกิดประจำพระองค์พระพุทธเจ้า    คือทรงพระบังคนถ่ายออกมาเป็นโลหิต  มีผู้สันนิษฐานกันว่าคงได้แก่  ริดสีดวงลำไส้


เพราะเหตุที่ประชวรพระโรคดังกล่าว  พระพุทธเจ้าจึงทรงลำบากพระกายมาก  แต่ทรงมีพระสติสัมปชัญญะ  ไม่ทรงทุรนทุราย


เสด็จถึงระหว่างทางแห่งหนึ่ง    ซึ่งมีแม่น้ำเล็กๆ  มีน้ำไหล    พระพุทธเจ้าแวะลงข้างทาง  เข้าประทับใต้ร่มพฤกษาแห่งหนึ่ง      ตรัสบอกพระอานนท์ให้พับผ้าสังฆาฏิเป็น   ๔   ชั้นแล้วปูลาดถวาย  เสด็จนั่งเพื่อพักผ่อน  แล้วตรัสให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำในแม่น้ำ


"เราจักดื่มระงับความกระหายให้สงบ"  พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์


พระอานนท์กราบทูลว่าแม่น้ำตื้นเขิน  เกวียนประมาณ  ๕๐๐  เล่มของพวกพ่อค้าเกวียนเพิ่งข้ามแม่น้ำผ่านไปเมื่อสักครู่นี้    เท้าโคล้อเกวียนบดย่ำทำให้น้ำในแม่น้ำขุ่น      แล้วกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า  
"อีกไม่ไกลแต่นี้  มีแม่น้ำสายหนึ่งชื่อกุกกุฏนที  มีน้ำใส  จืดสนิท  เย็น  มีท่าน้ำสำหรับลงเป็นที่รื่นรมย์  ขอ
เชิญเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า  ไปที่แม่น้ำนั้นเถิด  พระเจ้าข้า"


พระพุทธเจ้าตรัสปฏิเสธคำทูลทัดทานของพระอานนท์ถึง ๓ ครั้ง  พระอานนท์จึงอุ้มบาตรเดินลงไปตักน้ำในแม่น้ำ  ครั้นเห็นน้ำ  พระอานนท์ก็อัศจรรย์ใจนักหนา  พลางรำพึงว่า


"ความที่พระตถาคตพุทธเจ้ามีฤทธิ์และอานุภาพใหญ่หลวงเช่นนี้เป็นที่น่าอัศจรรย์มาก  แม่น้ำนี้ขุ่นนัก  เมื่อเราเข้าไปใกล้เพื่อจะตัก  น้ำกลับใสไม่ขุ่นมัว"


ครั้นแล้วพระอานนท์ก็นำบาตรตักน้ำนั้นไปถวายพระพุทธเจ้า

ภาพที่ ๗๐ เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับ เป็นปัจฉิมบิณฑบาต



ภาพที่ ๗๐
เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต




พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร    ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับ  
เพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา  สถานที่ทรงกำหนดว่าจะนิพพานเป็นแห่งสุดท้าย  จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น  ๑๔  ค่ำ  เดือน  ๖  ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จนิพพานเพียงหนึ่งวัน


เสด็จเขัาไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร   นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง  ได้ทราบข่าวว่า  พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน  ก็ออกไปเฝ้าและฟังธรรม  ฟังจบแล้ว  นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น


เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น  นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน  อาหาร
อย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า  'สูกรมัททวะ'


คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า  'สูกรมัทท
วะ'  นั้นคืออะไรแน่  บางมติว่าได้แก่สุกรอ่อน  (แปลตามตัว  สูกร-สุกร  หรือหมู  มัททวะ-อ่อน)   บางมติว่า
ได้แก่  เห็นชนิดหนึ่ง  และบางมติว่าได้แก่  ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง    ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด  เช่น  เทพเจ้า  เป็นต้น  เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส


พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้นถวายแต่เฉพาะพระองค์     ส่วนอาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์  และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว  รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกรมัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้ว  ไปฝังเสียที่บ่อ  เพราะคนอื่นนองจากพระองค์นั้นฉันแล้ว    ร่างกายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้    เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชม และรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของ  แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป

ภาพที่ ๖๙ รุ่งเช้าเสด็จกลับจากทรงบาตร เยื้องพระกายดูกรุงไพศาลี เป็นครั้งสุดท้าย



ภาพที่ ๖๙
รุ่งเช้าเสด็จกลับจากทรงบาตร เยื้องพระกายดูกรุงไพศาลี เป็นครั้งสุดท้าย




หลังจากพระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธคำทูลอาราธนาของพระองค์  เรื่องให้ทรงต่อพระชนมายุออก
ไปอีกระยะหนึ่ง  อย่าเพิ่งนิพพานเลย  แล้วพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์เสด็จไปยังกุฏาคารศาลา  ในป่ามหาวัน  แขวงกรุงไพศาลี


กุฏาคารศาคา  คือ  อาคารที่ปลูกเป็นเรือน  มียอดแหลมเหมือนยอดปราสาท  ป่ามหาวันเป็นป่า
ใหญ่ดงดิบ    คัมภีร์ศาสนาพุทธหลายคัมภีร์บันทึกไว้ตรงกันว่า  ป่าแห่งนี้เป็นที่อาศัยบำเพ็ญพรตของบรรดาฤาษี  นักพรต  นักบวช   พระพุทธเจ้า  และพระสงฆ์ก็เคยอาศัยป่าแห่งนี้เป็นที่ประทับ  และแวะพักหลายครั้ง  พระพุทธเจ้าเสด็จมายังป่ามหาวันแล้วประชุมพระสงฆ์  เพราะขณะนี้  ข่าวพระพุทธเจ้าจะนิพพานได้แพร่สะพัดไปทั่วแล้ว    พระพุทธเจ้าตรัสประทานโอวาทพระสงฆ์ที่ยังไม่สำเร็จมรรคผล   ให้รีบขวยขวาย   อย่าได้ประมาท  อย่าได้เสียใจว่าพระองค์จะนิพพานจากไปเสียก่อน


"ชนทั้งหลายเหล่าใด  ทั้งหนุ่มทั้งแก่  ทั้งพาลทั้งบัณฑิต  ทั้งมั่งคั่งทั้งยากไร้   ชนเหล่านั้นต่าง
ตายด้วยกันในที่สุด    ภาชนะดินที่ช่างหม้อปั้นแล้ว  ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่  ไม่ว่าเผาสุกหรือดิบ  ไม่ว่าขนาดไหน  มีแตกสลายในที่สุด  ชีวิตคนและสัตว์ทุกชนิดในโลกนี้ก็เหมือนกัน"


ความในอัญญประกาศ  คือ   พระพุทธดำรัสที่พระพุทธเจ้าประทานพระสงฆ์  ในการเสด็จมา
ยังป่ามหาวัน  ดังกล่าว


รุ่งขึ้นพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์ได้เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในเมืองไพศาลี    ตอนเสด็จ
ออกจากเมือง    พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอาการทางพระกายซึ่งตามปกติไม่เคยทรงทำอย่างนั้นมาก่อนเลยไม่ว่าเสด็จจากเมืองใดๆ      คือเยื้องพระกายทั้งพระองค์พระองค์กลับทอดพระเนตรเมืองไพศาลี   เป็นอย่าง  'นาคาวโลก'  แปลว่า  ช้างเหลียวหลัง


ตรัสว่า  "อานนท์!   การเห็นเมืองไพศาลีครั้งนี้ของเรา   นับเป็นครั้งสุดท้าย   ต่อนี้ไปจักไม่ได้
เห็นอีก"  ครั้นแล้วตรัสว่า  "มาเดินทางต่อไปยังภัณฑคามกันเถิด"


ภัณฑคามเป็นตำบลแห่งหนึ่ง     ซึ่งอยู่ในระหว่างทางที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังเมืองกุสินารา  
ซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์จะนิพพาน

ภาพที่ ๖๘ มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้ว อีก สามเดือนจะนิพพาน



ภาพที่ ๖๘
มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่พระอานนท์ว่า ทรงปลงอายุสังขารแล้วอีก สามเดือนจะนิพพาน




เมื่อพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร  คือ  ทรงประกาศกำหนดวันจะเสด็จนิพพานไว้ล่วงหน้า
ถึง  ๓  เดือน   พลันก็ยังเกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว  ผู้คนที่ได้ทราบข่าวต่างๆ  เกิดขนลุก   ปฐมสมโพธิว่ากลองทิพย์ก็บันลือไปในอากาศ  พระอานนท์ประสบเหตุอัศจรรย์นั้น  จึงออกจากร่มพฤกษาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามถึงเหตุเกิดอัศจรรย์  คือแผ่นดินไหว  พระพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระอานนท์ว่า  เหตุที่จะเกิดแผ่นดินไหวนั้นมี  ๘  อย่าง  คือ


     ๑. ลมกำเริบ
     ๒. ผู้มีฤทธิ์บันดาล
     ๓. พระโพธิสัตว์จุติจากชั้นดุสิต  มีสติสัมปชัญญะ  ลงสู่พระครรภ์พระมารดา
     ๔. พระโพธิสัตว์มีสติสัมปชัญญะ  ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา 
     ๕. พระพุทธเจ้าตรัสรู้
     ๖. พระพุทธเจ้าตรัสปฐมเทศนา
     ๗. พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร
     ๘. พระพุทธเจ้านิพพาน


พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า  ที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ในวันนี้   เกิดจากพระองค์ทรง
ปลงอายุสังขาร  พอได้ฟังดังนั้น  พระอานนท์นึกได้  คือ  ได้สติตอนนี้  จึงจำได้ว่าพระพุทธเจ้าเคยตรัสบอกท่านว่า  ธรรมะ  ๔  ข้อที่เรียกว่า   อิทธิบาท  ๔  คือ    ความพอใจ  ความเพียง  ความฝักใฝ่  และความใตร่ตรอง   ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญปฏิบัติให้เต็มเปี่ยมแล้ว  ปรารถนาจะให้ชีวิตซึ่งถึงกำหนดดับหรือตาย  ได้มีอายุยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่งก็ย่อมทำได้


พอนึกได้เช่นนี้   พระอานนท์จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า  ให้ทรงใช้อิทธิบาท  ๔  นั้นต่อพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีก  พระพุทธเจ้าทรงปฏิเสธถึง ๓  ครั้ง  ตรัสว่าพระองค์เคยทรงแสดงโอภาสนิมิต  (บอกใบ้)  ให้พระอานนท์ทูลอารธนาพระองค์ให้มีพระชนมายุสืบต่อไปอีกก่อนหลายครั้ง  และหลายแห่งแล้ว    ซึ่งถ้าพระอานนท์นึกได้แล้วทูลอาราธนา    พระองค์ก็จะทรงรับคำอาราธนาเพื่อต่อพระชนมายุ
ของพระองค์ออกไปอีก    ว่าอย่างสามัญก็ว่า  พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า  "สายเสียแล้ว"  เพราะ
พระองค์ได้ประกาศปลงอายุสังขารว่าจะนิพพานเสียแล้ว

ภาพที่ ๖๗ ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ พญามารเข้าเฝ้าทูลให้ เสด็จปรินิพพานทรงรับอาราธนา



ภาพที่ ๖๗
ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕
พญามารเข้าเฝ้าทูลให้ เสด็จปรินิพพานทรงรับอาราธนา


พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาตามแคว้นและเมืองต่างๆ   เป็นเวลา  ๔๕  พรรษา
นับตั้งแต่วันตรัสรู้เป็นต้นมา พรรษาที่ ๔๕  จึงเป็นพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า  และเป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุได้  ๘๐  ปี  นับแต่ประสูติเป็นต้นมา

พรรษาสุดท้าย   พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุคาม  แขวงเมืองไพศาลี   ระหว่างพรรษา
ทรงพระประชวรเพราะอาพาธหนัก  จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน  พระสงฆ์ทั้งปวงที่ยังเป็นปุถุชน หรือแม้แต่
พระอานนท์  องค์อุปัฏฐากต่างก็หวั่นไหว  เพราะตวามตกใจที่เห็นพระพุทธเจ้าประชวรหนัก   พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า   เวลานี้พระกายของพระองค์ถึงอาการชรามาก  มีสภาพเหมือนเกวียนชำรุด  ที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่

ทรงหายจากอาพาธคราวนี้แล้ว  และเมื่อออกพรรษาแล้ว  พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์
เสด็จไปประทับที่ร่มพฤกษาแห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์   แขวงเมืองไพศาลี    เวลากลางวัน    พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอภาศนิมิตแก่พระอานนท์ว่า  'อิทธิบาทสี่'  (ชื่อของธรรมหมวดหนึ่งมี  ๔  ข้อ)   ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญได้เต็มเปี่ยมแล้ว  สามารถจะต่ออายุให้ยืนยาวไปได้อีกกำหนดระยะเวลาหนึ่ง

'โอภาสนิมิต'  แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่าบอกใบ้   คือพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุจะสิ้นสุดลงใน
ปีที่กล่าวนี้    จึงทรงบอกใบ้ให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง  แต่พระอานนท์ท่านนึกไม่ออก  ทั้งๆ  ที่พระพุทธเจ้าทรงบอกใบ้ถึง  ๓  หน

ปฐมสมโพธิบอกว่า   เมื่อพระอานนท์นึกไม่ออกเช่นนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกพระอานนท์
ให้ไปนั่งอยู่ที่ใต้ร่มไม้อีกแห่งหนึ่ง  แล้วมารก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า  กราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จนิพพาน  พระพุทธเจ้าทรงรับคำแล้วทรงปลงอายุสังขาร

'ปลงอายุสังขาร'    แปลเป็นภาษาสามัญได้ว่ากำหนดวันตายไว้ล่วงหน้า     วันนั้นเป็นวันเพ็ญ
เดือนสาม  พระพุทธเจ้าตรัสว่า  นับจากนี้ไปอีก  ๓  เดือนข้างหน้า  (กลางเดือนหก)    พระองค์จะนิพพานที่เมืองกุสินารา

ภาพที่ ๖๖ ครั้งหนึ่งเสด็จไปจำพรรษา ณ ป่าปาเลไล โดยมีช้างกับลิง เป็นพุทธอุปัฏฐาก



ภาพที่ ๖๖
ครั้งหนึ่งเสด็จไปจำพรรษา ณ ป่าปาเลไล โดยมีช้างกับลิง เป็นพุทธอุปัฏฐาก




ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพเหตุการณ์ตอนหนึ่งในพระประวัติของพระพุทธเจ้า  เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในป่าโดยลำพังพระองค์       ไม่มีพระภิกษุหรือใครอื่นตามเสด็จไปจำพรรษาอยู่ด้วยเลย  
ป่าที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาครั้งนี้เป็นป่าใหญ่  เป็นที่อยู่อาศัยของช้างโทนเชือกหนึ่ง  ชื่อว่า  'ปาลิไลยกะ'  หรือ  'ปาลิไลยก์'   ป่าแห่งนี้จึงได้นามตามช้างนี้ว่า  'ป่าปาลิไลยก์'    คนไทยเราเรียกว่า  'ป่าปาเลไล'  อันเดียวกันนั่นเอง


มูลเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาที่ป่าแห่งนี้  เพราะทรงรำคาญพระภิกษุชาวเมืองโกสัม
พีสองคณะพิพาทและแตกสามัคคีกัน   ถึงกับไม่ยอมลงโบสถ์ร่วมกัน   พระพุทธเจ้าทรงทราบเข้า  ได้เสด็จมาทรงระงับให้ปรองดองกัน    แต่พระภิษุทั้งสองคณะก็ไม่เชื่อฟัง  พระพุทธเจ้าจึงเสด็จหลีกไปจำพรรษาอยู่ในดังกล่าว


ด้วยอำนาจพุทธบารมีและพระเมตตาของพระพุทธเจ้า  ช้างชื่อปาลิไลยก์ได้เข้ามาอุปัฏฐากพระ
พุทธเจ้า    เช้าขึ้นหาผลไม้ในป่ามาถวาย   ตอนเย็นต้มน้ำร้อยถวายพระพุทธเจ้าด้วยวิธีกลิ้งก้อนหินที่เผาไฟให้ร้อนลงในแอ่งน้ำ


ลิงตัวหนึ่งเห็นช้างปรนนิบัติถวายพระพุทธเจ้า   ก็ได้นำรวงฝึ้งมาถวายพระพุทธเจ้าบ้าง  พระ
พุทธเจ้าทรงรับแต่ไม่ทรงฉัน  ลิงจึงเข้าไปนำรวงผึ้งกลับมาพิจารณาดู  เมื่อเห็นตัวอ่อนของฝึ้ง  จึงนำตัวอ่อนออกหมดแล้วนำแต่ผึ้งหวานเข้าไปถวายใหม่  คราวนี้พระพุทธเจ้าทรงรับแล้วฉัน  ลิงแอบดูอยู่บนต้นไม้  เห็นพระพุทธเจ้าทรงฉันรวงผึ้งของตน  ก็ดีใจ  กระโดดโลดเต้นบนกิ่งไม้    จนพลัดตกลงมาถูกตอไม้แหลมเสียบท้องทะลุตาย


เมื่อออกพรรษา   พระภิกษุที่แตกกันเป็นสองฝ่ายยอมสามัคคีกัน  เพราะชาวบ้านไม่ยอมทำบุญ
ใส่บาตรให้  ได้ส่งผู้แทนไปกราบทูลพระพุทธเจ้าเสด็จกลับเข้าเมือง  ช้างปาลิไลยก์อาลัยพระพุทธเจ้านักหนา  เดินตามพระพุทธเจ้าออกจากป่า  ทำท่าจะตามเข้าไปในเมืองด้วย  พระพุทธเจ้าจึงทรงหันไปตรัสบอกช้างว่า  "ปาลิไลยก์!  ถิ่นของเธอหมดแค่นี้  แต่นี้ไปเป็นถิ่นที่อยู่ของมนุษย์  ซึ่งเป็นภัยต่อสัตว์เดรัจฉานเช่นเธอ   เธอไปด้วยไม่ได้หรอก"


ช้างปาลิไลยก์ยืนร้องไห้เสียใจไม่กล้าเดินตามพระพุทธเจ้า  พอพระพุทธเจ้าลับสายตาก็เลยอก
แตกตายอยู่  ณ  ที่นั้น  คัมภีร์บอกว่าทั้งลิงและช้างตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์