วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

๑๐.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๖.

กุฏิหลวงปู่ที่วัดถ้ำหินแตก


หาเกาะในใจ

     ในระยะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคลนั้น หลวงพ่องดการแสดงธรรมสอนคนอื่นทั้งหมด มุ่งแต่การเจริญสมาธิภาวนาอย่างเดียว เมื่อออกพรรษาแล้วได้เดินทางไปแสวงวิเวกที่เกาะสีชัง ได้รับความสงบทางใจ ตลอดเวลาที่บำเพ็ญธรรมอยู่บนเกาะแห่งนี้เป็นเวลา ๑ เดือน ทำให้ได้คติข้อคิดในทางธรรมว่า

     “ชาวเกาะสีชังได้อาศัยพื้นดินบนเกาะอันมีน้ำทะเลล้อมรอบ พื้นดินบนเกาะที่ตั้งอยู่ได้ต้องอยู่พ้นจากน้ำจริง ๆ เกาะสีชังเป็นที่พึ่งภายนอกของร่างกาย แต่การที่เรามาอาศัยเกาะสีชังก็เพื่อหาเกาะที่พึ่งทางใจ ซึ่งกิเลสตัณหาท่วมไม่ถึง แม้เราจะอยู่บนเกาะสีชัง แต่เราจะต้องค้นหาเกาะภายนใจอยู่ต่อไป เพื่อให้เป็นเกาะที่พึ่งทางใจ เกาะทางใจนี้ล้อมรอบด้วยทะเลแห่งกิเลสตัณหา คนที่ยังไม่พ้นไปจากกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม ก็เปรียบได้กับคนที่ลอยคออยู่ในทะเล ซึ่งมีหวังจมน้ำตาย หรือไม่ก็ต้องผจญกับสัตว์ร้ายในทะเล เช่น ปลาฉลาม เป็นต้น”

     ออกจากเกาะสีชังกลับมาวัดใหญ่ฯ ที่อยุธยาอีกครั้ง พักอยู่นานพอสมควรจึงได้เดินทางขึ้นอีสานกลับไปบ้านเกิดที่อุบลราชธานี พอญาติพี่น้องรู้ข่าว ต่างพากันมานมัสการด้วยความยินดี เพราะจากกันไปนานถึง ๒ ปี โดยไม่ทราบข่าวคราวกันเลย หลวงพ่อกลับมาคราวนี้ก็มีท่าทีน่าศรัทาเลื่อมใสมาก ญาติมิตรจึงให้ความเคารพยำเกรง ท่านแนะนำสิ่งใดทุกคนก็สนใจฟัง ไม่แสดงอาการโต้แย้งใด ๆ ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องหลายคน เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษยิ่งขึ้น คืนหนึ่ง พระเที่ยง โชติธมฺโม ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามเณรเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อ ได้เข้ามากราบคารวะขอฟังธรรม และตัดสินใจออกปากฝากตัวเป็นศิษย์ ขอติดตามออกบำเพ็ญกรรมฐาน แต่หลวงพ่อกลับนิ่งเฉยไม่ตอบรับและไม่ปฏิเสธ ทำให้พระเที่ยงเกิดลังเลและรู้สึกผิดหัง เมื่อนั่งนิ่งกันอยู่ชั่วครู่ หลวงพ่อได้เอ่ยขึ้นว่า

“ทำไมถึงอยากไป”
“กระผมเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงอยากไปปฏิบัติเหมือนครูบาอาจารย์บ้างครับ”
พระเที่ยงตอบพร้อมกับใจชึ้นขึ้นมาเล็กน้อย
“เอ้า! ถ้าจะไปจริง ๆ ให้ท่านทองดี (สามเณรทองดีบวชเป็นภิกษุแล้ว) เขียนแผนที่บอกทางไปบ้านป่าตาให้นะ แล้วไปรอผมอยู่ที่นั่น”

     เมื่อแนะนำแนวทางปฏิบัติแก่ญาติพี่น้องพอสมควรแล้ว หลวงพ่อก็ออกจาริกปฏิบัติภาวนาตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ ต่อไป จนกระทั่งถึงบ้านป่าตา อำเภอเลิงนกทา และได้พำนักจำพรรษา ปี พ.ศ.๒๔๙๕ (พรรษาที่ ๑๔) อยู่ที่ลานหินแตก ซึ่งต่อมาชาบ้านเรียกกันว่า วัดถ้ำหินแตก

    ในปีนั้นหลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระภิกษุสามเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิกันตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า

     “อย่าพากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้น มันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวันกลางคืน ไม่มีข้างขึ้นข้างแรม ฉะนั้นเรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่ากลางวันหรือกลางคืนก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา”

     วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า
“ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้วหรือ?”
“กระผมฉันมาหลายปีแล้วครับ”
“แล้วมันดีขึ้นไหม?”
“พอทุเลาลงบ้างครับ”
หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า
เออ! ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหายสักที เอามันโยนทิ้งไปเสีย แล้วมาฉันมาขนานใหม่กัน คือฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตายไปเสีย”

     ชาวบ้านป่าตาวในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แม้จะมีจิตศรัทธาต่อการทำบุญกุศล แต่ก็ขัดสนเรื่องความเป็นอยู่ จึงอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามมีตามได้แบบชาวบ้านอีสานในสมัยนั้น คือมีข้าวเหนียว พริก เกลือหรือแจ่ว ผักสด ๆ และกล้วยบ้างบางวัน




กินเหยื่อแล้วก็น่าสงสาร

     เมื่อจะอดอยากขาดแคลนสักปานใดหลวงพ่อกับศิษย์ก็คงบากบั่นหมั่นเพียรเจริญภาวนาอย่างไม่ย่อท้อ กลับน้อมเอาความอดอยากขัดสนมาเป็นครูผู้สอนให้มีความอดทน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่วันหนึ่งก็มีสิ่งมาทดสอบความมุ่งมั่นของท่าน บริเวณสำนักที่หลวงพ่อพำนักอยู่นั้น ด้านทิศเหนือเป็นแอ่งน้ำใหญ่มีปลาชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักน้ำล้นฝั่ง ปลาก็ตะเกียกตะกายตามน้ำมา เพื่อจะเข้าไปในแอ่งน้ำใหญ่ บางตัวเรี่ยวแรงดี ก็ข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งน้ำขึ้นไปได้ แต่บางตัวหมดกำลังเสียก่อน ก็นอนดิ้นกระเสือกกระสนหายใจพะงาบ ๆ อยู่บนคันหินนั้น หลวงพ่อสังเกตเห็น ก็ได้ช่วยจับมันปล่อยลงไปในแอ่งน้ำอยู่บ่อย ๆ

     เช้าวันหนึ่งก่อนออกบิณฑบาต หลวงพ่อได้เดินไปดูปลาที่คันหินเช่นทุกเช้า พบว่าเช้าวันนั้นมีคนเอาเบ็ดตกมาตกปลาไว้ตามริมแอ่งน้ำเป็นระนาว เห็นมีปลาติดเบ็ดอยู่ ท่านก็ช่วยมันไม่ได้เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ได้แต่มองด้วยความสลดใจ รำพึงว่า “เพราะปลากินเหยื่อเข้าไป เหยื่อนั้นมีเบ็ดด้วยปลาจึงติดเบ็ด เห็นปลาติดเบ็ดแล้วก็สงสาร เพราะความหิวแท้ ๆ ปลาจึงกินเหยื่อที่เขาล่อเอาไว้ ดิ้นเท่าไร ๆ ก็ไม่หลุด เป็นกรรมของปลาเองที่ไม่พิจารณา คนเราก็เช่นเดียวกัน หากกินอาหารมูมมามไม่เลือกพิจารณา ย่อมเป็นเหมือนปลาหลงกินเหยื่อแล้วติดเบ็ด เป็นอันตรายแก่ตนเองได้ง่าย ๆ”

     หลังจากไปบิณฑบาตกลับมาเช้าวันนั้น หลวงพ่อได้พบว่า ชาวบ้านได้เอาอาหารพิเศษมาถวาย คือ ต้มปลาตัวโต ๆ ทั้งนั้น ทำให้หลวงพ่อนึกรู้ได้ทันทีว่า ต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่ท่านเห็นเมื่อรุ่งเช้านั้นแน่ ๆ บางทีอาจเป็นปลาที่ได้เคยช่วยชีวิตเอามันปล่อยลงน้ำมาแล้วก็ได้ ความรู้สึกรังเกียจไม่อยากฉันทันที เมื่อโยมถวายจึงเพียงแต่รับไว้ตรงหน้าแต่ไม่ยอมฉัน ถึงแม้อาหารไม่ค่อยมี มีแต่ปลาร้าแจ่วบองกับผัก อด ๆ อยาก ๆ ก็ตาม แต่ท่านก็ไม่ยอมฉันต้มปลาของชาวบ้าน เพราะกลัวว่าถ้าฉันไปแล้วโยมอาจดีใจถือว่าคงได้บุญใหญ่ จะไปตกเบ็ดเอาปลาในแอ่งมาต้มแกงถวายอีกในวันต่อ ๆ ไป ในที่สุดปลาก็คงหมดแอ่ง หลวงพ่อจึงหยิบถ้วยต้มปลาส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้าง ๆ พระทองดีสังเกตเห็นหลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน ชาวบ้านเห็นดังนั้นจึงถามขึ้นมา

“ท่านอาจารย์ บ่ฉันต้มปลาบ้อ ขะหน่อย?”
(ท่านอาจารย์ไม่ฉันต้มหรือครับ?)
“บ่ดอก ซิโตนมัน” หลวงพ่อตอบ
(ไม่หรอก สงสารมัน)
โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงรำพึงว่า
“ถ้าแมนผม คือสิอดบ่ได้ดอก”
(ถ้าเป็นผม คงจะอดไม่ได้หรอก)

นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย และพวกเขายังถือกันว่ามันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาอีกด้วย







ปลีกตัว

     ปี พ.ศ.๒๔๙๖ (พรรษาที่ ๑๕) หลวงพ่อกับลูกศิษย์ยังคงพำนักอยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง แต่ในพรรษาหลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตกประมาณ ๓ กิโลเมตร และได้มอบหมายให้พระอาจารย์อวน ปคุโณ เป็นผู้ดูแลภิกษุสามเณรในที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตกแทนชั่วคราว ตอนเช้าหลวงพ่อออกบิณฑบาตแล้วกลับมาฉันภัตตาหารร่วมกับภิกษุสามเณร ฉันเสร็จก็กลับขึ้นไปบำเพ็ญธรรมที่ภูกอยตามเดิม

     สำหรับกติกาที่ท่านได้กำหนดขึ้นเพื่อให้ภิกษุสามเณรทุกรูปที่จำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์ถ้ำหินแตก ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตลอดพรรษาก็คือ ไม่ให้จำวัด (นอน) ในเวลากลางคืน ให้ทำความเพียร เป็นต้นว่า เดินจงกรม นั่งสมาธิ สลับกันไปจนตลอดคืน พอสว่างได้เวลาก็ออกบิณฑบาตไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ระยะทางบิณฑบาตบางหมู่บ้านก็ ๓ กิโลเมตร บางหมู่บ้านก็ ๕-๖ กิโลเมตร กว่าจะกลับมาฉันก็เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ฉันเสร็จล้างบาตรกลับกุฏิเวลา ๑๐.๐๐ น. กลับถึงกุฏิทำความเพียร ได้เวลาพอสมควรจึงพักผ่อนจำวัด จนถึงเวลา ๑๕.๐๐ น. ตีระฆังเป็นสัญญาณให้ลุกขึ้นกวาดลานวัดหรือกระทำกิจอื่น ๆ ถ้าหากมี เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เสียงสัญญาณระฆัง ทำวัตรเย็น หลังจากนั้นก็ทำคามเพียรต่อไปจนตลอดคืน ๒ เดือนแรก ให้ภิกษุสามเณรทุกรูปถือปฏิบัติตามอัธยาศัย แล้วแต่ใครจะนั่งสมาธิหรือเดินจงกรมกี่ชั่วโมงก็ได้สลับกันไปเรื่อย ๆ พอเดือนสุดท้ายให้ทำอย่างเดียวก็คือ คืนไหนใครอยากจะเดินจงกรมตลอดคืนจนสว่างก็ได้ หรือจะนั่งสมาธิอย่างเดียวจนสว่างก็ได้ ไม่ให้สลับกัน ภายในคืนนั้น ส่วนหลวงพ่อท่านก็เร่งปฏิบัติของท่านอย่างหนักเช่นเดียวกัน เมื่อถึงันอุโบสถท่านจึงจะให้โอวาทแก่ภิกษุสามเณรและญาติโยมครั้งหนึ่ง วันธรรมดาก็ให้ทุกคนถือปฏิบัติตามระเบียบข้อกติกาที่ได้ตกลงกันไว้ทุกประการตลอดพรรษา





ป่วยแต่กาย

     ในระหว่างที่พำนักอยู่โดดเดี่ยวบนภูกอย หลวงพ่ออาพาธด้วยโรคเหงือกบวมทั้งข้างบนข้างล่างเจ็บปดทุกข์เหลือจะพรรณนา ได้รักษาด้วยอำนาจตบะธรรม มีขันติความอดทนเป็นที่ตั้งทำจิตให้สงบ แล้วพิจารณาว่าความจริง เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา จะล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปไม่ได้ หลวงพ่ออดทนอดกลั้น ฝึกให้รู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏ สู้ด้วยอำนาจสมาธิและปัญญา จนแยกโรคปวดฟันซึ่งเป็นอาการทางกายให้ขาดออกจากใจ ไม่ยอมให้ใจป่วยพร้อมกับกายด้วยเป็นโรค ๒ ชั้น โรคปวดฟันได้ทรมานสังขารของหลวงพ่อ ๗ วัน จึงได้หายไปด้วยอำนาจธรรมโอสถ

     พอออกพรรษาหลวงพ่อลงมมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง กำหนดให้ ๗ วันมารวมกันที่ลานหินแตกครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือน ๓ ของปี พ.ศ.๒๔๙๗ โยมแม่พิมพ์ (โยมมารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีก ๕ คน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อ ให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง

     หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้โยมแม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน จากนั้นหลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดีกับพระเณรบางส่วน อยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง ส่วนพระทองดีไปเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ) เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระภิกษุสามเณรอีกส่วนหนึ่ง ก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

๙.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๕.

ฑูตมรณะ

     กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนป่า เป็นที่สงบสงัด และมีความวิเวก วังเวง อันอำนวยต่อการเจริญสมณธรรมเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อจึงมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิภาวนา พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นเสมอ

     วันหนึ่ง ขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลานั้น มีกาตัวหนึ่งบินมาจับกิ่งไม้ใกล้ ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้สนใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสาสัตว์ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจกาจึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้ หลวงพ่อเห็นกิริยามันแปลก ๆ มองดูมันด้วยความสนใจ เมื่อกาเห็นท่านสนใจมันก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้ แล้วบินหายไป หลังจากนั้น ๓ วัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายอายุประมาณ ๑๓ ปี ป่วยเป็นไข้ตาย มาเผาข้าง ๆ ศาลานั้น ๓-๔ วันต่อมา อีกาก็บินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่กิ่งไม้ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่บ้านแล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก หลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวเป็นพี่ชายเด็กที่ตายเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิดป่วยกระทันหันตายตามกันอย่างน่าประหลาดใจ กาตัวนั้นมันเป็นฑูตมรณะจริง ๆ เพราะอีก ๓ วันเท่านั้น มันก็บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วัน พี่สาวของเด็กชายทั้งสองที่ตายไปก่อนหน้านั้น ก็มีอันต้องป่วยตายไปอีกคน พ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กทั้งสามเศร้าโศกเสียใจอย่างแสนสาหัส หลวงพ่อได้เห็นสภาพของคนเหล่าสั้น ยิ่งเกิดสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์เฉพาะหน้านี้มาเตือนตนมิให้ประมาท รวมทั้งพิจารณาเห็นว่าความทุกข์โศก ย่อมเกิดจากของที่เรารักและหวงแหน

     สัจธรรมในป่าช้า เร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำ ๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น วันหนึ่งเกิดนิมิตว่า ได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดูแล้วเดินต่อไป ระหว่างทางพบคนป่วยหนักจนตาย ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูกนอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดูแล้วเดินผ่านไปไม่ไกล ก็พบคนตายนอนหงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่างกาย เกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง พอตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตาติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต อยากหลุดพ้นออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสัก ๗ หรือ ๑๕ วัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่า บนยอดเขาไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลอยู่ในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเองยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงอยากทดลองดูบ้าง แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะปัสสาวะเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลาย ๆ ครั้งพอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที จึงคิดหาวิธีใหม่ เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บนยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไปทำอยู่ประมาณ ๑๕ วัน ขณะอดอาหารรู้สึกว่าร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจก็กระสับกระส่ายไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้เพราะไม่ถูกกับจริต

    ต่อมาได้นึกถึง อปณฺณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ไม่ผิด) คือ โภชเนมตฺตญฺญุตา การรู้จักประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรียสังวร สำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้านหรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป เมื่อใจน้อมไปถึงทางดำเนินนี้ จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิมแล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจากนิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้งไม่ติดขัด ครั้นออกพรรษาแล้ว หลวงตาซึ่งเฝ้าจับตามองหลวงพ่อมานาน เห็นหน่วยก้านและภูมิธรรมภูมิปัญญาน่าเลื่อมใส จึงชักชวนให้ข้ามโขงไปตั้งสำนักยังฝั่งลาวด้วยกัน แต่หลวงพ่อได้ปฏิเสธอย่างสุภาพ จวนจะสิ้นปีหลวงตาจึงพาคณะย้ายออกจากสำนักธุดงค์ข้ามโขงไปฝั่งลาว อย่างที่พูดไว้




เห็นสมมุติ

     หลังจากหลวงตาและคณะย้ายไปได้ ๗ วันแล้ว หลวงพ่อก็ออกจากสำนักสงฆ์แห่งนั้นบ้าง โดยธุดงค์มุ่งหน้าไปทางภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติซึ่งยังติดข้องอยู่ โดยที่หลวงพ่อมีอาการสะดุดในการเจริญสมาธิภาวนา ดังที่ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังว่า

     “... ไปถึงแค่นั้นแล้วเลยหยุด มันไม่ไป... สมมุตินะ... คล้าย ๆ ว่าเราเดินมานี้ มันหยุดทรุดอยู่อย่างนี้ มันไม่ไปน่ะ แล้วก็กลับ... พูดถึงความรู้สึกพูดถึงเรื่องจิตของเราน่ะ... เราก็ทำไปทำมา มาถึงที่นี่ไม่มีที่ไปอีก หยุด อันนี้อันหนึ่ง อันที่สองนี่มันเป็นอย่างนี้ เดินมาชนนี้เลยแล้วก็กลับ แบบหนึ่ง ก็มันไม่มีอะไรจะชนแล้วก็ตกลงไป ก็ทำภาวนาไป เดินจงกรมไป เดี๋ยวมันก็กลับมาอยู่ตรงนี้แหละ

นี่อะไร ๆ ถามอยู่ในใจอะไรก็ช่างมันเถอะ มันตอบอย่างนี้นาน ๆ ไปก็เลยหยุด พอไปอีกก็วกมาอีก นี่อะไร ๆ มันมาทวงอยู่เรื่อย     ธรรมดาอยู่ปกติมันก็มีความรู้สึกอย่างนี้ จิตใจมันยังวุ่นวาย เลยคิดว่านี้คืออะไร ตรงที่มันเป็นในสมาธิเรา มันติดอยู่ในสมาธินั่น เมื่อเดินไปมันก็มีความรู้สึกว่า นี้คืออะไร มันมาทวงเราอยู่บ่อย ๆ คือ เรายังไม่รู้ทันมัน รู้ไม่ถึงขั้นที่ปล่อยวาง มันจึงติดตามอยู่

     มามองเห็นพระในเวลานั้นมีใครหนอจะช่วยเราได้ นึกถึงท่านอาจารย์วัง ท่านไปอยู่ยอดเขาภูลังกา ท่านมีเณรอยู่ ๒ องค์ แล้วก็มีพระรูปเดียวคือท่าน อยู่บนโน้นยอดเขานั่น ไม่เคยเห็นท่านหรอก เราก็คิดว่าพระรูปนี้ ท่านต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่งแหละ ท่านถึงมาอยู่อย่างนี้...”

หลวงพ่อได้ขึ้นไปกราบนมัสการท่านอาจารย์วัง ได้สนทนาธรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการปฏิบัติกันอยู่ ๓ คืน เนื้อความจากการสนทนาธรรมของท่านทั้งสองถ่ายทอดจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อมีดังนี้

ท่านอาจารย์วัง : คราวหนึ่งกำลังเดินทำความเพียร เดินจงกรมหยุดอยู่กำหนดร่างกายนี่มันจมลงไปในดินเลย

หลวงพ่อ : รู้ตัวไหมครับ ?

ท่านอาจารย์วัง : รู้ ทำไมจะไม่รู้ รู้อยู่ มันก็จมลงไป กำหนดไปมันก็จมลงไปเรื่อย ๆ กำหนดรู้ว่ามันจะเป็นยังไงก็ให้มันเป็นไป มันก็จมลงไปเรื่อย ๆ มันถึงที่สุดแล้วละ ที่ไหนไม่รู้คือมันถึงที่สุดแล้วมันก็ขึ้นมา ขึ้นมาเลย แผ่นดินอยู่ตรงนี้มันขึ้นมามันไม่อยู่ ประเดี๋ยวก็ขึ้นไปโน่นอีกแล้ว ขึ้นไปโน ก็รู้มันอยู่นะ อัศจรรย์เหลือเกินว่ามันเป็นไปได้ยังไง ทีนี้มันก็ขึ้นไป ๆ จนถึงปลายไม้ ร่างกายแตก บึ้ม! ลำไส้นี่ ไส้น้อยใส่ใหญ่ มันไปติอยู่กิ่งไม้เป็นพวงเลย

หลวงพ่อ : ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ฝันเหรอครับ?

ท่านอาจารย์วัง : ไม่ใช่ฝัน นี่ถ้าเราไม่รู้มัน มันจะเอาให้เราเป็นอย่างอื่น มันเป็นจริง ๆ อย่างนั้นนี่ ในตอนนั้นก็เชื่อว่ามันเป็นจริง ๆ อย่างนั้น เดี๋ยวนี้เรารู้อยู่เห็นอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้น ขนาดนี้แหละ ท่านอย่าไปพูดเลยนิมิตอย่างอื่น ขนาดนี้มันเป็นได้ ถ้าหากว่าคนเราร่างกายแตก บึ้ม! มันจะมีความรู้สึกอย่างไรนะ ไส้เป็นพวงเลยมันพันต้นไม้อยู่นั่น มันมั่นเหลือเกิน แต่เข้าใจว่าอันนี้คือนิมิต มันอยู่อย่างนี้ เชื่อในใจว่าไม่มีอะไรจะทำอันตรายเราได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็กำหนดดูเข้ามา ดูมาถึงจิต ขณะของจิตมันอยู่อย่างนี้แล้วก็หายไป เลยมานั่งคิด มันอะไรน้อ

หลวงพ่อ : ทีนี้ผมมากราบท่านอาจารย์ ผมจนปัญญาแล้ว ผมไม่ใช่เป็นอย่างนั้น มันเป็นอีกแบบหนึ่ง คล้าย ๆ กับเราเดินไปบนสะพาน คล้าย ๆ สะพานนี่มันโด่ไปในแม่น้ำ เราก็เดินไปแล้วก็หยุดอยู่ ไม่มีที่ไปอีกแล้วจะทำยังไง อย่างนี้ แล้วก็หันกลับมา บางทีมันก็เดินเข้าไปอีก มันเป็นในสมาธิน่ะ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยกลับมาอีก กำหนดไปมันไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปมันมีอะไรมาขวางอยู่มาชน กึ๊ก! ไม่มีที่ไปอีกแล้ว มันเป็นนานนะครับอันนี้ มันคืออะไรครับท่านอาจารย์

ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันหมด มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อมันเป็นอย่างนั้นจะไปที่ไหนก็ยืนมันอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ที่ตรงนั้น ถ้าเรายืนอยู่ที่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเองของมัน ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ถ้าเรากำหนดว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้รู้สึกว่าจิตมันเป็นอย่างไรไหม ให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ามันรู้สึก เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้าย ๆ กับว่าสัญญาของเด็กกับสัญญาของผู้ใหญ่ มันก็เปลี่ยนออกไปเป็นสัญญาของผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันอยากจะเล่นของอย่างนี้ เมื่อมันเติบโตขึ้นมามันเห็นของชิ้นนี้ไม่น่าจะเล่นเสียแล้ว มันก็เลยเล่นของอย่างอื่น มันเปลี่ยนเสียแล้ว

หลวงพ่อ : อ้อ! เข้าใจครับ

ท่านอาจารย์วัง : อย่าพูดมากเลย มันหลายเรื่อง หลายเรื่อง คิดว่ามันเป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่มันเป็นทุกอย่างก็ช่างมันเถอะ เราอย่าไปสงสัยมัน อันนี้เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยหมดราคาของมันไป มันจิตสังขารไม่มีอะไรต่อไป ถ้าเราเข้าไปดูเลยกลายเป็นเป็ด เดี๋ยวเป็ดกลายเป็นไก่  เดี๋ยวไปตามดูไก่ ไก่เป็นหมา ดูหมาไปเดี๋ยวกลายเป็นหมู เลยวุ่นไม่รู้จบสิ้น กำหนดรู้มัน เพ่งมันตรงนี้ แต่ว่าอย่าเข้าใจว่าหมดนะ อย่าเข้าใจว่าหมด เดี๋ยวมันจะมีอีก แต่เราวางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตรายทั้งนั้น กำหนดอย่างนี้ให้มันมีรากฐานอยู่ อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้ มันมีช่วงเวลาของมันไป อดีตอนาคตต่อไปก็ทำนองเดียวกันนี้ แต่มันจะยิ่งหย่อนกว่ากันได้ มันจะดีเลิศจะดีประเสริฐอะไรก็ช่างมันเถอะ มันจะต้องเป็นอย่างนั้น ให้ทำความเข้าใจจริง ๆ อย่างนั้น

หลวงพ่อ : ทำไมบางคนเขาไม่มีอะไรล่ะครับ ไม่เป็นทุกข์ด้วยครับ ไม่มีอะไรที่จะขัดข้อง กายก็สบาย ใจก็สบาย ไม่มีอะไร

ท่านอาจารย์วัง : อันนี้มันเป็นบุพกรรมของ เรา มันก็ต้องสู้กันในเวลานี้ เวลาจิตมันรวมนี้มันก็มาแย่งบัลลังก์ที่ตรงนี้ สิ่งที่มันมาแย่งไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดีก็มีนะ น่ารักก็มี เป็นอันตรายทั้งนั้นแหละ อย่าไปหมายมั่นมันเลย

หลังสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น
ครั้นพูดคุยเรื่องต่าง ๆ กันต่อพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก

ในขณะพักอยู่บนภูลังกา ได้เร่งความเพียรอย่างหนักพักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา
พักอยู่ที่ภูลังกาได้ ๓ วัน หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วัง

“ได้เดินลงมาจากภูลังกา มาถึงวัดแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงได้หลบฝนเข้าไปนั่งที่ใต้ถุนศาลา จิตก็กำลังพิจารณาสิ่งเหล่านี้อยู่ ทันใดขณะจิตก็ตั้งมั่นขึ้นแล้วก็เปลี่ยนไปมีความรู้สึกเหมือนเป็นคนละโลก ดูอะไรก็เปลี่ยนไปหมด กาน้ำตั้งอยู่มองดูแล้วก็มีความรู้สึกว่าไม่ใช่กาน้ำ กระโถน ตั้งอยู่ก็เปลี่ยน บาตรก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด เหมือนหน้ามือกับหลังมือ เหมือนแดดจ้าที่มีก้อนเมฆเคลื่อนมาบดบังแสงแดดก็วาบหายไป เปลี่ยนขณะจิตไปวาบ ๆ ตั้งขึ้นมาก็เปลี่ยนวาบ เห็นขวดก็ไม่ใช่ขวด ดูแล้วก็ไม่เป็นอะไร เป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น ไม่ใช่ขวดแท้ ไม่ใช่กระโถนแท้ ไม่ใช่แก้วแท้ เปลี่ยนไปหมด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ก็น้อมเข้าหาตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายของเราก็ไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่ของสมมุติ”

ด้วยอาการของจิตที่เกิดเช่นนี้ หลวงพ่อจึงสรุปว่า
“ผมเห็นว่าพระอริยบุคคลกับคนบ้านี่ดูไม่ออก คล้าย ๆ กัน เพราะมันผิดปกติ อริยจิตนี้ถ้ามันตกกระแสแล้ว ผมเห็นว่ากับคนบ้า แยกกันออกไม่ได้ง่าย ๆ คล้ายกัน แต่มีคุณธรรมต่างกัน”

หลวงพ่อได้กำชับลูกศิษย์ลูกหาให้มีความมั่นใจในผลของการปฏิบัติ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เองอย่างแจ่มแจ้ง ดังที่ท่านได้ประสบมาแล้ว

“...เรื่องการปฏิบัตินี่อย่าไปลังเล ให้ทุ่มเทลงไป ให้จิตใจเข้มแข็ง ให้ปฏิบัติเข้าไป ถึงจะไปฟังเทศน์อยู่ที่ไหนก็ช่าง เรียนรู้ที่ไหนก็ตาม รู้เหล่านี้นั้นรู้อยู่แต่มันรู้ไม่ถึง ถ้ารู้ไม่ถึงมันก็สงสัยลังเล ถ้ารู้ถึงมันก็จบ ถึงใครจะว่าอะไรมันก็ไม่เป็นอะไร มันเป็นของมันอย่างนั้น แน่นอนอย่างนั้น เมื่อปกติจิตของเราเกิดขึ้นมา ใครจะหัวเราะ ใครจะร้องไห้ ใครจะดีใจ เสียใจก็ตามใจจะไม่หวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวงเลย...”

นอกจากนี้หลวงพ่อยังได้ข้อคิดเกี่ยวกับการภาวนาจากประสบการณ์ที่ภูลังกาว่า
“... คนจะไปภาวนาคนเดียวนี้มันก็ได้หรอก แต่ว่าบางคนมันช้าไปก็มี วนอยู่ตรงนั้น มันได้สัมผัส แต่ทางใจของเรา ถ้ามีใครไปร้องบอกชี้ทางมันไปเร็ว มันมีทางที่จะพิจารณา ทุกคนต้องเป็นอย่างนี้ เวลามันติดหนัก...”

จากภูลังกา หลวงพ่อมุ่งหน้าสู่วัดป่าหนองฮี เพื่อกราบเยี่ยมหลวงปู่กินรี การพบกันในครั้งนี้หลวงปู่ให้คำแนะนำสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า
“ท่านชา การเที่ยวธุดงค์ของท่านก็พอสมควรแล้ว ควรไปหาที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่งในที่ราบ ๆ บ้างนะ”

หลวงพ่อกราบเรียนหลวงปู่ว่า
“กระผมตั้งใจจะธุดงค์กลับไปทางบ้านที่อุบลครับ”
“จะกลับบ้าน เพราะคิดถึงใครหรือเปล่า? ถ้าคิดถึงผู้ใด ผู้นั้นจะให้โทษแก่เรา”
หลวงปู่ทิ้งท้ายด้วยคำง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งเช่นเคย




บุพนิมิตที่บ้านสวนกล้วย

   จากบ้านหนองฮีหลวงพ่อเดินธุดงค์มุ่งหน้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี โดยแวะพักและโปรดญาติโยมที่บ้านป่าตาวอำเภอเลิงนกทาอีกครั้งหนึ่ง และก่อนออกเดินทางต่อ ท่านได้รับเด็กชายชื่อทองดีเป็นศิษย์ติดตามไปด้วย

   เมื่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ อำเภอารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงพ่อ ท่านได้พักที่ป่าช้าบ้านก่อนอก เพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดาและญาติพี่น้อง และได้ฝึกหัดเด็กชายทองดีรวมทั้งเด็กชายเที่ยง (หลวงพ่อเที่ยง โชติธมฺโม ปัจจุบันเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าอรัญญวาสี สาขาที่หนึ่งของวัดหนองป่าพง) ซึ่งขณะนั้นเด็กชายเที่ยงก็กำลังจะบวชเณรที่วัดก่อนอกอยู่พอดี

   พอฝึกหัดเด็กทั้งสองให้รู้จักการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม

   ขณะพักอยู่ในป่าช้าวัดก่อนอก ญาติสนิทมิตรสหายที่ใกล้ชิดคุ้นเคยกับหลวงพ่อตั้งแต่เป็นเด็ก ได้มานมัสการสนทนาด้วยความยินดี เพราะนับตั้งแต่ท่านออกธุดงค์แล้วก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งของหลวงพ่อสังเกตเห็นว่า
เพื่อนรักของตนกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคนที่พูดเก่ง ร่าเริง ชอบหัวเราะ กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่หัวเราะรื่นเริงเหมือนเดิม

   หลวงพ่อพักอยู่อยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณ ๑๕ วัน ได้ให้ข้อคิดคำแนะนำแก่มารดาและญาติมิตรพอสมควร โดยมีสามเณรเที่ยงนึกนิยมเลื่อมใสในปฏิปทาอยู่เงียบ ๆ

   หลังจากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดี ได้ออกเดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พักปักกลดอยู่ในป่าใกล้บ้านสวนกล้วย พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนายิ่งนัก เพราะเป็นที่สงบ วิเวก มีสัตว์ป่านานาชนิด เช่น กระรอก กระแต ไก่ป่า อีเก้ง อีเห็น รวมทั้งเสือด้วย เหมาะแก่การฝึกทรมานตนเป็นอย่างดี ในพรรษาปี พ.ศ.๒๔๙๒ นี้ จึงได้ตกลงใจจำพรรษาที่บริเวณป่าใกล้บ้านสวนกล้วย ซึ่งเป็นสถานที่ที่หลวงพ่อเล่าว่า ท่านได้เกิดบุพนิมิตซึ่งเป็นความฝันที่ตัวท่านถือเอาว่า เป็นตอนที่สำคัญยิ่งในประวัติของท่าน บุพนิมิตดังกล่าวมีด้วยกัน ๓ ประการ ความหมายอันลึกซึ้งของบุพนิมิตแต่ละประการนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านรู้ประจักษ์เฉพาะตัวท่านเอง สำหรับเราท่านทั้งหลาย อย่างน้อยก็เป็นเรื่องแปลก ที่ควรแก่การรับฟังและพิจารณาตามที่หลวงพ่อได้เล่าไว้ดังนี้

   ๑. คืนหนึ่งเมื่อหลวงพ่อได้เดินจงกรม นั่งสมาธิ เป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จึงพักผ่อนจำกัด ได้เกิดนิมิตฝันไปว่า มีคนเอาไข่มาถวาย ๑ ฟอง พอหลวงพ่อรับแล้วจึงโยนไข่ไปข้างหน้า ไข่แตกเกิดเป็นลูกไก่ ๒ ตัววิ่งเข้ามาหา จึงยื่นมือทั้งสองออกไปรับข้างละตัว พอถูกมือก็กลายเป็นเด็กชาย ๒ คน พร้อมกับได้ยินเสียงบอก่า คนอยู่ข้างขวามือชื่อบุญธรรม คนที่อยู่ทางซ้ายมือชื่อบุญธง หลวงพ่อได้เลี้ยงเด็ก ๒ คนนั้นไว้ กำลังเติบโตน่ารักวิ่งเล่นได้แล้ว ต่อมาเด็กชายบุญธงเป็นโรคบิดอย่างแรง พยายามรักษาจนสุดความสามารถแต่ก็ไม่หาย จนกระทั่งเด็กนั้นได้ตายอยู่ในมือและได้ยินเสียงบอก บุญธงตายแล้ว เหลือแต่บุญธรรมคนเดียว จึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น แล้วเกิดคำถามว่านี้คืออะไร? มีคำตอบปรากฏขึ้นว่า นี้คือสภาวธรรมที่เป็นเอง จึงได้หายความสงสัย

  ๒. ในคืนต่อมาก็มีอาการอย่างเดียวกัน พอเคลิ้มจะหลับไปก็เกิดนิมิตฝันว่าตัวท่านเองได้ตั้งครรภ์ รู้สึกว่าไปมาลำบากมาเหมือนคนมีครรภ์จริง ๆ แต่มีความรู้สึกในนิมิตนั้นว่าตัวเองก็ยังเป็นพระอยู่ เมื่อครรภ์แก่เต็มที่จวนจะคลอดก็มีคนมานิมนต์ไปรับบิณฑบาต มองไปรอบ ๆ บริเวณไปลำธาร กระท่อมไม้ไผ่ขัดแตะกลางทุ่งนาและพระอยู่บนเรือน ๓ รูป ไม่ทราบว่ามาจากไหน โยมเขาพากันถวายอาหารบิณฑบาต พระ ๓ รูปนั้นฉันอยู่ข้างบน แต่หลวงพ่อรู้สึกว่าท้องแก่จวนจะคลอด เขาจึงให้ฉันอยู่ข้างล่าง พอพระฉันจังหันหลวงพ่อก็คลอดเด็กพอดี เป็นชายมีขนนุ่มนิ่มบนฝ่ามือและฝ่าเท้า มีอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ท้องปรากฏ่าแฟบลง นึกว่าตัวเองคลอดจริง ๆ จึงเอามือลูบคลำดู แต่ก็ไม่มีสิ่งเปรอะเปื้อนใด ๆ ทำให้นึกถึงที่พระพุทธองค์ทรงประสูติจากครรภ์มารดาคงจะไม่แปดเปื้อนมลทินใด ๆ เช่นกัน และเวลาฉันจังหันพวกโยมพิจารณากันว่าท่านคลอดบุตรใหม่จะเอาอะไรให้ฉัน เขาจึงถวายปลาหมอปิ้ง ๓ ตัว รู้สึกว่าเหนื่อยอ่อนไม่อยากฉัน แต่ก็ฝืนใจฉันไปเพื่อฉลองศรัทธาเขา ก่อนจะฉันได้ส่งเด็กให้โยมอุ้มไว้ ฉันเสร็จเขาก็ส่งเด็กคืนมา พอถึงมือท่าน เด็กก็พลัดตกจากมือ แล้วจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น เกิดคำถามว่านี้คืออะไร มีคำตอบว่า นี่คือสภาวะที่เป็นเองทั้งนั้น เลยหมดความสงสัย

   ๓. คืนที่สามต่อมาก็อยู่ในอาการเดิม พอพักผ่อนเคลิ้มหลับไปก็เกิดนิมิตไปว่า ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นไปบนยอดเขากับสามเณรรูปหนึ่ง ทางขึ้นเขานั้นเป็นทางวนขึ้นไปเหมือนก้นหอย วันนั้นเป็นวันเพ็ญ ภูเขาก็สูงมาก พอขึ้นไปถึงแล้วรู้สึกว่าเป็นที่ร่มรื่นดี มีผ้าปูปื้นและกั้นเพดานสวยงามมาก จนหาที่เปรียบมิได้ แต่พอเวลาฉัน เขาก็นิมนต์ให้ลงมาที่ถ้ำข้างภูเขา มีโยมแม่พิมพ์และโยมน้ามีพร้อมด้วยญาติโยมเป็นจำนวนมากไปถวายอาหาร อาหารที่ถวายนั้นโยมแม่ได้แตงและผลไม้อื่น ๆ ส่วนน้ามีได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวาย หลวงพ่อจึงทักขึ้นว่า โยมมีอยู่ตลาดเห็นจะมีความสุขนะ ได้ไก่ย่างเป็ดย่างมาถวายพระ โยมมีรู้สึกว่ามีอาการยิ้มแย้มแจ่มใสดี เมื่อฉันอาหารเสร็จแล้วได้แสดงธรรมให้ฟังนานพอสมควร เมื่อเทศน์จบจึงรู้สึกตัวตื่นขึ้น





รักษาโรคด้วยธรรมโอสถ

     ต้นปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมีซึ่งเป็นเพื่อนเคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วยสู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางการปฏิบัติที่วัดปากน้ำ ประมาณ ๗ วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

     ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๙๓-๒๔๙๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๒ และ ๑๓ หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตร ๒ ท่านคือพระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก

     ปี พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล หลวงพ่อได้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารมีอาการบวมขึ้นทางด้านซ้าย รู้สึกเจ็บปวดมาก ประกอบกับโรคหืดเรื้อรังที่เคยเป็นอยู่ได้กำเริบซ้ำเติมอีก ทำให้ได้รับความทุกข์ทรมานมาก หลวงพ่อจึงพิจารณาว่าตัวท่านอยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง ในยามเจ็บป่วยคงไม่สะดวกที่จะไปรักษาที่โรงพยาบาล เพราะจะเป็นภาระแก่คนอื่น หลวงพ่อจึงคิดรักษาโรคของท่านด้วยธรรมโอสถ โดยการอดอาหาร ไม่ยอมฉัน ดื่มเพียงแต่น้ำนิด ๆ หน่อย ๆ เท่านั้น ทอดธุระในสังขารร่างกายของตัวเอง ทั้งไม่ยอมหลับนอน ได้แต่เดินจงกรมและนั่งสมาธิสลับกันไป เอาธรรมเป็นที่พึ่ง ขอตายอยู่กับการปฏิบัติธรรม ความตั้งใจนี้เด็ดเดี่ยวแรงกล้ามาก จนถึงอัศจรรย์ในตัวเองว่า คนเรานี้เมื่อถึงคราวฮึดสู้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับความตาย รู้สึกว่าจิตใจจมีความหนักแน่นมั่นคง ไม่สะทกสะท้านต่อความตายเลยแม้แต่นิดเดียว รุ่งเช้าเมื่อเพื่อน ๆ ภิกษุไปบิณฑบาต ก็เดินจงกรม พอเพื่อนกลับจากบิณฑบาตก็ขึ้นกุฏิทำสมาธิต่อไป มีอาการอ่อนเพลียทางร่างกายบ้าง แต่กำลังใจรู้สึกดีมาก ไม่กลัวตาย ไม่ย่อท้อต่อสิ่งทั้งปวง

     หลวงพ่ออดอาหารได้ ๘ วัน ท่านอาจารย์ฉลวยจึงขอร้องให้กลับฉันอาหารดังเดิม โรคภัยในกายปรากฏว่าหายไป ทั้งอาการบวมที่ท้อง ทั้งโรคหืด ไม่กำเริบอีก จึงยอมฉันอาหารเป็นปกติ


๘.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๔.



ทุกข์เพราะคิดผิด

    หลวงพ่อพักอยู่ที่วัดร้างบ้านโคกยาวได้ ๑๙ วัน จึงเดินธุดงค์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ เรื่อยไป การแสดงธรรมและการแก้ปัญหาของตนเองและผู้อื่น รู้สึกว่าคล่องแคล่วมาก ไม่มีความสะทกสะท้านสิ่งใดเลย ได้เดินทางไปอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม จนถึงแม่น้ำโขง ข้ามไปนมัสการพระพุทธพลสันต์ที่ฝั่งลาว ข้ามโขงกลับมาทางอำเภอศรีสงคราม พักอยู่ที่บ้านหนองกา ในเวลานั้นบาตรที่ใช้เล็กและมีรูรั่วหลายแห่ง พระที่วัดหนองกาจึงถวายบาตร เป็นโอกาสให้ท่านได้พิจารณาความอยากในบริขารอีกครั้งหนึ่ง และเตือนสติตัวเองว่า การภานายังไม่มั่นคงพอ แม้ขณะอยู่ที่บ้านโคกยาได้เข้าถึงความสงบอย่างลึกซึ้งก็จริง แต่ต่อมาได้นานกิเลสตัณหาก็พาไปหลงอีกครั้งหนึ่งจนได้

    “ท่านถวายบาตรมาใบหนึ่ง แต่มันมีรูรั่ว ฝาบาตรก็ไม่มี นึกขึ้นได้สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนมันเอาเถาวัลย์ มาเหลาแล้วพักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาเหลา รีดให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วก็ถักเป็นวงไป ก็ได้ฝาบาตรเหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว ไปบิณฑบาตก็ขวางหูขวางตาจังเลยฝาบาตรอันนี้ คนเขาก็เรียกพระบาตรใหญ่ ก็ช่างเขา

    มาทำใหม่ ทำทั้งกลางวันกลางคืน ทำความเพียรผิด เพราะอยากได้มาก กลางคืนก็จุดใต้ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมามือไปชนหางใต้ ขี้ใต้ตกใส่มือไฟลวกหนังหลุดหมด มีแผลเป็นอยู่จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จึงรู้สึกตัว เอ! นี้เราทำอะไร? คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเอาบริขาร จีวร บาตร เพียรจนไม่ได้หลับได้นอน อยากได้ฝาบาตรมาก

    เพียรผิดแล้ว วาง เลยมานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปก็คิดถึงฝาบาตรไปอีกแหละ ทำต่อไม่รู้กลางวันกลางคืน ทำด้วยความอยากได้อยากเป็น จนจวนสว่าง เหนื่อยก็พัก มานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก มันผิดแล้ว เคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ ท่านบอกว่า มานี่จะเทศน์ให้ฟัง เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงนี้ เป็นเพียงเครื่องประดับของขันธ์ห้าเท่านั้น สะดุ้งตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้

    เข็ดหลาบเลยหยุด อยากได้จนไม่รู้จักตัวเอง ทีนี้เลยเลิก ทำเป็นเวลาทำแล้วพักเดินจงกรม ทำสมาธิ ตรงนี้สำคัญมากนะ งานอะไรก็ตามถ้าเราทำไม่เสร็จ ทิ้งค้างเอาไว้แล้มาทำสมาธิ ใจมันไปติดอยู่ที่งานนั้นแหละ สลัดทิ้งก็ไม่ได้ งัดยังไงก็ไม่หลุด เลยถือเอาเป็นเรื่องฝึกหัดฝึกใจตัวเอง หัดละ หัดวาง ทำอะไรก็ไม่ให้เสร็จเร็ว ทำฝาบาตรแล้วก็วางไว้ มานั่งสมาธิ มันก็ห่วงฝาบาตรอีก เดินจงกรมก็ไปเพ่งอยู่แต่ฝาบาตรน่ะแหละ

    จึงได้เห็นว่า จิตใจนี้มันปล่อยวางได้ยากเหลือเกิน มันยึดติดแน่นเหนียว เลยได้หลักในการพิจารณา ทำอะไรก็ไม่รีบทำให้เสร็จ ทำไปสักหน่อยก็วางไ ดูจิตตัวเอง ไปนั่งสมาธิ มันก็วนเวียนอยู่กับงานที่ค้างไว้น่ะแหละ ก็ดูมันไป สนุกละทีนี้ สู้กับมันอยู่นั่นแล้ว

    คิดว่าจะลองฝึกให้ได้ว่า เมื่อไปทำงานก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำก็ให้วาง ให้มันเป็นคนละอย่างไม่ต่อกัน ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน ตัวอุปาทานมั่นหมายนี้ละยาก วางยาก

    ที่คิดว่าทำอะไรก็ทำให้เสร็จ มันจะได้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมาคอยเป็นห่วง คิดอย่างนั้นก็ถูกอยู่เหมือนกัน แต่คิดให้ถึงธรรมะจริง ๆ มันไม่ถูก เพราะมันไม่มีอะไรที่จะรู้แล้วจบได้เลย ถ้าเรายังไม่ยอมเลิก

    มาคิดถึงเรื่องเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา จะปล่อยได้ยังไง จะวางได้ยังไง ในเมื่อมันเป็นอยู่ มันสุขอยู่ มันทุกข์อยู่ มันก็เหมือนเรื่องของฝาบาตร

    ถ้าเห็นตรงนี้ ก็เห็นตรงนั้น ฝึกตรงนี้ได้ก็ได้ตรงนั้นด้วย ได้หลักปฏิบัติละทีนี้ ทำอะไรก็ไม่ทำให้เสร็จ ทำแล้ววางไว้ไปเดินจงกรม พอมันกลับไปพะวงกับงาน ก็ว่ามัน ว่าตัวเอง ทักท้วงตัวเอง ฝึกตัวเอง พูดคนเดียวอยู่ในป่า สู้อยู่อย่างนั้นแหละ

    ต่อมาก็เลยเบา คืออยากให้ได้ว่า ถึงเวลาวางก็ให้มันวาง ให้มันเป็นคนละอย่างคนละอย่าง คนละอันกัน ทำก็ได้ วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น ถ้าได้รู้เรื่องว่า เออ! มันเป็นอย่างนี้เอง

    ต่อมาก็เย็บผ้า ถักถลกบาตร ทำอะไรก็หัดตัวเองอย่างนั้น ทำก็ได้ วางก็ได้ เลยได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ละทีนี้ เหตุที่ทุกข์เกิดก็รู้จักแล้ว ธรรมเกิดเพราะเหตุรู้จักแล้ว เห็นแล้ว เกิดอย่างนี้นี่เอง จากนั้นมาไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสนุกเบิกบาน จนกระทั่งถักฝาบาตรเสร็จ ไปบิณฑบาต เขาก็ยังมองอยู่ว่าพระรูปนี้ทำไมบาตรเป็นอย่างนั้น

    ต่อมาก็คิดหาอะไรมาทำอีก เลยคิดจะเอาน้ำเกี้ยง (ยากรัก) มาทาบาตร จำได้ว่าตอนเป็นเณรน้อยเคยเห็นพระท่านทำ ตอนแรกคิด่าจะเอาน้ำมันยางทา แต่รู้สึกว่าเอาน้ำเกี้ยงทาอาจจะใสกว่า ก็เลยลงมายโสธร ไปพักที่บ้านโคก อำเภอเลิงนกทา แถวนั้นต้นน้ำเกี้ยงมีมากทาทั้งตัวบาตร และฝาบาตร โยมเขาบอกว่าทาเสร็จให้เอาใส่ชะลอมหย่อนลงแช่ในบ่อน้ำให้เย็น ๆ จะได้แห้งเร็ว ๓ วันก็แห้ง ที่ไหนได้รออยู่เป็นเดือนเลยไม่ได้บิณฑบาต ไปไหนไม่ได้ เพราะบาตรไม่แห้ง นั่งสมาธิก็พะวง เฝ้าแต่ดึงชะลอมขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่นั่นแหละ เป็นทุกข์จริง ๆ ลงท้ายเห็นว่า แม้จะทิ้งไว้เป็นปีก็คงไม่แห้ง เลยบอกโยมว่าเอากระดาษมาปิดข้างนอกเอาแล้วกัน พอไปบิณฑบาตได้ จะออกปากขอบาตรใหม่จากโยมก็กลัวบาป ทนไปอย่างนั้นแหละ ตอนแรกฝาบาตรไม่มีนั้นก็คิดถึงถาดที่เคยเห็นที่บ้านตอนบวชอยู่บ้านก่อนอก คิดว่าเอาถาดแบน ๆ มาตัด ตีโค้งขึ้นแล้วบัดกรีไว้ ก็ใช้เป็นฝาบาตรได้ ก็เลยเอามันอย่างนั้นแหละ ไม่ได้คิดขอใคร ผมมันแปลกนะ ไม่ชอบขอคน พอบาตรที่ทาไว้มันแห้ง ดำปี๋เลย ทั้งบาตรทั้งฝา”





อีเก้งสอนพระ

    โยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจอย่างแยบคาย หรือการคิดพิจารณาหลักเหตุผล เป็นคุณธรรมที่เด่นชัดในปฏิปทาของหลวงพ่อตั้งแต่แรก เช่นประสบการณ์ในป่าช้าก็ดี ที่บ้านโคกยาวก็ดี เหมือนกับมีการปุจฉาวิสัชนา ถามตอบปัญหาเกิดขึ้นในใจของท่าน จนกว่าท่านสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยสติปัญญา อีกโอกาสหนึ่งที่หลวงพ่อน้อมของธรรมดาในโลกเข้ามาสู่ใจเป็นธรรม เกิดขึ้นในปีนี้ ระหว่างที่ท่านเดินธุดงค์รูปเดียวแสวงหาความวิเวก ท่านเกิดอาพาธหนัก นอนซมเพราะพิษไข้อยู่องค์เดียวกลางภูเขา ไข้ขึ้นสูงมากจนลุกไม่ขึ้น ประกอบกับไม่ได้ฉันอาหารมาหลายวัน ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียราวกับจะสิ้นใจ จึงวิตกไปว่าถ้าเราตายอยู่กลางป่าเช่นนี้ เกิดมีคบมาพบศพเข้าเขาจะส่งข่าวไปทางบ้าน เป็นภาระให้ญาติพี่น้องต้องเดินทางมาจัดการศพ คิดอย่างนั้นแล้วก็เลยควานเอาไปสิทธิจากในย่ามมาถือไว้ กะว่าจวนจะสิ้นใจจริง ๆ ก็จะจุดไม้ขีดเผาใบสุทธิเสียเพื่อทำลายหลักฐาน ขณะที่กำลังคิดวิตกวิจารณ์อยู่นั้นก็ได้ยินเสียงอีเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า

 “อีเก้งและสัตว์ป่าต่าง ๆ มันป่วยเป็นไหม?”
 “มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขารร่างกายเหมือนเรานี่แหละ”
 “มันมียากิน มีหมอมาฉีดยาให้หรือเปล่า?”
 “เปล่า ไม่มีเลย มันคงหายอดไม้ใบหญ้าตามมีตามได้”
 “สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมากมิใช่หรือ?”
 “ใช่ ถูกแล้ว”

พอพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้ ก็มีกำลังใจดีขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไปเอาน้ำในกามาดื่ม แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อย ๆ รุ่งเช้ามีกำลังออกไปบิณฑบาตได้







ได้ธรรมาวุธ

    ครั้งหนึ่งระหว่างอบรมพระเณรที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของท่านสมัยที่เดินธุดงค์ในช่วงนั้นว่า

    “แต่ก่อนกระบอกกรองน้ำสักอันยังไม่มีใช้เลย เพราะข้าวของหายาก มีจอก (ขัน) อะลูมิเนียมเล็ก ๆ อยู่ใบเดียว หวงมาก เมื่อก่อนยังสูบบุหรี่อยู่ ไม้ขีดไฟก็ไม่มี มีแต่หินเหล็กไฟ ฝากระบอกชุดก็ใช้เปลือกมะนาวผ่าครึ่ง กลางคืนเดินจงกรมเหนื่อย ก็มานั่งตีเหล็กไฟเพื่อจะจุดบุหรี่ เสียงตีเหล็ก ป๊ก! ป๊ก! ในตอนดึก ๆ ผมว่าน่าจะทำให้ผีมันนึกกลัวเหมือนกัน

    นึกย้อนไปเบื้องหลังครั้งปฏิบัติอยู่คนเดียว การปฏิบัตินี้มันเป็นทุกข์ลำบากแสนสาหัส แต่ก็สนุกมาเช่นเดียวกัน ทั้งสนุกทั้งทุกข์ พอ ๆ กันกับกินน้ำพริกตำใส่ขิงน่ะแหละ ได้ฝึกเพกาเผาแกล้มด้วย ทั้งอร่อยทั้งเผ็ด กินไปขี้มูกไหลไป หยุดกินก็ไม่ได้เพราะมันอร่อยไปเรื่อย เลยทั้งโอยทั้งกินมันเป็นยังนั้น ประโยชน์ของมัน

    คนที่ปฏิบัติธรรมะได้นี้ผมว่าทนทานจริง ๆ เพราะมันไม่ใช่เบา ๆ มันหนัก! เอาชีวิตเข้าแลกก็ว่าได้ เสือจะกินช้างจะเหยียบ ก็ให้มันตายไปเสีย คิดอย่างนั้น มันควรตายแล้ว เมื่อเราได้รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกังวลอีกต่อไป ตายก็เหมือนไม่ตายละทีนี้ เลยเป็นเหตุให้ไม่กลัวเป็นธรรมาวุธ อาวุธคือธรรมะ

    บนภูเขาที่ไหนก็ไปมาแล้วทั้งนั้น แต่อาวุธของเราคือธรรมเพียงอย่างเดียว ก็มีแต่ยอมมันเท่านั้นแหละ ปล่อยมันเลย กล้าหาญ ยอมตายเสีย เสี่ยงชีวิต คิดไปคิดมาก็มองเห็นว่าอาวุธของพระพุทธเจ้าดีกว่าอาวุธของนายพราน ช่วยกำลังใจให้เข้มแข็ง

    พิจารณาไป ดูไป คิดไป เห็นไป อะไร ๆ มันก็เห็น มันทะลุปุโปร่งไปหมด ทุกข์ก็อย่างนี้ ทุกข์ดับไปก็อย่างนี้ มันเลยสบาย คนเห็นทุกข์แต่ไม่ทะลุ เพียงแต่สงบเฉย ๆ มันไม่มีทางจะรู้จักหรอก ถ้าคนไม่กลัวตาย ยอมตายเสีย มันกลับจะไม่ตายนะ ทีนี้ทุกข์ก็ให้มันเกินทุกข์ มันหมดทุกข์โน่น ให้มันเห็นเรื่องของมัน เห็นความจริง เห็นสัจธรรม มันก็มีคุณค่าราคาน่ะซี มีกำลังจิตดี มีหรือจะกลัวคน มีหรือจะกลัวป่า มีหรือจะกลัวสัตว์ ใจมันเข้มแข็ง ถ้าคิดได้อย่างนี้

    ใจพระกรรมฐานน่ะเด็ดเดี่ยวนัก กรรมฐานทุกคน ถ้ามีจิตน้อมจนเสียสละชีวิตได้ ถ้าอยู่เป็นฆราวาส การฆ่าคนน่ะ ฆ่าไก่ยังยากกว่าเสียอีก มันเด็ดเดี่ยวถึงปานนั้น ถ้ามันเห็นผิดนะ มันใจใหญ่ ใจสูง ใจแน่นหนา ถ้าคิดมาทางธรรม ทางปล่อยวาง มันก็เลิศประเสริฐ

    ได้อาวุธดีกว่านายพรานไปอยู่ในป่า ได้ธรรมาวุธ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เรียกว่า วิตก ก็คือมันยกอันใดอันหนึ่งขึ้นมา ไปถึงเรื่องอันนั้น วิจารณ์มันก็พิจารณาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น วิตกวิจารณ์มันก็อยู่ไป ทำความเพียรไปเรื่อย จนกระทั่งมันเห็นเรื่องทะลุปรุโปร่ง ปีติมันก็เกิดขึ้น ทีนี้ก็เกิดอาการขนลุกซู่ นึกถึงเดินจงกรมก็ขนลุกซู่ คิดถึงพระพุทธ พระธรรม ก็ขนลุกซู่เกิดปีติ ซาบซ่า ซึมอยู่ในร่างกาย นั่งอยู่ก็เป็นอยู่อย่างนั้น วิตกวิจาร วิตกมันก็มีปีติ ความอิ่มใจในการกระทำของเรา ฝ่าฟันอุปสรรคมา ขนก็ลุกซู่ซ่าขึ้นมา น้ำตาก็ไหลพราก ๆ ยิ่งมีกำลังใจที่จะบากบั่นต่อสู้ ไม่มีที่จะท้อถอย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น วิตก วิจาร ปีติ ความดีใจเกิดขึ้นมา มีความสุขประกอบด้วยปัญญา อาศัยวิตกวิจารเป็นอยู่ อาศัยความสุขตั้งมั่นอยู่ในขณะนั้น ท่านจะว่าอาศัยกำลังฌาน ก็ว่าไปซิ เราไม่รู้ละ มันเป็นของมันอย่างนั้นจะว่ามันเป็นฌานก็ว่าไป วิตก อีกหนึ่งวิตกมันก็ละไป ต่อไปวิจารมันก็ละ ปีติก็ไม่มี เอกคฺคตา ใจก็เป็นอารมณ์เดียวอยู่อย่างนั้น อาศัยสมาธิเป็นอยู่ อาศัยสมาธิตั้งมั่นอยู่ มันก็เกิดความสงบ เป็นรากฐานแล้ว ความสงบมันเป็นรากฐาน ปัญญามันจะเกิดขึ้นละทีนี้

    ผมจึงได้ความเข้าใจว่า การปฏิบัตินั่นแหละมันจึงจะรู้แจ้งเห็นจริง การไปเรียนไปนึกไปคิดเอามันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง การคิดว่าไอ้นั่นมันจะเป็นอย่างนี้ก็ดี ผมรู้สึก่ามันจะเข้าไปรวมยอดเข้าไปฟ้องอยู่ที่นั่นหมด

    สบายทีนี้ ร่างกายจะอ้วนจะผอม มันก็สบาย แม้จะป่วยอยู่ก็สบาย ไม่เคยคิด่า แม่เราอยู่ไหน ญาติพี่น้องคนนั้นคนนี้ของเราอยู่ไหนหนอ ไม่มี ภาวนาตายก็ตาย เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรกังวล นั่น มันตั้งมั่นลงอย่างนั้น แล้วขณะจิตที่ตั้งรอมันก็เลยเปลี่ยนไป จิตใจมันเข้มแข็ง แล้วก็ให้ทำไป

    จะไปฟังเทศน์ที่ไหนก็ช่าง จะไปเรียนที่ไหนก็ตาม รู้อยู่ แต่มันรู้ไม่ถึง ต้องทำเอา ถ้ารู้ไม่ถึงมันจะลังเล สงสัย ถ้ารู้ถึงแล้วมันก็จบกัน จะว่ามันเป็นยังไงก็ไม่รู้นะ แต่มันเป็นของมันอย่างนั้น มันแน่นอนอย่างนั้น ปกติจิต ของเรามันก็เกิดขึ้นมาเท่านั้นเอง”





หลวงตาหมดโกรธ


    ใกล้ฤดูเข้าพรรษา หลวงพ่อเดินธุดงค์มาถึงวัดป่าแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในป่าช้าเขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เมื่อเดินตามทางเล็ก ๆ ผ่านแนวป่ามาถึงศาลา พบหลวงตาสมภารวัดนั้นนั่งสนทนาอยู่กับพระลูกวัด หลวงพ่อได้กราบนมันการและบอกที่มาของตน

    ครั้นกล่าวธรรมปฏิสันถารกันพอสมควร หลวงตาปรารภถึงภูมิจิตของตัวเองว่า หมดความโกรธแล้ว หวงพ่อรู้สึกแปลกใจมาก  เพราะคำพูดเช่นนี้ ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนักในหมู่ผู้ปฏิบัติ จึงอยากพิสูจน์ให้รู้ชัด เลยตัดสินใจขอจำพรรษาด้วย แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว หลวงตาไม่ยอมให้ใครพำนักที่วัดง่าย ๆ เหมือนกัน เพราะหลวงพ่อเป็นพระแปลกหน้า และยังธุดงค์มาองค์เดียว ไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าจะมาดีหรือร้ายอย่างไร หลวงตากับพระลูกวัดจึงปฏิเสธไม่ยอมให้พำนักอยู่ด้วย แต่ก็ผ่อนผันให้ไปจำพรรษาที่ป่าช้านอกเขตวัดได้

    ครั้นถึงวันเข้าพรรษา หลวงตาให้พระไปนิมนต์หลวงพ่อมาจำพรรษาด้วย เพราะได้รับคำทักท้วงจากพระรูปหนึ่งว่า “พระมีพรรษามากขนาดนี้ ให้จำพรรษานอกเขตวัดเห็นจะไม่เหมาะ บางทีท่านอาจจะเป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ได้ ไม่ควรประมาท”

 แม้จะได้ร่วมพรรษาในสำนัก แต่หลวงตากับลูกศิษย์ก็ตั้งกติกาในการปฏิบัติสำหรับหลวงพ่อไว้หลายอย่าง คือ
๑. ไม่ให้รับประเคนของจากโยม ต้องคอยรับจากพระรูปอื่นส่งให้
๒. ไม่ให้ร่วมอุโบสถสังฆกรรม ให้บอกปริสุทธิเท่านั้น
๓. เวลานั่งฉันอาหาร ให้นั่งต่อท้ายพระอายุพรรษาน้อยที่สุดของสำนัก

   กติกาทั้ง ๓ ข้อนี้ หลวงพ่อยอมปฏิบัติตามทุกอย่าง แม้ท่านจะมีพรรษา ๑๐ แล้วก็ตาม ท่านกลับพิจารณาน้อมเอาประโยชน์จากข้อปฏิบัตินั้น โดยให้คติแก่ตนเองว่า หลวงตากับคณะศิษย์กำลังทดสอบเรา การนั่งหัวแถวหรือไม่ ก็ไม่แปลกอะไร เหมือนกับเพชรนิลจินดาจะวางไว้ที่ไหนก็มีคุณค่าเท่าเดิม และการปฏิบัติตามกติกานี้ จะช่วยทดทิฏฐิมานะของเราให้เบาบางลงด้วย

   การจำพรรษาร่วมกับหลวงตา ผ่านไปด้วยความสงบเพราะหลวงพ่อวางความรู้สึกนึกคิดให้ถูก และเป็นปกติ จึงพากเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ พยายามพูดน้อย เมื่อได้ยินใครพูดสิ่งใดก็น้อมมาพิจารณาเป็นปัญญแก้ไขตัวเอง และเฝ้าสังเกตเลือกเอาแต่สิ่งดีงามจากวัตรปฏิบัติที่มีอยู่ในสำนัก เพื่อถือเอาเป็นบทเรียน

   ขณะเดียวกันหลวงตาและคณะ ก็จับตาหลวงพ่ออย่างไม่ให้คลาดสายตาเหมือนกัน แต่ท่านก็วางเฉย ไม่แสดงกิริยาอาการใด ๆ โต้ตอบ กลับคิดขอบคุณเข่า

“เขาช่วยไม่ให้เราเผลอไปประพฤติบกพร่อง เปรียบเหมือนมีคนมาช่วยป้องกันความสกปรกไม่ให้แปดเปื้อนแก่เรา”

   ในพรรษานั้น จิตใจของหลวงพ่อสงบหนักแน่น ปรารภความเพียรอย่างสม่ำเสมอ มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยงดงาม ตามพระพุทธบัญญัติทุกกระเบียดนิ้ว ทำให้เพื่อนสหธรรมิกคลายความระแวงในตัวท่านลงโดยลำดับ

   วันหนึ่งในกลางพรรษา พระเณรในวัดได้ชวนกันเอาเรือไปหาฟืน มาไว้ต้มน้ำย้อมผ้า เมื่อไปถึงเขตไร่ร้างแห่งหนึ่งแล้วก็ช่วยกันแบกฟืนมาทิ้งไว้ที่ฝั่งน้ำให้หลวงพ่อทำหน้าที่ขนลงเรือ ท่านได้สังเกตเห็นไม้พะยูงท่อนหนึ่งมีรอยถากเป็นทรงกลมยาวประมาณ ๒ เมตร หลวงพ่อคิดว่าไม้ท่อนนี้ต้องมีเจ้าของแน่ ถ้าขนลงเรือจะมีความผิดเป็นการลักทรัพย์ ทำให้ขาดจากการเป็นพระได้ ดังนั้นจึงไม่ยอมแตะต้อง พอได้เวลาจวนกลับ หลวงตาเดินมาเห็นไม้ท่อนนั้น จึงร้องถามว่า

“ท่านชา ทำไมไม่แบกไม้ท่อนนี้ลงเรือ”
“ผมเห็นว่ามันไม่เหมาะครับ มันคงมีเจ้าของ เพราะมีรอยถากไว้”

   เมื่อหลวงพ่อตอบเช่นนี้ หลวงตาชะงักงันอยู่ชั่วครู่ แล้วจึงแกล้งร้องบอกแก้เก้อให้พระเณรรีบลงเรือ โดยทิ้งไม้ท่อนนั้นไว้ริมฝั่งนั่นเอง

   ต่อมาวันหนึ่งชาวบ้านมาทำข้าวหลามอยู่ในวัด หลวงตากลับจากบิณฑบาตเดินผ่านโรงครัวขณะนั้นโยมไม่อยู่ ท่านมองเห็นไฟกำลังลุกไหม้กระบอกข้าวหลาม คงรู้สึกเสียดาย แต่ก็นึก่าช่วยอะไรไม่ได้ เพราะพระแตะต้องอาหารที่ยังไม่ได้ประเคนเป็นอาบัติ และจะทำให้อาหารนั้นไม่ควรแก่การบริโภคต่อไปด้วย หลวงตายืนสองจิตสองใจอยู่สักครู่หนึ่งก็เหลียวซ้ายแลขวา ก่อนที่จะเอื้อมมือไปพลิกกระบอกข้าวหลาม หารู้ไม่ว่าหลวงพ่อซึ่งอยู่บนกุฏิใกล้โรงครัวเหลือบมาเห็นเข้าพอดี

   ถึงเวลาฉันจังหัน หลวงตาสังเกตเห็นว่าหลวงพ่อไม่ฉันข้าวหลาม จึงถามว่า


“ท่านชาฉันข้าวหลามหรือเปล่า?”
“เปล่าครับ” คำตอบของหลวงพ่อทำให้หลวงตาถึงกับสะดุ้ง แล้วอุทานออกมาว่า
“ผมต้องอาบัติแล้ว”
ฉันเสร็จหลวงตามาขอแสดงอาบัติด้วย แต่หลวงพ่อบอกว่า
“ไม่ต้องก็ได้ครับ ให้สำรวมระวังต่อไปเถิด”

    คราวนั้น เพราะปฏิปทาความสุขุมรอบคอบของหลวงพ่อ จึงทำให้พระเณรทุกรูปในวัดเกิดความยำเกรงและเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน หลวงตากับคณะจึงตกลงกันว่าจะยกเลิกกติกาที่เคยตั้งไว้ ขอมนต์ให้หลวงพ่อเป็นพระผู้อาวุโส แต่หลวงพ่อปฏิเสธว่าทำอย่างนั้นคงไม่สมควร กติกาเดิมดีอยู่แล้ว และท่านก็ปฏิบัติตามกติกาเหมือนเช่นเดิม

ในที่สุด กาลเวลาก็ได้พิสูจน์คำพูดของหลวงตาที่ว่า ผมหมดความโกรธแล้ว ให้ประจักษ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า “ศีล จะพึงรู้ได้เมื่ออยู่รวมกันนาน ๆ”

   ท้ายพรรษา ฝนตกติดต่อกันหลายวันจนเกิดอุทกภัย น้ำท่วมทุ่งนาทำให้ชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย และเดือดร้อนไปถึงวัวควายซึ่งไม่มีหญ้าจะกิน วัดของหลวงตาตั้งอยู่บนที่ดอน จึงรอดพ้นภัยจากน้ำท่วม วัวควายของชาวบ้านจึงมุ่งหน้ามากินหญ้าริมรั้ววัดเพื่อประทังชีวิต บางตัวกินเพลินเดินลึกเข้าไปในเขตสำนัก หลวงตารำคาญจึงให้พระเณรไล่ออกไปบ่อย ๆ เจ้าวัวน่าสงสารตัวหนึ่งถูกไล่ต้อนออกไปแล้ว แต่ด้วยความหิวจึงยื่นคอลอดรั้วกลับเข้ามากินหญ้าอีก หลวงตึ่งถือไม้รออยู่แล้ว ก็ฟาดอย่างไม่ยั้งมือ วัวตัวนั้นร้องอู้ ด้วยความเจ็บปวด รีบมุดหัวกลับไป แต่กว่าจะหลุดไปได้ก็โดนไม้หลวงตาเสียหลายดุ้น หลวงพ่อยืนดูการกระทำของหลวงตา ผู้เคยอวดตนว่าหมดความโกรธแล้ว ด้วยความสลดสังเวชใจ


๗.ประวัติหลวงปู่ชา สุภัทโท - พบธรรม ๓.

หลวงปู่กินรี จันทิโย
ผู้เรียบง่าย

    ในพรรษานั้น เมื่อหลวงพ่อได้อยู่ศึกษากับหลวงปู่กินรีอย่างใกล้ชิด จึงได้พบเห็นปฏิปทาต่าง ๆ ทำให้...รู้สึกเลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่กินรีมาก หลวงปู่กินรีท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักท่าน เพราะท่านชอบอยู่เงียบ ๆ

    ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่มีปฏิปทาเรียบง่ายน่าเคารพบูชา ชอบใช้ชีวิตโดดเดี่ยว มั่นคงในข้อปฏิบัติ มักน้อยสันโดษ บริขารเครื่องใช้ของท่านล้วนแต่เป็นของปอน ๆ เศร้าหมองและของใช้สอยส่วนใหญ่ก็เกิดจากฝีมือของท่านเอง แม้ไม่สวยแต่มันจะถูกใช้จนสึกกร่อนกระทั่งผุพังลง

    อุปนิสัยพิเศษอย่างหนึ่งของหลวงปู่คือ ความขยันในการงานทุกอย่างที่พระจะพึงทำได้ ท่านไม่เคยอยู่นิ่งเฉย นอกจากขณะทำสมาธิภาวนา แม้ในวัยชราหลวงปู่ก็ยังรักษาปาฏิปทานี้ไว้อย่างมั่นคง

    หลวงพ่อเล่าถึงปฏิปทาของหลวงปู่กินรีว่า ในพรรษาที่อยู่กับหลวงปู่นั้น ท่านเองทำความเพียรอย่างหนัก เดินจงกรมทั้งฝันฝนตกแดดออกอย่างไรก็เดิน จนทางจงกรมเป็นร่อง แต่หลวงปู่กลับไม่ค่อยเดิน บางครั้งเดินเพียง ๒-๓ เที่ยวก็หยุด แล้วไปเอาผ้ามาปะมาเย็บ หรือไม่ก็นั่งทำนั่นทำนี่

    “เราประมาทคิดว่าครูบาอาจารย์จะไปถึงไหนกัน เดินจงกรมก็ไม่เดิน นั่งสมาธินาน ๆ ก็ไม่เคยนั่ง คอยแต่จะทำนั่นทำนี่ตลอดวัน แต่เรานี่ปฏิบัติไม่หยุดเลย ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่รู้เห็นอะไร ส่วนหลวงปู่ปฏิบัติอยู่แค่นั้น จะไปรู้เห็นอะไรเล่า”

    หลวงพ่อเล่าในตอนท้ายว่า “เรามันคิดผิดไป หลวงปู่ท่านรู้อะไร ๆ มากกว่าเราเสียอีก คำเตือนของท่านสั้น ๆ และไม่ค่อยมีให้ฟังบ่อยนัก เป็นสิ่งที่ลุ่มลึกแฝงไว้ด้วยปัญญาอันแยบคาย ความคิดของครูบาอาจารย์กว้างไกลเกินปัญญาของเราเป็นไหน ๆ ตัวแท้ของการปฏิบัติ คือความพากเพียรกำจัดอาสวะกิเลสภายในใจ ไม่ใช่ถือเอากิริยาอาการภายนอกของครูอาจารย์มาเป็นเกณฑ์”

    หลวงพ่อได้อยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติและอุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่กินรีเรื่อยมา จนกระทั่งถึงฤดูแล้งของปี พ.ศ.๒๔๙๑ จึงได้กราบลาครูบาอาจารย์จาริกต่อไป ก่อนจากหลวงปู่กล่าวตักเตือนสั้น ๆ ตามอัธยาศัยของท่านว่า

 “ท่านชา อะไร ๆ ในการปฏิบัติท่านก็พอสมควรแล้ว แต่อยากให้ระวังเรื่องการเทศน์นะ”




ธรรมะจากเด็กพิการ

    การจาริกธุดงค์ของหลวงพ่อในช่วงนั้น พระเลื่อมยังคงติดตามตลอดมา วันหนึ่งท่านทั้งสองหยุดพักอยู่ในป่าช้าข้างหมู่บ้าน ได้มีเด็กชาย ๒ คนมาช่วยอุปัฏฐากรับใช้ ต่อมาเด็กเกิดสนใจการผจญภัยในชีวิตพระธุดงค์ จึงขอร่วมเดินทางติดตามไปด้วย ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ขัดข้อง    เมื่อเด็กได้รับความยินยอมจากพ่อแม่แล้ว ก็เก็บข้าวของส่วนตัวออกเดินทางร่วมกับพระธุดงค์

    หลวงพ่อปรารภว่า “เด็กสองคนนี้ทั้งที่พิการ แต่เขาก็มีศรัทธาในพระศาสนา อุตส่าห์ร่วมเดินทางผจญความยากลำบากมาด้วย ทำให้ได้ข้อคิดอันเป็นธรรมะสอนใจอยู่หลายอย่าง คนหนึ่งนั้นขาดี ตาดี แต่หูหนวก อีกคนหูดี ตาดี แต่ขาเป๋ เวลาเดินทางคนเขาเป๋เดินไป บางครั้งขาข้างที่เป๋ก็ไปเกี่ยวข้องที่ดี ทำให้หกล้มหกลุกบ่อย ๆ คนที่หูหนวกนั้นเล่า เวลาเราจะพูดด้วยต้องใช้มือใช้ไม้ประกอบ แต่พอเขาหันหลังให้ก็อย่าเรียกให้เสียเวลาเพราะไม่มีทางได้ยินอะไร ความพอใจแท้ ๆ ทำให้คนพิการทั้งสองเดินทางติดตามมา แต่ความพิการไม่มีทางขัดขวางความตั้งใจได้เลย คนเราขอให้มีความตั้งใจจริงย่อมทำอะไรได้สำเร็จ ความพิการของเด็กทั้งสองนี้ตัวเขาเองก็ไม่ต้องการที่จะพิการ พ่อ แม่ ก็ไม่ต้องการให้ลูกของตนพิการ แต่ก็หนีกฏแห่งกรรมไม่พ้น จริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นทายาท มีกรรมเป็นแดนเกิด เมื่อพิจารณาความพิการของเด็กที่เป็นเพื่อนร่วมเดินทาง กลับเป็นเรื่องมาสอนใจตนเองว่า เด็กทั้งสองพิการกายเดินทางได้จะเข้ารกเข้าป่าก็รู้ แต่เราเองพิการทางใจ คือใจมีกิเลส กิเลสจะพาเข้ารกเข้าป่าหรือเปล่า คนพิการทางกายอย่างเด็ก ๒ คนนี้ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร แต่ถ้าคนเราพิการทางใจมาก ๆ ย่อมสร้างความวุ่นวายยุ่งยากให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนมากทีเดียว"

    หลวงพ่อและพระเลื่อม ได้สอนวิธีนั่งสมาธิ และเดินจงกรมให้เด็กพิการได้ฝึกปฏิบัติพอสมควร ปรากฏว่าเด็กทั้งสองมีความตั้งใจเพียรพยายามดี




เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า


    ต่อมาวันหนึ่งพากันธุดงค์มาถึงป่าใหญ่ ใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่งเขตนครพนม ขณะนั้นพลบค่ำ พอดีจึงได้ตกลงพักแรมในป่าแห่งนั้น เห็นมีทางเก่าที่คนไม่ค่อยใช้เดินทางกันแล้ว เป็นทางผ่านดงใหญ่คดเคี้ยวไปถึงภูเขา ทำให้หลวงพ่อนึกถึงคำสอนของคนโบราณว่า “เข้าป่าอย่านอนขวางทางเก่า” คติโบราณนี้จะหมายถึงอะไร ท่านคิดสงสัยอยากจะพิสูจน์ให้เห็นจริงสักที จึงให้พระเลื่อมเข้าไปกางกลดในป่า ส่วนตัวหลวงพ่อลงมาปักกลดขวางทางเก่าไว้ ให้เด็ก ๒ คนพักนอนอยู่ตรงกลางระหว่างกลดของพระเลื่อมกับกลดของท่าน คือ ถัดริมทางเก่าเข้าไปพอมองเห็นกัน ต่างคนต่างก็นั่งสมาธิ แต่หลวงพ่อได้ตลบผ้ามุ้งขึ้นไว้หลังกลด เพื่อให้เด็กทั้งสองได้มองเห็นตัวท่านด้วย เด็กจะได้อุ่นใจคลายความกลัวบ้าง จากนั้นท่านก็เอนตัวลงนอนตะแคงสีหไสยยาสน์ขวางทางเก่าเอาไว้อยู่ภายใต้กลดนั่นเอง หันหลังไปทางป่าใหญ่หันหน้าเข้าสู่หมู่บ้าน

    ขณะที่กำลังนอนกำหนดลมหายใจอยู่ ทันใดนั้น หูก็แว่วได้ยินเสียงใบไม้แห้งดับกรอบแกรบ ๆ ซึ่งเป็นอาการก้าวเดินช้า ๆ เป็นจังหวะ ใกล้เข้ามา ๆเสียงเดินเข้ามาใกล้จนได้ยินลมหายใจ และกลิ่นสาบสางที่ฟุ้งกระจายมากับสายลม หลวงพ่อคงนอนนิ่งอยู่ ทั้งที่รู้ดีว่าเสียงและกลิ่นเช่นนี้ จะเป็นสัตว์อื่นไปไม่ได้นอกจากเสือเท่านั้น

    จิตหนึ่งคิดห่วงชีวิตจนตัวสั่นหวั่นไหว แต่กลัวอยู่ไม่นาน จิตของนักต่อสู้ก็ออกมาแย้งและให้เหตุผล่า อย่าห่วงมันเลยชีวิตนี้ แม้ไม่ถูกเสือกัดตาย เราก็ต้องตายอยู่แล้ว การตายขณะเดินตามรอยบาทพระศาสดานี้ ชีวิตย่อมมีความหมาย เราขอยอมเป็นอาหารของเสือ หากว่าเราเคยกินเลือดกินเนื้อกันมา จะได้ชดใช้หนี้ให้หมดกันไป แต่หากไม่เคยเป็นคู่เวรคู่กรรม มันคงไม่ทำอะไรเรา แล้วก็น้อมดวงจิตระลึกถึงพระรัตนตรัย และความบริสุทธิ์ของตัวเองเป็นที่พึ่งในยามนั้น

    เมื่อคิดได้เช่นนี้ จิตใจก็เบาสบายขึ้นมาทันทีไม่มีกังวลใด ๆ เสียงเดินของเสือหยุดลง ได้ยินเสียงลมหายใจอยู่ห่าง ๆ ประมาณ ๕-๖ เมตร สักครู่ต่อมาก็หันหลังกลับ เดินเหยียบใบไม้แห้งกรอบแกรม กลับเข้าป่าไป จึงได้รู้ว่าทำไมคนโบราณถึงห้ามนอนขวางทางเก่า หลวงพ่อกล่าวว่า เมื่อเราทอดอาลัยในชีวิตปล่อยวางมันเสีย ไม่เสียดาย ไม่กลัวตาย ทำให้เกิดความเบาสบายใจจริง ๆ สติปัญญาก็เฉียบคมกล้าขึ้นเป็นเงาตามตัว จิตเกิดความกล้าหาญไม่สะทกสะท้านสิ่งใด น่าอัศจรรย์ วิธีการปล่อยวางนี้จะนำไปใช้ตอนเราเจ็บไข้ได้ป่วย หรือกำลังตกอยู่ในภัยอันตรายต่าง ๆ ก็ได้ จะทำให้ขวัญดีขึ้น ไม่ถึงกับเสียสติเป็นบ้าเป็นหลัง เมื่อมีสติแล้วก็พอจะแก้ไขทำอะไรได้ถูกต้องไม่ผิดพลาด



คนดีอยู่ที่ไหน

    ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น หลวงพ่อกับคณะ คือ พระเลื่อมและเด็กติดตามทั้งสองยังคงร่วมทุกข์ร่วมสุขแสวงหาสันติธรรมไปบนเส้นทางทุรกันดารต่อไป

    การอยู่ร่วมกันนาน ๆ ธาตุแท้ของแต่ละคนย่อมปรากฏขึ้นมา หลวงพ่อคิดพิจารณาในตอนนั้นว่า การเดินธุดงค์ร่วมกับผู้มีปฏิปทาไม่เสมอกัน ทำให้การปฏิบัติล่าช้า และยังรู้สึกอึดอัดรำคาญหมู่คณะ คิดอยากปลีกตัวไปตามลำพัง เพื่อเร่งความเพียร

    หลวงพ่อจึงได้ตกลงแยกทางกับพระเลื่อม โดยพระเลื่อมอาสานำเด็กทั้ง ๒ คนนั้นกลับไปส่งที่บ้านเดิม ส่วนท่านเองได้เดินทางไปเพียงลำพัง เมื่อถึงวัดร้างในป่าใกล้บ้านข่าน้อย จังหวัดนครพนม ได้พิจารณาเห็นว่าเป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติภาวนา จึงพักอยู่ที่นั่นหลายวัน

    การแยกจากหมู่คณะในระยะแรก ๆ ท่านรู้สึกเป็นอิสระดี ไม่ห่วงกังวลต่อสิ่งใด ได้เร่งความเพียรเต็มที่ สำรวมระวังอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลา แม้ไปบิณฑบาตก็ไม่มองหน้าใครเพียงแต่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น เสร็จจากการขบฉัน เก็บบริขารแล้วเดินจงกรมทันที ปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเท้าบวมเป่งขึ้น เพราะเดินจงกรมมาก จึงหยุดเดิน แล้วนั่งสมาธิอย่างเดียว ใช้ความอดทนระงับความเจ็บปวดอยู่ถึง ๓ วัน เท้าจึงเป็นปกติ ในระหว่างนั้น หลวงพ่อไม่ยอมพบปะกับใครทั้งสิ้น เพราะเห็นการคลุกคลี คือ ความเนิ่นช้าของการประพฤติธรรม

 อยู่มาวันหนึ่ง กิเลสที่หลบไปเพราะเกรงอำนาจสมาธิธรรม ได้กลับออกมารบกวนจิตใจให้วิตกว่า “เราอยู่คนเดียวอย่างนี้ ถ้าได้เณรตัวเล็ก ๆ หรือผ้าขาวสักคนมาอยู่ด้วยคงดีนะ เพื่อจะได้ใช้อะไรเล็ก ๆ น้อย” แต่ภาวะความคิดก็แย้งกันเองต่อไปว่า

 “เอ! เจ้านี้สำคัญนะ เบื่อเพื่อนมาแล้ว ยังอยากได้เพื่อนมาทำไมอีกเล่า?”
 “เบื่อก็จริง แต่เบื่อเฉพาะคนไม่ดี ส่วนเวลานี้ต้องการเพื่อนที่ดี ๆ”
 “คนดีอยู่ที่ไหนล่ะ? เห็นไหม? หาคนดีได้ไหม? เพื่อนร่วมทางกันมาก็คิดว่าเขาไม่ดีทั้งนั้น คงคิดว่าตัวเองดีคนเดียวละกระมัง จึงหนีเขามานี่”

    หลวงพ่อเล่าว่า เมื่อคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็เลยได้หลัก ซึ่งท่านถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งนั้นว่า “คนดีอยู่ที่ไหน คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดีเสียแล้วไปอยู่ที่ไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าอะไรทำอะไร เราก็ยังดี แม้เขาจะข้ามหัวไปก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทาเราก็โกรธ ถ้าเขาสรรเสริญเราก็ยินดี ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะไปอยู่ที่ไหน คนเขาจะรังเกียจหรือเขาจะว่าอะไร ก็ถือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร...”





ของเป็นเอง

    หลวงพ่อเดินทางไปเรื่อย ๆ แสวงหาที่วิเวกบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป จนไปถึงบ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม ได้พักอยู่นัดร้างแห่งหนึ่ง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑๐ เส้น ในระยะนี้จิตสงบและเบา รู้สึกว่าอาการบางอย่างมุ่งจะปรากฏขึ้นมา ซึ่งหลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่า

    “วันหนึ่งขณะที่เดินจงกรมอยู่ เวลาประมาณห้าทุ่มกว่า รู้สึกแปลก ๆ มันแปลกมาแต่ตอนกลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดมาก มีอาการสบาย ๆ เขามีงานอยู่ในหมู่บ้าน เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว เลยมานั่งที่กระท่อม มีฝาแถบตองบังอยู่ เวลานั่งรู้สึก่าคู้ขาเข้าเกือบไม่ทัน เอ๊ะ! จิตมันอยากสงบ มันเป็นเองของมัน พอนั่ง จิตก็สงบจริง ๆ รู้สึกตัวหนักแน่น เสียงเขาร้องรำอยู่ในหมู่บ้านมิใช่ว่าจะไม่ได้ยิน ยังได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ แปลกเหมือนกัน เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไป จะให้ได้ยินก็ได้ ไม่รู้สึกรำคาญ ภายในจิตเหมือนวัตถุ ๒ อย่างตั้งอยู่ไม่ติดกัน ดูจิตกับอารมณ์ตั้งอยู่คนละส่วนเหมือนกับกระโถนกับกาน้ำนี่ ก็เลยเข้าใจว่าเรื่องจิตเป็นสมาธินี่ ถ้าน้อยไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามันมีเสียงขึ้นก็ดูตัวผู้รู้ ขาดกันคนละส่วน

    จึงพิจารณาว่า ถ้าไม่ใช่อย่างนี้ มันจะใช่ตรงไหนอีก มันเป็นอย่างนี้ ไม่ติดกันเลย ได้พิจารณาอย่างนี้เรื่อย ๆ จึงเข้าใจว่า อ้อ! อันนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เรียกว่าสันตติ คือความสืบต่อ ขาด มันเลยเป็นสันติ แต่ก่อนมันเป็น สัตติ ทีนี้เลยกลายเป็น สันติ ออกมา จึงนั่งทำความเพียรต่อไป จิตในขณะที่นั่งทำความเพียรคราวนั้นไม่ได้เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ถ้าเราจะหยุดความเพียรก็หยุดได้ตามสบาย เมื่อเราหยุดความเพียร เจ้าเกียจคร้านไหม เจ้าเหนื่อยไหม เจ้ารำคาญไหม เปล่า ไม่มี ตอบได้ว่าไม่มี ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น ถ้าเราจะหยุดก็หยุดเอาเฉย ๆ นี่แหละ

    ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่ายังไม่หยุด เลยดึงเอาหมอนลูกหนึ่งมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เมื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศรีษะจะถึงหมอน มีอาการน้อมในใจ ไม่รู้มันน้อมไปไหน แต่มันน้อมเข้าไป น้อมเข้าไป คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตซ์ไฟเข้า ไปดันกับสวิต์อันนั้น กายก็ระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นนั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้นก็หลุดเข้าไปข้างในโน้น ไปอยู่ข้างในซึ่งไม่มีอะไร แม้อะไร ๆ ทั้งปวงก็ส่งเข้าไปไม่ได้ ส่งเข้าไปไม่ถึง ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมา คำว่าถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเราจะให้มันถอยออกมาหรอก เราเป็นเพียงผู้ดูเฉย ๆ เราเป็นผู้รู้เท่านั้น อาการเหล่านี้เป็นออกมา ๆ ก็มาถึงปกติจิตธรรมดา

    เมื่อเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นมาว่า นี่มันอะไร? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ของเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน พูดเท่านี้จิตก็ยอม เมื่อหยุดอยู่พักหนึ่งก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไป ๆ ก็ไปถูกสวิตซ์ไฟอย่างเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด หลุดเข้าไปข้างในอีก เงียบ! ยิ่งเก่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง เข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมันพอสมควรแล้วก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน ในเวลานั้นมันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงไปอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนี้ จงเข้าอย่างนั้น ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำความรู้ ดูอยู่เฉย ๆ มันก็ถอยออกมาถึงปกติมิได้สงสัย แล้วก็นั่งพิจารณาน้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพี แผ่นดิน แผ่นหญ้า ต้นไม้ ภูเขาเลากา เป็นอากาศธาตุหมดไม่มีคน หมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร

    เมื่อเข้าไปอยู่ตามปรารถนาของมัน ไม่รู้ว่ามันอยู่อย่างไร ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรจะมาเปรียบปานได้เลย นานที่สุดที่อยู่ในนั้น พอถึงกำหนดเวลาก็ถอนออกมา คำว่าถอนเราก็มิได้ถอนหรอก มันถอนของมันเอง เราเป็นผู้ดูเท่านั้น ก็เลยออกมาเป็นปกติ สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกอะไรเล่า

    ที่เล่ามานี้เรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น อาตมามิได้กล่าวถึงจิต เจตสิก ไม่ต้องอะไรทั้งนั้น มีศรัทธาทำเข้าไปจริง ๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้แผ่นดินนี้มันพลิกไปหมด ความรู้ความเห็นมันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ในระยะนั้นถ้าคนอื่นเห็นอาจจะว่าเราเป็นบ้าจริง ๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้นะ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันก็เป็นเราผู้เดียวเท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงนั้นเขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น เขาขึ้นทางโน้น เราลงทางนี้ มันต่างกับมนุษย์ไปหมด มันก็เป็นของมันเรื่อย ๆ”