วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2553

- ภาพพุทธประวัติ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์


สำแดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดเบญจวัคคีย์ ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

วันที่พระพุทธเจ้ากำลังทรงแสดงธรรม 'ปฐมเทศนา' ดังที่เห็นอยู่ในภาพนั้น คือ วันขึ้น๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เป็นรุ่งขึ้นหลังจากเสด็จมาถึงและพบเบญจวัคคีย์ คือ วันอาสาฬหบูชานั่นเอง

ผู้ฟังธรรมมี ๕ คน ที่เรียกว่า 'เบญจวัคคีย์' เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรงปฏิเสธสิ่งที่คนคือนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน คือ เรื่องทรมานตนให้ลำบาก และการปล่อยชีวิตไปตามความใคร่ ทรงปฏิเสธว่าทั้งสองทางนั้น พระองค์เคยทรงผ่านและทรงทดลองมาแล้ว ไม่ใช่ทางตรัสรู้เลยแล้วทรงแนะนำทางทางสายกลางที่เรียกว่า 'มัชฌิมาปฏิปทา' คือปฏิบัติดีปฏิบัติตามมรรค ๘ ที่กล่าวโดยย่อคือ ศีล สมาธิ และปัญญา

เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว พระสาวกรุ่นทำสังคายนาตั้งชื่อเรื่องเทศน์กัณฑ์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกนี้ว่า 'ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร' หรือเรียกโดยย่อว่าธรรมจักร โดยเปรียบเทียบการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ว่า เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิทรงขับจักรหรือรถศึกแผ่พระบรมเดชานุภาพต่างแต่จักรหรือรถศึกของพระพุทธเจ้าเป็นธรรม หรือธรรมจักร

พอแสดงธรรมกัณฑ์นี้จบลง โกณฑัญญะ ผู้หัวหน้าเบญจวัคคีย์ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม คือได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจึงเปล่งอุทานด้วยความเบิกบานพระทัย เมื่อเห็นโกณฑัญญะได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จมรรคผลที่แม้จะเป็นขั้นต่ำ "อัญญาสิ วตโก โกณฑัญโญ ฯลฯ" แปลว่า "โอ! โกณฑัญญะได้รู้แล้ว ได้สำเร็จแล้ว" ตั้งแต่นั้นมา ท่านโกณฑัญญะจึงมีคำหน้าชื่อเพิ่มขึ้นว่า 'อัญญาโกณฑัญญะ'

โกณฑัญญะฟังธรรมจบแล้ว ได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ พระพุทธเจ้าจึงทรงประทานอนุญาตให้ท่านบวช ด้วยพระดำรัสรับรองเพียงว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด" พระวาจานั้นแล ได้เป็นอุปสมบทของท่าน ส่วนอีก ๔ ที่เหลือนอกนั้น ต่อมาได้สำเร็จและได้บวชเช่นเดียวกับพระโกณฑัญญะ





พระพุทธองค์ทรงประทาน โอวาทปาติโมกข์แก่พระอรหันต์สงฆ์ใน วันเพ็ญมาฆบูชา

ภายหลังพระโมคคัลลาน์ สารีบุตร บวชแล้วไม่นาน พระพุทธเจ้าได้ทรงประชุมพระสาวกขึ้นในวันเพ็ญกลางเดือนสาม ที่พระเวฬุวนาราม เมืองราชคฤห์ โดยมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน การประชุมพระสาวกครั้งนี้ ผู้นับถือศาสนาพุทธในสมัยก่อนต่อมาเห็นเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมาก จึงกำหนดถือวันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่เรียกกันอยู่ทุกวันนี้ว่า 'วันมาฆบูชา'

การประชุมพระสาวกของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ แปลกกว่าทุกคราวที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล คือพระสาวกมีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป แต่ละรูป แต่ละองค์ล้วนบวชกับพระพุทธเจ้า มีพระอุปัชฌาย์องค์เดียวกันคือ พระพุทธเจ้า ล้วนเป็นพระอรหันต์ ต่างมาประชุมโดยไม่ได้นัดหมาย และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุม การประชุมพระสาวกครั้งนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่ง ตามลักษณะแปลก ๔ ประการนี้ว่า 'จาตุรงคสันนิบาต'

ในเวลานั้น กรุงราชคฤห์เป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่บรรดาพระสาวกแยกย้ายกันออกไปประกาศพระศาสนาต่างได้ทราบว่า เวลานั้นพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จประทับอยู่ที่กรุงราชคฤห์ เมื่อเสร็จกิจประกาศพระศาสนาจึงต่างจาริกมาเฝ้า เมื่อมาพร้อมหน้ามากตั้งพันกว่า พระพุทธเจ้าจึงประชุมพระสาวกแสดงโอวาทปาติโมกข์

'โอวาทปาติโมกข์' คือ หลักการโดยสรุปของศาสนาพุทธ มีทั้งหลักคำสอนและหลักการปกครองคณะสงฆ์ มีทั้งหมด ๑๓ ข้อด้วยกัน เช่นเป็นต้นว่า ศาสนาพุทธสอนว่า ละชั่ว ทำดี ทำจิตบริสุทธิ์ สุดยอดของคำสอนอยู่ที่นิพพาน ดับกิเลสพ้นทุกข์ และเป็นพระเป็นต้องสำรวม กินอยู่พอประมาณอดทน ไม่กล่าวร้ายป้ายสีคนอื่น ไม่เบียดเบียนคนอื่น





เสด็จไปโปรดพระญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ พระญาติผู้ใหญ่ถือว่าสูงอายุไม่ถวายบังคม

ตลอดเวลา ๖ ปีกว่า คือ นับตั้งแต่เสด็จออกบวช ตรัสรู้ และประกาศพระศาสนาในแคว้นมคธจนมีพระสาวกและคนนับถือมาก พระพุทธเจ้ายังมิได้เสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์เป็นครั้งแรก เพื่อโปรดพระประยูรญาติตามคำอาราธนาของพระสุทโธทนะพุทธบิดา

ด้วยพระทัยปรารถนาที่จะได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะหนึ่ง คือ พระราชโอรส เมื่อทรงทราบว่าขณะนั้น พระพุทธเจ้าเสด็จประทับ เพื่อประกาศพระศาสนาอยู่ในแคว้นมคธ พระเจ้าสุทโธทนะจึงส่งคณะฑูตไปทูลอาราธนา

คณะฑูตแต่ละคณะที่พระเจ้าสุทโธทนะส่งไปเพื่อทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า มีหัวหน้าและบริวาร ซึ่งปฐมสมโพธิบอกว่าจำนวนหนึ่งพันคน รวมทั้งหมด ๑๐ คณะด้วยกัน คณะที่ ๑ ถึง ๙ ตามลำดับ ได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้ฟังธรรมแล้วสำเร็จอรหันต์ ยังมิได้กลับมาทูลรายงานให้พระเจ้าสุทโธทนะได้ทราบ พระเจ้าสุทโธทนะจึงทรงส่งคณะอำมาตย์ เป็นคณะฑูตที่ ๑๐ ไปอีก คณะฑูตที่ ๑๐ นี้มีกาฬุทายีเป็นหัวหน้า ซึ่งเป็นผู้ที่คุ้นเคยและเป็นสหชาติ คือ เกิดวันเดียวกับพระพุทธเจ้า ก่อนออกเดินทางไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้า กาฬุทายีทูลลาบวช เมื่อบวชแล้วจะทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ให้จงได้ พระเจ้าสุทโธทนะทรงอนุมัติ

ภายหลังเมื่อกาฬุทายีไปถึงสำนักพระพุทธเจ้าได้ธรรมจนสำเร็จอรหันต์ และได้ขอบวชเป็นพระสาวกพร้อมทั้งบริวารที่ติดตามไปแล้ว ไปทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ขณะนั้นเป็นหน้าแล้ง ย่างเข้าหน้าฝน

พระพุทธเจ้าทรงรับคำทูลอาราธนาแล้ว พร้อมด้วยพระสาวก ที่ตำนานปฐมสมโพธิบอกว่าจำนวน ๒ หมื่นรูป เสด็จออกเดินทางเป็นเวลาสองเดือน จึงถึงกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เสด็จเข้าประทับในอารามของเจ้าศากยะผู้หนึ่ง ซึ่งชื่อว่า 'นิโครธ' ซึ่งพวกเจ้าศากยะพระญาติจัดถวายให้เป็นที่ประทับ อารามในที่นี้ไม่ใช่วัด แต่เป็นสวน เป็นอุทยานอยู่นอกเมือง พวกพระประยูรญาติรวมทั้งพระเจ้าสุทโธทนะ ได้พากันมารับเสด็จและเฝ้าพระพุทธเจ้าที่อารามแห่งนี้







พระพิมพาพิลาปรำพันถึงพระพุทธองค์ เสด็จพุทธดำเนินไปโปรดถึงในปราสาท

ภาพที่เห็นอยู่นั้น เป็นตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพายโสธรา ผู้เคยเป็นพระชายา เมื่อสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ คือเมื่อยังไม่ได้เสด็จออกบวช

วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระนางพิมพานี้ เป็นวันเดียวกับที่เสด็จไปทรงภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ดังได้บรรยายไว้แล้ว สถานที่เสด็จไปโปรดพระนางพิมพาคือ ปราสาทที่ประทับของพระนางนั่งเอง ผู้ที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาในการนี้ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ผู้สองอัครสาวก และพระเจ้าสุทโธทนะ

พระนางพิมพาทรงเศร้าโศกเสียพระทัย ตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวชเป็นต้นมาด้วยเข้าพระทัยว่า พระนางถูกพระพุทธเจ้าทรงทอดทิ้ง ยิ่งเมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งนี้ ความเสียพระทัยยิ่งมีมากขึ้น ขนาดพระเจ้าสุทโธทนะรับสั่งให้มาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระนางยังเสด็จมาไม่ได้ แม้พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาถึงปราสาทที่ประทับของพระนางแล้ว พระนางยังเสด็จดำเนินมาเองไม่ได้ พระนางก็ล้มฟุบลง กลิ้งเกลือกพระเศียรลงเหนือพระบาทพระพุทธเจ้า แล้วพิลาปรำพันกันแสงแทบสิ้นสมปฤดี

พระเจ้าสุทโธทนะทูลพระพุทธเจ้าถึงความดีของพระนางพิมพาว่า เป็นสตรีที่จงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า ไม่เคยแปรพระทัยเป็นอื่นเลยตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากไป พระพุทธเจ้าตรัสสนองพระดำรัสของพุทธบิดาว่า พระนางพิมพาจะได้ทรงซื่อสัตย์จงรักภักดีต่อพระองค์แต่เฉพาะในชาตินี้ก็หาไม่ แม้ในอดีตชาติหนหลังอีกหลายชาติ พระนางก็เป็นคู่ทุกข์คู่ยากผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์ตลอดมา แล้วพระพุทธเจ้าตรัสชาดกอีกเป็นอันมากให้พระพุทธบิดา และพระนางพิมพาฟัง

พระนางฟังแล้ว ทรงสร่างโศกและคลายความเสียพระทัย ทรงเกิดปีติโสมนัสในพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจบลง พระนางพิมพายโสธรา ก็ได้ทรงบรรลุพระโสดาบัน หรือโสดาปัตติผล






ทรงมอบสมบัติพระนิพพานแก่พระราหุล โดยให้บรรพชาเป็นสามเณรองค์แรก

เมื่อราหุลติดตามพระพุทธเจ้าไปถึงนิโครธาราม เพื่อทูลขอรัชทายาทและกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สมบัติของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสิ่งที่ราหุลขอนั้นเป็นสมบัติทางโลกไม่ยั่งยืน เต็มไปด้วยความทุกข์ในการปกปักรักษา ไม่เหมือนอริยทรัพย์ คือ ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้มา ทรงพระพุทธดำริว่า "จำเราจะให้ทายาทแห่งโลกุตตระแก่ราหุล"

พระพุทธเจ้าตรัสเรียกพระสารีบุตรมา แล้วรับสั่งให้พระสารีบุตรเป็นอุปัชฌาย์ทำหน้าที่บวชสามเณรให้ราหุล ราหุลจึงเป็นสามเณรองค์แรกในทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุครบบวช ต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุและได้สำเร็จอรหันต์

เมื่อคราวนันทะซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาหมงคล แต่ยังไม่ทันเข้าพิธี เพราะถูกพระพุทธเจ้าจับบวชเสียก่อนนั้น พระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ทรงทราบข่าวแล้วเสียพระทัยมาก แต่ไม่สู้กระไรนัก เพราะยังทรงเห็นว่าราหุลกุมารรัชทายาทองค์ต่อไปยังมีอยู่ แต่ครั้นทรงทราบว่าราหุลกุมารได้บวชเป็นสามเณรเสียแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากยิ่งกว่าเมื่อคราวพระพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และเมื่อนันทะบวช

พระเจ้าสุทโธทนะไม่อาจทรงระงับความทุกข์โทมนัสครั้งนี้ได้ จึงเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิโครธาราม แล้วทูลขอร้องพระพุทธเจ้าว่า ถ้าพระคุณเจ้ารูปใดจะบวชลูกหลานชาวบ้าน ก็ได้โปรดให้พ่อแม่เขาได้อนุญาตให้ก่อน เพราะถ้าไม่อย่างนั้นจะทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้เป็นพ่อแม่มาก ดุจที่พระองค์ได้รับ เมื่อราหุลบวชในคราวนี้

พระพุทธเจ้าทรงรับตามที่พระเจ้าสุทโธทนะทรงขอร้อง จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้เป็นธรรมเนียมสืบมาจนทุกวันนี้ว่า ถ้าใครจะบวช ไม่ว่าบวชเป็นพระ หรือบวชเป็นสามเณร ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ตลอจนญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือทุกวันนี้จึงเกิดจากกรณีดังกล่าวนี้






ทรงพานันทะไปชมนางฟ้า พระนันทะใคร่จะได้เป็นชายา ทรงรับรองจะให้สมหวัง

หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธบิดา และพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์เป็นเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์แล้ว ได้เสด็จกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารที่ตามเสด็จในการนี้ พระภิกษุนันทะ พระอนุชาผู้ถูกจับให้บวช และราหุลสามเณรก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

ต่อมา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์จำนวนมากได้เสด็จไปยังกรุงสาวัตถี แห่งแคว้นโกศลซึ่งเป็นเมืองและแคว้นใหญ่พอๆ กับกรุงราชคฤห์แห่งแคว้นมคธ พระนันทะก็ได้ติดตามเสด็จไปด้วย

แต่ตลอดเวลานับตั้งแต่บวชแล้วเป็นต้นมา พระนันทะไม่เป็นอันปฏิบัติกิจของสมณะ ใจให้รุ่มร้อนคิดจะลาสึกอยู่ท่าเดียว เพราะความคิดถึงนางชนบทกัลยาณี เจ้าสาวคู่หมั้นซึ่งกำลังจะเข้าพิธีวิวาห์กับตน

ความเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจับท่านพระนันทะที่แขนแล้วทรงหายจากพระวิหารเชตวัน ไปปรากฏในเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เหมือนบุรุษมีกำลัง พึงเหยียดแขนที่คู้ หรือพึงคู้แขนที่เหยียดฉะนั้น ฯ

ก็สมัยนั้นแล นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ มีเท้าดุจนกพิราบ มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะจอมเทพครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระนันทะว่า ดูกรนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ เหล่านี้ผู้มีเท้าดุจนกพิราบหรือไม่ ท่านพระนันทะทูลรับว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรนันทะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี หรือนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไหนหนอแลมีรูปงามกว่า น่าดูกว่า หรือน่าเลื่อมใสกว่า ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางลิงผู้มีอวัยวะใหญ่น้อยถูกไฟไหม้ หูและจมูกขาด ฉันใด นางสากิยานีผู้ชนบทกัลยานี ก็ฉันนั้นแล เมื่อเทียบกับนางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้ ย่อมไม่เข้าถึงเพียงหนึ่งเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงส่วนหนึ่งของเสี้ยว ไม่เข้าถึงเพียงการเอาเข้าไปเปรียบว่าหญิงนี้เป็นเช่นนั้น ที่แท้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ เหล่านี้มีรูปงามกว่า น่าดูกว่า และน่าเลื่อมใสกว่า พระเจ้าข้า ฯ

พ. ยินดีเถิดนันทะ อภิรมย์เถิดนันทะ เราเป็นผู้รับรองเธอเพื่อให้ได้ นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบ ฯ

น. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรงรับรองข้าพระองค์เพื่อ ให้ได้นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจนกพิราบไซร้ ข้าพระองค์จักยินดี ประพฤติพรหมจรรย์ พระเจ้าข้า ฯ






พระพุทธบิดาประชวร เสด็จไปโปรดกระทั่งสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน

ในปีที่ ๕ นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา กำหนดเวลานี้ว่าตามปฐมสมโพธิ พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน ใกล้กรุงไพศาลี ได้ทรงทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดาทรงประชวรหนักด้วยพระโรคชรา ทรงปรารถนาจะได้เฝ้าพระพุทธเจ้า ตลอดถึงพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเจ้าศากยะและเป็นพระญาติอีกหลายรูปที่เสด็จออกบวชตามพระพุทธเจ้า เช่น พระอานนท์ พระนันทะ และสามเณรราหุลผู้เป็นหลาน

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งพระอานนท์ให้แจ้งข่าวพระสงฆ์ ถึงเรื่องที่พระองค์จะเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์อีกวาระหนึ่ง

การเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ของพระพุทธเจ้า เพื่อทรงเยี่ยมพุทธบิดาที่กำลังทรงประชวรครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นครั้งสุดท้าย

เมื่อเสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ได้เสด็จเข้าเยี่ยมพุทธบิดา ซึ่งมีพระอาการเพียบหนักแล้ว ทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบิดาด้วยเรื่องความเป็นอนิจจังของสังขาร ปฐมสมโพธิบันทึกพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าครั้งนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า

"ดูกรบพิตร อันว่าชีวิตแห่งมนุษย์ทั้งหลายนี้น้อยนักดำรงอยู่ โดยพลันบ่มิได้ยั่งยืนอยู่ช้าครุวนาดุจสายฟ้าแลบอันปรากฎมิได้นาน..."

พระเจ้าสุทโธทนะซึ่งทรงสำเร็จอนาคามิผลอยู่ก่อนแล้ว ได้สดับพระธรรมเทศนา ตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้สำเร็จอรหันต์ในบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ หลังจากนั้นอีก ๗ วันก็สิ้นพระชนม์ (ปรินิพพาน)

พระพุทธเจ้าเสด็จสรงน้ำพระศพพุทธบิดา และถวายพระเพลิงพร้อมด้วยพระสงฆ์พระประยูรญาติศากยะทั้งมวลจนเสร็จสิ้น







เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระพุทธมารดา

ภายหลังทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์เสร็จสิ้น จนพวกเดียรถีย์ที่มาท้าแข่งพ่ายแพ้ไปแล้ว พระพุทธเจ้าทรงมีพุทธดำริถึงจารีตธรรมเนียมของบรรดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายในปางก่อนว่า เมื่อทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จทรงจำพรรษา ณ ที่ใด ก็ทรงทราบได้ด้วยพุทธญาณว่าทรงจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ปฐมสมโพธิลำดับการเสด็จจำพรรษาของพระพุทธเจ้าไว้ว่า ในพรรษาที่ ๗ (นับแต่ตรัสรู้เป็นต้นมา) ได้เสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ตามนิยายท้องเรื่องทั้งจากปฐมสมโพธิ และข้อเขียนโดยนักเขียนทางศาสนาพุทธอื่นๆ ยุคหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว ที่เรียกกันว่า 'อรรถกถา' กล่าวตรงกันว่า เหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็เพราะทรงต้องการจะแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา คือ พระนางสิริมหามายาซึ่งเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว เสด็จบังเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต

พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาที่โคนต้นปาริฉัตร ต้นไม้สวรรค์ มีผู้แปลกันว่า ได้แก่ต้นทองหลาง ผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ ภายใต้ต้นไม้สวรรค์นี้มีแท่นแผ่นหิน ปูลาดด้วยผ้ากัมพลสีแดง เรียกว่า 'บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์'

พระอินทร์จอมเทพได้ทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงจำพรรษาที่นี้ ก็ทรงป่าวประกาศหมู่เทพยดาในสรวงสวรรค์ให้มาร่วมชุมนุม เพื่อฟังธรรมพระพุทธเจ้า ปฐมสมโพธิว่า เสียงป่าวประกาศของพระอินทร์นั้น ดังปกแผ่ทั่วไปในสกลเทพยธานีทั้งหมื่นโยชน์ เทพเจ้าทั้งปวงได้สดับก็บังเกิดโสมนัสพิศวง ต่างองค์ร้องเรียกซึ่งกันและกันต่อๆ กันไปจนตลอดถึงหมื่นจักรวาล

แม้พระนางสิริมหามายาพุทธมารดา ซึ่งทรงอยู่ในเพศเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตก็ได้เสด็จมาฟังธรรมพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงอภิธรรมโปรดพุทธมารดาตลอดพรรษา พุทธมารดาได้สดับแล้วทรงบรรลุโสดาปัตติผลในที่สุด ส่วนเทพนอกนั้นอีกจำนวนมาก ได้บรรลุมรรคผลตามสมควรอุปนิสัยแห่งตน







เสด็จลงจากดาวดึงส์โดยบันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน

ภาพที่เห็นนั้น เป็นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก คือ จากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อภายหลังเสด็จจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดังกล่าวเพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดาแล้ว วันที่เสด็จลงคือวันออกพรรษาเมืองที่เสด็จลงคือเมืองสังกัสนคร เสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นโลกนั้น ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า 'อจลเจดีย์' เรียกอย่างไทยเราก็ว่า 'รอยพระพุทธบาท' ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฎอยู่

ก่อนพระพุทธเจ้าเสด็จลง เทพเจ้าคือพระอินทร์ได้เนรมิตบันได ๓ บันไดเป็นที่เสด็จลง คือบันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้วมณี บันไดทองสำหรับหมู่เทพลงอยู่ด้านขวา บันไดเงินอยู่ด้านซ้ายสำหรับท้าวมหาพรหม และบันไดแก้วมณีอยู่ตรงกลางสำหรับพระพุทธเจ้า หัวบันไดแต่ละอันพาดที่เขาสิเนรุเชิงบันไดทอดลงยังประตูเมืองสังกัสนคร

หมู่คนทางเบื้องขวาของพระพุทธเจ้าอย่างที่เห็นในภาพ จึงคือหมู่เทพที่ตามส่งเสด็จ เบื้องซ้ายผู้ถือฉัตรกั้นถวายพระพุทธเจ้าคือท้าวมหาพรหม ผู้อุ้มบาตรนำเสด็จพระพุทธเจ้าคือพระอินทร์ ผู้ถือพิณบรรเลงถัดมาคือปัญจสิงขรคนธรรพ์เทพบุตร ถัดมาเบื้องขวาคือมาตุลีเทพบุตร ซึ่งถือพานดอกไม้ทิพย์โปรยปรายนำทางเสด็จพุทธดำเนิน

พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิสุทธิเทพผู้บริสุทธิ์ นักเขียนศาสนาพุทธรุ่นต่อมาจึงถวายพระนามเฉลิมพระเกียรติอย่างหนึ่งว่า 'เทวาติเทพ' แปลว่า ทรงเป็นเทพยิ่งกว่าเทพทุกชั้น เทพต่างๆ ที่คนอินเดียในสมัยนั้นนับถือกัน เช่น พระอินทร์ และท้าวมหาพรหม เป็นต้น

คนผู้นับถือศาสนาพุทธในเมืองไทย ถือกันว่าวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง จึงนิยมทำบุญตักบาตรกันในวันนี้ เพราะถือว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เรียกการตักบาตรนี้ว่า 'ตักบาตรเทโว' ย่อมาจากเทโวโรหณะ แปลว่า ตักบาตรเนื่องในวันคล้ายวันพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง







เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยมังสะสุกรอ่อนที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต

พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวาร ได้เสด็จออกจากเขตแขวงเมืองไพศาลีไปโดยลำดับเพื่อเสด็จไปยังเมืองกุสินารา สถานที่ทรงกำหนดว่าจะนิพพานเป็นแห่งสุดท้าย จนไปถึงเมืองปาวาในวันขึ้น๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งเป็นวันก่อนเสด็จนิพพานเพียงหนึ่งวัน

เสด็จเขัาไปประทับอาศัยที่สวนมะม่วงของนายจุนทะกัมมารบุตร นายจุนทะเป็นลูกนายช่างทอง ได้ทราบข่าวว่า พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์บริวารเสด็จมาพักอยู่ที่สวนมะม่วงของตน ก็ออกไปเฝ้าและฟังธรรม ฟังจบแล้ว นายจุนทะกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์เสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของตนในเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น

เวลาเช้าวันรุ่งขึ้น นายจุนทะได้ถวายอาหารพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ที่บ้านของตน อาหารอย่างหนึ่งที่นายจุนทะปรุงถวายพระพุทธเจ้าในวันนี้มีชื่อว่า 'สูกรมัททวะ'

คัมภีร์ศาสนาพุทธชั้นอรรถกถาและมติของเกจิอาจารย์ทั้งหลายยังไม่ลงรอยกันว่า 'สูกรมัททวะ' นั้นคืออะไรแน่ บางมติว่าได้แก่สุกรอ่อน (แปลตามตัว สูกร-สุกร หรือหมู มัททวะ-อ่อน) บางมติว่าได้แก่ เห็นชนิดหนึ่ง และบางมติว่าได้แก่ ชื่ออาหารอันประณีตชนิดหนึ่ง ซึ่งชาวอินเดียปรุงขึ้นเพื่อถวายแก่ผู้ที่ตนเคารพนับถือที่สุด เช่น เทพเจ้า เป็นต้น เป็นอาหารประณีตชั้นหนึ่งยิ่งกว่าข้าวมธุปายาส

พระพุทธเจ้าตรัสบอกนายจุนทะให้จัดถวายสูกรมัททวะนั้นถวายแต่เฉพาะพระองค์ ส่วนอาหารอย่างอื่นให้จัดถวายพระสงฆ์ และเมื่อพระพุทธเจ้าทรงฉันเสร็จแล้ว รับสั่งให้นายจุนทะนำเอาสูกรมัททวะที่เหลือจากที่พระองค์ทรงฉันแล้ว ไปฝังเสียที่บ่อ เพราะคนอื่นนองจากพระองค์นั้นฉันแล้ว ร่างกายไม่อาจจะทำให้อาหารนั้นย่อยได้ เสร็จแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้นายจุนทะฟังเป็นที่ชื่นชมและรื่นเริงในกุศลบุญจริยาของ แล้วทรงอำลานายจุนทะเสด็จต่อไปยังเมืองกุสินาราต่อไป





ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน

ก่อนเสด็จนิพพานเล็กน้อย คือภายหลังทรงโปรดสุภัททะปริพาชกแล้ว พระพุทธเจ้าประทานโอวาทพระสงฆ์ โอวาทนั้นเป็นพระพุทธดำรัสสั่งเป็นครั้งสุดท้าย มีหลายเรื่องด้วยกัน เช่น เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ยังใช้ถ้อยคำเรียกขานกันลักลั่นอยู่ คือ คำว่า 'อาวุโส' และ 'ภันเต' อาวุโสตรงกับภาษาไทยว่า'คุณ' และภัตเตว่า 'ท่าน'

พระพุทธเจ้าตรัสสั่งว่า พระที่มีอายุพรรษามากให้เรียกพระบวชภายหลังตน หรือที่อ่อนอายุพรรษากว่าว่า 'อาวุโส' หรือ 'คุณ' ส่วนพระภิกษุที่อ่อนอายุพรรษา พึงเรียกพระที่แก่อายุพรรษากว่าตนว่า'ภันเต' หรือ 'ท่าน'

ครั้นแล้วทรงเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ทั้งปวงทูลถาม ว่าท่านผู้ใดสงสัยอะไรในเรื่องที่พระองค์ทรงสั่งสอนไว้แล้วก็ให้ถามเสียจะได้ไม่เสียใจเมื่อภายหลังว่าไม่มีโอกาสถาม

ปรากฏตามท้องเรื่องใน มหาปรินิพพานสูตร ว่า ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้าในข้อสงสัยที่ตนมีอยู่เลย

เมื่อก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จนิพพานนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงตั้งสาวกองค์ใดให้รับตำแหน่งเป็นพระศาสดาปกครองพระสงฆ์สืบต่อจากพระองค์เหมือนพระศาสดาในศาสนาอื่น เรื่องนี้ก็ไม่มีพระสงฆ์องค์ใดทูลถามพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสั่งพระสงฆ์ไว้ฃัดเจนก่อนจะนิพพานว่า พระภิกษุรูปใด

ตรัสบอกพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว"

ครั้นแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายว่า "ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้เราขอเตือนพวกท่านให้รู้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดมาในโลกมีความเสื่อมสลายเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์แก่ตนและคนอื่นให้สำเร็จบริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด"

หลังจากนั้นไม่ได้ตรัสอะไรอีกเลย จนกระทั่งนิพพานในเวลาสุดท้ายของคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญวิสาขะ ณ ภายใต้ต้นสาละทั้งคู่ที่ออกดอกบานสะพรั่งเป็นพุทธบูชานั่นเอง


- ภาพพุทธประวัติ ออผนวช


ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร

เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"

ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศา กับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบเหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา

เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง

ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา

เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า 'พระมหาบุรุษ' ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ

ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว






ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา

ตอนนี้เป็นตอนที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลุ่มคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์นั้นคือคณะปัญจวัคคีย์ มี ๕ คนด้วยกัน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งหมดตามเสด็จพระมหาบุรุษออกมาเพื่อเฝ้าอุปัฏฐาก ส่วนผู้ที่ถือพิณอยู่บนอากาศนั้นคือพระอินทร์

คนหัวหน้าคือโกณฑัญญะ เป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่เคยทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนนั้นยังหนุ่ม แต่ตอนนี้แก่มากแล้ว อีก ๔ คน เป็นลูกของพราหมณ์ ที่เหลือ คือในจำนวนพราหมณ์ ๗ คนนั้น

ทุกกรกิริยาเป็นพรตอย่างหนึ่งซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา จนถึงขั้นอาการปางตายที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด ปางตาย คือ กัดฟัน กลั้นลมหายใจเข้าออกและอดอาหาร

พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง เช่น คราวลดเสวยอาหารน้อยลงๆ จนถึงงดเสวยเลย แทบสิ้นพระชนม์ พระกายซูบผอม พระโลมา (ขน) รากเน่าหลุดออกมา เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเสด็จดำเนินถึงกับซวนเซล้มลง

ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง ความจริงที่ว่านี้ กวีท่านแต่งเป็นปุคคลาธิษฐานคือ พระอินทร์ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง สายพิณที่หนึ่งลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด สายที่สองหย่อนเกินไปดีดไม่ดัง สายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดังเพราะ

พระอินทร์ดีดพิณสายที่สาม (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังออกมาเป็นความว่า ไม้สดแช่อยู่ในน้ำทำอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ถึงอยู่บนบก แต่ยังสด ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบกจึงสีให้เกิดไฟได้ อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลสและอยู่ครองเรือน อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว แต่ใจยังสดด้วยกิเลส อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวจากกิเลส

พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นความเพียรทางกาย แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญความเพียรทางใจ พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้าก็เกิดเสื่อมศรัทธา หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียรเวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น






 นางสุชาดากับทาสีมาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเทวดา

นับตั้งแต่พระมหาเสด็จออกบวชเป็นต้นมาจนถึงวันที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเวลาย่างเข้าปีที่ ๖ตอนนี้พระมหาบุรุษเริ่มเสวยอาหารจนพระวรกายมีกำลังเป็นปกติแล้ว และวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน ๔๕ ปี สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษคือนางสุชาดา เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ของที่นางถวายคือข้างมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วนเป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ ไม่ปนเนื้อ ไม่เจือปลา ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ

ปฐมสมโพธิเล่าว่า นางสุชาดาเคยบนเทพเจ้าไว้ที่ต้นไทรเพื่อให้ได้สามีผู้มีชาติสกุลเสมอกันและได้ลูกที่มีบุญ เมื่อนางได้สมปรารถนาแล้ว จึงหุงข้าวมธุปายาสเพื่อแก้บน ก่อนถึงวันหุง นางสุชาดาสั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวนหนึ่งพันตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ ให้แม่โคกินชะเอมเครือ กินอิ่มแล้วไล่ต้อนออกมา แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูงๆ ละ ๕๐๐ ตัว แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน แบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนเหลือแม่โคนม ๘ ตัว เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง ๘ มาหุงข้าวมธุปายาส

หุงเสร็จแล้ว นางสุชาดาสั่งให้นางทาสีหญิงรับใช้ไปทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณต้นไทรนางทาสีไปแล้วกลับมารายงานให้นางสุชาดาทราบว่า เวลานี้รุกขเทพเจ้าที่จะรับเครื่องสังเวยได้สำแดงกายให้ปรากฏ นั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว นางสุชาดาดีใจเป็นกำลัง จึงยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนหัวเดินมาที่ต้นไทรพร้อมกับนางทาสี ก็ได้เห็นจริงอย่างนางทาสีเล่า นางจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระมหาบุรุษทรงรับแล้วพระเนตรดูนาง นางทราบพระอาการกิริยาว่า พระมหาบุรุษไม่มีบาตรหรือภาชนะอย่างอื่นรับอาหาร นางจึงกล่าวคำมอบถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดนั้น

ถวายเสร็จแล้วก็ไหว้ แล้วเดินกลับบ้านด้วยความยินดี และด้วยความสำคัญหมายว่า พระมหาบุรุษนั้นเป็นรุกขเทพเจ้า






ทรงลอยถาด ถาดจมลงไปกระทบกับถาดเดิม ๓ ใบ พญานาคก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้

เมื่อนางสุชาดากลับไปบ้านแล้ว พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงถือถาดทองข้าวมธุปายาส เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จลงสรงน้ำ แล้วขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ปฐมสมโพธิว่า 'เป็นอาหารที่คุ้มไปได้ ๗ วัน ๗ หน'

เสร็จแล้วทรงลอยถาดและทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ถาดจงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง ๘๐ ศอก ไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง ถาดนั้นจึงจมดิ่งหายไปจนถึงพิภพของกาฬนาคราช กระทบกับถาดสามใบของพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์เสียงดังกริ๊ก

พระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์นั้นคือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระมหาบุรุษกำลังจะเป็นองค์ที่ ๔

กาฬนาคราชหลับมาตั่งแต่สมัยพระพุทธเจ้าในอดีต จะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาด พอได้ยินก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดในโลกแล้ว คราวนี้ก็เหมือนกัน เมื่อได้ยินเสียงถาดของพระมหาบุรุษก็งัวเงียขึ้นแล้วงึมงำว่า "เมื่อวานนี้พระชินสีห์ (หมายถึงพระกัสสปพุทธเจ้า) อุบัติในโลกพระองค์หนึ่ง แล้วซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า" ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้าเกิดใหม่ แล้วก็หลับต่อไปอีก

ความที่กล่าวมาถึงตอนพระมหาบุรุษทรงลอยถาด แล้วถาดลอยทวนกระแสน้ำจนถึง กาฬนาคราชได้บาดาลได้ยินเสียงถาดตกลงนั้น ท่านพรรณาเป็นปุคคลาธิษฐานถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานก็ได้ความอย่างนี้คือ ถาดนั้นคือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า แม่น้ำคือ โลกหรือคนในโลก คำสั่งสอนหรือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า พาคนไหลทวนกระแสโลกไปสู่กระแสนิพพาน คือความพ้นทุกข์ที่ไม่มีเกิด แก่ เจ็บและตาย ส่วนกระแสโลกไหลไปสู่ความเกิด แก่ เจ็บ และตาย พญานาคใต้บาดาลผู้หลับใหล คือสัตวโลกที่หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกก็รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า รู้แล้วก็หลับใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสต่อไปอีก







ทรงลาดหญ้าคาประทับเป็นโพธิบัลลังก์ ตกเย็นพญามารก็กรีฑาพลมาขับไล่

เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า 'มารผจญ' ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่งโมง พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ สัตว์สี่เท้าที่กำลังจะใช้งาทิ่มแทงพระมหาบุรุษนั้นมีชื่อว่า 'นาราคีรีเมขล์' เป็นช้างทรงของพระยาวัสสวดีมารซึ่งเป็นจอมทัพ สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้นคือพระนางธรณี มีชื่อจริงว่า 'สุนธรีวนิดา'

พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน มาทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาลขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้ารักษาพระมหาบุรุษต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมดเพราะเกรงกลัวมาร

ปฐมสมโพธิพรรณนาภาพพลมารตอนนี้ไว้ว่า "...บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง ลางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง...บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ...ลางพวกกายท่อนล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำหลากเป็นมนุษย์..."

ส่วนตัวพระยามารเนรมิตพาหาคือแขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่างๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด) จักรสังข์ อังกัส (ของ้าวเหล็ก) คทา ก้อนศิลา หลาวเหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล (หลาวสามง่าม) ฯลฯ

เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่ามายึดเอาโพธิบัลลังก์คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้ เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน






แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี

สถานที่ที่พระมหาบุรุษประทับนั่งพื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ แสวงหาทางตรัสรู้ ซึ่งอยู่ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น เรียกว่า 'โพธิบัลลังก์' พระยามารกล่าวตู่ว่าเป็นสมบัติของตน ส่วนพระมหาบุรุษทรงกล่าวแก้ว่า บังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน แล้วทรงอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน

ปฐมสมโพธิว่า "พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้...ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพี..." แล้วกล่าวเป็นพยานมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า 'ทักษิโณทก'อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อนางบีบก็หลั่งไหลออกมา

ปฐมสมโพธิว่า "เป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร...หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้นส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งทรงองค์พระยาวัสสวดี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร... พระยามารก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด"

บารมีนั้นคือความดี พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตรที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือแม่พระธรณี







ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา

เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือ ให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดาส่วนญาณคือปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ 'ฌาน' แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับปัญญา (ญาณ)

พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม) 
  ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า'บุพเพนิวาสานุสติญาณ' หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น 
  พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า 'จุตูปปาตญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความจุติคือ ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า 'กรรม' 
  พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ 'อาสวักขยญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์

การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่ว่า 'อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า' แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน

ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า





เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี

ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗วัน คำว่า 'เสวยวิมุติสุข' เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือพักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ 'อชปาล' แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา

ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลัง พระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี

ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติแม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคาหรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือความริษยา

ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง







ประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน

ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้ ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ ๗ วัน ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม คือ ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์

มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี ทั้งประเภทชาดก และอย่างอื่นมากหลาย ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยู่เมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า

ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก เข้าใจว่าจะใช่ เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน คือ ชอบเกิดตามที่ชุ่มชื้น เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นไม้เนื้อเหนียว ดอกระย้า มีทั้งสีขาวและสีแดง ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก ปกติใบดกหนา เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อมุจลินทร์ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์

พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้ เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระเข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์






ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่าจึงรับอาราธนา

ท้าวสหัมบดีพรหมที่เสด็จมากราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก ดังที่ได้บรรยายไว้ในภาพที่ ๓๒ นั้น เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน หรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง

ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคือพระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรมหลังจากตัดสินพระทัยแล้ว จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก

๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง

จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน

ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของดาบสทั้งสอง ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก


- ภาพพุทธประวัติ วัยเยาว์


เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้ จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิตเมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุม ปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าต่างก็เล็งว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า





ทรงรับคำเชิญ แล้วจุติมากำเนิดในตระกูลกษัตริย์ศากยะ ณ กรุงกบิลพัสดุ์

ภาพนี้เป็นภาพตอนที่พระโพธิสัตว์เจ้า ซึ่งต่อมาคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้ากำลังเสด็จจากสวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อเสด็จเข้าสู่พระครรภ์พระมารดา วันที่เสด็จลงบังเกิดนั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดา กับพระนางสิริมหามายา พระมารดา ได้อภิเษกสมรสไม่นาน

คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงเข้ามาหาพระนางปฐมสมโพธิพรรณาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

"...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง...ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบแล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทร ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี..."

ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่าเป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดาว่า

"...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างหนึ่งพระอุทรแห่งพระมารดา ดุจสุวรรณปฎิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่โพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี..."

วันที่พระโพธิสัตวเจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์ กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้นเช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับ ได้ยิน

ตอนนั้น ถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่ากลองทิพย์บันลือลั่นนั้น คือ 'นิมิต' หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอดหูหนวก คือ คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้วจะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้งมองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง





พอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ ๗ ก้าว

ทารกที่เห็นนั่นคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวาและเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลีแปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า

"เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว"

กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้นคือพระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่าไม้รังหรือเต็งรังอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นไม้พันธุ์ในตระกูลยางซึ่งมีอยู่ในอินเดียที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย

สถานที่ประสูตินี้เรียกว่า 'ลุมพินี' อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือเมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือกบิลพัสดุ์ และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวหะ กษัตริย์และเจ้านายจากสองเมืองนี้ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส

เมื่อพระนางมายาจวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระสามี คือพระเจ้าสุทโธนะ เพื่อประสูติพระโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่า สตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเสียก่อน เลยจึงประสูติที่นั่น

วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นคือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖








อสิตดาบสมาเยี่ยม เห็นกุมารประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะก็ถวายบังคม

ภาพนี้เป็นตอนภายหลังพระพุทธเจ้าประสูติแล้วใหม่ๆ คือภายหลังพระพุทธบิดาทราบข่าวพระนางมายาประสูติพระโอรสระหว่างทางที่สวนลุมพินี แล้วรับสี่งให้เสด็จกลับเมืองแล้ว

ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ 'อสิตดาบส' หรือบางแห่งเรียกว่า 'กาฬเทวินดาบส' ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย

เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่ จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยม ก็ทรงดีพระพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส

พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้มหรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ

ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอย่างครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้ จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อย ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้

ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล





พราหมณาจารย์รับพระลักษณะสมโภชพระกุมาร ถวายพระนามว่า พระสิทธัตถะ

ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘แต่พราหณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้ คือ

๑. รามพราหมณ์ ๕. โภชพราหมณ์
๒. ลักษณพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์
๓. อัญญพราหมณ์ ๗. สุยามพราหมณ์
๔. ธุชพราหมณ์ ๘. โกณทัญญพราหมณ์

ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัยหนึ่งหมายความว่าพระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวณไทยในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ

พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร'ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า 'นามสกุล' คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'

พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเห็นเป็น ๒กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ ถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติ จักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก

มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้จักเสด็จออกทรงผนวช และได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้า และได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า 'พระอัญญาโกณทัญญะ' นั่นเอง ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวช เพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช





ทรงบรรลุปฐมฌานตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ขณะประทับใต้ร่มหว้าในพิธีแรกนาขวัญ

ภาพนี้เป็นตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชนมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอกบัวประทับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงสะพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น

ตอนที่เห็นในภาพนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า 'ชมพูพฤกษ์' ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว้านั่นเอง เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ ก็เพราะพระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณีพระราชบิดา ซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนาเสียเองก็ได้ ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย

ภาพที่เห็นนี้อีกเหมือนกัน จะเห็นเจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหาย พระพี่เลี้ยง และมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรณาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียว ประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน..." พระทัยอันบริสุทธิ์ และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็สมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"

แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบพระเจ้าสุทโธนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปาฎิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรบสอง"

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือ ครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือ ภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก





ทรงประลองศิลปศาสตร์ยกศรอันหนัก ดีดสายศรเสียงสนั่นกระหึ่มเมือง

พอเจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า 'วิศวามิตร' เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธ และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์

ภาพที่เห็นนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธุตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีแล้ว และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู เป็นจำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน ทั้งสองหลังนี้จะมีอะไรเป็นเครื่องควบคุมอุณหภูมิไม่ทราบได้ และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน

หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสอง คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดา ให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพราะราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช

แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑปที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู

ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า 'สหัสถามธนู' แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า 'ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย'บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครึ้มคราวไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายยิงธนู ต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร

เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้น คือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูกขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า 'ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน' พระญาติวงศ์ทั้งปวง จึงยอมถวายพระราชธิดา ซึ่งมีนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา







พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

ดังได้เคยบรรยายไว้ ณ ที่นี้มาแล้วว่า พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดา และฝ่ายบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ฝ่ายมารดามีชื่อว่า 'โกลิยวงศ์' ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ 'ศากยวงศ์' ครองเมืองกบิลพัสดุ์

ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้า ผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือ พระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ก็เป็นที่ทราบอยู่แล้ว คือ พระเจ้าสุทโธทนะ

พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือ น้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้ามีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรสคือ เทวทัต พระธิดา คือ พระนางพิมพายโสธรา

ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติคือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ
๑. พระนางพิมพายโสธรา
๒. พระอานนท์
๓. กาฬุทายีอำมาตย์
๔. นายฉันนะ มหาดเล็ก
๕. ม้ากัณฐกะ
๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)

พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี






เสด็จประพาสสวน ทรงเห็นเทวฑูต ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และบรรพชิต

พระเจ้าสุทโธทนะผู้มีพระราชบิดา และ พระญาติวงศ์ทั้งปวงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้ จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือ ความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวฑูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวฑูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกายควรจะสังเวช..."

ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สาม เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่าสภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือ มีมืดแล้ว มีสว่าง มีร้อน แล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..."

เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงรำพึงในพระทัยที่เรียกอีกอย่างหนึ่ง ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา" สองคำนี้เป็นภาษาบาลี แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา







ตื่นบรรทมกลางดึกเห็นสาวสนมกรมในนอนระเกะระกะ ระอาพระทัยใคร่ผนวช

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลาย อันเป็นที่เจริญหฤทัยเห็นปานดังนั้น ก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.." มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง

ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..." บรรดานางบำเรอฟ้อนรำขับร้องที่อยู่เฝ้า เมื่อเห็นเจ้าชายบรรทมหลับแล้วต่างก็เอนกายลงนอนทับเครื่องดนตรี

มุหุตหนึ่งคือครู่หนึ่ง เจ้าชายตื่นบรรทมแล้วก็ทรงเห็นอาการวิปลาสของนางบำเรอ ที่นอนหลับไม่สำรวม ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ..."

เจ้าชายเสด็จจากพระแท่นที่บรรทม เสด็จลุกขึ้นทอดพระเนตรภายในปราสาทที่ประทับแม้จะสว่างรุ่งเรืองด้วยดวงประทีป และงามตระการด้วยเครื่องประดับ แต่ทรงเห็นเป็นที่มืด และทรงเห็นเป็นดุจป่าช้าผีดิบ สิ่งที่มีชีวิตที่ยังหายใจได้ที่กำลังนอนระเนระนาดปราศจากอาการสำรวมคือ นางบำเรอปรากฏแก่พระองค์เป็นซากศพผีดิบในสุสาน จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า "อาตมาจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท 





เสด็จไปเยี่ยมพระนางพิมพา ซึ่งกำลังบรรทมหลับสนิทเป็นนิมิตอำลาผนวช


ส่วนเจ้าชายผู้ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่แล้วว่าจะเสด็จออกบวช เสด็จไปยังห้องบรรทมของพระนางพิมพายโสธราผู้ชายาก่อน เมื่อเสด็จไปถึง ทรงเผยบานพระทวารออก ทรงเห็นพระชายากำลังหลับสนิท พระนางทอดพระกรไว้เหนือเศียรราหุล โอรสผู้เพิ่งประสูติ พระองค์ทรงเกิดความเสน่หาอาลัยในพระชายาและพระโอรสที่เพิ่งได้ทอดพระเนตรเห็นเป็นครั้งแรกอย่างหนัก

ทรงหมายพระทัยว่า "จะทรงยกพระหัตถ์นางผู้ชนนี จะอุ้มเอาองค์โอรส..." ก็ทรงเกรงพระนางจะตื่นบรรทม และจะเป็นอุปสรรคแก่การเสด็จออกบวช จึงข่มพระทัยเสีย ได้ว่าอย่าเลย เมื่อได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า "จะกลับมาทัศนาการพระพักตร์พระลูกแก้วเมื่อภายหลัง"แล้วเสด็จออกจากที่นั้น ลงจากปราสาทไปยังที่ที่นายฉันนะเตรียมผูกม้าไว้เรียบร้อยแล้ว







ทรงปลุกนายฉันนะให้ผูกม้ากัณฐกะ เพื่อประทับเป็นพาหนะเสด็จออกบรรพชา

ม้าพระที่นั่งที่เจ้าชายเสด็จขึ้นทรง เพื่อเสด็จออกบวชครั้งนี้ มีชื่อว่า 'กัณฐกะ' เป็นสหชาติคือเกิดวันเดียวกับเจ้าชาย หนังสือปฐมสมโพธิบอกส่วนยาวของม้านี้ไว้ว่า "ยาวตั้งแต่คอจดท้ายมีประมาณ ๑๘ ศอก" แต่ส่วนสูงกี่ศอก ไม่ได้บอกไว้ บอกแต่ว่า "โดยสูงก็สมควรกับกายอันยาว" และแจ้งถึงลักษณะอย่างอื่นไว้ว่า "สีขาวบริสุทธิ์ดุจสังข์อันขัดใหม่ ศีรษะนั้นดำดุจสีแห่งกา มีเกศาในมุขประเทศ (หน้า)ขาวผ่องดุจไส้หญ้าปล้องงามสะอาด กอปรด้วยพหลกำลังมาก แลยืนประดิษฐานอยู่บนแท่นแก้วมณี"

ความที่ว่านั้นเป็นม้าในวรรณคดีที่กวีพรรณาให้เขื่อง และให้เป็นม้าพิเศษกว่าม้าสามัญ ถ้าถอดความเป็นอย่างธรรมดาก็ว่ากัณฐกะสูงใหญ่สีขาวเหมือนม้าทรงของจอมจักรพรรดิ หรือบุคคลผู้ทรงความเป็นเอกในเรื่อง

เมื่อเจ้าชายเสด็จเข้าใกล้ม้า ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบหลังกัณฐกะ ท่านว่าม้ากัณฐกะมีความยินดีก็เปล่งเสียงร้องดังกึกก้องสนั่นไปทั่วกรุงกบิลพัสดุ์ ดังไปไกลถึงหนึ่งโยชน์ (ประมาณ ๔๐๐ เส้น) โดยรอบ ถ้าเป็นไปตามนี้ ทำไมคนทั้งเมืองจึงไม่ตื่นกัน ท่านผู้รจนาวรรณคดีเรื่องนี้ท่านบอกว่า "เทพยดาก็กำบังเสียซึ่งเสียงนั้นให้อันตรธานหายไป..." ท่านใช้เทวดาเป็นเครื่องเก็บเสียงม้านั่นเอง

ถ้าถอดความจากเรื่องราวของวรรณคดีดังกล่าวออกมาก็คือ เจ้าชายทรงชำนาญในเรื่องม้ามาก ทรงสามารถสะกดม้าไม่ให้ส่งเสียงร้องได้

จากนั้นก็เสด็จขึ้นหลังกัณฐกะ บ่ายพระพักตร์ออกไปทางประตูเมืองที่ชื่อ 'พระยาบาลทวาร'โดยมีนายฉันนะมหาดเล็กตามเสด็จไปข้างหลัง วันที่เสด็จออกบวชนั้น หนังสือปฐมสมโพธิบอกว่าเป็นวันเพ็ญเดือน ๘ ท่านว่า "พระจันทร์แจ่มในท่ามกลางคัคนาดลประเทศ (ท้องฟ้า) ปราศจากเมฆ ภายในห้องจักรวาลก็ขาวผ่องโอภาสด้วยนิศากรรังสี" นิศากรรังสี คือ แสงจันทร์ในวันเพ็ญ