วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558

โพชฌังคะปริตร ในความหมายและคำแปล



บทนำ

         บุคคลผู้ประเสริฐ พ้นจากภพทั้งสาม บรรลุพระนิพพานอันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่มีอันตรายใดๆ เพราะรู้แจ้งโพชฌงค์เจ็ด เครื่องขจัดทุกข์ทั้งปวงของเหล่าสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสาร ซึ่งย่ำยีมารและกองทัพได้
          ขอเราทั้งหลายจงร่วมกันสวดโพชฌงคะปริตรซึ่งมีคุณอย่างนี้เป็นต้น อันเป็นที่รวมแห่งคุณเป็นอเนก เป็นโอสถ และเป็นมนต์


      ๑. โพชฌังโค สะติสังขาโต          ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
วิริยัมปีติปัสสัทธิ                                  โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
สะมาธุเปกขะโพชฌังคา                     สัตเตเต สัพพะทัสสินา
มุนินา สัมมะทักขาตา                           ภาวิตา พะหุลีกะตา
สังวัตตันติ อะภิญญายะ                       นิพพานายะ จะโพธิยา
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                          โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

       ๒. เอกัสมิง สะมะเย นาโถ             โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง
คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา                            โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
เต จะ ตัง อะภินันทิตวา                         โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                           โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

        ๓. เอกะทา ธัมมะราชาปิ                เคลัญเญนาภิปีฬิโต
จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ                         ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
สัมโมทิตวา จะ อาพาธา                        ตัมนา วุฏฐาสิ ฐานะโส
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                            โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

        ๔. ปะหีนา เต จะ อาพาธา            ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
มัคคาหะตะกิเลสา วะ                             ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ                            โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ฯ

                            โพชฌังคะปะริตตัง นิฏฐิตัง


คำแปล

    ๑.โพชฌงค์ ๗ คือ สติสัมโพฌงค์  ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์  วิริยสัมโพชฌงค์  ปีติสัมโพชฌงค์
ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์  สมาธิสัมโพชฌงค์  และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ พระมุนีผู้รุ้แจ้งสภาวธรรมทั้งปวงตรัสว่า ผู้บำเพ็ญและกระทำโพชฌงค์ให้มาก ย่อมรุ้แจ้ง บรรลุถึงพระนิพพานและความตรัสรู้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอท่านจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

    ๒. สมัยหนึ่ง พระโลกนาถทอดพระเนตรเห็นพระโมคัลลานะและพระมหากัสสปะอาพาธ ได้รับความทุกข์ จึงทรงแสดงโพชฌงค์ ๗ พระเถระทั้งสองยินดีรับโพชฌงค์นั้นหายจากโรคทันที ด้วยสัจวาจานี้ ขอท่านจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

    ๓. ครั้งหนึ่ง พระธรรมราชาทรงประชวรหนัก รับสั่งให้พระจุนทเถระ สาธยายโพชฌงค์ถวายโดยเคารพ พระองค์ทรงแช่มชื่นพระทัย หายจากประชวรโดยพลัน ด้วยสัจวาจานี้ ขอท่านจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ

    ๔. พระพุทธเจ้าและพระเถระผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐทั้งสาม ได้หายจากอาพาธแล้ว ดุจกิเลสที่ถูกอริยมรรคประหารไม่กำเริบอีก ด้วยสัจวาจานี้ ขอท่านจงมีความสวัสดีทุกเมื่อเทอญ


ความเป็นมา

     ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวันมหาวิหาร กลันทกนิวาปสถานใกล้กรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นพระมหากัสสปะอาพาธหนักอยู่ที่ถ้ำปิปผลิคูหา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถระในเวลาเย็น ทอดพระเนตรเห็นพระมหากัสสปะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่ตกแต่งไว้แล้วตรัสเทศนาโพชฌงค์ ๗ คือ สติ ๑  ธัมมวิจัย ๑  วิริยะ ๑  ปีติ ๑  ปัสสัทธิ ๑  สมาธิ ๑  อุเบกขา ๑  อันบุคคลเจริยแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พระมหากัสสปะเถระเมื่อได้ฟังก้เพลิดเพลินภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดความปลื้มปีติใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็หายอาพาธในขณะนั้น เหมือนหยาดน้ำตกในใบบัวฉะนั้น

     ครั้งหนึ่งอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับผู้ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ครั้งนั้น พระมหาโมคคัลลานะอาพาธหนัก อยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ พระพุทธองค์เสด็จไปยังที่อยู่ของพระมหาเถระ ประทับนั่งแล้ว ตรัสเทศนาโพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน พระมหาโมคคัลลานะเมื่่อได้ฟังก้เพลิดเพลินภาษิตของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เกิดความปลื้มปีติใจ ชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค ก็หายจากอาพาธในขณะนั้น

     ครั้งหนึ่งอีก พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยุ่ ณ พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน ใกล้กรุงราชคฤห์ ทรงประชวรหนัก เสวยทุกเวทนาอย่างแสนสาหัส รับสั่งให้พระมหาจุนทะแสดงโพชฌงค์ ๗  เมื่อพระมหาจุนทะแสดงโพชฌงค์จบ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพอพระทัยและทรงหายจากพระประชวรในทันที


ธรรมปริทรรศน์

    คำว่า โพชฌงค์ บางครั้งก็เรียกว่า สัมโพชฌงค์ ปรากฎในสังยุตตนิกายมหาวรรค พระไตรปิฏกเล่ม ๑๙ หมายถึงองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ คือ สติ ความระลึกได้ ๑  ธัมมวิจัย ความสอดส่องธรรม ๑  วิริยะความเพียร ๑  ปีติ ความอิ่มใจ ๑  ปัสสัทธิ ความสงบใจ ๑  สมาธิ ความตั้งใจมั่น ๑  อุเบกขา ความวางเฉย ๑   หากบุคคลบำเพ็ญธรรมเหล่านี้ให้เกิดมีขึ้นในตนได้ จะทำให้ดับกิเลสรู้แจ้งเห้นจริงได้ หรือบรรลุนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดทางจริยธรรม

      ผู้มีสติ ประกอบด้วยสติและปัญญาอันยิ่ง ระลึกได้ ระลึกได้บ่อยๆ ซึ่งกิจที่ทำไว้นานๆหรือวาจาที่กล่าวไว้นานๆ เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์

      ผู้มีสติ วิจัยเลือกสรร พิจารณาซึ่งธรรมนั้นด้วยปัญญา เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

      ผู้มีความเพียร ความไม่ย่อหย่อน เรียกว่า วิริยสัมโพชฌงค์

      ผู้มีปีติอันปราศจากอามิส เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์

      ผู้มีกายและจิตอันสงบระงับ เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

      ผู้มีจิตอันสงบ มีความสุขสบายตั้งมั่นแล้ว เรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์

      ผู้พิจารณาอยู่ด้วยดี ซึ่งจิตที่ตั้งมั่นอย่างนั้น เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์


แนวทางปฎิบัติ

     บทโพชฌังคะปริตรนี้ มีอานุภาพในทางขจัดความเจ็บไข้ และเป็นมนต์ต่ออายุ จึงใช้สำหรับสวดต่ออายุให้คนเจ็บ หรือเมื่อคนใกล้จะตาย ญาติพี่น้องจะนิมนต์พระมาสวดโพชฌังคะปริตรให้ฟัง เรียกกันว่า "สวดต่อนาม" ด้วยเหตุดังที่กล่าวมานี้โบราณาจารย์จึงนิยมให้สวดโพชฌังคะปริตร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่พุทธศาสนิกชน ให้มีความสุขความเจริญ โดยมีพื้นฐานมาากร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัย ซึ่งเป็นเบื้องต้นของความสุขและความสำเร้จทุกอย่าง ดังพุทธภาษิตในคัณฑิยสูตรว่า "อาโรคยะปะระมา ลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ" แสดงให้เห็นว่าพุทะมนต์นั้นมีอานุภาพรักษาโรคทางกายและทางใจได้ ซึ่งมีนัยว่า โรคทางกาย และโรคทางใจเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก จะต้องรักษาควบคุ่กันไป และมีความสำคัญเท่าๆกัน พุทธศาสนิกชนพึงเอาใจใส่ดูแลทั้งสองอย่าง อย่าละเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง


อานิสงส์

๑.ย่อมมีอานุภาพในการสาธยายให้ผู้เจ็บป่วยด้วยโรคใดๆ มนต์ต้องใจ โรคาพาธบรรเทาได้

๒.ย่อมมีอานุภาพในการสาธยายให้ผู้สูงอายุได้ฟัง จักได้พลังสืบต่อชะตาอายุให้ยืนยาว

๓.ย่อมมีอานุภาพในการกำจัดโรคทางใจ ให้เกิดพลังแห่งศรัทะาบริสุทธิ์หยุดการกำเริบของโรคได้

๔. ย่อมมีอานุภาพให้เกิดความเพียรอย่างแรงกล้านำพาไปสุ่ความพ้นทุกข์ คือพระนิพพานได้


ข้อควรรู้

๑.โพชฌังคปริตร มีลักษณะการประพันธ์เป็นฉันทลักษณ์ชื่อ ปัฐยาวัตรฉันท์มี ๘ พระคาถาครึ่ง

๒.โพชฌังคปริตร เป็นการประกาศหลักธรรมอันประเสริฐ ซึ่งเป็นองค์แห่งการตรัสรู้

๓.ในทางกรรมฐานถือว่า โพชฌงค์ เป็นบทเทศน์ลำดับญาณ เพราะเป็นองค์แห่งการตรัสรู้เป็นพระอรหันต์

๔.ผู้ดำเนินชีวิตตามหลักโพชฌงค์ ย่อมบรรลุผลสำเร้จในชีวิตทั้งทางโลกและทางธรรม ตามกำลังแห่งสติปัญญาของตน






ที่มาของข้อมูล

หนังสือ ธรรมะในพุทธมนต์ ตามรอยบาทพระศาสดา อินเดีย - เนปาล
พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ์ วีรยุทฺโธ)