วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดสวนดอก เชียงใหม่


ประวัติวัดสวนดอก

       วัดสวนดอก ตั้งอยู่เลขที่ 139 ถนนสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ห่างจากประตูสวนดอกไปทาง ทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร เนื้อที่ของวัดมี 35 ไร่ 2 งาน 44 ตารางวา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย วัดสวนดอกเป็นวัดที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์ลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์มังราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นผู้ทรงสร้างซึ่งถือเป็นวัดมังรายเป็นผู้ทรง
สร้างซึ่งถือเป็นวัดมังราย (อาณาจักรล้านนา) เป็นผู้ทรงสร้าง ซึ่งถือเป็นวัดที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้นที่สำคัญยิ่งในสมัยนั้น สาเหตุที่ พระองค์ทรงสร้างเพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกทั้งเพื่อเป็นสถานที่อยู่และปฏิบัติธรรมของพระสงฆ์พร้อมกันนั้นก็เป็นที่พุทธศาสนิกชนได้ใช้เป็นสถานที่ทำบุญและประกอบพิธีกรรมตามประเพณีของชาวพุทธอีกด้วย ซึ่งคาดว่าวัดสวนดอกได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ พ.ศ.1962 


       พระเจ้ากือนาธรรมิกราช ได้ทรงพระราชทานอุทยานสวนดอกไม้ ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า บริเวณอุทยาน สวนดอกไม้นี้ เต็มไปด้วยต้นพะยอม หรือมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “สวนดอกไม้พะยอม” เป็นที่สร้างวัด พร้อมกับ พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดบุปผาราม” ซึ่งหมายถึง วัดแห่งสวนดอกไม้ ต่อมานิยมเรียกสั้นๆว่า “วัดสวนดอก”


ประวัติการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์

      สร้างสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เมื่อปี พ.ศ.1916 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งพระสุมนเถระนำมาจากกรุงสุโขทัย เป็นศิลปะลังกาวงศ์ผสมล้านนา ลักษณะฐานสี่เหลี่ยมมีทางขึ้น 4 ด้าน ชั้นกลางลักษณะระฆังคว่ำแบบเจดีย์ลังกา พระบรมเจดีย์องค์ใหญ่สูง 24 วา ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 

      พระมหาสุมนะเถระกับพญากือนาเป็นประธาน พร้อมกันก่อพระมหาชินะธาตุ เจดีย์ห่อหุ้มด้วยสุวรรณทองคำคล้ายกลุ่มดอกบัวที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตฝัน เพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้าสถิตไว้ในพระมหาเจดีย์ แต่ก่อนที่จะเอาพระบรมธาตุบรรจุนั้น พญากือนากับพระมหาสุมนเถระ ได้ทรงอาราธนาพระบรมธาตุใส่ในโกศทองคำอันงามประณีตวิจิตรแล้วทรงสรงพระธาตุเจ้า ขณะเดียวกันนั้นพระบรมธาตุเจ้าก็แสดงปฏิหาริย์ให้สว่างไสวรุ่งเรืองงามยิ่งนัก ปรากฏแก่พญากือนาพร้อมทั้งบริวารทั้งปวง พระบรมธาตุได้แตกเป็นสององค์ สามองค์ และหลายองค์ลอยวนเหนือผิวน้ำ เต็มโกศทองคำเป็นสีต่าง ๆ มีสีนาก สีทองคำ สีมุก เสด็จลอยวนเหนือผิวน้ำ พญากือนากับทั้งบริวารทั้งปวงเห็นอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ก็น้อมนมัสการสักการบูชา หลังจากนั้นพญากือนาและพระมหาสุมนเถระเอาพระบรมธาตุออกจากโกศสรงน้ำมัน จึงได้พบพระบรมธาตุเพียงสององค์ องค์หนึ่งเล็ก อีกองค์หนึ่งเป็นดั่งปกติมีสี สันฐานวรรณะเสมอกัน พระมหาสุมนะและพญากือนาจึงอาราธนาพระบรมธาตุองค์ดั่งปกติเสมอเก่า บรรจุใส่ในโกศแก้วประพาฬอันเก่านั้น แล้วเอาโกศทองคำใส่โกศเงินโกศทองเหลืองลงออกมาใส่โกศดินเป็นลำดับซ้อนกันดุจดั่งเมื่อขุดครั้งแรกนั้นแล ส่วนอีกองค์หนึ่งนั้นพญากือนาเก็บรักษาไว้ แล้วก็สถาปนาพระบรมธาตุเจ้าใส่ไว้ในพระมหาเจดีย์ และทรงสร้างเจดีย์บริวารอีกเจ็ดองค์ ซุ้มประตูโขงพระเจดีย์ชั้นในและก่อกำแพงคูหาปราการโขงขั้นนอก พญากือนาได้เอาราชเรือนหลวงของพระองค์มาสร้างมหาวิหารหลังหนึ่งอันประณีตวิจิตรงดงามยิ่ง 

       พระมหาสุมนเถระก็ได้อยู่บำเพ็ญสมณธรรมปฏิบัติปกครองวัดบุปผาราม โดยเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก พระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์จึงเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ในกาลครั้งนั้นพระภิกษุสามเณรในพิงคนครและบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในล้านนา มีเชียงตุง สิบสองปันนา เชียงแสน เชียงราย พะเยา ลำปาง น่าน หริภุญชัย ฯลฯ พากันเดินทางมาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะบาลีภาษาเป็นจำนวนมาก แล้วกลับเอาไปเผยแผ่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดของตน พระพุทธศาสนาแบบลัทธิลังกาวงศ์เป็นอันประดิษฐานตั้งมั่นเป็นอันดีแล้วในล้านนาไทยประเทศ 



       พระเจ้าค่าคิง เป็นพระประธานในพระวิหารหลวง พระเจ้ากือนาธรรมิกราชโปรดให้ช่างสร้างขึ้นด้วยทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีขนาดเท่าพระวรกายของพระองค์ขณะประทับยืน หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูง 2.5 เมตร ข้อมูลจากประชุมตำนานล้านนากล่าวว่า สร้างขึ้นโดยบัญชาของพระราชมารดาของพระเจ้ากือนา เพื่อถวายไว้แทนพระเจ้ากือนา เมื่อครั้งทรงประชวรหนัก จึงเป็นเหตุหนึ่งของการเรียกพระนามของพระพุทธรูปที่สร้างแทนพระองค์ว่า “พระเจ้าค่าคิง” 




พระเจ้าเก้าตื้อ ในพระอุโบสถวัดสวนดอก

          พระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด ศิลปะแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 4.70 เมตร หล่อด้วยทองสำริด ซึ่งมีน้ำหนัก 9 ตื้อ สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว เมื่อ พ.ศ.2047 เพื่อเป็นพระประธานในวิหารวัดพระสิงห์ เมื่อหล่อเสร็จไม่สามารถชักลากเข้าเมืองได้ จึงได้ประดิษฐานเป็นองค์พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 



             ลุปี พ.ศ.2047 (จ.ศ.866) พระเมืองแก้วได้ทรงหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ ในวันพฤหัสบดี เดือน 3 (เดือน 5 เหนือ) ขึ้น 8 ค่ำได้ฤกษ์ 7 ตัว ชื่อปุณณะพสุดาวพิดานสำเภาทอง ที่หล่อพระพุทธรูปนั้นมีน้ำหนัก 1 ตื้อ คือ หนึ่งโกศตำลึง (ฝีมือช่างเชียงแสนที่ประณีตงดงามที่สุด หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูงแต่ฐานถึงยอดพระโมฬี 4 เมตร 70 เซนต์) มีที่ต่อ 8 แห่ง นับเป็นท่อนได้ 9 ท่อน นับตั้งแต่ลงมือหล่อพระพุทธรูป จนตกแต่งให้เป็นเงางามเรียบร้อยทุกประการ เป็นเวลานานถึง 5 ปี พ.ศ.2052 (จ.ศ.871) พระเมืองแก้วจึงทรงได้เสด็จราชดำเนินเป็นประธาน พร้อมด้วยหมู่เสนาอำมาตย์ มุขมนตรี เศรษฐีกฎุมพี ไพร่ราษฎ์ทั้งปวงและราชทูตแห่งท้าวพญาสามัญประเทศทั้งปวงทรงอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นสถิตประดิษฐานเหนือรัตนบัลลังก์ ในพระอุโบสถวัดบุปผาราม อันชนทั้งหลายเรียกว่า “พระเจ้าเก้าตื้อ” นั้นแล พระมหาสังฆเถระราชาชั้นผู้ใหญ่ที่อาราธนานิมนต์มาอบรมสมโภชพระพุทธรูป มีจำนวน 1,000 รูป พระมหากษัตริย์เมืองแก้วทรงจัดการเป็นงานมหกรรมอันมโหฬารยิ่ง ถวายเครื่องไทยทานพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ทั่วทั้ง 1,000 รูป พระมหาเถรสังฆราชาและเสนาอำมาตย์ประชาราษฎ์ทั้งมวลประกาศเฉลิมพระนามพระเจ้าเมืองแก้วว่า “พระเจ้าสิริทรงธรรมจักรพรรดิ์ราช”

           นับตั้งแต่พระเจ้าสิริทรงธรรม ได้สร้างพระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ประดิษฐานไว้เหนือบัลลังก์อุโบสถวัดบุปผารามสวนดอกนั้น กิตติศัพท์อภินิหารก็เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ มีภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกา นักบุญทั้งหลายเดินทางมานมัสการมิได้ขาด เหตุเพราะพระพุทธรูปเจ้านั้นมีอิทธิปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ด้วยแรงอธิษฐาน และสวยงามมาก พระปฏิมากรพระเจ้าเก้าตื้อ มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์อย่างอัศจรรย์ใจ สามารถบันดาลให้ผู้ศรัทธาเลื่อมใสประสบสิ่งอันพึงปรารถนา และสรรพมิ่งมงคล ใครมีความกลัดกลุ้มใจเศร้าหมองขุ่นมัว จิตเร่าร้อนกระวนกระวาย เมื่อได้มานั่งบูชาอธิษฐานตรงหน้าพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ เพ่งใจเป็นสมาธิ ส่งสายตาไปที่พระวรกายและพระพักตร์พระเจ้าเก้าตื้อ ทันใดนั้นเองด้วยฤทธิ์อันลี้ลับประหลาด เสมือนหนึ่งพระเจ้าเก้าตื้อฉายแสงธรรมรังษีเข้าไปขับไล่แปรสภาพจิตใจของผู้เพ่งพิศดู ขจัดขับไล่สิ่งเศร้าหมองขุ่นมัวความกลัดกลุ้มที่เกาะดวงใจให้หายไปอย่างประหลาด กลายเป็นเย็นระรื่นชุ่มชื่นเบิกบานใจอย่างประหลาดอัศจรรย์ เสมือนองค์พระเจ้าเก้าตื้อจะเผยโอษฐ์ยิ้มแย้ม ราวกับว่าพระองค์จะตรัสพระปราศรัยแก่ผู้เพ่งดู พร้อมกันนั้นเหมือนองค์ท่านลอยเข้าไปประทับอยู่ในเรือนใจของผู้เพ่งดู และจะรู้สึกปลอดโปร่งโล่งใจสบายอารมณ์ยิ่งนัก

          มีตำนานเล่ากันว่า มักจะมีผู้มาอธิษฐานขอบุตรและปรารถนาสิ่งต่างๆ มักจะประสบสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลทุกประการ พระปฏิมากรเก้าตื้อสำเร็จด้วยวัตถุเจตนา พิธีกรรมอันบริสุทธิ์สะอาด และด้วยพลังแรงอธิษฐานของผู้มีใจสะอาดสูงทรงคุณธรรม จึงเป็นพระพุทธปฏิมากรอันศักดิ์สิทธิ์และประณีตงดงามเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง และควรแก่การเคารพสักการะมาแต่โบราณกาล ทำให้มีผู้มานมัสการมิได้ขาดจนสถานที่พักไม่พอ จึงเป็นเหตุให้หมื่นจ่าบ้านพร้อมทั้งนักบุญทั้งหลายสร้างศาลาไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ไว้เป็นที่พักแก่ผู้จาริกมาแสวงบุญทั้งหลาย

        แม้ปัจจุบัน พุทธศาสนิกชนจากกทุกสารทิศที่มาเที่ยวเมืองเชียงใหม่ จะขาดเสียมิได้ที่จะมากราบไหว้ปูชาพระเจ้าเก้าตื้อที่วัดสวนดอกแห่งนี้ เพราะพระเจ้าเก้าตื้อเป็นพระพุทธรูปศักดิ์ของเมืองเชียงใหม่ที่งดงามที่สุดในล้านนา โดยมีน้ำหนักที่คำนวณได้จากมาตราชั่งของไทย 126,000 กิโลกรัม (1 ตื้อ= 1,400 กิโลกรัม)


วิหารหลวง ประวัติความเป็นมา

        มีขนาดความกว้าง 12 วา 2 ศอกยาว 33 วาสร้างเมื่อพ.ศ.2474-2475 โดยครูบาเจ้าศรีวิชัยและเจ้าแก้วนวรัฐเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยมีลักษณะพิเศษคือเป็นวิหารโถงไม่มีฝาผนังมีแต่ระเบียงโดยรอบหน้าบันทั้งสองด้านมีลายปูนปั้นแบบเครือเถาศิลปะล้านนาที่สวยงามขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 ตอนที่ 75 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2478 

        ลุสมัยเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้ายและพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ได้ทรงทราบข่าวการปฏิบัติเคร่งครัดในศีลาวัตรของครูบาเจ้าศรีวิชัย บุตรนายควายและแม่นางอุษา ชาวบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เป็นผู้มีบุญฤทธิ์ มีผู้นิยมศรัทธาปสาทะเลื่อมใสเป็นอันมาก จึงได้ไปกราบอาราธนามาเป็นประธาน ก่อสร้างปฏิสังขรณ์พระวิหาร พระเจดีย์ ซุ้มประตูกำแพง ตามราชศรัทธาของเจ้าพ่อแก้วนวรัฐและพระราชชายาดารารัศมี ตลอดศรัทธาพุทธบริษัททั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ครูบาศรีวิชัยจึงได้รับอาราธนานิมนต์มาเป็นประธาน

         ครั้นถึงวันแรม 10 ค่ำ เดือน 8 (เดือน 10 เหนือ) จ.ศ.1293(ตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2474) ได้ฤกษ์ปุณณดิถี จึงได้เริ่มลงมือขุดรากฐานวิหารวัดสวนดอกยาว 33 วา กว้าง 12 วา กับ 2 ศอก จำนวนเสา 56 ต้น และได้ปฏิสังขรณ์พระเจดีย์บูรณะกำแพงซุ้มประตูพร้อมกันไปด้วย ด้วยเดชะอำนาจบุญญาบารมีของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้ยิ่งด้วยศีล เมตตา สัจจะ อธิษฐาน และทานบารมี ก็เลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ จนมีศรัทธานักบุญทั้งหลายมาชื่นชมยินดีช่วยสละทรัพย์ตามศรัทธา ผู้ที่ไม่มีทรัพย์ก็สละแรงกายช่วยด้วยจิตอันเลื่อมใส มีสาธุชนหลั่งไหลมาจากทุกทั่วสารทิศ บางคนก็บริจาคทองคำช่วยทำยอดฉัตรเจดีย์ 9 ชั้น วันหนึ่งๆ มีผู้มาชื่นชมอนุโมทนาสาธุการ 6,000-7,000 คน การบูรณะวัดสวนดอกครานี้ นับว่าเป็นการบูรณะที่ยิ่งใหญ่เหลือวิสัยที่จะมีผู้ทำได้ครั้งหนึ่ง แต่ชะรอยท่านครูบาเจ้าศรีวิชัย เป็นนักบุญแห่งล้านนา สั่งสมบารมีมานับชาติไม่ถ้วน จึงได้ทำการปฏิสังขรณ์สำเร็จ ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ผู้มาร่วมอนุโมทนายิ่งนัก ครูบาเจ้าศรีวิชัยยังได้หล่อพระพุทธรูปเท่าองค์ครูบาด้วยทองเหลืองสององค์ ยืนสถิตบนแท่นแก้ว (บนฐานชุกชี) ในพระวิหาร รวมทุนทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์ทั้งหมดสิ้นจำนวน 65,406 รูปี ใช้เวลา 8 เดือน จึงเสร็จบริบูรณ์แล้วก็จัดการปรับแต่งบริเวณลานวัดให้สะอาด เป็นรมณียสถานร่มรื่น เมื่อเสร็จสิ้นการบูรณะวัดสวนดอก ครูบาเจ้าศรีวิชัยพร้อมด้วยนักศีลนักบุญ และศรัทธาทั้งหลายก็ฉลองอบรมสมโภชเป็นการมโหฬารใหญ่ยิ่ง




ที่มาของแหล่งข้อมูล http://www.watsuandok.com/about.php#about0