วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2553

หลวงปู่ฝากไว้ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ตอนที่ ๓



พระพุทธพจน์ 

หลวงปู่ว่า ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฐิ และเมื่อมีทิฐิแล้วยากที่จะเห็นตรงกัน เมื่อเห็นไม่ตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่ร่ำไป 

สำหรับพระอริยเจ้าผู้เข้าถึงธรรมแล้ว ก็ไม่มีอะไรสำหรับมาโต้แย้งกับใคร ใครจะมีทิฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป 

ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า 

“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่ามีอยู่ แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่ สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่วิวาทโต้เถียงกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา” 

............................................................................................. 

ผู้ไม่มีโทษทางวาจา 

เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ หลวงปู่กำลังอาพาธหนัก พักรักษาอยู่ที่ห้องพระราชทาน ตึกจงกลณี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลวงปู่สาม อกิญฺจโน เดินทางไปเยี่ยมหลวงปู่ถึงห้องพยาบาล 

ขณะนั้นหลวงปู่กำลังนอนพักผ่อนอยู่ เมื่อหลวงปู่สามขยับไปนั่งใกล้ชิดแล้วก็ยกมือไหว้ หลวงปู่ดูลย์ก็ยกมือรับไหว้ แล้วต่างองค์ก็นั่งอยู่เฉยตลอดระยะเวลานาน เมื่อสมควรแก่เวลาอย่างยิ่งแล้ว หลวงปู่สามประนมมืออีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับจำนรรจาว่า 

“กระผมกลับก่อน” 

หลวงปู่ดูลย์ว่า “อือ” 

ตลอดเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้ยินเพียงแค่นี้เอง 

เมื่อหลวงปู่สามกลับไปแล้ว อดที่จะถามไม่ได้ว่า หลวงปู่สามอุตส่าห์มานั่งตั้งนาน ทำไมหลวงปู่จึงไม่สนทนาพูดอะไรกับท่านบ้าง 

หลวงปู่ตอบว่า 

“ธุระมันหมดแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องพูดอะไร” 

............................................................................................. 

ขันติบารมี 

เท่าที่อยู่ใกล้ชิดกับหลวงปู่ตลอดเวลาอันยาวนาน ไม่เคยเห็นท่านแสดงอากัปกิริยาใดๆ ให้เห็นว่าท่านอึดอัดหรือรำคาญจนทนไม่ได้ถึงต้องบ่นอุบอิบอู้อี้กับกรณีใดๆ ทั้งสิ้น 

เช่น ไปเป็นประธานในงานสถานที่ใดๆ ไม่เคยเป็นเจ้ากี้เจ้าการ รื้อฟื้น หรือให้เขาจัดแจงดัดแปลงใหม่ หรือไปในสถานที่ที่เป็นกิจนิมนต์ แม้จะต้องนั่งนานหรืออากาศอบอ้าวอย่างไรก็ไม่เคยบ่น 

เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย หรือเวลาเผอิญอาหารมาไม่ตรงต่อเวลา แม้จะหิวกระหายแค่ไหน ก็ไม่เคยบ่นหรือสำออย หรือแม้รสชาติอาหารจะจืดจางอย่างไร ก็ไม่เคยเรียกหาเครื่องปรุงเพิ่มเติมอะไรเลย 

ตรงกันข้าม ถ้าเห็นพระเถระไหนชอบเป็นเจ้ากี้เจ้าการ ขี้บ่น หรือทำสำออยให้คนอื่นเอาใจ เป็นต้น หลวงปู่มักปรารภให้ฟังว่า 

“แค่นี้อดทนไม่ได้หรือ ถ้าแค่นี้อดทนไม่ได้ จะเอาชนะกิเลสตัณหาได้อย่างไร” 

............................................................................................. 

ไม่เบียดเบียนแม้ทางวาจา 

หลวงปู่กล่าววาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านกล่าวเฉพาะวาจาที่เป็นประโยชน์ และไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเดือดร้อนเพราะคำพูดของท่าน แม้จะมีผู้ใดมาพูดเป็นเหตุที่จะชวนให้ท่านวิพากษ์วิจารณ์ใครๆ ให้เขาฟังสักอย่าง ท่านก็ไม่เคยคล้อยตาม 

หลายครั้งที่มีผู้ถามท่านว่า 

“หลวงปู่ ทำไมพระนักพูดนักเผยแผ่ระดับประเทศบางองค์ เวลาพูดหรือเทศน์ชอบพูดโจมตีคนอื่น พูดเสียดสีสังคม หรือพูดกระทบกระแทกพระเถระด้วยกัน เป็นต้น พระพูดในลักษณะนี้จ้างผมก็ไม่นับถือดอก” 

หลวงปู่ว่า 

“ก็ท่านมีภูมิรู้ ภูมิธรรมอยู่อย่างนั้น ท่านก็พูดไปตามความรู้ความถนัดของท่านนั่นแหละ การจ้างให้นับถือไม่มีใครเขาจ้างหรอก เมื่อไม่อยากนับถือก็อย่าไปนับถือซิ ท่านคงไม่ว่าอะไรหรอก” 

............................................................................................. 

พระหลอกผี 

ส่วนมากหลวงปู่ชอบแนะนำส่งเสริมพระเณรให้ใสใจเรื่องธุดงคกัมมัฏฐานเป็นพิเศษ 

มีอยู่ครั้งหนึ่งพระสานุศิษย์มาชุมนุมกันจำนวนมาก ทั้งแก่พรรษาและอ่อนพรรษา หลวงปู่ชี้แนวทางว่า ให้พากันไปอยู่ป่าหาทางวิเวก หรืออยู่ตามเขาตามถ้ำ เพื่อเร่งความเพียร จะได้พ้นจากภาวะตกต่ำทางจิตบ้าง ก็มีพระรูปหนึ่งพูดออกมาพล่อยๆ ว่า 

“ผมไม่กล้าไปครับเพราะผมกลัวผีหลอก” 

หลวงปู่ตอบเร็วว่า 

“ผีที่ไหนเคยหลอกพระ มีแต่พระนั่นแหละหลอกผีและตั้งขบวนการหลอกผีเป็นการใหญ่เสียด้วย คิดดูให้ดีนะ วัตถุสิ่งของที่ชาวบ้านเขาเอามาบริจาคทำบุญนั้น แทบทั้งหมดล้วนทำเพื่ออุทิศส่งไปให้ผีทั้งนั้น ผีพ่อแม่ปู่ย่าตายายญาติพี่น้องเขา แล้วพระเราเล่า ประพฤติตนเหมาะสมแล้วหรือ มีคุณธรรมอะไรบ้าง ที่จะส่งผลให้ถึงผีได้ ระวังอย่ามาเป็นพระหลอกผี” 

...............................................................................................



ดีเหมือนกัน.....แต่ 

นักปฏิบัติที่ตื่นอาจารย์ ตื่นสำนักใหม่ๆ ในปัจจุบันนี้มีอยู่มาก นักนิยมหวยก็ตื่นอาจารย์บอกใบ้หวย นักนิยมความศักดิ์สิทธิ์ยังมีอยู่ฉันใด นักวิปัสสนาก็ย่อมตื่นอาจารย์วิปัสสนาฉันนั้น ดังนั้น กลุ่มชนเหล่านั้นจึงมีอยู่มิใช่น้อย เมื่อเขาชอบใจอาจารย์องค์ไหนเขาก็กล่าวยกย่ององค์นั้น ตลอดถึงชักชวนคนอื่นให้ช่วยนับถือหรือเห็นด้วยกับตน ยิ่งปัจจุบันนี้มีพระเทศน์ดังๆ มากที่อัดเทปขายเผยแพร่ได้อย่างมากมาย

มีอุบาสิกานักฟังผู้หนึ่งนำเทปนักเทศน์ดังไปถวายให้หลวงปู่ฟังหลายม้วน แต่หลวงปู่ไม่ได้ฟัง เพราะตั้งแต่ท่านเกิดมายังไม่เคยมีวิทยุ มีเทปกับเขาเลยแม้แต่ครั้งเดียว หรือสมมติว่าถ้ามี ท่านก็คงเปิดฟังไม่เป็น ต่อมามีผู้เอาเครื่องเทปไปเปิดให้หลวงปู่ฟังจบหลายม้วน แล้วถามท่านว่าฟังแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

หลวงปู่ว่า

“ดีเหมือนกัน สำนวนโวหารสละสลวยน่าฟัง ทั้งรวยด้วยคำพูด แต่หาสาระแก่นสารอะไรไม่ได้ การฟังแต่ละครั้งนั้น ควรให้ได้อรรถรสของ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จึงจะเป็นสาระแก่นสาร” 

.............................................................................................

นักปฏิบัติลังเลใจ 

ปัจจุบันนี้ ศาสนิกชนผู้สนใจในการปฏิบัติฝ่ายวิปัสสนามีความงงงวย สงสัยอย่างยิ่งในแนวทางปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้เริ่มต้นสนใจ เนื่องจากคณาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาแนะแนวปฏิบัติไม่ตรงกัน

ยิ่งกว่านั้นแทนที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจโดยความเป็นธรรม ก็กลับทำเหมือนไม่อยากจะยอมรับคณาจารย์อื่น สำนักอื่น ว่าเป็นการถูกต้อง หรือถึงขั้นดูหมิ่นสำนักอื่นไปแล้วก็เคยมีไม่น้อย ดังนั้น เมื่อมีผู้สงสัยทำนองนี้มากและเรียนถามหลวงปู่อยู่บ่อยๆ จึงได้ยินหลวงปู่อธิบายให้ฟังอยู่เสมอว่า

“การเริ่มต้นปฏิบัติวิปัสสนาภาวนานั้น จะเริ่มต้นโดยวิธีไหนก็ได้ เพราะผลมันเป็นอันเดียวกันอยู่แล้ว ที่ท่านสอนแนวปฏิบัติไว้หลายแนวนั้น เพราะจริตของคนไม่เหมือนกัน จึงต้องมีวัตถุ สี แสง และคำ สำหรับบริกรรม เช่น พุทโธ อรหัง เป็นต้น เพื่อหาจุดใดจุดหนึ่งให้จิตรวมกันอยู่ก่อน เมื่อจิตรวมสงบแล้ว คำบริกรรมนั้นก็หลุดหายไปเอง แล้วก็ถึงรอยเดียวกัน รสเดียวกัน คือมีวิมุติเป็นแก่น มีปัญญาเป็นยิ่ง” 

.............................................................................................

อยู่ ก็อยู่ให้เหนือ 

ผู้ที่เข้ามนัสการหลวงปู่ทุกคนและทุกครั้ง มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้หลวงปู่จะมีอายุใกล้ร้อยปีแล้วก็จริง แต่ดูผิวพรรณยังผ่องใส และสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี

แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดท่านตลอดมา ก็ยากที่จะเห็นท่านแสดงอาการหมองคล้ำ หรืออิดโรย หรือหน้านิ่วคิ้วขมวดออกมาให้เห็น ท่านมีปกติสงบเย็นเบิกบานอยู่เสมอ มีอาพาธน้อย มีอารมณ์ดี ไม่ตื่นเต้นตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เผลอคล้อยตามคำสรรเสริญ หรือคำตำหนิติเตียน

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านกลางพระเถระวิปัสสนาสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติกับหลวงปู่ ถึงปกติจิตที่อยู่เหนือความทุกข์ โดยลักษณาการอย่างไร

หลวงปู่ว่า

“การไม่กังวล การไม่ยึดถือ นั่นแหละคือวิหารธรรมของนักปฏิบัติ” 

.............................................................................................

ตื่นอาจารย์ 

นักปฏิบัติธรรมสมัยนี้มีสองประเภท ประเภทหนึ่งเมื่อได้รับข้อปฏิบัติหรือข้อแนะนำจากอาจารย์พอเข้าใจแนวทางแล้ว ก็ตั้งใจเพียรพยายามปฏิบัติไปจนสุดความสามารถ อีกประเภทหนึ่งทั้งที่มีอาจารย์แนะนำดีแล้ว ได้ข้อปฏิบัติถูกต้องดีแล้ว แต่ก็ไม่ตั้งใจทำอย่างจริงจัง มีความเพียรต่ำ ขณะเดียวกันก็ชอบเที่ยวแสวงหาอาจารย์ไปในสำนักต่างๆ ได้ยินว่าสำนักไหนดีก็ไปทุกแห่ง ซึ่งลักษณะนี้มีอยู่มากมาย

หลวงปู่เคยแนะนำลูกศิษย์ว่า

“การไปหลายสำนักหลายอาจารย์ การปฏิบัติจะไม่ได้ผล เพราะการเดินหลายสำนักนี้ คล้ายกับการเริ่มต้นปฏิบัติใหม่ไปเรื่อย เราก็ไม่ได้หลักธรรมที่แน่นอน บางทีก็เกิดความลังเล งวยงง จิตก็ไม่มั่นคง การปฏิบัติก็เสื่อมไม่เจริญคืบหน้าต่อไป” 

.............................................................................................

จับกับวาง 

นักศึกษาธรรมะหรือนักปฏิบัติธรรมะมีสองประเภท

ประเภทหนึ่ง ศึกษาปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง

ประเภทสอง ศึกษาปฏิบัติเพื่อจะอวดภูมิกัน ถกเถียงกันไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ใครจำตำราหรืออ้างครูบาอาจารย์ได้มาก ก็ถือว่าตนเป็นคนสำคัญ บางทีเข้าหาหลวงปู่ แทนที่จะถามธรรมะข้อปฏิบัติจากท่าน ก็กลับพ่นความรู้ความจำของตนให้ท่านฟังอย่างวิจิตรพิสดารก็เคยมีไม่น้อย

แต่สำหรับหลวงปู่นั้นทนฟังได้เสมอ เมื่อเขาจบลงแล้วยังช่วยต่อให้หน่อยหนึ่งว่า

“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์ ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน” 

................................................................................................



ทำจิตให้สงบได้ยาก 

การปฏิบัติภาวนาสมาธินั้น จะให้ได้ผลเร็วช้าเท่าเทียมกันเป็นไปไม่ได้ บางคนได้ผลเร็ว บางคนก็ช้าหรือยังไม่ได้ผลลิ้มรสแห่งความสงบเลยก็มี แต่ก็ไม่ควรท้อถอย ก็ชื่อว่าเป็นผู้ได้ประกอบความเพียรทางใจ ย่อมเป็นบุญเป็นกุศลขั้นสูงต่อจากการบริจาคทาน รักษาศีล

เคยมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมากเรียนถามหลวงปู่ว่า อุตส่าห์พยายามภาวนาสมาธินานมาแล้ว แต่จิตไม่เคยสงบเลย แส่ออกไปข้างนอกอยู่เรื่อย มีวิธีอื่นใดบ้างที่พอจะปฏิบัติได้

หลวงปู่เคยแนะนำวิธีอีกอย่างหนึ่งว่า

“ถึงจิตไม่สงบก็ไม่ควรให้มันออกไปไกล ใช้สติระลึกไปแต่ในกายนี้ ดูให้เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อสุภสัญญา หาสาระแก่นสารไม่ได้ เมื่อจิตมองเห็นชัดแล้ว จิตก็เกิดความสลดสังเวช เกิดนิพพิทา ความหน่ายคลายกำหนัด ย่อมตัดอุปทานขันธ์ได้เช่นเดียวกัน” 

.............................................................................................

หลักธรรมแท้ 

มีอยู่อย่างหนึ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมชอบพูดถึง คือชอบโจษขานกันว่า นั่งภาวนาแล้วเห็นอะไรบ้าง ปรากฏอะไรมาบ้าง หรือไม่ก็ว่าตนนั่งภาวนามานานแล้วไม่เคยเห็นปรากฏอะไรออกมาบ้างเลย หรือไม่บางคนก็ว่า ตนได้เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่เสมอ ทำให้บางคนเข้าใจผิดคิดว่า ภาวนาแล้วตนจะได้สิ่งที่ต้องการ เป็นต้น

หลวงปู่เคยเตือนว่า การปรารถนาเช่นนั้นผิดทั้งหมด เพราะการภาวนานั้นเพื่อให้เข้าถึงหลักธรรมที่แท้จริง

“หลักธรรมที่แท้จริงนั้น คือจิต ให้กำหนดดูจิต ให้เข้าใจจิตตัวเองให้ลึกซึ้ง เมื่อเข้าใจจิตตัวเองได้ลึกซึ้งแล้ว นั่นแหละได้แล้วซึ่งหลักธรรม” 

.............................................................................................

เตือนศิษย์ไม่ให้ประมาท 

เพื่อป้องกันความประมาทหรือมักง่ายต่อการประพฤติปฏิบัติของพระเณร หลวงปู่จึงสรรหาคำสอนตักเตือนไว้อย่างลึกซึ้งว่า

“คฤหัสถ์ชน ญาติโยมทั่วไป เขาประกอบอาชีพการงานด้วยความยากลำบาก เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุข้าวของเงินทอง มาเลี้ยงครอบครัวลูกหลานของตน แม้จะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอย่างไรเขาก็ต้องต่อสู้ ขณะเดียวกันเขาก็อยากได้บุญได้กุศลด้วย จึงพยายามเสียสละทำบุญ ลุกขึ้นแต่เช้า หุงหาอาหารอย่างดีคอยใส่บาตร ก่อนใส่เขายกอาหารขึ้นท่วมหัวแล้วตั้งจิตอธิษฐาน ครั้นใส่แล้วก็ถอยไปย่อตัวยกมือไหว้อีกครั้ง ที่เขาทำเช่นนั้นก็เพื่อต้องการบุญต้องการกุศลจากเรานั่นเอง แล้วเราเล่า มีบุญกุศลอะไรบ้างที่จะให้เขา ได้ประพฤติตนให้สมควรที่จะรับเอาของเขามากินแล้วหรือ” 

.............................................................................................

หนักๆ ก็มีบ้าง 

พระอาจารย์สำเร็จ บวชมาแต่วัยเด็กจนอายุใกล้หกสิบปีแล้ว เป็นพระฝ่ายวิปัสสนา ปฏิบัติเคร่งครัด ชื่อเสียงดี มีคนเคารพนับถือมาก แต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด จิตใจเสื่อมลง เนื่องจากไปหลงรักลูกสาวของโยมอุปัฏฐาก ถึงขั้นมาขอลาหลวงปู่สึกไปแต่งงาน

ทุกคนตกตะลึกกับข่าวนี้มาก ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ เพราะปฏิปทาของท่านเป็นที่ยอมรับว่าจะต้องอยู่สมณวิสัยจนตลอดชีวิต หากเป็นเช่นนั้นไป ก็จะเป็นการเสื่อมเสียแก่วงการฝ่ายวิปัสสนาอย่างยิ่ง พระเถระคณะสงฆ์และสานุศิษย์ของท่านจึงช่วยกันป้องกันทุกวิถีทางเพื่อให้ท่านเปลี่ยนใจที่จะคิดสึกเสีย โดยเฉพาะหลวงปู่ เรียกมาตักเตือนแก้ไขอย่างไรก็ไม่สำเร็จ สุดท้ายอาจารย์สำเร็จกล่าวต่อหลวงปู่ว่า กระผมอยู่ไม่ได้เพราะนั่งภาวนาทีไร เห็นใบหน้าเขามาล่องลอยปรากฏต่อหน้าอยู่ตลอดเวลา

หลวงปู่ตอบเสียงดังว่า

“ก็ไม่ภาวนาดูจิตของตัวเอง ไปภาวนาดูก้นของเขา มันก็เห็นแต่ก้นเขาอยู่ร่ำไปนั่นแหละ ไป อยากไปไหนก็ไปตามสบาย ไปเถอะ” 

.............................................................................................

มีปกติไม่แวะเกี่ยว 

อยู่รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่เป็นเวลานานสามสิบกว่าปี จนถึงวาระสุดท้ายของท่านนั้น เห็นว่าหลวงปู่มีปฏิปทาตรงต่อพระธรรมวินัย ตรงต่อการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์อย่างเดียว ไม่แวะเกี่ยวกับวิชาอาคมของศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งชวนสงสัยอะไรเลยแม้แต่น้อย

เช่น มีคนขอให้ไปเป่าหัวให้ ก็ถามว่าเป่าทำไม มีคนขอให้เจิมรถ ก็ถามเขาว่าเจิมทำไม มีคนขอให้บอกวันเดือนหรือฤกษ์ดี ก็บอกว่าวันไหนก็ดีทั้งนั้น หรือเมื่อท่านเคี้ยวหมาก มีคนขอชานหมาก

หลวงปู่ว่า

“เอาไปทำไม ของสกปรก

...........................................................................................