วันอาทิตย์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2553

กำเนิดวัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ลานปฐมานุสรณ์ วัดหนองป่าพง บริเวณป่ามะม่วง
ที่หลวงปู่ชาปักกลดในวันแรกแรกเมื่อเข้าไปในดงป่าพง


        วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๗ (ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง) ตะวันสายบ่ายคล้อยแล้ว เมื่อหลวงพ่อพาคณะเดินทางมาถึงชายป่าดงดิบอันหนาทึบ ที่ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า ดงหนองป่าพง ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านก่อ บ้านเกิดของหลวงพ่อประมาณ ๒-๓ กิโลเมตร ป่าแห่งนี้แหละเป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิตธุดงค์ของหลวงพ่อ และในเวลาต่อมา กลายเป็นวัดกรรมฐานที่มีชื่อเสียงกว้างไกลออกไป ทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่วันนั้นดงป่าพงยังรกชัฏและวังเวง คณะธุดงค์ไปปักกลดที่ราวป่า ท่ามกลางเสียงต้อนรับเซ็งแซ่ของจั๊กจั่นเรไร คืนนั้นขณะที่นั่งภาวนาในราวป่าใหญ่แห่งนี้ หลวงพ่อคงตระหนักว่า ชีวิตของท่านกำลังจะเริ่มต้นฉากใหม่ แท้ที่จริงแล้ว ป่าดงแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ สำหรับหลวงพ่อมานานแล้วทีเดียว

      “สมัยที่อาตมาเป็นเด็ก ได้ยินโยมพ่อเล่าให้ฟังว่า ท่านอาจารย์เสาร์ก็เคยมาพักอยู่ที่นี่ โยมพ่อเคยได้มาฟังธรรมกับท่าน อาตมาเป็นเด็ก ๆ ยังจำได้ ความจำเช่นนี้แหละ มันติดในใจตลอดเวลา นึกอยู่เสมอ ๆ เลย เพราะว่าบ้านนี้มันเป็นบ้านร้าง ดูต้นมะม่วงใหญ่ ๆ ของเก่าแก่ทั้งนั้น
       โยมพ่อเคยเล่าให้ฟังว่า มากราบพระกรรมฐาน มาดูท่านฉันจังหัน ก็เอาอาหารอะไรรวมลงในบาตรทั้งนั้นแหละ ข้าวก็รวมลงในบาตร แกงก็รวมใส่ในบาตร หวานคาวใส่ในบาตรหมด โยมพ่อหม่เคยเห็น เอ๊ะ! นี่พระอะไร เคยเล่าให้อาตมาฟังตอนเป็นเด็ก ท่านเรียกว่าพระกรรมฐาน เทศน์ก็ไม่เหมือนพระธรรมดาเรา อยากจะได้ฟังเทศน์ก็ไม่ได้ฟัง มีแต่พูดไปโป้ง ๆ เท่านั้น ก็เลยไม่ได้ฟังเทศน์กัน ได้ฟังแต่คำพูดท่าน อันนั้นคือพระปฏิบัติที่มาอาศัยอยู่นี้ ครั้นเมื่อได้ออกมาประพฤติปฏิบัติเองแล้ว ความรู้สึกอันนี้มันมีอยู่ในใจตลอดเวลา เมื่อหันหน้าเข้ามาทางบ้านก็นึกถึงป่านี้ไม่ได้ขาด เมื่อธุดงค์ไปพอสมควรแล้วก็ได้กลับมาอยู่ ณ ที่นี้

      ระยะหนึ่งพระอาจารย์ดี จากอำเภอพิบูลมังสาหาร กับท่านเจ้าคุณชินฯ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) เขานิมนต์มาอยู่ที่นี่ อยากจะอยู่ที่นี่เหมือนกัน แต่ท่านว่าท่านอยู่ไม่ได้ ท่านอาจารย์ดีบอกว่าที่นี่ไม่ใช่ของท่าน ท่านเจ้าคุณชินฯ ก็ยังพูดเสมอ ที่นี่เราอยู่ไม่ได้ ไม่ใช่ที่อยู่ของเรา เจ้าของที่ที่นี่ ไม่นานเดี๋ยวท่านก็มาของท่าน”

      เช้าวันรุ่งขึ้น คณะธุดงค์ได้เข้าสำรวจสถานที่ซึ่งรกทึบมาก จนแทบหาที่วางบริขารไม่ได้ ชาวบ้านที่มาต้อนรับ ได้จัดที่พักชั่วคราวที่บริเวณต้นมะม่วงใหญ่ (ด้านทิศใต้ของโบสถ์ปัจจุบัน) ต่อมาเมื่อพิจารณาเห็นสมควร และตกลงจัดตั้งสำนักสงฆ์ ณ ที่นั้น จึงได้เริ่มการปลูกสร้างเสนาสนะขึ้นด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยมชาวบ้านก่อและบ้านกลาง ได้กุฏิเล็ก ๆ ๓-๔ หลัง มุงด้วยหญ้าคา พื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝากั้นด้วยใบตองชาดและต้นเลาต้นแขม ต่อมาได้ขุดบ่อน้ำ และใช้ดินที่ขุดขึ้นมานั้นถมพื้น สร้างศาลาหลังเล็ก ๆ ศาลาหลังนี้ได้อาศัยเป็นที่ประชุมสงฆ์ต่อมาอีกหลายปี หลวงพ่อเล่าถึงสภาพของวัดหนองป่าพง ในสมัยเริ่มก่อตั้งนั้น ให้ญาติโยมฟังว่า


      “วัดป่าพงสมัยก่อนนี้ลำบากมาก ที่แห่งนี้เป็นดงใหญ่ เป็นที่อยู่ของพวกช้างพวกเสือต่าง ๆ มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งสำหรับสัตว์ป่าทั้งหลายอาศัยกิน อาตมามาอยู่ที่นี่ทีแรกไม่มีอะไรทั้งนั้น มีแต่ป่า ถนนหนทางอะไรอย่าไปพูดถึง การไปมาลำบากมาก ที่ของพวกชาวนาก็อยู่ไกลเขาไม่กล้าเข้ามาใกล้ป่านี้ เขาถือว่าเจ้าที่ที่นี่แรงมาก คือ แต่ก่อนเจ้าที่เป็นนายโขลงช้าง พาลูกน้องไปคล้องช้างมาขาย ผ่านไปผ่านมาอยู่แถบนี้เสมอ และในที่สุดจึงตั้งหลักฐานอยู่ที่นี่ รักษาดงแห่งนี้ไว้ ป่าจึงพอมีเหลือจนอาตมาได้มาอาศัย ถ้าไม่อย่างนั้นป่าไม้หมดไปนานแล้ว เคยมีชาวบ้านผึ้ง บ้านบก เข้ามาจับจอง ถากถาง ทำไร่ทำนากัน แต่ก็ต้องมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา พวกที่เข้ามาตัดไม้ตัดฟืนในป่านี้ ก็มักจะมีเหตุให้ล้มตายกัน มันแกวมันสำปะหลังที่ขึ้นเองก็มีอย่มาก แต่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง พออาตมามาอยู่แล้วจึงมีคนมาทำนาอยู่ใกล้ๆ”

บุพนิมิตร
หลังจากที่หลวงพ่อและคณะพำนักอยู่ที่ดงป่าพงได้ ๑๐ วัน ถึงวันเพ็ญเดือน ๔ ปีมะเส็ง เวลาประมาณทุ่มกว่า ๆ มีญาติโยมมาฟังธรรมสักสิบกว่าคน หลวงพ่อได้เตือนทุกคนล่วงหน้า ให้อยู่ในความสงบ มีอะไรเกิดขึ้นก็อย่าตกใจ อย่าส่งเสียง เมื่อหลวงพ่อแสดงธรรมไปสักครู่ บังเกิดดวงไฟสว่างคล้ายกับดาวหาง ปรากฏขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วลอยลับตาไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แสงนั้นสว่างเจิดจ้าดุจกลางวัน ราวกับจะเป็นบุพนิมิตอันงดงาม และเป็นมงคลยิ่งของวัดหนองป่าพง แต่ตัวหลวงพ่อท่านไม่ได้สำคัญมั่นหมายอะไร คงแสดงธรรมไปเรื่อย ๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ญาติโยมทุกคนก็พากันนั่งเงียบ แม้ว่าจะเต็มไปด้วยความสงสัยและประหลาดใจก็ไม่มีใครกล้าจะพูดอะไรออกมา หลวงพ่อไม่ยอมเอ่ยถึงเรื่องนี้อีก และนี่ก็เป็นนโยบายในการอบอรมชาวบ้านของท่านตลอดมาว่า แม้สิ่งอัศจรรย์ก็เป็นสักแต่ว่าสิ่งธรรมดานั่นเอง อย่าพึงตื่นเต้นกับมันเลย

    อย่างไรก็ตาม รุ่งเช้าหลวงพ่อพาญาติโยมออกไปปักเขตวัด โดยอาศัยที่ขึ้นและดับของแสงสว่างนั้นเป็นประมาณ ท่านได้กะที่ไว้ประมาณ ๑๘๗ ไร่ แล้วต่อมาให้ตัดทางรอบ แต่เหตุการณ์เกี่ยวกับแสงสว่างยังมีต่อ แม่น้อยอุบาสิกาคนหนึ่ง ซึ่งได้ฟังเทศน์ของหลวงพ่อในตอนค่ำวันนั้นด้วยได้เล่าเหตุการณ์เพิ่มเติมให้ฟังว่า
    “สมัยก่อนถนนหนทางยังไม่สะดวกสบายเหมือนทุกวันนี้ พวกดิฉันซึ่งอยู่บ้านก่อ ต้องการจะมาฟังเทศน์ในเย็นวันนั้น ต้องเดินตามทางเล็ก ๆ ผ่านป่าละเมาะ บางช่วงก็หนาทึบไปด้วยหญ้าคา เราพากันหลงทางตรงบริเวณหนองงูเหลือม ทั้งที่มากันหลายคน รวมทั้งพ่อวันและพ่อพุฒด้วย กำลังปรึกษากันเพื่อหาทางเดินเข้าไปให้ถึงตรงที่ท่านพักให้ได้ พอดีมองไปเห็นแสงส่างส่องอยู่ที่ปลายยอดมะม่วง จึงได้พากันเดินบุกป่าซึ่งเต็มไปด้วยหญ้าคาและเถาวัลย์เล็ก ๆ เกี่ยวพันต้นไม้รุงรังไปหมด เดินไปก็เอาแสงสว่างนั้นเป็นจุดหมาย ต่างก็คิดว่ามีผู้มาจุดตะเกียงเจ้าพายุไว้ทำให้พวกเราหายเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ด้วยคิดว่าหลวงพ่อท่านเมตตา ช่วยให้พวกเราซึ่งกำลังเดินหลงทาง เข้าไปถึงที่บำเพ็ญภาวนาได้ถูก แต่พอเดินมาถึงก็ไม่เห็นมีแสงไฟอะไรที่ไหน ก็เลยเกิดความแปลกใจไปตาม ๆ กัน”


ชื่อวัด



 ชื่อ “วัดหนองป่าพง” นี้ เป็นชื่อที่หลวงพ่อคิดตั้งขึ้นเอง โดยอาศัยสภาพภูมิประเทศเป็นหลัก เนื่องจากป่านี้มีหนองน้ำ และมีต้นหญ้าพงขึ้นอยู่เต็มไปหมด แต่ชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากก็คือ “วัดป่าพง”

อดมาก่อน.............
การที่หลวงพ่อรับคำอาราธนานิมนต์มาตั้งวัดนั้น เหตุผลสำคัญข้อหนึ่งก็คือ เพื่อตอบแทนพระคุณโยมมารดานั่นเอง ดังนั้น หลังจากมาอยู่ดงหนองป่าพงได้ไม่นาน ท่านก็ได้อนุเคราะห์ให้แม่พิมพ์ ช่วงโชติ โยมมารดาของท่าน ได้บวชเป็นแม่ชีรูปแรกของวัดหนองป่าพง และมีเพื่อนของแม่พิมพ์อีก ๓ คนตามมาบวชด้วย ฉะนั้น ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ จำนวนนักบวชที่จำพรรษาจึงมีด้วยกันทั้งหมด ๙ รูป ประกอบด้วยพระ ๔ รูป สามเณร ๑ รูป และแม่ชีอีก ๔ รูป ในระยะ ๑๐ ปีแรก จำนวนพระเณรในวัดค่อนข้างคงที่ประมาณ ๑๕-๒๐ รูป แต่จำนวนแม่ชีเพิ่มขึ้นทุกปี ปีละ ๒-๓ รูปจนถึง พ.ศ.๒๕๐๗ มีแม่ชีทั้งหมดกว่า ๒๐ รูป

    วัดหนองป่าพง ในระยะเริ่มแรก ก่อร่างสร้างตัวมาด้วยความอดอยากขาดแคลน เพราะอยู่ในที่กันดารห่างไกลความเจริญ ญาติโยมที่อยู่ใกล้ ๆ วัด ก็มีฐานะยากจน หากินพอเลี้ยงตัวไปวัน ๆ และชาวบ้านยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับพระธุดงค์กรรมฐานเท่าไรนัก บางคนแถบมองท่านด้วยความกลัวหรือความระแวง ผู้คนที่จะไปมาหาสู่ที่วัดมีน้อย เพราะการคมนาคมยังไม่สะดวก ประกอบกับในสมัยนั้น ชื่อเสียงเกียรติคุณของหลวงพ่อยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

    ดังนั้น ปัจจัยสี่ที่ได้จากแหล่งภายนอกจึงแทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่ได้อาศัยจากธรรมชาติ เครื่องอำนวยความสะดวกทั้งหลาย เช่น ไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึง แม้ไฟฉายก็ไม่มี เทียนไขและไม้ขีดไฟก็ยังหายาก น้ำดื่ม น้ำใช้ตักจากบ่อแล้วก็หามไปใส่ตุ่มตามที่ต่าง ๆ น้ำปานะ ถ้ามี ก็เป็นน้ำบอระเพ็ดเท่านั้นเอง ความเป็นอยู่ของพระเณรวัดหนองป่าพงในสมัยนั้น จึงค่อนข้างอัตคัตฝืดเคือง การใช้สอยปัจจัยแต่ละอย่างต้องประหยัดกันมาก หลวงพ่อเล่าว่า

    “มาอยู่ทีแรกนั้น รองเท้าจะใส่ก็ไม่มี ไม้ขีดไฟก็ไม่มี มีแต่ไม้ขีดหินโป๊ก เอานุ่นมายัดใส่กระบอกไม้ไผ่ ปล่อยปลายไว้ข้างหนึ่ง ใช้เปลือกมะนาวปิดไว้แทนฝา ใช้หินต่อยกันให้เกิดประกายไฟแตกกระจายออกมา เพื่อให้ไฟติดลุกไหม้นุ่นที่ยัดในกระบอกไม้ไผ่ (คล้าย ๆ ไฟแช็คในสมัยนี้) สำหรับใช้ประโยชน์ในสมัยนั้น ลงจากกุฏิตอนกลางคืนมืดตึ๊ดตื๋อ พนมมือยกขึ้นเหนือหัว สาธุ! ด้วยอำนาจแห่งคุณพระพุทธ ด้วยอำนาจแห่งคุณพระธรรม และคุณพระสงฆ์

 สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
 สัพเพ สัตตา อะเวรา โหนตุ
 สัพเพ สัตตา อัพยาปัชฌา โหนตุ

 ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นสุข ๆ ทุกตัวตนเถิด อย่าเข้ามาใกล้นะ เวลากลางคืนมันมืดอย่างนี้ มองไม่เห็นอะไร ไม่มีไฟส่อง เดี๋ยวเหยียบเอาจริง ๆ นะ แล้วเดินจงกรมไปฉึบ ๆ เดินฉับ ๆ ๆ เหงียบงู่บ่อย ๆ เหมือนกัน แต่ไม่เคยกัดสักที งูกะปะมีเยอะ”


จีวร-เสนาสนะ 
 นับตั้งแต่เครื่องนุ่งห่ม คือ สบง จีวร สังฆาฏิ เมื่อขาดก็ต้องปะ ต้องชุนจนกระทั่งเก่าคร่ำคร่าจริง ๆ จึงจะขอโอกาสตัดเย็บผืนใหม่ได้ เพราะผ้าขาวก็หายากมาก พระอาจารย์เที่ยงลูกศิษย์รุ่นเก่าแก่ของหลวงพ่อ ตั้งแต่สมัยที่ท่านอยู่ที่อำเภอเลิงนกทา ซึ่งได้ติดตามมาอยู่ด้วยเมื่อหลวงพ่อตั้งวัดหนองป่าพง ได้เล่าถึงความลำบากแต่หนหลังให้ฟังดังนี้

    “ตัดผ้า เย็บผ้า ท่านรักษาของท่านมาหลายปี ไม่ใช่น้อย ๆ ผมอยู่ด้วยก็ช่วยรับภาระเหล่านี้ให้ท่าน เมื่อก่อนเย็บด้วยมืออยู่ ๓-๔ ปี เย็บผ้าให้พระเณรนุ่งด้วยมือตัวเอง บางวันก็ให้พระเณรมาช่วยกันเย็บ ตัดแล้วก็เย็บ แล้วก็เอาไปย้อนด้วยแก่นขนุน กว่าจะได้ กว่าจะย้อมเสร็จเป็นเดือน ๆ คนละชุด คนละตัว ๒ ตัวไม่ใช่ทำง่าย ๆ เหมือนต้มน้ำร้อน ชงน้ำชากาแฟ ต้องต้มเคี่ยวจนสีเป็นยาง ผ้าก็ต้องแสวงหาผ้าขาว ต้องตัดต้องเย็บทุกอย่าง ถลกบาตรก็ต้องถักเอง ลำบาก ถ้ามีพระมาก ๆ อย่างทุกวันนี้ คงไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน นั่นแหละมันก็ลำบากอยู่ แต่ท่านก็ทำของท่านมาได้ เสนาสนะก็อาศัยอยู่ตามดินเป็นส่วนมาก กุฏิวิหารมุงด้วยหญ้าคา ไม้ซีก ไม้หมาก หญ้าแขม หญ้าเลา ตัดมาขัด ๆ กันเข้า ทำกระต๊อบอยู่ กรรมฐานสมัยก่อนทำอย่างนั้น...”

 พระครูบรรพตรกิจ (หลวงพ่อจันทร์ อินฺทวีโร) ซึ่งได้เข้ามาสู่สำนักวัดหนองป่าพงในสมัยรุ่นแรก ๆ ได้เล่าเพิ่มเติมว่า


 “ตอนผมเข้ามาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ นั้น มีจักรเย็บผ้าเก่า ๆ อยู่แล้วคันหนึ่ง แต่ผมก็ยังได้หัดเย็บจีวรด้วยมือเหมือนกัน ต่อมาโยมตา (นางตา กัญญาบัตร) น้องสาวของหลวงพ่อก็เอาจักรมาถวายอีกคันหนึ่ง จึงค่อยสะดวกขึ้นหน่อย...”





การบิณฑบาตร
อาหารบิณฑบาตนั้นฝืดเคืองจริง ๆ ส่วนมากมีแต่ข้าวเหนียวเปล่า ๆ นาน ๆ ถึงจะมีผลไม้ที่หาได้ง่ายตามท้องถิ่น เช่น กล้วย คนอีสานส่วนมากโดยเฉพาะในชนบท เวลาใส่บาตรไม่ค่อยใส่กับข้าว เพราะนิยมเอาไปถวายที่วัดต่างหาก แต่เมื่อวัดอยู่ห่างไกล และไม่สามารถไปจังหันได้ ก็ไม่คิดเปลี่ยนประเพณี พระวัดป่าจึงต้องอด


    ดังนั้นเวลาไปบิณฑบาตตามหมู่บ้าน ขากลับสามเณวัดหนองป่าพงในสมัยนั้น ต้องเด็ดยอดกระถิ่น ยอดเสม็ดข้างทางติดมือมาด้วย เอามาจิ้มน้ำพริก แม่ชีบุญยู้ พิมพ์วงศ์ หัวหน้าสำนักแม่ชีวัดหนองป่าพง ได้เล่าถึงวิธีที่หลวงพ่อจัดสรรอาหารบิณฑบาต ในยุคที่ฝืดเคืองให้ฟัง ดังนี้

    “...อาหารเมื่อเหลือจากพระ ก็เอามาแบ่งชีต่อไป ตามมีตามได้ ได้เท่าไรเราก็ฉันเท่านั้น ถ้าท่านไม่ได้เราก็ไม่ได้ฉัน ไม่ยอมไปเอาอาหารจากที่อื่น บางครั้งพระรับนิมนต์ไปฉันในหมู่บ้านเกือบหมด เหลือพระ ๒-๓ รูปออกบิณฑบาต แม่ชีราว ๑๐ รูป แบ่งอาหารกันแล้วได้ข้าวเปล่าเท่าลูกมะนาว เราก็ฉันเท่านั้น กับข้าวไม่มี ฉันข้าวเปล่า ๆ ก็เคยมาแล้ว ท่านไปบิณฑบาตได้กล้วยมา ๓ ลูก ท่านก็เอามาตัดเป็นแว่นเล็ก ๆ แจกพระ ที่เหลือก็เอามาให้ชี กล้วย ๓ ลูก ฉันกันทั้งวัด หมอพอดี”

    อย่างไรก็ตาม แม้จะฉันแค่ข้าวเหนียวกับน้ำพริก คนละนิดคนละหน่อยเพียงติดปลายช้อน แต่ยามยากอาหารเพียงเท่านั้นก็มีรสชาดเหลือหลาย พระครูบรรพตวรกิจเล่าความหลังให้ฟังอย่างขัน ๆ ว่า “ระหว่างที่ฉัน หลวงพ่อท่านมองมาที่ผมแล้วก็อมยิ้ม เอ่ยว่า อีกหน่อยเถอะ ท่านจันทร์ ให้มันถึงหัวไส้หัวพุง มันละก็ จะยิ่งอร่อยกว่านี้...”

 หลวงพ่อปรารภถึงสมัยนั้นว่า
    “เรื่องอาหารการกิน เรื่องการขบฉันนี่ ไม่ได้คิดปรุงแต่งหาอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ให้ยากเสียเวลา คิดแต่เพียงว่ามีข้าวก็พอแล้ว สำหรับผู้มีศรัทธามาอยู่ปฏิบัติ เช่น ท่านอาจารย์จันทร์ อาจารย์เที่ยง อาจารย์สีนวล และใครต่อใครอีกล่ะที่อยู่ที่นี่ พอตอนเย็นสั่งว่าให้ต้มน้ำร้อนนะวันนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรหรอก ไม่มีน้ำตาล โกโก้ กาแฟอะไรหรอก ต้มบอระเพ็ดนั่นแหละแจกกันฉัน ฉันแล้วเงียบ ไม่มีใครบ่นว่าขม เพราะมันไม่มีก็ฉันกันไปอย่างนั้น มีครั้งหนึ่งอาจารย์เที่ยงไปอยุธยาได้กาแฟใส่ย่ามมาด้วย ได้แต่กาแฟอย่างเดียวน้ำตาลไม่มี เลยต้องต้มกาแฟโดยไม่ต้องใส่น้ำตาลแจกกันฉัน เงียบตามเคย ไม่มีใครปริปากบ่นว่าอย่างไร มีกาแฟก็ฉันแต่กาแฟนั่นแหละ มีน้ำตาลถึงค่อยฉันน้ำตาลตามไปทีหลัง จะเป็นไรไปล่ะ ฉันกันไปเงียบ ๆ ไม่เห็นเป็นอะไรนี่”

    ในสมัยต่อมา เมื่อประชาชนเกิดศรัทธาในวัดหนองป่าพงแล้ว อาหารการขบฉันบริบูรณ์ หลวงพ่อมักยกเรื่องราวความเป็นอยู่ ที่ขาดแคลนในสมัยแรก ๆ มาเป็นเครื่องเตือนสติพระภิกษุสามเณรไม่ให้หลงมัวเมาฟุ้งเฟ้อไปกับปัจจัยเครื่องอยู่ เครื่องอาศัยที่สะดวกสบาย

    “การที่ได้ฉันทุกวัน ถึงจะเป็นข้าวเปล่า ๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ฉันอะไรเลย เวลาฉันข้าวเปล่า ๆ ทำให้นึกถึงสุนัข สุนัขของชาวบ้านในถิ่นกันดาร เจ้าของให้มันกินข้าววันละปั้นเล็ก ๆ เท่านั้น ไม่มีกับอะไร มีแต่ข้าวเปล่า ๆ เท่านั้นมันยังไม่ตาย ยังอยู่ได้สบาย แถมยังเป็นสุนัขที่ขยันด้วย พอมีเสียงอะไรดังกรอบแกรมก็เห่าทันที ตื่นเร็ว เวลาเจ้าของพาไปไล่เนื้อก็วิ่งเร็วด้วย เพราะมันผอม แต่ถ้าสุนัขตัวไหนที่เจ้าของเลี้ยงดูอย่างดี สุนัขตัวนั้นจะขี้เกียจ มีอะไรมาใกล้ก็ไม่ยอมเห่า มีแต่นอนท่าเดียว แม้มีคนเดินมาใกล้จวนจะเหยียบหัวเอาก็ยังไม่ตื่น”