เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายในทางผู้มีฤทธิ์
เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะที่นางมีผิวพรรณเหมือนกลีบดอกอุบลเขียว
เพราะสวยบาดใจจึงให้บวช
เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว นอกจากจะมีผิวงามแล้วรูปร่างลักษณะยังงดงามสุดที่จะหาหญิงอื่นทัดเทียมได้ จึงเป็นที่หมายปองต้องการของพระราชาและมหาเศรษฐีทั่งทั้งชมพูทวีป ซึ่งต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการอันมีค่าไปมอบให้ พร้อมกับสู่ขอเพื่ออภิเษกสมรสด้วย
ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาของนางรู้สึกลำบากใจด้วยคิดว่า “เราไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจของคนทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราควรจะหาอุบายทางออกสักอย่างหนึ่ง” แล้วจึงเรียกลูกสาวมาถามว่า
“แม่อุบลวรรณา เจ้าจะสามารถบวชได้ไหม ? ”
นางได้ฟังคำของบิดาแล้วรู้สึกร้อนทั่วสรรพางค์กาย เหมือนกับมีคนนำเอาน้ำมันที่เคี่ยวให้เดือด ๑๐๐ ครั้ง ราดลงบนศีรษะของนาง ด้วยว่านางได้สั่งสมบุญบารมีมาแต่อดีตชาติ และการเกิดในชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้ายของนาง ดังนั้น นางจึงรับคำของบิดาด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เศรษฐีผู้บิดาจึงพานางไปยังสำนักของภิกษุณีสงฆ์ แล้วให้บวชเป็นที่เรียบร้อย
เมื่อนางอุบลวรรณาบวชได้ไม่นาน ก็ถึงวาระที่จะต้องไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เธอได้จุดประทีปเพื่อขจัดความมืด แล้วกวาดโรงอุโบสถ นางเห็นเปลวไฟที่ดวงประทีปแล้วยึดเอาเป็นนิมิต ขณะที่กำลังยืนอยู่นั้นได้เข้าฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกระทำฌานนั้นให้เป็นฐานเจริญวิปัสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาทั้งหลาย ณ ที่นั้นเอง
เมื่อพระเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ แล้วกลับมาพักที่ป่าอันธวัน สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุณีอยู่ในป่าเพียงลำพัง ประชาชนได้ช่วยกันปลูกกระท่อมไว้ในป่าพร้อมทั้งตั่งกั้นม่าน แล้วถวายเป็นที่พักแก่พระเถรี
บวชแล้วยังถูกข่มขืน
ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุงของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนางตั้งแต่ยังไม่บวช เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวันใกล้เมืองสาวัตถี จึงได้ถือโอกาสขณะที่พระเถรีไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้เข้าไปในกระท่อมหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง เมื่อพระเถรีกลับมาแล้ว เข้าไปในกระท่อมปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตายังไม่ปรับเข้ากับความมืดในกระท่อม นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียง ตรงเข้าเข้าปลุกปล้ำข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรีจะร้องห้ามว่า
“เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย ”
นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรีสมปรารถนาแล้วก็หลีกหนีไป พอเขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการประหนึ่งว่า ไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักของเขาเอาไว้ได้ จึงได้อ่อนตัวยุบลงแล้วนันทมาณพก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก
ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับตนนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้นเรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภิตว่า
“คนพาล ย่อมร่าเริงยินดีในบาปกรรมลามกที่ตนได้กระทำ ประดุจว่าดื่มน้ำผึ้งที่มีรสหวาน จนกว่าบาปนั้นจะให้ผล จึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น”
พระขีณาสพเหมือนไม้แห้งไม้ผุ
เมื่อกาลเวลาผ่านไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระอุบลวรรณาเถรีว่า
“ท่านทั้งหลาย เห็นพระขีณาสพทั้งหลาย คงยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังพอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้งเนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่า ยังยินดีในการเสพกาม”
พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถาม ทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้วจึงตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกาม เปรียบเสมือนหยาดน้ำตกลงบนใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกไป และเหมือนกับเมล็ดพันธ์ผักกาด ย่อมไม่ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมทราบ ไม่ติดอยู่ในใจของพระขีณาสพ ฉันนั้น”
ห้ามภิกษุณีอยู่ป่า
ต่อมา พระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดาผู้เข้ามาบวช แล้วพักอาศัยอยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาลลามกเบียดเบียนประทุษร้าย ทำให้อันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าประเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริแล้ว ขอให้สร้างที่อยู่ที่อาศัยเพื่อนางภิกษุณีสงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้านเมืองเท่านั้น
พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในวันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปฏิหาริย์นั้น พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้กับเดียรถีย์แทนพระองค์ด้วย และทรงอาศัยเหตุนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณาเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย