วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีวอก)




พระธาตุประจำปีเกิด (ปีวอก)

คนปีวอก(ลิง)เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรค การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่นควรหาเวลาหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีวอก(ลิง)ต้องไปบูชา พระธาตุพนม ที่จังหวัดนครพนม ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆในชีวิตของท่านจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลและมีอายุยืน ที่สำคัญการที่ท่านได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่า ได้อานิสงส์มาก

และที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษก็คือ ตามเกณฑ์ชะตาคนที่เกิดปีวอก(ลิง)ปีใดที่มีอายุลงท้ายด้วย ๒,๕,๖และ ๗ เป็นช่วงชีวิตที่มีโฉลกดี ให้ทำบุญใหญ่ปล่อยวัวควาย การงานหรือธุรกิจที่มีอยู่จะเจริญรุ่งเรือง มีลาภทานไปตลอดอายุช่วงที่ลงท้ายนั้นทุกประการ

พระธาตุพนม ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุพนม (เลขที่ ๑๘๓ ตำบลธาตุพนม อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม) มีประวัติความเป็นมาย้อนไปถึง พ.ศ. ๘ องค์พระเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุส่วนพระอุรังคธาตุ(กระดูกหน้าอก) ๘องค์ ภายหลังมีผอบบรรจุพระธาตุอีก ๒ ผอบ ผอบหนึ่งบรรจุ ๒๑๕ องค์ อีกผอบหนึ่งบรรจุ ๓๐ องค์ (บางแห่งบอกว่ามีทั้งหมด ๒๕๓ องค์) เจดีย์สูง ๕๒ เมตร (องค์เดิมก่อนซ่อมสูง ๔๓ เมตร)ตั้งอยู่บนภูกำพร้า ยอดฉัตรทองคำหนัก ๑๐ กิโลกรัม ทองประดับยอดเจดีย์หนักรวม ๑๑๐ กิโลกรัม

งานฉลองประจำปีของพระธาตุพนม เริ่มตั้งแต่ ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๓ รวม ๗ วัน ๗ คืน
ประวัติการก่อสร้างพระธาตุพนม ตามตำนานกล่าวว่า พระมหากัสสปะ เป็นประธานดำเนินงานก่อสร้าง โดยขุดดินมาทำแผ่นอิฐดินดิบก่อนมีขนาดเท่าฝ่ามือพระมหากัสสปะ แล้วขุดหลุม(บ่อกรุ)ขนาดลึก ๒ ศอก ของพระมหากัสสปะกว้าง ๒ วา ของพระมหากัสสปะ โดยพระยาสุวรรณภิงคารทรงเริ่มขุดก่อน เหล่ากษัตริย์แบ่งหน้าที่กันก่ออุโมงค์ (เรือนธาตุ)ทั้ง ๔ ทิศ ต่างบริจาคราชทรัพย์ถวายเป็นพุทธบูชา เรือนธาตุนั้นก่อจากพื้นดินขึ้นไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมสูง ๑ วา ของพระมหากัสสปะ มอบให้พระยาภิงคารก่อเป็นรูปฝาละมีขึ้นไปจนสูงสุดอีก ๑ วาของพระมหากัสสปะ สถูปแห่งนี้วัดจากฐานถึงยอดสุดได้ ๒ วาของพระมหากัสสปะ มีช่องประตู ๔ ด้านแล้วขนเอาไม้จันทร์ ไม้กล้มฟัก ไม้คันธรส ไม้ชมพู ไม้โครธ และไม้รังมาทำฟืนเผา ๓ วัน ๓ คืน จนแผ่นอิฐดินดิบสุกดี แล้วจึงขนเอาหมากก้อม(หินกรวด)ถมลงไปในหลุมบ่อกรุ จากนั้นจึงอัญเชิญพระอุรังคธาตุ บรรจุในหินยอดของพระธาตุภูเพ็ก นำเข้าประดิษฐานในเรือนธาตุ แล้วปิดประตูทั้ง ๔ ด้าน บานประตูทำด้วยไม้ประดู่ มีลูกดานขัด

ต่อมาพระธาตุพนมล้มเมื่อคืนวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งก่อนหน้านั้นมีฝนตกหนักอยู่หลายวัน เข้าใจว่าอิฐที่ก่อขึ้นเป็นพระสถูปคงอมน้ำไว้มากจนอิฐอ่อนตัวเกิดการทรุดตัวลงมา จนเป็นเหตุให้พระธาตุพนมล้มเป็นข่าวใหญ่ ดังนั้นในวันที่ ๑๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ (ภายหลังพระธาตุพนมพังทลายประมาณ ๒ เดือนเศษ)ได้พบพระบรมธาตุ ๘ องค์ อยู่ในครอบแก้ว ผอบแก้วในผอบทอง ผอบทองอยู่ในตลับเงิน ตลับเงินอยู่ในบุษบกทองคำ บุษบกทองคำอยู่ในเจดีย์ศิลา เจดีย์ศิลาอยู่ในผอบสัมฤทธิ์ ผอบสัมฤทธิ์อยู่ในพระธาตุชั้นที่ ๒ ส่วนบนสูงจากพื้นดิน ๑๔.๗เมตร(รวม ๗ชั้น)ความจริงก่อนพระธาตุพนมจะล้มลง เคยมีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า ใช้คำปะทานปูน ๕ ทราย ๗ น้ำอ้อย ๒น้ำ หนัง ๑ยางบง ๙ ใช้ฉาบ ประกายเพ็ชร ปูน ๒ ทราย ๕ น้ำมะขาม ๒ น้ำมันยาง ๑ ใช้ปั้นลาย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเทคนิคการก่อสร้างแบบคนโบราณ วัสดุที่ใช้เป็นวัตถุดิบที่สามารถหาได้ไม่ยากในแถบนั้น

คำไหว้พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะศิริสะมิง ปันพะเตมะหากัสสะเปนะ ฐานิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิฯ เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา


คำไหว้พระธาตุพนม (สำนวนเก่า)
กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระตา นะมามิฯ

(คำแปล) ข้าพเจ้าขอน้อมนมัสการ พระบรมอุรังคธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระมหากัสสปเถระเจ้านำมาฐาปนาไว้ ณ ภูกำพร้า ด้วยเศียรเกล้าฯ