วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พระปฐมเจดีย์ เป็นสถานที่แห่งเดียวที่สร้างพระเจดีย์ใหญ่สุด ถึง ๓ เจดีย์อยู่ในที่เดียวกัน.



เรารู้กันว่า พระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม เป็นเจดีย์แห่งแรกของประเทศไทย

มีอายุอยู่ราว ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เจดีย์ที่เราเห็นกันในปัจจุบัน องค์ที่เห็น

ในตอนนี้กลับเป็นองค์ที่ ๓ และยังมีอีก ๒ องค์ซ้อนอยู่ข้างใน


พระปฐมเจดีย์องค์แรกนั้น นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่า สร้างขึ้นในสมัยที่

นครปฐมยังเป็นเมืองศรีวิชัย ของอาณาจักรทวารวดี และมีอาณาเขตติดต่อกับทะเล

เป็นเมืองท่าที่ติดต่อกับต่างประเทศ เช่น จีน อินเดีย ชวา เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช

แห่งชมพูทวีปทรงส่งพระโสณะเถระ และพระอุตตระเถระ เป็นสมณทูตมาเผยแพร่

พุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ศรีวิชัยก็ได้กลายเป็นเมืองสำคัญทางพุทธศาสนาในย่านนี้

และมีการสร้างพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นเพื่อประกาศความยิ่งใหญ่ของพระพุทธศาสนา

โดยบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกขุดพบในอินเดีย และแจกจ่ายให้

สมณทูตที่ไปเผยแพร่ศาสนาในเมืองต่างๆ นำไปด้วย


พระปฐมเจดีย์องค์แรกนี้ สร้างเป็นทรงบาตรคว่ำ ลักษณะคล้ายสถูปสาญจี

ในอินเดีย สูง ๑๘ วา ๒ ศอก ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ. ๑๑๐๐

หรือหลังจากนั้นไม่นาน


ต่อมาพระปฐมเจดีย์องค์นี้ก็ผุพังไปตามกาลเวลา กลายเป็นเนินดินขนาดใหญ่

จนราว พ.ศ. ๑๘๐๐ กว่าๆ เจ้าศรีศรัทธารัตนมณีลังกาทวีป เจ้านายพระองค์หนึ่ง

ในราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งทรงเหนื่อยหน่ายในทางโลกออกผนวช

และธุดงค์ไปในถิ่นต่างๆ จนผ่านอินเดียไปถึงลังกา บวชเรียนที่ลังกาอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนจะกลับมาเป็นสังฆราช อธิบดีสงฆ์ที่ยิ่งใหญ่ของกรุงสุโขทัยในรัชสมัย

พญาเลอไท ซึ่งเจ้าศรีศรัทธาฯองค์นี้ธุดงค์ผ่านมาพบเนินดินที่เป็นพระปฐมเจดีย์

องค์แรก จึงได้สร้างพระเจดีย์ขึ้นใหม่บนเนินนั้น เป็นเจดีย์ยอดปรางค์

สูง ๔๒ วา ๒ ศอก


พระปฐมเจดีย์องค์นี้ ก็คือองค์ที่มีตำนานว่าพญาพานเป็นผู้สร้างขึ้น

สูงเท่านกเขาเหิน เพื่อเป็นการไถ่บาปที่ได้ทำปิตุฆาตพญากง โดยไม่ทราบว่า

เป็นบิดาของตนเอง


พระปฐมเจดีย์ที่สร้างโดยเจ้าศรีศรัทธาฯนี้ยั่งยืนต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

แต่ในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยานั้น แม่น้ำเกิดเปลี่ยนทิศทาง ทำให้เมืองศรีวิชัยกลายเป็น

เมืองกันดารขาดแคลนน้ำ ทั้งยังมีโรคระบาดเกิดขึ้นบ่อยๆ จนผู้คนพากันอพยพ

หนีหายไปเรื่อยๆ ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕

ของกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลท่านา ริมแม่น้ำนครไชยศรี

ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเมืองศรีวิชัยเดิม ผู้คนจึงอพยพมาอยู่จนเมืองศรีวิชัย

กลายเป็นเมืองร้างไป


พระปฐมเจดีย์องค์ที่ ๒ ถูกทอดทิ้งอยู่ในป่าหลายร้อยปี จนเมื่อพระบาทสมเด็จ

พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชก่อนครองราชย์ได้ธุดงค์ไปพบเข้า ทรงเห็นว่า

เป็นเจดีย์ใหญ่กว่าทุกเจดีย์ในประเทศไทยหรือในประเทศใกล้เคียง จึงนำความ

ขึ้นกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๓ ให้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์

แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า

“เป็นของรกอยู่ในป่า จะปฏิสังขรณ์ขึ้นมาก็ไม่เกิดประโยชน์อันใดนัก”

พระปฐมเจดีย์จึงถูกทิ้งร้างต่อไป จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ

ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงระลึกถึงพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ธุดงค์ไปพบ

จึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงลังกาเป็นรูประฆังคว่ำขึ้น มีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร

เส้นผ่าศูนย์กลางรอบฐานวัดได้ ๖๐ เมตร ครอบเจดีย์องค์เดิมไว้ ทั้งยังโปรด

ให้จำลองเจดีย์องค์ที่ถูกครอบไว้ภายใน มาสร้างไว้ทางทิศใต้

ขององค์พระปฐมเจดีย์ด้วย


เพื่อให้การเดินทางจากกรุงเทพฯไปพระปฐมเจดีย์ได้สะดวก จึงโปรดให้

ขุดคลองเจดีย์บูชาเชื่อมต่อกับคลองมหาสวัสดิ์เป็นเส้นทางคมนาคม แต่กระนั้น

การเดินทางไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ก็ยังไม่อาจเดินทางไป-กลับในวันเดียวกันได้

ทรงสร้างที่ประทับแรมขึ้นเช่นเดียวกับที่กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาสร้างที่ประทับแรม

สำหรับเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาทสระบุรี พระราชทานนามพระราชวัง

ประทับแรมที่นครปฐมนี้ว่า “พระราชวังปฐมนคร” ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕

ก็ใช้ประทับแรมในคราวเสด็จมานมัสการพระปฐมเจดีย์หลายครั้ง

แต่ได้ถูกรื้อสร้างเป็นที่ทำการของเทศบาลเมืองนครปฐมไป

แต่เดิมนั้น เรียกพระปฐมเจดีย์กันว่า “พระประธม” เพราะเชื่อกันว่า

พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาบรรทม ณ ที่นี้ สุนทรภู่ก็ยังเคยแต่ง

“นิราศพระประธม” ไว้ว่า

“ครั้นถึงพระประธมบรมธาตุ
สูงทายาทอยู่สันโดดบนโขดเขิน
แลทมึนทึนเทิ่งดังเชิงเทิน
เป็นโขดเขินสูงเสริมเขาเพิ่มพูน”

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงถวายพระนามใหม่เป็น “พระปฐมเจดีย์”

ให้สมกับที่เป็นเจดีย์แห่งแรกของพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ


ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าบริเวณโดยรอบองค์พระปฐมเจดีย์

ยังเป็นป่าเปลี่ยวรกร้าง ที่ทำการของรัฐบาลก็ต้องไปอาศัยอยู่ตามระเบียงและ

วิหารของพระปฐมเจดีย์ จึงโปรดฯให้ย้ายเมืองนครไชยศรีจากตำบลท่านา

มาอยู่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ โดยวางผังเมืองใหม่ สร้างอาคารต่างๆขึ้น

ตัดถนนหลายสายพร้อมกับสร้างตลาด ผู้คนจึงอพยพเข้ามาอยู่

ทำให้เมืองศรีวิชัยเดิมกลับเป็นชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง


สมเด็จพระปิยมหาราชยังทรงให้นำกระเบื้องเคลือบสีเหลืองขึ้นติดรอบ

องค์พระ แต่ทว่ายังไม่แล้วเสร็จก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จ

พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ทำต่อจนเสร็จสมบูรณ์ ทรงอัญเชิญ

"พระร่วงโรจนฤทธิ์" พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ซึ่งพระองค์ทรงพบที่เมือง

สวรรคโลกในสภาพชำรุด เหลือแต่เพียงพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท

โปรดให้นำมาต่อเติมจนเต็มองค์ ประดิษฐานไว้ที่ซุ้มด้านเหนือ ซึ่งถือว่าเป็น

ด้านหน้าขององค์พระปฐมเจดีย์ ถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์

ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธ ราชปูชนียบพิตร”


ทั้งยังทำพระราชพินัยกรรมระบุให้นำพระสริรังคารของพระองค์มาบรรจุไว้

ที่ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามพระราชประสงค์

นอกจากจะทรงตกแต่งรอบบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้งดงามเป็นระเบียบแล้ว

รัชกาลที่ ๖ ยังทรงให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีก ๕ สาย คือ ถนนหน้าพระ ถนนซ้ายพระ

ถนนขวาพระ ถนนหลังพระ และถนนเทศาจากองค์พระปฐมเจดีย์ผ่านหน้า

วัดพระประโทนอีกด้วย ทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่ประทับแห่งใหม่

และเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระราชวังแห่งนี้เป็นประจำ

ส่วนพระอุโบสถที่ทรงสร้างไว้ยังไม่เสร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ ๗ ทรงสร้างต่อจนแล้วเสร็จ


เมืองศรีวิชัยซึ่งเคยรุ่งเรืองมาเมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อน และได้กลายเป็น

เมืองร้างถูกทอดทิ้งให้กลายสภาพเป็นป่ามานาน ก็กลับรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุข

ขึ้นอีกครั้งด้วยพระปฐมเจดีย์


นอกจากพระปฐมเจดีย์ จะเป็นเจดีย์แรกของประเทศไทย เป็นเจดีย์ใหญ่

และสูงที่สุดแล้ว ยังเป็นสถานที่แห่งเดียวที่สร้างพระเจดีย์ใหญ่สุด

ถึง ๓ เจดีย์อยู่ในที่เดียวกัน.
.......................................................

จากเรื่องเก่าเล่าสนุก เขียนโดย โรม บุนนาค

จาก MGR online

http://manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx…

ภาพประกอบจาก internet