เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ (Tirpitz) ตั้งชื่อตามจอมพลเรืออัลเฟรด ฟอน เทียร์พิตซ์ (Alfred von Tirpitz) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของเยอรมนี เป็นเรือพี่น้องของเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) วางกระดูกงูวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1936 ปล่อยลงน้ำวันที่ 1 เมษายน ปี ค.ศ.1939 และเข้าประจำการในกองทัพเรือเยอรมัน (Kriegsmarine) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1941 แม้จะเป็นเรือชั้นเดียวกับบิสมาร์ค แต่ภายหลังเทียร์พิตซ์ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมจนมีระวางขับน้ำมากกว่าบิสมาร์คประมาณ 2,000 ตัน กลายเป็นเรือประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป แต่เทียร์พิตซ์ไม่มีโอกาสรับตำแหน่งเรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแบบที่บิสมาร์คเคยได้เป็นอยู่ระยะหนึ่ง ตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของเรือประจัญบานยามาโตะ (Yamato) ของญี่ปุ่น ซึ่งเข้าประจำการในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1941
หลังเยอรมนีสูญเสียเรือประจัญบานบิสมาร์คในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1941 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ออกคำสั่งห้ามไม่ให้กองทัพเรือเยอรมันส่งเรือรบผิวน้ำออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกอีก ภารกิจแรกของเรือประจัญบานเทียร์พิตซ์จึงเป็นเรือธงของกองเรือบอลติก ลาดตระเวณปิดล้อมกองเรือบอลติกของสหภาพโซเวียตที่เมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน จอมพลเรือเอริช เรเดอร์ (Erich Raeder) ผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมันเสนอให้ส่งเทียร์พิตซ์ไปที่นอร์เวย์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมัน เพื่อสกัดขบวนคอนวอยของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยสหภาพโซเวียตตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease) รวมถึงป้องปรามไม่ให้สัมพันธมิตรบุกนอร์เวย์ด้วย ฮิตเลอร์ตกลง เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์จึงได้รับการปรับปรุงติดปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติมและออกเดินทางไปนอร์เวย์ในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1942 เมื่อถึงที่หมายแล้ว เทียร์พิตซ์ก็เข้าไปหลบในอ่าวเล็กๆหรือฟยอร์ด ใช้หน้าผากำบังการตรวจการณ์ทางอากาศ มีการตัดต้นไม้มาใช้ซ่อนพราง รวมถึงมีปืนต่อสู้อากาศยานมาวางกำลังไว้โดยรอบ จากนั้นเทียร์พิตซ์ก็ซุ่มรออยู่เฉยๆ แทบไม่ได้ออกปฏิบัติการเลย สาเหตุเพราะขาดแคลนน้ำมันและเรือพิฆาตคุ้มกันถูกดึงไปใช้ในภารกิจอื่น เป็นที่มาของฉายาราชินีผู้เดียวดายแห่งแดนเหนือ (Lonely Queen of the North) น่าสนใจมากว่าเทียร์พิตซ์ถูกเรียกด้วยสรรพนามเพศหญิงเหมือนเรือทั่วไป ต่างจากบิสมาร์คที่เป็นเพศชาย เพราะกัปตันมองว่ามีแสนยานุภาพแข็งแกร่งเกินกว่าจะเป็นผู้หญิง
เดือนมีนาคม ค.ศ.1942 เยอรมนีส่งเรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ ร่วมกับเรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดออกสกัดขบวนคอนวอยของอังกฤษที่กำลังมุ่งหน้าไปสหภาพโซเวียต แต่อังกฤษสามารถถอดรหัสอีนิกม่า (Enigma) รู้ความเคลื่อนไหวของเยอรมันล่วงหน้าจึงเปลี่ยนเส้นทางใหม่ เมื่อกองเรือเยอรมันไม่พบเป้าหมายจึงวกกลับฐาน อังกฤษพยายามส่งเรือรบไล่ตามแต่ไม่ทัน อังกฤษจึงเปลี่ยนไปโจมตีทางอากาศแทน แต่เทียร์พิตซ์หนีรอดไปได้โดยแทบไม่ได้รับความเสียหายเลย อย่างไรก็ตามปฏิบัติการดังกล่าวของเทียร์พิตซ์และกองเรือเยอรมันนั้นสิ้นเปลืองน้ำมันมาก ทั้งที่ปกติก็ขาดแคลนอยู่แล้ว ต้องใช้เวลาถึงสามเดือนกว่าเทียร์พิตซ์จะมีน้ำมันพอออกปฏิบัติการอีกครั้ง
เทียร์พิตซ์ออกปฏิบัติการสกัดขบวนคอนวอยอีกครั้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ข่าวรั่วไปถึงอังกฤษผ่านทางหน่วยข่าวกรองสวีเดน ส่งผลให้คลาดจากเป้าหมายอีก เทียร์พิตซ์วกกลับฐาน ปล่อยให้เรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat) รับภารกิจต่อไป ถึงตอนนี้เทียร์พิตซ์มีกำหนดต้องรับการปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่ฮิตเลอร์กลัวว่าเทียร์พิตซ์จะถูกดักโจมตีระหว่างทางกลับเยอรมนี จึงมีคำสั่งให้ทำการปรับปรุงเทียร์พิตซ์ในนอร์เวย์เลยจนถึงปี ค.ศ.1943 เมื่อเทียร์พิตซ์รับการปรับปรุงเสร็จแล้ว พลเรือเอกคาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Dönitz) ผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมันคนใหม่ ขึ้นดำรงแทนเรเดอร์ จึงมีคำสั่งให้เทียร์พิตซ์ออกปฏิบัติการร่วมกับเรือลาดตระเวณประจัญบานชาร์นฮอร์สต์ (Scharnhorst) คุ้มกันโดยเรือพิฆาต 10 ลำ โจมตีเกาะสปิตส์เบอร์เกนในหมู่เกาะสฟาลบาร์ เป็นครั้งแรกที่เทียร์พิตซ์มีโอกาสใช้ปืนเรือกับเป้าหมายข้าศึก
ทางด้านอังกฤษก็พยายามหาทางจมเทียร์พิตซ์ให้ได้ หลังปล่อยให้หนีรอดไปได้หลายครั้ง ในเดือนกันยายน ค.ศ.1943 อังกฤษใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กร่วมกับการโจมตีทางอากาศพยายามจมเทียร์พิตซ์ในปฏิบัติการซอร์ซ (Operation Source) เทียร์พิตซ์ได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่ก็ยังไม่จม ขณะที่อังกฤษเสียเรือดำน้ำขนาดเล็กไป 5 ลำจากทั้งหมด 6 ลำ เยอรมนีทำการซ่อมแซมเทียร์พิตซ์จนพร้อมกลับมาปฏิบัติการอีกครั้งในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1944 เมื่ออังกฤษทราบข่าวจึงทำการโจมตีทางอากาศอีกครั้งระหว่างเทียร์พิตซ์ออกแล่นทดสอบ แต่ไม่มีระเบิดลูกไหนเจาะผ่านเกราะของเทียร์พิตซ์ได้ อังกฤษทำการโจมตีทางอากาศซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงเดือนสิงหาคมแต่ก็ไม่เป็นผล อาจกล่าวได้ว่าเทียร์พิตซ์เป็นเรือประจัญบานที่อังกฤษใช้ความพยายามจมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
หลังจากล้มเหลวมาหลายครั้ง สุดท้ายอังกฤษตัดสินใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแลงคาสเตอร์ (Avro Lancaster) ทิ้งระเบิดทอลบอย (Tallboy) ซึ่งมีน้ำหนักถึง 5 ตันในการจมเทียร์พิตซ์ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.1944 จนกระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 ระหว่างปฏิบัติการ Catechism เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษทิ้งระเบิดทอลบอยโดนดาดฟ้าของเทียร์พิตซ์เข้าอย่างจัง 2 ลูก สร้างความเสียหายอย่างหนัก จนน้ำทะลักเข้าเรืออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เทียร์พิตซ์เอียงและพลิกคว่ำในที่สุด มีลูกเรือเสียชีวิตระหว่าง 950 – 1,250 นาย รอดชีวิตประมาณ 200 นายเท่านั้น เมื่อเห็นเทียร์พิตซ์หงายท้อง นักบินอังกฤษนายหนึ่งถึงกับอุทานว่า “ขอบคุณพระเจ้า นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องมาที่นี่” แสดงให้เห็นความโล่งใจที่สุดท้ายอังกฤษก็จมเทียร์พิตซ์ได้เสียที หนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่จุดจบของเทียร์พิตซ์คล้ายกับบิสมาร์คคือปืนเรือของเทียร์พิตซ์มีขีดความสามารถไม่เหมาะสำหรับรับมือภัยคุกคามทางอากาศ ประกอบกับกองทัพเรือเยอรมันขาดการประสานงานกับกองทัพอากาศ ส่งผลให้ไม่มีเครื่องบินขับไล่เยอรมันมาคุ้มกับเทียร์พิตซ์จากเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ ผู้บัญชาการกองบินของเยอรมันซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวถูกปลดจากตำแหน่ง ต้องขึ้นศาลทหาร และถูกตัดสินจำคุก อย่างไรก็ตามขณะนั้นเยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินอย่างหนัก ผู้บัญชาการคนนี้จึงถูกปล่อยตัวหลังรับโทษเพียงหนึ่งเดือนและถูกส่งไปเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ไอพ่น Me-262 ป้องกันน่านฟ้าเยอรมนีจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร