วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เหยื่อตอนที่ 3 - เคี้ยว




ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 1”

การแบ่งเค้กตะวันออกกลาง ระหว่างประเทศผู้ชนะสงคราม ดูเหมือนจะยังไม่ลงตัว เดือนเมษายน ค.ศ. 1920 รัฐมนตรีต่างประเทศที่ชนะสงคราม แอบจัดประชุมกันอีกที่ San Remo ประเทศอิตาลี โดยไม่มีผู้แทนของอเมริกาได้รับเชิญให้เข้าประชุมด้วย !

ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ หัวเรือใหญ่บอก อเมริกามาที่หลัง ไม่เกี่ยวกับเรื่องการแบ่งเค้กที่ได้มาจากการทะลายออตโตมานนี่นา เขามาเกี่ยวตรงไหน เราเป็นคนคิดริเริ่มนะ (เอะ ! พูดแบบนี้ เดี๋ยวสวยแน่ อเมริกาเพิ่งเขี้ยวงอกก็จริง แต่เป็นเขี้ยวเล็กและแหลมคม อย่าได้ประมาทเชียว) การประชุมที่ San Remo

จึงเป็นการกำหนดและการกำกับ โดย นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Lloyd George และประธานาธิบดีฝรั่งเศส Alexander Millerand ซึ่งไว้ใจกันเองมาก ถึงขนาดเดินประกบกันทุกฝีก้าว เข้าใจว่าใครไปเข้าห้องน้ำ อีกคนคงต้องตามไปด้วย

เพื่อเป็นการปิดปากฝรั่งเศส อังกฤษตัดใจประกาศอย่างเป็นทางการ ต่อหน้าที่ประชุม เรา อังกฤษ ยินดียกหุ้นในบริษัทที่ได้สัมปทานน้ำมันในเมโสโปเตเมีย ให้แก่ฝรั่งเศส มิตรรักร่วมรบ เอาไปเลย 25% ของบริษัท เป็นของขวัญจากเรา แต่เมโสโปเตเมีย ต้องอยู่ในความดูแลของเราอังกฤษ ตกลงตามนี้นะ

มันเป็นหุ้น 25% ของ Turkish Petroleum Gesellshaft ที่ Deutsche Bank ตั้งขึ้นภายหลังที่ออตโตมานให้สิทธิ 20 กิโลเมตร 2 ข้างทางรถไฟ (Right of way) ของเส้นทาง Berlin Bagdad ส่วนอีก 75% แน่นอน ชาวเกาะบอก ต้องเป็นของเรา โดยมอบให้ Anglo Persian Oil ที่ไปหลอกต้มมาจาก นาย D’Arcy ผู้น่าสมเพชนั่นแหละ เป็นผู้รับโอนไป

นี่มันทั้งขยี้เขา แล้วยังขโมยของในบ้านเขาต่ออีกด้วย สันดานแบบนี้ เป็นคนก็คบไม่ได้เลย
San Remo Agreement เป็นฝีมือวางแผนของคน ที่ได้ชื่อต่อมาว่า เป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในเกาะใหญ่ เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย ในสมัยนั้น เขาคือ Sir Henry Deterding

นาย Deterding เป็นชาวดัชท์ เขาเป็นอีกคนหนึ่ง นอกเหนือจากกัปตัน Fisher ที่เห็นคุณค่า และอานุภาพของน้ำมัน ว่าจะเป็นทรัพยากรที่จะเป็นอาวุธสำคัญ ในการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ !

นาย Deterding ทำงานให้รัฐบาลดัชท์ ในบริษัท Dutch East Indies ที่เกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นอาณานิคมของดัชท์ขณะนั้น สุมาตราก็มีน้ำมันตะเกียง นาย Deterding จึงตั้งบริษัทผลิตน้ำมันตะเกียง จากน้ำมันอินโดนีเซีย ชื่อบริษัท Royal Dutch Oil Company

เมื่อธุรกิจนำมันของเขาก้าวหน้ามากขึ้น ค.ศ. 1897 นาย Deterding ตัดสินใจควบบริษัท Royal Dutch Oil Company เข้ากับบริษัท Shell Transport & Trading Company ของนาย Marcus Samuel (ซึ่งต่อมาได้เป็น Lord Bearsted) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเรือขนส่งสินค้า และเป็นผู้ริเริ่มสร้างแท้งค์บรรจุน้ำมัน

การควบรวมบริษัทนี้ ทำให้เกิดเป็นบริษัท Royal Dutch Shell Company ยักษ์ใหญ่ในวงการน้ำมันของอังกฤษ และทำให้อังกฤษผงาดขึ้นมาเป็นผู้ค้าน้ำมันระดับโลก และในที่สุด เป็นคู่แข่งแบบเผ็ดร้อนกับ Standard Oil Group ของตระกูล Rockefeller ในอเมริกา

ความสำเร็จของชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ในกิจการน้ำมัน มาจากการวางแผนและสนับสนุนเกินร้อยของรัฐบาลอังกฤษ ภายใต้แผนการใช้ตัวแทน ให้เข้าไปดำเนินการฝังตัวตามที่ต่าง ๆ เพื่อหาข่าวกรอง และปฎิบัติการลับไปเกือบทุกแห่งในโลก นาย Deterding เองนั้น ภายหลังก็มีข่าวหลุดมาว่า แท้จริงแล้ว เขาสังกัดอยู่ในหน่วยราชการลับของอังกฤษตั้งแต่ต้น ถูกส่งให้ไปทำงานตั้งแต่ที่เกาะสุมาตรา ไม่งั้นมันจะไปควบรวม บริษัทใหญ่อย่างนั้นได้ ง่าย ๆ อย่างไร

ค.ศ. 1912 ก่อนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 อังกฤษมีส่วนแบ่งในตลาดน้ำมันโลกเพียง 12 % หลังสงครามโลก ภายหลังจากการล่าเหยื่อ หลอกเหยื่อ ขยี้เหยื่อ จนเหลือแต่ซากแล้ว ค.ศ. 1925 อังกฤษกลายเป็นขาใหญ่ในวงการน้ำมันโลก ที่กำลังจะมาแรง

ปฎิบัติการ San Remo นาย Deterding ทำงานร่วมกับ Sir John Cadman ซึ่งเป็นตัวแทนของรัฐบาลอังกฤษ เข้าไปดูแล Anglo Persian Oil Company ทั้ง 2 คน เดินสายนอกรอบ ทั้งหว่าน ทั้งล้อมฝรั่งเศส ให้ฝรั่งเศสรับ 25% ของหุ้นใน Turkish Petroleum ไป แทนการเอาเมือง Mosul ฝรั่งเศส เหมือนเด็กได้อมยิ้มไป 1 กล่องในวันเดียว ดีใจเกือบตาย แทนที่จะได้ทั้งกล่องทุกวันไปตลอดชีวิต

และด้วยอมยิ้ม 1 กล่อง ฝรั่งเศสใจป้ำ ตกลงว่าถ้าขุดน้ำมันเจอจริง และจะต้องวางท่อส่งน้ำมัน ผ่านมาทางซีเรีย ซึ่งฝรั่งเศสได้สิทธิปกครอง ฝรั่งเศสบอกเรายินดีนะ และภาษีอะไรที่ต้องมีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝรั่งเศสยกเว้นให้หมด เป็นการตอบแทน เอ้อ ! เซ่อได้สมใจ เคี้ยวนุ่มอร่อยนาน

อังกฤษมองไกล ต่อไปนี้ ตะวันออกกลาง เค้กทั้งก้อน ไม่ใช่แค่ชิ้นเดียว ต้องไม่พ้นมือเรา
San Remo Agreement ยังใส่เงื่อนไขไว้ในสัญญาด้วยอีกว่า ต่างชาติอื่นนอกเหนือไปจากนี้ ไม่มีสิทธิมาขุดเจาะ เสาะหาน้ำมันในอาณาบริเวณเมโสโปเตเมีย เขียนแบบนี้ แปลว่า อเมริกาอย่ามาแหยม ! ไม่เชิญเขามาร่วมประชุม ก็หน้าด้านมากพอ แต่นี่ถึงขนาดตัดขาด จากการงานกินเค้ก ในอนาคตด้วยนี่ มันชักส่ออาการตระกรามมากไป

นอกจากกันอเมริกาออกไปแล้ว San Remo Agreement ยังระบุด้วยว่า ในเรื่องน้ำมันที่โรมาเนีย และที่รัสเซีย ฝรั่งเศสจะต้องให้ความร่วมมือกับอังกฤษ ตามที่อังกฤษจูงอีกด้วย ข้อตกลงแบบนี้เหมือนการปฏิวัติเงียบ เกี่ยวกับน้ำมันในเมโสโปเตเมีย โดยชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย ฯ เลยทีเดียว

เมื่อกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา รู้เรื่องการวางไม้ขวางของอังกฤษ จึงทำหนังสือประท้วงการตัดสิทธิของ American Standard Oil ออกไปจากสัมปทานในเมโสโปเตเมีย รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ ขณะนั้น Lord Curzon ทำหนังสือลงวันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1921 แจ้งไปยังทูตอังกฤษที่ประจำอยู่ในวอชิตัน ให้ไปแจ้งต่ออเมริกาว่า อังกฤษเสียใจจริง ๆ ที่ไม่สามารถจะจัดการให้บริษัทน้ำมันอเมริกัน ได้รับสัมปทานในตะวันออกกลางได้

เด็ดขาดจริงลูกพี่ ! เขียนได้เด็ด ! แต่จะขาดกันแค่ไหน เห็นจะต้องดูกันต่อไป นั่นมันเรื่อง 100 ปีมาแล้ว
San Remo Agreement น่าจะเป็นหัวเชื้อ ในการทำสงครามชิงน้ำมัน ในตะวันออกกลางระหว่างอังกฤษกับอเมริกา ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยเหยื่อที่เป็นเจ้าของน้ำมันตัวจริง ในตะวันออกกลางคงยังกำลังงง ไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไรกับพวกตน และดินแดนของพวกตน และไม่รู้ว่าบัดนี้ยังจะเข้าใจกันมากน้อยแค่ไหน ! ?

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
11 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 2” อิรัก 1

ระหว่างที่ฝรั่งตะวันตกผู้ชนะสงคราม กำลังวุ่นอยู่กับการแบ่งสมบัติที่ไปได้ มาจากการหลอกต้มเหยื่อ เหยื่อก็นั่งเหม่อ มึนงง สับสน ตกลงพวกเราจะได้เป็นเจ้าของดินแดนไหมหนอ อย่าว่าจะเป็นเจ้าของเลย จะมีที่ให้หย่อนก้น ปักหลักตั้งกระโจม ตรงไหนก็ยังไม่รู้เล้ย

ข้อตกลงที่ปารีส Paris Conference และโดยสันนิบาตชาติ ที่ตกลงจะแบ่งดินแดนของเหยื่อ ระหว่างผู้ล่า ทำท่าจะล่ม

ข้อตกลงที่ตุรกี จะยอมตัดทิ้งดินแดนหลายส่วน ซึ่งลงนามโดยซากของรัฐบาลออตโตมาน ในที่สุด ก็ไม่ได้รับการยินยอมจากพวกยังเตอร์ก ที่เริ่มก่อการและปฏิวัติแยกตุรกีออกมาเป็นรัฐอิสระหลังจากสงครามโลกจบลง

แต่อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ยังเดินหน้าแบ่งสมบัติกันต่อ อย่างไม่ลงตัว ฝรั่งเศสบอก อังกฤษตกลงอะไรแล้วเบี้ยวตลอด ก็คงจะจริง นาน ๆ ผมจะเห็นด้วยกับฝรั่งเศสเสียที เห็นด้วย แต่ไม่ได้เห็นใจนะครับ
ในที่สุดอังกฤษก็ตัดใจ บอกให้ฝรั่งเศสเอาซีเรียกับเลบานอนไปก็แล้วกัน

แต่ขณะนั้น Faisal ลูกชายของ Sharif Hussein ยังปักหลักผู้ที่เมืองดามัสกัส หลังจากอุตส่าห์ไปยึดเมืองมาให้เขาเบี้ยว อังกฤษบอกอยู่ไปเถอะ พวกท่านออกแรงนี่หนา เป็นรางวัลปลอบใจอย่างจอมปลอม หลังจากโกหกตอแหล ไม่หาอาณาจักรอาหรับให้ Sharif Hussein

อังกฤษปล่อยให้ Faisal ตั้งกระโจม อยู่กลางเมืองดามัสกัส เหมือนอังกฤษจะรู้ว่า ต่อไปดามัสกัสจะเป็นของใคร ยืมมือคนอื่นฆ่ามิตร เป็นอีกสันดานที่ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ถนัดทำ !

แล้วมันก็เป็นไปตามแผนของชาวเกาะ เมื่อฝรั่งเศสเข้าไปในดามัสกัส สิ่งแรกที่ฝรั่งเศสทำคือ บอกไม่รับรู้ เรื่องการตั้งกระโจมอยู่กลางดามัสกัสของ Faisal นั่นมันเป็นเรื่องของอังกฤษ เราไม่เคยไปตกลงอะไรกับท่าน ฝรั่งเศสไม่เคยเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจงรีบขนของขึ้นอูฐย้ายออกไป ด่วน !

Faisal หน้าตก อพยพหอบลูกจูงหลาน บริวารอีกหลายร้อย แถวยาวไปตามเนินทราย มุ่งหน้าไปปาเลสไตน์ที่อังกฤษดูแลอยู่ หวังจะให้อังกฤษช่วย

อึ่ม ! เข้าทาง ! อิรัก กำลังวุ่นวาย อังกฤษจะออกหน้าก็กระไรอยู่ เดี๋ยวจะหาว่ามาล่าอาณานิคมอีก แค่เอาบ่อน้ำมันเขาไป ชาวบ้านก็นินทาจมหูแล้ว อังกฤษบอก Faisal เอางี้ เดี๋ยวเราจะจัดการให้ท่านเป็นกษัตริย์ ปกครองอิรักแล้วกัน โอ้ ! ในที่สุดเพื่อนก็ไม่ทิ้งเรา Faisal รำพึงเสียงเครือ

อิรักต้องมีคนปกครอง แต่ถ้าเป็นชาวอิรัก อำนาจอังกฤษในอิรักอาจจะน้อยลง จะไว้ใจได้แค่ไหน สู้เอาคนต่างถิ่น ต่างเผ่ามาปกครองดีกว่า Faisal น่าจะเหมาะสม แม้จะเป็นอาหรับด้วยกัน แต่ต่างเผ่าพันธ์กัน ชาวอิรักก็มอง Faisal เหมือนคนต่างชาติ ที่แย่กว่านั้น ชาวอิรักมอง Faisal ว่าเป็นหุ่น เป็นขี้ข้าฝรั่ง ยิ่งรังเกียจ Faisal หนักขึ้น และนั่นแหละ Faisal จึงเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในสายตาของอังกฤษ เพราะ Faisal จะปกครองอิรักโดยลำพังไม่ได้ ต้องพึ่งอังกฤษตลอดไป คนอิรักก็ไม่รับ Faisal และ Faisal ก็ใช้คนอิรักไม่ได้เต็มที่ ที่ปรึกษาชาวอังกฤษจึงเต็มอิรักไปหมด

เมื่อทุกอย่างเข้าทางตามแผน อังกฤษก็อพยพเหมือนกัน แต่เป็นการอพยพ เอากลุ่มที่ปรึกษาชาวอังกฤษ เข้าไปเต็มเมืองอิรัก จริง ๆ ก็คือการเข้าไปปกครองอิรัก เหมือนอิรักเป็นอาณานิคม รูปแบบใหม่นั่นแหละ แต่คราวนี้ แม้อิรักจะไม่ได้เป็นกล่องดวงใจ แบบอินเดีย แต่ก็มีของมีค่ามหาศาล ยังไม่รู้ว่า มหาศาลขนาดไหน ฝั่งตัวอยู่ใต้ดิน เผลอๆ อาจจะมีค่ามากกว่า อินเดีย กล่องดวงใจเสียอีก อังกฤษจำเป็นต้องอยู่ในอิรักให้นานที่สุด และมั่นคงที่สุด กว่ายักษ์ใต้ดินจะเติบโตใช้สอยดังใจหวัง

ราชวงศ์ Hashemite ของ Faisal จึงเป็นเหมือนหุ่นเชิดของอังกฤษ แม้จะบอกว่าเป็นประเทศเอกราช แต่ผู้เชี่ยวชาญอังกฤษ ที่ปรึกษาอังกฤษ เป็นผู้ปกครองอิรักโดยพฤตินัย คนอังกฤษไปอยู่อิรัก ขนทั้งคนและระบบอังกฤษติดตัวตามไปหมด ตั้งแต่ตั้งโรงเรียนแบบอังกฤษ บ้านช่องการเป็นอยู่อย่างอังกฤษ เด็ก ๆ ลูกที่ปรึกษา ก็ต้องมีพี่เลี้ยง (nanny) แบบลูกผู้ดีที่เกาะอังกฤษเขาทำกัน nanny ชาวพื้นเมืองหน้าดำ ใส่เอี้ยม คลุมหัว คอยเดินตามเช็ดมือเช็ดเท้าให้คุณหนูผมทอง ฯลฯ

นอกเหนือจากการบริหารประเทศแล้ว อังกฤษยังตั้งฐานทัพ และสนามบินไว้ที่อิรัก ทั้งหมดเป็นการอำนวยความสดวก และการป้องกัน ให้การขุดเจาะน้ำมันของ The Turkish Petroleum Company ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Iraqi Petroleum Company ซึ่งถือหุ้นโดย Anglo – Persian Oil Company ที่อังกฤษมอบหมายให้หน้าที่เสมือนเป็นข้าหลวงใหญ่ของอังกฤษประจำอิรักอีกด้วย เดินไปอย่างราบรื่นไม่มีสดุด ไม่มีติดขัด

Turkish Petroleum ทำเงินให้อังกฤษมากมาย รวมทั้งรัฐบาลอิรักด้วย แต่แทนที่รัฐบาลอิรัก จะนำไปปรับปรุงประเทศ กลับนำไปใช้ในการซื้ออาวุธให้กองทัพของอิรัก ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทหารอังกฤษ ประชาชนชาวอิรักก็หน้าแห้ง ท้องกิ่ว เหมือนเดิม

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
12 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 2" อิรัก 2

ในที่สุดชาวอิรัก ก็ทนเห็นประเทศตัวเอง เป็นหุ่นเชิดของอังกฤษต่อไปอีกไม่ไหว จึงเริ่มบีบกษัตริย์ Faisal ให้เจรจากับอังกฤษ ลดอำนาจการปกครองอังกฤษในอิรักลงบ้าง อย่าให้มันออกหน้าออกตาขนาดนี้เลย การเจรจาใช้เวลาอยู่หลายปี ในที่สุด Anglo – Iraqi Treaty ก็คลอดในปี ค.ศ. 1930 Faisal ไม่ได้เป็นคนมาลงนามในสัญญานี้ ส่งใบลาป่วย อ้างว่าไส้ติ่งอักเสบกระทันหัน

Treaty นี้ ก็ยังให้สิทธิพิเศษแก่คนอังกฤษ ที่เป็นตัวแทนรัฐบาลอังกฤษ และลูกจ้างรัฐบาลอังกฤษ ที่อังกฤษส่งมาทำงานในอิรักเหมือนเดิม ที่ดูเหมือนเปลี่ยนไป คือ ข้อตกลงนี้ระบุว่างานบริหารภายในประเทศ ให้เป็นความรับผิดชอบของกษัตริย์ Faisal ส่วนอังกฤษจะรับผิดชอบ ดูแลปกป้องอิรัก จากการจู่โจมภายนอก (แหม ! มันคลับคล้ายเหมือนสัญญาอะไรหนอ ที่สมันน้อยไปทำไว้กับใครเขาทำนองนี้ เมื่อ 60 กว่าปีก่อน)

และเพื่อให้อังกฤษสามารถปกป้องอิรักได้เต็มที่ อิรักก็จะต้องให้อังกฤษเช่าสนามบิน โดยไม่คิดค่าเช่า สัญญานี้มีอายุ 25 ปี และจะมีผลต่อเมื่ออิรัก ได้เข้าไปเป็นสมาชิกของสันนิบาตชาติ League of Nations ในฐานะประเทศเอกราช

อิรักขมักเขม้นทำการบ้าน โดยความหวังที่จะเป็นเอกราช ปลดแอกอังกฤษออกจากบ่า ค.ศ. 1932 สันนิบาตชาติ ซึ่งคุมโดยขาใหญ่ที่ชนะสงครามโลกครั้งที่ 1 (ก็อังกฤษกับฝรั่งเศสนั่นแหละ !) ก็รับอิรักเข้าเป็นสมาชิก คงใช้เวลานานหน่อยกว่าอิรักจะรู้ตัวว่า เขาแค่เปลี่ยนยี่ห้อหม้อต้มเหยื่อเท่านั้นเอง จะหม้อต้มยี่ห้อไหน ก็ผลิตมาจากโรงงานเดียวกัน

แต่อิรักไม่ใช่ชาติที่จะยอม งอมืออยู่อย่างนั้น พวกเขาเดินหน้า หาทางหักกับอังกฤษต่อไป รัฐบาลอิรักพยายามแข็งข้อกับอังกฤษอยู่หลายรอบ ครั้งสำคัญคือ ค.ศ. 1941 สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มมาใกล้ตัว สภาอิรักลงมติไม่สนับสนุนอังกฤษ ในการประกาศสงครามกับเยอรมัน !

อังกฤษเหมือนโดนตีแซกหน้า! ยกทัพเต็มอัตรามาเต็มเมืองอิรัก แล้วปลดรัฐบาลอิรักที่มาจากการเลือกตั้ง เอานักการเมืองที่ฝักฝ่าย อังกฤษเข้ามาเป็นรัฐบาลแทน กษัตริย์ Faisal ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหนอีก ตอนที่เซ็นสัญญา Anglo-Iraq : Treaty ก็ส่งใบลาป่วยว่าใส้ติ่งอักเสบส่งตัวแทนมา คราวนี้ไม่รู้อะไรอักเสบ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบ ความสงบในอิรักยิ่งหายาก ชาวอิรักต้องการเป็นอิสระจากแอกของอังกฤษ พวกเขาผลัดเปลี่ยนกันต่อต้านและต่อสู้ แต่กำลังอาวุธมันต่างกัน และที่สำคัญหนอนบ่อนไส้ ที่เป็นชาวอิรัก ที่อังกฤษชุบเลี้ยงไว้ให้ทำงาน ยังมีอยู่ในตำแหน่งที่สำคัญๆ

แต่ในที่สุดราชวงศ์ Hashemite ที่น่าสงสาร ถูกหลอก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ถูกโค่นในปี ค.ศ. 1958 อังกฤษปล่อยมือจากการชักหุ่น หุ่นไม่มีเชือกชัก ตกพลั่กลงพื้น กษัตริย์ และราชวงศ์ Hashemite ถูกจับติดคุก และถูกตัดสินประหารชีวิตในที่สุด โดยอังกฤษไม่ยื่นมือ ไม่เหลียวมามอง ได้แต่เก็บของ รีบกลับเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ของตนอย่างรีบด่วน อย่างเดียว

แต่ฉากสุดท้ายนี้ มันน่าคิด อยู่ดี ๆ กษัตริย์ Hussein แห่งจอร์แดน ซึ่งเป็นญาติสนิทของ Faisal และเป็นหุ่นเชิดของอังกฤษเช่นเดียวกัน เกิดประสาทว่าพวกที่ลุกฮือ ไล่ฝรั่งตะวันตกที่เลบานอน จะเลยเถิดเข้ามาถึงจอร์แดนด้วย ขอแรงอิรักส่งกองทัพมาช่วยไล่หน่อยเถิด บรรดาทหารหาญของอิรัก จึงจัดแจงแต่งเครื่องแบบติดอาวุธกองทัพ มุ่งหน้าจะไปจอร์แดน

แต่แล้วท่านนายพลคนหนึ่ง Colonel Abd as Salaam Arif ก็สั่งให้กองทัพเลี้ยวกลับมาสู่แบกแดด ส่องปืนใหญ่มาที่วังของ Hashemite เป็นการปฏิวัติของทหารอิรัก ชนิดไม่เสียเลือดเนื้อ ไม่มีผู้ต่อต้าน และไม่มีผู้รู้ตัว ขุนนางอิรัก Nuri as Said ที่เป็นขุนคอยพยักให้อังกฤษถูกจับก่อนเพื่อน ระหว่างที่พยายามจะหนี โดยปลอมตัวเป็นผู้หญิง หลังจากนั้นพวกกษัตริย์และราชวงศ์ก็โดนรวบตัว ชาวอิรักต่างไปชุมนุมอยู่หน้าสถานทูตอังกฤษ ด่าทอ ขว้างปา พวกเขามองว่า อังกฤษกับ Hashemite เป็นตัวแทนของกันและกัน
เป็นการจบฉากของชาวเกาะผู้ยิ่งใหญ่ในอิรัก ที่ไม่สวยงามตั้งแต่เริ่มต้นวันแรก จนถึงวันสุดท้าย

ผมจะไม่แปลกใจเลย ถ้าเหตุการณ์รุนแรง ที่กำลังดำเนินอยู่ในอิรักขณะนี้ โดยเฉพาะที่ Mosul ถึงขนาดที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มายืนแถลงเมื่อไม่นานมานี้ เลื่อนอันดับภัยจากผู้ก่อการร้าย ในอังกฤษขึ้นสูงถึงระดับรุนแรง (Severe) เนื่องจากเหตุการณ์ในอิรักและซีเรีย มันจะมีรากยาวฝั่งลึก ย้อนไปได้ถึง 100 ปี

แม้อังกฤษจะเก็บของกลับเกาะไปแล้ว แต่อังกฤษได้ทิ้งพิษร้ายค้างอยู่ในอิรัก มันมาจากแผนการต้ม การเคี้ยวเหยื่อ ตั้งแต่ต้น มันเป็นแผนที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง เผ่าพันธ์และธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา อย่างน่าสงสารของเหยื่อ

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
12 ก.ย. 57




ตอนที่ 3 : “เคี้ยว3” จอร์แดน

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 Transjordan หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า Jordan ยังไม่เป็นรัฐ เป็นเพียงกลุ่มหมู่บ้าน เรียงรายอยู่บริเวณใกล้เคียง ขึ้นกับอาณาจักรออตโตมาน อังกฤษเริ่มสนใจจอร์แดนด้านการเมืองเมื่อ ค.ศ.1930 เพราะฝรั่งเศสให้ความสนใจ ! มันเป็นสันดานของชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ จะต้องคอยเฝ้าดูการเคลื่อนไหวของฝรั่งเศส แล้วหยิบไม้เตรียมใช้เสี้ยม หรือขวาง ฯลฯ อะไรทำนองนั้น

ฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นหน้าที่ของฝรั่งเศส ที่จะต้องเข้าไปดูแลพวกชาวคริสต์ที่อยู่ในออตโตมาน บริเวณที่เป็นจอร์แดนปัจจุบัน โดยมีผู้ปกครองอิยิปต์ขณะนั้นคือ Mohammed Ali รู้เห็นเป็นใจด้วย ทำให้อังกฤษและรัสเซียไม่พอใจ มันกำลังตบตาหลอกลวงอะไรเราหรือเปล่า แล้วอังกฤษกับรัสเซียก็จับมือกันมาออกโรงไล่ Mohammed Ali กลับอิยิปต์ไป อย่ายุ่งเรื่องของผู้ใหญ่ แล้วผู้ใหญ่ 3 คนก็ตกลงกันเอง

ฝรั่งเศสตกลงดูแลแคทอลิก และรัสเซียตกลงดูแลพวกออโทดอกซ์ (Orthodox) ส่วนอังกฤษบอกเราไม่ยุ่งเรื่องศาสนา ขอเรามีสิทธิภาพนอกอาณาเขต เหนือกฏหมายในแถบนั้นก็แล้วกัน (Extraterritotrial Status) แน่จริงๆลูกพี่ นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว อังกฤษบอก เราไม่สนใจอะไรในจอร์แดน

เมื่อเริ่มต้นศตวรรษที่ 19 และออตโตมานคนป่วยของยุโรป เกิดเนื้อหอม มีคนอยากมาดูแลหลายราย แต่คนดูแลชื่อเยอรมันนี ทำให้อังกฤษต้องเตรียมการหาเหยื่อ และออกโรงแสดงความชำนาญในวิทยายุทธแม่ไม้ จัดเต็มชุด เริ่มแรกก็หลอกเหยื่อ Sharif Hussein ให้ไปช่วยยึดเมืองดามัสกัส เพื่อแยกออกมาจากออตโตมาน ส่วนอังกฤษมุ่งหน้าไปยึดปาเลสไตน์และเยรูซาเร็มใน ค.ศ.1917

ในวันที่ฝ่ายตะวันตก ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังตัดแบ่งอาณาจักรออตโตมานกันอยู่ที่ปารีส Faisal ลูกชายของ Sharif Hussein ลงทุนไม่ขี่อูฐ แต่ขึ้นรถไฟมาประชุมด้วย เขาตั้งใจจะมาบอกว่าพวกอาหรับไม่เห็นด้วยกับเรื่องการแบ่งดินแดนตะวันออกกลาง ให้ยิวมาอยู่ที่ปาเลสไตน์ แต่มารถไฟช้ากว่าขี่อูฐ เมื่อมาถึง อังกฤษตัดสินใจเดินหน้าประกาศเรื่องให้ยิวมาอยู่ปาเลสไตน์ตามข้อตกลง Balfour Declaration ไปเรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกันนั้น พวกอาหรับเองก็จัดชุมนุมกันที่ดามัสกัส ประกาศให้ซีเรียเป็นเอกราช และแต่งตั้ง Faisal ขึ้นเป็นกษัตริย์ ส่วน Abdullah น้องชายของ Faisal ประกาศตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ของอิรัก
สันนิบาตชาติ (Leagul of Nation) รู้เรื่องเข้าก็โวย บอกเฮ้ย พวกเจ้าประกาศแต่งตั้งกันเองไม่ได้ ต้องให้พวกเราเป็นคนเห็นชอบ ถึงจะเป็นเรื่องของตะวันออกกลาง แต่พวกเราชาวตะวันตกต่างหาก เป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับเขตแดน และชะตาชีวิตของพวกเจ้า และในการประชุมที่ San Remo ก็ยืนยันความเห็นของสันนิบาตชาติ หลังจากนั้นฝรั่งเศสก็อัญเชิญท่านกษัตริย์ Faisal ให้ขึ้นอูฐขนย้ายครอบครัวออกจากซีเรียเป็นการด่วน

Faisal อาจจะว่าง่าย แต่ Abdullah บอกว่าอย่าไปยอมมันพี่เรา ว่าแล้วเขาก็อพยพชาวเผ่าร่อนเร่หลายพันคนมายังดามัสกัสประกาศบุกซีเรีย ท้าทายฝรั่งเศส ทวงถามสิทธิในบัลลังก์ของพี่ชาย คราวนี้อังกฤษนั่งไม่ติด ออกมาห้ามทัพ อังกฤษบอกกันเอง แต่ไม่ได้บอกพวกอาหรับว่า ถึงสัมพันธ์อังกฤษฝรั่งเศสจะลุ่มๆดอนๆ ก็ยังมีค่ากว่าพวกเร่ร่อนเป็นร้อยเท่า

ก่อนตัดสินใจดำเนินการต่อ อังกฤษจัดประชุมหัวหน้าเผ่าอาหรับระดับพี่ใหญ่ทั้งหลาย ถามความเห็นเกี่ยวกับเรื่องยิวมาอยู่ในตะวันออกกลาง พวกอาหรับบอก ตะวันตกอยากจะทำอะไรก็เชิญ แต่พวกเรากำลังจะตั้งกลุ่มศาสนานิกายวาฮาบี ภายใต้การนำของหัวหน้าเผ่าใหญ่ Ibn Saud ซึ่งเริ่มมีอำนาจและอิทธิพลขึ้นเรื่อยๆ อังกฤษคงยังแปลคำตอบแบบตะวันออกกลางไม่ออก หรือแกล้งไม่เข้าใจ หรือเข้าใจดีอย่างชัดเจน

อังกฤษเดินหน้าจับเข่า หักมือ Abdullah บอกว่าใจเย็นๆ เราจะปล่อยให้ท่านทะเลาะกับฝรั่งเศสไม่ได้ แต่เราก็ไม่ทำให้ท่านผิดหวังหรอก เราจะจัดการให้ท่านไปเป็นหัวหน้ารัฐ Transjordan ส่วนพี่ชายของท่าน Faisal เราจะจัดการให้เขาได้เป็นกษัตริย์ที่อิรักก็แล้วกันนะ เจอทองเรียกว่าพี่เข้า Abdullah ก็ใจอ่อน ถอยทัพออกไปจากซีเรีย เพียงแต่ต้องเพิ่มอูฐอีกหลายตัวหน่อย เพื่อขนทองของกำนัลปิดปากจากนักล่าชาวเกาะฯ

ในการประชุม Cairo Conference เกี่ยวกับกิจการตะวันออกกลางของอังกฤษเมื่อ ค.ศ.1921 ซึ่งอำนวยการโดยท่านหลอด Winston Churchill อังกฤษจัดการตัดแบ่งปาเลสไตน์ยาวตามเส้นทางของแม่น้ำจอร์แดนไปถึงอ่าวอกาบา (Gulf of Aqaba) โดยเรียกด้านตะวันตกว่า Transjordan ให้พวกอาหรับของ Abdullah ไปอยู่ ภายใต้การดูแลของกงสุลอังกฤษที่ประจำอยู่ปาเลสไตน์ สันนิบาตชาติประทับตราเห็นชอบ (ตามเคย!) แล้วอังกฤษก็มีอิทธิพลใน Transjordan เต็มที่ตั้งแต่นั้นมา

ชาวจอร์แดนส่วนใหญ่ทำกสิกรรม จอร์แดนเป็นบริเวณเดียวในตะวันออกกลางที่ไม่มีแหล่งน้ำมัน แต่อังกฤษก็ยังสนใจ อุ้มชู ดูแล เหมือนจะตอบแทนบุญคุณของ Sharif Hussein !

ตลอดเวลานับตั้งแต่อังกฤษตั้ง Transjordan พวกฮาวาบี ซึ่งก่อตั้งใหม่เอี่ยม ก็บุกเข้ามาตีรวนในจอร์แดนตลอดเวลาเหมือนกัน อย่างน้อยปีละครั้ง ตั้งแต่ ค.ศ.1921 เป็นต้นมา ไม่ให้พวก Abdullah นั่งหงอยเหงา อังกฤษก็ทำหน้าที่เป็นผู้ขับไล่ออกไปทุกครั้ง อังกฤษดูแลด้านความมั่นคง การเงิน และการต่างประเทศของจอร์แดน รวมทั้งจ่ายค่าเลี้ยงดูชาวจอร์แดนอีกด้วย นักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯใจดีผิดสันดาน

จอร์แดนเป็นบริเวณกันชนระหว่างปาเลสไตน์กับอิรัก และเป็นเส้นทางบินระหว่างอังกฤษกับอินเดียสมัยนั้น แต่นั่นคงไม่น่ามีค่าพอทำให้อังกฤษลงทุนควักกระเป๋าเลี้ยงดูจอร์แดน

ด้วยเขตแดนของจอร์แดนที่ติดกับซาอุดิอารเบีย ทำให้พวกวาฮาบีข้ามเขตมารุกรานจอร์แดนเหมือนเป็นกิจกรรมหลัก ในที่สุดอังกฤษก็ขอเจรจากับซาอุดิอารเบีย อังกฤษยึดเมืองอกาบาไป และยอมยก Wadi Sirhan ให้ซาอุดิอารเบียและ ค.ศ.1925 Hadda Agreement ก็ลงนาม Wadi Sirhan ตกลงเป็นส่วนหนึ่งของ Nejd ของซาอุดิและอกาบาเป็นส่วนหนึ่งของTransjordan

ซาอุดิอารเบียกลืนเบ็ดโดยไม่รู้ตัว Aqaba Gulf เป็นจุดสำคัญในการคุมทางเข้าปาเลสไตน์และอิยิปต์จากพวกวาฮาบี

Abdullah ยังมีความฝันตามพ่อ ที่จะเห็นรัฐอาหรับ สำหรับ Abdullah เขาอยากจะครองอาณาจักรที่ประกอบไปด้วย Transjordan ซีเรีย เลบานอน รวมไปถึงปาเลสไตน์ เพราะฝันแบบนี้ Abdullah ซึ่งเป็นหัวหน้าอาหรับคนเดียวที่เห็นด้วยกับมติของสหประชาชาติ ที่ยอมรับการจัดสรรดินแดนปาเลสไตน์ในปี ค.ศ.1947

เกือบทุกรัฐอาหรับไม่ไว้ใจ Abdullah และเห็นว่าเขาหักหลังพรรคพวก และเชื่อว่าเขาสนับสนุนให้มีการตั้งรัฐให้ยิวเสียด้วยซ้ำ

เมื่อถูกกล่าวหาเช่นนั้น Abdullah ก็มีพวกน้อยลง และไว้ใจพวกน้อยลง การตัดแบ่ง Transjordan และการให้ Abdullah มาครอง จึงน่าจะเป็นยุทธศาสตร์แม่ไม้ของขาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ที่เหี้ยมโหดสิ้นดี อังกฤษรู้ดีว่าชาวอาหรับส่วนใหญ่คิดอย่างไรเรื่องการให้ยิวมาอยู่ปาเลสไตน์ ตั้งแต่เมื่อเรียกประชุมพวกอาหรับ แต่เขาเดินหน้าหลอกเหยื่อซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยเฉพาะเหยื่อที่เป็นพวกครอบครัวของ Sharif Hussein !

วันที่ 20 กรกฏาคม ค.ศ.1951 Abdullah ก็ถูกยิงตายอยู่บนบันไดทางขึ้นของ Al-Aqsa Mosque ในนครเยรูซาเร็ม คนยิงเขาเป็นชาวปาเลสไตน์ ซึ่งต่อต้านจอร์แดนที่ทำตัวเป็นมิตรกับอิสราเอล

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน Raid Bay al-Solh อดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอนถูกฆาตกรรมที่อัมมาน (Amman) หลังจากมีข่าวลือออกไปทั่วว่า เลบานอนและจอร์แดนกำลังเจรจาสันติภาพกับอิสราเอล

Abdullah ไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อร่วมพิธีสวดให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีเลบานอน และก็ถูกยิงตรงทางขึ้นโบสถ์ที่กำลังมีพิธีสวด เขาถูกยิง 3 นัด ที่หัวและหน้าอก หลานชายของเขา Hussien bin Talal (กษัตริย์จอร์แดนตั้งแต่ ค.ศ.1953-1999) ยืนอยู่ข้างปู่ของเขาขณะที่ปู่ของเขาถูกยิง

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
12 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 4 ” อิยิปต์ 1

อังกฤษเข้าไปวุ่นอยู่ในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 1 จะเกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว แต่ช่วงที่อังกฤษบอกว่าเป็นเวลานาทีทองของอังกฤษ หรือที่อังกฤษเรียกว่าเป็น “moment” ของตนเองในตะวันออกกลาง คือช่วง ค.ศ. 1914-1956 จักรภพอังกฤษในตะวันออกกลาง เริ่มตั้งแต่คลองสุเอช ยาวไปจนถึงอ่าวเปอร์เซีย

ออตโตมานเป็นบริเวณใหญ่ และถือเป็นส่วนสำคัญสำหรับอังกฤษในตะวันออกกลางในช่วงแรกเพราะเป็นจุดยุทธศาสตร์ สำหรับดักหน้า ดักหลัง ไม่ให้ใครเข้าไปสู่อินเดีย กล่องดวงใจของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษคิดตลอดเวลาว่า ทุกชาติ คิดจะชิงอินเดียไปจากอังกฤษทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือเยอรมัน
อีกบริเวณหนึ่งที่อังกฤษถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ คือ อียิปต์ ซึ่งขณะนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน

อียิปต์เป็นเมืองท่าสำคัญ อยู่ระหว่างเส้นทางเดินของการค้าระหว่างยุโรป กับ เอเซีย พ่อค้าชาวอังกฤษทำการขนถ่ายสินค้า ที่แถวท่าน้ำของอาณาจักรออตโตมานส่วนนี้ มาเป็นเวลาหลายชั่วคนแล้ว เช่นเดียวกันกับทุกเมืองในแถบนี้ อังกฤษเอาอียิปต์ไปโยงกับอินเดีย เพราะอียิปต์เป็นเส้นทางที่ฝรั่งเศสมีอิทธิพล และชอบใช้ ฝรั่งเศสอาจใช้อียิปต์เป็นเส้นทางไปถึงอินเดียได้ นี่ก็เป็นอาการที่หลอนอังกฤษ ในเวลาทั้งหลับทั้งตื่น แต่ไม่ได้เป็นการหลอนแบบเพ้อ เพราะฝรั่งเศสมาจริง

ค.ศ. 1728 นโปเลียนยกทัพมาลองเชิงอังกฤษที่อียิปต์ นโปเลียนตีกองทัพของ Mameluk ผู้ครองนครอียิปต์แตกกระเจิงอยู่หน้าปิรามิด อังกฤษถึงกับสดุ้งเฮือก เหงื่อแตกซิก นึกไม่ถึงว่าคู่หู คู่กัด จะกล้าดี บุกเข้ามาทีเผลอ บังเอิญกองทัพเรือของอังกฤษยังพอมีอยู่แถวนั้น ท่านหลอด Nelson จึงยกทัพเรือไปขู่ กองทัพเรือของฝรั่งเศสที่อ่าว Abourkir ฝรั่งเศสถอยไม่ออก เดินหน้าไม่ได้ ถูกล้อมอยู่ในอ่าว ในที่สุดนโปเลียนตัดสินใจสละเรือ ยกพลขึ้นบก เดินเท้าแบบหงอย ๆ กลับฝรั่งเศส อีกแล้ว ฝรั่งเศส ! ขู่ได้แต่กับสมันน้อยเท่านั้น หรือไง !

ผลของการที่ฝรั่งเศสแอบจะมาตีท้ายครัว อังกฤษจึงฉวยโอกาสทิ้งกองทัพไว้ที่อียิปต์เต็มเมือง อียิปต์จึงดูเหมือนอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษตั้งแต่นั้นมา แต่การสู้รบระหว่างอังกฤษ ฝรั่งเศส เพื่อแย่งชิงอียิปต์ และที่อียิปต์จะเอาตัวให้รอด ก็มีอยู่ตลอดเวลา

ในที่สุดปี ค.ศ. 1904 อังกฤษและฝรั่งเศส คงเหนื่อยที่จะกัดกันเอง เสียเวลาล่าเหยื่ออื่น เลยทำข้อตกลง แบ่งสมบัติแถบนั้นระหว่างกัน อียิปต์ตกลงยังเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออตโตมาน ภายใต้การยึดครองของอังกฤษ ส่วนฝรั่งเศสยึดครอง มอรอคโค อัลจีเรีย ตูนีเซีย แถบนั้นไป

เรื่องแย่งชามข้าว ดูเหมือนจะจบ แต่อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ยังมีเรื่องคลองสุเอชค้างอยู่ ฝรั่งเศสเป็นฝ่ายริเริ่มให้ขุดคลองสุเอช โดยอังกฤษไม่ได้มีส่วนร่วม และคิดว่าการขุดคลองภายใต้การควบคุมของฝรั่งเศส ไม่น่าจะเป็นผลสำเร็จ แต่อียิปต์และฝรั่งเศสก็ทำสำเร็จ

ในที่สุดเมื่อคลองสุเอชเสร็จ เปิดกิจการในปี ค.ศ. 1869 อังกฤษเริ่มตาร้อน มันย่นเส้นเดินทาง จากลอนดอนไปบอมเบย์ ให้สั้นขึ้น เร็วขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่าย แต่คลองสุเอชควบคุมโดย Khedive ผู้ครองนครและฝรั่งเศส อังกฤษจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไม่ได้ อังกฤษต้องรีบตัดสินใจดำเนินการอย่างรวดเร็ว

เมื่อรู้ว่า พวก Khedive มีหนี้ท่วมหัว จากการขุดคลองสุเอชตามที่ฝรั่งเศสแนะนำ หมดปัญญาชำระหนี้ อังกฤษโยนเงินกระสอบใหญ่ให้ Khedive ขอซื้อหุ้น Suez Canal Company คนมีหนี้กำลังหน้ามืด ไม่หันหน้าหนีกระสอบเงิน Khedive ยอมให้อังกฤษเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

ความรวดเร็วของอังกฤษ ในการปฏิบัติการยึดหุ้นคลองสุเอช เหมือนดึงอาหารออกจากปากฝรั่งเศสขณะกำลังเคี้ยว ทำให้ฝรั่งเศสถึงกับอ้าปากค้าง ต้องตบปากตัวเองถึงจะหุบได้ อังกฤษเอาเงินมาจากไหนรวดเร็ว อ้อ นายทุนใหญ่ Rothschild เป็นผู้ให้รัฐบาลอังกฤษยืม อืม...

แต่อียิปต์ก็เหมือนตะกร้าก้นรั่ว ได้เงินมาเท่าไหร่ ก็ไม่พอเอามาใช้เลี้ยงประเทศ ต้องเอาไปใช้หนี้ เศรษฐกิจของอียิปต์ทำท่าจะไหลไปกับแม่น้ำไนล์ ไม่กี่ปีก็ต้องแบกหน้าไปหาเงินกู้ใหม่อีก อังกฤษกับฝรั่งเศสก็เลยทำตัวเหมือนเป็นผู้ดูแล จัดการหาเงินกู้ให้ ช่วงนี้อียิปต์เลยเหมือนเป็นอาณานิคม ที่มีนายเหนือ 2 คน ผลัดกันทึ้ง

แต่หนี้อียิปต์ก็ยังงอกต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุด Khedive ถูกบังคับให้สละบังลังก์และเอา Tawfiq ลูกชายขึ้นมาเป็นผู้ครองนครแทน และ ค.ศ. 1882 โดยกองทัพอียิปต์นำโดย Arabi Pasha ก็ทำการยึดอำนาจ ความไม่สงบเกิดขึ้นในอียิปต์ กองทัพคุมไม่อยู่ อังกฤษบอก ไม่เป็นไร ไอคุมให้เอง อังกฤษเข้าไปจัดการ เก็บกวาด กองทัพและพวกยึดอำนาจ จนสะอาด เรียบร้อย และครอบครองอียิปต์สมบูรณ์เหมือนเป็นอาณานิคม ตั้งแต่บัดนั้น โดยไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามามีส่วนร่วม

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
13 ก.ย. 57


ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 4 ” อิยิปต์ 2

อังกฤษเมื่อแรกเข้ามาใช้อียิปต์นั้น นอกจากใช้เป็นที่วางไม้ขวางฝรั่งเศส ไม่ให้เดินเลยไปถึงอินเดียแล้ว อังกฤษสนใจ ที่จะใช้อียิปต์เป็นแหล่งผลิตผ้าฝ้าย เดิมอังกฤษอาศัยฝ้ายจากทางใต้ของอเมริกา ซึ่งผลิตฝ้ายดีราคาถูกจากแรงงานทาสผิวดำ แต่เมื่ออเมริกาเกิดสงครามกลางเมือง การผลิตฝ้ายของทางใต้ของอเมริกากันหยุดชะงัก อังกฤษต้องมองหาตลาดใหม่ อียิปต์มีภูมิอากาศเหมาะสำหรับปลูกฝ่ายอย่างยิ่ง

หลังจาก ค.ศ. 1882 เป็นต้นมา อังกฤษเอาจริงกับการใช้อียิปต์เป็นแหล่งปลูกฝ้าย จะปลูกฝ้ายก็ต้องมีน้ำ โครงการสร้างคลองชลประทาน จึงเกิดขึ้นในอียิปต์ ไม่ใช่เพราะอยากให้ชาวอียิปต์มีน้ำใช้ทั่วถึงหรอกนะ อังกฤษไม่เคยใจดีอย่างนั้น แต่น้ำจากคลองชลประทานก็ยังไม่พอ เพราะเมื่อปลูกฝ้ายแล้ว อังกฤษก็ตั้งโรงงานทอผ้า ทำเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ อุตสาหกรรมก็ต้องมีพลังงาน น้ำมันยังไม่มีให้ใช้ ดังนั้นต้องใช้พลังน้ำจากเขื่อน เขื่อนอัสวาน (Aswan) จึงจำเป็นต้องสร้างขึ้น

ช่วงปี ค.ศ. 1890 – 1914 อียิปต์สร้างเขื่อนหลายเขื่อน และระบบชลประทานทั่วประเทศ เขื่อนอัสวาน 1 เสร็จไปแล้ว แต่ยังไม่ได้พลังงานพอใช้ อัสวาน 2 จึงต้องสร้างเพิ่มในปี ค.ศ.1912 เพื่อให้มีน้ำเลี้ยงทั้งปีทุกบริเวณ ตั้งแต่อียิปต์กลางและอียิปต์ใต้ ทำให้อียิปต์เพิ่มเนื้อที่จากการปลูกฝ้าย จาก 4.4 ล้าน เฟดดาน (feddan) ในปี ค.ศ. 1877 เป็น 5.5 ล้าน เฟดดาน ในปี ค.ศ. 1913

อังกฤษกลายเป็นผู้ผูกขาด การปลูก การผลิต การขาย ฝ้ายในอียิปต์ ระบบชลประทานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการปลูกฝ้าย อังกฤษส่งคนมาคุมทำการขุด และสร้างระบบ บริษัทอังกฤษเป็นผู้ก่อสร้างระบบชลประทาน ทั่วประเทศอียิปต์ มันไม่ใช่ควบคุมเฉพาะการปลูกเท่านั้น เมื่อต้องขนส่งฝ้ายทางรถไฟ ทางเรือตามแม่น้ำ ลำคลอง เรือกลไฟของอังกฤษก็มาเทียบท่าเมือง Alexandria แม้รถไฟจะเป็นของรัฐ แต่คนอังกฤษเป็นผู้ควบคุม

การปลูก ผลิต ขาย ฝ้าย อยู่ในมือของคนอังกฤษ รวมทั้งธนาคารของคนอังกฤษ คนอียิปต์มีส่วนเป็นเพียงเจ้าของแผ่นดิน และได้ค่าตอบแทน เป็นแรงงานราคาถูก

ที่สำคัญ อังกฤษเปลี่ยนเนื้อที่ ที่ชาวอียิปต์เคยปลูกพืชอื่น ในการยังชีพของพวกเขา เช่น ข้าวบาเลย์ แป้งสาลี น้ำตาล ให้ไปปลูกฝ้ายเกือบหมด ในที่สุดพืชเหล่านี้ ก็ถูกกินเนื้อที่ ชาวอียิปต์ นอกจากไม่ได้ร่ำรวยจากการปลูกฝ้ายแล้ว ยังอดอยากอีกด้วย แถมตอนหลังอังกฤษเห็นว่ายาสูบไม่ใชสิ่งจำเป็น อังกฤษออกประกาศให้ยาสูบเป็นพืชต้องห้าม คนอียิปต์ที่ส่วนใหญ่ติดยาดูดเป็นชีวิต ถ้าไม่อยากลงแดง ก็ต้องไปอาศัยดูดยาของตุรกีซึ่งมีราคาแพงแทน

ข้อมูลภูมิศาสตร์โลกที่ระบุว่า อียิปต์เป็นประเทศที่ปลูกฝ้ายดีที่สุดในโลก เป็นผู้ผลิตฝ้ายเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นดินแดนแห่งฝ้ายดีมีคุณภาพ ฯลฯ สาระพัดจะเขียนกัน แต่อียิปต์ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานทอผ้าฝ้าย แม้แต่โรงงานเดียว และส่งออกฝ้ายเนื้อดีนี้ทั้งหมดไปที่อังกฤษ

คนอียิปต์ยังใช้ฝ้ายราคาถูกคุณภาพต่ำเหมือนเดิม อียิปต์ผลิตผ้าฝ้าย 1 ใน 3 ของความต้องการฝ้ายทั้งหมดของอังกฤษ และในปี ค.ศ. 1914 สินค้าออกของอียิปต์เป็นฝ้ายเสีย 85%

ตั้งแต่อียิปต์สร้างคลองสุเอช อียิปต์เริ่มมีหนี้ติดตัวไปทุกแห่ง แต่หนี้ของอียิปต์งอกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่อังกฤษเข้ามายึด อียิปต์ในปี ค.ศ. 1882 การแปลงอียิปต์เป็นแดนฝ้าย สร้างหนี้ให้อียิปต์อีกมหาศาล จากการสร้างระบบชลประทาน สร้างเขื่อน ทางรถไฟ ระบบขนส่ง ด้วยเงินของรัฐบาลอียิปต์ ที่อังกฤษเป็นดูแล

ในปี ค.ศ. 1898 อังกฤษตั้งธนาคารชาติแห่งอียิปต์ ชื่อเป็นอียิปต์ นอกจากไม่ได้เป็นธนาคารของชาติอียิปต์แล้ว ยังเป็นธนาคารของเอกชนอีกด้วย และเอกชนนั้น ก็ไม่ใช่คนอียิปต์ แต่เป็นคนอังกฤษ แต่ธนาคารชาตินี้มีสิทธิในการพิมพ์ธนบัตรอียิปต์ เหยื่ออย่างสมบูณ์แบบจริงๆ

เมื่ออียิปต์มีรายได้ ฝรั่งก็ตั้งหน่วยงาน เรียกว่าสำนักบริหารหนี้ของอียิปต์ เพื่อมาจัดเก็บรายได้นำไปชำระหนี้ ที่อียิปต์มีต่อผู้ให้กู้ต่างประเทศก่อน ถ้าออตโมมานเป็นคนป่วยของยุโรป อียิปต์น่าจะเป็นคนใกล้ตาย หรือตายซาก ในภูมิภาคนั้น

เห็นฝีมือเถือหนังแทะกระดูกเหยื่อต่าง ๆ ของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯแล้ว คงเข้าใจว่าทำไมผมเรียกมันอย่าง รังเกียจ เหยียดหยามเช่นนี้

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
13 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 4 ” อิยิปต์ 3

ตั้งแต่ ค.ศ.1882 เป็นต้นมา อียิปต์ก็กลายเป็นอาณานิคมของนักล่าชาวเกาะเต็มรูปแบบ แต่สถานะอียิปต์ภายนอกยังดูเหมือนเดิม ออตโตมานก็ยังนับอียิปต์เป็นส่วนหนึ่งของตนเหมือนเดิม อังกฤษเองในตอนนั้นกำลังคิดอยู่ว่าจะให้อียิปต์เป็นเมืองขึ้นของตนดีหรือไม่ คิดคำนวณรายรับรายจ่ายยังไม่ถูก เลยแค่ประกาศว่า ขณะนี้ เรา อังกฤษผู้เป็นจักรภพใหญ่ที่สุดในโลก อย่างที่ไม่มีผู้ใดจะเทียมทาน ได้มายึดครองอียิปต์เป็นการชั่วคราวแล้ว (Temporary occupation power) จึงประกาศมา ให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน! นี่เป็นจักรภพ จักรวรรดิ เขาต้องประกาศแบบนี้ !

ผู้ที่ใช้อำนาจปกครองอียิปต์ที่ผ่านมาคือ Khedive ก็เหมือนจะยอมรับในอำนาจอันยิ่งใหญ่ไพศาลของอังกฤษโดยไม่หือ อำนาจทั้งปวงในการบริหารและการฑูตก็เลยดูเหมือนเดินผ่านหน้า Khedive อย่างไม่เห็นหัว ตรงไปคุกเข่าต่อหน้าอังกฤษ ซึ่งให้ Major Baring มาเป็นผู้ดูแล ตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1883-1907
นายพัน Baring เป็นผู้มาทำหน้าที่ดูแลจัดเก็บเงินชำระหนี้ ( Commission of the Public Debt ) ทำหน้าที่อย่างดี เก็บเงินอียิปต์ไม่มีหล่นไปถึงชาวอียิปต์ จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นถึง Lord Cromer ใครที่เป็นนักอ่านประวัติศาสตร์คงจะเคยได้ยินชื่อนายคนนี้ ใหญ่เหลือประมาณ เป็นที่รู้กันว่า ช่วงนั้นอียิปต์ปกครองโดยระบอบ Cromer ( Cromer Regime) แสดงให้เห็นถึงความไร้อำนาจของรัฐบาลอียิปต์โดยสิ้นเชิง

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่ม อังกฤษต้องแสดงอำนาจเหนืออียิปต์ย่างเต็มที่ อังกฤษประกาศอย่างเป็นทางการให้อียิปต์เป็นรัฐในอาณัติของอังกฤษ ( Protectorate ) เพราะอังกฤษต้องการควบคุมคลองสุเอช ไม่ให้ฝ่ายเยอรมันมาใช้เป็นทางผ่าน อังกฤษประกาศปิดคลอง และเมื่อออตโตมานประกาศตัวเข้าสู่สงครามอยู่ฝ่ายเยอรมัน อียิปต์ก็มึนหัวไม่รู้ว่าจะปฎิบัติตามคำสั่งของใคร ดีว่าในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 อียิปต์ไม่ได้ต้องเล่นบทเป็นตัวเอก

แต่เมื่อสงครามโลกเสร็จสิ้น อียิปต์เห็นตัวอย่างของอาณาจักรออตโตมาน ความอยากเป็นอิสระจากออตโตมานและตะวันตกก็ค่อย ๆ เพาะตัวขึ้นในอียิปต์ อังกฤษต้องออกแรงยกทัพมาปราบหลายครั้ง ทั้งๆที่ช่วงนั้นอังกฤษอยากไปขุดน้ำมันที่ส่วนอื่นของตะวันออกกลางมากกว่า อียิปต์มีดีแค่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำหรับป้องกันอินเดีย กล่องดวงใจ กับเป็นแหล่งฝ้าย แต่ฝ้ายมันจะเทียบน้ำมันได้อย่างไร อังกฤษจึงคิดหนักว่าจะจัดการกับอียิปต์อย่างไรดี

ค.ศ.1922 อังกฤษตกลงใจว่า ควรจะให้อียิปต์เป็นอิสระ โดยมีผู้ปกครองประเทศเ ป็นพวกที่นิยมอังกฤษ ดีกว่าให้ชาวอียิปต์เรียกร้องอิสระภาพกันเอง แล้วเลือกพวกหัวรุนแรงรักชาติขึ้นปกครองอียิปต์ สมันน้อยอ่านตรงนี้แล้วคิดให้ลึก ๆ นะ

แล้วอังกฤษก็ประกาศให้อียิปต์พ้นจากเป็นรัฐในอาณัติของอังกฤษในปีนั้นเอง โดยสงวนสิทธิไว้ 4 เรื่อง คือด้านการคมนาคม ความมั่นคง ผลประโยชน์ของชาวต่างชาติ และเรื่องซูดาน

ดูเหมือนอียิปต์จะเป็นอิสระ แต่ก็เป็นภาพลวงตา เหมือนที่อังกฤษหลอกกับเหยื่อทุกราย ค.ศ. 1942 เมื่อกษัตริย์อียิปต์ต้องการจะแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งในความเห็นของอังกฤษ เป็นผู้ที่ต่อต้านอังกฤษอย่างรุนแรง อังกฤษจึงใช้วิธีให้มีการปฏิวัติซ้อน และให้กษัตริย์ตัดสินใจใหม่ แน่นอนคณะรัฐมนตรีที่กษัตริย์เลือก ก็เป็นไปตามที่อังกฤษเห็นชอบ !

ความสำคัญของอียิปต์ในสายตาของอังกฤษเริ่มเปลี่ยนไป เปรียบเทียบฝ้ายกันน้ำมัน อียิปต์ก็เหมือนนางงามตกรุ่น ต้องไปเล่นรำวงแทน แต่อย่างน้อยด้วยจุดยุทธศาสตร์ที่เอาไว้ระวังกล่องดวงใจ อังกฤษก็ยังเก็บอียิปต์ไว้ก่อน แต่เมื่อถึงปี ค.ศ.1942 เมื่ออินเดียประกาศอิสภาพ หลุดพ้นจากการเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การจะเก็บอียิปต์ไว้ ให้ต้องแบก ต้องเฝ้า มีค่าใช้จ่ายไม่คุ้มทุน เริ่มทำให้อังกฤษคิดหนัก แต่คลองสุเอชก็ไม่ได้ไร้ความหมายเสียสิ้นเชิง

สาเหตุหนึ่งที่สร้างให้เกิดขบวนการมุสลิมหัวรุนแรงในอียิปต์ ก็มาจากการที่อังกฤษสร้างอิสราเอลให้ยิวมาจ่ออยู่ปลายจมูกของอียิปต์นั่นแหละ ชาวอียิปต์จะรับได้อย่างไร เดี๋ยวๆก็มีการมากระตุกขนจมูกกันอยู่เรื่อย มุสลิมหัวรุนแรง จึงต่อต้านชาวอียิปต์ที่นิยมอังกฤษและชาวอังกฤษเอง เหตุการณ์ประท้วงนี้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ขนาดนายกรัฐมนตรีอียิปต์ถูกลอบฆ่าในปี ค.ศ.1948 ปี ค.ศ.1951 อียิปต์อยู่ในภาวะฉุกเฉิน อังกฤษส่งกองทัพเข้ามาปราบ แต่ฝั่งอียิปต์ก็สู้ต่อ ในที่สุดก็ถึงจุดระเบิด ในปี ค.ศ.1952 เมื่อ Col. Nasser นำกองทัพเข้าไปยึดเมืองและขับไล่ราชวงศ์ออกไป

Nasser เอง อันที่จริงไม่ได้เป็นฝ่ายที่ไม่เอาอังกฤษ เขาออกจะอยู่ตรงกลางและดูเหมือนจะไปกับตะวันตกได้เสียด้วยซ้ำในตอนแรก เขาพยายามเจรจาให้อังกฤษถอนทัพไปจากอียิปต์อย่างสวย และในปี ค.ศ. 1954 ก็ได้มีการลงนามในสัญญา Anglo Egyptian Treaty ซึ่งอังกฤษตกลงที่จะทยอยถอนทัพออกไปจากอียิปต์ แต่สงครามเย็นต่างหากที่ทำให้ Nasser เองทนคบกับฝั่งตะวันตกไม่ไหว

การที่อิสราเอลกระแทกจมูกอียิปต์ที่ฉนวนกาซ่าบ่อยๆ มันเป็นสิ่งที่ Nasser รำคาญใจ แต่ยังเกรงใจอังกฤษ แม้อังกฤษจะเป็นคนเริ่มก่อเรื่อง Nasser เป็นคนมีเหตุผล เขาพยายามสาวจากผลไปหาเหตุ อิสราเอลเป็นซี้ของอเมริกา อเมริกาเป็นพวกกับอังกฤษ มันเป็นวงจรที่พัวพันแกะไม่ออกกระนั้นหรือ Nasser เริ่มหน่าย เมื่ออเมริกาสนับสนุนยิวให้กระทุ้งจมูกอียิปต์บ่อยๆ อียิปต์ก็หันไปหารัสเซียศัตรูของอเมริกาบ้าง เป็นการแก้แค้น

รัสเซียตอบสนอง ให้การสนับสนุนอียิปต์ด้านการทหาร คราวนี้อเมริกาเป็นฝ่ายหงุดหงิดบ้าง และก็เป็นตามนิสัยสันดาน หงุดหงิดแล้วต้องแสดงอำนาจ อเมริการะงับการปล่อยเงินกู้สำหรับเขื่อน Aswan และสั่งให้อังกฤษหยุดปล่อยเงินกู้เช่นเดียวกัน อังกฤษไม่ขัดใจอเมริกา เพราะอังกฤษก็กำลังขัดใจ Nasser และ Nasser ก็เลยขัดใจบ้าง เลยประกาศยึดหุ้นคลองสุเอชทั้งหมดกลับมาเป็นของรัฐ

คราวนี้อังกฤษขัดใจหนักกว่า ส่งกองทัพมาบุกอียิปต์ เดือนตุลาคม ค.ศ.1956 Suez war ก็เกิดขึ้น ฝั่งอังกฤษเช็คชื่อแล้วมาพร้อมหน้าทั้งอเมริกา ฝรั่งเศส และอิสราเอล Nasser ก็หันกลับไปยุอัลจีเรีย ให้ต่อต้านฝรั่งเศส ในที่สุด Suez war ก็สงบ กองทัพ Nasser น่วม แต่ Nasser ไม่คืนหุ้นและอียิปต์ก็ครอบครองคลองสุเอชแต่ผู้เดียว เป็นสมบัติของประเทศอียิปต์อย่างเต็มภาคภูมิ และก็ทำให้อังกฤษตัดใจได้ในที่สุด ที่จะล้างมือจากอียิปต์ ผลประโยชน์ที่ได้มีไม่มากพอ ขุดเขามาจนเกลี้ยงแล้ว ไปหาเหยื่อที่มีน้ำมันต่อดีกว่า แล้วอังกฤษก็ทิ้งอียิปต์ไปดื้อๆเช่นนั้น

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
13 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 5” อิหร่าน 1

อิหร่านตกเป็นเหยื่อ ของเหล่านักล่าสาระพัดสัญชาติ มากว่า 100 ปีแล้ว ตั้งแต่ข่าวเรื่องนายD'Arcy ถูกนักล่า จากเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ เอาลงหม้อตุ๋น เล็ดรอดไปเข้าหู หน่วยสืบราชการลับของชาติต่าง ๆ

เมื่อเริ่มศตวรรษที่ 19 อิหร่านยังเป็นประเทศที่ล้าหลังอยู่มาก ชาวบ้านซึ่งมีหลายเผ่าพันธ์ ยังอาศัยอยู่แถวนอกเมือง และทำงานประเภทอาบเหงื่อแทนน้ำ พวกเขานับถือศาสนาเดียวกัน แต่ก็ไม่ถึงกับเคร่งครัด และมีการปกครองโดยผู้ครองนคร

ย้อนไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา อิหร่านโดนต่างชาติบุก และยึดครองดินแดนอยู่เสมอโดยพวกตะวันตก โดยเฉพาะอังกฤษและรัสเซีย การแย่งชิงอิหร่านระหว่าง 2 คู่ชิง หนักข้อขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา แต่ยังไม่มีเรื่องน้ำมันมาเกี่ยวข้อง มันมีสาเหตุ มาจากภูมิศาสตร์ที่ตั้งของอิหร่านเป็นหลัก

สำหรับอังกฤษ อิหร่านเป็นเส้นทางสำคัญ ที่เชื่อมอังกฤษชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ กับอินเดีย กล่องดวงใจ และเป็นที่เหมาะ สำหรับจะวางไม้ขวาง กันไม่ให้รัสเซียขยายอำนาจเข้ามา ส่วนรัสเซียก็มองว่าอิหร่านเป็นด่านสำคัญ ที่จะไม่ให้ใครแหลมเข้ามาในรัฐเล็ก รัฐน้อยของตัวเอง ที่อยู่ทางภาคใต้ของรัสเซีย โดยเฉพาะพวกหน้าซีดเหมือนปลาตาย ทิ้งค้างอยู่บนเกาะ

แม้อังกฤษจะพยายามปิดข่าว เรื่องการไปตั้งหม้อต้มตุ๋นคนกันเอง อย่างนายD'Arcy เพื่อซื้อสัมปทานน้ำมันในราคาถูก แต่ความลับยิ่งปิด ก็ยิ่งรั่ว ข่าวการต้มตุ๋นคนกันเอง กระฉ่อนไปเข้าหูนักล่าทุกสัญชาติ ต่างก็พากัน พกมีด เตรียมไม้ มุ่งหน้ามาอิหร่านเป็นแถว หวังจะได้เหยื่อ ส้มหล่นแบบอังกฤษบ้าง

อังกฤษกับรัสเซีย เขม่นหน้ากันมานาน แต่เมื่ออังกฤษมีแผนจะถล่มออตโตมาน และต้องการรัสเซียมาร่วมเข้าฉาก ค.ศ.1907 อังกฤษกัดฟันตกลงกับรัสเซีย ทำสัญญาลับ “Convention of St. Petersburg ที่จะแบ่งอิหร่านระหว่างกัน รัสเซียจับไม้สั้นได้ส่วนเหนือ อังกฤษจับไม้ยาวได้ส่วนใต้ แต่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ จับไม้ไหน รัสเซียก็คงได้ส่วนเหนือของอิหร่านทั้งนั่นแหละ ก็อังกฤษเป็นฝ่ายเตรียมไม้ให้จับเอง ทางใต้ของอิหร่าน ที่อังกฤษล๊อกเอามาปรากฎว่าเต็มไปด้วยแหล่งน้ำมัน การจับไม้สั้นไม้ยาวนี้ เป็นการจับกันเองระหว่างพวกตะวันตก รัฐบาลอิหร่านไม่รู้เรื่องด้วย ยิ่งชาวอิหร่านยิ่งไม่รู้เรื่องใหญ่ ยังนอนหลับฝันร้ายกลางทะเลทรายอยู่เลย

แล้ว Anglo Persian ก็เริ่มผลิตน้ำมันได้ในปี ค.ศ. 1908 อิหร่านเป็นประเทศแรกในตะวันออกกลาง ที่สามารถผลิตน้ำมันขายได้ แต่รายได้ค่าน้ำมันไปอยู่ที่ไหน ต้องแจงกันไหม

เมื่ออังกฤษสามารถเปลี่ยนให้กองทัพเรือ มาใช้น้ำมันเป็นพลังงานแทนถ่านหิน น้ำมันยิ่งกลายเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้กองทัพเรืออังกฤษก้าวขึ้นไปสู่การเป็นเจ้าแห่งทะเลอย่างเต็มภาคภูมิ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลงโดยเยอรมันแพ้ลุ่ย อังกฤษ ถึงกับประกาศว่าฝ่ายสัมพันธมิตร ลอยตัวไปบนน้ำมันสู่ชัยชนะ (ไอ้พวกชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ นี่ ทั้งขี้โกง ขี้โม้ น้ำมันต้มเขามา น่าจะบอกให้ครบ )

แต่น้ำมันไม่ใช้เป็นอาวุธหรือส่วนสำคัญ ในการชนะสงครามเท่านั้น น้ำมันกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขัน สู่การเป็นหมายเลขหนึ่งของการครองโลกไปด้วย ตะวันออกกลาง จึงกลายเป็นเหมือนชุมทางโจร เป็นแหล่งล่าเหยื่อ ที่สร้างอนาคตใหม่ให้เหล่านักล่า อย่างเหลือเชื่อ หลอด Churchill ถึงกับบอกว่า น้ำมันอิหร่านเหมือนเป็นของขวัญที่เทวดาประทานให้ เกินความนึกฝันจริง ๆ
แต่ความเป็นอยู่ของเจ้าของแผ่นดิน ช่างต่างกับผู้ได้รับของขวัญ อย่างเหลือเชื่อเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ชาวอิหร่านที่ทำงานอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน Anglo – Persian นาย Manucher Farmfarmaian ได้เขียนเล่าถึง โลกของผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินกับผู้ได้รับของขวัญไว้ดังนี้ :
“ค่าแรงคือวันละ 50 เซ็นต์ ต่อวัน ไม่มีการจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อน ไม่มีการให้ลาป่วย ไม่มีค่าชดเชยหากพิการ คนงานอาศัยอยู่ในกระท่อมที่ Kaqhazabad โดยไม่มีน้ำและไฟฟ้า ไม่ต้องพูดถึงของฟุ่มเฟื่อย เช่น น้ำแข็ง หรือพัดลม หน้าหนาวน้ำจะท่วมพื้นดิน ค้าง บริเวณกว้าง เหมือนเป็นทะเลสาบ โคลนในเมืองสูงเท่าหัวเข่า และต้องใช้เรือขนส่ง แล่นไปตามถนน ที่เต็มไปด้วยน้ำเพื่อขนส่ง หน้าร้อนยิ่งแย่กว่า ที่พักซึ่งถูกเขม่าน้ำมันเกาะกันเป็นแผ่นหนาเตอะ ทำให้กระท่อมร้อนระอุเหมือนเตาอบ และมีกลิ่นเหม็นหื่นของน้ำมันเผาเก่า ๆ...

ส่วนที่พักของชาวอังกฤษอยู่ใน Abadn เป็นบ้านใหญ่โต มีสนามสวยงาม มีแปลงดอกกุหลาบ สนามเทนนิส สระว่ายน้ำ และสโมสร แต่ที่ Kaqhazabad ไม่มีอะไรเช่นนั้น ไม่มี... ไม่มีแม้แต่ที่อาบน้ำ ไม่มีแม้แต่ต้นไม้สักต้น ...”

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
14 ก.ย. 57


ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 5” อิหร่าน 2

ความทารุณโหดร้าย และการดูถูกเหยียดหยามของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ กระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกต่อชาวอิหร่าน เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ. 1905 ตั้งแต่อังกฤษเริ่มย่างก้าวแรกเข้ามาในอิหร่านนั่นแหละ ชาวอิหร่านทนไม่ไหวลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้าน ในที่สุด Shah ผู้ปกครองรัฐอิหร่านก็ยินยอมให้มีรัฐธรรมนูญ และล้มเลิกระบบที่กษัตริย์เป็นผู้มีสิทธิในการปกครองแต่ผู้เดียว

แต่การปกครองโดยรัฐธรรมนูญนี้ ก็อยู่ไม่ได้นาน ค.ศ. 1908 Shah ได้นำกองทหาร Cossack จากรัสเซียมาช่วยขับไล่รัฐบาล Majlis ออกไป แต่ชาวอิหร่านก็ยังไม่ยอมหยุด ในที่สุดเมื่ออังกฤษกับรัสเซีย จับมือกันตามแผนถล่มออตโตมาน กองทัพอังกฤษและรัสเซียก็เป็นผู้ปฏิบัติการ กวาดล้าง และปิดตายรัฐสภาประชาชน จับขังฝ่ายรัฐบาล และอุ้มเอา Shah ขึ้นมาเป็น (หุ่น) ผู้ปกครองประเทศมีอำนาจบริหารแต่ผู้เดียว ต่อไปใหม่อีกรอบ

ระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 1 อิหร่านก็ต้องเข้าฉากร่วมเล่นสงครามด้วย แม้จะไม่ได้บทเป็นตัวเอก แต่เนื่องจากมีบ่อน้ำมัน กองทัพอังกฤษจึงยกพลกันมาเต็ม อิหร่าน เพื่อปกป้องบ่อน้ำมันอิหร่าน ที่อังกฤษถือว่าตนเองเป็นเจ้าของ

ตามข้อตกลงหลอกเหยื่อ อังกฤษกล่อมรัสเซียให้มาร่วมรายการขยี้เยอรมัน และออตโตมาน โดยตกลงจะยกออตโตมานให้รัสเซีย และทำสัญญาสุดชั่ว Syke-Picot แบ่งเค้กออตโตมานตะวันออกกลาง แต่เมื่อสงครามโลกจบ รัสเซียมีการปฏิวัติโดยพวกบอลเชวิก ฝ่ายปฎิวัติบอกไม่สนใจข้อตกลงที่พวกซาร์ไปทำไว้กับอังกฤษ ฝ่ายปฏวัติกลับสนับสนุนชาวอิหร่านให้ต่อต้านการครอบครอง ของพวกนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ และพร้อมที่จะสนับสนุนชาวอิหร่านให้ได้อิสรภาพ

อังกฤษทนไม่ได้ ถลาเข้ามาแก้ตัวจนลิ้นพันกัน พร้อมเริ่มขบวนการโฆษณาชวนเชื่อในอิหร่าน บรรยายความเลวร้ายของลัทธิคอมมิวนิสต์ออกสื่อทุกวัน เพื่อกันไม่ให้พวกบอลเชวิก เข้ามาในอิหร่าน โดยเฉพาะทางด้านเหนือที่ติดกับเขตแดนของรัสเซีย

ในที่สุด อังกฤษตัดสินใจเลิกใช้ไม้นวม เข้าไปควบคุมสถานการณ์ในอิหร่าน โดยคว้าข้อมืออิหร่าน จับให้ทำสัญญา Anglo – Persian Agreement

เมื่อ ค.ศ. 1919 ให้อังกฤษมีสิทธิควบคุมเหนืออิหร่าน ในด้านกองทัพ การคลัง และระบบการขนส่งทั้งหมด และเพื่อให้แน่ใจว่าอำนาจอยู่ในมือเต็มทั้ง 2 มือ อังกฤษประกาศกฎอัยการศึก และเริ่มให้มีการใช้ธนบัตรในการซื้อขาย

โอ้โห นี่ขนาดเพิ่งต้มตุ๋น ได้น้ำมันมาบ่อเดียวนะ ยังปฏิบัติการเฉียบขนาดนี้เลย นี่ถ้ามี หลายบ่อ หลายหลุม เรียงกันเป็นพรึด มันจะคุมประเทศเขาเข้มขนาดไหนหนอ..

แต่ชาวอิหร่านก็ดูเหมือนจะไม่ได้พร้อมใจ จะอยู่ใต้อุ้งมือของชาวเกาะใหญ่ฯ พวกเขาพยายามต่อต้าน แต่แล้วใน ค.ศ. 1921 เมื่อการต่อต้านรุนแรงขึ้น แถมศึกชิงน้ำมันของกลุ่มนักล่าหน้าใหม่จากอีกฝั่งหนึ่ง ของ มหาสมุทรแอตแลนติก เริ่มดุเดือดเลือดพล่านขึ้น อังกฤษปรับแผนใหม่อีกรอบ

สนับสนุนให้มีการปฏิวัติโดย Reza Khan ซึ่งภายหลังประกาศตั้งตัวเองเป็น Shah คนใหม่ ในปี ค.ศ. 1926 เป็นต้นราชวงศ์ Pahlevi หุ่นเชิดของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยของเท้าซ้าย
Shah ใช้ความเหี้ยมโหด ข่มเหง กดขี่ ประชาชนต่อไป ภายใต้การหนุน และชักใยของนักล่าชาวเกาะฯ

แหม ! แผมใหม่นี่ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ยุซ้าย เสี้ยมขวา ให้พวกมันก็ตีกันเอง แล้วเราก็ขุดน้ำมันรวยไป เรื่อย ๆ สบายใจดี ฮ่า ฮ่า อร่อยนุ่ม เคี้ยวเพลิน !

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
14 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 6” ซาอุดิ 1

คิดจะครองโลกก็ต้องมีน้ำมัน ใช่ว่าอังกฤษ ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ รายเดียว ที่จมูกดีได้กลิ่นน้ำมัน อเมริกาก็ส่ายจมูก สูดหากลิ่นอยู่เหมือนกัน

ค.ศ.1909 กระทรวงต่างประเทศของอมริกา ตั้งหน่วยงานใหม่เอี่ยม Division of Near Eastern Affairs เพื่อมารับหน้าที่ หาทางดำเนินการผูกสัมพันธ์ทางการฑูตกับตะวันออกกลาง และช่องทางทำมาหากิน จริงๆก็คือหาทางไปขโมยน้ำมันของพวกเหยื่อนั่นแหละ

บริษัทน้ำมัน อเมริกา Standard oil Company of New York (Socony) และ Standard oil of New Jersey (Jersey Standard) พยายามจะแทรกตัวเข้าไปในตะวันออกกลางมาหลายรอบ หลายวิธี แต่เจอไม้ขวางของอังกฤษทิ่มเข้าเต็มอก ในการประชุมที่ San Remo เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1920 เพื่อแบ่งเค้กออตโตมานภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบฉากลง ต้องหยุดพัก ตั้งหลัก วางแผนการบุกใหม่

ตั้งแต่ได้กลิ่นน้ำมันโชยมาจากตะวันออกกลาง เหล่านักล่า ตกลงกันว่า ตามสบายนะพวก ใครแขนยาวยึดได้ถึงไหน ก็เชิญตามสดวก เรียกว่านโยบาย Open Door Policy เริ่มใช้ตั้งแต่ ค.ศ.1899 แล้วไงล่ะ ชาวเกาะใหญ่ฯ พอได้ดี ต้มเขาซะ เปื่อย ได้สัมปทานมาเต็มสองมือ ดันมาถีบเพื่อนร่วมรบทิ้งซะง่ายๆอย่างงั้น

อเมริกา นักล่าหน้าใหม่ไม่ยอมแพ้ จัดทัพบริษัทนักขุด 7 บริษัท ตกลงกันเอง ไขว้หุ้นกันไป ไขว้กันมา ตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ Near East Development Corporation ขึ้นมา ฟังแต่ชื่อ ก็น่าจะพอรู้ว่าใครหนุนหลัง แต่ในที่สุด Standard Oil Company of New York และ Standard Oil of New Jersey ก็เข้าไปซื้อหุ้นใน Near East Development มาเป็นของตัวเองทั้งหมด หลังจากนั้นก็กลับมาเผชิญหน้ากับอังกฤษ ชาวเกาะใหญ่ฯ ตบโต๊ะถาม จะเอายังไงลูกพี่ คิดให้ดีๆ หนี้ก็ยังมีอยู่ น้ำมันก็ยังขุดไม่เจอ อยากได้มิตร หรือ อยากได้ศัตรู ชื่อ อเมริกา ?!

ชาวเกาะใหญ่เท่า ปลายนิ้วก้อยฯ ทำกร่างต่อไปไม่ไหว หลังจากเจอศึกต้านแถวตะวันออกกลาง ทยอยมาเป็นระรอกๆ รบคนเดียวเหนื่อยเว้ย อังกฤษหันมาใช้สูตรเดิม เราแค่ถือไม้เสี้ยม เอาคนอื่นออกหน้าไปรบแทน แล้วเราค่อยเก็บเกี่ยวสบายๆ เหมือนเมื่อก่อนน่าจะดีกว่านะ

อังกฤษจึงกัดฟัน ตัดใจได้ในปี คศ 1928 แบ่งหุ้นในTurkish Petroleum Company ที่ตัวเองถืออยู่มากที่สุดให้บริษัท Near East Development Corporation ไป 23.75% ของหุ้นทั้งหมด เหมือนเป็นการตัดสินใจแบบมองการณ์ไกล ของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ แต่บางที่อาจจะใช้กล้องส่องทางไกลมองกลับทาง !

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
15 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 6” ซาอุดิ 2

ชาวเกาะใหญ่ฯ ใช้ชื่อ Anglo – Persian Oil Company (APOC) และ Turkish Petroleum Company (TPC) เป็นตัวแทนในการควบคุมแหล่งน้ำมันที่ตัวเองฮุบมาในอิหร่านและอิรัก

ใน ส่วนของ Turkish Petroleum เอง อังกฤษใช้ชื่อ Anglo – Persian Oil Company ถือหุ้น 47.5% ที่เหลือเป็นของพวกดัชท์ 22.5% ฝรั่งเศส 25% และอาร์มาเนียน 5% เมื่อแบ่งให้อเมริกาไป 23.75% ส่วนของอังกฤษอย่างเป็นทางการจึงเหลือ 23.75% เท่ากับอเมริกา เหมือนนักล่าชาวเกาะใหญ่ฯจะใจดีกับอเมริกานักล่ารุ่นใหม่ เกินสันดาน

อังกฤษ ไม่ได้แบ่งหุ้นให้อเมริกาด้วยความเสน่หา แต่เป็นการล่อให้อเมริกาเดินเข้าไปติดกับดัก ที่วางเอาล่อไว้ ผู้ถือหุ้นใน Turkish Petroleum Company (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Iraqi Petroleum Company) ต้องเซ็นสัญญาเรียกว่า Red Line Agreement ห้ามผู้ถือหุ้นแข่งขันกันขุดน้ำมันในบริเวณต้องห้าม คือ ตุรกี อิรัก เลบานอน ซีเรีย จอร์แดน ปาเลสไตน์ และซาอุดิอารเบีย รายหลังนี่สำคัญ แหม! คุณพี่ชาวเกาะฯ แบบนี้มันก็เกือบหมดตะวันออกกลางไปแล้ว ถึงว่า เหมือนจะใจดีกับน้องใหม่ ที่ไหนได้ เขารักกันแบบนี้เอง !

บังเอิญ Gulf Oil บริษัทน้ำมัน ไม่ใหญ่ไม่เล็กของอเมริกา เกิดไปได้สัมปทานจากบาห์เรน และคูเวต อังกฤษชาวเกาะใหญ่ฯ ก็คัดค้านอีก อ้าว ! ก็ไม่อยู่ในเขตเส้นแดงต้องห้ามนี่หว่า จะมาโวยวายได้ไง Gulf Oil ขอให้กระทรวงต่างประเทศของอเมริกา เข้ามาช่วยจัดการ

ในที่สุด Gulf Oil ก็โอนสิทธิสัมปทานที่ได้มาจากบาห์เรน ให้แก่ Standard Oil of California (SOCAL) ที่ไม่อยู่ในสัญญา Red Line อังกฤษถึงกับอ้าปากค้าง พูดไม่ออก นี่ถ้ารู้ว่า Gulf Oil ก็คือหน้าม้าของ Standard Oil ที่ตั้งขึ้น เพื่อแอบยื่นเท้าเข้าไปในบาห์เรน ไม่ให้อังกฤษรู้ตัว อังกฤษคงถึงกับช้ำใน SOCAL ใส่เสื้อเกราะหลายชั้น ทั้งปลอมตัว ทั้งเลี่ยงกฏหมาย ตั้งบริษัท ใหม่ ชื่อ Bahrain Petroleum Company ตามกฏหมายของแคนาดา มารับสัมปทานจากบาห์เรนแทน ค.ศ.1932 Bahrain Petroleum Company ก็เริ่มขุดน้ำมันได้

อเมริกาเร่งเครื่อง รุกต่อที่คูเวต ซึ่งขณะนั้นยังเป็นรัฐที่อยู่ในอาณัติปกครองของอังกฤษ อังกฤษเองกำลังปวดหัว กับการเริ่มลุกขึ้นมาแข็งข้อของพวกอาหรับ คิดยี่ต๋อกแล้ว มีอเมริกามาเป็นพวก แถมมีโอกาสได้น้ำมันเพิ่ม น่าจะแสดงเดี่ยว ในที่สุด ค.ศ.1934 อเมริกา อังกฤษ ก็จับมือกันตั้ง Kuwait Oil Company ถือหุ้นฝ่ายละ 50 เท่ากัน

น้ำมันในบาห์เรน ทำให้อเมริกานักล่าหน้าใหม่ถึงกับซูดปาก ฉวยโอกาสขณะที่อังกฤษกำลังโดนศอกจากเหยื่อ เอะ ! หรืออเมริกาช่วยสอนวิธีศอกกลับ ให้พวกเหยื่อของชาวเกาะใหญ่ด้วย Standard Oil of California (SOCAL) ไม่ได้ถูกล็อคคอทำสัญญาเขตเส้นแดง แอบไปคอยดักคำนับ สวัสดีกับ King Ibn Saud ของซาอุดิอารเบีย

แม้ซาอุดิอารเบียจะตั้งเป็นรัฐเอกราชตั้งแต่ ค.ศ.1931 แต่อเมริกาก็ยังไม่เคยมีสัมพันธ์อย่างเป็นทางการด้วย อเมริกาถือว่าเป็นนักล่าหน้าใหม่ กำลังเรียนงาน เรียนวิธีล่าเหยื่อจากลูกพี่ชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ การเรียนวิธีการล่าเหยื่อของอเมริกาน่าสนใจ

ขณะนั้นอเมริกาส่งนาย Bert Fish เข้าเป็นกงสุลอยู่ในอิยิปต์ มีหน้าที่สอดส่องกิจกรรมแถบตะวันออกกลาง คุณ Fish คงเคยอยู่แต่ในน้ำ มาว่ายแถวทะเลทรายเลยไม่คล่องตัว เขาเคยไปเยี่ยมเมือง Jidda ของซาอุดิอารเบีย 1 ครั้ง ได้มีโอกาสพบผู้ก่อตั้งและผู้นำรัฐ คือ กษัตริย์ Alb al-Aziz bin al-Rahman al-Saud หรือเรียกย่อๆว่า Ibn Saud แต่คุณปลามองผ่าน โดยไม่รู้ตัวว่าเดินไปสะดุดเอาเจ้าของแหล่งใหญ่ ของสิ่งมหัศจรรย์มีค่าของโลก คงนั่งรอให้น้ำขึ้นกลางทะเลทรายไปเรื่อยๆ
แต่กลับกลายเป็น กษัตริย์ Ibn Saud เองที่เล็งเห็นอาวุธที่มองหามานาน

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
15 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 6” ซาอุดิ 3

กษัตริย์ Ibn Saud เป็นอาหรับพวกที่ไม่ได้รวมวงกับ Sharif Hussien ในขบวนการเดินลงหม้อต้มของอังกฤษ แถมมองว่า Sharif Hussein หาเรื่องใส่ตัวเอง เชื่อเข้าไปได้ยังไงกับนักล่าชาวเกาะฯ กษัตริย์ Ibn Saud รังเกียจอังกฤษแบบเข้าไส้ และหาทางที่จะกำจัดอิทธิพลของอังกฤษให้หมดไปจากตะวันออกกลาง มีไอ้หน้าขาวผมทอง ละอ่อนหน้าใหม่โผล่เข้ามา Ibn Saud คิดว่า อเมริกาน่าจะเป็นผู้ใช้ไม้กวาดและแปรงถู ขจัดคราบชาวเกาะใหญ่ให้หมดไปจากตะวันออกกลางได้ เสียดายคุณปลา มัวแต่มองหาคลื่นในทะเลทราย แต่เขาว่า เวลาของใครจะมา มันก็มา แล้ว “moment” ของอเมริกาในตะวันออกกลางก็คงจะใกล้มาถึง

นาย Charles R. Crane เศรษฐีชาว Chicago ผู้ร่วมทำรายงาน King Crane เดินสำรวจความเห็นชาวอาหรับไปทั่วตะวันออกกลางในช่วง ค.ศ.1917 ว่าชาวอาหรับอยากจะฝากไข้ฝากครัวไว้กับใคร เดินไป ถามไป สำรวจไป ฝังหัวไป ชาวอาหรับหลายเผ่า จึงเฝ้าคอยให้อเมริกามาแทนที่อังกฤษและฝรั่งเศสในตะวันออกกลาง

กษัตริย์ Ibn Saud แม้จะเกลียดอังกฤษนักล่าชาวเกาะเข้าไส้ แต่ก็มีที่ปรึกษาเป็นชาวอังกฤษ ซื่อนาย St. John Philby ซึ่งได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม แล้วนาย Philby แนะนำกษัตริย์ให้เชิญนาย Crane ซึ่งยังคงขี่อูฐเอ้อระเหย อยู่แถบตะวันออกอยู่มาคุยกัน (แผนนี้วางได้เนียนดี)

กษัตริย์ Ibn Saud ต้องการถามความเห็นของนาย Crane ถึงความเป็นไปได้ของการสำรวจ ขุดเจาะ แผ่นดินอันแสนยากจนของตนดูว่า มันมีของมีค่าอะไรอยู่ข้างใต้นี้บ้าง เช่น น้ำ เราแห้งแล้งมาก เราอยากรู้ว่าประเทศเรามันจะมีโอกาสโชคดีกับเขาบ้างไหม

นาย Crane รีบหยิบผ้าเช็ดหน้าปาดน้ำลาย ซับเหงื่อ นี่ก็คงเป็นของขวัญที่เบื้องบนประทานมา เขารีบเรียกตัววิศวกรเหมืองแร่มา Jidda ด่วนที่สุด แล้วการขุดเจาะแผ่นดินของซาอุดิอารเบีย ก็เริ่มดำเนินการ ภายใต้การอำนวยการและทุนอุดหนุนของนาย Charles R. Crane

ในเดือน พฤษภาคม ค.ศ.1933 มีโทรเลขแจ้งไปทางอเมริกาว่า การเจรจาระหว่างตัวแทนของ Standard Oil of California (SOCAL) กับรัฐมนตรีคลังของซาอุดิ สรุปได้แล้วว่า ตกลง กษัตริย์ Ibn Saud มอบสัมปทานการขุดน้ำมันให้แก่ SOCAL เป็นระยะเวลา 60 ปี ครอบคลุมเนื้อที่ 360,000 ตารางไมล์ และมีสิทธิจะขยายไปได้อีก 80,000 ตารางไมล์ โดยต้องใช้สิทธิภายใน ค.ศ.1939 ส่วนนาย Philby ก็รับทั้งค่านายหน้าและเงินเดือนจาก SOCAL กระเป๋าอวบ หน้าอิ่มสบายไปทั้งชาติ เอะ นักล่าชาวเกาะใหญ่ฯหล่นหายไปไหน ทำไมถึงตกรอบ!

ในปี ค.ศ.1938 Aramco ก็ขุดเจาะน้ำมันรุ่นแรกขึ้นมาได้เป็นจำนวนมากพอที่จะทำการค้าขายได้ และปีต่อมาการส่งออกน้ำมันจากหลุมเจาะนี้ ก็เกิดขึ้น

SOCAL ใช้บริษัทในเครือเป็นผู้รับสัมปทาน ชื่อ California-Arabian Standard Oil Company (CASOC) ซึงตอนหลังรู้จักกันในชื่อ “Aramco” Aramco จดทะเบียนในอเมริการัฐ Delaware ดังนั้นสมุดบัญชีต่างๆของบริษัท จึงลงรายรับรายจ่ายเป็นเงินเหรียญสหรัฐ ไม่ใช่เงินปอนด์ของอังกฤษ และดอลล่าร์ จึงกลายเป็นมาตรฐาน ในการซื้อขายน้ำมัน ในตะวันออกกลาง และแสดงถึงอำนาจของอเมริกา กำลังก้าวมาวัดรอยเท้าอังกฤษในตะวันออกกลางอย่างกระชั้นชิด

SOCAL มองไกล ตั้งแต่เริ่มแรก ถึงปลายทางจะเป็นรางวัลใหญ่ แต่เล่นคนเดียวทั้งหมดอาจจะพังกลางทาง จึงจับมือกับ Texas Company (TEXACO) ตั้งแต่ ปี ค.ศ.1933 TEXACO ยอมร่วมหัวจมท้ายกับ SOCAL ซื้อหุ้น 50% ใน California-Arabian และอีก 50% ใน Bahrain Petroleum

ในปี ค.ศ.1934 บริษัทน้ำมันอเมริกาก็ครอบครองแหล่งน้ำมันในส่วนใหญ่ในตะวันออกกลาง
- Near East Development ถือหุ้น 23.75% ใน Turkish Petroleum Company
- Gulf Oil ถือหุ้น 50% ในสัมปทานที่คูเวต
- สัมปทาน Bahrain และ Saudi Arabia อยู่ในมือของ Standard Oil California และ Texas Company

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
15 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 6” ซาอุดิ 4

ซาอุดิอาราเบีย เหมือนสามล้อถูกหวย อยู่ดีๆเงินหล่นใส่หัว ตั้งตัวไม่ทัน นับเงินไม่ถูก เดี๋ยวๆก็เงินขาดมือ กษัตริย์ซาอุดิ ก็เลยต้องขอให้อเมริกาจ่ายเงินค่าสัมปทานล่วงหน้าอยู่เรื่อย อเมริกาก็หงุดหงิด แต่ไม่กล้าออกอาการ เดี๋ยวสัมปทานหลุดมือ

ค.ศ.1937 บริษัทน้ำมันอเมริกา วิ่งไปหารัฐบาลอเมริกา บอกว่า เราต้องสร้างสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับซาอุดิเสียทีแล้ว จะได้ช่วยดูแลธุรกิจและคนอเมริกัน ที่เข้าไปทำงานขุดน้ำมันอยู่ในซาอุดิ ยังกะเป็นเมืองอเมริกันเล็กๆอยู่ในนั้นแล้วนะ กระทรวงต่างประเทศอเมริกาบอก ยังก่อน !

ค.ศ.1939 กษัตริย์ซาอุ ฉลองการก่อสร้างท่อน้ำมันยาว 49 ไมล์ จากแคมป์ของบริษัทน้ำมันอเมริกันยาวไปถึงอ่าวเปอร์เซีย ในวันฉลอง ฝ่ายอเมริกันมีแต่เจ้าหน้าที่บริษัท ไม่มีตัวแทนของรัฐบาลมาด้วย แต่กษัตริย์บอกไม่เป็นไร เราก็ไม่ชอบคุยกับพวกรัฐบาล เราเข็ดจากพวกรัฐบาลของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อยฯ ยิ่งไม่หาย เรารังเกียจอังกฤษกับฝรั่งเศสอย่างบอกไม่ถูก อันที่จริงเราไม่ชอบคนตะวันตกทั้งนั้นแหละ ที่เราให้สัมปทานกับอเมริกา ก็เพราะท่านยื่นประมูลได้สูงถึงใจเราเท่านั้น

เมื่อกระทรวงต่าง ประเทศอเมริกา ยังไม่เปิดสัมพันธ์กับทางซาอุดิอารเบียเต็มรูปแบบ ยังใช้เมืองไคโร อิยิปต์ เป็นสถานกงสุลคอยประสานงาน บริษัทน้ำมันคิดว่า น่าจะใช้วิธีเดียวกับอังกฤษ ( ที่ตั้ง บริษัท East India ดูแลกิจการในอาณานิคม) จึงตั้งหน่วยงานของตนเองชื่อ “Government Relations Organization (GRO) ขึ้น หน่วยงานนี้เป็นตัวกลางคอยประสานงานระหว่างซาอุดิอารเบีย รัฐบาลอเมริกา และบริษัทน้ำมัน ในที่สุด GRO ก็ได้กลายเป็นที่ปรึกษาใหญ่ ของซาอุดิอารเบีย ในการสร้างทางรถไฟและด้านเกษตรกรรม

ระหว่างที่อเมริกากำลังป้อนอาหารให้ซาอุดิ อังกฤษก็ไม่ยอมปล่อยมือ อังกฤษ แว่วว่า กษัตริย์ซาอุดิกระเป๋ารั่วบ่อย คอยตามข่าว หาโอกาส ที่จะป้อนอาหารบ้าง ปี ค.ศ.1941 กษัตริย์ซาอุดิกระเป๋าขาดอีก ไม่มีเงินจ่ายสำหรับงบประมาณในปีนั้น กษัตริย์ซาอุดิขอให้ California-Arabian ช่วยหาเงินจำนวน 6 ล้านเหรียญให้ เพื่อมาอุดรูขาด

California-Arabian แบกไม่ไหว ขอให้รัฐบาลอเมริกาช่วย ในตอนแรกประธานาธิบดี Roosevelt ปฏิเสธ แต่พอถึงเดือนธันวาคม ค.ศ.1941 อเมริกาประกาศสงครามกับฝ่ายอักษะ อเมริกาเห็นความจำเป็นของการมีบ่อน้ำมันไว้ข้างตัว คราวนี้กระทรวงต่างประเทศอเมริกา รีบแต่งตัวมาจับมือกับกษัตริย์ซาอุดิ แล้วเปิดสถานฑูตอเมริกา อย่างเป็นทางการที่เมือง Jidda ในปี ค.ศ.1942

สถานฑูตอเมริกาตกลงจ่ายค่ากระเป๋ารั่วให้กษัตริย์ซาอุดิ และกลายมาเป็นผู้บริหารซาอุดิอารเบียในยามสงคราม อเมริกาอ้างว่าเพื่อดูแลบ่อน้ำมัน จำเป็นต้องนำกองทัพมาปกป้อง อังกฤษพยายามแทรกตัวเข้ามา แต่คราวนี้ไม่ใช่กระทรวงต่างประเทศเท่านั้นที่ขวาง กระทรวงกลาโหมอเมริกา ก็ร่วมขวางด้วย และร่วมมือกันป้อนอาหาร อเมริกาขนเสบียงมูลค่า 20 ล้านเหรียญ ลงเรือบรรทุกมาให้ซาอุดิอารเบียในยามสงคราม รวมทั้งส่งเครื่องบินบรรทุกเครื่องเวชภัณท์มาให้เป็นพิเศษ

ถึงตอน นี้ ประธานาธิบดี Roosevelt ตั้งหน่วยงานชื่อ Petroleum Reserves Coperation (PRC) สำหรับดูแลเหยื่อชื่อ ซาอุดิอารเบีย โดยเฉพาะ ค.ศ.1944 PRC เสนอให้มีการสร้างท่อส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียข้ามไปยังเมดิเตอร์เรเนียน เพื่อประโยชน์ทางการหทาร ซาอุดิก็ไม่ขัดใจ ตราบใดที่...อิ่ม

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
15 ก.ย. 57



ตอนที่ 3 : “เคี้ยว 6” ซาอุดิ 5

การป้อน เหยื่อของอเมริกาแบบไม่อั้น ทำให้อังกฤษทนดูไม่ไหว เดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1944 นายกรัฐมนตรีอังกฤษ Winston Churchill ลงทุนบินไปหาประธานาธิบดี Roosevelt เพื่อถามว่าอเมริกาจะเอาอย่างไรในตะวันออกกลาง อังกฤษพร้อมจะถอยจากการแย่งกันป้อนเหยื่อในซาอุดิอารเบีย ถ้า อเมริกา ถอยจากอิหร่านและอิรักเช่นกัน

หลอด Churchill คงได้คำตอบกลับไปชัดเจน เพราะหลังจากนั้น Aramco Camp ที่อยู่ในเมือง Casoc ของซาอุดิ ก็เปลี่ยนโฉมหน้า กลายเป็นรัฐใหม่ของอเมริกา

นักล่าหน้าใหม่ เรียนรู้จากวิธีการล่าเหยื่อ ของนักล่าชาวเกาะใหญ่เท่าปลายนิ้วฯ ว่า แม้จะได้อาณาจักรเขามา แต่ไม่ได้ใจชาวเมือง การดูถูก กดขี่ แบ่งชั้น มีให้เห็นอยู่ตลอด แล้วมันจะกินเหยื่อได้นานอย่างไร
อเมริกา เปลี่ยนรูปแบบอาณานิคม โดยป้อนวัฒนธรรมอเมริกันให้แทน เหยื่อเสพเข้าไปทุกเมนู โดยไม่รู้ว่านั่นเป็นกับดักการล่าชนิดใหม่ ที่มีอานุภาพรุนแรงเกินต้านทาน อเมริกาเอา International Telephone and Telegraph (ITT) และ Trans World Airways (TWA) เข้าไปให้การสื่อสารและการเดินทางในซาอุดิอารเบียสะดวกขึ้น อูฐและนกพิราบจะได้มีเวลาหยุดพักร้อน อเมริกาส่งความสะดวกทุกอย่างให้เหยื่อ เสพจนติดใจอย่างไม่รู้ตัว ถึงรู้ตัวก็สายเกินถอน

ในช่วง ค.ศ.1940 กว่าเป็นต้นมา อเมริกาเลี้ยงซาอุดิอารเบีย ด้วยกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์จนอิ่มแปร้ เจ้าหน้าที่สถานฑูตและกองทัพของอเมริกาที่อยู่ในซาอุดิเปิดเผยว่า หน้าที่หลักของพวกเขาคือ ทำอะไรก็ได้ ที่จะทำให้ซาอุดิอาราเบียพอใจและอยู่ใน(กำ) มือของอเมริกาตลอดกาล

ค.ศ.1945 อเมริกาตั้งฐานทัพที่ Dhahram เป็นฐานทัพที่มีทหารอเมริกันประจำการอยู่เต็มอัตรา Aramco ได้รับอนุญาตให้ใช้ฐานทัพ เพื่อธุรกิจน้ำมันอย่างสะดวกเช่นกัน เสียงนกเสียงกาบอกว่า ฐานทัพนี้จัดขึ้นเพื่อ Aramco แท้ๆ อย่าไปฟัง มันเป็นเสียงของความอิจฉาหมั่นไส้ทั้งนั้น ด้านทหารบอก ฐานทัพนี้มีไว้เพื่อยุทธศาสตร์การป้องกันตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน ต่างหาก เป็นการดูแลเชื่อมกันระหว่างยุโรปกับตะวันออกไกล
ไม่รู้ว่าทหารก็ แถเก่ง ไม่ว่าชาติไหน

วัน หนึ่งใน ค.ศ.1945 กษัตริย์ซาอุดิ จับเข่าถามประธานาธิบดี Roosevelt ที่ Great Bitter Lake (ชื่อไม่เป็นมงคลเลย ! ) กษัตริย์ต้องการคำมั่นในการสนับสนุนจากอเมริกา ประธานาธิบดีรับปากว่า อเมริกาจะป้อนกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์ ให้กับประเทศท่านตลอดไป และจะสนับสนุนฝ่ายอาหรับในกรณีปาเลสไตน์ รับปากเสร็จ ไม่นานประธานาธิบดี Roosevelt ก็เสียชีวิต

ประธานาธิบดี Truman มารับงานต่อ เขาไม่ลืมคำรับปากของ Roosevelt เขาป้อนกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์ ให้ซาอุดิอารเบียต่อ เพียงแต่ขอเปลี่ยนแหล่งส่งกระดาษสีเขียวตรานกอินทรีย์ จากกระทรวงต่างประเทศ เป็น Export Import Bank (EXIM) แต่ท่านก็ได้กระดาษสีเขียว ตรานกอินทรีย์เหมือนกันแหละ ไม่ต้องตกใจนะ

เหยื่อเสพติดกระดาษสีเขียว จนถอนตัวไม่ขึ้น ก็ยอมรับ เงินให้กู้ ของ EXIM ที่มีเงื่อนไขติดมา ว่าเงินกู้นี้ ต้องใช้ ในการซื้อสินค้า หรือการจ้างงานสัญชาติอเมริกันเท่านั้น !

การป้อนเหยื่อด้วยวิธีการนี้ ทำให้เศรษฐกิจของซาอุดิอารเบีย ตกอยู่ในวงล้อมและกำมือของอเมริกาโดยสมบูรณ์ ซาอุดิอารเบียกลัวตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ อยากให้อเมริกาเข้ามาช่วย อเมริกาก็มาช่วยสมใจ แต่ซาอุดิอารเบียจะรู้ไหมว่า อาณานิคมแบบใหม่ กับแบบเก่า มันก็เป็นเหยื่อเขาเช่นเดียวกัน

สวัสดีครับ
คนเล่านิทาน
15 ก.ย. 57



ที่มาของข้อมูล นิทานเรื่องจริง ตำนานการลวง หลอกล่อ ลงหม้อตุ๋น