วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภูริทัตตเจดีย์




ภูริทัตตเจดีย์

ภูริทัตตเจดีย์ เจดีย์สำหรับบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  องค์หลวงปู่เจี๊ยะตั้งใจสร้างเพื่อรำลึกถึงคุณบูรพาจารย์อย่างสูงสุด  ท่านได้วางศิลาฤกษ์ในการสร้างเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ รูปทรงของเจดีย์มีความหมายทางธรรมดังนี้

ลักษณะรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของเจดีย์สมัยสุโขทัย แปดเหลี่ยม ความหมายคือ อริยมรรคมีองค์แปด ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ดำริในอันไม่พยายาท , ดำริในอันไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากทุจริต ๔
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือ เจริญฌานที่ ๔

        มีความกว้าง ๒๒  เมตร ความหมาย คือ ปัจจยาการ ๑๑ ประการ โดยอนุโลม ๑๑ ปฏิโลม ๑๑ รวมเป็น ๒๒ ประการ
         ๑.เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยมีสังขาร
         ๒.เพราะสังขารเป็นปัจจัย มีวิญญาณ
         ๓.เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยมีนามรูป
         ๔.เพราะนามรูปเป็นปัจจัยมีสฬายตนะ
         ๕.เพราะสฬายตบะเป็นปัจจัยมีผัสสะ
         ๖.เพราะผัสสะเป็นปัจจัยมีเวทนา
         ๗.เพราะเวทนาเป็นปัจจัยมีตัณหา
         ๘.เพราะตัณหาเป็นปัจจัยมีอุปาทาน
         ๙.เพราะอุปทานเป็นปัจจัยมีภพ
       ๑๐. เพราะภพเป็นปัจจัยมีชาติ
       ๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัยมีความแก่และความตาย

       มีความสูง ๓๗ เมตร ความหมายคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นธรรมที่เป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ , โพชฌงค์ ๗ , มรรคมีองค์ ๘ รวมเป็น ๓๗ ประการ

        สติปัฏฐาน ๔  การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหมายให้รู้ให้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส ประกอบด้วย
          ๑. กายานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา
          ๒. เวทนานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่มีสุขไม่ทุกข์เป็นอารมณ์
          ๓. จิตตานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา
         ๔. ธัมมานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่บังเกิดใจเป็นอารมณ์ว่าธรรมนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา

       สัมมัปปธาน ๔
        ๑.สังขรปธาน เพียรว่าไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
        ๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
        ๓.ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
       ๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

      อิทธิบาท ๔ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จตามประสงค์ ๔ อย่าง
       ๑.ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
       ๒.วิริยะ เพียรพยายามทำในสิ่งนั้น
       ๓.จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
       ๔.วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

    อินทรีย์ ๕ หรือ พละ ๕ คือ
     ๑.สัทธา
     ๒.วิริยะ
     ๓.สติ
     ๔.สมาธิ
     ๕.ปัญญา

    โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรูหรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่างคือ
       ๑.สติ ความระลึกได้
       ๒.ธัมมวิริยะ ความสอดส่องธรรม
       ๓.วิริยะ ความเพียร
      ๔.ปีติ ความอิ่มใจ
      ๕.ปัสสิทธิ ความสงบและอารมณ์
      ๖.สมาธิ ความตั้งใจมั่น
      ๗.อุเบกขา ความวางเฉยและมรรค ๘ อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ฯ