วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- ภูทอก...วัดเจติยาคิรีวิหาร อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย



ที่ตั้ง 
วัดภูทอก หรือวัดเจติยาคิรีวิหาร
ตั้งอยู่ที่บ้านคำแคนพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย 43210

กว่าจะมาเป็นภูทอก
ท่านหลวงปู่จวน กุลเชฎโฐ ท่านได้มาค้นพบสถานที่แห่งนี้ ดังตามประวัติของท่านดังนี้


พรรษาที่ ๒๖ พ.ศ. ๒๕๑๑
จำพรรษาอยู่กับหลวงปู่ขาว อนาลโย 
วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลำภู 

ท่านอาจารย์ได้กลับมาอยู่จำพรรษาร่วมกับหลวงปู่ขาว อีกวาระหนึ่ง ซึ่งได้จากวัดป่าแก้ว บ้านชุมพล มาอยู่ที่วัดถ้ำกลองเพล ได้อยู่ปฏิบัติหลวงปู่ ฟังธรรมเทศนา รับการอบรมมาจากหลวงปู่โดยใกล้ชิด ออกพรรษา เสร็จกิจการงานแล้ว ได้นมัสการกราบลาหลวงปู่ กลับไปวิเวกที่ภูวัวอีก ท่านได้วิเวกอยู่ที่ภูวัว ๑ เดือน คืนหนึ่ง ขณะนั่งบำเพ็ญความเพียรอยู่นั้น ได้เกิดนิมิตขึ้นว่า


ได้มีปราสาท ๒หลัง หลังหนึ่งเล็ก หลังหนึ่งใหญ่โตมาก ปราสาททั้ง ๒ หลังสวยงามวิจิตรมาก ตั้งอยู่ทางด้านเขาภูทอกน้อย และภูทอกใหญ่ ซึ่งเวลามองจากภูวัวจะเห็นปรากฏชัด ในนิมิตท่านได้เหาะขึ้นไปบนปราสาทนั้น แต่บังเอิญประตูทางเข้าปราสาทปิดอยู่ ไม่สามารถเข้าไปได้ ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานว่า หากมีบารมีแรงกล้า ขอให้ประตูเปิดออก เข้าไปได้ ทันใดนั้น ประตูปราสาทหลังเล็กก็เปิดออก ท่านจึงเข้าไปในปราสาทนั้น ภายในห้อง วิจิตรพิสดารงดงามยิ่งนัก มีหญิงรูปสวย ๔ คนเฝ้าอยู่ในปราสาทนั้น ได้นิมนต์ให้ท่านอยู่ร่วมด้วย แต่ท่านไม่ตกลง เพราะเป็นพระ จะอยู่ร่วมกับผู้หญิงไม่ได้ แล้วท่านจึงลงจากปราสาทนั้นไป

พอจิตถอน ท่านจำนิมิตนั้นได้ติดตา พร้อมทั้งจำทางขึ้นลงได้อย่างแม่นยำ เพื่อพิสูจน์นิมิตนั้น ท่านจึงเดินทางจากภูวัวไปยังภูทอกน้อย พอไปถึงก็เดินทางขึ้นไปบนเขา ตามทางในนิมิตนั้นทุกประการ ได้สำรวจดูเขาชั้นต่างๆ เห็นเป็นโตรก เป็นซอก เป็นถ้ำ เป็นหินผาอันสูงชัน ก็เห็นว่าเป็นภูมิประเทศที่เหมาะสมที่จะบูรณะให้เป็นสถานที่สำหรับให้พระเณรได้บำเพ็ญภาวนาต่อไป ท่านจึงตกลงใจเข้าบูรณะและตั้งเป็นวัด ประกอบกับแรงนิมนต์ของชาวบ้านตำบลนาคำแคน บ้านนาต้อง อาราธนาให้อยู่โปรดพวกเขาเป็นหลักยึดเหนี่ยวอีกแรงหนึ่ง

ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ เมื่อมองมาจากภูวัว

พรรษาที่ ๒๗-๓๘ พ.ศ. ๒๕๑๒-๒๕๒๓ 
วัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อ.ศรีวิไล 

ท่านเริ่มมาอยู่ภูทอกนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๑๒ มาอยู่ครั้งแรก กับท่านพระครูสิริธรรมวัฒน์(หลวงปู่ทองพูล สิริกาโม) เจ้าอาวาสวัดสามัคคีอุปถัมภ์ อำเภอบึงกาฬในปัจจุบัน กับผ้าขาวน้อยองค์หนึ่ง ตอนแรกก็อาศัยอยู่ตีนเขาที่เป็นโรงฉันต่อกับโรงครัวปัจจุบันนี้ บริเวณรอบๆ เป็นป่าทึบ รกชัฏ มีสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์

เบื้องต้นภูทอกยังไม่มีแอ่งเก็บน้ำ สมัยนั้นต้องอดน้ำ อาศัยฝนที่ค้างอยู่ตามแอ่งหิน อาหารการขบฉัน อาศัยบิณฑบาตจากชาวบ้านนาคำแคน ซึ่งได้อพยพไปอยู่ใหม่ๆ ประมาณ ๑๐ หลังคาเรือน การบิณฑบาตขาดแคลนมาก ตามมีตามได้ พอเข้าหน้าแล้ง ท่านได้ขอให้ชาวบ้านช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ และขึ้นมาปลูกกระต๊อบอยู่ชั่วคราวที่โขดหินตีนเขาชั้น ๒

ปีแรกที่จำพรรษาอยู่ที่ภูทอก มีพระ ๓ องค์ ผ้าขาวน้อย ๑ องค์ ปลูกกระต๊อบชั่วคราวพออาศัยได้ ๔ หลัง ทุกองค์ต่างทำความเพียรอย่างเต็มที่ เวลาพลบค่ำ ท่านอาจารย์ขึ้นไปนอนบนชั้น ๕ โดยปีนขึ้นตามเครือเขาเถาวัลย์ ตามรากไม้ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นถ้ำวิหารพระ สมัยนั้นยังเป็นป่าทึบ มีต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น

ในระหว่างกลางพรรษาที่ ๒๗ ได้ชักชวนญาติโยมทำบันไดขึ้นเขาชั้นที่ ๕ และชั้นที่ ๖ จนสำเร็จ ทำอยู่ประมาณ ๒ เดือนกับ ๑๐ วัน จึงเสร็จเรียบร้อย การสร้างบันไดนี้สำเร็จในกลางพรรษา ได้อาศัยศรัทธาญาติโยมและชาวบ้านใกล้เคียงช่วยกันคนละเล็กละน้อย ช่วยกำลังแรง ส่วนกำลังทรัพย์ไม่มี เพราะต่างเป็นคนยากจน มีแต่ศรัทธาเท่านั้น

กลางพรรษาปี ๒๕๑๒ ท่านได้เกิดสุบินนิมิตว่า ได้ออกไปบิณฑบาตที่ภูทอกใหญ่ ตามหน้าผา อุ้มบาตรเดินเลียบไปตามหน้าผา อ้อมไปเรื่อยๆ เห็นหน้าต่างปิดอยู่ตามหน้าผา มองไม่เห็นคนเลย ท่านจึงเดินอ้อมไป ท่านจึงหยุดยืนรำพึงว่า....ทำไมมีแต่หน้าต่างปิด ไม่เห็นคนออกมาใส่บาตรเลย สักครู่หนึ่งก็เห็นคนเปิดหน้าต่างออกมาใส่บาตร

ท่านจึงตั้งจิตถามขึ้นว่า เขาเป็นใคร เขาก็ประกาศขึ้นมาเองว่า “พวกผมนี้เป็นพวกบังบดขอรับ อยู่กันที่ภูทอกใหญ่ ภูแจ่มจำรัส” พวกบังบด คือพวกภุมมเทวดา ที่เขามีศีล ๕ ประจำ เขาอธิบายให้ฟังต่อว่า “ชื่อเดิมของภูทอกใหญ่นี้ เรียกกันว่า ภูแจ่มจำรัส แต่ก่อนนี้มีพวกฤาษีชีไพรมาบำเพ็ญพรตภาวนากันอยู่ที่ภูแจ่มจำรัสนี้มาก” 

เมื่อเขาใส่บาตรเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงภามเขาว่า “ทำไมจึงรู้ว่าอาตมามาบิณฑบาต” 

เขาก็ตอบยิ้มๆ ว่า “รู้ครับ รู้ด้วยกลิ่น ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า” 

“กลิ่นเป็นอย่างไร” ท่านซักต่อ

“กลิ่นหอมขอรับ ถูกกลิ่นพระผู้เป็นเจ้า ก็เลยพากันเปิดหน้าต่างมาใส่บาตรพระผู้เป็นเจ้ากัน ท่านเป็นพระที่ปฏิบัติดี ควรแก่การบูชา พวกเราจึงพร้อมใจกันมาใส่บาตร” 

พอพวกเขาใส่บาตรเสร็จ ท่านก็กลับ พอดีรู้สึกตัวตื่น พิจารณาดูนิมิตนั้นก็เห็นแปลก และเช้าวันนั้น อาหารที่บิณฑบาตได้ ขบฉันก็รู้สึกว่ารสเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีใครอื่นมาใส่บาตรจริงๆ มีแต่ชาวบ้านเท่านั้น และอาหารก็เป็นอาหารพื้นๆ

ภูทอกใหญ่ หรือภูแจ่มจำรัส

พรรษาแรก พระเณรเจ็บไข้กันมาก บางองค์ก็บอกว่า เทวดาประจำภูเขามาหลอกหลอน ดึงขา ปลุกให้ลุกขึ้นทำความเพียร บางทีก็ไล่ให้หนี เพราะมาแย่งวิมานของเขา ท่านได้พยายามตักเตือนพระเณรให้มีศีลบริสุทธิ์ บำเพ็ญความเพียร แผ่เมตตา และให้ทำความเพียรอย่าได้ประมาท

ภายหลังก็เกิดนิมิตว่า มีพวกเทวดามาหาท่านบอกว่า
 “ขอน้อมถวายภูเขาลูกนี้ ให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าโปรดรับไว้รักษา พวกข้าพเจ้าจะลงไปอยู่ข้างล่าง” 
และยังขอให้ท่านประกาศแก่มนุษย์ที่จะมาเที่ยวภูเขาลูกนี้ต่อไปว่า
 "ขออย่าได้กล่าวคำหยาบ อย่าส่งเสียงดังอึกทึก อย่าถ่มน้ำลายลงไปข้างล่าง อย่าขว้างปาหรือทิ้งเศษขยะไว้บนเขา" 

เมื่อท่านตื่นจากนิมิต จึงมาพิจารณาคำขอร้องของเทวดา ก็เห็นว่าแยบคายดี น่าจะเป็นข้อที่กัลยาณชนควรจะปฏิบัติอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่มีเทวดามาขอร้องก็ตาม อย่างไรก็ดี ในวันนั้น มีชาวบ้านมาเล่าให้ฟังว่า พวกเขาต่างฝันกันว่า มีคนมามอบภูเขาให้ท่านอาจารย์จวนรักษาไว้ และพวกเขาจะลงไปอยู่ข้างล่างแทน บังเอิญมาฝันตรงกันหลายคน

พ.ศ. ๒๕๑๓ ในฤดูแล้ง ท่านได้ชักชวนชาวบ้าน ช่วยกันสร้างทำนบเพิ่มขึ้นอีก ๒ ทำนบเพื่อไว้เก็บกักน้ำ มีประชาชนจากฝั่งประเทศลาวชื่อ นายบุญที ได้มีศรัทธามาสร้างพระประธานไว้ที่ถ้ำวิหารพระชั้นที่ ๕ ต่อมาได้มีศรัทธาจากที่ต่างๆ มาร่วมกันสร้างโรงฉัน และศาลาชั้นที่ ๕

พระประธานที่ชั้น ๕

ภายหลังได้ขยายศาลาตรงฉันชั้นล่างให้กว้างออกไป และได้ขยายศาลาถ้ำวิหารพระชั้นที่ ๕ ให้กว้างออกไปด้วย เพื่อประกอบศาสนกิจและสังฆกรรมได้สะดวก

การก่อสร้างต่างๆ ท่านพยายามทำแบบส่งเสริมธรรมชาติให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ เช่น กุฏิ ศาลาอาศัยผนังถ้ำเป็นฝาเป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ขุดบ่อน้ำอีกหลายแห่ง ยังได้พบบ่อน้ำซึมผุดขึ้นมาจากซอกหิน และได้มีผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันสร้างบาตรน้ำมนต์ขนาดใหญ่ไว้รองน้ำซึมที่หยดมาจากยอดเขา นอกจากนี้ยังมีผู้บริจาคเงินสร้างถังเก็บน้ำคอนกรีต ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และได้สร้างส้วมและห้องน้ำ ไว้สำหรับประชาชน

ใน พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๔ ได้ทำสะพานรอบเขาชั้นที่ ๕

พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้ทำนำนบกั้นน้ำเพิ่ม

พ.ศ. ๒๕๑๖ ปรับปรุงสะพานชั้นที่ ๕ ทำทางเดินให้เสมอกันและขยายให้กว้างขึ้น

พ.ศ. ๒๕๑๗ ทำสะพานบนเขาชั้นที่ ๖ ทำสะพานชั้นที่ ๔ ครึ่งเขา

พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ทำทำนบกันน้ำในเขตวัด

สะพานชั้น ๔ และบันไดขึ้น ๕ ทางทิศใต้


สะพานเลียบหน้าผาชั้น ๕ และ ๖ ฝั่งทิศเหนือ


ตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ เป็นต้นมา ได้มีคณะญาติโยมโดยเฉพาะจากกรุงเทพฯ ทยอยมากันบ่อยครั้งขึ้น ได้มีศรัทธาเพิ่มขึ้น บริจาคทั้งกำลังทรัพย์ และกำลังกายมาช่วยเหลือที่วัด ได้มีการสร้างถังน้ำบนเขาชั้นที่ ๕ สร้างห้องน้ำ ห้องส้วมเพิ่มอีกหลายห้อง นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างกุฏิถาวรสำหรับพระเณรจะได้เป็นที่พัก เพราะแต่ก่อนพระเณรจะใช้เงื้อมหินหรือถ้ำเป็นที่อยู่อาศัยอีกเป็นจำนวนหลายหลัง และยังได้มีการสร้างกุฏิที่พักสำหรับพระอาคันตุกะ สร้างกุฏิแม่ชี และกุฏิที่พักบนชะง่อนเขาชั้นที่ ๕ สำหรับญาติโยมได้มาพักอีกด้วย

นอกจากได้ก่อสร้างในวัดแล้ว ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านใกล้เคียงอีกด้วย โดยได้สร้างทำนบกั้นน้ำให้แก่ชาวบ้าน ๖ ทำนบ และในปี ๒๕๒๓ ได้เริ่มทำถนนรอบภูเขา ๓ ลูก คือ ภูทอกน้อย ภูทอกใหญ่ และภูสิงห์น้อย ซึ่งต่างก็เป็นสำนักสงฆ์ของวัด เพื่อเป็นการกั้นเขตแดนวัด จะได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และยังเป็นการสงวนป่าไม่อีกด้วย (เมื่อท่านอาจารย์จวนมรณภาพแล้ว งานนี้ยังค้างอยู่ ทางวัดได้ทำต่อจนแล้วเสร็จ รวมทั้งทำนบน้ำแห่งใหม่ในหมู่บ้านด้วย)

ภาพยนต์เกี่ยวกับภูทอกที่ได้มีการบันทึกไว้
โดยคุณหมอประพักตร์ โสฬสจินดา ด้วยกล้อง ๘ มม.ในสมัยนั้น ประมาณปี ๒๕๑๔ ได้มีการบันทึกภาพหลวงปู่จวนไว้ด้วย ซึ่งเป็นภาพที่หาดูได้อยากยิ่ง

ตอนที่ 1




ตอนที่ 2




ตอนที่ 3




ตอนที่ 4




ตอนที่ 5




ภาพนิ่งของภูทอก.........

ภูทอกน้อย




ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาสะแบง อำเภอศรีวิไล  จ.หนองคาย ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือภูทอกน้อย  ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป  ยังไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปชมได้ตามปกติ  ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย  ต่อมาพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป  

ก่อนจะขึ้นภูทอก ซึ่งต้องเดินและเดินสถานเดียว ผู้มีอายุสามารถที่จะนั่งรอที่บริเวณถ้ำส่วนนี้ได้


บันไดขึ้นภูทอก

                    การขึ้นภูทอกนั้น  ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้ 

          ชั้นที่ ๑.  เมื่อเดินผ่านประตูเข้าไป  แม้จะไม่มีป้ายบอก  แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว   ชั้นที่หนึ่งนี้จะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์

ประตูทางขึ้นภูทอก มีข้อห้ามที่ต้องปฎิบัติตาม
และช่วงเดือนเมษายน ของทุกปีจะปิด ไม่อนุญาติให้ขึ้น

ป้ายเตือน...หยุดตรงนั้น ถ้าท่านยังส่งเสียงดัง


เลี้ยวขวานิดเดียวไปกราบหลวงพ่อเจ็กกษัตริย์


จากประตูทางเข้าเดินมาไม่ไกล ทางขวามือจะมีทางแยก
มาศาลาหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ นมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคลเสียก่อน


เริ่มต้นขึ้นบันได


          ชั้นที่ ๒  เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนของอยู่ด้านขวามือ  ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก 




          ชั้นที่ ๓   สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์  ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม แต่ได้เห็นวิวและอากาศปลอดโปร่งสบายกว่า 

ไปได้ทั้งซ้ายและขวา


กุฏิพระที่บริเวณชั้น ๔


ถ้าแยกมาทางซ้ายมือก็จะผ่านซอกเขาขึ้นสู่ชั้น ๕


ซอกเขาสู่ชั้น ๕ จะสัมผัสกับกระแสลมเย็นให้คลายร้อน

          ชั้นที่ ๔  เป็นสะพานช่วงเดียว ทางฝั่งทิศใต้ ด้านตะวันออกและทิศเหนือชำรุดรอการบูรณะอยู่ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกปิด เนื่องด้วยเป็นเขตกุฏิพระและงูจงอางชุกชุมมาก
ชั้น ๔ และบันไดสู่ชั้น ๕ ด้านทิศใต้
                   
          ชั้นที่ ๕  มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด   เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6)  มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร  มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6


ศาลาที่ชั้น ๕ 

               พุทธวิหาร  แปลว่า สถานที่พักผ่อนของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นที่พระอริยหลายองค์มาพักผ่อนและละสังขารที่นี่  มีลักษณะที่แปลกและน่าอัศจรรย์ที่สุด    ปัจจุบันมีสะพานไม้เชื่อมต่อระหว่างสะพานหินกับพุทธวิหาร
       


พุทธวิหาร สถานที่สำคัญของภูทอก

    


สะพานเลียบหน้าผาชั้น ๕ ด้านทิศเหนือ



         ชั้นที่ ๖  เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา   เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด  สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชั้นนี้อยู่หลังพระปางนาคปรก
  

ทางขึ้นสู่ชั้นที่ ๖ ด้านถ้ำพญานาค ฝั่งทิศตะวันตก
        


ถ้ำพญานาค มีน้ำซึมตลอดปีเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของชั้น ๕







ทางขึ้นไปสู่ชั้นที่ ๗




          ชั้นที่ ๗ จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด  จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา  แต่เมื่อเดินถึงดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดแล้ว  จะพบแต่ป่าร่มครึ้มสวยงาม  ไม่มีอะไรน่าสนใจสำหรับมนุษย์  หากนักท่องเที่ยวโชคดีหน่อยอาจเจองูระหว่างทาง  ดังนั้นนักท่องเที่ยวทั่วไปอาจไม่ต้องขึ้นชั้น 7 ก็ได้

จะเห็นสะพานชั้นที่ ๔-๕-๖ และ ๗ ส่วนเป็นป่าด้านบนสุด

ข้อควรปฏิบัติก่อนขึ้นเขา

                    เนื่องจากวัดไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวหรือแหล่งทัศนาจร  หากแต่เป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวทางด้านจิตใจของชาวพุทธเป็นสำคัญ  ผู้เข้าเยี่ยมชม-กราบไหว้ควรปฏิบัติตามกฎที่ทางวัดตั้งไว้อย่างเคร่งครัด คือ
          ๑. ห้ามนำสุรา-อาหารไปรับประทานบนยอดเขาโดยเด็ดขาด 
          ๒. ห้ามส่งเสียงดังรบกวนพระ-เณรที่กำลังภาวนา
          ๓. ห้ามขีดเขียนสลักข้อความลงบนหิน
          ๔. ห้ามทำลามกอนาจารฉันท์ชู้สาวและควรแต่งกายให้สุภาพ
               (อสุภาพสตรี (แปลว่า สตรีที่แต่งกายไม่สุภาพ) นุ่งน้อย-ห่มน้อย-เสื้อ-กระโปรง-กางเกงสั้น ห้ามขึ้นโดยเด็ดขาด)


การเดินทาง

                    ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง  ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร