วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- เจดีย์พิพิธภัณฑ์ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ


 เจดีย์พิพิธภัณฑ์
ท่านพระอาจารย์จวน    กุลเชฏโฐ

วัดเจติยาคิรีวิหาร ภูทอก
อำเภอศรีวิไล  จังหวัดหนองคาย

อนุสนธิวันพระราชทานเพลิงศพ ท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐซึ่งเคยเป็นประธานสงฆ์อยู่ที่วัดเจติยาคิรีวิหาร ( ภูทอก ) กิ่งอำเภอศรีวิไล  จังหวัดหนองคาย  เมื่อวันที่  ๑๘  เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๒๔  ซึ่ง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสร็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ระหว่างพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้ญาติสนิทและศิษย์เข้าเฝ้าเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  


ทรงมีพระราชปรารภว่า  “ อัฐิของท่านอาจารย์จวน ฯ นั้นไม่ควรจะแบ่งแยกกันออกไปควรจะเก็บรวมเก็บไว้  ณ  ที่วัดที่เดียวกัน   เพื่อให้บรรดาศิษย์และประชาชนได้มาเคารพสักการะได้ทั่วกัน “  
และทรงมีพระราชดำรัสถามว่า “ ท่านพระอาจารย์ได้เคยสั่งเกี่ยวกับอัฐิของท่านไว้ประการใดบ้าง “ ทั้งศิษย์และญาติสนิทของท่านต่างกราบบังคมทูลมีความตรงกันว่า “ ท่านเคยสั่งว่า ภูทอกนี้เป็นเสมือนเจดีย์ใหญ่อยู่แล้ว  อาตมาตายไม่ต้องทำอะไรให้เจาะเขาข้างบนนำกระดูกไปฝังไว้ก็พอแล้ว หรือถ้าเกรงจะเป็นภาระจะโยนทิ้งเหวไปก็ได้ “  

เมื่อทรงฟังคำกราบบังคมทูลประโยคสุดท้าย  ก็ทรงพระสรวลและทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริว่า “ ถ้าเช่นนั้น ก็ควรจะสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้บนยอดเขา...และจะมาช่วยสร้างด้วย “ 

พระราชดำรัสนี้เป็นที่น่าอนุโมทนา  เป็นที่ปลื้มปีติและเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาคณะสงฆ์วัดเจติยาคีรีวิหาร เครือญาติและศิษยานุศิษย์อย่างหาที่สุดมิได้จึงได้คิดเตรียมการสร้างเจดีย์ตามพระราชดำริ  โดยกราบเรียนเชิญพระคุณเจ้าหลวงปู่หลุย  จนฺทสาโร  เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายสงฆ์ และมี ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์  สุมงฺคโลเป็นที่ปรึกษาส่วนฝ่ายฆราวาสมอบให้นายเกษม  จาติกวณิชเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงานก่อสร้าง  คณะกรรมการได้ประชุมกันหลายครั้ง เห็นพ้องกันว่าควรสร้างเป็นเจดีย์พิพิธภัณฑ์  

โดยนอกจากจะบรรจุอัฐิธาตุของท่าน ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังแปรสภาพเป็นพระธาตุจำนวนมากแล้วควรจะให้เป็นพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารของท่านด้วย  สำหรับสถานที่สร้างเจดีย์ ซึ่งกำหนดจะสร้างบนยอดเขาตามพระราชดำรินั้น เมื่อให้ฝ่ายวิศวกรฐานรากสำรวจโดยละเอียดปรากฏว่าสภาพบนยอดเขามีลักษณะเป็นโพรงมากและหินก็เป็นหินทรายไม่แข็งแรงเพียงพอ ควรจะกำหนดสถานที่สร้างเจดีย์ใหม่ 

การทั้งนี้ ท่านพระอาจารย์ไพบูลย์ฯ กรุณาให้ความเห็นว่า เมื่อจำเป็นจะต้องเปลี่ยนสถานที่สร้างเจดีย์ก็ควรเลือกที่ลานหน้าวัดโดยให้มีจุดศูนย์กลาง ณ จุดซึ่ง เป็นที่พระราชทานเพลิงศพของท่าน เพราะจุดซึ่งถวายเพลิงพระผู้ทรงศีลวิสุทธ์นั้น  ควรจะต้องสร้างถาวรวัตถุครอบไว้อยู่แล้วเป็นการป้องกันมิให้มีการเหยียบทับอัฐิธาตุที่อาจหลงเหลืออยู่ จะเป็นบาปแก่ผู้ไม่รู้ อีกประการหนึ่ง ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ขณะนี้ล้วนมีอายุ หากจะอนุโมทนาและชมเจดีย์....ถ้าสร้างที่ข้างล่างก็จะไม่เป็นการลำบากยากแก่สังขารของท่าน สำหรับการกำหนดสถานที่สร้างเจดีย์ใหม่นี้ก็ดีรวมทั้งรูปแบบเจดีย์ ตลอดถึงการก่อสร้างก็ดีควรปรึกษาดำเนินการกันไปเองก่อน เพื่อมิให้เป็นการรบกวนเบื้องพระยุคลบาท ที่ทรงมีพระราชภาระในงานแผ่นดินอย่างเอนกอนันต์ ต่อเมื่อการก่อสร้างเจดีย์ใกล้จะสำเร็จลุล่วงแล้ว จึงค่อยกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ทรงทราบและขอพระราชทานอัญเชิญเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ในภายหลัง   คณะศิษยานุศิษย์เห็นด้วยกับคำแนะนำของท่านพระอาจารย์และได้มอบให้นางไขศรี  ตันศิริและนายสันติ  ชยสมบัติ เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบเจดีย์พิพิธภัณฑ์ โดยองค์ประธานและท่านพระอาจารย์และท่านพระอาจารย์ที่ปรึกษาฝ่ายสงฆ์ได้เมตตาให้ข้อคิด แก้ไข ติชม โดยละเอียด
หลังจากได้ดำเนินการจัดหาทุนมาระยะหนึ่งก็สามารถเริ่มการก่อสร้างได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๙ โดยได้ซื้อที่ดินสำหรับบริเวณฐานและลานเจดีย์และต่อมาได้จัดซื้อเพิ่มเติมอีก เพื่อจัดทำเป็นถนนทางเข้าและสวนป่าด้านหน้า ครั้นถมดินเป็นเนินเจดีย์ปรับพื้นที่บริเวณเรียบร้อยแล้วก็เริ่มลงมือก่อสร้าง ซึ่งก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนปัจจุบันนี้นับได้ว่า การก่อสร้าง ซึ่งก้าวหน้ามาโดยลำดับ จนปัจจุบันนี้นับได้ว่า การก่อสร้างทั้งหมดได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว สิ้นค่าใช้จ่ายในการสร้างเจดีย์รวมทั้งค่าที่ดิน – ค่าทดแทนต้นไม้และสิ่งปลูกสร้างด้วย....การจัดทำ “ สวนเจติยาคีรีวัน “ เพื่อให้อาณาบริเวณโดยรอบและแวดล้อมเจดีย์มีทัศนียภาพอันงามสง่า สงัดและสงบร่มเย็นเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๑๘ ล้านบาท

การสร้างเจดีย์ ถือว่าเป็นยอดแห่งบุญ เป็นการสร้างอนุสรณียวัตถุฝากไว้ในพระพุทธศาสนา ให้มหาชนได้กราบไหว้บูชาสืบต่อพระศาสนา โดยเฉพาะเจดีย์ได้ออกแบบใช้วัสดุและวิธีการวิศวกรรมการสร้างอย่างมั่นคงถาวร ใช้ระบบเข็มเจาะเพื่อความมั่นคงของฐานราก องค์เจดีย์และลานเจดีย์เป็นคอนกรีตเสริมโดยตลอด คงจะยืนยงประกาศพระเกียรติคุณแห่งศาสนาขององค์สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้าไปชั่วกาลนานกว่าพันปี ผู้มีส่วนร่วมในการบุญนี้ ย่อมได้ผลนิสงส์อย่างมหาศาลติดต้วไปทุกภพทุกชาติ  ยอดเจดีย์อันสูงแหลม แลลิ่วขึ้นไปในฟากฟ้า  ย่อมจะเป็นนิมิตหมายให้ผู้ร่วมการบุญ ได้บรรลุฐานะอันสูงส่งประดุจยอดแห่งเจดีย์ ตามควรแก่กรรม- คุณความดีที่ได้บำเพ็ญไว้  ยิ่งกว่านั้น....ในเมื่อเป็นการสร้างเจดีย์ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายองค์พระประมุขแห่งชาติ ผู้ทรงพระมหากรุณาพระราชทานพระราชดำริ เป็นปฐมเหตุให้ทุกคนได้มีส่วนบำเพ็ญบุญอันยิ่งใหญ่ที่เป็นการเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสปีมหารัชมังคลาภิเษก  ที่ทรงเจริญพระชนมายุสถิตสถาพรในเศวตยาวยืนนานยิ่งกว่าพระมหากษัตราธิราชเจ้าพระองค์ใดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผลบุญอันบังเกิดขึ้น ย่อมมากมูล เพิ่มพูน เป็นทบทวีหาประมาณ



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ ไปพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ ณ.เมรุชั่วคราว หน้าวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) วันเสาร์ที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔



มณฑปพระธาตุ

มณฑปพระธาตุท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ  ตั้งอยู่  ณ  จุดศูนย์กลางของเจดีย์ ซึ่งศูนย์กลางของเจดีย์ ซึ่งตรงกับจุดที่เคยตั้งจิตตกาธานบนเมรุที่พระราชทานเพลิงศพของท่าน  เมื่อวันที่  ๑๘ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๒๔
ท่านผู้รู้กล่าวกันว่า จุดซึ่งถวายเพลิงพระผู้ทรงศีลวิสุทธิ์หมดสิ้นอาสวกิเลสแล้วนั้น ควรจักต้องสร้างถาวรวัตถุครอบไว้ให้เป็นที่สักการบูชา  เป็นการป้องกันมิให้มีการล่วงเกินเหยียบทับอัฐิธาตุซึ่งอาจจะยังหลงเหลืออยู่ในพื้นดิน อันจะเป็นการบาปแก่ผู้ไม่รู้ ในการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์นี้ จึงได้พยายามระมัดระวังดูแลบริเวณตรงกับจุดถวายเพลิงสรีระร่างของท่าน นี้มาแต่แรกเริ่ม....โดยระหว่างการก่อสร้างก็บอกเล่าให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องทราบเรื่อง  ตั้งจิตขอขมาหากจำเป็นจะต้องล่วงเกินเข้าไปในบริเวณนี้ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะการก่อสร้างและครั้นการก่อสร้างได้เสร็จสมบูรณ์แล้วก็จัดให้เป็นที่ประดิษฐานมณฑปแสดงพระธาตุของท่าน เพื่อให้สาธุชนผู้กราบไหว้บูชาเจดีย์ไม่ล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณ ได้เคารพทั้งสถานที่...จุดถวายเพลิง และบูชาพระธาตุของท่านในเวลาเดียวกัน
พระธาตุของท่านพระอาจารย์จวน   กุลเชฏโฐ  ที่จัดนำมาให้สักการะ เพื่อเจริญพุทธานุสติ ธัมมานุสติ และสังฆานุสตินี้ ได้จัดตั้งบนแท่นแก้วลักษณะ ๘ เหลี่ยม เช่น ลักษณะขององค์มณฑปและลักษณะของเจดีย์ มีดอกบัวแก้วเจียระไนวางคู่ต่างดอกไม้บูชาพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ด้วยเศียรเกล้า









รูปลักษณะและการตกแต่ง

องค์เจดีย์
สูง ๓๐ เมตร ตั้งบนเนินดินถมสูง ๗ เมตร รวมมีความสูงจากระดับพื้นดินเดิมถึงยอด ๓๗ เมตร มีความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือ ธรรมเพื่อการตรัสรู้ ๓๗ ประการ

สัญฐาน
เป็นรูป ๘ เหลี่ยม ทรงกรวย
ส่วนล่าง เป็นฐาน  หมายถึง  ทาน  ศีล  ภาวนา กว้าง ๑๐.๕ เมตร
ส่วนกลาง มี ๘ ชั้น แสดงสัญลักษณ์ของ มรรค ๘
ส่วนยอด หมายถึง  นิพพาน

การตกแต่ง
ฐานส่วนล่าง  ประดับหินแกรนิตสีดำและภาพปั้นลายประติมากรรมดินเผาด่านเกวียน ( ลายปั้นเป็นประวัติย่อของท่าน )
ส่วนกลาง ปรับด้วยโมเสคแก้วสีชมพูอมแดง สีเดียวกับสีหินของภูทอก
ส่วนยอด ประดับด้วยโมเสคแก้วเช่นเดียวกันแต่เป็นสีชมพูสว่างเรืองแห่งการหลุดพ้น ไปสู่นิพพาน
การตกแต่ง ผนังตกแต่งด้วยหินอ่อนแก้ว ( Onyx ) เป็นลายยาวดุจม่านแก้ว พื้นเจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตแก้วสีดำเหลือบมุก ผนังด้านหลังตอนกลาง เป็นแท่นหินอ่อนแก้ว ที่ประดิษฐานรูปปั้นเหมือนของท่านพระอาจารย์จวน   กุลเชฏโฐ ในท่ายืน  สูง  ๒.๘ เมตร  มีภาพประติมากรรมดินเผาด่านเกวียนเป็นฉากเบื้องหลัง  โดยรอบเป็นตู้แสดงอัฐบริขาร



         
มณฑปพระธาตุ
ตั้งอยู่ภายในองค์เจดีย์ ณ ตรงจุดศูนย์กลางแห่งเจดีย์ ซึ่งตรงกับจุดที่ตั้งจิตตกาธาน บนเมรุที่ถวายเพลิงเผาสรีระร่างของท่าน เป็นมณฑปรูป ๘ เหลี่ยมทำด้วยหินแกรนนิตสีเทา ไม่ขัดมัน ส่วนยอดปิดทอง



ประตูเจดีย์
บานประตูเป็นไม้ประดู่แผ่นเดียว แกะสลักด้วยลายที่เรียบง่าย ปิดทองและกระจกเพื่อรักษาเนื้อไม้กลางประตูด้านในเป็นรูปนกยูง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ถึงคาถายูงทอง ของ ท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตมหาเถระ  ที่ศิษย์ของท่านทุกองค์ระลึกถึงด้วยความเคารพและสวดสาธยายเป็นประจำ
...นะโม วิมุตตานัง  นะโม วิมุตติยา
เหนือซุ้มประตู รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรย่อพระปรมาภิไธย  “ ภ.ป.ร. “ ประดิษฐานเหนือซุ้มประตูทั้ง ๓ ด้าน




ลานเจดีย์
ลานรอบองค์เจดีย์ เป็นรูป ๘ เหลี่ยม เช่นกัน กว้าง ๓๔ เมตร ปูกระเบื้องแผ่นเรียบ สีเทาอมเขียว ผนังของส่วนยกพื้นรอบลานใช้กรวดล้าง พื้นม้านั่งโดยรอบใช้หินอ่อนแก้ว




เนินดินรอบเจดีย์
จัดทำสวน ลดหลั่นกันลงไปเป็นชั้นตามระดับดิน ลงไปจนถึงบริเวณพื้นดินเดิมรวมทั้งอาณาบริเวณโดยรอบกลายเป็นสวนเจติยาคีรีวันอันสงบร่มรื่น




พระธาตุนั้นได้แยกตามลักษณะสัณฐานและสีเป็น ๖ กลุ่ม



กลุ่ม ๑  
พระธาตุ – ลักษณะเป็นแก้วใสประดุจเพชรรวมทั้งองค์ที่เป็นผลึกแก้ว แต่ยังไม่ใสดุจเพชรเต็มที่ด้วย





กลุ่ม ๒          
พระธาตุ – ลักษณะดังเมล็ดข้าวโพด มีสีขาว และสีหม้อใหม่ ลักษณะเป็นเงามัน สมบูรณ์แล้วและบางองค์ที่ยังเป็นสีขาว เทา ผิวยังขรุขระบ้าง แต่รูปลักษณะเห็นชัดว่า เป็นรูปเมล็ดข้าวโพด คงจะเป็นเงา มัน สมบูรณ์ในเวลาไม่นานนัก






กลุ่ม ๓           
พระธาตุ – ลักษณะสีดำเป็นมันเลื่อมและมีสีเทาแก่ซึ่งคงจะแปรสภาพเป็นสีดำต่อไป






กลุ่ม ๔            
พระธาตุ – จากเส้นเกศาและเส้นเกศาซึ่งกำลังรวมตัวจะเป็นพระธาตุ






กลุ่ม ๕           
พระธาตุ – ลักษณะคงสภาพตามรูปของอัฐิและอัฐิที่กำลังแปรสภาพจะเป็นพระธาตุ






กลุ่ม ๖           
พระธาตุ – ลักษณะและสีนานาชนิด มีทั้ง
- ลักษณะ... กลม รี ยาว ดั่งเมล็ดข้าวโพด เป็นเงามันเลื่อมดั่งมุกดา ใสดุจแก้ว ขุ่นทึบ
- สี....ขาว  เขียวไข่นกการะเวก ดำ เทา เหลืองอำพัน และชมพู เป็นอาทิ

นอกจากบนส่วนยอดของเจดีย์ซึ่งเป็นที่บรรจุอัฐิธาตุและอังคารของท่านแล้ว  มณฑปพระธาตุนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นส่วนที่สำคัญส่วนหนึ่งของเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่าน พระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ  เพราะส่วนอื่น ๆ ในเจดีย์   เช่น รูปปั้นก็ดี  หรือเครื่องอัฐบริขาร อันได้แก่  สบง  จีวร  อังสะ บาตร หรือเครื่องใช้อื่นใดในห้องพิพิธภัณฑ์ก็ดีล้วนเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องด้วยองค์ท่านทั้งสิ้น 
บ้างก็มาสร้างขึ้นในภายหลังเช่นกรณีของรูปปั้น เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณท่าน บ้างมีอยู่ในสมัยท่านยังคงมีชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นบริขารเครื่องใช้ มิใช่เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์ท่าน เป็นธาตุขันธ์ของท่านโดยตรงดั่งกรณีของพระธาตุ





สวนเจติยาคีรีวัน

 เพื่อเป็นพุทธบูชา และมีใจรำลึกอยู่ตลอดเวลาถึงพระพุทธวจนะของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าความที่ว่า
“ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ที่ใด
....เป็นบ้านก็ตาม เป็นป่าก็ตาม
.....ทีลุ่มก็ตาม ที่ดอนก็ตาม
 ...ที่นั้นเป็นภูมิสถานน่ารื่นรมย์ “
คณะกรรมการดำเนินงานสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ จึงได้พยายามจัดทำสวนตกแต่งไม่เฉพาะแต่บริเวณเนินดินรอบเจดีย์เท่านั้น หากได้ขยายการตกแต่งบริเวณไปโดยรอบเจดีย์อีกกว้างไกล



...โดยถือลานเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลาง สายตาทอดแลไปสารทิศใด ก็ให้คาดคำนึงว่า จักมีสถานที่อันน่ารื่นรมย์อยู่ในสายตาตลอดไป...ที่ใดเป็นสระน้ำอยู่แล้ว ก็ขุดแต่งขยายให้เป็นสระอันกว้างใหญ่ ที่จะสะท้อนภาพเจดีย์ลงสู่ผิวน้ำใสให้ไหวระริกด้วยชีวิต...ที่ตื้นเขินก็ขุดลอกให้เป็นสระลึกโดยเฉพาะพงป่าบางตอนปกคลุมด้วยเถาวัลย์และต้นไม้หนาทึบต่อเมื่อรื้อแต่งเถาวัลย์ต้นไม้และขุดลอกพงหญ้าที่รกเรื้อออกกลับพบลำน้ำทอดตัวอยู่ตัดขอบด้วยสันพลาญหินอย่างงดงาม..ที่ใดเป็นลุ่มลึก ก็แบ่งเขตขุดแต่งเป็นสระส่วนหนึ่ง ถมดินให้เป็นสนามหญ้าอีกส่วนหนึ่ง



สำหรับการจัดทำสวน ได้มีหลักการว่า เฉพาะบริเวณใกล้ ๆ เจดีย์ เช่น บนลานชั้นบนและลานชั้นกลางนั้น จะต้องไม่มีต้นไม้ใหญ่มาบดบัง เพื่อให้แสดงรูปลักษณ์ของเจดีย์ให้เห็นชัดถึงความสง่า สงัด โดยชัดแจ้ง ส่วนบริเวณโดยรอบให้คำนึงถึงต้นไม้และวัสดุพื้นบ้านของภูทอกและภาคอีสานเป็นลักษณะเด่นโดยตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ใบและไม้หอมตามควร

ในหลักการนี้ การจัดสวนจึงได้แบ่งวิธีการจัดตามกลุ่มสถานที่ตั้งสวนดังนี้

๑.บริเวณลานชั้นบนโดยรอบเจดีย์ ๘ ด้าน ซึ่งถือเป็นบริเวณที่อยู่ใกล้องค์เจดีย์ที่สุด ใช้ไม้ประดับที่มีความสูงจากพื้นดินเพียงเล็กน้อย เช่น เฟื่องฟ้า ผกากรอง ดอนย่าชมพู ฟ้าประดิษฐ์ เกล็ดแก้ว และผักขมแดง ปูดาดด้วยกระดุมทองเลื้อยและเน้นหนักด้วยกลุ่มต้นอินทร์ถวาย ( พุดซ้อน ) แคระซึ่งออกดอกหอมอบอวล ถวายเป็นพุทธบูชาตลอดปี


๒. บริเวณลานเจดีย์ชั้นกลาง ซึ่งมีอยู่ ๔ มุมได้จัดเป็นสวนอย่างที่คำนึงว่า ควรจะต้องมีต้นไม้ซึ่งมีความสูงพอควรที่จะให้ร่มเงาได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่บดบังเจดีย์ 
ดังนั้นสวน ๒ มุมแรกด้านหน้าทางซ้ายและขวาขององค์เจดีย์ จึงใช้ ตะโก ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นในป่าภาคอีสานเป็นหลัก 
ส่วนอีก ๒ มุมด้านหลังใช้ จันทน์ผา ซึ่งตามประวัติของท่าน จะมีขึ้นชุกชุมอยูตามป่า เขา และพลาญหินที่ท่านไปบำเพ็ญเพียรภาวนา ไม่ว่าจะเป็นที่ ดงหม้อทอง ถ้ำจันทน์ ถ้ำบูชา ภูวัว ภูสิงห์ หรือ ภูทอก




สำหรับสวนทั้ง ๔ มุมเจดีย์นี้ได้ชะลอหินจากบนเชิงเขาภูทอกและบริเวณโดยใกล้ขึ้นไปตั้งบนเนินดิน เกาะกอดเป็นกลุ่มสวนหิน บางแห่งถ้าเป็นพลาญหินอันราบเรียบก็จัดวางเป็นแนวนอน ต่างบัลลังก์ภาวนาสำหรับผู้ใฝ่ในการบำเพ็ญพรต สอดแซมด้วย ไม้ดอก ไม้ประดับเน้นแสดงความหมายในชีวประวัติของท่านเรียงลำดับเวียนตามทักษิณาวรรตจากมุมขวาของเจดีย์โดยลำดับ คือ

- มุมแรก เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีเหลือง อันเป็นสีสัญลักษณ์ของศาสนาประจำชาติไทย แสดงถึงความที่ท่านมีใจมุ่งมั่นอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ประพฤติพรหมจรรย์เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสโดยแท้..ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูกไม้มุมนี้ คือ คีรีบูนเหลือง บานบุรีแคระ ผกากรองด่างเหลือง เข็มเหลือง โกสนเหลือง รางทอง กระดุมทอง ฯลฯ






- มุมที่สอง เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีแดง อันเป็นสีโลหิต แห่งความองอาจ กล้าตาย แสดงถึงความมุมุ่งสู่ความหลุดพ้น  ภาวนาสละตายอย่างมอบกายถวายชีวิต ด้วยความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ....ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูก คือ ชวนชม เข็มแดง ชบาแดง โป๊ยเซียนแดง ผักขมแดง ผกากรองแดง ดอนย่าแดง ฯลฯ




- มุมที่สาม เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีขาว อันเป็นสีแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น แวดล้อมด้วยดอกไม้หอมให้กลิ่นแซ่ซ้องสาธุการเป็นพุทธบูชา...ไม้ดอกไม้ประดับที่ปลูก คือ เฟื่องฟ้าขาว ดอนย่าขาว บานเช้า ชบาขาว ผกากรองขาว โมก แก้ว สเลเต  ( มหาหงส์ ) เขี้ยวกระแต พุทธชาด เกล็ดแก้ว ฯลฯ 






- มุมที่สี่ เน้นด้วยไม้ดอกไม้ประดับสีชมพู อันแสดงถึงความอุทัยเรื่อเรืองแห่งแสงธรรมที่ท่านบรรลุจนสิ้นสงสัยแล้วและเมตตาสั่งสอนต่อไปให้แก่ปวงศิษย์ ทั้งบรรพชิตและฆราวาส เกียรติคุณแผ่กำจายสว่างเจิดจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป เหมือนอาทิตย์อุทัยขึ้นเหนือขอบฟ้า และนับวันจะเรื่อเรืองเจิดจ้ายิ่ง ๆ ขึ้นเป็นแสงอาทิตย์กล้าแห่งเที่ยงวัน เป็นที่ประจักษ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึกของมวลพุทธศาสนิกชนทั้งปวง.... ไม้ดอกไม้ประดับในมุมนี้ คือ เฟื่องฟ้าชมพู ดอนย่าชมพู ชบาชมพู ผกากรองชมพู เข็มชมพู หัวใจสีม่วง และก้ามปูชมพู ฯลฯ



๓. บริเวณต่อจากเนินองค์เจดีย์ทั้ง ๔ ด้าน ปลูกไม้ท้องถิ่นแห่งป่าภาคอีสาน เช่น ประดู่ อินทนิน เสลา เฉพาะบริเวณด้านหน้าสองข้างทางถนนทางเดินเข้าสู่เจดีย์ ปลูกมะม่วงนานาพันธุ์ เป็น “ ป่ามะม่วง “ หรือ “ สวนอัมพวัน “ อันร่มรื่น บริเวณที่ว่างชายเนินเจดีย์จัดทำเป็นสวนหย่อมสำหรับด้านซึ่งต่อเนื่องกับเขาภูทอก ซึ่งมี ต้นโพธิ์ ( ต้นอ่อนจากโคนต้นโพธิ์ตรัสรู้ที่พุทธคยา อินเดีย ) ซึ่ง ท่านพระอาจารย์จวน ฯ ได้นำต้นกล้ามาปลูกไว้เอง ได้จัดนำหินศิลาก้อนใหญ่มาตั้งเป็น บัลลังก์ศิลา ให้เป็นอนุสติรำลึกถึงรัตนอาสน์ ที่ประทับของสมเด็จพระพุทธชินสีห์จอมไตรใต้พระศรีมหาโพธิ์ในคืนตรัสรู้พระอนุตตรสัมโพธิญาณ ณ พุทธคยาโพ้น ได้แต่งรอบบัลลังก์ศิลาใต้ต้นโพธิ์ด้วยไม้หอมนานาพันธุ์ เช่น ลั่นทม โมก แก้ว กระดังงา สเลเต มะลิ เขี้ยวกระแต อินทร์ถวาย ว่านหอม พุทธชาด ฯลฯ ซึ่งคงจะให้ดอกหอมถวายเป็นพุทธบูชาแก่ทั้งเจดีย์และต้นโพธิ์ตรัสรู้และเมื่อใกล้บริเวณเขาภูทอก สภาพสวนเหล่านี้ก็จะค่อยแปรเปลี่ยนไป จนในที่สุดกลายเป็นสวนป่าตามธรรมชาติเดิมของป่าเขาบริเวณนี้ เพื่อเหมาะแก่พระโยคาวจรเจ้าจักได้บำเพ็ญพรตภาวนาต่อไป




๔. บริเวณริมถนนด้านหน้าเจดีย์ ในเกาะกลางถนนทางเดินเข้าเจดีย์และสองข้างถนนทางเดินเข้าเจดีย์ ใช้ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งจะคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศอันแห้งแล้งในฤดูร้อนแห่งอีสาน แต่ในขณะเดียวกันก็ให้กลิ่นหอม เช่น โมก แก้ว พิกุล พุดซ้อน และแต้มเติมด้วยสีสันแห่งความสดใส เช่น เฟื่องฟ้าชมพู ชวนชม เข็มสีต่าง ๆ บานชื่น บานบุรี พยัพหมอก ฟ้าประดิษฐ์ ผกากรองสีต่าง ๆ  เศรษฐีไซ่ง่อน หัวใจสีม่วง เกล็ดแก้ว ผักขมแดง ผักเป็ดแดง ปัตตาเวียสีต่าง ๆ ฯลฯ




๕. บริเวณสามเหลี่ยมจากปากทางเข้าวัด ซึ่งอยู่เบื้องขวาของเจดีย์ นอกจากสวนหย่อมเป็นระยะ ๆ แล้วได้จัดปลูกลั่นทมแดงและลั่นทมขาวเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่า “ สวนลั่นทม “ หรือ “ ลานลั่นทม “  ซึ่งจะให้กลิ่นหอมแห่งลั่นทมขจรขจายตลอดปี
๖. บริเวณเบื้องซ้ายตอนใกล้เนินเจดีย์ คงจัดทำเป็นสวนหย่อมเป็นระยะ ๆ เช่นกัน หากส่วนที่ไกลออกไปใกล้สระน้ำได้จัดทำเป็น “ สวนไทร “ หรือ “ สวนนิโครธาวัน “ ปัจจุบันไทรนานาชนิดที่ปลูกยังไม่เติบใหญ่ คงจะต้องรอเวลาต่อไปอีกระยะหนึ่ง กว่าจะเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นได้เต็มที่


๗. บริเวณด้านหลังเจดีย์ เชิงบันได มีต้นโพธิ์ใหญ่ซึ่งได้ชะลอหินศิลาก้อนใหญ่มาจัดตั้งเป็นบัลลังก์ศิลาใต้ต้นโพธิ์และตกแต่งในลักษณะเดียวกับต้นโพธิ์ตรัสรู้เช่นกันสองข้างถนนด้านหลัง ซึ่งด้านหนึ่งเลียบชายเนินเจดีย์อีกด้านหนึ่งเลียบชายสระน้ำใหญ่ ต่างปลูกพิกุลเป็นระยะ ๆ ถือเป็นไม้หอมเพื่อเป็นพุทธบูชา ดาดพื้นด้วยพรมธรรมชาติสีเขียว แซมดอกเหลืองของกระดุมทองเลื้อย สลับด้วยไม้ดอกสีสดจ้าของดาวเรืองและหงอนไก่รอบสระน้ำใหญ่ นอกจากพิกุลแล้วได้ปลูกจำปีเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกัน สองข้างบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลังขององค์เจดีย์ ปลูกจำปีและจำปาซึ่งในระหว่างนี้เริ่มให้ดอกบานหอมจรุงใจแทบตลอดเวลา








ห้องพิพิธภัณฑ์

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์จวน  กุลเชฏโฐ   นี้ นอกจากการจัดสร้างขึ้นเป็นอนุสรณียสถาน และเป็นบรรจุอัฐิพระธาตุของท่านแล้ว ได้จัดส่วนหนึ่งภายในองค์เจดีย์เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติบุคคล ( Memorial Museum ) ด้วยโดยจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติและอัฐิบริวารข้าวของเครื่องใช้ของท่าน แบ่งเรื่องราวและการจัดแสดงออกเป็น ๒ ส่วน ตามลักษณะของห้องจัดแสดงภายในองค์เจดีย์




ห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๑ ประวัติและเกียรติคุณอันเป็นที่สรรเสริญ หัวเรื่องใช้ชื่อ พระจวน  กุลเชฏโฐ อันเป็นลายมือของท่านเอง นำมาขยายและพ่นด้วยสีทอง ภายในห้องแสดงเรื่องราวประวัติชีวิตและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ในชีวิตเป็นภาพวาด ภาพถ่ายตามวาระและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นประกอบคำอธิบาย รวมหนังสือธรรมะและหนังสืออนุสรณ์ ชีวประวัติ ปฏิปทาและธรรมเทศนา
จุดเด่นในห้องนี้ คือ ภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่เป็นภาพวาดท่านพระอาจารย์จวน ขณะนั่งสำราญอิริยาบถ “ ปล่อยวาง “ บนเพิงผาภูทอก เป็นภาพเขียนจำลองจากภาพถ่าย หากเน้นโทนสีน้ำตาล – เหลือง และแสงสีเงาระหว่างความมืดและความสว่างที่ส่องมากระทบให้แลดูเอิบอิ่มลึกล้ำเหมือนท่านจะหลุดลอยออกไปสู่แดนอวอากาศแห่งนิพพานกรอบรูปวาดเป็นกรอบทองอย่างดี  แต่เป็นแบบเรียบง่ายอันเป็นลักษณะของกัมมัฏฐาน หากทรงคุณค่าอันสูงยิ่ง


ข้างใต้ภาพ เชิญวาทะของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตตมหาเถระ ที่กล่าวถึงท่านพระอาจารย์จวนมาลงไว้ ระหว่างนั้นท่านไปอยู่จำพรรษากับท่านพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณานิคม ได้เร่งทำความเพียรอย่างไม่ลดละ เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้น กระทั่งวันหนึ่ง ท่านพระอาจารย์มั่นกล่าวชมว่าท่าน “ ได้กำหนดจิตดูท่านจวนแล้วได้ความเป็นธรรมว่า กาเยนะ วาจายะ วะเจตะ วิสุทธิยา ท่านจวนเป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม “



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน
พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ มีพระราชดำริเพื่อจัดสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านนาต้อง เพื่อพระราชทานประชาชน เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ เป็นวาระแรกที่ทรงนมัสการ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ และทรงมีพระราชดำรัสทางธรรมะ




เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมนมัสการท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ
ณ.ภูทอกอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๒




....ภาพพระราชกรณียกิจ เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและนมัสการท่านพระอาจารย์จวน ณ ภูทอก ในวาระแรก ๆ ภาพพระราชกรณียกิจเหล่านี้ เป็นภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน หรืออัดขยายเพื่อให้ได้ขนาดสำหรับจะจัดตั้งแสดงจากภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน




.... ภาพถ่ายท่านพระอาจารย์จวน กับหลวงปู่ขาว  อนาลโย ซึ่งแสดงถึงความเคารพรัก ผูกพัน ที่ท่านมีต่อหลวงปู่ก่อนที่ท่านพระอาจารย์มั่นจะมรณภาพ ท่านได้ฝากฝังท่านพระอาจารย์จวนไว้กับหลวงปู่ขาว ซึ่งเป็นศิษย์อาวุโสของท่านพระอาจารย์มั่น “ ให้ช่วยกำกับดูแลรักษา “ ท่านพระอาจารย์จวนจึงกล่าวเสมอ นอกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่ขาวเป็นประดุจ “ พ่อ แม่ “ ของท่าน เป็น “  พ่อแม่ครูบาอาจารย์ “ ที่ท่านเคารพรัก เทิดทูนอย่างสูงสุด  

ในห้องพิพิธภัณฑ์นี้ได้จัดแสดงรวมถึงลายมือของท่านหนังสือต่าง ๆ ที่รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์ท่านด้านหน้าสุด เป็น “ อนุสรณ์ “ .....ลายพระหัตถ์ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ( วาสนมหาเถระ ) สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามและ “คุณานุสสติ”
...พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก แห่งวัดบวรนิเวศวิหารที่ประทานไว้แต่เมื่อยังทรงดำรงสมณศักดิ์เป็นที่สมเด็จพระญาณสังวร  ซึ่ง ทั้ง “ อนุสรณ์ “ และ “ คุณานุสสติ “ นี้ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทั้งสองพระองค์ ได้ทรงประทานเป็นสัมโมทนียกถา ให้เป็นเกียรติเป็นสิริแก่หนังสือชีวประวัติท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ซึ่งจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินะราชทานเพลิงศพท่านเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน  พ.ศ.  ๒๕๒๔
อัฐบริขารที่แสดงภายในห้องนี้เป็นอัฐบริขารที่อนุญาตไว้ในพระธรรมวินัยและเครื่องใช้อื่น ๆ ที่เป็นบริขารอาศัยของท่านพระอาจารย์จวน ลักษณะรูปแบบที่นำออกจัดแสดงได้แยกออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ๆ กล่าวคือ


กลุ่มแรก แสดงอัฐบริขารและเครื่องใช้ที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต เช่น ...สบง  จีวร สังฆาฏิ อังสะ บาตร ถลกบาตร ที่รองบาตร ย่าม รองเท้า เป็นอาทิ สิ่งเหล่านี้ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ได้ติดตามพบกระจัดกระจายอยู่ที่บริเวณทุ่งนา ตำบลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นจุดบริเวณที่เครื่องบินตก โดยที่เวลาเกิดเหตุมีฝนตกหนัก สิ่งของต่าง ๆ นอกจากฉีกขาด ยังเปื้อนโคลนตมด้วย ต้องนำมาทำความสะอาด บางชิ้นพอทำความสะอาดได้บ้าง แต่บางชิ้นก็เสียหาย เช่น รองเท้า เหลือเพียงข้างเดียว บาตรบุบยุบเข้าไปทั้งตัวบาตรและฝาบาตร ได้เก็บรักษาและนำมาแสดงไว้เป็นประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่ง



กลุ่มที่สอง แสดงอัฐบริขาร และบริขารอาศัยในชีวิตประจำวันของท่าน  อัฐบริขารที่นำมาแสดงในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นรายการที่ซ้ำกับกลุ่มแรกที่แสดงบริขารติดองค์อยู่เมื่อเครื่องบินแตกแล้ว ควรเรียกว่าเป็นอัฐบริขารที่ท่าน “ เคยใช้ “ มากกว่า เพราะได้สละไปแล้ว ให้แก่พระภิกษุรูปอื่น ๆ ปกติท่านเป็นพระป่าที่สมถะและเคร่งในวัตร ถือครองผ้า ๓ ผืน ท่านจะไม่มี สบง จีวร หรือสังฆาฏิเกินกว่าอย่างละ ๑ ผืน แต่เนื่องจากการจัดห้องพิพิธภัณฑ์นี้ตั้งใจจะจัดแยกเป็น กลุ่มหนึ่ง..แสดงสภาพประวัติศาสตร์ถึงสภาพสิ่งของเครื่องใช้เมื่อเครื่องบินตกและอีกกลุ่มหนึ่ง..แสดงสภาพสิ่งของเครื่องใช้อันเป็นชีวิตปกติของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน คณะผู้ดำเนินงานจัดทำพิพิธภัณฑ์จึงต้อง “ ขอคืน “ อัฐบริขารบางชิ้นจากผู้ที่ได้รับบริจาคจากท่านไปแล้ว ทำให้สามารถนำมาจัดแสดงได้ เพราะท่านเหล่านั้นแม้จะรักและหวงแหนสิ่งเหล่านั้นเพียงไร แต่เพื่อให้ตนได้สามารถมีส่วนแห่งบุญด้วยต่างขอนำมา “ ถวายคืน “ ให้แสดงในพิพิธภัณฑ์








ห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๒ ชีวิตประจำวันและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน  ภาพที่ตั้งแสดง แยกเป็น ๒ กลุ่ม

กลุ่มแรก  เป็นภาพแสดงชีวิตอันเป็นปกติวิสัยของพระธุดงค์กัมมัฏฐาน เช่น ท่านกำลังธุดงค์หรือเทศน์โปรดศิษย์ระหว่างธุดงค์อยู่กลางป่า ภาพถ่ายของท่านกับยอดภูหินผาแห่งภูทอกเป็นอาทิ   






อีกกลุ่มหนึ่ง  เป็นภาพพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ไปในพิธีพระราชทานเพลิงศพท่านพระอาจารย์จวนหรือภาพพระราชกรณียกิจสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรูปปั้นเหมือนของท่านพระอาจารย์จวนให้แก่วัดเจติยาคีรีวิหาร และทอดพระเนตรอัฐิพระธาตุของท่านอย่างเปี่ยมด้วยพระราชสัทธาปสาทาธิการในท่านพระอาจารย์และ ฯลฯ  




เช่นเดียวกันกับในห้องพิพิธภัณฑ์ที่ ๑ ภาพพระราชกรณียกิจเป็นภาพที่ทรงพระมหากรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทาน    ในห้องนี้ ได้มีการจัดตั้งอาสนะ หมอนขวาน ปูผ้านิสีทนะ จำลองภาพในลักษณะที่ท่านพระอาจารย์จวนเคยนั่งอยู่เป็นประจำ ณ ศาลาวิหารบนเขาชั้นที่ ๕ ข้าง ๆ มีแซ่ปัดยุง เชี่ยนหมาก ที่ใส่ชานหมาก กระโถน แว่นตา กาน้ำกระบอกน้ำ ไม้สีฟันของพระกรรมฐาน ร่ม กระติกน้ำ และ ฯลฯเครื่องใช้ต่าง ๆ เหล่านี้ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันกับในห้องพิพิธภัณฑ์แรก หากมีเกินกว่าหนึ่ง เพราะท่านเจ้าของผู้ได้รับบริจาคจากท่านไปแล้ว ขอ “ ถวายคืน “ ให้มาแสดงในพิพิธภัณฑ์