วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ ราชินีผู้เดียวดายแห่งแดนเหนือ




 เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ (Tirpitz) ตั้งชื่อตามจอมพลเรืออัลเฟรด ฟอน เทียร์พิตซ์ (Alfred von Tirpitz) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของเยอรมนี เป็นเรือพี่น้องของเรือประจัญบานบิสมาร์ค (Bismarck) วางกระดูกงูวันที่ 2 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1936 ปล่อยลงน้ำวันที่ 1 เมษายน ปี ค.ศ.1939 และเข้าประจำการในกองทัพเรือเยอรมัน (Kriegsmarine) วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1941 แม้จะเป็นเรือชั้นเดียวกับบิสมาร์ค แต่ภายหลังเทียร์พิตซ์ได้รับการปรับปรุงเพิ่มเติมจนมีระวางขับน้ำมากกว่าบิสมาร์คประมาณ 2,000 ตัน กลายเป็นเรือประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรป แต่เทียร์พิตซ์ไม่มีโอกาสรับตำแหน่งเรือประจัญบานขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแบบที่บิสมาร์คเคยได้เป็นอยู่ระยะหนึ่ง ตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของเรือประจัญบานยามาโตะ (Yamato) ของญี่ปุ่น ซึ่งเข้าประจำการในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1941


หลังเยอรมนีสูญเสียเรือประจัญบานบิสมาร์คในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1941 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ออกคำสั่งห้ามไม่ให้กองทัพเรือเยอรมันส่งเรือรบผิวน้ำออกปฏิบัติการในมหาสมุทรแอตแลนติกอีก ภารกิจแรกของเรือประจัญบานเทียร์พิตซ์จึงเป็นเรือธงของกองเรือบอลติก ลาดตระเวณปิดล้อมกองเรือบอลติกของสหภาพโซเวียตที่เมืองเลนินกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน จอมพลเรือเอริช เรเดอร์ (Erich Raeder) ผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมันเสนอให้ส่งเทียร์พิตซ์ไปที่นอร์เวย์ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การยึดครองของเยอรมัน เพื่อสกัดขบวนคอนวอยของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ส่งยุทโธปกรณ์ไปช่วยสหภาพโซเวียตตามโครงการยืม-เช่า (Lend-Lease) รวมถึงป้องปรามไม่ให้สัมพันธมิตรบุกนอร์เวย์ด้วย ฮิตเลอร์ตกลง เรือประจัญบานเทียร์พิตซ์จึงได้รับการปรับปรุงติดปืนต่อสู้อากาศยานเพิ่มเติมและออกเดินทางไปนอร์เวย์ในเดือนมกราคมปี ค.ศ.1942 เมื่อถึงที่หมายแล้ว เทียร์พิตซ์ก็เข้าไปหลบในอ่าวเล็กๆหรือฟยอร์ด ใช้หน้าผากำบังการตรวจการณ์ทางอากาศ มีการตัดต้นไม้มาใช้ซ่อนพราง รวมถึงมีปืนต่อสู้อากาศยานมาวางกำลังไว้โดยรอบ จากนั้นเทียร์พิตซ์ก็ซุ่มรออยู่เฉยๆ แทบไม่ได้ออกปฏิบัติการเลย สาเหตุเพราะขาดแคลนน้ำมันและเรือพิฆาตคุ้มกันถูกดึงไปใช้ในภารกิจอื่น เป็นที่มาของฉายาราชินีผู้เดียวดายแห่งแดนเหนือ (Lonely Queen of the North) น่าสนใจมากว่าเทียร์พิตซ์ถูกเรียกด้วยสรรพนามเพศหญิงเหมือนเรือทั่วไป ต่างจากบิสมาร์คที่เป็นเพศชาย เพราะกัปตันมองว่ามีแสนยานุภาพแข็งแกร่งเกินกว่าจะเป็นผู้หญิง


เดือนมีนาคม ค.ศ.1942 เยอรมนีส่งเรือประจัญบานเทียร์พิตซ์ ร่วมกับเรือพิฆาตและเรือตอร์ปิโดออกสกัดขบวนคอนวอยของอังกฤษที่กำลังมุ่งหน้าไปสหภาพโซเวียต แต่อังกฤษสามารถถอดรหัสอีนิกม่า (Enigma) รู้ความเคลื่อนไหวของเยอรมันล่วงหน้าจึงเปลี่ยนเส้นทางใหม่ เมื่อกองเรือเยอรมันไม่พบเป้าหมายจึงวกกลับฐาน อังกฤษพยายามส่งเรือรบไล่ตามแต่ไม่ทัน อังกฤษจึงเปลี่ยนไปโจมตีทางอากาศแทน แต่เทียร์พิตซ์หนีรอดไปได้โดยแทบไม่ได้รับความเสียหายเลย อย่างไรก็ตามปฏิบัติการดังกล่าวของเทียร์พิตซ์และกองเรือเยอรมันนั้นสิ้นเปลืองน้ำมันมาก ทั้งที่ปกติก็ขาดแคลนอยู่แล้ว ต้องใช้เวลาถึงสามเดือนกว่าเทียร์พิตซ์จะมีน้ำมันพอออกปฏิบัติการอีกครั้ง


เทียร์พิตซ์ออกปฏิบัติการสกัดขบวนคอนวอยอีกครั้งช่วงปลายเดือนมิถุนายน แต่ข่าวรั่วไปถึงอังกฤษผ่านทางหน่วยข่าวกรองสวีเดน ส่งผลให้คลาดจากเป้าหมายอีก เทียร์พิตซ์วกกลับฐาน ปล่อยให้เรือดำน้ำหรือเรืออู (U-Boat) รับภารกิจต่อไป ถึงตอนนี้เทียร์พิตซ์มีกำหนดต้องรับการปรับปรุงครั้งใหญ่ แต่ฮิตเลอร์กลัวว่าเทียร์พิตซ์จะถูกดักโจมตีระหว่างทางกลับเยอรมนี จึงมีคำสั่งให้ทำการปรับปรุงเทียร์พิตซ์ในนอร์เวย์เลยจนถึงปี ค.ศ.1943 เมื่อเทียร์พิตซ์รับการปรับปรุงเสร็จแล้ว พลเรือเอกคาร์ล เดอนิทซ์ (Karl Dönitz) ผู้บัญชาการทหารเรือเยอรมันคนใหม่ ขึ้นดำรงแทนเรเดอร์ จึงมีคำสั่งให้เทียร์พิตซ์ออกปฏิบัติการร่วมกับเรือลาดตระเวณประจัญบานชาร์นฮอร์สต์ (Scharnhorst) คุ้มกันโดยเรือพิฆาต 10 ลำ โจมตีเกาะสปิตส์เบอร์เกนในหมู่เกาะสฟาลบาร์ เป็นครั้งแรกที่เทียร์พิตซ์มีโอกาสใช้ปืนเรือกับเป้าหมายข้าศึก


ทางด้านอังกฤษก็พยายามหาทางจมเทียร์พิตซ์ให้ได้ หลังปล่อยให้หนีรอดไปได้หลายครั้ง ในเดือนกันยายน ค.ศ.1943 อังกฤษใช้เรือดำน้ำขนาดเล็กร่วมกับการโจมตีทางอากาศพยายามจมเทียร์พิตซ์ในปฏิบัติการซอร์ซ (Operation Source) เทียร์พิตซ์ได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่ก็ยังไม่จม ขณะที่อังกฤษเสียเรือดำน้ำขนาดเล็กไป 5 ลำจากทั้งหมด 6 ลำ เยอรมนีทำการซ่อมแซมเทียร์พิตซ์จนพร้อมกลับมาปฏิบัติการอีกครั้งในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1944 เมื่ออังกฤษทราบข่าวจึงทำการโจมตีทางอากาศอีกครั้งระหว่างเทียร์พิตซ์ออกแล่นทดสอบ แต่ไม่มีระเบิดลูกไหนเจาะผ่านเกราะของเทียร์พิตซ์ได้ อังกฤษทำการโจมตีทางอากาศซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงเดือนสิงหาคมแต่ก็ไม่เป็นผล อาจกล่าวได้ว่าเทียร์พิตซ์เป็นเรือประจัญบานที่อังกฤษใช้ความพยายามจมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา


หลังจากล้มเหลวมาหลายครั้ง สุดท้ายอังกฤษตัดสินใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดแลงคาสเตอร์ (Avro Lancaster) ทิ้งระเบิดทอลบอย (Tallboy) ซึ่งมีน้ำหนักถึง 5 ตันในการจมเทียร์พิตซ์ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ค.ศ.1944 จนกระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ.1944 ระหว่างปฏิบัติการ Catechism เครื่องบินทิ้งระเบิดอังกฤษทิ้งระเบิดทอลบอยโดนดาดฟ้าของเทียร์พิตซ์เข้าอย่างจัง 2 ลูก สร้างความเสียหายอย่างหนัก จนน้ำทะลักเข้าเรืออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เทียร์พิตซ์เอียงและพลิกคว่ำในที่สุด มีลูกเรือเสียชีวิตระหว่าง 950 – 1,250 นาย รอดชีวิตประมาณ 200 นายเท่านั้น เมื่อเห็นเทียร์พิตซ์หงายท้อง นักบินอังกฤษนายหนึ่งถึงกับอุทานว่า “ขอบคุณพระเจ้า นี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เราจะต้องมาที่นี่” แสดงให้เห็นความโล่งใจที่สุดท้ายอังกฤษก็จมเทียร์พิตซ์ได้เสียที หนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่จุดจบของเทียร์พิตซ์คล้ายกับบิสมาร์คคือปืนเรือของเทียร์พิตซ์มีขีดความสามารถไม่เหมาะสำหรับรับมือภัยคุกคามทางอากาศ ประกอบกับกองทัพเรือเยอรมันขาดการประสานงานกับกองทัพอากาศ ส่งผลให้ไม่มีเครื่องบินขับไล่เยอรมันมาคุ้มกับเทียร์พิตซ์จากเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ ผู้บัญชาการกองบินของเยอรมันซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าวถูกปลดจากตำแหน่ง ต้องขึ้นศาลทหาร และถูกตัดสินจำคุก อย่างไรก็ตามขณะนั้นเยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินอย่างหนัก ผู้บัญชาการคนนี้จึงถูกปล่อยตัวหลังรับโทษเพียงหนึ่งเดือนและถูกส่งไปเป็นนักบินเครื่องบินขับไล่ไอพ่น Me-262 ป้องกันน่านฟ้าเยอรมนีจากการทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร

วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เจ้าแม่ลชาเคารี (Laja Gauri)



ฉันจึงเปลือยด้วยพลานุภาพแห่งท่าแหกขาและโยนี


การนับถืออวัยวะเพศทั้งของหญิงและของชายนั้นปรากฏแพร่หลายทั่วไปทั้งอนุทวีป อวัยวะเพศจึงเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมพื้นฐานของความเชื่อในหลายเรื่อง ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุค พระศิวะทรงมีลึงค์ที่ชี้ขึ้นฟ้า ตั้งผงาดค้ำโลกเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอำนาจของพระองค์ในฐานะพระผู้สร้าง หากชายใดมีอวัยวะเพศที่ไม่เเขงงตัวเขาจะมิสามารถครอบครองอำนาจแห่งการสร้างชีวิตได้ ในเมื่อเจ้าโลกแท่งเขื่องคือตัวแทนอำนาจการสร้างฝ่ายชาย ฉันใดก็ฉันนั้นอำนาจการให้กำเนิดในฝ่ายหญิงก็ย่อมมีที่มาจากโนนสวรรค์แห่งการให้กำเนิด สรรพชีวิตที่ผุดออกจากโยนีของแม่ย่อมมีชีวิตบนโลกไม่ว่ายาวหรือสั้น โยนีจึงเป็นตัวแทนอำนาจฝ่ายผู้สร้างของแม่ไปโดยปริยาย


ความต่างอย่างหนึ่งของลึงค์กับโยนี คือ โยนีนั้นเห็นองค์ประกอบได้ยาก เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ปิดอยู่ แต่ลึงค์นั้นพร้อมแสดงตัวตนได้เสมอจึงเห็นง่าย เมื่อความเห็นยาก-ง่ายที่ต่างกันจึงนำไปสู่แสดงออกเพื่อต่อรองอำนาจแห่งการเกิดที่ต่างไป พระศิวะทรงแสดงตนชัดเจนผ่านลึงค์ที่ตั้งขึ้น (อุรธวลึงค์) ที่ปรากฏเห็นได้ทั้งองค์ศิวะลึงค์และประติมากรรมพระศิวะ แต่เทวีที่ถือครองอำนาจฝ่ายเกิดอีกส่วนกลับไม่แสดงขุมอำนาจแห่งตน แต่ใช้ชื่อหรือสีสันมาเป็นตัวเเทนอำนาจในส่วนนี้ เช่น ภคะ ในคำว่า ภควาน ที่แปลว่าเทวดาหรือเทพเจ้านั้น คำ ๆ นี้แปลว่า ช่องคลอด (โยนี), สมบัติ, หรือขุ่มทรัพย์ ตรงนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า อำนาจฝ่ายหญิงครอบครองพื้นที่การสร้างอยู่ เทพเจ้าผู้ให้กำเนิดไม่ว่าชาย (ภควาน) หรือหญิง (ภควตี) ย่อมมีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับโยนี อันนำไปสู่ทรัพย์ (การเกิด) ด้วยอำนาจมากมายขนาดนั้นทำไมโยนีจึงถูกคลุมล่ะ จากหลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า แต่เดิมในวัฒนธรรมตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อำนาจฝ่ายหญิงทรงพลังเป็นอย่างมาก หลักฐานหนึ่งที่ตกค้างมาจนปัจจุบันของอำนาจโบราณแห่งภคะนี้ คือ เทวีนั่งแหกโชว์ของลับอย่างเปิดเผย “เจ้าแม่ลชาเคารี” (Laja Gauri)


ท่าแหกขานี้ได้แต่ใดมา? สันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ คงได้มาแต่วัฒนธรรมสินธุ เพราะ มีการพบตราประทับมีภาพเจ้าแม่นั่งแหกขาแล้วมีต้นไม้เกิดออกมาจากอวัยวะเพศ สะท้อนอำนาจการเกิดอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ความตรงไปตรงมานี้ชี้ว่า ท่าแหกขานั้นคือ “ท่าคลอดบุตร” ท่าที่ทรงพลังที่สุดของฝ่ายแม่ในฐานะผู้สร้าง การสร้างจะไม่สมบูรณ์เลย หากไม่มีการแหกขาเพื่อคลอด (ในทางเดียวกันลึงค์ที่แข็งตัวจึงเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของอำนาจการสร้างฝ่ายชาย) พระนางลชาเคารีผู้แสดงท่าทางนี้มีลักษณะอื่นที่สำคัญคือ ทรงไม่มีเศียร ในส่วนเศียรมักถูกแทนที่ด้วยดอกบัวขนาดใหญ่ ประทับแหกขา ร่างการเปลือยเปล่า ในตรงนี้ทางประติมานวิทยาตีความว่า พระนางคือแผ่นดินที่ให้กำเนิดชีวิต ทรงเป็นที่มาแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายดังแผ่นดินแผ่นน้ำ ในอีกทางหนึ่งดอกบัวก็คือแสดงความผลิบานของโยนีสาวแรกรุ่นที่เปี่ยมด้วยอำนาจแห่งการสร้าง และท่าคลอดบุตรก็แสดงว่า เราคือสิ่งที่ถูกสร้างผ่านช่องคลอดของเจ้าแม่


พระนางที่แสดงเครื่องเพศชัดเจนเช่นนี้จึงได้รับการตีความว่าเป็นเทวีแห่งบรรพกาล แต่พระนางมิเคยเก่าเลย ทรงได้รับการนับถือทั่วทั้งอินเดียมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ในบริเวณรัฐอานธรประเทศ อุตรประเทศ มัธยมประเทศ CAROL RADCLIFFE BOLON กล่าวว่า แท้จริงแล้วพระนางมีรูปแบบมากกว่านี้ บางครั้งแสดงเศียรอย่างมนุษย์ บางครั้งทรงดอกบัวในพระหัตถ์ทั้ง 2 คล้ายพระลักษมีเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะทางประติมานนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า พระนางอาจเป็นต้นแบบหนึ่งของพระลักษมีหรือไม่ เพียงแต่เปลี่ยความอุดมสมบูรณ์ที่แสดงออกให้เรียบร้อยขึ้นในสายตาแบบศาสนาฝ่ายชาย คือ จับโยนีมาส่วมสาหรี่นั่นเอง


ในฤคเวทอธิบายว่า พระนางเป็นส่วนหนึ่งกับเทวีอทิติ เจ้าแม่แห่งท้องฟ้า ทรงเป็นรูปปรากฏของอทิติผู้เป็นอนังคะ (ไร้รูป) ประเด็นส่วนนี้หมายความว่า พระนางคือฟ้า คือฝน คือความอุดมสมบูรณ์ ถ้าพูดเช่นนี้คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่า ฝนนั้นคือน้ำอะไร ส่วนนี้อธิบายได้ว่า แม้เข้าสู่ยุคพระเวทคือหลังการรับวัฒนธรรมอารยันแล้ว พระนางก็ยังคงครองพื้นที่ด้านความอุดมสมบูรณ์อยู่เช่นเก่า โดยร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีช่วยยืนยันว่า เทวีที่แสดงท่าแหกขานั้นมีสืบมาในศิลปะอินเดียโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 3-6) แอบ ๆ อยู่ตามสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ทั่วทั้งสถูปสาญจี กระทั่งการสร้างรูปเคารพของพระนางปรากฏเป็นประติมากรรมชัดเจนในสืบพุทธศตวรรษที่ 9 และก็ดูเหมือนว่าจะยังคงมีมาเสมอ บ้างนำเอาไปประดับฐานเสา ฐานสถาปัตยกรรม เป็นเครื่องรางขนาดเล็ก เป็นตราประทับบนเหรียญเงิน เป็นต้น


แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ดึงเอาอำนาจออกจากร่างเปลือยเปล่า สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นหลังความคิดเรื่องการฝึกฝนจิตใจ ที่เน้นการยกเลิกการร่วมเพศ เมื่อการร่วมเพศไม่เกิดโยนีก็ถูกปิดคลุม ผู้คนมองไม่เห็นอีก ต่างจากลึงค์แม้จะถูกคลุมด้วยผ้าก็ยังสามารถมองเห็นได้ อำนาจการสร้างจึงเลื่อนไปสู่ลึงค์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งคือ ลึงค์นั้นสามารถกระตุ้นได้ด้วยเจ้าของ แต่โยนีมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือรอบเดือน เมื่อมีรอบเดือนการควบคุมโยนีก็จะยากขึ้น ศาสนาฝ่ายบุรุษจึงใช้ส่วนนี้มาอ้างความเหนือกว่าในเรื่องของการไปสู่ทางหลุดพ้น แต่ถึงกระนั้นโยนีกับลึงค์ก็ยังคงครองพื้นที่ในศาสนาและมีอำนาจในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเกิดอยู่ดังเดิม พระนางลชาเคารีก็ยังคงได้รับการเคารพ แม้บทบาทอาจจะลดลงบ้าง เพราะแท้จริงนั้นเทวีไม่เคยตาย โยนีไม่เคยร้างการให้กำเนิด


ข้อมูล


Yogi Ananda Saraswathi https://vedicgoddess.weebly.com/…/by-yogi-ananda-saraswathi…

Carol R. Bolon - Forms of the Goddess Lajjā Gaurī in Indian Art-Pennsylvania State University Press

คำสนทนากับอ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

2503 สงครามลับ สงครามลาว

 ๒๕๐๓ สงครามลับ สงครามลาว (๑) 

“ร้อยเอก กองแล วีระสาน”



“จุดเริ่มแห่งตำนาน”


......ในที่สุด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้รับคำขอร้องจากสหรัฐฯ และ พลตรี ภูมี หน่อสวรรค์ ผู้นำทางทหารลาวฝ่ายขวาและญาติทางฝ่ายมารดาขอให้ช่วยเหลือต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาวด้วย....


พลันที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนประสบชัยชนะและสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน”เป็นผลสำเร็จเมื่อ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ สหรัฐอเมริกาก็หันมาให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อพื้นที่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งราชอาณาจักรลาว โดยเริ่มให้ความช่วยเหลือด้วยจำนวนเงินประมาณ ๑๕๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอรัปชันอย่างมหาศาลในวงการรัฐบาลลาวขณะนั้น และที่มาพร้อมเงินช่วยเหลือก็คือที่ปรึกษาชาวอเมริกันจาก ซีไอเอ. กับหน่วยรบพิเศษ “กรีน แบเร่ต์” เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางด้านการทหารของลาวที่มีพรมแดนติดทั้งจีนและเวียดนาม ตามมาด้วยการทุจริตอย่างกว้างขวางในหมู่นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไป สร้างความไม่พึงพอใจให้กับนายทหารหนุ่มนาม ร้อยเอก กองแล วีระสาน ผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม เป็นอย่างยิ่ง


“ร้อยเอก กองแล วีระสาน”

ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารของ ซีไอเอ.เปิดการฝึกภาคปฏิบัติยุทธวิธียึดเมืองให้แก่กองพันทหารพลร่ม โดยเลือกนครเวียงจันทน์เป็นเป้าหมายในการฝึก ที่ปรึกษาแนะนำให้ ร้อยเอก กองแล วีระสาน เข้ายึดสถานีวิทยุ สนามบิน ชุมทางถนนสายสำคัญๆ ที่ทำการไปรษณีย์และพื้นที่ยุทธศาสตร์อื่นๆในเมือง และยังได้มอบอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารที่ทันสมัยคือ “เครื่องรับวิทยุทรานซิสเตอร์”ให้กับทหารไว้ติดตัวเพื่อ ร้อยเอก กองแล วีระสาน จะได้สามารถออกคำสั่งผ่านการกระจายเสียงจากสถานีวิทยุที่ยึดได้อย่างสะดวกและรวดเร็วอีกด้วย


วันนั้น รัฐบาลลาวอยู่ที่หลวงพระบางทั้งคณะ เพื่อเตรียมการถวายพระเพลิงพระบรมศพเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ กษัตริย์ลาวซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๒ ที่ผ่านมา...


หลังจากซักซ้อมแผนการฝึกเป็นที่เรียบร้อย เจ้าหน้าที่ซีไอเอต่างกลับที่พัก กองพันทหารพลร่มก็เข้ายึดนครเวียงจันทร์ตามแผนการฝึกที่กำหนดไว้ แต่ที่มิได้เป็นไปตามแผนการฝึกคือ ร้อยเอก กองแล วีระสาน ได้ออกคำสั่งผ่านคลื่นสถานีวิทยุที่ยึดได้ไปยังทหารของตนว่า นี่คือการยึดอำนาจ เป็นปฏิบัติการจริง ไม่ใช่การฝึก ความมุ่งหมายสำคัญคือขับไล่พวกต่างชาติอเมริกันให้ออกไปจากแผ่นดินลาวในทันที


เมื่อเหตุการณ์พลิกผันอย่างคาดไม่ถึงเช่นนี้ อเมริกันประมาณ ๗๐๐ คนในลาวจึงได้รับคำสั่งให้อพยพข้ามแม่น้ำโขงไปยังกรุงเทพฯเป็นการด่วน

ทิ้งเจ้าหน้าที่จำเป็นไว้ไม่ถึง ๕๐ คน

วันนั้น ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓...


“เจ้าสุวรรณภูมา”

ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ที่สหรัฐอเมริกา ไอเซนฮาวกำลังจะพ้นหน้าที่ประธานาธิบดีสมัยที่สอง การเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤศจิกายนที่กำลังจะมาถึงเป็นการขับเคี่ยวระหว่าง ริชาร์ด เอ็ม.นิกสัน จากรีปับริกัน กับ จอห์น เอฟ.เคนเนดี้ จากเดโมแครต ทำให้เกิดช่องว่างในระดับนโยบาย

การตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจึงเป็นวิจารณญาณของระดับเจ้าหน้าที่ ซีไอเอ.


หลังการยึดอำนาจของ ร้อยเอก กองแล วีระสาน เจ้าสุวรรณภูมาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วพยายามเจรจากับลาวฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย( “ขบวนการประเทศลาว”) ให้เข้าร่วมมือกันจัดตั้ง “รัฐบาลผสมฝ่ายเป็นกลาง” เปิดโอกาสให้ขบวนการประเทศลาวฉวยโอกาสเสริมสร้างความมั่นคงของตน ด้วยการเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของราชอาณาจักรลาวไว้ได้


อิทธิของฝ่ายซ้ายที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ ในที่สุด จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้รับคำขอร้องจากสหรัฐฯ และ พลตรี ภูมี หน่อสวรรค์ ผู้นำทางทหารลาวฝ่ายขวาและญาติทางฝ่ายมารดาขอให้ช่วยเหลือต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์ในลาวด้วย

อันจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นของไทยใน “สงครามลับ สงครามลาว” ครั้งนี้.


“the unsinkable aircraft carrier”

....แรกทีเดียว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับและแสดงความรังเกียจการรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ของไทย…….


“กำเนิด ‘พารู’...”


เชิญทำความรู้จักที่มาของ “พารู”อันเกี่ยวข้องอย่างแยกไม่ออกจาก “สงครามลับ สงครามลาว” ดังนี้


ย้อนเข็มเวลากลับไปเมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองกับการก่อกำเนิดของ “สงครามเย็น” ตามมาด้วยการรัฐประหารในไทยที่นำโดย พลโท ผิณ ชุณหะวัณ เมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐...


แรกทีเดียว รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ยอมรับและแสดงความรังเกียจการรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ของไทยที่ต่อมามี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้นำ ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่หลังจากนั้นเพียง ๒ ปีกลับเปลี่ยนท่าทีจากหน้ามือเป็นหลังมือทันทีเมื่อ เหมา เจ๋อ ตง ประกาศชัยชนะเหนือแผ่นดินจีนเมื่อ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๒ สหรัฐอเมริกาจึงหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพะไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ของไทย ตามนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์ (the Containment Policy) ซึ่งรัฐบาลสหรัฐนับตั้งแต่ประธานาธิบดี แฮรี่ เอส.ทรูแมน ยึดถือมาโดยตลอดนับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเชื่อว่าจีนมีแผนจะใช้กำลังเพื่อขยายอิทธิพลลงทางด้านใต้ โดยมีอินโดจีนและไทยเป็นเป้าหมายสำคัญ

ทั้งหมดนี้จึงนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นต้นมา


"ทฤษฎีโดมิโน"

“การต่างประเทศไทยในยุคสงครามเย็น” ของ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อธิบายความสำคัญของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในสายตาของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นดังนี้

“ ทฤษฎีโดมิโน อธิบายผลกระทบของการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์แบบเดียวกับการล้มของตัวโดมิโนว่า สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพที่อาจส่งผลต่อดุลอำนาจของโลก การสูญเสียประเทศหนึ่งประเทศใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคอมมิวนิสต์ อาจส่งผลให้ประเทศอื่นในภูมิภาคกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย เพราะขบวนการคอมมิวนิสต์จะสนับสนุนการต่อสู้ของกันและกัน ด้วยการส่งความช่วยเหลือทางด้าน อาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังทหารและอุดมการณ์ ฉะนั้นหาก ๓ ประเทศในอินโดจีนกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยก็จะต้องกลายเป็นคอมมิวนิสต์ไปด้วย และในระยะยาวอาจลุกลามขยายไปถึงอินเดียและตะวันออกกลาง หากปล่อยให้เกิดการลุกลามเช่นว่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของยุโรปอย่างแน่นอน พื้นที่ยุทธศาสตร์ทางทหารของสหรัฐในมหาสมุทรแปซิฟิกก็จะตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงและส่งผลต่อความมั่นคงด้านการทหารของสหรัฐในตะวันออกไกลอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โลกเสรีจะสูญเสียพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เช่น น้ำมัน ยางพาราดีบุก อาหาร (ข้าว) ภาวะเช่นนี้ยังส่งผลต่อการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นซึ่งต้องอาศัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะผู้ป้อนวัตถุดิบเพื่อการผลิตและเป็นตลาดให้กับสินค้าของญี่ปุ่น ความยากลำบากที่เกิดขึ้นอาจกดดันให้ญี่ปุ่นจำต้องโอนเอียงไปทางโลกคอมมิวนิสต์ในที่สุด

ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่สหรัฐจะต้องแทรกแซงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบโดมิโนขึ้นในภูมิภาคที่วางอยู่บนกรอบนโยบายปิดล้อมคอมมิวนิสต์”


หลังรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๐ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังไม่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที เหตุผลสำคัญคือปัญหาการยอมรับจากประเทศสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา อันสืบเนื่องมาจากการที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำประเทศเข้าร่วมกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งสองซึ่งเพิ่งยุติลงไม่นานนัก


ด้วยเหตุนี้ทันทีที่การรัฐประหารสำเร็จลงจึงนำไปสู่การเชื้อเชิญ นายควง อภัยวงศ์ ให้มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กระนั้นก็ปรากฏว่า ทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ฯลฯ ต่างก็ยังไม่ให้การรับรองรัฐบาลไทยที่ยังคงถือว่ามีที่มาอันไม่เป็นประชาธิปไตย จนกระทั่งรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๑ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นการเรียบร้อย ซึ่งแม้จะยังคงมี นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ประเทศต่างๆ นับแต่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส ฯลฯ ต่างก็ให้การรับรองรัฐบาลของไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งเท่ากับว่าปัญหาความด่างพร้อยของไทยจากการรัฐประหารเมื่อ ๘ พฤศิกายน พ.ศ.๒๔๙๙ ได้ถูกลบล้างไปโดยปริยาย


เมื่อปัญหาเรื่องการรับรองจากต่างประเทศผ่านพ้นไปแล้ว รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ ในที่สุดคณะรัฐประหารก็ “จี้” นายควง อภัยวงศ์ ให้สละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแก่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงกลับคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นวาระที่สอง เมื่อวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๑


การเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งนี้ ประเทศไทยกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงจากผลของสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ รายจ่ายสูงกว่ารายรับติดต่อกันมาหลายปี ประจวบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำลังดำเนินนโยบายปิดล้อมจีนและได้เข้าไปให้การสนับสนุนฝรั่งเศสซึ่งยังคงยึดครองอินโดจีนอยู่เกิดปัญหาการรับรองจักรพรรดิเบาได๋แห่งเวียดนามใต้ จึงเป็นช่องทางที่เปิดให้ไทยกับสหรัฐอเมริกาจะเสริมสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน


ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สหรัฐอเมริกายุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม ปรากฏเป็นรูปธรรมหนักแน่นเมื่อ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๓ คณะรัฐมนตรีซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีมติให้การรับรองรัฐบาลเบาได๋แห่งเวียดนามใต้ตามคำขอของสหรัฐอเมริกาทั้งๆที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่เห็นด้วยถึงขนาดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายพจน์ สารสิน ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง


การรับรองรัฐบาลเบาได๋ครั้งนี้ส่งผลให้ไทยได้รับความช่วยเหลือทันทีเป็นครั้งแรก คือ อาวุธมูลค่า ๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อ ๑๐ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ติดตามมาด้วยการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและสังคมตามลำดับ และเมื่อ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๓ ปีเดียวกันนั้น ไทยยังได้ส่งทหารไปร่วมรบที่เกาหลีตามคำของสหรัฐอเมริกาในนามองค์การสหประชาชาติอีกด้วย


จากนั้นเป็นต้นมาไทยก็กลายเป็นพันธมิตรที่เหนียวแน่นของสหรัฐอเมริกาในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ จนกระทั่ง วุฒิสมาชิก Sean Randolph แห่งสหรัฐให้คำนิยามว่า


ไทยนั้นเป็น “the unsinkable aircraft carrier-เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของสหรัฐฯ.


“ตำรวจพลร่ม เนเวอร์ ดาย”

......ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ ทำให้ตำรวจพลร่มหลายชุดสับสน บางพวกคิดจะสลายตัวออกทำงานอิสระ คือทำการรบแบบกองโจร......


“ปฏิวัติ ๒๕๐๐”

ก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ ความขัดแย้งอันไม่อาจยอมกันได้ระหว่าง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้นำไปสู่ความเข้าใจว่าฝ่ายหลังพยายามสร้าง “กองทัพตำรวจ” ขึ้นเพื่อคานอำนาจกองทัพบก อันได้แก่ “ตำรวจรถถัง” “ตำรวจน้ำ” และ “กองบินตำรวจ” ฯลฯแน่นอน ย่อมหมายรวมทั้ง “ตำรวจพลร่ม”ด้วย แต่น่าสนใจว่า หลังการปฏิวัติของ จอมพล สฤษด์ ธนะรัชต์ เมื่อ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๐ เทียบกับกองทัพเรือหลังกบฏแมนฮัตตัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ ตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจพลร่มกลับไม่ถูก “สลายกำลัง” เหมือนกรณีกองทัพเรือ เพียงแต่มีการปรับโครงสร้างหน่วยเสียใหม่แล้วส่งนายทหารระดับสูงจากกองทัพบกเข้ามาทำหน้าที่ในสายบังคับบัญชาที่สำคัญเท่านั้น บทบาทของตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจพลร่มตามพื้นที่แนวชายแดนและท้องถิ่นทุรกันดารจึงยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนมาถึงแม้ทุกวันนี้

เป็นเช่นนี้คงเพราะ ซีไอเอ.นั่นเองที่เฝ้าปกป้องตำรวจพลร่มจาก “การเมือง”ตั้งแต่ครั้ง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ มาจนถึงยุคของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะ ซีไอเอ.มีเป้าหมายที่สำคัญกว่านั้นรออยู่

หลังขึ้นสู่อำนาจ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่แตกต่างจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ยังคงต้องพึ่งพาสหรัฐทั้งการเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศในสงครามเย็นขณะนั้น


พลตำรวจตรี นายแพทย์ นคร ศรีวณิช ขณะดำรงยศ “พันตำรวจโท” ตำแหน่งผู้บังคับค่ายนเรศวรได้บันทึกเหตุการณ์ วันที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจเมื่อ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๐ ไว้ว่า “มีกำลังตำรวจพลร่มอยู่ในกรุงเทพเพียง ๘ นายเท่านั้น” ขณะเดียวกันนั้น ที่หัวหิน พลตำรวจตรี นายแพทย์ นคร ศรีวณิช ได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ดังนี้ ...


“ คืนปฏิวัติที่หัวหิน...

เวลาประมาณ ๔ ทุ่ม รถแลนด์โรเวอร์ของค่ายนเรศวรโบกธงเหลืองผืนใหญ่ วิ่งผ่านไปมาหน้าตลาดฉัตรไชยหลายเที่ยว เข้าตามซอกตามซอยทุกแห่งที่รถเข้าได้ ชาวบ้านรู้ดีว่าธงเหลืองขึ้น หมายถึงเรียกพลร่มที่ออกไปอยู่นอกค่ายให้กลับเข้าค่ายทันที ชาวบ้านเห็นธงเหลืองก็ช่วยกันบอกต่อๆจนพลร่มเกือบทั้งหมดเข้าค่าย เมื่อพร้อมแล้วก็แจกอาวุธรวมทั้งปืนกลประจำตัวทุกคน เพิ่มเวรยามรอบค่าย สั่งให้อยู่ในความสงบและรอฟังคำสั่ง

๑๗ กันยายน…

คือวันรุ่งขึ้น คณะปฏิวัติประกาศว่า ยึดหน่วยกำลังของตำรวจไว้หมดแล้ว แต่ที่ค่ายนเรศวรไม่มีวี่แววของทหาร ทุกคนยังเตรียมพร้อมอยู่ในค่าย มี ๓-๔ คนที่ออกจากค่ายพร้อมด้วยวิทยุและแบ่งเป็นสองสาย สายหนึ่งอยู่ที่เพชรบุรี อีกสายหนึ่งอยู่ที่ปราณบุรี เพื่อสังเกตการณ์เมื่อทหารผ่านจะได้วิทยุแจ้งค่ายให้เตรียมพร้อมทันที

๑๘ กันยายน...

พ.ต.ต.ประเนตร ฤทธิฤาชา (ปัจจุบัน ยศ พล.ต.ท.) รอง ผบ.ค่าย เห็นว่า การอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลยนอกจากคอยฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาชั้นสูงโดยเตรียมพร้อมอยู่อย่างนั้นเห็นจะไม่เหมาะ

๑๙ กันยายน...

พ.ต.ต. ประเนตร เดินทางไปพบ พ.ท. ไพฑูรย์ อิงคตานุวัฒน์ ผู้บังคับกองพันที่เพชรบุรี ท่านเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของ พ.ต. ประเนตร เมื่อครั้งประเนตรเป็นนักเรียนนายร้อยคงเจรจากันเข้าใจง่าย เมื่อตกลงได้แล้ว พ.ต.ต.ประเนตร ก็กลับค่าย

๒๐ กันยายน...

พ.ท. ไพฑูรย์ นำทหารสองคันรถใหญ่ไปหยุดอยู่ที่สนามบินบ่อฝ้าย ตัว พ.อ.ไพฑูรย์กับคนขับรถเท่านั้นที่เข้าไปในค่าย พ.ต.ต.ประเนตร นำเดินตรวจความเรียบร้อย เห็นว่าตำรวจพลร่มถูกปลดอาวุธแล้ว พ.ท. ไพฑูรย์ จึงกลับไปบ่อฝ้ายนำกำลังทั้งสองคันรถเข้าค่าย แล้วจัดตั้งเวรยามของทหารแทนตำรวจทันที ให้ขนอาวุธวัตถุระเบิดและร่มทั้งหมดขึ้นรถ นำไปไหนเราไม่มีโอกาสรู้

ตำรวจพลร่มก็หมดอิสรภาพทันที”


ที่ศูนย์บัญชาการตำรวจพลร่ม ค่ายเนเรศวร เรื่องตึงเครียดระหว่าง “ทหาร”ที่มี “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์-หัวหน้าคณะปฏิวัติ” เป็นผู้นำ กับ “ตำรวจพลร่ม”ที่มี “พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์-อธิบดีกรมตำรวจ” เป็นผู้นำจึงคลี่คลายลง ไม่มีกระสุนลั่นจากปากกระบอกปืนของทั้งสองฝ่ายแม้แต่นัดเดียว

แต่ใช่ว่าตำรวจพลร่มจะยินยอมตามไปเสียทั้งหมด ตามบันทึกเล่มเดียวกันนี้ของ พลตำรวจตรี นคร ศรีวณิช...


“ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติเมื่อ ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ ทำให้ตำรวจพลร่มหลายชุดสับสน บางพวกคิดจะสลายตัวออกทำงานอิสระ คือทำการรบแบบกองโจร ที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นเรื่องของตำรวจพลร่มชุดหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ในป่ากลางดงพญาเย็นออกมาพบกับ พ.ท.สุดสาย หัสดิน ซึ่งนำกำลังไปที่ปากช่อง


หลังปฏิวัติ ๗ วัน ส.ต.ต. ไพบูลย์สิทธิ์ ศรีพลเมธ กับตำรวจพลร่มอีก ๖ คน เข้ารายงานผลการปฏิบัติราชการต่อ ผบ.ค่ายนเรศวร ใจความว่า ตามคำสั่งให้นำตำรวจชุดหนึ่ง รวม ๗ คนไปกระโดดร่มลงกลางดงพญาเย็น เพื่อฝึกให้ชำนาญกับภูมิประเทศ และตรวจสอบแผนที่ รวบรวมไว้สำหรับเตรียมการรบนอกระบบนั้น เครื่องบินออกจากสนามบินบ่อฝ้าย หัวหิน เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๐๐ วนไปทิ้งอาหารและสัมภาระให้ตำรวจพลร่มซึ่งกำลังปฏิบัติงานอยู่ที่เปิงเคลิง จังหวัดตาก ด่านซ้าย จังหวัดเลย และ บาระแนะ จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วจึงไปกระโดดลงในที่ราบแคบๆกลางดงพญาเย็น เมื่อลงไปถึงและตรวจสอบกับแผนที่ ทำให้รู้ว่าตรงนั้นอยู่ใกล้กับหมู่บ้านคลองเดื่อ ห่างจากตัวอำเภอปากช่อง ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๗-๘ ชั่วโมง ”


“ วันหนึ่งไพบูลย์สิทธิ์กับเพื่อนเดินออกมาค้างที่คลองเดื่อเพื่อเข้าปากช่อง ได้ยินวิทยุประกาศว่าจอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ นอนไม่หลับทั้งคืน รุ่งขึ้นลุกขึ้นแต่เช้ามืด วิ่งจากคลองเดื่อทั้งๆที่ฝนตก ๔ ชั่วโมงกว่าๆถึงที่ตั้ง ความตื่นเต้นทำให้วิ่งได้ไม่เหนื่อยนัก รีบวิทยุถึงผู้บังคับบัญชา ขอสลายตัวทำการรบแบบกองโจร แต่ได้รับคำตอบว่า ให้อยู่ในความสงบ คอยฟังคำสั่ง คอยอยู่สองวัน ทนไม่ไหว จัดของเสร็จ ออกมาที่บ้านคลองเดื่อหมดทุกคน แต่ไม่ค้างที่นั่นเพราะผู้ใหญ่บ้านบอกว่า ทหารเข้าไปถามหาตำรวจพลร่มหลายหนแล้ว


ที่คลองเดื่อมีคนเข้าไปปากช่องทุกวัน แต่ข่าวสับสน ไม่สบายใจ เมื่อขอแรงชาวบ้านให้เขาช่วยขนของออกจากที่ตั้งมาหมดแล้ว ก็เอาอาหารและของไม่จำเป็นแจกพวกเขา ส่วนร่มอาวุธและวิทยุใส่กระสอบขึ้นเกวียน แต่งกายแบบชาวบ้านป่า เดินทางเข้าปากช่อง ถึงโรงแรมมืดมากแล้วยกของทั้งกระสอบเข้าที่พักโดยไม่มีใครสงสัย


รุ่งขึ้นแยกกันออกสดับตรับฟังข่าว ถนนตรงทางเข้าตลาดปากช่อง ทหารวางกระสอบทรายรูปครึ่งวงกลมสูงแค่สะเอว ตรงกลางมีปืนกล ไม่รู้ปืนอะไร ทหารทุกคนมีปืนเล็กยาวประจำตัว ท่าทางเป็นทหารเกณฑ์ไม่น่าเกรงขาม ห่างจากตรงนั้น ๕-๖ เส้น ทหารกางเต็นท์ไว้ ในเต็นท์มีโต๊ะกับเครื่องรับส่งวิทยุ มีคนท่าทางเป็นนายนั่งอยู่ที่โต๊ะคนเดียว รอบๆเต็นท์มีทหารสองคนสะพายปืนเดินไปมา ไพบูลย์สิทธิ์เสี่ยงกระซิบถามทหารที่ยืนห่างเต็นท์ “หมู่มาทำไมครับนี่”

“มาฝึกครับ”

“ตะกี้ คนทางโน้นเขาว่ามาตามจับพลร่ม”

“ไม่ใช่ครับ มาฝึก”

เดินสอบถามชาวบ้านอยู่นาน ข่าวยังสับสนทำให้ไม่แน่ใจ กลับมาเลียบๆเคียงๆที่เต็นท์อีก เห็นตัวนายท่าทางน่าเชื่อถือ จึงทำใจดีสู้เสือตรงเข้าไปยกมือไหว้ “ทานโทษเถอะครับ มาทำไมครับนี่”

“มาฝึก” ท่านหันมามองหน้าคนถาม ตอบยิ้มๆ

“ผมได้ข่าวว่าปฏิวัติ...”


พูดไม่ทันจบได้ยินเสียงพร้อมๆกับเห็นเฮลิคอปเตอร์บินอยู่ใกล้ๆ แล้วเลยไปลงริมถนนห่างจากเต็นท์ไม่มากนัก ผู้ที่ลงจากเฮลิคอปเตอร์คนแรกคือ ร.ต.ท. กิจจา ใจหนัก นักบิน ตามด้วย “พี่ห่า” ช่างเครื่อง คนหลังนี้ความจริงชื่อ “สง่า” แต่เพราะ พลฯ ขจร ณ ทวีคูณ เพื่อนพลร่มซึ่งเป็นคนปักษ์ใต้เรียกแกว่า “พี่ห่า” พวกเราจึงเรียกตาม ทั้งนักบินและช่างเครื่องเดินตรงมาที่เต็นท์ พี่ห่าเห็นไพบูลย์สิทธิ์ยืนอยู่ใกล้ๆก็ตะโกนเรียก “อ้าว...ครู”

ไพบูลย์สิทธิ์เป็นครูฝึกของค่ายนเรศวร พวกนักบินจึงเรียกครูด้วย คำว่า “ครู”ทำให้คนอื่นๆไม่นึกว่าเป็นตำรวจ พอตะโกน “อ้าว...ครู” แล้วคงนึกอะไรขึ้นได้ เดินเข้ามากระซิบ “เขากำลังตามจับครูนะ มีคำสั่งให้พลร่มทุกชุดนำกำลังกลับค่าย ทำไมครูไม่กลับล่ะ ตะกี้ก็พาทหารไปดูที่ฐานของครู”


นักบินกับพลร่มทำงานประสานกันอย่างใกล้ชิด รู้ตื้นลึกหนาบางของกันและกันหมด นักบินเคยไปตามฐานของพลร่มทุกจุดโดยเฉพาะจุดดงพญาเย็น นักบินคนนี้เคยรับ พลฯขจร ซึ่งเป็นมาลาเรียอย่างแรงกลับเข้ารักษาตัวในกรุงเทพ แต่วันนั้นแทนที่นักบินจะพาทหารไปที่ฐานของเรา กลับพาไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่ง ส.ต.ต. ชุมพงศ์ สุทธิรักษ์ พลฯ อรุณ คล้ายวันเพ็ญ พลฯประสงค์ เย็นสุขใจ กับเพื่อนๆเคยใช้เป็นฐานมาก่อน ขณะนั้นย้ายกลับไปแล้ว จึงไม่พบพลร่ม

พี่ห่ากระซิบต่อ “เขากำลังตามจับครูนะ ค่ายฯให้ครูสมจิตร ( ส.ต.ท.สมจิตร ธัญญะโชโต ถึงแก่กรรมยศ พ.ต.ท.)กับวิฑูรย์ (พลฯวิฑูรย์ วิบูลย์ สมัย ปัจจุบันยศ พ.ต.ท. ไม่ทราบที่อยู่) เอารถมารับ ตะกี้เห็นตีแปลงอยู่บนถนนมิตรภาพ (พ. ศ. ๒๕๐๐ ถนนสายนั้นยังใช้ไม่ได้ มีแต่ดิน หน้านั้นหน้าฝน รถจึงตกหล่มอยู่บนถนนดังกล่าว)

“ทางค่ายฯมีอะไรไหม”ไพบูลย์สิทธิ์ซัก “ไม่มีหรอก เขาจะมารับครูกลับ กลัวครูพาพวก....”

“ถ้าไม่มีอะไร เรามอบตัวเสียเลยดีไหม”

“ตามใจสิ”

ไพบูลย์สิทธิ์ ตกลงใจเข้าหาคนที่เป็นนาย ซึ่งตอนนั้นรู้แล้วว่าชื่อ “สุตสาย หัสดิน” ยศพันโท ถามอีกที “ผู้พันครับ ถามจริงๆเถอะ ที่มานี่ไม่ใช่มาจับตำรวจพลร่มหรอกหรือ” ท่านยิ้มนิดๆตอบ “เปล่าไม่มีอะไรหรอก” จบคำพูดหัวหน้าชุดดงพญาเย็นกระตุกผ้าขาวม้าเปิดเสื้อดึงปืน US ออกจากสะเอววางลงตรงหน้า ผบ.พัน “ผมเป็นตำรวจพลร่ม ขอมอบตัวครับ” กิริยาท่าทางของพันโทสุดสายแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง พยักหน้าถาม “ฮึ จริงรึน้อง แล้วพวกเราล่ะมากันกี่คน”

“๖ คนทั้งผมครับ”

“ไหนล่ะ เพื่อนๆอยู่ที่ไหน”

“สองคนอยู่ที่นี่ครับ” ชี้ไปที่ พลฯ เอกราช ศรีจันทร์ กับ พลฯ บุญส่ง บำรุงสุข ที่ยืนอยู่ใกล้ๆเต็นท์ “สองคนอยู่ที่ปืนกล อีกคนหนึ่งให้ไปฟังข่าวที่โรงพัก ครับผม แล้วเรียกเพื่อนที่ปนอยู่กับชาวบ้านเข้าไปทำความเคารพ ผบ.พัน

“น้องไปตามเพื่อนๆมาคุยกันที่นี่ดีไหม”


พลฯ สัมฤทธิ์ หรรษาวงศ์ ไปตามพวกเราทุกคนมาพร้อมกันที่เต็นท์ ท่านสั่งโอเลี้ยงให้ดื่มและตกลงกันว่าจะเข้าไปจอหอ ที่ตั้งของตำรวจตระเวนชายแดน นครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นทหารยึดไว้แล้ว รถคันใหญ่รับสัมภาระของพลร่มที่โรงแรมพวกเราขึ้นรถคันเดียวกับพันโทสุตสาย ก่อนรถออกพี่ห่าวิ่งเอาเนื้อเก้งไปให้ บอกว่า เป็นของฝากจากคลองเดื่อ ชาวบ้านที่นั่นสั่งให้พลร่มกลับเข้าไปอยู่ด้วยกันอีก


เมื่อถึงโคราช ก่อนเลยไปจอหอแวะที่ ม.พัน ๘ ก่อน ให้พวกเราลงคอยที่กองรักษาการณ์ พันโทสุตสายเข้าไปคนเดียว ไม่นานก็กลับออกมารับพลร่ม เพื่อเมื่อเข้าไปถึงที่พักของท่าน ไพบูลย์สิทธิ์เปิดพุงให้ดูแผลที่ถูกทหารกองรักษาการณ์เอาดาบปลายปืนทิ่มพุงพร้อมกับสำทับว่า “นี่แน่ะ ไอ้เชลย” สีหน้าของ ผบ.พัน เปลี่ยนจนเห็นชัด รีบนำไพบูลย์สิทธิ์ ไปที่กองรักษาการณ์ ให้ชี้ตัวคนใช้ดาบปลายปืนทิ่ม แล้วท่านตรงเข้าไป....


รับประทานอาหารเสร็จก็เดินทางไปจอหอ ที่นั่นถูกคณะทหารสอบปากคำพร้อมๆกัน นายทหารชั้นร้อยเอกสอบไพบูลย์สิทธิ์ โดยตั้งคำถามแรกว่า “กำลังทั้งหมดเท่าไร?”

“ ๖ คนครับ”

“ฮ้า...ตามข่าว เจ็ดแปดสิบ”

“ไม่ใช่ครับ กระโดดครั้งแรก ๗ คน ป่วยกลับไปหนึ่ง เหลือ ๖…คนให้ข่าวคงเห็นร่มที่ทิ้งอาหารลงไปให้เดือนละสองครั้งครั้งละ ๓-๔-๕ ร่ม รวมแล้วคงนึกว่าคนมาก” หัวหน้าชุดปฏิเสธพร้อมกับอธิบายให้ฟัง

“มาตามคำสั่งใคร?”

“ผบ.ค่ายฯครับ”

“มาทำไม?”

“ฝึกให้ชำนาญกับการอยู่ในป่าและสำรวจภูมิประเทศครับ”

“ค่ายทิ้งอาวุธอะไรให้บ้าง?”

ฯลฯ

การสอบถามพยายามให้ตอบว่าคนมาก แต่ปิดบังไว้ …


บันทึกเป็นที่พอใจแล้วส่งให้อ่าน เมื่อเห็นไม่ตรงกับที่ให้การจึงไม่ลงนาม จนพันโทสุดสายสั่งให้ขีดส่วนที่ไม่ได้ให้การออก เรื่องจึงเรียบร้อย สอบเสร็จ ค้างในค่ายจอหอหนึ่งคืน รุ่งขึ้นรถยนต์นำพวกเรามาส่งที่ค่ายนเรศวร และรายงานเรื่องทั้งหมดให้ ผบ.ค่ายทราบ …


หลังจากนั้นเกือบ ๓๐ ปี ร้อยตำรวจเอก ไพบูลย์สิทธิ์ ศรีพลเมธ นายตำรวจนอกราชการบอกว่า “ผมยังนับถือท่านอยู่จนทุกวันนี้ โชคดีเหลือเกิน นายทหารที่เราพบชื่อ สุตสาย หัสดิน ถ้าเป็นคนอื่นสงสัยยุ่ง”


หลังการยึดอำนาจ พ.ศ. ๒๕๐๐ ตำรวจพลร่มในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งมีการปรับโครงสร้างการบังคับบัญชาเสียใหม่และอยู่ในการ “ดูแล”ของฝ่ายทหารยังคงปฏิบัติหน้าที่ในท้องถิ่นทุรกันดารตามภารกิจ โดยซีไอเอยังคงทำหน้าที่อำนวยการปฏิบัติในสนามต่อไป


จนกระทั่ง ร้อยเอก กองแล วีระสาน ยึดอำนาจลาวเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ หลังการยึดอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ กำลังตำรวจพลร่มที่จะรู้จักกันในนาม “PARU” นี่เองที่จะเป็นเครื่องมือสำคัญเบื้องต้นของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ ซีไอเอ.ในการสนับสนุนลาวฝ่ายขวาเพื่อถ่วงดุลกับขบวนการประเทศลาว (ลาวแดง) ที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้การสนับสนุน


อันเป็นจุดเริ่มของ “สงครามลับ”ในลาวที่ยืดเยื้อยาวนานและคนไทย-ทหารไทย ต้องเอาชีวิตไปทิ้งเป็นจำนวนไม่น้อย.


ทหารไทย และ ซีไอเอ.ในลาว.



“ตชด.: พรานล่องนภา”

......ตํารวจพลร่มเป็นหน่วยแรกใน ตชด.ที่ไปตั้งศูนย์รวมข่าวชายแดนอยู่ ณ ตําบลสําคัญตามชายแดน...

“อยู่ตามเขาลำเนาป่า”
แนวความคิดของคณะกรรมการนเรศวรเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๔ ในการจัดตั้ง “หน่วยตำรวจรักษาดินแดน” ที่ต่อมาจะรู้จักกันในนาม “ตำรวจตระเวนชายแดน-ตชด.”มีดังนี้
๑. เพื่อเตรียมกำลังตำรวจให้พร้อมที่จะปฏิบัติการต่อต้านการรบนอกแบบ หรือการรบแบบกองโจร ให้พร้อมที่จะสนับสนุนการปฏิบัติการของทหารได้ทันทีในกรณีที่เกิดการสู้รบหรือสงคราม
๒. เพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่าของประเทศซึ่งมีอยู่ร้อยละ ๖๕ และการคมนาคมทุกชนิดเข้าไปไม่ถึง ตำรวจหน่วยนี้สามารถเดินเท้าหรือเข้าไปโดยการ “ส่งกำลังทางอากาศ” ได้
๓. เพื่อปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ใช้รอยต่อของจังหวัดและของประเทศเป็นที่หลบซ่อน กับสกัดกั้นการลักลอบลำเลียงสินค้าหนีภาษีศุลกากร และยาเสพติด
๔. เมื่อไม่มีเหตุการณ์ร้าย ทำหน้าที่พัฒนาสร้างสรรค์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

“เหมือนพรานล่องพนา”
เมื่อผ่านการจัดตั้งและการฝึกรบพิเศษโดยเฉพาะการกระโดดร่มซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในกองกำลังติดอาวุธใดๆของไทย ตำรวจหน่วยพิเศษนี้ก็ออกปฏิบัติงานตามภารกิจที่กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการนเรศวรทันที ชีวิตของพวกเขาจะเป็นดังตอนหนึ่งของบทเพลง “ตำรวจชายแดน”
“...โอ้ชีวิตเธอ
อยู่ตามเขาลำเนาป่า
ตระเวนชายแดน
“เหมือนพรานล่องนภา....”

เริ่มด้วยหน่วยงานอันโดดเด่นเป็นตำนาน -"ศูนย์รวมข่าวชายแดน" ดังบันทึก “กำเนิดพลร่มไทย”ของ พลตำรวจตรี นายแพทย์ นคร ศรีวณิช ดังนี้

“...."ศูนย์รวมข่าวชายแดน" ที่มีคําย่อว่า ศรช. นั้น พล.ต.อ.สุรพล จุลละพราหมณ์ เขียนในหนังสือที่ระลึก วันเปิดอาคารกองบัญชาการตํารวจตระเวนชายแดน ๗ พฤษภาคม ๒๔๙๘ ตอนหนึ่งว่า
“ตํารวจพลร่มเป็นหน่วยแรกใน ตชด.ที่ไปตั้งศูนย์รวมข่าวชายแดนอยู่ ณ. ตําบลสําคัญตามชายแดน ซึ่งต่อมาเมื่อทหารบกจะจัดตั้ง ศปส.ตามชายแดนก็มีความสนใจ ได้ขอรายละเอียดการจัดตั้งไปประกอบการพิจารณา"

ศรช. แห่งแรกของตํารวจคือ “เปิงเคลิง” ช่องทางเข้า - ออก ระหว่างไทยกับพม่า อยู่ในเขตอําเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เลือกตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้น เพราะหลังจากตํารวจพลร่มกระโดดลงตามชายแดนเมื่อปลายปี ๒๔๙๘ (กระโดดทั้งหมดประมาณ ๓๐ ชุด) แล้วเดินสํารวจรอบประเทศไทย และได้รับรายงานที่น่าสนใจของ ส.ต.ต. ชินะ เวชการี หัวหน้าชุดสํารวจชายแดนชุดหนึ่งว่า เขากระโดดลงที่แม่ฮ่องสอน เดินตามชายแดนจนถึงกาญจนบุรี พบว่าไม่มีช่องทางชายแดนตรงไหนสําคัญเท่าที่เปิงเคลิง ตรงนั้นมีหมู่บ้านประมาณ ๘๐ หลังคาเรือน เป็นทางเข้าออกระหว่างไทยกับพม่าและเป็นที่อยู่ของชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง จีน แขก มอญ ต้องสู้ ไทยใหญ่ ฯลฯ

คนไทยที่เป็นพ่อค้าวัว จากไหนต่อไหนไปตั้งต้นที่อุ้มผางก่อนแล้วเดินทางต่อไปกินนอนที่เปิงเคลิง ติดต่อซื้อวัวจากพม่า ต้องเดินทางเป็นเดือนๆ จากเปิงเคลิงมาอุ้มผางแล้วแยกย้ายกันไปอําเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีบ้าง ไปอําเภอเมือง กําแพงเพชรบ้าง ที่ขึ้นไปแม่สอดหรือลงมาสังขละ กาญจนบุรีก็มี
คนพม่าซื้อยา เสื้อผ้า ผงซักฟอกและเครื่องใช้ที่ส่งจากอุ้มผางไปไว้ใช้ประจําบ้าน เวลากะเหรี่ยงอิสระถูกกําลังของรัฐบาลพม่าตีแตกก็หนีเข้ามาทางนั้น

เปิงเคลิงอยู่ในประเทศไทย ตรงกันข้ามกับ “บ้านแม่ต่างเจริญ” ในเขตพม่า ตรงนั้นเป็นที่ตั้งของกําลังกะเหรี่ยงอิสระกองพลที่ ๕ ที่ ๖ หัวหน้าเป็นนายพลสองพี่น้อง คนพี่ชื่อ “จอนนี่ ทู” (ต่อมามอบตัวกับรัฐบาลพม่า) คนน้องชื่อ “เบ็นนี่ ทู” คุมกําลังกะเหรี่ยงอิสระ
ต่อมาอีกนานที่นั่นมีปล้น ฆ่า และเรื่องยุ่งยากเกิดขึ้นเสมอ ที่ฆ่ากันบ่อย ๆ สาเหตุจากหักหลังเรื่องการค้า
เมื่อพิจารณารายงานการลาดตระเวนของทุกชุดแล้ว เห็นว่าตรงนั้นเหมาะที่จะตั้ง ศชร แห่งแรกจริงตามที่ ส.ต.ต. ชินะเสนอ

เรารู้ว่าการเริ่มงานจุดแรกควรวางแผนให้รัดกุม โดยเฉพาะตัวบุคคลที่รับผิดชอบต้องเป็นคนที่เชื่อถือได้จริง ๆ เวลานั้นนายตํารวจชั้นสัญญาบัตรในค่ายฯ มีไม่กี่คน พวกที่สําเร็จจากโรงเรียนนายร้อยสํารองก็ต้องทําหน้าที่ฝึกตํารวจใหม่ จะหาหัวหน้าผู้รับผิดชอบงานนั้นได้ก็แค่ชั้นประทวน ผมและ รอง ผบ.ค่ายฯ (พ.ต.ต.ประเนตร ฤทธิฤาชัย) ร่วมกันพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ที่เหมาะสมที่สุดในทุก ๆ ด้านคือ ส.ต.ต.ประสงค์ สัจวรรณ จึงมอบงานนี้ให้รับผิดชอบ พร้อมกับบอกนโยบายให้ทราบโดยละเอียด สําหรับเพื่อนร่วมงานอีก ๘ คนให้ประสงค์เลือกเอาเอง

ศรช.ชุดแรกขึ้นเครื่องบินจากหัวหินไปกระโดดลงที่เปิงเคลิง บริเวณกระโดดเป็นสวนทุเรียนเก่า อยู่บนเนินลาดไม่ชันนัก ตรงนั้นมีบ้านร้างอยู่หนึ่งหลัง
เมื่อลงไปถึงก็สร้างที่พักโดยใช้ไม้ไผ่เป็นโครง ร่มเป็นฝาและหลังคา ต่อมาทางค่ายส่งเลื่อย ขวาน และเครื่องมือก่อสร้างที่จําเป็นไปให้ พลฯ บุญมา มิ่งสอน มีพื้นความรู้ทางก่อสร้างอยู่บ้าง เป็นหัวหน้าก่อสร้างอาคารถาวรขึ้นแล้วเริ่มทํางานตามนโยบาย และวิทยุรายงานค่ายฯ วันละสองครั้งเช้าเย็นไม่ขาด

งานอันดับแรกที่ค่ายฯ ถือว่าสําคัญที่สุดคือ เปิดโรงเรียนสอนหนังสือให้กับลูกชาวป่าชาวเขา เพราะฉะนั้นเมื่อสร้างที่อยู่เรียบร้อยแล้วก็หาเด็กมาเรียนหนังสือ เริ่มโดยเด็กวัด ๓-๔ คนก่อน ให้มากินอยู่กับพวกเราเลย นานเข้าก็มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง ๒๐๐ คน ทีแรกมีปัญหามากเพราะคนแถวนั้นพูดภาษาพม่า แต่พอนาน ๆ เข้าพวกเราก็พูดภาษาพม่าได้ทุกคนเพราะผลัดเปลี่ยนช่วยกันสอนหนังสือเด็ก ที่พูดพม่าได้ดีมากคือ บุญมา มิ่งสอน กับ อํานาจ (จํานามสกุลไม่ได้) ซึ่งทําหน้าที่ครูโดยเฉพาะ

ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด เด็กที่เราสอนหนังสือให้มีสมองปราดเปรื่องแทบทุกคน เมื่อนําเข้าสอบไล่ประจําปีที่แม่สอด ผลปรากฏว่าที่ ๑ ถึงที่ ๑๐ ของชั้น ป.๔ เป็นนักเรียนของเราทุกคน ต่อมาเห็นว่าโรงเรียนมีมาตรฐานดีแล้วก็จะโอนให้ทางการ แต่ศึกษาธิการอําเภอไม่ยอมรับอาจจะเป็นเพราะว่าเด็กพวกนี้เคยได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีจากพวกเรา เมื่อไปอยู่กับเขาเกรงจะมีปัญหาขึ้น

หลังจาก ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติไม่นาน ได้ทราบว่าตํารวจพลร่มสอนเด็กชาวป่าชาวเขาได้ผลดี ก็สั่งให้คัดเลือกนักเรียนเป็นตัวแทนส่งเข้ากรุงเทพฯ เพื่อจะดูว่าที่รายงานไปนั้นจริงเท็จแค่ไหน เราคัดเลือกได้ ๔ คน ผู้หญิงคนหนึ่งเป็น(ชนเผ่า)ต้องสู้ ผู้หญิงอีกคนหนึ่งกับผู้ชายสองคนเป็นกะเหรี่ยง ทุกคนอายุระหว่าง ๙ ถึง ๑๒ ขวบ

การเดินทางจากเปิงเคลิงมาหัวหิน สมัยนั้นยุ่งยากมาก ขั้นต้นว่าจ้างช้างบรรทุกร่ม เรื่องนี้ไม่ยากเพราะเราเคยช่วยเอาช้างคืนจากโจรมาให้เจ้าของ เขาจึงบริการอย่างดี สัมภาระทั้งหมดบรรทุกช้าง โดยเฉพาะร่มซึ่งมีจํานวนมาก ต้องใช้ช้างถึงสองตัว คนทั้งหมดเดินเท้า นอกจากเด็ก ๆ บางครั้งต้องขึ้นหลังช้าง ออกจากเปิงเคลิงผ่านป่าทึบ หน้านั้นหน้าฝนต้องข้ามห้วยน้ำลึกไหลแรง ๗-๘ แห่ง ทําให้เสียเวลามาก ค้างตามทางที่บ้านกะเหรี่ยงสองคืนจึงถึงอุ้มผาง

จากอุ้มผางผ่านหนองหลวง หนองวะเหล่ และค้างตามทางอีกสองคืนจึงถึงกําแพงเพชร ให้ช้างกลับแล้วพวกเราขึ้นรถยนต์จากกําแพงเพชรมานครสวรรค์ต่อรถไฟเข้ากรุงเทพฯ แล้วขึ้นรถพาเด็กๆมาหัวหิน

อยู่ที่หัวหิน ๓ คืนก็ส่งลูกศิษย์เข้าพบนายกฯ ท่านลองให้อ่านเขียนหนังสือและแสดงการรําอย่างไทย ๆ ปรากฏว่าพอใจมาก สั่งให้นําไปออกทีวีแพร่ภาพทั่วประเทศ โดยไม่มีใครรู้ว่านั่นเป็นผลงานของตํารวจพลร่ม ”

พรุ่งนี้เชิญติดตามต่อ - ภารกิจตำรวจพลร่มในพื้นที่ป่าเขาเพื่อปกป้องแผ่นดินไทย ซึ่งหน่วยติดอาวุธของไทยไม่เคยมีหน่วยใดเข้าถึงมาก่อน...
สนุกและเร้าใจราวนวนิยายล่องไพร
ก่อนข้ามฝั่งโขงไปรบในสงครามลาว.

“เพื่อนตาย”

..........สมัยนั้นตํารวจพลร่มจึงรักกันมาก ขนาดบางเรื่องสามารถตายแทนเพื่อนได้ ........

“ ขุนยวมเป็นอําเภออยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีสนามบินที่ บ.ด.ท. ไปลงสัปดาห์ละครั้ง หัวหน้าไปรษณีย์เป็นสุภาพสตรีชาวเงี้ยว สวยมากอายุไล่เลี่ยกับพวกเรา ตํารวจพลร่มแย่งกันไปส่งจดหมายแทบไม่เว้นชั่วโมง

คณะตํารวจใช้เวลา ๔ วัน หาข่าวของทางราชการได้ตามหัวข้อข่าวสารแล้ว ยังเหลือสิ่งที่เราอยากทราบคือ หัวหน้าไปรษณีย์สาวใหญ่คนสวยผู้นั้นมีครอบครัวแล้วหรือยัง เพราะผิดสังเกตที่เธอไปสร้างบ้านอยู่กลางสระน้ำและอยู่เพียงคนเดียว จะไปพบเธอต้องลงเรือ ประกอบ ปัณทรนนทะกะ ถูกเกณฑ์ให้ไปหาข่าว ได้ความว่าเธอมีฝาละมีแล้วเป็นผู้บังคับหมวดตระเวนชายแดนอยู่ที่นั่น ตอนพลร่มไปถึงผู้หมวดออกตรวจชายแดน ก็เลยพากันถอยทัพกันตามระเบียบ

จากขุนยวมเดินทางมาแม่ลาหลวง พักที่แม่ลาหลวง ๓ คืน ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ
จากแม่ลาหลวงถึงบ้านแม่ลาน้อย พักค้าง ๑ คืน รุ่งขึ้นเดินทางเข้าแม่สะเรียง อําเภอแม่สะเรียงอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พื้นที่กว้างขวาง อุดมสมบูรณ์ มีสนามบิน ประชาชนส่วนใหญ่เป็นเงี้ยวและพม่า พวกเราสํารวจตลาดทันทีที่ไปถึงแล้วเข้าคิวกันตัดผมที่รกรุงรังออก และขอซื้อน้ำอบไทยในร้านตัดผม ๑ ขวด แบ่งกันประพรมดับกลิ่นที่เข้าใกล้ใครเขาไม่ได้ แล้วเดินฉุยฉายสอดส่ายหาอาหารตา พบว่ามีร้านค้าใบยาสูบร้านหนึ่ง เจ้าของเป็นสาวใหญ่งามสะดุดตาทําให้ข้าราชการตั้งแต่นายอําเภอ ผู้บังคับกองตํารวจ พ่อค้า ฯลฯ ที่ไม่ได้หิ้วภรรยาไปด้วย ติดยาสูบกันงอมแงมทั้ง ๆ ที่บางคนไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน

จากแม่สะเรียงมาท่าตาฝั่ง ที่นั่นมีแม่น้ำสาละวินเป็นเส้นกั้นอาณาเขตไทย - พม่า ฝั่งตรงข้ามเป็นช่องทางเข้า-ออกคล้ายช่องเสาหิน เรียกว่าช่องดกวิน แม่น้ำสาละวินช่วงนั้นแคบมาก ใช้ก้อนหินปากันถึง สถานีตํารวจภูธรท่าตาสั่งเตรียมป้องกันตัวเองโดยใช้ไม้ซุงทํากําแพง มีช่องยิงหันไปทางดกวิน

ก่อนพลร่มไปถึงเครื่องบินพม่าเพิ่งจะทิ้งระเบิดเผาบ้านนายทหารกะเหรี่ยงวอดวายหมด ร.ต.ท.วิเชียร นําพวกเราข้ามไปสํารวจความเสียหาย (ซึ่งไม่ใช่หน้าที่) ได้รับการต้อนรับจากนายทหารกะเหรี่ยงเป็นอย่างดี ส่งภาษาอังกฤษคุยกันสักพักเขาก็พาเข้าไปดู บก. ซึ่งอยู่ในถ้ำใต้ภูเขาเป็นอุโมงค์ลึกภายในกว้าง คล้ายถ้ำพระยานครที่ปราณบุรี แต่ถ้ำของกะเหรี่ยงเล็กกว่า ขณะเข้าไปกําลังมีประชุมและส่งรายงานเป็นภาษากะเหรี่ยง ฟังไม่รู้เรื่อง
เห็นว่าไม่ใช่ธุระของเรา ร.ต.ท.วิเชียร จึงขอเดินทางกลับฝั่งไทย
พักค้างที่ท่าตาฝั่งหนึ่งคืน แล้วเดินทางมาห้วยแม่มาดพักอีกหนึ่งคืน ตัดไม้ไผ่ทําแพล่องลงตามแม่น้ำสาละวินเพื่อไปสบเมย

การทําแพแบ่งเป็นแพละ ๕ คน แพใครแพมัน แพหนึ่งใช้ไม้ไผ่ประมาณ ๓๐ ลํา ตัดไม้ไผ่ผูกมัดโดยร้อยหัวแพทําเป็นลูกบวบ แล้วผูกสัมภาระไว้กับลูกบวบให้แน่นเพราะน้ำไหลแรงมาก
รุ่งขึ้นก่อนออกเดินทาง แพของฟุ้ง คุณากร หลุดลอยไปก่อน ทีมของฟุ้ง ๕ คนจึงกระจายคนและสัมภาระไปลงแพอื่น น้ำหนักของแพที่เพิ่มขึ้นทําให้เสี่ยงอันตรายมาก เพราะแพรับน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่ก็ต้องตัดสินใจออกเดินทางพร้อมกัน

ระหว่างล่องแพต้องคอยระวังหลบน้ำวนกลางแม่น้ำซึ่งไหลเชี่ยวหลบขบวนไม้ซุงซึ่งไหลไปออกทางประเทศพม่า เข้าใจว่าไม้ชุงเหล่านี้ไปจากป่าเมืองไทย เมื่อผ่านค่ายทหารกะเหรี่ยง เขาจะเก็บภาษีต้นละ ๒ บาท เสียดายที่สมัยนั้นไม่มีใครสนใจ (ตํารวจพลร่มรายงานหน่วยเหนือไปแล้ว)

ไม้ซุงดังกล่าวลอยตามแพของเราลงมาอย่างรวดเร็วและแซงเราไป ใครอยู่แพหลังต้องตะโกนบอกแพข้างหน้าให้รู้กันทุกแพ นอกจากไม้ซุงและน้ำวนแล้วยังมีทหารกะเหรี่ยงที่เป็นยามอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำสาละวินยกปืนขึ้นเล็งมาทางแพของพวกเราทั้ง ๆ ที่มีธงชาติไทยปักอยู่หัวขบวนท้ายขบวน ทหารกะเหรี่ยงคงกลัวว่าเป็นทหารพม่าที่จะเข้าตีโอบล้อมพวกเขา จึงจัดยามไว้ทุกระยะ

ระหว่างล่องแพ “สนาน จารุโยธิน” รายงานว่าพลร่มหายไป ๑ คน คือ “อํานวย ศรีนาค” ได้ตรวจสอบทุกแพแล้วไม่พบตัว พวกเราไม่มีโอกาสปรึกษากันว่าจะหาตัวอํานวยได้ที่ไหน เพราะขบวนผ่านกระแสน้ำเชี่ยวมาแล้วร่วม ๓ ชั่วโมง จนแพของจําลองซึ่งอยู่ท้ายสุดของขบวนได้ยินเสียงร้องเรียกจากอํานวยซึ่งขี่ชุงไม้สักมาคนเดียว ไหลตามน้ำอย่างรวดเร็ว พอเข้าใกล้แพของจําลองก็กระโดดมาขึ้นแพของจําลอง สอบถามได้ความว่า เมื่อเช้าขณะแพออกเดินทาง เจ้าตัวกําลังไปส้วมอยู่ในป่า ออกมาเขาเดินทางไปหมดแล้ว
จึงเลือกหาซุงต้นโต พอรับน้ำหนักได้ ขี่ตามมาคนเดียว

เหตุที่ไม่ตรวจจํานวนก่อนออกเดินทาง เพราะตอนกลางคืนแพของฟุ้งหลุดลอยไปก่อน อํานวยอยู่แพเดียวกับฟุ้ง เมื่อแพฟังขาดลอยไป สมาชิกในแพ ๕ คนต้องแยกย้ายลงแพอื่นที่พอรับน้ำหนักได้ แพอื่น ๆ ไม่รู้ว่าใครจะลงแพไหน เหตุการณ์ครั้งนั้นทําให้ต้องตรวจจํานวนสม่ำเสมอตลอดการเดินทาง

ประมาณ ๑๖.๐๐ น. ร.ต.ท.วิเชียร ส่งสัญญาณให้ทุกแพเข้าฝั่ง เพราะกําลังจะถึงวังน้ำใหญ่ใกล้สบเมย วันนั้นใครเห็นตํารวจพลร่มแล้วจะประทับใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันโดยไม่เกี่ยงกันเลย แพทั้งหมดมี ๔ แพ แพใครถึงฝั่งก่อนก็รีบผูกกับต้นไม้ไว้ แล้วโยนเชือกให้กับแพที่ตามมา ห่างกันมากบ้างน้อยบ้าง ทําให้รู้ว่าคนเราที่เคยร่วมเสี่ยงชีวิตกันมาแล้วจะรักใคร่สามัคคีกันเป็นอย่างดี ...

สมัยนั้นตํารวจพลร่มจึงรักกันมาก ขนาดบางเรื่องสามารถตายแทนเพื่อนได้

เหตุที่ต้องขึ้นฝั่งก่อนถึงสบเมยเพราะ แม่น้ำเมยเป็นแม่น้ำแปลกคือไหลขึ้นไปทางเหนือ ลมทบกับแม่น้ำสาละวินที่สบเมย จะใช้แพล่องไปถึงแม่สอดไม่ได้ ถ้าล่องแพก็ต้องทวนน้ำซึ่งเดินเท้าดีกว่า (ใครอ่านแผนที่แล้วจะนึกว่าน้ำในแม่น้ำสาละวินไหลลงแม่น้ำเมย) อีกอย่างหนึ่ง ถ้าล่องแพตามแม่น้ำสาละวิน เลยสบเมยไปก็เข้าเขตพม่า เป็นการไม่ถูกต้องเพราะล้ำเขตของเขา

นอกจากนั้นที่สําคัญที่สุดคือ หากล่องแพไปอีกประมาณครึ่งชั่วโมง ก็จะตกจากหน้าผาซึ่งสูงประมาณ ๕ เมตร สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นเคยล่องแพตกหน้าผาที่นั่นตายเป็นร้อย ๆ คน เพราะใต้ผาเป็นโขดหิน
ขึ้นฝั่งแล้วเดินไป “สบเมย” พักค้าง ๑ คืนแล้วเดินไป “แม่ระเมิง”

แม่ระเมิงห่างจากสบเมยประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งเหมืองแร่ของบริษัท ธารเงิน โจรผู้ร้ายทุกรูปแบบไปซ่องสุมอยู่ที่นั่น ปล้นฆ่ากันเป็นว่าเล่น ต่อมาตํารวจพลร่มไปตั้ง “ศูนย์รวมข่าวชายแดน” ทําให้สถานการณ์สงบเรียบเงียบ

จากบ้านแม่ระเมิงเดินย้อนไปบ้าน “แม่อุสุ” พวกเราป่วยเพราะเท้าบวมหลายคน จึงให้คนป่วยขึ้นช้าง อาทร วิชัยคํา (ถึงแก่กรรม)ป่วยมาก จึงให้นั่งไปกับช้าง ๑ วันเต็ม ๆ
เราเริ่มออกเดินทางเมื่อหน้าหนาวจนผ่านเข้าหน้าร้อน เวลาหยุดพักก็แก้ผ้าอาบน้ำกันสนุกสนาน
ใครไม่แก้ผ้าถือว่าไม่รักกันจริง แต่ละคนคล้ายเปรตอสุรกายมาเกิดในป่า

จากแม่อุสุไป “แม่ต้าน” ระหว่างเดินทางช้างที่เราเช่ามีลูกช้างตัวเล็ก ยังไม่อดนม เดินตามแม่มาด้วย ร.ต.ท.วิเชียร จึงขอซื้อลูกช้างโดยวิธีแลกกับข้าวสารและอาหารแห้ง เจ้าของส่งพวกเราได้ ๑ วันก็เดินทางกลับ ทิ้งลูกช้างไว้ให้เรา พวกเราเสียสละนมคนละกระป๋องเพื่อชงให้ลูกช้างกิน ลูกช้างกินนมมื้อละ ๖ กระป๋อง รุ่งขึ้น เราเดินทางต่อ ให้ “อวยชัย โดดดารา” จูงลูกช้าง เมื่อจูงได้ครึ่งทางลูกช้างหิวนมวิ่งกลับไปทางเดิมเพื่อหาแม่มัน
ถามชาวบ้านได้ความว่าพวกเราไม่มีทางจะเอาลูกช้างไปได้เพราะมันหิวนมเมื่อใดจะวิ่งกลับไปหาแม่ทันที เรื่องนี้เจ้าของช้างที่ขายให้เราเขารู้ดี
ร.ต.ท. วิเชียร จึงไม่ได้ลูกช้างไปให้คนที่หัวหินอุ้ม.

ตำรวจพลร่มซึ่งถูกเข้าใจว่าเป็น “กองกำลังส่วนตัว”ของ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ปฏิบัติภารกิจตามแนวชายแดนที่แม้กองทัพบกก็เข้าไม่ถึงอย่างได้ผล ตามตัวอย่างบันทึกที่นำมาเล่าข้างต้น

จนกระทั่ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติเมื่อ ๑๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๐๐
ตำรวจพลร่มก็เคว้งคว้าง จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงในลาวเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ตำรวจพลร่มจึงได้รับความไว้วางใจจาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้เป็นหน่วยแรกเสี่ยงชีวิตเข้าไปปฏิบัติการลับในราชอาณาจักรลาว




“ The Lawrence of Arabia แห่งราชอาณาจักรลาว”

..........“พารู”จากค่ายนเรศวรจะเป็นกำลังติดอาวุธหน่วยแรกของไทยที่เข้าไปปฏิบัติการลับสุดยอดในดินแดนอันเป็นศูนย์กลางของ “สงครามตัวแทน”ระหว่างมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น
ก่อนกำลังจากกองทัพบก นาวิกโยธิน และ “เสือพราน”..........

โปรดจำนามนี้ให้ขึ้นใจ เพราะเขาจะเป็นบุคคลสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ “สงครามลับ สงครามลาว”....เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์” ผู้เป็นเสมือน “ลอเรนซ์ ออฟ อาระเบีย” แห่งราชอาณาจักรลาวเคียงคู่ไปกับอีกนามหนึ่ง “พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิ์ฤาชัย” ตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวร......

“เจมส์ วิลเลี่ยม แลร์”
หนังสือ “ผลาญชาติ” โดย โรเจอร์ วอร์นเนอร์ และ ไผท สิทธิสุนทร แปล ได้กล่าวถึงที่มาของตำรวจพลร่มไทยซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่สอดคล้องกับหลักฐานอื่นๆของฝ่ายไทย โดยมีตัวละครสำคัญจาก ซีไอเอ.คือ เจมส์ วิลเลียม แลร์ หรือ “บิลล์ แลร์” ซึ่งตำรวจพลร่มไทยยุคนั้นรู้จักดีและยังเป็นตำนานเล่าขานสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

“ เมื่อแลร์มาถึงเมืองไทย ภารกิจแรกที่ได้รับเมื่อปี 1951 (พ.ศ. 2494) ขณะนั้นสงครามเกาหลีกำลังดำเนินอยู่ห่างจากประเทศไทยไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 2 พันไมล์ อเมริกาพยายามแผ่อิทธิพลเข้าในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนสำหรับในกรณีที่สงครามขยายขอบเขตออกไป ศูนย์บัญชาการยุทธวิธีทางอากาศของอเมริกาได้เข้ามาสร้างสนามบินในประเทศไทยเพื่อเตรียมไว้รองรับเครื่องบินบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์ไปทิ้งระเบิดประเทศจีน

ซีไอเอ.ยังได้อุดหนุนเงินแก่พวกนักการเมืองและนายพลในประเทศไทยและได้ให้ความช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในบางประเทศ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากหากกองทหารจีนส่งทหารผ่านลาวที่เป็นเสมือนรัฐกันชนเข้ามาในประเทศไทยและฝึกนายตำรวจไทยจำนวนหนึ่งในทักษะการรบแบบกองโจร และ “นายตำรวจหนุ่มชาวไทยคนหนึ่ง” ได้รับมอบหมายหน้าที่ควบคุมโครงการฝึก ซึ่งขณะนั้นไม่มีใครให้ความสำคัญเท่าใดนัก และไม่ค่อยมีโอกาสรู้จักกับชาวเอเชียคนใดมาก่อน ไม่ต้องพูดถึงการร่วมงานกับคนพวกนี้

ที่น่าประหลาดใจคือ แลร์รู้สึกว่าพวกคนไทยก็คือพี่น้องร่วมโลกกับเขาและฝึกฝนภาษาไทย พยายามพูดไทยกับคนพวกนี้ แม้จะสื่อสารได้ไม่คล่องนักและยังติดสำเนียงฝรั่งเท็กซัสอยู่ เขายังได้ร่วมกระโดดร่มจากเครื่องบินกับคนไทยและลิ้มรสอาหารป่าพื้นบ้านที่ประกอบขึ้นโดยชาวบ้านในเขตภูเขา แลร์ได้เริ่มสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างครูฝึกและนักเรียน ทำให้พวกเขามีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเหมือนครั้งที่อยู่ในหน่วยทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2”

“นายตำรวจหนุ่มชาวไทยคนหนึ่ง” ในที่นี้คือ “พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิฤาชัย” อีกนามหนึ่งที่ต้องจดจำเป็นพิเศษ คู่เคียงไปกับ “บิลล์ แลร์”

“เขาสุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน ชอบค้อมไหล่เล็กน้อยหลบสายตาลงต่ำและมักเอ่ยวาจาด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ไม่เคยแสดงอารมณ์โกรธออกมาให้ใครเห็น ทั้งยังมีความอดทน สามารถรอได้เป็นวันๆหากจำเป็น ความที่เป็นคนมีบุคลิกสงบเสงี่ยมเช่นนี้ทำให้แลร์กลมกลืนเข้ากันได้ดีกับพวกคนไทย”

“เมื่อไม่มีการบุกของทหารจีนอย่างที่คาดไว้ โครงการฝึกดังกล่าวจึงล้มเลิกไป อย่างไรก็ดีแลร์สามารถโน้มน้าวผู้อำนวยการ ซีไอเอ. ในกรุงเทพฯและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยให้เห็นชอบกับโครงการนำนายตำรวจไทยจำนวนหนึ่งมาฝึกและจัดตั้งเป็นกองกำลังชั้นหัวกะทิ นายตำรวจผู้กว้างขวางขณะนั้นคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ผู้ที่รู้ดีว่าแลร์ทำงานให้กับ ซีไอเอ. และเห็นด้วยกับโครงการใหม่ของแลร์ และยังได้รับการบรรจุเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจในกรมตำรวจไทยซึ่งพวก ซีไอเอ. ต่างยินดีที่ไม่ต้องเหนื่อยหาฉากบังหน้าให้กับแลร์ด้วยตนเอง และยังได้แต่งงานกับผู้หญิงไทยที่มาจากครอบครัวชนชั้นนำในกรุงเทพฯ (ในวิกิพีเดีย ปรากฏนาม “นางเจริญสุข แลร์” นามสกุลเดิม “เศวตศิลา”/บัญชร) ซึ่งถือว่าเป็นการเสริมความมั่นคงแก่หน้าที่การงานของเขา
ต่อจากนี้ไป ประเทศไทยคือบ้านแห่งที่ 2 ของเขาอย่างแท้จริง และแลร์จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศนี้ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่ขัดกับผลประโยชน์ของอเมริกา”

“ กองกำลังที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ใช้ชื่อว่า POLICE AERIAL RESUPPLY UNIT หรือที่เรียกกันติดปากขณะนั้นว่า “PARU-พารู” มีผู้บัญชาการหน่วยเป็นคนไทย (พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิฤาชัย) ซึ่งแลร์เป็นเพื่อนรักกับผู้บัญชาการและยังเป็นเสมือนที่ปรึกษาของหน่วยอีกด้วย ส่วนใหญ่แล้วหน่วยพารูจะปฏิบัติการในพื้นที่ชนบทและป่าเขา ฝึกสอนชาวบ้านให้รู้จักป้องกันตนเอง ต่อสู้กับกลุ่มนอกกฎหมายที่มีอยู่มากมายตามแนวชายแดนที่มีสภาพเหมือนดินแดนไร้กฎหมายด้วยงบประมาณไม่มากนักและยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

พวกพารูสามารถปราบปรามการลักลอบค้าฝิ่นอย่างได้ผล ทั้งยังสามารถอยู่รอดจากการรัฐประหารที่ทหารเข้ายึดอำนาจกรมตำรวจแห่งชาติด้วย และมีความสัมพันธ์อันดีกับองค์พระประมุขของไทยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่พระองค์เป็นผู้ให้การสนับสนุนหน่วยงานนี้อยู่ด้วย

เมื่อเอกอัครราชทูตอเมริกาประจําประเทศไทยได้มาเยี่ยมค่ายฝึกพารู แลร์รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งเพราะโดโนเวนเป็นบุคคลที่มีความสำคัญโดยเคยเป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ OSS (OFFICE OF STRATEGIC SERVICES) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกิดขึ้นก่อน CIA การมาเยี่ยมเยือนของโดโนแวน สร้างกำลังใจให้แก่พวกเขาอย่างยิ่ง
ผู้อำนวยการ CIA ประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกคือ เดสมอนด์ ฟิเจอรัลด์ ได้มาเยี่ยมค่ายฝึกต่อจากโดโนแวน ติดตามมาด้วยผู้อำนวยการใหญ่ของ CIA คือ แอลเลน ดับเบิลยู ดัลลัส

ช่วงกลางทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493) หน่วยพารูได้เข้าไปสร้างสัมพันธ์กับชาวเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย คนไทยไม่ค่อยชอบพวกชาวเขาโดยดูถูกว่าเป็นพวกน่ารังเกียจ สกปรกและล้าหลัง แต่พวกพารูยกย่องความเป็นนักรบของพวกชาวเขา ชาวเขายังเป็นนายพรานที่เก่งกาจมีความสามารถในการล่าสัตว์ด้วยอาวุธที่ทำขึ้นเองคือหน้าไม้และปืนแก๊ป

ชาวเขาเผ่าใหญ่ที่สุดคือพวกม้งที่สามารถปีนป่ายเขาสูงๆได้เหมือนเลียงผาและเดินเท้าเป็นระยะไกลผ่านดงดอยอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
เมื่อพวกพารูถามหาผู้นำเผ่า พวกม้งก็กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งที่ชื่อว่า “วังเปา”

เมื่อย่างเข้าปลายทศวรรษ 1950 (พ.ศ. 2493) พารูสามารถปราบปรามกลุ่มโจรตามแนวชายแดนจนราบคาบและพร้อมรับภารกิจอันใหม่ แลร์รู้มาว่ามีชาวเขาหลายเผ่าอาศัยอยู่ติดชายแดนทางใต้ของประเทศจีน พวกชาวเขาไม่ชอบคนจีนเพราะคนจีนดูถูกและปฏิบัติต่อพวกเขาไม่ค่อยดีนัก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำชาวเขาเหล่านี้มาฝึกติดอาวุธและจัดตั้งเป็นกองกำลังสำหรับก่อกวนกองทหารจีนในกรณีที่จีนส่งทหารเข้าโจมตีประเทศทางใต้
ตามความเป็นจริงแล้วแลร์ตระหนักดีว่า ภารกิจต่อไปของพวกเขาจะเกิดขึ้นในแผ่นดินลาวซึ่งตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างไทย จีนและเวียดนามเหนือ

ทั้งภาษาและวัฒนธรรมของคนไทยทางเหนือและลาวเหมือนกันจนแทบแยกไม่ออก พวกพารูคนไทยสามารถเข้าปฏิบัติงานในลาวได้อย่างสะดวก
แลร์ต้องการให้พารูเข้ารับบทบาทใหม่นี้เพื่อประเทศไทยและ CIA”

แลร์อ่านสถานการณ์ได้แม่นยำราวตาเห็น….
๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ร้อยเอก กองแล วีระสาน ผู้บังคับกองพันพลร่ม จะยึดอำนาจในลาว และเหล่า “พารู”จากค่ายนเรศวรจะเป็นกำลังติดอาวุธหน่วยแรกของไทยที่เข้าไปปฏิบัติการลับสุดยอดในดินแดนอันเป็นศูนย์กลางของ “สงครามตัวแทน”ระหว่างมหาอำนาจของโลกในขณะนั้น
ก่อนกำลังจากกองทัพบก นาวิกโยธิน และ “เสือพราน”


พันตำรวจเอก เจมส์ วิลเลียม แลร์ "บิลล์ แลร์"




“วังเปา”

......วังเปาถือว่าเรื่องของกฎเกณฑ์นั้นไร้สาระ เพราะเป็น “ข้าศึก” เป็นพวกเหี้ยมโหดและไม่มีวันยอมแพ้ เจอกันก็ฆ่ากัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยเรียกร้องความปราณีจากกันและกัน และจะไม่หยิบยื่นให้กันด้วย....

ที่ประเทศไทยไทยเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ ...
พลเอก สายหยุด เกิดผล บันทึกการพบกับบิลล์ แลร์ ครั้งแรกที่บ้านพัก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๐๓ หลัง ร้อยเอก กองแล ยึดอำนาจเมื่อ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ อันเป็นจุดเริ่มที่ลี้ลับของสงครามลับในลาวไว้ดังนี้...

“....เมื่อไปถึงก็พบว่ามีท่านอุปทูตพิเศษจากสถานทูตสหรัฐ แจนเซ่น และ บิลล์ แลร์ นั่งอยู่ด้วย เมื่อทางผู้ใหญ่ตกลงใจแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับบิลล์ หลังจากนั้นข้าพเจ้ากับบิลล์ก็มีโอกาสพบกันและวางแผนการสนับสนุนการต่อสู้คอมมิวนิสต์ในลาวด้วยการสนับสนุนกองกำลังท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้น กลุ่มอาสาสมัครส่วนใหญ่เป็นแม้ว ลาวเทิง ไทดำ และข่าที่โบโลแวง.....”

และยังปรากฏการทำงานร่วมกันในเวลาต่อมาจาก “บันทึกลับสุดยอด” อีกดังนี้....
“ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ บิลล์ แลร์ เดินทางไปสุวรรณเขตทางใต้ของลาว ซึ่งลาวฝ่ายขวาถอยลงมาปักหลักพร้อมเงินกีบมูลค่า ๑ ล้านดอลล่าร์ ส่วนใหญ่เพื่อเป็นเงินเดือนสำหรับทหารลาวฝ่ายขวาที่ตกค้างรอจ่ายอยู่เป็นระยะยาวนาน
รุ่งขึ้น ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ คณะกรรมการ คท.ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ส่วนล่วงหน้าเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับลาวฝ่ายขวา ประกอบด้วย พลโท วัลลภ โรจนวิสุทธิ์ พลตรี จำเนียร พงศ์ไพโรจน์ (หัวหน้าจักร) พันเอก จวน วรรณรัตน์ (หัวหน้านพ) พันตรี ประยูร บุนนาค (หัวหน้าพล) พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิฤาชัย ผู้บังคับค่ายนเรศวร (หัวหน้านล) และร้อยตำรวจตรี อำนวย ประดับพงษา นายตำรวจสื่อสาร ค่ายนเรศวร ออกเดินทางโดยเครื่องบินดาโกต้าของกองทัพบก เมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. ถึงเมืองสุวรรณเขตเวลาใกล้ค่ำ เข้าพบ พลตรี ภูมี หน่อสวรรค์ เพื่อร่วมหารือ และวางแผนการดำเนินงาน ต่อมาจึงได้จัดตั้งสำนักงาน บก.คท. ขึ้นที่สุวรรณเขต เปิดสำนักงานเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓”

“ท่าทีของพญาอินทรี”
ตัดภาพไปที่ทำเนียบขาว วอชิงตัน ดี.ซี....
รุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันปีใหม่ของปี ๑๙๖๑ (พ.ศ.๒๕๐๔) ประธานาธิบดีไอเซนฮาวซึ่งกำลังจะส่งมอบตำแหน่งให้กับ เคนเนดี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนอกรอบที่ทำเนียบขาว ซึ่งการเรียกประชุมในช่วงวันหยุดเทศกาลเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
แน่นอนว่ามันเป็นการประชุมในประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้นในลาว

การสนทนาครอบคลุมทั้งเรื่องการเข้ายึดทุ่งไหหินของพวกลาวฝ่ายซ้าย เรื่องที่ปรึกษาชาวโซเวียตรวมทั้งการส่งความช่วยเหลือต่อลาวฝ่ายซ้ายและกองแลที่ทุ่งไหหิน รวมทั้งเรื่องที่ไม่ค่อยตรงกับความเป็นจริงนักว่ามีทหารของประเทศจีนและเวียดนามเหนือเข้าร่วมในการปฏิบัติการทางทหารด้วย

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในลาวขณะนี้ เจมส์ ซี แฮกเกอร์ธี ผู้ช่วยประธานาธิบดีด้านสื่อมวลชนออกมาแถลงต่อมาว่า
" เราตกลงใจดำเนินการตามขั้นตอนปกติของการป้องกันเหตุฉุกเฉินล่วงหน้า โดยการเพิ่มความพร้อมของกองกำลังอเมริกันในแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงการเพิ่มอัตราความพร้อมของการลำเลียงทางอากาศของกองกำลังในแปซิฟิกด้วย"

กองเรือบรรทุกเครื่องบินซึ่งประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน ๒ ลำ และเรือพิฆาตจำนวนหลายลำรวมทั้งทหารนาวิกโยธิน ๑,๔๐๐ คนอยู่ในระหว่างการเตรียมความพร้อมในทะเลจีนใต้ หน่วยพลร่มของกองทัพบกและกองทัพเรือที่ประจำการอยู่ที่เกาะโอกินาว่าในประเทศญี่ปุ่นถูกสั่งให้เตรียมพร้อมเพื่อออกปฏิบัติการได้ทุกเมื่อ กองทัพอากาศได้สั่งการเคลื่อนย้ายฝูงบินลำเลียงขนาดใหญ่จากฐานทัพบนภาคพื้นทวีปอเมริกาไปประจำอยู่ที่ประเทศฟิลิปปินส์

ตัวแทนประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมือแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ “ซีโต้”มาพบกันที่กรุงเทพฯ ส่วนที่กรุงนิวยอร์ค ผู้แทนประเทศลาวประจำสหประชาชาติแถลงว่ารัฐบาลของเขาจะร้องเรียนไปยังสมัชชาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หากสถานการณ์ในลาวเลวร้ายลงไปอีก”

ตัดภาพไปลาว...
มกราคม พ.ศ.๒๕๐๔ หลังจากวอชิงตันได้กำหนดท่าทีต่อลาวชัดเจนแล้ว จึงนำไปสู่การตัดสินใจขั้นสุดท้ายของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ บิลล์ แลร์ และ พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิฤาชัย ซึ่งจะนำไปสู่การพบปะกับ “วังเปา”แล้วร่วมกันสร้างตำนาน “สงครามลับ สงครามลาว”
จึงใคร่ขอแนะนำให้รู้จักกับผู้นำนักรบแห่งป่าเขาชาวม้งท่านนี้...
“วังเปา”

วังเปาเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ ในหมู่บ้านหนองเห็ด แขวงเชียงของ ทางทิศตะวันออกของทุ่งไหหินใกล้กับชายแดนเวียดนามเหนือ เป็นลูกชายคนกลางของชาวนาธรรมดาๆที่อาศัยอยู่ในกระท่อมหลังคาหญ้า หากินโดยการปลูกข้าวและทำไร่ฝิเช่นเดียวกับผู้คนแถบนั้น

ตระกูล “วัง” เป็นตระกูลเล็กๆที่ไม่มีความสำคัญ และอาจเป็นเพราะต้องการชดเชยชาติกำเนิดอันต่ำต้อยหรือเพราะเขาเป็นคนที่อัดแน่นด้วยพลังชีวิตแต่เด็กๆ ทำให้เด็กชายวังเปามีความสามารถเหนือกว่าเด็กรุ่นเดียวกันแทบทุกด้าน ความกระตือรือร้น อารมณ์ร้อน และธรรมชาติความเป็นผู้นำในตัวเขาได้ไปกระตุ้นความสนใจของ “เจ้าตูบี้” ซึ่งเป็นคนมีชื่อเสียงของชาวม้งในรัฐบาลสมัยลาวยุคนั้นซึ่งยังเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสรวมทั้ง “เจ้าสักขาม” สหายสนิทของเขาที่เป็นราชนิกูลผู้จะสืบทอดอำนาจเจ้าครองแขวงเชียงของต่อไป
ขณะนั้น ผู้อาวุโสทั้งสองกำลังมองหาผู้นำม้งที่มีความสามารถ ส่วนวังเปาก็กำลังมองหาคนที่จะเป็นที่พึ่งของชาวม้ง

เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ วังเปาอายุเพียง ๑๔ ปีและสงครามโลกครั้งที่ ๒ กำลังจะปิดฉากลงเขาได้ทำหน้าที่เป็นพลนำสารให้กับทหารฝรั่งเศสที่หลบซ่อนตัวจากทหารญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองลาวขณะนั้นอยู่ตามหมู่บ้านและหลืบถ้ำในพื้นที่ และไม่เพียงแค่นั้น เพื่อช่วยเหลือพวกฝรั่งเศส เจ้า
สักขามและเจ้าตูบี้ยังได้จัดตั้ง “กองทหารชาวเขา” ขึ้นซึ่งตอนนั้นเองที่วังเปาจะได้เรียนรู้เทคนิคการรบแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน”ของ “สงครามกองโจร”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง วังเปาได้เข้ารับราชการในกองตำรวจแห่งชาติลาว การฝึกในกองตำรวจทำให้เขามีโอกาสเดินทางออกจากเขตภูเขาเข้าในหุบแม่น้ำโขงยังหลวงพระบางนครหลวงเก่าของลาว

วังเปาเป็นชาวเขาคนเดียวในโรงเรียนตำรวจ เขาได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีนักจากนักเรียนคนอื่นๆ พวกลาวลุ่ม (คนลาวในพื้นราบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ) มักดูถูกพวกชาวเขาว่าต่ำชั้นกว่าพวกตน
“แม้ว” คำภาษาจีนที่คนทั่วไปและลาวลุ่มใช้เรียกขานเพื่อนร่วมเผ่าของวังเปา มีความหมายว่า “อนารยชน” ขณะที่ชาวม้งเรียกตนเองว่า “ม้ง”ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของพวกเขาเองมีความหมายว่า“เสรีชน”

วังเปาจบจากโรงเรียนตำรวจได้คะแนนเป็นลำดับหนึ่งในชั้นเรียนที่มีจำนวนทั้งสิ้น 80 คน นอกจากนี้เขายังชนะเลิศการแข่งขันวิ่งระยะ 3,500 เมตรที่ผู้ร่วมแข่งมีทั้งเพื่อนของเขา พวกทหาร นักศึกษา และมหาดเล็ก
หลวง เขาได้รับรางวัลเป็นถ้วยทำด้วยเงินบริสุทธิ์จากพระหัตถ์ของ
มกุฎราชกุมารที่ต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้ามหาชีวิตลาว ซึ่งวังเปาถือเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของลูกชาวนาจากเขตภูเขาอย่างเขา

ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตร่วมกับสังคมลาวลุ่มซึ่งกุมอำนาจรัฐอยู่อย่างเหนียวแน่น วังเปาจึงได้คำตอบกับตัวเองว่า การเป็นพันธมิตรกับพวกลาวลุ่มโดยยังคงอาศัยอยู่ในเขตภูเขาและไม่รับเอาวัฒนธรรมและการดำเนินชีวิตแบบลาวลุ่มมาปฏิบัติ จะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการก่อให้เกิด
ประโยชน์สูงสุดต่อชาวม้งโดยรวม

แขวงเชียงของบ้านเกิดของวังเปามีอาณาเขตติดกับอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศสในขณะนั้นซึ่งปัจจุบันคืออดีตเวียดนามเหนือ
ปี พ.ศ.๒๔๙๓ เมื่อพลพรรคคอมมิวนิสต์ของโฮจิมินห์ขยายการสู้รบเพื่อขับไล่ฝรั่งเศสเข้ามาในลาว วังเปามียศเป็นจ่านายสิบตำรวจและมีลูกน้องในบังคับบัญชาอยู่จำนวนหนึ่ง

ครั้งหนึ่งผู้บังคับบัญชาชาวฝรั่งเศสของวังเปาได้ขอให้เขาไล่ล่าร้อยเอกชาวเวียดนามเหนือคนหนึ่งที่ได้นำทหารของตนเข้าก่อกวนพวกฝรั่งเศสอยู่ในพื้นที่แถบนั้น

ก่อนรุ่งสางของวันหนึ่ง วังเปาพบตัวนายร้อยเอกดังกล่าวอยู่ในกระท่อมของผู้ใหญ่บ้านที่ว่างเปล่า วังเปาและคนของเขาเปิดฉากระดมยิงเข้าไปในบ้านหลังนั้นทันทีโดยไม่มีการบอกกล่าว
ปฏิบัติการจู่โจมครั้งนี้นี้ไม่มีความเสี่ยงภัยใดๆ ไม่มีการปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามขั้นตอนของกฎหมาย เป็นการสังหารหมู่ ซึ่งวังเปาถือว่าเรื่องของกฎเกณฑ์นั้นไร้สาระ เพราะเป็น “ข้าศึก” เป็นพวกเหี้ยมโหดและไม่มีวันยอมแพ้ เจอกันก็ฆ่ากัน โดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยเรียกร้องความปราณีจากกัน
และกัน และจะไม่หยิบยื่นให้กันด้วย

ร้อยเอกชาวเวียดนามและลูกน้องนอนตายเกลื่อนอยู่บนพื้นไม้ในกระท่อม มีเพียงคนเดียวที่หลบหนีไปได้ และเมื่อแสงอรุณของวันใหม่มาถึงวังเปากับพวกก็สะกดรอยตามรอยเลือดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง เมื่อทหารเวียดนามเหนือที่อยู่ในถ้ำปฏิเสธที่จะมอบตัว วังเปาก็โยนระเบิดมือเข้าไป

บนตัวศพทหารเวียดนามเหนือคนนั้น วังเปาค้นได้แผนการรบโดยละเอียดของฝ่ายข้าศึกซึ่งวังเปา พูดกับผู้สัมภาษณ์ว่า “พวกเวียดนามเหนือชอบงานเอกสาร แต่ผมไม่ชอบ”

และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวังเปากับสงครามกองโจร ขณะที่ความเป็นผู้นำของวังเปาจะปรากฏชัดเจนโดดเด่นต่อกองทหารฝรั่งเศสตั้งแต่บัดนั้น....


วังเปาในเครื่องแบบกองทัพลาว.
ขอบคุณเจ้าของภาพ



“สงครามกองโจรไม่ใช่คำตอบ”

.......วังเปาได้คำตอบต่อตนเอง ณ บัดนั้นว่า การรบแบบกองโจรจะไม่สามารถหยุดยั้งกองกำลังขนาดใหญ่ของศัตรูได้ มีแต่กำลังทางอากาศและกองทัพขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะพวกเวียดนามเหนือได้......

ร้อยเอกชาวเวียดนามเหนือและลูกน้องของเขานอนตายเกลื่อนอยู่บนพื้นไม้ในกระท่อม มีเพียงคนเดียวที่หลบหนีไปได้
และเมื่อแสงอรุณของวันใหม่มาถึงวังเปากับพวกก็สะกดรอยตามรอยเลือดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่ง เมื่อทหารเวียดนามเหนือที่อยู่ในถ้ำปฏิเสธที่จะมอบตัว เช่นเคย วังเปาโยนระเบิดมือเข้าไปในถ้ำ
บนตัวศพ วังเปาค้นได้แผนการรบโดยละเอียดของฝ่ายข้าศึกซึ่งวังเปา พูดกับผู้สัมภาษณ์ว่า “พวกเวียดนามเหนือชอบงานเอกสาร แต่ผมไม่ชอบ”

เมื่อวังเปาและคนของเขาเดินทางกลับไปถึงที่บัญชาการ นายทหารฝรั่งเศสได้จัดงานเลี้ยงเพื่อเป็นเกียรติและแสดงความยินดี ในงานพวกเขาทั้งกินดื่มและร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานจนดึกดื่นค่อนคืน ผู้บัญชาการชาวฝรั่งเศสเดินเข้ามาหาวังเปาบอกให้นอนพักผ่อน
เอาแรงไว้บ้างเพราะจะต้องออกไปปฏิบัติภารกิจอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น เพราะจากเอกสารที่วังเปายึดมาได้ ทำให้ทราบว่าร้อยเอกเวียดนาม
เหนือที่ถูกวังเปาสังหารมีนัดประชุมกับนายทหาเวียดนามเหนืออีกคนหนึ่งในพื้นที่ และวังเปาจะต้องนำกำลังไปร่วมปฏิบัติด้วย

จากนั้น การซุ่มโจมตี การปะทะ ทั้งการยิงต่อสู้และการใช้ลูกระเบิดถล่มศัตรูเกิดขึ้นติดตามมาครั้งแล้วครั้งเล่าที่ลงเอยด้วยจำนวนที่มากขึ้นของซากศพพวกเวียดนามเหนือ ผู้บัญชาการชาวฝรั่งเศสจึงตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่เด็กหนุ่มวังเปาควรจะได้เป็นนายทหารเสียที เขาจึงวิทยุขอแบบทดสอบเข้าโรงเรียนฝึกนายทหารของกองทัพลาวมาชุดหนึ่ง
ข้อสอบถูกทิ้งร่มลงมาจากเครื่องบิน ทั้งหมดเป็นภาษาฝรั่งเศส ขณะที่ความรู้ภาษาฝรั่งเศสของวังเปามีน้อยเต็มที ภาษาฝรั่งเศสของวังเปามีเพียงศัพท์หยาบคายในภาษาฝรั่งเศสจากค่ายทหารเพียงไม่กี่ร้อยคำ เนื่องจากตลอด ๕ ปีของการเรียนในโรงเรียนและชีวิตตำรวจของเขานั้นล้วนใช้ภาษาลาวมาโดยตลอด
วังเปานั่งทำข้อสอบ พยายามแกะความหมายตัวอักษรต่างด้าวบนหน้ากระดาษอย่างสุดความสามารถ

ผู้บัญชาการชาวฝรั่งเศสเดินกลับไปกลับมาอยู่ข้างหลังเขาแล้วบ่นดังๆว่า ความรู้หลักไวยากรณ์ฝรั่งเศสไม่มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการนำทหารเข้าไล่ล่าข้าศึกตามด่านช้างที่มีหญ้าคาขึ้นสูงท่วมหัวเขา จากนั้นก็เริ่มบอกคำตอบข้อสอบแก่วังเปาทีละข้อทีละข้อ ซึ่งวังเปาบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่า “เพียงบอกข้อสอบเท่านั้น มิใช่ลงมือทำให้ ไม่จริงเลยที่พูดกันว่าเขาจับมือฉันเขียน เหลวไหลทั้งเพ ฉันรู้วิธีเขียนภาษาฝรั่งเศสดีอยู่แล้ว”

วังเปาได้เข้าเรียนในโรงเรียนฝึกนายทหารตามความต้องการ แล้วได้ติดยศนายตำรวจ แต่ไม่นานกองตำรวจภูธรที่เขาสังกัดอยู่ก็ถูกยุบลง ทุกคนถูกย้ายไปประจำในหน่วยทหาร ร้อยโทวังเปาจึงได้เข้าร่วมในโครงการทางทหารที่บัญชาการโดย พันเอก โรเจอร์ แตรงกุยเย ผู้ที่ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารสูงสุดฝรั่งเศสในฮานอย และยังปฏิบัติการอยู่ในหน่วยสืบราชการลับฝรั่งเศสด้วย

แตรงกุยเย ต้องการฝึกทหารและติดอาวุธให้กับชาวเขาเพื่อนำมาช่วยรบกับคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาจึงไม่มีงบประมาณดำเนินการ ทางออกของเขาคือการไปซื้อฝิ่นดิบจากเจ้าตู้บี้และผู้นำชาวเขาคนอื่นๆในเขตแดนเวียดนามเหนือ จากนั้นจึงขนฝิ่นดิบเหล่านี้ขึ้นเครื่องบินไปยังอ่าวเซนต์ ชาร์ค บนฝั่งทะเลเวียดนามใต้แล้วลำเลียงต่อโดยรถบรรทุกไปให้กับโรงฝิ่นในไซ่ง่อน เมื่อได้เงินมาเขาแบ่งบางส่วนให้เจ้าตู้บี้ผู้ที่เวลานั้นร่ำรวยพอจะสร้างครอบครัวใหม่อีกแห่งหนึ่งในเวียงจันทน์

ด้วยเงินที่ได้จากการค้าฝิ่นนี้ แตรงกุยเยนำพวกม้ง ๕๐๐ คนรวมทั้งวังเปาและคนของเขาบินไปยังอ่าวซนต์ ชาร์ค เพื่อทำการฝึกทางทหารแล้วเดินทางกลับเข้ามาในลาวอีกครั้ง
แต่แผนการของแตรงกุยเยไม่ก่อให้เกิดผลต่อสถานการณ์โดยรวมมากนัก กองกำลังชาวเขา ๕๐๐ คนที่มีเพียงอาวุธประจำกายไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีของคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือจำนวน ๗,๐๐๐ คนที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๙๖ได้…
พวกเวียดนามเหนือรุกไล่เข้ามาประชิดหลวงพระบาง

ขณะนั้นวังเปาประจำการอยู่ในที่มั่นเล็กๆแห่งหนึ่งใกล้ทุ่งไหหิน และไม่พอใจในสภาพความเป็นอยู่นักเนื่องจากทหารลาวลุ่มและชาวเขาที่นั่นไม่ค่อยลงรอยกัน วังเปาและชาวม้งก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนั้นเมื่อพวกเวียดนามเหนือเคลื่อนกำลังเข้าใกล้ฐาน พวกทหารก็แตกพ่ายแล้วพากันวิ่งหนีฝ่าการซุ่มโจมตีของข้าศึกหลายต่อหลายครั้ง

เนื่องจากการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างเชื้อชาติในกองทหารแห่งนี้ ผู้บัญชาการที่นี่จึงออกคำสั่งยุบหน่วยอย่างกะทันหัน ปล่อยให้ทั้งหมดสลายตัวหลบหนีข้าศึกไปตามลำพัง ส่วนนายทหารฝรั่งเศสเลือกหลบหนีไปพร้อมกับพวกม้งที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของวังเปาที่พวกเขาเชื่อถือ
ทหารลาวที่แตกพ่ายไม่ปกปิดร่องรอยการถอยหนีของพวกตนจึงถูกทหารเวียดนามตามมาติดๆ
ผิดกับพวกวังเปาที่กลบเกลื่อนร่องรอยการถอยหนีอย่างระมัดระวังและยังเข้าหลบซ่อนในถ้ำที่ปลอดภัยแล้วยังชีพด้วยอาหารจากพืชผักที่หาได้ในป่าอย่างอดทน

หลายอาทิตย์ต่อมา วังเปานำพวกเขามาถึงบริเวณเนินหญ้ากว้างสุดสายตาบนทุ่งไหหิน หน่วยลาดตระเวนชาวเขาที่ยังคงจงรักภักดีได้รายงานให้ทราบว่า มีทหารเวียดนามเหนือรวมพลกันอยู่ไม่ห่างออกไปนักไม่นาน เมื่อกำลังทหารเวียดนามเหนือส่วนหนึ่งปรากฏตัวบนท้องทุ่งก็ถูกกราดยิงและถล่มซ้ำด้วยระเบิดจนไม่เหลือชิ้นดีจากเครื่องบินรบของฝรั่งเศส

วังเปาได้เห็นกำลังทหารเวียดนามที่ไล่ล่าพวกเขามาหลายอาทิตย์ถูกถล่มจนเป็นผุยผง ทำให้เขาเกิด “ความรู้แจ้ง” บางอย่างขึ้นมา
เขาต้องการมีกองทัพอากาศรวมทั้งรถถังและปืนใหญ่ของเขาเอง
ยิ่งอาวุธมีอานุภาพทำลายล้างร้ายแรงเพียงใดก็ยิ่งดี แม้ว่าประสบการณ์และการศึกษาของเขาจะเพียงพอสำหรับการทำสงครามกองโจรขนาดเล็ก แต่วังเปาก็ได้คำตอบต่อตนเอง ณ บัดนั้นว่า การรบแบบกองโจรจะไม่สามารถหยุดยั้งกองกำลังขนาดใหญ่ของศัตรูได้ มีแต่กำลังทางอากาศและกองทัพขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถเอาชนะพวกเวียดนามเหนือได้

ภูมิปัญญาในการรบของวังเปาจึงพัฒนาจาก “สงครามกองโจร” มาเป็น “สงครามตามแบบ” อันเป็นคำตอบสุดท้ายของสงครามในทุกตำรารบนับแต่บัดนั้น

จากวันนั้นเป็นต้นมา วังเปาก็เฝ้ารอวันที่จะลงจากภูเขามาเป็นนักรบตามแบบแผนพร้อมทั้งด้วยเครื่องบินและอาวุธหนักที่ทรประสิทธิภาพ แต่เขาไม่มีโอกาสจะได้ดั่งใจมุ่งหวังภายใต้พวกฝรั่งเศส
เพราะตอนนั้นเวลาของฝรั่งเศสในลาวกำลังจะหมดลง

ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ หน่วยทหารฝรั่งเศสได้สร้างป้อมปราการขนาดใหญ่ขึ้นในหุบเขาที่ “เดียนเบียนฟู” พื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างเวียดนามตอนเหนือกับลาว หวังจะสกัดกั้นการรุกคืบเข้ามาในลาวของพวกเวียดนามเหนือ
ในตอนที่พวกคอมมิวนิสต์เริ่มเข้าโจมตีมาจากเนินเขาโดยรอบนั้น ทหารฝรั่งเศสยังไม่ทันได้ตั้งตัว พวกคอมมิวนิสต์เริ่มจู่โจมหนักยิ่งขึ้นโดยใช้อาวุธหนักยิงถล่มทหารฝรั่งเศสที่ตั้งรับอยู่ในสนามเพลาะ นอกจากนั้นยังใช้ ปตอ. ยิงเข้าใส่เครื่องบินที่ลำเลียงเสบียงและอาวุธเข้ามาบริเวณฐานที่มั่นอีกด้วย

วังเปาได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการทหารฝรั่งเศสให้นำกำลังทหารชาวม้งจำนวนประมาณ ๔๐๐ คนเข้าก่อกวนกองทหารเวียดนามเหนือด้วยยุทธวิธีสงครามกองโจรตามถนัด แต่ยังไม่ทันที่จะไปถึง เดียนเบียนฟูก็ถูกตีแตกในเช้าวันรุ่งขึ้นของการประชุมที่นครเจนีวาเรื่องการถอน
ตัวของฝรั่งเศสออกจากอาณานิคมอินโดจีน

ในปีต่อๆมาเมื่อฝรั่งเศสค่อยๆถอนกำลังออกไปและอเมริกาเข้ามาแทนที่ วังเปาได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอกและพันตรีในกองทัพที่ไม่สมประกอบของราชอาณาจักรลาว

ในปี พ.ศ.๒๕๐๒ วังเปาได้พบกับหน่วยฝึกทหารของกองทัพอเมริกัน “กรีน แบเร่ต์”และพวกเจ้าหน้าที่ ซีไอเอ.ที่เข้ามาปฏิบัติการลับในลาวเป็นครั้งแรก ขณะที่พวกทหารชาวม้งต่างแยกย้ายกลับยังหมู่บ้านของตนไปแล้ว
ช่วงเวลานั้นพวกอเมริกันก็ไม่ได้ให้ความสนใจแนวคิดเรื่องสงครามกองโจรเท่าใดนัก

จากนั้นเหตุการณ์รัฐประหารของร้อยเอกกองแลในเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้นำลาวเข้าสู่สภาวะสงครามกลางเมือง

เช่นเดียวกับ ร้อยเอก กองแล ผู้ก่อการปฏิวัติ วังเปาเชื่อว่าเหล่านายพลลาวลุ่มได้เสวยสุขจนเกินพอดีจากรายได้ที่ยักยอกจากเงินช่วยเหลือของอเมริกา อย่างไรก็ตามวังเปาตระหนักรู้ว่าในไม่ช้าพวกประเทศลาวและเวียดนามเหนือจะสามารถแทรกซึมเข้ามาในรัฐบาลฝ่ายเป็นกลางของเจ้า
สุวรรณภูมาที่กองแลเพิ่งจะตั้งขึ้นใหม่
และเวียดนามเหนือคือศัตรูของเขา !

เมื่อเป็นดังนี้ วังเปาจึงตัดสินใจที่จะยืนหยัดสนับสนุนพวกต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมกับลาวฝ่ายขวาหรือพวกนิยมกษัตริย์ ซึ่งพวกชาวเขาส่วนใหญ่ต่างมีความเห็นเช่นเดียวกับเขา รวมทั้งจ้าวสักขามผู้ครองเมืองเชียงของ ขณะที่เจ้าตู้บี้ผู้ที่วังเปาให้ความนับถืออีกคนหนึ่งได้หันไปสนับสนุนฝ่ายเป็นกลางซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของลาวฝ่ายซ้าย
ขณะนั้นเจ้าตู้บี้อยู่ในเวียงจันทร์ วังเปาจึงไม่สามารถติดต่อกับเขาได้

วังเปาเรียกหมอผีประจำเผ่าเข้ามาหา หมอผีล้วงเอากระดิ่งประจำตัวออกมา ดึงผ้าคลุมหัวลงมาปิดตาและเริ่มร่ายมนต์จนร่างกายสั่นเทาเหมือนถูกเจ้าเข้า เมื่ออยู่ในสภาพไม่รู้สึกตัวดังกล่าวหมอผีได้ข้ามทวารจากโลกนี้ไปยังโลกแห่งวิญญาณ เขาได้วิงวอนดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษ พร้อมบนบานว่าจะเซ่นสรวงด้วยวัวสีขาวและดำอย่างละตัวหากผีบรรพบุรุษช่วยไปดลใจให้เจ้าตู้บี้เดินทางมาพบวังเปา

๓ วันต่อมา เจ้าตู้บี้ก็ปรากฏตัวที่สนามบินเล็กๆที่ฝรั่งเศสสร้างไว้ในพื้นที่ซึ่งวังเปารวมกำลังอยู่ และยอมรับต่อความเห็นของชาวม้งส่วนใหญ่ที่ให้หันมาสนับสนุนลาวฝ่ายขวา...
วัวขาวและดำอย่างละตัวถูกนำมาเชือดตามคำบนบาน

เมื่อได้รับฉันทาคติของเหล่าชาวม้ง ทั้งหมดก็พร้อมเดินหน้าเต็มตัว เมื่อรู้ว่าวังเปาต้องการพวกเขา ทหารชาวม้งที่เคยร่วมงานสมัยฝรั่งเศสก็กลับมารวมตัวกันภายใต้การนำของวังเปาอีกครั้งหนึ่ง

ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ วังเปานำพวกเขาไปยังที่ปลอดภัยใกล้ๆแล้วแจกจ่ายอาวุธให้พลพรรค ขณะที่พวกฝ่ายขวาที่สุวรรณเขตก็ส่งเงินคิดเป็นเงินไทยจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทที่ได้มาจากแลร์มาให้วังเปาเพื่อจ่ายเป็นเงิน
เดือนแก่กองทหารของเขา
ในช่วงเวลารุ่งโรจน์นี้ วังเปาได้ควบสองตำแหน่ง เป็นทั้ง “ผู้นำเผ่าม้ง” และ “ผู้บัญชาการทหารฝ่ายนิยมกษัตริย์ในเขตทุ่งไหหิน” พร้อมๆกัน

วังเปาเลือกข้างแล้ว และจะยืนหยัดอยู่กับการรับใช้ราชบัลลังก์อย่างมั่นคงตราบสิ้นลมหายใจ...

อย่างไรก็ตามเมื่อกองแลนำลาวฝ่ายเป็นกลางหลบหนีออกจากเวียงจันทน์ในห้วงเวลาเดียวกันนี้แล้วไปสมทบกับกองกำลังประเทศลาวโดยมุ่งมาทุ่งไหหิน มีพวกโซเวียตนำอาวุธหนักมาสนับสนุน วังเปาก็ตัดสินใจนำกำลังชาวม้งล่าถอยจากพื้นราบในทุ่งไหหิน...
เตรียมทำการสู้รบแบบกองโจรในเขตภูเขาต่อไป

มกราคม พ.ศ.๒๕๐๔ วังเปาจะได้พบ “มิตรแท้-สหายร่วมรบ” จาก ซีไอเอ.-บิลล์ แลร์ และ พันตำรวจตรี ประเนตร ฤทธิ์ฤาชัย ผู้บังคับค่ายนเรศวร ตำรวจพลร่มไทย "พารู" เพื่อร่วมสร้างตำนาน “สงครามลับ สงครามลาว”ต่อไป.

วังเปาในเครื่องแบบกองทัพลาว



“วังเปา-เจ็งกิสข่านน้อย”

.....วังเปาตอบว่า “พวกเขาต้องการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ มีผู้นำของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะเดินตามฉัน และฉันจงรักภักดีต่อกษัตริย์”......

“ทุ่งไหหิน”
ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ วังเปานำคนของเขาหลบหนีศัตรูมายังพื้นที่ๆเรียกว่า “ทุ่งไหหิน” ซึ่งจะเป็นสมรภูมิรบที่เขาจะร่วมสร้างตำนานร่วมกับสหายจากสหรัฐและไทยที่นี

ทุ่งไหหิน (Plaine des Jarres หรือ Plain of Jars) เป็นที่ราบบริเวณเมืองสุย แขวงเชียงขวาง มีถนนสาย ๗ ที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นเชื่อมต่อถนนสาย ๑๓ ที่ภูคูน (สามแยกศาลาภูคูน) มุ่งไปยังเวียดนาม
ถนนสาย ๗ นี้ตัดผ่านภูมิประเทศของทุ่งไหหินซึ่งมีลักษณะเป็นแอ่งก้นกะทะ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเกือบ ๒๐ กิโลเมตร มีเนินสูงๆต่ำๆอยู่ทั่วไป ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง
ทางทิศตะวันตกได้แก่ภูแท่น ภูเซอ
ทางทิศตะวันออกได้แก่ภูเก็ง – ช่องภูมิประเทศที่เป็นที่ราบจนไปถึงภูเทิง ทางเหนือเป็นช่องภูมิประเทศระหว่างภูแท่นและภูเก็ง
ทางใต้คือภูห่วง
พื้นที่ส่วนใหญ่โล่งเตียนสุดลูกหูลูกตา มีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่เพียงไม่กี่ต้น

บริเวณเชิงเขาทางด้านตะวันออกและใต้ของทุ่งไหหิน มีไหหินโบราณขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมากมหาศาลจำนวนหลายร้อยใบกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป อันเป็นที่มาของชื่อ “ทุ่งไหหิน”ดังกล่าว
ในอดีตบริเวณกลางทุ่งไหหินนี้เคยเป็นที่ตั้งเมืองเชียงขวาง แต่ภายหลังได้ย้ายออกไปตั้งในที่ตั้งใหม่จนหมดสิ้นแล้ว

ทุ่งไหหินเป็นพื้นที่สำคัญทางทหารระหว่างที่มีการรบภายในราชอาณาจักรลาว (พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๑๘) มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก

สำหรับถนนสาย ๗ ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่นี้ เริ่มต้นจากสามแยกภูคูน คดเคี้ยวไปตามเขาบนที่ราบสูงตรันนินห์ เส้นทางแคบมาก รถวิ่งสวนกันแทบไม่ได้ ตัดผ่านเมืองสุย - ภูกูด - ทุ่งไหหิน - บ้านลาดบัว -หนองเป็ด - บ้านนาน -หนองเฮท - เมืองเสน - เวียดนามเหนือ

ส่วนถนนสาย ๑๓ เริ่มต้นจากหลวงพระบาง ผ่านภูคูน ลงไปยังกรุงเวียงจันทน์ เลียบแม่น้ำโขงลงไปถึงจำปาศักดิ์ - แก่งหลี่ผี - พนมเปญ - ไซ่ง่อน ถนนสายนี้มีอีกชื่อว่า “ถนนสายอาณานิคม”

ทุ่งไหหินมีสภาพภูมิศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งแม้ว่าจะมีความกว้างไม่ถึง ๒๐ กิโลเมตร แต่เป็นพื้นที่ราบกว้างใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของลาว ทุ่งไหหินถูกรายล้อมทั่วทุกทิศด้วยภูเขาหินปูนที่แทงยอดสลับซับซ้อนสูงชันท่ามกลางผืนป่าเขียวขจีที่ห้อมล้อมอยู่บริเวณเชิงเขา ด้วย
ลักษณะบังคับของภูมิประเทศ เส้นทางถนนที่มีอยู่ไม่กี่สายในภาคเหนือของลาวจึงต้องมาบรรจบกันบริเวณใกล้ๆตัวทุ่งไหหิน จึงทำให้ทุ่งไหหินเป็นจุดยุทธศาสตร์และศูนย์กลางการรวมพลยอดนิยมของกองกำลังหลายฝ่ายในลาว

“เริ่มบทแรกของพารู”
หนังสือ “อาจองธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” ซึ่งกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบการก่อตั้งตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวรปีที่ ๖๐ ได้บันทึกเหตุการณ์เมื่อครั้งตำรวจพลร่มจากค่ายนเรศวรเริ่มเข้าปฏิบัติการลับ
ในราชอาณาจักรลาวดังนี้

“ ในระหว่างปลายปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ถึงต้นเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ หลังจากที่รัฐบาลไทยและสหรัฐได้ตกลงใจที่จะป้องกันการรุกรานของคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะขยายเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น พ.ต.อ.เจมส์ วิลเลียม แลร์ และตำรวจพลร่มโดย พ.ต.ท. ประเนตร ฤทธิฤาชัย ผู้บังคับค่ายนเรศวร (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ผบ.ประเนตร) ท่านเป็นหัวหน้าได้ไปพบ พ.ท.วังเปาเป็นครั้งแรกที่บ้านท่าเวียง บริเวณทางใต้ของทุ่งไหหิน ประเทศลาว พร้อมเสนอให้การช่วยเหลือวังเปาในการต่อสู้กับฝ่ายลาวคอมมิวนิสต์ ซึ่งวังเปาได้มีการตกลงใจที่จะรับการช่วยเหลือจากสหรัฐเรื่องอาวุธและการฝึกให้ทหารม้งที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของวังเปา ฝ่ายสหรัฐหรือ ซีไอเอ.จะเป็นผู้สนับสนุนเรื่องอาวุธและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

สอดคล้องกับข้อความในหนังสือ “ผลาญชาติ” ของ โรเจอร์ วอร์เนอร์ โดย ไผท สิทธิสุนทร แปล ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
“จากช็อปเปอร์ บนเนินเขาด้านล่าง แลร์มองเห็นผู้ชายตัวเล็กๆอยู่ในชุดกางเกงสีดำยาวแค่ครึ่งแข้ง เขาจึงบอกให้นักบินนำช็อปเปอร์ลงจอด เมื่อเครื่องลงจอดแล้วก็วิ่งตรงไปยังชาวนาม้งที่มีท่าทางตื่นตกใจคนนั้นและถามว่าวังเปาอยู่แถวๆนี้หรือเปล่า ม้งคนนั้นพยักหน้าตอบว่าคงอยู่สักแห่งแถวๆนี้ นักบินตะโกนแข่งกับเสียงเครื่องยนต์ว่าจะรีบนำเครื่องขึ้นด้วยกลัวจะค่ำมืดเสียก่อน แลร์จึงหันไปถามประเนตรว่าเต็มใจจะอยู่ค้างคืนที่นี่กับพวกพารูไหม ผู้บัญชาการหน่วยพารูตอบกลับมาว่าแน่นอนที่สุด เขาเชื่อว่าการได้พบวังเปาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และรู้ว่าจอร์เจนเซน(หัวหน้าซีไอเอที่เวียงจันทน์) ไม่ต้องการให้แลร์อยู่ค้างแรม เพื่อมิให้เกิดปัญหาเรื่องชาวต่างชาติในลาว ไม่เช่นนั้นแลร์ก็จะคงจะอยู่กับพวกเขาที่นี่ด้วยอย่างแน่นอน
เมื่อได้รับสัญญาณจากประเนตร พารูที่เหลือทั้ง ๕ ก็โดดลงจากชอปเปอร์ด้วยที่ท่าระแวดระวังกับภูมิประเทศที่ไม่คุ้นเคย

วันต่อมาแลร์ซึ่งอยู่ที่บ้านพักของพวกพารูในเวียงจันทน์ได้รับข้อความเข้ารหัสทางวิทยุจากประเนตรว่า “พบวังเปาแล้ว” และในข้อความดังกล่าวต่อไป “เขาคือคนที่เรากำลังมองหา รีบกลับมา คุณจะได้พบกับเขาด้วยตัวเอง”

วันรุ่งขึ้นแลร์เดินทางกลับทุ่งไหหินเพื่อพบกับประเนตรทันที...
“ระหว่างเดินทางกลับไปยังเขตภูเขาและคิดทบทวนถึงข้อความจากประเนตร “วังเปาคือคนที่เรากำลังมองหา” จนลืมสนใจกับการเดินทางและไม่ได้สังเกตหมู่กระท่อมหลังคาสังกะสีที่ปลูกติดกันเป็นกระจุกของหมู่บ้านท่าเวียงเบื้องล่าง

คนของวังเปาที่บางส่วนอยู่ในชุดทหารลาวลุ่มและบางส่วนคือพวกม้งในชุดสีดำประจำเผ่าได้เคลื่อนกำลังถอยหนีข้าศึกมาหลายวันแล้วโดยอาศัยหลบนอนในป่าหรือไม่ก็อาศัยตามบ้านญาติๆของพวกเขา
ถึงแม้จะล่าถอยแต่ก็เป็นการล่าถอยอย่างมีระเบียบภายใต้การนำของชายตาชั้นเดียวร่างเตี้ยแต่ดูกระฉับกระเฉง แลร์สังเกตและรู้ในทันทีว่าคนคนนี้คือวังเปาโดยมีประเนตรที่ยืนอยู่ข้างๆพยักหน้าเป็นเชิงยืนยัน

ด้วยความสูงประมาณ 5 ฟุต 5 นิ้ว ใบหน้าของวังเปามีรอยยิ้มอวดฟันขาวอยู่เกือบตลอดเวลา ไฝเม็ดเล็กตรงคิ้วซ้ายของเขาดูเหมือนจุดเครื่องหมายวรรคตอนบนใบหน้ากลมเกลี้ยงมีชีวิตชีวา
วังเปาเป็นคนภูเขาที่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีดำเนินชีวิตแบบชาวลาวลุ่มหรือแม้แต่ในบางแง่มุมของพวกฝรั่ง แม้ว่าเขาจะไม่เคยได้ยินชื่อแลร์มาก่อน แต่เขาก็ได้เฝ้ารอการพบปะครั้งนี้มานานนับเป็นปีๆ
เช่นเดียวกับแลร์เหมือนกัน คนทั้งสองที่ต่างได้พบเจออะไรมามากพอๆกัน ต่างพร้อมแล้วที่จะได้ร่วมงานกัน

สำหรับแลร์แล้ว เขาตระหนักว่า กิตติศัพท์ที่เขาได้ฟังมาเกี่ยวกับวังเปานั้นไม่เกินความจริง เมื่อได้เห็นการวางตัวและสภาพทั่วไปในค่าย ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมของเขาคนเดียว พวกทหารเชื่อฟังและปฏิบัติตามทุกคำพูดของเขา แม้แต่ในการล่าถอยก็เป็นไปอย่างมีระเบียบ ไม่โกลาหลวุ่นวาย

เป็นจริงอย่างที่ประเนตรกล่าวไว้ วังเปาคือคนที่พวกเขากำลังมองหา ประเนตรและแลร์เคยร่วมงานกันในดินแดนเถื่อนดิบตามแนวตะเข็บชายแดนประเทศไทยมานานนับสิบปี ทั้งสองมองหาผู้นำท้องถิ่นที่จะนำมาปลุกปั้น แต่ไม่เคยเจอคนที่พร้อมจะจับปืนเข้าต่อสู้ในสงครามที่แบ่งเป็นฝักฝ่าย
เหมือนพวกม้งในลาว หรือพบกับผู้นำที่สมบูรณ์แบบอย่างวังเปามาก่อน

วังเปารู้จักภูมิประเทศในถิ่นของเขาเป็นอย่างดี
เมื่อเห็นนัยน์ตาเหยี่ยวบนใบหน้าฉายแววฉลาดของวังเปา มันทำให้แลร์นึกไปถึงภาพของ "เจงกิสข่าน"ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของพวกมองโกล

แลร์ถามวังเปาว่า เขามีแผนจะทำอะไรต่อไป วังเปากล่าวตอบว่า เขาขอตอบในฐานะชาวม้ง ไม่ใช่ฐานะนายทหารแห่งกองทัพลาว
“ที่นี่คือบ้านของเรา” วังเปาวาดมือชี้ไปยังเนินเขาและทุ่งไหหินเบื้องหลัง “ภูเขานี่เป็นของเรา...
เราไปมาหาสู่กับพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาเข้ามาบริเวณนี้หลายปีแล้ว พวกคนของฉันเข้ากันกับพวกเขาไม่ได้ วิถีชีวิตของเราแตกต่างกันเกินไป
เรามีทางเลือกเพียง ๒ ทางเท่านั้น นั่นคือสู้กัน หรือทิ้งถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น เราไม่มีทางเลือกอื่นหากคุณให้อาวุธกับเรา เราก็จะสู้กับพวกมัน”
แลร์กล่าวต่อว่า “คุณคิดว่าคุณจะติดอาวุธคนได้สักเท่าไหร่”
“อย่างน้อยหนึ่งหมื่นคน”

เก้าปีเต็มๆในประเทศไทย บิลล์ แลร์ สร้างกองกำลังขนาด ๔๐๐ คนเท่านั้น ถึงตอนนั้น แลร์เรียนรู้การประเมินลักษณะนิสัยของชาวเอเชีย เขาได้พบเห็นพวกเป็นปลิ้นปล้อนจอมปลอมมามากมาย แต่เมื่อเขามองดูวังเปา สัญชาตญาณบางอย่างบอกกับเขาว่า วังเปาไม่ใช่คนปากพล่อยพูดจาใหญ่โตเกินจริง

“ถ้าพวกม้งติดอาวุธ” แลร์ถามต่อ “พวกเขาจะพยายามแยกตัวเป็นอิสระหรือยังจะภักดีต่อรัฐบาลกลางของลาว”
“ฉันภักดีต่อกษัตริย์ลาวเสมอ” วังเปาตอบกลับมาทันที
“ ทั้งรัฐบาลลาวและอเมริกาต่างไม่อยู่ในสถานะจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องอิสรภาพของชาวม้ง คนของพวกคุณต้องการอะไรคุณรู้ไหม”
วังเปาตอบว่า
“พวกเขาต้องการรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ มีผู้นำของพวกเขาเอง พวกเขาต้องการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ พวกเขาจะเดินตามฉัน และฉันจงรักภักดีต่อกษัตริย์”
ฟังดูเป็นการต่อรอง ไม่ใช่คำมั่นสัญญา แต่ก็ฟังดูว่าเป็นความสัตย์จริง
แลร์ปฏิเสธที่จะพูดสิ่งที่จะเป็นการผูกมัดตัวเขาเองเช่นเดียวกัน
“ผมจะลองดูว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง" แลร์กล่าวขึ้นในที่สุด”

เย็นนั้น แลร์บินกลับเวียงจันทน์ ประเนตรและพารูทั้ง ๕ ยังคงค้างแรมอยู่กับวังเปาและคนของเขาต่อไป....






“ครั้งแรกของทหารปืนใหญ่ไทยในสงครามลับ”

......กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๑ ใช้รหัสหน่วย SS I มี ร้อยโท ประจวบ วิไลเนตร เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในพื้นที่เมืองสุวรรณเขต

กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓๑ ใช้รหัสหน่วย SS II มีร้อยโท วัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในเมืองท่าแขก....

“นโยบายของเคนเนดี้ : ให้ลาวเป็นกลาง”...
ความล้มเหลวในการบุกคิวบา รวมทั้งวิกฤติการณ์ที่กำลังเข้มข้นขึ้นที่เบอร์ลิน ประธานาธิบดีเคนเนดีซึ่งเริ่มเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่หลังการรับตำแหน่งเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๐๔ สำรวจสถานการณ์โลกอย่างรอบด้านแล้วรู้สึกว่าสหรัฐ
อเมริกากำลังถลำตัวมากเกินไปในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาคิดว่าการเผชิญหน้ากับสหภาพโซเวียตในลาวด้วยกำลังมิใช่วิธีที่จะแก้ปัญหาของลาว จึงล้มเลิกความเชื่อตามคำแนะนำของอดีตประธานาธิบดีไอเซนฮาวที่ให้ส่งกองทัพอเมริกันเข้าปฏิบัติการในลาวโดยตรง
แต่เคนเนดีก็ยังมีความเชื่อถือในทฤษฎีโดมิโนเช่นเดียวกับประธานาธิบดีทรูแมนและประธานาธิบดีไอเซนฮาว คือเชื่อว่าหากลาวต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของคอมมิวนิสต์ ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ตามไปด้วยทั้งสิ้น

เคนเนดีเชื่อว่า แทนที่จะส่งทหารเข้าปฏิบัติการโดยตรง การให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและอาวุธยุทโธปกรณ์ก็เพียงพอแล้วที่จะเอาชนะการคุกคามของคอมมิวนิสต์ในประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้ได้

เมื่อประธานาธิบดีเคนเนดีเข้ารับหน้าที่บริหารในเดือนมกราคม พ. ศ. ๒๕๐๔ นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสหภาพโซเวียตได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีนอย่างยากที่จะผลักไสให้ออกไป ประธานาธิบดีเคนเนดีจึงพยายามดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ ในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกหนทางให้ลาววางตัว “เป็นกลาง” เพื่อเป็นรัฐกันชนระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์
ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดคือการเจรจา

สหภาพโซเวียดเห็นด้วยกับนโยบายให้ลาวเป็นกลางของเคเนดี และตอบรับให้มีการจัดการประชุมขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ รวมทั้งยอมรับข้อเสนอให้มีการหยุดยิงในลาวและจัดการประชุมนานาชาติทั้ง ๑๔ ชาติที่เคยประชุมกันเมื่อ พ.ศ ๒๔๙๗ ว่าด้วยการแก้ปัญหาในอินโดจีนที่นครเจนีวา

ช่วงเวลาสั้นๆก่อนการประชุมในพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๔ ลาวทั้งสองฝ่ายก็เปิดฉากการรบเพื่อครอบครองพื้นที่ให้มากที่สุดเพื่อความได้เปรียบในการเจรจา
คราวนี้ทหารเวียดนามเหนือได้เคลื่อนพลพร้อมอาวุธหนักเข้าสนับสนุนลาวฝ่ายซ้ายเต็มที่ ส่งผลให้ลาวฝ่ายขวาตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบในทุกพื้นที่การรบ

“ขอความช่วยเหลือจากไทยอีกครั้ง”
ครั้งที่กองแลก่อการปฏิวัติเมื่อ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๓ พลตรี พูมี หน่อสวรรค์ เคยร้องขอความช่วยเหลือจากไทยจนสามารถยึดคืนกรุงเวียงจันทน์และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเผชิญกับความคับขันอีกครั้งหนึ่ง จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยอีกครั้ง

วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๐๔ พลตรี พูมี หน่อสวรรค์ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย ขอให้ส่งกำลังทหารปืนใหญ่ไปช่วยเหลือรัฐบาลลาวฝ่ายขวาในพื้นที่สุวรรณเขตตอนใต้ของลาวซึ่งกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากฝ่ายซ้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังเวียดนาม
เหนือ

ต่อมา พลตรี จอห์นสัน หัวหน้าคณะที่ปรึกษาความช่วยเหลือทางทหารสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เข้าพบ พลเอก จิตติ นาวีเสถียร เสนาธิการทหารบก ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๐๔ ยืนยันขอให้ไทยรีบส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่สนามไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ในราชอาณาจักรลาว โดยแจ้งให้ทราบว่ากำลังของขบวนการประเทศลาวหรือลาวฝ่ายซ้ายผสมกับกองกำลังเวียดมินห์ได้เข้าแย่งยึดพื้นที่บริเวณเมืองยมราชไว้แล้วและกำลังรุกเข้าหาเมืองท่าแขก ตรงข้ามจังหวัดนครพนมของไทย

“ราชาแห่งสนามรบจากไทย”
จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกทราบ ได้มีคำสั่งอนุมัติเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๐๔ ให้กองทัพบกจัดกำลัง ๒ กองร้อยทหารปืนใหญ่ จำนวนกำลังพลกองร้อยละ ๑๕๒
นาย จากกองพันพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๑ จังหวัดลพบุรี และกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓๑ จังหวัดลพบุรี
กำหนดชื่อรหัสในการปฏิบัติการนี้ว่า “Star Shine (SS)” ซึ่งใช้เรียกเป็นชื่อหน่วยด้วย

กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๑๑ ใช้รหัสหน่วย SS I มี ร้อยโท ประจวบ วิไลเนตร เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในพื้นที่เมืองสุวรรณเขต
กองร้อยทหารปืนใหญ่จากกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓๑ ใช้รหัสหน่วย SS II มีร้อยโท วัฒนชัย วุฒิศิริ เป็นผู้บังคับกองร้อย ปฏิบัติการในเมืองท่าแขก

วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๐๔ กำลังพลหน่วย SS I และ SS II เคลื่อนย้ายด้วยการขนส่งทางอากาศจาก สนามบินโคกกะเทียม ลพบุรี ไปลงที่เมืองสุวรรณเขต ๒ เที่ยวบินๆละ ๑ กองร้อย แล้วเดินทางเข้าพักแรมในกรมทหารปืนใหญ่ กองทัพแห่งชาติลาว (ทชล.) ที่ดงลำดวน ส่วนปืนใหญ่ทั้ง ๘ กระบอก (กอง ร้อยละ ๔ กระบอก) ลำเลียงทางพื้นดินข้ามแม่น้ำโขงบริเวณมุกดาหารไปยังสุวรรณเขต

“เข้าที่ตั้ง”
หน่วย SS I เคลื่อนย้ายกำลังทางรถยนต์เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๐๔ เข้าที่ตั้งปฏิบัติการ ที่เมืองท่าแขก มีหัวน้านพ (พันโท จวน วรรณรัตน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหาร และ หัวหน้านัย (พันโท ศิริ เทศะภู รองหัวหน้าคณะที่ปรึกษาทางทหาร) ร่วมเดินทางไปด้วย

ในการเคลื่อนย้ายครั้งนี้กองทัพแห่งชาติลาวได้จัดหน่วยระวังป้องกันให้ โดยจัดรถถัง M-8 คุ้มกันขบวน ๒ คัน พร้อมกับจัดชุดเฝ้าตรวจรักษาการณ์ตามจุดสำคัญๆ จนถึงที่รวมพล บริเวณทิศใต้ของเมืองท่าแขก ประมาณ ๓ กิโลเมตร

หน่วย SS II เคลื่อนย้ายกำลังทางรถยนต์เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๐๔ เข้าที่ปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันออกของเมืองท่าแขก ประมาณ ๑๕ กิโลเมตร

ในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๐๔ นายพล บุนปอน มากเทพารักษ์ ได้ขอกำลังหน่วย SS I ไปยิงสนับสนุนการปฏิบัติการทางด้านเมืองเซโปนใกล้ชายแดนเวียดนาม หน่วย SS I จึงได้เคลื่อนย้ายไปแต่เดินทางไปถึงแค่เมืองพิน ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๔ ก็ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่กลับสุวรรณเขต เข้าที่ตั้งกรมทหารปืนใหญ่ ดงลำดวนตามเดิม

เพื่อให้เป็นผลดีต่อการประชุมแก้ปัญหาดังนั้น ในวันที่ ๘ พฤษภาคม
พ.ศ. ๒๕๐๔ กองทัพบกไทยได้มีคำสั่งให้หน่วย SS ถอนกำลังกลับโดยให้เหลือครูฝึกการใช้ปืนใหญ่ไว้เพียง ๑๔ คน ในวันรุ่งขึ้นที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๐๔ หน่วย SS I และSS II จึงเดินทางกลับประเทศไทย แต่ยังคงตั้งอยู่ที่อำเภอมุกดาหาร และอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม เพื่อรอดูสถานการณ์ จนกระทั่งวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๔ จึงได้รับคำสั่งกลับเข้าที่ตั้งปกติ

ปฏิบัติการสั้นๆของทหารปืนใหญ่ไทยจากลพบุรีครั้งนี้ ไม่มีบันทึกผลการปฏิบัติที่สามารถสืบค้นได้ แต่อย่างไรก็ตาม อีกไม่นานทหารปืนใหญ่ไทยจะกลับสู่สนามรบในสงครามลับอีกครั้ง จนกระทั่งมีการเจรจาหยุดยิงในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ พร้อมด้วยประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากสนามรบอื่น


“อีกวีรกรรมของพารู”

......วังเปาตั้งคำถามด้วยอารมณ์หงุดหงิดกับที่ปรึกษาอเมริกันของเขาว่า เหตุใดอเมริกามหาอำนาจที่มีชัยในสงครามโลกถึง 2 ครั้ง 2 คราจึงล้มเหลวในการบุกขึ้นฝั่งของเกาะเล็กๆ….

“วีรกรรมของ ‘ทีม O’ ที่เชียงแดด”...
ทีม O เป็นทีมของตำรวจพลร่มซึ่งประกอบด้วย พารู จะเด็ด โตประดิษฐ์ เป็นหัวหน้า พารู วิสูตร์ พันธุ์อำไพ กับ พารู สง่า แจ่มประวิทย์ เป็นพลปืนเล็ก พารู เผด็จ คุ้มสะอาด เป็นพนักงานวิทยุ และ พารู จำรัส จันทะวงษ์ เป็นพยาบาล

ทีม O มีฐานปฏิบัติการอยู่ที่"เชียงแดด" ได้รับมอบภารกิจในการฝึกการรบแบบกองโจรให้กับชาวเขาเผ่าม้งของนายพลวังเปาและพวกลาวเทิงในสังกัดของ ร้อยเอก สมบูน

ต่อมามีเหตุการสู้รบเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 21 .00 น. เดือนพฤษภาคม พ.ศ 2504
ฝ่ายข้าศึกมากกว่า 50 คนได้บุกจู่โจมฐานปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบและระดมยิงเข้าใส่ฝ่ายนักรบนิรนามและหน่วยพารูอย่างหนาแน่นแบบไม่ให้ตั้งตัว การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือดจนเป็นเหตุให้พารู จะเด็จ โตประดิษฐ์ และ พารู วิสูตร์ พันธุ์อำไพ เสียชีวิตในการปะทะ ส่วน พารู เผด็จ คุ้มสะอาด เสียชีวิตในขณะหลบหนี

พารูสง่า แจ่มประวิทย์ และพารู จำรัส จันทวงศ์ ถูกจับเป็นเชลยและถูกกักขังอยู่เป็นเวลา 6 เดือนก็ได้รับการปล่อยตัวจากการแลกเปลี่ยนเชลย

ผู้ที่รอดชีวิตกลับมาได้บอกเล่าเหตุการณ์ไว้ว่า
“ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงของหัวหน้าทีมตะโกนขึ้นว่า “สู้ตาย” ดูเหมือนจะเป็นคำพูดสุดท้ายของหัวหน้า กระสุนของฝ่ายตรงข้ามก็เจาะเข้ากลางหน้าผากเขาทันที และในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองเสียงปืนของข้าศึกที่บุกจู่โจมเข้ามาไม่น้อยกว่า 50 คนก็ยิงใส่ร่างของวิสูตรที่กำลังยิงต่อสู้ กระสุนเข้าที่หน้าอกถึง 3 นัดทำให้เขาตายคาที่ทันทีเช่นเดียวกัน
และในขณะนั้นเองก็ได้ยินเสียงของสง่าดังขึ้นว่า “เผด็จ ผมถูกยิงที่ข้อเท้า”
ในวินาทีต่อมาก็ได้ยินเสียงหมอจำรัสตะโกนว่า “ผมถูกยิงที่สะโพก” เผด็จซึ่งกำลังประคองสง่าก็ตะโกนถามว่า “หมอพอจะคลานไปไหวไหม” หมอตอบว่าไหว เผด็จก็สั่งให้หมอจำรัสคลานลงไปที่ก้นเหวและพบกันที่ยอดเขาลูกข้างหน้าซึ่งเป็นที่นัดพบ

และแล้วพวกเราก็มารวมกันอยู่ที่ยอดเขาพร้อมกับปูแผ่นผ้าสัญญาณเพื่อขอความช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์ เมื่อเฮลิคอปเตอร์เห็นก็บินโฉบเข้ามาใกล้ๆเพื่อจะลงรับ แต่ลงไม่ได้เพราะข้าศึกที่ล้อมรอบภูเขาลูกนี้แล้วระดมยิงอย่างหนัก พวกเราจึงมีมติให้เผด็จหลบหนีไปคนเดียว

ต่อมาทราบว่าเผด็จถูกจับตัวได้ที่หมู่บ้านชาวเขาแห่งหนึ่งที่ข้าศึกยึดได้และถูกฆ่าตายที่นั่น”

เหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการของทีม O นี้ ถูกเปิดเผยในเวลาต่อมาว่า เกิดจากฝีมือของร้อยเอกสมบูน ผู้บังคับกองร้อยของกองทหารลาวเทิงซึ่งเป็นกำลังพลที่เราเป็นผู้ฝึกฝนทำการรบให้นั้นเกิดความโลภอยากจะได้สิ่งของและยุทโธปกรณ์ที่ทางหน่วยเหนือส่งมาสนับสนุนเพื่อใช้ทำการฝึกและการรบของทีมปฏิบัติการ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือพวกลาวเทิงเกิดความไม่พอใจพวกทหารชาวม้งของนายพลวังเปาเปา
ยิ่งไปกว่านั้นร้อยเอกสมบุน ยังถูกฝ่ายตรงข้ามเกลี้ยกล่อมจนเกิดการเปลี่ยนใจจึงได้ทรยศและยกกำลังเข้าปล้นฐานพวกเดียวกัน มีผลให้ทีม O ต้องได้รับความสูญเสียอย่างหนัก

อย่างไรก็ตามอีก 2 ปีต่อมา ทีมปฏิบัติการของพารูอีกทีมหนึ่งก็สามารถจับตัวและสังหาร ร้อยเอกสมบูนได้ในการรบ”

หลังชัยชนะอย่างต่อเนื่องนับแต่ได้รับความช่วยเหลือจากซีไอเอและพารูตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2504 จนถูกรุกกลับในเพือนพฤษภาคม วังเปาได้จัดตั้งกองบัญชาการใหญ่ขึ้นที่ “ป่าดอง” ชุมทางแหล่งค้าฝิ่นเก่าที่อยู่ข้ามภูเขาออกไปไม่กี่ลูก ที่ป่าดองมีสนามบินเก่าหญ้าคาขึ้นสูงท่วมหัว มีเรือนไม้เก่าสร้างสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

ภูมิประเทศของป่าดองเป็นที่ราบสูงบนภูเขา รายล้อมด้วยต้นชาป่า มียอดเขาสูงทางด้านทิศใต้ เลยหุบเขาทางทิศเหนือออกไปมีสันเขาสูงลดหลั่นอันเป็นที่ตั้งหมู่บ้านชาวม้ง
ทุ่งไหหินซึ่งทอดตัวอยู่เลยสันเขานี้ออกไปขณะนั้นตกอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังฝ่ายศัตรู คือทหารฝ่ายเป็นกลางของประเทศ
ลาว รวมถึงที่ปรึกษาโซเวียตและเวียดนามเหนือ
ชาวเขาจำนวนมากหลั่งไหลทยอยมารวมตัวที่ป่าตองเพื่อร่วมต่อสู้กับวังเปา

ม้งเป็นชนเผ่าที่มีความหลังฝังใจแนบแน่นกับอดีตหรือบรรพบุรุษพวกเขา คนเฒ่าคนแก่ของเผ่าเล่าขานถึงยุคทองสมัยอาศัยอยู่ในเมือง ยังไม่ได้ร่อนเร่ปักหลักอยู่ตามภูเขาอย่างทุกวันนี้ ยุคนั้นป่าดองแห่งนี้เคยเป็นศูนย์กลางการต่อต้านเวียดนามศัตรูคู่อาฆาตมาหลายยุคสมัย และยังเกี่ยวพันกับตำนานเรื่องราวที่เก่ากว่านั้นว่า ป่าดองจะเป็นสถานที่เปิดศักราชแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรมใหม่ของเผ่าพันธุ์โดยอาศัยความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอเมริกา

ป่าตองจึงมีคุณค่ายิ่งในทางสัญลักษณ์และดูเหมือนว่านี่เป็นเหตุผลที่วังเปาตัดสินใจจะปักหลักปกป้องป่าตองไว้อย่างสุดกำลัง
ที่ผ่านมา เมื่อข้าศึกรวมพลอยู่ที่บริเวณตอนใต้ทุ่งไหหิน ปกติแล้วผู้นำกองกำลังจรยุทธมักหลีกเลี่ยงการปักหลักเผชิญหน้ากับกองกำลังขนาดใหญ่ของข้าศึก เนื่องจากเป็นการเสียเปรียบศัตรูที่มีกำลังคนและอาวุธที่เหนือกว่า

บิลล์ แลร์ พยายามอย่างนุ่มนวลที่จะให้วังเปาเปลี่ยนใจจากการปักหลักป้องกันแบบแตกหักที่ป่าดอง แต่เขาก็ไม่ได้ออกคำสั่งให้วังเปาเลิกล้มความคิด เพราะเชื่อว่าการปล่อยให้วังเปาตัดสินใจเองจะมีผลดีกว่า แม้จะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ตาม
วังเปาจะต้องเรียนรู้ทุกประสบ
การณ์ทั้งสำเร็จและล้มเหลวในฐานะเจ้าของสงครามตัวจริง

วังเปาเองก็ไม่เคยเชื่อถือคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรบแตกหักกับศัตรู เพราะเขามีความเชื่อมั่นอย่างลมๆแล้งๆว่า ตราบที่ยังมีอเมริกาหนุนหลังอยู่ เขาจะไม่มีวันพ่ายแพ้ ดังนั้นเพียงเวลาไม่กี่เดือนวังเปาก็สามารถดึงหัวหน้าเผ่ากลุ่มต่างๆเข้าเป็นพันธมิตรและตอนนี้หัวหน้าเผ่าพวกนี้ก็มีโอกาสได้สัมผัสเครื่องมือรบสมัยใหม่ อย่างเช่นได้อยู่บนเครื่องบินแล้วมองลงยังสนามรบเบื้องล่างแบบผู้มีอำนาจเหนือ และยังได้เห็นได้ทำอะไรอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยแม้แต่จะฝันถึง

ตามความคิดของวังเปา บัดนี้ถึงเวลาในการยกระดับการรบแบบกองโจรเป็นกองกำลังประจำการที่ถึงพร้อมด้วยอาวุธหนักอันทันสมัยแล้ว

ภาพแห่งความทรงจำในอดีตครั้งที่เครื่องบินทิ้งระเบิดของกองทัพฝรั่งเศสบดขยี้กำลังทหารเวียดนามราวมดปลวกได้ปรากฏเป็นจริงสำหรับเขาแล้ว

แต่แล้วข่าวความล้มเหลวของอเมริกาที่อ่าวหมู คิวบา ซึ่งวังเปาได้รับฟังจากเครื่องรับวิทยุคลื่นสั้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2504 ก็ทำให้เขาเกิดอาการ “ตาสว่าง”ขึ้นบ้าง
วังเปาตั้งคำถามด้วยอารมณ์หงุดหงิดกับที่ปรึกษาอเมริกันของเขาว่า เหตุใดอเมริกามหาอำนาจที่มีชัยในสงครามโลกถึง 2 ครั้ง 2 คราจึงล้มเหลวในการบุกขึ้นฝั่งของเกาะเล็กๆ เขาไม่อยากเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง และเริ่มหวั่นไหวเนื่องจากต้องอาศัยบารมีอเมริกาในความพยายามรวมผู้นำเผ่าต่างๆเข้าเป็นพวก
เจ้าหน้าที่ซีไอเอที่ทำงานกับวังเปาก็งุนงงกับเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกัน จึงไม่อาจอธิบายให้วังเปาเข้าใจได้

สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงเริ่มพัดผ่านเหนือทุ่งไหหินแล้ว.



“ความผิดหวังของวังเปา”

……27 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ซีไอเอหยุดการขนส่งอาวุธทางอากาศแก่พวกม้งในลาวแต่ยังจัดส่งข้าวสารและเสบียงอื่นๆที่ไม่ใช่อาวุธต่อไป.......

พฤษภาคม พ.ศ.2504 ใกล้การประชุม ฝ่ายประเทศลาวและเวียดนามเหนือเร่งกดดันโจมตีฐานที่มั่นของพวกม้งตลอดทั่วบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของลาว การสู้รบเพื่อแย่งชิงพื้นที่เป็นไปอย่างดุเดือด พวกม้งพยายามรักษาพื้นที่ในครอบครองไว้อย่างสุดกำลัง ขณะที่ข้าศึกก็พยายามเข้ายึดพื้นที่ให้ได้มากที่สุดก่อนที่การเจรจาหยุดยิงจะมีขึ้น

ในสายตาของผู้คนทั่วไปเว้นวังเปาและพวก สองฝ่ายดูจะไม่ใช่คู่ต่อกรที่สมน้ำสมเนื้อกันนัก ทหารเวียดนามเหนือได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีเยี่ยม ไม่สะทกสะท้านต่อการสูญเสียหากจำเป็นทั้งมีทักษะการรบที่เหนือกว่า ที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือการใช้ปืนใหญ่ ซึ่งแม้พวกม้งจะใช้ความพยายามอย่างไรก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ม้งเชี่ยวชาญการรบแบบ “ตีหัวเข้าบ้าน”ของสงครามกองโจร ส่วนเรื่องระเบียบวินัยทหารนั้นไม่มีอยู่ในหัวสมองของพวกเขา หากเสียงปืนข้าศึกดังกว่าเสียงปืนฝ่ายตน ทหารม้งพร้อมวิ่งหนีเอาตัวรอดทันที และหากพวกเขาเกิดนึกอยากออกป่าล่าสัตว์หรือกลับไปเยี่ยมลูกเมียที่มีหมู่บ้านตน ก็จะไม่มีสิ่งใดมาฉุดรั้งไว้ได้ รวมทั้งการนับถือผีสางและความเชื่อถือในโชคลางซึ่งยังฝังจิตฝังใจชาวม้งอย่างเหนียวแน่น หมอผีจะทำการเสี่ยงทายเขาควายเพื่อหาลางบอกเหตุจากวิญญาณภูตผีเสมอๆขวัญกำลังใจของพวกเขาถูกแขวนอยู่กับความเชื่อในดวงชะตา และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่อ่าวหมูก็ถือว่าเป็นลางร้ายสำหรับพวกเขา

จากทางใต้ของทุ่งหิน ข้าศึกเริ่มเคลื่อนกำลังมุ่งสู่ป่าดอง กองกำลังที่ว่านี้เป็นกองกำลังผสมระหว่างเวียดนามเหนือและพวกประเทศลาว ข้าศึกเปิดฉากโจมตีบริเวณสันเขาที่แบ่งแยกระหว่างป่าดองและทุ่งไหหินที่อยู่ต่ำลงไป แรกๆทหารม้งที่ตั้งอยู่บริเวณนั้นพยายามต้านทานข้าศึกเอาไว้เพราะเชื่อมั่นว่าหากยังมีพวกอเมริกันหนุนหลังอยู่พวกเขาจะไม่มีทางพ่ายแพ้ แต่เมื่อการระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากฝ่ายข้าศึกหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ หน่วยกรีนเบเร่ต์ที่ประจำอยู่กับทหารม้งก็ตัดสินใจว่าถึงเวลาจะต้องทิ้งฐานที่มั่นป่าดงแล้วเพื่อแยกย้ายและไปรวมพลกันใหม่ในสถานที่อื่นห่างออกไปอีก แต่ทหารม้งก็ยืนกรานปฏิบัติตามคำสั่งของ บิลล์ แลร์ ที่ปล่อยให้การตัดสินใจเป็นของวังเปาแต่ผู้เดียว แต่เมื่อการระดมยิงด้วยปืนใหญ่จากข้าศึกทวีความรุนแรงขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด วังเปาจึงตกลงใจเตรียมสละป่าดองแล้วแบ่งกำลังบางส่วนทยอยเดินเท้ามุ่งลงใต้สู่ที่ตั้งแห่งใหม่ในแนวหลังที่ผาขาวซึ่งอยู่ห่างไป 2 วันเดิน

3 พฤษภาคม 2504 มีการประกาศหยุดยิงชั่วคราวในลาวอย่างเป็นทางการจากโต๊ะประชุมกรุงเจนีวา แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติใดๆ ที่ป่าดองปืนใหญ่เวียดนามเหนือยังระดมยิงเข้าหาเป้าหมายทหารม้งหนักขึ้น และหนักขึ้น

13 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตียึดที่มั่นเมืองนัทที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกของป่าดองประมาณ 100 กิโลเมตร แม้จะประสบการสูญเสียอย่างหนักแต่ทหารเวียดนามเหนือก็สามารถยึดไว้ได้

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 วันเดียวก่อนการเปิดเจรจาสันติภาพที่เจนีวา ข้าศึกเปิดฉากโจมตีป่าดองเต็มรูปแบบ ทหารเวียดนามเหนือสามารถยึดแนวสันเขาที่กั้นขวางฐานที่มั่นกับทุ่งไหหินเป็นผลสำเร็จโดยต้องแลกกับการสูญเสียอย่างหนัก จากนั้นได้สร้างถนนใหม่ขึ้นหลายสายจากเมืองนัทเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธหนัก นอกจากนั้นยังได้สร้างฐานปืนใหญ่ซุกซ่อนตัวอยู่ในแนวกำบังของสันเขาป้องกันการยิงจากเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 4.2 นิ้ว อันเป็นอาวุธหนักชนิดเดียวที่ทหารม้งมีใช้

วังเปาพยายามป้องกันป่าดองอย่างเต็มกำลังความสามารถ จนในที่สุดเมื่อไม่มีทางเลือกวังเปาก็ตัดสินใจสละฐานที่มั่นที่ป่าดอง แต่ก็ยังดีที่มิได้สูญเสียกำลังพลมากนัก
ทว่าขวัญกำลังใจของชาวเขาถูกสั่นคลอนลงอย่างมาก แม้ยังคงมีการช่วยเหลือจากอเมริกัน แต่พวกเขาก็ยังมิใช่คู่ต่อกรองเครื่องจักรสงครามอย่างทหารเวียดนามเหนือ

เหมือนฟ้าผ่า...
27 มิถุนายน พ.ศ. 2504 ซีไอเอหยุดการขนส่งอาวุธทางอากาศแก่พวกม้งในลาว แต่ยังจัดส่งข้าวสารและเสบียงอื่นๆที่ไม่ใช่อาวุธต่อไป ขณะที่การเจรจาที่เจนีวายังดำเนินต่อไป อเมริกาต้องการให้ทั่วโลกเข้าใจว่าการช่วยเหลือพวกม้งของพวกเขาเป็นการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพเท่านั้น

ที่วอชิงตัน หลังจากไตร่ตรองถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับส่วนที่เหลือของเอเชียรวมทั้งผลกระทบต่อกำลังทหารของอเมริกาในทวีปยุโรป ซึ่งอีกไม่นานจะเกิดวิกฤติขีปนาวุธที่คิวบา และการก่อสร้างกำแพงเบอร์ลิน เคนเนดีจึงตัดสินใจว่าการรักษาไว้ซึ่งความเป็นกลางในลาวดูจะเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่าการที่อเมริกาจะใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงในลาวอย่างเต็มรูปแบบ แต่หากภายหลังเวียดนามเหนือฝ่าฝืนข้อตกลงความเป็นกลางของลาว ก็คงไม่สายเกินไปที่อเมริกาจะยืนหยัดต่อต้าน

และคงดีกว่านี้ที่จะใช้เวียดนามใต้ประเทศเพื่อนบ้านของลาวเป็นที่มั่นของการต่อต้าน เพราะเวียดนามใต้มีความพร้อมกว่าลาว ใเวียดนามใต้มีทั้งท่าเรือ ถนนหนทาง และทางรถไฟ รวมทั้งยังมีกำลังทหารที่อย่างน้อยหากเทียบกันในระดับภูมิภาคแล้วก็ถือว่าเป็นทหารอาชีพอย่างแท้จริงทีเดียว

นอกจากนั้น เคนเนดียังเชื่อว่า โซเวียดก็ไม่มีความต้องการจะส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงในลาวเช่นเดียวกัน

การตัดสินใจดังกล่าวของเคนเนดีชี้ให้เห็นว่า ณ บัดนี้ ความสำคัญของลาวในทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคนี้ว่ามีน้อยกว่าเวียดนามใต้ นอกจากนั้นในหมู่ประเทศทั้งสิ้น 14 ประเทศที่มาร่วมประชุมที่เจนีวามีอยู่เพียงไม่กี่ประเทศคือประเทศไทยและเวียดนามใต้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในลาวซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านพวกเขา แต่สำหรับอเมริกาและโซเวียตแล้วพวกเขาต่างกำลังวางแผนเดินหมากในเกมช่วงชิงอำนาจกันอยู่ และลาวก็เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในกระดานเท่านั้น

จากการเจรจาที่ไม่คืบหน้า ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ 2505 เคนเนดีก็ตัดสินใจส่งทีมที่ปรึกษาชาวอเมริกันและหน่วยทหารราบจำนวนหนึ่งเข้าเวียดนามใต้

แต่กระนั้น เคนเนดีก็จะยังไม่ละทิ้งลาวไปอย่างสิ้นเชิง เพราะยังคงเชื่อมั่นในทฤษฎีโดมิโนเช่นเดียวกับประธานาธิบดีทั้งสองคนก่อนหน้านี้
ซีไอเอ.จึงยังคงอยู่ในลาว และพารูก็ยังคงอยู่ในลาวเช่นเดียวกัน
วังเปาและกองกำลังชาวเขาของเขาก็ยังมุ่งมั่นต่อสู้ต่อไป.




“ตำนาน บก.ผสม 333 : นายเทพ”

.....อีกคนที่นึกถึงคือ “วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์” หรือ “เทพ” ทำงานอยู่ที่กรมยุทธการทหารบกซึ่งข้าพเจ้าเป็นเจ้ากรมอยู่และเพิ่งจบมาจากสหรัฐอเมริกา จึงขอให้ไปทำหน้าที่นี้โดยตั้งชื่อรหัสว่า“เทพ”ตามที่
วิฑูรย์ขอร้อง...

เมื่อประธานาธิบดีเคนเนดี้เข้ารับหน้าที่บริหารในเดือนมกราคม พ.ศ 2504 นั้น เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสหภาพโซเวียตได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในอินโดจีนอย่างยากที่จะผลักไสให้ออกไปได้ ประธานาธิบดีเคนเนดีจึงพยายามดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบเพื่อมิให้ความขัดแย้งขยายตัว โดยตัดสิน
ใจให้ลาววางตนเป็นกลางเพื่อเป็น “รัฐกันกระทบ” ระหว่างโลกเสรีกับโลกคอมมิวนิสต์ ขณะที่
ผู้นำสหภาพโซเวียตขณะนั้นคือ นิกิตา ครุสชอฟ ก็มีความคิดเห็นในทำนองเดียวกัน

ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2504 นั้นเอง สหภาพโซเวียตได้ยินยอมรับข้อเสนอของเคนเนดีให้หยุดยิงในลาวและจัดการประชุมนานาชาติทั้ง 14ชาติที่เคยประชุมกันมาในอดีตเมื่อ พ.ศ. 2497 ว่าด้วยการแก้ปัญหาในอินโดจีนที่นครเจนีวา
ขณะที่ลาวฝ่ายซ้ายกลับฉวยโอกาสนี้เร่งโหมปฏิบัติการทางทหารเพื่อแย่งชิงพื้นที่จากฝ่ายขวาและฝ่ายเป็นกลางให้ได้มากที่สุดจนสามารถครอบครองลาวได้ค่อนประเทศ ตรงกันข้ามกับที่ประธานาธิบดีเคนเนดีพยายามสร้างบรรยากาศของการประชุมด้วยการสั่งยุติการส่งอาวุธให้กับนายพลวังเปาในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2504 เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเจรจา

ผู้แทนลาวที่เข้าร่วมประชุมที่กรุงเจนีวาพ.ศ 2504 แบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ฝ่ายขวามีนายพล ภูมี หน่อสวรรค์ และ เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์
ฝ่ายเป็นกลางมีเจ้าสุวรรณภูมา
ส่วนฝ่ายซ้ายมีเจ้าสุภานุวงศ์เป็นผู้แทน

การประชุมที่เจนีวาดำเนินไปอย่างไม่ราบรื่นนักท่ามกลางการสู้รบที่ยังคงดำเนินต่อไปในลาว
จนกระทั่งกลางปีถัดมา เดือนมิถุนายน พ.ศ 2505 ที่ประชุมจึงสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่เป็นกลางได้

รัฐบาลผสมนี้มีเจ้าสุวรรณภูมิมา-ฝ่ายเป็นกลางเป็นนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เจ้าสุภานุวงศ์-ฝ่ายซ้าย เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ
นายพล ภูมี หน่อสวรรค์-ฝ่ายขวาเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

รัฐบาลชุดใหม่นี้ประกาศนโยบายเป็นกลางตามข้อตกลงเจนีวา พ.ศ 2504 ล่าสุด ในขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ไว้วางใจลาวฝ่ายซ้ายและเวียดนามเหนือก็ส่งทหารเข้ามาในประเทศไทยเพื่อคุมเชิงสถานการณ์ในลาว รวมทั้งร่วมดำเนินการทางลับกับฝ่ายไทยในการเสริมสร้างความ
แข็งแกร่งให้กับทหารม้งของนายพลวังเปาต่อไป

ตามข้อตกลงเจนีวา พ.ศ. 2504 ที่ให้ถอนทหารต่างชาติออกจากลาว แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่มีชาติใดยอมถอนทหารของตนออกจากดินแดนลาว พารูจากไทย ยังคงแฝงตัวปฏิบัติงานลับเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับกองกำลังของนายพลวังเปา เวียดนามเหนือปฏิเสธที่จะถอนทหารของตนออกจากดินแดนลาวโดยอ้างว่าสหรัฐอเมริกาและไทย ยังมีทหารของตนอยู่ในลาวได้
การที่กองทัพเวียดนามเหนือยังคงอยู่ในลาวนั้นมิได้เป็นเพียงเพื่อช่วยเหลือลาวฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่เหตุผลสำคัญสูงสุดก็เพื่อควบคุมเส้นทางโฮจิมินห์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาวที่เป็นเส้นเลือดหลักในการขนส่งทหารและยุทธภัณฑ์จากชายแดนจีนไปส่งให้แก่พวกเวียดกงในเวียดนามใต้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในการรวมชาติของฝ่ายเวียดนามเหนือนั่นเอง

ในความเป็นจริงแล้ว สหรัฐอเมริกาไม่พอใจรัฐบาลผสมของลาวที่จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่มีเจ้าสุวรรณภูมิมาเป็นนายกรัฐมนตรีนัก แต่จะให้ นายพล ภูมี หน่อสวรรค์ ผู้ฝักใฝ่ตนเต็มที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่เหมาะสมเพราะมีจุดอ่อนหลายประการ โดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชั่น และที่สำคัญกองทัพลาวฝ่ายขวาของเขาไม่เคยรบชนะกองทัพขบวนการประเทศลาวเลย

อเมริกาจึงหาทางออกเพื่อชดเชยจุดอ่อนประการหลังนี้ด้วยการสนับสนุนพวกม้งซึ่งมี นายพล วังเปา เป็นผู้นำ อเมริกาและไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งกองทัพม้งโดยให้ขึ้นโดยตรงต่อสำนักข่าวกรอง ซีไอเอ. ในลักษณะปฏิบัติการ “ลับสุดยอด” เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อตกลงเจนีวา จนเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกความเกี่ยวข้องกับสงครามลาวของอเมริกาครั้งนี้ว่าเป็น “สงครามลับในลาวของ ซีไอเอ - CIA SECRET WAR IN LAOS”

ซีไอเอ.ทำหน้าที่ฝึกหัดกองทัพม้งอย่างได้ผลจนสามารถใช้การรบแบบกองโจรที่สามารถสร้างผลงานได้ดีกว่าทหารประจำการของรัฐบาลลาว จนกองทัพม้งกลายเป็นกำลังสำคัญในการสกัดกั้นการลำเลียงอาวุธยุทธภัณฑ์ของเวียดนามเหนือผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลาวลงมาให้พวกเวียดกงในเวียดนามใต้ อันเป็นโจทย์ใหญ่ของอเมริกาที่แก้ไ่ม่ตกตลอดสงครามครั้งนี้

รัฐบาลเป็นกลางของลาวเมื่อตั้งขึ้นแล้วก็ประสบความยุ่งยากโดยตลอด จนไม่ถึงปีถัดมา เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ. 2506 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศลาว กวีนิม พลเสนา สังกัดฝ่ายซ้ายถูกลอบสังหาร เจ้าสุภานุวงศ์ผู้นำฝ่ายซ้ายจึงหลบหนีออกจากเวียงจันทน์ไปร่วมกับขบวนการประเทศลาว

จากนั้นสงครามในลาวยกใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอีก ขณะที่ฝ่ายซ้ายและกองทัพเวียดนามเหนือยังคงครองความได้เปรียบจากการยึดครองพื้นที่ของลาวไว้ค่อนประเทศตั้งแต่ก่อนการประประชุมเจนีวาเมื่อ พ.ศ.2505

“บก.ผสม ๓๓๓ “หัวหน้าเทพ”
ในปี พ.ศ.๒๕๐๗ ได้มีการจัดตั้ง “บก.ผสม ๓๓๓” ขึ้น ซึ่งมีความเป็นมาดังนี้
ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๓ เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตัดสินใจให้ความช่วยเหลือลาวฝ่ายขวา และได้ตั้งคณะกรรมการ คท. “คณะกรรมการช่วยเหลือทางทหาร” และได้จัดส่งกำลังพลของไทยไปปฏิบัติการในราชอาณาจักรลาวในลักษณะ“การช่วยเหลือรัฐบาล” ร่วมกับเจ้าหน้าที่คณะที่ปรึกษาการช่วยเหลือทางทหารสหรัฐฯในลาว (MAAG LAO) กำลังผสมชุดแรกนี้ได้ไปตั้งกองบังคับการขึ้นในลาวที่เมืองสุวรรณเขต แขวงสุวรรณเขต ใช้ชื่อย่อว่า “บก.คท.”

เจ้าหน้าที่หลักฝ่ายไทยใน บก.คท. ๓ คน คือ พลตรี จำเนียร พงศ์ไพโรจน์ (หัวหน้าจักร) เป็นหัวหน้ากองบังคับการ พันเอก จวน วรรณรัตน์ (หัวหน้านพ) เป็นรองหัวหน้า และพันตำรวจโท ประเนตร ฤทธิฤาชัย (หัวหน้าลีวัง) ควบคุมบังคับบัญชากำลังตำรวจพลร่ม “พารู”
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ คนสำคัญที่ประจำใน บก.คท.มี ๒ คน คือ เจมส์ วิลเลียม แลร์ (Karb ขาบ) เป็นหัวหน้า และลอยด์ แลนดรี้ (Pau เพา) เป็นรองหัวหน้า

ภารกิจหลักของ บก.คท.สุวรรณเขต คือ สนับสนุนกำลังของพลจัตวาภูมีที่สุวรรณเขต และกำลังของพลจัตวา กุประสิทธิ์ ที่ค่ายจินายโม้ ให้ยึดกรุงเวียงจันทน์ให้สำเร็จ บก.คท.ได้จัดตำรวจพลร่มเป็นที่ปรึกษาใน
การปฏิบัติการและรายงานข่าว

วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓ กำลังของลาวฝ่ายขวาได้เคลื่อนที่เข้าสู่กรุงเวียงจันทน์ และได้ปะทะกับกำลังของ ร้อยเอก กองแล การสู้รบดำเนินไปจนถึงวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๓ ลาวฝ่ายขวาจึงสามารถ
ยึดกรุงเวียงจันทน์ได้สำเร็จ ฝ่าย ร้อยเอก กองแล ต้องถอยร่นหนีขึ้นไปทางเหนือของเวียงจันทน์ ส่วนเจ้าสุวรรณภูมาได้ลี้ภัยไปอยู่ในพนมเปญ ลาวฝ่ายขวาจึงจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยมีเจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
บก.คท.จึงย้ายกองบังคับการจากเมืองสุวรรณเขตไปตั้งที่กรุงเวียงจันทน์ในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๐๔ ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนนายพลพูมีทำการกวาดล้างกำลังของร้อยเอกกองแล และเสริมสร้างความมั่นคงให้กับรัฐบาลของเจ้าบุญอุ้มโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ฝ่ายไทยยังได้จัดเครื่องบินฝึกแบบ AT-6 จำนวน ๖ เครื่อง พร้อมนักบินไทย ไปร่วมปฏิบัติการ กับจัดชุดศัลยกรรมเคลื่อนที่และชุดวิทยุกระจายเสียงเคลื่อนที่ไปสนับสนุนเพิ่มขึ้น ร้อยเอกกองแลซึ่งถอย
ออกไปจากกรุงเวียงจันทน์ ได้นำกำลังไปเข้าสมทบกับขบวนการประเทศลาวและเวียดมินห์ที่ทุ่งไหหิน ทำการต่อสู้กับลาวฝ่ายขวา

ต่อมาในวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๔ เจ้าสุวรรณภูมาได้เดินทางจากกัมพูชากลับลาว จัดตั้งรัฐบาลลาวฝ่ายเป็นกลางขึ้นที่แก่งไก่ แขวงเชียงขวาง บก.คท.จึงต้องเพิ่มภารกิจหลักขึ้นอีกประการหนึ่ง คือ สนับสนุนการจัดตั้งกองโจรแม้วในบังคับบัญชาของ พลตรีวังเปา ดำเนินการรบแบบกองโจรในพื้นที่ทุ่งไหหิน เชียงขวาง และซำเหนือ

ปลายปี พ.ศ.๒๕๐๔ พลตรี จำเนียร พงศ์ไพโรจน์ (หัวหน้าจักร) ได้รับคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่และกลับหน่วยต้นสังกัด พันเอก จวน วรรณรัตน์ (หัวหน้านพ) จึงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้า บก.คท. แทน
ขณะที่กองบังคับการยังคงตั้งอยู่ในกรุงเวียงจันทน์เช่นเดิม

หลังการประชุมที่เจนีวา เมื่อแน่ใจแล้วว่าข้อตกลงเจนีวาบรรลุผลทำให้ลาวจัดตั้งรัฐบาลผส บก.คท.จึงย้ายมาตั้งอยู่ที่หวัดหนองคาย เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๕ แล้วเปลี่ยนใช้ชื่อเป็น “บก.๓๓๓” เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๕

ภารกิจหลักของ บก.๓๓๓ คือ ให้การสนับสนุนกองโจรม้งของ พลตรี วังเปา และสนับสนุน พลตรีภูมีซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลผสมของเจ้าสุวรรณภูมา

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ พันเอก จวน วรรณรัตน์ (หัวหน้านพ) ได้รับคำสั่งให้กลับหน่วยต้นสังกัด พันเอก ธงชัย นิพิธสุขการ (หัวหน้าพินิจ) ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้า บก.คท.แทน

บก. ๓๓๓ ได้ย้ายจากจังหวัดหนองคายไปตั้งที่จังหวัดอุดรธานี ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ จนสิ้นสุดสงคราม

ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๐๗ เนื่องด้วยฝ่ายขบวนการประเทศลาวไม่ให้ความร่วมมือ และคอยขัดขวางการทำงานของรัฐบาลผสมที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อตกลงเจนีวา พ.ศ.๒๕๐๕ ตลอดมา เจ้าสุวรรณภูมาจึงเริ่มหันเข้าร่วมกับฝ่ายโลกเสรีมากขึ้น และได้แสดงท่าทีโดยแน่ชัดถึงความตั้งใจเด็ดเดี่ยวในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ฝ่ายไทยจึงได้ส่งนักบินสำหรับเครื่องบินแบบ ที-๒๘ จำนวน ๒๐ นาย ไปปฏิบัติการในลาวเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลลาว เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๐๗

วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ บก.๓๓๓ ได้แปรสภาพเป็น “หน่วยผสม ๓๓๓” โดยมีอัตราการจัดร่วมระหว่างไทยและสหรัฐฯเช่นเดิม กับจัดกองร้อยทหารปืนใหญ่เพิ่มเติมกำลัง (หน่วย SR : SUNRISE) ไป
ช่วยกองทัพแห่งชาติลาว ป้องกันเมืองสุย เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๐๗ โดยมี พันเอกธวัชชัย นาควานิช (หัวหน้าวิน) เป็นหัวหน้า และ ร้อยเอก วิศิษย์ อาจคุ้มวงษ์ (หัวหน้าคเชนทร์) ผู้ช่วยนายทหารติดต่อ เป็น
รองหัวหน้า

วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๗ พันเอก ธงชัย นิพิธสุขการ (หัวหน้าพินิจ) ได้รับคำสั่งให้พ้นจากหน้าที่และกลับหน่วยต้นสังกัด
พันเอก วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ (หัวหน้าเทพ) ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าหน่วยผสม ๓๓๓ พันเอกธวัชชัย นาควานิช (หัวหน้าวิน) เป็นรอง และพันเอก ธนดิตถ์ สุทธิเทศ (หัวหน้าทน) เป็นผู้ช่วยตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๐๘

พันเอก วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๘ จบการศึกษาโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบกรุ่นที่ ๘ หมายเลขประจำตัว ๓๖๒ (หลัง ฯพณฯ พลเอก เปรม ตินสูลานนท์ ๓ รุ่น) รับราชการในเหล่าทหารช่าง จนจบการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ใน พ.ศ.๒๔๙๘ แล้วไปศึกษาต่อโรงเรียนเสนาธิการทหารบกสหรัฐในปี พ.ศ.๒๕๐๖ จากนั้นก็กลับมารับราชการในกรมยุทธการทหารบก ขณะที่ พลเอก สายหยุด เกิดผล เป็นเจ้ากรมยุทธการทหารบก และมีบทบาทอย่างมากในปฏิบัติการสงครามลับในลาวขณะนั้น

พลเอก สายหยุด เกิดผล ได้เล่าถึงความเป็นมาของ บก.ผสม ๓๓๓ และการเลือก พันเอก วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์เข้ารับผิดชอบหน่วยงานลับนี้ไว้ใน “ชิวิตนี้มีค่ายิ่ง” ดังนี้

“สำหรับฝ่ายปฏิบัติการในสนามนั้น ต่อมาข้าพเจ้าได้เสนอให้จัดตั้ง “บก. ๓๓๓” ขึ้นเป็น บก.ควบคุมหน่วยปฏิบัติการในสนาม ซึ่งก่อนที่จะมีการจัดตั้ง บก.๓๓๓ นั้นมีหน่วยข่าวกรองทหารและ ตชด.ไปปฏิบัติการในลาวอยู่ก่อนแล้ว แต่ต่างคนต่างทำ ส่วนกำลังที่อยู่ภายใต้ บก.๓๓๓ คือ “กองกำลัง ๓๓๓” นี้ถูกเรียกว่า “บก.ผสม ๓๓๓” และ “กองกำลังผสม ๓๓๓”

ตำแหน่งหัวหน้า บก.ที่ข้าพเจ้าจำต้องพิจารณาและเลือกเฟ้นต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ เสียสละ และสมัครใจในการลาออกเป็นอาสาสมัคร ทั้งต้องได้รับความเชื่อถือจากหน่วยต่างๆที่ปฏิบัติการอยู่ในสนาม คนแรกที่
ข้าพเจ้านึกถึงคือ “จวน วรรณรัตน์” เพราะข้าพเจ้าเห็นความสามารถในการรบที่พบในสงครามเกาหลีมาด้วยกัน
คนต่อมาคือ “ธงชัย พิพิธสุขการ” ซึ่งแม้ว่าจะมาจากนักเรียนนายร้อยสำรอง แต่จากการที่ได้ทำงานด้วยกันที่ศูนย์การทหารราบ ลพบุรี ในขณะที่ข้าพเจ้าเป็นเสนาธิการ เห็นว่าธงชัยมีความคิดก้าวหน้าทางการเมือง จบจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ข้าพเจ้าจึงได้ติดต่อให้ไปทำหน้าที่แทนจวนเมื่อครบวาระ

และอีกคนที่นึกถึงคือ “วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์” หรือ “เทพ” ทำงานอยู่ที่กรมยุทธการทหารบกซึ่งข้าพเจ้าเป็นเจ้ากรมอยู่และเพิ่งจบมาจากสหรัฐอเมริกา จึงขอให้ไปทำหน้าที่นี้โดยตั้งชื่อรหัสว่า“เทพ”ตามที่วิฑูรย์ขอร้อง”


พลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ในเครื่องแบบ "พลตำรวจเอก"



“ถึงเวลาของราชาแห่งสนามรบ : ศึกเมืองสุย”

........เมื่อดำเนินการยิงปืนใหญ่หมู่ 2 ไปได้ประมาณ 10 นาทีก็ถูกข้าศึกยิงปืนใหญ่ตอบโต้มาราวห่าฝนทราบภายหลังว่าเป็นกองพันหรืออาจหลายกองพัน........

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อครั้งที่นายพลวังเปาถูกรุกไล่จากลาวฝ่ายซ้ายและกองทัพเวียดนามเหนือจนเสียที่มั่นในทุ่งไหหินนั้น ประสบการณ์การรบได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของปืนใหญ่สนาม ซึ่งนายพลวังเปาไม่สามารถต้านทานได้ การรบครั้งใหม่นี้ ซีไอเอ.และไทยจึงเห็นความจำเป็นของ
การเพิ่มอำนาจกำลังรบด้านปืนใหญ่สนามให้กับฝ่ายวังเปาซี่งยังคงเกาะติดพื้นที่ทุ่งไหหินและรอโอกาสที่จะรุกกลับแย่งชิงพื้นที่คืนจากลาวฝ่ายซ้ายและกองทัพเวียดนามเหนือ
พื้นที่สำคัญที่ซีไอเอ.และไทยมีความเห็นร่วมกันที่จะต้องยึดรักษาไว้ให้ได้เพื่อนำไปสู่การรุกกลับสู่ทุ่งไหหินคือ
“เมืองสุย”

เมืองสุยเป็น “ปมคมนาคม” เนื่องจากเป็นชุมทางถนนหมายเลข 13 ในทิศทางเหนือ-ใต้ กับถนนหมายเลข 7 ทางตะวันออก ทำให้เมืองสุยกลายเป็นจุดควบคุมการติดต่อระหว่างเมืองหลวงพระบาง- เมืองกาสี- เมืองวังเวียง-นครเวียงจันทน์ กับเมืองศาลาภูขุน- ทุ่งไหหิน- โพนสวรรค์- เชียงขวาง- หนองเป็ด-บ้านบาน-หนองเพชร และเวียดนามเหนือทางตะวันออก

ถึงแม้เจ้าสุวรรณภูมาฝ่ายเป็นกลางซึ่งตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเชียงขวางจะเอนเอียงมาทางลาวฝ่ายขวาแล้วก็ตาม แต่ลาวฝ่ายซ้ายก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในเขตเชียงขวางมายาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ 2496 จึงอาจจะแทรกซึมจากทางตะวันออกเข้ายึดเมืองสุย เมื่อได้เมืองสุยก็จะยึดเมืองภูขุนได้ และหากลาวฝ่ายซ้ายสามารถยึดเมืองภูขุนได้จะเป็นการตัดเส้นทางคมนาคมและการติดต่อระหว่างเมืองหลวงพระบางกับนครเวียงจันทน์ อันจะเกื้อกูลการรุกจากเวียดนามเหนือเป็นอย่างดี ซึ่งลาวฝ่ายขวาถือว่าจะเป็นการปราชัยทางยุทธศาสตร์ทหารและยุทธศาสตร์การเมือง
ดังนั้นจึงต้องรักษาเมืองสุยแห่งนี้ไว้ให้จงได้

29 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นผู้บัญชาการทหารบก สั่งจัดกำลังทหารปืนใหญ่ 1 กองร้อยเพิ่มเติมกำลัง เพื่อสนับสนุนฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมา...

30 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ผู้แทนรัฐบาลฝ่ายเป็นกลางของเจ้าสุวรรณภูมาและเจ้าหน้าที่จากส่วนสนับสนุนกองทัพบกไทยได้ร่วมหารือตกลงซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติ จากนั้นได้จัดส่งนายทหารจาก บก. 333 จำนวน 3 นายไปยังสนามบินเมืองสุย

1-3 กรกฎาคม พ.ศ. 2507 นายทหารจาก บก.333 ทำการลาดตระเวนตรวจภูมิประเทศและเลือกที่ตั้งต่างๆเตรียมไว้สำหรับกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่จะเดินทางมาปฏิบัติการ
ที่ตั้งยิงได้เลือกเอาเนินทางขวาของถนนหมายเลข 7 หันไปทางตะวันออกหรือทางทุ่งไหหิน
ที่บังคับการกองร้อยและส่วนสนับสนุนต่างๆได้เลือกเอาที่บ้านค่ายซึ่งอยู่ห่างเมืองสุยไปทางตะวันออกประมาณ 4-5 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากที่ตั้งยิงประมาณ 4-5 กิโลเมตรเช่นกัน
มีพื้นที่ว่างเป็นที่ขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์ ห่างจากสนามบินเมืองสุยประมาณ 5-6 กิโลเมตร

“หัวหน้าวิน” (พันเอก ธวัชชัย นาควานิช) หัวหน้าคณะนายทหารจาก บก.333 ได้บันทึกประสบการณ์ของตัวท่าน ดังปรากฏใน “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว” ของ “ภูสิน สินภูเทิง” ดังนี้...

“ เครื่องบินมาลงตอนประมาณบ่ายกี่โมงจำไม่ได้แล้ว มีทั้ง C-46 และ C-123 ทยอยลงมามีทั้งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ปะปนกันลงมาขวักไขว่สับสนไปหมด ฝนก็ตก
กำลังส่วนแรกที่มาลงนี้เป็นส่วนล่วงหน้า หมวดระวังป้องกัน ผู้บังคับหมู่ปืน รวมแล้วก็ประมาณไม่เกิน 50 คน ที่ตลกที่สุดก็คือแทบจะไม่รู้ว่าเป็นทหารชาติไหนเพราะแต่งตัวมาแปลกมาก สวมหมวกแก๊ปทรงอ่อนสีเขียวนุ่งกางเกงสีเขียว แต่ดันสวมเสื้อสีกากี รองเท้าไอ้โอ๊บ ทหารลาวก็ไม่ใช่ ทหารไทยก็ไม่เชิง เครื่องหมายก็ไม่มี กว่าจะหาตัวผู้บังคับกองร้อย
พบก็เล่นเอาเหนื่อย

ทุกคนก็สนุกๆกันดีเพราะยังใหม่อยู่แล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เขาเอาตัวมาลงไว้ที่เมืองไหนก็ไม่รู้ ความไม่รู้นี่ก็ดีไปอย่างคือไม่กลัว ผมแนะนำตัวว่าเป็นใคร มีหน้าที่อะไรที่นี่ ผู้บังคับกองร้อย ร้อยเอก ก็ทำท่างงๆ อ้าว...งงก็งงกัน ต่อมาเลยตั้งชื่อให้เสียใหม่เลยว่า “หัวหน้าศักดิ์”(พันตรี วิวัฒน์ โรจนะยานนท์ “หัวหน้าศักดิ์” ผู้บังคับกองร้อย เอสอาร์ 1 ระหว่าง 4 กรกฎาคม 2507 - 1 มีนาคม 2508)
เมื่อรวบรวมข้าวของและผู้คนได้เรียบร้อยแล้ว ผมก็นำขบวนไปบ้านค่ายซึ่งจะเป็นที่พักของเราต่อไป

พอไปถึงผมก็จัดสรรแบ่งเขตพื้นที่ให้แต่ละพวก แต่ละหมู่ แต่ละเหล่า (เขียนเอาสนุกนะครับ)ฝนตกก็ไม่หาย เปียกปอนไปตลอดทั้งบ่าย พวกกางเต็นท์เล็กสำหรับนอน 2 คนก็ทำไป เย็นนี้ฝ่ายเป็นกลางเอาข้าวเหนียวหุงแล้วมาช่วยกันตายไป 1 มื้อ ผมก็อพยพจากฝ่ายเป็นกลางที่หนองตั้ง หลังจากขอบคุณที่เขาเอื้อเฟื้อให้อยู่มาหลายคืนด้วยความทรมานทางใจ มาทรมานทางกายกับพวกเราที่บ้านค่ายดีกว่า มันไม่พร้อมไม่สมบูรณ์ก็ช่าง กลางคืนก็ใช้เทียนไขงึมงำกันไป ทหารก็นอนเต้นท์เล็กนอน 2 คน ผมก็ได้เต็นท์ใหญ่มีเตียงผ้าใบนอนก็สบายไป
คืนวันที่ 4 ก.ค. 07 ผ่านไปด้วยความฉุกละหุกพิลึกดีพิลึก

ครับ ธรรมชาติของทหารประการหนึ่งคือ การดัดแปลงภูมิประเทศอยู่ตลอดเวลา เมื่อผ่านคืนแห่งความฉุกละหุกไปได้แล้ว วันรุ่งขึ้นท่านก็เริ่มดัดแปลงภูมิประเทศกัน

ในระหว่างที่ตัวปืนใหญ่ยังไม่มา ก็ส่งกำลังพลหมู่ปืนไปเตรียมทำหลุมวางปืน บังเกอร์กระสุน ศูนย์อำนายการยิง ถากถางสิ่งจำเป็นที่กีดขวาง หมวดป้องกันก็ไปวางแนวป้องกัน ทิศทางยิง ที่ตั้งอาวุธกล อาวุธหนัก วางแผนทุกอย่างที่จะป้องกันที่ตั้งยิง”

ในส่วนของกองร้อย เอสอาร์ – 1 รองผู้บังคับกองร้อย ร้อยโท เกรียงไกร นุชภักดี “สิงห์”ได้บันทึกความทรงจำไว้ใน “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว”ของ “ภูสิน สินภูเทิง”ดังนี้
“ เอสอาร์ - 1 เป็นหน่วยทหารปืนใหญ่หน่วยหนึ่ง เป็นหน่วยเฉพาะกิจถูกส่งไปปฏิบัติการรบในประเทศที่ 3 เมื่อปี 2507 ปฏิบัติการเป็นเวลา 7 เดือนก็เดินทางกลับประเทศไทย ดูอย่างผิวเผินก็ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าติดตามนอกจากการทำสงครามปืนใหญ่กับฝ่ายข้าศึก สามารถทำลายปืนใหญ่ข้าศึกได้จำนวน 18 กระบอก
ทหารในหน่วยนี้ไม่มีใครทราบว่า “SR” คืออะไร ได้แต่พูดกันว่ามาจากคำว่า “ซันไรส์” บ้างก็ว่ามาจากคำว่า “สีวะรา”

ดังกล่าวแล้วว่าการปฏิบัติการของหน่วยนี้ดูผิวเผินและไม่มีอะไรน่าสนใจเท่าไหร่ เมื่อปฏิบัติการครบ 7 เดือนก็กลับประเทศไทย หน่วยเหนือก็ส่งหน่วย เอสอาร์-2 ไปผลัดเปลี่ยนและมีการผลัดเปลี่ยนกันทุกปีจนถึงหน่วยสุดท้ายคือ เอสอาร์-9 ต่อไปก็เป็นชื่ออื่น

รอง ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์-1 ชื่อว่า “สิงห์” นายทหารทุกนายมีชื่ออุปโลกน์กันทุกคน เพราะเป็นการปฏิบัติการลับในประเทศที่ 3
สิงห์เป็นนายทหารเมื่อปี 2505 เมื่อสำเร็จแล้วก็ไปเข้ารับการศึกษาหลักสูตรผู้บังคับหมวดตามเหล่าที่ศูนย์การทหารเหล่าของตนแล้วก็มีการเลือกหน่วยที่จะไปรับราชการ สิงห์เลือกไปรับราชการที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาในตำแหน่ง “ผู้ตรวจการหน้าปืนใหญ่”

สิงห์ได้รับคำสั่งให้เป็นผู้ฝึกทหารใหม่ ฝึกภาคกองร้อยและภาคกองพันทหารปืนใหญ่ ในตำแหน่งผู้ตรวจการหน้าปืนใหญ่จนผ่านการฝึกไปได้ 1-2 ครั้ง

วันหนึ่งขณะที่สิงห์นั่งอยู่ที่กองร้อย (กองร้อยที่ 3) ได้เห็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ต่างโดยเดินผ่านหน้ากองร้อยด้วยหน้าตาที่เคร่งเครียดเข้าไปพบผู้บังคับกองพัน ทราบภายหลังว่าได้เข้าพบแม่ทัพเพื่อขอให้จัดกำลังทหาร 1 กองร้อยปืนใหญ่ ปืนใหญ่ 6 กระบอกหรือ 6 หมู่โดยด่วนที่สุด ไปปฏิบัติการ ณประเทศที่ 3 เพราะประเทศที่ 3 กำลังเพลี่ยงพล้ำในการรบและจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างสำคัญต่อไป

ในตอนบ่ายวันเดียวกัน ผู้บังคับกองร้อยของสิงห์ได้มาบอกว่า ผู้บังคับกองพันได้ประชุมผู้บังคับกองร้อยทุกกองร้อยแล้วตกลงกันว่า จะสนธิกำลังจากทุกกองร้อยของกองพัน และบอกกับสิงห์ว่า
“คุณเป็นรองผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์”

คืนวันนั้นสิงห์นอนไม่ค่อยหลับ วาดภาพว่าจะไปรบกันอย่างไร เพราะยังใหม่เหลือเกิน ผ่านการฝึกภาคกองพันเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น

ทุกคนถูกกักบริเวณภายในกองพันไม่ให้ออกไปนอกกองพันหรือนอนที่บ้าน ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้นผู้บังคับการกรมผสม (ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของกองพันทหารปืนใหญ่ในยุคนั้น-ภูสิน) ได้เรียกทหารที่จะเดินทางไปร่วมทุกคนประชุมที่ห้องอาหารของกรมผสม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่กลางห้อง ท่านได้แจ้งภารกิจอีกครั้ง และให้ทหารทุกคนพนมมือต่อหน้าพระพุทธรูปและให้กล่าวตามว่า

“ การเดินทางไปรบครั้งนี้ถือว่าเป็นความลับสุดยอด หากข้าพเจ้าแพร่งพรายความลับให้ใครทราบไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่พี่น้องหรือลูกเมีย ขอให้ข้าพเจ้าเสียชีวิตในสนามไม่ได้กลับมาพบกันอีกเลย”

ในตอนเย็นมีการแจกจ่ายเสื้อผ้า อาวุธยุทโธปกรณ์ ผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ มอบหมายให้สิงห์ควบคุมการแจกจ่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ด้วยความที่ยังอ่อนหัดในเรื่องการบริหารงาน สิงห์ก็ใช้กำลังพลเพียง 2-3 คนเท่านั้น เช่น จ่ากองร้อย เสมียนกองร้อย ช่วยจ่ายสิ่งของอุปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องที่หนักมาก ถ้าหากบริหารงานเป็นก็สามารถให้กำลังพลคนอื่นอีกหลายคนช่วยกันได้ แต่อย่างไรก็ตามการแจกจ่ายก็เสร็จสิ้นตอนรุ่งสว่างของคืนนั้น

ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น กองพันได้จัดรถบรรทุกทหารที่จะไปรบไปขึ้นเครื่องบินบรรทุกกำลังพลที่สนามบินของกองทัพอากาศที่จังหวัดนครราชสีมา ทุกคนพากันงงๆว่าจะไปรบที่ประเทศใด รบกับใคร
เขาก็ไม่ตอบให้ทราบแต่อย่างใด

ตอนสายของวันนั้นเครื่องบินก็ถึงสนามบินของประเทศที่ 3 สิงห์สั่งให้นายสิบจำนวนหนึ่งถืออาวุธประจำกายเข้าประจำพื้นที่เป็นวงรอบ เป็นการป้องกันรอบตัว

ทันใดนั้นเองก็เห็นคนๆหนึ่งแต่งชุดพรางหนวดเฟิ้มเข้ามาและถามว่าใครเป็นหัวหน้าคุมมา แล้วบอกให้ทุกคนรีบขึ้นรถบรรทุกที่จะมารับ สิงห์ปฏิเสธทันที ผมไม่ทราบว่าคุณเป็นใคร ผมให้ทหารไปกับคุณไม่ได้ หากคุณพาทหารไปฆ่า ผมจะทำอย่างไร

เขาก็สั่นศีรษะและขับรถกลับไป หลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงก็เห็นนายทหารติดต่อกองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาซึ่งไม่ทราบว่าเขาเดินทางล่วงหน้ามาเมื่อไหร่ได้มารับคณะของสิงห์เดินทางต่อไป

ภูมิประเทศที่เดินทางเป็นเนินเขาเตี้ยๆสลับซับซ้อนล้อมรอบ เส้นทางแคบๆคดเคี้ยวไปมาแล้วก็ไปหยุด ณ บริเวณแห่งหนึ่ง ซ้ายมือเป็นที่ราบ ขวามือเป็นเนินเตี้ยๆ นายทหารติดต่อกองพันทหารปืนใหญ่ที่จังหวัดนครราชสีมาชี้มือให้ไปพักที่เป็นเนินเตี้ยๆขวามือ บอกว่าเตรียมเข้าที่พักแรม

ในคืนวันนั้น สิ่งแรกคือสำรวจที่พักแรม โดยเฉพาะรอบๆที่ตั้งและกำหนดจุดระวังป้องกันเพื่อจัดชุดระวังป้องกันรอบที่พักแรมประมาณ 7-8 ชุดก็บังเกิดความขลุกขลักขึ้นเพราะยังไม่ได้รับการแจกจ่ายโทรศัพท์ระหว่างจุด สิงห์จึงไปแสวงหาเชือกจากชาวบ้านหลายขด ปลายขดเชือกแต่ละคน
สิ้นสุดที่หัวหน้าชุดระวังป้องกัน ปลายเชือก 8 ขดอยู่ที่สิงห์ซึ่งพักอยู่ตรงกลางที่พักแรม
การติดต่อกันก็ใช้การกระตุกเชือก การส่งคนไปเปลี่ยนเวรก็ใช้การกระตุกเชือกให้ชุดระวังป้องกันที่ที่พักแรมทราบล่วงหน้า

ก็เป็นอุทาหรณ์ว่าการแจกยุทโธปกรณ์ให้แก่ทหารเพื่อออกรบ ต้องแจกจ่ายตามความเร่งด่วนมิใช่จ่ายอะไรก็จ่ายเรื่อยไป โทรศัพท์ซึ่งควรเป็นสิ่งแรกที่จ่ายก็ไม่จ่าย จึงเป็นเช่นนี้

วันรุ่งขึ้นคณะรองผู้บังคับกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ถูกพาไปยังที่ตั้งซึ่งอยู่ห่างจากที่พักแรมประมาณ 10 กม. ที่ตั้งอยู่บนเนินเตี้ยๆทางขวาของเส้นทาง ทางซ้ายก็เป็นเนินเตี้ยๆ
ด้วยจิตสำนึกของการป้องกันตัวอย่างแข็งแรง สิงห์จึงพาผู้บังคับหมู่ปืนไปเลือกที่ตั้งยิงปืนใหญ่แต่ละกระบอกบริเวณหลังเนิน ทหารปืนใหญ่ข้าศึกยิงมาจะได้ติดหน้าเนิน พ้นหน้าเนินกระสุนปืนใหญ่ข้าศึกก็จะลอยข้ามศีรษะไปยังพื้นที่หลังเนิน หมู่ปืนใหญ่อยู่ตรงกลาง นอกจากนี้สิงห์ยังไปเลือกที่ตั้งอื่นบริเวณหลังเนินทั้งสิ้น

หลังจากเลือกที่ตั้งต่างๆได้แล้ว สิงห์ก็ประชุมหัวหน้าชุดต่างๆสั่งว่าต้องขุดบังเกอร์ ขุดดินให้ดีที่สุดจะไม่เปิดการยิงเมื่อการดัดแปลงที่ตั้งยังไม่เรียบร้อยเป็นอันขาด

เนื่องจากไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับภูมิประเทศและข้าศึก สิงห์พยายามอย่างมากที่จะหาข่าวสารโดยได้สอบถามชาวบ้านบริเวณนั้น โดยเฉพาะขีดความสามารถในการยิงของข้าศึก ก็ได้ทราบว่าปืนใหญ่ข้าศึกมีขีดความสามารถสูง ยิงได้แม่นยำมาก จึงกำหนดการปฏิบัติไว้ในใจว่าต้องสร้างบังเกอร์ให้แข็งแรงมากที่สุด

ระหว่างการขุดบังเกอร์อยู่นั้น หัวหน้านายทหารติดต่อของสหรัฐซึ่งพวกเราเรียกว่า “จัสแมก”ได้เข้ามาดูที่ตั้งและสั่งให้เปิดการยิงในทันที สิงห์ปฏิเสธการยิงบอกเขาไปว่า ได้สั่งให้ทุกหมู่ปืนอย่ายิงจนกว่าการสร้างบังเกอร์ทุกแห่งจะเรียบร้อย เขาก็เดินทางกลับไป

อีกไม่นานทาง บก.ได้ติดต่อมาผู้ที่ติดต่อมาคือคนหนวดเฟิ้มที่มารับที่สนามบินดังที่เล่าให้ฟังตอนต้น เขาคือหัวหน้า บก. (พันเอก ธวัชชัย นาควานิช/บัญชร) เขาสั่งให้ยิงตามที่จัสแมกสั่ง สิงห์ไม่เต็มใจจะยิง แต่ก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง

ขณะนั้นบังเกอร์ของทุกแห่งยังไม่มีแห่งใดแล้วเสร็จ มีเสร็จอยู่แห่งเดียวคือ “ศูนย์อำนวยการ กองร้อยปืนใหญ่” ซึ่งอยู่กลางพื้นที่ มีต้นไม้ใหญ่อยู่เหนือศีรษะ สิงห์อึดอัดใจมากเพราะที่ตั้งข้าศึกก็ไม่ปรากฏขึ้น จึงสั่งให้ยิงหา “หลักฐานประณีต” ความจริงการยิงหาหลักฐานประณีตต้องมีพิกัดที่ตั้งยิง พิกัดที่หมาย (พิกัดทางแผนที่ทหาร) แต่ก็ไม่มีอะไรสักอย่าง(“การยิงหาหลักฐานประณีต”เป็นวิธีการยิงพิเศษวิธีหนึ่งของทหารปืนใหญ่ที่จะทำให้ยิงได้แม่นที่สุดและ “พิกัดทางแผนที่ทหาร” หมายถึงต้องทราบพิกัดทั้งสองอย่างที่กล่าวอย่างถูกต้อง/ภูสิน)

เมื่อดำเนินการยิงปืนใหญ่หมู่ 2 ไปได้ประมาณ 10 นาทีก็ถูกข้าศึกยิงปืนใหญ่ตอบโต้มาราวห่าฝน ทราบภายหลังว่าเป็นกองพันหรืออาจหลายกองพัน กำลังพลของกองร้อยเอสอาร์ หมอบลงกับพื้นดินกันทุกคน บังเกอร์ซึ่งขุดเสร็จแล้วได้มีกำลังพลจากที่อื่นวิ่งเข้าไปสะสมในบังเกอร์จนเต็มบังเกอร์
สิงห์ก็ถูกทับอยู่ภายในบังเกอร์ด้วย

ขณะนั้นปืนใหญ่ของกองร้อยเอส
อาร์ได้หยุดทำการยิงโดยอัตโนมัติ เพราะสายโทรศัพท์ที่ใช้สั่งการยิงจาก ศอย.ไปยังหมู่ปืนซึ่งวางทอดไปตามพื้นดินถูกสะเก็ดระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ข้าศึกตัดขาดหมดทุกเส้น

ข้าศึกทำการยิงจนหนำใจ สิงห์สำรวจความเสียหายปรากฏว่าทหารทุกคนปลอดภัย มีบาดเจ็บถูกสะเก็ดระเบิดที่ไหล่เพียงคนเดียว สิงห์ได้โทรศัพท์ให้หัวหน้า บก.ทราบและขออนุญาตไม่ยิงจนกว่าการขุดบังเกอร์ที่ตั้งจะเรียบร้อย
หัวหน้า บก.อนุมัติ

ระหว่างนั้นผู้ตรวจการหน้าปืนใหญ่ได้พูดกับหัวหน้า บก.ขออนุมัติกลับไปยังส่วนหลัง (บก.) โดยกล่าวว่า กองร้อย ป.สลายแล้ว เพราะเขาเห็นว่าเมื่อปืนใหญ่ข้าศึกยิงที่ตั้งของฝ่ายเราอย่างหนักนั้น
กลุ่มควันตำบลระเบิดได้พวยพุ่งเหนือที่ตั้ง ร้อย ป.เอสอาร์ อย่างมากมาย

สิงห์ได้ยินคำพูดนี้ถึงหัวหน้า บก.เอสอาร์ จึงพูดกับนายทหารตรวจการณ์หน้าว่า ให้ประจำที่อยู่ต่อไป...
ร้อย ป.เอสอาร์ ยังไม่มีใครเป็นอะไร ขณะนี้กำลังขุดบังเกอร์อย่างหนัก.

กองร้อยปืนใหญ่ เอสอาร์-1 จะต้องทำงานหนักและเสี่ยงตายต่อไปเพื่อป้องกันเมืองสุย.



“กองร้อย เอสอาร์-1 : ข้าคือราชาแห่งสนามรบ”

.......ความเสียหายของข้าศึกมากมายมหาศาล ปืนใหญ่ข้าศึกถูกทำลาย 14 กระบอก อีก 4 กระบอกถูกทำลายเพราะการยิงรบกวนและขัดขวางของฝ่ายเรา กำลังพลบาดเจ็บล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก…..

“เอาคืน”
“สิงห์”บันทึกเหตุการณ์ต่อไป...
“ข้าศึกคงเข้าใจว่ากองร้อย ป.เอสอาร์ เสียหายอย่างหนักอาจละลายจากการยิงของเขาจึงได้ประมาทชะล่าใจมีการเคลื่อนไหวต่างๆอยู่ในพื้นที่อย่างมากมาย ผู้ตรวจการหน้าของฝ่ายเราเห็นพฤติกรรมนี้โดยตลอดได้พูดวิทยุกับสิงห์ว่าเห็นพฤติกรรมของข้าศึกโดยตลอด สิงห์บอกให้ผู้ตรวจการหน้ากำหนดพิกัดของทุกพฤติกรรมของข้าศึกโดยละเอียดและส่งให้กองร้อย เอสอาร์ ทราบพิกัด

สิงห์สั่งให้เจ้าหน้าที่หาหลักฐานการยิงไว้ทุกพิกัดแล้วส่งหลักฐานการยิงไปยังทุกหมู่ปืน จะทำการยิงพร้อมกันทุกกระบอก สิงห์เห็นว่าถ้ายิงพร้อมกันทุกกระบอกในครั้งหนึ่งจะก่อให้เกิดพื้นที่ของความเสียหายในการยิงเป็นพื้นที่กว้าง 50 เมตร( 1 ตำบลระเบิด) และยาว 180 เมตร (หมู่ปืนตั้งห่างกัน 20 เมตร) เรียกว่า 1 ฉากการยิง เราสร้างฉากการยิง 3 ฉาก รวมเป็นพื้นที่แห่งความเสียหายเท่ากับ 3 x 50 x 180 เท่ากับ 27,000 ตารางเมตร ในพื้นที่เป้าหมายข้าศึก จะมีพื้นที่ประกอบด้วย 3 ฉากการยิงมากมายหลายฉากครอบคลุมพื้นที่มหาศาล

ในที่สุดก็ถึงเวลายิงโจมตีของฝ่ายเรา สิงห์ได้ขออนุมัติ บก. ยิงในเวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ได้ออกคำสั่งยิงไปยังหมู่ปืนว่า “ยิง” เท่านั้น เพราะหลักฐานการยิง หมู่ปืนต่างๆได้รับไว้เรียบร้อยแล้ว การยิงได้ดำเนินต่อไปจนถึงค่ำและดำเนินต่อไปข้ามคืนและดำเนินต่อไปในวันรุ่งขึ้นจึงยุติการยิงในเวลาประมาณ 13.00 น.

ตลอดเวลาการยิงได้รับการยิงโต้ตอบจากข้าศึกประปรายแต่กองร้อยไม่ได้เสียหายเพราะที่ตั้งแข็งแรงดีแล้ว
ในวันต่อมา ได้รับข่าวความเสียหายของข้าศึกมากมายมหาศาล ปืนใหญ่ข้าศึกถูกทำลาย 14 กระบอก อีก 4 กระบอกถูกทำลายเพราะการยิงรบกวนและขัดขวางของฝ่ายเรา กำลังพลบาดเจ็บล้มตายอีกเป็นจำนวนมาก

บก.ได้ทำการขยายผลทันที สั่งให้กองร้อยปืนใหญ่ เอสอาร์ เคลื่อนที่เข้าที่ตั้งยิงไปยังที่ตั้งยิงข้างหน้าห่างจากที่ตั้งยิงเดิม 10 กม. สิงห์นำ ผบ.หมู่ปืน 6 คน พร้อมพลประจำปืน บรรทุกรถพร้อมเครื่องมือขุดดินไปเลือกที่ตั้งยิง ทำบังเกอร์หลุมปืน และบังเกอร์ ศอย. ในตอนเช้า ทิ้ง รอง ผบ.หมู่ปืนไว้กับหมู่ปืน
สิงห์ได้นำลูกน้องไปทำบังเกอร์ 2 วัน เช้าของวันที่ 3 สิงห์ก็นำลูกน้องไปอีก ก็ต้องเสียเวลาต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมกองร้อย ป. และสนทนากันนานพอสมควร”

“ตาต่อตา ปืนต่อปืน”
“ ทันใดนั้นก็ได้ยินเสียงระเบิดของกระสุนปืนใหญ่ข้างหน้าอย่างโกลาหล เมื่อสงบลง สิงห์สั่งให้ ผบ.หมู่ ป. 1-2 คนลอบเดินทางไปยังที่ตั้งยิงใหม่ข้างหน้า ว่ามีอะไรเกิดขึ้น ผบ.หมู่ ป. กลับมารายงานว่า ที่ตั้งยิงข้างหน้าถูกกระสุนปืนใหญ่ข้าศึกทำลายเสียหายมาก ไม่สามารถใช้ทำการยิงได้อีกต่อไป สิงห์ได้รายงานเหตุการณ์ให้ บก.ทราบ สั่งให้ไม่ต้องเปลี่ยนที่ตั้งยิงใหม่ ให้อยู่ที่เดิม และดัดแปลงที่ตั้งให้มั่นคงแข็งแรงขึ้น

เหตุการณ์ต่อไป กองร้อยเอสอาร์ได้ถูกปืนใหญ่ข้าศึกระดมยิงทุกวัน แต่ข้าศึกได้เปลี่ยนที่ตั้งยิงเสมอมิให้ฝ่ายเราทราบที่ตั้ง ป.ข้าศึกได้ โดยใช้ ป.ระยะยิงไกลกว่า ปบค.105 ของไทย นอกจากนี้ยังใช้รถถังเข้ามายิงใกล้ๆ บางครั้งก็เข้ามายิงใกล้มาก สิงห์ได้สอบถามเกี่ยวกับขีดความสามารถรถถัง ก็ทราบว่ารถถังข้าศึกมีขีดความสามารถสูง สามารถปีนลาดที่สูงชันได้และแล่นไปในน้ำได้

สิงห์ได้พิจารณาเห็นว่ารถถังข้าศึกมีความสามารถสูงเช่นนี้จะสามารถเคลื่อนที่เข้าประชิดที่ตั้งยิงของฝ่ายเราได้ สามารถเข้ามาจ่อยิงปืนใหญ่ของฝ่ายเราได้ จึงได้รายงานไปยัง บก.ขอรับการสนับสนุนทุ่นระเบิดดักรถถังจำนวนหนึ่ง แต่หน่วยเหนือไม่ให้การสนับสนุน คงไม่เชื่อว่ารถถังข้าศึกจะมีขีดความสามารถดังกล่าว

การไม่ได้รับการสนับสนุนทุ่นระเบิดดักรถถัง ทำให้เอสอาร์-8 ถูกรถถังข้าศึกบุกเข้าถึงที่ตั้ง ร้อย ป. ในอีก 5 ปีต่อมา

สิงห์ได้ขอรับการสนับสนุน ปกค. 155 ม.ม.จากหน่วยเหนือ เนื่องจากปืนใหญ่ที่มีอยู่ (ปบค. 105 ม.ม.) ยิงไม่ถึงปืนใหญ่ข้าศึก หน่วยเหนือจึงอนุมัติให้การสนับสนุน ปกค. 155 ม.ม. ยิงได้ไกล 14,600 เมตรจำนวน 4 กระบอก บก.สั่งให้สิงห์ไปหาที่ตั้งยิงให้แก่ ปกค.ใหม่ สิงห์ก็ไปเลือกที่ตั้งยิงบริเวณพื้นที่ด้านซ้ายของที่ตั้ง ปบค. 105 ม.ม.ซึ่งเป็นเนินเขาเตี้ยๆ เลือกที่ตั้ง ปกค. 155 ม.ม. แต่ละกระบอกบริเวณหลังเนินเช่นเคย แต่ระยะห่างระหว่างหมู่ปืนน้อยกว่าของ ปบค. 105 เนื่องจากพื้นที่จำกัด

มีเหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการนำ ปกค. 155 ม.ม. เข้าที่ตั้งยิงใหม่ สิงห์เข้าควบคุมอยู่ที่หมู่ 1 พลประจำปืนก็ได้ดำเนินการขุดบังเกอร์ ป. และพลประจำปืนลดลงไประดับคอ (เมื่อนั่งคุกเข่า) ทันใดนั้นผู้ตรวจการณ์หน้าก็ส่งข่าวให้ทราบว่า ข้าศึกได้ยิงปืนใหญ่มาแล้ว กระสุนนัดแรกยิงมาติดด้านหน้าของเนิน นัดต่อมาก็ลงด้านหลังและใกล้เข้ามาจากทางด้านหลังเรื่อยๆ สิงห์ได้ยินเสียงหวีดทุกนัด ในที่สุดก็ได้เผชิญหน้ากับนัดสำคัญได้ยินเสียงหวีดใกล้มาก สิงห์เห็นว่าจะไม่ได้การ สิงห์พร้อมกับลูกน้องอีก 1 คนกระโดดลงในหลุมและหมอบให้ต่ำที่สุด กระสุนตกลงหลังบังเกอร์ห่างจากที่หมอบอยู่ ประมาณ 10 เมตร แต่ไม่เป็นอันตรายเพราะบังเกอร์ได้กันสะเก็ดระเบิดเอาไว้

กำลังพลคนอื่นได้รายงานให้ทราบว่ากระสุนของข้าศึกได้ตกลงหลังของสิงห์ หัวหน้า บก.ก็ได้โทรศัพท์สอบถามสิงห์ด้วยความห่วงใยว่า เป็นอันตรายอย่างไรหรือไม่ สิงห์ก็แจ้งไปว่าไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด

ในที่สุดการเข้าประจำที่ตั้งยิงของหน่วยยิงใหม่คือ ปกค. 155 จำนวน 4 หมู่ก็สำเร็จเรียบร้อย จะเริ่มเปิดการยิงครั้งแรกก็ได้รับรายงานจากนายสิบหัวหน้าส่วนยิง ปกค. 155 ว่าไม่มีเครื่องมือยิงเครื่องมือวัดระยะและบรรทัดตารางยิง สิงห์ได้รายงานไปยัง บก.ขอให้ส่งเครื่องมือการยิงไปให้โดยด่วน

ระหว่างที่รอคอยเครื่องมือการยิงอยู่นั้น หน่วยยิงทั้งสองคือ ปบค. 105 และปกค. 155 ถูกปืนใหญ่ข้าศึกยิงมาจากระยะที่ปืนใหญ่ฝ่ายเรายิงไม่ถึง แต่ ปกค. 155 ยิงถึง สิงห์จึงได้ริเริ่มต่อระยะยิงโดยใช้บรรทัดวัดระยะของ ปบค. 105 ทำขึ้นเอง (ทำจากไม้ไผ่) จนได้ระยะที่ ปกค. 155 ยิงได้ไกลที่สุด สำหรับมุมสูงที่จะสั่งไปยังหมู่ปืนนั้น สิงห์ได้ทำบรรทัดการยิงชั่วคราวขึ้น ทำจากไม้ไผ่เช่นเดียวกัน เทียบกับบรรทัดตารางยิงของ ปบค. 105 มม. (เอาสมุดตารางยิงของ ปบค. 105 เป็นหลักแล้วใช้เทียบบัญญัติไตรยางค์ 10 เมตรเท่ากับมุมสูงกี่มิลเลียม) แล้วก็เปิดการยิงตอบโต้ปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างดุเดือด จำไม่ได้ว่านานเท่าไร ฝรั่งจึงส่งเครื่องมือการยิงมาให้

ข้าศึกได้หยุดการยิงปืนใหญ่แล้วเคลื่อนย้ายไปข้างหลังจนพ้นระยะยิง ปกค. 155 ของฝ่ายเรา นานๆจึงลอบเข้ามายิงครั้งหนึ่ง แล้วรีบถอนปืนใหญ่ไปข้างหลังจนพ้นระยะปืนใหญ่ของเรา

เมื่อที่ตั้งยิง ปกค. 155 เสร็จเรียบร้อย สิงห์ก็ได้พักค้างคืนที่หน่วยยิง ปบค. 105 แต่ได้เดินทางไปเยี่ยมถามสารทุกข์สุขดิบทหารของ ปกค. 155 ทุกวัน

อยู่มาวันหนึ่ง สิงห์ออกจากที่ตั้ง ปบค.105 เพื่อไปที่ตั้ง ปกค. 155 เริ่มออกเดินทางอากาศแจ่มใสดี เมื่อเดินทางถึงหน้าที่ตั้งหน่วย ปกค.155 อากาศกลับมืดมิดลงทันที สิงห์ยังคงเดินทางไปเรื่อยๆ กำลังจะผ่านเข้าไปในหน่วย นึกอย่างไรไม่ทราบได้ส่งเสียงเข้าไปก่อนว่า “วันนี้มาเยี่ยมแล้วนะ” เมื่อเข้าไปถึงหน่วยก็ไปคุยกับทหารประจำศูนย์อำนวยการยิง ปกค. 155 สักครู่ก็มีนายสิบคนหนึ่งเข้ามาพบสิงห์ หน้าตาไม่ค่อยดี ถามสิงห์ว่าเพิ่งเข้ามาใช่ไหม สิงห์ตอบว่าใช่ เขาบอกว่ากำลังจะเหนี่ยวไกอยู่แล้ว เห็นคนเดินเข้ามาเป็นเงาๆ ถ้ายิงก็ตาย
“จบภารกิจ”
เมื่อการปฏิบัติผ่านไป 7 เดือนหน่วยเหนือได้ส่งหน่วยปืนใหญ่มาสับเปลี่ยนเรียกนามหน่วยว่า เอสอาร์-2 เป็นหน่วยมาจากเมืองหลวง โดยสนธิกำลังจากหน่วยปืนใหญ่หลายหน่วย

ในช่วงเวลาเหล่านั้นประเทศไทยได้ส่งทหารทุกเหล่าทัพเดินทางไปปฏิบัติการลับประเทศที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ในการรบนั้น ทหารไทยได้บาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก ได้ประกอบวีรกรรมไว้มากมาย แต่มิได้มีชื่อปรากฏเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เอสอาร์-1 ประกอบวีรกรรมและชื่อเสียงไว้พอสมควรแต่ไม่ปรากฏวีรกรรมที่เด่นชัด คนไทยไม่ค่อยทราบกันทั่วไปเพราะเป็นการปฏิบัติการลับ
เหตุการณ์ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์จริงมิได้แต่งขึ้นเพื่อให้บังเกิดความเพลิดเพลินตื่นเต้นแต่อย่างใด.
“สิงห์”

กองทัพบกได้จัดส่งกองร้อย เอสอาร์ ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อย เอสอาร์” รวม 9 รุ่น จาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ. 2514.

หมายเหตุ
‘ยิงหาหลักฐานประณีต” เป็นการยิงมิใช่หวังเพื่อทำลายที่หมายโดยตรง แต่เป็นเทคนิคเพื่อหาหลักฐานตัวแก้ไว้สำหรับการยิงครั้งต่อๆไปให้เกิดความรวดเร็วและแม่นยำสูงสุด

“การยิงรบกวนและขัดขวาง” เป็นการยิงเพื่อทำลายข้าศึก ต่อตำบลที่คาดว่าข้าศึกจะปรากฏตัว เช่น พื้นที่ๆคาดว่าข้าศึกจะรวมตัว เส้นทางเคลื่อนที่ แหล่งน้ำ ฯลฯ เป้าหมายได้จากการข่าว มิใช่การตรวจการณ์เห็นโดยตรง

“ปบค. 105” ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง กว้างปากลำกล้อง 105 ม.ม.ระยะยิง 11.5 ก.ม.
“ปกค. 155” ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้ง กว้างปากลำกล้อง 155 มม.ระยะยิง 14.6 ก.ม.
“มิลเลียม” องศาสำหรับการคำนวณในการยิงปืนใหญ่ โดยแบ่งย่อยจาก 360 องศา ให้ละเอียดขึ้นเป็น 6400 มิลเลียม

ปกค.155 มม.



“ทหารลาวฝ่ายเป็นกลาง”

.........พวกฝ่ายเป็นกลางยศน้อยๆ เขาบอกว่าตีไปทำไมกัน ไม่ได้ดีอะไรด้วย มีแต่ตายลูกเดียวถ้าทำกล้า สู้อยู่เฉยๆไปวันๆยังดีกว่า ไม่ตาย…..

นอกจากบันทึกของ “สิงห์” แล้ว ยังมีบันทึกการปฏิบัติของหน่วยรับการสนับสนุนคือหน่วยทหารของลาวฝ่ายเป็นกลางดังนี้

“การเข้าตีภูกูด ครั้งที่ 1”
เมื่อมีการยิงสนับสนุนจากกองร้อย เอสอาร์แล้ว ทหารลาวฝ่ายเป็นกลางจึงกำหนดแผนการรบว่าจะเข้าตีทหารลาวฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือในเดือนกรกฎาคม 2537 คือเดือนที่กองร้อยเอสอาร์ มาถึง อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าใน 18 กรกฎาคม 2507 ก่อนการเข้าตีจะเริ่มขึ้น หมู่ปืน ปบค. 105 มม.ของกองร้อย เอสอาร์ สามารถทำลาย ปบค. 105 มม. ของกระบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือได้ 2 กระบอก

การเข้าตีตามแผนกระทำระหว่าง 19 ถึง 27 กรกฎาคม 2507 ซึ่งกองร้อยเอสอาร์ก็ได้ยิงสนับสนุนการเข้าตีหน่วยทหารราบของฝ่ายเป็นกลางครั้งนี้อย่างเต็มที่ แต่ผลการเข้าตีไม่ประสบความสำเร็จตามแผน อย่างไรก็ตามใน 19 กรกฎาคม กองร้อยเอสอาร์ โดยหมู่ปืน ปกค. 155 มม.ก็สามารถยิงทำลาย ปบร. 85 มม. ของกระบวนการประเทศลาวและเวียดนามได้อีก 2 กระบอก

“การเข้าตีกภูกูดครั้งที่ 2”
กำหนดเข้าปฏิบัติการใน 5 - 9 สิงหาคม การเข้าตีครั้งนี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน เนื่องจากทหารลาวฝ่ายเป็นกลาง “แสดงเจตนาชัดเจนว่าเข้าไปก็ตายเปล่า สู้อยู่เฉยๆไม่ได้ สั่งเข้าตีก็หลบเข้าป่าเสีย กองร้อยเอสอาร์ก็ได้แต่ยิงและยิงเสียจนลำเลียงกระสุนกันแทบไม่ทัน” การยิงสนับสนุนของกองร้อยเอสอาร์เพื่อช่วยเหลือหน่วยทหารราบของฝ่ายเป็นกลางจึงเป็นไปอย่างไร้ความหมาย และไม่สามารถมั่นใจในผลลัพธ์
แต่กองร้อยเอสอาร์ก็ประสบความสำเร็จในการยิงทำลายอาวุธหนักของฝ่ายประเทศลาวและเวียดนามเหนือดังนี้
5 สิงหาคม หมู่ปืน ปกค. 155 มม. ทำลายรถถัง PT 76 ได้ 1 คัน
7 สิงหาคม หมู่ปืน ปบค. 105 มม. ทำลาย ปรส.57 ได้ 2 กระบอก และ หมู่ปืน ปกค. 155 มม. ก็ทำลาย ปบค. 105 มม.ได้อีก 2 กระบอก

จากความล้มเหลวถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ทหารฝ่ายเป็นกลางจึงขอให้จัดทีมครูฝึกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรบของทหารฝ่ายเป็นกลาง โดยจัดทีมครูฝึกให้เป็นส่วนเพิ่มเติมอยู่ในการควบคุมของกองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์

อย่างไรก็ตาม แม้ภารกิจเข้าตีภูกูดจะไม่สำเร็จทั้งสองครั้ง แต่กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ ก็ยังคงปฏิบัติภารกิจยิงต่อไปตามปกติ ทำให้สามารถทำลายอาวุธของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือเพิ่มเติมได้อีก ดังนี้
13 สิงหาคม การยิงของ ปบค.105 มม.ทำลาย ปตอ.37 มม. ได้ 2 กระบอก
ทางด้าน ปกค.155 มม.ก็สามารถทำลายเป้าหมายได้ดังนี้
7 กันยายน ทำลายรถบรรทุก 4 คัน
14 กันยายน ทำลาย ปบร.85 มม. 2 กระบอก
1 ตุลาคม ทำลาย ปบค.105 มม. 2 กระบอก
16 ตุลาคม ทำลาย ปบร.85 มม. 2 กระบอก

“การเข้าตีภูกูด ครั้งที่ 3”
เมื่อทหารฝ่ายเป็นกลางได้รับการฝึกจนเกิดความมั่นใจจากกองบัญชาการ จึงกำหนดการเข้าตีที่หมายภูกูดอีกเป็นครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 2 ถึง 11 ธันวาคม 07
นายทหารที่อยู่ในเหตุการณ์ท่านหนึ่งเล่าว่า...
“ เพื่อนปีนขึ้นเขาไปสักครึ่งเขาก็ปีนลง ไม่ขึ้นไป ทั้งๆที่กำลังของขบวนการประเทศลาวและเวียดนามข้างบนมีไม่กี่คน บางทีก็ออกนอกเส้นทางเสีย ไปนั่งสังเกตการดูตั้งแต่วันแรก วันที่ 2 เรื่อยไปก็เหมือนเดิมทุกวัน ก็ลงเอยเหมือนเดิมคือขึ้นภูกูดไม่ได้ ตีโอบก็ไม่เอา กลับมาอยู่แนวเก่าดีกว่าไม่ตายดี พวกฝ่ายเป็นกลางยศน้อยๆ เขาบอกว่าตีไปทำไมกัน ไม่ได้ดีอะไรด้วย มีแต่ตายลูกเดียวถ้าทำกล้า สู้อยู่เฉยๆไปวันๆยังดีกว่า ไม่ตาย”
แผนการเข้าตีภูกูดจึงล้มเลิกไป

ระหว่างการเข้าตีภูกูดครั้งที่ 3 นี้ กองร้อยเอสอาร์ยังสามารถยังทำลายอาวุธหนักของฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือได้อีกดังนี้
5 ธันวาคม ทำลาย ปบค.105 มม.ได้ 2 กระบอก
6 ธันวาคม ทำลาย ปตอ. 37 มม.ได้อีก 1 กระบอก

“4 ธันวาคม 2507 วันดวลปืนใหญ่”
ระหว่างการเข้าตีภูกูดครั้งที่ 3 กองร้อยปืนใหญ่ SR ก็ยิงสนับสนุนหน่วยเข้าตีอย่างเต็มที่โดยไม่ทราบความเคลื่อนไหวของทหารลาวฝ่ายเป็นกลาง

ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามก็ใช้ปืนใหญ่ยิงต่อต้านปืนใหญ่ฝ่ายเป็นกลางคือกองร้อยเอสอาร์ “แทบจะว่าเป็นการดวลปืนใหญ่กันทีเดียว” แต่ภารกิจต่างกัน โดยปืนใหญ่ฝ่ายเป็นกลางพยามยิงสนับสนุนหน่วยดำเนินกลยุทธ์ในการเข้าตีเป็นภารกิจหลัก แต่ฝ่ายเป็นกลางยิงยากกว่าเพราะไม่มีผู้ตรวจการหน้าไปกับหน่วยเข้าตี คงได้แต่ยิงตามคำขอยิงจากที่ตรวจการภูเซีย ซึ่งอยู่กับที่มิได้เคลื่อนที่ไปกับทหารราบ ส่วนปืนใหญ่ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามภารกิจหลักคือยิงต่อต้านปืนใหญ่ฝ่ายเป็นกลาง

ฝ่ายขบวนการประเทศลาวและเวียดนามยิงได้ง่ายกว่า เพราะฝ่ายเป็นกลางตั้งยิงอย่างเปิดเผยตรวจการณ์ได้ง่าย ไม่มีการเปลี่ยนที่ตั้งยิง มีแต่การปรับปรุงระบบป้องกันสนาม สร้างบังเกอร์ให้แข็งแรง และรอการยิงจากข้าศึกเท่านั้นเอง ไม่มีการพรางและการซ่อนเร้นเพราะเป็นเจ้าอากาศ

อาวุธปืนใหญ่ที่ฝ่ายเป็นขบวนการประเทศลาวและเวียดนามใช้มี 4 ชนิดคือ
ปบค.ขนาด 105 มม.
ปบร.ขนาด 85 มม.
เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 120 มม.
รถถัง PT-76 หรือ T- 34 คือใช้ปืนใหญ่รถถังยิงช่วยปืนใหญ่สนามเท่านั้น รถถังไม่เคลื่อนที่ดำเนินกลยุทธ์

ในระหว่างที่ “ดวลปืนใหญ่”กันอยู่นั้น ปืนใหญ่ของกระบวนการประเทศลาวและเวียดนามสามารถยิงถูกที่ตั้งกองร้อยปืนใหญ่ เอสอาร์ มีอยู่นัดหนึ่งตกลงที่กองกระสุนของหมู่ปืนใหญ่ขนาด 105 มม. เกิดระเบิดซ้อน ผู้อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า
“ กองกระสุนที่ระเบิดนี้เป็นควันลอยสูงขึ้นเป็นรูปดอกเห็ดเลย ผมยังได้ให้ช่างภาพยนตร์ถ่ายไว้และผมเก็บเอาไว้ดูเป็นที่ระลึกจนถึงปัจจุบันนี้ ก็ผมอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตลอดเวลานี่ครับ ผลหรือครับ นัดนี้นัดเดียว ฝ่ายเป็นกลางเสียอาวุธ ปบค. 105 มม. จำนวน 1 กระบอก ปืนสั้นบรรจุ เอง - ปสบ. 87 12 กระบอกและอุปกรณ์อื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง”

หลังการเข้าตีภูกูดครั้งที่ 3 ที่ไม่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่กองร้อย เอสอาร์ ก็ยังสามารถยิงทำลายเป้าหมายข้าศึกอย่างได้ผล
12 มกราคม 2508 สามารถทำลาย ปบร.85 มม.ได้อีก 1 กระบอก

“เสร็จสิ้นภารกิจ”
นอกจากการปฏิบัติการในสนามแล้ว กองร้อยเอสอาร์ -1 ยังทำการฝึกตามที่ได้รับการร้องขอแก่ทหารปืนใหญ่ในกองทัพแห่งชาติลาวหลายหลักสูต รเช่น หลักสูตรการฝึกพลประจำปืน ปบค.๑๐๕ มม.หลักสูตรการอำนวยการยิงปืนใหญ่ หลักสูตรช่างซ่อมปืนใหญ่ หลักสูตรผู้ตรวจการณ์ปืนใหญ่ทางอากาศ
จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร เป็นนายทหาร ๗ คน นายสิบ ๘๘ คน”

กองร้อยเอสอาร์ 1 เสร็จสิ้นภารกิจ 1 มีนาคม 2508 เดินทางกลับประเทศไทย รวมเวลาปฏิบัติการทั้งสิ้น 7 เดือนเศษ กองร้อย เอสอาร์ 2 เข้ารับหน้าที่ต่อ...

“บทเรียนจากการรบ : การระวังป้องกัน”
มีบันทึกที่น่าสนใจเกี่ยวกับจุดอ่อนการระวังป้องกันที่ตั้งกองร้อย เอสอาร์ ดังนี้
“ ตามหลักการแล้ว หน่วยทหารปืนใหญ่จะต้องอยู่หลังที่ตั้งของทหารราบในแนวหน้า โดยมีกำลังฝ่ายเดียวกันอยู่ทางข้างและด้านหลังอีกด้วย แต่การเข้าปฏิบัติการในลาวถือได้ว่าเป็นการรบนอกแบบ ไม่มีแนวรบ ขณะนั้นไม่มีหน่วยทหารราบของไทยร่วมทำการรบอยู่ด้วย จึงไม่สามารถที่จะมั่นใจได้ว่ากำลังทหารราบของลาวที่อยู่รอบๆ จะสามารถคุ้มกันการเข้าตีของข้าศึกโดยตรงต่อทหารปืนใหญ่ได้

การสู้รบที่มีระยะเวลายาวนานก่อนที่หน่วย SR จะเข้าไปปฏิบัติการ ทำให้ทหารลาวเหนื่อยล้าและเบื่อหน่ายการสู้รบอาจจะถอนตัวโดยไม่แจ้งเตือน หรือแจ้งเตือนในเวลากระชั้นชิด หรือมีการถอนตัวก่อนแล้วจึงมีหน่วยอื่นขึ้นไปทดแทน ทำให้หน่วยทหารปืนใหญ่อยู่ในลักษณะโดดเดี่ยว

นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากปืนใหญ่และเครื่องยิงลูกระเบิดของข้าศึกแล้ว ยังเสี่ยงต่อการถูกโจมตีด้วยกำลังทางพื้นดินอีกด้วย

นอกจากนี้ที่ตั้งของกองร้อยทหารปืนใหญ่ยังมีจุดอ่อนสำคัญอีกประการหนึ่งคือ มีถนนตัดผ่านกลางระหว่างส่วนยิงทั้ง 2 ส่วนกำลังฝ่ายลาวสามารถเคลื่อนย้ายผ่านไปมาได้ มีผลให้ฝ่ายตรงข้ามสามารถแทรกซึมเข้าโจมตีได้ แต่ที่จำเป็นต้องใช้ที่ตั้งแห่งนี้ เพราะเป็นชัยภูมิที่เหมาะสม มีที่ลาดหลังเนิน สามารถกำบังการยิงด้วยปืนใหญ่กระสุนวิถีราบหรือการยิงเล็งตรงของข้าศึก

การวางกำลังระวังป้องกันจึงเนินในเรื่องการโจมตีด้วยกำลังทหารราบและการโจมตีด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ทั้งยังอาศัยประโยชน์จากการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนของลาวเป็นเครื่องมือในการหาข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของข้าศึก เพื่อเสริมสร้างการระวังป้องกัน”

“จาก เอสอาร์ 1 ถึง เอสอาร์ 9”
กองทัพบกได้จัดส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อย เอสอาร์” รวม 9 รุ่น จาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ. 2514 ดังมีรายนามผู้บังคับกองร้อย เอสอาร์ 1 – 9 ดังนี้

เอสอาร์ 1 พันตรี วิวัฒน์ โรจนะยานนท์ (หัวหน้าศักดิ์) 4 กรกฎาคม 2507 - 1 มีนาคม 2508

เอสอาร์ 2 พันตรี วิชิต บุณยะวัฒน์ (หัวหน้าธาร) 1 มีนาคม 2508 - 30 พฤศจิกายน 2508

เอสอาร์ 3 พันตรี ศิรินทร์ ธูปกล่ำ (หัวหน้าเจน) 30 พฤศจิกายน 2508- 10 พฤษภาคม 2509

เอสอาร์ 4 พันตรี ประชัน อนันตสุรกาจ (หัวหน้ากาพย์) 10 พฤษภาคม 2509 - 1 มีนาคม 2510

เอสอาร์ 5 พันตรี วิโรจน์ แสงสนิท (หัวหน้าอุทัย) 1 มีนาคม 2510 - 1 พฤศจิกายน 2510

เอสอาร์ 6 พันตรี แผ้ว แผ้วพิษากุล (หัวหน้าพิกุล) 1 พฤศจิกายน 2510- 1 กรกฎาคม 2511

เอสอาร์ 7 พันตรี สมบัติ รอดโพธิ์ทอง (หัวหน้ารุจา) 1 กรกฎาคม 2511 - 1 มีนาคม 2512

เอสอาร์ 8 พันตรี สมหมาย วงศ์ข้าหลวง (หัวหน้าบวร) 1 มีนาคม 2512 - 1 มิถุนายน 2512

เอสอาร์ 9 พันตรี นานศักดิ์ ข่มไพรี (หัวหน้าเกริก) 9 มีนาคม 2513 - 14 เมษายน 2514 (เอสอาร์ 9 เปลี่ยนที่ตั้งจากเมืองสุยเป็นล่องแจ้ง)

ซึ่งจะเล่าให้ฟังต่อไป...

หมายเหตุ
ปบร. : ปืนใหญ่เบากระสุนวิถีราบ
ปรส.57 : ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลัง วัตถุประสงค์หลักใช้ยิงเล็งตรงต่อเป้าหมาย
ปตอ. : ปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน



“การกลับมาของพญาอินทรี”

.......กลางปี พ.ศ.2506 เครื่องบินนานาชนิดเริ่มบินมาปรากฏบนท้องฟ้าเหนือล่องแจ้งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ......

ต้นปี พ.ศ.2507 หลังจากข้อตกลงเจนีวาผ่านไปเกือบปี วอชิงตันก็ทบทวนสถานการณ์ในลาวจนนำไปสู่การปรับนโยบายอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสาเหตุสำคัญ 2 เหตุการณ์ ดังนี้

เหตุการณ์แรก มีนาคม พ.ศ.2507 เกิดความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจทางการเมืองและทางทหารภายในลาว โดยฝ่ายเป็นกลางที่นำโดยกองแลได้แตกออกเป็น 2 ฝ่าย "ฝ่ายเป็นกลาง-กลุ่มใหม่" ที่ท้าทายอำนาจกองแลได้รับการสนับสนุนจาก"ฝ่ายซ้าย-ขบวนการประเทศลาว" เข้ากดดันและโจมตีทหารฝ่ายกองแล บีบบังคับให้กองแลต้องร่วมเป็นพันธมิตรกับวังเปาและลาวฝ่ายขวา ในเวลานั้นอเมริกายังคงฝากความหวังไว้กับกองแลเป็นหลัก เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่วอชิงตันมีความเชื่อถือในตัวนายพลวังเปาและกองกำลังชาวม้งมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์ที่ 2 ที่กระตุ้นอเมริกาให้ยุติท่าทีวางเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในลาวคือการสับเปลี่ยนตำแหน่งสำคัญภายในกระทรวงการต่างประเทศเมื่อต้นปี พ.ศ.2506 เอเวอร์ริล เฮอริแมน เลื่อนขึ้นเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พ้นจากความรับผิดชอบพื้นที่เอเซีย ผู้ที่มารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ ฝ่ายภูมิภาคตะวันออกไกลคนใหม่คือ โรเจอร์ ฮิลส์แมน ซึ่งจะมีบทบาทที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อชะตากรรมของชาวลาวทั้งประเทศ ฮิลส์แมนให้การสนับสนุนการปฏิบัติการของซีไอเอในลาวอย่างเต็มที่ นั่นหมายถึงการกลับไปดำเนินการจัดส่งอาวุธแก่พวกม้งและเป็นฝ่ายเปิดฉากการรุกไล่กองทหารเวียดนามเหนือ หลังจากที่หยุดชะงักไปเมื่อกลางปี พ.ศ.2504 ที่ผ่านมาระหว่างการเจรจาเจนีวา

แนวคิดของฮิลส์แมนในเรื่องการรบแบบกองโจรสอดคล้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในทำเนียบขาวซึ่งขณะนั้นประธานาธิบดีเคนเนดีกำลังอยู่ในช่วงฟื้นคืนจากความตกต่ำอันเป็นผลจากความล้มเหลวของปฏิบัติการอ่าวหมูและกลับมาได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันอีกครั้งหนึ่งจากวิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา เคนเนดีกำลังเชื่อมั่นในตัวเองและพร้อมเผชิญหน้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ แต่สำหรับสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขายังคงให้ความสำคัญต่อเวียดนามเหนือและลาว และสนับสนุนปฏิบัติการของหน่วยทหารกรีนเบเร่ต์ที่ได้เข้าไปจัดตั้งกองกำลังชาวเขาบนที่ราบสูงภาคตะวันออกบนที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนามใต้ และกำลังเริ่มหันเหทิศทางการปฏิบัติไปจากประเทศลาวที่ซีไอเอได้เริ่มไว้แต่แรก

เดือนมิถุนายน 2506 (1963) สภาความมั่นคงของสหรัฐ (NSC :National Securiy Council) ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาในลาวได้เริ่มเข้ามามีบทบาทสนับสนุนแนวทางสงครามกองโจรนี้

ขณะนั้นกองทหารอเมริกันยังไม่สามารถเข้าไปในลาวได้ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาภาพลักษณ์ตามข้อตกลงที่เจนีวา แต่ซีไอเอก็ได้รับไฟเขียวให้ค่อยๆยกระดับการดำเนินการภารกิจส่งกำลังบำรุงทางอากาศให้แก่ชาวเขาในลาว ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเสบียงอาหาร “เพื่อมนุษยธรรม” อีกต่อไปแต่หมายรวมทั้งการทำการฝึกทางทหารแก่พวกชาวเขาอีกหลังจากที่ได้หยุดไประยะหนึ่ง

กลางปี พ.ศ.2506 เครื่องบินนานาชนิดเริ่มบินมาปรากฏบนท้องฟ้าเหนือล่องแจ้งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ เมื่อได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธมากขึ้น วังเปาก็โหมการโจมตีก่อกวนข้าศึกโดยยุทธวิธีการรบแบบกองโจรตามที่เขาถนัด บางครั้งวังเปาก็ลงไปทำการรบด้วยตนเอง ร่วมเดินเท้าไปตามทางในป่าอย่างชำนิชำนาญร่วมกับลูกน้อง บัดนี้การลดบทบาทภารกิจในลาวในช่วงที่ผ่านมาได้สิ้นสุดลงแล้ว และสงครามย่อยๆของพวกเขาก็กำลังทวีความเดือดเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

ความพยายามในการยกระดับขีดความสามารถทางการทหารให้กองกำลังของวังเปา ได้นำไปสู่การจัดตั้ง “ค่ายสฤษดิ์เสนา-กองพันพิเศษ” ขึ้นในประเทศไทย

“ค่ายสฤษดิ์เสนา-กองพันพิเศษ”
ความพยายามในการยกระดับขีดความสามารถในการรบให้แก่ทหารลาวฝ่ายขวาและฝ่ายเป็นกลาง โดยเฉพาะกองกำลังชาวม้งของวังเปานั้น เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2504 แล้ว ทั้งในพื้นที่ของกองกำลังชาวม้งที่ทุ่งไหหินโดยหน่วยพารู รวมทั้งบางส่วนก็มารับการฝึกที่ค่ายตำรวจพลร่มหัวหินอีกด้วย แต่เมื่อสหรัฐหันกลับมาให้ความสำคัญกับยกระดับขีดความสามารถในการรบของกองกำลังในลาวที่สหรัฐให้การสนับสนุนใหม่ การฝึกก็ถูกยกระดับให้ความสำคัญมากขึ้น อันเป็นที่มาของการก่อตั้ง “ค่ายสฤษดิ์เสนา”

จากบันทึก “อาจองค์ธำรงศักดิ์ น้อมใจภักดิ์พระจักริน” ของค่ายนเรศวร
“ การสร้างค่ายสฤษดิ์เสนานั้นทางฝ่ายสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ดำเนินการทั้งสิ้น แต่เดิมเตรียมการไว้สำหรับเป็นค่ายสำรองในการทำงานของตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร หัวหิน ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ประเมินสถาน
การณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่าประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องถูกคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ อย่างแน่นอนและหน่วยตำรวจพลร่มจะเป็นหน่วยที่ทำการต่อต้านการรุกรานและต่อต้านการทำสงครามนอกแบบ ทำการรบแบบกองโจร

แต่การทำงานรับระดับชาติอยู่ที่ค่ายนเรศวรหัวหินนั้นไม่เหมาะ เนื่องจากสถานที่คับแคบ ชุมชนหนาแน่น อยู่ใกล้เขตพระราชฐาน จึงได้มีแผนการก่อสร้างค่ายสำรองขึ้นสำหรับตำรวจพลร่มที่มี “ภารกิจลับพิเศษ” เท่านั้น แต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนั้นเปลี่ยน
แปลงไป จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นด้วยกับแนวความคิดในเรื่องการปฏิบัติการของทหารและตำรวจ 2 ขั้นตอน คือในยามปกติใช้ตำรวจเข้าปฏิบัติ เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นจึงใช้ทหารเข้าดำเนินการ แต่จากข้อเท็จจริงในตอนนั้นไม่สามารถแยกได้ว่าขั้นตอนใดจะใช้ตำรวจและขั้นตอนใดจะใช้ทหารจึงเกิดช่องว่างขึ้น

เพื่อปิดช่องว่าง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงตกลงใจให้จัดตั้ง “กองพันพิเศษ” ขึ้น 1 กองพันพร้อมอนุมัติอัตราการจัดกำลังพลเป็นกำลังผสมของ"พลร่มทหาร"และ"ตำรวจพลร่ม" โดยให้จัดกำลังพลจากทหาร 50% และจากตำรวจ 50% ผู้บังคับหน่วยเป็นทหาร รองผู้บังคับหน่วยเป็นตำรวจ ฝ่ายอำนวยการ กองร้อยและอื่นๆอย่างละครึ่งทั้งสิ้น ยกเว้นงานสายเทคนิคจะมาจากสายตรงของสายงานนั้นๆ

ส่วนงานของกองร้อยส่งกำลังทางอากาศหรืองานของ Pathfinder และการสื่อสารในสนามก็จะเป็นความรับผิดชอบของหัวหน้างานที่เป็นตำรวจพลร่ม จึงเป็นลักษณะการอนุมัติกำลังพลเข้าปฏิบัติงานในค่ายแทนแผนเดิมที่อเมริกันได้วางไว้เพื่อเป็นค่ายสำรองสำหรับตำรวจพลร่มค่ายนเรศวรหัวหินตามที่กล่าวมาแล้ว

เมื่อฝ่ายที่ปรึกษาอเมริกันและตำรวจเห็นด้วย ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าพื้นที่บริเวณเขต “วนอุทยานวังทอง” คือที่ บ้านวังนกนางแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก มีความเหมาะสมสำหรับเป็นที่ตั้งของ กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา

เหตุผลสำคัญที่เลือกพื้นที่นี้นอกจากเห็นว่าเป็นบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด พิษณุโลก-เพชรบูรณ์- เลย เป็นตำบลสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางทหาร พลเอก สายหยุด เกิดผล เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำความเข้าใจกับฝ่ายตำรวจและเป็นผู้เสนอชื่อ “ค่ายสฤษดิ์เสนา” เพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา ตั้งอยู่บนถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ระหว่างกม 33-34 เลขที่ 491 หมู่ 2 บ้านวังนกแอ่น ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก เปิดทำการเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 มีแม่น้ำเข็กหรือแม่น้ำวังทองไหลผ่าน พื้นที่ตั้งจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือทิศเหนือ (เรียกว่า”ฝั่งพระนคร”) เป็นที่ตั้งที่ทำงานและที่พัก เช่น บก.พัน สนามฝึกโดดร่ม คลังยุทโธปกรณ์ คลังอาวุธ โรงพับร่ม คลังกระสุน โรงอาหาร โรงรถ โรงไฟฟ้า เรือนนอนไม้ 2 ชั้นจำนวน 4 หลัง สัญญาบัตร 2 ชั้นจำนวน 1 หลัง และบ้านพัก ผบ.พัน รอง ผบ.พัน และที่ปรึกษา ด้านหลังมีสนามบินความยาวประมาณ 2,500 เมตร เครื่องบิน C - 123 และเครื่องบินคาริบูขึ้นลงได้ ส่วนทางด้านทิศใต้ (ฝั่งธน)เป็นที่ตั้งกองร้อยฝึกทหารประเทศที่ 3 ประกอบด้วย บก.ร้อย เรือนนอน โรงอาหาร ห้องเรียน สนามฝึก สนามโดดร่ม สนามยิงปืนทราบระยะ 200 เมตร เป็นต้น

ทั้งสองฝั่งเชื่อมโยงไปมาหาสู่กันด้วยสะพานแขวนความยาวประมาณ 180 เมตร

“กองพันพิเศษ” จัดตั้งให้เป็น “หน่วยในสนาม” เพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษตามโครงการความร่วมมือระหว่างสหรัฐกับประเทศไทย เป็น “ค่ายฝึกพิเศษ” เพื่อสนับสนุนภารกิจสงครามพิเศษและเป็น “หน่วยปฏิบัติการพิเศษ” เป็นหน่วยผสมระหว่างทหารพลร่มกับตำรวจพลร่มและเจ้าหน้าที่พิเศษ

ภารกิจของกองพันพิเศษ
1. การแทรกซึมเข้าไปในพื้นที่ปฏิบัติการโดยทางอากาศทางบกหรือทางน้ำเพื่อรวบรวมคน
ในพื้นที่จัดตั้งหน่วยรบแบบกองโจรขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการมอบหมายที่เป็นพื้นที่ของฝ่ายศัตรูหรือพื้นที่สีแดง
2. จัดตั้งฐานปฏิบัติการรบพิเศษ
3. ต่อสู้และทำลายหน่วยรบแบบกองโจร พวกก่อการร้าย และหน่วยบ่อนทำลายของข้าศึก
ด้วยการรบแบบส่งทางอากาศ
4. ให้ความคุ้มครองป้องกันและรักษาสถานที่ บุคคลสำคัญของรัฐบาล จู่โจมเพื่อเข้ายึดจับ
และทำลายล้างสถานที่ตลอดจนบุคคลสำคัญของฝ่ายข้าศึก เป็นหน่วยปฏิบัติการตามแผนยุทธ
ศาสตร์ ปฏิบัติการพิเศษอื่นๆตามที่ได้รับมอบหมายเพื่อความมั่นคงของประเทศ

โปรดสังเกตว่า “กองพันพิเศษ”นี้เป็นทั้ง “หน่วยฝึก”และ “หน่วยปฏิบัติการ”ในภารกิจสำคัญระดับ “ลับสุดยอด” จึงเป็นหน่วยที่มีการรักษาความลับอย่างเข้มงวดต่างจากหน่วยทหารหรือตำรวจทั่วไป

กลางเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ร้อยตำรวจโท สุรยุทธ์ ปัทมดิลก พร้อมด้วยกำลังพลตำรวจพลร่มประมาณ 30 นายเดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนาเป็นชุดแรก ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2506 กำลังตำรวจพลร่มประมาณ 250 คนได้เดินทางโดยเครื่องบิน C 123 เครื่องบินคาริบู และส่วนหนึ่งเดินทางโดยรถไฟจากหัวหินไปปฏิบัติหน้าที่กองพันพิเศษค่ายสฤษดิ์เสนา”

“กองร้อยฝึกรบพิเศษ”
ในด้านการฝึกซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญสำหรับสถานการณ์ในลาวขณะนั้น เป็นความรับผิดชอบคือ “กองร้อยฝึกรบพิเศษ”

“ เป็นการจัดเพื่อภารกิจการฝึกให้กับทหารม้งและทหารลาวที่ส่งเข้ามารับการฝึกในหลักสูตรของหน่วยรบพิเศษต่างๆ เช่น หลักสูตรอบรมผู้นำหน่วย หลักสูตรระเบิดทำลาย หลักสูตรการรบแบบกองโจร แต่ละปีไม่น้อยกว่า 1,500 คนโดยที่การจัดชุดครูฝึกจะใช้ทั้งทหารพลร่มและตำรวจพลร่มซึ่งในการเคลื่อนย้ายกำลังพลที่มาฝึกนี้กระทำโดยเครื่องบินของ แอร์ อเมริกา มาลงที่สนามบินในค่ายสฤษดิ์เสนาโดย
ตรง”

รายนาม ผู้บังคับกองพันพิเศษ มีดังนี้
“ ร้อยเอก เศรษฐา ธนะรัชต์ เป็น ผบ.พัน.คนแรก โดยมี ร้อยตำรวจโท สุรยุทธ์ ปัทมดิลก เป็นรองผู้บังคับกองพัน จนกระทั่งกำลังพลของทหารพลร่มมาครบตามจำนวนที่กำหนดจึงได้เปลี่ยนแปลงให้ทหารพลร่มเป็นผู้บังคับกองพัน ส่วนตำรวจจะเป็นรองผู้บังคับกองพัน
รายนามผู้บังคับกองพัน ตามลำดับเป็นดังนี้ ร้อยเอก เศรษฐา ธนะรัชต์ พันโท รวมศักดิ์ไชยโกมินทร์ พันโท วิเชียร อ่อนนุช พันโท วิมล วงศ์วานิช พันโท วรวิทย์ พิบูลศิลป์

17 มีนาคม พ.ศ. 2517 กำลังตำรวจชุดสุดท้ายเสร็จภารกิจที่กองพันพิเศษได้เดินทางกลับค่ายนเรศวรหัวหิน หลังจากนั้นมีผู้ดำรงตำแหน่ง ผบ.พัน อีก 2 ท่านคือ พันโท ปรีชา คชเสนี และ พันโท มนัส คล้ายมณี กองพันพิเศษจึงได้ยุติบทบาทลงเมื่อ 24มิถุนายน 2524 กองทัพบกใช้เป็นที่ตั้งของกองรบพิเศษพลร่มที่ 4 แต่ก็ยังคงใช่ชื่อค่ายสฤษดิ์เสนา”

พฤศจิกายน 2507 ...
จ่าสิบเอก ชัยชาญ หาญนาวี ทหารพลร่มจากป่าหวายได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ในกองพันพิเศษ ค่ายเสนาสฤษดิ์เดช แห่งนี้
และต้นปีถัดมาเขาจะสร้างตำนาน “เชลยศึกทรหด”ใน “สงครามลับ สงครามลาว”ครั้งนี้.

ค่ายสฤษดิ์เสนา ปัจจุบัน







“พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี : คนกล้าตายหนเดียว”

"ผู้ที่กล้าหาญเผชิญได้แม้ความตาย แต่ผู้ที่อยู่กับความหวาดกลัวก็เปรียบเสมือนใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่า"



ท่านที่เคารพ จากนี้ไปทุกตัวอักษรคือเรื่องจริง….
ตอนสำคัญจากเริ่มบทบันทึก “เชลยศึกทรหด” ของ พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี…

“ผมเหวี่ยงตัวลงมาจากที่นั่งของตัวเครื่องที่ผมนั่งอยู่ พยายามทำตัวให้ต่ำ เพื่อมิให้เป็นเป้ากระสุนของข้าศึก และเหลือบตาขึ้นไปมองดูนักบิน เห็นเขานั่งตาเหลือกหน้าซีดในที่นั่งของเขาเพราะความตกใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน ต่อจากนั้นเห็นเขาสตาร์ทเครื่องยนต์พยายามจะนำปอร์ตเตอร์ของเขาทะยานขึ้นสู่ฟากฟ้าอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้พ้นจากห่ากระสุนที่สาดมาจากรอบสนามนั้น

เขาพยายามเร่งเครื่องเพิ่มรอบการหมุนของใบพัดเพื่อหมุนตัวกลับตั้งตัวใหม่ที่รันเวย์เพื่อติดปีกหนี แต่ก็ไม่ไหวเสียแล้ว หมดหนทาง อินทรีย์ตัวน้อยนั้นปีกหักเสียแล้ว กระสุนของข้าศึกหลายนัดเจาะเข้าที่ถังน้ำมัน ทำให้น้ำมันทะลักออกมาเป็นน้ำก๊อก กลิ่นนี้มันคละเคล้ากับคาวเลือดและเสียงปืน ไฟลุกท่วมตอนหัวเครื่องบินและกำลังจะลามเข้ามาในตัวเครื่อง ผมโดดลงมาจากตัวเครื่องบินทั้งๆที่เสียงปืนของข้าศึกยังยิงอยู่เป็นประปราย

เสียงปืนเงียบ...เมื่อนักบินดับเครื่องยนต์และถอนหายใจอย่างสิ้นหวัง เหลียวมองไปทางไหนเห็นมีแต่ศพทั้งบนเครื่องบินและที่พื้นสนามบิน เหลือเพียง 2 ชีวิตคือผมและนักบินชาวอเมริกัน ซึ่งไม่แน่ใจนักว่า ข้าศึกจะปล่อยให้เรามีชีวิตอยู่หรือจะตัดสินใจให้ตายตกไปด้วยกันทั้งหมด

ทหารเวียดนามเหนือและดาวแดงวิ่งออกมาจากสุมทุมพุ่มไม้ทั้งสองฟากของสนามบิน ส่วนหนึ่งวิ่งไปตรวจที่เครื่องบิน และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 10 กว่าคนวิ่งเข้ามาหาผมและนักบิน ปากกระบอกปืนที่พุ่งเข้ามานั้น น่ากลัวเท่ากับสีหน้าและท่าทางของพวกเขา...บอกให้ยอมจำนนเสียโดยดีอย่าได้ขัดขืน คำสั่งที่เปล่งออกมาเป็นภาษาลาวนั้นฟังรู้เรื่อง เฉียบขาดและเอาจริงเอาจัง...

ผมเกิดความคิดเข้ามาในสมองแว้บหนึ่งว่า...ในเครื่องบินยังมีระเบิดมืออยู่ถุงนึง คงประมาณสัก 4 หรือ 5 ลูก...แต่ความคิดระลอกหนึ่งบอกให้รู้ว่า...คนโง่เท่านั้นที่จะกระทำการในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนั้น ชีวิตตัวเองอยู่ตรงปากปากกระบอกปืนของข้าศึกรอบข้างเช่นนี้ อย่าว่าแต่จะเอื้อมมือไปหยิบเอาระเบิดมาถอดสลักนิรภัยแล้วก็ขว้างออกไปเลย...แม้แต่จะขยับตัวเพียงนิดเดียวหรือเพียงหายใจแรงไปหน่อยเท่านั้น...ก็อาจจะโดนยิงทิ้งทันที...!

วันพระไม่ได้มีหนเดียว...หนหน้ายังมีและโลกใบนี้คงไม่ให้คนที่แพ้ในวันนี้ต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ตลอดไปหรอกนะ...!

ฐานะเชลยศึกของผมและนักบินอเมริกันก็เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีนั้น และเป็นวินาทีของการเริ่มต้นของชีวิตที่ต้องต่อสู้อย่างยืดยาว จากวินาทีเป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน และเป็นปี จนกระทั่งเกือบ 10 ปี”

วันนั้น 21 พฤษภาคม 2508 พ.อ.ชัยชาญ หาญนาวี อายุ 34 ปี ยศจ่าสิบเอก...

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2507 ขณะรับราชการในตำแหน่งพนักงานวิทยุ กองพันทหารพลร่ม บ้านป่าหวาย จังหวัดลพบุรี ซึ่งมี พ.ท.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ เป็นผู้บังคับกองพัน ชัยชาญได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติราชการพิเศษที่ค่ายสฤษดิ์เสนา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลกในตำแหน่งพนักงานวิทยุ

15 มกราคม พ.ศ.2508 ชัยชาญได้รับคำสั่งให้เดินทางไปปฏิบัติราชการพิเศษที่ บก.ผสม 333 ค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี และได้รับการฝึกเพิ่มเติมในการปฏิบัติหน้าที่พนักงานวิทยุโดยเฉพาะเรื่องการใช้รหัสในการติดต่อสื่อสาร

1 กุมภาพันธ์ 2508 เดินทางโดยเครื่องบินของอเมริกันไปปฏิบัติงานที่เมืองเชียงลม แขวงไชยบุรี ตอนเหนือของประเทศลาว ใกล้ชายแดนไทยด้านจังหวัดน่าน เมืองเชียงลมแห่งนี้เป็นที่ตั้งของ “ทีมเอส” ซึ่งมีภารกิจฝึกอบรมชาวบ้านในการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทีมเอสมีหน่วยรองในบังคับบัญชา 2 หน่วยคือ “ทีมเอส 1”และ “ทีมเอส 2” ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงไชยบุรี
ทีม เอส 1 ตั้งอยู่ที่บ้านจักจัง ทางทิศเหนือของเมืองเชียงลม ทีมเอส 2 ตั้งอยู่ที่บ้านบ่วมเลา ทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงลม”

“เกียรติยศจากสหรัฐ”
“ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกล็น ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้มีการออกแถลงการณ์แสดงความเสียใจต่อการจากไปของบุคคลสำคัญ ในครอบครัวคนไทยครอบครัวหนึ่ง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่ามีเหตุสืบเนื่องจากอะไร บุคคลคนนั้นคือ พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี ข้อความในแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า

"ในนามของสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว ญาติมิตร และสหายผู้เคยร่วมรบของ พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี ในการถึงแก่กรรมของท่านเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่จังหวัดลพบุรี

พันเอก "ชิพ" ชัยชาญ เป็นทหารรบพิเศษแห่งกองทัพไทย ผู้ตกเป็นเชลยศึกที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดที่เรือนจำฮัวโล หรืออีกชื่อคือ "ฮานอย ฮิลตัน" ในกรุงฮานอย เมื่อช่วงสงครามเวียดนาม นานกว่า 10 ปี และเป็นเชลยศึกผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับวุฒิสมาชิกสหรัฐฯ จอห์น แมกเคน, พลเรือเอก เจมส์ สตอกเดล และเหล่าทหารผู้กล้าอีกหลายนาย ซึ่งต่อมาท่านได้รับเหรียญกล้าหาญ ซิลเวอร์ สตาร์ และเครื่องอิสริยาภรณ์ ลีเจียน ออฟ เมอริต จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติและความกล้าหาญของท่านที่ได้ช่วยเหลือเชลยศึกชาวอเมริกันมากมายที่ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำ

โดยเจ้าหน้าที่ชาวอเมริกันที่ประจำอยู่ที่ประเทศไทยต่างรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รู้จักกับพันเอก ชัยชาญ ท่านเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญ ถ่อมตน และเฉลียวฉลาดเป็นอย่างยิ่ง ดังคำกล่าวของผู้แต่งที่ไม่ปรากฏนามซึ่งอธิบายช่วงชีวิตของทหารกล้าผู้นี้ได้เป็นอย่างดีว่า "ผู้ที่กล้าหาญเผชิญได้แม้ความตาย แต่ผู้ที่อยู่กับความหวาดกลัวก็เปรียบเสมือนใช้ชีวิตอย่างสูญเปล่า"

ประวัติของ พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี นั้นเกิดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ารับราชการทหารตำแหน่งทหารพลร่มของกองรบพิเศษที่ 1 ค่ายวชิราลงกรณ์ จังหวัดลพบุรี และได้ถูกส่งไปรบในลาวเป็นพลวิทยุ

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2508 มีนักบินอเมริกันกลุ่ม Air America ชวน พันเอก ชัยชาญ ไปเป็น Spotter เดินทางโดยเครื่องบินจากเชียงลมไปส่งเสบียงตามฐานในลาว ปรากฏว่าถูกยิงเครื่องตก ทหารในเครื่องเสียชีวิตหมด เหลือเพียงท่านกับนักบิน แม้พยายามหลบหนีแต่สุดท้ายถูกจับได้ ถูกนำไปขังที่ค่ายเดียนเบียนฟู ซึ่งคนไทยรู้จักดีจากภาพยนตร์ "แหกค่ายนรกเดียนเบียนฟู" โดยถูกซ้อมอย่างหนัก อย่างทารุณและโหดร้าย ถูกจับใส่ขื่อคาอยู่นานถึง 2 ปี 10 เดือน ต้องนอนแช่อุจจาระแช่ปัสสาวะของตัวเอง ได้อาบน้ำเดือนละครั้ง ไม่ได้พูดไม่ได้คุยกับใครเป็นเวลาถึง 5 ปี เนื่องจากถูกขังเดี่ยว และสุดท้ายต้องถูกเข้าห้องมืดอีก 6 เดือน แต่เขาผ่านมันมาได้ด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยว ด้วยเกียรติของชายชาติทหาร ความกตัญญูต่อแผ่นดินเกิด ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่ง

หลังจากนั้นถูกส่งไปที่ค่ายในฮานอย 1 ปี ได้รับหน้าที่เป็นคนทำความสะอาด จึงทำให้ได้พบปะเชลยศึกคนอื่น จนไปเจอเชลยนักบินเวียดนามใต้ แต่ยังสื่อสารไม่รู้เรื่อง ต้องใช้ภาษามือกัน จนกระทั่งท่านเรียนรู้ภาษาได้บ้าง นายทหารเวียดนามก็ให้ท่านช่วยแอบขโมยกระดาษ ดินสอ ส่งกระดาษรหัสลับติดต่อกับเชลยศึกคนอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากก็เป็นทหารอเมริกัน และแอบแบ่งอาหารให้เชลยคนอื่น โดยมีการสอน Tap Code ให้ท่าน และก็พยายามศึกษาภาษาอังกฤษจนใช้สื่อสารได้ การกระทำของท่านเสี่ยงต่อชีวิตมากเพราะถ้าโดนจับได้ตายสถานเดียว

กระทั่งรัฐบาลอเมริกันเจรจากับเวียดนามเหนือ เรื่องให้ปล่อยตัวเชลยศึกจากคุกฮานอยฮิลตัน การเจรจาเป็นผลสำเร็จ เวียดนามจึงได้ปล่อยเชลยศึกกลับบ้าน แต่ พันเอก ชัยชาญ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ถูกส่งไปที่ Pho Yen ซึ่งมีเชลยศึกทหารไทยอยู่ 216 นาย ในระหว่างที่อยู่ที่นั่นถูกทรมานทารุณหนัก เพราะเวียดนามเหนือต้องการให้ท่านเกลี้ยกล่อมเชลยศึกไทยให้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ท่านไม่ยอม

หลายเดือนต่อมา อดีตเชลยศึกชาวอเมริกันที่ท่านช่วยไว้ก็ได้มีการถามไถ่กันว่ามีข่าวคราวว่า พันเอก ชัยชาญ ไปอยู่ไหน เป็นอย่างไรบ้าง แต่ไม่มีใครรู้ พวกเขาจึงรวมตัวกันไปร้องเรียนต่อรัฐบาลอเมริกาให้ช่วยตามหา สุดท้ายหาเจอและนำไปสู่การเจรจากันระหว่างอเมริกา ไทย และเวียดนามเหนือ ให้ปล่อยเชลยศึกทหารไทย

สุดท้าย พันเอก ชัยชาญ จึงได้รับการปล่อยตัว หลังจากที่ถูกกักขังเป็นเวลา 9 ปี 4 เดือน 8 วัน นับเป็นเชลยศึกที่ถูกกักขังนานที่สุดในสงครามเวียดนาม แต่ทว่าเมื่อกลับมาถึงไทย ท่านก็ต้องพบเหตุการณ์หักมุมครั้งใหญ่ของชีวิต เมื่อพบว่าภรรยานั้นได้มีสามีใหม่ไปแล้ว และได้รับพระราชทานยศชั้นนายพัน เนื่องจากกองทัพไทยคิดว่าน่าจะเสียชีวิตไปในสงครามแล้ว แต่เมื่อยังมีชีวิตอยู่ก็ได้กลับมารับราชการเหมือนเดิม ไม่มีใครกล้าถอดยศพระราชทาน

จากนั้นอดีตเชลยศึกอเมริกัน นำโดย นาวาอากาศเอก Flynn ผู้บังคับบัญชา Lackland Air Force Base ได้เรียนเชิญท่านไปอเมริกาเป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเป็นการตอบแทนวีรกรรม โดยรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาได้มอบเหรียญกล้าหาญชั้น Silver Star (รองจากเหรียญกล้าหาญชั้นสูงชั้นเดียว) จัดพิธีสวนสนามกองทหารเกียรติยศ รวมทั้งได้จัดให้แขวนรูปถ่ายของท่านไว้ที่ Pentagon ใน Pentagon's Hall of Heroes จะมีที่เรียกว่า Hall of Hero's ซึ่งมีรูปถ่ายของทหารที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรบุรุษแขวนไว้ ถือเป็นการเทิดทูนเกียรติอย่างสูงสุด และท่านเป็นทหารต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับเกียรติอันสูงส่งนี้ และยังได้เข้าเรียนที่ฐานทัพ Lackland Air Force Base เป็นเวลา 10 เดือน และได้ไปเรียนต่อที่ศูนย์สงครามพิเศษ Fort Bragg ทางด้านสงครามจิตวิทยาอีก 7 เดือน

แต่ทว่าเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 พันเอก ชัยชาญ ป่วยเนื่องจากเส้นเลือดใหญ่ในสมองอุดตัน และเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ก่อนจะเสียชีวิตอย่างสงบในเวลา 23.45 น. ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ในวัย 87 ปี

ต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561 พันเอก แลร์รี่ เรดมอน ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบกสหรัฐอเมริกา สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ได้เข้าร่วมพิธีสวดพระอภิธรรมศพ พันเอก ชัยชาญ หาญนาวี ที่จังหวัดลพบุรี โดยพันเอก เรดมอน ได้มอบจดหมายแสดงความเสียใจจากเอกอัครราชทูตเดวีส์ ให้แก่คุณ รัชนียากร บุตรสาวของ พันเอก ชัยชาญ เพื่อสดุดีความเก่งกาจ และกล้าหาญ แก่อีกหนึ่งนายทหารผู้สร้างตำนานจนได้รับการยกย่อง และยอมรับอย่างจริงใจจากประเทศสหรัฐอเมริกา
(ขอบพระคุณ kapook.com 30 กรกฎาคม 2560...)




ยังมี “ผู้กล้า” อีกมากมายนักใน “สมรภูมิลับ-สมรภูมิลาว” แห่งนี้
พวกเขาล้วนตายหนเดียว.


“ทหารของเจ้ามหาชีวิต”

.......การเสด็จพระราชดำเนินเยือนล่องแจ้งถิ่นของชาวม้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวังเปา เพราะเป็นเสมือนเครื่องรับประกันว่าเขาและคนของเขาได้รับการยอมรับและเป็น"พสกนิกร"ของของเจ้ามหาชีวิต……..

ในห้วงเวลาเดียวกันของพัฒนาการสงครามในเวียดนามช่วง พ.ศ.2506 – 2507 นั้น ลาวซึ่งสหรัฐถือเป็นเพียง “สงครามประกอบ” ของสงครามหลักในเวียดนาม มีพัฒนาการที่สำคัญดังนี้...

จากผลสำเร็จในการต่อต้านทหารเวียดนามของพวกนักรบชาวม้ง เจ้ามหาชีวิตลาวจึงได้พระราชทานอนุญาตให้ชาวม้งในแขวงเชียงขวางมีอำนาจปกครองตนเอง โดยตั้งหัวหน้าของตนขึ้นเป็น “เจ้าแขวง” และมีผู้นำท้องถิ่นลดหลั่นเป็นลำดับไป พวกเขามีกระทั่งตัวแทนทำหน้าที่เป็นปากเสียงในเวียงจันทน์ ซึ่งก็คือ “เจ้าตู้บี้” ผู้ได้รับการนับถืออย่างยิ่งของวังเปามาตั้งแต่เยาว์วัยนั่นเอง การได้มีโอกาสปกครองตนเองแม้จะมีข้อจำกัด แต่ก็ทำให้ชาวม้งในเชียงขวางมีความสันทัดจัดเจนในทางการเมืองมากกว่าชาวม้งในส่วนอื่นๆของลาว และเป็นกลุ่มกำลังที่ถูกจับตามองมากกว่าชาวเขาเผ่าอื่น ชาวม้งรู้จักเลี้ยงปศุสัตว์ ทำเครื่องเงิน และค้าฝิ่น ซึ่งอย่างหลังนี้ทำกำไรให้พวกเขาเป็นอย่างมาก เด็กชาวม้งบางคนได้รับการศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลกลาง และมองเห็นตนเองเป็นพลเมืองของลาวแล้ว แม้ว่าลึกๆแล้วพวกเขาจะไม่ชอบพวกลาวลุ่มนักก็ตาม

สายสัมพันธ์กับราชวงศ์ลาวในหลวงพระบางมีความสำคัญอย่างยิ่งในความพยายามรวมประเทศลาวให้เป็นหนึ่งเดียว เจ้ามหาชีวิตทรงเป็นศูนย์รวมน้ำใจของทั้งประเทศ พระฉายาลักษณ์ของพระองค์ถูกพิมพ์ในธนบัตรและติดตั้งไว้ตามสถานที่ราชการในประเทศ แม้พระองค์จะไม่ได้เกี่ยวโดยตรงในการบริหารประเทศ ทว่าพสกนิกรต่างมอบความจงรักภักดีแด่พระองค์แม้จะไม่เทียบเท่ากับกษัตริย์ของเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยก็ตาม อย่างไรก็ตามเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนาของลาวก็ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติภูมิของชาติอย่างไม่ต้องสงสัย

ปลายปี พ.ศ. 2506 ภายใต้แรงสนับสนุนอย่างเต็มที่จากอเมริกา วังเปาก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “นายพลจัตวา” แห่งกองทัพบกรับผิดชอบพื้นที่ทุ่งไหหินเต็มอำนาจ และหลังได้รับแต่งตั้งไม่นาน วังเปาก็ทูลเชิญเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนาให้เสด็จมาที่ล่องแจ้ง สถานที่ซึ่งไม่เคยมีนายทหารลาวลุ่มหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากเวียงจันทน์คนใดเดินทางมาเยือนอย่างเป็นทางการมาก่อน

10 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ตลอดความยาวรันเวย์ของสนามบินล่องแจ้ง เด็กๆชาวม้งยืนเรียงแถวยาวในมือมีธงชาติลาวโบกสะบัด เมื่อเครื่องบินพระที่นั่งลงจอดสนิทแล้ว เจ้ามหาชีวิตสูงอายุร่างสูงโปร่งภูมิฐานในเครื่องแบบขาวทั้งชุดก็ก้าวเดินออกจากประตูเครื่องบิน มีบรรดาผู้นำเผ่ายืนเรียงรายให้การต้อนรับอยู่พร้อม ด้านล่างมีขบวนพาเหรดขนาดเล็ก มีพิธีบายศรีสู่ขวัญและงานเลี้ยงพระกระยาหารกลางวัน เมื่อเสร็จสิ้นพิธี เจ้ามหาชีวิตก็เดินทางกลับเวียงจันทน์

งานนี้นับเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริงของวังเปา และจะส่งผลอย่างสำคัญต่อสถานะของเขาและชนเผ่าม้ง

การเสด็จพระราชดำเนินเยือนล่องแจ้งถิ่นของชาวม้งครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อวังเปา เพราะเป็นเสมือนเครื่องรับประกันว่าเขาและคนของเขาได้รับการยอมรับและเป็น"พสกนิกร"ของเจ้ามหาชีวิต เพราะก่อนการมาเยือนของเจ้ามหาชีวิตนั้น วังเปาถูกคนลาวลุ่มคอยจ้องหาทางเล่นงานตลอดเวลา มาบัดนี้ การเสด็จเยือนครั้งประวัติศาสตร์และผลงานความสำเร็จหลายประการของวังเปา ทำให้เขาเปลี่ยนสถานะจากตัวปัญหาเป็นบุคคลที่ใครๆต่างต้องอาศัยพึ่งพา

เจ้ามหาชีวิตลาวทรงกล่าวขอบใจวังเปาที่ช่วยขยายพื้นที่ยึดครองแก่ฝ่ายนิยมกษัตริย์และที่วังเปานำชาวเขามาเข้ากับฝ่ายรัฐบาล ทรงบอกกับวังเปาให้สานต่องานที่ได้ทำมาเป็นอย่างดีแล้วนั้นต่อไปให้ดีที่สุด นอกจากนั้น พระองค์ทรงประหลาดใจและชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง เมื่อรู้ว่าทหารของวังเปานั้นสื่อสารทางวิทยุเป็นภาษาลาว ซึ่งถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า พวกม้งถือว่าตนเองเป็นชาวลาวคนหนึ่ง อาจจะยิ่งไปกว่าคนลาวในกองทัพที่มักใช้ภาษาฝรั่งเศสในการสื่อสารวิทยุเสียด้วยซ้ำ

สำหรับซีไอเอโดยเฉพาะ บิลล์ แลร์ ซึ่งอยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้นั้น การเสด็จเยือนล่องแจ้งนับเป็นชัยชนะทางด้านการเมืองของเขา เป็นดอกผลของการทำงานหนักเป็นเวลาหลายปี จากการปฏิบัติการที่เขาเป็นผู้ริเริ่มและจากบุคคลที่เขาเลือกสรรมากับมือจากกลุ่มชนที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามดอยสูง ม้งได้กลายสภาพเป็นกองกำลังในพื้นที่หลักสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศควบคุมดินแดนขุนเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของลาว และจากการเสด็จเยือนของกษัตริย์ลาวในครั้งนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขากำลังประสบความสำเร็จในการหล่อหลอมความเป็นชนชาติลาวแล้วในระดับหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ แลร์กังวลอยู่เสมอว่า ด้วยการทุ่มเทสนับสนุนจากซีไอเอ พวกม้งอาจเข้มแข็งเกินไปจนทำให้พวกลาวลุ่มพยายามทำลายและอาจลงเอยด้วยการหักล้างกันเองของทั้งสองฝ่าย แต่การเสด็จเยือนในครั้งนี้ ทำให้ทุกอย่างเข้าที่ลงตัวทันที เหมือนพรประทานจากเจ้ามหาชีวิตที่ส่งสัญญาณให้คนลาวทั่วไปได้รู้ว่า พวกม้งก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติลาวด้วย คนลาวลุ่มแม้หากจะยังรังเกียจในตัววังเปา แต่ต่อไปนี้ด้วยพระบารมีแห่งเจ้ามหาชีวิต พวกเขาจะไม่กล้าหาเรื่องกับวังเปาอีก

โครงการฝึกทหารม้งและโครงการอื่นๆของอเมริกาในลาวจึงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการมาถึงเมืองสุยและปักหลักถาวรของทหารปืนใหญ่ไทยในนาม “กองร้อย เอสอาร์”เมื่อกรกฎาคม พ.ศ.2507 นอกจากเป็นการเสริมอำนาจกำลังรบโดยตรงในพื้นที่ทุ่งไหหินให้แก่ฝ่ายรัฐบาลแล้ว ก็ยังเป็นรูปธรรมที่ยิ่งเสริมความเชื่อถือศรัทธาให้แก่นายพลวังเปามากยิ่งขึ้นไปอีก

“โครงการฝึกศึกษาแก่ทหารลาว”
สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลลาวได้ร้องขอให้ไทยจัดการฝึกศึกษาด้านการทหารให้แก่ทหารลาวในกองทัพแห่งชาติลาวซึ่งรวมทั้งชาวม้ง เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการรบ คณะกรรมการ คท.จึงอนุมัติให้จัดโครงการฝึกศึกษาหลักสูตรต่างๆ ขึ้นเป็นการลับ ได้แก่ “โครงการฝึกเอกราช” และ “หลักสูตรเทคนิคอำนวยการ”

“โครงการฝึกเอกราช”
คณะกรรมการ คท. อนุมัติให้เปิดโครงการศึกษาอบรมความรู้ทางทหารแก่ทหารลาว ตามเหล่าและสายวิทยาการต่างๆขึ้นในโรงเรียนทหารของไทย ได้แก่ ศูนย์การทหารราบ ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ศูนย์สงครามพิเศษ กรมการทหารช่าง กรมการทหารสื่อสาร โรงเรียนการบินทหารบก กรมแพทย์ทหารบก และกองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา เป็นต้น เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา ใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการฝึกเอกราช” จนถึง พ.ศ.2506 และเมื่อโครงการได้ขยายออกไปมากขึ้น และจัดการฝึกศึกษาติดต่อกันเป็นประจำทุกปี ภายหลังจึงเปลี่ยนเรียกชื่อโครงการใหม่ตามปี พ.ศ. เช่น “โครงการ 007” ซึ่งเปิดการศึกษาใน พ.ศ.2507 “โครงการ 008” เปิดการศึกษาใน พ.ศ.2508 เป็นต้น จำนวนผู้เข้ารับการฝึกศึกษาเฉพาะในส่วนของกองทัพบก 26,219 คน ไม่รวมจำนวนที่ส่งฝึกบินกับกองทัพอากาศและศูนย์ฝึกการบินพลเรือน

“หลักสูตรเทคนิคฝ่ายอำนวยการ”
ระหว่าง พ.ศ.2507 - 2508 มีการรบติดพันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในแขวงเชียงขวางและแขวงซำเหนือ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของภาคทหารที่ 2 กองทัพแห่งชาติลาว ในบังคับบัญชาของนายพลวังเปา กำลังทหารม้งส่วนใหญ่นั้น มีขีดความสามารถในการรบแบบกองโจรสูง แต่ไม่สามารถขยายผลครองความได้เปรียบอย่างแท้จริง เนื่องจากขาดความรู้ด้านเสนาธิการ พลตรีวังปาวจึงได้ขอความร่วมมือจากหน่วยผสม 333 ให้จัดการฝึกศึกษาหลักสูตรเทคนิคฝ่ายอำนวยการ ระยะเวลาศึกษา 8-12 สัปดาห์ ให้แก่ทหารลาวที่ส่งเข้ามารับการศึกษาอบรมที่กองพันพิเศษ ค่ายสฤษดิ์เสนา จังหวัดพิษณุโลก

สถานการณ์ในลาวทวีความคับขันยิ่งขึ้น การส่งนายทหารมาศึกษาในไทยกระทำได้ไม่สะดวก เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะให้นายทหารเหล่านั้นปฏิบัติการรบ จึงตกลงให้ส่งชุดครูฝึกทหารไทยไปสอนทหารลาวในพื้นที่ฐานปฏิบัติการโล่งแจ้ง เพิ่มระยะเวลาศึกษาหลักสูตรเป็น 20-24 สัปดาห์ตามสถานการณ์รบในขณะนั้น ซึ่งเปิดการศึกษาได้ประมาณปีละ 3 รุ่น

วันที่ 14 ธันวาคม 2508 ประธานคณะกรรมการ คท. ได้อนุมัติให้กองทัพบก จัดชุดครูฝึกเคลื่อนที่จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประกอบด้วย หัวหน้าชุดฝึกเคลื่อนที่ 1 คน เป็นผู้อำนวยการฝึก กับอาจารย์อีก 4 คน รวม 4 คน โดยมีคำสั่งให้กำลังพลในชุดฝึกเคลื่อนที่นี้ปฏิบัติงานในหน่วยผสม 333

หลักสูตรเทคนิคฝ่ายอำนวยการได้เปิดการสอนทั้งสิ้นรวม 8 รุ่น ตั้งแต่ พ.ศ.2509-2512 มีนายทหารลาวชั้นยศระดับร้อยเอก – พันโท เข้ารับการศึกษารุ่นละประมาณ 30-50 คน รวม 450 คน ซึ่งเมื่อมีมากพอที่จะเป็นพื้นฐานการรบและสามารถเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนได้เองแล้ว หน่วยผสม 333 จึงได้ขออนุมัติปิดหลักสูตรดังกล่าวลงใน พ.ศ.2512

พ.ศ.2507 จึงเป็น “ปีทอง”ของวังเปาและชาวม้ง.

เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา




“ภาพการรบในปี 2507”

......ทั้งอเมริกาและเวียดนามเหนือไม่รีบร้อนจะเอาชนะในสงครามลาว เพราะต่างก็ออมกำลังเอาไว้ชี้ขาดกันในสมรภูมิเวียดนามใต้.......

ช่วงต้นปี 2507 สถานการณ์ทางการเมืองลาวตกต่ำลงไปอีก เกือบครึ่งหนึ่งของทหารลาวฝ่ายเป็นกลางได้แปรพักตร์ไปร่วมกับฝ่ายซ้าย-ขบวนการประเทศลาว รัฐมนตรีกลาโหมสังกัดฝ่ายขวา นายพล ภูมี หน่อสวรรค์ พยายามร้องขอให้เวียดนามใต้ส่งทหารข้ามพรมแดนมากวาดล้างทหารเวียดนามเหนือในลาว

นายกรัฐมนตรีรัฐบาลผสม-เจ้าสุวรรณภูมา บินไปทุ่งไหหินเพื่อเปิดการเจรจา 3 ฝ่าย แต่ไม่สามารถตกลงกันได้กับผู้นำฝ่ายขบวนการประเทศลาวคือเจ้าสุภานุวงศ์ วันที่ 18 เมษายน เจ้าสุวรณภูมาบินกลับเวียงจันทน์แล้วประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยน้ำตานองหน้า

เช้าวันรุ่งขึ้นเกิดความพยายามก่อการรัฐประหาร แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงฝ่ายก่อการก็ทะเลาะกันเอง การรัฐประหารจึงล้มเหลว เมื่อเหตุการณ์สงบลง เจ้าสุวรรณภูมาก็กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายก
รัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง

ความพยายามก่อการรัฐประหารครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือรัฐบาลผสม 3ฝ่ายที่ได้เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่ข้อตกลงเจนีวาได้สลายลงเหลือแต่เพียงในนามเท่านั้น ฝ่ายขบวนการประเทศลาวยังคงเจ้าหน้าที่ของตนไว้ในเวียงจันทน์พอเป็นพิธี แต่ไม่มีผู้แทนอยู่ในคณะรัฐบาลแต่อย่างใด ส่วนทหารฝ่ายเป็นกลางของกองแลก็ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับฝ่ายขวาอย่างเป็นทางการภายใต้การบัญชาร่วมทางทหาร

เมื่อไม่มีส่วนร่วมในคณะรัฐบาลอีกต่อไป ทหารขบวนการประเทศลาวและเวียดนามเหนือก็ยกระดับปฏิบัติการทางทหารกดดันฝ่ายกองแลจนถอยร่นใปสุดขอบทุ่งไหหินเข้าไปอยู่ในอารักขาของทหารฝ่ายวังเปา โดยมีพวกคอมมิวนิสต์ตามรุกไล่มาอย่างกระชั้นชิด

ในตอนนี้เองที่ได้เริ่มมีการนำ “อาวุธใหม่ๆ” เข้ามาใช้ในสงคราม
อาวุธแบบใหม่ที่ว่าคือการใช้กำลังทางอากาศ วังเปาขอให้กองทัพบกลาวส่งเครื่องบินรบแบบ ที- 28 จำนวน 3 เครื่องมาช่วยสนับสนุนกองกำลังของตนและกองแล เครื่องบิน ที - 28 บินเข้าไปในพื้นที่การรบทุ่งไหหิน ปล่อยระเบิด บินลงต่ำเรี่ยพื้นแล้วปล่อยกระสุนเข้าใส่ข้าศึกผู้ซึ่งไม่เคยเผชิญหน้ากับเครื่องบินรบมาก่อนในชีวิต ทำให้แตกกระเจิงวิ่งหนีเอาชีวิตรอด

ไม่กี่อาทิตย์ก่อนหน้านั้น เครื่องบิน ที-28 ส่วนหนึ่งถูกส่งมาส่งเสริมกำลังในลาวจากฐานบินอุดรในประเทศไทย โดยอำพรางว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขยายความช่วยเหลือแก่เวียดนามใต้ ภายใต้แผนปฏิบัติการทางทหาร OPERATION WATER PUMP ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยปฏิบัติการรบพิเศษทางอากาศของกองทัพอากาศอเมริกา เนื่องจากจำนวนนักบินของลาวเองขณะนั้นยังมีไม่เพียงพอจึงได้นำนักบินชาวไทยและอเมริกามาเข้าร่วม ตราธงชาติลาวถูกนำมาติดไว้ที่ส่วนลำตัวเครื่อง ที - 28 หรือบางเครื่องก็ไม่มีตราบ่งบอกสังกัดใดๆเลย

อีกไม่กี่อาทิตย์ต่อมาลาวฝ่ายขวาก็ดีใจอีกครั้งเมื่อเครื่องบินไอพ่นหลากชนิดของอเมริกาออกทำการบินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าประเทศลาวโดยบินมาจากเรือบรรทุกเครื่องบินและฐานบินในภูมิภาครวมทั้งในไทยที่ใช้เป็นฐานสำหรับส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออยู่ในเวลานั้น โดยถือเอาเป้าหมายในลาวเป็นของแถม

การใช้เครื่องบินรบเข้าทำลายกองกำลังข้าศึกครั้งนี้ก็เหมือนกับปล่อยยักษ์ออกจากตะเกียงซึ่งเป็นการยากที่จะจับมันคืนที่เดินได้ เริ่มแรกนั้นอเมริกาไม่มีแผนจะนำกำลังทางอากาศมาใช้ในลาว แต่เนื่องจากลาวนั้นอยู่ติดกับเวียดนามจึงมีการร้องขอกำลังทางอากาศมาสนับสนุนในลาวอยู่เสมอๆ โดยที่ระยะหลังๆ วอชิงตันก็มองว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายอะไรนัก แต่อาจกลับส่งผลดีด้วยซ้ำไป นอกจากนั้นข่าวการใช้กำลังทางอากาศในลาวก็ยังไม่ได้รั่วไหลสู่ภายนอก เนื่องจากในเวลานั้นมีผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพียง 2-3 คนประจำอยู่ในลาว และต่างก็ถูกกีดกันไม่ให้เดินทางไปทำข่าวในเขตชนบทห่างไกล

ต้นปี 2507 ซีไอเอโดยบิลล์ แลร์ พยายามขยายความสำเร็จของ “ปฏิบัติการโมเมนตัม” จากทุ่งไหหินไปยังแขวงซำเหนือรวมทั้งที่พงสาลีซึ่งอยู่ไกลจากเวียงจันทน์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ติดกับดินแดนเวียดนามเหนือซึ่งได้รับความเห็นชอบจากวอชิงตัน รวมทั้งวังเปาก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ในกรุงวอชิงตัน จอห์นสัน ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาและเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังวิตกเกี่ยวกับเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่เชื่อมเวียดนามเหนือและใต้โดยตัดผ่านลาวเส้นทางที่ว่านี้หากได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นก็จะทำให้สถานการณ์ในลาวยิ่งเลวร้ายลงอีกรวมทั้งจะสร้างความยากลำบากแก่ทหารเวียดนามใต้ซึ่งกำลังเป็นรองในขณะนั้น พร้อมสั่งการให้ฝูงบินที่ประจำอยู่ในฐานบินตาคลีส่งเครื่องบินตรวจการณ์ชั้นสูงแบบ U-2 ที่มีเพดานบินสูงมากขึ้นบินสอดแนมในเขตแดนประเทศจีนรวมทั้งเมืองเซโปนและบริเวณเทือกเขาอันนัมอีกด้วย

เมืองเซโปนเป็นชุมทางการค้าขายซึ่งอยู่ในดินแดนลาว ใกล้กับเขตปลอดทหารที่แบ่งแยกเวียดนามเหนือออกจากเวียดนามใต้ ที่นี่มีกองกำลังของเวียดนามเหนือประมาณ 3,000 คนแทรกซึมประจำการอยู่โดยรอบ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดของทหารเวียดนามเหนือที่ประจำการอยู่ในลาวขณะนั้น

เครื่องบิน U-2 กลับมาพร้อมรูปถ่ายที่ตั้งทหารเวียดนามเหนือซึ่งมีปืนต่อสู้อากาศยานติดตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ป่ารอบเมืองเซโปน ทีมข่าวของซีไอเอก็ได้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของทหารเวียดนามเหนือมาเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน

สหรัฐเชื่อว่ากองกำลังเวียดนามเหนือที่ว่านี้มิได้เข้าร่วมในการสู้รบที่เกิดขึ้นทางภาคตะวันออก
เฉียงเหนือของลาวโดยตรง แต่น่าจะเป็นกำลังส่วนหนึ่งของแผนระยะยาวที่จะเปิดเส้นทางยุทธศาสตร์อันเป็นเสมือนประตูหลังจากเวียดนามเหนือเข้าสู่เวียดนามใต้

ทหารเวียดนามเหนือได้ยึดครองพื้นที่บริเวณเมืองเซโปนมานานกว่า 10 ปีแล้วและกักตุนเสบียงต่างๆจำนวนมากซ่อนไว้ในถ้ำ ในแต่ละปีทหารเวียดนามเหนือประมาณ 200 -300 คนได้เดินทางจากเวียดนามเหนือตัดผ่านเส้นทางทุรกันดารนี้เข้าสู่เขตแดนเวียดนามใต้โดยใช้การเดินเท้าหรือใช้ช้างเป็นพาหนะในการเดินทางเป็นหลัก

บิลล์ แลร์ เองก็ได้ส่งทีมสอดแนมของพวกชาวเขาจากสุวรรณเขตและปากเซเข้าไปปฏิบัติการในหลายพื้นที่บริเวณที่ราบสูงทางตอนใต้ของเวียดนามเช่นเดียวกัน ขณะที่ทหารกรีนเบเร่ต์นำกำลังทหารจากหน่วยคอมมานโดของเวียดนามใต้และกองกำลังชาวเขาข้ามเข้ามาในลาวเพื่อช่วยเหลืออีกแรงหนึ่ง

อเมริกาในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์ความเติบโตของเครือข่ายเส้นทางลำเลียงของพวกคอมมิวนิสต์เส้นทางนี้ด้วยความสนใจเป็นพิเศษ และให้ชื่อว่า “โฮจิมินห์ เทรล” หรือ “เส้นทางโฮจิมินห์”

วันที่ 28 พฤษภาคม 2507 ไม่ถึง 1 ปีนับจากวันเริ่มต้นปฏิบัติการทางอากาศของอเมริกาหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ ได้ตีพิมพ์ภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินตรวจการณ์อเมริกาซึ่งเปิดเผยให้เห็นขบวนรถบรรทุกทหารเวียดนามเหนือได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนทหารฝ่ายประเทศลาวในบริเวณทุ่งไหหิน

1 เดือนต่อมาในวันที่ 26 มิถุนายน นิวยอร์กไทม์ ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับลาวอีกครั้ง เจาะจงไปยังเส้นทางส่งกำลังบำรุงของเวียดนามเหนือที่ตัดผ่านลาวสู่เวียดนามใต้ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปมาก่อน ในบทความให้รายละเอียดว่า “เครื่องบินของกองทัพอากาศยืนยันรายงานที่ได้รับก่อนหน้านี้ว่าพวกคอมมิวนิสต์ได้ปรับปรุงและก่อสร้างเครือข่ายถนนทางภาคใต้ของลาวและเพิ่มปริมาณการส่งกำลังบำรุงผ่านเส้นทางดังกล่าว” ในรายงานข่าวยังกล่าวต่อไปอีกว่า “เครือข่ายถนนดังกล่าวตัดลงใต้มุ่งสู่เมืองเซโปน”

รายงานข่าวนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในลาวและเวียดนามนั้นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ซึ่งทางอเมริกาก็ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเป็นเช่นนั้น

โดยภาพรวมของปฏิบัติการทางการทหาร ทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มความเข้มข้นในการใช้กำลังของตน แม้ว่าอัตราส่วนการใช้กำลังในแต่ละกลุ่มจะเปลี่ยนไปด้วยก็ตาม ฝ่ายนิยมคอมมิวนิสต์ลดบทบาทของขบวนการประเทศลาวลง แต่เพิ่มบทบาทของเวียดนามเหนือมากขึ้น เวียดนามเหนือเป็นผู้วางแผน ควบคุมการส่งกำลังบำรุงและส่งทหารไปประจำในหน่วยทหารของฝ่ายขบวนการประเทศลาวมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ฝ่ายขวา อิทธิพลของฝ่ายกษัตริย์นิยมและนายพลภูมีก็ค่อยๆลดน้อยลง ขณะที่วังเปากลายเป็นผู้บัญชาการทางทหารที่มีความสำคัญที่สุดในลาว ส่วนทางด้านอเมริกาก็ได้เพิ่มการใช้กำลังทางอากาศของตนต่อสนามรบในลาว

ทั้งอเมริกาและเวียดนามเหนือไม่รีบร้อนจะเอาชนะในสงครามลาว เพราะต่างก็ออมกำลังเอาไว้ชี้ขาดกันในสมรภูมิเวียดนามใต้

สงครามในลาวจึงมีรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเข้าโจมตีในฤดูแล้งเมื่อเส้นทางถนนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ขบวนรถบรรทุกจะลำเลียงทหารเวียดนามเหนือเข้ายึดพื้นที่ ครั้นถึงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนเมื่อเส้นทางถนนกลายเป็นปลักโคลน ก็จะเป็นทีของทหารฝ่ายขวาเข้ายึดพื้นที่กลับคืน
เครื่อง ที- 28 เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ และเครื่องบินไอพ่นอเมริกาจะออกปฏิบัติการเต็มอัตราศึกทำให้ฝ่ายขวาได้เปรียบในการรบ โดยที่พวกคอมมิวนิสต์ไม่สามารถเทียบได้

สงครามแบบผลัดกันรุกผลัดการรับแบบนี้ เริ่มขึ้นเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าโจมตีทุ่งไหหิน ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2507 โดยสามารถยึดครองพื้นที่ราบในทุ่งไหหินไว้ได้ แต่ก็ไม่สามารถครอบครองความได้เปรียบอย่างเด็ดขาด เนื่องจากฝ่ายวังเปายังคงยึดครองที่บ้านบนภูเขาสูงรอบๆบริเวณตัวทุ่งไหหินเอาไว้ได้
เมื่อถึงหน้ามรสุมของปี พ.ศ.2507 ทหารลาวฝ่ายขวาก็เข้ารุกโต้ตอบเพื่อแย่งยึดพื้นที่คืน

การรุกโต้ตอบครั้งนี้เกิดขึ้นในชื่อปฏิบัติการลับ Operation Tri Angle ซึ่งได้รับอนุมัติโดยตรงจากประธานาธิบดี จอห์นสัน ควบคุมโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวอชิงตัน เป้าหมายของปฏิบัติการคือการโจมตีกองทหารของขบวนการประเทศลาวที่ได้ยึดครองบริเวณจุดตัดของเส้นทางถนนหมายเลข 7 และ 8 อันเป็นทางสัญจรเชื่อมทุ่งไหหินเข้ากับเวียงจันทน์และหลวงพระบาง

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ นอกจากการใช้ “อาวุธใหม่”ด้วยการโจมตีจากเครื่องบินรบแล้ว สหรัฐและลาวยังได้ร้องขอให้ไทยเพิ่มอำนาจการยิงด้วยอาวุธหนักในพื้นที่ทุ่งไหหินด้วย อันเป็นที่มาของฐานยิงปืนใหญ่เพื่อป้องกันจุดยุทธศาสตร์ “เมืองสุย”และเส้นทางสำคัญ คือถนนที่เชื่อมต่อเวียงจันทน์กับหลวงพระบาง

คือ “กองร้อยเอสอาร์” ที่เข้าตั้งฐานยิงสนับสนุนเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2507 นั่นเอง.

เครื่องบินฝึก ที - 28 ติดอาวุธ




“จาก เอสอาร์ 1 ถึง เอสอาร์ 9”

......เอสอาร์-8 จะยังไม่ใช่กองร้อยทหารปืนใหญ่จากไทยกองร้อยสุดท้ายในสมรภูมิลาว เพราะยังจะมี กองร้อย เอสอาร์ – 9 ติดตามมาอีกในเดือนมีนาคม ปีถัดมา 2513....

กองทัพบกไทยได้จัดส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ไปป้องกันเมืองสุยในนาม “กองร้อย เอสอาร์” รวม 9 รุ่นจาก พ.ศ.2507 จนถึงปี พ.ศ.2514
หนังสือ “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว” ของ “ภูสิน สินภูเทิง” นายทหารปืนใหญ่ไทยผู้อยู่ในสนามรบช่วงสุดท้ายของ “สงครามลับ สงครามลาว” ได้บันทึกเรื่องราวกองร้อยเอสอาร์รุ่นต่อๆมาหลังความสำเร็จของเอสอาร์ 1 ไว้ดังนี้

“ กองร้อยปืนใหญ่เอสอาร์ ผลัดต่อๆมาได้ผ่อนคลายมากขึ้นสวัสดิการดีขึ้น บำรุงขวัญดีขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ดังที่สมาชิกเอสอาร์ 7 ท่านหนึ่งเล่าว่า...

“เอสอาร์ – 6 สร้าง บก.เอสอาร์ใหม่”
ปลายมิถุนายน 2516 สร้างบกใหม่ที่บ้านค่ายก่อนที่ เอสอาร์ -7 จะมาปฏิบัติงาน สร้างด้วยไม้สนเป็นอาคารชั้นเดียวแต่กว้างขวาง มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ห้องรับแขก และห้องสมุด อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งเครื่องดื่มต่างๆ ไม่ว่ากาแฟ นม เนย จนกำลังพลนำไปแบ่งให้สุนัขกินเพื่อช่วยอยู่เวรยาม สำหรับนายทหารจะมีเครื่องดื่มไม่ว่า เหล้าฝรั่ง หรือเบียร์ในตู้เย็นน้ำมันก๊าดตลอดเวลา (สมัยนั้นยังไม่นิยมดื่มไวน์กัน) ที่ บก.บ้านค่ายจะมีหนังสือพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษให้อ่านซึ่งจะมาพร้อมกับเครื่องบินเมล์เป็นปึกๆ

“เอสอาร์ – 7”
เมื่อถึง เอสอาร์ - 7 มีอาคารสำนักงาน อาคารที่พักของนายทหารมีเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ตลอดเวลา มีอาคารรับประทานอาหารของนายทหารซึ่งใช้เป็นโรงหนัง หลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จมีภาพยนตร์ใหม่เอี่ยมจากสหรัฐอเมริกามาฉายทุกคืน ในตู้เย็นจะมีเบียร์และโซดาแช่เย็น สุราฝรั่งพร้อม

ณ.ฐานยิงนี้ยังมี
1. โรงเลื่อยไม้ ซึ่งใช้ใบเลื่อยต่อจากเพลารถ 2 1/2 ตัน ไม้ที่เข้าเลื่อยจะเป็นไม้สน
2. เตาเผาอิฐเพื่อทำอิฐใช้ในการทำฐาน ป.และอาคารบ้านพัก
3. ช่างตัดเย็บผ้ามีจักรเย็บผ้าพร้อมเพื่อทำเสื้อฝนเสื้อกันหนาว และ
4 ช่างโลหะเพื่อทำเครื่องโลหะจากปลอกกระสุนตามขนาดต่างๆซึ่งใช้เป็นของชำร่วยอย่างดี”

“ กองร้อยเอสอาร์ ผลัดต่อๆมาได้ผ่อนคลายมากขึ้น สวัสดิการดีขึ้น การบำรุงขวัญดีขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ความมุ่งหมายก็แปรไปพัฒนาไปตามเวลาและสถานการณ์ (ที่ว่าไม่มีอะไร) กองร้อยเอสอาร์ผลัดแล้วผลัดเล่าจากการที่มีเพียงเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ในการรบ พัฒนาเป็นเครื่องอำนวยความสะดวก และพัฒนาเป็นเครื่องบำรุงความสุข
จากการ “ต้อง”ไปรบก็กลายเป็นต้อง “แย่ง” กันไปรบ

ท่านผู้มีประสบการณ์และได้ร่วมอยู่ในเอสอาร์ 7 ท่านหนึ่งบันทึกว่า กำลังพลที่ได้รับการคัดเลือกไปถือว่าเป็นผู้โชคดี ส่วนมากมักจะเป็นผู้ปฏิบัติงานดีเด่นในหน่วยต้นสังกัดและผู้บังคับบัญชาชอบ

จำเนียรกาลผ่านมาจวบจนเอสอาร์ – 7 … และเอสอาร์ 7 นี้ก็เป็นผลัดที่ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องบำรุงความสุขดังกล่าวอย่างเต็มที่”

ในช่วงกองร้อย เอสอาร์ -7 ที่มี พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง “รุจา”เป็นผู้บังคับกองร้อย ระหว่าง 1 กรกฎาคม 2511 – 1 มีนาคม 2512 การสู้รบได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทหารฝ่ายเวียดนามเหนือกับทหารขบวนการประเทศลาวได้ยกระดับการปฏิบัติการทางทหารรุนแรงขึ้น ดังมีบันทึกคำบอกเล่าของ พล.ท.วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” ในหนังสือ“ด้วยความรู้สึกในวันวานของ เทพ 333” ของ เรืองยศ จันทรคีรี ดังนี้

“ พลโท วิฑูรย์ฯ เคยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังทั้งเห็นพ้องกับคนอื่นด้วยว่า เรื่องราวในสนามรบเมืองสุยถือเป็นประสบการณ์น่าหวาดเสียวมากยิ่งกว่าการสู้รบครั้งใดๆเท่าที่เคยผ่านมา แม้กระทั่งเหตุการณ์คราวสู้รบ 17 วัน 17 คืนบริเวณทิวเขาโล่งแจ้งก็ยังมีความน่าเสียวไส้สู้ไม่ได้เอาเลย

เขาจำได้ว่า กองกำลังทหารที่ตั้งอยู่ในเมืองสุยขณะนั้นเป็นหน่วยทหารปืนใหญ่ มีกำลังของทหารไทยราวไม่เกิน 200 นายถูกฝ่ายเวียดกงและกระบวนการประเทศลาวรายล้อมอยู่ด้วยปริมาณที่พอสมควร
ในขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการรบจึงต้องออกตรวจแนวรบ โดยนั่งไปบนเรือบินพอตเตอร์ซึ่งเป็นเครื่องบินประเภทเครื่องยนต์เดียว มีนักบินชาวอเมริกันคอยทำหน้าที่ นอกจากนักบินกับ เสธ.วิฑรย์ แล้วก็ยังมีอยู่ในทหารอีกคนที่ร่วมบินไป
สังเกตการณ์ด้วย

สำหรับ ผบ.หน่วยรบที่อยู่ข้างล่างนั้นกำลังสั่งยิงตูมตามอยู่กับข้าศึกจ้าละหวั่น ขณะที่เครื่องบินของนายเทพบินผ่านไป เขามองจากทางอากาศลงไปเห็นลูกน้องยังซัดกันนัวเนียกับฝ่ายปิดล้อมจึงวิทยุถามลงเป็นโค้ดว่าสถานการณ์ข้างล่างเป็นอย่างไรบ้าง

พ.ต.สมบัติ รอดโพธิ์ทอง ยศขณะนั้นจึงตอบดังขึ้นมาว่า “พี่เทพอยากรู้ก็ลงมาดูเอาเองเถอะ” ซึ่งการที่ ผบ.หน่วยรบตอบเช่นนั้นขณะที่ยังยิงกันเปรี้ยงปร้างก็เพราะด้วยคิดว่า ถึงอย่างไรนายเทพคงไม่บินลงไปดูเหตุการณ์เด็ดขาด และตามปกติแล้ว พ.ต.สมบัติ ก็เป็นนักรบที่สุภาพเรียบร้อยผู้หนึ่ง แต่ขณะนั้นคงยังคิดคำพูดไม่ถูกเหมือนกันว่าจะตอบเช่นไรดี จึงพูดออกไปเป็นเชิงประชดนายเล็กน้อย เสธ.วิฑูรย์ เลยกรอกคำพูดกลับไปว่า“โอเค”
แล้วหันไปถามนักบินเป็นภาษาอังกฤษว่า มีสนามฟุตบอลอยู่สนามหนึ่งมีถนนเล็กๆตรงกลาง ไม่ทราบเครื่องบินจะลงได้ไหม

สนามฟุตบอลแห่งนั้นเป็นเพียงสนามฟุตบอลของพวกเด็กๆใช้เล่นกัน บริเวณฐานนั้นไม่มีที่ตรงอื่นอีกแล้วที่จะเป็นที่จอดของเครื่องบินพอตเตอร์ได้เลยเมื่อถูกถามเช่นนั้น นักบินก็ตอบว่า “ลงได้ แต่ดูเหมือนว่าจะคล้ายเป็นการฆ่าตัวตาย” ในสนามรบใครๆก็มีสำนวนโวหารหรือแสดงกวนอารมณ์กันเช่นนี้เสมอ “แน่ใจหรือ” เสธ.วิฑูรย์ถามย้ำอีกครั้ง
“look like make suicide ...ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น หากทางบริษัทเขาจะไล่ผมออกก็ช่วยปกป้องด้วยนะ” นักบินฝรั่งคนนั้นตอบ เทพ 333
“โอเค. เจเนอรัลเทพออกคำสั่งตามขึ้นมา

เครื่องบินพอตเตอร์จึงร่อนลงปั๊บทันควัน แล้วมันก็เกือบจะเป็นการฆ่าตัวตายไปจริงๆ เพราะสามารถปรับใบพัดสุดท้ายได้ก็ขณะที่เครื่องบินหยุดก่อนถึงรั้วลวดหนามพอดิบพอดี ด้วยเส้นทางที่แคบสั้นและขรุขระทำให้เครื่องบินเสียหลักพอสมควร เกือบหัวทิ่มไปข้างหน้า กระทั่งใบพัดกระแทกพื้นบิดงอเล็กน้อย
ตอนขาขึ้นกลับค่อนข้างทุลักทุเลมาก

ไม่มีใครเขาจะเชื่อหรอกว่าเครื่องบินลำนั้นจะสามารถลงบนถนนเล็กๆในสนามฟุตบอลเด็กเล่นแห่งนั้นได้ คนที่อยู่ข้างล่างต่างแตกตื่นพากันวิ่งมาดูจนแทบจะเลิกยิงกับข้าศึกไปเสีย การที่เขาต้องกระทำแบบนั้นก็มิใช่จะไปโกรธเคืองผู้ใด ไม่มีอะไรตำหนิ พ.ต.สมบัติ แม้จนนิดเดียวหากแต่ด้วยความห่วงใยลูกน้องของตัวเองในสนามรบยามคับขันนั่นแหละ

วันนั้นเขาเข้าไปร่วมรบอยู่ในสนามรบเมืองสุย ประจำในฐานเสียหลายสัปดาห์”

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดกองร้อย เอสอาร์- 7 ก็ยังสามารถรักษาฐานยิงสนับสนุนไว้ได้ จนกระทั่ง กองร้อย เอสอาร์ – 8 ซึ่งมี พ.ต.สมหมาย วงศ์ข้าหลวง เป็นผู้บังคับกองร้อย เดินทางมารับหน้าที่ต่อเมื่อ 1 มีนาคม 2512 ทหารเวียดนามเหนือและทหารขบวนการประเทศลาวก็เข้าโจมตีแตกหักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง “ภูสิน สินภูเทิง” บันทึกไว้ดังนี้

“สถานการณ์เฉพาะมิถุนายน 2512
24 มิถุนายนประมาณ 2000 ข้าศึกใช้อาวุธหนักโจมตีที่ตั้งทหารลาวฝ่ายกลางและกองร้อยเอสอาร์-8 ทุกแห่ง

25 มิถุนายน ประมาณ 0100 ข้าศึกเริ่มเข้าตีเมืองสุย ทหารลาวฝ่ายกลางถอนตัวจากที่ตั้งระวังป้องกันที่ตรวจการณ์ภูเซียไปอยู่ด้านหลัง ข้าศึกยึดที่มั่นฝ่ายกลางได้ทั้งหมดและส่งหน่วยแซปเปอร์ปฏิบัติการต่อ บก.บ้านค่าย สามารถตัดลวดหนามได้จนมีการรบประชิด ฝ่ายเราสูญเสีย 1 นาย

กองร้อยเอสอาร์- 8 ปฏิบัติการรบอย่างองอาจกล้าหาญ ทั้งการใช้ปืนใหญ่สนับสนุนฝ่ายเดียวกันและการรบเพื่อป้องกันที่ตั้งหน่วยตนเองอีกด้วย

ประมาณ 0900 ที่ตรวจการณ์ได้ยินเสียงขบวนรถสายพานผ่านไป

ประมาณ 0530 รถถังข้าศึกเข้าถึงที่ตั้งยิงปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตร มีการยิงต่อสู้กัน ฝ่ายเราทำลายรถถังข้าศึกได้ 1 คัน ปืนใหญ่ขนาด 105 มิลลิเมตรถูกยิงชำรุด 1 กระบอก

เครื่องแฟนธอมพยายามโจมตีรถถังข้าศึก แต่พลาดเป้าถูกปืนใหญ่ขนาด 155 มิลลิเมตรฝ่ายเรา 3 กระบอก...เรียบร้อย

กองร้อยเอสอาร์- 8 สั่งการที่ตรวจการภูเซียเตรียมถอนตัว เฮลิคอปเตอร์จะมารับเวลา 0900

เวลา 0930 กองร้อยเอสอาร์-8 ส่งข่าวถึงที่ตรวจการภูเซีย เฮลิคอปเตอร์ไม่สามารถรับได้ ให้เคลื่อนย้ายกลับกองร้อยฯด้วยเท้า

ก่อนค่ำกองร้อยเอสอาร์- 8 ถอนตัวเข้าที่มั่นตามลำดับขั้นสู่ บก.บ้านค่าย

26 มิถุนายน ตั้งแต่ 2000 ของ 24 มิถุนายนถึง 26 มิถุนายน 2512 เป็นเวลา 2 คืน 2 วันทหารเริ่มอิดโรยและเสียขวัญ บางคนแสดงอาการป่วย น้ำดื่มเริ่มขาดแคลน

กองร้อยเอสอาร์- 8 สถาปนาพื้นที่ตั้งรับในพื้นที่ บก.บ้านค่าย ช่วงบ่ายมีเครื่องบินมาส่งสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นด้วยการทิ้งร่ม เช่นกระสุนปืนใหญ่ ลูกระเบิดยิงจากเครื่องยิง บางส่วนตกนอกที่ตั้งของหน่วย ต้องจัดยานพาหนะและกำลังพลไปนำกลับสู่ที่ตั้ง

27 มิถุนายน 2512 อาทิตย์อับแสง...”

ร.อ.อมร อุเทนสุต “อวยชัย” รองผู้บังกองร้อย เอสอาร์-8 ได้นำบันทึกประชุมการตัดสินใจครั้งสุดท้ายของ “ศึกเมืองสุย”ลงไว้ใน “คนไทยในกองทัพแห่งชาติลาว” ของ “ภูสิน สินภูเทิง” ดังนี้

“บันทึกการประชุม
เรื่อง : การแสวงหาข้อตกลงใจ
สถานที่ประชุม : THEP HALL ค่ายพระราชสุภาวดี ตำบลบ้านค่าย (ไทย) เมืองสุย แขวงหรือจังหวัดเชียงขวาง พระราชอาณาจักรลาว
เมื่อ : วันที่ 27 มิถุนายน 2512
ผู้เข้าประชุม :
1. ฝ่ายลาว มี พันเอก สิงห์ จันทรกุมาร ตำแหน่ง ผบ.ภาค 2
2. ฝ่ายบกหน่วยผสม 333 (ชื่อในขณะนั้น)
2.1 “เทพ”
2.2 “ทน”
3. บก. เอสอาร์
3.1 รองหัวหน้า บก. เอสอาร์ (ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้า บก.เอสอาร์ ซึ่งลาป่วย)
3.2 “วิฤทธิ์” หัวหน้าทีมข่าวลับ เอสอาร์
4. ร้อย ป.เอสอาร์
4.1 “บวร” ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์- 8
4.2 “อวยชัย” รอง ผบ.ร้อย ป.
หัวหน้าที่ตั้ง ป.155

วาระที่ 1 – ประธาน แจ้งที่ประชุม
ฝ่ายข้าศึกเคลื่อนกำลังจำนวนมากคาดว่าถึง 2 กองพลเข้าถึงพื้นที่โดยรอบเมืองสุย
ฝ่ายลาว ที่ปรึกษาทางทหารและซีไอเอ จะถอนตัวในวันนี้ด้วยเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่จากเวียดนามใต้

วาระที่ 2 - การถกแถลงและข้อยุติ
ผบ.ร้อย ป.เอสอาร์ รายงานการสูญเสีย
สูญเสียอาวุธประจำหน่วยคือ ปืนใหญ่กลางกระสุนวิถีโค้งขนาด 155 มิลลิเมตร จำนวน 3 กระบอกพร้อมกระสุนตามอัตรามูลฐาน สูญเสียปืนใหญ่เบากระสุนวิถีโค้ง 105 มิลลิเมตร จำนวน 1 กระบอก สูญเสียรถลากปืนขนาด 5 ตัน จำนวน 3 คัน รถลากปืนขนาด 2 ตันครึ่งพร้อมคนขับ 1 นาย

สูญเสียกำลังพลหลักเช่น ผู้บังคับหมู่ปืนและอาวุธปืนใหญ่ ศูนย์อำนวยการยิงทั้ง 2 ชุดสูญเสียนายทหารอำนวยการยิง และหมู่ตรวจการณ์หน้า 1 หมู่ขาดการติดต่อมากว่า 2 วัน

สรุป-ไม่สามารถสนับสนุนด้วยการยิง

วาระที่ 3 ประธานแจ้งที่ประชุม
เมื่อซีไอเอถอน ฝ่ายเราซึ่งสูญเสียจนไม่สามารถทำการภารกิจยิงสนับสนุนได้จำเป็นต้องถอนไปพร้อมกัน
ประธานถาม ผบ.ร้อย ป.ว่าจะทำอย่างไร

ผบ. ร้อย ป.หารือหัวหน้า “อวยชัย” รอง ผบ.ร้อย ป.

“อวยชัย”เรียน “เทพ” ว่า การถอนตัวครั้งนี้ไม่ควรยึดหลักการ เนื่องจากเราสูญเสียยุทโธปกรณ์และกำลังพลจำนวนมาก กำลังพลผู้อาวุโสน้อยประสบการณ์น้อยขวัญต่ำสมควรนำออกจากพื้นที่เป็นอันดับแรก นายสิบจ่าควรออกไปก่อนหัวหน้า หัวหน้าต้องเสียสละ ผมผู้เสนอขอออกจากพื้นที่เป็นคนสุดท้าย (ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 1000 ของวันที่ 27 มิถุนายน 2512)

ประธานถาม ผู้ใดมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ไม่มีผู้ใดแสดงความเห็น

ประธาน สั่งให้ปฏิบัติตามที่อวยชัยเสนอ
ให้อวยชัยไปเตรียมสนาม ฮ.สำหรับ ฮ.ขนาดใหญ่ครั้งละ 2 ลำ
- ปิดประชุม

ในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ “อวยชัย” ยังได้เล่าถึงปฏิบัติการถอนตัวตามแผนไว้ดังนี้

“การปฏิบัติตามคำสั่งของหัวหน้าเทพในเรื่องเตรียมเคลื่อนย้ายกำลังพลกลับ”
“อวยชัย” รอง ผบ.ร้อย ป.ได้รับการสนับสนุนรถแทรกเตอร์แบบดี 4 ในอัตราของเอสอาร์ ในการปรับพื้นที่ด้านหน้าทางเข้า บก.เอสอาร์ ห่างออกไปตามถนนประมาณ 200 เมตร ตัดโค่นต้นไม้ที่กีดขวางเขตร่อนลงแล้วเสร็จประมาณ 1200

เฮลิคอปเตอร์แบบ จอลลี่ กรีน จากเวียดนามใต้จำนวน 6-7 เครื่องมาบินวนอยู่เหนือสนาม ฮ.หน้าทางเข้า บก.เมืองสุย กำลังพลระดับลูกแถวแถวภายใต้การควบคุมของ “สืบ” ผู้บังคับหมวดระวังป้องกัน 2 และ “เทวินทร์”ถอนตัวจากส่วนระวังป้องกันรอบนอก ถอนตัวออกมาก่อน (จ่า-นายสิบ ยังคงประจำอยู่ในบังเกอร์)

ส่วนแรกประมาณ 50 นายถอนตัวโดย ฮ. 2 ลำออกจากพื้นที่สู่พื้นที่รวมพลโล่งแจ้งและรอ ซี- 130 จากอุดรธานีมารับต่อไป

บนฟ้าเหนือเมืองสุยขณะนั้นกระหึ่มไปด้วยเสียงจอลลี่ กรีน ที่บินขึ้นลงภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิดของสองนักบินเอสอาร์ “สกุณ”และ “ศจี”
อย่างไรก็ตามการถอนตัวครั้งนั้นมีกำลังพลม้งจำนวนหนึ่งของท่านนายพลวังเปาถูกเคลื่อนย้ายทางอากาศออกไปด้วย การสื่อภาษาในเรื่องห้ามนำอาวุธและเครื่องกระสุนที่เกินมูลฐานขึ้น ฮ.จึงไม่เป็นผล เกิดการบรรทุกเกินอัตรา จนเครื่องต้องร่อนลงในบางเที่ยว

เมื่อลูกแถวและจ่านายสิบทั้งหมดถูกเคลื่อนย้ายออกจากบังเกอร์และขึ้นเครื่องจนหมดสิ้นโดยเฮลิคอป
เตอร์แบบจอลลี่ กรีน (ซึ่งบรรทุกได้ครั้งละ 28 นาย) ยังเหลือเพียง “ทน” “สืบ” “สกุณ”และอีก 3-4 ท่าน ผมจำไม่ได้ ก็ปรากฏ ฮ.แบบเก่า (ทอ.ไทยเรียก ฮ.แบบ 4- ก)ของแอร์อเมริการ่อนลงมาพร้อมๆกับเสียงปืนยิงเร็ว ผมซึ่งได้ให้คำมั่นกับท่านหัวหน้าเทพว่าจะเป็นคนสุดท้ายที่จะออกจากเมืองสุยก็ทำท่าจะไม่ได้ออก เพราะเสียงปืนทำให้นักบินรีบนำเครื่องขึ้นโดยมีหัวหน้า 6-7 ท่านขึ้นเครื่องแล้ว ผมซึ่งขณะนั้นไม่มีอาวุธใดๆในมือมัวรอให้ท่านอื่นขึ้นก่อนก็ต้องมุ่งไปที่บังเกอร์หลุมปืน (ปรส.) ที่ใกล้ที่สุดเพื่อกำบังตนและเพื่อหาอาวุธที่อาจหลงเหลืออยู่ไว้ป้องกันตน

ฮ.ลำนั้นบินไปสักระยะหนึ่งคงมีการสำรวจผู้โดยสาร เมื่อไม่มีผม จึงบินกลับมา ฝรั่งคนหนึ่งในเครื่องแบบทหารอเมริกันที่ใช้ในเวียดนามสวมหมวกทรงอ่อนสีเขียว (กรีนเบเร่ต์)โดดจาก ฮ.ที่ยกตัวเหนือพื้น ขยุ้มคอเสื้อผมลากผมไปขึ้นเครื่องเป็นคนสุดท้ายจนได้

และระหว่างทางที่ ฮ.เก่าลำนั้นวิ่งขึ้น ก็มีเสียงจาก ป.ต.อ. (ของเวียดมินห์) และลูกปืนไล่ตาม ฮ.มาอย่างหวุดหวิด เพราะความไม่เร็วและเก่าของเฮลิคอปเตอร์ พวกหัวหน้าผู้เสียสละจึงเกือบไม่ได้มาโม้กับท่านแน่ะครับ
“สวัสดีครับ”
“อวยชัย เฮงพานิช”

นอกจากนั้น “อวยชัย”ยังได้อธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงของความจำเป็นในการถอนตัวไว้ด้วยดังนี้

“ เพื่อความกระจ่าง เอสอาร์ – 8 ไม่ได้สูญเสียจากการกระทำของข้าศึกจนต้องถอนตัวจากการรบ หากแต่ความผิดพลาดในการปฏิบัติของกำลังทางอากาศของฝ่ายเรายังความสูญเสียทั้งกำลังพลอาวุธหนักและขวัญทหาร (ข้าศึกมีความสามารถในการเคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์เป็นหน่วยขนาดใหญ่กว่ากรมผสมเข้ามายังพื้นที่ส่วนหลังได้ค่อนข้างเสรี)

“ผม” (อวยชัย) โดย เอสอาร์ - 8 ไปถึงเมืองสุยเพื่อควบคุมถนนสาย 7 และเพียงเดือนมิถุนายน 2512
ก็เกิดการปะทะและมีเหตุให้
เอสอาร์- 8 ต้องสูญเสียจนต้องทิ้งภารกิจนั้น เมื่อ 27 มิถุนายน 2512”

เอสอาร์-8 จะยังไม่ใช่กองร้อยทหารปืนใหญ่จากไทยกองร้อยสุดท้ายในสมรภูมิลาว เพราะยังจะมี กองร้อย เอสอาร์ – 9 ติดตามมาอีกในเดือนมีนาคม ปีถัดมา 2513

ซึ่งการสู้รบจากนี้ไปจะรุนแรงสูงสุดจนสู่จุดแตกหักในอีก 2 ปีต่อมา.

ภาพแรก เอสอาร์ 1 เมื่อเริ่มเข้าพื้นที่
ภาพที่สอง เอสอาร์ รุ่นต่อๆมา





“พ.ศ.2507 : สงครามขยายตัว”

......นับตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ฐานทัพในไทยอย่างรวดเร็ว ในสิ้นปี 2507 มีเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศอเมริกัน 3,000 นายและเครื่องบินรบ 75 ลำ ประจำการอยู่ในไทย......

บทบาทของมหาอำนาจในสงครามเวียดนามและสงครามลับในลาวนั้นไม่อาจแยกออกจากกันได้ ขณะที่โซเวียตและจีนมุ่งใช้พื้นที่ของเวียดนามเหนือเป็นฐานกำลัง อเมริกาก็ใช้ดินแดนไทยเป็นฐานกำลังเช่นเดียวกัน

กรกฎาคม 2507 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี กองร้อยทหารปืนใหญ่เอสอาร์จากไทยรุ่นแรกเดินทางสู่สมรภูมิทุ่งไหหินเพื่อป้องกันเมืองสุย ปฏิบัติการครั้งนี้ไม่สามารถแยกออกจากภาพรวมของสงครามเวียดนามและสงครามลับในลาว
ขณะที่การเตรียมตัวเข้าสู่ทั้งสงครามลับในลาวและสงครามเปิดเผยในเวียดนามของอเมริกานั้น เริ่มมาตั้งแต่ครั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว...

งานวิจัย “สงครามเวียดนาม-
สงครามกับความจริงของรัฐไทย” ของ พวงทอง รุ่งสวัสดิทรัพย์ ภวัครพันธุ์ ได้บันทึกการลงทุนสร้างเครือข่ายคมนาคมรวมถึงฐานทัพอเมริกันในไทยที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามลับในลาวและสงครามเวียดนามของอเมริกาไว้ดังนี้

“เครือข่ายไฮเวย์และทางรถไฟ”
“การก่อสร้างถนนไฮเวย์และฐานทัพในประเทศไทยด้วยความช่วยเหลือจากอเมริกาซึ่งมีบทบาทสำคัญยิ่งในปฏิบัติการทางทหารของอเมริกันในสงครามเวียดนามนั้นเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 2497

วิกฤตการณ์ในลาวที่สร้างความกังวลให้กับผู้นำไทยทำให้ความร่วมมือทางทหารระหว่างไทยกับสหรัฐกระชับแน่นขึ้น ความช่วยเหลือจากสหรัฐนับแต่นั้นเป็นต้นมาจึงมุ่งพัฒนาศักยภาพทางทหารของไทยมากขึ้น แม้แต่ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจก็มีเหตุผลทางยุทธศาสตร์การทหารรวมอยู่ด้วย

ฉะนั้นการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างขนานใหญ่ในยุคนี้จึงมิได้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องการเชื่อมโยงกรุงเทพฯเข้ากับเขตชนบทโดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีชายแดนติดต่อกับอินโดจีนเพื่อรองรับปฏิบัติการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ทั้งในอินโดจีนและชนบทไทย

นับแต่ปี 2497 ถึง 2503 งบพัฒนาระบบขนส่งทางบกและทางอากาศมีสัดส่วนถึงร้อยละ 42.9 ของงบความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจที่ไทยได้รับจากสหรัฐโดยยูซ่อม (The United States of Mission) ซึ่งเป็นหน่วยงานบริหารงบพัฒนาของสหรัฐในต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเกือบจะทุกโครงการสร้างถนนในไทย

ผลงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกคือถนนมิตรภาพ สระบุรี-นครราชสีมา ที่ใช้งบประมาณถึง 20 ล้านดอลลาร์ (ได้รับจากอเมริกา 13.6 ล้านดอลลาร์) เป็นถนนไฮเวย์สายแรกที่เชื่อมกรุงเทพฯเข้ากับภาคอีสาน

ถนนไฮเวย์สายสำคัญสายที่สอง (2500-2508) คือ กรุงเทพฯ-สระบุรี ที่เชื่อมเข้ากับถนนมิตรภาพ

ระหว่างปี 2498 ถึง 2503 มีการสร้างถนนสายพิษณุโลก - หล่มสักเชื่อมภาคอีสานเข้ากับภาคเหนือ และระหว่างปี 2502 ถึง 2504 ยูซ่อมได้ปรับปรุงเส้นทางระหว่างนครราชสีมา-หนองคาย

นอกจากนี้ได้ปรับปรุงเส้นทางรถไฟในประเทศและขยายทางรถไฟ อุดร-หนองคาย

จึงเห็นได้ว่าเมื่อถึงปี 2508 ซึ่งเป็นระยะที่ไทยเข้าร่วมในสงครามเวียดนามเต็มตัว ระบบขนส่งทางบกในไทยได้ขยายเครือข่ายไปจนจดชายแดนด้านตะวันออก”

“เครือข่ายการขนส่งทางอากาศ”
พร้อมๆกับการสร้างเครือข่ายการขนส่งทางบก สหรัฐก็ทุ่มเทวางเครือข่ายการขนส่งทางอากาศควบคู่ไปด้วย เพื่อความครบถ้วนทุกมิติของสงคราม

“ที่สำคัญไม่น้อยกว่าถนนและรถไฟคือระบบขนส่งทางอากาศ เอกสารของยูซ่อมระบุถึงเป้าหมายของการพัฒนาระบบขนส่งทางอากาศว่า เพื่อให้ไทยมีสนามบินทันสมัยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการทหาร ทำหน้าที่ทั้งขนส่งในกิจการบินพลเรือนและเป็นฐานป้องกันทางอากาศสำหรับประเทศไทยเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐ
อเมริกาและซีโต้

นับแต่เมษายน 2498 ยูซ่อมได้เริ่มโครงการพัฒนาและขยายสนามบินในไทยอย่างขนานใหญ่(ต่อมาภาระด้านนี้ได้ยกไปให้กับจัสแมก) การก่อสร้างสนามบินที่โคราช ตาคลี อุดรธานี อุบลราชธานี และเชียงใหม่ เสร็จสมบูรณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2503 อเมริกายังช่วยติดตั้งอุปกรณ์สมัยใหม่ให้กับสนามบินที่พิษณุโลก สงขลา ภูเก็ต เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ แม่สอด ตาก ฯลฯ

“เครือข่ายสื่อสารโทรคมนาคม”
การติดต่อสื่อสารเป็นอีกปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการทำสงคราม ซึ่งขณะนั้นระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทยยังไม่ทันสมัยพอที่จะรองรับแนวความคิดทางยุทธศาสตร์ในการทำสงครามของอเมริกาได้ จึงเป็นอีกโครงการลงทุนที่สำคัญต่อประเทศไทย

“ระบบสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก็ได้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าในยุคนี้ด้วยเช่นกัน ในปี 2504 อเมริกาได้ช่วยก่อสร้างหอบังคับการบินที่สนามบินดอนเมือง ทำให้กรุงเทพฯมีระบบควบคุมการบินที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปลายปีเดียวกันนั้นเอง ดอนเมืองก็ถูกใช้เป็นฐานปฏิบัติการของหน่วยลาดตระเวนทางอากาศของอเมริกาในลาว

ต่อมาเมื่อมีการสร้างฐานทัพเพิ่มขึ้น ดอนเมืองจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการขนส่งทางอากาศระหว่างไทยกับสหรัฐ และเป็นฐานสนับสนุน-ประสานงานส่งกำลังบำรุง
ในปีเดียวกันสหรัฐยังได้พัฒนาฐานทัพที่ตาคลี จังหวัดนครสวรรค์”

“การก่อสร้างฐานทัพในไทย”
"เมื่อรัฐบาลโงดินห์เดียมถูกรัฐประหารในปี 2506 วอชิงตันเริ่มตระหนักว่าสถานการณ์ในเวียดนามอาจขยายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ขณะที่ฐานทัพในเวียดนามใต้ไม่สามารถขยายต่อไปได้

การขยายสงครามในเวียดนามทำให้อเมริกาต้องการฐานทัพขนาดใหญ่เพื่อรองรับปฏิบัติการทางอากาศซึ่งในภูมิภาคนี้มีแต่รัฐบาลไทยเท่านั้นที่เปิดโอกาสทางการเมืองและกฎหมายให้อเมริกาเข้ามาใช้ดินแดนได้อย่างเสรี

อีกทั้งในแง่ภูมิศาสตร์ การที่ฐานทัพส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคอีสานทำให้สะดวกกับการบินไปโจมตีเวียดนามเหนือและลาว และในแง่ของความปลอดภัย อเมริกาไม่ต้องกังวลมากนักกับการก่อวินาศกรรมเครื่องบินดังที่ประสบเป็นประจำในเวียดนามใต้

ในแง่เศรษฐกิจ อเมริกาสามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการบินออกจากฐานทัพที่เกาะกวม ประมาณว่าหากส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดป้อมบินบี 52 ออกจากไทย ในแต่ละรอบจะใช้ระยะทางน้อยลง 4,000 ไมล์และประหยัดค่าใช้จ่ายถึง 8,000 ดอลลาร์

ฉะนั้นนับตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ทหารอเมริกันเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่ฐานทัพในไทยอย่างรวดเร็ว

ในสิ้นปี 2507 มีเจ้าหน้าที่กองทัพอากาศอเมริกัน 3,000 นายและเครื่องบินรบ 75 ลำ ประจำการอยู่ในไทย
ตัวเลขได้สูงขึ้นเป็น 40,000 คนในปี 2510

นับตั้งแต่ปี 2505 สหรัฐได้เริ่มพัฒนาโคราชให้เป็นฐานทัพทันสมัยที่พร้อมรบได้ทันที ในปี 2508 สหรัฐได้ติดตั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆเช่น รถถัง รถบรรทุก รถจี๊ป สะพาน ารงรถไฟ ปืนสารพัดชนิด และกระสุนมีมูลค่าถึง 50 ล้านดอลลาร์ให้กับฐานทัพแห่งนี้

โคราชจึงเป็นทั้งคลังยุทธสัมภาระ (Logistical Base) และฐานบินที่สำคัญในสงครามเวียดนาม เฉพาะในปี 2508 ฐานทัพที่โคราชส่งเครื่องบินอเมริกันออกโจมตีฝ่ายตรงข้ามมากกว่า 10,000 ครั้ง
ในเวลาเดียวกันสหรัฐก็เริ่มพัฒนาฐานทัพที่นครพนมให้เป็นที่ตั้งของหน่วยสืบและช่วยเหลือ (search and rescue)

ในปี 2507 ฐานทัพอเมริกันก็ถือกำเนิดขึ้นที่อุดรธานีอีกแห่งหนึ่งทำหน้าที่หลักเช่นเดียวกับที่นครพนม รวมทั้งเป็นที่ตั้งของหน่วยลาดตระเวนทางอากาศด้วยการถ่ายภาพเป้าหมายการโจมตีและบันทึกผลการโจมตี ฐานทัพที่อุดรธานียังถูกใช้เป็นสถานศึกษาปฏิบัติการรบทางอากาศให้กับทหารลาวฝ่ายขวา มีนักบินของไทยเข้าร่วมฝึกและปฏิบัติการจริงและสหรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในกิจกรรมลับนี้

ต่อมาเมื่อขนาดของกองกำลังอเมริกันในไทยขยายขึ้น วอชิงตันได้จัดตั้งกองบัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐขึ้นที่อุดรธานีโดยอยู่ใต้บังคับบัญชาของกองบัญชาการกองทัพอากาศที่ 7 ของสหรัฐในเวียดนามใต้

อุดรธานีจึงกลายเป็นศูนย์กลางควบคุมสงครามอากาศในไทย

ในปี 2507 รัฐบาลถนอมตกลงให้สหรัฐใช้ฐานทัพในไทยสำหรับหน่วยลาดตระเวนถ่ายภาพทางอากาศและปฏิบัติการสืบค้นและช่วยเหลือในลาว สถานทูตอเมริกาที่เวียงจันทน์สามารถสั่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ที่ฐานทัพอุดรให้ออกปฏิบัติการได้ตลอดเวลา

ต่อมาในเดือนมกราคม 2508 สหรัฐและรัฐบาลฝ่ายขวาลาวเริ่มปฏิบัติการร่วมทิ้งระเบิดโจมตีเส้นทางโฮจิมินห์ฐานทัพในไทยจึงได้รับใช้ปฏิบัติการลับทิ้งระเบิดในลาวที่มากขึ้นจากที่มีไม่ถึง 20 ครั้งในปี 2507 เพิ่มขึ้นเป็น 1,563 ครั้งในปี 2508 7,316 ครั้งในปี 2509 67,00 ครั้งในปี 2511 และมากกว่า 90,000 ครั้งในปี 2512

และเพื่อรองรับการขยายตัวของสงครามเวียดนาม ในเดือนมกราคม 2507 ประเทศไทยก็มีฐานทัพเพิ่มขึ้นอีกแห่งที่อุบลราชธานี แค่ระยะ 6 เดือนแรกที่เปิดทำการ ฐานทัพที่อุบลได้ส่งเครื่องบินออกปฏิบัติการรบมากกว่า 10,000 เที่ยว และเมื่อถึงเดือนสิงหาคม 2511 ตัวเลขได้ทะยานขึ้นมากกว่า 50,000 เที่ยว”

“กำเนิดสนามบินอู่ตะเภา”
สนามบินอู่ตะเภาอันเลื่องชื่อในฐานะฐานบิน “ป้อมบิน B-52” ในอดีตและสนามบินพานิชย์นานาชาติในปัจจุบันก็ถือกำเนิดในห้วงเวลาเดียวกันนี้

“และเพื่อต้อนรับป้อมบินรบ B-52 สหรัฐได้ลงมือสร้างลานบินขนาด 11,000 ฟุตให้กับฐานทัพของกองทัพอากาศไทยที่อู่ตะเภาจนเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2509

และในปลายปี 2511 สหรัฐมีเครื่องบินรบประจำการอยู่ในไทย 600 ลำ กำลังทหารอเมริกันในไทยขึ้นสูงสุดในปี 2516 เป็น 48,000 นาย ต่อมาในปี 2515 สนามบินที่อำเภอน้ำพองจังหวัดขอนแก่นได้รับการปรับปรุงเพื่อต้อนรับเครื่องบินไอพ่นโจมตีทิ้งระเบิดที่ย้ายมาจากดานัง.

บทบาทของสหรัฐในไทยที่อเมริกันเรียกว่า "the unsinkable aircraft carrier' ยังไม่จบ










“ถึงครา ‘ราชินีแห่งสนามรบ’…”




.......ต่อมารัฐบาลลาวยังได้ร้องขอกำลังทหารราบขนาดกรมผสม ซึ่งมีหน่วยรบหลัก 3 กองพันทหารราบจากไทยไปเพิ่มเติมกำลังอีก โดยรัฐบาลอเมริกายืนยันที่จะให้การสนับสนุนการปฏิบัติของกำลังทหารไทยทั้งสิ้น.........

ประเทศไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวในกลุ่มประเทศอินโดจีนในช่วงต้นของสงครามเย็นตั้งแต่ พ.ศ.2493 ที่สหรัฐยื่นมือเข้ามาและได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เริ่มจากการให้การรับรองรัฐบาลจักรพรรดิเบาได๋แห่งเวียดนามใต้ การส่งกำลังไปร่วมรบในเกาหลี การก่อตั้งองค์การซีโต้ ฯลฯ ขณะที่การช่วยเหลือทั้งด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และสังคมจากสหรัฐก็หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เวลายิ่งผ่านไปความสัมพันธ์ก็พัฒนาเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นตามลำดับ โดยมีซีไอเอเป็นกลไกหลักเชื่อมความสัมพันธ์

กระทั่งเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญของประเทศไทย คือการรัฐประหารของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อ พ.ศ.2500 ความสัมพันธ์ ไทย-สหรัฐ นอกจากจะไม่เปลี่ยนแปลงแล้วยังพัฒนาไปสู่ความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการส่งกำลังติดอาวุธจากไทยเข้าไปในลาว เริ่มจากบทบาท “ที่ปรึกษา” ของ “พารู” หลังร้อยเอก กองแล ทำการปฏิวัติเมื่อ พ.ศ.2503 แล้วขยายตัวไปสู่การส่งหน่วยทหารปืนใหญ่เข้าไปให้การสนับสนุนการรบของฝ่ายขวาที่ทหารไทยไม่เพียงต้องเผชิญหน้ากับลาวฝ่ายซ้าย แต่รวมทั้งกองกำลังอันแข็งเกร่งจากเวียดนาม
เหนืออีกด้วย

8 ธันวาคม พ.ศ.2506 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จอมพล ถนอม กิตติขจร รับหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อ บทบาทของประเทศไทยในสมรภูมิลาวขยายตัวยิ่งขึ้นไปอีก จากกองร้อยทหารปืนใหญ่ที่เข้าไปร่วมรบในลาวเพียงระยะสั้นๆก็ขยายตัวเป็นปักหลักถาวรเพื่อป้องกันเมืองสุย-ชายขอบทุ่งไหหินในนามของ “กองร้อย เอสอาร์” ตั้งแต่ พ.ศ.2507 จนกระทั่งเผชิญหน้ากับกำลังที่เหนือกว่าของเวียดนามเหนือ กองร้อยเอสอาร์ 8 ต้องถอนตัวกลับเมื่อ พ.ศ.2512

พ.ศ.2510 ขณะที่กองร้อยเอสอาร์ 6 ยังคงปฏิบัติการป้องกันเมืองสุยอยู่นั้น รัฐบาลไทยที่มี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีก็จัดส่งทหารไทยในนาม “จงอางศึก”เข้าร่วมรบในสมรภูมิเวียดนาม

พ.ศ.2513 ทหารไทยกลับสู่สมรภูมิลับในลาวอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ไม่เพียงแต่กองร้อยทหารปืนใหญ่เท่านั้น แต่ยังมีกำลังทหารราบ “ราชินีแห่งสนามรบ” อีกด้วย
สงครามในลาวกำลังขยายตัว...

การถอนตัวของกองร้อยเอสอาร์ 8 เมื่อ พ.ศ.2512 ส่งผลอย่างสำคัญต่อการรบ เวียดนามเหนือทุ่มเทกำลังเข้าสู่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มี “เส้นทางโฮจิมินห์”พาดผ่าน จนกระทั่งเข้ายึดทุ่งไหหิน และเมืองสุยไว้ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2513 และมีสิ่งบอกเหตุว่าจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่เพียงทุ่งไหหินเท่านั้น
แต่เป้าหมายต่อไปคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ล่องแจ้ง ศาลาภูคูณ และท่าเวียง เพื่อควบคุมพื้นที่ทุ่งไหหินให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งหมายถึงความปลอดภัยของเส้นทางโฮจิมินห์ หัวใจหลักของสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้

เมื่อทุ่งไหหินและเมืองสุยตกอยู่ภายใต้การยึดครองของเวียดนามเหนือแล้ว กำลังทหารกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 โดยการนำของนายพลวังเปา ก็ต้องร่นถอยมาทางใต้ แล้ววางกำลังตั้งรับ ตามแนว บ.นา -ภูล่องมาด - ถ้ำตำลึง - ภูผาไซ - คังโค้ โดยใช้ล่องแจ้ง และซำทองเป็นที่มั่นสุดท้าย

กลางเดือนมีนาคม 2513 เวียดนามเหนือเปิดการรุกรบขนานใหญ่อีกครั้งหนึ่ง กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 จึงอยู่ในภาวะอันตรายหนักยิ่งขึ้น และเกือบจะต้องเสียที่มั่นสำคัญบริเวณล่องแจ้งไปอีก รัฐบาลลาวโดยมีเจ้าสุวรรณภูมาเป็นนายกรัฐมนตรีและด้วยการสนับสนุนจากอเมริกา ได้ร้องขอกำลังรบของไทยไปสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 เพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทอง ที่มั่นสุดท้ายของสมรภูมิทุ่งไหหิน

26 ก.พ. 2513 รัฐบาลไทยได้เปิดการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราชอาณาจักรกลาว - คณะกรรมการ คท.” ครั้งที่ 16 เป็นการเร่งด่วน จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้จัดทำ “โครงการ วีพี.” และให้กองทัพบกเตรียมจัด “กองร้อยทหารปืนใหญ่ทดลอง 12/1 (เอสอาร์ 9)” เพื่อส่งเข้าปฏิบัติการสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ที่ล่องแจ้ง โดยใช้นามรหัส “เอวีพี – 1”

กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี - 1 จะเป็นหน่วยแรกในโครงการ วีพี. ที่เข้าปฏิบัติการในพื้นที่การรบ และเป็นหน่วยที่ช่วยกอบกู้สถานการณ์บริเวณโล่งแจ้งไว้ได้

ต่อมารัฐบาลลาวยังได้ร้องขอกำลังทหารราบขนาดกรมผสม ซึ่งมีหน่วยรบหลัก 3 กองพันทหารราบจากไทยไปเพิ่มเติมกำลังอีก โดยรัฐบาลอเมริกายืนยันที่จะให้การสนับสนุนการปฏิบัติของกำลังทหารไทยทั้งสิ้น
จอมพล ถนอม กิตติขจร จึงได้สั่งการให้ กองทัพบกส่งกำลัง 1 กองพันทหารราบ เข้าปฏิบัติการสนับสนุน กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 และให้เตรียมกำลังเพิ่มเติมอีก 2 กองพันทหารราบ โดยให้จัดกำลังรบหลักจาก กรมผสมที่ 13 อุดรธานี และให้สนธิกำลังจากกรมผสมที่ 3 นครราชสีมา และกรมผสมที่ 6 อุบลราชธานี แล้วส่งมอบการบังคับบัญชาให้หน่วยผสม 333 ซึ่งมี พันเอก วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ “เทพ” เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของสมรภูมิลาว

หน่วยผสม 333 ได้ส่งกำลังทั้งหมดที่ได้รับมอบเข้าปฏิบัติการในเขตกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 คือ 3 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ (เอวีพี-1 และ เอวีพี-2 ที่จัดเพิ่ม) และกองบังคับการ ฉก.วีพี. ตามโครงการ “วีพี.”

หน่วยทหารปืนใหญ่ ใช้นามรหัส “เอวีพี (ARTILLERY VANG PAO)” ประกอบด้วย กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี – 1” และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี – 2” ส่วนหน่วยทหารราบใช้นามรหัส“ไอวีพี (INFANTRY VANG PAO) “ประกอบด้วย กองพันทหารราบ “ไอวีพี – 11” , ไอวีพี - 12 และ “ไอวีพี – 13” ตามลำดับ

“เอวีพี -ทหารปืนใหญ่”
กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี – 1” ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ลพบุรี ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการและจัดกำลังพลจากหน่วยทหารปืนใหญ่ต่างๆโดยกำหนดเป็นโควต้าแบ่งเฉลี่ยให้ทุกหน่วยตามความเหมาะสมมี ร.อ.นานศักดิ์ ข่มไพรี เป็น ผู้บังคับกองร้อย ร.ท.อุดม บุญมา เป็นรองผู้บังคับกองร้อย และ ร.ต.เกษมชาติ นเรศเสนีย์ เป็น ผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

กองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอวีพี – 2” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการและจัดกำลังพลจาก กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 13 อุดรธานี มี พ.ต.อำพน บุตรเมฆ เป็นผู้บังคับทหารปืนใหญ่ทางยุทธวิธี ควบคุมการปฏิบัติของทั้งสองกองร้อยทหารปืนใหญ่ ร.อ.ทองมา วุฒิเสน เป็น ผู้บังคับกองร้อย ร.ท. พินัย มีบุศย์ เป็น รองผู้บังคับกองร้อย ร.ต.พงษ์เสริม นภาพงษ์รัชนี เป็น ผู้ช่วยรองผู้บังคับกองร้อย

“ไอวีพี -หหารราบ”
กองพันทหารราบ “ไอวีพี – 11” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการและจัดกำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 3 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.ชาญ สะท้อนดี เป็น ผู้บังคับพัน พ.ต.จรูญ สุกใส เป็น รองผู้บังคับกองพัน

กองพันทหารราบ “ไอวีพี – 12” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการเช่นเดียวกัน จัดกำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 1 กรมผสมที่ 13 มี พ.ท.สง่า สายมงคล เป็น ผู้บังคับกองพัน ร.อ.ศักดิ์ แก้วก่า เป็นรองผู้บังคับกองพัน

“ไอวีพี – 13” กรมผสมที่ 13 อุดรธานี เป็นหน่วยดำเนินการเช่นเดียวกัน จัดกำลังพลจาก กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 13 เพิ่มด้วยกองพันทหารราบจากกรมผสมที่ 6 -1 กองร้อย และจากกองพันทหารราบ กรมผสมที่ 3 - 2 กองร้อย โดยมี พ.ท.ไพศาล คำสุพรหม เป็น ผบ.พัน และ พ.ต.สนอง สุทธา เป็น รอง ผบ.พัน

นี่จึงนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวของประวัติศาสตร์แห่งสมรภูมิลับในลาว ที่กำลังทหารประจำการไทยจากหน่วยรบหลัก “ทหารปืนใหญ่-ราชาแห่งสนามรบ” จะได้ยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมสำแดงพลานุภาพกับ “ทหารราบ-ราชินีแห่งสนามรบ”

มีนาคม 2513 นักรบไทยเหล่านี้ทุกคนถอดเครื่องหมายบนเครื่องแต่งกายชุดสนามออก ยื่นใบลาออกจากทางราชการ ลบตัวเองออกจากทำเนียบกำลังรบ แปลงร่างเป็น “นักรบนิรนาม”
แล้วทยอยเดินทางเข้าสู่สมรภูมิลับในลาวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนแห่งโลกเสรี.



“การต่อต้านสงครามในสหรัฐ”

...“Hey! Hey! L.B.J.! How many kids did you kill today ?...



พ.ศ.2513 ที่รัฐบาลไทยส่งกำลังทหารประจำการขนาดหนึ่งกรมผสมเข้าไปในลาวนั้น สังคมอเมริกากำลังก้าวเข้าสู่ความแตกแยกที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ จากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้...

ปลายปี พ.ศ.2510 (ค.ศ.1967) มีทหารอเมริกันกว่า 475,000 คนในเวียดนาม ฝ่ายบริหารหลายคนเริ่มสงสัยในอนาคตของสงครามที่มองไม่เห็นชัยชนะครั้งนี้ จำนวนพลเรือนชาวเวียดนามที่เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นหมื่นๆคน

ปฏิบัติการ “ค้นหาและทำลาย -Search and Destroy” พวกเวียดกงให้ผลตรงกันข้าม ทำให้ชาวบ้านที่ถูกเผาทำลายบ้านเรือนเพราะสงสัยว่าให้ที่หลบซ่อนแก่พวกเวียดกง หันไปให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายข้าศึกอย่างลับๆ และมีความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับคนอเมริกันในเวียดนามใต้ พลเรือนที่บริสุทธิ์ถูกจับเข้าแถวยิงทิ้งเพราะไม่แน่ใจว่าผู้ใดเป็นเวียดกงหรือให้การช่วยเหลือจากพวกเวียดกง หมู่บ้านที่ถูกสงสัยว่าเป็นมิตรกับข้าศึกถูกทำลาย ป่าหนอง บึง ลำธาร ถูกทำลายด้วยสารพิษเคมีและลูกระเบิดร้ายแรงนานาชนิดยิ่งกว่าสงครามครั้งใดๆ เช่น ระเบิดนาปาล์ม ระเบิดเชื้อโรค ระเบิดพลาสติกที่สะเก็ดระเบิดฝังร่างแล้วผ่าตัดออกไม่ได้ นอกจากพลเรือนจะล้มตายเป็นหมื่นๆคนแล้ว บ้านเมืองในเวียดนามยังปรักหักพังพินาศ ป่าอันไพศาลกลายเป็นดินแดนร้างว่างเปล่าด้วยฤทธิ์ระเบิดและสารเคมี

เวียดนามเหนือเป็นแผ่นดินที่มีแต่สิ่งปรักหักพัง ทหารอเมริกันได้รับคำปลอบใจว่า “เราจำเป็นจะต้องทำลายเมืองเพื่อรักษาดินแดนไว้มิให้ตกอยู่ในเงื้อมมือพวกคอมมิวนิสต์” แต่ยิ่งรบเวียดนามเหนือและเวียดกงก็ยิ่งทรหด เพราะเชื่อว่าตนต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของตนเองและคิดว่าตนจะต้องชนะ เพราะคาดว่าคนอเมริกันไม่ชอบทำสงครามยืดเยื้อที่ไกลมาตุภูมิถึง 5,000 ไมล์

ทั้งฝ่ายทหารและประธานาธิบดีจอห์นสันต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า จะต้องโหมกำลังโจมตีทางอากาศให้หนักยิ่งขึ้น ฝ่ายทหารต้องการจะทิ้งระเบิดกลางเมืองฮานอยและท่าเรือที่ไฮฟอง และบุกกัมพูชาและลาว แต่ประธานาธิบดีจอห์นสันวิตกว่าหากทำรุนแรงเกินไป อาจชักนำจีนให้เข้ามาร่วมในสงครามครั้งนี้ด้วย จึงระงับความคิดของฝ่ายทหาร

“การประท้วงสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกา”
เวียดนามเหนือมีประชากรราว 17 ล้านคนและพร้อมที่จะถูกเกณฑ์เพื่อรับใช้ชาติ ในขณะที่สหรัฐอเมริกามีประชากรถึง 200 กว่าล้านคนแต่ก็ไม่อาจใช้ต่อสู้สงครามเบ็ดเสร็จในเวียดนามใต้ได้เต็มที่เพราะเกิดการแตกแยกความคิดเห็นกันเอง

พวกหนึ่งเกิดไม่สมัครใจที่จะสู้รบในสงครามครั้งนี้ โดยพิจารณาว่าเป็นสงครามที่ผิดศีลธรรมและมิได้มีการประกาศสงครามเป็นทางการ บ้างก็คิดว่าการบุกเวียดนามเหนืออาจจะกระตุ้นให้อาสาสมัครชาวจีนหรือชาวรัสเซียเข้าแทรกแซงซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

พวกที่สนับสนุนการทำสงครามเพราะเห็นด้วยกับการสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีโดมิโนในของรัฐบาล ได้ชื่อว่า “พวกเหยี่ยว” ส่วนพวกที่ต่อต้านสงครามเวียดนามเพื่อสันติภาพได้ชื่อว่า “พวกพิราบ”

ปลายปี พ.ศ.2508 (ค.ศ 1965) คนอเมริกันที่มีใจเป็นกลางเริ่มเปลี่ยนความคิด ประธานาธิบดีจอห์นสันเริ่มได้ยินเสียงคัดค้านจากประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษาที่ถูกเกณฑ์ให้ไปทำสงครามราว 20,000 คนได้เดินขบวนประท้วงในกรุงวอชิงตันดีซี. และร้องตะโกนใส่ประธานาธิบดีจอห์นสันว่า “Hey! Hey! L.B.J.! How many kids did you kill today ?...วันนี้ฆ่าเด็กไปกี่คนแล้ว

เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 (ค.ศ. 1966) วุฒิสมาชิก โรเบิร์ต เคนเนดี เสนอให้สหรัฐอเมริกายอมรับรองขบวนการกู้ชาติเวียดนามและยอมให้พวกเวียดมินห์เข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับเวียดนามเหนือและใต้เพื่อยุติสงคราม แต่ประธานาธิบดีจอห์นสันไม่เห็นด้วย อ้างว่าจะทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ผู้นำของสังคมในวงการต่างๆก็เข้าร่วมประท้วงด้วยมากหลาย
จอร์จ เอฟ. เคนแนน เจ้าของทฤษฎีโดมิโนก็ร่วมคัดค้านด้วยและอ้างว่าทฤษฎีโดมิโนของตนหมายถึงการสกัดกั้นคอมมิวนิสต์ในยุโรปเท่านั้น

ในต้น พ.ศ.2511 (ค.ศ. 1968) นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเริ่มตระหนักกันมากขึ้นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำในการสู้รบอย่างน่าวิตก นักศึกษารวมตัวกันประท้วงสงครามเวียดนามอย่างกว้างขวางตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2508 (ค.ศ. 1965) ในเดือนพฤศจิกายนมีประชาชนกว่า 30,000 คนเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนามในกรุงวอชิงตันดีซี

ในเดือนตุลาคม พ.ศ.2510 (ค.ศ. 1967) พวกพิราบราว 200,000 คนร่วมเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนามโดยเดินจากหน้าอนุสาวรีย์ของประธานาธิบดีลินคอล์นไปยังอาคารเพนตากอนที่ตั้งกระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาซึ่งรายล้อมด้วยกองทหารถือดาบปลายปืนอยู่อย่างหนาแน่น แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างนโยบายของรัฐบาลกับความคิดของประชาชน

นักศึกษาได้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลเมื่อ พ.ศ.2511 (พ.ศ 1968) โดยเผาหมายเกณฑ์ทหาร ถือป้ายประท้วงในมหาวิทยาลัย บ้างก็หลบหนีการเกณฑ์ทหารไปอยู่แคนาดาหรือสวีเดน บ้างก็ยอมรับการติดคุกแทนการถูกเกณฑ์ไปรบในสงครามที่ตนประณามว่าโง่เง่าและผิดศีลธรรม

ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์อเมริกาที่คนหนุ่มสาวจะรวมตัวกันประท้วงผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองถึงขนาดนี้ คนหนุ่มไม่น้อยจำใจเข้าประจำการในกองทัพโดยยึดเอาพันธะที่จะต้องปกป้องระบอบประชาธิปไตยเข้าข่มความรู้สึกต่อต้านสงครามของตนเอง ฝ่ายพ่อแม่ที่เป็นคนชั้นกลางผู้เข้าใจความเป็นมาของสงครามก็เริ่มสงสัยว่า สงครามเวียดนามจะคุ้มค่ากับการสูญเสียชีวิตลูกชายของตนหรือไม่
การประท้วงจึงกินวงกว้างขึ้นทุกทีจากมหาวิทยาลัยออกไปสู่ท้องถนน กระทรวงกลาโหม และฐานทัพต่างๆ

“การโจมตีเวียดนามใต้ในวันตรุษญวน”
วันที่ 30 มกราคมพ. ศ. 1968 อันเป็นวันหยุดพักการรบเนื่องจากอยู่ในระหว่างตรุษญวนหรือวันขึ้นปีใหม่ทางจันทรคติ กองทัพเวียดนามเหนือกับพวกเวียดกงยกเข้าโจมตีกรุงไซ่ง่อนและเมืองสำคัญใหญ่น้อยทั่วเวียดนามใต้ 30 กว่าเมือง
ในกรุงไซ่ง่อนนครหลวงของเวียดนามใต้ กองทัพเวียดนามเหนือเข้ายึดครองจุดสำคัญต่างๆในเมืองและยึดครองสถานทูตอเมริกันอยู่หลายชั่วโมง การรบอย่างหนักในกรุงไซง่อนดำเนินอยู่จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และที่เมืองเว้นครหลวงเก่าก็ถูกกองทัพเวียดนามเหนือยึดครองอยู่จนถึงวันที่ 24 เดือนเดียวกันนั้น ฝ่ายเวียดนามใต้จึงสามารถผลักดันออกไปได้ การรบครั้งนี้ทำลายศูนย์กลางทางศาสนาและวัฒนธรรมของเวียดนามใต้พินาศลงกว่าร้อยละ 80
ฝ่ายเวียดนามเหนือซึ่งใช้กำลังพลราว 50,000 ถึง 60,000 คนต้องสูญเสียทหารถึง 32,000 คนในการบุกนครหลวงของเวียดนามใต้ครั้งนี้

ประธานาธิบดีจอห์นสันแถลงว่าสหรัฐอเมริกายังคงควบคุมสถานการณ์ในเวียดนามไว้ได้ แต่ภาพที่พวกเวียดกงบุกยึดสถานทูตอเมริกันใจกลางกรุงไซ่ง่อนและการสู้รบอย่างหนักในนครหลวงแห่งนี้ได้แพร่ไปทั่วสหรัฐอเมริกาทางจอโทรทัศน์ ฝ่ายหนังสือพิมพ์ก็รายงานว่า กองทัพอเมริกันต้องระดมกำลังอย่างหนักขับไล่กองทัพเวียดนามหรือออกจากเมืองเว้

ถึงแม้ว่าเวียดนามใต้จะมีชัยชนะสามารถขับกองทัพเวียดนามเหนือออกไปจากการยึดครองได้หมดโดยเสียทหารน้อยกว่าฝ่ายบุกรุกมากก็ตาม แต่การรบของฝ่ายเวียดนามเหนือในวันตรุษญวนในลักษณะเช่นนี้ทำให้คนอเมริกันตกตะลึง มีคำถามหลายประการที่ประชาชนกระวนกระวายใจอยากรู้คำตอบ พวกเวียดกงจะโจมตีที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ พวกเวียดกงได้เปรียบกว่ากองทัพอเมริกันเพราะรบในบ้านเกิดของตนเอง เหตุใด “พวกเวียดนามของเขา”จึงรบได้แข็งขันกว่า “พวกเวียดนามของเรา” ถ้าสรรพาวุธของอเมริกัน เงินดอลลาร์และทหารกว่าครึ่งล้านยังเอาชนะพวกเวียดกงไม่ได้ แล้วจะเอาอะไรมาปราบคนพวกนี้ หรือว่าคนอเมริกันถูกหลอกมาตลอดเวลาที่ผ่านมาว่าจะชนะ
เหตุใดเรายิ่งฆ่าพวกเวียดนามยิ่งแข็งแกร่งขึ้น

การโจมตีครั้งนี้ได้ทำลายความมั่นใจของคนอเมริกันทั้งชาติที่จะเอาชนะสงครามและทำลายอนาคตทางการเมืองของประธานาธิบดีจอห์นสันในการจะรับเลือกตั้งในปีนั้นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ผู้เข้ารับตำแหน่งสืบต่อจากรัฐมนตรีคนเดิมคือ โรเบิร์ต แม็กนามารา แจ้งให้ประธานาธิบดีจอห์นสันทราบว่าสงครามครั้งนี้ไม่มีทางชนะถึงแม้ว่านายพลเวสต์มอร์แลนด์จะขอให้ส่งทหารเพิ่มขึ้นอีก 206,000 คนก็ตาม

ประธานาธิบดีจอห์นสันต้องเผชิญกับการต่อต้านการโหมกำลังโจมตีเวียดนามเหนือจากพรรคเดโมแครตของตนเองอย่างหนัก ที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือนของเขารายงานว่าประชาชนส่วนใหญ่รวมทั้งนักธุรกิจนายทุนคนสำคัญของชาติไม่สนับสนุนนโยบายทำสงครามในเวียดนามของเขาแล้วเมื่อถึงขั้นนี้ประธานาธิบดีจอห์นสันจึงตระหนักได้ว่าตนไม่สามารถโหมกำลังทำสงครามต่อไปได้อีกแล้วและหากเขาดึงดันจะสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งก็จะทำให้พรรคเดโมแครตต้องแตกแยกกันอย่างหนัก

วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2511 (ค.ศ. 1968) ประธานาธิบดีจอห์นสันได้ปรากฏตัวทางโทรทัศน์และประกาศให้ประชาชนทราบว่าได้สั่งให้หยุดทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือแล้ว เว้นแต่บริเวณใต้เส้นขนานที่ 20 เพื่อขอเปิดการเจรจากับเวียดนามเหนือ
และขอถอนตัวเองออกจากการสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในวาระต่อไป

หลังจากลดการโหมกำลังทิ้งระเบิดแล้วสงครามเวียดนามยังดำเนินควบคู่กันไปกับการเจรจาสันติภาพระหว่างสหรัฐอเมริกากับเวียดนามเหนือ
ในกลาง พ.ศ.2511 (ค.ศ. 1968) ค่าใช้จ่ายในสงครามเวียดนามมีมูลค่าถึงวันละ 66 ล้านดอลลาร์ในการปฏิบัติการบางครั้งที่ไม่ค่อยได้ผลดีนักต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 800,000 ดอลลาร์เพื่อสังหารเวียดกง 1 คน

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประชาชนอเมริกันไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาวการณ์ในสงครามเท่าใดนักนอกไปจากข่าวสารของทางการเป็นส่วนใหญ่ที่แจ้งว่าฝ่ายเวียดนามใต้เป็นฝ่ายได้เปรียบในทางการสงครามอยู่เสมอและการสงครามใกล้จะชนะแล้วทุกครั้งที่มีการเกณฑ์ทหารเพิ่มขึ้น จนกระทั่งได้ชมภาพการโจมตีครั้งใหญ่ในวันตรุษญวนทางจอโทรทัศน์และได้รับการยืนยันจาก วอลเตอร์ ครอนไคต์ ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ของบริษัท ซีบีเอส. ผู้เดินทางไปสังเกตการณ์ในกลุ่มไซ่ง่อนด้วยตาตนเอง ครอนไคต์ ถึงกับอุทานกับผู้นำทางในกรุงไซ่ง่อนว่า “เกิดอะไรขึ้นในขุมนรกนี้ ผมคิดว่าเรากำลังจะชนะสงครามเสียอีก”
เมื่อครอนไครต์กลับถึงสหรัฐอเมริกา เขาบอกกับประชาชนผู้ชมโทรทัศน์ว่า “ครั้งนี้ดูจะเป็นที่แน่นอนกว่าครั้งก่อนๆว่า ประสบการณ์หลั่งเลือดในเวียดนามจะต้องยุติลงโดยเสมอกันทั้งสองฝ่าย”

“เหตุผลในการประท้วงสงครามเวียดนาม”
พวกพิราบพิจารณาว่าการขัดแย้งในเวียดนามเป็นสงครามกลางเมืองของชาวเวียดนามเองพวกเวียดกงและแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติเป็นขบวนการชาตินิยม สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของเวียดนามเอง ที่กองทัพเวียดนามใต้และสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยจะได้ชัยชนะก็เพราะศัตรูได้รับการสนับสนุนจากประชาชนชาวเวียดนามใต้เป็นส่วนใหญ่ เหตุผลที่อ้างว่าสงครามครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายจะสกัดกั้นอิทธิพลของจีนก็ฟังไม่ขึ้น เพราะชาวเวียดนามเป็นปฏิปักษ์กับจีนตลอดมาในประวัติศาสตร์ พวกประท้วงสงครามเชื่อว่าชาวเวียดนามต้องการเอกราชและคงจะขัดขืนหากจีนจะเข้าครอบครองเป็นอาณานิคม

พวกรักสันติภาพ ยังคัดค้านการทำสงครามเวียดนามในแง่ของมนุษยธรรม คัดค้านการระดมทิ้งระเบิดนาปาล์มและสงครามที่ใช้สารพิษร้ายแรงที่ทำให้พลเรือนนับหมื่นคนล้มตายและไร้ที่อยู่อาศัย

ภาพการค้นหาและทำลายล้างอย่างโหดร้ายทารุณที่ผ่านจอโทรทัศน์ในห้องรับแขกของอเมริกันทั่วประเทศคืนแล้วคืนเล่าไม่อาจทำให้คนอเมริกันภายในประเทศนิ่งดูดายอยู่ได้ พวกประท้วงสงครามที่หัวรุนแรงสรุปเอาว่า สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามเพื่อลัทธิจักรวรรดินิยมเสียเอง บ้างก็กล่าวหายิ่งกว่านั้นว่า สงครามครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะวิเคราะห์ผิดพลาด แต่เกิดเพราะนโยบายที่ต้องการจะเป็นเจ้าโลก

พันธมิตรของสหรัฐอเมริกาก็พลอยวิตกกังวลไปด้วยที่เห็นสหรัฐอเมริกาทุ่มเททั้งคนและทรัพยากรเพื่อสงครามโพ้นทะเลที่มองไม่เห็นชัยชนะ แต่ก็ไม่ต้องการจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นสงครามที่จะทำให้ตนเองเจ็บปวด ดังที่ประธานาธิบดีเดอโกลแห่งฝรั่งเศสเคยเตือนสหรัฐอเมริกาไว้ก่อนหน้านี้ แม้แต่ทหารอเมริกันเอง บางคนก็สงสัยในความถูกต้องจากการทำสงครามครั้งนี้ ข่าวการติดยาเสพติด การขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา การห้อยสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพสันติภาพ และร้ายที่สุดการที่ทหารเกณฑ์บางคนสังหารนายทหารผู้บังคับบัญชาของตนเองด้วยลูกระเบิดมือและระเบิดชนิดอื่น บ้างก็วิจารณ์ข้อเสนอยุติสงครามของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะให้เวียดนามเหนือยอมรับเช่นให้กวาดล้างพวกเวียดกง ให้ถอนทหารเวียดนามหรือออกจากเวียดนามใต้ก่อนสหรัฐอเมริกาและให้รัฐบาลเวียดนามใต้ยังคงอยู่ต่อไปซึ่งเวียดนามเหนือถือว่าเป็นการปราชัยของตน
ปัญหาสงครามเวียดนามกลายเป็นประเด็นใหญ่ของการขัดแย้งในรัฐสภา

แต่กระนั้นรัฐบาลไทยของจอมพล ถนอม กิตติขจร ยังคงมุ่งมั่นในนโยบายยืนหยัดเคียงข้างสหรัฐอเมริกาต่อไป ทั้งการส่งกองกำลังจงอางศึกไปร่วมรบในเวียดนาม รวมทั้งการเพิ่มกำลังทหารเข้าไปในลาวอย่างต่อเนื่อง


ขอบพระคุณข้อมูลจาก “ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ค.ศ.1945-ปัจจุบัน” ของ ศ.สมร นิติภัณฑ์ประภาส”





“สมรภูมิแรกของทหารเสือพราน”

......การเข้าตีบ้านห้วยทรายของกรมทหารราบที่ 9 เวียดนามเหนือ เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย Sapper 1 หมวด เริ่มขึ้นเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2514 ผลการสู้รบปรากฏว่า ทหารประจำการของเวียดนามเหนือเสียชีวิตในที่รบนับศพได้ 131 ศพ.....

นับตั้งแต่กองทัพไทยได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามลับในลาว ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2503 เริ่มจากการส่งกำลังตำรวจตระเวนชายแดน “พารู” จากนั้นก็ขยายตัวไปสู่การจัดส่งกำลังกองร้อยทหารปืนใหญ่ “เอสอาร์”ใน พ.ศ.2507 รวมทั้งต่อมามีการส่งกำลังขนาดกรมผสมและขยายเป็นขนาดกองพลเข้าร่วมในสงครามเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ.2510 ส่วนในลาวก็มีการส่งกำลังทหารระดับกรมผสมทั้งทหารราบและทหารปืนใหญ่เข้าปฏิบัติการใน พ.ศ.2513 รวมทั้งสถานการณ์สู้รบในประเทศกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ส่งผลอย่างสำคัญทำให้เกิดความขาดแคลนกำลังพลของกองทัพบกอย่างหนัก โดยเฉพาะนายทหารระดับผู้บังคับหมวดซึ่งเป็นกำลังพื้นฐานในการรบ กองทัพบกจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเร่งรัดให้ นักเรียนนายร้อย จปร. ตั้งแต่ พ.ศ.2510 จบออกรับราชการก่อนกำหนด และเปิดหลักสูตร “นักเรียนนายร้อยพิเศษ” ขึ้นใน พ.ศ. 2511 เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนนายทหารระดับผู้บังคับหมวดดังกล่าว

นักเรียนนายร้อย จปร.หลักสูตรหลักที่ถูกเร่งรัดให้จบการศึกษาในปี 2510 คือ จปร.15 ซึ่งจำนวนไม่น้อยได้เข้าไปทำหน้าที่ระดับผู้บังคับหมวดในสงครามลาวซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับปฏิบัติการในสนาม และได้สร้างวีรกรรมไว้มากมาย จนกระทั่งสูญหายและเสียชีวิตในสนามรบไปเป็นจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับนักเรียนนายร้อย จปร.รุ่นถัดๆมาที่ทยอยกันเข้าสู่สนามรบแห่งนี้

นอกจากระดับนายทหาร กำลังพลระดับนายสิบก็ประสบปัญหาความขาดแคลนเช่นเดียวกัน ดังนั้นใน พ.ศ.2511 จึงมีการเปิดหลักสูตรพิเศษขึ้นเพิ่มเติมจากหลักสูตรนักเรียนนายสิบปกติ เรียกว่า “หลักสูตรเพิ่มเติมเวียดนามใต้-พวต.”เพื่อผลิตกำลังพลระดับผู้บังคับหมู่เพิ่มเติมเป็นการด่วน

การขยายกำลังพลในช่วงเวลานี้ก็เพื่อรองรับการสู้รบที่ขยายตัวขึ้นทั้งในลาว เวียดนาม และการรบในประเทศ

กล่าวสำหรับ ความขาดแคลนกำลังพลซึ่งมิได้จำกัดอยู่เฉพาะนายทหารระดับผู้บังคับหมวดและระดับนายสิบเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงกำลังพลระดับพลทหารด้วย ดังนั้นใน พ.ศ. 2513 กองทัพบกจึงได้จัดตั้งกองกำลังพิเศษที่เรียกกันว่า “ทหารเสือพราน”เพื่อส่งเข้าปฏิบัติการในลาว เป็นการเฉพาะ โดยเปิดรับอาสาสมัครจากบุคคลพลเรือนทั่วไปให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในระดับพลทหาร

เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มาได้สรุปความเป็นมาเบื้องต้นของทหารเสือพรานไว้ดังนี้...
“ ขณะที่สถานการณ์อยู่ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ ทางประเทศกัมพูชา รัฐบาลของนายพลลอนนอลซึ่งทำการสู้รบกับกำลังเขมรแดง (Khmer Rouge) ซึ่งเจ้าสีหนุเป็นผู้นำ และกลุ่มกัมพูชาอิสระอื่นๆที่มีจีนแดงสนับสนุนมีทีท่าที่จะเพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะจากกำลังเขมรทางภาคเหนือของประเทศกัมพูชาบริเวณจังหวัดอุดรมีไชย สถานการณ์ในกัมพูชาดังกล่าวทำให้นายพลลอนนอลได้ขอร้องประเทศไทยผ่านทางซีไอเอ ให้ส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยทำการสู้รบในบริเวณดังกล่าว

รัฐบาลไทยขณะนั้นซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดจึงตกลงใจที่จะส่งกำลังทหารเข้าไปช่วยนายพลลอนนอล โดยจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครจากทหารกองหนุนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งสามารถพูดและเข้าใจภาษาเขมร ตามโครงการ “อาสาสมัครเขมรเสรี-ขสส. ” และส่งกองกำลังดังกล่าวไปทำการฝึกที่ค่ายฝึกเขาไม้ปล้อง จังหวัดปราจีนบุรี”
ค่ายฝึกเขาไม้ปล้อง ปราจีนบุรีจึงเป็นค่ายฝึกแรกของโครงการทหารเสือพราน
“ อย่างไรก็ดี ขณะที่การเตรียมการส่งกำลังไปช่วยกัมพูชากำลังดำเนินไปตามขั้นตอนด้วยดี ได้เกิดอุปสรรคสำคัญเนื่องจากฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาของนายพลลอนนอลเกิดความวิตกกังวลและไม่มั่นใจต่อการที่กองทหารไทยจะเข้าไปปฏิบัติการในดินแดนของตน จึงตั้งเงื่อนไขนานาประการอันเป็นอุปสรรคเป็นอันมากต่อการดำเนินการของฝ่ายไทย ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงตัดสินใจยุติการดำเนินงานและล้มเลิกแผนการจัดตั้งกองกำลังอาสาสมัครเขมรเสรี พอดีกับที่ทางด้านลาวกำลังถูกคุกคามจากกองทัพเวียดนามเหนือ ซึ่งแทรกซึมเข้ามาตามเส้นทางโฮจิมินห์ (Hochiminh Trail) และล่วงล้ำเข้ามาทางภาคใต้ของลาวบริเวณแขวงคำม่วน แขวงจำปาศักดิ์ และอัตปือ สหรัฐอเมริกาโดย CIA จึงขอร้องรัฐบาลไทยให้เปลี่ยนพื้นที่การปฏิบัติการของกำลังอาสาสมัครจากกัมพูชาไปปฏิบัติการในลาวแทน

บก.หน่วยผสม 333 ได้ส่ง “อาจารย์ศก” (พ.อ.สุรเสฏฐ รามสมภพ) หัวหน้าทีม T (TANGO) จากปากเซ และทีม W (WHISKY) ที่สะหวันเขต ไปทำหน้าที่ผู้บังคับการกรมทหารเสือพรานอีกตำแหน่งหนึ่งและรับหน้าที่ทำการฝึกต่อจาก พ.อ.นิตย์ จันมา (นาถ) กำลังดังกล่าวเรียกชื่อว่า “ทหารเสือพราน” หรือ “Thai SGU - Speaial Guerrilla Unit ”
อนี่ง กองพันทหารเสือพรานจะมีชื่อรหัสซึ่งใช้เรียกกันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมาว่า “บีซี-Battalion Commando” ตามด้วยหมายเลข

“ได้มีการนำทหารที่ได้รับการฝึกเรียบร้อยแล้วเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C- 130 จากสนามบินในค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี ไปยังสนามบินปากเซ แล้วเคลื่อนย้ายต่อโดยเฮลิคอปเตอร์เข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่บ้านห้วยทรายบนที่ราบสูงโบโลเวน ห่างจากเมืองปากเซไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กม.”


หน่วยทหารเสือพรานหน่วยแรกที่เข้าสู่สมรภูมินี้คือ กองพันทหารเสือพรานที่ 41 และกองพันทหารเสือพรานที่ 42 “บีซี 601”และ “บีซี 602” จากค่ายฝึกเขาหญ้าปล้อง ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นค่ายฝึกแห่งแรกของโครงการทหารเสือพราน

“กองพันทหารเสือพรานเข้าที่ตั้งเรียบร้อยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2513 และเริ่มอพยพราษฎรบริเวณนั้นประมาณ 40 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ สร้างเครื่องกีดขวางโดยมีลำห้วย (ห้วยทราย) เป็นเครื่องกีดขวางธรรมชาติเป็นรูปตัว U ต่อมาได้รับการปรับปรุงพื้นที่กลางหมู่บ้านเป็นสนามบินขนาดเล็ก ให้เครื่อง Porter ของ CIA ขึ้นลงได้ด้วย”

การเข้าสู่พื้นที่ของทหารเสือพรานจากไทยเป็นการคุกคามต่อทหารเวียดนามเหนือโดยตรงเนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากเส้นทางโฮจิมินห์ อันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสูงสุดต่อการลำเลียงกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือจึงส่งกำลังขนาดใหญ่เพื่อทำลายล้างกองกำลังจากไทยหน่วยนี้

“ การเข้าตีบ้านห้วยทรายของกรมทหารราบที่ 9 เวียดนามเหนือ เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย Sapper 1 หมวด เริ่มขึ้นเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2514 ผลการสู้รบปรากฏว่า ทหารประจำการของเวียดนามเหนือเสียชีวิตในที่รบนับศพได้ 131 ศพ จับเชลยศึกที่บาดเจ็บได้ 2 คน ซึ่งเป็นนายทหารระดับผู้บังคับกองพันของเวียดนามเหนือ 1 คน เข้าใจว่าข้าศึกได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ฝ่ายเราสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นอันมาก
โดยที่ฝ่ายเรา (กองพันทหารเสือพรานที่ 42) เสียชีวิตเพียง 1 นาย

ชัยชนะอย่างสมบูรณ์แบบครั้งนี้ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 มกราคม 2514 ถึง หน.บก.ผสม 333 ชมเชยการปฏิบัติการสู้รบของกองพันทหารเสือพรานที่ 41 และ 42

หลังจากชัยชนะของกรมทหารเสือพรานที่บ้านห้วยทรายแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ โดย CIA ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองพันทหารเสือพรานเพิ่มขึ้นอีก
จนในที่สุดมีกำลังทหารราบ 27 กองพัน และกองพันทหารปืนใหญ่ 3 กองพัน รวม 30 กองพัน”

สมรภูมิแรกในประวัติศาสตร์ของทหารเสือพรานเมื่อปลาย พ.ศ. 2513 - ต้น พ.ศ. 2514 จึงอยู่ที่ลาวตอนใต้ แต่การรบที่สำคัญในเวลาต่อมาของทหารเสือพรานจะอยู่ที่ลาวตอนกลาง...
ทุ่งไหหิน.



“กำเนิดทหารเสือพราน”

......กล่าวโดยสรุปแล้ว ทหารเสือพรานจึงถือกำเนิดมาเพื่อเข้าทดแทนกำลังทหารประจำการจาก กรมผสมที่ 13 ที่เข้าปฏิบัติการในลาวใน พ.ศ.2513 และมีแผนจะถอนกำลังกลับใน พ.ศ.2514…..

ยังคงมีความเข้าใจกันว่า การส่งกำลังทหารไทยและต่อมาคือกองกำลังอาสาสมัครที่จะรู้จักกันดีในนาม “ทหารเสือพราน”เข้าไปปฏิบัติการในดินแดนราชอาณาจักรลาวตั้งแต่ พ.ศ.2513 เป็นการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศลาว แต่อีกด้านหนึ่งของความเป็นจริง ความมุ่งหมายสำคัญของรัฐบาลไทยในขณะนั้นคือการป้องกันมิให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ขยายพื้นที่การสู้รบเข้ามาในดินแดนไทย ซึ่งขณะนั้นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับฝ่ายสังคมนิยมทั้งจีน และเวียดนามเหนือกำลังขยายการปฏิบัติการในไทยอย่างกว้างขวาง

เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มาได้สรุปความเป็นมาของ “กำเนิดทหารเสือพราน” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2513 ขณะที่สถานการณ์ในลาวกำลังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบฝ่ายซ้ายซึ่งเวียดนามเหนือมีบทบาทอย่างสำคัญสนับสนุนการดำเนินการของลาวฝ่ายซ้าย ไว้ดังนี้

“ หน่วยรบเฉพาะกิจ วีพี (กองกำลังพิเศษ)
“ หน่วยรบเฉพาะกิจ วีพี (ฉก.วีพี แปรสภาพเป็น “กองกำลังพิเศษ” เมื่อ 10 พ.ย.14) มีพื้นที่ปฏิบัติการในพื้นที่ ทชล.ภาค 2 (ภาคกลาง)และบางส่วนของพื้นที่ ทชล.ภาค 4 (ภาคใต้)ในราชอาณาจักรลาว เนื่องจากมีสถานการณ์ไม่ปกติในราชอาณาจักรลาว อันจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย

ต้นปี พ.ศ.2513 สถานการณ์ในลาวเข้าสู่สภาวะคับขันและจะเป็นอันตรายโดยตรงต่อลาวและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทย เพราะฝ่ายคอมมิวนิสต์มีขบวนการปเทดลาวได้รับการสนับสนุนจากเวียดมินห์หรือเวียดนามเหนือ ส่งกำลังเข้าแย่งยึดพื้นที่ลาว โดยเข้ายึดครองทุ่งไหหินและเมืองสุยได้เมื่อเดือน ก.พ.13 และมีสิ่งบอกเหตุแน่ชัดว่าจะขยายผลการปฏิบัติเพื่อแย่งยึดพื้นที่ในราชอาณาจักรลาวไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อผลสำเร็จในการต่อรองกับฝ่ายรัฐบาล

ในเขต ทชล.ภาค 2 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้กำหนดเป้าหมายเข้ายึดปมคมนาคม ศูนย์กำลังและแหล่งสะสมเสบียงอาหาร เช่น ท่าเวียง, ท่าทม, ม.สุย, ศาลาภูคูน, ซำทอง และโล่งแจ้ง กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลซึ่งมีนายพลวังปาว เป็นผู้นำในเขต ทชล.ภาค 2 ต้องถอยร่นลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้ เนื่องจากมีกำลังพลและขาดแคลนอาวุธหนักได้พยายามรบหน่วงเวลายอมเสียพื้นที่แต่น้อย แต่ยังมีความจำเป็นต้องยึดพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ และปมคมนาคมไว้ให้มากที่สุด

ทหารฝ่ายรัฐบาลวางกำลังยึดรักษาอย่างเหนียวแน่นตามแนวบ้านนา – ภูล่องมาด – ภูผาไซ – คังโค้ โดยใช้ซำทองและโล่งแจ้งเป็นฐานอำนวยการรบและส่งกำลังบำรุง แต่ฝ่ายขบวนการปเทดลาวและผู้สนับสนุน ได้ใช้กำลังชนและกำลังยิงที่สูงกว่าปฏิบัติการรบครั้งใหญ่ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลในเขต ทชล.ภาค 2 ตกอยู่ในภาวะคับขัน พื้นที่สำคัญบางแห่งต้องเสียไป ทหารฝ่ายรัฐบาลมีความอิดโรยและเริ่มเสียขวัญเนื่องจากปฏิบัติการรบมานาน ขาดแคลนกำลังพลทดแทน แต่ฝ่ายขบวนการปเทดลาวได้รับกำลังพลและสิ่งอุปกรณ์เพิ่มเติมจากเวียดนามเหนือจึงสามารถรุกคืบหน้าได้

ก่อนเหตุการณ์คับขับดังกล่าวจะเกิดขึ้น เสด็จเจ้าสุวรรณภูมา นายกรัฐมนตรี รัฐบาลราชอาณาจักรลาว ทรงตระหนักถึงภัยที่จะมีต่อราชอาณาจักรลาว จึงได้เสด็จสู่ประเทศไทย เพื่อขอร้องรัฐบาลไทยพิจารณาจัดส่งเอกสารอาสาสมัครไปช่วยรบเพื่อป้องกันการรุกรานของฝ่ายคอมมิวนิสต์ โดยมีหน่วย “สกาย”ของซีไอเอ สหรัฐฯ เป็นฝ่ายสนับสนุนการปฏิบัติ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี รมต.กห. และ ผบ.ทหารสุงสุด ในฐานะประธานคณะกรรมการ คท. (คณะกรรมการที่ปรึกษาทางการทหาร) ได้เรียกประชุม คท. ครั้งที่ 16 เมื่อ 26 ก.ค.13 ตกลงให้กองทัพบกจัดกำลังไว้ 1 กรมผสม (ผส.) ขั้นแรกให้สามารถจัดกำลัง 1 กองพันทหารราบ (บีไอ) ไปปฏิบัติงานในพื้นที่ ทชล.ภาค 2 เพื่อช่วยเหลือกำลังหารฝ่ายรัฐบาลลาวที่กำลังเผชิญอยู่กับวิกฤติกาลคับขันในพื้นที่ซำทองและโล่งแจ้งได้ทันที กองทัพบกจึงออกคำสั่งให้เตรียมการจัดกรมผสมเข้าปฏิบัติการในประเทศ ที่ 3 ใช้กำลังพลจาก ผส.13 จว.อุดรธานี เป็นหลักและเรียกโครงการนี้ “โครงการ วีพี”

โครงการวีพี เริ่มขึ้นเมื่อ มี.ค.13 โดยใช้กำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 2 (กรมผสมที่ 13) เข้าปฏิบัติการในราชอาณาจักรลาว เขต ทชล.ภาค 2 เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อสกัดกั้นยับยั้งการรบรุกขยายตัวของฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้หยุดยั้ง ณ ดินแดนนอกประเทศไทย ไม่ยอมให้บุกรุกเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อบรรจบร่วมกับผู้ก่อการร้ายในประเทศให้หมดไปได้โดยง่าย

การเริ่มโครงการวีพี ทำให้นโยบายที่คณะกรรมการ คท. มอบไว้ให้แก่หน่วยผสม 333 ปฏิบัติงานในเรื่องการข่าว การจัดชุดครูฝึกในรูปชุดปฏิบัติการพิเศษ ฝึกประชาชนลาวในท้องถิ่นให้เป็นทหารสามารถต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ได้นั้น ต้องขยายงานใหญ่โตขึ้น เนื่องจากการใช้หน่วยกำลังประจำการเข้าปฏิบัติการในลาวจะไม่สามารถทำได้ตลอดไป เพราะจะต้องมีการผลัดเปลี่ยน และการจัดกำลังประจำการปราบปรามผู้ก่อการร้ายในประเทศก็เป็นภาระหนักแก่กองทัพอยู่แล้ว ไม่พร้อมที่จะใช้ป้องกันการรุกรบจากคอมมิวนิสต์นอกประเทศในด้านอื่นๆ

คณะกรรมการ คท.จึงพิจารณาใช้กำลังหน่วยอาสาสมัคร (อส.) เข้าปฏิบัติการสืบต่อเนื่องต่อไป โดยให้หน่วยผสม 333 เป็นผู้ดำเนินการ (ซึ่งหน่วยผสม 333 ดำเนินการในพื้นที่ประเทศที่ 3 โดยใช้ บก.หน่วยผสม 333 ส่วนหน้า ควบคุมการปฏิบัติการ ของ ฉก.วีพี และ ฉก.อื่นๆ ในเวลาต่อมา)

“โครงการเอกภาพ” จัดขึ้นเพื่อให้มีกำลังรบในรูปอาสาสมัคร(อส.) เพื่อใช้ปฏิบัติงานนอกประเทศไทย (ประเทศที่ 3) ในลักษณะปกปิด เพื่อผลทางการเมืองการทหารทั้งทางยุทธวิธี เรียกกำลังพลอาสาสมัครตามโครงการนี้ว่า “ทหารเสือพราน” เรียกว่า “ทสพ. (BATTALION PANTHER เรียกย่อว่า BP)” ถือว่าเป็นหน่วยที่ทำการรบนอกประเทศเพื่อป้องกันราชอาณาจักรลาว หรือแผ่นดินอื่นอันเป็นประเทศที่สามโดยตรงเท่านั้น ส่วนความมุ่งหมายหรือนโยบายแฝงของคณะกรรมการ คท. เพื่อใช้กำลังนี้สกัดกั้นป้องกันการคุกคามของฝ่ายคอมมิวนิสต์ต่อผืนแผ่นดินไทย โครงการนี้จึงมีจุดมุ่งหมายปฏิบัติการนอกประเทศและกว้างขวางกว่าโครงการวีพี เพราะนอกจากจะใช้กำลัง ทสพ.ผลัดเปลี่ยนกับกำลังของกองทัพประจำที่ทำการรบอยู่ในพื้นที่ซำทอง – โล่งแจ้ง ในเขต ทชล.ภาค 2 ตามโครงการวีพีแล้ว โครงการเอกภาพยังมุ่งหมายปฏิบัติการแห่งอื่นๆ นอกประเทศ อันจะเป็นผลในการป้องกันราชอาณาจักรไทยโดยอ้อมอีก

ในขณะนั้น สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในราชอาณาจักลาวและสาธารณรัฐเขมรกำลังอยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ เมื่อเขมรปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลชุดเจ้าสีหนุแล้ว เหตุการณ์ในลาวตอนใต้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ใช้เส้นทางโฮจิมินห์เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ และส่งกำลังเข้าปฏิบัติการในเขมรและลาวตอนใต้ สหรัฐฯ ย่อมทราบดีว่าเป็นผลเสียหายต่อนโยบายทางด้านการเมืองและการทหารเป็นอย่างยิ่ง หากปล่อยให้เวียดนามเหนือใช้เส้นทางโฮจิมินห์ได้ สหรัฐฯ ต้องการจะมอบภารกิจป้องกันประเทศของแต่ละประเทศให้เป็นหน้าที่ของประเทศนั้นๆดำเนินการเอง ไม่ให้ประเทศอื่นเข้าไปแทรกแซง นโยบายของสหรัฐฯ ต้องการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการป้องกันประเทศมากกว่าการใช้กำลังพลจึงต้องการที่จะถอนกำลังพลออกจากเวียดนามใต้ทั้งหมด และไม่ต้องการส่งทหารเข้าไปในลาวและเขมรการที่ฝ่ายเวียดนามเหนือใช้เส้นทางโฮจิมินห์เป็นเส้นทางส่งกำลังลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ สหรัฐฯ จึงจำเป็นต้องหาทางยับยั้งการปฏิบัติของฝ่ายศัตรูโดยใช้กำลังจากที่อื่นเป็นผู้ดำเนินการ และมีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน

ตามสถานการณ์นี้ สหรัฐฯ จึงเสนอรัฐบาลไทยขอให้จัดตั้ง “กองพันทหารเสือพราน”ขึ้น โดยฝ่ายไทยรับผิดชอบในการจัดหากำลังพล การฝึก และการปฏิบัติการ สหรัฐฯ ให้การสนับสนุนด้านกำลังทางอากาศและการส่งกำลังบำรุงเช่นเดียวกันกับที่ได้สนับสนุนโครงการวีพี

ในชั้นต้นสหรัฐขอให้จัด 6 กองพัน ทสพ. เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์ตอนใต้ของลาวและผลัดเปลี่ยนกำลังกองทัพประจำการ (โครงการ วีพี) เสียก่อน ซึ่งข้อเสนอของสหรัฐฯ นี้ยังไม่ตรงกับความต้องการของรัฐบาลไทย เพราะขณะนั้นรัฐบาลไทยได้จัดทำ “โครงการสามัคคี”ทางเหนือของลาวและ “โครงการผาสุก” ปฏิบัติการทางใต้ของลาวไว้แล้ว รัฐบาลไทยจึงประสงค์จะยุบโครงการทั้งสองและนำกำลัง 6 กองพัน ทสพ. มาจัดตั้งตามโครงการที่สหรัฐฯ เสนอ แต่ขอให้ 4 กองพันปฏิบัติการในพื้นที่ไชยบุรี จำปาศักดิ์ และสีทันดอน ส่วนอีก 2 กองพันผสม ยอมให้ไปปฏิบัติการในโบโลเวนตามข้อเสนอของสหรัฐฯ ได้

รัฐบาลไทยได้ยกเหตุผลในการปฏิบัติการทางภาคเหนือว่ามีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะจีนแดงได้สร้างถนนสาย 42 เข้ามาใกล้จะชิดพรมแดนไทยอยู่แล้ว ย่อมเป็นสิ่งบอกเหตุได้ว่าคอมมิวนิสต์มุ่งที่จะขยายอาณาเขตลงมาทางใต้มุ่งสู่ประเทศไทย

ข้อเสนอนี้ได้รับการพิจารณาจากสหรัฐฯ เป็นอย่างดีและตกลงกันได้ โดยในชั้นต้นให้จัดกำลัง ทสพ. ขึ้น 13 พัน.ร.ทสพ. และ 1 พัน.ป.ทสพ. โดยให้ไทยรวม โครงการสามัคคีและโครงการผาสุก และแปรสภาพกรมทหารเขมรอาสาสมัคร (ขสส.) อีก 3 พัน.ร.ทสพ. นำกำลังไปใช้ปฏิบัติการสกัดกั้นการส่งกำลังตามเส้นทางสายโฮจิมินห์ทางตอนใต้ของลาว เพื่อเพิ่มเติมการใช้กำลัง ทสพ.เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ ทชล.ภาค 2 และเตรียมการจัดหากำลังทดแทนให้กับโครงการวีพี ซึ่งจะต้องได้รับการผลัดเปลี่ยนต่อไป

ต่อมาเมื่อสถานการณ์รุนแรงมากขึ้นทางวอชิงตันได้อนุมัติให้สนับสนุนการจัดตั้งทหารเสือพรานขึ้นเป็น 36 กองพัน (33 พัน.ร.ทสพ., 3 พัน.ป.ทสพ.) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2514 ให้จัดตั้งขึ้นจาก 14 กองพัน เป็น 24 กองพัน (22 พัน.ร.ทสพ.และ 2 พัน.ป.ทสพ.) และจะได้เพิ่มงบประมาณให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นตามโครงการเอกภาพในปีต่อๆ ไป โดยหน่วยผสม 333 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหากำลังพล สถานที่ฝึกและอำนวยการปฏิบัติการรบ”

กล่าวโดยสรุปแล้ว ทหารเสือพรานจึงถือกำเนิดมาเพื่อเข้าทดแทนกำลังทหารประจำการจากกรมผสมที่ 13 ที่เข้าปฏิบัติการในลาวใน พ.ศ.2513 และมีแผนจะถอนกำลังกลับใน พ.ศ.2514 ขณะที่ยังคงมีความจำเป็นต้องคงกำลังรบที่มีประสิทธิภาพไว้เพื่อช่วยรัฐบาลลาวในการรับมือทหารเวียดนามเหนือ
ได้นั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือที่มาและวัตถุประสงค์ของหน่วยทหารเสือพรานอันเป็นส่วนสำคัญของแผนการป้องกันประเทศมิให้สงครามลุกลามเข้ามาในดินแดนประเทศไทย.





“ห้วยทราย : บทพิสูจน์แรกของทหารเสือพราน”

......ทหารเวียดนามตายเกลื่อนเต็มบริเวณ ร่างอันไร้วิญญาณของทหารหลายนายเกาะติดพาดรั้วลวดหนามเป็นที่สมเพชน่าอนาถ นับยอดผู้สังเวยชีวิตได้ถึง 131 ศพ ส่วนทหารฝ่ายเราเสียชีวิตเพียง 2 นายเท่านั้น….

หน่วยทหารเสือพรานหน่วยแรกที่เข้าสู่สมรภูมิคือ กองพันทหารเสือพรานที่ 41 และกองพันทหารเสือพรานที่ 42 “บีซี 601”และ “บีซี 602” จากค่ายฝึกเขาหญ้าปล้อง ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นค่ายฝึกแห่งแรกของโครงการทหารเสือพราน ทหารเสือพรานที่ได้รับการฝึกเรียบร้อยแล้วเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C- 130 จากสนามบินในค่ายจักรพงษ์ จังหวัดปราจีนบุรี ไปยังสนามบินปากเซ แล้วเคลื่อนย้ายต่อโดยเฮลิคอปเตอร์เข้าพื้นที่ปฏิบัติการที่บ้านห้วยทรายบนที่ราบสูงโบโลเวน ห่างจากเมืองปากเซไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 20 กม.

กองพันทหารเสือพรานทั้งสองเข้าที่ตั้งเรียบร้อยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2513 และเริ่มอพยพราษฎรบริเวณนั้นประมาณ 40 ครัวเรือนออกจากพื้นที่ สร้างเครื่องกีดขวางโดยมีลำห้วย (ห้วยทราย) เป็นเครื่องกีดขวางธรรมชาติเป็นรูปตัว U ต่อมาได้รับการปรับปรุงพื้นที่กลางหมู่บ้านเป็นสนามบินขนาดเล็ก ให้เครื่อง Porter ของ CIA ขึ้นลงได้ด้วย

การเข้าสู่พื้นที่ของทหารเสือพรานจากไทยเป็นการคุกคามต่อทหารเวียดนามเหนือโดยตรงเนื่องจากอยู่ไม่ห่างจากเส้นทางโฮจิมินห์ อันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญสูงสุดต่อการลำเลียงกำลังและยุทโธปกรณ์เข้าทำสงครามปลดปล่อยเวียดนามใต้ เวียดนามเหนือจึงส่งกำลังขนาดใหญ่เพื่อทำลายล้างกองกำลังจากไทยหน่วยนี้

“สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ของ “ชาลี คเชนทร์” หรือนามจริง เฉลิมชัย ธรรมเวทิน อดีตผู้นำอากาศยานหน้า ผู้ซึ่งเป็นอาสาสมัครคนหนึ่งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับเพื่อนทหารเสือพรานทั้งในยุทธภูมิลาวตอนใต้และทุ่งไหหิน ได้บันทึกเหตุการณ์อันเป็นประสบการณ์การรบครั้งแรกของทหารเสือพรานไทยในพื้นที่ลาวตอนใต้ ซึ่งได้สร้างผลงานดีเด่นประเดิมศึกสงครามลับในลาวไว้ดังนี้...

“การสู้รบครั้งสำคัญที่ทำให้ทหารเวียดกงและทหารขบวนการประเทศลาวล้มตายเป็นจำนวนมากได้เกิดขึ้นที่เมืองห้วยทรายในภาคใต้ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2514 ซึ่งกองพัน บีซี 601 (ชื่อเดิม บีพี 41 หรือ “กองพันทหารเสือพรานที่ 41”) โดยการนำของ ผบ.พัน “คำคม” และกองพัน บีซี 602 (ชื่อเดิม บีพี 42 หรือ “กองพันทหารเสือพรานที่ 42”) ซึ่งมี “ทองอินทร์” เป็น ผบ.พัน ประกอบด้วย “อภิชาต” และ “ปัจจา” ทำหน้าที่เป็น “เสนาธิการประจำกองพัน” ( Case Officer) รวมทั้งแฟ็ก (FAG : Forward Air Guide) อีก 2 คนผู้ทำหน้าที่เป็นผู้นำการโจมตีทางอากาศประจำกองพันคือ “ฮิลล์ท็อป (อนันต์)” และ “ริงเกอร์ (เทิดศักดิ์)”

ทั้ง 2 กองพันได้รับคำสั่งให้ส่งกำลังเข้ากวาดล้างข้าศึกในบริเวณหมู่บ้านใกล้สนามบินห้วยทรายรวมถึงภารกิจในการสร้างมวลชนสัมพันธ์และแยกประชาชนให้เคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่สู้รบ

เนื่องจากทั้ง 2 กองพันเป็นกองพันแรกที่ถูกส่งไปช่วยรบในลาว กำลังพลที่มาจากทหารประจำการและทุกคนต่างได้รับการบรรจุไว้อย่างเหมาะสม อีกทั้งผู้บังคับบัญชาทุกระดับของทั้ง 2 กองพันต่างมีบุคลิกเด่นน่าเกรงขาม โดยเคยนำหน่วยเข้าสู้รบกับข้าศึกด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญในพื้นที่ทางตอนใต้มาแล้วหลายครั้ง จนฝ่ายข้าศึกต้องสูญเสียและล้มตายเป็นจำนวนมากดังนั้นขวัญกำลังใจของทหารทั้ง 2 กองพันนี้จึงอยู่ในขั้นดีเยี่ยม พร้อมสู้พร้อมรบด้วยจิตใจฮึกเหิมห้าวหาญ

แม้ข้าศึกฝ่ายเวียดกงได้รับการสูญเสียในเบื้องต้นเป็นอันมากจากการรบก่อนหน้านี้แต่ก็ไม่ได้ท้อถอยลดความพยายามแต่อย่างใดกลับตั้งหลักรวมกำลังหวังโจมตียึดพื้นที่คืนให้ได้ โดยปรับเปลี่ยนวิธีใช้กำลังส่วนน้อยเข้าก่อกวนในยามดึกสงัด หรือใช้อาวุธหนักจรวดวิถีตรงยิงมาจากระยะไกลตลอดทั้งวัน ในการยับยั้งการยิงอาวุธหนักของข้าศึกให้ลดน้อยลงไปได้นั้นฝ่ายเราต้องขอกำลังทางอากาศทิ้งระเบิดสกัดกั้นไว้ทุกระยะ

เป็นที่ยกย่องกล่าวขานกันว่าแฟ็ก “ฮิลล์ท็อป” ผู้นำอากาศยานหน้า ได้ประสานการทำงานกับเครื่องบินด้วยความอดทนทั้งวันและคืนจนข้าศึกไม่มีโอกาสเข้าโจมตีทำลายฝ่ายเราได้เลยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผบ.พัน “คำคม”ได้สั่งการให้ทหารทุกคนสร้างบังเกอร์และดัดแปลงปราการแนวรบให้มั่นคงอยู่เสมอพร้อมได้ย้ำเตือนกำลังพลไม่ให้ตกอยู่ในความประมาทโดยต้องพร้อมป้องกันตอบโต้ข้าศึกอย่างไม่พรั่นทุกเมื่อ

แหล่งข่าวแจ้งว่าฝ่ายเวียดกงได้ยกกำลังจำนวน 1 กองพลหวังจู่โจมเผด็จศึกทหารเสือพรานทั้ง 2 กองพันให้แหลกลาญ ข่าวเรื่องนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บังคับบัญชาประจำหน่วย ทุกคนจึงได้ร่วมคิดวางแผนในการป้องกันสู้รบให้เกิดผลดีที่สุด

“อภิชาติ” และ “ปัจจา” ในฐานะ เสธ.ฝ่ายยุทธการ ให้ข้อเสนอแนะต่อ ผบ.พัน. ทั้ง 2 กองพันหลายประการโดยคาดว่าข้าศึกคงไม่กล้าใช้กำลังจำนวนมากเข้าโจมตีในเวลาฉับพลัน เพราะแต่ละกองพันต่างมีอาวุธหนักไว้ยิงป้องกันฐานที่มั่นอย่างเต็มที่ อีกทั้งกำลังทางอากาศก็พร้อมให้การสนับสนุนตลอดเวลา หากข้าศึกใช้วิธีการเช่นนั้นการสู้รบต้องถึงขั้นประจัญบานอันจะทำให้กำลังพลทั้งสองฝ่ายสูญเสียอย่างหนัก ผู้บังคับบัญชาในหน่วยทุกคนต่างลงความเห็นตรงกันว่าฝ่ายข้าศึกคงดำเนินกลยุทธ์แบบเดิมด้วยการส่งกำลังเข้าทำลายที่ตั้งฝ่ายเรา คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นกลางคืนมากกว่ากลางวัน

เครื่องบิน C-47 ได้นำยุทธปัจจัยมาทิ้งให้ทั้ง 2 กองพันเต็มอัตราศึก ส่วนใหญ่เป็นขดลวดหนามจำนวนมาก ผู้บังคับหน่วยทั้งหมดได้สั่งให้ทหารระดมกำลังวางลวดหนามรายรอบกองพันถึง 3 ชั้นแล้วตั้งฐานยิงปืนครกและอาวุธหนักให้ครบทุกหมวดรอบฐานที่ตั้ง

ทุกหน่วยถูกกำชับให้รักษาวินัยการรบแบบตั้งรับอย่างเคร่งครัด ห้ามส่งเสียงดังและใช้แสงไฟในเวลาค่ำคืน เมื่อใดที่สังเกตเห็นข้าศึกเข้าโจมตีต้องปล่อยให้ข้าศึกตายใจจนกว่าจะเข้ามาถึงรั้วลวดหนามชั้นในอันเป็นระยะยิงหวังผล ปืนทุกกระบอกต้องพร้อมยิงเมื่อเห็นตัวข้าศึกเท่านั้น

ในยามดึกสงัดของวันที่ 8 มกราคม 2514 ฝ่ายข้าศึกได้คืบคลานตัดรั้วลวดหนามเข้ามาทีละขั้นๆอย่างเงียบเชียบโดยหวังเข้าจู่โจมในระยะกระชั้นชิดเพื่อล้อมกรอบและจับฝ่ายเราเป็นเชลยตามข่าวกรองที่ได้รับ

ทหารเสือพรานทุกหน่วยได้เฝ้าระวังความเคลื่อนไหวอย่างเงียบกริบ ปืนทุกกระบอกจ้องสู่เป้าหมายเบื้องหน้าในทุกมุมทิศ พลันที่ฝ่ายข้าศึกได้ตัดลวดหนามขั้นสุดท้ายสำเร็จต่างตะเบ็งเสียงร้องยี้ๆๆ เย้วๆๆ เป็นสัญญาณเข้าประจัญบาน ขณะเดียวกันเสียงแผดกล้องของปืนทุกกระบอกจากฝ่ายเราได้ยิงอย่างไม่ยั้งมือพร้อมๆกัน พวกมันจู่โจมเข้ามาเท่าใดร่างก็ถูกระเบิด กระสุนปืนล้มดับดิ้นทับถมมากเพียงนั้น ตลอดคืนนั้นทหารเสือพรานได้จัดเวรยามเฝ้าซากศพท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดคละคลุ้ง

ครั้นรุ่งเช้า ฝ่ายเราได้ออกไปเคลียร์พื้นที่ ภาพที่ปรากฏคือทหารเวียดนามตายเกลื่อนเต็มบริเวณร่างอันไร้วิญญาณของทหารหลายนายเกาะติดพาดรั้วลวดหนามเป็นที่สมเพชน่าอนาถ นับยอดผู้สังเวยชีวิตได้ถึง 131 ศพ ส่วนทหารฝ่ายเราเสียชีวิตเพียง 2 นายเท่านั้น

“ผบ.คำคม” และ “ผบ. ทองอินทร์” ได้สั่งให้นำร่างผู้เสียชีวิตทั้งหมดนำมากองรวมกันไว้หลายจุดภายนอกฐานที่ตั้งแห่งหนึ่งพร้อมทำพิธีฌาปนกิจศพให้เป็นเกียรติแก่ทหารกล้านักรบเวียดนามในคราวเดียวกัน นับว่าเป็นการเผาศพครั้งยิ่งใหญ่ที่ไม่เคยปรากฏในสนามรบแห่งใดมาก่อน ท่ามกลางความเศร้าสลดของนักรบคู่สงคราม

การรบครั้งนั้นถือว่าเป็นวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของทหารเสือพรานทั้ง 2 กองพัน

ข่าวดังกล่าวได้แพร่กระจายไปสู่กองพันทหารเสือพรานในทุกพื้นที่การรบในลาวและเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาของทหารแห่งชาติลาว สร้างความเกรงขามต่อทหารขบวนการประเทศลาวและหน่วยทหารเวียดกงเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมา กองพัน บีซี 601 และ 602 จะได้รับหนังสือชมเชยยกย่องการปฏิบัติวีรกรรมดีเด่นจาก จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามหนังสือลงวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2514”

อนึ่ง เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มานอกจากจะบันทึกผลการสู้รบที่สอดคล้องตรงกันกับบันทึกของ “ชาลี คเชนทร์”ดังกล่าวแล้ว ยังได้บันทึกผลจากการตรวจภูมิประเทศหลังฝ่ายข้าศึกถอนตัวแล้ว ปรากฏว่ามีข้อควรทราบดังต่อไปนี้
1. การเข้าตีของเวียดนามเหนือเป็นการเข้าตีอย่างประณีต มีการจำลองโต๊ะทรายก่อนการเข้าตี
2. มีการยิงทดสอบที่ตั้งอาวุธหนักของฝ่ายเรา
3. มีการส่งทหารลาวแดงมาหาข่าว แต่ถูกฝ่ายเราจะเป็นเชลยศึกได้ 1 คน
4. หน่วย Sapper เป็นหน่วยนำในการเข้าตี จะใช้กาบหยวกกล้วยที่มีลักษณะนูนโค้งและมีนวลสีขาว
สามารถสะท้อนแสงจันทร์พอนำทางเข้ามาได้
5. การลำเลียงกระสุนปืน ค.ใช้ไม้ไผ่ผ่าง่ามทั้ง 2 ข้าง แล้วสอดหางระเบิด ค.เข้าไปใช้ตอกมัดตรงปลายแบกหามเข้ามาคนละ 4-6 ลูก
6. หน่วย Sapper จะนุ่งกางเกงผ้าเตี่ยว ไม่ใส่รองเท้า ถ้าอากาศหนาวจะสวมเสื้อ ถ้าไม่หนาวจะถอดเสื้อเพื่อให้มีการสัมผัสที่ดีเวลาคืบคลานเข้ามาในเวลากลางคืน

ความสำเร็จและประสิทธิภาพในการรบของทหารเสือพรานทั้งสองกองพันนี้ ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับทหารเสือพรานรุ่นต่อๆมาที่จะทยอยกันเข้าสู่สมรภูมิลับในลาว.

หมายเหตุ
“คำคม” ผู้บังคับกองพันทหารเสือพรานที่ 41 นามจริงคือ พันตรี จรวย นิ่มดิษฐ์ ต่อมารับราชการในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 จนถึงยศพันเอก ตำแหน่ง รองเสนาธิการกองทัพภาคที่ 2 ประสบอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เมื่อ 8 มิถุนายน พ.ศ.2526

“ทองอินทร์” ผู้บังคับกองพันทหารเสือพรานที่ 42 นามจริงคือ พันตรี ประกาย คารวะ ไม่ทราบประวัติรับราชการ.




“ข้าคือเสือพราน”

.......กองพันทหารเสือพรานเป็นหน่วยกองโจร ที่มีการจัดให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก การเคลื่อนที่เคลื่อนที่ด้วยเท้าและทางอากาศ สามารถปฏิบัติการเป็นอิสระ แยกปฏิบัติการเป็นกองร้อยและหมวดได้......

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผลจากการที่ทางราชการไม่เปิดเผยปฏิบัติการลับของไทยในลาว ได้ทำให้เกิดการคาดเดาและตีความไปต่างๆนาๆซึ่งส่วนใหญ่ไม่เป็นผลดีต่อเกียรติภูมิของชาติ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลและกองทัพบกทำตัวเป็น “ลูกสมุนอเมริกา” กำลังพลทุกระดับตั้งแต่ทหารประจำการจนถึงอาสาสมัครพลเรือนที่เสียสละอุทิศตัวเข้าปฏิบัติภารกิจเหล่านี้ก็ถูกเรียกว่า “ทหารรับจ้าง”ซึ่งมีนัยดูหมิ่น เป็นต้น

เรื่องราวต่อไปนี้ซึ่งส่วนใหญ่มาจาก “เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มา” จะทำให้เห็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐบาลในยุคนั้น รวมทั้งการปฏิบัติงานแบบมืออาชีพตั้งแต่ขั้นการกำหนดแนวยุทธศาสตร์ในการดำเนินการโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก การออกแบบและกำหนดคุณลักษณะของ “กองกำลังพิเศษ”ที่จะใช้ในปฏิบัติการที่มีลักษณะเฉพาะครั้งนี้ ตลอดจนแผนการจัดตั้งหน่วยและการฝึกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนตามระบบ "เสนาธิการ"
ทั้งหมดถูกจำกัดด้วย “ผลประโยชน์ของประเทศชาติ”

“สนามรบที่เชื่อมโยง”
พ.ศ.2513 สหรัฐเร่งโหมกำลังเพื่อพิชิตศึกเวียดนาม การต่อสู้ในลาวจึงรุนแรงตามไปด้วยจากความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเส้นทางโฮจิมินห์ต่อทั้งสองฝ่าย วอชิงตันได้อนุมัติให้ไทยจัดตั้งทหารเสือพรานขึ้นถึง 36 กองพัน (33 กองพันทหารราบ และ 3 กองพันทหารปืนใหญ่) โดยในปีงบประมาณ 1971 (พ.ศ.2514) ให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นจากแผนเดิม 14 กองพัน เป็น 24 กองพัน (22 กองพันทหารราบ ขและ 2 กองพันทหารปืนใหญ่) และจะได้เพิ่มงบประมาณให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไป กองทัพบกไทยมอบหมายให้หน่วยผสม 333 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหากำลังพล สถานที่ฝึก และอำนวยการปฏิบัติการรบ

“ข้าคือเสือพราน”
เอกสารที่ไม่สามารถเปิดเผยที่มาได้กล่าวถึง “คุณลักษณะ”ของทหารเสือพรานไว้ดังนี้
“ กองพันทหารเสือพรานเป็นหน่วยกองโจร ที่มีการจัดให้ปฏิบัติงานในพื้นที่ยากลำบาก การเคลื่อนที่เคลื่อนที่ด้วยเท้าและทางอากาศ สามารถปฏิบัติการเป็นอิสระแยกปฏิบัติการเป็นกองร้อยและหมวดได้ ทำการรบนอกแบบและในแบบอย่างจำกัด ลักษณะการประกอบกำลังจัดในรูป กรมทหารราบเบา มีอำนาจการยิงได้สัดส่วน "หมวด"เป็นหน่วยเล็กที่สุดที่ใช้ในภารกิจลาดตระเวนรบ ประกอบด้วยชุดทีมต่างๆ เช่น ส่วนโจมตี ส่วนระวังป้องกัน และส่วนสนับสนุน

กำลังพลประจำการเป็นกำลังหลักซึ่งนับว่าน้อยมาก ในหน่วยดำเนินกลยุทธหลักระดับกองพันทหารราบ มีกำลังประจำการเพียง 53 นาย (นายทหาร 9 ,นายสิบ 44, กำลังพลอาสาสมัคร 497 รวม 550 นาย) การที่กำลังพลประจำการมีน้อย (เนื่องจากอัตราการจัดและงบประมาณ) ซึ่งเป็นสิ่งล่อแหลมในการปฏิบัติการรบติดพันและมีการสูญเสียกำลังพลประจำการ เมื่อใช้กำลังพลอาสาสมัครปฏิบัติหน้าที่แทนจะทำให้หน่วยมีประสิทธิภาพลดลงมาก”

เอกสารฉบับเดียวกันนี้ ได้กล่าวถึงที่มาของกำลังพลและแนวความคิดในการใช้กำลังทหารเสือพรานตามแนวความคิดทางยุทธการเมื่อ พ.ศ.2513 ไว้ดังนี้
“ความก้าวหน้าในการจัดตั้งกองพันทหารเสือพรานตามนโยบายฯจัดหากำลังพลอาสาสมัครเป็นการลับ โดยรับจากพลทหารปีที่สองซึ่งจะปลดประจำการใน 1 พ.ย.13 และจากแหล่งอื่นๆ เป็นผู้ที่ผ่านการรบมาจากเกาหลีใต้หรือเวียดนามใต้มาแล้ว ซึ่งการจัดกำลังพลอาสาสมัครในขั้นแรกนั้นควรจัดไว้เพียง 6 กองพันก่อน โดยมีแนวความคิดในการใช้ 1 กองพัน ที่ไชยบุรี 3 กองพัน ที่จำปาศักดิ์ – สีทันดอน และตามแผนของ “สกาย” (ซีไอเอ.) 2 กองพัน (เพื่อการเจรจาต่อรอง) โดยมีแผนไว้ว่าหากได้รับการตกลง ให้นำ ขสส. (ซึ่งเตรียมไว้ปฏิบัติการในเขมร) เข้าปฏิบัติการในแขวงจำปาศักดิ์ – สีทันดอน แล้ว จะสามารถนำกำลัง 3 กองพันทหารเสือพราน ดังกล่าว ไปผลัดเปลี่ยน ไอวีพี.(กำลังประจำการซึ่งจัดจากกรมผสมที่ 13 เข้าปฏิบัติการในทุ่งไหหินขณะนั้น)ได้
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในขั้นตอนการจัดตั้งหน่วยกองพันทหารเสือพราน ทางฝ่ายเราก็มีการดำเนินการทางด้านการเมืองไปด้วยเสมอเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ”

จะเห็นได้ว่า การดำเนินการของกองทัพบกเกี่ยวกับการปฏิบัติการในลาวนั้น มิได้เป็นเพียงการปฏิบัติตามความประสงค์ของซีไอเอ.ไปเสียทุกเรื่องเท่านั้น แต่มีความคิดของตัวเองเป็นอิสระโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง

“การดำเนินงานโครงการกองพันทหารเสือพราน ได้กระทำตามข้อพิจารณาการจัดตั้งกรมทหารเสือพราน ซึ่งนโยบายและแนวความคิดของผู้บังคับบัญชากำหนดไว้กว้างๆ 3 ประการ คือ สนับสนุนนโยบายป้องกันร่วมกันเพื่อผลทางการเมืองระหว่างประเทศ เสริมสร้างอิทธิพลและสร้างพื้นที่ส่วนระวังป้องกันออกไปนอกแนวชายแดนไทยหรือรบนอกประเทศ เป็นการใช้กำลังในลักษณะออมกำลัง

มีภารกิจและงานของหน่วย 3 ประการ คือ
1) สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร ดำรงความมั่นคงของรัฐบาลประเทศที่สาม
2) สถาปนาความมั่นคงปลอดภัยและสร้างอิทธิพลในพื้นที่ส่วนระวังป้องกันทางยุทธศาสตร์นอกเขตแดนไทยซึ่งกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงในประเทศ
3)เตรียมเป็นกองหนุนสำรองทั่วไปในความควบคุมของ ทบ.เมื่อสั่ง

มีขอบเขตและลักษณะของการปฏิบัติการ 3 ประการ คือ
1) จัดในรูปอาสาสมัครที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการทางทหารของประเทศที่สาม กองทัพบกเป็นผู้ควบคุม
2) เป็นกำลังโจมตีเคลื่อนที่เร็วของ กองทัพบกและหน่วยอาสาสมัครไทยสกัดกั้นการแทรกซึมของข้าศึกเข้าสู่ประเทศไทย
3)เป็นกำลังที่ใช้เสริมสร้างอิทธิพลในพื้นที่ ไชยบุรี จำปาศักดิ์ สีทันดอน ตามนโยบายของผู้บังคับบัญชาชั้นสูง

มีการจัดกำลัง การประกอบกำลัง และมีขั้นตอนการสร้างกำลัง คือ กำลังพลของกองพันทหารเสือพรานรวม 550 นาย เป็นกำลังพลประจำการจากกองทัพบก นายทหาร 9 นาย นายทหารประทวน 44 นาย เมื่อเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ของหน่วยผสม 333 จะได้รับสิทธิเช่นเดียวกับ เจ้าหน้าที่ในหน่วยผสม 333 ทุกประการ เป็นกำลังพลอาสาสมัครรับจากทหารกองหนุนเป็นหลัก จำนวน 497 นาย กำลังพลที่จัดจากทหารกองหนุนทำสัญญาครั้งละ 1 ปี การทดแทนกำลังพลใช้วิธีสมัครใหม่ ผู้ประสงค์อยู่ต่อให้ทำสัญญาต่อครั้งละ 1 ปี”

“ แนวความคิดในการปรับปรุงโครงการทหารเสือพราน ตามมติที่ประชุม คท. ครั้งที่ 18”
จากความรุนแรงที่เพิ่มขั้นในลาวในปี พ.ศ.2513 ฝ่ายไทยจึงจัดให้มีการประชุม “คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ในราชอาณาจักรลาว”ครั้งที่ 18 ขึ้น ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งหน่วยทหารเสือพรานและการปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นกรอบการดำเนินการทั้งสิ้นของโครงการ โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้

1. กำหนดนโยบายการใช้กำลังทหารเสือพราน คือส่งกำลังอาสาสมัครเข้าดำเนินการช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติลาว ทำการต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์เพื่อรักษาพื้นที่ในราชอาณาจักรลาวที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศไทย

2. ความมุ่งหมาย
- เป็นกำลังโจมตีเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Strike Forces) ของกองทัพบก และของหน่วยอาสาสมัครไทย ปฏิบัติการกวาดล้างข้าศึกในพื้นที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีนอกเขตแดนเพื่อสกัดกั้นการแทรกซึมของข้าศึกเข้าสู่ประเทศไทย
- เป็นกำลังที่ใช้เสริมสร้างอิทธิพลในพื้นที่แขวงไชยบุรี จำปาศักดิ์ สีทันดอน และพื้นที่อื่นๆ ที่จำเป็นในพระราชอาณาจักรลาว
- เป็นกำลังในรูปอาสาสมัครที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติแก่กำลังของ กองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 เพื่อผลประโยชน์ทางด้านการเมืองของชาติ
- เพื่อปลดเปลื้องความรับผิดชอบในการใช้กำลังรบหลักประจำการของกองทัพบก

3. ขีดความสามารถของกองพันทหารเสือพราน
- เป็นหน่วยกองโจรที่มีรูปการจัดและประกอบกำลังให้สามารถเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ที่มีความยากลำบาก ด้วยการเคลื่อนที่ด้วยเท้าและ/หรือทางอากาศ
- กองพันทหารเสือพรานสามารถปฏิบัติการเป็นอิสระ มีความเหนียวแน่นทางยุทธวิธีและสามารถแยกปฏิบัติการเป็นกองร้อยและหมวด
- สามารถทำการรบนอกแบบและในแบบได้อย่างจำกัด

4. แนวความคิดในการปฏิบัติ
- ทำการยึดรักษาตำบลสำคัญทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธี และตามแนวทางแทรกซึมของข้าศึกเพ่งเล็งเป็นพิเศษในพื้นที่แขวงไชยบุรี และจำปาศักดิ์ – สีทันดอน
- ปฏิบัติการในลักษณะการตอบโต้การปฏิบัติการของข้าศึกด้วยการใช้กำลังเป็นปึกแผ่นเข้าปฏิบัติการทำลายกำลัง แหล่งสะสมเสบียง และกองบัญชาการของข้าศึกในเขต
- การปฏิบัติการในลักษณะกองโจรเพื่อค้นหา ทำลาย ตัดรอนกำลังยุทโธปกรณ์ และฐานปฏิบัติการของข้าศึกในห้วงระยะเวลาสั้นๆ
- ทุกขั้นตอนของการปฏิบัติจะต้องสงวนกำลังส่วนหนึ่งไว้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือการเป็นกองหนุนให้กับกองกำลังทหารเสือพรานที่ไปปฏิบัติการในเขตพระราชอาณาจักรลาว

5. การประกอบกำลังในโครงการทหารเสือพราน (36 กองพัน)
- โครงการที่ 1 : จัดตั้ง 13 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ ในห้วงเวลาเดือน ธ.ค.13 - พ.ค.14
- โครงการที่ 2 : จัดตั้ง 20 กองพันทหารราบ และ 2 กองพันทหารปืนใหญ่ ในห้วงระยะเวลาเดือน ก.ค.14- ก.ย.15 (อาจเริ่มดำเนินการเร็วกว่านี้ถ้าเรียกคนอาสาสมัครได้)

6. การดำเนินการจัดตั้งกำลังกองพันทหารเสือพรานโครงการที่ 2 (20 กองพันทหารราบ 2 กองพันทหารปืนใหญ่ )
- เริ่มต้นดำเนินการจัดตั้งและการฝึกในเดือน ก.ค.14 (ปีงบประมาณของสหรัฐฯ) หรืออาจเริ่มใน เม.ย.14
- การดำเนินการจัดตั้งและการฝึก พัน.ทหารเสือพราน จะกระทำครั้งละ 5 - 6 กองพัน
- หลักสูตรการฝึกกองพันทหารเสือพรานใช้เวลา 10 สัปดาห์ และระยะเวลาดำเนินกรรมวิธีก่อนและหลังการฝึก 2 สัปดาห์ รวมเป็น 12 สัปดาห์
- การดำเนินการจัดตั้งการฝึกกองพันทหารเสือพรานจะเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้กำหนดไว้ ต่อเมื่อสามารถจัดหากำลังพลประจำการและอาสาสมัครได้ตามจำนวนที่ต้องการ รวมทั้งสถานที่ฝึกและการสนับสนุนสิ่งอุปกรณ์การฝึกที่ได้รับ

7. ขั้นตอนในการประกอบกำลังและการ ฝึก
- ขั้นที่ 1 : ดำเนินการประกอบกำลังและการฝึก 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ ในต้น ก.ค.14 (หรืออาจจะในต้น เม.ย.14) และจะเสร็จสิ้นการฝึกสามารถจัดส่งออกปฏิบัติการได้ในต้นเดือน ต.ค.14
- ขั้นที่ 2 : ดำเนินการประกอบกำลังและการฝึก 5 กองพันทหารราบ ในต้นเดือน พ.ย.14 (หรืออาจจะใน มิ.ย.14) และจะเสร็จสิ้นการฝึกสามารถจัดส่งออกปฏิบัติการได้ในต้น ก.พ.15
- ขั้นที่ 3 : ดำเนินการประกอบกำลังและการฝึก 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ในต้นเดือน ม.ค.15 และจะเสร็จสิ้นการฝึกสามารถจัดส่งออกปฏิบัติการได้ในต้น เดือน มิ.ย.15
- ขั้นที่ 4 : ดำเนินการประกอบกำลังและการฝึก 5 กองพันทหารราบ ในต้นเดือน ก.ค.15 และจะเสร็จสิ้นการฝึกสามารถจัดส่งออกปฏิบัติการได้ในต้นเดือน ต.ค.15

8. ระยะเวลาในการเสริมสร้างกำลัง 60 สัปดาห์ (15 เดือน) เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.14
- ใน 12 สัปดาห์แรกสามารถส่งกำลังเข้าปฏิบัติการ 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่
- ใน 16 สัปดาห์ต่อไป สามารถส่งกำลังเข้าปฏิบัติการได้อีก 5 กองพันทหารราบ
- ใน 16 สัปดาห์ต่อไป สามารถส่งกำลังเข้าปฏิบัติการได้อีก 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่
- ใน 16 สัปดาห์ต่อไป สามารถส่งกำลังเข้าปฏิบัติการได้อีก 5 กองพันทหารราบ

9. ความต้องการกำลังพล (ประจำการ, อาสาสมัคร) สำหรับโครงการที่ 2
- ขั้นที่ 1 : 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ (เดือน ก.ค.14)
กำลังพลประเภทประจำการ จำนวน 351 นาย กำลังพลอาสาสมัคร จำนวน 2,902 นาย
- ขั้นที่ 2 : จำนวน 5 กองพันทหารราบ (เดือน พ.ย.14) กำลังพลประเภทประจำการ จำนวน 160 นาย กำลังพลอาสาสมัคร จำนวน 2,590 นาย
- ขั้นที่ 3 : จำนวน 5 กองพันทหารราบ และ 1 กองพันทหารปืนใหญ่ (เดือน มี.ค.15)
กำลังพลประเภทประจำการ จำนวน 351 นาย กำลังพลอาสาสมัคร จำนวน 2,902 นาย
- ขั้นที่ 4 : จำนวน 5 กองพันทหารราบ (เดือน ก.ค.๑๕)
กำลังพลประเภทประจำการ จำนวน 160 นาย กำลังพลอาสาสมัคร จำนวน 2,590 นาย





“ยุติสงครามอย่างมีเกียรติ”

......ขณะที่ในฐานะ “จอมทัพ”ของประเทศ ประธานาธิบดีนิกสันกำลังหาทางยุติสงครามครั้งนี้ “อย่างมีเกียรติ” ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง แต่รัฐบาลไทยที่มี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีกลับทุ่มเทสร้างหน่วยทหารเสือพรานจำนวนมหาศาลเพื่อส่งเข้าไปรบในลาว ....

พ.ศ.2513 ที่วอชิงตันอนุมัติให้ไทยจัดตั้งทหารเสือพรานขึ้นถึง 36 กองพัน และใน พ.ศ.2514 ให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นอีก 24 กองพัน ทั้งจะได้เพิ่มงบประมาณให้จัดตั้งเพิ่มขึ้นในปีต่อๆไปจนนำไปสู่การขยายตัวอย่างคึกคักของ “ทหารเสือพราน”ในประเทศไทยนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะขณะนั้นอเมริกากำลังเริ่มแผนถอนกำลังทหารของตนออกจากเวียดนามแล้วปล่อยให้คนเวียดนามรบกันเอง – Vietnamization
ขณะที่อเมริกากำลังจะ “ทิ้ง”เวียดนาม “ทิ้ง”เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-แต่ไทยกลับยิ่งถลำลึกเข้าไปในสงครามลาว
รัฐบาลไทยขณะนั้นซึ่งมี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีมองปัญหานี้อย่างไร ?

ย้อนกลับไปทบทวนสถานการณ์ของฝ่ายอเมริกาในช่วงเวลานั้น เริ่มด้วยความรู้สึกของมหาชนอเมริกาต่อปัญหาสงครามเวียดนาม ซึ่งเริ่มมีกระแสต่อต้านมาตั้งแต่สมัยของประธานาธิบดี ลินดอน บี.จอห์สัน ก่อนหน้านี้ และทวีความรุนแรงมากขึ้นมาตามลำดับ

ริชาร์ด เอ็ม.นิกสัน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 20 มกราคม 2512 ต่อจาก ลินดอน บี.จอห์นสัน
สงครามอินโดจีนยังคงเป็นปัญหาระหว่างชาติที่ขมขื่นที่สุดของประธานาธิบดีนิกสัน ย้อนกลับไปเมื่อสงครามนี้เพิ่งจะเริ่มขึ้นใน พ. ศ. 2497 เขาได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ตามอุดมการณ์ที่จะสกัดกั้นการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่มาบัดนี้ เมื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีในฐานะจอมทัพของประเทศ นิกสันกลับต้องทำหน้าที่เป็นผู้หาทางยุติสงครามครั้งนี้ “อย่างมีเกียรติ” ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ 2512 ประธานาธิบดีนิกสันได้ให้สัมภาษณ์บรรดานักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆที่เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีนิกสันในครั้งนี้เรียกกันว่า “ลัทธินิกสัน – Nixon Doctrine" มีใจความสำคัญว่า สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือประเทศพันธมิตรที่ถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รุกรานในด้านเศรษฐกิจและการทหารเท่านั้น แต่จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าไปช่วยทำสงครามโดยตรง ประเทศที่ถูกรุกรานจะต้องจัดหากำลังทหารป้องกันตนเอง
ในกรณีของเวียดนาม ลัทธินิกสันหมายความว่าสหรัฐอเมริกาจะถอนทหารทั้งหมดของตนออกจากเวียดนาม แล้วปล่อยให้เป็นเรื่องของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ “รบ” กันเอง (Vietnamization) โดยสหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกทหารและการเงิน

เดือนถัดมา สิงหาคม พ.ศ. 2512 สหรัฐอเมริกาก็เริ่มทยอยถอนทหารจำนวน 250,000 คนจากจำนวนทหารอเมริกันทั้งสิ้น 543,400 คนที่มีอยู่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2512

คนอเมริกันรู้สึกโล่งอกเมื่อได้ยินการประกาศลัทธินิกสันเพื่อปล่อยให้ชาวเวียดนามรบกันเอง แต่แล้วก็เกิดความไม่พอใจอย่างหนักที่ประธานาธิบดีนิกสันล่าช้าในการถอนทหารออกจากเวียดนาม เพราะการสู้รบในเวียดนามยังดำเนินต่อไปอย่างไม่มีท่าทีจะลดระดับลง ในปลายปี พ.ศ 2512 คนอเมริกันเกิดความแตกแยกความคิดเห็นในเรื่องสงครามเวียดนามอย่างรุนแรง จากการหยั่งประชามติเมื่อเดือนตุลาคมในปีนั้นปรากฏว่า 1ใน 3 ต้องการให้ถอนทหารออกจากเวียดนามทันที

การต่อต้านสงครามเวียดนามได้แผ่ไปทั่วประเทศ ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2512 ซึ่งเรียกกันว่า “วันยุติสงครามเวียดนาม – Vietnam Moratorium” ประชาชนและนักศึกษาจาก 1,000 กว่ามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจำนวนกว่า 1.5 ล้านคนได้ผละงานและการเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงสงครามทั่วประเทศ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประชาชนกว่าแสนคนชุมนุมกันฟังวุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด เคนเนดี และจอร์จ แมกโกเวิร์น ปราศรัยต่อต้านสงครามเวียดนาม และในวันที่ 15 พฤศจิกายนเดือนถัดมา ประชาชนกว่า 250,000 คนได้เดินขบวน “ต่อต้านความตาย-March against Death” เพื่อทำการประท้วงที่หน้าอนุสาวรีย์วอชิงตัน

การทิ้งระเบิดกัมพูชาในเวลาต่อมาของอเมริกาซึ่งสวนทางกับคำประกาศของนิกสัน ทำให้การต่อต้านสงครามเวียดนามซึ่งซาลงไปแล้วกลับแข็งขันขึ้นอีก การประท้วงรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเกิดการจลาจลขึ้นที่มหาวิทยาลัยเคนต์ในมลรัฐโอไฮโอเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 นักศึกษา 13 คนถูกทหารยิงด้วยปืนไรเฟิลบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ขณะที่อีก 4 คนถึงแก่ความตาย โดยเฉพาะ 2 ใน 4 คนที่เสียชีวิตเป็นนักศึกษาหญิงซึ่งกำลังจะเดินเข้าห้องเรียน อีก 10 วันต่อมาก็เกิดเหตุซ้ำอีกเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในมลรัฐมิสซิสซิปปีได้สังหารนักศึกษาผิวดำที่วิทยาลัยแจ็กสัน 2 คนและบาดเจ็บอีก 12 คน ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาสีผิวเป็นประเด็นขึ้นมาอีก

การประท้วงในมหาวิทยาลัยยิ่งลุกลามและรุนแรงขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยถึงความโหดร้ายของสงครามในเวียดนาม เรื่องที่สะเทือนขวัญและก่อให้เกิดให้คนอเมริกันรู้สึกอดสูใจอย่างยิ่งคือกรณีที่ทหารอเมริกันสังหารประชาชนผู้ไร้อาวุธทั้งพระ เด็ก ผู้หญิง ผู้ชายและคนชราทั้งหมู่บ้านอย่างป่าเถื่อนเป็นจำนวนถึง 567 คนเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2512 ที่หมู่บ้านมายลายซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆใกล้กับมณฑลกวางนาย ซึ่งทหารกำหนดให้หมู่บ้านนี้เป็น “สีชมพู” อันหมายความว่าเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ โดยร้อยโท วิลเลียม แอล คัลลีย์ จูเนียร์ ซึ่งได้รับคำสั่งจากร้อยเอก เออร์เนสต์ เมดินา ให้ทำการกวาดล้างหมู่บ้านนี้ แต่ต่อมาร้อยเอก เมดิน่า ให้การว่าตนไม่ทราบว่ามีเด็กและผู้หญิงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้

คดีนี้เมื่อนำขึ้นศาลทหารมีผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้ไปให้ปากคำหลายคน การสังหารอย่างโหดเหี้ยมนี้มีทั้งการจ่อยิงในระยะประชิด การไล่ต้อนเข้าไปในกระท่อมแล้วสังหารหมู่ด้วยระเบิดมือ การไล่ต้อนลงคูแล้วกราดยิงจนตายทั้งหมด พยานอีกคนหนึ่งให้การถึงวิธีที่ ร้อยโท คัลลี่ย์ สังหารพระภิกษุและเด็กทารกว่า พระภิกษุองค์นั้นครองจีวรสีขาวพนมมือเหมือนกำลังจะสวดมนต์ ปากก็พร่ำบอกว่าไม่มีเวียด
กง-ไม่มีเวียดกง ตามคำให้การของพยานในศาล ร้อยโท คัลลีย์ ได้ใช้ปลายกระบอกปืนเอ็ม 16 กระแทกปากแล้วยิงใส่หน้าพระภิกษุผู้นั้นจนศีรษะหลุดไปซีกหนึ่ง ส่วนเด็กทารก พยานให้การว่าร้อยโท คัลลีย์กระชากแขนขึ้นมาแล้วเหวี่ยงลงไปในคูแล้วยิงใส่
เฮอร์เบิร์ต คาร์เตอร์ ทหารจากเมืองฮูสตัน ให้การว่า “เราเข้าไปในหมู่บ้าน เราไม่เห็นพวกเวียดกง เมื่อพวกชาวบ้านออกจากกระท่อม ทหารเหล่านั้นก็ยิงพวกเขาแล้วเผากระท่อม หรือมิฉะนั้นก็เผากระท่อมก่อน เมื่อชาวบ้านออกมาก็ระดมยิงทีหลัง บางครั้งก็ตีวงล้อมรอบกลุ่มชาวบ้านและช่วยกันยิง เหตุการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ตลอดวัน”
สิบเอก ไมเคิล เบอร์นฮาร์ด ผู้ซึ่งเพื่อนๆในกลุ่มให้การว่าเขาปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือในการสังหารหมู่ครั้งนี้กล่าวว่ามีพวกเราไม่กี่คนที่ปฏิเสธไม่ยอมยิง มีทหารอเมริกันคนเดียวที่เสียชีวิตในครั้งนี้โดยยิงตนเองที่เท้า แทนที่จะยิงที่ชาวบ้าน

ในบรรดาพยานที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ มีนายทหารอีก 2 คนที่เป็นพยานสำคัญคนหนึ่งคือ โรนัลด์ เฮเบิร์ล ช่างภาพของกองทัพบก เขาได้ถ่ายภาพเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยกล้องถ่ายรูป 3 กล้อง กล้องหนึ่งเป็นของทางการ อีก 2 กล้องเป็นสมบัติส่วนตัวของเขา ทหารอีกคนหนึ่งที่เห็นเหตุการณ์และร่วมให้ปากคำ คือนักบินเฮลิคอปเตอร์ชื่อ ฮิวจ์ ซี. ทอมป์สัน จูเนียร์ สังเกตเห็นผู้คนนอนอยู่ในคูเป็นที่ผิดสังเกตจึงบินวนหวนกลับมาที่หมู่บ้านทำให้เขาได้ช่วยชีวิตเด็กไว้ได้ถึง 16 คน

ความหฤโหดของสงครามและยาเสพติดแทบทุกชนิดที่ระบาดไปทั่วกองทัพอเมริกันในเวียดนามทำให้คนอเมริกันอยากยุติสงครามที่ไกลบ้านกว่า 5,000 ไมล์เสียโดยเร็ว แต่ประธานาธิบดีนิกสันกลับยังไม่ยอมยุติสงครามลงง่ายๆเพื่อศักดิ์ศรีของตนเองและประเทศชาติในฐานะอภิมหาอำนาจ แต่เหตุการณ์ที่มายไลทำให้คนอเมริกาต้องใคร่ครวญอย่างหนักว่าตนกำลังจะทำลายเกียรติภูมิของตนเองเพราะสงครามครั้งนี้หรือไม่

ใน พ.ศ. 2514 จากการหยั่งประชามติปรากฏว่า ประชาชนผู้ออกเสียงร้อยละ 65 เชื่อว่า “สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ผิดศีลธรรมจรรยา” ในระยะนั้นปรากฏว่ามีคนที่ไม่ยอมไปรบในเวียดนามประมาณ 3-4 หมื่นคนหลบหนีออกไปอยู่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไปอยู่ในประเทศแคนาดา

แม้แต่ผู้คนภายในกองทัพเองก็เกิดความขยะแขยงสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ ใน พ.ศ. 2513 ทหารอเมริกันในเวียดนามห้อยเครื่องหมายสันติภาพกันอย่างเปิดเผยและขัดขืนไม่ยอมออกรบ การสูบกัญชาและยาเสพติดที่แรงกว่าเพื่อระงับอารมณ์และทำตัวให้หลุดพ้นจากโลกแห่งความเป็นจริงอันโหดร้ายมีอยู่ทั่วไป ประมาณกันว่าทหารราวร้อยละ 10 ถึง 15 ในแต่ละหน่วยติดเฮโรอีน การสังหารนายทหารที่พวกทหารไม่ชอบก็เป็นเรื่องธรรมดา หนังสือพิมพ์ใต้ดินและร้านกาแฟในสหรัฐที่พวกทหารผ่านศึกเป็นลูกค้าได้ช่วยกระพือข่าวที่พวกจีไอได้เคยประสบมาด้วยตัวเองในเวียดนามซึ่งล้วนแต่เป็นลบทิ้งสิ้นให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เสียงเรียกร้องให้อภัยโทษผู้หนีทหารหนักแน่นขึ้น ศีลธรรมจรรยาและระเบียบวินัยในกองทัพเลวลงยิ่งกว่าสงครามครั้งใดๆในประวัติศาสตร์อเมริกา

ไม่เคยมีครั้งใดที่ประชาชนอเมริกาจะขัดแย้งกับรัฐบาลของตนเองมากถึงขนาดนี้

เห็นชัดเจนว่า เมื่อมองปัจจัยการสนับสนุนจากประชาชน บทบาทของสหรัฐอเมริกาในสงครามเวียดนามไม่มีทางที่จะเดินหน้าต่อไปได้อีกแล้ว การถอนทหารอเมริกันออกจากเวียดนามก็มีความคืบหน้ามากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ในฐานะ “จอมทัพ”ของประเทศ ประธานาธิบดีนิกสันกำลังหาทางยุติสงครามครั้งนี้ “อย่างมีเกียรติ” ตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
แต่รัฐบาลไทยที่มี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีกลับทุ่มเทสร้างหน่วยทหารเสือพรานจำนวนมหาศาลเพื่อส่งเข้าไปรบในลาว .

ขอบพระคุณข้อมูลจาก “ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2”ศาสตราจารย์ สมร นิติทัณฑ์ประกาศ






“ก่อนนรกแตกที่สกายไลน์”

.......อิทธิพลของปัจจัยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์และของระบอบเผด็จการการเมืองในประเทศไทยย่อมมีผลทำให้การมองปัญหาความขัดแย้งและความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นไปแบบไม่ขาวก็ดำ ไม่มีพื้นที่ให้กับสีเทา ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วการเมืองเป็นสีเทาอย่างมาก ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด มีแต่ทางเลือกที่เลวน้อยที่สุด ไม่มีการแก้ปัญหาที่สร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย มีแต่การแก้ปัญหาที่ส่วนใหญ่ยอมรับได้……

ปลายปี พ.ศ.2513 หน่วยทหารเสือพรานไทยได้รับการฝึกและจัดตั้งอย่างเร่งรีบแล้วส่งเข้าปฏิบัติการในปลายปีนี้และต้นปี พ.ศ.2514

ปลายปี พ.ศ.2514 จะเกิดการสู้รบแตกหักครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในสงครามลาว การรบเพื่อแย่งยึดสันสกายไลน์-Skyline Ridge อันเป็นจุดสุดยอดแห่งตำนานการสู้รบของหน่วยทหารเสือพรานที่ยังคงถูกเล่าขานในหมู่ผู้กล้าที่ผ่านวันคืนนั้นมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ขณะที่สหรัฐก็โหมกำลังหวังเผด็จศึกเวียดนามให้ได้เพื่อยุติสงครามครั้งนี้ “อย่างมีเกียรติ” ตามที่ประธานาธิบดีนิกสันได้ให้สัญญาไว้กับประชาชนในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
วิธีการของสหรัฐมีทั้ง Carrot and Stick - ทั้งโหมโจมตีและเจรจา

“เจรจา”
เริ่มด้วย Carrot ...
ประธานาธิบดีนิกสันแต่งตั้งให้ เฮนรี แคบอต ลอดจ์ เป็นผู้แทนสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมประชุมเพื่อยุติสงครามกรุงปารีสร่วมกับเวียดนามเหนือเวียดนามใต้และเวียดกงตั้งแต่ก่อนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ 2511 แต่ประธานาธิบดี เหงียนวัน เทียว แห่งเวียดนามใต้ประกาศไม่เห็นด้วยที่จะให้พวกเวียดกงส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมด้วย ประธานาธิบดีเทียวได้ถ่วงเวลาอยู่ถึง 5 สัปดาห์โหมกำลังโจมตีเวียดนามเหนือให้บอบช้ำที่สุดเพื่อไว้เป็นเครื่องต่อรองในการประชุมซึ่งต้องเลื่อนไปเป็นวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2512 ประธานาธิบดีเทียวจึงยอมตกลงให้เวียดกงเข้าร่วมประชุมด้วย
แต่การประชุมก็ไม่ได้เกิดผลคืบหน้าประการใด เนื่องจากตกลงกันไม่ได้เรื่องการกำหนดตัวผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

“ทิ้งระเบิดกัมพูชา”
ควบคู่กับ Stick…
ตลอดเวลาของความขัดแย้งในอินโดจีน นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีที่เจ้านโรดมสีหนุพยายามรักษาความเป็นกลางของกัมพูชาไว้ได้ แต่ในกลางทศวรรษ 1960 เวียดนาม
เหนือได้ละเมิดอธิปไตยของกัมพูชาโดยเจตนาด้วยการใช้พื้นที่ในกัมพูชาเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านเข้าโจมตีเวียดนามใต้

ครั้นถึงต้นปี พ.ศ. 2512 ที่ประธานาธิบดีนิกสันเข้ารับตำแหน่ง ในเดือนกุมภาพันธ์ พวกเวียดกงก็รุกหนักโจมตีเมืองใหญ่ๆร้อยกว่าเมืองในเวียดนามใต้ด้วยปืนใหญ่และจรวดเพื่อลองเชิงรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีนิกสัน
ประธานาธิบดีนิกสันได้ตอบโต้ทันทีโดยสั่งให้ฝูงบิน B-52 ทิ้งระเบิดลึกเข้าไปในชายแดนของประเทศกัมพูชาเป็นระยะทาง 10 -15 ไมล์อย่างหนักถึง 3,630 ครั้งภายใน 14 เดือนโดยปกปิดไม่ให้รัฐสภาทราบ เนื่องจากสหรัฐอเมริกามิได้ประกาศสงครามกับกัมพูชา

การที่สหรัฐอเมริกาต้องลอบทิ้งระเบิดดินแดนกัมพาทั้งที่เป็นการละเมิดความเป็นกลางของกัมพูชาครั้งนี้ แต่สหรัฐอเมริการู้ดีว่าเจ้านโรดมสีหนุไม่พอพระทัยที่เวียดนามเหนือละเมิดอธิปไตยกัมพูชาด้วยการใช้ดินแดนกัมพูชาเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์อยู่แล้ว จึงคาดว่าเจ้านโรดมสีหนุคงจะไม่คัดค้านการทิ้งระเบิดเพื่อตัดกำลังกองทัพเวียดนามครั้งนี้ และยังเชื่ออีกว่าฝ่ายเวียดนามเหนือก็คงจะไม่ประท้วงเพราะเวียดนามเหนือปฏิเสธอยู่ตลอดเวลาว่าตนมิได้มีกองทหารอยู่ในประเทศกัมพูชา ซึ่งปรากฏว่าทั้งเจ้านโรดมสีหนุและโฮจิมินท์มิได้ทำการประท้วงดังที่ประธานาธิบดีนิกสันคาดไว้จริงๆ

แต่ปัญหากลับเกิดขึ้นภายในประเทศสหรัฐอเมริกาเอง เมื่อนักศึกษาและประชาชนที่ทราบข่าวการทิ้งระเบิดในกัมพูชาได้ก่อการประท้วงกันทั่วไปและเริ่มไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีนิกสันผู้สัญญาว่าจะหาทางยุติสงครามอย่างมีเกียรติ แต่กลับขยายขอบเขตการทำสงครามเข้าไปในกัมพูชา

การทิ้งระเบิดตามพื้นที่ชายแดนกัมพูชาซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 ผลักดันให้กองทัพเวียดนามเหนือใช้กำลังบุกเข้าไปภายในประเทศกัมพูชาจนเกือบถึงกรุงพนมเปญ ทำให้เจ้านโรดมสีหนุยิ่งรู้สึกลำบากพระทัยมากขึ้นไปอีกในการที่จะรักษาความเป็นกลางของกัมพูชาเพราะการสู้รบได้ขยายขอบเขตเข้ามาถึงภายในประเทศแล้ว

วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2513 นายพลลอนนอลผู้ฝักใฝ่สหรัฐอเมริกาได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มรัฐบาลของเจ้านโรดมสีหนุสำเร็จ ประธานาธิบดีนิกสันได้รีบรับรองรัฐบาลใหม่นี้ทันทีพร้อมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมหาศาลเพื่อให้นายพลลอนนอลจัดตั้งกองทัพอันมีกำลังพล 220,000 คนไว้สู้รบกับพวกเขมรแดงและกองทัพเวียดนามเหนือ ฝ่ายกองทัพอากาศอเมริกันก็ช่วยระดมทิ้งระเบิดตามแนวชายแดนกัมพูชาเพื่อกวาดล้างทำลายกองทัพคอมมิวนิสต์อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันทั้งสหรัฐและนายพลลอนนอลก็ร้องขอให้ไทยเตรียมส่งกำลังอาสาสมัครในลักษณะเดียวกันกับที่เตรียมใช้ในลาวเข้าปฏิบัติการในกัมพูชาด้วย ตามโครงการ “อาสาสมัครเขมรเสรี -ขสส.” ซึ่งใช้พื้นที่ฝึกค่ายเขาไม้ปล้อง จังหวัดจันทบุรี แต่ล้มเลิกโครงการนี้ในเวลาต่อมาแล้วส่งเข้าปฏิบัติการในลาวเมื่อปลายปี พ.ศ.2513

วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2513 กองทัพผสมอเมริกันและเวียดนามใต้ก็บุกเข้าไปในดินแดนกัมพูชาเพื่อค้นหากองบัญชาการของฝ่ายกองทัพคอมมิวนิสต์ นายพลลอนนอลได้ประท้วงแต่ไร้ผลประธานาธิบดีนิกสันประกาศว่า การบุกกัมพูชาครั้งนี้ก็เพื่อขจัดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จและพวกอนาธิปัตย์ที่กำลังคุกคามโลกเสรี และให้สัญญาว่ากองทัพอเมริกันจะไม่เข้าไปในกัมพูชาลึกเกินกว่า 21 ไมล์ และจะถอนออกในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2513

ปีนั้นกองทัพอเมริกันได้ช่วยรัฐบาลลอนนอลกวาดล้างกองทัพเขมรแดงและเวียดนามเหลืออย่างแข็งขัน เพราะกองทัพของนายพลลอนนอลนั้นอ่อนแอและไร้ประสิทธิภาพ รัฐบาลลอนนอลก็ฉ้อราษฎร์บังหลวงกดขี่ประชาชนจนเป็นที่คาดกันว่าหากสหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนก็คงจะอยู่ไม่ได้






“การบุกกัมพูชากับปฏิกิริยาจากรัฐสภา”
การบุกกัมพูชาทำให้เกิดการโต้แย้งว่าเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญของชาติ เพราะสหรัฐอเมริกามิได้ประกาศสงครามในอินโดจีนเป็นทางการแต่อย่างใด ดังนั้น การเกณฑ์ทหารเข้าไปรบในประเทศที่ตนมิได้ประกาศสงครามด้วยจึงขัดกับรัฐธรรมนูญของชาติและเป็นการใช้อำนาจบริหารของประธานาธิบดีเกินขอบเขต

สงครามเวียดนามเป็นสงครามที่คนอเมริกันเข้าทำการรบโดยยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอย่างเป็นทางการ และเป็นสงครามที่ฝ่ายบริหารไม่อาจจะแก้ตัวว่ากระทำไปเพราะเหตุฉุกเฉินเฉพาะหน้าหรือถูกโจมตีอย่างจู่โจม เพราะสงครามยืดเยื้อมาหลายปีแล้ว

ฝ่ายบริหารพยายามแย้งว่า สงครามครั้งนี้ประธานาธิบดีใช้อำนาจหน้าที่กระทำไปในฐานะจอมทัพเพื่อคุ้มครองกองทหารอเมริกันในเวียดนาม แต่ข้ออ้างประการนี้ นักวิจารณ์ก็แย้งว่า ฟังไม่ขึ้น เพราะสหภาพโซเวียตอาจนำไปอ้างได้ว่า การส่งกองทัพแดงเข้าไปรบในเวียดนามก็เพื่อคุ้มครองกองทหารรัสเซียเช่นเดียวกัน

รัฐสภาได้มีมติให้เรียกอำนาจที่ฝ่ายบริหารจะสั่งการได้ตามขั้นตอนที่จำเป็นในการทำสงครามกลับคืนมา โดยการยกเลิก “มติอ่าวตังเกี๋ย” ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐสภาเมื่อ พ.ศ. 2507 ตามข้อเสนอของประธานาธิบดีจอห์นสัน และยังได้อภิปรายตัดเงินงบประมาณเพื่อการทำสงครามอีกด้วย

“มติอ่าวตังเกี๋ยเป็นเท็จ”
สำหรับ “มติอ่าวตั้งเกี๋ย”นั้น ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนพ.ศ 2514 หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ได้ตีพิมพ์เอกสารลับของกระทรวงกลาโหมซึ่งเรียกว่า “เอกสารเพนตากอน” เอกสารนี้ชื่อ “งานค้นคว้าถึงบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับอินโดจีนตั้งแต่ พ.ศ 2488 จนถึง พ.ศ 2501” ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โรเบิร์ต แม็คนามารา ผู้สงสัยในการดำเนินงานของฝ่ายทหารและพลเรือนที่เกี่ยวกับสงครามเวียดนามเป็นผู้สั่งให้จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.2510 โดยใช้บรรณาธิการถึง 36 คนและใช้เวลาค้นคว้าอยู่ถึงปีครึ่งจึงเสร็จ มีความยาว 4,000 หน้าและคำอธิบายประกอบอีก 3,000 หน้า แบ่งออกเป็น 47 ตอน เอกสารนี้มีชื่อเป็นทางการว่า “ประวัติกระบวนการตัดสินใจตกลงใจของสหรัฐอเมริกาในนโยบายเกี่ยวกับเวียดนาม” ดร. แดเนียล เบิร์ก
ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ร่วมจัดทำเอกสารนี้ได้ลักลอบออกมาให้หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์และนิวยอร์กไทมส์ ตีพิมพ์เผยแพร่เพื่อให้ประชาชนได้รู้ถึงข้อบกพร่องของฝ่ายบริหารนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรูแมนเรื่อยมา

เอกสารที่ได้ขุดคุ้ยแผลเก่าและปัญหาใหม่ที่กระทบกระเทือนความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหารในอดีตอย่างหนัก ทำให้ประชาชนผู้ได้ทราบข้อเท็จจริงที่ปกปิดและรายงานที่ทำกันมาตั้งแต่ในระยะแรกของสงครามเกิดความคิดอยากเลิกสงครามนี้เสียโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายงานเรื่องการโจมตีอ่าวตังเกี๋ยอันเป็นที่มาของ “มติอ่าวตังเกี๋ย” เมื่อ พ.ศ.2507 ในสมัยประธานาธิบดีจอห์นสันซึ่งเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีจอห์นสันออกคำสั่งโหมกำลังทำสงครามเวียดนามได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยมิต้องผ่านรัฐสภา

“เวียดนามใต้บุกลาว”
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2513 สหรัฐอเมริกาโหมกำลังทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออีกและกองทัพเวียดนามใต้ก็ได้ส่งกำลังบุกเข้าไปในลาวตามแผนยุทธการ “ลามเซิน 719” ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 เพื่อเร่งให้สงครามยุติเร็วขึ้น การบุกลาวเป็นเสมือนการทดสอบประสิทธิภาพของกองทัพเวียดนาม
ใต้ที่จะทำการรบด้วยตนเองตามลัทธินิกสัน แต่ปรากฏว่ากองทัพเวียดนามใต้แตกกระเจิงถอยกลับอย่างไม่เป็นระเบียบ

การละเมิดอธิปไตยของลาวครั้งนี้ทำให้เกิดการประท้วงภายในสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง ทหารและตำรวจในกรุงวอชิงตันดีซีได้ทำการจับกุมประชาชนถึงหมื่นกว่าคนในการประท้วงครั้งนี้ แต่ประธานาธิบดีนิกสันก็ประกาศว่าจะทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือต่อไปเพื่อบังคับให้เวียดนามเหนือปลดปล่อยเฉลยศึกชาวอเมริกันทั้งหมด
ฝ่ายเวียดนามเหนือตอบโต้ว่าต้นจะมอบเชลยศึกชาวอเมริกันให้หากสหรัฐอเมริกาจะถอนทหารออกให้หมดภายในปี พ.ศ. 2514 และยุติการสนับสนุนรัฐบาลเหงียนวันเทียว

การเจรจาโต้ตอบกันครั้งนี้ก็ไร้ผลเช่นเดียวกับสิบกว่าครั้งที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาไม่อาจยอมรับข้อเสนอให้ฝ่ายตนเป็นฝ่ายถอนทหารออกก่อนเพราะรู้ดีว่ารัฐบาลเวียดนามใต้อยู่ได้เพราะกองทัพของตนช่วยค้ำจุนไว้ จึงยังคงดำเนินการเจรจาต่อรองกับเวียดนามเหนือต่อไปพร้อมๆกับการโหมกำลังทิ้งระเบิดเพื่อชัยชนะขั้นเด็ดขาด แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ไม่ยอมรับข้อเสนอให้ตนเป็นฝ่ายถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ก่อน ทั้งยืนยันว่าตนจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยโดยเด็ดขาด และเวียดนามจะต้องเป็นประเทศเดียวกันจะแบ่งแยกจากกันมิได้

เดือนเมษายน พ.ศ. 2514 ประธานาธิบดีนิกสันประกาศถอนทหารอเมริกันอีก 100,000 คน จึงเหลือทหารอเมริกันในเวียดนามเพียง 184,000 คน

ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2514 ประธานาธิบดีนิกสันได้สั่งให้ทิ้งระเบิดฮานอยและวางทุ่นระเบิดตามเมืองท่าต่างๆรวมทั้งเมืองไฮฟองของเวียดนามเหนืออีก ภายหลังที่ได้ว่างเว้นมา 4 ปีแล้วทั้งนี้เพื่อตัดการขนส่งอาวุธจากภายนอกประเทศเข้าเวียดนามเหนือ

ปลายปี พ.ศ 2514 กองทัพเวียดนามใต้ต้องเข้ารับผิดชอบการรบในประเทศของตนมากยิ่งขึ้นเนื่องจากมีทหารอเมริกันเหลืออยู่ขณะนั้นเพียง 140,000 คน

ขณะที่ไทยส่งกำลังอาสาสมัครทหารเสือพรานเข้าร่วมในสงครามลับในลาวอย่างเต็มที่....

(ขอบพระคุณข้อมูลจาก “ประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2” ศาสตราจารย์ สมร นิติทัณฑ์ประกาศ)

การดำเนินนโยบายต่อสงครามลับในลาวของรัฐบาลไทยที่มี จอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีลักษณะตรงข้ามกับนโยบายของประธานาธิบดีนิกสันในการถอนตัวจากสงครามอินโดจีนขณะนั้น งานวิจัย “นโยบายของไทยต่อเวียดนาม” สุรพงษ์ ชัยนาม สรุปความเป็นมาของนโยบายต่างประเทศไทยต่ออินโดจีนในช่วงสงครามเย็นไว้ดังนี้

“ เป็นที่ประจักษ์ว่า ไม่ว่ายุครัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุค จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุค จอมพล ถนอม กิตติขจร นโยบายต่างประเทศของไทยต่อเวียดนามใต้ไม่ซับซ้อนมาก กล่าวคือเป็นเรื่องของการต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์ ฝากความมั่นคงและความอยู่รอดของประเทศไว้กับสหรัฐฯ สนับสนุนและส่งเสริมให้สหรัฐฯช่วยเหลือเวียดนามใต้ทุกด้าน (ซึ่งก็คือการช่วยเหลือไทยโดยปริยาย และถือว่าความอยู่รอดของเวียดนามใต้ สำคัญต่อความอยู่รอดของไทย ) และสนับสนุนให้สหรัฐเข้าทำสงครามเวียดนามโดยตรงในยุคของประธานาธิบดีจอห์นสันซึ่งก็คือนโยบายรบนอกบ้านดีกว่ารบในบ้านที่เป็นประโยชน์แก่ไทย เป็นยุคที่นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านและต่อสหรัฐฯ ถูกผูกขาดอย่างสมบูรณ์โดยฝ่ายทหาร กระทรวงการต่างประเทศเป็นฝ่ายปฏิบัติมากกว่ากำหนดนโยบาย กระทรวงการต่างประเทศจะมีบทบาทด้านการกำหนดนโยบายก็ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆของทวีปเอเชีย

หากมองย้อนหลังกลับไป ( in retospect ) จะเห็นได้ว่า ตลอดยุคของสงครามเวียดนาม การที่นโยบายต่างประเทศของไทยต่อสหรัฐและเวียดนามใต้ถูกผูกขาดโดยฝ่ายทหารบวกกับอิทธิพลของบริบทสงครามเย็น อิทธิพลของปัจจัยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์และของระบอบเผด็จการการเมืองในประเทศไทยย่อมมีผลทำให้การมองปัญหาความขัดแย้งและความมั่นคงระหว่างประเทศเป็นไปแบบไม่ขาวก็ดำ ไม่มีพื้นที่ให้กับสีเทา ทั้งที่โดยธรรมชาติแล้วการเมืองเป็นสีเทาอย่างมาก ไม่มีทางเลือกที่ดีที่สุด มีแต่ทางเลือกที่เลวน้อยที่สุดไม่มีการแก้ปัญหาที่สร้างความพอใจให้กับทุกฝ่าย มีแต่การแก้ปัญหาที่ส่วนใหญ่ยอมรับได้

เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวข้างต้น นโยบายต่างประเทศของไทยต่อกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในยุคที่ทหารผูกขาด การกำหนดและการตัดสินใจด้านนโยบายจึงมักเป็นนโยบายที่ขาดความยืดหยุ่น ขาดการมองรอบด้าน เป็นลักษณะของนโยบายต่างประเทศที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จของบริบทสงครามเย็นและของปัจจัยอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ ยึดการพึ่งพามหาอำนาจประเทศเดียว ยึดอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นปัจจัยชี้ขาดด้านนโยบาย มักขาดการวิเคราะห์การประเมินและการคาดการณ์เกี่ยวกับพัฒนาการของเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อไทยและต่อภูมิภาคโดยรวม
ความจริงในประเด็นนี้เป็นที่ประจักษ์เด่นชัดในยุคของรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร…”

การกำหนดนโยบายต่างประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516.








“ทุ่งไหหินและล่องแจ้ง”

“ การต่อสู้ในห้วงเวลาที่ 4 อันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของสงครามซึ่งเป็นการรบที่ถูกกล่าวถึงและรู้จักกันในนามของ “ทหารเสือพราน”นี้ จึงเป็นไปเพื่อแย่งชิงพื้นที่ภายในทุ่งไหหิน”

“การแบ่งห้วงเวลาสงครามลับในลาว”
การเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามลับในลาวของไทยซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2503 จนถึง พ.ศ.2516 นั้น อาจแบ่งได้เป็น 4 ห้วงเวลาสำคัญตามประเภทของกำลังที่ส่งเข้าไปปฏิบัติการ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพรวมของสงครามลับครั้งนี้ได้ชัดเจนขึ้น ดังนี้

ห้วงที่ 1 : กำลังตำรวจพลร่ม “พารู”
เริ่มตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2503 ซึ่งมีสาเหตุเริ่มต้นจากการยึดอำนาจของ ร้อยเอก กองแล เมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ.2503 กำลังที่ส่งเข้าไปเป็นชุดแรกนี้จัดจากตำรวจพลร่ม “พารู” มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษากองทัพลาวฝ่ายขวาในเบื้องต้น และต่อมาได้ขยายบทบาทไปยังการฝึก การจัดตั้งและการปฏิบัติการรบกองกำลังม้งของวังเปาภายใต้การสนับสนุนของ ซีไอเอ.
กำลังตำรวจพลร่มเหล่านี้ไม่มีหน้าที่ทำการรบโดยตรง และจะปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ไปตลอดจนสิ้นสุดสงครามเมื่อ พ.ศ.2516

ห้วงที่ 2 : กำลังทหารปืนใหญ่ เอสอาร์
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2507 ถึง พ.ศ. 2512 เมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือส่งกำลังเข้าสนับสนุนลาวฝ่ายซ้ายจนครองความได้เปรียบเหนือลาวฝ่ายขวาโดยเฉพาะในทุ่งไหหินอันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งสองฝ่าย ไทยจึงได้รับการร้องขอให้ส่งกองร้อยทหารปืนใหญ่ เริ่มจาก เอสอาร์ 1 ใน พ.ศ.2507 เข้าไปให้การสนับสนุนเพิ่มอำนาจการยิงจากอาวุธหนัก ภารกิจเฉพาะคือป้องกันเมืองสุยอันเป็นเมืองสำคัญบริเวณทุ่งไหหินเพื่อมิให้ตกอยู่ในมือของฝ่ายเวียดนามเหนือ แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือได้ทุ่มเทกำลังเข้ากดดันจนกองร้อยทหารปืนใหญ่ เอสอาร์ 8 ต้องถอนตัวเมื่อ พ.ศ.2512 จากนั้นเวียดนามเหนือก็ทุ่มเทกำลังจนกระทั่งเข้ายึดทุ่งไหหิน และเมืองสุยไว้ได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2513 และมีสิ่งบอกเหตุว่าจะไม่หยุดยั้งอยู่แค่เพียงทุ่งไหหินเท่านั้น แต่เป้าหมายต่อไปคือจุดยุทธศาสตร์สำคัญรอบๆทุ่งไหหิน อันได้แก่ ล่องแจ้ง ศาลาภูคูณ และท่าเวียง เพื่อควบคุมพื้นที่ทุ่งไหหินให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ กำลังทหารกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 โดยการนำของนายพลวังเปา ต้องร่นถอยมาทางใต้ แล้ววางกำลังตั้งรับ ตามแนว บ.นา -ภูล่องมาด - ถ้ำตำลึง - ภูผาไซ - คังโค้ โดยใช้ล่องแจ้ง และซำทองเป็นที่มั่นสุดท้าย
กลางเดือนมีนาคม 2513 เวียดนามเหนือเปิดการรุกรบขนาดใหญ่อีกครั้งหนึ่ง รัฐบาลลาวจึงได้ร้องขอกำลังรบของไทยไปสนับสนุนกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 เพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทอง ที่มั่นสุดท้ายของกองทัพแห่งชาติลาวบริเวณสมรภูมิทุ่งไหหิน

ห้วงที่ 3 : กำลังทหารประจำการ
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2513 จนถึงต้น พ.ศ.2514 เมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้จัดทำ “โครงการ วีพี.” และได้ส่งกำลัง 3 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติลาวเพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทอง ตั้งแต่มีนาคม 2513
หน่วยทหารราบใช้นามรหัส “ไอวีพี (INFANTRY VANG PAO) “ประกอบด้วย กองพันทหารราบ ไอวีพี – 11 ไอวีพี - 12 และ ไอวีพี – 13
หน่วยทหารปืนใหญ่ ใช้นามรหัส “เอวีพี (ARTILLERY VANG PAO)” ประกอบด้วย กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี – 1 และ เอวีพี – 2
หน่วยกำลังทหารประจำการทั้งหมดนี้กำหนดให้ปฏิบัติการเป็นเวลา 1 ปี แล้วให้หน่วยทหารเสือพรานเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนในปลายปี พ.ศ.2513-ต้นปี พ.ศ.2514

ช่วงที่ 4 : กำลังทหารเสือพราน
เริ่มจากปลายปี พ.ศ.2513 จนถึงการสู้รบยุติลงเมื่อ พ.ศ.2516
ในช่วงเวลาที่หน่วยทหารเสือพรานจะเข้าปฏิบัติหน้าที่แทนเมื่อปลายปี พ.ศ.2513 นั้น
ก่อนถอนกำลังกลับประเทศไทย หน่วยทหารประจำการในช่วงที่ 3 สามารถยึดรักษาพื้นที่สำคัญบริเวณรอบทุ่งไหหินไว้ได้ดังนี้

- กองพันทหารราบ ไอวีพี 11 (หรือ บีไอ 13) และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี 2 (หรือ บีเอ 14) ยึดรักษาพื้นที่ซำทอง

- กองพันทหารราบ ไอวีพี 12 (หรือ บีไอ 14) ยึดรักษาพื้นที่ภูล่องมาด

- กองพันทหารราบ ไอวีพี 13 (หรือ บีไอ 15) และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี 1 (หรือ บีเอ 13) ยึดรักษาพื้นที่บ้านนา

- บก. ฉก.วีพี ยึดรักษาเมืองล่องแจ้ง

ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือยังคงยึดครองพื้นที่ภายในทุ่งไหหินไว้ได้อย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ

การต่อสู้ในห้วงเวลาที่ 4 อันเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของสงครามซึ่งเป็นการรบที่ถูกกล่าวถึงและรู้จักกันในนามของ “ทหารเสือพราน”นี้ จึงเป็นไปเพื่อแย่งชิงพื้นที่ภายในทุ่งไหหินระหว่างเวียดนามเหนือและกองทัพแห่งชาติลาวภาค 2 ของนายพลวังเปาที่มีกองกำลังทหารเสือพรานและ ซีไอเอ.ให้การสนับสนุน

ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของทุ่งไหหินต่อฝ่ายเวียดนามเหนือคือเพื่อป้องกันเส้นทางโฮจิมินห์ ส่วนความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองทัพแห่งชาติลาวคือเพื่อป้องกันเส้นทางเข้าสู่นครเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว
โดยมีเป้าหมายสำคัญชี้ขาดที่เมืองล่องแจ้ง.






“ล่องแจ้ง : The Last Stand ”

......ล่องแจ้งตั้งอยู่ในแอ่งกระทะใหญ่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่รอบด้าน เบื้องหน้าทิศเหนือเป็นสันเขาสูงเทือกยาวอันเป็นปราการขวางกั้นเมืองล่องแจ้งเรียกว่า “สกายไลน์-Skyline ”….


“ล่องแจ้ง-สกายไลน์”
บันทึก “สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ของ ชาลี คเชนทร์ “ผู้นำอากาศยาน” ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ได้อธิบายลักษณะภูมิประเทศและสถานการณ์ของเมืองล่องแจ้ง เมื่อปลาย พ.ศ 2513 ขณะที่ทหารเสือพรานจากประเทศไทยกำลังทยอยกันเดินทางเข้าไปในเมืองล่องแจ้งและพื้นที่การรบในทุ่งไหหินไว้ดังนี้

“ ยุทธบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลแห่งนั้น พื้นที่เต็มไปด้วยป่าไม้หนาทึบบนภูเขาสูงสลับซับ
ซ้อนต่อกันเป็นเทือกยาวสุดตา เป็นที่สังเกตว่าเหนือบริเวณทั้งหมดไม่ปรากฏที่ราบให้เห็นแม้แต่น้อย
ตัวเมืองล่องแจ้งตั้งอยู่ในแอ่งกระทะใหญ่ถูกโอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่รอบด้าน เบื้องหน้าทิศเหนือเป็นสันเขาสูงเทือกยาวอันเป็นปราการขวางกั้นเมืองล่องแจ้งเรียกว่า “สกายไลน์-Skyline ” ถัดลงมาทางใต้เป็นที่ตั้ง “ภูเบี้ย” มีความสูง 2,820 ฟุต นับว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในลาว ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวภูเขาประกอบด้วยแม้ว เย้า อีก้อ และมูเซอ อาชีพดั้งเดิมของคนภูเขาเหล่านั้นคงหนีไม่พ้นการทำไร่ปลูกฝิ่นและกัญชา



ในหมู่ของชาวม้งพวกเขารู้สึกว่าตนเองเกิดมามีเคราะห์กรรมเหมือนถูกพระเจ้าสาป ไม่มีพื้นดินและถิ่นฐานพำนักอาศัยเป็นของตนเอง ต้องเร่ร่อนอพยพหลบภัยไม่หยุดหย่อนเพราะสงครามในลาวได้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต่างดำรงชีวิตเป็นชาวป่าชาวเขาตั้งแต่ต้นกำเนิดบรรพบุรุษ ซ้ำร้ายยังถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อยด้อยพัฒนาในสายตาของชนชาติเดียวกัน พวกเขามีความรักชาติรักแผ่นดินเช่นกัน แม้ไม่อยากพลัดพรากถิ่นฐาน อยากรวมตัวเป็นปึกแผ่นเพื่อสร้างชาติให้มั่นคงแต่ด้วยความแตกต่างในเชื้อชาติเผ่าพันธุ์และการแต่งกายที่ผิดแผกกับคนเมืองจึงจำต้องอพยพไปอยู่ห่างไกลบนเทือกเขาสูงท่ามกลางความเป็นอยู่อย่างสันโดษ ถือวัฒนธรรมประเพณีมักน้อยเจียมตัว

ภายในตัวเมืองล่องแจ้งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนที่พักอาศัย ทางทิศตะวันตกเป็นที่ตั้งวัดเก่าแก่สลับด้วยอาคารสถานที่ราชการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล และหน่วยทหารตามแนวยาวสันเขาสกายไลน์ นับว่าเป็นศูนย์รวมด้านสาธารณะอุปโภคที่ชาวม้งในพื้นที่ใกล้เคียงและห่างไกลออกไปได้ใช้เป็นสถานที่อันเป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมีกองกำลังทหารเผ่าม้งทำหน้าที่ป้องกันและให้ความปลอดภัยในบริเวณเหล่านั้น

ขณะนั้นบ้านเรือนที่พักอาศัยวัดและโรงเรียนได้กลายเป็นสภาพร้าง ประชาชนพระสงฆ์และเด็กนักเรียนได้ถูกทางการแยกออกจากพื้นที่อันตราย โดยถูกจำกัดเขตให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยรอบนอกทั้งหมด

ในเบื้องต้นนายพลวังเปาได้ขอความช่วยเหลือจากฝ่ายสกายอเมริกันจัดหน่วยพลเรือนไทยจำนวนหนึ่งเพื่อร่วมอำนวยความสะดวกในการขนย้ายประชาชนไปอยู่ในแนวหลัง ฝ่ายสกายจึงมอบให้ “สุพจน์” และคณะไปจัดตั้งหน่วยบริการช่วยเหลือเรียกชื่อว่า “ลาวรวมเผ่า”โดยได้จัดสร้างที่พักอาศัยให้แก่ผู้อพยพทุกครัวเรือนพร้อมทั้งได้แจกเครื่องอุปโภคบริโภคและยารักษาโรคที่จำเป็นรวมถึงการจ่ายพันธุ์พืชชนิดต่างๆให้ไปเพาะปลูกแทนการทำไร่ฝิ่นและกัญชานอกจากนั้นยังได้ให้สิทธิ์แม่ค้าพ่อค้าชาวม้งนำสินค้าเกษตรเหล่านั้นขึ้นเครื่องบินไปจำหน่ายในเมืองล่องแจ้ง วังเวียง เวียงชัย นาซูและเขตปลอดสงครามอื่นๆอีกด้วย หน่วยบริการลาวรวมเผ่าได้สร้างมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ต่างๆในช่วงบ้านเมืองเกิดศึกสงครามได้ผลดียิ่ง นอกจากประชาชนจะมีรายได้เลี้ยงครอบครัวแล้ว พวกเขายังมอบความจงรักภักดีต่อทหารรัฐบาลพร้อมยินดีให้การช่วยเหลือในด้านการแจ้งข่าวและชี้เบาะแสของฝ่ายศัตรูเป็นการตอบแทน

ต่อจากนั้นสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในเมืองล่องแจ้งได้ถูกดัดแปลงเป็นที่ตั้งหน่วยทหารโดยกองบัญชาการแห่งเก่าของนายพลวังเปาได้ย้ายออกไปตั้งอยู่บนภูเขาตอนเหนือในขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสกาย (ซีไอเอ) ได้เคลื่อนย้ายเข้ามาแทน ติดตามด้วยคณะนายทหารไทยได้จัดตั้งเป็นกองบัญชาการหน่วยรบเฉพาะกิจ “บก.ฉก.สิงหะ” ท่ามกลางการป้องกันอารักขาของกองพัน บีซี.603 และ 604 ในขณะที่กองพันทหารเสือพรานอื่นๆกำลังทยอยเคลื่อนพลเข้าสู่สนามรบแห่งนี้ตามลำดับ

พื้นที่อันเป็นแอ่งกระทะใหญ่เหมาะสมเป็นชัยภูมิสำคัญในการตั้งกองบัญชาการรบอย่างยิ่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหุบล้อมรอบด้วยภูเขาสูงรอบด้านย่อมได้เปรียบในการหลบภัยและปลอดกระสุนจากการยิงอาวุธหนักจากฝ่ายข้าศึก บริเวณเช่นนี้เรียกว่า “มุมอับกระสุน”เพราะตำบลกระสุนตกจะถูกภูเขารอบด้านเป็นเสมือนปราการป้องกันไว้ทั้งหมด โดยกระสุนปืนใหญ่และจรวดยิงวิถีไกลจะเลยไปตกหลังภูเขาฟากใดฟากหนึ่ง

ประชาชนในเขตเมืองล่องแจ้งได้ถูกทางการอพยพให้ไปอยู่ในเขตปลอดสงครามที่ห่างไกลออกไป แม้กระนั้นชนเผ่าภูเขาเหล่านั้นก็จำเป็นต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านอพยพหรือเขตกักกันในพื้นที่ต่างๆเพื่อนำสินค้าพื้นเมืองและสินค้าเกษตรไปแลกซื้อแลกขายระหว่างกัน ดังนั้นในช่วงทุกเช้าถึงบ่ายจะสังเกตเห็นคนแม้วเผ่าต่างๆ บ้างเป็นหญิงสาวหน้าตาสะสวยหรือหญิงแก่หอบลูกจูงหลานต่างแบกขนสัมภาระที่เป็นสินค้าทยอยลงจากเครื่องบินบริการอยู่ไม่ขาดสาย จากนั้นได้ตั้งเต็นท์วางจำหน่ายให้แก่ทหารหลายหน่วยบริเวณ “สเก็ตแร้มป์- Skate Ramp” ในเมืองล่องแจ้ง

ในบางวันข้าศึกได้ยิงจรวดระยะไกลพลัดตกเข้ามาในเขตเมืองล่องแจ้ง หากตำบลลูกระเบิดตกห่างออกไป บรรดาพวกซื้อขายมักไม่มีอาการตื่นตระหนกแต่อย่างใด ยิ่งเป็นเสียงปืนเล็กที่ทหารบางหน่วยยิงปะทะต่อสู้กัน ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ได้ใส่ใจ กลับเห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดาเสมือนหนึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะความเคยชินกับวัตถุระเบิดที่เคยเกิดครั้งแล้วครั้งเล่ามานานชั่วนาตาปี

เป็นที่สังเกตว่าทหารลาวและทหารม้งบางหน่วยได้นำอาวุธประจำกายเช่นปืน เอ็ม 16 ปืนอาก้าปืนพก 11 ม.ม. หรือวัตถุระเบิดบางชนิดนำออกเร่ขายและแลกเปลี่ยนระหว่างทหารด้วยกันสนนราคาอาวุธปืนขณะนั้นกระบอกละ 200-300 บาทเท่านั้น จึงพิจารณาได้ว่าอาวุธสงครามมีจำนวนมากจนล้นกองทัพ สามารถนำมาซื้อขายกันในสนามรบได้อย่างเปิดเผย โดยทางการไม่ได้เข้มงวดกวดขันแต่อย่างใด นั่นแสดงให้เห็นว่าการค้าอาวุธได้เกิดขึ้นตั้งแต่ในสนามรบแล้ว

ภาวะดินฟ้าอากาศบริเวณเมืองล่องแจ้งมีความชุ่มชื้นตลอดปี หน้าฝนมีพายุจัด ท้องฟ้ามืดครึ้มอากาศปิดเวลานาน ฝนตกหนักแทบทุกวัน เหนือเทือกเขาสูงถูกปกคลุมด้วยเมฆฝนและม่านหมอกหนาทึบ พอล่วงสู่ฤดูหนาวอากาศหนาวเหน็บ บางวันเย็นจัดจนสามารถมองเห็นเกล็ดหิมะเหนือยอดหญ้าและยอดไม้

ชีวิตทหารนักรบในแนวหน้าในช่วงฤดูฝนนับว่ามีความยากลำบากในเรื่องความเป็นอยู่อย่างมากต่างทุกข์ทรมานต่อการหลบซ่อนและหลับนอนในเบิร์มหรือบังเกอร์ที่มีพื้นที่จำกัดท่ามกลางความชื้นและกลิ่นอับ พวกเขาจะรู้สึกเหงาซึมเศร้าสุดๆเมื่อเจอสภาวะอากาศปิดนานหลายวันเมื่อ ฮ.หรือเครื่องบินบริการไม่สามารถนำสัมภาระมาส่งให้ได้ ทหารต้องขาดน้ำดื่มน้ำใช้และอาหารประทังชีวิต และเพิ่มความน่าสังเวชมากยิ่งขึ้น หากมีศพและทหารที่ได้รับบาดเจ็บตกค้างอยู่ในสถานที่ตั้งแนวหน้าเพราะอากาศปิดเป็นเหตุทำให้บินมารับกลับส่วนหลังไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันใดที่อากาศปิด ฝ่ายเราจะตกเป็นฝ่ายรับจรวดลูกยาวที่ข้าศึกยิงมาราวห่าฝน โดยที่เครื่องบินไม่สามารถโจมตีทิ้งระเบิดได้เลย

อย่างไรก็ตามฤดูฝนอันยาวนานย่อมเป็นอุปสรรคสำคัญในการสู้รบ จึงเป็นปัจจัยเอื้อให้เกิดการพักรบโดยปริยาย ทหารจึงมีเวลาพักฟื้นภายใต้ไอฝนอันชุ่มฉ่ำ

ณ ห้วงเวลานั้น การเคลื่อนพลของกองทัพแห่งชาติลาวในเมืองล่องแจ้งมีปริมาณหนาแน่นขึ้นเรื่อยๆ บางหน่วยเข้าไปทดแทนหรือสับเปลี่ยนหน่วยเก่าที่เคยสู้ศึกมานาน หรือบางหน่วยได้ย้ายไปสู้รบในพื้นที่ภาคอื่น
สำหรับทหารเสือพรานไทยได้เพิ่มจำนวนเข้ามาทีละน้อยทีละน้อย แต่หน่วยเหนือได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้กำลังพลต้านข้าศึกที่เมืองนี้ให้มากที่สุด



ภายในเมืองล่องแจ้งจึงเริ่มคึกคักพลุกพล่านทุกวัน บนลานบินกว้างใกล้กับ “เมนแร้มป์-Main Ramp”ด้านเหนือ เครื่องบิน ซี-130 บินขึ้นลงวันละหลายเที่ยว บางลำบรรทุกกำลังพลจากพื้นที่หนึ่งไปสู่พื้นที่อื่น สำหรับเครื่องเล็ก ซี- 47 และซี- 123 ต่างใช้ขนถ่ายคนเจ็บคนตายที่มีจำนวนมากส่งกลับส่วนหลัง หากมีจำนวนเล็กน้อยก็ใช้ ฮ.ในการลำเลียง ข่าวแจ้งว่าจำนวนทหารลาวที่บาดเจ็บและตายจากการสู้รบในแต่ละวันนั้นมีจำนวนไม่น้อย และถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาในภาวะสงครามเช่นนั้น

แม้ยามใดที่พวกเราได้โดยสารเครื่องบินเหล่านั้นดูเหมือนว่ากลิ่นสาบสางของซากศพที่ตกค้างยังคงหลงเหลืออยู่ นั่นคือสิ่งที่ได้พบเห็นอันเป็นเลือดเนื้อชีวิตที่ได้สัมผัสในภาวะสงคราม”

นี่คือล่องแจ้ง “ที่มั่นสุดท้ายของกองทัพแห่งชาติลาว” ในสายตาของนักรบคนหนึ่งแห่งกองกำลังทหารพราน.

ขอบพระคุณ “ชาลี คเชนทร์” นามจริง “เฉลิมชัย ธรรมเวทิน” ผู้อยู่ในเหตุการณ์และเขียนบันทึก “สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำจึงนับว่าเป็นบันทึกที่ทรงคุณค่ายิ่ง.


“นรกบ้านนา”

......วินาทีแรกที่เหยียบที่บ้านนา ผมมองดูภูมิประเทศโดยรอบแล้วรู้สึกด้วยสัญชาตญาณว่าที่นี่คือนรกชัดๆ…..

ได้รับข้อมูลการรบในห้วงที่ 3 ของทหารประจำการจากกรมผสมที่ 13 ในปี พ.ศ.2513 จนถึง พ.ศ.2514 เพิ่มเติมที่จะทำให้มองเห็นและเข้าใจสภาพการรบในช่วงการมาถึงของทหารเสือพรานเมื่อปลายปี 2513 ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

ห้วงที่ 3 : กำลังทหารประจำการ
เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2513 จนถึงต้น พ.ศ.2514 เมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สั่งการให้จัดทำ “โครงการ วีพี.” และได้ส่งกำลัง 3 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือกองทัพแห่งชาติลาวเพื่อป้องกันล่องแจ้งและซำทองเป็นการด่วน ตั้งแต่มีนาคม พ.ศ. 2513
กองพันทหารราบใช้นามรหัส “ไอวีพี (INFANTRY VANG PAO) “ประกอบด้วย กองพันทหารราบ ไอวีพี – 11 ไอวีพี - 12 และ ไอวีพี – 13 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองพันทหารราบ BI 13 BI 14 และ BI 15 ตามลำดับ
หน่วยทหารปืนใหญ่ ใช้นามรหัส “เอวีพี (ARTILLERY VANG PAO)” ประกอบด้วย กองร้อยทหารปืนใหญ่ เอวีพี – 1 และ เอวีพี – 2 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 13 และ BA 14 ตามลำดับ
หน่วยกำลังทหารประจำการทั้งหมดนี้กำหนดให้ปฏิบัติการเป็นเวลา 1 ปี แล้วถอนกำลังกลับประเทศไทยให้หน่วยทหารเสือพรานเข้าปฏิบัติหน้าที่แทน

“การรบที่สำคัญของกำลังทหารประจำการ”
ตลอดระยะเวลา 1 ปี พ.ศ.2513-2514 ปรากฏการรบที่สำคัญของหน่วยทหารประจำการตามโครงการ วีพี. ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยตรงกับหน่วยทหารเวียดนามเหนือที่ส่งกำลังเข้าปฏิบัติในพื้นที่ประเทศลาวอย่างเต็มที่ ดังนี้

1.ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตีกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 14 ที่เมืองซำทอง

วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตีกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 14 ที่เมืองซำทอง โดยเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.กองร้อยทหารปืนใหญ่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัดทางด้านทิศใต้ของเมืองซำทอง สอบถามไม่ใช่เสียงปืนจากฝ่ายเรา ครั้นเวลา 22.30 น. ตรวจการณ์พบการเคลื่อนไหวผิดสังเกต ตรวจการณ์อีกครั้งพบข้าศึกจำนวนประมาณ 20 คน คาดว่าเป็นหน่วยกล้าตาย (แซปเปอร์) เมื่อข้าศึกเข้ามาถึงลวดหนาม ผบ.ร้อย จึงสั่งยิง ข้าศึกหยุดการเคลื่อนไหวและถอนตัวกลับไปทิ้งศพไว้ 5 ศพ

รุ่งขึ้น วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2513 เวลา 01.45 น. ต่อเนื่องจากเหตุการณ์แรก ข้าศึกระดมยิงที่ตั้งกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 14 ด้วยจรวดขนาด 122 มม.ขณะเดียวกันกำลังข้าศึกประมาณ 30 คนเข้าโจมตีทางด้านเหนือ เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง ฝ่ายเรากดระเบิดเคลย์โมร์ 2 ลูก ข้าศึกถอนตัวไป ทิ้งศพไว้ 8 ศพ
ฝ่ายเราเสียชีวิต 1 รายบาดเจ็บ 4 ราย ยึดปืนอาก้า 47 ได้ 4 กระบอก เครื่องยิงจรวด RPG บี 40 ได้ 2 กระบอก พร้อมลูกจรวด 5 ลูก ดินระเบิด 100 แท่ง และกระสุนอา4 ก้าอีกจำนวนมาก ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตทั้งหมด 13 นาย

2.ทหารเวียดนามเหนือเข้าโจมตีกองพันทหารราบ BI 14 ที่ภูล่องมาด
วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2513 4 วันถัดมา ต่อเนื่องจากความพยายามในการเข้าตีกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 14 ที่บ้านนา ข้าศึกเริ่มเปิดฉากการโจมตีกองพันทหารราบ บีไอ 14 ที่ภูล่องมาด ด้วย ค.120 ฝ่ายเราตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ 105 มม.จากฐานยิงซีบร้า เวลา 02.10 น.ข้าศึก 1 กองร้อยสนับสนุนด้วย ค.120 มม. และจรวด RPG เข้าโจมตีที่ตั้งกองพันทหารราบ B 14 ประมาณ 1 ชั่วโมง ฝ่ายเราต่อต้านอย่างเหนียวแน่น ข้าศึกไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าตีจึงถอนตัวไปทางทิศตะวันออก
ฝ่ายเราเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บเล็กน้อย 2 นาย ข้าศึกเสียชีวิตทิ้งศพไว้ 9 ศพ ปืนอาก้า 3 กระบอกระเบิดมือ 11 ลูกระเบิด TNT 42 แท่ง เครื่องยิงจรวด RPG บี 40 1 กระบอก

3. ทหารเวียดนามเหนือเข้าตีกองพันทหารราบ BI 15 ที่บ้านนา
วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 เป็นช่วงฤดูหนาว อากาศหนาวเย็นมาก ข้าศึกส่งหน่วยแซปเปอร์ (กองพันดักกง 27) ประมาณ 150 คนเข้าโจมตีกองพันทหารราบ BI 15 ซึ่งตั้งฐานร่วมกับฐานปืนใหญ่พันเชอร์ (Puncher) ของกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 13 ข้าศึกเริ่มโจมตีด้วย ค. 120 มม. และ ค. 82 มม. รวมทั้งจรวดชนิดต่างๆพร้อมด้วยปืนใหญ่จากทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหิน ติดตามด้วยการโจมตีจากหน่วยทหารราบ การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงถึงขั้นตลุมบอน ได้รับการสูญเสียมากทั้งสองฝ่าย
ฝ่ายเราสามารถรักษาที่มั่นบ้านนาไว้ได้ กำลังพลเสียชีวิต 13 นาย บาดเจ็บสาหัส 30 นาย บาดเจ็บเล็กน้อย 7 นาย บังเกอร์เสียหาย 8 แห่ง เอ็ม 16 เสียหาย 30 กระบอก
ข้าศึกเสียชีวิตทิ้งศพไว้ 45 ศพ อาก้า 47 15 กระบอก เครื่องยิงจรวด RPG 40 บี 40 3 กระบอก ลูกระเบิด 10 ลูกดินระเบิดอีกจำนวนมาก

การรบที่บ้านนาครั้งนี้ถือเป็นการรบที่รุนแรงที่สุดในรอบปี พ.ศ.2513
หน่วยกำลังรบของฝ่ายเราที่วางกำลังที่บ้านนาซึ่งข้าศึกพยายามทุ่มเทกำลังเข้ายึดให้ได้นี้คือ กองพันทหารราบ BI 15 และกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 13

“กองพันทหารราบ BI 15"
กองพันทหารราบ BI 15 เป็นหน่วยที่ 3 ที่เข้าปฏิบัติการตั้งแต่ 10 พฤษภาคม 2513 โดยเข้าที่ตั้งขั้นต้นบริเวณภูล่องมาด การเข้าปฏิบัติการของหน่วยนี้ทำให้กำลังของไทยมีกำลังครบ 3 กองพันทหารราบตามแผน และเป็นผลให้การสถาปนาพื้นที่บริเวณล่องแจ้ง - ซำทอง - ภูล่องมาด ของฝ่ายกองทัพแห่งชาติลาวมีความมั่นคงจนกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือไม่สามารถคุกคามล่องแจ้งได้อีกต่อไป

ต่อมา กองพันทหารราบ BI 15 ได้เคลื่อนย้ายเข้าที่ตั้งบริเวณบ้านนา ร่วมกับกองร้อยทหารปืนใหญ่ BA 13 เพื่อสนับสนุนการขยายผลเข้าสู่ทุ่งไหหินของฝ่ายกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 หน่วยนี้ได้สร้างวีรกรรมไว้ที่บ้านนา และสามารถยึดบ้านนาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ถึงแม้ว่ากำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือจะพยายามทำการปิดล้อมและทุ่มเทความพยายามเข้าตีอย่างรุนแรงสนับสนุนด้วยการยิงด้วยอาวุธหนักเป็นจำนวนมากหวังผลแตกหักก็ตาม

การรบครั้งสำคัญเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 นี้ ร.ท.ประจักษ์ วิสุตกุล “หัวหน้าใจ”ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ได้เขียนบันทึก “นรกบ้านนา”ออกเผยแพร่ ซึ่งนับเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่ายิ่งดังนี้

“บันทึก ‘นรกบ้านนา’…”
ร้อยโท ประจักษ์ วิสุตกุล กลับจากราชการสงครามเวียดนามใต้ เมื่อกลางปี พ.ศ.2512 แล้วรับราชการหน่วยเดิมที่กองพันทหารราบที่ 2 กรมผสมที่ 3 นครราชสีมา จากนั้นได้อาสาสมัครไปราชการลับในประเทศลาว ตำแหน่งผู้บังคับหมวดที่ 1 กองพันทหารราบ BI 15 ซึ่งมี ร้อยเอก สุรายุทธ์ เจริญพันธุ์ เป็นผู้บังคับกองร้อย และ พันโท ไพศาล คำสุพรหม เป็นผู้บังคับกองพัน
เมื่อเดินทางถึงพื้นที่การรบ ในชั้นแรกได้รับมอบหมายให้นำกำลังหมวด 1 การบังคับบัญชาขึ้นยึดรักษาพื้นที่ปีกขวาของแนวสหายไลน์ เป็นเวลาประมาณ 1-2 เดือน ซึ่งไม่มีการปะทะรุนแรง เมื่อฝ่ายข้าศึกถอนตัวจากแนวสหายไลน์แล้ว ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายไปทำหน้าที่ป้องกันฐานปืนใหญ่ 155 มม.ฐานยิงโรมิโอจูเลียต ติดถ้ำตำลึงและภูล่องมาดซึ่งเป็นแนวรบที่สอง

“ ประมาณปลาย ต.ค.หรือต้น พ.ย. 2513 หมวดของผมถูกคำสั่งด่วนให้ย้ายกำลังไปอยู่แนวล่าสุดที่บ้านนาโดยด่วน ใช้การเคลื่อนย้ายด้วย ฮ. ผมได้สั่งให้ทหารรวบรวมอาวุธกระสุนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เอาไปให้หมด โดยเฉพาะระเบิดมือ เอ็ม 26 เกือบพันลูกซึ่งต้องแอบเอาไปและแพ็คอย่างดีมิฉะนั้นนักบิน ฮ.ไม่ยอมให้เอาขึ้นไป

ฮ.นำหมวดผมมาลงที่บ้านนาซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของฝ่ายเราในแนวหน้าสุด

วินาทีแรกที่เหยียบที่บ้านนาผมมองดูภูมิประเทศโดยรอบแล้วรู้สึกด้วยสัญชาตญาณว่าที่นี่คือนรกชัดๆ เป็นที่ราบแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขาสูงรอบด้าน ทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดทุ่งไหหิน ทิศตะวันออกมีแนวสันเขาสูงชัน BI 14 ยึดอยู่ห่างจากบ้านนาประมาณ 10 กิโลเมตร ด้านทิศใต้เป็นเนินอานม้าห่างไปประมาณ 1-2 กม ด้านทิศตะวันตกเป็นทิวเขายาว มียอดเล็กใหญ่สูงต่ำลดหลั่นกัน หมวดผมรับผิดชอบพื้นที่ของกองพันด้านทิศใต้ติดกับฐานปืนพันเชอร์ 105 และ
155 มม. มี หน.เกริก เป็น ผบ.ฐาน มีเพื่อนรุ่นเดียวกับผมอยู่ 3 คน คือ ร้อยตรี คำรบ แสงจันทร์ไทย (เสียชีวิตโดยปืนใหญ่ข้าศึกที่ฐานบ้านนา) ร้อยตรี นิมิต อุ่ยอวย ผบ.มว.ป้องกันฐานยิง และไอ้ย้ง ฝ่ายยุทธการปืน (ร้อยตรี ประเสริฐ กาสุวรรณ)ทำให้อุ่นใจขึ้นบ้าง อย่างน้อยมีเพื่อนปืนใหญ่ถึง 3 คน ผมเป็นทหารราบเพียงคนเดียว

ผมเร่งดัดแปลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน เราทำบังเกอร์กันแทบทุกวัน ต้องลงไปตัดไม้ซุงจากหุบ ด้านล่างแบกมาทำบังเกอร์ให้แข็งแรงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ลวดหนาบแทบจะไม่มี เห็นฐานปืนใหญ่มีลวดหนามถึง 3 ชั้นรู้สึกอิจฉาเพื่อนมาก เราหาลวดหนามเท่าที่จะหาได้แต่มีน้อยมากและต้องยืดให้ห่างที่สุดเพื่อให้ยาวตลอดแนวป้องกัน ด้วยความจำเป็น บางครั้งก็ขโมยลวดหนามที่ส่งมาให้ฐานปืนก็มีเพื่อป้องกันตนเอง จุดไหนไม่มีก็สร้างเครื่องกีดขวางใช้ไม้ทำขวากและของมีคมทั้งหลาย ตะปู แก้ว เท่าที่จะหามาได้ การขอยุทโธปกรณ์ป้องกันฐานไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยเหนือเท่าที่ควร

ผมและผู้ใต้บังคับบัญชาดัดแปลงที่มั่นตั้งฐานหมวดอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์ทั้งคูสนามเพลาะ ที่ตั้งปืนกลเอ็ม 60 เครื่องกีดขวางลวดหนามคลังกระสุนของหมวด บังเกอร์ บก.หมวด บังเกอร์พยาบาล มีความสวยงามและแข็งแรงพอสมควร แต่มีแนวรั้วลวดหนามเท่านั้นที่บาง บางจุดวางเพียงขดเดียว เสาก็ใช้ไม้ไม่แข็งแรง ไม่มีลวดหนามเส้นเลย มีแต่ลวดหนามหีบเพลง ผมได้ทำหอคอยสูงเพื่อใช้ตรวจการณ์อยู่หลัง บก.หมวด ดูเด่นมาก ฐานก็เป็นแนวดูกลมสวยงามเข้ากับเนินพอดี ตามแนวคูสั่งให้ทำสายเสียบลูกระเบิดขว้างตลอดแนว และเตรียมระเบิดไว้พร้อมซึ่งผมขนมาจากฐานเก่าเป็นจำนวนมาก

คู่เรดลึกพอดียืนและแคบพอเคลื่อนที่ได้ มีการขุดคูเชื่อมต่อจากหมู่ต่างๆมายัง บก.หมวดโดยไม่ต้องใช้การเคลื่อนที่ข้างบนและสามารถติดต่อกันได้ทุกหมู่

ระหว่างการดำเนินการดัดแปลงพื้นที่สร้างฐาน ข้าศึกได้ยิงปืนใหญ่รบกวนคาดว่าขนาด 85 มมทั้งกระสุนควันและแตกอากาศ เราต้องคอยระวังตลอดเวลา บางครั้งก็ยิง ค. 82 มม.เป็นชุด เราต้องคอยฟังเสียงและเข้าหลบในบังเกอร์ ที่อันตรายที่สุดคือ ปรส. 75 และ 85 ของข้าศึก ได้ยินเสียงกระสุนก็มาถึงแล้ว ต้องระวังไม่อยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อนและเป็นเป้าหมายของ ปรส. และค.

อันตรายที่สุดตอนที่ ฮ.มาส่งเสบียงจะต้องถูกโจมตีจาก ค. 2-3 ชุดเสมอ และไม่ได้ยินเสียงการยิงเสียง ฮ.กลบหมด ที่ตั้งอาวุธหนักข้าศึกอยู่ตามเนินเขารอบบ้านนา ทั้ง ค.และ ปรส. ส่วน ป. คาดว่ายิงมาจากทุ่งไหหินด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ฝ่ายเราตอบโต้ด้วยปืนใหญ่ทำให้ข้าศึกไม่กล้าเปิดเผยที่ตั้งยิงบ่อยนัก นอกจากนั้นการขอเครื่องบินโจมตีทั้ง แฟนทอม และ สกายเรดเดอร์ หรือไม่ก็ ที 28 ของลาวมาโจมตีทิ้งระเบิด ทำให้ข้าศึกหยุดรบกวนลงบ้าง

ฝ่ายเราเริ่มมีการบาดเจ็บและเสียชีวิตบ้างแล้วจากการโจมตีด้วยอาวุธหนักรบกวน เมื่อ บ.ฝ่ายเรามาจะเกิดศึกหนักทุกครั้งโดยเฉพาะการยิงต่อสู้ของ ปตอ. 50 มม.ของข้าศึกยิงสวนขึ้นไปเห็นแนวกระสุนส่องวิถีชัดเจน ข้าศึกสู้อย่างไม่กลัวตาย (ภายหลังทราบว่าพลยิงถูกล่ามโซ่กับปืน) ถ้าระเบิดโดนเป้าหมาย ปตอ.ข้าศึกจะเงียบทันที เป็นที่รู้กันว่าเรียบร้อย”





“นรกบ้านนา-บันทึก”

“คืนนรกที่ยาวนานที่สุดในชีวิต (The Longest Night In Hell)”
ผมมารักษาพื้นที่ บก.พัน ที่บ้านนาเกือบเดือนแล้ว ทำฐานที่มั่นดัดแปลงพื้นที่แข็งแรงพอสมควรมีการลาดตระเวนในรัศมี 1 ถึง 2 กม.รอบฐาน

หมวดผมขึ้นการบังคับบัญชากับผู้พันโดยตรง (พันโท ไพศาล คำสุพรหม) ท่านเคยมาเยี่ยมและชมว่าฐานผมสวยดี ฐานผมติดกับฐานแม้วและใกล้ฐานปืนใหญ่
ฐานกองพัน บก.พัน อยู่ด้านทิศเหนือชิดขอบเขาที่ลาดชันมาก
ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ ฐาน บก.พัน เป็นฐานกองร้อย มี บก.ร้อย บีไอ-15 กับหมวด 2 ร.ต.เหิร เป็น ผบ.หมวด ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆห่างจาก บก.พัน ประมาณ 500 ถึง 600 เมตร

ข้าศึกได้หยุดยิงรบกวนเรามาแล้ว 2 วัน บรรยากาศรู้สึกเงียบผิดปกติโดยเฉพาะในวันที่ 25 พ.ย. พ.ศ.2513 เงียบมาก
ผมตรวจดูลูกน้องตามหมู่ต่างๆเป็นปกติทุกวัน ดูแนวป้องกันของแต่ละหมู่ หมวดผมมี หมู่ ค.สมทบด้วย กำลังในหมวดจึงมีทั้งหมด 52 นาย ผมกำชับเรื่องเวรยามกับหมู่ต่างๆการวางเคลย์โมร์และเครื่องกีดขวางและสัญญาณบอกฝ่ายของแต่ละวัน จนกระทั่งเริ่มมืด อากาศในเดือน พ.ย.เป็นฤดูหนาวอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียส ผมมักจะนอนดึกประมาณ 5-6 ทุ่มทุกวันแล้วออกมาตรวจเวรยามของแต่ละหมู่ทุกคืนโดยเฉพาะเวลาก่อนเข้านอน

กลางคืนที่บ้านนามีแต่ความเงียบสงัด นานๆจะมีการยิงแฟลร์ส่องสว่างจาก ป.ของเราเพื่อตรวจการณ์ข้าศึก
ใกล้ 6 ทุ่มแล้วผมจะเข้านอนตามปกติในชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อยืดคอกลม ผมใช้ถุงนอนขนไก่จึงนอนชุดนี้ได้

ผมงีบหลับไปนานเท่าไหร่ไม่ทราบ แต่ต้องสะดุ้งแบบฉับพลันและรีบออกมาจากถุงนอนทันทีเพราะฐานผมสะเทือนไปด้วยเสียงระเบิด บึ้ม..บึ้ม ตลอดเวลาจนฝุ่นฟุ้งกระจายเต็มบังเกอร์ ผมแทบหายใจไม่ออก รวมทั้งกลิ่นดินปืนฟุ้งเต็มไปหมด ฐานผมเกิดอะไรขึ้น ผมเผ่นออกจากบังเกอร์โดยลืมคว้า เอ็ม 16 ประจำตัวติดมาด้วย มาแต่ตัวโดยใส่เสื้อทหารเวสต์มอร์แลนดเท่านั้นเผ่นออกมายังหน้าบังเกอร์ซึ่งเป็นที่ตรวจการหมวด

ผมตะโกนจถามหมู่ข้างหน้าผม...เฮ้ยเกิดอะไรขึ้นวะ ไม่มีใครตอบมีแต่เสียงระเบิดกึกก้องฝุ่นและควันดินปืนฟุ้งเป็นหมอกควันเต็มไปหมด

ทันใดนั้นก็เกิดระเบิดขึ้นที่ตัวผมอย่างรุนแรงหลังจากที่ผมตะโกนถาม ความรู้สึกเหมือนถูกมือยักษ์ตบบ้องหูทั้งสองข้างอย่างแรงมันเจ็บแปลบและมึนงงไปหมดรู้แต่ว่าเหมือนจิตวิญญาณผมล่องลอยออกจากร่างลอยเคว้งคว้างอยู่ข้างบนในความมืด

ความรู้สึกมืดครึ้มวังเวง แล้วเกิดความรู้สึกรู้ตัวว่าเราโดนระเบิดนี่ นี่เราตายแล้วนี่มันล่องลอยมืดครึ้มไปหมดไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย งั้นเรากลับบ้านดีกว่า เพราะคิดถึงบ้านมาก มันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

หลังจากนั้นผมไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ที่ความรู้สึกมันกลับคืนมา พบว่าตัวเองนอนกองอยู่บนพื้นดินในหลุมหน้าบังเกอร์ จึงรู้ว่าผมยังไม่ตาย แล้วสติผมกลับมาอีกครั้ง ผมคลานกระเสือกกระสนเข้าไปในบังเกอร์ที่นอนและเข้าไปนั่งบนเตียงสนาม ความรู้สึกยังมึนงง นั่งเอามือปิดหูทั้งสองข้างเพราะยังเจ็บปวดมากแล้วนั่งก้มหน้าเหมือนไม่รับรู้อะไรแล้ว รู้แต่ว่ายังมีเสียงระเบิดบึ้มบึ้มรอบตัวผมตลอดเวลา ฝุ่นและควันปิดคลุมมิดห้องบังเกอร์

ทันใดนั้นมีแสงส่องสว่างสว่างขึ้นจากแฟลร์ไม่ทราบว่าของเราหรือของข้าศึกแล้วผมได้ยินเสียงคนพูดไม่เป็นภาษาคน เป็นภาษาอะไรก็ไม่รู้เหมือนกำลังตะโกนบอกกันไปหมดและโผล่หน้ามองมาที่ผมตรงช่องทางเข้าบังเกอร์ด้านหลัง ผมก็หันไปเจอกับหน้าที่โผล่เข้ามาพอดี 3-4 คนแล้วกำลังชี้มือมาที่ผมเหมือนกับจะบอกกันว่า มันอยู่นี่ หัวหน้ามันยังอยู่นี่

ผมเห็นหน้าพวกมันผมจึงรู้ว่า เฮ้ยนี่มันพวกข้าศึก มันบุกมาถึงตัวแล้ว มันพรางหน้าดำใส่หมวกผ้าเย็บด้วยผ้าร่มพรางทุกคน ด้วยสัญชาตญาณหนีตายผมพุ่งตัวออกจากบังเกอร์ทันทีและพุ่งตัวลงไปในคูเรดหน้าแนวรั้วลวดหนาม

และการต่อสู้แบบถวายชีวิตของผมก็เริ่มขึ้นหลังจากผมพุ่งมาที่คูเรดไม่กี่วินาทีบังเกอร์ของผมก็ระเบิดเป็นจุลด้วยแรงระเบิด 2 3 ครั้ง
ผมดึงระเบิดมือที่เสียบอยู่ในคู 2-3 ลูก ดึงสลักและขว้างติดต่อกันไปยังพวกมันที่มองเห็นสองสามคนที่โยนระเบิดใส่ผมหลังบังเกอร์ เสียงระเบิดก้องหวีดหวิว

ผมขว้างออกไปอีกหลายสิบลูกเมื่อมองเห็นพวกมันกำลังคลานอยู่บนบังเกอร์และพื้นที่อื่นๆ ผมไม่ทราบว่าขว้างระเบิดไปกี่ลูกจนแนวคูที่ผมอยู่ระเบิดเกือบหมด

ตอนบังเกอร์ผมระเบิด ผมได้ยินเสียงลูกน้องตะโกนว่า "เฮ้ยหนีเว้ย...ผู้หมวดตายแล้ว" ผมรีบตะโกนตอบทันที "ยังอยู่ ผู้หมวดยังอยู่...สู้ตาย ไม่ต้องกลัวมัน" ทำให้ทหารรู้ว่าผมยังไม่ตาย

มีหลายบังเกอร์ซ้ายมือผมไม่ออกมาสู้รบ ข้าไปกอดกันกลมด้วยความกลัวข้าศึกผมเข้าไปกระชากลูกน้องออกมาบอกให้สู้มัน ไม่ต้องกลัว สู้ตาย ผมตะโกนให้สู้ไปขว้างระเบิดไปด้วยเพราะเห็นมันกำลังคืบคลานเต็มไปหมดในฐาน

ลูกน้องเริ่มมีขวัญดี เริ่มออกมาสู้แล้ว ผู้บังคับหมู่ควบคุมทหารสู้ ผมให้ ผบ.หมู่ ที่อยู่กับผมตรวจแนวและบังเกอร์ว่ามีใครยังอยู่บ้างซ้ายขวาเรายังมีอยู่แค่ไหนทราบว่าเหลือแค่ประมาณ 2 หมู่
ส่วนหมู่ด้านเหนือไม่ทราบชะตากรรมติดต่อกันไม่ได้ บางจุดเราได้ยินเสียงต่อสู้กันในบังเกอร์ พวกมันยังกวาดล้างพวกเราด้วยการโยนระเบิดมัดข้าวต้มเข้าตามบังเกอร์ เสียงระเบิดดังอยู่ตลอดเวลา พวกเราที่ทนแรงอัดไม่ไหวก็เสือกกระสนออกมา มันก็ยิงซ้ำ ใครอยู่ในบังเกอร์มักตายจากแรงอัดระเบิดและไม่มีโอกาสได้สู้

เรายังใช้ระเบิดขว้างขว้างใส่ข้าศึกตลอดเวลา แต่ไม่มากเท่าตอนแรกบางคนเห็นข้าศึกก็ใช้เอ็ม 16 ยิงแต่ก็ถูกยิงสวนด้วย RPG ทันที ผมสั่งห้ามใช้ปืนเล็กยิงเพราะจะถูกสวนด้วย RPG

ขณะที่เรากำลังต่อสู้กับข้าศึกในฐานอยู่นั้น ปรากฏเสียงนกหวีดดังขึ้นและข้าศึกได้ชาร์จมาทางด้านหลังหลายสิบคนโดยพยายามใช้ไม้พาดลวดหนามโถมเข้ามา ผมได้สั่งการให้หันกลับไปสู่ด้านหลังทันทีโดยใช้ระเบิดขว้างและ M 60 ยิงกราดใส่พวกมันจนคาลวดหนามหลายคน และหยุดการบ6กที่จะเข้าไปรวมกับพวกหรือช่วยพวกมันในฐาน

ผมขว้างระเบิดอีกหลายลูกในขณะที่มันถอยลงเนินไป ข้าศึกขว้างระเบิดแบบสากกะเบือมาหลายลูกต่อต้านการใช้ระเบิดขว้างของเรา ผมสั่งการให้หามทุกคนออกจากคูมานอนใกล้แนวลวดหนาม ระเบิดตกลงคูทำให้พวกเราบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน

สถานการณ์การต่อสู้ดูจะเบาบางลงแล้วหลังจากที่เราสกัดข้าศึกด้านนอกมีให้เข้ามาในฐานเพื่อ link up กับข้าศึกภายในไว้ได้ ผมได้สั่งการให้ ผบ.หมู่ และทหารช่วยกันตรวจแนวของฝ่ายเราอีกครั้งและสำรวจว่าพวกเรายึดแนวเขตได้แค่ไหนซึ่งทราบว่าเรายังรักษาแนวไว้ได้ 2 หมู่กว่าประมาณครึ่งหนึ่งของฐานและสั่งการให้ผบหมู่ควบคุมด้านซ้ายและขวาให้ดี เอาคนเจ็บเข้าไปรักษาพยาบาลในบังเกอร์ไว้ก่อนเท่าที่จะทำได้ ใครไม่มีอาวุธกระสุนให้เอาจากเพื่อนที่ตายหรือบาดเจ็บ ให้ทุกคนเฝ้าตรวจไปข้างหน้าและระวังด้านหลังด้วย

ผมเอา M 16 ของทหารที่ตายมาใช้ เพราะไม่มีลูกระเบิดขว้างแล้ว แต่จะไม่พยายามใช้นอกจากจำเป็นเท่านั้น ทหารปืนใหญ่ที่อยู่ติดกับเราก็ถูกข้าศึกโจมตีได้ยินเสียงระเบิดและมีการยิงปืนใหญ่ต่อต้านข้าศึกด้วยกระสุน ฺฺBEEHIVE (กระสุนลูกดอกดาวกระจาย) และกระสุนแตกอากาศ แต่ดูแล้วข้าศึกทำการเจาะแนวเข้าไปไม่ได้

ฐานเรายังคงลุกไหม้และมีการระเบิดเป็นระยะๆจากวัตถุระเบิดต่างๆตามบังเกอร์ที่ไฟไหม้ ไม่มีใครช่วยเราได้ต่างฐานต้องระวังตนเองและต่อสู้ตามลำพัง การติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดจาก บก.พัน และจากสถานการณ์ก็ทราบว่า บก.พัน ก็ถูกข้าศึกโจมตีด้วยเช่นกัน ยกเว้นทหาร บก.กองร้อย BI-15 กับหมวดปืนเล็ก 2 ที่อยู่ห่างออกไปด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ถูกโจมตีเลย

สถานการณ์ต่างๆเงียบลง มีแต่เสียงคนเจ็บร้องโอดโอยทั้งของมันและของเราเราก็พยายามปฐมพยาบาลและไม่ให้ร้องเพื่อขวัญและกำลังใจและไม่ต้องการให้ข้าศึกได้ยิน ผมดูนาฬิกาแต่มันไม่เดินแล้วเนื่องจากโดนแรงอัดระเบิดอย่างแรงแต่คาดว่าน่าจะใกล้ 05.00 น.ใกล้สว่างแล้ว

ผมได้เห็นพลุส่องสว่างลูก 1 ถูกยิงจากด้านล่างหุบเขาข้างฐานด้านทิศตะวันตกสว่างเหนือฐานเรา น่าจะเป็นพลุของข้าศึกที่ส่งสัญญาณให้ถอนตัว
ผมสั่งการให้กำลังพลที่เหลือเตรียมอาวุธให้พร้อมเพื่อยึดฐานคืนและกวาดล้างข้าศึกที่หลงเหลืออยู่

เมื่อแสงเริ่มรำไร ผมสั่งการกำลังที่เหลือออกจากคูเรดรูปขบวนหน้ากระดานเข้ากวาดล้างข้าศึกที่ยังหลงเหลือทันที มันกำลังหนีตาย ที่บาดเจ็บก็จัดการให้เรียบร้อยไม่ต้องทรมานอีกต่อไป ไม่มีความปราณีเหลืออยู่อีกแล้วสำหรับพวกมัน เราไล่ยิงมันได้อีกหลายคนขณะกำลังคลานหนี พบศพของพวกเราและพวกมันในฐาน ผมยังไม่สามารถนับได้ ยามของเราในป้อมด้านทิศเหนือติดฐานแม้วโดนมันเชือดคอไป 2 คน ผบ.หมู่ 2 คนเสียชีวิตทั้งหมดทั้ง 2 หมู่พร้อมทหารอีกหลายคนเนื่องจากโดนระเบิดและยิงซ้ำด้วย AK 47 ศพพวกมันเกลื่อนฐาน เราไปหมด ส่วนใหญ่ตายด้วยระเบิดเอ็ม 26 ของเราที่ใช้ไปหลายร้อยลูก บางที่มีการต่อสู้กันด้วยมีดดาบปลายปืนกอดปล้ำกัน ทั้งมันทั้งเราตายทั้งคู่ แสดงให้เห็นถึงความเป็นทหารชาตินักสู้ของพวกเราที่สู้อย่างถวายชีวิตเช่นกัน และต้องยอมรับนับถือความเป็นนักสู้ของพวกมันด้วยเช่นกัน
มันไม่ยอมเป็นก็เลยเราแม้แต่คนเดียว

ประมาณ 06.30 นของวันที่ 26 พ.ย 13 การต่อสู้กับหน่วยดักกงแซปเปอร์ของหมวด B-15 ส่วนของ บก.พัน B-15 และฐานปืนสิ้นสุดลง
ผมสำรวจความเสียหายแล้ว ผมเสียทหารและ ผบ. หมู่ไป 10 กว่านาย รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ประมาณ 50% บางรายบาดเจ็บเล็กน้อยและบาดเจ็บสาหัสต้องส่งกลับอุดร ผมเหลือกำลังพลประมาณ 20 กว่านายทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตเกินครึ่งหนึ่ง

ส่วนข้าศึกเสียชีวิตนับศพได้ 42 นายไม่มีเชลย เรายึดปืน AK 47 แบบพับฐานได้จำนวนมาก RPG ระเบิดมัดข้าวต้มจำนวนมาก รวมทั้งยุทโธปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนศพของข้าศึกเราฝังรวมไว้ที่บ้านนาทั้งหมด

ประมาณ 10.00 น.ของวันที่ 26 พ.ย.ทาง บก.ใหญ่ 333 ล่องแจ้ง ได้ส่งหัวหน้าใหญ่ด้านส่งกำลังมาเยี่ยมและให้ความช่วยเหลือพวกเราที่สมรภูมิบ้านนา จำได้ว่าคืออาจารย์หม่อม ผมดีใจมากท่านมาเยี่ยมผมที่ฐาน ท่านคงเห็นสภาพทุเรศของผมที่โทรมอย่างหนักเหลือแต่ชุดขาสั้นกับเสื้อคอกลมตัวเดียวกับปืน M 16 ติดตัว บังเกอร์ผมระเบิดเป็นจุลไม่เหลือสิ่งของใดๆ ท่านมอบชุดและผ้าห่มให้ผมและทหาร รวมทั้งอาหาร ผมต้องขอบคุณท่านมากและท่านเป็นอาจารย์สอนผมในโรงเรียนนายร้อยด้วย

ผมขอจบการเล่าเรื่องคืนนรกที่บ้านนาเพียงเท่านี้ เป็นเรื่องจริงในสนามรบของนักรบนิรนามคนหนึ่งที่น่าจะเป็นบทเรียนให้กับลูกหลานเลือดนักรบไทยในยุคต่อไปได้ทราบและศึกษาและระลึกถึงวีรชนที่เอาเลือดเนื้อและชีวิตเข้าปกป้องประเทศชาติในยามที่ข้าศึกเข้ามารุกราน

ถึงจะเป็นการรบในต่างแดนก็เป็นการป้องกันประเทศจากภายนอกไว้ก่อนที่ลัทธิคอมมิวนิสต์จะเข้ามารุกรานประเทศของเราเป็นการเสียสละที่คุ้มค่ายิ่งและทางการยอมให้เปิดเผยเรื่องราวที่เป็นความลับที่ปิดทองหลังพระของพวกเรา

ผมในฐานะนักรบนิรนามขอสดุดีเพื่อนทหารที่ร่วมรบกับผมทุกๆคนทั้งที่ยังมีชีวิตและเสียชีวิตไปแล้ว
ผมภูมิใจที่มีลูกน้องอย่างพวกเขาที่ทำให้ผมโชคดีและยังมีชีวิตรอดอยู่มาจนทุกวันนี้ ต้องขอบคุณทุกคนด้วยความจริงใจ
ขอให้เพื่อนทหารที่สละชีวิตจงสู่สุขคติภพด้วยความสงบสุขผมจะไม่มีวันลืมพวกเขาตลอดไป."

ภาพถ่ายจากบังเกอร์ฐานบ้านนา ร.ต.ประจักษ์ วิสุตกุล ยศสุดท้าย พลตรี ตำแหน่ง รองแม่ทัพภาคที่ 2



“บ้านนายังคงเป็นนรก”

นับตั้งแต่กำลังทหารราบ 3 กองพันและทหารปืนใหญ่ 2 กองร้อยของไทยเดินทางเข้าสู่สมรภูมิทุ่งไหหินเมื่อกลางปี พ.ศ..2513 แล้วเปิดฉากการรุกขับไล่ทหารเวียดนามเหนือที่กำลังจะเข้ายึดเมืองล่องแจ้งจนถอยร่นไป จากนั้นทั้งสองฝ่ายก็วางกำลังประจันหน้ากัน ฝ่ายเวียดนามเหนือยังคงยึดครองและมีเสรีในการปฏิบัติในพื้นที่บริเวณทุ่งไหหินอย่างสมบูรณ์ ขณะที่กำลังจากไทยเข้ายึดที่มั่น บ้านนา - เนินซีบร้า-ภูล่องมาด ป้องกันมิให้ฝ่ายเวียดนามเหนือคุกคามซำทอง เมืองสุย และโดยเฉพาะล่องแจ้ง

การที่เวียดนามเหนือยังคงเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีในพื้นที่ทุ่งไหหิน จึงสามารถสร้างแรงกดดันอย่างหนักต่อฐานที่มั่นทหารไทยด้วยการใช้กำลังปิดล้อมแล้วโจมตีด้วยอาวุธหนักและกำลังทางพื้นดินเป็นระยะๆ ขณะที่กำลังของฝ่ายไทยแทบไม่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินกลยุทธตอบโต้ใดๆได้เลย การใช้การโจมตีทางอากาศซึ่งเป็นจุดได้เปรียบก็ทำได้อย่างจำกัดเนื่องจากอุปสรรคจากสภาพลมฟ้าอากาศซึ่งยังส่งผลต่อการส่งกำลังบำรุงทุกประเภทที่ต้องอาศัยการส่งกำลังทางอากาศเพราะขาดเครือข่ายทางถนนในพื้นที่อีกด้วย

บันทึกส่วนหนึ่งของกองพันทหารปืนใหญ่ทหารเสือพรานที่ 635 ซึ่งเดินทางเข้าพื้นที่การรบเมื่อ มีนาคม พ.ศ.2514 บันทึกสถานการณ์ช่วงเวลานี้ไว้ตอนหนึ่งว่า
“...การส่งกำลังบำรุงด้วยเฮลิคอปเตอร์กระทำไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะเครื่องบินไม่สามารถฝ่ากระสุนลงไปได้ ทหารไม่มีอาหารและน้ำ บางหน่วยถึงกับต้องดื่มปัสสาวะของตนเอง เครื่องบินขนาดใหญ่พยายามทิ้งร่มส่งกระสุนและเสบียงอาหารลงไปให้ แต่ก็ได้รับไม่เต็มที่ เนื่องจากเราได้รับความกดดันจากการยิงของข้าศึกอยู่ตลอดเวลา จนต้องสูญเสียกำลังพลไปอีกเมื่อออกมาเก็บร่มเหล่านั้น กำลังพลที่บาดเจ็บต้องทนทรมานอยู่ในที่ตั้ง ไม่สามารถส่งกลับมารักษาพยาบาลได้ บ้างก็ต้องเสียชีวิตลงไปในขณะรอคอย ซากศพก็รอการส่งกลับจนเน่าเปื่อยเป็นที่อนาถใจแก่บรรดาทหาร จนกระทั่งขวัญของทหารต่ำที่สุด...”

บันทึก “นรกบ้านนา” ของ “หัวหน้าใจ”หรือ “ร้อยตรี ประจักษ์ วิสุตกุล สะท้อนภาพสถานการณ์ช่วงนี้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกดังนี้

“ วันรุ่งขึ้นหลังจากที่ผมนำกำลัง 1 หมวดเข้าตีที่มั่นข้าศึกที่ขุดสนามเพลาะลึกเข้ามาจ่อฐานกองพัน BI-15 ตามคำสั่งโดยมีกำลังของผมจริงๆเพียงหมู่เดียว นอกจากนั้นอีก 2 หมู่เป็นกำลังของ บก.พัน BI-15 ที่ให้มาสมทบและขึ้นการบังคับบัญชาเพื่อปฏิบัติการแต่ไม่ใช่หน่วยรบและผมต้องสูญเสียลูกน้องในการปฏิบัติการครั้งนี้ไปอีก 6 คน ทั้งตายและบาดเจ็บ ทำให้ผมเหลือลูกน้องปัจจุบันรวมทั้งผมและ บก. หมวด ด้วยไม่ถึง 20 คน

หมวดปืนเล็กที่ 1 “กองร้อยโคราช” BI- 15 ของผมความจริงมันหมดสภาพความเป็นหมวดปืนเล็กไปแล้ว นอกจากจะเสริมกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ใหม่เพื่อให้ปฏิบัติการได้ต่อไปแต่สถานการณ์ขณะนี้ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะให้ทนและอยู่ต่อไปตามสภาพ ฝอ.1 กองพัน (นายทหารฝ่ายกำลังพล) คงจะรู้แล้ว และ ผบ.พัน ท่านคงจะไม่ใช้งานหน่วยผมอีกแล้ว

เช้าวันนี้น่าจะเป็นช่วงต้นเดือนเมษายน เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือนเศษก็จะครบ 1 ปีเต็มที่รบในสมรภูมิลาวตั้งแต่จากโคราชมา ความจริงผมได้พักเพียงเดือนเดียวหลังจากที่กลับจากเวียดนาม ความรู้สึกเหมือนได้เข้าสมรภูมิติดต่อกัน เพียงแต่ต่างสนามรบเท่านั้น

ในเวียดนาม หมวดผมตอนกลับมาเหลืออยู่ครึ่งหมวดจาก 40 กว่านาย แต่ในสมรภูมิลาวครั้งนี้เหลือไม่ถึงครึ่งหมวดแล้ว มันหนักหนาสาหัสกว่าที่เวียดนามมาก แต่ก็ใกล้จบภารกิจอยู่แล้ว ผมคิดและปลง ชินชากับความสูญเสียที่ผ่านมาทั้งที่เวียดนามและลาว

ผมนั่งปลงชีวิตอยู่หน้าบังเกอร์ตรวจการณ์ในคูเรด กินอาหารเช้าเมนูเดิมจากต้มเนื้อกระป๋องและผลไม้กระป๋องเช่นเดิม

ผมนั่งกินเงียบๆผมไม่อยากสั่งการใดๆกับลูกน้องของผมอีกแล้ว สั่งเมื่อใดก็เหมือนกับสั่งให้ใครต้องไปตายอีก ผมไม่อยากสูญเสียใครอีกแล้ว ในหมวดผม เราไม่มีอะไรจะเสียให้อีกแล้วเหลือ 18-19 คนจาก 52 คน น่าจะพอได้แล้วผมคิด

แต่อย่างไรก็ตามเราอยู่ในนรกแห่งนี้-บ้านนา และสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝ่ายเราตกเป็นรองอยู่ในทุกๆด้าน เรากำลังถูกปิดล้อมด้วยข้าศึกเกือบทุกด้าน และตกเป็นเป้าหมายของปืนใหญ่ข้าศึกทุกชนิด รวมทั้งอาวุธหนักทุกชนิดที่มีที่ตั้งล้อมรอบพวกเราอยู่ที่บ้านมา และพร้อมที่จะถล่มเราได้ทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน หรือมันอาจทุ่มกำลังภาคพื้นเข้าโจมตีบดขยี้พวกเราเลยก็ได้

ในสถานการณ์ขณะนี้ความหวังเดียวของพวกเราคือรอพี่น้องเสือพราน ซึ่งจากข่าวสารทราบว่าได้ส่งเข้าพื้นที่ยึดแนวสกายไลน์ และกำลังมุ่งเข้าสู่เมืองซำทองแล้ว นี่คือความหวังที่พวกเราที่บ้านนาต้องอดทนรอกันต่อไปให้ถึงที่สุด

ผมทบทวนสถานการณ์ในขณะนี้แล้วทำให้เกิดกำลังใจที่จะต่อสู้และทำทุกอย่างให้ทุกๆคนในหมวดผมที่ยังเหลืออยู่มีชีวิตรอดกลับบ้านให้ได้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าก็ช่างมัน เราต้องพยายามรักษาชีวิตให้รอดกันต่อไปตราบที่ยังมีลมหายใจอยู่

ผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการ บอกให้ทหารพักผ่อนตามสบาย อย่าออกไปนอกแนวและจัดเวรยามตรวจการณ์ไปข้างหน้า 2 จุดโดยเฉพาะด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ที่เหลืออยู่ให้เตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พร้อมและทำความสะอาดอาวุธ

ผมเข้าไปที่บังเกอร์ตรวจการณ์ ใช้กล้องสองตาตรวจสถานการณ์หน้าแนวด้านตะวันตกและด้านทิศใต้จุดเนินอานม้า จากกล้องสองตามองเห็นชัดเจน ข้าศึกตั้งฐานที่มั่นอยู่ที่เนินอานม้าชัดเจนถัดลงมาจากเนินอานม้าพอจะมองเห็นการดัดแปลงพื้นที่เป็นจุดๆใกล้ฐานกองร้อยสุรินทร์ รวมทั้งช่องว่างระหว่างฐานสุรินทร์กับเนินตรวจการณ์ที่ข้าศึกบุกยึดไปแล้ว มีแนวบังเกอร์ข้าศึกหลายจุดเต็มไปหมด เนื่องจากด้านนี้เปิดว่างมากจากการที่เราเสียเนินตรวจการณ์ไป

สถานการณ์ที่บ้านนาขณะนี้ไม่มีอะไรดีขึ้นสำหรับฝ่ายเรา มีแต่จะเสียเปรียบข้าศึกลงเรื่อยๆ วันนี้ดูเงียบๆไม่มีการเคลื่อนไหวหรือปฏิบัติการใดๆทั้งข้าศึกและฝ่ายเรา มีแต่ความเงียบไม่มีเครื่องบินตรวจการณ์ของเรามาดูสถานการณ์ที่บ้านนา ไม่มีการโจมตีด้วยอาวุธหนักจากข้าศึก

ผมนั่งอยู่ในคูเรดตรงบังเกอร์หน้าแนวของจุดตรวจการณ์เปิดวิทยุ PRC -25 ฟังสถานการณ์ของพวกเราพี่น้องเสือพรานและพอจะทราบว่าได้ยึดแนวสกายไลน์ได้แล้วและกำลังมุ่งสู่เมืองซำทอง

นี่คือความหวังเดียวที่พวกเราที่บ้านนารอและลุ้นให้พี่น้องเสือพรานของเรารุกโต้ตอบและยึดพื้นที่กลับคืนมาให้เร็วที่สุดเพื่อมาช่วยพวกเราที่กำลังถูกปิดล้อมอยู่ที่นี่ ขณะนี้ทางหน่วยเหนือคงมุ่งเน้นไปที่กองกำลังเสือพรานเป็นหลักและคงอยากให้เราอยู่นิ่งๆแบบนี้ไปก่อน ให้เราอดทนรอ
ข้าศึกก็เช่นเดียวกัน มันคงมีการปรับกำลังและเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์เช่นเดียวกันจึงทำให้สถานการณ์ที่บ้านนาเงียบและเบาลง

อากาศในฤดูร้อนเดือนเมษายนที่บ้านนาไม่ร้อนมากนัก กำลังเย็นสบายในตอนเช้า ในตอนบ่ายอุณหภูมิจะสูงขึ้นบ้างแต่ก็ไม่ร้อนมากและจะเริ่มเย็นลงในตอนบ่ายและใกล้ค่ำ
พวกเราทำธุระส่วนตัวในคูเรดและบางคนนอนพักผ่อนในอุโมงค์ใต้ดินเงียบๆ ไม่มีใครออกไปนอกคูนอกแนว

บ่ายใกล้ๆค่ำประมาณ 16.00 น.เกือบ 5 โมงแล้ว ทุกอย่างยังเงียบเป็นปกติจนความมืดย่างกรายเข้ามาหลัง 6 โมงเย็น อากาศเริ่มเย็นลง ความมืดเข้าปกคลุมบ้านนาอีกวันหนึ่ง ไม่มีการโจมตีและถล่มเราด้วยปืนใหญ่จากทุ่งไหหินอย่างที่มันเคยทำ มันคงหยุดให้เราพักสบายๆสักวันหรือหยุดเพื่อวางแผนอะไรเราไม่อาจคาดเดาได้

ประมาณ 19:00 น.แล้วผมถือโอกาสเดินตรวจแนวเยี่ยมเยียนลูกน้องและตรวจเวรยาม กำชับเรื่องเวรยามในตอนกลางคืน ส่วนใหญ่ออกมานั่งเล่นคุยกันในคูเรดเพราะกลางวันหลายคนมักมุดอยู่ในรูดินนอนพักผ่อน จึงออกมาสูดอากาศนอกอุโมงค์รูดินซึ่งสดชื่นกว่า

ระหว่างที่ผมตรวจเยี่ยมพูดคุยกับลูกน้องผมและคิดว่าจะเดินกลับมานั่งที่บังเกอร์และรูหลบภัยของผมได้ยินเสียงระเบิดกึกก้องถี่ยิบทางด้านทิศใต้ เสียงดัง กรึม กรึม กรึม ตลอดเวลา เห็นเปลวไฟจากลูกระเบิดไกลออกไปข้างหน้าแว้บวับอยู่ตลอดเวลา
นั่นฐานสุรินทร์โดนถล่มนี่ …”

กองพันทหารราบ BI-15 สนธิกำลัง 3 กองร้อยจากหลายกองพันของกองทัพภาคที่ 2 จึงเรียกชื่อกองร้อยและฐานกองร้อยตามจังหวัดที่มา ได้แก่กองร้อยโคราช กองร้อยอุดร และกองร้อยสุรินทร์
กองร้อยโคราชของ “หัวหน้าใจ”ตั้งฐานอยู่ติดกับกองร้อยสุรินทร์

“เสียงระเบิดยังดังอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับแรงระเบิดและเปลวเพลิงไม่ใช่ ค.หรือ ป. แน่นอนมันน่าจะเป็น RPG ของข้าศึกที่ระดมยิงเข้าใส่บริเวณฐานกองร้อยสุรินทร์อย่างหนักแบบประชิดฐาน

พวกเราที่แนวได้แต่มองดูอย่างช่วยอะไรไม่ได้ เห็นเปลวไฟเริ่มลุกไหม้ฐานสุรินทร์แล้วในความมืด ในช่องว่างของเสียงระเบิดที่ฐานสุรินทร์ ได้ยินเสียงปืนเล็กและปืนกลยิงหลายชุดไม่ทราบฝ่ายเราหรือข้าศึก และจากนั้นก็เกิดเสียงระเบิดหนักแน่นตามมาที่ฐานสุรินทร์ตลอดเวลาอีกนานพอสมควร แต่ไม่ใช่การระเบิดของลูกปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างแน่นอน และเกิดเพลิงลุกไหม้อย่างมากที่ฐานสุรินทร์
ชั่วอึดใจที่หมดเสียงระเบิดก็ได้ยินเสียงปืนเล็กและปืนกลยิงกราดต่อเนื่องได้ยินชัดเจนผสมกับเสียงระเบิดจากระเบิดขนาดเล็กน่าจะเป็นระเบิดขว้างดังสลับกับเสียงปืนกลและปืนเล็ก

ผมเดาได้ นั่นคือการเข้ายึดฐานและกวาดล้างพวกเราที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้ยินเสียงปืนกลยิงออกมา 2-3 ชุดแล้วก็เงียบไป น่าจะเป็นของฝ่ายเรา

จากแสงสว่างของเปลวเพลิงผมมองเห็นจุดเล็กๆของคนหลายคนวิ่งลงมาจากฐานด้านที่ติดกับฐานปืนพั้นเชอร์ จากนั้นก็เป็นเสียงปืนเล็กดังเป็นระยะๆ

มันคงยึดฐานสุรินทร์ได้แล้วและเข้ากวาดล้างพวกเราจากกำลังภาคพื้นดินของมันที่รุกเกาะติดฐานสุรินทร์มาหลายวันแล้ว

เราสูญเสียฐานสุรินทร์ด้านนอกที่มีอยู่ฐานเดียวแล้วอย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัยใดๆ

ชั่วอึดใจที่เสียงปืนเล็กเงียบลงที่ฐานสุรินทร์ มองเห็นเพลิงยังไหม้ฐานอยู่ในความมืด แล้วเสียงฟ้าร้องด้านทิศเหนือบริเวณทุ่งไหหินก็ดังขึ้น ผมและลูกน้องที่กำลังดูเหตุการณ์ที่เกิดกับฐานสุรินทร์และกำลังประจำแนวคูเรดอยู่รู้ทันทีว่ามันส่งลูกปืนใหญ่มาแล้ว ทุกคนรีบลงรูใครรูมัน เลิกดูเหตุการณ์ทันที

ชั่วอึดใจเสียงกระสุนปืนใหญ่ที่พวกเราเคยชินก็วิ่งเสียงแซ่ดๆ 3-4 นัด ตกระเบิด กรึม กรึมตามมา ส่วนใหญ่ตกบริเวณฐานปืนพั้นเชอร์และฐานกองพัน มันยิงกดเราอีกหลายชุด คล้ายเตือนว่าอย่าคิดช่วยอะไรเลยกับฐานสุรินทร์"

พรุ่งนี้เชิญติดตามบันทึกของ “หัวหน้าใจ”ตอนต่อไปเมื่อท่านทราบว่า ผู้บังคับหมวดกับลูกน้องรวม 5 คนยังมีชีวิตรอดอยู่ในฐานสุรินทร์ ขณะที่เวียดนามเหนือเข้ายึดฐานนี้ไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว

ผู้บังคับหมวดผู้นี้เป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่น จปร.15/เตรียมทหาร 4 ของหัวหน้าใจ !




“ ผมนั่งคุดคู้หลบอยู่ในรูดินมืดแบบเคยชินกับสถานการณ์ในการถูกถล่มด้วยปืนใหญ่โดยไม่คิดอะไร คิดแต่เรื่องสถานการณ์ของฝ่ายเราที่มันเลวร้ายลงเรื่อยๆเป็นลำดับ

ขณะนี้เราถูกโดดเดี่ยว 100% แล้วจากการสูญเสียฐานสุรินทร์สุดท้ายไปในวันนี้ เราคงเหลือฐานกองพัน BI- 15 และฐานปืนพั้นเชอร์เท่านั้น ส่วนฐาน บก.กองร้อย 1 กองพัน BI- 15 กับหมวด 2 คงไม่มีผล เพราะอยู่ติดกับฐานกองพัน BI- 15 ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีความหมายอะไรต่อการคุ้มกันฐานใหญ่

มันคงต้องการเร่งยึดฐานสุรินทร์เพื่อให้หมดฐานคุ้มกันด้านนอกเพื่อไม่ให้มีปัญหากับมันต่อไปในการจัดการเราขั้นสุดท้ายที่บ้านนาต่อไป
มันคงปล่อยให้เราที่บ้านนาอยู่ไปก่อนเพื่อปรับกำลังยุทโธปกรณ์ของมันใหม่เข้าสกัดกั้นการรุกคืบหน้าของพี่น้องเสือพรานพวกเราไม่ให้รุกเข้ามาช่วยพวกเราที่บ้านนาได้ ผมนั่งคิดและคาดเดาสถานการณ์ที่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ น่าจะเป็นไปตามนี้

ถ้าผมเดาไม่ผิดมันก็รู้แผนเราและทำทุกอย่างเพื่อทำลายแผนของฝ่ายเราไม่ให้ประสบความสำเร็จ จากนั้นมันคงมาจัดการกับเราที่บ้านนาให้เรียบร้อยในภายหลังต่อไป

คืนนี้ไม่น่าจะมีเหตุการณ์อะไรอีกแล้วผมคลานขึ้นไปที่คูเรด ตรวจดูเวรยามอีกครั้งและกำชับเรื่องเวรยามอย่าได้ประมาทเป็นอันขาดจึงคลานลงรูหลบภัยและพักผ่อนเพื่อสู้กับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าต่อไป

ผมตื่นออกจากรูหลบภัยใต้ดินแต่เช้าหลังจากได้นอนเต็มที่แบบไม่มีเหตุการณ์อะไรอีกหลังเหตุการณ์ที่เราต้องเสียกองร้อยสุรินทร์ไปในคืนนั้น รีบเข้าตรวจการณ์ที่คอกบังเกอร์ตรวจการณ์ทันทีเพื่อดูสภาพที่กองร้อยสุรินทร์ที่ข้าศึกยึดไปเมื่อคืนนี้

ภาพที่เห็นทั้งฐานและบังเกอร์เปลี่ยนไปบ้างจากการถูกโจมตีและถล่มด้วยระเบิดเมื่อคืน
ฐานยังมีไฟควันไฟที่ยังลุกไหม้อยู่บ้าง แต่ภาพที่เห็นชัดเจนมากจากกล้องคือธงเวียดนามสีแดงเข้มปักอยู่เหนือฐานสุรินทร์

ฐานสุรินทร์อยู่ห่างจากฐาน บก.พัน BI-15 ประมาณ 700-800 เมตรและอยู่ใกล้กับฐานปืนพั้นเชอร์มาก ถ้ามันยึดอยู่อย่างนี้ก็เท่ากับเอามีดจ่อคอหอยเราแล้ว คงทนให้มันยึดไปแบบนี้ไม่ได้แน่
แล้วผู้พันท่านจะแก้ปัญหานี้อย่างไรต่อไป

ผมพยายามส่องกล้องสองตาดูความเคลื่อนไหวที่ฐานสุรินทร์อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเห็นมัน 2-3 คนขึ้นมาบนหลังคาบังเกอร์ที่มีธงแดงปัก โบกไม้โบกมือเหมือนเยาะเย้ยพวกเรา บางครั้งก็โบกธงแดงไปมาบนบังเกอร์ มันตั้งใจทำสงครามจิตวิทยากับฝ่ายเรา

ผมพยายามติดต่อกับเพื่อนย้งที่ฐานปืนจนติดต่อกันได้เลยบอกมันว่า “เฮ้ย...ไอ้ย้งมึงทนเห็นมันเยาะเย้ยเราได้อย่างไรวะ มึงมีปืน 105 ที่เหลืออยู่อัดมันที่กำลังเยาะเย้ยเราสักนัดสองนัดซีวะ มันจะได้ไม่ซ่าอีกต่อไป”
ไอ้ย้งเพื่อนผมรับปาก
“เดี๋ยวรอจังหวะเหมาะก่อน เดี๋ยวกูจะอัดมัน มึงไม่ต้องห่วงเว้ย กูเองก็หมั่นไส้มันเต็มทีแล้ว ที่ห่วงที่สุดคือ “ไอ้เหมียว” เพื่อนมึงเป็นตายร้ายดีอย่างไรยังไม่รู้”ไอ้ย้ง บอก
“ที่รู้แน่ๆคือกองร้อยมันเมื่อคืนละลายเกือบหมดกองร้อย เหลือรอดวิ่งหนีออกมาจากฐานไม่กี่คน เพราะโดนถล่มทั้ง RPG และระเบิดดัมเบลล์ขนาดใหญ่ถล่มเละแบบไม่มีโอกาสได้สู้เลย
ทั้งฐาน 100 กว่าคนจะเหลือกี่คนยังไม่รู้ เพื่อนมึงไอ้เหมียวกูไม่ได้ข่าวอะไรเลย”

ผมเลยบอกเพื่อนไปว่า “เดี๋ยวกูจะไปตามหาลูกน้องมันเพื่อสอบถามเพราะมันมาหลบอยู่ที่ บก.พัน หลายคน รู้ข่าวอะไรเกี่ยวกับมันก็จะบอกมึงให้รู้ทันที”

แต่ผมทบทวนถึงเหตุการณ์เมื่อคืนแล้วรู้สึกความหวังริบหรี่เต็มที่ คงต้องทำใจกับเพื่อนแล้วโว้ย
ไอ้เหมียว กู-ไอ้ย้ง-เพื่อนๆไม่รู้จะทำอย่างไร จะช่วยมึงอย่างไร ทุกอย่างไม่มีอะไรอำนวยให้เลย ที่นี่ดวงใครดวงมัน ถ้ามึงเสร็จมันไปแล้วก็ขอให้มึงไปสบายเถอะ หมดทุกข์เสียทีไม่ต้องทนทรมานในนรกนี้อีกต่อไปเหมือนพวกกูที่ยังอยู่

ผมปลงในเหตุการณ์เมื่อคืนแล้ว คิดว่าคงจะต้องเสียเพื่อนไอ้เหมียวไปอีกคน มันคงกวาดล้างพวกเราที่ทั้งบาดเจ็บล้มตาย คงไม่เอาพวกเราไว้ให้เป็นภาระของพวกมันต่อไปแน่ ผมคิดปลงกับเพื่อนเหมียวที่รักกันและสนิทกันมากตอนเป็นนักเรียนนายร้อย
ถ้ากูรอดกลับไปกูจะไม่ลืมทำบุญกรวดน้ำให้มึงกับไอ้ปิ้งทันที ขอให้มึงไปอยู่กับไอ้ปิ้งให้สบายนะเพื่อน อย่าห่วงอะไรอีกต่อไปเลยเพื่อนรัก

ในสายวันนั้นผมพยายามหาข่าวเกี่ยวกับกองร้อยสุรินทร์และเพื่อนผมจากคนที่รอดออกมาได้ประมาณ 20 กว่าคนแล้วไปรวมกันอยู่ที่ฐานกองพัน
ทราบว่ากองร้อยสุรินทร์สูญเสียไปเกือบหมดทั้งกองร้อย ประมาณ 80-90นาย ที่ไม่ได้ออกมาจากฐานและไม่รู้ชะตากรรม ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิต ที่ไม่เสียชีวิตอาจถูกจับเป็นเชลยหรือไม่ก็ถูกเก็บหมด
แต่ไม่มีเพื่อนผมไอ้เหมียวที่รอดออกมากับพวกที่หนีออกมาได้ ซึ่งผมก็ทำใจตั้งแต่ต้นแล้วรวมทั้งทราบว่าผู้พันกำลังเครียดกับเรื่องนี้ที่ต้องสูญเสียกองร้อยสุรินทร์ไปเมื่อคืนและกำลังคิดจัดการเรื่องนี้ เพราะไม่ต้องการให้มันมายึดพื้นที่จ่อคอหอยเราอยู่อย่างนี้ และทราบว่าท่านกำลังหารือหน่วยเหนือและจะขอโจมตีทางอากาศเพื่อทำลายข้าศึกที่ยึดฐานสุรินทร์อยู่ในบ่ายวันนี้

ผมกลับจากการหาข่าวที่กองพันเรื่องไอ้เหมียวเพื่อนผมด้วยความหมดหวัง กลับมาที่นั่นพอดีพลวิทยุ PRC 25 วิ่งมาหาผมบอกว่ามีข่าวจากฐานปืนพันเชอร์

ผมรีบเอาหูฟังและพูดทันที “จากหัวหน้าใจ” มีเสียงพูดกลับมาทันที
“กูไอ้ย้งเว้ย กูได้ข่าวไอ้เหมียวแล้ว มันยังไม่ตายโว้ย มันส่งวิทยุมาหากู เสียงเบามาก กูจำเสียงมันได้ ใช่มันแน่ มันบอกว่ามันติดอยู่ในบังเกอร์ บก.ร้อย อยู่กับลูกน้องรวมทั้งหมด 5 คน บังเกอร์ถล่มปิดพวกมันไว้ ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ แต่ไอ้แกวเต็มฐานไปหมดได้ยินจากเสียงของพวกมันคุยกัน แต่มันยังไม่รู้ว่ามีกูกับลูกน้องติดอยู่ในบังเกอร์ที่ถล่มทับอยู่ ...
มันบอกกูแค่นี้เสียงก็เบามาก มันกลัวพวกไอ้แกวรู้ถ้าติดต่อกันมากกว่านี้ และเพื่อประหยัดแบต
ด้วย”

ผมดีใจมากที่รู้ว่าเพื่อนผมยังไม่ตายและยังมีชีวิตอยู่แต่ติดอยู่ในฐานรวมกับลูกน้อง 5 คนผมรีบบอกไอ้ย้งว่า
“เฮ้ยไอ้ย้ง มึงกับกูยังไงก็ต้องหาทางช่วยไอ้เหมียวมัน แต่ก่อนอื่นกูขอไปบอกผู้พันก่อนว่าอย่าเพิ่งขอแฟนธ่อมมาถล่มฐานสุรินทร์ในบ่ายวันนี้ เพราะว่ายังมีพวกเรา 5 คนติดอยู่ในฐาน และยังมีชีวิตอยู่ มีร้อยตรีพนา ผบ.หมวดปืนเล็ก ติดอยู่ด้วย …
แล้วกูจะรีบกลับมาคุยกับมึงเรื่องแผนที่จะช่วยมัน ยังไงยังไงกูก็ไม่ยอมให้ผู้พันถล่มฐานสุรินทร์แน่เว้ย”

ผมรีบเผ่นกลับไปที่ฐานกองพันอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว รีบไปที่บังเกอร์ห้องยุทธการ ผู้พันท่านอยู่พอดีอยู่กับฝ่ายยุทธการและนายทหารฝ่ายอำนวยการ 2-3 คน น่าจะกำลังหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่กำลังตึงเครียดมากขึ้นขณะนี้

ผมเข้าไปขออนุญาตพบทันที เมื่อเห็นผมท่านทำหน้างงเล็กน้อย
“ขออนุญาตครับ ผมหัวหน้าใจ ขออนุญาตพบ มีเรื่องด่วนที่จะรายงานท่านครับ”
“มีเรื่องอะไรหัวหน้าใจ”
“ผมขอให้ผู้พันระงับการโจมตีทางอากาศที่ฐานสุรินทร์ในบ่ายวันนี้ด่วนครับ”
ท่านถามผมว่า “แล้วทำไมล่ะ”
ผมบอกว่า “เพื่อนผม ร้อยตรีพนา ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองร้อยสุรินทร์และลูกน้องรวม 5 คนติดอยู่ในบังเกอร์ บก.ร้อย ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ครับ”
ท่านถามว่า “รู้ได้ยังไงล่ะ”
“เพื่อนผมไอ้เหมียวมันพูดวิทยุมาบอกกับไอ้ย้งยุทธการปืนที่ฐานพันเชอร์ครับ แล้วไอ้ย้งรีบมาบอก ผมจึงมาเพื่อขออนุญาตผู้พันขอระงับการโจมตีทางอากาศที่ฐานสุรินทร์ไว้ก่อน ขอโอกาสและเวลาให้ผมช่วยเพื่อนและพวกเราทั้ง 5 คนด้วย”
ท่านนิ่งไปชั่วครู่ มองหน้าและแววตาของผมที่เอาจริงแล้วคงรู้ถึงความตั้งใจของผมที่มีความตั้งใจจริงที่จะทำ สักครู่ท่านตอบว่า
“ได้-จะให้โอกาสเดียวภายในวันนี้เท่านั้น เพราะปล่อยไว้ให้มันยึดไว้อย่างนี้ไม่ได้แน่นอน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พรุ่งนี้จะต้องโจมตีทางอากาศถล่มฐานสุรินทร์ที่มันยึดไว้ทันที”
ผมรีบตอบ “ขอบคุณครับ” ทันที เพราะกลัวว่าท่านจะเปลี่ยนใจ แล้วท่านก็รีบสั่งการกับฝ่ายยุทธการทันทีว่าให้บอกหน่วยเหนือขอระงับการโจมตีทางอากาศที่ฐานสุรินทร์ไว้ก่อนในวันนี้เนื่องจากมีนายทหารและกำลังพลรวม 5 คนยังติดอยู่ในฐานและยังมีชีวิตอยู่ จะขอตัดสินใจเรื่องนี้อีกครั้งและจะขอใหม่ภายหลัง ผมได้ยินชัดเจนและผมทำท่าจะรีบกลับ ท่านเรียกผม “เดี๋ยวก่อน หัวหน้าใจมีแผนยังไง”
ผมตอบทันที “ผมขออนุญาตนำกำลังเข้าตีฐานสุรินทร์คืนนี้เพื่อช่วยพวกเราครับ”
ท่านถามผมว่า “แล้วมีกำลังอยู่เท่าไหร่ล่ะ”
ผมตอบว่า “หมวดผมเหลืออยู่ 18-19 คนทั้งผม และจะขออนุญาตรวมกำลังพวกกองร้อยสุรินทร์ที่รอดมาได้โดยขออาสาสมัคร คงจะได้ผู้อาสาสมัครรวมแล้วประมาณ 1 หมวดปืนเล็กที่เต็มใจไปช่วยเพื่อนครับ”
ท่านคงจะรู้ถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของผมในเรื่องนี้ รวมทั้งท่านเองเมื่อรู้เรื่องนี้ ความเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้นำของท่านที่มีความรักลูกน้องอยู่ในจิตใจของท่านอยู่แล้วจึงไม่ขัดผม
ท่านบอกว่า “อนุมัติให้ปฏิบัติการนี้ได้ แต่อยากจะบอกว่า ขอให้วางแผนให้ดีที่สุด ผมไม่อยากให้มีการสูญเสียอย่างหนักอีก เท่าที่เสียกองร้อยสุรินทร์ไปเมื่อคืนเกือบทั้งกองร้อยก็เป็นการสูญเสียที่หนักที่สุดยากที่จะยอมรับได้แล้วตั้งแต่รบกันมา ขอให้วางแผนและประสานงานกันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้และขอให้โชคดี...หัวหน้าใจ”

ผมรีบทำความเคารพผู้พันและขอบคุณพี่อีกครั้ง ในใจผมก็ไม่อยากให้สูญเสียใครอีก แล้วรีบเผ่นจากบังเกอร์กองพันมายังที่มั่นของผมทันที เพราะเวลาปฏิบัติการครั้งนี้มีจำกัดมาก

ขณะนี้บ่ายกว่าแล้ว ผมลืมกินข้าวกลางวันและไม่นึกถึงเลย มาถึงหมวด ผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการทันทีเพื่อจัดกำลังพลให้ผมและเรียกผู้บังคับหมู่มาเพื่อให้ไปประสานและตามหัวหน้าผู้คุมกำลังของกองร้อยสุรินทร์ที่รอดมาได้มาพบผมทันที
หลังจากนั้นผมรีบติดต่อกับไอ้ย้งทันทีทางวิทยุบอกว่า
“กูขออนุมัติผู้พันเพื่อไปช่วยไอ้เหมียวกับลูกน้องแล้ว ท่านให้ระงับการโจมตีทางอากาศไว้ก่อนกูกำลังรวบรวมกำลังทั้งของไอ้เหมียวและของกูทำงานในคืนนี้ เดี๋ยวจะบอกแผนกับมึงทีหลัง”แล้วไม่ลืมถามว่า “ไอ้เหมียวยังติดต่อมึงอยู่หรือเปล่า”
ได้รับคำตอบว่ายังติดต่ออยู่ แต่เสียงเบามากเหมือนแบตใกล้จะหมดแล้ว…
“กูต้องขอติดต่อพูดกับมันหน่อยก่อนที่แบตมันจะหมด”แล้วผมก็รีบจูนเครื่อง PRC 25 ของผมทันทีและเรียกขานไอ้เหมียว ต้องเรียกซ้ำอีกครั้งจึงได้รับคำตอบ “กูไอ้เหมียว...” แต่เสียงค่อนข้างเบามาก
ผมถามว่า “ได้ยินกูหรือเปล่ากูไอ้จักษ์ กูจะไปช่วยมึงในคืนนี้แน่นอน
มันตอบว่า “ได้ยิน” ผมบอกมันว่า “กูจะพูดกับมึงครั้งเดียวนะเพื่อนฟังให้ดี กูจะเข้าตีฐานมึงช่วยมึงและลูกน้องออกมาในคืนนี้ เมื่อเริ่มมืดมึงเตรียมการขุดรูออกเตรียมไว้ให้พร้อมที่จะออกมาได้ทันทีเมื่อกูโจมตีระดมยิงอาวุธทุกชนิดเข้าใส่ฐานมึงเพื่อดึงความสนใจและกดหัวพวกมันไว้ไม่ให้เห็นมึงและลูกน้อง
มึงต้องเผ่นออกมาจากบังเกอร์ทันที ห้ามลังเลเด็ดขาด มึงมีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้น มึงได้ยินกูพูดหรือเปล่า”
มันตอบว่า “ได้ยิน...ได้ยิน” แต่เสียงพูดแผ่วเบามากคิดว่าแบตมันใกล้หมดแล้วหรือไม่ก็กลัวพวกไอ้แกวในฐานจะได้ยินมันจึงพูดเบามาก

ผมเปลี่ยนมาเรียกเพื่อนย้งอีกครั้งและบอกมันว่า
“ได้คุยกับไอ้เหมียวแล้วแล้ว มันรู้แล้วว่ามึงกับกูจะช่วยมันในคืนนี้ และคงพูดกับมันไม่ได้อีกแล้วเพราะแบตมันคงจะหมด"

ผมบอกแผนกับเพื่อนย้งคร่าวๆว่า
“หลังมืดกูจะเคลื่อนกำลังแล้วเข้าตีฐานสุรินทร์เพื่อช่วยไอ้เหมียวมัน
เมื่อกูวางกำลังพร้อมที่จะเข้าตีจะบอกมึงขอให้มึงช่วยอัด ป. 105 ไปเหนือฐานมันใช้กระสุนแตกอากาศดีที่สุดสัก 2-3 นัดก็พอ
หลังจากนั้นพวกกูก็จะระดมอาวุธทุกชนิดยิงอัดใส่มันทันที เมื่อพวกกูหยุดยิงขอให้มึงยิงแฟลร์แถมให้อีก 1 นัดเหนือฐานมัน กูขอมึงแค่นี้ โอเค.ไหมเพื่อน”
มันตอบโอเค. “กูจะเตรียม 105 ไว้ มึงบอกพร้อมเมื่อไหร่กูจะยิงให้ทันทีตามแผนที่มึงบอก
ผมขอบคุณเพื่อนย้งและย้ำเรื่องอัดสั่งสอนพวกมันก่อนสักนัดสองนัดเพื่อไม่ให้แสดงความซ่า “แล้วอย่าลืมโว้ย”
“เดี๋ยวกูอัดมัน”เพื่อนย้งรับปาก พอดีหัวหน้าหน่วยของกองร้อยสุรินทร์มารอพบผมอยู่แล้วที่คอกบังเกอร์ ผมสั่งการทันทีและบอกว่าให้รวบรวมผู้อาสาสมัครให้ได้มากที่สุด สมทบกับกำลังของผมเพื่อที่จะเข้าไปช่วยพวกเรา 5 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ในคืนนี้ให้หนีรอดออกมาให้ได้ ให้รวบรวมคนมาพร้อมอาวุธกระสุนให้มากที่สุดและมาประชุมเพื่อปฏิบัติตามแผนในเวลา 16.30 น.วันนี้ผมสั่งการเพียงเท่านี้กับผู้ควบคุมกำลังที่เหลือของกองร้อยสุรินทร์

หลังจากนั้นผมนั่งที่คอกบังเกอร์ตรวจการณ์ของผม ใช้กล้องส่องสองตาตรวจการณ์ไปที่ฐานสุรินทร์
ยังมองเห็นความเคลื่อนไหวของข้าศึกอยู่ในฐานและธงแดงของมันยังคงปักอยู่เห็นได้ชัดเจน ผมคิดแผนว่าจะต้องนำกำลังทั้งหมดประมาณหมวด (-) เคลื่อนที่ออกจากที่ตั้งเมื่อเริ่มมืด อาศัยความมืดปิดบังการเคลื่อนกำลังของพวกเราเพื่อเข้ายึดพื้นที่วางตัวให้ใกล้ฐานสุรินทร์มากที่สุดประมาณ 100-150 หลา วางตัวเป็นหน้ากระดานเปิดหน้าให้กว้างที่สุดทั้ง 3 หมู่ ไม่ต้องมีการระวังกำลังด้านหลังเพราะต้องการระดมยิงทั้ง 3 หมู่พร้อมๆกันเพื่อให้เกิดอำนาจการยิงมากที่สุดเพื่อให้คิดว่าเราทุ่มกำลังเข้าตีพวกมัน

การวางกำลังการเข้าวางตัวต้องเงียบที่สุดต้องไม่ให้ข้าศึกรู้ตัวก่อน ทุกคนต้องวางตัวและหาที่กำบังที่ดีที่สุดเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยจากการยิงโต้ตอบและเคลย์โมร์ของข้าศึกด้วย

ผมคิดเรื่องนี้มากและไม่อยากสูญเสียลูกน้องและใครๆอีก ผมคิดว่าการวางกำลังเป็นแนวยาวไม่มีกำลังทางลึกน่าจะปลอดภัยที่สุดแล้วต้องระดมยิงให้นานต่อเนื่องพอสมควรเพื่อเปิดโอกาสและเวลาพอให้เพื่อนเราทั้ง 5 คนออกมาจากฐานได้ในระหว่างที่เราระดมยิงใส่ฐานและต้องยิงให้สูงเข้าไว้เพื่อความปลอดภัยของคนที่จะเล็ดลอดออกมาด้วย

ผมคิดว่าแผนนี้ดีที่สุดและจะไม่สุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียของพวกเราด้วย ถ้าผมเดาสถานการณ์ไม่ผิด ถ้าเราทุ่มกำลังชาร์จเข้ายึดฐานมันคงเตรียมเคลย์โมร์ไว้ต้อนรับเราแน่อย่างที่ผมเคยเจอมาแล้ว เพียงทิ้งคนคอยจุดระเบิดไว้ไม่กี่คนเมื่อเราดาหน้าเข้ามาแค่จุดแล้วเผ่นหนี อันนี้คือยุทธวิธีของมันและคงทำให้พวกเราต้องสูญเสียหนักกันอีก
และถ้าผมเดาสถานการณ์ไม่ผิด เมื่อมันยึดฐานสุรินทร์ได้แล้วมันต้องคิดว่าเราต้องยึดคืนหรือไม่ก็ถล่มมันด้วยการโจมตีทางอากาศแน่นอน
ผมคิดว่ามันคงทิ้งกำลังไว้ไม่เกิน 1 ขวดเพื่อแสดงลวงพวกเราว่ามันจะยึดอยู่และไม่หนีไปไหนเพื่อสร้างความกดดันให้กับฝ่ายเรามากยิ่งขึ้น

ขณะที่ผมนั่งวางแผนอยู่ในใจคนเดียวที่คอกบังเกอร์ที่ตรวจการณ์หน้าแนวที่มั่นของหมวดก็ได้ยินเสียงระเบิดของการยิง ป. 105 ของเรา 2 นัด เสียงดัง กรึม กรีม กระสุนแตกอากาศเหนือฐานสุรินทร์ เห็นกลุ่มควันลอยเหนือฐานแล้วก็เงียบทันที
ไอ้ย้งอัดสั่งสอนมันแล้ว แต่ยิงมากไม่ได้เพราะต้องรีบเข็นปืนของมันเข้าบังเกอร์ทันทีก่อนที่มันจะยิงสวนเอา พวกมันคงเงียบไม่ซ่าออกมาโบกธงโบกมือให้เห็นอีกแล้วหลังจากนี้

ผมดูนาฬิกาดูเวลาเกือบ 5 โมงแล้ว พอดีจ่าบุญมาบอกว่า ทหารพร้อมฟังคำชี้แจงจากผู้หมวดแล้วผมรีบไปที่รวมพลในคูเรด สังเกตดูมีกำลังพลมารวมกันมากพอสมควร ถามจ่าบุญว่ามียอดรวมเท่าไหร่ ได้รับรายงานว่า “ ของสุรินทร์อาสาสมัครมา 15 คน ของเรา 16 คน รวม 31 คนครับ” จ่าบุญรายงานผม
ผมบอกให้จัดกำลังเป็น 3 หมู่ ให้มีผู้หมู่หรือจ่าควบคุมทุกหมู่ จ่าบุญบอก “จัดเรียบร้อยแล้วครับ”ผมเล่าสถานการณ์ให้กำลังพลฟังว่าขณะนี้มีเพื่อนเรา 5 คน มีร้อยตรีพนาซึ่งเป็นผู้บังคับหมวดปืนเล็กกองร้อยสุรินทร์รวมอยู่ด้วยติดอยู่ในบังเกอร์ของฐานสุรินทร์ที่ถล่มปิดทับอยู่และยังมีชีวิตอยู่ทุกคน
ภารกิจคือเราต้องไปช่วยเพื่อนออกมาให้ได้ ฟังแค่นี้ลูกน้องผมหลายคนมองหน้าผม คงคิดว่างานนี้หนักแน่ๆ ตอนนี้เหลือกันแค่ 18-19 คน หมดงานนี้จะเหลือกันอีกกี่คน ผู้หมวดกูเอาอีกแล้ว ผมรู้ว่าลูกน้องผมต้องคิดเช่นนี้ จึงชี้แจงต่อ
“งานนี้ผู้หมวดขอแค่พวกเราเข้าไปวางตัวเป็นแนวใกล้ๆฐานสุรินทร์เท่านั้น แล้วก็ขอแรงระดมยิงอาวุธของทุกๆคนเข้าใส่ฐานสุรินทร์อย่างต่อเนื่อง เอาแค่ 3 แม็กพอแล้วหยุด
จะต้องยิงให้สูงเข้าไว้เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อเพื่อนเรา 5 คนที่ต้องลอบวิ่งออกมาเมื่อได้ยินเสียงพวกเรายิงโจมตี
ทุกคนต้องยิงหลังจากที่ ป.105 ของเรายิงจบ 2-3 นัดแล้ว ผู้หมวดจะออกคำสั่งและยิงติดต่อกันข้าฐาน เอ็ม 60 ด้วยให้ยิงเป็นชุดๆจนหมดสายกระสุน ระหว่างยิงให้ตะโกนโห่ร้องและร้อง เอี้ย เอี้ย..ดังๆ ผู้หมู่มีนกหวีดให้เป่านกหวีดด้วย อย่าลืมทุกคน
หลังจากนั้นปืนใหญ่จะยิงแฟร์ส่องสว่าง 1 นัดเหนือฐานเพื่อส่องสว่างให้พวกเราออกมา และคอยดูด้วยว่ามีพวกเราออกมาจากฐานหรือไม่ ถ้าเห็นคนวิ่งออกมาจากฐานห้ามยิงเด็ดขาด นั่นคือพวกเรา จำไว้…
“ขอแค่นี้” มีใครมีปัญหาไหม ผมถาม “หรือใครไม่ต้องการไปงานนี้ให้กลับไปได้” ผมย้ำอีกครั้งไม่มีใครสงสัยและไม่มีใครขอกลับ ผมบอกขอบใจและให้ทุกคนพักรอและพร้อมเตรียมรับคำสั่งเคลื่อนกำลังออกจากแนว
ก่อนที่ผมจะไปเตรียมตัวเอง นึกขึ้นได้เรื่องสัญญาณบอกฝ่าย ผมรีบบอกทุกคนว่ากำหนดสัญญาณบอกฝ่ายคืนนี้คือถาม “สุรินทร์”ตอบ “โคราช” ถ้าถาม “โคราช”ให้ตอบ “สุรินทร์”จำไว้ให้ดี เท่านี้แหละ” แล้วผมก็กลับไปที่คอกบังเกอร์เพื่อเตรียมการตัวเอง

มันใกล้จะมืดแล้ว ผมนั่งรอความมืดที่กำลังย่างเข้ามาเพื่อรอเวลาเคลื่อนกำลังและรู้สึกหิวขึ้นมาเพราะลืมกินอาหารกลางวันด้วยใจที่กังวลเรื่องต่างๆที่จะต้องทำในการช่วยเพื่อนและพวกเราในครั้งนี้
ผมค้นหาเสบียง พอดีได้เนื้อกระป๋องและลิ้นจี่กระป๋องเลยรีบจัดการเพื่อให้มันหายหิวและมีกำลังที่จะออกไปกับทหารในคืนนี้ ในใจนึกถึงขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา

เริ่มมืดแล้วทุกอย่างอยู่ในความมืดยังไม่มีวี่แววของการโจมตีด้วยอาวุธหนักและปืนใหญ่ในเวลานี้ซึ่งผมก็ภาวนาว่าอย่าให้มีเลยในคืนนี้ ถ้ามี-แผนช่วยเพื่อนผมและพวกเราอาจจะล้มหรือยากลำบากมากขึ้น
ระหว่างที่รอความมืดที่จะปิดบังการเคลื่อนกำลังและเพื่อปรับสายตาของพวกเราให้ชินกับความมืดก่อนนำกำลังเคลื่อนออกจากแนวที่มั่น ผมควักพระที่ห้อยคอและแขวนด้วยสายร่มขนาดใหญ่ออกมาอาราธนามือกำไว้ไหว้ทุกองค์เหนือศีรษะในใจ ขอให้ท่านช่วยให้ผลในครั้งนี้สำเร็จด้วยและอย่าให้มีการสูญเสียพวกเราอีกเลย พระในคอผมยังอยู่ครบทุกองค์เพียงแต่เต็มไปด้วยความสกปรกของเหงื่อไคลมองไม่เห็นองค์แม้แต่องค์เดียว เพราะผมไม่เคยถอดท่านออกจากคอเลย

เมื่อมืดสนิท ก่อนเคลื่อนกำลังออกจากแนวแกล้งตะโกนถามว่า “สุรินทร์” ทุกคนตอบ “โคราช”และถามอีกครั้ง “โคราช”ทุกคนตอบ “สุรินทร์” เป็นอันใช้ได้ จึงนำกำลังออกจากแนวและทิ้งกำลังไว้ 2-3 คนเท่านั้นกับจ่าบุญเฝ้าฐาน
ยังไงก็ต้องเสี่ยงเพื่อให้แผนสำเร็จ

ผมให้ 2 หมู่ของกองร้อยสุรินทร์นำหน้าออกไปยังฐานสุรินทร์ในความมืดเพราะทุกคนมีความชำนาญต่อภูมิประเทศและเส้นทางดีถึงแม้จะเป็นเวลากลางคืนก็ตาม ผมอยู่กับหมู่ตรงกลางกับลูกน้องของผมแต่ก็ไม่ลืมดูเข็มทิศว่าหมู่นำเดินในทิศทางไปทางใต้ประมาณ 170 ถึง 180 องศาหรือไม่ เพื่อตรงไปยังฐานสุรินทร์ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 800-900 เมตรเราคงใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมงน่าจะไปถึงใกล้สถานสุรินทร์และวางกำลังตามแผนได้
ผมให้บอกต่อๆกันว่าให้หมู่นำเคลื่อนช้าๆและเงียบที่สุด อย่าให้มีเสียงใดๆ

เราเริ่มออกประมาณ 19:00 น.ผมคาดว่าเราน่าจะถึงแนววางตัวไม่เกิน 20:00 น.แล้วเคลื่อนที่เป็นแถวตอนแบบลาดตระเวนตอนกลางคืนแบบเงียบที่สุด ภูมิประเทศเป็นที่โล่งมีแต่เศษซากของวัสดุอุปกรณ์ที่กระจัดกระจายเต็มพื้นที่และค่อยๆลาดลงไปเรื่อยๆไปทางทิศใต้ของพื้นที่บ้านนาทุกที่โล่งเตียนไม่มีต้นไม้ ทุกอย่างจากฐานผมไปยังฐานสุรินทร์เป็นเป้าหมายของอาวุธหนักและปืนใหญ่ของข้าศึกแทบทุกตารางเมตร แล้วเดินเป็นแถวตอนเรียงหนึ่งแบบลาดตระเวนมาเกือบ 1 ชั่วโมงแล้ว

เกือบ 2 ทุ่มแล้วผมดูนาฬิกา พวกเราเดินช้ามากเพราะอยากให้เงียบที่สุดจนหมู่นำจากกองร้อยสุรินทร์ให้สัญญาณหยุดหน่วยลง ผมให้ทุกคนหยุดวางกำลังรอบตัวซ้ายขวา ตรวจการณ์ไปข้างหน้า

สักครู่จ่าจากหมู่นำเดินตะคุ่มๆมาพบผมและบอกว่าเกือบถึงฐานแล้วเหลืออีกไม่เกิน 300 เมตรผมให้ ผบ.หมู่ทั้ง 4 หมู่มาผมและฟังคำสั่งการวางกำลัง
ผมตรวจการณ์ไปข้างหน้าทำสายตาให้ชินกับความมืด ด้วยสายตาพอจะมองเห็นฐานสุรินทร์อยู่ข้างหน้าในความมืดน่าจะไม่เกิน 300 เมตรผมเห็นแนวรั้วลวดหนามอยู่ข้างหน้าและแนวบังเกอร์อยู่บนเนินสูงเพราะจะมองเห็น
ทุกอย่างอยู่ในความเงียบมองไม่เห็นความเคลื่อนไหวใดๆของข้าศึก ผมสั่งให้หมู่นำ 2 หมู่ของกองร้อยสุรินทร์คลานต่ำและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอีกประมาณ 50 ถึง 100 เมตรและเลือกวางตัวหาที่กำบังทางด้านซ้าย ส่วน 2 หมู่ของผมให้คลานตามมาแล้วแยกวางตัวทางด้านขวามือเว้นระยะห่างแต่ละหมู่ประมาณ 5 เมตร
ผมและพลวิทยุเข้าหาที่กำบังตรงกลางระหว่างกำลังของสุรินทร์และของผม ทุกอย่างเงียบมากพวกเราน่าจะวางกำลังพร้อมแล้ว ผมใช้กล้องส่องสองตามองไปในความมืดพอมองภาพของฐานชัดขึ้น การวางตัวในระยะนี้น่าจะปลอดภัยจากเคลย์โมร์ของข้าศึก หากมันกดเคลย์โมร์โดยนึกว่าเราจะบุกเข้ามาในฐาน ประมาณเกือบๆ 200 หลาน่าจะปลอดภัย

ผู้หมู่ทางซ้ายของสุรินทร์และผู้หมู่ทางขวาคลานมากระซิบผมว่าทุกหมู่พร้อมแล้ว
ผมรีบเอาวิทยุมาติดต่อกับเพื่อนย้งทันที ต้องรีบปฏิบัติการทันทีไม่อยากช้าไปกว่านี้เพราะกลัวข้าศึกจะรู้ตัวก่อนและเสียแผน
ผมพูดวิทยุกับเพื่อนย้ง “พันเชอร์ จากหัวหน้าใจ” ทันที่ผมเรียก เพื่อนย้งตอบทันที “พันเชอร์ตอบ “ผมรีบพูดกับเพื่อนย้งทันที “เฮ้ย ไอ้ย้ง กูพร้อมโจมตีแล้ว มึงอัดมันตามแผนได้เลย”

จากนั้นไม่กี่อึดใจเสียงปืนใหญ่ 105 ของเพื่อนย้งก็คำรามขึ้นเสียง กรึม กรึม กรึม ยิงกระสุนแตกอากาศเหนือฐานสุรินทร์ 2-3 นัดแล้วก็หยุด
ทันทีที่สิ้นเสียงปืน การระดมยิงเข้าใส่ฐานสุรินทร์ของเราก็เริ่มต้นทันที ทั้ง เอ็ม 16 เอ็ม 79 และ เอ็ม 60 เสียงปืนดังกึกก้องผสมด้วยปืนกล เอ็ม 60 ยิงเป็นชุดๆอย่างต่อเนื่องเข้าใส่ฐานสุรินทร์เห็นแนวกระสุนส่องวิถีเป็นแนวค่อนข้างสูงผสมด้วยเสียง เอี้ย เอี้ย และเสียงเป่านกหวีดดังลั่นจากพวกเราดังอยู่ตลอดเวลา ผสมกับการยิงของปืนทุกกระบอกทั้งกึ่งอัตโนมัติและยิงแบบอัตโนมัติ เราได้ยินเสียงตรึม ตรึม 1-2 ครั้งดังแทรกอยู่กับเสียงปืนของพวกเราที่ระดมยิงเข้าไปสู่ฐานประมาณ 2-3 อีดใจที่เราระดมยิงใส่ฐาน
เสียงตรึม ตรึม อยู่ด้านหลังพอได้ยินจาก ป. 105 ของไอ้ย้ง จากนั้นชั่วครู่พลุส่องสว่างก็ระเบิดขึ้นเหนือฐานสุรินทร์ ทำให้พวกเรามองเห็นฐานได้ชัดเจนจากแสงสว่างของพลุส่องสว่าง

ขณะนี้พวกเราหยุดยิงแล้วหลังจากพลุส่องสว่างขึ้นเหนืออีสานสุรินทร์ ผมมองไปที่ฐานก่อนที่แสงสว่างของพลุจะหมดลงและพอจะมองเห็นคน 4-5 คนกำลังวิ่งตามกันออกมาตรงช่องทางออกของฐานสุรินทร์เห็นได้ชัดเจน
ไม่ต้องสงสัยเพื่อนผมและลูกน้องแน่นอนทั้ง 5 คนไม่มีการยิงจากพวกเราอีก เพื่อนผมไม่ลังเลที่จะวิ่งออกมาตามแผน
ข้าศึกกดเคลย์โมร์แล้ว มันคงมุดอยู่ในบังเกอร์ตอนเราระดมยิงเข้าใส่ฐานหรือไม่ก็ถอนตัวออกไปอีกด้านของฐานโดยคิดว่าเราต้องทุ่มกำลังเข้าโจมตีแน่ๆ

ผมรีบรวมกำลังและถอนตัวออกจากพื้นที่วางตัวหน้าฐานสุรินทร์ทันที ผมรู้ว่าแผนเราน่าจะสำเร็จแล้ว จบแล้ว และไม่มีเหตุการณ์อื่นๆเข้ามาแทรกแล้ว

ต่อมาได้ทราบว่าเพื่อนผมและลูกน้องอีก 5 คนได้หนีออกมาได้แล้วและกำลังกลับเข้าไปที่ฐานกองพัน BI- 15 โดยไม่รั้งรอใดๆ

ผมพาลูกน้องของผมและกำลังของกองร้อยสุรินทร์ถอนตัวเร่งฝีเท้าเดินอย่างเร่งรีบมุ่งสู่ฐานของผมทันที กลัวอย่างเดียวว่ามันจะยิง ป.จากทุ่งไหหินมาในตอนนี้ คงเกิดปัญหาแน่นอน แต่ก็โชคดีไม่มีเหตุการณ์

ผมกลับเข้าฐานของผมพร้อมลูกน้อเดนตายของผมและกำลังของกองร้อยสุรินทร์ได้อย่างปลอดภัย
เมื่อถึงฐานผมนั่งพักอยู่ในคูหน้าบังเกอร์ด้วยความโล่งใจ ทุกอย่างเป็นไปตามแผน แผนผมสำเร็จและช่วยให้เพื่อนของผมและลูกน้องหนีออกจากนรกทั้งเป็นออกมาได้เหมือนตายแล้วเกิดใหม่ผมรู้สึกผ่อนคลายกับความเครียดที่ลดลงจากสถานการณ์ในวันนี้และไม่ลืมวิทยุบอกเพื่อนย้งว่าไอ้เหมียวออกมาได้แล้วและปลอดภัยแล้ว และขอบคุณเพื่อนย้งที่ช่วยกันให้เป็นไปตามแผนทุกอย่าง

คืนนี้ผมขอนอนพักข้างนอกในคอกบังเกอร์เพื่อจะได้สูดอากาศสดชื่นข้างนอกบ้าง ถ้ามันถล่มมาด้วย ป.ถึงจะลงไปนอนในรู
แล้วผมก็หลับไปด้วยความอ่อนเพลียในคืนนั้น.

เสาร์หน้าพบกับเหตุการณ์สำคัญระหว่างทหารเสือพรานเข้ามาสับเปลี่ยนกำลังและถูกขัดขวางจากข้าศึกอย่างเต็มที่ รวมทั้งความผิดพลาดจากการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด เอฟ 4 แฟนธอม ที่ทำให้ทหารเสือพรานผู้มาใหม่ต้องสูญเสียเกือบทั้งกองพัน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นต่อหน้าหัวหน้าใจ.


“ทหารเสือพรานสู่ล่องแจ้ง”

........ “สถานการณ์ทุกอย่างเป็นความวิกฤติที่สุดของพวกเราที่บ้านนา ในเวลานี้เราไม่มีเหลืออะไรที่จะสู้กับข้าศึก นอกจากการโจมตีทางอากาศอย่างเดียวในเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนช่วงเวลากลางคืนเป็นเวลาที่ข้าศึกจะดำเนินการต่อฝ่ายเราได้ทุกอย่าง” : "หัวหน้าใจ"……

ระหว่างรอคอยการมาถึงของกองกำลังทหารเสือพรานในต้นปี 2514 เพื่อเตรียมผลัดเปลี่ยนกำลังทหารประจำการจาก ผส.13 ซึ่งจะหมดภารกิจใน เม.ย.2514 บก.ผสม 333 ต้องเชิญกับโจทย์สำคัญ 2 ประการ

ประการแรก : การถูกคุกคามจากข้าศึกที่สามารถยึดบางส่วนของเนินสกายไลน์แล้วกดดัน บก.ฉก.วีพี ที่ล่องแจ้งโดยตรง

ประการที่สอง : การที่กำลังทหารประจำการจาก ผส.13 คือ กองพันทหารราบ บีซี-15 และกองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13 ถูกปิดล้อมที่ บ้านนา

บก.ผสม 333 ได้พยายามแก้ไขปัญหาทั้งสองประการนี้อย่างเต็มกำลังความสามารถ...

14 ก.พ. 2514 : เมื่อได้รับกำลังเพิ่มเติมชุดแรกจากประเทศไทยตามแผนคือกองพันทหารราบเสือพราน บีซี. 603 และ บีซี. 604 ซึ่งเพิ่งเสร็จสิ้นการฝึกแล้วเคลื่อนย้ายทางอากาศมาลงที่ล่องแจ้ง
บก.ผสม 333 ได้กระจายวางกำลังกำลังส่วนนี้ออกเพื่อสถาปนาแนวตั้งรับป้องกันล่องแจ้งตามแนวสกายไลน์ และบริเวณทางตะวันออกของล่องแจ้งในการควบคุมบังคับบัญชาของ ฉก.วีพี ทันที
เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนั้น ฝ่ายทหารเวียดนามเหนือได้รุกประชิดเมืองล่องแจ้ง ดังนั้น ฉก.วีพี จึงให้ลำดับความเร่งด่วนสูงสุดให้กับการป้องกันศูนย์บัญชาการที่ล่องแจ้งซึ่งมีเนินสกายไลน์เป็นภูมิประเทศสำคัญที่มีกำลังบางส่วนของเวียดนามเหนือยึดรักษาอยู่

บีซี.603 และ บีซี 604 จึงนับเป็นทหารเสือพรานรุ่นแรกแห่งตำนานรบทุ่งไหหิน…

3 มี.ค.2514 : กำลังกองพันทหารราบเสือพรานจากประเทศไทยเดินทางมาเพิ่มเติมกำลังในพื้นที่การรบล่องแจ้งแห่งนี้อีก 2 กองพัน ได้แก่ กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 และ บีซี.606 ดังนั้นอีก 6 วันต่อมา ทั้ง 2 กองพันนี้จึงได้รับภารกิจในการออกกวาดล้างข้าศึกบริเวณหน้าแนวสกายไลน์ออกไปจนถึงภูถ้ำแซ โดยเริ่มออกปฏิบัติการตั้งแต่ 9 มี.ค.14

กองพ้นทหารเสือพราน บีซี.605 และ บีซี.606 สามารถกวาดล้างและขับไล่ข้าศึกบริเวณหน้าแนวสกายไลน์ออกไปได้ตามความมุ่งหมาย แต่ก็ยังมีข้าศึกจำนวนหนึ่งยังคงวางกำลังอยู่ที่บริเวณทิศตะวันออกของถ้ำตำลึง ซึ่งข้าศึกส่วนนี้อาจส่งกำลังแทรกซึมเข้าปฏิบัติการต่อฝ่ายเราที่บริเวณล่องแจ้งได้ ฉก.วีพี จึงได้จัดตั้ง “ฉก.บราโว่” ขึ้นเพื่อเป็น บก.ควบคุม กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 และ บีซี.606 ในการปฏิบัติการร่วมกันเข้าตีผลักดันข้าศึกบริเวณถ้ำตำลึง - บ้านหินตั้งออกไป โดยมีทหารปืนใหญ่จากฐานยิงซีบร้ายิงสนับสนุน

19 มี.ค. 14 : ทั้งสองกองพันเคลื่อนย้ายทางอากาศไปลงที่สนามบินถ้ำตำลึงเพื่อเข้าตีตามแผน โดยกองพันทหารเสือพราน บีซี.605 จะเข้าตีทางปีกขวาและ บีซี.606 จะเข้าตีทางปีกซ้าย

เส้นทางเคลื่อนที่เข้าตีของ กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 ซึ่งอยู่ทางปีกขวานั้นมีลักษณะเป็นเส้นทางบังคับอยู่ในหุบเขาแคบๆ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงเคลื่อนที่ไปทางอื่นได้ ดังนั้นในขณะที่ กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 เคลื่อนที่เข้าเกือบถึงที่หมายจึงถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธหนักอย่างรุนแรง กำลังพลเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากจนไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าตีตามแผนได้ กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 จึงขออนุมัติระงับการเข้าตี และในขณะที่ถอนตัวก็ได้ถูกข้าศึกระดมยิงด้วยอาวุธหนักอย่างหนักอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

ทางด้านกองพันทหารพราน บีซี.606 ซึ่งเคลื่อนที่เข้าตีทางปีกซ้าย เมื่อได้เคลื่อนที่เข้าไปถึงบริเวณหุบเขาบ้านหินตั้ง ได้ถูกข้าศึกยิงต้านทานอย่างหนักเช่นเดียวกัน เพราะเข้าไปยังพื้นที่ตั้งรับแข็งแรงของข้าศึก ถึงแม้ว่าฝ่ายเราจะได้ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีแต่ก็ไม่สามารถทำลายข้าศึกในที่มั่นแข็งแรงได้ จึงขออนุมัติระงับการเข้าตีเช่นกัน

กำลังพลของกองพันทหารเสือพราน บีซี.606 เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากไม่แตกต่างจากกองพันทหารเสือพราน บีซี.605

ต่อมาทั้ง 2 กองพัน ได้พยายามเข้าตีอีกครั้งหนึ่งแต่ก็ไม่สามารถเข้ายึดที่หมายได้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าทั้งสองกองพันนี้จะไม่สามารถเข้าตียึดที่หมายบริเวณถ้ำตำลึง – บ้านหินตั้ง ได้ก็ตาม แต่ก็ทำให้ฝ่ายเราได้ทราบที่ตั้งและการวางกำลังของข้าศึกเพื่อเป็นฐานข่าวในการปฏิบัติการต่อไป

ฉก.วีพี.สั่งการให้ทั้ง 2 กองพันยึดที่มั่นทางตะวันออกของสนามบินถ้ำตำลึงเพื่อสกัดกั้นมิให้ข้าศึกแทรกซึมเข้าสู่เนินซีบร้าและซำทอง และต่อมาก็ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งรับอยู่ที่เนินซีบร้า เพื่อเตรียมเข้าปฏิบัติการในขั้นต่อไป...

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2514 ระหว่างที่กองพันทหารเสือพราน บีซี-605 และ บีซี-606 กำลังพยายามกดดันข้าศึกอยู่นั้น กองพันทหารราบ บีไอ-15 และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13 ที่ฐานบ้านนาซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่มากนักก็ยังคงถูกปิดล้อมและระดมยิงด้วยอาวุธหนักและการใช้หน่วยทหารราบเข้ากดดันเป็นครั้งคราวจนต้องสูญเสียฐานกองร้อยสุรินทร์ไปในที่สุด ทำให้สถานการณ์ยิ่งทวีความล่อแหลมยิ่งขึ้นไปอีก

การตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันกว่าสองเดือนทำให้ขวัญและกำลังใจของกำลังพลที่บ้านนาอยู่ในสภาพตกต่ำอย่างถึงที่สุด โดยมีความหวังเดียวอยู่ที่การแหวกวงล้อมของทหารเสือพรานเข้ามาช่วยเหลือ

บันทึกของ “หัวหน้าใจ” เกี่ยวกับสถานการณ์ที่บ้านนาในห้วงเวลาที่กองพันทหารเสือพราน บีซี-605 และ บีซี-606 กำลังเข้าตีข้าศีกดังกล่าวเป็นดังนี้...

“ ผมได้นอนพักผ่อนอย่างเต็มที่หลังจากที่ได้นำกำลังเข้าตีฐานสุรินทร์และสามารถช่วยเพื่อนผมและทหารอีก 5 คนออกมาจากฐานได้สำเร็จ และในคืนนั้นไม่มีเหตุการณ์ใดๆอีกโดยเฉพาะการยิงจากฝ่ายข้าศึกบริเวณทุ่งไหหินซึ่งมันเคยทำเป็นประจำกับฝ่ายเราที่บ้านนา ผมสะดุ้งตื่นขึ้นมาก่อนฟ้าสางของวันใหม่พอดีทหารเอาซุปเนื้อร้อนๆมาให้เป็นอาหารเช้า เมื่อคืนผมนอนอยู่ในบังเกอร์ตรวจการณ์ทั้งคืน

ผมกินมื้อเช้าไปด้วยสายตาก็กวาดไปข้างหน้าโดยเฉพาะที่ฐานสุรินทร์และเนินอานม้ามาทางด้านทิศใต้รวมทั้งทิศตะวันตกจนถึงเนินตรวจการณ์ซึ่งเป็นภูมิประเทศโดยรอบที่สำคัญด้านนอกบริเวณบ้านนาที่ถูกข้าศึกยึดไปหมดแล้ว มองเห็นฐานปืนพันเชอร์ห่างไปไม่ไกลทางตะวันออกเฉียงใต้ สภาพฐานปืนทั้งแนวป้องกันลวดหนามดูทรุดโทรมพังเป็นส่วนใหญ่ บังเกอร์พังรุ่งริ่งมองเห็นด้วยตาเปล่า
บริเวณที่ว่างและสนามบินบ้านนาเต็มไปด้วยกองวัสดุเศษซากต่างๆมากมายจากการโจมตีด้วยปืนใหญ่และอาวุธหนักของข้าศึกมาเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน

ตอนนี้อยู่ในช่วงปลายเมษายน(ที่ถูกคือมีนาคม) แล้ว สถานการณ์ทุกอย่างเป็นความวิกฤติที่สุดของพวกเราที่บ้านนา ในเวลานี้เราไม่มีเหลืออะไรที่จะสู้กับข้าศึก นอกจากการโจมตีทางอากาศอย่างเดียวในเวลากลางวันเท่านั้น ส่วนช่วงเวลากลางคืนเป็นเวลาที่ข้าศึกจะดำเนินการต่อฝ่ายเราได้ทุกอย่าง

อีกความหวังก็คือหน่วยได้ส่งกำลังพี่น้องเสือพรานซึ่งกำลังรุกมุ่งมาที่บ้านนา น่าจะรุกมาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้จากเมืองซำทองมาที่บ้านนา มาช่วยพวกเรา
นั่นคือความหวังเดียวและเราต้องอดทนรอกันต่อไป

หลังกินอาหารเช้าเสร็จ ผมยังตรวจการณ์อยู่ที่คอกบังเกอร์ตรวจการณ์และใช้กล้องส่องทางไกลตรวจ ทำให้เห็นแนวที่มั่นข้าศึกที่ปิดล้อมเราอยู่ตั้งแต่เนินอานม้าด้านตะวันออกเฉียงเหนือจนยาวมาถึงเนินตรวจการด้านตะวันตกเฉียงเหนือเห็นแนวบังเกอร์ของข้าศึกเต็มไปหมด หันกล้องมาที่ฐานสุรินทร์มองเห็นฐานชัดเจนเพราะอยู่ใกล้ไม่มีการเคลื่อนไหวของข้าศึก ไม่มีธงแดง ไม่มีการโบกมือเยาะเย้ย ที่ฐานไม่มีอะไรเคลื่อนไหวเลย

ชั่วครู่ผมได้ยินเสียง บ.ตรวจการณ์ น่าจะเป็น L-19 ได้ยินเสียงเบาๆ มองแทบไม่เห็นตัวเครื่อง แต่รู้ว่ากำลังบินวนอยู่รอบๆพื้นที่บ้านนา จากนั้นก็ได้ยินเสียงเครื่องบินเจ็ตความเร็วสูงน่าจะเป็น F-4 แฟนทอม บินระยะสูงมากมองไม่เห็นตัวเครื่อง ได้ยินแต่เสียงเครื่องในระดับสูงน่าจะ 2 ลำวนอยู่รอบพื้นที่บ้านนา

แล้วเสียงจรวดอากาศก็ถูกยิงออกมาจาก L-19 เป็นจรวดควันตกระเบิดมีควันใกล้ๆฐานสุรินทร์ อีกไม่กี่อึดใจต่อมาได้ยินเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องไอพ่นเจ็ต แผดเสียงดังกึกก้องลงมาจากระดับสูงมากแล้วเสียงก็จางไป แต่ตามมาด้วยเสียงระเบิดดังแน่นมาก ตึม ตึม บริเวณใกล้ฐานสุรินทร์ ติดตามมาด้วยเสียงระเบิดดังแน่นมากติดต่อกันเสียง ตึม ตึม จากลำที่สอง ที่พุ่งลงมาจากระดับสูงเช่นเดียวกัน

แรงระเบิดทำให้เกิดฝุ่นควันท่วมบริเวณฐานสุรินทร์จนมองไม่เห็นฐาน แล้วเสียงเจ็ตของแฟนธอมก็จางหายไปอย่างรวดเร็วยังเหลือแต่เสียงของ บ.ตรวจการณ์ แอล-19 เบาๆที่ยังบินวนอยู่รอบพื้นที่บ้านนา ส่วนระเบิดจะตกทำลายฐานสุรินทร์หรือไม่นั้นคงไม่สำคัญ แต่ที่ผมพอจะเดาได้คือมันคงเผ่นแน่บไปตั้งแต่ L- 19 มาบินวนแล้วและยังไม่ได้ยิงจรวดชี้เป้าด้วยซ้ำ คงไม่ยอมเป็นเป้าระเบิดขนาด 500 ปอนด์ของแฟนธอมแน่

การโจมตีทางอากาศของฝ่ายเราจากระดับสูงอาจไม่แม่นยำต่อเป้าหมายแต่ก็คงสามารถขับไล่ข้าศึกไม่ให้ยึดฐานสุรินทร์ได้อีกต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของเครื่องและนักบิน และก็ไม่มีการต่อต้านใดๆหรือ ปตอ.จากฝ่ายข้าศึก
การขับไล่ข้าศึกจากการยึดฐานสุรินทร์คงได้ผลสำหรับฝ่ายเรา

ในช่วงบ่ายหลังจากการโจมตีทางอากาศที่ฐานสุรินทร์ ยังมี บ.ตรวจการณ์ของฝ่ายเราบินสังเกตการณ์อยู่ตลอดเวลา ผมได้ยินเสียงเครื่องของ L- 19 แต่อยู่ในระดับสูง มองเห็นเครื่องเล็กมาก
ในช่วงเวลาเดียวกันมี ฮ.แบบ UH- 1 มาลงที่บ้านนาเพื่อส่งอุปกรณ์และรับคนเจ็บป่วย น่าจะมาลงถึงสองเที่ยว

ในเที่ยวแรกมีเจ้าหน้าที่ซีไอเอ. ถ้าผมจำไม่ผิดชื่อจอห์นลงมาด้วย เหมือนมันรู้ว่าที่บ้านนาตอนนี้ปลอดภัย

ผมถือโอกาสไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ซีไอเอ.จอห์น พอคุยกันรู้เรื่องจากภาษาอังกฤษ มันคงเห็นสภาพผมโทรมมาก เจ้าจอห์นบอกว่า
“พวกคุณทนอยู่ได้อย่างไร ผมเห็นสภาพบ้านนาบนอากาศเต็มไปด้วยหลุมระเบิดเต็มไปหมด ไม่มีที่ใดไม่มีหลุมระเบิด ยิ่งกว่าดวงจันทร์ซะอีก” แล้วก็หัวเราะ
ผมพยายามอธิบายมันว่า
“เราต้องอดทนเพราะหน่วยเหนือยังไม่ให้เราถอนตัว และเรากำลังแย่ลงเรื่อยๆ ต้องสูญเสียทุกวันจากการถูกโจมตีด้วย ป.และอาวุธหนักของข้าศึก แต่ตอนนี้เบาลงบ้างจากที่พี่น้องเสือพรานของเรากำลังรุกเข้ามาช่วยเรา”

มันบอกว่าที่สมรภูมิเวียดนามที่เกซอน สถานการณ์คล้ายกับเราที่บ้านนา แต่ทนอยู่ได้ไม่ถึง 2 เดือน ตอนนี้เกซอนที่เวียดนามแตกแล้ว ผมนึกอยู่ในใจโดยไม่ได้พูดกับมันเจ้าจอห์น แต่อยากจะบอกมันว่า กูก็แทบทนไม่ไหวอยู่แล้วโว้ย กำลังจะถึงที่สุดแล้วในความอดทนของพวกกูที่นี่ ไม่ต้องมาชมกูหรอก มันยิ้มจะสมเพชเราหรือชมเราผมไม่รู้ แล้วมันก็พูดเป็นภาษาอังกฤษว่า
“พวกคุณแน่จริงๆที่ยังทนกันอยู่ได้มาจนถึงวันนี้”
แล้วจอห์นก็รีบไปกับ ฮ.เที่ยวที่ 2 ที่มารับคนเจ็บป่วยเหมือนมันรู้ว่าตอนนี้ที่บ้านนาปลอดภัยลงมาดูเหตุการณ์ได้
พวกนี้มันรู้ทุกอย่าง

วันนี้ตอนบ่ายใกล้ค่ำหลังจากเจ้าจอห์นกลับไป ไม่มีอะไรเกิดขึ้น บ.ตรวจการณ์หายไปแล้ว ไม่ได้ยินเสียงเครื่อง”

กองพันทหารราบ บีไอ-15 กับกองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13 และ"หัวหน้าใจ"ยังคงรอคอยความหวังสุดท้าย-ความหวังเดียวจาก “พี่น้องทหารเสือพราน”ต่อไป.



“แผนยุทธบรรจบที่บ้านนา”

......หากยึดเนินอานม้าได้ หนทางที่จะเข้าสู่บ้านนาก็จะสะดวกและเปิดโล่งทันที......

“แผนยุทธบรรจบ-Link Operation”
บก.ผสม 333 กำหนดแผนขั้นสุดท้ายในการช่วยเหลือกองพันทหารราบและกองร้อยทหารปืนใหญ่ซึ่งถูกข้าศึกปิดล้อมที่บ้านนาด้วย “การยุทธบรรจบ-Link Operation” ใช้ 2 กองพันทหารเสือพรานเข้าตีข้าศึกสองทิศทางแล้วไปบรรจบกันที่บ้านนา โดยมี “ที่หมายระหว่างทาง” 2 ที่หมายคือ “เนิน 1663” และ “เนินอานม้า”

29 มี.ค.14 : ฉก.วีพี. สั่งการให้ ฉก.บราโว่ นำกำลัง กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 และ 606 เคลื่อนย้ายจากเนินซีบร้า เข้าตีที่หมายเนิน 1663 ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านนาประมาณ 4 กม. โดยให้เคลื่อนย้ายกำลังจากเนินซีบร้าไปเข้าฐานออกตีจากที่ตั้งของหน่วยกองทัพแห่งชาติลาว ภาค 2 ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของที่หมายเนิน 1663 นี้ประมาณ 3 กม.

ตามแผนของ ฉก.บราโว กำหนดให้ กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 เข้าตีทางปีกซ้ายและ บีซี.606 เข้าตีทางปีกขวา ซึ่งปรากฏว่าทั้ง 2 กองพันสามารถยึดที่หมายเนิน 1663 ได้ตามแผน และสังหารข้าศึกได้จำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามระหว่างที่ยึดเนิน 1663 อยู่นี้ ทั้งสองหน่วยได้ถูกข้าศึกเข้าตีโต้ตอบและยิงโจมตีด้วยอาวุธหนักหลายครั้ง ทำให้เสียหายและบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง แต่ฝ่ายเรายังคงรักษาเนิน 1663 ไว้ได้

เมื่อได้สถาปนาที่มั่นบริเวณเนิน 1663 ได้อย่างแข็งแรงแล้ว กองพันทหารเสือพราน บีซี.605 ได้เริ่มการรุกเคลื่อนที่ต่อไปยังที่หมายที่สองคือ “เนินอานม้า” เพื่อเข้าบรรจบกับกำลังของ กองพันทหารราบ บีไอ.15 และ กองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ.13 ที่จะตีหักวงล้อมออกมาจากฐานบ้านนาโดยในชั้นต้นให้ บีซี.606 เป็นกองหนุนยึดรักษาที่มั่นอยู่ที่เนิน 1663

ต่อมาเมื่อกองพันทหารเสือพราน บีซี.605 สามารถรุกคืบหน้าไปได้ กองพันทหารเสือพราน บีซี.606 จึงได้เคลื่อนที่ออกจากเนิน 1663 แล้วร่วมกันเข้าตีที่หมายสำคัญ “เนินอานม้า” ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านนา 2 กม. และเป็นที่มั่นตั้งรับแข็งแรงบนเนินสูงข่มของข้าศึก แต่ถูกต้านทานอย่างหนัก ถึงแม้ว่าฝ่ายเราจะได้ใช้ บ.โจมตีอย่างเต็มที่ก็ยังไม่สามารถผลักดันให้ข้าศึกถอนตัวออกไปจากที่มั่นได้ ...
กองพันทหารเสือพรานทั้งสองจึงชะลอการเข้าตี แต่ยังคงวางกำลังกดดันข้าศึกไว้ที่เชิงเนินอานม้า แล้วปรับแผนการการเข้าตีเพื่อยึดเนินอานม้าให้ได้

“เนินอานม้า”
“หัวหน้าใจ” ได้บันทึกภาพ “เนินอานม้า”ซึ่งข้าศึกได้เข้าเข้ายึดครองไว้แล้วเมื่อประมาณกลางเดือน มี.ค. 2513 ก่อนฐานสุรินทร์แตก และก่อนการเข้าตีของกองพันทหารเสือพรานครั้งนี้ไว้ดังนี้...
“ ผมอยากจะตรวจการณ์และดูสถานการณ์ให้ชัดเจนและไกลออกไป จึงใช้กล้องส่องทางไกลส่องดูแนวตั้งแต่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เรื่อยมา ซึ่งด้านตะวันออกเป็นแนวสันเขาสูงชันมากลาดลงมาทางด้านใต้ มีเนินเรียกว่า “เนินอานม้า” เป็นเนินไม่สูงมากแต่สันเขาเล็กมาก รูปร่างยาวเรียบเหมือนอานม้า พวกเราเรียกว่า “เนินอานม้า” และมักเป็นเป้าโจมตีทางอากาศจากฝ่ายเราเสมอ เนินนี้เป็นสันเนินที่สามารถตรวจการณ์มายังพื้นที่บ้านนาได้ และสามารถทำที่ตั้งยิงของอาวุธหนักทั้ง ค.และ ปรส.ได้อย่างดีเพราะสูงและอยู่ไม่ไกล ประมาณ 2 กิโลเมตรจากบ้านนา

จากกล้องส่องทางไกล ภาพที่เห็นน่าจะมีการดัดแปลงพื้นที่เป็นป้อมและแนวบังเกอร์บนสันเนินขึ้นมาแล้วซึ่งจากเดิมไม่มี ผมกวาดกล้องตรวจการณ์ผ่านฐานกองร้อยสุรินทร์มายังด้านตะวันตกซึ่งเป็นสันเนินไม่สูงนักและห่างจากบ้านนาประมาณ 2-3 กิโลเมตรจนไปถึงเนินตรวจการณ์มองเห็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวสันเขาอย่างชัดเจน มีการดัดแปลงพื้นที่และสร้างบังเกอร์ตามแนวสันเขาหลายจุด

เป็นอันแน่ใจได้แล้วว่าสถานการณ์ขณะนี้ข้าศึกได้ยึดภูมิประเทศสำคัญด้านใต้และด้านตะวันตกไว้หมดแล้ว เว้นฐานของกองร้อยสุรินทร์ของเราซึ่งเหลือเป็นฐานป้องกันรอบนอกเพียงฐานเดียว

เป็นการกระชับและปิดล้อมเรามากขึ้น ทำให้ฝ่ายเราถูกกดดันมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆทั้งการยิงปืนใหญ่ทำลายและรบกวนไม่ให้เรามีอิสระในการปฏิบัติการใดๆทั้งกลางวันและกลางคืน เราจะทนอยู่ได้นานแค่ไหน อย่างไร เพื่อยึดพื้นที่บ้านนาไว้ให้ได้ตามคำสั่ง และหน่วยเหนือจะหาทางช่วยเหลือพวกเราที่บ้านนาอย่างไร คงต้องอดทนต่อไป...
ไม่มีใครทราบอนาคตข้างหน้าได้”

“การยึดภูมิประเทศสำคัญคือเนินอานม้าและดัดแปลงเป็นที่มั่นคงแข็งแรงของข้าศึกด้านทิศใต้ของบ้านนาและสันเขาด้านตะวันตกระหว่างฐานสุรินทร์และเนินตรวจการณ์ที่ข้าศึกยึดได้แล้วเป็นการกระชับแนวปิดล้อมฐานบ้านนามากยิ่งขึ้น สร้างแรงกดดันต่อฝ่ายเรามากขึ้นโดยไม่สามารถปฏิบัติการใดๆได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน”

“เนินอานม้า”จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการต่อสู้ครั้งนี้ ยึดเนินอานม้าได้ก็สามารถควบคุมบ้านนาได้ ควบคุมเนินอานม้าได้ก็หมายถึงความอยู่รอดของกองพันทหารราบ บีไอ-15 และกองร้อยทหารปืนใหญ่ บีเอ-13 ที่อยู่ในนรกบ้านนาแห่งนี้มาแล้วกว่าสองเดือน....

“หัวหน้าใจ” เฝ้าดูเหตุการณ์ “พี่น้องทหารเสือพราน” เข้าตีเนินอานม้าจากฐานบ้านนาอย่างใจจรดใจจ่อ เพราะนี่คือทางรอดทางเดียวของทหารไทยเกือบ 1,000 ชีวิตที่ฐานบ้านนา และได้บันทึกภาพที่เห็นไว้ดังนี้
“ผมเปิดวิทยุ PRC- 25 ฟังข่าวสถานการณ์จึงทราบว่าเพื่อนพี่น้องเสือพรานของเรากำลังรุกใกล้บ้านนาเข้ามาแล้ว ถ้าเข้าใจไม่ผิดน่าจะเป็นกรมทหารเสือพรานสองกรม (ที่ถูกคือสองกองพัน)กำลังรุกคืบเข้ามาที่บ้านนา ใช้รหัสว่า “สวนกุหลาบ”กับ “เทพศิรินทร์” กำลังเล่นแข่งฟุตบอลกันเข้ามาแล้ว ผมก็เริ่มมีความหวังและเข้าใจกับสถานการณ์ของเราที่บ้านนาและนั่งฟังมอนิเตอร์เหตุการณ์พี่น้องเสือพรานของเราพูดวิทยุติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา บางครั้งก็รู้ว่ากำลังปะทะกับข้าศึก ฝ่ายเรากำลังดำเนินกลยุทธ์ต่างๆกับข้าศึก บางครั้งก็ได้ยินเหมือนเสียงระเบิดดังอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แต่ได้ยินเสียงเบาๆ แต่ก็พอจะรู้ว่ามีการสู้รบกันบริเวณนั้นและในทิศทางนั้นแน่นอน

ผมยังคงเปิดวิทยุ PRC- 25 ฟังข่าวการสู้รบของพี่น้องเสือพรานของพวกเราในคูเรดหน้าบังเกอร์
เมื่อเริ่มมืด ความมืดย่างเข้ามา ผมยังติดตามสถานการณ์ของฝ่ายเราต่อไปและที่บ้านนาไม่มีสถานการณ์ใดๆนอกจากความเงียบเท่านั้น ข้าศึกคงกำลังพะวงกับการสกัดการรบของพี่น้องเสือพรานของเราที่กำลังรุกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลานี้มันจึงปล่อยพวกเราที่บ้านนาไว้ก่อนและเป็นอีกวันและคืนหนึ่งที่พวกเราที่บ้านนาอยู่กันอย่างสบายโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆ

รุ่งขึ้นอีกวันน่าจะเกือบสิ้นเดือนเมษายนแล้ว (ที่ถูกต้องคือ 3 เมษายน พ.ศ.2514) ในตอนเช้า ผมตื่นขึ้นมากินอาหารเช้าพร้อมกับเปิดวิทยุฟังข่าวการสู้รบของพวกเราพี่น้องเสือพรานต่อตั้งแต่เช้า

ในวันนี้สถานการณ์การสู้รบเริ่มชัดเจนมากขึ้น เสียงระเบิดและเสียงปืนจากการสู้รบด้านเนินอานม้าเริ่มชัดเจน ได้ยินชัดมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการรบกันอย่างหนัก เห็นเนินอานม้าโดนระเบิดจากฝ่ายเราและมีเสียงปืนยิงโต้ตอบกันทั้งจากเนินอานม้าและพื้นที่โดยรอบอยู่ตลอดเวลา

จากการดักฟังทางวิทยุทราบว่าสองกรมเสือพราน (กองพัน) ของเรากำลัง “เล่นฟุตบอล” คือเข้าตีและปิดล้อมเพื่อยึดเนินอานม้าตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนี้ มีการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างฝ่ายเราและข้าศึกซึ่งเนินอานม้ามีภูมิประเทศที่เหมาะที่จะตั้งรับและได้เปรียบจากการเข้าตีของฝ่ายเรามาก เนื่องจากเป็นยอดเขาที่มีสันเขาเล็ก บาง ยาว และสูงพอสมควร เป็นปราการตั้งรับอย่างดีกับฝ่ายข้าศึก

ทราบว่าพวกเราทุ่มกำลังเข้ายึดหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่สำเร็จและถูกข้าศึกต่อต้านอย่างหนักจากอาวุธหนัก แม้พวกเราจะระดมโจมตีข้าศึกด้วยอาวุธอย่างหนักก็ตาม ทั้งกำลังพลและอาวุธทั้ง 2 กรมทหารพราน (กองพัน) ก็ยังไม่สามารถบุกยึดเนินอานม้าได้

จากการฟังข่าวสารการรบ ทราบว่าฝ่ายเรามีการสูญเสียพอสมควรในการเข้าตีเนินอานม้า จากการฟังได้รู้ว่าพวกเราได้ถอนกำลังในการเข้าตีมายึดที่มั่นอยู่บนเนินห่างจากเนินอานม้าประมาณ 400-500 เมตรทางด้านทิศใต้ของเนิน 1 กรมเสือพราน (กองพัน)และส่วนอีก 1 กรม (กองพัน)น่าจะถอยลงมายึดพื้นที่ด้านล่างอีกด้านและยังเกาะติดอยู่บนลาดเนินเช่นเดียวกันและยังปักหลักยิงถล่มกันด้วยอาวุธหนักและ ปรส. อยู่ตลอดเวลา ได้ยินเสียงระเบิดดังอยู่เป็นระยะๆ พวกเราคงถอยมาตั้งหลักเพื่อปรับแผนกันใหม่เนื่องจากความเสียเปรียบในภูมิประเทศที่เป้าหมายเป็นเนินสูงชันจึงทำให้ยากต่อการเข้าตีและรุกเข้าถึงแนวตั้งรับของข้าศึกจึงถอนกำลังลงมาก่อนและดัดแปลงพื้นที่เกาะติดอยู่ใกล้กับเนินอานม้าที่ข้าศึกยังยึดอยู่ แต่ยังไม่ได้ล้มเลิกแผน เพราะหากยึดเนินอานม้าได้ หนทางที่จะเข้าสู่บ้านนาก็จะสะดวกและเปิดโล่งทันที

ผมยังเกาะติดสถานการณ์ต่อไป ในช่วงบ่ายของวันนั้นเสียงการสู้รบเบาบางลง ยังคงมีการยิงใส่กันด้วยอาวุธหนักเป็นช่วงๆ ได้ยินจากเสียงอาวุธหนักที่ถล่มใส่กันเป็นระยะๆอยู่บริเวณเนินอานม้าและพื้นที่โดยรอบใกล้กับเนินอานม้า

ผมยังคงฟังข่าวสารการสู้รบของพี่น้องเสือพรานกับข้าศึกบริเวณเนินอานม้าตั้งแต่เช้าจนถึงช่วงบ่ายของวันนั้นที่บังเกอร์ตรวจการหน้าแนวที่มั่นของผมโดยไม่มีเหตุการณ์ใดๆที่บริเวณพื้นที่บ้านนา

พอจะสรุปสถานการณ์ได้ว่า ในช่วงเช้าของวันนั้น ฝ่ายเราพี่น้องหน่วยเสือพราน 2 กรม (กองพัน)เข้าตีและปิดล้อมข้าศึกที่เนินอานม้าอย่างหนักเพื่อยึดและกดดันข้าศึกให้ถอนตัวไป แต่ยังไม่สำเร็จ ข้าศึกมีการต่อต้านฝ่ายเราอย่างหนักและยังยึดเนินอานม้าอยู่ได้และมีการสูญเสียมากพอสมควร ฝ่ายเราจึงถอนกำลังลงมาจากลาดเนินอานม้าและยึดที่มั่นเพื่อเกาะเป้าหมายและปิดล้อมเนินอานม้าห่างจากเนินประมาณ 400-500 เมตรทางด้านทิศใต้และตะวันตกของเนินเพื่อจะปรับแผนและปรับกำลังใหม่ เพื่อยึดเนินอานม้าให้ได้ต่อไป…
ผมพอสรุปเหตุการณ์ได้เท่านี้”

“ความผิดพลาดที่เนินอานม้า”
“ในช่วงบ่ายผมได้เห็น บ.ตรวจการณ์ L-19 มาบินวนอยู่เหนือพื้นที่บ้านนาและเนินอานม้าอยู่นานพอสมควร จากนั้นหูผมก็ได้ยินเสียงเครื่องไอพ่นน่าจะเป็น F-4 แฟนธอม บินเข้ามาในพื้นที่สองลำเกาะติดกันมาแล้ววนอยู่บริเวณพื้นที่บ้านนาไม่สูงมาก มองเห็นเครื่องได้ชัดเจนว่าเป็น F-4 แฟนธอม จากนั้นจรวดอากาศก็ถูกยิงจาก บ.ตรวจการณ์ทันทีมองเห็นควันจางๆใกล้เนินอานม้าและเห็น F-4 แฟนธอม กำลังไดว์ลงมาเพื่อทิ้งระเบิด พุ่งมาทางด้านทิศตะวันออกของเนินอานม้าในระยะต่ำ ได้ยินเสียงเครื่องชัดเจนมากและน่าจะปล่อยระเบิดลงบริเวณเนินอานม้า เสียงระเบิดดังสนั่น 2 ลูก ไม่ทราบว่าเป็น 500 หรือ 750 ปอนด์ แล้วเครื่องก็เชิดขึ้น ตีวงเลี้ยวซ้ายออกไป

ผมเห็นบริเวณที่ระเบิดตกไม่โดนเนินอานมา แต่มันตกระเบิดใกล้เนินมาทางทิศตะวันตกห่างจากเนินไม่มาก มองเห็นฝุ่นดินบริเวณนั้นฟุ้งกระจายขึ้นไปในอากาศสูงมองเห็นชัดมาก และเสียงการติดต่อทางวิทยุของพวกเราเงียบลงทันที

ชั่วอึดใจมีการพูดวิทยุอย่างตกใจจากเหตุการณ์พอจับใจความได้ว่า ให้หยุดการโจมตี ระเบิดตกใส่พวกเรา ขอให้หยุดการโจมตีทางอากาศ แล้วเสียงวิทยุของพวกเราก็เงียบไปอีก ส่วนแฟนธอมอีกลำหนึ่งไม่ทำการโจมตีทิ้งระเบิดต่อจากลำแรกและผมไม่เห็นเครื่องและได้ยินเสียงระเบิดอีกของ F-4 ลำที่ 2 L-19 ตรวจการณ์คงเห็นเหตุการณ์ชัดเจนและบอกให้หยุดการทิ้งระเบิดของลำที่ สองไว้ทันท่วงที

จากนั้นเสียงพูดวิทยุของพวกเราอย่างสับสนวุ่นวาย ที่ได้ยินพอสรุปได้ว่า มีระเบิดจากการทิ้งระเบิดตกใส่พวกเราสองลูกเต็มๆ เป็นหน่วยกรมทหารเสือพรานของเรากรมอะไร (กองพัน)ผมจำชื่อหน่วยไม่ได้ซึ่งตั้งมั่นเกาะติดเนินอานม้าอยู่ทางด้านตะวันตก 400-500 เมตรด้านล่างเนินอานม้า ทั้งกลุ่มมีการสูญเสียอย่างหนัก ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตจากแรงระเบิดสองลูก มีนายทหารและผู้บังคับบัญชาหลายคนบาดเจ็บและเสียชีวิต ผมได้ยินการรายงานทางวิทยุที่สับสนอย่างยิ่งและกรมเสือพราน (กองพัน)นี้ขอถอนตัวออกจากพื้นที่ทันที น่าจะถอนกลับไปยังบริเวณเมืองซำทองเพื่อนำส่งผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจำนวนมากกลับไป ส่วนอีกกรม (กองพัน)ก็ขอถอนตัวออกจากพื้นที่สู้รบเช่นเดียวกันเพื่อคุ้มกันและช่วยเหลือเพื่อนกรมเสือพราน (กองพัน) ที่ต้องสูญเสียอย่างหนักจากการทิ้งระเบิดผิดพลาดของพวกเรากันเองแทบละลายทั้งกลุ่ม

ผมฟังข่าวสารจากการดักฟังวิทยุด้วยความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องเสือพรานของพวกเราที่บริเวณเนินอานม้าที่ต้องบาดเจ็บล้มตายอย่างหนักต่อความผิดพลาดของพวกเรากันเองอย่างไม่น่าให้อภัย ปลงต่อชีวิตและเหตุการณ์
คิดอีกทีอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้นในสนามรบ

เหตุการณ์กับพี่น้องกรมเสือพรานทั้ง 2 กรม (กองพัน)ในวันนี้ดับความหวังของพวกเราที่บ้านมาลงหมดสิ้นซึ่งเป็นความหวังเดียวที่เราจะรอดจากนรกที่บ้านนาแห่งนี้ได้

อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเราที่บ้านนาหลังจากนี้ ผมเดาออกและรู้อยู่แล้ว ไม่ยากที่จะเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป แต่ตราบใดที่ผมและลูกน้องเดนตาย 18-19 คนที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็จะขอต่อสู้และดิ้นรนกันต่อไปเพื่อจะเอาชีวิตรอดกลับบ้านเกิดให้ได้

จากนี้มันคงให้เวลาเรา 2-3 วันเพื่อปรับกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ให้พร้อมและจัดการกับพวกเราที่บ้านนาอย่างแน่นอน”

ความผิดพลาดจากการทิ้งระเบิดครั้งนี้ ทำให้กำลังพลของกองพันทหารพราน บีซี-605 เสียชีวิตทันที 16 นาย โดยเฉพาะผู้บังคับกองพัน และ ผู้บังคับกองร้อยที่ 2 นอกจากนั้นยังได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

“ปฏิกิริยาจาก ซีไอเอ.”
ชาลี คเชนทร์ ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้ใน “สงครามลาว ยุทธภูมิล่องแจ้ง” เช่นเดียวกันดังนี้...
“ การทิ้งระเบิดพลาดเป้าหมายได้กลายเป็นข่าวและเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แพร่กระจายไปสู่ทหารฝ่ายเราในทุกพื้นที่ สร้างความหวาดหวั่นสะเทือนขวัญในหมู่กำลังพลทุกหน่วยซึ่งหน่วยเหนือถือว่าเป็นความผิดพลาดอันไม่น่าเกิดขึ้นได้จึงได้สอบถามมูลเหตุจากฝ่ายสกายซีไอเอในฐานะผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศทันที หากไม่ได้ข้อสรุปยืนยันอันชอบด้วยเหตุผลแล้วอาจจะขอระงับการช่วยเหลือทางอากาศในช่วงฤดูฝนไว้ระยะหนึ่ง เพราะเป็นการเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่งที่จะใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีความเร็วเหนือเสียงมาประลองกับความเป็นความตายของทหารในช่วงอากาศแปรปรวน

ในทันที ดั๊ก สแวนสัน หัวหน้าสกายเมืองล่องแจ้งได้เรียกเจ้าหน้าที่อเมริกันผู้เกี่ยวข้องทุกนายพร้อมด้วย โรสลินี วิป สมอลล์แมน และ เปรสเซอร์ (ผู้นำอากาศยานหน้า หรือ FAG : Forward Air Guide เป็นคนไทยทั้ง 4 นาย) เข้าร่วมประชุมอย่างเร่งด่วน ผลการประชุมและบันทึกรายงานจากกองทัพอากาศสหรัฐอุดรธานีได้สรุปถึงความผิดพลาดไว้ว่า

“สมรรถนะและเทคโนโลยีของเครื่องบินรบทุกลำที่นำมาใช้ในสงครามลาวล้วนทันสมัยและมีประสิทธิภาพดีเยี่ยม ได้รับการตรวจสอบตามกระบวนการทุกขั้นตอนทั้งก่อนและหลังการปฏิบัติการ แต่ดินฟ้าอากาศเหนือพื้นที่เป้าหมายในวันนั้น ทัศนวิสัยเลวมาก ท้องฟ้ามืดครึ้มหมอกปกคลุมหนาทึบ แม้ผู้นำการโจมตีทางอากาศได้แจ้งจุดพิกัดถูกต้องและเครื่องบินตรวจการณ์ “เรเว่น” ได้ยิงสัญญาณควันสีได้ตรงเป้าหมาย แต่นักบินไม่สามารถมองเห็นสัญญาณได้ชัดเจนเพราะคลื่นเมฆบดบัง จึงปล่อยจรวด (ที่ถูกคือระเบิด/บัญชร)พลาดเป้าหมายไป
ในเรื่องนี้นักบินถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยพร้อมยอมรับถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โดยยอมให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษตามระเบียบทุกประการ และได้ขออภัยต่อการสูญเสียอันใหญ่หลวงในครั้งนี้”

ฝ่ายสกายได้แจ้งผลสอบสวนต่อ บก.สิงหา ทันทีโดยได้กล่าวคำขอโทษแสดงความเสียใจอย่างที่สุดต่อเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกันนั้นได้เสนอให้การช่วยเหลือจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ครอบครัวผู้พิการและเสียชีวิตทุกนาย
อีกทั้งได้ยืนยันด้วยความเชื่อมั่นว่าความผิดพลาดในกรณีเช่นนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน”




“แหวกวงล้อมนรกบ้านนา (1)

.........หลังจากนี้มันคงจะเร่งวางแผนปรับกำลัง รวมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดเพื่อจัดการกับพวกเราซึ่งในสถานการณ์ขณะนี้ไม่มีอะไรไปต่อกรกับมันได้อีกแล้ว เราถูกปิดล้อมและถูกโดดเดี่ยวโดยสิ้นเชิง......

3 เมษายน พ.ศ.2514 “หัวหน้าใจ” บันทึกสถานการณ์หลังเหตุการณ์ทิ้งระเบิดผิดพลาดในวันนี้...

“ผมไม่อยากคิดอะไรอีกแล้วจากเหตุการณ์ในวันนั้นที่ผ่านมาหลังจากการทิ้งระเบิดผิดพลาดโดนฝ่ายเรากันเองคือพี่น้องเสือพรานที่กำลังจะเข้ามาช่วยพวกเราที่บ้านนาต้องสูญเสียอย่างหนักแทบละลายทั้งกองพันแล้วต้องถอนกำลังออกไปทั้ง 2 กองพัน เพื่อตั้งหลักและปรับแผนฟื้นฟูกำลังกันใหม่ ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฟื้นฟูกำลังหรือส่งหน่วยใหม่เข้ามาที่บ้านนาเพื่อช่วยพวกเรา

คงต้องทำใจกับเรื่องนี้เพราะทุกอย่างสูญสลายไปแล้วจากเหตุการณ์ในวันนั้น สู้มาคิดต่อไปว่า แล้วพวกเราจะทำอย่างไรกันต่อไปในวันนี้
ความหวังที่ใครจะมาช่วยพวกเราคงไม่มีอีกแล้ว ...
BI- 15 จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ...
ผู้พันท่านจะมีแผนอย่างไร คงต้องรอท่านตัดสินใจและหารือกับหน่วยเหนือ...
พวกเราคงมีเวลาไม่มากนักในการตัดสินใจที่จะอยู่ต่อไปหรือถอนตัวออกจากบ้านนา คงต้องเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่ท่านต้องตัดสินใจแล้ว

มันคงจะไม่ปล่อยให้พวกเราอยู่ต่อไปที่บ้านนาแน่ และผมเชื่อว่าการจัดการพวกเราที่บ้านนามันต้องทุ่มกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างเข้าถล่มเราและใช้หน่วยกำลังภาคพื้นดินเข้าโอเวอร์รันทันทีในช่วงเวลากลางคืนทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางอากาศของเราที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายเราอย่างเดียวที่จะช่วยได้
มันคงไม่เสี่ยงเข้าตีเราที่บ้านนาในช่วงเวลากลางวันอย่างแน่นอน

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งของพวกเราที่ต้องสูญเสียอย่างหนักหลังเหตุการณ์วันเสียกองร้อยสุรินทร์ไป

หลังความมืดเข้าปกคลุมพื้นที่บ้านนา ทุกอย่างมีแต่ความเงียบ มันเป็นความเงียบที่ผมรู้สึกได้ว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าในเร็ววันนี้แน่นอน...

หลังจากกำชับเรื่องเวรยามและกินอาหารเย็นอย่างไม่อยากกินและผมกินแต่ผลไม้กระป๋องแล้วก็ลงไปพักในรูดินหลบภัยของผมเงียบๆแบบอ่อนเพลียในจิตใจและร่างกายที่ตรากตรำกรำศึกมาเกือบปีแล้วที่สมรภูมิลาวและที่บ้านนา
ความเงียบที่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆในคืนนั้นทำให้ผมหลับไปและมาตื่นในตอนเช้าของอีกวัน”

4 เมษายน พ.ศ. 2514…วันรุ่งขึ้น
“ทุกอย่างยังคงเป็นปกติไม่มีเหตุการณ์ใดๆทั้งข้าศึกและฝ่ายเรา...
หลังจัดการกับอาหารกระป๋องมื้อเช้า ผมได้รับคำสั่งให้ไปประชุมที่ บก.พัน BI- 15 ในเวลา 10.00 น.
ผมเดาไม่ผิด ผู้พันต้องมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอนและเรียกประชุมพวกเราด่วนในเช้าวันนี้

ใกล้เวลา 10.00 น.ผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการบอกให้พวกเราพักผ่อนตามสบาย ห้ามออกจากแนวอย่างเด็ดขาด จัดเวรยามตรวจการณ์ไปข้างหน้าตลอดเวลา ผมจะไปประชุมพร้อม ผบ.หมู่ 2 คนของผม
ผมพาลูกน้องเดินลัดเลาะไปในแล้วคูจนสุดทางทิศตะวันออกจึงขึ้นจากคูแล้วพวกเราก็วิ่งไปยังบังเกอร์ บก.พัน ทันที ผมพา ผบ.หมู่ ลูกน้องผมเข้าไปในห้องประชุมโดยเร็ว

ห้องประชุมเป็นบังเกอร์ขนาดใหญ่ มีที่นั่งเป็นไม้กลมแบบท่อนซุงวางยาวบนฐานที่เป็นท่อนไม้สั้นๆสูงพอดีให้นั่งกันได้
ห้องประชุม บก.พัน B- 15 ยังดีอยู่ไม่โดนอาวุธหนักและปืนใหญ่ข้าศึกด้านตรงข้ามข้างหน้ามีแผนที่ยุทธการขนาดใหญ่ผมเห็นนายทหารระดับหัวหน้าหน่วยหลายคนมานั่งรอกันแล้ว น่าจะเป็นการประชุมนายทหารทุกคนทุกระดับ ผมเป็นนายทหารระดับเด็กๆและเพื่อนผมก็มาประชุมกันหมดทุกคน
ไอ้ย้ง ไอ้เหมียวและไอ้มิตร มากันครบทุกคน เว้นเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว 2 คนไอ้ปิ้งกับไอ้มอสมันคงสบายไปแล้วทั้งสองคน ผมเห็นนายทหารฝ่ายอำนวยการเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั่งอยู่ซ้ายขวาของโต๊ะประชุมหน้าแผนที่ยุทธการ ในนั้นมีพี่เกริกซึ่งเป็น ผบ.ฐานปืนพันเชอร์นั่งอยู่ด้วย นอกนั้นเป็นนายทหารฝ่ายอำนวยการของกองพัน B-15 ทุกคนมีสีหน้าเคร่งเครียดไม่ค่อยมีคนคุยกัน

ผมนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆดูทุกคนร่างกายหน้าตาทรุดโทรมมากไม่ว่าจะเป็นเหล่าราบหรือเหล่าปืนโทรมเหมือนกันจากเหตุการณ์และการกรำศึกมาเกือบปี ระหว่างรอผู้พันผมก็พูดคุยกันเบาๆ

ผมคุยกับไอ้เหมียวว่า
“เฮ้ย มึงรู้ไหมว่าเขาจะเอากันยังไงต่อไปวะในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้ว”
ไอ้เหมียวบอก “กูก็ไม่รู้ว่ะ กูคุยกับไอ้ย้ง ไอ้มิตรแล้วมันบอกว่าพวกกูก็ไม่มีอะไรจะสู้กับพวกมันแล้ว โดยเฉพาะปืนใหญ่ของกูก็ไม่เหลืออะไรแล้ว 105 ที่เหลืออยู่กระบอกเดียวก็ไม่มีกระสุนจะยิงแล้วเพราะส่งกำลังให้ไม่ได้มานาน”
ไอ้เหมียวบอกเพื่อนย้งเพื่อนมิตร ”กูกับไอ้จักษ์ก็ไม่เหลือเหมือนกัน กูจะขอรวมกำลังกับของมันได้เกือบหมวดปืนเล็ก แล้วพวกเราจะอยู่หรือจะถอนวะ”
ไม่มีใครตอบได้ แต่ฟังเสียงจากพวกเราเป็นส่วนใหญ่แล้วคงจะอยู่ให้มันมาเหยียบกบาลเราไม่ได้แล้ว น่าจะต้องถอน ส่วนกองพันก็เสียหายเยอะเหลือส่วนของ บก.ร้อย BI- 15 ของผู้กองสุรยุทธ์กับหมวดปืนเล็ก 2 ของไอ้เหิรที่ยังดีสมบูรณ์อยู่ ไม่มีอะไรเสียหาย นอกนั้นแย่หมด

คงต้องรอผู้พันท่านจะเอาอย่างไร และคงต้องตัดสินใจกันภายในวันนี้ว่าจะเอายังไงกัน อยู่หรือถอน ถ้าช้าอาจจะไม่ทันการ ถ้ามันทุ่มกำลังเข้าตีเราในคืนนี้หรือคืนพรุ่งนี้เมื่อเราไม่มีอะไรจะสู้กับมัน

ผมไม่อยากนึกภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเราที่บ้านนา คงจะสับสนอลหม่านไปหมดไม่มีใครช่วยใครได้ ตัวใครตัวมัน และคงไม่ต้องบอกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา

ผมเห็นผู้พันเดินเข้ามาในห้องประชุมแล้ว ไม่ต้องบอกสีหน้าท่านเคร่งเครียดมาก ผอมดำจากการกรำศึกเช่นเดียวกันกับพวกเรา ท่านนั่งลงที่โต๊ะของท่านระหว่างกึ่งกลางของนายทหารชั้นผู้ใหญ่สักครู่ท่านจึงพูดว่า
“ที่เรียกกันมาประชุมด่วนในวันนี้คงจะรู้และทราบถึงสถานการณ์กันดีแล้วนะทุกคน จำเป็นต้องหารือพวกเราระดับหัวหน้าหน่วยและนายทหารทุกๆคน และอยากให้ทุกคนออกความเห็นว่าเราจะทนอยู่ต่อไปเพื่อให้หน่วยเหลือส่งกำลังเข้ามาใหม่แล้วช่วยเรา
หรือจะถอนออกจากพื้นที่ในตอนนี้”

มีเสียงอื้ออึงจากพวกเราในที่ประชุมแบบพูดคุยและถกเถียงกัน
ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าต้องถอนตัวออกจากบ้านนาโดยเร็วก่อนที่ข้าศึกจะทุ่มกำลังเข้าโจมตีเราในเร็ววันนี้

นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเหมือนตัวแทนพวกเราที่เป็นนายทหารเด็กๆให้เหตุผลกับผู้พันว่าคงต้องถอน ถ้าอยู่จะต้องเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่มากกว่านี้แน่ และไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ที่จะมีกำลังหน่วยใหม่มาช่วยเราอีกหรือไม่ยังไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากนั้นการส่งกำลังหรือเสริมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่สามารถทำได้เลยในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเราก็ทนกันมามากพอสมควรแล้วและถึงที่สุด เนื่องจากแผนการช่วยเหลือของพวกเราล้มเหลวไปแล้วจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ...
น่าจะเป็นมติส่วนรวมของพวกเราแล้ว

ท่านคงประมาณถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่มีผู้ออกความเห็นว่าควรถอนตัวออกจากบ้านนาซึ่งเป็นความเห็นส่วนใหญ่และแม้ว่าพวกเราจะรู้สึกถึงความเป็นผู้นำหน่วยของท่านที่ต้องรับผิดชอบพวกเราทุกคนที่บ้านนา รวมทั้งเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นทหารไทยด้วย
แต่ด้วยเหตุผลของส่วนรวมทำให้ท่านต้องยอมตามมติของพวกเรา

ท่านนิ่งสักครู่แล้วพูดขึ้นว่า
“เอาล่ะ เมื่อทุกคนส่วนใหญ่เห็นว่าเราควรต้องถอนตัวออกจากบ้านนา ผมก็จะถอนและจะขออนุมัติกับหน่วยเหลือทันทีในวันนี้...
และในสถานการณ์ขณะนี้ พวกเราถูกข้าศึกล้อมไว้เกือบทุกด้านแล้ว พวกเราจะแหวกวงล้อมข้าศึกไปทางไหนอย่างไร” เป็นคำถามที่ท่านถามพวกเรา ไม่ว่าจะออกทางไหนล้วนมีความเสี่ยงที่จะต้องปะทะกับข้าศึกแทบทุกทาง
และอีกคำถามหนึ่งของผู้พัน
“แล้วใครจะเป็นหน่วยนำ”
เมื่อผู้พันพูดคำถามนี้ออกมา ทุกคนในที่ประชุมเงียบกันหมดยังไม่มีใครให้คำตอบ.

"หน่วยนำ"นอกจากจะเป็นปัจจัยสำคัญสูงสุดแห่งความสำเร็จในการนำทางให้แก่กำลังเกือบ 1,000 คนในวงล้อมข้าศึกนี้ไปยังที่หมายที่ปลอดภัยแล้ว
การถอนตัวท่ามกลางวงล้อมที่เหนียวแน่นของข้าศึก "หน่วยนำ"ซึ่งจะต้องเคลื่อนที่นำทางอยู่หน้าสุดย่อมมีความเสี่ยงสูงสุดจากข้าศึกที่วางกำลังล้อมอยู่
จึงเป็นภารกิจที่ทั้งสำคัญและเสี่ยงอันตรายสูงสุด..

เป็นผู้กล้าท่านใดจะอาสา ?



“แหวกวงล้อมนรกบ้านนา (2)

.....หัวหน้าใจ : “ผมขอนำถอนตัวออกจากบ้านนาในคืนนี้เริ่มเวลาสองทุ่มตรง เพื่อไปรวมกับ BI-14 ที่ภูล่องมาด”....

ผู้บังคับกองพัน BI-15 ถามหาผู้อาสาทำหน้าที่ “หน่วยนำ”การถอนตัว ซึ่งเป็นภารกิจที่ล่อแหลมต่ออันตรายอย่างยิ่ง และเป็นปัจจัยสูงสุดของความสำเร็จในการถอนตัวครั้งนี้ แต่ไม่มีผู้ใดอาสาสมัคร...
หัวหน้าใจบันทึกเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

“ ใจผมรู้สึกหงุดหงิด นึกในใจว่า กูกับลูกน้องที่เหลือไม่ถึง 20 คนนี่แหละวะขอเป็นหน่วยนำก็ได้โว้ย เพราะอยากจะไปให้พ้นจากนรกที่นี้เต็มทีแล้ว...ใจคิด
เมื่อไม่มีใครเป็นหน่วยนำ กูกับลูกน้องนี่ละวะขอพาออกจากนรกนี้เอง อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เพราะถึงเวลาต้องเสี่ยงดวงกันแล้ว ดีกว่าอยู่รอวันตายให้มันมาเหยียบกบาลพวกเราแบบไม่มีทางสู้

ในที่ประชุมยังเงียบ ผมตัดสินใจลุกขึ้นจากที่นั่งทันทีพร้อมยกมือขึ้นแล้วพูดกับผู้พันว่า
“ผมครับ ผมหัวหน้าใจ ขอเป็นหน่วยนำในการถอนตัวออกจากบ้านมาครับ”
ผู้พันท่านจำผมได้มองมาที่ผมแบบไม่สงสัยว่าเป็นใครมาอาสา เพราะท่านคุ้นหน้าผมอย่างดีแล้ว
ท่านพูดว่า “แน่ใจนะหัวหน้าใจที่จะที่จะเป็นหน่วยนำ” ผมตอบด้วยเสียงดังชัดเจนว่า “แน่ใจครับ” ท่านคงรู้สึกถึงความจริงใจในการอาสาของผม เพราะท่านใช้ผมไปเสี่ยงตายมาหลายครั้งแล้ว และคงไม่สงสัยในความจริงของผมอย่างแน่นอน

ในที่สุดท่านก็พูดออกมาในที่ประชุมว่า
“เอาละ...ถอนก็ถอน เมื่อส่วนใหญ่ต้องการ โดยให้หน่วยของหัวหน้าใจเป็นหน่วยนำ ผมจะขออนุมัติถอนตัวกับหน่วยเหนือในวันนี้ พวกเราน่าจะมีเวลาเตรียมการกัน และการถอนตัวนั้นมีอันตรายและมีโอกาสมากที่จะต้องปะทะกับข้าศึกที่ปิดล้อมเราอยู่ ก็จะขอถามถึงแผนการถอนตัวกันเลยกับพวกเราว่าจะทำอย่างไร มีแผนอย่างไรที่จะทำให้การถอนตัวปลอดภัยที่สุด …
และขอถามหัวหน้าใจก่อนว่ามีแผนอย่างไรในฐานะที่ขอเป็นหน่วยนำ”

ผมมีแผนอยู่ในใจที่ต้องการให้พ้นจากนรกนี้อยู่ก่อนแล้วจากการประมาณสถานการณ์หากถูกข้าศึกเข้าตีแบบทุ่มกำลังหรือโอเวอร์รันเราตามที่เคยชี้แจงกับลูกน้องผมแล้วเพื่อให้มีชีวิตรอดกลับไป เพียงแต่ครั้งนี้เป็นการถอนกำลังทั้งหมดออกจากบ้านนาอย่างเป็นระบบและมีคนจำนวนมาก

ผมรีบชี้แจงกับผู้พันทันทีด้วยแผนง่ายๆตามที่ผมคิดไว้และผมชี้แจงต่อ
“ขออนุญาตครับ ผมขอนำถอนตัวออกจากบ้านนาในคืนนี้เริ่มเวลาสองทุ่มตรง เพื่อไปรวมกับ BI-14 ที่ภูล่องมาด ผมกำหนดจุดรวมพลไว้ตรงบริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับฐานกองพันและ บก.ร้อย BI-15 ผมจะนำลงจุดนั้นซึ่งเป็นหุบที่ลึกที่สุด และนำลงหุบไปให้เร็วที่สุดเพื่อจะไต่สันเขาไปยังฝั่งตรงข้ามและมุ่งสู่สันเขาสูงซึ่งเป็นสันเขาที่ทอดยาวสู่ภูล่องมาดที่ห่างจากเราไปประมาณ 10 กม. ทางด้านทิศเหนือครับ”
ผมชี้แจงแผนคร่าวๆให้ที่ประชุมฟังแล้วไม่มีใครคัดค้านแผนผมในเส้นทางและทิศทางถอนตัวที่ผมกำหนด

“อย่าลืมนะครับ สองทุ่มตรงผมจะลงทันที ไม่มีการรั้งรอใดๆ เรื่องธุรการอื่นๆเป็นเรื่องของท่าน
และขออนุญาตครับ ผมขอกำลังของกองร้อยสุรินทร์ที่เหลือรวมกำลังสมทบกับผมโดยเพื่อนผมร้อยตรี พนา ควบคุมรวมกันเป็นกำลังประมาณ 1 หมวดปืนเล็กหย่อนกำลัง เพื่อให้หน่วยนำมีกำลังพอในการดำเนินกลยุทธ์หากปะทะข้าศึกหรือถูกข้าศึกขัดขวางการถอนตัวของฝ่ายเรา”

ผู้พันนั่งนิ่งไม่พูดอะไรแสดงว่าท่านเห็นด้วยและอนุมัติ ผมเลยพูดต่อในแผนถอนตัวว่า
“ขออนุญาตประสานกับปืนใหญ่พันเชอร์ว่า เมื่อเริ่มมืดหรือใกล้เวลาถอนตัวขอให้ยิง ป. 105 ที่เหลือกระบอกเดียวไปยังบริเวณเนินอานม้าทางทิศตะวันตกเฉียงใต้หลายๆนัดก่อนทำลายทิ้งเพื่อลวงหรือเบนความสนใจของข้าศึกว่าเราจะมีการปฏิบัติในทิศทางนั้น” เพื่อนผมได้ยิน ไม่พูด ไม่คัดค้านใดๆ ผมก็รู้ว่ามันต้องช่วยผมตามที่บอกแผนกับมันแน่ๆ ยังไงมันต้องทำลายปืนที่เหลืออยู่กระบอกเดียวของมันอยู่แล้ว
ก่อนทำลายทิ้งให้มันยิงสั่งลาให้กระสุนหมดไปเลย

ผมจะเลิกอธิบายแผนแต่มานึกได้ว่าที่ บก.พัน B-15 มีแม้วอยู่ 4 คนอยู่ที่ บก.พัน.เลยคิดว่าถ้ามีแม้วมานำทางก็จะดี ในฐานะเจ้าของพื้นที่น่าจะช่วยพวกเราได้ไม่มากก็น้อยก็เลยขอพูดกับผู้พัน “ขออนุญาตครับ ผมขอแม้ว 4 คนที่อยู่กับกองพันมาช่วยนำทางได้ไหมครับ”
ผู้พันนิ่งไปสักพักท่านก็ตอบว่า
“คงไม่ได้ จะให้แม้ว 4 คนอยู่กับกองพันเป็นผู้ติดต่อและประสานงาน”

ผมทึ่งไปในคำปฏิเสธของผู้พัน แต่ก็คิดได้ว่า ไม่เป็นไรวะ ไม่ให้ก็ไม่เอา ผมมีทั้งแผนที่และเข็มทิศไม่กลัวที่จะหลงอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งแม้วก็ได้วะ ไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือเป็นปัญหาสำหรับผม “และผมขออนุญาตอีกเรื่อง คือขอให้พวกเราอย่าแสดงออกใดๆที่จะทำให้ข้าศึกรู้ว่าเรากำลังจะถอนตัว ผมขอให้ช่วยกันระวังเรื่องนี้ด้วยในระหว่างเตรียมการ
ตรงข้ามควรจะแสดงออกว่าเราจะยึดที่นี่อยู่ต่อไป เช่นแสดงว่าเรามีการเสริมความแข็งแรงของที่มั่นตั้งรับก็จะเป็นการดีครับ”
ผู้พันท่านนิ่งอยู่ครู่หนึ่งแล้วท่านก็พูดว่า
“มีใครคัดค้านและมีความเห็นเป็นอย่างอื่นหรือไม่”

สักครู่เมื่อไม่มีใครพูดอะไร ท่านก็บอกพวกเราว่า
“ถอนตัว เอาตามแผนนี้”
และท่านก็เสริมว่า
“รูปขบวนให้หมวดของหัวหน้าใจและกำลังของกองร้อยสุรินทร์เป็นหมวดนำ ตามด้วยกำลังของส่วนกองพันแล้วก็ปืนใหญ่พันเชอร์ปิดท้าย และปิดท้ายขบวนการถอนตัวด้วยกำลังของกองร้อยที่ 1 BI-15 รับหน้าที่เป็นกองระวังหลังป้องกันด้านหลังขบวน
ให้ทุกหน่วยจัดรูปขบวนของตัวเองให้รัดกุมโดยมีผู้บังคับบัญชารับผิดชอบควบคุมอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การถอนตัวเป็นระเบียบตามรูปขบวนที่กำหนด
ส่วนนำหน้าและส่วนระวังป้องกันหลังต้องจัดหน่วยเพื่อเตรียมดำเนินกลยุทธ์ ถ้าหากปะทะหรือถูกข้าศึกขัดขวางและไล่ติดตามโจมตี ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยนำและหน่วยป้องกันด้านหลังขบวนเข้าดำเนินกลยุทธ์
ในส่วนกลางขบวนขอให้ระวังป้องกันตัวเองและอยู่ในความสงบ ห้ามตกใจแตกตื่นเด็ดขาดเมื่อมีการปะทะกับข้าศึก ไม่ว่าด้านหน้าหรือด้านหลังของขบวน ถ้าถูกโจมตีด้วยอาวุธหนักก็เช่นเดียวกัน อย่าแตกตื่น เข้าหาที่กำบังของตัวเองให้ปลอดภัยและพยายามเคลื่อนที่ต่อไป สังเกตการณ์และป้องกันตนเอง

ข้อสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคืออย่าแตกตื่นอย่าทำให้เสียรูปขบวน ขอให้ผู้บังคับบัญชาแต่ละหน่วยควบคุมคนของตัวเองให้ดี”
และท่านก็เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า
“นี่คือคำสั่งการถอนตัวในคืนนี้ ขอให้ปฏิบัติตามนี้อย่างเคร่งครัด จะไม่มีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรอีก สำหรับสัญญาณบอกฝ่ายจะให้ ฝอ. 2 (ฝ่ายการข่าว) กำหนดและแจ้งโดยนำสารไปให้ทุกหน่วยทราบก่อนการถอนตัวคืนนี้”
และท่านย้ำเสียงหนักแน่นว่า
“เราจะมุ่งสู่ภูล่องมาดตามแผน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะไม่มีการถอยอย่างเด็ดขาดจำไว้ และอย่าลืม อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นไม่ต้องนำติดตัวไป ให้ทำลายทิ้งให้หมด เอาแต่อาวุธประจำกาย กระสุนและอาหารเท่าที่จำเป็นเท่านั้นพอ เพื่อความคล่องตัวในการถอนตัว การเตรียมการทำให้รอบคอบและปิดลับด้วยในการทำลายยุทโธปกรณ์ทิ้ง
พบกันที่จุดนัดหมายคืนนี้สองทุ่มตรง และขอให้ทุกคนโชคดี”

พวกเราได้ยินคำสั่งชัดเจนจากผู้พัน ท่านไม่พูดอะไรอีก เมื่อท่านลงจากแท่นยกพื้นเพื่อไปพูดคุยกับนายทหารและฝ่ายอำนวยการของท่าน แน่นอนคงไม่มีการเปลี่ยนใจหรือเปลี่ยนแผนอีกอย่างแน่นอน

จากคำสั่งของผู้พัน BI- 15 ในการถอนกำลังออกจากบ้านนา ในช่วงเวลาของความเป็นความตายและมีเวลาจำกัด ทุกอย่างต้องทำอย่างรวดเร็วและลังเลไม่ได้ จะตัดสินใจผิดหรือถูกก็ต้องวัดดวงกัน อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าไม่มีใครรู้ได้ ผมคิด..
แต่ยังไงคืนนี้ผมต้องออกจากนรกนี้ให้ได้”

ตำรายุทธวิธีในโรงเรียนทหารของกองทัพบกทุกระดับ กำหนดแนวทางปฏิบัติไว้สำหรับการถอนตัว โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ “การถอนตัวโดยไม่มีการกดดันจากข้าศึก” และ “การถอนตัวโดยมีการกดดันจากข้าศึก”
กรณีของกองพัน BI-15 ครั้งนี้เป็นประการหลัง “การถอนตัวโดยมีการกดดันจากข้าศึก”
ความรู้จากตำรากำลังถูกทดสอบด้วยปฏิบัติการจริง-เจ็บจริง ตายจริง...

ผู้ออกข้อสอบ:ทหารเวียดนามเหนือ
ผู้เข้าสอบ : ทหารไทย
สอบได้-รอด...สอบตก-ตาย.




“The Great Escape”

.......มึงกับกูต้องร่วมวัดดวงกันอีกครั้งนะเว้ยที่ต้องเป็นหน่วยนำในการถอนตัวครั้งนี้ กูบอกมึงก่อนนะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าในคืนนี้ กูลุยลูกเดียว…..

ภารกิจของ “หัวหน้าใจ” นายทหารระดับผู้บังคับหมวดที่มีกำลังเหลืออยู่เพียงไม่ถึง 20 คน มิได้เพียงแต่นำลูกน้องในบังคับบัญชาทุกคนแหวกวงล้อมของข้าศึกให้สำเร็จเพื่อจะได้กลับบ้านเท่านั้น แต่ในฐานะ “หน่วยนำ” เขายังตัองรับผิดชอบต่อความอยู่รอดของกำลังทั้งกองพันกับกองร้อยทหารปืนใหญ่รวมแล้วเกือบ 1,000 ชีวิต...

“ ก่อนแยกย้ายกันกลับหน่วยใครหน่วยมันเพื่อไปเตรียมการในการถอนตัวคืนนี้ ผม ไอ้เหมียว ไอ้ย้งและไอ้มิตร ถือโอกาสพูดคุยประสานงานกันก่อนแยกย้ายไป ผมบอกกับไอ้เหมียวว่า

“เฮ้ย ไอ้เหมียว มึงกับกูต้องร่วมวัดดวงกันอีกครั้งนะเว้ยที่ต้องเป็นหน่วยนำในการถอนตัวครั้งนี้ กูบอกมึงก่อนนะ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้าในคืนนี้ กูลุยลูกเดียวโว้ย”
ไอ้เหมียวบอก
“เฮ้ย ไอ้จักษ์ มึงไม่ต้องห่วงโว้ย กูกับลูกน้องที่เหลือช่วยมึงเต็มที่อยู่แล้ว จะช่วยมึงลุยแน่นอน ถึงไหนถึงกันโว้ย ไม่มีถอย”

ผมกับไอ้เหมียวหันมามองไอ้ย้งกับไอ้มิตรเพื่อนปืนใหญ่ที่ยังยังเหลืออยู่ 2 คนแล้วถามมันว่า
“แล้วมึงสองคนจะว่ายังไง”
ไอ้ย้งบอก “กูสองคนไม่ว่ายังไงหรอก ขอให้มึงสองคนนำพวกกูไปให้ถึงภูล่องมาดก็แล้วกันโว้ย ขอแค่นั้น”
ผมกับไอ้เหมียวหัวเราะ เพราะตอนนี้รู้แล้วว่าทั้งไอ้ย้งและไอ้มิตรเหลือแต่ตัวกันทั้งคู่แล้วเมื่อต้องทิ้งปืนใหญ่ของมันเอาไว้ที่บ้านนาและทำลายทิ้งหมด
ผมก็เลยสัพยอกเพื่อนว่า
“ก็มึงไม่มีอะไรเหลืออีกแล้ว มีแต่ปืนใหญ่ของมึงคนละกระบอกติดตัวไปเท่านั้น ฮ่าๆๆ” ผมกับไอ้เหมียวหัวเราะแกล้งยั่วเพื่อนย้งกับเพื่อนมิตรเพื่อให้คลายเครียดในยามคับขัน

แต่ดูมันสองคนจะไม่ค่อยขำเท่าไหร่ ผมก็บอกเพื่อนว่า
“ไม่ต้องห่วง กูกับไอ้เหมียวจะพามึงสองคนไปให้ถึงภูล่องมาดให้ได้ มึงตามกูสองคนให้ดีก็แล้วกัน ระวังตัวและโชคดีนะโว้ยเพื่อน
แล้วมึงอย่าลืมนะโว้ย คืนนี้ก่อนสองทุ่ม ล้างลำกล้องปืนของมึงตามแผนที่กูบอกด้วย”
ไอ้ย้งบอก “กูไม่ลืมแน่นอน”
แล้วพวกเราก็แยกย้ายกันไปหน่วยใครหน่วยมันเพื่อเตรียมการถอนตัวในคืนนั้น

สถานการณ์ในช่วงบ่ายหลังที่พวกเราเลิกประชุมแล้ว ทุกอย่างที่บ้านนายังเงียบสงบ ไม่มีการปฏิบัติใดๆทั้งของฝ่ายเราและข้าศึก ทุกอย่างเงียบสงบ

ผมจำวันไม่ได้แต่น่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. (4 เม.ย.2514/บัญชร) แล้วที่เราต้องถอนตัวออกจากสมรภูมิบ้านนา ผมกับลูกน้องผู้บังคับหมู่ 2 คนรีบออกจากบังเกอร์กองพันวิ่งไปจนถึงจุดที่ลงคูเรดแล้วก็รีบลงไปเพื่อเดินไปตามแนวคูเรดให้ถึงหมวดของผมให้เร็วที่สุดเพื่อประชุมชี้แจงแผนในการถอนตัวในคืนนี้เนื่องจากว่ามีเวลาในการเตรียมการน้อย ในจิตใจนึกถึงแต่แผนการในคืนนี้ว่าจะต้องทำอย่างไรเมื่อปะทะหรือถูกข้าศึกขัดขวาง จนมาถึงหมวดของผมจึงเรียกจ่าบุญมาบอกให้รวมทุกคนมาฟังคำชี้แจงจากผมด่วนทันที ผมเหลือลูกน้องไม่ถึง 20 คน

ชั่วครู่ทุกคนก็มารวมกันครบ 18 คน ผมรีบชี้แจงแผนการถอนตัวออกจากบ้านนาในคืนนี้ทันทีโดยไม่รั้งรอ เมื่อลูกน้องผมทราบว่าพวกเรา 18-19 คนโดยผมอาสาเป็นหน่วยนำในการถอนตัวคงนึกกันในใจ เอาอีกแล้ว...ผู้หมวดกู ซึ่งผมรู้ใจลูกน้องทุกคนจึงรีบบอกว่า ที่อาสาเป็นหน่วยนำเพราะไม่มีใครอาสา ถ้าเราไม่อาสาก็จะไม่ได้ออกไปจากนรกแห่งนี้ ต้องนอนรอให้มันมาเหยียบหัวเราที่นี่ต่อไป จะเอาแบบนั้นไหมและไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเป็นอย่างนั้น
แล้วถามว่าหรือทุกคนอยากจะอยู่ต่อไปไม่ต้องการไปให้พ้นนรกแห่งนี้

ทุกคนเงียบและเข้าใจ ผมบอกถึงเวลาเสี่ยงก็ต้องเสี่ยงเพราะยังมองเห็นทางรอดดีกว่ารอความตายอยู่อย่างนี้โดยไม่มีใครมาช่วยเราอีกแล้ว

ผมคิดว่าทุกคนเข้าใจเรื่องที่ผมอาสาและคิดว่าการวัดดวงครั้งนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายแล้วและคิดว่าทุกคนคงทำใจได้ ผมเลยบอกอีกว่าเราจะมีกำลังของกองร้อยสุรินทร์มาสมทบอีกประมาณ 30 กว่าคนรวมแล้วเป็น 1 หมวดจะเป็นหน่วยนำในการถอนตัวครั้งนี้

ถัดจากเรากับสุรินทร์จะเป็นส่วนของ บก.พันและปืนใหญ่พันเชอร์และปิดท้ายขบวนด้วยหน่วยของ บก.ร้อย 1 BI- 15 และหมวด 2 ปิดท้ายเพื่อระวังป้องกันหลังขบวนให้เรา

เราจะถอนตัวจากบ้านนาไปรวมกำลังกับ BI-14 ที่ภูล่องมาด จะเริ่มถอนตัวเวลา 2 ทุ่มตรง จุดรวมพลอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านนาใกล้กับฐานของกองพันและฐาน บก.ร้อย 1 BI- 15

เราจะถอนตัวลงหุบลึกตรงบริเวณนี้ หลังจากนี้ให้ทุกคนไปเตรียมการของตัวเองในการถอนตัว ให้นำเสบียงติดตัวไป 2-3 วัน อาวุธประจำกายและกระสุน 3-4 เบสิคโหลด สิ่งของที่ไม่จำเป็นให้ทิ้งให้หมดโดยการทำลายทิ้ง แยกส่วนฝังดิน โดยเฉพาะอาวุธและยุทโธปกรณ์ อย่าให้ข้าศึกนำไปใช้ได้อีก ของสะสมสมบัติต่างๆต้องสละทิ้งให้หมดเพื่อให้มีความคล่องตัวมากที่สุด เพราะเราเป็นหน่วยนำและเพื่อเอาชีวิตรอดไปให้ถึงภูล่องมาดให้เร็วที่สุด
ปืนกลเอ็ม 60 ไม่ต้องเอาไปทำลายโดยการแยกชิ้นส่วนหรือฝังดิน เอ็ม 79 ทั้งติดและไม่ติดกับเอ็ม 16 ให้รวบรวมเอาไปให้มากที่สุด รวมทั้งกระสุนด้วยเพื่อใช้เป็นกำลังยิงหลักเพื่อทำลายข้าศึกเมื่อถูกขัดขวางหรือปะทะซึ่งผู้หมวดจะสั่งการในภายหลัง ขอให้ฟังคำสั่งและปฏิบัติโดยเร็วและจะมีกำลังของกองร้อยสุรินทร์เป็นกองหนุน

หากปะทะจะร่วมกันเข้าดำเนินกลยุทธ์และกวาดล้างข้าศึกทันที เราจะมุ่งไปสู่ภูล่องมาดโดยไม่มีการถอยหลังอย่างเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนจงจำไว้

ผมย้ำกับลูกน้องเดนตายของผมเพื่อให้ทุกคนเข้าใจแผนและเกิดกำลังใจมุ่งมั่นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการถอนตัวและบอกว่าถ้าเราถึงภูล่องมาดได้ พวกเราจะรอดกลับบ้านได้ทุกคนขอรับรอง

สำหรับสัญญาณบอกฝ่ายจะแจ้งให้ทราบภายหลัง ผมย้ำต่อไป…
เรื่องสำคัญ...ต่อไปนี้จนถึงเวลาถอนตัวให้ทุกคนปฏิบัติตามปกติอย่าแสดงออกใดๆให้ข้าศึกรู้ว่าเราจะถอนตัวเป็นเรื่องสำคัญมาก ขอให้ทุกคนไปเตรียมการของตัวเองให้พร้อม ขอให้ยึดตรึงทุกอย่างให้แน่นอย่าให้เกิดเสียงดัง เวลาเคลื่อนที่ต้องเร็วแต่เงียบที่สุด จำไว้มีเวลาว่างก่อนมืดให้แสดงถึงการเสริมแนวป้องกันทั้งขุดดินและเสริมกระสอบทรายตลอดแนวให้จ่าบุญควบคุมในเรื่องนี้

เราต้องแสดงลวงว่าเราจะยึดอยู่ที่นี่ต่อไป อย่าลืมว่าเราอยู่ในสายตาของข้าศึกตลอดเวลาเพราะมันล้อมพวกเราอยู่ทุกสันเขา โดยเฉพาะด้านทิศใต้และทิศตะวันตก มันเห็นการปฏิบัติการของเราได้ตลอดเวลา ผมย้ำ และขอให้ทุกคนไปเตรียมการได้หลังจากนี้
มีใครมีปัญหาหรือสงสัยอะไรไหม ?

ผมสังเกตดูสีหน้าลูกน้องทุกคนมีกำลังใจ มีความหวังและมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานครั้งนี้ให้สำเร็จแม้จะต้องเสี่ยงอีกครั้งก็ตาม ไม่มีใครสงสัยหรือมีปัญหาใดๆเมื่อผมสั่งการเสร็จ

ผมรู้ใจของลูกน้องผมดีว่าทุกคนก็ไม่อยากอยู่ในนรกแห่งนี้อีกต่อไปแล้ว...
ไปให้พ้นได้ก็ดี.”





“ตามข้าพเจ้ามา”

........ผมไม่กังวลและลังเลอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น……


“ หลังจากสั่งการเรื่องถอนตัวและการปฏิบัติในคืนนี้แล้วกับลูกน้องผมเพื่อให้ไปเตรียมการ ผมก็กลับมาที่หน้าบังเกอร์และรูหลบภัยของผม
ใจผมคิดถึงเรื่องแผนการถอนตัวคืนนี้จนลืมกินอาหารกลางวัน พอดีทหารเอาเสบียงที่จะติดตัวมาให้ บอกจ่าบุญให้เอามาให้ผู้หมวดเป็นเสบียงในการถอนตัว ผมเลยกินแค่ผลไม้กระป๋องมื้อนี้ที่ทหารเอามาให้จนเรียบร้อยแบบรวดเร็วจึงเอาเป้ของผมมาเพื่อบรรจุสิ่งของที่จะติดตัวไปในการถอนตัวคืนนี้

ผมมีเป้ส่วนตัวที่ได้ตอนไปรบเวียดนาม เป็นเป้แบบโครงเหล็กผ้าไนลอนอย่างดี ขึ้นหลังแล้วแบกสบายไม่ถ่วงหลัง ไม่ทำให้ปวดหลังแบบเป้ที่แจกให้ ทุกคนมีเป้ขึ้นหลังคนละใบเท่านั้นของใครของมัน ผมคิดถึงความเบาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากกว่าอย่างอื่น ในเป้ผมมีแต่เสบียงอาหาร 2 วันซึ่งเป็นเนื้อกระป๋องและผลไม้กระป๋องเท่านั้น

ของส่วนตัวก็มีเพียงผ้าห่มปันโจที่เบาและบางมากที่ได้มาตอนไปรบเวียดนามและแจ็คเก็ตฟิลด์ 1 ตัวซึ่งหนักพอสมควร แต่จำเป็นต้องนำไปเพื่อกันความหนาวในเวลานั่งพักหรือนอนพัก ถ้าไม่มีแจ็กเกตฟิลด์จะนอนไม่หลับเวลาพักผ่อน นอกนั้นก็เป็นกระสุน เอ็ม 16 สามเบสิคโหลด ผมเอาปืนอาก้าพับฐานที่ยึดได้จากแซปเปอร์ไปด้วยเพราะเสียดายถ้าทิ้งไว้ มันสวยกะทัดรัดดี เลยยอมหนัก กระสุนมีเพียง 3 ซองเท่านั้นที่บรรจุใส่ซองผ้าใบแบบสะพาย ผมใช้มันแทนเอ็ม 16 ส่วนเอ็ม 16 ก็สะพายไปเป็นปืนสำรอง

นอกนั้นก็เป็นเครื่องสนามที่ประกอบกับสายเก่ง เช่น ไฟฉายสนาม มีดพก พลุสัญญาณ กระติกน้ำคนละกระติก สมบัติที่มีไว้ติดตัวคงมีเท่านั้น นอกนั้นเป็นของสะสมที่เก็บไว้ที่เก็บมาได้จากสนามรบคงต้องสละทิ้งหมดทุกอย่างเพื่อความคล่องตัว เอาชีวิตให้รอดมีความสำคัญกว่าทุกสิ่ง

ผมมีปืนพก 11 มม.ในซองหนังติดไปด้วย เพราะเป็นปืนที่แจกให้ แต่ทุกอย่างจำหน่ายได้หมดก็เลยไม่ทิ้งไว้ กะว่าถ้ารอดตายคงไม่คืนไอ้กันมัน ขอไว้ใช้เป็นที่ระลึกสักกระบอกเถอะวะ ไหนๆก็มารบในลาวแทนเอ็ง คงไม่ว่ากันนะ
ขอไปใช้รบต่อเพื่อบ้านเพื่อเมืองของข้าบ้าง

หลังจากเตรียมการทุกอย่างพร้อม พอมีเวลา ผมจึงเอาแผนที่มาศึกษาเส้นทางถอนตัวเพื่อจะได้รู้ว่าในคืนนี้เราจะเดินด้วยมุมประมาณเท่าไหร่ เมื่อลงลึกไปแล้วระยะทางประมาณเท่าไหร่จึงจะข้ามลำธารและไต่ขึ้นจากหุบเขา จากนั้นจะเดินไปตามสันเขาสูงชันไปเรื่อยๆจนกว่าจะถึงภูล่องมาดด้วยมุมและระยะทางโดยประมาณ โดยศึกษาจากแผนที่และเส้นชั้นความสูงเพื่อนึกภาพให้ออกและจำให้ได้

แต่ว่าผมต้องพาพวกเราลงไปในหุบลึกมากและต้องไต่ขึ้นสูงมาก ต้องผ่านเนิน 2-3 ชั้น จนกว่าจะถึงสันเขาที่สูงที่สุดที่มุ่งไปสู่ภูล่องมาด โดยเกาะสันเขาไปด้วยมุมประมาณทิศตะวันออกอย่างเดียวและจะต้องไต่สูงขึ้นไปเรื่อยๆไม่มีการลงจนกว่าจะถึงภูล่องมาดน่าจะประมาณเกือบ 10 กมในแผนที่ คิดว่าคืนนี้เราคงต้องเดินทางทั้งคืนไม่มีการหยุดเพื่อให้ไปจากบ้านนาให้ไกลที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดการคับคั่งและให้กำลังที่ปิดท้ายขบวนอยู่ห่างจากบ้านนาให้มากที่สุดก่อนสว่าง
และก่อนที่ข้าศึกจะรู้ว่าเราถอนตัวไปแล้วและใช้กำลังไล่ติดตามเรา

แต่ในการเคลื่อนที่ในเวลากลางคืนในสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบ หุบลึกและภูเขาสูงชันเป็นไปได้ช้ามาก จากประสบการณ์ เราไม่ควรหยุดในช่วงเคลื่อนย้ายในคืนแรกซึ่งเป็นขบวนแถวตอนเรียงหนึ่งตามกันไป ขบวนคงจะยาวมากเป็นกิโลเมตรกว่าคนสุดท้ายจะลงหุบคงใช้เวลาหลายชั่วโมงแน่นอน

นอกจากนั้นเมื่อข้ามหุบลึกไปยังสันเขาฝั่งตรงข้ามแล้ว ผมคาดว่าเราอาจจะต้องใช้เวลาไม่เกิน 2 วันในการไปถึงภูล่องมาดถ้าไม่มีอุปสรรคใดๆเช่นการปะทะกับข้าศึกระหว่างการเคลื่อนย้าย ถ้ามีการปะทะก็อาจจะใช้เวลามากกว่านั้น อย่างไรก็ตามเราจะมุ่งสู่ภูล่องมาดตามแผนให้เร็วที่สุดไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

ผมมุ่งมั่นและคิดถึงแผนอยู่ในใจตลอดเวลาที่ยังเหลือก่อนที่ถึงเวลาจะถอนตัว ขณะนี้เวลาบ่ายใกล้ 5 โมงเย็นแล้ว แสงอาทิตย์เริ่มทอแสงอ่อนลง ทุกอย่างที่สมรภูมิบ้านนายังคงเงียบ มันเป็นความเงียบที่น่ากลัว ผมรู้ว่ามันเงียบ แต่มันกำลังทำอะไร เตรียมอะไรกัน ผมรู้ด้วยสัญชาต
ญาณและประสบการณ์ที่ผ่านเหตุการณ์มามากพอสมควรกับพฤติกรรมของข้าศึกและพวกเราทุกคนก็เงียบไม่แสดงอะไรให้มันรู้ มีทหารหลายคนที่เตรียมการเสร็จแล้วเอาพลั่วมาขุดดินขึ้นไปบนแนวคูเรด มีบางคนถมกระสอบเรียงกระสอบ บางคนก็นั่งพักรอเวลาและตรวจสอบอุปกรณ์ที่จะติดตัวไป

ผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการเพราะเห็นแกกำลังดูทหารขุดดินจากกระสอบทรายอยู่กับทหาร ผมบอกให้แกนำกำลังมารอในแนวคูเมื่อหมดแสงสว่างและเริ่มมืด ขอให้ทำความสะอาดอาวุธประจำกายให้สะอาดและพร้อมใช้งานจัด ผบ.หมู่ ควบคุมแต่ละหมู่ ผมเหลือกำลังอยู่แค่ 2 หมู่ไม่เต็ม ไม่ยากเย็นอะไรในการควบคุมกำกับดูแลลูกน้อง

ผมจัดการกับอาหารมื้อเย็นทั้งเนื้อกระป๋องและผลไม้กระป๋องเต็มที่เพื่อให้มีกำลังพร้อมเดินทั้งคืนในคืนนี้และคงเป็นมื้อสุดท้ายก่อนที่เราจะออกจากที่นี่นรกแห่งนี้ไปให้เร็วที่สุด

ผมไม่กังวลและลังเลอะไรอีกแล้ว ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

เมื่อเริ่มหมดแสงประมาณเกือบ 1 ทุ่ม ผมชี้แจงทหารอีกครั้งว่า
“คิดว่าทุกคนพร้อมแล้วใช่ไหมที่จะไปจากที่นี่” มีทหารคนหนึ่งตอบว่าพร้อมครับ ผมสั่งการเรื่องหมู่นำ ใครจะนำก่อนแล้วจะผลัดเปลี่ยนกันทุกชั่วโมง ผลัดกันนำ และในหมู่ของตัวเองให้ผบ.หมู่จัดลาดตระเวนนำและผลัดเปลี่ยนกันในหมู่ทุกๆชั่วโมงแล้วจะเคลื่อนไปในรูปขบวนแถวตอนเรียงหนึ่งแบบลาดตระเวนในตอนกลางคืน จะไม่มีการหยุดถ้าไม่จำเป็น และในช่วงแรกต้องไปให้เร็วที่สุด การเดินให้เดินชิดติดกัน ไม่ต้องเปิดระยะต่อ และต้องระวังเรื่องเสียงอย่าให้เกิดเสียงดังอย่างเด็ดขาด ระวังเรื่องการลื่นไถล ระหว่างการเดินให้ใช้มือเกาะต้นไม้แล้วค่อยๆเคลื่อนไปลงไป

ให้ระวังเรื่องอาวุธให้พร้อม อย่าให้ปืนลั่นเด็ดขาด โดยเฉพาะหมู่นำต้องพร้อมที่จะปะทะกับข้าศึกและเตรียมพร้อมตลอดเวลา
เมื่อมีการปะทะให้ฟังคำสั่งจากผู้หมวดเท่านั้น

สัญญาณบอกฝ่ายคืนนี้ถ้าเราเอ่ยชื่อจังหวัดของหน่วยเรา เช่นถามว่า “โคราช” ถ้าเป็นหน่วยมาจากสุรินทร์ก็จะตอบว่า “สุรินทร์” หรือถ้าถามว่า “อุดร” เราตอบว่า “โคราช” ถ้าเป็นสุรินทร์ก็ตอบว่า “สุรินทร์” ถ้าเป็นปืนใหญ่ก็ตอบว่า “พันเชอร์”ให้ใช้แบบนี้ทุกคนจะได้จำได้ไม่ลืมไม่สับสน ใช้ชื่อจังหวัดและหน่วยของตัวเองทั้งถามและตอบ
“มีใครสงสัยไหม” ผมถามย้ำ “ถ้าไม่มี เตรียมเคลื่อนย้ายได้อีก 5 นาทีหลังจากนี้”
ผมดูเวลาแล้ว ประมาณ 1 ทุ่มแล้ว ทุกอย่างเงียบสงบ…

ก่อนทุ่มตรงปืนใหญ่จากฐานพันเชอร์ 105 มม.กระบอกเดียวที่เหลือของไอ้ย้งก็ระเบิดกระสุนเสียงดังตึม ! ตึม ! ตึม ! เห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนชัดเจน ได้ยินเสียงของกระสุนที่วิ่งแหวกอากาศออกไปในแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือระหว่างเนินอานม้าและฐานสุรินทร์ เพื่อนผมไอ้ย้งมันยิงแบบถี่ยิบแบบล้างลำกล้องเลยไม่ต่ำกว่า 5- 6 นัด

ได้ยินเสียงกระสุนตกระเบิดตามทิศทางที่ยิงเสียง กรึม! กรึม! ติดต่อกัน และได้ยินเสียงการระเบิดของกระสุน มองเห็นประกายไฟจากการระเบิดไกลออกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้เห็นได้ชัดเจน
แล้วทุกอย่างก็เงียบลงเป็นไปตามแผนตามที่ผมบอกไอ้ย้ง

และเหมือนกับเป็นสัญญาณให้ผมสั่งให้กำลังเคลื่อนย้ายออกจากฐานที่มั่นทันที”




“ไปตายดาบหน้า”

...........มีช่วงหนึ่งที่ผมจิกเท้าพลาดลื่นเสียหลักไถลลงไปเลยดึงไอ้เหมียวเพื่อนผมที่เกาะติดหลังอยู่กลิ้งตามกันลงมาแบบครูดร่วงลงมาหลายสิบเมตร........

พวกเราเริ่มเดินไปตามคูจนสุดแล้วขึ้นไปข้างบนพื้นราบมุ่งสู่ขอบหน้าผาที่เป็นหุบเขาลึกด้านตะวันออกเฉียงเหนือผ่านออกไปข้างฐาน BI-15

ชั่วครู่เราก็มาถึงขอบหน้าของหุบลึก ผมหยุดกำลังระวังป้องกันรอบตัวและให้ลาดตระเวนนำและหมู่นำไปตรวจช่องทางลงและวางตัวที่จุดที่จะลงไว้

ผมดูนาฬิกาจากพรายน้ำเรืองแสงอีกประมาณ 10 กว่านาทีก็จะ 2 ทุ่มตามเวลาที่กำหนดในการถอนตัว ก่อน 2 ทุ่มไม่กี่นาที เพื่อนผมไอ้เหมียวก็นำกำลังกองร้อยสุรินทร์มาสมทบกับกำลังของผม ผมได้ยินเสียงไอ้เหมียวพูดเบาๆในความมืดในกลุ่มทหารของมันและมีพวกเราคนหนึ่งถามสัญญาณผ่านว่า “โคราช” ได้รับคำตอบว่า “สุรินทร์” เพื่อนผมไอ้เหมียวพูดออกมาในกลุ่ม
“เฮ้ย...ไอ้จักษ์ กูอยู่นี่แล้ว”
ผมกับไอ้เหมียวก็พบกันในความมืด ผมบอกกับมันว่า
“เฮ้ย ไอ้เหมียว หมู่ของกู 2 หมู่จะนำลงไปก่อน แล้วมึงกับลูกน้องตามพวกกูไปก็แล้วกัน 2 ทุ่มตรง กูจะลงหุบทันทีตามแผน ไม่มีการลังเลเปลี่ยนใจ ใครไม่มาก็ช่างมัน”
ไอ้เหมียวบอก “เออ กูจะอยู่ติดกับมึงนี่แหละ ไปไหนไปด้วยกันโว้ย ไม่มีทิ้งกันอย่างเด็ดขาด”

ผมดูเวลาอีกประมาณ 2 นาทีจะ 2 ทุ่ม พอจะมองเห็นและได้ยินเสียงกำลังพลของพวกเราเป็นกลุ่มๆในความมืดกำลังเคลื่อนย้ายมารวมกันบริเวณที่ราบใกล้จุดที่ผมจะลงเริ่มมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนจะสั่งลมงหุบ ผมรวบพระในคอของผมออกมาอาราธนา รวมทั้งนึกถึงเสด็จพ่อ ร. 5 ขอให้ปกป้องคุ้มครองพวกเราให้ปลอดภัยและขอให้ออกถูกทางที่ไม่มีอุปสรรคใดๆในครั้งนี้

พอได้เวลา 2 ทุ่ม ผมสั่งคนของผมเคลื่อนลงหุบทันที พวกเราค่อยๆไต่ลงไปในหุบลึกประมาณ 40-50 องศา ลาดบ้างชันบ้าง ค่อยๆไถลตามกันลงไปในความมืดสนิทข้างล่าง

ยิ่งลงลึกไปมากเท่าไรก็ยิ่งมืดสนิทแทบมองไม่เห็นกัน ต้องใช้มือคลำและเกาะกันลงไป ส่วนใหญ่ต้องยึดต้นไม้หรือสิ่งใดก็ได้ที่พอยึดได้และแข็งแรงพอที่จะไม่ให้ตัวเองร่วงลงไปจากแรงโน้มถ่วงที่พยายามดึงเราให้ไหลลงไป มันทำให้การเคลื่อนที่ช้ามากแต่พวกเราก็พยายามไต่ลงไปอย่างช้าๆเพื่อให้ถึงก้นหุบที่เป็นลำธารให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เสียงกิ่งไม้ที่หักจากที่พวกเราลุยกันลงมาดังทั้งข้างหน้าและข้างหลัง ถ้าข้าศึกอยู่ใกล้ๆแถวนั้นมันต้องได้ยินเราแน่นอน แต่ก็ไม่มีใครสนใจกันอีกแล้ว ทุกคนพยายามไต่เพื่อไปให้ถึงก้นหุบให้เร็วที่สุด...คิดแค่นั้น

เราเคลื่อนที่แบบเลื่อนไถลกันลงมาเรื่อยๆเกือบชั่วโมงแล้ว ผมดูนาฬิกาแต่ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะถึงก้นหุบลึกและลำธาร ดูเวลามันนานมากพอสมควร แต่ความจริงเราอาจเคลื่อนลงมาจากข้างบนขอบเนินได้ไม่กี่ร้อยเมตร เนื่องจากความมืดของหุบและความชันที่ทำให้การเคลื่อนตัวลงมาช้ามาก มีพวกเราบางคนก็พลาดลื่นไถลลงไป ได้ยินเสียงครูดลงไปและเสียงจากกิ่งไม้ที่หักจากการกลิ้งลงไป ก็คงไปได้เร็วขึ้น แต่คงไม่มากนักเพราะต้องติดต้นไม้และไขว่คว้าหาที่ยึดจนได้ คงไม่มีใครยอมกลิ้งลงไปถึงก้นหุบแน่เพราะอาจบาดเจ็บได้
ในยามนี้ถ้าเกิดบาดเจ็บหนักคงช่วยกันลำบากแน่นอน ต้องช่วยตัวเอง อย่าให้เกิดการบาดเจ็บดีที่สุด

ผมดูเวลาขณะนี้ 4 ทุ่มกว่าแล้ว เราไต่ลงมา 2 ชั่วโมงกว่าแล้ว หุบลึก ป่ารกทึบและความชันเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อพวกเราในการเคลื่อนย้ายเพื่อถอนตัวจากบ้านนาซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเส้นทางการเคลื่อนย้ายที่ปลอดภัยที่สุดกว่าด้านอื่น

ผมต้องการความปลอดภัยจึงเลือกไปในภูมิประเทศที่ยากลำบากที่สุด พวกเรายอมลำบากดีกว่าเกิดปัญหาและอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายหรือถูกซุ่มโจมตีระหว่างเคลื่อนย้าย นอกจากนั้นหุบลึกเมื่อเราลงไปลึกพอสมควรแล้วก็จะปิดบังเรื่องเสียงของพวกเราที่มีเป็นจำนวนมากได้เป็นอย่างดี รวมทั้งแสงสว่างด้วย เพราะมีบางคนใช้แสงสว่างจากไฟฉายนำทางก็มี ทำให้ข้าศึกมองไม่เห็นแสงจากพวกเราบางคนที่ใช้ไฟฉายเมื่อเกิดปัญหาในการเคลื่อนที่และอุปกรณ์สำคัญหลุดตกลงไปในความมืดมิด เป็นเรื่องที่ห้ามกันยาก เมื่อคนจำนวนมากต้องเดินไปในความมืดมิดเหมือนคนตาบอดในสภาพภูมิประเทศเป็นป่ารกทึบในหุบลึกของภูเขาที่มีความลาดชันมาก

พวกเราพยายามเคลื่อนที่ไป จับยึดเหนี่ยวกิ่งไม้ปล่อยตัวลงไป มือคลำแตะหลังเพื่อนข้างหน้าเพื่อกันกิ่งไม้และหนามแหลมคมที่อาจทิ่มแทงใบหน้าและนัยน์ตาได้ถ้าไม่ระมัดระวัง หรือไม่ก็ใช้มือยื่นไปข้างหน้า

ผมกับไอ้เหมียวเราจะเราเดินอยู่ด้วยกันในหมวดนำ มันเกาะหลังผมมา รู้ได้จากมือที่มันแตะหลังผมอยู่ตลอดเวลา ความมืดในหุบเขาลึกชันแทบไม่มีแสงอะไรที่จะทำให้เรามองเห็นอะไรได้เลยแม้สายตาจะชินกับความมืดก็ตาม และผมคิดว่าจะไม่มีการใช้ไฟฉายโดยไม่จำเป็น ผมไม่ได้เช็คมุมเข็มทิศเลย
คิดว่าคงไปถึงก้นหุบที่ลำธารก่อนถึงจะหยุดเช็คมุมและแผนที่ และคิดว่าพวกเราได้เคลื่อนที่ตามกันมาเป็นแถวตอนไถลตัวยึดกิ่งไม้ตามกันลงมาเรื่อยๆตามรูปขบวนแถวตอนเรียงหนึ่งเป็นเวลา 3-4 ชั่วโมงมาแล้ว และคิดว่าน่าจะได้ระยะทางมากพอสมควรแล้วจากเนินบ้านนาแต่ก็ยังไม่ถึงก้นหุบและลำธารที่ผมดูและศึกษาแผนที่มา

ผมไม่สั่งให้หมู่นำหยุดพัก เพราะคิดว่าพวกเราอีกจำนวนมากอาจจะยังลงมาไม่หมดจากจุดลงที่บ้านมาแต่กำลังตามกันลงมาเรื่อยๆโดยได้ยินเสียงจากกิ่งไม้ลั่นหักอยู่ตลอดเวลาและเสียงที่ได้ยินอยู่ไกลและสูงขึ้นไปมากขึ้นเรื่อยๆ

ระหว่างที่ผมเคลื่อนตัวลงมีช่วงหนึ่งที่ผมจิกเท้าพลาดลื่นเสียหลักไถลลงไปเลยดึงไอ้เหมียวเพื่อนผมที่เกาะติดหลังอยู่กลิ้งตามกันลงมาแบบครูดร่วงลงมาหลายสิบเมตร จนผมคว้าต้นไม้ไว้ได้จึงหยุดตัวเองได้ไม่ไถลตกลงต่อไป ไอ้เหมียวก็ไถลลงมากองติดอยู่กับพื้นทำให้เสื้อผ้าขาดวิ่นแขนถลอกไปตามตามกัน

ผมติดโคนต้นไม้เลยถือโอกาสพักสักครู่ พอดีไอ้เหมียวร้องถามหาผม
“เฮ้ย ไอ้จักษ์มึงอยู่ตรงไหนวะ”
“ก็อยู่กับมึงนี่แหละ มึงตกลงมาด้วยกันกับกู ก็ยังอยู่ด้วยกัน มึงเป็นอะไรหรือเปล่า” ผมถามแล้วมันค่อยๆเกาะกิ่งไม้มาหาผมตามเสียง “กูเจ็บนิดหน่อย”
ผมเลยบอกเพื่อนว่า “เราพักกันตรงนี้ก่อนโว้ย เดี๋ยวค่อยไปกันต่อ ไม่รู้ว่าอะไรของกูหลุดหายไปบ้าง”ไอ้เหมียวบอก “กูก็เหมือนกัน”
ผมบอก ...
“ช่างมันเถอะไม่บาดเจ็บก็ดีแล้ว
กลิ้งลงมาเหมือนลูกหมาโดนถีบด้วยกันทั้งคู่”


“นาทีชีวิต”

.......ผมเหลือเวลาอีกประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนสว่างเพื่อเดินขึ้นสันเขาสูงเฉียงออกไปทางตะวันออกให้ได้ไกลที่สุดเพื่อไม่ให้ขบวนเกิดคับคั่งก่อนสว่าง ความมืดจะทำให้พวกเราปลอดภัย……

ผมติดโคนต้นไม้เลยถือโอกาสพักสักครู่ พอดีไอ้เหมียวร้องถามหาผม “เฮ้ย ไอ้จักษ์มึงอยู่ตรงไหนวะ”
“ก็อยู่กับมึงนี่แหละ มึงตกลงมาด้วยกันกับกู ก็ยังอยู่ด้วยกัน มึงเป็นอะไรหรือเปล่า” ผมถามแล้วมันค่อยๆเกาะกิ่งไม้มาหาผมตามเสียง “กูเจ็บนิดหน่อย” ผมเลยบอกเพื่อนว่า “เราพักกันตรงนี้ก่อนโว้ย เดี๋ยวค่อยไปกันต่อ ไม่รู้ว่าอะไรของกูหลุดหายไปบ้าง”ไอ้เหมียวบอก “กูก็เหมือนกัน” ผมบอก ...
“ช่างมันเถอะไม่บาดเจ็บก็ดีแล้ว กลิ้งลงมาเหมือนลูกหมาโดนถีบด้วยกันทั้งคู่”

เรานั่งพักอยู่ด้วยกันสักครู่จนหมู่นำเคลื่อนลงมาใกล้ ผมรีบบอก “เฮ้ยนี่ผู้หมวดโว้ย” หมู่นำทางคลำทางเข้ามาหาผมและไอ้เหมียวตามเสียงเรียกและถามด้วยความสงสัย
“อ้าว แล้วผู้หมวดมาอยู่ตรงนี้ก่อนพวกผมได้อย่างไร” ผมตอบด้วยอารมณ์ขันไม่ได้โกรธในคำถามของลูกน้องของผม “กูก็กลิ้งลงมาสิวะ”
เลยถือโอกาสสั่งการลูกน้องว่า “เอ็งรีบนำลงไปให้ถึงก้นหุบและลำธารเร็วๆ พวกเรายังไม่ได้ลงมาอีกมากอย่าช้า ยังไม่ให้พักจนกว่าจะถึงลำธาร” มีผู้หมู่ในขบวนรีบตอบ “ครับ” แล้วค่อยๆเคลื่อนที่ลงไปตามลาดชันของหุบเหวลึกต่อไปตามคำสั่ง
ผมกับเพื่อนเหมียวเห็นว่าลูกน้องเคลื่อนล่วงหน้าไปพอสมควรจึงเข้าขบวนและเคลื่อนที่ต่อไป

ผมดูเวลาน่าจะเกือบ 6 ทุ่ม 24.00 น.แล้ว พวกเราหมวดนำเคลื่อนที่มาประมาณ 4 ชั่วโมงแล้วสังเกตจากป่าเริ่มรกทึบมากขึ้น เริ่มมีโขดหินบ้าง เราน่าจะเกือบถึงก้นหุบและลำธารน้ำแล้ว

พวกเราค่อยๆจับต้นไม้คลำทางและเคลื่อนตัวลงไปเรื่อยๆจนหูผมได้ยินเสียงน้ำไหลค่อยๆชัดและดังขึ้นเรื่อยๆ
แล้วพวกเราหมวดนำก็ลงมาถึงก้นหุบและลำธารในที่สุด เป็นลำธารไม่กว้างมาก ในหุบเหวลึกมีน้ำไหลรินอยู่ตลอดเวลาและเดินข้ามได้ ผมสั่งให้หยุดพักจนหมวดนำทั้งของผมและของเพื่อนลงมาถึงลำธาร ผมรีบสั่งการให้หมู่นำเปลี่ยนหมู่นำเพื่อให้หมู่ที่นำลงมาได้เดินตามบ้าง และสั่งการให้รีบจัดการเรื่องน้ำให้เร็วที่สุดแล้วรีบไปวางตัวคอยอยู่ที่ฝั่งตรงข้าม และพร้อมออกเดินทางเมื่อสั่ง
ผมเห็นแทบทุกคนรีบเอากระติกมาราน้ำที่ไหลจากลำธารให้เต็ม แทบทุกคนวิดน้ำใส่หน้าด้วยความสดชื่นจากน้ำจืดในลำธารที่พวกเราไม่ได้สัมผัสกันมาเป็นเวลานานหลายเดือนแล้วตอนที่ยังอยู่บ้านนา

ผมกับไอ้เหมียวก็เหมือนกัน รีบลุยลงลำธารราน้ำเพื่อกรอกกระติกให้เต็ม วักน้ำล้างหน้าให้เกิดความสดชื่นจากน้ำจืดในลำธารที่ผมและเพื่อนไม่ได้สัมผัสมานานหลายเดือนจนจำไม่ได้
เรารีบล้างหน้าล้างตา ความเย็นของน้ำในลำธารทำให้เกิดความสดชื่นหายเหนื่อยลงมาก จากการเคลื่อนตัวลงมาจากข้างบนจนถึงก้นและลำธารเกือบ 5 ชั่วโมงโดยไม่ได้พักกันเลย แสงสว่างเรืองรองที่กระทบกับกระแสน้ำในลำธารทำให้เราพอมองเห็นหน้าพวกเรากันได้ไม่มืดมิดเหมือนตอนลงมา

ผมรู้สึกสดชื่นมาก จิตใจเหมือนถูกปลดปล่อยให้หลุดออกมาจากที่ใดที่หนึ่งที่มีแต่ความเคร่งเครียด ความกดดันทางจิตใจที่ต้องตกอยู่ในนรกหรือวงล้อมของพญามัจจุราชและความเป็นความตายเป็นเวลานานมาก ความรู้สึกเหมือนถูกปลดปล่อยออกจากสิ่งเหล่านั้นแล้ว นี่เรากำลังจะพ้นนรกแล้วหรือ
ความคิดที่เกิดขึ้นทำให้ผมมีกำลังใจเป็นอย่างมากที่จะต้องไปให้พ้นจากนรกนี้ให้ไกลที่สุดซึ่งขณะนี้เราได้ออกมาจากบ้านนามาพอสมควรแล้ว

ผมต้องเร่งไปสู่จุดหมายคือภูล่องมาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมรีบสั่งการให้ทุกคนรีบข้ามลำธารและไต่สันเขาสูงที่มองเห็นทะมึนเหมือนกำแพงยักษ์ในความมืดขวางเราอยู่ข้างหน้าต่อไปผมสั่งให้หมู่นำไต่ขึ้นแบบเฉียงออกทางขวาไปเรื่อยๆเพื่อลดความลาดชันในการไต่ขึ้นจนกว่าจะถึงสันเขาที่สูงที่สุดจึงจะเดินไปตามสันเขาตามที่ผมศึกษาแผนที่มาแล้ว
และเราจะมุ่งไปทางทิศตะวันออกตามสันเขาก็จะถึงภูล่องมาดได้แน่นอน

เมื่อผมและหมู่นำเริ่มเคลื่อนที่ต่อไปโดยไม่ได้พักกันนานนัก สังเกตเห็นพวกเราลงมาที่ลำธารมากขึ้นและแออัดมากขึ้นแต่ก็ยังได้ยินการเคลื่อนขบวนลงมาของพวกเราจากด้านบนตลอดเวลาจากเสียงต่างๆ ผมยังเดาไม่ออกว่ากองร้อยปิดท้ายขบวนจะเริ่มลงมาหรือยัง

ผมเหลือเวลาอีกประมาณ 6 ชั่วโมงก่อนสว่างเพื่อเดินขึ้นสันเขาสูงเฉียงออกไปทางตะวันออกให้ได้ไกลที่สุดเพื่อไม่ให้ขบวนเกิดคับคั่งก่อนสว่าง ความมืดจะทำให้พวกเราปลอดภัยจากการมองเห็นของข้าศึกซึ่งเวลาจะน้อยลงเรื่อยๆ
ผมไม่อยากหยุดพักตราบใดที่ยังมีแรงก้าวไปข้างหน้าไต่ลาดชันขึ้นไป การไต่ขึ้นทำให้เราไปได้ช้ามากจากน้ำหนักตัวเราและยุทโธปกรณ์ต่างๆที่ติดตัวมา พวกเราต้องไต่ลาดชันขึ้นที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ต้องใช้การดึงเหนี่ยวกิ่งไม้ขึ้นไปในที่ๆชันมากๆ หมวดนำของผมไต่ลาดชันขึ้นไป

ผมคิดว่าเกือบ 2 ชั่วโมงแล้วที่เราไต่กันขึ้นมาจากหลุมลึกและลำธาร รู้สึกตัวว่าเราหนักมากขึ้น เป้ที่มีสัมภาระก็หนักมากขึ้นเรื่อยๆ เนื้อตัวและเสื้อผ้าที่เปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อเพิ่มน้ำหนักขึ้นอีกหลายกิโล รู้ได้จากการเคลื่อนตัวของพวกเราช้าลง แต่พวกเราก็ยังไปต่อ และผมไม่สั่งให้หยุดพัก

ผมดูเวลาเกือบตี 3 แล้วที่เราไต่กันขึ้นมา พวกเราหมวดนำจนในที่สุดก็ขึ้นมาถึงลาดเนินที่ไม่ชันมากนัก ผมจึงสั่งให้หมู่นำหยุดและให้พวกเราพัก ผมคิดว่าเราจะพักไม่เกิน 5-10 นาทีเพื่อผ่อนคลายขาบ้างหลังจากไตขึ้นที่ลาดชันมาประมาณ 3 ชั่วโมง อากาศบนลาดเนินรู้สึกสดชื่นและมีลมปะทะหน้าบ้างไม่อับอึมครึมเหมือนตอนอยู่ก้นหุบ

ผมมองเห็นสันเขาที่อยู่ฝั่งตรงข้ามในความมืดนั่นคือนรกที่เราเคยอยู่และเรากำลังจะพ้นมันไป พวกเรายังได้ยินเสียงต่างๆที่เกิดจากพวกเรา พวกกองร้อยที่ปิดท้ายขบวนกำลังไต่ลงมาจากเสียงและแสงไฟ พอเดาได้ว่าพวกเรายังลงกันมาไม่หมดจากสันเขาฝั่งตรงข้าม

ผมอยากให้พวกเราลงมาในหุบให้หมดก่อนสว่าง ก่อนที่ข้าศึกจะรู้ว่าพวกเราที่บ้านนาถอนตัวแล้ว ยิ่งมันรู้ช้ามากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีสำหรับพวกเราที่กำลังเคลื่อนลงหุบมาโดยเฉพาะพวกปิดท้ายขบวน

อีกประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นก็จะสว่างแล้วผมจึงสั่งให้หมู่นำเคลื่อนที่ต่อไป มีทหารหลายคนนั่งพิงเป้หลับจากความอ่อนล้าจึงกำชับให้ผู้หมู่ตรวจยอดและคนให้ครบ และให้รีบเคลื่อนที่ต่อไปเรื่อยๆ

พวกเราหมวดนำ ผมและกำลังของกองร้อยสุรินทร์เพื่อนผม-ไอ้เหมียวยังเคลื่อนที่ไต่กันขึ้นไปเรื่อยๆอย่างช้าๆ แต่ไม่มีการหยุด จนเกือบตี 5 ผมดูนาฬิกา พอดีเราไต่ความชันของลาดเนินสุดท้ายจนมาถึงพื้นที่บนสันเขาที่สูงที่สุดได้พอดี รู้ได้จากภูมิประเทศที่ไม่มีลาดชันให้เราไต่กันอีกแล้ว และแนวสันเขาทอดยาวไปทางทิศตะวันออกตามที่ผมได้ศึกษาจากแผนที่มา

ผมมั่นใจและต้องเป็นสันเขาที่ทอดยาวไปจนถึงภูล่องมาดแน่นอน.




“คืนอันยาวนาน”

....เราจะลุยอย่างเดียวถ้าปะทะและไม่มีการถอยหลังเด็ดขาดซึ่งผมพูดกับมันไว้แล้วและเราก็ถอยกลับไม่ได้อยู่แล้วด้วย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราจะมุ่งสู่ภูล่องมาดตามแผนเท่านั้น....

ผมสั่งให้หมู่นำของผม 2 หมู่อยู่พัก ไอ้เหมียวเพื่อนผมก็เห็นด้วยว่าเราควรจะหยุดและรู้ว่าขณะนี้เราขึ้นมาเร็วกว่าส่วนอื่นๆที่กำลังไต่เขาขึ้นมา
เราจะพักยาวสัก 10 - 15 นาทีเพื่อให้ร่างกายได้พักบ้างก่อนสว่างจากความอ่อนล้าอย่างหนักที่ต้องไต่ลงและไต่ขึ้นเขามาเกือบ 8-9 ชั่วโมงแทบไม่ได้หยุดพักกันเลย

ผมดูเวลาที่นาฬิกา ตีห้ากว่าอีกประมาณไม่ถึงชั่วโมงก็สว่างแล้ว
ผมสั่งให้เปลี่ยนหมู่นำและให้เคลื่อนออกไปวางตัวข้างหน้าตามสันเนินที่เราจะเคลื่อนต่อไปเพื่อเป็นหมู่ระวังป้องกันให้ อย่าได้ประมาท เรายังไม่ห่างจากข้าศึกมากนักและสันเนินที่เราจะไปจะมีข้าศึกหรือไม่ยังบอกไม่ได้ จึงกำชับให้ทุกคนพักและระวังตัวตลอดเวลา อย่าทำเสียงดังและห้ามใช้ไฟฉายอย่างเด็ดขาด เพราะขณะนี้เราอยู่บนสันเขาสูงไม่ใช่อยู่ในหุบเหมือนตอนลงมา

ผมและไอ้เหมียวนั่งพักพิงเป้สนามอยู่ด้วยกัน มีลูกน้องของมันและของผมรวม 3 หมู่แยกกันพักบนสันเนินที่ไม่ลาดชันนัก ผมกับมันไม่พูดอะไรกันและจากร่างกายที่อ่อนล้าและความเหนื่อยรวมทั้งอากาศบนสันเนินที่มีลมพัดอ่อนๆเย็นสบายทำให้ผมกับเพื่อนหลับไปอย่างไม่รู้ตัวทั้งสองคน รวมทั้งลูกน้องของเราแทบทุกคนด้วยจากความอ่อนล้าและไม่ได้นอนกันเกือบทั้งคืน

ผมสะดุ้งตื่นด้วยสัญชาตญาณที่ระแวงภัยจากความเคยชินจากการอยู่ในสนามรบและอยู่ในป่ามามากพอสมควรจากแสงสว่างและอากาศที่อบอุ่นขึ้นมาสัมผัสใบหน้า รู้ตัวว่านอนคุดคู้ปืนและเป้ยังติดตัวอยู่
ผมรีบตื่นขึ้นโดยเร็ว
งีบเดียวที่ผมคิด ปรากฏว่าผมหลับไปมานานเป็นชั่วโมง นี่มันสายแล้ว 6 โมงกว่าแล้ว
ผมรีบปลุกไอ้เหมียวที่ยังนอนคุดคู้อยู่ใกล้ที่ผมนอนจนทำให้มันสะดุ้งตื่นขึ้นมาแบบตกใจและรีบลุกขึ้นมา
“เฮ้ยกูนอนหลับสนิทไม่รู้เรื่องเลยว่ะ คิดว่าจะนั่งพักแต่มันหลับไปโดยไม่รู้ตัว”
ผมเลยบอกมันว่า “กูก็เหมือนมึง หลับไม่รู้เรื่องเลย รีบปลุกพวกเราไปต่อกันโว้ยไอ้เหมียว กูว่าเรามากันไม่ไกลจากบ้านนาสักเท่าไหร่หรอกว่ะ กูมองเห็นสันเขาของบ้านนาอยู่ต่ำกว่าลาดเนินของเราไม่มากห่างไปกะด้วยสายตาไม่น่าจะเกิน 2 กิโล แต่ต้องเดินกันเกือบทั้งคืนว่ะ”
“กูก็ว่าไม่ไกล” ไอ้เหมียวบอก “กูว่ารีบปลุกพวกเราเดินต่อกันดีกว่าว่ะ ไปให้ไกลมากกว่านี้อีกสักหน่อยเพื่อความปลอดภัยก่อนที่พวกมันจะรู้ว่าเราถอนตัว”
ผมบอกมันว่า “พวกเราไม่น่ามีปัญหาเพราะข้ามมาอีกสันเขาแล้ว กูห่วงก็แต่พวกเราที่ยังอยู่ข้างล่าง หรืออาจมีบางส่วนที่ยังลงมาไม่ถึงลำธารก้นหุบนั่นมากกว่า ถ้ามันรู้ว่าเราถอนตัวจากบ้านนาเมื่อไหร่คงแห่ลงมาจากที่ตั้งของมัน เมื่อรู้ว่าพวกเราลงหุบตรงบริเวณนี้ มันต้องเอา ค.มาตั้งยิงถล่มเราแน่นอน คราวนี้คงยุ่ง กูว่าเรารีบไปกันดีกว่า”

ผมสั่งให้ผู้หมู่ตื่นแล้วไปปลุกพวกเราให้ตื่นแล้วรีบเคลื่อนที่ต่อไปเพราะหลายคนยังนอนหลับไม่รู้เรื่องอะไรแบบหลับเป็นตาย

ผมสั่งให้ทุกคนเตรียมพร้อมเคลื่อนที่ต่อไปและเรียก ผบ.หมู่นำ มาสั่งการ ต่อไปนี้ให้ระวัง ขอให้จัดลาดตระเวนนำ 2-3 คนลาดตระเวนออกไปล่วงหน้าประมาณ 50-100 หลาจากกำลังของหมวดนำ
ถ้าพบข้าศึกหรือสงสัยให้ส่งคนมาบอกและให้เคลื่อนที่แบบลาดตระเวนไปบนสันเขาอย่างช้าๆไปเรื่อยๆ อย่าหยุด และอย่าประมาทเป็นอันขาด

ผมต้องพยายามควบคุมหมู่นำให้อยู่ในรูปขบวนแบบที่พร้อมดำเนินกลยุทธ์ได้ถ้าหากปะทะกับข้าศึกบนสันเขาที่พวกเรากำลังเคลื่อนที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ

ผมพยายามตัดความกังวลในส่วนต่างๆของพวกเราที่กำลังตามมาและหวังว่าคงจะตามกันมาเรื่อยๆเป็นขบวนตามแผนที่วางไว้ในการถอนตัวออกจากบ้านนา

ผมและไอ้เหมียวเพื่อนผมยังพาหมวดนำของเราเคลื่อนที่ต่อไปตามสันเนินซึ่งมีระดับสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามสันเขาที่กว้างบ้างแคบบ้าง

ภูมิประเทศมีทั้งป่าโล่งป่าทึบสลับกันไป บางจุดเป็นป่าหินโขดหิน บางพื้นที่ก็เป็นที่โล่งเต็มไปด้วยป่าหญ้าคาสูงท่วมหัว มีร่องรอยการเดินของสัตว์และคนพอสังเกตได้แต่ไม่มากนัก บางพื้นที่ก็มีเส้นทางเท้า หมู่นำจึงต้องมีความระมัดระวังในการเคลื่อนที่อย่างมากและอาจจะปะทะกับข้าศึกที่ตั้งฐานอยู่บนสันเนินได้ตลอดเวลา เพราะเป็นพื้นที่จำกัด ถ้ามีต้องเจอกันแน่

ผมเดินอยู่ในหมู่ที่ 2 ของผมมีหมู่นำเดินลาดตระเวนล่วงหน้าออกไป 50-100 หลา เพื่อนผมไอ้เหมียวไปอยู่กับหมู่อีก 2 หมู่ลูกน้องของมัน ถ้าเกิดปะทะมันจะเป็นผู้ควบคุมกำลังหนุนอีก 2 หมู่ของมันเพื่อช่วยผมในการดำเนินกลยุทธ์

เราจะลุยอย่างเดียวถ้าปะทะและไม่มีการถอยหลังเด็ดขาดซึ่งผมพูดกับมันไว้แล้วและเราก็ถอยกลับไม่ได้อยู่แล้วด้วย
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราจะมุ่งสู่ภูล่องมาดตามแผนเท่านั้น

ผมกับหมู่นำ 2 หมู่ยังเคลื่อนที่ไปตามสันเขาที่ระดับค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยๆ อากาศเริ่มเย็นขึ้นภูมิประเทศก็เดินไม่ยากเป็นป่าโปร่งสลับกับหย่อมป่าหิน มีร่องรอยการใช้สันเขานี้พอสังเกตได้ทั้งคนและสัตว์ประมาณเกือบเก้าโมงเช้าที่เราเดินกันมา คิดว่าประมาณ 3 ชั่วโมง

เมื่อเริ่มสว่าง ผมจึงสั่งให้หมู่นำหยุดพักเพื่อให้พวกเรากินอาหารเช้า สั่งให้หมู่นำส่งยามคอยเหตุออกไปข้างหน้าประมาณ 100 หลาเพื่อความไม่ประมาท ผมใช้โขดหินที่เป็นหย่อมป่าหินนั่งพักกับไอ้เหมียว

เรามองเห็นสันเขาอีกฝั่งดูอยู่ห่างไกลออกไปไม่มากแล้ว บริเวณที่เราจากมาคือบ้านนามองเห็นลางๆในกลุ่มหมอก ผมคิดว่าหมวดนำของเราไกลจากบ้านนาพอสมควรแล้ว และพวกเราน่าจะเดินเร็วกว่าส่วนที่ตามหลังมามากพอสมควรก็อยากจะหยุดรอพวกอื่นๆที่ตามมาเพื่อให้ขบวนต่อกัน ผมถามไอ้เหมียวว่า “มึงเห็นพวกเราตามมาบ้างหรือเปล่าวะ”
มันบอก…
”เมื่อเช้าเห็นอยู่หลายคนแต่ไม่รู้ตามเรามาหรือไม่”

“ศัตรูรู้แล้ว”

.........ไม่ต้องเดาก็ได้ ตอนนี้พวกมันรู้แล้วว่าพวกเราถอนตัวจากบ้านนาแล้ว เมื่อกำลังมันลงมาที่บ้านนาจนพบว่าเราถอนตัวไปทิศทางนี้ มันคงรู้แล้วว่าเราจะไปที่ไหน……

ผมจัดการเรื่องอาหารเช้าจากเนื้อกระป๋องและผลไม้กระป๋องที่เตรียมมาในเป้อย่างรวดเร็ว ไม่มีการหุง ไม่มีการต้ม พวกเราส่วนใหญ่ก็กินกันแบบนี้
พวกเราพอมีน้ำจืดที่ได้จากลำธารเมื่อคืนพอเหลือเกือบเต็มกระติก ต้องพยายามประหยัดไว้เพราะต้องเดินกันอีกนาน ผมคิด ข้างบนนี้ไม่มีน้ำแน่นอนจนกว่าจะถึงภูล่องมาด

ประมาณ 10 นาทีที่เราพัก ผมสั่งเตรียมเคลื่อนย้ายต่อ พอดีมีทหารของสุรินทร์มารายงานไอ้เหมียวว่า มีพวกเรา 4-5 คนกำลังมาถึงจุดที่เรากำลังพักรอ ผมเลยบอกให้มาพบผมกับไอ้เหมียวที่นี่

ชั่วครู่กลุ่มพวกเราน่าจะเป็นส่วนระวังป้องกันหน้าของ บก. พัน BI- 15 ก็มาถึงที่ที่เราพักกันอยู่ ผมเลยถามว่าพวกเราตามมากันหรือเปล่า ก็ได้รับคำตอบว่ากำลังตามมากันเรื่อยๆแต่เช้าและขบวนขาดเป็นตอนๆ แต่ก็เดินกันมาเรื่อยๆ

ผมรู้ว่าความอดทนและความแข็งแกร่งทางกายของแต่ละคนไม่เท่ากัน อย่างนี้ต้องอดทนและต่อสู้เพื่อความอยู่รอด การควบคุมเริ่มไม่มีเนื่องจากความเหนื่อยล้า ยังดีที่พวกเรายังทยอยตามกันมาแม้จะขาดตอนเป็นกลุ่มก็ตาม
ขอให้ตามกันมาอย่าหยุดนาน

ผมเลยบอกไอ้เหมียว “มึงกับกูพาหมวดนำทำหน้าที่กันต่อดีกว่า เราควรล่วงหน้าไปก่อนดีกว่า เกิดอะไรขึ้นข้างหน้า มึงกับกูและกำลังของเรา 1 หมวด น่าจะช่วยตัวเองได้”
ตอนนี้ต้องเร่งไปให้ไกลที่สุด ก่อนที่พวกมันจะรู้ว่าพวกเราถอนตัว ซึ่งตอนนี้คิดว่ามันยังไม่รู้ น่าจะเป็นโอกาสดีของพวกเรา

ขณะนี้เวลาน่าจะเกือบ 7 โมงเช้า แล้ว อากาศเริ่มร้อนมากขึ้น
ก่อนจะเคลื่อนย้ายหมวดนำต่อไป ผมบอกทหารกลุ่มของกองพันให้รอส่วนใหญ่ที่นี่ก่อนแล้วค่อยตามไปและส่งข่าวให้ บก.พันทราบด้วยว่า หมวดนำล่วงหน้าไปแล้วตามสันเขา

จากนั้นผมก็สั่งเคลื่อนย้ายออกจากจุดพักและสั่งเปลี่ยนหมู่นำผลัดกันนำ

พวกเราเคลื่อนที่ไปตามสันเขาซึ่งชันขึ้นเรื่อยๆ อากาศเริ่มร้อนเมื่อใกล้เที่ยง หลายคนเสียเหงื่อและเริ่มกินน้ำมากขึ้น ผมบอกทุกคนให้ประหยัดน้ำ อย่ากินจนจะหมด โดยให้บอกต่อๆกันไปจนใกล้เที่ยงวันแล้ว เดินบนสันเขาสูงตามลาดกันมาประมาณ 3 ชั่วโมง

ผมเห็นว่าทหารหลายคนเริ่มมีอาการเหนื่อยล้าอิดโรยแล้ว เลยมองหาจุดที่น่าจะปลอดภัยเพื่อพักกินอาหารกลางวัน ผมมองเห็นกลุ่มป่าข้างหน้า เมื่อเดินมาถึงพอมีร่มเงาที่ดีกว่าที่อื่น รวมทั้งมีป่าหินเป็นหย่อมๆด้วยเหมาะที่จะเป็นที่พัก จึงสั่งหยุดบอกเพื่อนเหมียวว่า
“เฮ้ย...เราหยุดพักกินข้าวกันตรงนี้โว้ย เพราะเที่ยงกว่าแล้ว” ไอ้เหมียวเห็นด้วยบอก “หยุดก็ดีแล้ว กูก็ล้าเต็มทีแล้ว” เลยบอกมันว่า “กูกับลูกน้องจะไปวางตัวด้านหน้า มึงวางตัวด้านหลังแล้วหยุดพักกินกลางวันกัน จะได้รอพวกเราส่วนใหญ่ด้วย” มันบอก
“โอเคตามนั้น”

แล้วพวกเราก็หยุดพักกินกลางวันกันตรงบริเวณนั้น พวกเราพยายามกินกันอย่างเงียบๆ ผมสั่งให้จัดยามคอยเหตุไปข้างหน้าหมู่ด้วย 2 คนโดยไม่ประมาท

ระหว่างที่กำลังพักกันหลายคนยังกินไม่จบ หูก็ได้ยินเสียง กรึม กรึม ดังไกลออกไปทางทิศตะวันตก ดังติดต่อกันและต่อเนื่องกัน แต่ไม่ดังมาก พอได้ยินชัดและเป็นเสียงระเบิดที่ดังก้องในหุบหรือไกลออกไป

ผมรีบลุกขึ้นแล้วบอกพวกเราให้รีบเคลื่อนที่ต่อไป ไม่ต้องเดาก็ได้ ตอนนี้พวกมันรู้แล้วว่าพวกเราถอนตัวจากบ้านนาแล้ว เมื่อกำลังมันลงมาที่บ้านนาจนพบว่า เราถอนตัวไปทิศทางนี้ มันคงรู้แล้วว่าเราจะไปที่ไหน และคงใช้อาวุธหนักทั้ง ค. และ ปรส.ของมันยิงถล่มในพื้นที่ที่มันคิดว่าพวกเรากำลังเคลื่อนที่อยู่ในบริเวณนั้น
ส่วนการไล่ติดตามพวกเราผมยังเดาไม่ออกว่ามันจะมาทางไหนอย่างไรที่จะสกัดพวกเรา เป็นห่วงก็แต่กองร้อยหนึ่งที่ปิดท้ายขบวน ถ้าช้ามากหากเพิ่งเริ่มขึ้นจากหุบก็จะเป็นอันตรายมากจากอาวุธหนักของมัน

แต่ผมคิดว่าอย่างไรพวกเราคงเร่งเคลื่อนที่ขึ้นบนสันเนินให้เร็วที่สุด นอกจากนั้นรูปขบวนแถวตอนของพวกเราไม่เป็นที่หมายใหญ่เป็นกลุ่มก้อนที่จะยิงทำลายให้ได้ผล ผมห่วงและคิดในแง่ดีต่อพวกเราที่เป็นขบวนปิดท้าย

ตอนนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าเร่งไปให้ถึงภูล่องมาดให้เร็วที่สุดดีกว่า ก่อนที่มันจะส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็วมาสกัดและไล่ติดตามเรา
ผมกะเรามีเวลาอีกประมาณ 6 ชั่วโมงเพื่อที่จะไปให้ถึงภูล่องมาดในวันนี้.




“ปะทะสุดท้าย”

“ลุยมันเลย จะมีตัวไม่มีตัวไม่ต้องสนใจมัน กูจะขึ้นไปทางซ้ายของเนิน ของมึงขึ้นทางขวา เมื่อพร้อมก็อัดใส่มันพร้อมกัน...เอาตามนั้น”

ผมบอกให้หมู่นำเคลื่อนที่ไปอย่างระมัดระวังและอย่าประมาทพร้อมที่จะปะทะข้าศึกตลอดเวลา ทุกคนทราบแล้วจากเสียงของอาวุธหนักว่าข้าศึกรู้แล้วว่าพวกเราถอนตัวทำให้ทุกคนเริ่มตื่นตัวและระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

พวกเราเคลื่อนที่ต่อไปตามลาดชันที่สูงขึ้นไปอย่างช้าๆและมีพวกส่วนหลังหลายคนตามเรามา แต่ขบวนยังขาดตอนเป็นระยะๆเป็นกลุ่มๆแต่ก็ทยอยกันมาเรื่อยๆตามกันมา

เสียงอาวุธหนักของข้าศึกที่ยิงไล่ตามอย่างดังต่อเนื่องตลอดเวลาเหมือนใกล้พวกเราเข้ามาเรื่อยๆ มันคงปรับระยะยิงเพื่อถล่มพวกเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสียงระเบิดยังดังอยู่ทางทิศตะวันตกมาเป็นระยะตลอดเวลาซึ่งผมคิดว่าคงเป็น ค.และ ปรส.เท่านั้น ไม่น่าจะเป็นปืนใหญ่ มันคงยิงถล่มพวกเราจนกว่าจะสิ้นสุดระยะยิงของพวกมัน

พวกเราหมวดนำยังคงเคลื่อนที่ต่อไปตามสันนสูงขึ้นไป ใกล้ 3 โมงหรือเกือบ 4 โมงเย็นแล้วแสงแดดและความร้อนเริ่มอ่อนลง ขณะนี้ผมเห็นสันเขาสูงที่ขวางอยู่ข้างหน้าเป็นทิวเขาใหญ่ทะมึนด้านทิศตะวันออกเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆจากแสงสว่างของดวงอาทิตย์ยามบ่ายคล้อยทางทิศตะวันตกส่องกระทบสันเนินใหญ่และป่ารกทึบ ผมแน่ใจว่าต้องเป็นภูล่องมาดแน่นอนอยู่ในทิศทางและมุมพอดีตามเข็มทิศและแผนที่

เราเร่งเดินกันอย่างเต็มที่ถึงแม้จะเหนื่อยล้าและแทบไม่มีแรงขาแล้ว ผมเห็นกำลังพลของส่วน บก. พัน ที่ตามมา หลายๆคนไม่มีเป้แล้วเหลือแต่ตัวกับปืนที่สะพายอยู่เท่านั้น หลายคนคงทนหนักไม่ไหวและทิ้งทุกอย่างไปเพื่อให้มีแรงเดินทางต่อไปข้างหน้าแบบไปตายเอาดาบหน้า ผมเห็นบางคนโยนแจ็คเก็ตฟิลด์ที่ใส่อยู่ทิ้งลงหุบไป จะมีใครโยนปืนทิ้งลงหุบไปบ้างผมไม่ทราบ พวกส่วนหลังที่ติดตามพวกเรามามีแต่ตัวกับปืนเป็นส่วนใหญ่

ผมกับลูกน้อง 2 หมู่ยังมุ่งต่อไปรวมทั้งกำลังของสุรินทร์ที่เพื่อนผมไอ้เหมียวคุมอยู่ เราได้ยินเสียงระเบิดอยู่ในระยะไกลแต่เบามาก มันยังคงยิงถล่มพวกเราที่เป็นกำลังส่วนหลังอยู่ตลอดเวลาและกำลังเดินขึ้นลาดชันสูงขึ้นไปเรื่อยๆตามสันเขาโดยไม่มีการหยุดแม้จะอ่อนล้าแทบหมดแรงแล้วจากการเดินที่ไม่มีการหยุดพักประมาณ 4 ชั่วโมงมาแล้ว

เวลาน่าจะเกือบ 5 โมงเย็น แสงแดดเริ่มอ่อนลงมากทำให้ความร้อนจากไอแดดลดลงและอุณหภูมิเริ่มเย็นลง

ก่อนมืดผมเห็นภูล่องมาดอยู่ข้างหน้าแล้ว ไม่น่าจะเกิน 2 กิโลเมตรก็จะถึงยอดภูล่องมาดที่พวกเรา BI-14 ตั้งฐานอยู่ ความลาดชันเริ่มน้อยลงสันเขาเริ่มกว้างขึ้นมองเห็นที่โล่งก่อนจะถึงยอดทอดยาวไปถึงยอดภูล่องมาดและเริ่มมองเห็นช่องว่างซึ่งเป็นหลุมกำบัง-หลุมบังเกอร์ตามช่องป่าของต้นไม้ใหญ่เป็นจุดแดงๆแล้ว และคิดว่าอีกไม่เกิน 2 กิโลเมตรก็จะถึงยอดภูล่องมาดที่พวกเรา BI- 14 ตั้งฐานอยู่ ถ้าเรายังไม่หยุดก็คงถึงยอดภูล่องมาดแน่ คงจะมืดพอดี

ระหว่างที่คิดอยู่ในใจ หมู่หน้าส่งสัญญาณมือให้เราหยุดการเคลื่อนที่ ทุกคนหยุดลงตามสัญญาณมือ ผู้นำหมู่ค่อยๆคลานสูงมาหาผมบอกข้างหน้ามีบังเกอร์ ผมรีบคลานต่ำไปข้างหน้ามองไปตามทิศทางที่หมู่ลาดตระเวนนำชี้บอกและสังเกตเห็นด้วยตา

น่าจะเป็นบังเกอร์และหลุมบุคคล 2-3 หลุมห่างออกไปประมาณ 100 ถึง 200 หลา เมื่อเห็นที่หมาย ผมบอกกับไอ้เหมียว
“ลุยมันเลย จะมีตัวไม่มีตัวไม่ต้องสนใจมัน กูจะขึ้นไปทางซ้ายของเนิน ของมึงขึ้นทางขวา เมื่อพร้อมก็อัดใส่มันพร้อมกัน...เอาตามนั้น”

ผมไม่รอช้าเพราะเราจะถึงภูล่องมาดอยู่แล้ว ต้องลุยลูกเดียว ไม่ต้องใช้แผนให้มันยุ่งยากอะไร เอาตามนี้
ไอ้เหมียวก็อยากลุยให้รู้แล้วรู้รอดจะได้ถึงภูล่องมาดเสียที
“กูก็ไม่มีแรงที่จะถอย กูมีแต่แรงจะลุยว่ะ”

ผมโอเค.รีบสั่งลูกน้องคลานต่ำเข้าวางตัวทางด้านซ้ายของลาดเนินทันที ส่วนไอ้เหมียวก็ไปวางตัวทางด้านขวาของเนินกับลูกน้องอย่างรวดเร็ว
ผมให้สัญญาณเคลื่อนตัวออกจากที่วางตัวพร้อมๆกันและเริ่มยิง...

ทั้งกำลังยิงของผมและสุรินทร์ระดมยิงอัดอาวุธทุกชนิดที่เรามีเข้าบริเวณพื้นที่ของบังเกอร์และหลุมบุคคลที่อยู่เบื้องหน้าพร้อมทั้งเคลื่อนที่ไปด้วยแบบไม่มีใครถอย

เสียงระเบิดจากเอ็ม 79 และปืนเอ็ม 60 ระดมเข้าใส่ที่หมายข้างหน้าอย่างไม่ยั้ง ดัง ปัง..ปัง ตลอดเวลา บริเวณบังเกอร์ เราเปลี่ยนแม็กและยิงใส่มันต่อไปแบบไม่หยุด มีเสียงปืนน่าจะเป็นอาก้าดังสวนออกมาไม่กี่นัดแล้วก็เงียบไป

พวกเรายิงอัดมันต่อไปและเคลื่อนไปข้างหน้าจนถึงบังเกอร์และหลุมบุคคลของมันแบบถอยไม่เป็น

ด้วยอำนาจการยิงทั้ง 4 หมู่มันคงตกใจเผ่นแนบไปแล้วแบบไม่ทันตั้งตัว มันคงไม่คิดว่าอยู่ๆพวกเราจะโผล่มาเร็วขนาดนี้ และคงรู้ว่าเราคงมากันเป็นร้อย ยังไงก็คงอยู่ต้านไม่ไหว
เผ่นดีกว่า

เราเข้าเคลียร์พื้นที่พบเป็นหลุม ค.และ ปรส. มีหลุมบุคคลอยู่บ้าง รวมแล้ว 4-5 หลุม น่าจะเป็นพวกที่เกาะติดฐานภูล่องมาดเพื่อใช้อาวุธ ค. และ ปรส. ยิงรบกวนฐานภูล่องมาดและเป็นที่เฝ้าตรวจการณ์ของพวกมันด้วย มีร่องรอยแหวกป่าถอนตัวไปทางด้านซ้ายของเนิน มันทิ้งกระสุน ค.และ ปรส.ไว้ให้ดูต่างหน้าหลายนัด ทำให้เราต้องเก็บโยนลงหุบไปเพื่อไม่ให้มันมาใช้กับเราต่อไป ก่อนจะเคลื่อนที่ต่อไปผมสั่งลูกน้องซัดเอ็ม 79 ลงไปในด้านที่พวกมันถอยลงไป

จากนั้นผมกับลูกน้องและอีก 2 หมู่ของกองร้อยสุรินทร์ก็เคลื่อนที่ต่อไป เราเห็นยอดภูล่องมาดชัดเจนแล้วจากแสงสว่างที่ยังมีก่อนที่จะมืดลง

ผมดูเวลาเกือบ 1 ทุ่ม เราก็มาถึงขอบเนินและมีเส้นทางเดินลาดสูงขึ้นไปบนยอดเนินที่มีบังเกอร์ที่ขอบเนินเรียงต่อกันตามโคนต้นไม้ใหญ่ข้างหน้า.

“ภูล่องมาด”

...เราพ้นนรกที่บ้านนาแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว เราต้องรักษาตัวให้รอดกลับบ้านเราให้ได้…

ก่อนถึงแนวรั้วลวดหนามพอมองเห็นคนข้างบนฐานยืนอยู่หลายคนกำลังมองมาที่พวกเรา มีการตะโกนถามว่า BI- 15 ใช่ไหม

มีทหารในหมู่นำรีบตะโกนบอกพวกเรา BI- 15 มีการตะโกนตอบลงมาให้หยุดอยู่ที่นั่นก่อน จะลงไปรับ พวกเราก็หยุดตามเสียงที่บอกแล้วเห็นคนสองสามคนวิ่งลงมาจากฐานผ่านแนวรั้วลวดหนามลงมารับพวกเราและนำทางโดยบอกให้เดินไปตามเส้นทางนี้ อย่าออกนอกเส้นทางเด็ดขาด

ผมกับไอ้เหมียวเดินไปตามเส้นทางที่บอกพร้อมกับลูกน้องที่เดินตามกันมาด้วยความอ่อนล้า เพลียสุดที่จะบรรยาย แต่ก็โล่งอกที่เรามาถึงจุดหมายภูล่องมาดแล้วตามแผน

ผมผ่านบังเกอร์ตรงแนวคูเรดของ BI- 14 แบบหมดแรงหมดกำลังจนลูกน้องมาครบจึงบอกให้จ่าบุญตรวจยอดว่าครบทุกคนหรือไม่ กระทั่งจ่าบุญมารายงานผมว่าครบแล้ว ส่วนกำลังของไอ้เหมียวกองร้อยสุรินทร์ก็เพิ่งมาถึงและไอ้เหมียวก็ไปจัดการดูแลลูกน้องของมัน

ต่างคนต่างหมดแรงหมดพลังในร่างกายแทบไม่เหลืออีกแล้วและรู้สึกอ่อนเพลียอย่างมาก ปากคอแห้งผาก มอมแมมสกปรก ไม่อยากเห็นสาระรูปตัวเองขณะนี้ คงจะเหม็นและทุเรศสิ้นดีจากการกรำศึกและเดินมา 1 คืนกับอีก 1 วันเต็มๆ
หลายคนเสื้อผ้าขาดวิ่น สิ่งของหลุดหายไปเป็นจำนวนมากจากการลงจากลาดเขาสูงในตอนกลางคืน ก็ช่างหัวมัน คิดว่าตอนนี้เราพ้นนรกที่บ้านนาแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้อีกแล้ว เราต้องรักษาตัวให้รอดกลับบ้านเราให้ได้ ผมคิด มันเพลียและง่วงมากอยากจะหลับอยู่ตรงนั้นแต่ก็ใจแข็งออกปากถามผู้หมู่คนหนึ่งของ BI-14 ว่าหัวหน้าคมอยู่ที่ไหน...ร้อยตรี นิคม ยศสุนทร บอกเพื่อน BI- 15 อยากพบสักครู่

ผมเห็นเพื่อนคมพอจํามันได้ มันแน่นอนกำลังเดินมาหาผมกับผู้หมู่ที่ผมบอกให้ไปตาม กำลังชี้มือมาที่ผมที่นั่งพิงกระสอบทรายข้างบังเกอร์หน้าแนวอย่างหมดแรง

เมื่อมันมาถึงผม มันมองผมอยู่ชั่วครู่แล้วพูดว่า
“เฮ้ย...ไอ้เหี้ยจักษ์ ไอ้ทุเรศ” แล้วหัวเราะหึๆตามนิสัยของมัน ผมเฉยไม่ตอบอะไรเพราะผมคงทุเรศอย่างที่มันเห็นแต่ก็รีบบอกมันว่า
“เฮ้ยกูหนีตายมาจากบ้านมากับไอ้เหมียว ตอนนี้มันแยกไปอยู่กับลูกน้องมันแถวๆนี้ แต่ยังไงกูขออยู่กับมึงสัก 2-3 คืนกับลูกน้องกูเกือบ 20 คน
มันบอกได้เลย
“กูพอจะรู้ข่าวก่อนแล้วว่าพวกมึงกำลังจะมาหาพวกกูที่นี่ พอตอนเย็นได้ยินเสียงพวกมึงปะทะกับไอ้จัญไรพวกนั้นใกล้ฐาน กูก็รู้แล้วว่าพวกมึงที่บ้านนามาหากู”
ผมเลยถือโอกาสบอกมันว่า “กูกับไอ้เหมียวจัดการไล่มันลงไปแล้ว มันเป็นพวกยิง ค.และ ปรส.ที่เกาะอยู่ใกล้ฐานมึง คอยลอบกัดมึงนั่นแหละ” มันบอก “เออใช่ ไอ้พวกจัญไรนี่แหละ กูเคยลงไปไล่อัดมัน พอลงไปมันก็รีบแผ่น พอเผลอมันก็กลับมาลอบกัดพวกกูอีกเป็นประจำ ไอ้พวกจัญไร จนลูกน้องของกูบาดเจ็บและตายไปหลายคนจาก ค.และ ปรส.ของมัน” ไอ้คมเล่าให้ผมฟัง
มันก็เหมือนกับที่พวกเราเจอที่บ้านนา แต่ผมไม่ได้พูดอะไรอีก มันเลยบอกว่า
“เฮ้ยไอ้จักษ์มึงนอนในบังเกอร์กูนี่” แล้วมันก็ชี้ไปที่บังเกอร์มันอยู่ตรงโคนต้นไม้ใหญ่ห่างแนวที่มั่นข้างหน้าที่ผมนั่งพักอยู่ไม่มาก ดูบังเกอร์ของเพื่อนผมเล็กๆเหมือนกระท่อมเอสกิโม มันไม่ได้ขุดอะไรเพราะตั้งอยู่บนลานหินใต้ต้นไม้ ใช้กระสอบหลังคาโค้งมนลงจนถึงพื้นดินพื้นหินและมีช่องเข้าเล็กๆรูเดียว

เมื่อเพื่อนผมบอก ผมไม่ฟังเสียงรีบลุกขึ้นเดินกะย่องกะแย่งอ่อนล้าเพื่อไปที่กระท่อมบังเกอร์ของมันที
ไอ้คมบอกผมว่าเดี๋ยวมันจะไปตามหาไอ้เหมียว “เผื่อมันจะให้กูช่วยเหลืออะไรบ้าง”
ผมบอก “เออ มึงไปดูมันหน่อย มันก็ไม่ต่างอะไรกับกูว่ะ”

แล้วเพื่อนคมก็เดินจากผมไป ผมมาถึงหน้าบังเกอร์เอสกิโมของมัน รีบโยนเป้และอาวุธเข้าไปแล้วมุดเข้าไปเพื่อนอนพักจากความเหนื่อยล้าและหมดพลังที่จะทำอะไรได้อีกต่อไป พอดีมีทหารเอาซุปเนื้อกระป๋องร้อนๆใส่ก้นกระติกมาให้ผม ทหารบอกว่าหัวหน้านิคมให้เอามาให้
ผมรีบจัดการซุปเนื้อกระป๋องทันทีและบอกขอบใจทหารและถือโอกาสถามว่ามีพวกเรา BI- 15 มาอีกหรือเปล่า
ได้รับคำตอบว่ายังมีมาอยู่เรื่อยๆและทหารบอกว่าหัวหน้าคมให้คนคอยเฝ้าดูที่ช่องทางเข้าอยู่แล้ว
ผมรู้ข่าวสารเพียงเท่านี้

หลังจัดการกับซุปร้อนจนหมดเกลี้ยงก้นกระติกผมก็หลับไปแบบไม่รู้ตัว แบบสลบไสลและไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปที่ภูล่องมาดในคืนนี้.





“ภูล่องมาดยังไม่ปลอดภัย”

......ความรักความห่วงใยในฐานะเพื่อนกันตั้งแต่โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อย เป็นความผูกพันของพวกเรารุ่นเดียวกัน รักกันผูกพันกันมาก ยิ่งมาตกอยู่ในสนามรบ สภาพไม่ต่างกันมาก มีแต่ความห่วงใยและช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องพูดอะไรกันมาก มันอยู่ในจิตใจของผมกับมัน.....

ในคืนที่ผมมาถึงภูล่องมาดโดยใช้เวลาเดินเป็นหมวดนำของกำลังที่ถอนตัวทั้งหมดของ BI- 15 จากบ้านนามาถึงภูล่องมาด 1 คืนกับอีก 1 วันเต็ม ผมนอนแบบสลบไสลอยู่ในบังเกอร์เอสกิโมของ “เพื่อนคม” หรือ “หัวหน้าคม” ที่ภูล่องมาดแบบไม่รับรู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปด้วยความอ่อนเพลียและหมดแรง และต้องมาสะดุ้งตื่นในช่วงสายของอีกวัน (6 เมษายน 2514) ด้วยเสียงเอะอะและเสียงระเบิดที่ดังกึกก้องอยู่รอบฐานภูล่องมาด

มันเป็นเสียงของคนจำนวนมากที่ร้องตะโกนเพราะเสียงระเบิดที่ตกลงใกล้ๆฐานเสียงดัง กรึม กรึม...ผมรีบออกมาดูเหตุการณ์
ข้างนอกฐานเห็นพวกเราจำนวนมากไม่รู้ว่าเป็น BI- 14 หรือ BI- 15 วิ่งกันพล่าน ทุกคนพยายามหลบเข้าหาที่กำบังเท่าที่จะหาได้จากการตกระเบิดของอาวุธหนักของข้าศึกที่ถล่มมาตกทั้งในฐานข้างฐาน BI-14 ภูล่องมาดหลายนัดเป็นชุดๆ

ผมฟังเสียงน่าจะเป็น ค. 82 และ ค. 120 ที่ยิงถล่มพวกเรา ทั้ง BI- 14 และ BI- 15 ไม่มีการตอบโต้ใดๆจากพวกเรา คนในฐานซึ่งแออัดมีจำนวนมากขึ้นจากการถอนตัวของ BI- 15 มาอยู่รวม กับ BI-14 ที่ภูล่องมาด ในฐานเต็มไปด้วยกำลังพลของทั้ง 2 หน่วยและแน่นอนคงเป็นเป้าหมายที่คุ้มค่าของพวกมันที่ถล่มใส่พวกเราด้วยอาวุธหนัก

ดีว่าภูล่องมาดเป็นยอดเขาสูงที่เต็มไปด้วยป่าทึบและต้นไม้ใหญ่ยากที่จะสังเกตการณ์ต่อเป้าหมายได้เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการยิงถล่มพวกเรา แต่บางนัดก็ตกลงสู่ฐานและลงใกล้ๆฐานภูล่องมาด หลายจุดที่มันถล่มเราเห็นพวกเราได้แต่วิ่งหาที่กำบังกันอลหม่านวุ่นวายเพราะมีจำนวนมาก

ผมตะโกนบอกลูกน้องและพวกเราที่อยู่หน้าแนวด้านที่พวกเราได้เดินขึ้นมาให้รีบหาที่กำบังที่ปลอดภัยที่สุดและอย่าแตกตื่น ขอให้อยู่ประจำที่และให้อาศัยอยู่กับเพื่อนเรา BI-14 ผมได้ยินแต่เสียงลูก ค.ที่ตกระเบิดบริเวณฐาน ส่วนใหญ่ตกทางด้านทิศตะวันออก แต่ไม่รู้ที่ตั้งและทิศทางที่มันยิงมา เพราะฐานภูล่องมาดเป็นยอดเขาสูงและมีต้นไม้ทึบ ต้องไปอยู่ขอบฐานและหาช่องว่างจึงจะพอสังเกตการณ์ได้ คงต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของ BI-14 จัดการ แต่ผมไม่แน่ใจว่าใช่พวกที่เราเจอและไล่มันลงไปหรือไม่ที่กลับมายิงถล่มพวกเราอีก มันน่าจะย้ายที่ตั้งยิงโดยหาที่ตั้งยิงใหม่อีกสันเขาถัดไปก็เป็นได้ และมันคงรู้ว่าถ้ากลับมาที่เดิมจะต้องเจอกับกำลังพวกเราที่ถอนตัวมาจากบ้านนาที่ยังเหลืออยู่และเคลื่อนย้ายมายังไม่หมด จึงย้ายไปหาที่ตั้งใหม่เพื่อถล่มพวกเราที่ภูล่องมาด

ผมอาศัยบังเกอร์เอสกิโมของเพื่อนคมหลบ ค.ของพวกมันและคิดว่ามันคงถล่มเราได้เฉพาะ ค.82 และ ค. 120 เท่านั้น ส่วน ปรส.จะมีหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่ปืนใหญ่ไม่น่าจะมีเนื่องจากพวกมันยังเตรียมตัวย้ายปืนไม่ทัน แต่อาวุธที่น่ากลัวคือ ปรส. และ ค. 120 โดยเฉพาะ ปรส. ที่เล็งตรงถ้ามันมองเห็นที่หมายพวกเราจำนวนมาก มันคงเล่นงานเราด้วย ปรส. แน่นอนเพราะหวังผลได้มากกว่า

วันนี้ เข้าวันที่ 2 แล้วที่ผมมาอาศัยเพื่อนคมอยู่ที่ภูล่องมาด ผมไม่ได้ทำอะไร นอนพักผ่อนฟื้นฟูร่างกายเพื่อให้ฟื้นจากการเดินถอนตัวมาจากบ้านนารวมทั้งลูกน้องเดนตายของผมอีกเกือบ 20 คน และนึกว่าถึงเวลานี้แม้เราจะออกมาจากนรกที่บ้านนาได้แล้ว แต่ก็ยังไม่พ้นสนามรบ อะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้ถ้าประมาท
ผมยังกังวลใจเรื่องนี้อยู่จึงไม่พยายามออกไปไหน นอนพักอยู่ในบังเกอร์เพื่อนคมเกือบทั้งวัน

ตอนบ่ายเพื่อนคมกลับมาหาผมที่บังเกอร์ มันบอกว่าเจอกับไอ้เหมียวแล้ว “มันพักอยู่กับหมวดของพวกกู ไม่มีปัญหา” มันบอกว่ามีพวกเราบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการถูกถล่มเมื่อเช้านี้หลายคน “อาจเป็นของพวกม BI- 15 หรือของพวกกูยังไม่รู้ว่ะ”
มันบอกให้ผมอยู่ในบังเกอร์ของมันดีที่สุด “บางทีกูต้องไปประชุมไม่ได้อยู่คุยกับมึง มึงตามสบายนะโว้ย”

ผมบอกเพื่อนคมว่า” มึงก็ระวังตัว ด้วยลูก ค.ไม่เข้าใครออกใครนะเว้ย”
ไอ้คมบอก “กูระวังอยู่แล้วไม่ต้องห่วงโว้ย กูประชุมเมื่อเช้ากับผู้พัน BI-14 พวกกูจะทำสนาม ฮ.เร่งด่วนทางเนินด้านทิศใต้ของฐานแบบด่วนที่สุดเพื่อเอา ฮ.มารับพวกมึงไปอยู่แนวสกายไลน์เพื่อความปลอดภัยของพวกมึงและพวกกูด้วย...ขืนปล่อยให้แออัดอย่างนี้เป็นเป้าใหญ่ มันคงถล่มเราหนักแน่ ถ้าเรายังอยู่รวมกันแบบนี้ กูจะต้องพาลูกน้องเร่งทำสนาม ฮ.ให้เสร็จภายในวันนี้ อย่างช้าพรุ่งนี้โว้ย กูดูที่ไว้แล้วมันอับสายตาและตรวจการณ์ไม่เห็นแน่ เวลา ฮ.ลงมารับพวกมึง กูอาจจะต้องใช้ระเบิดระเบิดต้นไม้ออกจำนวนมากเพื่อให้ ฮ.ลง มีหมู่ทหารช่างสมทบกูด้วยคงไม่มีปัญหา”
ผมเข้าใจสถานการณ์ที่เพื่อนไอ้คมพูดเล่าให้ฟัง

หน่วยเหนือคงเป็นห่วงที่เรามารวมกันอยู่ที่ภูล่องมาดเป็นจำนวนมาก คงต้องเร่งขนย้ายพวกเราออกไปให้เร็วที่สุด เมื่อสนาม ฮ.พร้อมภายในวันสองวันนี้แน่นอน ก็พอดีพวกเราที่เหลือคงมาถึงภูล่องมาดกันหมดแล้ว
แต่ก็ได้ข่าวว่าส่วนระวังหลัง BI-15 กับหมวด 2 ถูกข้าศึกไล่ติดตามโจมตี มีการปะทะกันหลายครั้งกับพวกเรา มีการบาดเจ็บและสูญเสียด้วยซึ่งผมก็ได้ยินเสียงปืนและเสียงระเบิดของอาวุธหนักเป็นห้วงๆอยู่ตลอดเวลาในวันนี้ แต่ก็ไกลออกไปมากจากภูล่องมาด

ตอนที่เพื่อนคมจะจากไปทำงาน ด้วยความเป็นห่วงเพื่อน เลยบอกมันว่า “ระวังตัวด้วยนะโว้ย”มันบอก “เออไม่ต้องห่วงกู กูจะรีบทำสนาม ฮ.ให้เสร็จ มึงพักอยู่ในบังเกอร์ตามสบาย
มีปัญหาอะไรบอกจ่าของกูได้เลยนะเพื่อน ถ้ามึงต้องการอะไร”

ความรักความห่วงใยในฐานะเพื่อนกันตั้งแต่โรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อย เป็นความผูกพันของพวกเรารุ่นเดียวกัน รักกันผูกพันกันมาก ยิ่งมาตกอยู่ในสนามรบ สภาพไม่ต่างกันมากมีแต่ความห่วงใยและช่วยเหลือกันแบบไม่ต้องพูดอะไรกันมาก มันอยู่ในจิตใจของผมกับมัน

ผมบอกเพื่อนคมก่อนไป “ขอให้โชคดีและระวังตัวด้วยนะโว้ย”
แล้วเพื่อนผมก็เดินจากไป.




“อีกครั้งบนเนินสกายไลน์”

.....ตอนเรามาลงบนเนินสกายไลน์ หมวดผมมีกำลังเต็มอัตรา 52 คน แต่ตอนนี้ตอนกลับ หมวดผมเหลือทั้งผม 20 คน….

ผมไม่พยายามออกไปไหน นอนพักฟื้นอยู่ในบังเกอร์ไอ้คมเพื่อนผมจนตอนบ่ายใกล้ๆค่ำซึ่งไม่มีเหตุการณ์ข้าศึกถล่มพวกเราอีก

จนใกล้มืดได้ยินเสียงระเบิดและการตัดต้นไม้ดังตลอดเวลาทางทิศใต้ของฐานภูล่องมาด เพื่อนผมกำลังเร่งทำสนาม ฮ.อย่างเต็มที่ทางทิศใต้จนเย็นและค่ำ
ผมได้ข่าวว่าพวกเรา BI- 15 กำลังเคลื่อนย้ายเข้ามายังภูล่องมาดใกล้หมดแล้ว น่าจะมาถึงในคืนนี้ทั้งหมด

เมื่อใกล้มืดหมดแสง ผมถือโอกาสออกมาเดินและเยี่ยมลูกน้องของผมที่อาศัยคูและบังเกอร์ของเพื่อน BI-14 พักนอน
เมื่อหมดแสงคงเป็นเวลาที่ปลอดภัยที่สุดที่จะออกมาพักผ่อนจากบังเกอร์ซึ่งเราเคยชินมามากแล้วจากบ้านนา ดูลูกน้องทุกคนมีความสดชื่น ขวัญและกำลังใจดีขึ้นมากที่ได้พักผ่อนมา 2 วันจากการเดินถอนตัวมาถึง BI- 14 ภูล่องมาด ผมสอบถามพูดคุยกับทุกๆคนแล้วบอกว่าอดทนอีกนิดก็จะได้กลับบ้านกันแล้วทุกคน แต่ตอนนี้อย่าประมาท เรายังอยู่ในสนามรบอยู่ แม้ว่าจะไม่ใช่พื้นที่บ้านนาก็ตามและทุกคนเข้าใจ
ในใจผมไม่อยากจะเสียลูกน้องอีกจากนี้ไป เพราะเราเหลือกันอยู่แค่นี้แล้ว อยากให้ทุกคนปลอดภัยกลับบ้านครบทุกคน

ในเช้าวันที่ 4 ผมทราบข่าวว่าสนาม ฮ.เสร็จแล้วและมีคำสั่งให้พวกเราเตรียมตัวเคลื่อนย้ายและนำกำลังพร้อมรอที่สนามตั้งแต่ 9.00 น. ฮ.จะมารับตั้งแต่ 9.00 น.เป็นต้นไป โดยให้จัดเป็นชุดๆละ 9 คน
ผมได้สั่งการให้จ่าบุญจัดการในเรื่องนี้และพร้อมเคลื่อนย้ายไปรอที่สนาม ฮ. ซึ่งอยู่ด้านทิศใต้นอกฐานภูล่องมาดออกจากแนวรั้วลวดหนามหน้าแนวไปประมาณเกือบ 200 หลา เป็นลาดเนิน
ผมกับลูกน้องเคลื่อนย้ายไปถึงสนาม ฮ.ใกล้เวลา 9.00 น. มีส่วนอื่นๆของ BI- 15 มาเตรียมอยู่ด้วยเป็นชุดๆที่สนาม ฮ. ซึ่งถูกทำอย่างเร่งด่วนจาก BI- 14 ฮาลงได้พร้อมๆกัน 3-4 ลำ ทุกชุดเตรียมพร้อมอยู่ใกล้สนาม ฮ. แยกกันตามพื้นที่ๆจะลงซึ่งมีเครื่องหมายตัว H อยู่ที่จุดลง บริเวณรอบๆสนาม ฮ.เป็นเนินไกลออกไปประมาณ 200 หลามีพวกเรา BI- 14 คอยระวังป้องกันให้รอบเนินที่ ฮ.จะลงมารับพวกเรา

ประมาณ 9.00 น.เริ่มได้ยินเสียงดังทางด้านทิศตะวันออกและกำลังบินตรงเข้ามาหาพวกเราที่สนาม ฮ. มองเห็นชัดเจน 3 ลำ น่าจะเป็นฮอ UH-1 แล้ว ฮ.ทั้ง 3 ลำก็มาถึงและลงแตะพื้นสนามทันทีอย่างรวดเร็ว มีเจ้าหน้าที่ดูแลการเคลื่อนย้ายให้สัญญาณในการขึ้นลงของ ฮ.ทุกสนาม

เมื่อ ฮ.แตะพื้นเรียบร้อยเจ้าหน้าที่ได้โบกมือให้พวกเราขึ้น ฮ.ทันทีโดยไม่รั้งรอ พวกเรารีบเผ่นขึ้นทันทีเป็นชุดๆตามที่จัดไว้ การลำเลียงพลพวกเรา BI- 15 ดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 9.00 น.ยังไม่มีการหยุด น่าจะใช้ ฮ. 2 ชุดๆละ 3 ลำลำเลียงพวกเรา

ผมและลูกน้องเดนตายที่เหลืออยู่ถูกลำเลียงออกไปจากภูล่องมาด ในช่วงแรกๆใช้เวลาบินประมาณ 10 กว่านาทีก็มาฮ็อปลงแตะพื้นบนสันเขาด้านทิศตะวันออกที่ทอดยาวจากเหนือไปทางใต้

พอ ฮ.แตะพื้นผมจึงรู้ว่านี่คือเนินสกายไลน์ซึ่งเราเคยมาตั้งฐานที่มั่นอยู่ในช่วงแรกที่เข้าสู่สนามรบที่ลาว แต่มันเป็นคนละที่กันกับตอนที่เรามา บริเวณที่ลงเป็นฐานเล็กๆขนาดหมวดมีบังเกอร์อยู่บนสันเนินเป็นบังเกอร์เดิมที่พวกเราทำไว้บนเนินสกายไลน์
มีคำสั่งให้พวกเรารออยู่ที่นี่เพื่อรอคำสั่ง

ผมสั่งการให้จ่าบุญนำพวกเราเข้าประจำบังเกอร์ให้ครอบคลุมฐานถึงแม้จะมีกำลังไม่ถึงครึ่งหมวดก็ตาม
ผมมองดูภูมิประเทศรอบๆแล้วเราน่าจะอยู่บริเวณกลางพื้นที่ของเนินสกายไลน์ ใกล้เราห่างออกไปทางด้านทิศเหนือมีฐานของพี่น้องเสือพรานไม่ทราบหน่วยประจำอยู่ น่าจะประมาณ 1 กองร้อย
หลังจากพวกเราเข้าประจำตามบังเกอร์แล้วผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการให้ดูแลพวกเราและห้ามออกไปไหนเด็ดขาด ให้จัดเวรยามและพักผ่อนอยู่ในบังเกอร์และให้ตรวจภายในบังเกอร์ของตัวเองให้เรียบร้อยปลอดภัยก่อนเข้าไปในบังเกอร์ด้วย

คงไม่มีภารกิจใดๆที่ใช้พวกเราอีกแล้ว นอกจากพักรอเวลาในการเคลื่อนย้ายกลับประเทศไทยผมคาดเดาสถานการณ์ขณะนี้แนวสกายไลน์น่าจะมีความปลอดภัยสำหรับพวกเรา

มีเวลาว่างผมก็ไปดูพวกพี่น้องทหารพรานของพวกเราที่ส่วนใหญ่จะเป็นการเตรียมการให้หน่วยพร้อมรบ มีการส่งกำลังสิ่งอุปกรณ์ต่างๆอยู่ตลอดเวลาทั้งอาวุธกระสุนและเสบียงอาหาร ผมเลยได้แต่เฝ้าดู ไม่อยากไปยุ่ง เพราะรู้ว่าพี่น้องเสือพรานกำลังทำงานกันอย่างหนัก กำลังรุกไปข้างหน้าเพื่อยึดพื้นที่คืนจากข้าศึกและมาแทนพวกเราที่กำลังจะหมดภารกิจรอเวลาเคลื่อนย้ายกลับประเทศไทย

ผมจำไม่ได้ว่าเราอยู่บนเนินสกายไลน์เพื่อเตรียมตัวเคลื่อนย้ายกลับกี่วัน
ประมาณ 1 สัปดาห์หรือเกือบ 2 สัปดาห์จึงมีคำสั่งให้เตรียมตัวเคลื่อนย้าย เป็นคำสั่งที่พวกเรารอคอยกันมาและบัดนี้ก็มาถึงแล้วหลังจากพวกเราถูกส่งมารบที่ประเทศลาวครบรอบประมาณ 1 ปีเต็ม

ตอนเรามาลงบนเนินสกายไลน์ หมวดผมมีกำลังเต็มอัตรา 52 คน แต่ตอนนี้ตอนกลับ หมวดผมเหลือทั้งผม 20 คน

นี่คือสงคราม มันคือความสูญเสีย ไม่มีสงครามไหนที่ไม่สูญเสีย.







“สวนทางกันที่ล่องแจ้ง”

.........แถวของเรา BI- 15 สวนกันกับแถวของพี่น้องเสือพรานที่ลงมาจากเครื่องมาผลัดเปลี่ยนแทนพวกเราและพวกเราทุกคนกำลังจะได้กลับบ้าน ดูทุกคนมีสีหน้าเรียบเฉย ก้มหน้าก้มตาเดินมุ่งสู่แรมท้ายของเครื่องที่กำลังรอพวกเราอยู่…….


“BI- 15 กลับสู่บ้านเกิดแผ่นดินไทย”
ในสายวันนั้นหลังจากได้รับคำสั่งเตรียมตัวเคลื่อนย้ายน่าจะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม (2514) เกือบกลางเดือน ผมจำวันเวลาไม่ได้ UH-1 ก็มารับพวกเราที่ยอดเนินสกายไลน์ เพียง 2 เที่ยวบินพวกเราก็ถูกเคลื่อนย้ายไปที่สนามบินล่องแจ้งซึ่งอยู่ไม่ไกลมากจากที่เรามาพักรออยู่ประมาณ 2 สัปดาห์

พวกเรา BI- 15 ทั้งหมดถูกลำเลียงด้วย ฮ.มาเตรียมตัวเคลื่อนย้ายออกจากเมืองล่องแจ้ง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายกำลังพลมาคอยดูแลจัดแบ่งเป็นกลุ่ม ชี้แจงเรื่องต่างๆและรอขึ้นเครื่องบินแอร์อเมริกา อาจจะเป็น C-123 หรือ C- 130 จะมารับ พวกเราถูกปลดอาวุธและได้รับแจกถุงบกและเสื้อผ้าชุดใหม่เพื่อเปลี่ยนให้ดูดีขึ้น เพราะชุดที่เราสวมใส่อยู่เดิมมันดูไม่ได้อยู่แล้วและเหลือกันมาชุดเดียวติดตัวมา

พวกเราได้รับการชี้แจงการปฏิบัติต่อระเบียบต่างๆที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง พวกเรานั่งเป็นกลุ่มๆตามที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ด้วยใจระทึก

เมื่อรู้ว่าเราจะได้กลับบ้านแล้ว หลายคนคงคิดว่าเราจะได้กลับบ้านแล้วหรือ...จริงหรือ...เรารอดแล้วหรือนี่ รวมทั้งตัวผมเองด้วย
ส่วนใหญ่จะนั่งรอกันตามที่ๆถูกกำหนดให้ใกล้ขอบสนามบินล่องแจ้ง

และประมาณ 9.00 น. ของวันนั้น เครื่องลำแรกของแอร์อเมริกาก็ลงแตะพื้นรันเวย์ของสนามบินล่องแจ้ง ผมจำไม่ได้ว่าเป็น C-123 หรือ C-130 เสียงเครื่องเบรคอากาศดังสนั่นก่อนสุดรันเวย์ แล้วก็กลับลำแท็กซี่มาใกล้บริเวณที่พวกเราพักรออยู่ จนในที่สุดผมเห็นเครื่องจอดสนิท

แรมท้ายเปิดออกมีทหารพวกเราคือพี่น้องทหารเสือพรานเดินลงมาเป็นแถวจากแรมท้าย ทุกคนอยู่ในชุดพร้อมรบเต็มที่ ถูกจัดเป็นหมวดหมู่และเดินเป็นแถว มีผู้ควบคุมซึ่งน่าจะเป็นนายทหารและผู้นำหน่วย

พวกเราได้รับคำสั่งให้ลุกขึ้นเพื่อเตรียมขึ้นเครื่องที่กำลังจอดรอโดยไม่ดับเครื่องยนต์และบอกให้พวกเราเดินเป็นแถวตามที่จัดไว้

แถวของเรา BI- 15 สวนกันกับแถวของพี่น้องเสือพรานที่ลงมาจากเครื่องมาผลัดเปลี่ยนแทนพวกเราและพวกเราทุกคนกำลังจะได้กลับบ้าน ดูทุกคนมีสีหน้าเรียบเฉย ก้มหน้าก้มตาเดินมุ่งสู่แรมท้ายของเครื่องที่กำลังรอพวกเราอยู่ ร่างกายทุกคนซูบผอม แก้มตอบเกรียมกร้านจากการกรำศึกมา 1 ปีเต็มในสมรภูมิลาว ส่วนพี่น้องเสือพรานผ่านที่กำลังเดินสวนกับพวกเราดูมีสีหน้าตื่นเต้นกับสนามรบที่เพิ่งก้าวเหยียบลงมา

มีสองสามคนในกลุ่มพี่น้องเสือพรานตะโกนถามพวกเราว่า...เฮ้ยเพื่อนมี PX ไหม...อยู่ไหน คงเป็นพวกสิงห์เวียดนามเก่า แต่พวกเรา BI- 15 ยังเดินเฉยๆ ไม่มีใครตอบอะไร แต่คงตอบในใจโดยไม่มีคำพูดใดๆว่า ที่นี่มีแต่ลูกระเบิดเพื่อน...ค. ปรส.และปืนใหญ่โว้ย ขอให้เพื่อนโชคดี และเอาตัวรอดกลับไปให้ได้ PX ไม่มีหรอกโว้ยไม่ต้องคิด
มันเป็นคำตอบจากใจของพวก BI-15 ที่กำลังเดินสวนกันกับพี่น้องเสือพรานเพื่อไปขึ้นเครื่อง

มีอีกคนตะโกนถามพวกเรา หนักไหมเพื่อน...ไม่มีคำตอบจากพวกเราอีกเช่นเคย ทุกคนในแถวของพวกเรายังเดินมุ่งหน้าไปยังเครื่องและคงตอบอยู่ในใจ...
เดี๋ยวเพื่อนก็รู้เอง ขอให้โชคดีทุกคน

ระหว่างที่ผมคุมลูกน้องกลุ่มของผมเดินแถวออกไปและกำลังสวนกับกลุ่มของทหารเสือพรานกลุ่มใหญ่ ผมจำคนที่คุมแถวพี่น้องเสือพรานที่กำลังเดินอยู่ข้างแถวที่สวนมาได้...อ้าวนั่นพี่ประเทศ ห่วงมาก นี่ ก่อนที่พี่เขาจะสวนกับผม ผมกล่าวสวัสดีครับพี่และทำความเคารพแก แต่แกจำผมไม่ได้ ทำหน้างงๆ ผมจำพี่ได้รูปหล่อๆหน้าขาวๆ ผมไม่แปลกใจที่พี่ประเทศจำผมไม่ได้หน้าตาใบหน้าผมคงแก่ลงไปหลายปีจากการมารบที่ลาว
ผมก็เดินสวนกับแก ไม่มีเวลาทักทายพูดคุยกัน จนผมและลูกน้องเดินขึ้นแรมท้ายเข้าตัวเครื่องไป

เมื่อพวกเราเข้าไปหมด แรมท้ายจึงค่อยๆปิดลง

ผมมองไปที่ท้ายเครื่องเพื่อดูภาพและบรรยากาศของเมืองล่องแจ้งเป็นครั้งสุดท้ายจนแรมปิดสนิท.

“หัวหน้าใจ : สงครามไม่รู้จบ”

....ยังก่อน ยังก่อน ชีวิตของเอ็งต้องใช้กรรมเก่าอีกมาก นี่เพิ่งจบยก 2 เท่านั้น ยังมีอีกหลายยกที่เอ็งต้องผจญกับความตายในชีวิตการเป็นทหารของเอ็ง ยังก่อน...รีบไปรายงานตัวกับ พันตรี อัครเดช ศศิประภา พันโท ชาญบุญ เพ็ญตระกูล เพื่อรบต่อไป...หินร่องกล้า ภูลมโล ภูขี้เถ้า แม้วป่าหวาย มันรอเอ็งอยู่ที่นั่นแล้ว...มันเป็นเสียงของมารผจญและเจ้ากรรมนายเวรที่จ้องเอาชีวิตผม....

พวกเรา BI- 15 ผมและลูกน้องเดนตายทุกคนนั่งนิ่ง ใจค่อนข้างเลื่อนลอยไปถึงบ้านกันแล้ว ผมคิดในใจอยากให้เครื่องขึ้นเร็วๆและอย่าได้มีอะไรเกิดขึ้นอีกเลย จากนี้ไปถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นภายในชั่วโมงกว่าๆข้างหน้านี้ พวกเราที่เหลือจะรอดกลับบ้านได้ทุกคน
ผมภาวนาอยู่ในใจก่อนที่เครื่อง C-130 จะแท็กซี่ไปจนสุดสนามทางด้านทิศใต้ของสนามแล้วกลับลำ

ไม่มีการรอช้าและรั้งรอใดๆ นักบินดันคันเร่งและอัดเครื่องเต็มที่พร้อมจุดเครื่องจรวดใต้ปีกทั้งสองข้างเพื่อช่วยให้เครื่องยนต์มีพลังเต็มร้อย รู้สึกว่าเครื่องยนต์ดังสนั่นและกระชากพวกเราไปข้างหลังเล็กน้อย แล้วเครื่องก็ทะยานออกไปสุดกำลัง ผมรู้สึกว่าเครื่องสปีดเต็มกำลังของมัน ไม่กี่วินาทีก็เทคออฟแบบไต่ระดับด้วยมุมค่อนข้างสูง ผมรู้เพราะสนามบินล่องแจ้งค่อนข้างสั้นมากและมีสันเขาสูงขวางอยู่ด้านหน้าตามทิศทางที่เครื่องต้องขึ้นลง ต่างและตรงกันข้ามกับขาลงที่เราเคยมา ต้องวนหลายรอบและเบรกอย่างเต็มที่เมื่อแตะพื้นสนาม ผมจำได้ตอนมาลงในวันที่เรามาเหยียบสนามรบที่ลาวเมืองล่องแจ้งในวันแรกของการมาถึงสนามรบที่นี่

พวกเรานั่งเงียบกันด้วยใจระทึก ภาวนาขอให้เครื่องขึ้นอย่างปลอดภัย เครื่องค่อยๆไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วจากสนามบินล่องแจ้ง ทุกคนส่วนใหญ่นั่งนิ่งหลับตาภาวนา จนชั่วครู่รู้สึกได้ว่าเครื่องตั้งตรงแล้วและเสียงเครื่องยนต์ดังตามปกติ

ผมรู้สึกผ่อนคลายทุกอย่างลงเช่นเดียวกับทุกๆคน พวกเราในเครื่องรู้สึกผ่อนคลายทุกๆอย่าง เราคงพ้นจากล่องแจ้งอย่างปลอดภัยแล้ว รอเวลาอย่างเดียวคือให้พ้นจากประเทศลาวเข้าสู่ดินแดนไทย

ผมคิดว่าคงไม่นานเกินรอ คงไม่ถึงชั่วโมงก็น่าจะข้ามเข้าสู่ประเทศไทยบ้านเราแล้ว พวกเรานั่งฟังเสียงเครื่องแบบไม่มีใครลุกออกจากที่

ประมาณเกือบชั่วโมงผมดูเวลา เครื่องเริ่มลดระดับแล้วและลดลงเรื่อยๆจนได้ยินเสียงฐานล้อกางออก พวกเรายังคงนั่งนิ่งรอเวลาให้เครื่องร่อนลงแตะพื้นรันเวย์ จนในที่สุดก็ได้ยินเสียงล้อแตะพื้นรันเวย์และเครื่องเบรคอย่างแรงและช้าลงจนถึงความเร็วของการแท็กซี่ไปตามสนามบินจนค่อยๆกลับลำและจอดสนิท

แรมท้ายค่อยๆเปิดออกผมมองออกไปตามแรมท้ายก่อนที่มันจะเปิดออกเต็มที่ ความรู้สึกเหมือนอุโมงค์นรกที่เปิดออกให้พวกเราเป็นอิสระจากขุมนรกและความทุกข์ยากทุกอย่างที่ผจญมา 1 ปีเต็มในสนามรบลาว-บ้านนา

แสงที่ส่องเข้ามาทางแรมท้ายของเครื่องซึ่งสดใสสว่างไสวเต็มไปด้วยความอบอุ่นและปลอดภัย พวกเราได้รับสัญญาณให้ออกจากเครื่อง ค่อยๆเดินตามกันลงมาทางแรมท้ายของเครื่อง ผมรอดตายจากศึกครั้งนี้แล้วกับลูกน้องที่เหลืออยู่ของผมอีก 19 คนจากทั้งหมด 52 คนในหมวดของผม

เมื่อเท้าผมลงเหยียบพื้นดินในก้าวแรก ผมก้มลงจูบแผ่นดินแม่ด้วยความสุขโดยไม่ลังเลและไม่อายใครเลยด้วยความรู้สึกที่ตื้นตัน ใจเปี่ยมล้นไปด้วยความสุขสดชื่นเต็มเปี่ยม
เราปลอดภัยแล้วจากทุกอย่างที่ผมผจญมา 1 ปีเต็มในสมรภูมิมลายสูญหายไปสิ้นแล้วตั้งแต่ก้าวแรกที่ผมลงเหยียบบนผืนแผ่นดินไทย

ผมถูกแยกออกไปจากลูกน้อง เจ้าหน้าที่บอกให้นายทหารไปรายงานตัวที่เต็นท์ที่เห็นอยู่ข้างหน้าและมีเจ้าหน้าที่เตรียมรับอยู่ ผมได้รับการตรวจสอบชื่อถูกต้อง เจ้าหน้าที่ที่รับผมเมื่อผมรายงานตัวและเซ็นชื่อแล้วได้บอกผมว่า ผู้หมวดได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยโทแล้ว แต่ต้องย้ายเข้ากรุงเทพฯไปอยู่ ร. 1 พัน 3 รอ.ในตำแหน่งนายทหารการข่าว หลังจากได้ลาพัก 7 วันแล้วให้ไปรายงานตัวที่หน่วยด้วย

ผมรับทราบแต่รู้สึกงงๆกับเจ้าหน้าที่ๆแจ้งเรื่องให้ผมทราบ ผมได้รับเช็คเป็นเงินประมาณเกือบ 40,000 บาทจากที่ทางราชการเก็บไว้ให้ รู้สึกว่าเรารวยพอสมควร (ค่าของเงินสมัยนั้น) ผมรีบเก็บเข้ากระเป๋าและได้รับคำสั่งให้ไปขึ้รถยีเอ็มซีที่จอดรอเป็นแถวเพื่อรับกำลังพลที่กลับมาจากลาว ผมคงต้องพาลูกน้องกลับไปที่หน่วยเดิมคือกองร้อยที่ 1 กองพันทหารราบที่ 2 ที่โคราชก่อนเพื่อรายงานตัวออก

ผมนั่งหน้ากับคนขับรถ นั่งหลับตารอขบวนรถออก จิตใจผมไปอยู่ที่บ้านผมแล้ว และคิดว่าญาติผมคงทำใจไม่ได้กับการที่ผมไปรบเวียดนามแล้วกลับมาจากเวียดนามก็หายไป คงพอทราบว่าผมถูกส่งไปรบอีกแน่เลยวิ่งเต้นให้ผมเลิกรบไปเป็นทหารอยู่ที่กรุงเทพฯใกล้ๆบ้านเกิดด้วยเพราะบ้านเกิดผมอยู่ที่สวนอ้อยใกล้ๆสวนรื่นฤดีและ ร. 1 พัน 3 รอ. อยู่ไม่ไกลจากบ้านผม ผมก็เลยคิดไปว่าเป็นทหารกรุงเทพฯคงไม่ได้ไปรบอีกแล้ว คราวนี้คงแต่งตัวโก้เดินสวนสนาม เป็นทหารของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินแล้วเรา
คงสบายแน่แล้วกู ผมคิดอย่างนี้...

ฉับพลันเหมือนมีเสียงก้องอยู่ในหูทั้งสองข้าง...ยังก่อน ยังก่อน ชีวิตของเอ็งต้องใช้กรรมเก่าอีกมาก นี่เพิ่งจบยก 2 เท่านั้น ยังมีอีกหลายยกที่เอ็งต้องผจญกับความตายในชีวิตการเป็นทหารของเอ็ง

ยังก่อนรีบไปรายงานตัวกับ พันตรี อัครเดช ศศิประภา พันโท ชาญบุญ เพ็ญตระกูล เพื่อรบต่อไป...หินร่องกล้า ภูลมโล ภูขี้เถ้า แม้วป่าหวาย มันรอเอ็งอยู่ที่นั่นแล้ว...มันเป็นเสียงของมารผจญและเจ้ากรรมนายเวรที่จ้องเอาชีวิตผม

ใจผมนึกโมโห...อะไรวะ ข้าเพิ่งกลับมาจากสนามรบหยกๆเกือบเอาชีวิตไม่รอดในคราวนี้ มายังไม่ทันไรจะให้ไปรบต่ออีกแล้ว เหมือนมีเสียงตอบกลับ...กรรมของเอ็งยังไม่หมด ฮ่าๆ...คราวนี้แหละ คราวต่อไปจะได้รบเพื่อบ้านเมืองของเจ้า ฮ่าๆๆ จงทำซะเยี่ยงบรรพบุรุษของเอ็ง ฮ่าๆ

ผมนึกโมโหสุดๆเลยสบถออกมาในใจ...ไปก็ได้วะ ยังไงก็ได้วะ พรุ่งนี้ วันนี้ เดี๋ยวนี้ก็ได้วะ...
แต่ต้องหลังจากที่ข้าไปถึงบ้านกราบเท้าพ่อแม่ข้าก่อนโว้ย ท่านจะได้รู้ว่าข้ายังมีชีวิตอยู่ ...
ข้าขอเท่านั้น

แล้วทุกอย่างก็เงียบ ผมนั่งหลับตาหลังพิงอยู่ที่เก้าอี้ข้างคนขับและขบวนรถก็ค่อยๆเคลื่อนออกไปจากสนามบินน้ำพอง.






“สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง -1”


......สำหรับกรณีของเวียดนาม ลัทธินิกสันหมายความชัดเจนตรงไปตรงมาว่า สหรัฐอเมริกาจะถอนทหารของตนออกจากเวียดนามและปล่อยให้เป็นเรื่องของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รบกันเอง “VIETAMIZATION”……

“2512-2514 : WIND OF CHANGE”...
เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 “หัวหน้าใจ” พร้อมกับกำลังทหารประจำการจากกรมผสมที่ 13 จบภารกิจ 1 ปี เดินทางออกจากสมรภูมิสงครามลับในลาวกลับสู่มาตุภูมิ หน่วยทหารอาสาสมัครในนาม “ทหารเสือพราน”เดินทางมารับหน้าที่ต่อเพื่อสืบสานตำนาน “รบนอกบ้าน”

หยุดสำรวจสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ก่อน เพราะสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เริ่มพัดกลับตั้งแต่ครั้ง “นรกบ้านนา” กำลังจะกรรโชกกลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกในสมรภูมิทุ่งไหหินแห่งนี้...

รัฐบาลไทยส่งกำลังเข้าปฏิบัติการรบในลาวตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2503 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ครั้นเมื่อ จอมพล ถนอม กิตติขจร ขึ้นสืบต่ออำนาจ นโยบายต่อลาวเพื่อ “ทำศึกนอกบ้าน” ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จนกระทั่ง พ.ศ.2512 ซึ่งยังคงอยู่ในยุคจอมพล ถนอม กิตติขจร สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง-การต่อต้านสงครามเวียดนามก็เริ่มโหมกระหน่ำในดินแดนของผู้นำโลกเสรี ผู้นำไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามลับในลาวของซีไอเอ รวมทั้งในสงครามเวียดนามโดยตรง

ประธานาธิบดี ลินดอน บี.จอห์นสัน ผู้เปิดฉากความรุนแรงของสงครามเวียดนามด้วย “มติอ่าวตังเกี๋ย” เมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ.2507 แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนัก ก็นำไปสู่การต่อต้านในรูปแบบต่างๆจากประชาชนชาวอเมริกันเมื่อได้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกปิดบัง โดยเฉพาะความสูญเสียของคนหนุ่มอเมริกันในสงครามที่ปราศจากคำอธิบายที่มีเหตุผลครั้งนี้

ด้วยมรสุมที่รุมล้อมโหมกระหน่ำอย่างสาหัส ในที่สุดจอห์นสันก็ตัดสินใจไม่ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง เปิดโอกาสให้นิกสันเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน ด้วยนโยบายหาเสียงที่โดนใจคนอเมริกันในยุคนั้น “ยุติสงครามเวียดนาม”




“ลัทธินิกสัน”
วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ 2512 ประธานาธิบดีนิกสันซึ่งได้รับการเลือกตั้งเมื่อปลายปี พ.ศ.2511 ได้ให้สัมภาษณ์บรรดานักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆที่เกาะกวมในมหาสมุทรแปซิฟิกถ้อยแถลงของประธานนาธิบดีนิสสันในครั้งนี้เรียกกันว่า “NIXON DOCTRINE - ลัทธินิกสัน” มีใจความสำคัญว่า

“สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือประเทศสัมพันธมิตรที่ถูกฝ่ายคอมมิวนิสต์รุกรานในด้านเศรษฐกิจและการทหารเท่านั้น แต่จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้าไปช่วยทำสงครามโดยตรง ประเทศที่ถูกรุกรานจะต้องจัดหากำลังทหารป้องกันตนเอง”

กล่าวสำหรับกรณีของเวียดนาม ลัทธินิกสันหมายความชัดเจนตรงไปตรงมาว่า สหรัฐอเมริกาจะถอนทหารของตนออกจากเวียดนามและปล่อยให้เป็นเรื่องของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้รบกันเอง “VIETAMIZATION” สหรัฐอเมริกาจะให้ความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึกทางทหารและการเงินเท่านั้น

เพียงเดือนเดียวถัดมา สิงหาคม พ.ศ 2512 ประธานาธิบดีนิกสันก็เริ่มปฏิบัติตามคำแถลงนี้ด้วยการทยอยถอนทหารจำนวน 250,000 คนแรกจากจำนวนทหารอเมริกันทั้งสิ้น 543,400 คนที่มีอยู่ในเวียดนาม
ใต้

คนอเมริกันรู้สึกโล่งอกเมื่อได้ยินการประกาศลัทธินิกสันเพื่อปล่อยให้ชาวเวียดนามรบกันเอง และการถอนทหารเกือบครึ่งที่มีอยู่ในเวียดนามกลับบ้าน แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไปก็กลับเกิดความไม่มั่นใจในความจริงใจของประธานาธิบดีนิกสันจนกลายเป็นความไม่พอใจที่ค่อยๆเพิ่มทวีขึ้นตามลำดับเมื่อเห็นว่าประธานาธิบดีนิกสันล่าช้าในการถอนทหารออกจากเวียดนามเพราะสงครามยังดำเนินไปอย่างดุเดือด

ในปลายปี พ.ศ. 2512 คนอเมริกันเกิดแตกแยกทางความคิดเห็นในเรื่องสงครามเวียดนามอย่างรุนแรง จากการสำรวจประชามติเดือนตุลาคม พ.ศ.2512 ปรากฏว่า 2 ใน 3 ต้องการให้ถอนทหารออกจากเวียดนามทันมี

ความไม่พอใจต่อรัฐบาลได้นำไปสู่การต่อต้านสงครามเวียดนามที่เริ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วทั้งประเทศ

วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ 2512 ซึ่งเรียกกันว่า “วันยุติสงครามเวียดนามเวียดนาม “ VIETNAM MORATORIUM DAY” ประชาชนและนักศึกษาจาก 1,000 กว่ามหาวิทยาลัยและวิทยาลัยจำนวนกว่า 1.5 ล้านคนได้ผละงานและการเรียนเข้าร่วมกิจกรรมประท้วงสงครามทั่วประเทศ

ในกรุงวอชิงตัน ดีซี. ประชาชนกว่าแสนคนชุมนุมกันฟังวุฒิสมาชิก เอ็ดเวิร์ด เคเนดี ปราศรัยต่อต้านสงครามเวียดนาม และในวันที่ 15 พฤศจิกายนเดือนถัดมา ประชาชนกว่า 250,000 คนก็ได้เดินขบวน “ต่อต้านความตาย - MARCH AGAINST DEATH” เพื่อทำการประท้วงที่หน้าอนุสาวรีย์วอชิงตัน

ไม่ถึงครบรอบขวบปีของการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของนิกสัน นอกจากประชาชนสหรัฐอเมริกาจะไม่มั่นใจต่อท่าทีของประธานาธิบดีนิกสันในการยุติสงครามเวียดนามโดยเร็วตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แล้ว ต่อมายังได้เกิดเหตุการณ์ที่ยิ่งทำให้ชาวอเมริกันไม่เชื่อถือรัฐบาลของตนมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อประธานาธิบดีนิกสันขยายขอบเขตสงครามเข้าไปในกัมพูชา เมื่อต้นปี พ.ศ.2513

“ทิ้งระเบิดกัมพูชา”
นับแต่เกิดความขัดแย้งในอินโดจีน เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้วที่เจ้านโรดมสีหนุพยายามรักษาความเป็นกลางของกัมพูชาไว้ได้ แต่เวียดนามเหนือได้ลักลอบใช้ชายแดนกัมพูชาเป็นเส้นทางเดินทัพผ่านเข้าโจมตีเวียดนามใต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พวกเวียดกงรุกหนักโจมตีเมืองใหญ่ๆ 100 กว่าเมืองในเวียดนามใต้ด้วยปืนใหญ่และจรวดเพื่อลองเชิงรัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดีนิกสัน

ประธานาธิบดีนิกสันได้ตอบโต้ทันทีโดยสั่งให้ฝูงบิน B-52 ทิ้งระเบิดต่อเป้าหมายทหารเวียดนามเหนือลึกเข้าไปในชายแดนของประเทศกัมพูชา 10-15 ไมล์อย่างหนักถึง 3,630 ครั้งภายใน 14 เดือนติดต่อกันโดยปกปิดมิให้รัฐสภาอเมริกันและสาธารณชนทราบ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามกับกัมพูชา

ต่อมาเมื่อนักศึกษาและประชาชนอเมริกันได้ทราบข่าวก็ก่อการประท้วงทั่วไปและเริ่มไม่ไว้วางใจประธานาธิบดีนิกสันมากยิ่งขึ้นไปอีก ทั้งๆที่เป็นผู้สัญญาว่าจะหาทางยุติสงครามอย่างมีเกียรติโดยเร็ว แต่กลับขยายขอบเขตการทำสงครามเข้าไปในกัมพูชา อันเป็นการกระทำที่สวนกับคำมั่นสัญญา

สายลมแห่งความขัดแย้งพัดโหมกระหน่ำสังคมอเมริกันอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้...

ข้อมูลจาก "ประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2"
ศาสตราจารย์ สมร นิติฑัณฑ์ประภาส
กราบขอบพระคุณ.


“สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง -2”


....สหรัฐได้ลดบทบาททางการทหารของตนลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่องตามลัทธินิกสันเพื่อให้เวียดนามรบกันเอง แต่ในลาว กำลังติดอาวุธจากไทยกลับทวีจำนวนและบทบาทมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการใช้กำลังขนาดกรมผสมเข้าแก้ไขสถานการณ์ในปี พ.ศ.2512 และตามด้วยอาสาสมัครทหารเสือพรานในเวลาต่อมา….


“สายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง” โหมกระหน่ำไม่เว้นแม้แต่ภายในกองทัพอเมริกันซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่ดีที่สุดในโลกกองทัพหนึ่ง...


“สังคมแตกแยก”

ความหฤโหดของสงครามและยาเสพติดแทบทุกชนิดที่ระบาดไปทั่วกองทัพอเมริกันในเวียดนามทำให้คนอเมริกันยิ่งทวีความอยากยุติสงครามไกลบ้านกว่า 5,000 ไมล์ครั้งนี้เสียโดยเร็ว แต่ประธานาธิบดีนิกสันก็ยังไม่ยอมยุติสงครามลงง่ายๆ “เพื่อศักดิ์ศรีของตนเองและประเทศชาติในฐานอภิมหาอำนาจ”


เหตุการณ์สังหารหมู่ที่หมู่บ้านมายลาย (My Lai) เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ.2512 ยิ่งทำให้คนอเมริกันต้องใคร่ครวญอย่างหนักว่าตนกำลังจะทำลายเกียรติภูมิของตนเองเพราะสงครามครั้งนี้หรือไม่


ใน พ.ศ. 2514 จากการสำรวจประชามติ ปรากฏว่าประชาชนผู้ออกเสียงร้อยละ 65 เชื่อว่าสงครามเวียดนามเป็นสงครามที่ผิดศีลธรรมจรรยา


ในระยะนั้นปรากฏว่ามีคนหนุ่มที่ไม่ยอมไปรบในเวียดนามประมาณ 3-4 หมื่นคน หลบหนีไปอยู่ต่างประเทศส่วนใหญ่ไปอยู่ในประเทศแคนาดา


ภายในกองทัพอเมริกันเองก็เกิดความขยะแขยงสงคราม ใน พ.ศ. 2513 ทหารอเมริกันในเวียดนามห้อยเครื่องหมายสันติภาพและขัดขืนไม่ยอมออกรบ การสูบกัญชาเพื่อระงับอารมณ์มีอยู่ทั่วไป

ประมาณว่าทหารราวร้อยละ 10-15 ในแต่ละหน่วยติดเฮโรอีน การสังหารนายทหารที่พวกทหารไม่ชอบก็เป็นเรื่องธรรมดา


หนังสือพิมพ์ใต้ดินและร้านกาแฟที่พวกทหารผ่านศึกเป็นลูกค้าได้ช่วยกระพือข่าวที่พวกเขาได้เคยประสบมาด้วยตนเองในเวียดนามให้แพร่หลายยิ่งขึ้น เสียงเรียกร้องให้อภัยโทษผู้หนีทหารหนักแน่นขึ้น ศีลธรรมจรรยาและระเบียบวินัยในกองทัพเลวลงยิ่งกว่าสงครามครั้งใดๆในประวัติศาสตร์อเมริกัน


“ล้มเจ้าสีหนุ”...

วันที่ 18 มีนาคมพศ 2513 นายพลลอนนอลผู้ฝักใฝ่สหรัฐอเมริกาได้ทำการปฏิวัติโค่นล้มเจ้านโรดม ประธานาธิบดีนิกสันประกาศรับรองรัฐบาลนายพลลอนนอลทันที พร้อมทั้งทุ่มเทให้การช่วยเหลือด้านการเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมหาศาลเพื่อให้นายพลลอนนอลจัดตั้งกองทัพที่มีกำลังพล 200,000 คนไว้สู้รบกับพวกเขมรแดงและกองทัเวียดนามเหนือ กองทัพอากาศอเมริกันก็ช่วยระดมทิ้งระเบิดชายแดนกัมพูชากวาดล้างกองทัพคอมมิวนิสต์อย่างไม่หยุดยั้ง


วันที่ 30 เมษายน พ.ศ 2514 กองทัพผสมอเมริกันและเวียดนามใต้บุกเข้ากัมพูชาเพื่อค้นหากองบัญชาการของฝ่ายกองทัพคอมมิวนิสต์ นายพลลอนนอลได้ประท้วงแต่ไร้ผล


ประธานาธิบดีนิกสันประกาศว่าการบุกกัมพูชาครั้งนี้ก็เพื่อขจัดลัทธิเผด็จการเบ็ดเสร็จและพวกอนาธิปัตย์ที่กำลังคุกคามโลกเสรีและให้สัญญาว่า กองทัพอเมริกันจะไม่เข้าไปในกัมพูชาลึกเกินกว่า 21 ไมล์และจะถอนออกกำลังทั้งสิ้นในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2513


กองทัพอเมริกันได้ช่วยรัฐบาลลอนนอลกวาดล้างกองทัพเขมรแดงและเวียดนามเหนืออย่างแข็งขันแต่ก็ได้ผลไม่มากนัก เพราะกองทัพของนายพลลอนนออ่อนแอไร้ประสิทธิ

ภาพ รัฐบาลลอนนอลก็ฉ้อราษฎร์บังหลวงกดขี่ประชาชน

จนเป็นที่เชื่อกันว่าหากสหรัฐอเมริกาไม่สนับสนุนก็คงจะอยู่ไม่ได้


“บุกลาว”...

พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 สหรัฐอเมริกาโหมกำลังทิ้งระเบิดเวียดนามเหนืออีก และร่วมกับกองทัพเวียดนามใต้ส่งกำลังขนาดใหญ่บุกลาวตอนใต้อันเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางโฮจิมินห์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ 2514 ในยุทธการลัมเซิน (Lam Son 719) เพื่อเร่งให้สงครามยุติเร็วขึ้น


การบุกลาวครั้งนี้เป็นเสมือนการทดสอบประสิทธิภาพของกองทัพเวียดนามใต้ที่จะทำการรบด้วยตนเองตามลัทธินิกสันแต่ปรากฏว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง กองทัพเวียดนามใต้แตกกระเจิงถอยกลับอย่างไม่เป็นระเบียบ


อย่างไรก็ตามการบุกลาวก็ทำให้เกิดการประท้วงภายในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างรุนแรงขึ้นอีก ทหารและตำรวจในกรุงวอชิงตันดีซีได้ทำการจับกุมประชาชนถึงหมื่นกว่าคนในการประท้วงครั้งนี้ แต่ประธานาธิบดีนิกสันก็ประกาศว่าจะทิ้งระเบิดเวียดนามเหนือต่อไปเพื่อบังคับให้เวียดนามเหนือปลดปล่อยเชลยศึกชาวอเมริกันทั้งหมด


ฝ่ายเวียดนามเหนือโต้ตอบว่า ตนจะมอบเชลยศึกชาวอเมริกันให้ หากสหรัฐอเมริกาจะถอนทหารออกให้หมดภายในปลายปี พ.ศ. 2514 และยุติการสนับสนุนรัฐบาลเหงียน

วันเทียว


การเจรจาต่อรองครั้งนี้ไร้ผลเช่นเดียวกันเหมือนกับสิบกว่าครั้งที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาไม่อาจยอมรับข้อเสนอให้เป็นฝ่ายถอนทหารออกก่อน เพราะรู้ดีว่ารัฐบาเวียดนามใต้อยู่ได้เพราะกองทัพของตนช่วย

ค้ำจุนไว้


ฝ่ายสหรัฐยังคงดำเนินการเจรจาต่อรองกับเวียดนามเหนือต่อไปพร้อมๆกับการโหมกำลังทิ้งระเบิดเพื่อชัยชนะขั้นเด็ดขาดแต่ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ไม่ยอมรับข้อเสนอให้ตนเป็นฝ่ายถอนทหารออกจากเวียดนามใต้ก่อน ทั้งยืนยันว่าตนจะต้องเป็นฝ่ายมีชัยโดยเด็ดขาดและเวียดนามจะต้องเป็นประเทศเดียวกันจะแบ่งแยกกันมิได้


“ถอนทหารอเมริกัน : The Show Must Go On”...

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2514 ประธานาธิบดีนิกสันประกาศถอนทหารอเมริกันอีก 100,000 คน จึงเหลือทหารอเมริกันในเวียดนามเพียง 184,000 คน ดังนั้นในปลายปี พ.ศ. 2514 กองทัพเวียดนามใต้จึงต้องรับผิดชอบในการรบยิ่งขึ้นเนื่องจากมีทหารอเมริกันซึ่งยังคงถอนทหารของตนต่อไปจนเหลืออยู่เพียง 140,000 คน


ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2515 ประธานาธิบดีนิกสันได้สั่งให้ทิ้งระเบิดฮานอยและวางทุ่นระเบิดตามเมืองต่างๆรวมทั้งเมืองไฮฟองของเวียดนามเหนืออีก ภายหลังที่ได้ว่างเว้นมา 4 ปีแล้วทั้งนี้เพื่อตัดการ

ขนส่งอาวุธจากนอกประเทศเข้าเวียดนามเหนือ.


สถานการณ์ในเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ.2512 เป็นต้นมา จึงสามารถกล่าวได้ว่า สหรัฐได้ลดบทบาททางการทหารของตนลงอย่างชัดเจนและต่อเนื่องตามลัทธินิกสันเพื่อให้เวียดนามรบกันเอง

แต่ในลาว กำลังติดอาวุธจากไทยกลับทวีจำนวนและบทบาทมากยิ่งขึ้น เริ่มจากการใช้กำลังขนาดกรมผสมข้ามโขงเข้าแก้ไขสถานการณ์ตามคำของของรัฐบาลลาวในปี พ.ศ.2512 และตามด้วยอาสาสมัครทหารเสือพรานในเวลาต่อมา


การสู้รบของกองกำลังจากไทยจะทวีความดุเดือดยิ่งขึ้นในทุ่งไหหินและล่องแจ้ง.


ข้อมูลจาก "ประวัติศาสตร์ สหรัฐอเมริกา หลังสงครามโลกครั้งที่ 2" ศาสตราจารย์ สมร นิติฑัณฑ์ประภาส






“Campaign 74B - ตอนที่ 1”

เพื่อให้เข้าใจต่อสถานการณ์ที่บ้านนาซึ่งเป็นการรบที่ดุเดือดรุนแรงที่สุดของ BI-15 ในช่วงรอยต่อสำคัญก่อนการเข้าพื้นที่ของกองกำลังทหารเสือพราน จากบันทึก “นรกบ้านนา”ของ “หัวหน้าใจ” พลตรี ประจักษ์ วิสุตกุล จึงสมควรทำความเข้าใจต่อการปฏิบัติการของฝ่ายทหารเวียดนามเหนือในครั้งนี้ด้วย

หนังสือชื่อ “BATTLE FOR SKYLINE RIDGE” ของ JAMES E. PARKER JR อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอได้บันทึกสถานการณ์ในช่วงเวลานี้ สรุปเนื้อหาสำคัญได้ดังนี้...




หลังถอนกำลังออกจากพื้นที่การรบทุ่งไหหินเมื่อฤดูแล้งปี พ.ศ.2512 ปลายปีถัดมาทหารเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการรุกอีกครั้งหนึ่งในพื้นที่การรบเดิม ทุ่งไหหิน-สกายไลน์ ในเดือนธันวาคม พ.ศ.2513 ตามแผนยุทธการ “Campaign 74B”

ที่หมายหลักตามแผนยุทธการนี้คือเมืองล่องแจ้งและเมืองซำทองซึ่งกองทัพเวียดนามเหนือเคยเข้ายึดไว้ได้เมื่อปีที่แล้ว ส่วนที่หมายรองคือการเข้าทำลายกำลังกองพันที่ 15 “BI-15” และฐานยิงสนับสนุนปืนใหญ่ของทหารไทยที่บ้านนา

กองพล 316 ได้รับภารกิจต่อที่หมายหลักเมืองล่องแจ้งและซำทอง ประกอบกำลังด้วยหน่วยรองหลักที่มีอยู่เดิมคือ กรม 148 และ กรม 174 เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย ค.หนัก แซปเปอร์ และอีก 2 กรมคือ กรมอิสระ 335 และ 866

ส่วนที่หมายรองต่อที่หมายบ้านนาเป็นภารกิจของกรม 165 ซึ่งแยกตัวมาจากกองพล 312 โดยมีการเพิ่มเติมกำลังจากกองพันเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตร 1 กองพันปืนกล 12.7 มิลลิเมตรและ 3 หน่วยแซปเปอร์ รวมทั้งหน่วยสนับสนุนขนาดใหญ่ทางด้านการส่งกำลังบำรุงจากตำบลส่งกำลังในทุ่งไหหินเพื่อให้การสนับสนุนจนถึงที่มั่นแนวหน้าสุดของพื้นที่การรบ

กลางดึกของคืนวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2513 กรม 165 พร้อมด้วยกองพันที่ 16 และ 17 ซึ่งเป็นหน่วยขึ้นสมทบ เคลื่อนย้ายกำลังผ่านทุ่งหินมุ่งสู่ที่หมายบ้านนา การข่าวของซีไอเอได้รับรายงานการเคลื่อนไหวกลับคืนสู่สนามรบทุ่งไหหินของทหารเวียดนามเหนือครั้งนี้จากแหล่งข่าวในพื้นที่ ซึ่งเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวในพื้นที่ตั้งแต่ช่องทางหนองเห็ด (Nong Het) บนถนนหมายเลข 7 จนกระทั่งมาแยกย้ายกันที่แก่งไก่ (Khang Khay) ซึ่งน่าจะเป็นกำลังของกรม 165 และเชียงขวางวิลล์ (Xieng Khoungville) ซึ่งน่าจะเป็นกำลังเพิ่มเติมของกองพล 316
ซีไอเอคาดการณ์ว่า การเคลื่อนย้ายกำลังขนาดใหญ่ซึ่งมีหน่วยรถถังและทหารปืนใหญ่ชนิดลากจูงรวมอยู่ด้วยนี้น่าจะหมายถึงแผนการปฏิบัติการขนาดใหญ่ของฝ่ายทหารเวียดนามเหนืออย่างไม่ต้องสงสัย

ผู้บังคับการกรม 165 ที่ได้รับมอบหมายให้เข้าตีบ้านนา คือพันเอก เหงียน ชวง (Nguyen Chuong) ผู้มีประวัติการรบอย่างโชกโชนและยาวนานมาตั้งแต่การรบที่เดียนเบียนฟูครั้งสงครามปลดแอกฝรั่งเศสจนเป็นที่ยอมรับในฝีมือการรบของกองทัพเวียดนามเหนือ พันเอก เหงียน ชวง ได้เขียนรายงานการปฏิบัติครั้งนี้ต่อหน่วยเหนือไว้บางส่วน (People’s Public Security – Cong An Nhan Dan ) สรุปได้ดังนี้...

พันเอก เหงียน ชวง ได้วางแผนการรบต่อที่หมายบ้านนาโดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน…
เริ่มขั้นตอนแรกด้วยการวางกำลัง “ปิดล้อม”กองพันทหารไทย แล้วใช้การยิงจากอาวุธปืนกล 12.7 และปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน 14.5 มิลลิเมตรขัดขวางการส่งกำลังบำรุงเพิ่มเติมจากเฮลิคอปเตอร์
ขั้นตอนที่สอง เข้าโจมตีแตกหักด้วยกำลังหน่วยแซปเปอร์และทหารราบ ประสานกับการยิงสนับสนุนด้วยปืนใหญ่สนามวิถีโค้ง 85 มิลิลเมตรและปืนใหญ่สนามวิถีราบ 122 มิลลิเมตรจากที่ตั้งยิงทางตะวันตกของทุ่งไหหิน
ขั้นตอนที่สองนี้จะสอดประสานกับการเข้าตีของกองพล 316 ต่อที่หมายหลักที่เมืองล่องแจ้งและเมืองซำทองซึ่งอยู่ทางใต้ลงไป

กล่าวโดยสรุปแล้วแผนของพันเอกชวงคือ “ปิดล้อม” แล้ว “เข้าตี”

ในรายงานบางส่วนของพันเอกชวงต่อหน่วยเหนือได้อธิบายแผนการปฏิบัติครั้งนี้ไว้ดังนี้...
“พื้นที่ส่วนกลางของบ้านนาซึ่งกำหนดให้เป็นพื้นที่หมายเลข 1 (Area 1) ประกอบด้วยที่มั่นแข็งแรงของ ข้าศึกเป็นจำนวนมาก ส่วนสำคัญคือกลุ่มที่ตั้งของปืนใหญ่กระสุนวิถีโค้ง 105 มิลลิเมตรและเครื่องยิงระเบิด 106.7 มิลลิเมตร คลังสิ่งอุปกรณ์ พื้นที่ขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์ และกลุ่มที่มั่นแข็งแรง 4 แห่งบนยอดเนินของสันเขาด้านล่าง ที่มั่นเหล่านี้มีการดัดแปลงอย่างแข็งแรง กองพันที่ 6 และกองร้อยแซปเปอร์ที่ 19 ได้รับมอบหมายให้เข้าโจมตีและยึดที่หมายนี้
ข้าพเจ้าได้ขอให้ผู้บังคับหน่วยทุกคนแทรกซึมเล็ดลอดเข้าไปให้ใกล้ที่หมายที่สุด ทำการสำรวจแต่ละที่หมายอย่างละเอียดและใกล้ชิด เพื่อทำความเข้าใจต่อที่หมายอย่างชัดเจนสำหรับการจัดทำแผนเข้าตีต่อแต่ละที่หมาย

พื้นที่สูงของสันเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของบ้านนากำหนดให้เป็นพื้นที่หมายเลข 2 (Area 2)ประกอบด้วยกลุ่มที่มั่นแข็งแรง 4 แห่งซึ่งได้กำหนดนามเรียกขานตามลำดับหมายเลข 3,5,9 และ 11 มอบหมายให้เป็นความรับผิดชอบของกองพันที่ 4
พื้นที่นี้มีหน่วยระดับกองร้อยเพิ่มเติมกำลังจากกองพันทหารไทย B-111 (น่าจะหมายถึง BI-15 ตามนามเรียกขานของฝ่ายไทย/บัญชร) และหน่วยทหารลาว BV รับผิดชอบ

พื้นที่หมายเลข 3 (Area 3) คือบริเวณสันเขาสูงข่มทางใต้อยู่ในความรับผิดชอบของกองพันทหารลาวฝ่ายขวา SGU มีที่มั่นแข็งแรง 4 แห่งเช่นเดียวกัน ซึ่งได้มอบหมายให้กองพันที่ 5 รับผิดชอบ

การวางแผนการปฏิบัติการเข้าตีเป็นไปด้วยความรอบคอบและสมบูรณ์แบบ แต่ 4 วันก่อนเริ่มเปิดฉากการยิง กรมได้รับคำสั่งจากกองบัญชาการแนวหน้าให้จัดส่งกองพันที่ 5 และ 6 ซึ่งเป็นกำลังหลักในการเข้าตีให้โยกย้ายไปเป็นกองหนุนสำหรับกองกำลังที่จะเข้าตีล่องแจ้ง

เรามีเวลาเหลือเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดความยุ่งยากในการปรับแผนและกำลังในการเข้าตีเสียใหม่ ข้าพเจ้าจึงได้เรียกประชุมผู้บังคับหน่วยจนถึงระดับผู้บังคับกองร้อยรวมทั้งฝ่ายอำนวยการกรมเพื่อหารือการปรับแผนการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกำลังที่เหลืออยู่

ประเด็นสำคัญในการหารือคือเราจะกำหนดเป้าหมายและยุทธวิธีในการเข้าตีต่อแต่ละที่หมายเสียใหม่อย่างไร”



“Campaign 74B -ตอนที่ 2”


.......เราต้องทำให้ข้าศึกตกอยู่ในวงล้อม ให้ข้าศึกประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีพ กินไม่ได้ นอนไม่ได้ และต้องอยู่ร่วมกับซากศพของผู้เสียชีวิต……


กำลังที่ขาดหายไปถึง 2 กองพันหรือประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังทั้งสิ้น ในขณะที่ภารกิจมิได้ลดลงนับเป็นเรื่องใหญ่ในการรบ แต่พันเอก เหงียน ชวง ในฐานะผู้บังคับการกรมก็เขียนไว้ในรายงานว่ายังคงมุ่งมั่นต่อภารกิจ ด้วยการปรับแผนเสียใหม่ให้สอดคล้องกับกำลังที่เหลืออยู่...


ในที่สุดที่ประชุมก็มีตกลงใจให้มีการเปลี่ยนแผนการปฏิบัติจากการที่มุ่งเข้าปฏิบัติการเอาชนะที่หมายอย่าง “รวดเร็ว” เป็นปฏิบัติการที่ใช้เวลาให้ “ยาวนาน”มากขึ้น จากการเข้าตีทุกที่หมายพร้อมกันเป็นการเข้าตีต่อที่หมายแข็งแรงของข้าศึก “ครั้งละที่หมาย-ครั้งละพื้นที่” ด้วยการใช้ยุทธวิธี “ปิดล้อมและเข้าตี (Siege and Attack)” โดยการรวมกำลังที่เหนือกว่าแล้วเข้าตีที่หมายให้สำเร็จแต่ละที่หมายไป เพื่อนำไปสู่การทำลายข้าศึกทั้งหมดที่บ้านนาในที่สุด


ที่หมายในการเข้าตีขั้นแรกคือกลุ่มที่มั่นแข็งแรง 3,5,9 และ 11 บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของกลุ่มที่หมายพื้นที่บ้านนา


ที่หมายที่มั่นแข็งแรง 3 ซึ่งมีกำลังทหารไทยยึดอยู่กำหนดให้เป็นที่หมายแรกในการเข้าตีโดยมอบหมายภารกิจให้กองพันที่ 4 และกองร้อยแซปเปอร์ 19

อาวุธหนักที่จะให้การสนับสนุนการเข้าตีที่หมายนี้ได้แก่กองร้อยเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตร ปรส.75 มิลลิเมตร 2 กระบอก เครื่องยิงจรวด B-41 8 เครื่อง และกองร้อยปืนกลหนัก 12.7 มิลิเมตร


การปิดล้อมและเข้าตีที่หมายนี้ให้ใช้กำลัง 1 กองร้อยของกองพันที่ 4 และกองร้อยแซปเปอร์ 19


ปัจจัยสูงสุดของความสำเร็จต่อที่หมายนี่ คือการใช้ 1 หมวดทหารช่างและ 1 หมวดลาดตระเวนในการนำหน้ากระชับวงล้อมต่อข้าศึกให้บีบแน่นขึ้นตามลำดับ โดยผลักดันให้แนวคูรบของฝ่ายเรากระชับที่หมายให้แน่นขึ้นเพื่อบีบรัดข้าศึกแล้วจึงติดตามด้วยกำลัง 1 กองร้อยทหารราบ และส่วนยิงสนับสนุนในการปฏิบัติการปิดล้อมและเข้าตีเพื่อยึดและทำลายที่หมายในขั้นสุดท้าย


หน่วยอาวุธหนักของเราให้มุ่งขัดขวางและป้องกันมิให้เฮลิคอปเตอร์ลงจอดในที่มั่นของข้าศึกอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้มีข้าศึกคนใดเล็ดรอดออกไปและไม่ให้มีข้าศึกคนใดเข้ามาในพื้นที่ที่หมายได้


เราต้องทำให้ข้าศึกตกอยู่ในวงล้อม ให้ข้าศึกประสบกับความยากลำบากในการดำรงชีพ กินไม่ได้ นอนไม่ได้ และต้องอยู่ร่วมกับซากศพของผู้เสียชีวิต…


เมื่อทหารช่างและหมวดทหารราบของเราขุดสนามเพลาะรุกคืบหน้าเข้าไปประชิดที่ตั้งข้าศึกแล้ว ให้ตัดลวดหนามตามวงรอบแนวป้องกันของข้าศึกและสร้างช่องว่างให้เกิดขึ้น 4 ช่องทางเพื่อให้กำลังของเราเคลื่อนที่เจาะผ่านแนวป้องกันของข้าศึกตาม 4 ช่องทางนี้


อาวุธหนักของเราจะต้องระดมยิงและทำลายที่ตั้งยิงของข้าศึกและขจัดกำลังข้าศึกตามแนวเจาะทั้ง 4 นี้


เมื่อสามารถเปิดช่องเจาะทั้ง 4 ตามแผนนี้ได้แล้ว เราจะส่งกำลังส่วนเข้าตีแตกหักเข้าไปด้วยกองร้อยที่ 1 กองพันที่ 4 และกองร้อยแซปเปอร์ 19 โดยแบ่งกำลังเป็น 4 ทิศทางเข้ายึดทำลายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 นี้


เมื่อยึดที่หมาย 3 ได้แล้ว ต่อไปเราจะใช้กำลังเข้าตีที่หมายที่ 5 ที่หมายที่ 9 และสุดท้ายที่หมายที่ 11 ตามลำดับ จากนั้นให้กองร้อยเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตรระดมยิงพื้นที่ 1 และที่มั่นในส่วนกลางของบ้านนา ด้วยความมุ่งหมายหลักคือการกดดันไม่ให้ปืนใหญ่ข้าศึกสามารถยิงสนับสนุนได้ รวมทั้งการยิงทำลายที่หมายกองบังคับการกองพันทหารไทย B-111


ต่อพื้นที่สุดท้ายคือพื้นที่ 3 เราจะใช้กำลังเพียงกองร้อยปืนกลหนัก 12.7 มิลิเมตร และกองร้อยเครื่องยิงลูกระเบิด 82 มิลลิเมตร และหมู่ลาดตระเวนในการยิงข่มแลัควบคุมพื้นที่โดยรอบด้วยอำนาจการยิงเท่านั้น


เมื่อที่มั่นแข็งแรงด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของข้าศึกถูกเข้ายึดและทำลายหมดสิ้นแล้ว เราก็จะประสบความสำเร็จในการขจัดอิทธิพลของข้าศึกในพื้นที่ตอนกลางและตะวันออกเฉียงใต้ของพื้นที่ปฏิบัติการได้ทั้งหมดโดยสิ้นเชิง


แผนการปฏิบัติได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม...


หลังปรับแผนการปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เหลือเวลาอีกเพียงวันเดียวเท่านั้นก่อนเริ่มปฏิบัติการตามแผน ทุกหน่วยต่างกระตือรือล้นเต็มที่ในการเข้าสู่สนามรบ ทหารทุกคนมีความเชื่อมั่นและกระหายในชัยชนะตามแผน แต่กระนั้นข้าพเจ้าก็ยังคงมีความกังวลอยู่ลึกๆ เนื่องจากหน่วยของเรามีกำลังลดลงทำให้ต้องใช้กำลังที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ในการเข้าตีต่อกลุ่มที่มั่นแข็งแรงทั้งหมด ถึงแม้ว่าทุกหน่วยของกรมจะพยายามใช้การรวมกำลังกันอย่างที่สุดในการเข้าตีแล้ว เรายังต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการเลือกจะโจมตีต่อที่หมายใดก่อนหลังให้เหมาะสม


เราต้องมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะต่อทุกที่หมายได้ตามลำดับขั้นตามแผนที่กำหนดไว้ เพราะหากมีที่หมายใดทำไม่สำเร็จก็จะนำไปสู่การชะงักงันของแผนทั้งหมดของฝ่ายเรา…


เสนาธิการกรม โด ฟู วัง (Do Phu Vang) เข้าใจดีถึงความกังวลของข้าพเจ้าจากการที่ถูกดึงกำลังออกไปจากกรมถึง 2 กองพัน เราจึงให้ความสนใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดทำแผนการปิดล้อมและเข้าตีต่อที่หมายที่ 3 ซึ่งเป็นที่หมายแรกของปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจในความสำเร็จอันจะนำไปสู่การรักษาน้ำหนักในการปฏิบัติการต่อที่หมายลำดับต่อๆไป


แผนการปฏิบัติของฝ่ายทหารเวียดนามเหนือทั้งหมดนี้ ทำให้เราสามารถเห็นภาพรวมในการยุทธของทั้งสองฝ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น





“Campaign 74B -ตอนที่ 3”

......เวลา 15.00 น.ข้าศึกพยายามตอบโต้ฝ่ายเราอย่างสุดกำลัง ปืนใหญ่ต่อปืนใหญ่ยิงตอบโต้กันไปมา ทหารราบยิงต่อสู้กับทหารราบ ขณะที่ปืนกลหนัก 12.7 ม.ม.ของเราสามารถป้องกันการส่งเสบียงทางอากาศด้วยร่มชูชีพอย่างได้ผล.....

เมื่อทุกอย่างพร้อมตามแผนการรบก็ถึงขั้นการปฏิบัติ พันเอก เหงียน ชวน บันทึกรายงานต่อไปว่า...

“ขณะนี้ถึงเวลา 20.00 น. ดวงจันทร์ส่องแสงสาดส่องผ่านใบไม้ของป่าทึบ ข้าพเจ้าดีใจเงียบๆ เพราะแสงสว่างนี้จะทำให้หน่วยรบสามารถเตรียมการเข้าตีได้ง่ายขึ้น

ปืนใหญ่ข้าศึกยังคงยิงฉากป้องกันที่ตั้งต่อไป เครื่องบินข้าศึกก็ยังคงทิ้งระเบิดตามพิกัดเป้าหมายที่เตรียมการไว้ล่วงหน้า บางครั้งก็ตกใกล้บางครั้งก็ตกไกลออกไป กระสุนส่องสว่างทำให้สนามรบสว่างไสว ร่มพยุงกระสุนล่องลอยไปตามกระแสลม แล้วค่อยๆลับหายไปในแสงจันทร์

ทันใดนั้นเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น พนักงานสื่อสารรายงานให้ทราบว่า ขณะนี้ฝ่ายเราได้วางกำลังโอบล้อมพื้นที่ที่หมาย 2 ไว้เรียบร้อยแล้ว ที่ตรวจการณ์รายงานว่าข้าศึกยังคงไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ
ทุกหน่วยรอคำสั่งเปิดฉากการยิง ซึ่งหมายความว่ากำลังของเราได้เข้าไปประชิดที่มั่นของข้าศึกขณะที่ข้าศึกยังไม่รู้ว่าเราได้วางกำลังรายล้อมไว้แล้ว

ยังเหลือเวลาอีก 10 นาทีก่อนกำหนดเปิดฉากการยิง ข้าพเจ้ารับรายงานเหล่านี้ด้วยความยินดี แต่อีกด้านหนึ่งก็รู้สึกเครียด การสู้รบคงจะเป็นไปอย่างรุนแรงอย่างถีงที่สุดท้าทายความสำเร็จของฝ่ายเรา เราจึงต้องใช้ความระมัดระวังและรอบคอบยิ่งกว่าการรบทุกๆครั้งที่ผ่านมา

ข้าพเจ้าต้องเอาชัยชนะให้ได้ หน่วยของเราจะล้มเหลวไม่ได้ นี่คือความสำนึกต่อความรับผิดชอบและเกียรติยศของข้าพเจ้า

การสู้รบเริ่มขึ้นอย่างรุนแรง เสียงกระสุนปืนใหญ่ รวมทั้งเสียงระเบิดจากเครื่องยิงระเบิดทุกขนาด ประสานกับเสียงกระสุนปืนกลทั้งขนาดหนักและขนาดกลางสั่นสะเทือนไปทั่วขุนเขาและผืนป่า กระสุนส่องวิถีส่องแสงประสานไปทั่วพื้นที่เหนือศีรษะ รวมทั้งพลุส่องแสงทำให้พื้นที่ป่าสว่างไสวไปทั่วทั้งบริเวณ

ที่ตรวจการณ์รายงานให้ทราบว่า การระดมยิงด้วยปืนใหญ่ของเราสามารถกดดันพื้นที่ส่วนกลางและทำลายกองบังคับการและที่ตั้งปืนใหญ่ของข้าศึกอย่างได้ผล

กำลังของเราเริ่มเข้าโจมตีพื้นที่ที่หมายที่ 2 โดยเคลื่อนที่เข้าไประชิดขอบรั้วลวดหนามและเร่งขุดหลุมบุคคลเข้าไปใกล้การวางกำลังของข้าศึก

ปืนไร้แรงสะท้อนถอยหลังและเครื่องยิงระเบิดระดมยิงที่หมายได้อย่างแม่นยำจนสามารถทำลายที่ตั้งปืนกลของข้าศึกได้ 3 แห่ง รวมทั้งยิงกดที่ตั้งปืนกลอื่นๆของข้าศึกจนไม่สามารถยิงตอบโต้ได้

ระหว่างการเข้าตีที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ในพื้นที่ที่หมายที่ 2 แห่งนี้ การยิงตอบโต้จากข้าศึกเป็นไปอย่างเบาบาง

เราติดตามความคืบหน้าจากแนวรบติดต่อกันไปจนถึงเช้าวันใหม่ กำลังของเราสามารถเจาะฝ่าแนวลวดหนามของข้าศึกไปได้อีก 2 ชั้น จนสามารถยึดแนวคูติดต่อในที่มั่นแข็งแรงที่ 5 และ 9 และต่อมาก็สามารถเจาะแนวลวดหนามชั้นสุดท้ายจนสามารถทำลายหลุมปืนกลได้อีก 3 แห่ง

เรายังไม่ได้รับรายงานใดๆจากที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 11 แต่อย่างใด ส่วนในพื้นที่ที่หมาย 1 ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองบังคับการถูกทำลายอย่างหนักจากกระสุนปืนใหญ่ของฝ่ายเรา คลังสิ่งอุปกรณ์ตกอยู่ในเปลวเพลิง ที่ตั้งปืนใหญ่ก็เสียหายอย่างหนักจนไม่สามารถยิงสับสนุนได้ เราไม่ได้เห็นการเคลื่อนไหวใดๆของปืนใหญ่เหมือนเช่นก่อนหน้านี้

ส่วนกำลังข้าศึกในที่พื้นที่ที่หมาย 3 ยังคงนิ่งเงียบและไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ

ฝ่ายอำนวยการของเราประมาณสถานการณ์ว่า หน่วยของเราปฏิบัติการรบได้อย่างดีเยี่ยม และหากยังรักษาน้ำหนักการรุกระดับนี้ไว้ได้ เราก็สามารถเตรียมการเข้าตีแตกหักด้วยกำลังกองร้อยที่ 1 และ กองร้อยแซปเปอร์ 19 เพื่อเข้ายึดที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ได้ในคืนนี้

ข้าพเจ้าเห็นด้วยแล้วสั่งการให้เตรียมการปฏิบัติได้ ข้าพเจ้ากำชับให้หน่วยเข้าโจมตีทั้งสองตรวจสอบและเพ่งเล็งเป็นพิเศษต่อการเข้าโจมตีข้าศึกที่ประจำอยู่ในแนวคูรบและบังเกอร์ใต้ดิน

ส่วนเวลาเข้าปฏิบัติการนั้นให้รอแสงสว่างจากดวงจันทร์ซึ่งจะเป็นเวลาประมาณ 21.00 น.

แผนการปฏิบัติเป็นส่วนรวมในการเข้ายึดที่หมายนี้จะเริ่มด้วยการระดมยิงเตรียมของปืนใหญ่ติดต่อกันเป็นเวลา 3 นาทีต่อที่มั่นแข็งแรงที่ 3 เป็นลำดับแรก แล้วให้เลื่อนฉากการยิงไปยังที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 5 และ 9

เสร็จสิ้นการยิงเตรียมของทหารปืนใหญ่ จากนั้นกำลังของเราก็จะเปิดฉากบุกเข้าสู่ที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ทันที ทั้งนี้ต้องไม่รีบร้อนหรือชักช้าลังเล เพราะขณะที่เลื่อนฉากการยิงไปยังพื้นที่เป้าหมายอื่นนั้น หน่วยในแนวหน้าของเราต้องฉวยโอกาสเข้าบุกทันที ก่อนข้าศึกจะตั้งตัวได้

เราต้องรีบรุกเข้าประชิดที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 นี้ให้เร็วที่สุด เพื่อทำลายทั้งที่ตั้งอาวุธหนักและบังเกอร์ใต้ดินของข้าศึก

และในเวลาเดียวกันนี้ ข้าพเจ้าจะออกคำสั่งให้ปืนกล 12.7 ม.ม.ยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นไปในท้องฟ้าเพื่อเป็นสัญญาณให้ส่วนโอบล้อมเคลื่อนที่ประชิดข้าศึกเข้าไปให้กระชับและใกล้ยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันการเข้ามาของเฮลิคอปเตอร์ที่จะส่งกำลังหนุนเพิ่มเติมหรือรับคนบาดเจ็บกลับไป

ยิ่งเราวางกำลังใกล้ข้าศึกเท่าใด ก็จะยิ่งปลอดภัยจากการทิ้งระเบิดและการระดมยิงจากเครื่องบินข้าศึกมากขึ้นเท่านั้น

การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงตามลำดับจนถึงวันรุ่งขึ้น ...

เวลา 15.00 น.ข้าศึกพยายามตอบโต้ฝ่ายเราอย่างสุดกำลัง ปืนใหญ่ต่อปืนใหญ่ยิงตอบโต้กันไปมา ทหารราบยิงต่อสู้กับทหารราบ ขณะที่ปืนกลหนัก 12.7 ม.ม.ของเราสามารถป้องกันการส่งเสบียงทางอากาศด้วยร่มชูชีพอย่างได้ผล

เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ทิ้งระเบิดแบบปูพรมรอบๆพื้นที่บ้านนา ฝุ่นควันและเปลวไฟครอบคลุมพื้นที่อย่างหนาแน่น
จนดูเหมือนว่าจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดๆสามารถรอดชีวิตอยู่ได้.

หมายเหตุ : เทียบกับบันทึก“นรกบ้านนา” ของ “หัวหน้าใจ” “ที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ในพื้นที่ที่หมายที่ 2” แห่งนี้ ตรงกับที่มั่นของ “กองร้อยสุรินทร์” ซึ่ง ร.ต.พนา สมิตานนท์ “เหมียว” เป็นผู้บังคับหมวดอยู่.


“Campaign 74B -ตอนที่ 4”

........ทุกหน่วยต่างรายงานเข้ามาว่าสามารถยึดที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ของข้าศึกได้แล้ว…..

“เราผลัดกันเฝ้าติดตามสถานการณ์ด้วยความเป็นห่วงทหารของเราในแนวหน้า ขณะเดียวกันก็คิดถึงการเข้าตีครั้งสุดท้ายต่อที่มั่นข้าศึกซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในคืนนี้

ทุกครั้งหลังระลอกการโจมตีทิ้งระเบิดจากเครื่องบินของข้าศึก เราจะใช้โทรศัพท์สนามสอบถามไปยังหน่วยแนวหน้าสุดเพื่อขอทราบสถานการณ์
หลังจากที่ได้รับคำตอบว่าทุกหน่วยยังคงปลอดภัย ทุกคนก็จะแสดงความดีใจออกมาจนเห็นได้ชัด

เวลา 17.00 น.ฝ่ายยุทธการได้บรรยายสรุปสถานการณ์ซึ่งทำให้เสมือนยกภูเขาออกจากอกกองบังคับการเมื่อได้ทราบว่าทุกหน่วยยังคงปลอดภัย โดยเฉพาะที่มั่นแข็งแรงหมายเลข 3 ฝ่ายเราสามารถทำลายที่ตั้งปืนกลได้เพิ่มมากขึ้นอีก 4 แห่ง รวมทั้งสามารถตัดแนวลวดหนามป้องกันที่มั่นทุกๆแนวเพื่อเปิดทางบุกเข้าประชิดที่หมาย
ขณะที่ข้าศึกต่างพากันถอนตัวจากแนวคูติดต่อชายขอบพื้นที่ป้องกันฐานแล้วเข้าไปหลบอยู่ในบังเกอร์ซึ่งอยู่ลึกเข้าไป

ร่มทิ้งสัมภาระที่เครื่องบินของข้าศึกนำมาทิ้งให้กับฝ่ายศัตรูในที่มั่นตกลงมารอบๆที่วางตัวของฝ่ายเรา มีทั้งเนื้อไก่สด มีทั้งขนมปัง รวมทั้งกะหล่ำปลีและหัวหอม ฯลฯ มีเพียงแค่ 2 ร่มเท่านั้นที่ตกลงไปในพื้นที่หลังแนวรั้วลวดหนามของข้าศึก แต่ไม่มีทหารข้าศึกคนใดที่กล้าออกมาเก็บกู้สัมภาระเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์





บรรยากาศในกองบัญชาการยิ่งคึกคักขึ้นไปอีก ท้องฟ้าภายนอกเริ่มมืดสลัวเมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆลาลับขอบฟ้า หมอกบางๆปกคลุมทั่วพื้นที่ ส่งผลให้ทัศนวิสัยต่อพื้นที่บ้านนามีลักษณะจำกัดยิ่งขึ้น แต่เราก็ยังได้เห็นประกายไฟจากปากกระบอกอาวุธหนักของข้าศึกที่ยิงออกมาจากในฐาน

เวลา 19.00 น.กำลังของเราทุกพื้นที่เริ่มเคลื่อนที่รุกไปข้างหน้า
พอถึงเวลา 20.00 น.ก็ได้รับรายงานจากที่ตรวจการณ์ ทั้งจากหน่วยที่อยู่ใกล้และอยู่ห่างไกลออกไป จากหน่วยทหารปืนใหญ่ จากกองร้อยทหารราบที่ 1 และกองร้อยแซปเปอร์ที่ 19 …

ทุกหน่วยรายงานตรงกันว่า พร้อมปฏิบัติการและเฝ้ารอคำสั่งเข้าตีเพื่อเข้าบดขยี้ที่มั่นของข้าศึก

ขณะที่ข้าพเจ้ากำลังรวบรวมสมาธิ กับสถานการณ์เบื้องหน้า เสนาธิการกรม โด ฟู วัง ก็เข้ามาเตือนว่าถึงเวลาเปิดฉากการยิงแล้ว
ข้าพเจ้าเหลือบดูนาฬิกาแล้วสั่งเปิดฉากการยิงเพื่อเริ่มออกตีทันที

ข้าพเจ้าได้ยินเสียงนายทหารยุทธการและพนักงานวิทยุถ่ายทอดคำสั่งออกไป และเพียงแค่ชั่วอึดใจก็ได้ยินเสียงปืนใหญ่และเครื่องยิงระเบิดปล่อยกระสุนออกไป
เขย่าทั้งผืนป่าและขุนเขาของลาว...

ข้าพเจ้าจับเวลาการยิงเตรียมจากปืนใหญ่ที่ระดมเข้าสู่เป้าหมาย ณ ที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 เมื่อครบ 3 นาทีก็ออกคำสั่งให้เลื่อนฉากการยิงไปยังที่มั่นแข็งแรงที่ 5 และ 9 ตามลำดับ จากนั้นก็สั่งการให้ปืนกลขนาด 12.7 ม.ม.ยิงกระสุนส่องวิถีเพื่อแสดงทิศทางการเคลื่อนที่และกดข้าศึกไว้ไม่ให้โงหัวขึ้น

ขณะที่กำลังแตกหักของเราบุกชาร์จที่หมายเพื่อโจมตีกวาดล้างและเข้ายึดที่มั่นแข็งแรงที่ 3

6 นาทีต่อมา ข้าพเจ้าไม่ได้ยินเสียงปืนใดๆจากภายในที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ทั้งจากฝ่ายเราและฝ่ายศัตรู ทั้งกองร้อยทหารราบที่ 1 และกองร้อยแซปเปอร์ที่ 19 ก็มิได้ส่งรายงานใดๆเข้ามายังกองบังคับการ สร้างความวิตกและความห่วงใยต่อข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง
เกิดอะไรขึ้นกับหน่วยของเราในการเข้าตีที่หมายที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ?

แต่ไม่นานที่ตรวจการณ์ของเราก็รายงานเข้ามาว่า ได้ยินเสียงปืนอาร์ก้า-47 จากภายในที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ซึ่งถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงระเบิดดังกึกก้องมาจากภายในที่ฟังการณ์ของข้าศึก และยังได้ยินเสียงปืนอาร์ก้า-47

ข้าพเจ้าจึงคาดการณ์ว่าเด็กๆของเราสามารถยึดคูติดต่อแนวหน้าสุดของข้าศึกได้แล้ว

10 นาทีต่อมา ทุกหน่วยต่างรายงานเข้ามาว่าสามารถยึดที่มั่นแข็งแรงที่ 3 ของข้าศึกได้เบ็ดเสร็จแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พวกเราสามารถยึดได้เพียงบังเกอร์เหนือพื้นดินเท่านั้น ยังไม่สามารถทำลายบังเกอร์ข้าศึกที่อยู่ใต้ดิน

ข้าพเจ้ารู้สึกเหมือนยกภูเขาออกจากอก หลายคนในกองบัญชาการแสดงความดีอกดีใจทั้งเสียงพูดคุยและเสียงหัวเราะ ข้าพเจ้าเปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงออกเต็มที่ เพราะข้าพเจ้าเองก็รู้สึกยินดีไม่ผิดจากพวกเขา และอยากส่งเสียงเชียร์อย่างพวกเขาเช่นเดียวกัน

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีข้าศึกที่ยังมีชีวิตหลงเหลืออยู่ในบังเกอร์ใต้ดินแต่อย่างใด บังเกอร์ใต้ดินเหล่านี้มีมากกว่าหนึ่งชั้นเพราะเชื่อว่ายิ่งอยู่ลึกลงไปเท่าใดก็จะยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น

เราสามารถเข้าตีและทำลายกำลังข้าศึกที่อยู่บังเกอร์ชั้นบนได้และเข้าใจว่าภารกิจสำเร็จแล้ว แต่กลับกลายเป็นว่ายังมีบังเกอร์อีกชั้นหนึ่งอยู่ต่ำลงไป

ข้าศึกให้ความเชื่อมั่นอย่างผิดๆต่อบังเกอร์คอนกรีตเสริมแรง โดยมองข้ามไปว่ามันจะกลับกลายเป็นโลงศพขนาดยักษ์สำหรับทหารรับจ้างจำนวนมากที่สู้รบเพื่อจักรวรรดินิยมอเมริกา

ข้าพเจ้าติดต่อทางวิทยุเพื่อแสดงความชื่นชมยินดีกับผู้บังคับกองร้อยที่ 1 และผู้บังคับกองร้อยแซปเปอร์ที่ 19 กับความสำเร็จในภารกิจและปฏิบัติการอันยอดเยี่ยมครั้งนี้ แล้วออกคำสั่งให้ถอนตัวกลับมายังจุดที่กำหนดไว้ในแผนเข้าตี จากนั้นก็โอนความรับผิดชอบในการป้องกันที่มั่นที่ยึดได้ให้กับหน่วยที่มีภารกิจวางกำลังโอบล้อม

หน่วยลำเลียงของเราเคลื่อนที่เข้าไปแนวหน้าเพื่อเก็บรวบรวมอาวุธ กระสุน และเครื่องสเบียงรวมทั้งยุทโธปกรณ์อื่นๆที่เรายึดไว้ได้
จากนั้นก็เตรียมเริ่มปฏิบัติตามแผนที่จะเข้าตีที่มั่นแข็งแรงที่ 5 และ 9 ต่อไป

กองพันที่ 4 กับกองร้อยที่ 2 และ 3 ได้รับคำสั่งให้เตรียมพร้อม...

ที่บังคับการกรมของข้าพเจ้าเคลื่อนย้ายที่ตั้งเข้าไปใกล้ศูนย์กลางพื้นที่บ้านนา-ศูนย์กลางการบังคับบัญชาของข้าศึกเข้าไปอีก.

 

“Campaign 74B - ตอนที่ 3 ”


........รายงานฉบับนี้มีความคลาดเคลื่อนหลายแห่ง และมีลักษณะยกย่องตนเองมากเกินไป ไม่มีเฮลิคอปเตอร์บินลงที่บ้านนาเพื่ออพยพกำลังทหารไทยแต่อย่างใด……


พันเอก เหงียน ชวน รายงานความสำเร็จในการเข้ายึดบ้านนาปิดท้ายว่า...

“ ตลอดทั้งวันต่อมา ข้าศึกโจมตีโต้ตอบเราอย่างบ้าคลั่ง รวมทั้งมีการทิ้งระเบิดแบบปูพรมจากเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีการใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติในระดับยุทธวิธีเช่นนี้ จึงสร้างความสับสนและไม่มั่นใจต่อฝ่ายเราในการประเมินท่าทีของข้าศึก


ต่อมาเราจึงได้รับคำตอบว่าว่า การระดมทิ้งระเบิดทางอากาศครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการถอนตัวจากพื้นที่การรบของข้าศึก โดยต่อมาฝ่ายข้าศึกก็ส่งเฮลิคอปเตอร์มายังพื้นที่ศูนย์กลางบ้านนา ซึ่งในชั้นแรกข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นการส่งกำลังเคลื่อนที่เร็วเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือที่ตั้งกองบังคับการของข้าศึก


ข้าพเจ้าคาดไม่ถึงว่า แท้จริงแล้วกลับเป็นการถอนกำลังข้าศึกออกจากที่มั่น จนกระทั่งเมื่อกองพันของฝ่ายรัฐบาลลาวซึ่งวางตัวทางด้านปีกขวาแตกพ่ายและหลบหนีจากที่มั่น ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่าข้าศึกกำลังถอนตัวจากพื้นที่บ้านนาจึงออกคำสั่งให้หน่วยของเราไล่ติดตามข้าศึกที่กำลังพยายามหลบหนีเหล่านี้ทันที แต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงสามารถสังหารข้าศึกได้เพียงจำนวนน้อยและจับเชลยศึกได้เพียง 30 คนเท่านั้น


ในที่สุดเมื่อเวลา 19.00 น. กำลังของฝ่ายเราก็เข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมด รวมทั้งคลังกระสุนและคลังอาวุธ ทำให้สามารถยึดอาวุธและสิ่งอุปกรณ์ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก


เมื่อสามารถกำชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อฝ่ายอำนวยการด้านยุทธการให้ส่งรายงานไปยังกองบัญชาการส่วนหน้าว่า กรมของเราสามารถปลดปล่อยบ้านนาได้เรียบร้อยแล้ว


แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าถึงกับงงงันไปชั่วขณะเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ส่วนเข้าตีหลักของเราล้มเหลวในการเข้ายึดที่หมายล่องแจ้งและกำลังถอนตัว


ข้าพเจ้าจึงออกคำสั่งให้หน่วยวางกำลังยึดรักษาพื้นที่บ้านนาไว้ให้เหนียวแน่นป้องกันการเข้าตีเพื่อยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายข้าศึก”


JAMES E. PARKER JR ผู้เขียน BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ให้ความเห็นต่อรายงานความสำเร็จของ พันเอก เหงียน ชวน ว่า...

“รายงานฉบับนี้มีความคลาดเคลื่อนหลายแห่ง และมีลักษณะยกย่องตนเองมากเกินไป ไม่มีเฮลิคอปเตอร์บินลงที่บ้านนาเพื่ออพยพกำลังทหารไทยแต่อย่างใด ขณะที่กรม 165 สามารถเข้ายึดที่มั่นแข็งแรงบางจุดของกองพันทหารราบ 15 ได้จริง แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกำลังทั้งหมดของทหารไทยในที่มั่น และไม่สามารถเข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมดขณะที่ทหารไทยวางกำลังอยู่ในที่มั่นแต่อย่างใด”


รายงานของ พันเอก เหงียน ชวน ก็ขัดแย้งกับ “นรกบ้านนา” ของ “หัวหน้าใจ”-พลตรี ประจักษ์ วิสุตกุล ที่บันทึกเหตุการณ์ครั้งกองพัน BI-15 ถอนตัวจากบ้านนา หลังแผนการส่งกำลัง 2 กองพันทหารเสือพรานเพื่อเข้าแก้สถานการณ์ที่บ้านนาแล้วเกิดเหตุการณ์ทิ้งระเบิดผิดพลาดใน 3 เมษายน พ.ศ.2514 ดังนี้


“ผมไม่อยากคิดอะไรอีกแล้วจากเหตุการณ์ในวันนั้นที่ผ่านมาหลังจากการทิ้งระเบิดผิดพลาดโดนฝ่ายเรากันเองคือพี่น้องเสือพรานที่กำลังจะเข้ามาช่วยพวกเราที่บ้านนาต้องสูญเสียอย่างหนักแทบละลายทั้งกองพันแล้วต้องถอนกำลังออกไปทั้ง 2 กองพัน เพื่อตั้งหลักและปรับแผนฟื้นฟูกำลังกันใหม่ ก็คงต้องใช้เวลานานพอสมควรในการฟื้นฟูกำลังหรือส่งหน่วยใหม่เข้ามาที่บ้านนาเพื่อช่วยพวกเรา”


“คงต้องทำใจกับเรื่องนี้เพราะทุกอย่างสูญสลายไปแล้วจากเหตุการณ์ในวันนั้นสู้มาคิดต่อไปว่าแล้วพวกเราที่บ้านนาจะทำอย่างไรต่อไปเมื่อเหตุการณ์พลิกผันไปเช่นนี้ ความหวังที่ใครจะมาช่วยพวกเราคงไม่มีอีกแล้ว BI- 15 จะดำเนินการอย่างไรต่อไปเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้พันท่านจะมีแผนอย่างไร คงต้องรอท่านตัดสินใจและหารือกับหน่วยเหนือ พวกเราคงมีเวลาไม่มากนักในการตัดสินใจที่จะอยู่ต่อไปหรือถอนตัวออกจากบ้านนา คงต้องเป็นเรื่องของผู้บังคับบัญชาที่ท่านต้องตัดสินใจแล้ว

มันคงจะไม่ปล่อยให้พวกเราอยู่ต่อไปที่บ้านนาแน่ และผมเชื่อว่าการจัดการพวกเราที่บ้านนามันต้องทุ่มกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกอย่างเข้าถล่มเราและใช้หน่วยกำลังภาคพื้นดินเข้าโอเวอร์รันทันทีในช่วงเวลากลางคืนทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทางอากาศของเราที่เป็นเครื่องมือของฝ่ายเราอย่างเดียวที่จะช่วยได้ มันคงไม่เสี่ยงเข้าตีเราที่บ้านนาในช่วงเวลากลางวันอย่างแน่นอน

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งของพวกเราที่ต้องสูญเสียอย่างหนักหลังเหตุการณ์วันเสียกองร้อยสุรินทร์ไป”


“4 เมษายน พ.ศ. 2514…วันรุ่งขึ้นทุกอย่างยังคงเป็นปกติไม่มีเหตุการณ์ใดๆทั้งข้าศึกและฝ่ายเรา

หลังจัดการกับอาหารกระป๋องมื้อเช้า ผมได้รับคำสั่งให้ไปประชุมที่บกพัน BI- 15 ในเวลา 10.00

น. ผมเดาไม่ผิด ผู้พันต้องมีการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอนและเรียกประชุมพวกเราด่วนในเช้าวันนี้


ใกล้เวลา 10.00 น.ผมเรียกจ่าบุญมาสั่งการบอกให้พวกเราพักผ่อนตามสบาย ห้ามออกจากแนวอย่างเด็ดขาด จัดเวรยามตรวจการณ์ไปข้างหน้าตลอดเวลา ผมจะไปประชุมพร้อม ผบ.หมู่ 2 คนของผม ผมพาลูกน้องเดินลัดเลาะไปในแล้วคูจนสุดทางทิศตะวันออกจึงขึ้นจากคูแล้วพวกเราก็วิ่งไปยังบังเกอร์ บก.พัน ทันที ผมพา ผบ.หมู่ ลูกน้องผมเข้าไปในห้องประชุมโดยเร็ว


ห้องประชุมเป็นบังเกอร์ขนาดใหญ่ มีที่นั่งเป็นไม้กลมแบบท่อนซุงวางยาวบนฐานที่เป็นท่อนไม้สั้นๆสูงพอดีให้นั่งกันได้ห้องประชุม บก.พัน B- 15 ยังดีอยู่ไม่โดนอาวุธหนักและปืนใหญ่ข้าศึกด้านตรงข้ามข้างหน้ามีแผนที่ยุทธการขนาดใหญ่ผมเห็นนายทหารระดับหัวหน้าหน่วยหลายคนมานั่งรอกันแล้ว น่าจะเป็นการประชุมนายทหารทุกคนทุกระดับ ผมเป็นนายทหารระดับเด็กๆและเพื่อนผมก็มาประชุมกันหมดทุกคน ไอ้ย้งไอ้เหมียวและไอ้มิตรมากันครบทุกคน เว้นเพื่อนที่เสียชีวิตไปแล้ว 2 คนไอ้ปิ้งกับไอ้มอสมันคงสบายไปแล้วทั้งสองคน ผมเห็นนายทหารฝ่ายอำนวยการเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั่งอยู่ซ้ายขวาของโต๊ะประชุมหน้าแผนที่ยุทธการ ในนั้นมีพี่เกริกซึ่งเป็น ผบ.ฐานปืนพันเชอร์นั่งอยู่ด้วย นอกนั้นเป็นนายทหารฝ่ายอำนวยการของกองพัน B-15 ทุกคนมีสีหน้าเคร่งเครียดไม่ค่อยมีคนคุยกัน


ผมนั่งอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆดูทุกคนร่างกายหน้าตาทรุดโทรมมากไม่ว่าจะเป็นเหล่าราบหรือเหล่าปืนโทรมเหมือนกันจากเหตุการณ์และการกรำศึกมาเกือบปี ระหว่างรอผู้พันผมก็พูดคุยกันเบาๆ ผมคุยกับไอ้เหมียวว่า “เฮ้ย มึงรู้ไหมว่าเขาจะเอากันยังไงต่อไปวะในเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้แล้ว” ไอ้เหมียวบอก “กูก็ไม่รู้ว่ะ กูคุยกับไอ้ย้ง ไอ้มิตรแล้วมันบอกว่าพวกกูก็ไม่มีอะไรจะสู้กับพวกมันแล้ว โดยเฉพาะปืนใหญ่ของกูก็ไม่เหลืออะไรแล้ว 105 ที่เหลืออยู่กระบอกเดียวก็ไม่มีกระสุนจะยิงแล้วเพราะส่งกำลังให้ไม่ได้มานาน” ไอ้เหมียวบอกเพื่อนย้งเพื่อนมิตร”กูกับไอ้จักษ์ก็ไม่เหลือเหมือนกัน กูจะขอรวมกำลังกับของมันได้เกือบหมวดปืนเล็ก แล้วพวกเราจะอยู่หรือจะถอนวะ”


ไม่มีใครตอบได้ แต่ฟังเสียงจากพวกเราเป็นส่วนใหญ่แล้วคงจะอยู่ให้มันมาเหยียบกบาลเราไม่ได้แล้ว น่าจะต้องถอน ส่วนกองพันก็เสียหายเยอะหรือส่วนของ บก.ร้อย BI- 15 ของผู้กองสุรยุทธ์กับหมวดปืนเล็ก 2 ของไอ้เหิรที่ยังดีสมบูรณ์อยู่ ไม่มีอะไรเสียหาย นอกนั้นแย่หมด คงต้องรอผู้พันท่านจะเอาอย่างไร และคงต้องตัดสินใจกันภายในวันนี้ว่าจะเอายังไงกัน อยู่หรือถอน ถ้าช้าอาจจะไม่ทันการ ถ้ามันทุ่มกำลังเข้าตีเราในคืนนี้หรือคืนพรุ่งนี้เมื่อเราไม่มีอะไรจะสู้กับมัน ผมไม่อยากนึกภาพว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเราที่บ้านนา คงจะสับสนอลหม่านไปหมดไม่มีใครช่วยใครได้ ตัวใครตัวมัน และคงไม่ต้องบอกถึงความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นตามมา


ผมเห็นผู้พันเดินเข้ามาในห้องประชุมแล้วไม่ต้องบอกสีหน้าท่านเคร่งเครียดมาก ผอมดำจากการกรำศึกเช่นเดียวกันกับพวกเรา ท่านนั่งลงที่โต๊ะของท่านระหว่างกึ่งกลางของนายทหารชั้นผู้ใหญ่สักครู่ท่านจึงพูดว่า

“ที่เรียกกันมาประชุมด่วนในวันนี้คงจะรู้และทราบถึงสถานการณ์กันดีแล้วนะทุกคน จำเป็นต้องหารือพวกเราระดับหัวหน้าหน่วยและนายทหารทุกๆคน และอยากให้ทุกคนออกความเห็นว่าเราจะทนอยู่ต่อไปเพื่อให้หน่วยเหลือส่งกำลังเข้ามาใหม่แล้วช่วยเรา หรือจะถอนออกจากพื้นที่ในตอนนี้”

มีเสียงอื้ออึงจากพวกเราในที่ประชุมแบบพูดคุยและถกเถียงกัน ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าต้องถอนตัวออกจากบ้านนาโดยเร็วก่อนที่ข้าศึกจะทุ่มกำลังเข้าโจมตีเราในเร็ววันนี้


นายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายคนเหมือนตัวแทนพวกเราที่เป็นนายทหารเด็กๆให้เหตุผลกับผู้พันว่าคงต้องถอน ถ้าจะอยู่ถ้าอยู่จะต้องเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่มากกว่านี้แน่ และไม่ทราบว่านานเท่าไหร่ที่จะมีกำลังหน่วยใหม่มาช่วยเราอีกหรือไม่ยังไม่มีอะไรแน่นอน นอกจากนั้นการส่งกำลังหรือเสริมกำลังอาวุธยุทโธปกรณ์ก็ไม่สามารถทำได้เลยในสถานการณ์ปัจจุบัน พวกเราก็ทนกันมามากพอสมควรแล้วและถึงที่สุด เนื่องจากแผนการช่วยเหลือของพวกเราล้มเหลวไปแล้วจากเหตุการณ์เมื่อวานนี้ น่าจะเป็นมติส่วนรวมของพวกเราแล้ว


ท่านคงประมาณถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลที่มีผู้ออกความเห็นว่าควรถอนตัวออกจากบ้านนาซึ่งเป็นความเห็นส่วนใหญ่และแม้ว่าพวกเราจะรู้สึกถึงความเป็นผู้นำหน่วยของท่านที่ต้องรับผิดชอบพวกเราทุกคนที่บ้านมา รวมทั้งเกียรติและศักดิ์ศรีความเป็นทหารไทยด้วย แต่ด้วยเหตุผลของส่วนรวมทำให้ท่านต้องยอมตามมติของพวกเรา ท่านนิ่งสักครู่แล้วพูดขึ้นว่า

“เอาล่ะ เมื่อทุกคนส่วนใหญ่เห็นว่าเราควรต้องถอนตัวออกจากบ้านนา ผมก็จะถอนและจะขออนุมัติกับหน่วยเหลือทันทีในวันนี้และในสถานการณ์ขณะนี้ พวกเราถูกข้าศึกล้อมไว้เกือบทุกด้านแล้ว พวกเราจะแหวกวงล้อมข้าศึกไปทางไหนอย่างไร” เป็นคำถามที่ท่านถามพวกเรา ไม่ว่าจะออกทางไหนล้วนมีความเสี่ยงที่จะต้องปะทะกับข้าศึกแทบทุกทาง และอีกคำถามหนึ่งของผู้พัน “แล้วใครจะเป็นหน่วยนำ” เมื่อผู้พันพูดคำถามนี้ออกมาทุกคนในที่ประชุมเงียบกันหมดยังไม่มีใครให้คำตอบ”


จากนั้นบันทึก “นรกบ้านนา”ก็เล่าถึงปฏิบัติการถอนตัวจากการรบของกองพัน BI-15 จนสามารถไปถึงพื้นที่ปลอดภัยที่ภูล่องมาด ทิ้งฐานเปล่าให้ฝ่ายเวียดนามเหนือเข้ายึดครอง แล้วเคลื่อนย้ายทางเฮลิคอปเตอร์จากภูล่องมาดสู่พื้นที่ปลอดภัยล่องแจ้ง

และเดินทางกลับประเทศไทยหลังจบสิ้นภารกิจ 1 ปีเต็ม.


“Campaign 74B - ตอนที่ 4 ”


......ขณะที่ไมค์กำลังเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บลงจากเครื่องบิน พันตรี ศรีรัตน์ สบตาเขาแล้วพูดว่า ...

“ทำไม...ไมค์ - “Why, Mr.Mike ?” แล้วสิ้นลมหายใจ.....


Campaign 74B ของกองทัพเวียดนามเหนือครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อยึดพื้นที่ทุ่งไหหินและล่องแจ้งให้ได้ ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการทำลายอิทธิพลของฝ่ายรัฐบาลลาวในพื้นที่ยุทธศาสตร์อันเป็นเสมือนปราการด่านสุดท้ายของฝ่ายรัฐบาลลาวแห่งนี้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจะสามารถเข้ายึดครองนครเวียนจันทน์ได้ต่อไป


แผนยุทธการครั้งนี้ ที่หมายหลักของทหารเวียดนามเหนือซึ่งใช้กำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีคือล่องแจ้ง ส่วนที่หมายบ้านนานั้นเป็นเพียงที่หมายรอง ซึ่ง พันเอก เหงียน ชวน สามารถปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จตามความมุ่งหมาย


ยังมี “เกร็ดข้อมูล” ปลีกย่อยบางประการที่สมควรรับทราบเพื่อให้สามารถเข้าใจสถานการณ์ที่บ้านนาได้ดียิ่งขึ้นดังนี้


“นายเทพ”ที่บ้านนา...

BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ JAMES E. PARKER JR บันทึกการเดินทางเข้าสู่พื้นที่การรบบ้านนาของผู้บัญชาการกองกำลัง 333 ขณะที่บ้านนาถูกปิดล้อมมาแล้วเกือบ 2 เดือน ก่อนการเริ่มต้นเข้าตีแตกหักตาม Campaign 74B ของกองทัพเวียดนามเหนือซึ่งจะเริ่มใน 2 กุมภาพันธ์ ดังนี้


“เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2514 “นายเทพ” พลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ต้องการเข้าไปตรวจเยี่ยมกำลังกองพัน BI-15 ที่บ้านนา ดิค เอลเดอร์ แคสเทอลิน และ บ๊อบ โนเบล แห่งแอร์ อเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำนายทหารคนสำคัญท่านนี้และคณะเดินทางไปยังที่หมายและสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย


ในการเข้าสูที่หมายบ้านนา แทนที่นักบินจะใช้วิธีการบินในระดับต่ำเรี่ยยอดไม้ลัดเลาะภูมิประเทศไปยังจุดร่อนลงตามปกติ แต่กลับใช้เพดานบินระดับสูงไปลอยลำอยู่เหนือเขตร่อนลง และเมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือเว้นช่องว่างการยิง เฮลิคอปเตอร์ก็บินทิ้งตัวลงแบบควงสว่านแตะพื้นอย่างรวดเร็ว คายัค-นายทหารติดต่อซีไอเอประจำกองพัน BI-15 รออยู่ที่พื้นแล้วเข้ามารับคณะที่เครื่องแล้วนำเข้าบังเกอร์กองบังคับการทันที


อาจเป็นเพราะความสามารถอันเยี่ยมยอดของนักบินในการร่อนลงท่ามกลางห่ากระสุนแบบที่ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถดักฟังและรับทราบแผนการตรวจเยี่ยมของนายเทพ ทันทีทันใดที่นายเทพและคณะกระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการยิงถล่มจุดลงพื้นและบังเกอร์ที่บังคับการที่อยู่ใกล้เคียงกันทันที


แคสเทอลินรายงานว่าขณะที่ดึงเครื่องขึ้นนั้น เขาสามารถได้กลิ่นดินปืนจากลูกกระสุนที่ตกลงมาใกล้ๆรอบตัวด้วย”


“เรื่องถึงไวท์เฮาส์”....

สถานการณ์ในลาวถูกรายงานเข้าวอชิงตันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเหตุการณ์รบที่ทุ่งไหหินและล่องแจ้ง BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ JAMES E. PARKER JR บันทึกจากรายงานของ ซีไอเอ.ว่า...

“ 31 มีนาคม พ.ศ.2514 ณ ไวท์เฮาส์ตะวันตก ที่ ซาน เคลเมนเต แคลิฟอร์เนีย มีการประชุม“คณะกรรมการ 40” ซึ่งมีเฮนรี คิสซินเจอร์ เป็นประธาน ได้มีการถกแถลงสถานการณ์ที่บ้านนา ที่ประชุมยอมรับความสำเร็จของนายพลวังเปา และกำลังทหารไทยที่สามารถต่อสู้จนสร้างความสูญเสียอย่างหนักให้กับฝ่ายเวียดนามเหนือ อันเป็นการบั่นทอนความเข้มแข็งของกำลังกองทัพเวียดนามเหนือในลาว ซึ่งย่อมส่งผลต่อการลดขีดความสามารถของทหารเวียดนามเหนือในพื้นที่การรบเวียดนามใต้อีกด้วย


คิสซินเจอร์ขอให้ที่ประชุมหาทางช่วยเหลือปฏิบัติการลับของซีไอเอในลาวต่อไป และเสนอว่าควรต้องให้ความช่วยเหลือในการส่งกำลังทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากพื้นที่การรบแห่งนี้ด้วยการส่งเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธ “กันชิป ฮิวอี้ คอบร้า” ซึ่งประจำการอยู่ที่อุดรธานี (และได้รับอนุญาตให้เข้าเติมน้ำมันเชื้อเพลิงในลาวได้) เข้าสนับสนุนการส่งกลับทางการแพทย์จากล่องแจ้ง


หลังการหารือของที่ประชุม ในที่สุดก็ได้รับอนุมัติ แต่ต่อมามีการพิจารณาว่า การใช้กันชิพ ฮิวอี้ คอบร้า ในลาวขัดต่อข้อห้ามตามกฎการใช้อาวุธ-Rules of Engagement จึงเปลี่ยนเป็น UH-1 ติดอาวุธ ซึ่งมีประสิทธิภาพรองลงมาเข้าให้การสนับสนุนแทนในปีต่อมา ไม่ใช่กันชิป ฮิวอี้ คอบร้า


“เหตุ บ.ทิ้งระเบิดพลาด”

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2514 ขณะที่กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และ 606 กำลังเข้าโจมตียอดเนินทางเหนือของบ้านนา เพื่อช่วยเหลือกำลังทหารประจำการที่ถูกล้อมอยู่ที่บ้านนา กองพัน บีซี 606 ถูกสกัดกั้นจากทหารฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหนัก จึงร้องขอการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายที่ตั้งของฝ่ายเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนตามคำขอด้วยเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด F-4 สองลำ แต่เกิดความผิดพลาดในการกำหนดเป้าหมาย

ระเบิดขนาด 250 ปอนด์ลูกหนึ่งตกลงกลางการวางกำลังของกองพัน 605

BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ JAMES E. PARKER JR บันทึกเหตุการณ์นี้จากพื้นที่เกิดเหตุดังนี้

“ทหารเสือพราน 16 นายเสียชีวิตทันทีและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ไมค์ อิงแฮม ซึ่งอยู่กับกองพัน 605 ตั้งแต่เช้า เพิ่งเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกจากพื้นที่การรบ เมื่อได้ทราบข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเดินทางกลับพื้นที่การรบทันที ที่จุดเกิดแหตุ เขาได้พบร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไมค์ อิงแฮม นำตัวผู้บังคับกองพัน 605 พันตรี ศรีรัตน์ นิลรัตนะ (Major Srirat Nilratana ชื่อรหัส “Deepho”) กลับมายังล่องแจ้งโดยมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่สะโพก


ขณะที่ไมค์กำลังเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บลงจากเครื่องบิน พันตรี ศรีรัตน์ สบตาเขาแล้วพูดว่า ...

“ทำไม...ไมค์- “Why, Mr.Mike ?” แล้วสิ้นลมหายใจ”


อีกชีวิตหนึ่ง "ตายในสนามรบเป็นเกียรติของทหาร"




“Campaign 74B - ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ (1)”

........ข้าพเจ้าถึงกับตลึงงันไปชั่วขณะเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ส่วนเข้าตีหลักของเราล้มเหลวในการเข้ายึดที่หมายล่องแจ้งและกำลังถอนตัว...

แม้บันทึกตอนท้ายของ พันเอก เหงียน ชวน จะสรุปความสำเร็จภารกิจที่ได้รับมอบของเขาต่อที่หมายที่มั่นทหารไทยที่บ้านนา
แต่ประเด็นสำคัญ...สำคัญอย่างยิ่งในรายงานฉบับนี้กลับอยู่ที่ ความล้มเหลวของส่วนเข้าตีหลัก - กองพล 316 ต่อที่หมายสำคัญสูงสุด-เมืองล่องแจ้งและซำทอง
ซึ่งหมายถึงความล้มเหลวทั้งหมดของแผนยุทธการ 74B ของฝ่ายเวียดนามเหนือ ...

“ ข้าพเจ้าคาดไม่ถึงว่า แท้จริงแล้วกลับเป็นการเคลื่อนย้ายกำลังข้าศึกออกจากที่มั่น จนกระทั่งเมื่อกองพันของฝ่ายรัฐบาลลาวซึ่งวางตัวทางด้านปีกขวาแตกพ่ายและหลบหนีจากที่มั่น ข้าพเจ้าจึงตระหนักว่าข้าศึกกำลังถอนตัวจากพื้นที่บ้านนาจึงออกคำสั่งให้หน่วยของเราไล่ติดตามข้าศึกที่กำลังพยายามหลบหนีเหล่านี้ทันที แต่ก็ไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงสามารถสังหารข้าศึกได้เพียงจำนวนน้อยและจับเชลยศึกได้เพียง 30 คนเท่านั้น

ในที่สุดเมื่อเวลา 19.00 น. กำลังของฝ่ายเราก็เข้ายึดพื้นที่บ้านนาได้ทั้งหมด รวมทั้งคลังกระสุนและคลังอาวุธ ทำให้สามารถยึดอาวุธและสิ่งอุปกรณ์ของข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก

เมื่อสามารถกำชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ข้าพเจ้าได้แจ้งต่อฝ่ายอำนวยการด้านยุทธการให้ส่งรายงานไปยังกองบัญชาการส่วนหน้าว่า กรมของเราสามารถปลดปล่อยบ้านนาได้เรียบร้อยแล้ว

แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ข้าพเจ้าถึงกับตลึงงันไปชั่วขณะเมื่อได้รับทราบข่าวว่า ส่วนเข้าตีหลักของเราล้มเหลวในการเข้ายึดที่หมายล่องแจ้งและกำลังถอนตัว

ข้าพเจ้าจึงออกคำสั่งให้หน่วยวางกำลังยึดรักษาพื้นที่บ้านนาไว้ให้เหนียวแน่นเพื่อป้องกันการเข้าตีเพื่อแย่งยึดพื้นที่คืนจากฝ่ายข้าศึก”

แต่การสู้รบจะยังคงติดพันต่อไป จนกระทั่งฝ่ายเวียดนามเหนือจำต้องยอมรับความล้มเหลวและสั่งยกเลิกภารกิจทั้งหมดตามแผนยุทธการ 74B ในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2514 หลังเริ่มปฏิบัติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ รวมเวลา 2 เดือน...

หนังสือ “BATTLE FOR SKYLINE RIDGE” ของ JAMES E. PARKER JR อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอบันทึกความมุ่งหมายของฝ่ายเวียดนามเหนือในยุทธการ 74B ว่าฮานอยมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าจะสามารถเอาชนะทั้งกำลังทหารไทยและของรัฐบาลลาวได้อย่างแน่นอนและจะสามารถควบคุมพื้นที่ทั้งหมดของประเทศลาวไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จึงทุ่มเททรัพยากรทางทหารอย่างเต็มที่หวังผลแตกหัก

แผนยุทธการ “Campaign 74B” กำหนดขึ้นหลังการถอนกำลังออกจากพื้นที่การรบทุ่งไหหินเมื่อฤดูแล้งปี พ.ศ.2512 ตามแผนยุทธการ 139 ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นปลายปี พ.ศ.2513 ถัดมาทหารเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการรุกครั้งใหม่ตามแผนยุทธการ 74B นี้ในพื้นที่การรบเดิม ทุ่งไหหิน-สกายไลน์ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2513

ที่หมายหลักตามแผนยุทธการนี้ยังคงเป็นเมืองล่องแจ้งและเมืองซำทองซึ่งกองทัพเวียดนามเหนือเคยเข้ายึดไว้ได้เมื่อปีที่แล้ว ส่วนที่หมายรองคือการเข้าตรึงและทำลายกำลังกองพันทหารราบที่ 15 “BI-15” และฐานยิงสนับสนุนปืนใหญ่ของทหารไทย “พันเชอร์” ที่บ้านนา

กองพล 316 ได้รับภารกิจต่อที่หมายหลักเมืองล่องแจ้งและซำทอง ประกอบกำลังด้วยหน่วยรองหลักที่มีอยู่เดิมคือ กรม 148 และ กรม 174 เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย ค.หนัก แซปเปอร์ และอีก 2 กรมคือ กรมอิสระ 335 และ 866
รวมกำลังถึง 4 กรมทหารราบ

ส่วนที่หมายรองต่อที่หมายบ้านนาเป็นภารกิจของกรม 165 ของ พันเอก เหงียน ชวน ซึ่งแยกตัวมาจากกองพล 312 โดยมีการเพิ่มเติมกำลังจากกองพันเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตร 1 กองพันปืนกล 12.7 มิลลิเมตรและ 3 หน่วยแซปเปอร์ รวมทั้งหน่วยสนับสนุนขนาดใหญ่ทางด้านการส่งกำลังบำรุงจากตำบลส่งกำลังในทุ่งไหหินเพื่อให้การสนับสนุนจนถึงที่มั่นแนวหน้าสุดของพื้นที่การรบ

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ฝ่ายเวียดนามเหนือเริ่มเปิดฉากกดดันทั้งด้วยการระดมยิงอาวุธหนักและการเข้าตีโฉบฉวยเพื่อสร้างความอ่อนแอต่อที่หมาย จนถึงขั้นตอนสุดท้ายจึงเริ่มปฏิบัติการขั้นแตกหักตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 เป็นต้นมา อันเป็นการเริ่มปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74B อย่างเต็มรูปแบบ

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับบันทึก “นรกบ้านนา”ของ “หัวหน้าใจ”-พลตรี ประจักษ์ วิสุตกุล...

เมื่อเริ่มปฏิบัติการ ฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถครองความได้เปรียบต่อทหารไทยในทุกแนวรบ โดยเฉพาะที่บ้านนาเนื่องจากเหนือกว่าทั้งทางด้านกำลังและอาวุธสนับสนุน แต่ทหารไทยทั้ง กองพัน BI-15 และฐานยิงปืนใหญ่พันเชอร์กลับยืนหยัดตั้งรับอย่างเหนียวแน่น
แม้ถึงที่สุดแล้วกรม 165 ของพันเอก เหงียน ชวน จะสามารถยึดพื้นที่บ้านนาไว้ได้ก็ตาม

แต่ความสำเร็จในการปฏิบัติตามแผนยุทธการ B74 ของฝ่ายเวียดนามเหนือกลับพลิกผันเมื่อส่วนเข้าตีหลัก กองพล 316 ไม่สามารถเข้ายึดล่องแจ้งและซำทองได้

ความล้มเหลวของฝ่ายเวียดนามเหนือครั้งนี้ เกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการคือ

ประการแรก การยืนหยัดตั้งรับอย่างเหนียวแน่นของฝ่ายไทย โดยเฉพาะกองพันทหารราบ BI-15 และฐานทหารปืนใหญ่พันเชอร์ที่บ้านนา

ประการที่สอง การเพิ่มเติมกำลังทหารเสือพรานเข้าสู่พื้นที่การรบ

ประการที่สาม การเปิดยุทธการใหญ่ “ลามเซิน 719-Lam Son 719” ระหว่าง วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม พ.ศ.2514 ของกองทัพเวียดนามใต้และการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากกองทัพสหรัฐอเมริกาที่เมืองเซโปน พื้นที่ลาวตอนใต้ติดพรมแดนเวียดนามใต้อันส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพของทหารเวียดนามเหนือในพื้นที่ทุ่งไหหินที่อยู่ระหว่างการปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74B นี้..




“Campaign 74B - ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ (2)”

........ก่อนจะส่งหน่วยทหารราบเข้าตีแตกหักเพื่อยึดและกวาดล้างที่หมายนั้น จะต้องทุ่มเทระดมยิงอาวุธหนักถล่มที่หมายให้หนักที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เพื่อสร้างความอ่อนแอต่อที่หมายให้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยทหารราบเข้ายึดที่หมายได้โดยง่าย แต่จุดอ่อนของยุทธวิธีชนิดนี้คือ ความสิ้นเปลืองกระสุนปืนใหญ่ซึ่งต้องการการส่งกำลังบำรุงจากส่วนหลังที่มีประสิทธิภาพ......

ความล้มเหลวของฝ่ายเวียดนามเหนือจากสาเหตุสำคัญประการแรก : การยืนหยัดตั้งรับอย่างเหนียวแน่นของฝ่ายไทย โดยเฉพาะกองพันทหารราบ BI-15 และฐานทหารปืนใหญ่พันเชอร์ที่บ้านนาได้ส่งผลอย่างสำคัญต่อการส่งกำลังบำรุงของฝ่ายเวียดนามเหนือ...

แผนยุทธการ 74B ของฮานอยหวังผลเด็ดขาดเพื่อยึดพื้นที่ทุ่งไหหินและใกล้เคียงให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
“กองพล 316 ได้รับภารกิจต่อที่หมายหลักเมืองล่องแจ้งและซำทอง ประกอบกำลังด้วยหน่วยรองหลักที่มีอยู่เดิมคือ กรม 148 และ กรม 174 เพิ่มเติมกำลังด้วยหน่วย ค.หนัก แซปเปอร์ และอีก 2 กรมคือ กรมอิสระ 335 และ 866 รวมกำลังถึง 4 กรมทหารราบ
ส่วนที่หมายรองต่อที่หมายบ้านนาเป็นภารกิจของกรม 165 ของ พันเอก เหงียน ชวน ซึ่งแยกตัวมาจากกองพล 312 โดยมีการเพิ่มเติมกำลังจากกองพันเครื่องยิงระเบิด 120 มิลลิเมตร 1 กองพันปืนกล 12.7 มิลลิเมตรและ 3 หน่วยแซปเปอร์ รวมทั้งหน่วยสนับสนุนขนาดใหญ่ทางด้านการส่งกำลังบำรุงจากตำบลส่งกำลังในทุ่งไหหินเพื่อให้การสนับสนุนจนถึงที่มั่นแนวหน้าสุดของพื้นที่การรบ”

น่าสังเกตว่า ในรายงานของ พันเอก เหงียน ชวน ฉบับนี้ นอกจากให้ความสำคัญต่อทำเนียบกำลังรบของฝ่ายตนแล้ว ยังบันทึกไว้ด้วยว่า “รวมทั้งหน่วยสนับสนุนขนาดใหญ่ทางด้านการส่งกำลังบำรุงจากตำบลส่งกำลังในทุ่งไหหินเพื่อให้การสนับสนุนจนถึงที่มั่นแนวหน้าสุดของพื้นที่การรบ”

ทั้งบันทึกของ พันเอก เหงียน ชวน และบันทึก “นรกบ้านนา”ของ “หัวหน้าใจ” เห็นได้ชัดเจนตรงกันว่า ยุทธวิธีหลักในการเข้าตีของฝ่ายเวียดนามเหนือนั้นจะเริ่มด้วย “การยิงเตรียม-Prepatory Fire”ซึ่งหมายถึงก่อนจะส่งหน่วยทหารราบเข้าตีแตกหักเพื่อยึดและกวาดล้างที่หมายนั้น จะต้องทุ่มเทระดมยิงอาวุธหนักถล่มที่หมายให้หนักที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เพื่อสร้างความอ่อนแอต่อที่หมายให้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้หน่วยทหารราบเข้ายึดที่หมายได้โดยง่าย
รวมทั้งการยิงปืนใหญ่อย่างมหาศาลทั้งก่อนและหลังวันดีเดย์ บางวันกว่าพันนัด...

จุดอ่อนของยุทธวิธีชนิดนี้คือ ความสิ้นเปลืองกระสุนปืนใหญ่ซึ่งต้องการการส่งกำลังบำรุงจากส่วนหลังที่มีประสิทธิภาพ ฝ่ายเวียดนามเหนือจำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่ายถนนซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฤดูฝนมาถึง การส่งกำลังบำรุงแทบจะทำไม่ได้เลย โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ที่มีน้ำหนักมากยากต่อการขนย้ายเช่นกระสุนปืนใหญ่
ที่ผ่านมาทุกครั้ง ฝ่ายเวียดนามเหนือจึงไม่เปิดปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่ในช่วงฤดูฝนอย่างเด็ดขาด

“สงครามในลาวมีรูปแบบที่ต่างฝ่ายต่างผลัดกันรุกผลัดกันรับ ฝ่ายคอมมิวนิสต์จะเข้าโจมตีในฤดูแล้งเมื่อเส้นทางถนนอยู่ในสภาพสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนพฤษภาคม ขบวนรถบรรทุกจะลำเลียงทหารเวียดนามเหนือเข้ายึดพื้นที่ ครั้นถึงฤดูฝนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายนเมื่อเส้นทางถนนกลายเป็นปลักโคลน ก็จะเป็นทีของทหารฝ่ายขวาเข้ายึดพื้นที่กลับคืน
เครื่อง ที- 28 เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินลำเลียงขนาดใหญ่ และเครื่องบินไอพ่นอเมริกาจะออกปฏิบัติการเต็มอัตราศึกทำให้ฝ่ายขวาได้เปรียบในการรบ โดยที่พวกคอมมิวนิสต์ไม่สามารถเทียบได้”

หลังการถอนกำลังออกจากพื้นที่การรบทุ่งไหหินเมื่อสิ้นฤดูแล้งปี พ.ศ.2512 ตามแผนยุทธการ 139 ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ปลายปี พ.ศ.2513 ถัดมาเมื่อฤดูแล้งมาถึง ทหารเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการรุกครั้งใหม่ตามแผนยุทธการ 74B ในพื้นที่การรบเดิม ทุ่งไหหิน-สกายไลน์
ที่หมายหลักตามแผนยุทธการนี้ยังคงเป็นเมืองล่องแจ้งและเมืองซำทองซึ่งกองทัพเวียดนามเหนือเคยเข้ายึดไว้ได้เมื่อปีที่แล้ว ส่วนที่หมายรองคือการเข้าตรึงและทำลายกำลังกองพันทหารราบที่ 15 “BI-15” และฐานยิงสนับสนุนปืนใหญ่ของทหารไทย “พันเชอร์” ที่บ้านนา

เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งเต็มตัว หลังจากมีการเตรียมการโดยเฉพาะการสร้างเส้นทางเพื่อสนับสนุนการส่งกำลังบำรุงรวมทั้งการเคลื่อนย้ายกำลัง ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เริ่มเปิดฉากกดดันทั้งด้วยการระดมยิงอาวุธหนักและการเข้าตีฉาบฉวยเพื่อสร้างความอ่อนแอต่อที่หมาย จนถึงขั้นตอนสุดท้ายจึงเริ่มปฏิบัติการขั้นแตกหักตั้งแต่ 2 กุมภาพันธ์ 2514 เป็นต้นมา อันเป็นการเริ่มปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74B อย่างเต็มรูปแบบ

แม้จะมีความเชื่อมั่นในอำนาจกำลังรบที่เหนือกว่า แต่ฝ่ายเวียดนามเหนือก็ตระหนักดีว่า จำเป็นต้องเร่งปฏิบัติการให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ก่อนที่ฤดูมรสุมจะเข้ามาถึงพื้นที่ในเดือนพฤษภาคม
แต่ความทรหดของทหารไทยที่ตั้งรับอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมละทิ้งที่มั่นซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่เหนือความคาดหมายของฮานอยกลับทำให้การรบยืดเยื้อออกไปอย่างคาดไม่ถึง...

ภาพหนึ่งที่สะท้อนความเป็นมืออาชีพของทหารไทยคือการเดินทางของผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารไทยในลาว “นายเทพ-พลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์” เข้าสู่พื้นที่บ้านนาระหว่างการปิดล้อมของทหารเวียดนามเหนือ…

BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ JAMES E. PARKER JR บันทึกการเดินทางเข้าสู่พื้นที่การรบบ้านนาของผู้บัญชาการกองกำลัง 333 ขณะที่บ้านนาถูกปิดล้อมมาแล้วเกือบ 2 เดือน ก่อนการเริ่มต้นเข้าตีแตกหักตาม Campaign 74B ของกองทัพเวียดนามเหนือซึ่งจะเริ่มใน 2 กุมภาพันธ์ ดังนี้

“เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2514 “นายเทพ” พลตรี วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ต้องการเข้าไปตรวจเยี่ยมกำลังกองพัน BI-15 ที่บ้านนา ดิค เอลเดอร์ แคสเทอลิน และ บ๊อบ โนเบล แห่งแอร์ อเมริกา ได้รับเลือกให้เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์เพื่อนำนายทหารคนสำคัญท่านนี้และคณะเดินทางไปยังที่หมายและสามารถเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย

ในการเข้าสู่ที่หมายบ้านนา แทนที่นักบินจะใช้วิธีการบินในระดับต่ำเรี่ยยอดไม้ลัดเลาะภูมิประเทศไปยังจุดร่อนลงตามปกติ แต่กลับใช้เพดานบินระดับสูงไปลอยลำอยู่เหนือเขตร่อนลง และเมื่อฝ่ายเวียดนามเหนือเว้นช่องว่างการยิง เฮลิคอปเตอร์ก็บินทิ้งตัวลงแบบควงสว่านแตะพื้นอย่างรวดเร็ว คายัค-นายทหารติดต่อซีไอเอประจำกองพัน BI-15 รออยู่ที่พื้นแล้วเข้ามารับคณะที่เครื่องแล้วนำเข้าบังเกอร์กองบังคับการทันที

อาจเป็นเพราะความสามารถอันเยี่ยมยอดของนักบินในการร่อนลงท่ามกลางห่ากระสุนแบบที่ฝ่ายเวียดนามเหนือไม่เคยเห็นมาก่อน หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายเวียดนามเหนือสามารถดักฟังและรับทราบแผนการตรวจเยี่ยมของนายเทพ ทันทีทันใดที่นายเทพและคณะกระโดดลงจากเฮลิคอปเตอร์ ฝ่ายเวียดนามเหนือก็เปิดฉากการยิงถล่มจุดลงพื้นและบังเกอร์ที่บังคับการที่อยู่ใกล้เคียงกันทันที

แคสเทอลินรายงานว่าขณะที่ดึงเครื่องขึ้นนั้น เขาสามารถได้กลิ่นดินปืนจากลูกกระสุนที่ตกลงมาใกล้ๆรอบตัวด้วย”

อีกภาพสะท้อนความเป็นมืออาชีพของทหารไทยอย่างชัดเจนมาจากบันทึก”นรกบ้านนา”ของ “หัวหน้าใจ”

“คืนนรกที่ยาวนานที่สุดในชีวิต (The Longest Night In Hell)”
“การต่อสู้แบบถวายชีวิตของผมก็เริ่มขึ้นหลังจากผมพุ่งตัวออกจากบังเกอร์ ไม่กี่วินาทีบังเกอร์ของผมก็ระเบิดเป็นจุลด้วยแรงระเบิด 2-3 ครั้ง

ผมดึงระเบิดมือที่เสียบอยู่ในรู 2 -3 ลูก ดึงสลักและขว้างติดต่อกันไปยังพวกมันที่มองเห็นสองสามคนที่โยนระเบิดใส่ผมหลังบังเกอร์เสียงระเบิดก้อง ผมขว้างออกไปอีกหลายสิบลูกเมื่อมองเห็นพวกมันกำลังคลานอยู่บนบังเกอร์และพื้นที่อื่นๆ ผมไม่ทราบว่าขว้างระเบิดไปกี่ลูกจนแนวคูที่ผมอยู่ระเบิดเกือบหมด ตอนบังเกอร์ผมระเบิด ผมได้ยินเสียงลูกน้องตะโกนว่า “เฮ้ยหนีเว้ย ผู้หมวดตายแล้ว”

ผมรีบตะโกนตอบทันที “ยังผู้หมวดยังอยู่ สู้ตาย ไม่ต้องกลัวมัน” ทำให้ทหารรู้ว่าผมยังไม่ตาย มีหลายบังเกอร์ซ้ายมือผมไม่ออกมาสู้รบ เข้าไปกอดกันกลมด้วยความกลัวข้าศึก ผมเข้าไปกระชากลูกน้องออกมาบอกให้สู้มันไม่ต้องกลัวสู้ตาย ผมตะโกนให้สู้ไปขว้างระเบิดไปด้วยเพราะเห็นมันกำลังคืบคลานเต็มไปหมด

ในฐานลูกน้องเริ่มมีขวัญดี เริ่มออกมาสู้แล้ว ผบ.หมู่ควบคุมทหารสู้ ผมให้ ผบ.หมู่ที่อยู่กับผมตรวจแนวและบังเกอร์ว่ามีใครยังอยู่บ้าง ซ้ายขวาเรายังมีอยู่แค่ไหน ทราบว่าเหลือแค่ประมาณ 2 หมู่ ส่วนหมู่ด้านเหนือไม่ทราบชะตากรรมติดต่อกันไม่ได้ บางจุดเราได้ยินเสียงต่อสู้กันในบังเกอร์ พวกมันยังกวาดล้างพวกเราด้วยการโยนระเบิดมัดข้าวต้มข้าวตาม เกิดเสียงระเบิดอยู่ตลอดเวลา พวกเราที่ทนแรงอัดไม่ไหวก็เสือกกระสนออกมา มันก็ยิงซ้ำใครอยู่ในบังเกอร์มักตายจากแรงอัดระเบิดและไม่มีโอกาสได้สู้

เรายังใช้ระเบิดขว้างขว้างใส่ข้าศึกตลอดเวลาแต่ไม่มากเท่าตอนแรก บางคนเห็นข้าศึกก็ใช้เอ็ม 16 ยิงแต่ก็ถูกยิงสวนด้วย RPG ทันที ผมสั่งห้ามใช้ปืนเล็กยิงเพราะจะถูกสวนด้วย RPG

ขณะที่เรากำลังต่อสู้กับข้าศึกในฐานอยู่นั้นปรากฏเสียงนกหวีดดังขึ้นและข้าศึกได้ชาร์จมาทางด้านหลังหลายสิบคนโดยพยายามใช้ไม้พาดลวดหนามโถมเข้ามา ผมได้สั่งการให้หันกลับไปสู่ด้านหลังทันทีโดยใช้ระเบิดขว้างและ M-60 ยิงกราดใส่พวกมันจนตายคาลวดหนามหลายคนและหยุดการบุกที่จะเข้าไปรวมกับพวกหรือช่วยพวกมันในฐาน

ผมขว้างระเบิดอีกหลายลูกในขณะที่มันถอยลงเนินไป มันระเบิดแบบสากกะเบือมาหลายลูกต่อต้านการใช้ระเบิดขว้างของเรา ผมสั่งการให้ตามทุกคนออกจากคูออกมาหบอมนอกคูใกล้แนวลวดหนาม เพราะหากระเบิดตกลงคูจะทำให้พวกเราบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน

สัญญาณการต่อสู้ดูจะเบาบางลงแล้วหลังจากที่เราสกัดข้าศึกด้านนอกมิให้เข้ามาในฐานเพื่อ link up กับข้าศึกภายในไว้ได้ ผมได้สั่งการให้ ผบ.หมู่ และทหารช่วยกันตรวจแนวของฝ่ายเราอีกครั้งและสำรวจว่าพวกเรายึดแนวเขตได้แค่ไหน ซึ่งทราบว่าเรายังรักษาแนวไว้ได้ 2 หมู่กว่าประมาณครึ่งหนึ่งของฐาน ผมสั่งการให้ ผบ.หมู่ ควบคุมด้านซ้ายและขวาให้ดี เอาคนเจ็บเข้าไปรักษาพยาบาลในบังเกอร์ไว้ก่อนเท่าที่จะทำได้ ใครไม่มีอาวุธกระสุนให้เอาจากเพื่อนที่ตายหรือบาดเจ็บ ให้ทุกคนเฝ้าตรวจไปข้างหน้าและระวังด้านหลังด้วย

ผมเลยเอา M-16 ของทหารที่ตายมาใช้เพราะไม่มีลูกระเบิดขว้างเหลือแล้วแต่จะไม่พยายามใช้นอกจากจำเป็นเท่านั้น ทหารปืนใหญ่ที่อยู่ติดกับเราก็ถูกข้าศึกโจมตี ได้ยินเสียงระเบิดและมีการยิงปืนใหญ่ต่อต้านข้าศึกด้วยกระสุน BEEHIVE- “กระสุนลูกดอกดาวกระจาย” และกระสุนแตกอากาศ แต่ดูแล้วข้าศึกทำการเจาะแมวเข้าไปไม่ได้

ฐานเรายังคงลุกไหม้และมีการระเบิดเป็นระยะจากวัตถุระเบิดต่างๆตามบังเกอร์ที่ไฟไหม้ ไม่มีใครช่วยเราได้ ต่างต้องระวังตนเองและต่อสู้ตามลำพัง การติดต่อสื่อสารถูกตัดขาดจาก บก.พันและจากสถานการณ์ก็ทราบว่าก็ถูกข้าศึกโจมตีด้วยเช่นกัน ยกเว้นทหารบกกองร้อย BI- 15 กับหมวดปืนเล็ก 2 ที่อยู่ห่างออกไปด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือไม่ถูกโจมตีเลย”

การต่อสู้อย่างทรหดครั้งนี้ ฝ่ายเวียดนามเหนือทิ้งศพไว้ในฐานของหัวหน้าใจ 47 ศพ ซึ่ง พันเอก เหงียน ชวน บันทึกไว้เพียงสั้นๆว่า “ทหารไทยต่อสู้อย่างบ้าคลั่ง”.




“Campaign 74B  - ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ (3)”
......โครงการเร่งฝึกให้เสร็จก่อนกำหนดเพื่อส่ง บีซี 603 และ 604 เข้าทำการรบในพื้นที่โล่งแจ้งเมื่อ 14 ก.พ.14  ภารกิจเริ่มแรกคือยึดรักษาเนินสกายไลน์ซึ่งอยู่ทางเหนือเมืองโล่งแจ้งไว้ให้ได้  และต่อมาเมื่อ 3  มี.ค.14 ได้ส่ง บีซี 605 และ 606  เข้ามาเพิ่มเติมที่ล่องแจ้ง โดยมอบภารกิจให้กวาดล้างข้าศึกหน่วยย่อยๆ ที่เล็ดลอดเข้ามาตั้งอาวุธหนักยิงโล่งแจ้ง ......
สาเหตุสำคัญประการที่สองในความล้มเหลวของฝ่ายเวียดนามเหนือคือการเพิ่มเติมกำลังทหารเสือพรานจำนวนมากเข้าสู่พื้นที่การรบของกองกำลังฝ่ายไทย
เอกสารของทางการไทยซึ่งไม่สามารถเปิดเผยที่มาได้ บันทึกการมาถึงของทหารเสือพรานไว้ดังนี้....
“โครงการเร่งฝึกให้เสร็จก่อนกำหนดเพื่อส่ง บีซี 603 และ 604 เข้าทำการรบในพื้นที่โล่งแจ้งเมื่อ 14 ก.พ.14  ภารกิจเริ่มแรกคือยึดรักษาเนินสกายไลน์ซึ่งอยู่ทางเหนือเมืองโล่งแจ้งไว้ให้ได้  และต่อมาเมื่อ 3  มี.ค.14 ได้ส่ง บีซี 605 และ 606  เข้ามาเพิ่มเติมที่ล่องแจ้ง โดยมอบภารกิจให้กวาดล้างข้าศึกหน่วยย่อยๆ ที่เล็ดลอดเข้ามาตั้งอาวุธหนักยิงโล่งแจ้ง  
บีซี 605, 606   ได้กวาดล้างข้าศึกจากแนวสกายไลน์ และเมืองซำทองไปยังภูถ้ำแซ แล้วย้อนกลับมาแนวสกายไลน์อีกครั้ง  ใช้เวลาปฏิบัติภารกิจ 3 วัน 2 คืน ได้รับความสำเร็จพอควร   
(หมายเหตุ : เป็นสาเหตุที่ทำให้ส่วนเข้าตีหลักของฝ่ายเวียดนามเหนือต้องชะงัก ไม่สามารถเข้ายึดล่องแจ้งได้ จนต้องล้มเลิกยุทธการ 74 B ในที่สุด)
19  มี.ค. - 2  เม.ย. 14  : ภารกิจต่อไปของ บีซี 605, 606  คือกวาดล้างข้าศึกต่อไปยังบ้านหินตั้ง การปฏิบัติการครั้งนี้  ทั้งสองหน่วยประสบความล้มเหลวและเริ่มสูญเสียกำลังพล พร้อมทั้งบาดเจ็บหลายคน
24 มี.ค.14 : บีซี 605, 606 ได้รับคัดเลือกอีกคือให้ไปยึดรักษาที่มั่นทางทิศตะวันออกของสนามบินซำทอง  และสกัดกั้นข้าศึกที่จะเข้าตีซำทองและฐานยิงซีบร้า
29  มี.ค.14 : บีซี 605,606 ได้รับคำสั่งใหม่ให้เตรียมการเข้าตีหน่วยทหารของข้าศึกที่เนิน 1663  ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบ้านนา  เพื่อลดความกดดันที่ข้าศึกล้อม บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ที่บ้านนา 
ขณะดำเนินการเคลื่อนย้ายหน่วย บีซี 605 ด้วย ฮ. จากที่มั่นทางทิศตะวันตกของเนินซีบร้า  ปรากฏว่า ทสพ. ประมาณ 40 คน ไม่ยอมขึ้น ฮ.  แต่พากันเดินจากเนินซีบร้าลงไปยังเมืองซำทองและต่อไปโล่งแจ้ง 
(หมายเหตุ : น่าจะหมายถึงการผละจากการรบ)
บีซี 605, 606 ซึ่งรับภารกิจในการเข้าตีเนิน 1663  เพื่อกดดันข้าศึกที่ล้อม บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ได้รับการต้านทานจากข้าศึกอย่างหนัก แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยอื่นพอสมควร
(หมายเหตุ : เนิน 1663 คือ “เนินอานม้า”ตามคำเรียกของ “หน.ใจ)
31 มี.ค.14  : ทหารม้งของวังเปาเข้ามาร่วมอีก 2 กองพัน โดยมี ป.105 และ 155 จากฐานยิงซีบร้าช่วยยิงสนับสนุน 
1 เม.ย.14  : ยึดเนิน 1663 ได้
1- 2  เม.ย.14  : ข้าศึกเข้าตีโต้ที่มั่นของ บีซี 605 ที่เนิน 1663  ฝ่าย ทสพ. ต่อสู้อย่างเหนียวแน่น ข้าศึกไม่สามารถยึดได้
บีซี 605 สูญเสียอย่างหนัก เหลือกำลังเพียงหนึ่งในสาม จึงขออนุมัติ บก.ฉก.บราโว่ ซึ่งควบคุมการปฏิบัติของทั้งสองกองพัน ทสพ.นี้ว่า ขอให้ บีซี 605 ยึดเนิน 1663 ไว้เป็นฐานสนับสนุนให้ บีซี 606 เข้าตีต่อไป เพื่อบรรจบกับกำลังของ บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ที่บ้านนาซึ่งข้าศึกล้อมไว้ โดยให้ตีหักออกมาบรรจบกัน
3 - 4  เม.ย.14  : เมื่อได้กำหนดให้ บีซี 605 เป็นฐานสนับสนุนและ บีซี 606 เข้าตีเพื่อช่วยเหลือฐานของ บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์ที่ถูกข้าศึกยึดอยู่ 
ในการเข้าตีครั้งนี้ บีซี 606 ถูกต้านทานอย่างหนัก จึงขอร้องให้สกาย (ซีไอเอ)สนับสนุนการโจมตีทางอากาศด้วยแฟนธอม (F4) แต่บินโจมตีผิดที่หมาย โดยยิงจรวดมาลงที่ บก.พัน.บีซี 605  ทำให้ ทสพ.เสียชีวิตทันที 16 นาย รวมทั้ง ผบ.พัน และ ผบ.ร้อย.2 นอกจากนั้นยังมี ทสพ.ได้รับบาดเจ็บมากมาย เป็นอันว่าการเข้าตีของ บีซี 606 ล้มเหลว  ต้องถอนกลับมายังเนิน 1663 ตามเดิม
ถึงอย่างไรก็ตาม การเข้าตีของ บีซี 605, 606  ก็ยังมีผลอยู่บ้าง คือ ทำให้ข้าศึกที่ล้อม   บีไอ 15 และ บีเอ 13 ที่บ้านนาหันมาสนใจกับ บีซี 605, 606   ทำให้การคุกคามของข้าศึกที่บ้านนากับภูล่องมาดเบาบางลง
6  เม.ย.14  : ในช่วงเวลากลางคืน บีไอ 15  และ บีเอ 13   ได้ถอนตัวมายังฐานยิงบ้านนา  บีไอ 14 ผ่านภูล่องมาดได้ และเคลื่อนย้ายเข้าสู่สนามบินโล่งแจ้งได้สำเร็จ
สภาพของ บีไอ-15 และฐานยิงพันเชอร์   เมื่อถอนตัวกลับมายังโล่งแจ้งแล้วถือว่าขวัญตกต่ำมากเพราะถูกล้อมนานเป็นเดือน ขาดแคลนอาหาร  และ สป.จนเป็นที่เล่าลือกันถึงขนาดไม่มีน้ำดื่มต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน
ในที่สุดกำลังจากส่วนนี้ ได้แก่ กองร้อยทหารปืนใหญ่จากฐานยิงพันเชอร์ก็ถูกส่งกลับประเทศไทยเพราะครบกำหนดและจบภารกิจทั้งๆ ที่ กกล.พิเศษ ยังต้องการไว้เป็นกำลังหนุน  เพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่ภูล่องมาดและเนิน 1663
20  เม.ย.14 : บีซี 607, 608, 609 ได้ฝึกเสร็จจากประเทศไทยและเคลื่อนย้ายไปยังโล่งแจ้ง หลังจากได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์เรียบร้อยแล้ว  จึงได้รับคำสั่งให้เข้าสับเปลี่ยน บีซี 605, 606 ที่เนิน 1663 โดยให้ บีซี 608, 609 ไปยึดแทน
ต่อมา บีซี 603  ที่เนินสกายไลน์ และ 604 ที่เนิน 1663 ได้สับเปลี่ยนกับ บีไอ 14 ที่ภูล่องมาด
ข้าศึกสามารถยึดเนิน 1900 ได้ กำลังของ ทสพ. 608 และ 609 ได้ผลัดเปลี่ยนกันเข้ายึดเนิน 1900 หลายครั้งจึงสำเร็จ  แต่ต้องสูญเสียทั้งตายและบาดเจ็บหลายนาย
ในที่สุด ทสพ.สามารถยึดและรักษาเนิน 1663  และภูล่องมาดไว้ได้และจะใช้เป็นฐานรุกเข้าสู่ทุ่งไหหินต่อไป
“เตรียมเข้าสู่ทุ่งไหหิน”
ฤดูฝนในลาว เริ่มในเดือนพฤษภาคม ข้าศึกไม่ค่อยออกปฏิบัติการ ทำให้ ทสพ.ได้มีโอกาสฟื้นฟูกำลัง
15  พ.ค.14 :  กองกำลังบีไอ 14, 15   ซึ่งรักษาเนินสกายไลน์จะต้องเดินทางกลับประเทศไทยเพราะจบภารกิจ 
การสับเปลี่ยนกำลังครั้งนี้ พัน.ทสพ.601, 602 ซึ่งเข้ามาเพิ่มเติมกำลังเข้ารักษาที่มั่นเมืองซำทอง และ ทหารม้ง ทชล.ภาค 2 ไปรักษาภูถ้ำแซ
พัน.ทสพ.605   ไปยึดรักษาที่มั่นทางทิศตะวันตกของเมืองซำทอง   ซึ่งเป็นเส้นทางสกัดกั้นข้าศึกไปสู่โล่งแจ้ง และได้แปรสภาพ ร้อย ค.4.2  ของ  พัน.ป.ทสพ.605 ให้เป็น  กองร้อย  ป.  และเข้าไปสับเปลี่ยน  บีเอ  14    ซึ่งครบกำหนดกลับหน่วย   
การปรับปรุงครั้งนี้อยู่ในห้วง พ.ค. ถึง มิ.ย.14  โดยถือเป็นการป้องกันมิให้ข้าศึกรุกเข้าสู่ซำทองและโล่งแจ้ง”
(หมายเหตุ : เอกสารของทางการที่นำมาถ่ายทอดนี้อาจยากต่อการทำความเข้าใจ ซึ่งจะได้นำเสนอให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นในลำดับต่อไป)
ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือยึดหลัก “ยุทธวิธี 16 คำของ เหมา เจ๋อ ตง - เอ็งมาข้ามุด เอ็งหยุดข้าแหย่ง เอ็งแย่ข้าตี เอ็งหนีข้าตาม”
ฝ่ายทหารไทยก็ยัดถือตำรารบของสหรัฐที่แบ่งการปฏิบัติการทางทหารเป็น “การรบด้วยวิธีรุก การรบด้วยวิธีรับ และ การร่นถอย”
ทั้งสองตำรารบมีหลักการพื้นฐานไม่แตกต่างกัน.




“Campaign 74B  - ความล้มเหลวของเวียดนามเหนือ (4)”
......โฮจิมินห์ให้ความสำคัญเร่งด่วนสูงสุดต่อการป้องกันเมืองเชโปนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุ่มเทกำลัง ระหว่าง 25,000-30,000 คนและยุทโธปกรณ์รวมทั้งการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง ซึ่งโซเวียตและจีนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กำลังทั้งหมดนี้เข้าป้องกันพื้นที่เมืองเซโปนอันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้อย่างสุดกำลัง จึงส่งผลต่อการปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74B ในพื้นที่ทุ่งไหหินอย่างมีนัยสำคัญ…..
สาเหตุสำคัญประการที่สามในความล้มเหลวของฝ่ายเวียดนามเหนือตามแผนยุทธการ 74B มาจากการเปิดยุทธการขนาดใหญ่ “ลามเซิน 719-Lam Son 719” ของเวียตนามใต้โดยการสนับสนุนของอเมริการะหว่าง วันที่ 8 กุมภาพันธ์ – 25 มีนาคม พ.ศ.2514 อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับการเปิดยุทธการ 74B ของฝ่ายเวียดนามเหนือที่ทุ่งไหหิน
จากแรงกดดันของชาวอเมริกันและนโยบายการหาเสียงที่ให้สัญญาไว้ ดังนั้นเมื่อประธานาธิบดีนิกสันขึ้นรับตำแหน่งเมื่อต้นปี พ.ศ.2512 จึงเริ่มดำเนินการถอนทหารอเมริกันจากเวียดนามใต้อย่างเป็นรูปธรรมตามลำดับ และเพื่อให้การถอนตัวจากสงครามเวียดนามเป็นไป “อย่างมีเกียรติ” นอกจากการระดมทิ้งระเบิดทั้งในดินแดนเวียดนามเหนือ ลาว และขยายขอบเขตการปฏิบัติการทางทหารเข้าไปในกัมพูชาแล้ว สหรัฐยังพยายามสร้างความเข้มแข้งให้แก่กองทัพเวียดนามใต้ให้มากที่สุดตามนโยบาย Vietnamization ที่รู้จักกันดีเพื่อให้สามารถเอาชนะเวียดนามเหนือให้ได้ 
จึงนำไปสู่การทดสอบขีดความสามารถของทหารเวียดนามใต้ด้วยการผลักดันให้เปิดยุทธการ ลามเซิน 719 นี้ขึ้น
ยุทธการลามเซิน 719 ฝ่ายเวียดนามใต้ใช้กำลังขนาด 1 กองทัพน้อย กำลังสำคัญมีทั้งกองพลน้อยยานเกราะ กองพลทหารราบ และกองพลส่งทางอากาศ และหน่วยจู่โจม ซึ่งมีกำลังพลทั้งสิ้นรวมแล้วประมาณ 20,000 คน โดยไม่มีกำลังภาคพื้นดินของสหรัฐเข้าร่วม แต่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ทั้งการลำเลียงทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์และการโจมตีทางอากาศ รวมทั้งการสนับสนุนด้านส่งกำลังบำรุง 
ที่หมายของยุทธการ ลาม เซิน 719 คือเมืองเซโปน (Tchepone) ของลาวอันเป็นเสมือนประตูเข้าสู่เวียดนามใต้ตามเส้นทางโฮจิมินห์ ซึ่งหากเวียดนามใต้สามารถควบคุมเมืองนี้และพื้นที่ใกล้เคียงได้จะส่งผลอย่างสำคัญต่อการใช้เส้นทางโฮจิมินห์ของฝ่ายเวียดนามเหนือ 
ตามแผนนี้ เวียดนามใต้จะส่งกองพลน้อยยานเกราะที่ 1 รุกเข้าไปตามเส้นทางหมายเลข 9 จนถึงเมืองเซโปน ป้องกันปีกทั้งสองข้างโดยกองพลทหารราบที่ 1 กองพลส่งทางอากาศที่ 1 และหน่วยจู่โจมบุกเข้าไปในที่ตั้งต่างบนภูเขาสองข้างแนวทางเคลื่อนที่ กองพลนาวิกโยธินเป็นกองหนุน โดยคาดว่าจะยึดเมืองเซโปนได้ภายในเวลา 3 วัน จากนั้นก็จะรุกต่อไปตามเส้นทางโฮจิมินห์เพื่อทำลายเส้นทางส่งกำลังบำรุงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อฝ่ายเวียดนามเหนือ
ควรบันทึกไว้ด้วยว่า ยุทธการลามเซิน 719 นี้ไม่มีหน่วยทหารของไทยทั้งทหารประจำการและทหารอาสาสมัครเข้าร่วมแต่อย่างใด และทั้งหมดกำลังติดพันการรบอยู่ที่ทุ่งไหหิน
โฮจิมินห์ให้ความสำคัญเร่งด่วนสูงสุดต่อการป้องกันเมืองเชโปนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยทุ่มเทกำลัง ระหว่าง 25,000-30,000 คนและยุทโธปกรณ์รวมทั้งการสนับสนุนการส่งกำลังบำรุง ซึ่งโซเวียดและจีนให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ กำลังทั้งหมดนี้เข้าป้องกันพื้นที่เมืองเซโปนอันมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ครั้งนี้อย่างสุดกำลัง จึงส่งผลต่อการปฏิบัติตามแผนยุทธการ 74B ในพื้นที่ทุ่งไหหินอย่างมีนัยสำคัญ และนับเป็นสาเหตุหลักอีกประการหนึ่งที่ต้องล้มเลิกแผนยุทธการ 74B กลางคันเมื่อ 2 เมษายน พ.ศ.2514 เพื่อระดมทรัพยากรสู่พื้นที่ๆมีความสำคัญกว่าแห่งนี้
ผลจากความพยายามของโฮจิมินห์ครั้งนี้ ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือก็ยังคงรักษาเมื่อเซโปนและเส้นทางโฮจิมินห์ไว้ได้ แม้จะประสบความสูญเสียอย่างหนักก็ตาม มีรายงานว่า ฝ่ายเวียดนามเหนือเสียชีวิต 2,163 คน (เวียดนามใต้ว่า เสียชีวิต 19,360 คน) บาดเจ็บ 6,176 คน ขณะที่ฝ่ายเวียดนามใต้เสียชีวิต 1,146-1,529 คน และบาดเจ็บ 1,560-1,149 คน ฝ่ายสหรัฐเสียชีวิต 253 คน บาดเจ็บ 1,149 คน สูญเสียเครื่องบินรบ 7 ลำ และเฮลิคอปเตอร์ 107 ลำ ฯลฯ
ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างชัยชนะ !
เมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ที่เมืองเซโปนและพื้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่เวียดนามใต้ได้แล้ว ฝ่ายเวียตนามเหนือจะกลับมาให้ความสำคัญต่อพื้นที่ทุ่งหินและเมืองล่องแจ้งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่เส้นทางโฮจิมินห์ โดยเปิด CAMPAIGN Z ขึ้นในช่วงปลายปีเมื่อ 17 ธันวาคม พ.ศ.2514
กำลังทหารประจำการจาก กรมผสมที่ 13 กลับไทยไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม ปล่อยให้ภารกิจทั้งสิ้นเป็นของกองกำลังทหารเสือพรานล้วนๆ...
ตำนานวีรกรรมทหารเสือพรานในทุ่งไหหินซึ่งยังถูกเล่าขานมาจนบัดนี้ กำลังจะเริ่มขึ้น.





“การมาถึงของทหารเสือพราน”
......ปัญหาการส่งกำลังบำรุงซึ่งเรากระทำได้ทางเดียวคือทางอากาศจึงเป็นข้อขัดข้องที่สำคัญที่สุดในการรบ…
กลางปี พ.ศ.2514 หลังครบกำหนด 1 ปี กรมผสมที่ 13 จึงถอนกำลังกลับประเทศไทย 
กองกำลังทหารเสือพรานเข้ามารับหน้าที่ต่อ
ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ ผู้บังคับหมู่บิน กองพันทหารปืนใหญ่ ทสพ.635 ส่วนหนึ่งของกองกำลังทหารเสือพรานที่มาใหม่ บันทึกเหตุการณ์ไว้ดังนี้
“มีนาคมถึงเมษายน 2514
ในระยะแรกที่ก่อน กองพันทหารปืนใหญ่ ทสพ. 635 จะเข้าปฏิบัติการนั้น สถานการณ์ของฝ่ายเรากำลังเป็นรองต่อข้าศึกข้าศึกซึ่งมีกำลังประมาณ 4 กรม คือ กรม 148 กรม 174 กรม 165 และกรม 866 ครอบครองพื้นที่ทุ่งไหหินทั้งหมดไว้ได้ นอกจากนั้นยังส่งกำลังเข้ามาคุกคามฝ่ายเราทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหินอีกด้วย
ฝ่ายข้าศึกได้รับการสนับสนุนด้วยปืนใหญ่วิถีโค้งขนาด 122 มิลลิเมตร และปืนใหญ่วิธีราบ 85 มิลลิเมตรโดยมีที่ตั้งอยู่ทางชายทุ่งไหหินด้านตะวันตก และเล็ดลอดเข้ามาถึงบริเวณเมืองโปด นอกจากนั้นยังมีอาวุธวิถีโค้งอื่นๆเช่นจรวดขนาด 122 มิลลิเมตรและเครื่องยิงลูกระเบิดขนาดต่างๆอีกด้วย
ขณะนั้นข้าศึกกำลังเร่งสร้างทางเข้ามาทางตะวันตกเฉียงใต้ของทุ่งไหหินเพื่อจะเคลื่อนย้ายปืนใหญ่มาทำการยิงล่องแจ้งซึ่งเป็นกองบัญชาการใหญ่ของฝ่ายเราอีกด้วย
กำลังฝ่ายเราในขณะนั้นมีกำลังทหารราบ 9 กองพัน เป็นกองพันทหารประจำการ 3 กองพันคือ BI-13 BI-14 และ BI- 15 กับทหารอาสาสมัครเสือพรานอีก 6 กองพัน คือ กองพันทหารเสือพราน 601 - 602 - 603 - 604 - 605 และ 606 สำหรับหน่วยทหารปืนใหญ่มีกำลัง 2 กองร้อยคือ BA-13 และ BA- 14 แบ่งออกเป็น 4 ฐานยิงสนับสนุน คือ
ฐานยิง “พันเชอร์” ที่บ้านนาประกอบด้วย ป.105 จำนวน 2 กระบอก และ ป. 155 จำนวน 2 กระบอก
ฐานยิง “อีเกิล” ที่ซำทองประกอบด้วย ป.105 จำนวน 4 กระบอก
ฐานยิง “ซีบร้า” ทางตะวันออกของซำทองประมาณ 6 กิโลเมตร ประกอบด้วย ป. 155 จำนวน 4 กระบอก
ฐานยิง “ไทเกอร์” บนแนว skyline เหนือล่องแจ้ง ประกอบด้วย ป. 105 จำนวน 2 กระบอก
กำลังทหารท้องถิ่นของนายพลวังเปามีประมาณ 8,000 คนเศษ แบ่งออกเป็น 3 กรมคือ GM- 21 GM- 22 และ GM-23 กับกรมที่ 31 จากสุวรรณเขตร่วมกับกำลังฝ่ายเรา ตั้งรับฝ่ายข้าศึกอยู่ตามยอดเขาซึ่งเป็นภูมิประเทศสําคัญเพื่อป้องกันซำทองและล่องแจ้งไว้ให้ได้ เนื่องจากล่องแจ้งเป็นเสมือนเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์นครหลวงของราชอาณาจักรลาว
ทุ่งไหหินเป็นสมรภูมิระหว่างทหารรัฐบาลกับฝ่ายคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลาช้านาน ศึกชิงทุ่งไหหินยืดเยื้อมานานจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายสูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่กองพันของเราเดินทางมาถึงใหม่ๆนั้น คอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัยครอบครองทุ่งไหหินไว้ได้โดยเด็ดขาด ฝ่ายเราซึ่งได้ผลักดันข้าศึกที่คุกคามซำทองและล่องแจ้งออกไปได้ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือนเริ่มสร้างแนวต้านทานออกไปจากล่องแจ้งประมาณ 10 ถึง 15 กิโลเมตรโดยทำการยึดยอดเขาซึ่งเป็นภูมิประเทศที่สำคัญไว้ภายใต้การยิงสนับสนุนของทหารยิงปืนใหญ่ทั้ง 4 ฐานซึ่งรัศมีการยิงครอบคลุมพื้นที่การรบไว้ได้ทั้งหมด
นอกจากนี้ฝ่ายเรายังครองความเป็นเจ้าอากาศ สามารถใช้เครื่องบินจากฐานทัพอากาศสหรัฐและเครื่องบิน T-28 ของกองทัพอากาศลาวโจมตีข้าศึกได้ในเมื่อสภาพอากาศอำนวยให้
ฝ่ายข้าศึกเคลื่อนที่จากบริเวณทุ่งไหหินเข้ามาทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้เผชิญหน้ากับส่วนหน้าสุดของฝ่ายเราที่บ้านนาและแทรกซึมเป็นหน่วยย่อยเข้ามาโจมตีฝ่ายเราด้วยกำลังทหารราบและด้วยการยิงอาวุธวิถีโค้งต่อที่ตั้งต่างๆของฝ่ายเรา แม้แต่บริเวณล่องแจ้งก็ยังถูกคุกคามด้วยจรวดขนาด 122 มิลลิเมตรอยู่เสมอ 
ในขณะนั้นข้าศึกได้ทำการโอบล้อมฐานยิงพันเชอร์และทหารราบ BI- 15 ที่บ้านนาไว้แล้วและทำการยิงด้วยอาวุธวิถีโค้งต่างๆมาตั้งแต่ต้นปี 2514 แต่ฝ่ายเราก็ยังพยายามยึดที่ตั้งไว้อย่างเหนียวแน่น
โดยเหตุที่หน่วยปืนใหญ่ตามฐานยิงต่างๆนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่มาครบ 1 ปีแล้ว กองพันของเราจึงได้รับหน้าที่เข้าไปสับเปลี่ยนตามฐานยิงต่างๆเริ่มตั้งแต่ 4 ฐานก่อนโดยให้กองพันของเราทั้งหมดไปรวมกำลังกันอยู่ที่ฐานยิงซีบร้าในวันแรกที่เดินทางมาถึง
ในพื้นที่ปฏิบัติการของฝ่ายเรานั้น การส่งกำลังบำรุงกระทำได้โดยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายสหรัฐซึ่งได้ทำสัญญาจ้างให้บริษัท แอร์อเมริกา เป็นผู้ดำเนินการการขนส่งเสบียงอาหารและอุปกรณ์การรบโดยกระทำได้ 2 ทางคือทางเฮลิคอปเตอร์และการทิ้งร่มโดยมีล่องแจ้งเป็นฐานส่งกำลังบำรุงใหญ่ สนามบินล่องแจ้งจึงเต็มไปด้วยเครื่องบินต่างๆขึ้นลงอยู่ตลอดเวลากลางวัน
แม้ว่าการส่งกำลังบำรุงจะกระทำอยู่ตลอดเวลากลางวันก็หาได้เพียงพอแก่ความต้องการของหน่วยไม่ หน่วยของเรายังคงขาดแคลนเสบียงอาหาร น้ำ และกระสุน โดยเฉพาะหน่วยซึ่งไม่สามารถที่จะส่งลงโดยเฮลิคอปเตอร์ได้ต้องใช้วิธีทิ้งร่มซึ่งมักจะถูกลมตีร่มให้พลาดจากฐานลงสู่หุบเขาหรือไม่ก็ตกห่างออกไปจนเป็นอันตรายต่อการออกไปเก็บ โดยอาจจะถูกยิงจากข้าศึก จึงทำให้หน่วยต่างๆได้รับความเดือดร้อนอยู่ตลอดเวลา
โดยเหตุที่ภูมิประเทศแถบนี้เต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน ดังนั้นทัศนวิสัยจึงมีแนวโน้มไปในทางที่เลวตลอดปี ในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมอยู่ตลอดเวลา ในฤดูแล้งอันยาวนานจะมีหมอกแดด (HAZE) กระจายอยู่ทั่วไป จนกระทั่งถึงต้นฤดูฝนจึงจะมีสภาพอากาศดีอยู่ในช่วงเวลาอันสั้น จากนั้นเราก็ต้องเผชิญกับสภาพอากาศปิดเนื่องจากเมฆฝนอยู่จนกระทั่งฤดูหนาว
ดังนั้นปัญหาการส่งกำลังบำรุงซึ่งเรากระทำได้ทางเดียวคือทางอากาศจึงเป็นข้อขัดข้องที่สำคัญที่สุดในการรบ โดยเฉพาะในฤดูแล้งซึ่งข้าศึกจะฉวยโอกาสในการที่เราส่งกำลังบำรุงได้ยากและการโจมตีทางอากาศจำกัดด้วยทัศนวิสัยทำการรุกไล่ฝ่ายเราจนต้องถอยร่นลงมาแทบทุกปี”




“ นรกบ้านนา-บันทึก ร.ท.สัญชัย”
...กำลังพลที่บาดเจ็บต้องทนทรมานอยู่ในที่ตั้งไม่สามารถส่งกลับมารักษาพยาบาลได้ บ้างก็ต้องเสียชีวิตลงไปในขณะรอคอย ซากศพก็รอการส่งกลับจนเน่าเปื่อยเป็นที่อนาถใจแก่บรรดาทหารจนกระทั่งขวัญของทหารตกต่ำลงตามลำดับ...
บันทึกต่อไปนี้ของ ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ กล่าวถึงเหตุการณ์ “นรกบ้านนา” ในฐานะผู้สังเกตการณ์ สอดคล้องกับทั้งบันทึกของ “หัวหน้าใจ” และ พันเอก เหงียน ชวง
“การรบที่บ้านนา”
ในพื้นที่บ้านนาซึ่งฐานปืนพันเชอร์ ( BA-13)ได้สร้างอย่างมั่นคงนั้นมีหน่วยทหารราบคือกองพัน BI- 15 คุ้มครองอยู่ซึ่งเป็นหน่วยหน้าสุดของฝ่ายเราที่ต้องเผชิญกับการคุกคามของทหารราบข้าศึกและการยิงจากปืนใหญ่รวมทั้งอาวุธวิถีโค้งทุกชนิดอยู่เป็นเวลากว่า 2 เดือน
หน่วยที่บ้านนาต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการยิงของปืนใหญ่ข้าศึกซึ่งมีระยะยิงไกลกว่าปืนใหญ่ของเราที่มีอยู่และข้าศึกก็ได้ทำการโยกย้ายที่ตั้งยิงรวมทั้งการซ่อนพรางอย่างดีจนทำให้กำลังทางอากาศของเราไม่สามารถค้นหาและทำลายได้
หน่วยที่บ้านนาต้องทนทุกข์ทรมานจากการยิงอาวุธหนักของข้าศึกอยู่ 2 เดือนเศษ สูญเสียกำลังพลไปเป็นจำนวนมาก ข้าศึกเข้าเกาะฝ่ายเราจนเสียหาย บังเอร์ถูกถล่มพังทลายเป็นแห่งๆ ฐานยิงพันเชอร์ได้สูญเสียนายทหารไป 1 คนคือ “หัวหน้าฝ้าย” 
(ร.ต.คำรบ แสงจันทน์ไทย “ม้อส”) เมื่อต้นเดือนเมษายน ในขณะที่หน่วย BI- 15 ก็สูญเสียนายทหารและกำลังพลอีกมากมายในการเข้าตีของข้าศึก
การส่งกำลังบำรุงด้วยเฮลิคอปเตอร์กระทำไม่ได้โดยสิ้นเชิงเพราะเครื่องบินไม่สามารถฝ่ากระสุนลงไปได้ ทหารไม่มีอาหารและน้ำ บางหน่วยถึงกับต้องดื่มปัสสาวะของตนเอง 
เครื่องบินขนาดใหญ่พยายามทิ้งร่มส่งกระสุนและเสบียงอาหารลงไปให้ แต่ก็ได้รับไม่เต็มที่เนื่องจากเราได้รับความกดดันจากการยิงของข้าศึกอยู่ตลอดเวลาจนต้องสูญเสียกำลังพลไปอีก เมื่อออกมาเก็บร่มเหล่านั้น
กำลังพลที่บาดเจ็บต้องทนทรมานอยู่ในที่ตั้งไม่สามารถส่งกลับมารักษาพยาบาลได้ บ้างก็ต้องเสียชีวิตลงไปในขณะรอคอย
ซากศพก็รอการส่งกลับจนเน่าเปื่อยเป็นที่อนาถใจแก่บรรดาทหารจนกระทั่งขวัญของทหารตกต่ำลงตามลำดับ
ทหารราบที่ เอ็มไอ เเละ เอ็มเค (ชื่อของช็อปเปอร์แพ็ด) ถูกข้าศึกโจมตีด้วยกำลังทหารราบสนับสนุนด้วยอาวุธหนักจนกระทั่งต้องเสียที่มั่นทั้งสองแห่งตามลำดับต้องเข้ามารวมกำลังกันอยู่ในฐานยิ่งพันเชอร์
(น่าจะหมายถึงที่ตรวจการณ์ฐานบ้านนาและกองร้อยสุรินทร์ ตามบันทึกหัวหน้าใจ/บัญชร)
ทางหน่วยเหนือพยายามแก้ปัญหาอย่างสุดความสามารถเพื่อที่จะยึดรักษาบ้านนาไว้ให้ได้เพราะถ้าหากเราเสียบ้านนาจะทำให้เสี่ยงต่อการเสียภูล่องมาด และเนินซีบร้า ให้แก่ข้าศึก ซำทองและล่องแจ้งก็จะไม่ปลอดภัย
กองพันทหารเสือพรานที่ 605 และ 606 ถูกส่งลงทางตะวันตกของบ้านนาที่เนิน 1663 ( “เนินอานม้า” ตามบันทึกของหัวหน้าใจ/บัญชร) เพื่อตีเชื่อมต่อกับฐานยิงพันเชอร์แต่ก็โชคร้าย ฝูงบินขับไล่ทิ้งระเบิดแฟนท่อมของสหรัฐซึ่งสนับสนุนการเข้าตีเชื่อมต่อของกองพันทั้งสองอยู่นั้น ทิ้งระเบิดผิดเป้าหมายมาถูก บก.พัน ทสพ. 605 และกองร้อยที่ 2 ทำให้ ผบ.พัน และกำลังพลอีกเป็นจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บอีกมากมาย
การเข้าที่เชื่อมต่อต้องหยุดชะงักอยู่อีกเป็นเวลานานหลายวันและต้องให้ พัน ทสพ. 604 เข้าไปปฏิบัติงานแทนพัน ทสพ. 605 ซึ่งบอบช้ำเต็มที่
ฐานยิงพันเชอร์ถูกปืนใหญ่ข้าศึกถล่มวันละหลายร้อยนัดต้องหมกตัวอยู่ภายในบังเกอร์จนกระทั่ง ผบ.ฐานยิง “หัวหน้าเกริก” พิจารณาเห็นว่าถ้าหากขืนอยู่ต่อไปจะต้องสูญเสียกำลังพลอีกมากและข้าศึกอาจจะใช้กำลังทหารราบเข้าโจมตีจนฝ่ายเราต้องเสียที่มั่นก็ได้ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตของผู้ใต้บังคับบัญชา จึงได้ตัดสินใจถอนตัวในตอนค่ำของวันที่ 6 เมษายน 2514 ทิ้งปืนใหญ่และยุทโธปกรณ์ต่างๆไว้โดยพยายามฝังและทำลายส่วนที่สำคัญให้มากที่สุดเพื่อมิให้ข้าศึกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เหลือเพียงอาวุธประจำกายและอาวุธอื่นซึ่งพอจะนำไปได้ ถอนตัวลงมาทางใต้ซึ่งก็นับว่าเป็นโชคดีที่ข้าศึกที่เคยปิดล้อมฝ่ายเราบริเวณนั้นได้โยกย้ายกำลังไปทางด้านที่ พัน ทสพ.604และ 606 จะเข้าเชื่อมต่อ เป็นโอกาสให้ฝ่ายเราถอนตัวได้โดยไม่มีการปะทะ
และหลังจากการถอนตัวเพียงชั่วครู่ข้าศึกก็เข้าโจมตีและยึดบ้านนาได้แล้วส่งกำลังไล่ติดตามฝ่ายเรามา แต่ฝ่ายเราอาศัยชาวพื้นเมืองนำทางมาตามไหล่เขาหลีกเลี่ยงการปะทะกับข้าศึกเป็นเวลา 2 วันจึงสามารถถอนตัวมายังหน่วย BI- 14 ซึ่งอยู่บริเวณภูล่องมาด หรือภูกุ้มได้โดยปลอดภัย
หลังจากนั้นเครื่องบินก็ไปรับกลับลงมายังล่องแจ้งได้ ทุกคนอยู่ในสภาพเสียขวัญและอดอยาก ทุกคนเข็ดขยาดต่อการยิงของปืนใหญ่ข้าศึกที่เราไม่สามารถตอบโต้ได้
เนื่องจากกำลังพลของกองพันปืนใหญ่ BA-13 ได้ปฏิบัติงานมาเป็นเวลา 1 ปีเต็มแล้วผู้บังคับบัญชาจึงอนุมัติให้กลับบ้านได้ 
BA- 13 กลับเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2514”
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากสงครามเวียดนาม.





“ การยิงสนับสนุนของทหารปืนใหญ่”

.......ส่วนใหญ่การปฏิบัติของฐานยิงซีบร้า มักจะได้รับภารกิจมากในตอนกลางคืน เนื่องจากข้าศึกมักจะฉวยโอกาสที่ความมืดจำกัดการตรวจการณ์ของฝ่ายเราออกทำการรบกวนฝ่ายเราด้วยหน่วยขนาดย่อมและด้วยอาวุธหนักอยู่เสมอ…….
ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ ผู้บังคับหมู่บิน พัน ป.ทสพ.635 บันทึกต่อไปว่า...
“ เราสูญเสียบ้านนาด้วยความไม่เต็มใจของผู้บังคับบัญชา แต่ทหารราบหน่วยนั้นก็ได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดเกินกว่าที่จะได้รับการตำหนิได้ ทุกคนได้อดทนต่อการกระทำของข้าศึกซึ่งเราไม่สามารถโต้ตอบและสูญเสียกำลังพลจนกระทั่งแน่ใจว่าอยู่ต่อไปไม่ได้จึงตัดสินใจถอนตัวเพื่อสงวนชีวิตผู้ใต้บังคับบัญชา บ้านนาก็ตกเป็นเป้าการทิ้งระเบิดทำลายจากฝูงบินสหรัฐเพื่อไม่ให้ข้าศึกใช้ประโยชน์  
BA -13 ที่ฐานยิงพันเชอร์กลับไปแล้ว  เรา พัน.ป 635 จะเข้ารับหน้าที่แทนท่าน ไปดีเถิดเพื่อนรักเพื่อนได้ทำหน้าที่ชายชาติทหารได้อย่างดีที่สุดแล้ว ปฏิบัติการซื้อเวลาด้วยชีวิตเลือดเนื้อและความยากลำบากของเพื่อนได้สร้างผลดีให้แก่ฝ่ายเราอย่างมหาศาล 
บัดนี้ฤดูฝนกำลังจะมาถึง เราจะเป็นฝ่ายรุก เราจะเอาชีวิตมันสังเวยแด่วิญญาณของเพื่อนเราชาวพันเชอร์และวังเวียง (BA-13) ที่ต้องสูญเสียไปให้มากที่สุด
ร้อย ป.105 พัน ป.ทสพ.635 ภายใต้การนำของหัวหน้าสีมา (ผบ.ร้อย : ร.ท.ประกอบ เศรษฐชัย)ได้เคลื่อนย้ายแยกตัวออกจากที่ตั้งกองพันที่ฐานยิงซีบร้า เข้ารับหน้าที่ฐานยิงไทเกอร์ เมื่อ 9 เมษายน 2514 โดยให้ทำหน้าที่ควบคุมการยิงของฐานยิงภูฟ้าซึ่งเป็นหน่วย ป. 105 ของฝ่ายท้องถิ่น มี ป. 105 อยู่ 2 กระบอกอีกด้วย
“การปฏิบัติงานของ พัน ป.ทสพ. 635 ตั้งแต่เริ่มเข้าปฏิบัติงานจนถึงสิ้นเดือน เมษายน 2514”
ในระยะแรกที่เข้าปฏิบัติงานนั้นกองพันของเราได้รับคำสั่งให้เข้าที่ตั้งที่ฐานยิงซีบร้าทั้งกองพันโดยใช้ร้อย ป. 155 เป็นหน่วยยิงเพียงกองร้อยเดียว มีปืนใหญ่ขนาด 155 เพียง 4 กระบอก
ฐานยิงซีบร้าได้รับมอบภารกิจให้ทำการยิงต่อที่ตั้งต่างๆของข้าศึกภายในรัศมีการยิงของตนภารกิจต่างๆนี้คือการยิงที่หมายตามเหตุการณ์ต่อที่รวมพลข้าศึกที่ปรากฏให้เห็นหรือเมื่อหน่วยร้องขอการยิงมา การยิงต่อต้านอาวุธหนักและปืนใหญ่ของข้าศึก การยิงป้องกันฐานยิงปืนใหญ่ ที่ตั้งหน่วยทหารราบเสือพรานและทหารท้องถิ่น การยิงรบกวนและขัดขวางรวมรวมทั้งภารกิจส่องสว่างสนามรบ
เราได้ปฏิบัติภารกิจสิ่งต่างๆเหล่านี้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันโดยเฉพาะเมื่อหน่วยใดภายในรัศมีการยิงของเราประสบกับการเข้าตีจากข้าศึกหรือได้รับการคุกคามจากอาวุธหนักข้าศึก ฐานยิงซีบร้าจะทำการยิงสนับสนุนให้ทันทีโดยขออนุมัติการยิงมาที่ ศปยส.(ศูนย์ประสานการยิงสนับสนุน) ซึ่งจะประสานการปฏิบัติกับเครื่องบิน ABCC (Airborne Command and Control Center) ของกองทัพอากาศสหรัฐซึ่งมีนามสถานีว่า “คริกเก็ต” ปฏิบัติงานในเวลากลางวันตลอด 12 ชั่วโมงและปฏิบัติงานกลางคืน 12 ชั่วโมง กับประสาน บก.ท้องถิ่น (ทหารม้ง) และ บก. กองกำลังพิเศษเกี่ยวกับที่ตั้งของหน่วยทหารราบฝ่ายเรา
ในขณะนั้นฐานยิงซีบร้าซึ่ง ผบ. พัน (พ.ต.สุนทร ศรีจันทร์)ได้ไปควบคุมอำนวยการปฏิบัติอยู่ก็ได้ถูกคุกคามจากอาวุธหนักของข้าศึกอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เราต้องปฏิบัติการยิง ทำการดัดแปลงที่มั่นและลำเลียงกระสุนซึ่งได้รับจากการทิ้งร่มจากเครื่องบินอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้กองพันของเราต้องสูญเสียกำลังพลบาดเจ็บไป 3 คน
14 เมษายน  2514 กองพันของเราได้รับคำสั่งให้ตั้งฐานยิงไวท์ฮอร์สขึ้นที่เนิน ทีไอ.เพื่อสนับสนุนหน่วยที่บริเวณเนิน 1663 และบริเวณบ้านนา ประกอบด้วย ป 105 มม 1 กระบอก จัดกำลังพลจาก ร้อย ป. 105 และ ค. 4.2 อีก 1 กระบอก จัดกำลังพลจาก ร้อย ค.หนัก โดยให้นายทหารของทั้ง 2 กองร้อยผลัดเปลี่ยนกันไปควบคุมในฐานะ ผบ.ฐานยิง ซึ่งฐานยิงไวท์ฮอร์สนี้แม้ว่าจะมีอำนาจการยิงเพียงเท่านี้ แต่ก็ได้ทำการยิงสนับสนุนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา ทำให้หน่วยรับการสนับสนุนปลอดภัยจากอาวุธวิถีโค้งของข้าศึกและจากการโจมตีด้วยกำลังทหารราบข้าศึกเป็นอย่างมาก 
ฐานยิงแห่งนี้ได้รับการระวังป้องกันรอบฐานโดยกำลังทหารราบท้องถิ่นจากนายพลวังเปา
ที่ฐานยิงซีบร้ายังคงทำการยิงสนับสนุนหน่วยต่างๆอยู่อย่างเข้มแข็ง แม้ว่าจะได้รับการโต้ตอบจากข้าศึกอย่างรุนแรงก็ตาม มีกำลังพลได้รับบาดเจ็บอีก 4 นาย นอกจากนั้น หน.ตะเคียน (ร.ต.ปรีชา ชำนาญไพร) ผู้ตรวจการณ์หน้า ร้อย ค.หนัก ทำหน้าที่นายทหารติดต่อก็ได้รับบาดเจ็บอีก 1 นาย
ส่วนใหญ่การปฏิบัติของฐานยิงซีบร้า มักจะได้รับภารกิจมากในตอนกลางคืน เนื่องจากข้าศึกมักจะฉวยโอกาสที่ความมืดจำกัดการตรวจการณ์ของฝ่ายเราออกทำการรบกวนฝ่ายเราด้วยหน่วยขนาดย่อมและด้วยอาวุธหนักอยู่เสมอ โดยเฉพาะภารกิจยิงส่องสว่างนั้นต้องกระทำให้แก่หน่วยต่างๆเป็นระยะเวลาตลอดคืนแทบทุกคืน 
ส่วนในเวลากลางวันนั้นเนื่องจากมีเครื่องบินเข้ามาส่งกระสุนและเสบียงตามสถานที่ต่างๆของฝ่ายเราอยู่ตลอดเวลาจึงไม่ค่อยจะมีโอกาสได้ทำการยิง เว้นแต่ในกรณีที่หน่วยได้รับการคุกคามจากข้าศึกจึงจะขออนุมัติมายัง ศปยส.เพื่อประสานกับเครื่องบินควบคุมอากาศยาน (ABCCC) ขอร้องให้เครื่องบินต่างๆออกไปจากบริเวณที่เราจะทำการยิง ซึ่งก็ต้องเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆไม่สามารถใช้อาวุธหนักของทหารราบตอบโต้ได้เท่านั้น 
มิฉะนั้นจะทำให้การส่งสิ่งอุปกรณ์ซึ่งกระทำได้เฉพาะในเวลากลางวันต้องหยุดชะงักไปจนอาจทำให้หน่วยขาดแคลนกระสุนหรือเสบียงอาหารได้
แต่ถึงแม้ว่าหน่วยเราจะมีภารกิจยิงในตอนกลางวันค่อนข้างน้อย แต่ก็ต้องปฏิบัติภารกิจอื่นๆเช่นทำการลำเลียงกระสุนซึ่งได้รับจากการทิ้งร่ม ทำการดัดแปลงที่มั่นและปฏิบัติการลาดตระเวนออกไปโดยรอบฐานยิงเพื่อมิให้ข้าศึกเข้ามาใกล้ฝ่ายเราจนสามารถใช้อาวุธหนักยิงเข้ามาหรือตรวจการณ์ฝ่ายเราได้ 
จึงนับได้ว่ากองพันของเราต้องปฏิบัติงานอย่างหนักมิใช่น้อย.



“กำเนิด FAG”
…..FAG บางคน ทั้งๆที่ก่อนหน้าเข้ารับการฝึกเพียง 7 วัน อาจนั่งทำงานที่โต๊ะพนักงานต้อนรับของโรงแรมบางแห่งในกรุงเทพ  แต่งานใหม่ครั้งนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องบินนับร้อยลำที่เขาจะต้อง “กวักมือเรียก” คำชมเชยจากเจ้านายที่จะได้รับก็จะแตกต่างออกไป ฯลฯ....
ร.ท.สัญชัย บุณฑริกสวัสดิ์ ผู้บังคับหมู่บิน พัน ป.ทสพ. 635 บันทึกต่อไปว่า...
“ในตอนปลายเดือนเมษายน 2514 กองกำลังพิเศษมีการเปลี่ยนแปลงกำลังดังนี้คือ 
กองพันทหารราบ BI- 13 ซึ่งปฏิบัติงานครบเทอมแล้วได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกลับที่ตั้งปกติในประเทศได้เมื่อ 25 เมษายน 2514
กองพันทหารราบเสือพรานซึ่งเสร็จสิ้นจากการฝึกจากกาญจนบุรีได้เดินทางมาเพิ่มเติมอีก 3 กองพัน คือ 
พัน ทสพ. 607 เข้าแทนที่ กองพันทหารราบ BI- 14 ที่ภูล่องมาด ตั้งแต่ 28 เมษายน 2514 เพื่อรักษาที่มั่นร่วมกับ พัน ทสพ. 603 ส่วน กองพันทหารราบ BI- 14 ซึ่งปฏิบัติงานอย่างหนักมาจนครบปีก็เคลื่อนย้ายกลับมายังพื้นที่ส่วนหลังเพื่อเตรียมการเคลื่อนที่ย้ายกลับที่ตั้งปกติในประเทศในวันที่ 13 พ.ค 54
พัน ทสพ.608 และ 609 เข้าแทนที่ พัน ทสพ. 604 และ 606 ซึ่งผจญกับสถานการณ์หนักที่เนิน 1663 มาเป็นเวลานาน สมควรจะได้รับโอกาสให้ลากลับไปพักได้เป็นเวลา 7 วัน
ในระยะนี้ฐานยิงปืนใหญ่ของเราได้รับคำสั่งจาก ผบ.กองกำลังพิเศษ ให้ทำการยิงด้วยขีดความสามารถสูงสุดโดยไม่ต้องคำนึงถึงความสิ้นเปลืองกระสุนเพื่อสนับสนุนหน่วยต่างๆที่กำลังถูกคุกคามให้รักษาที่มั่นต่างๆไว้ให้ได้จนถึงสิ้นฤดูแล้งซึ่งข้าศึกจะต้องประสบกับความลำบากในการขนส่งเสบียงอาหารและอาวุธยุทโธปกรณ์จนต้องเพลาการปฏิบัติต่อฝ่ายเราลง
สถานการณ์ตลอดเดือนเมษายนอันเป็นเดือนแรกที่เราเข้าปฏิบัติการนั้น ข้าศึกยังคงคุกคามต่อทุกหน่วยของเราตลอดพื้นที่การรบแม้แต่ซำทองและล่องแจ้งก็ยังถูกยิงด้วยจรวดขนาด 122 มม. และถูกข้าศึกใช้หน่วยขนาดย่อมรบกวนอยู่ตลอดเวลา กองกำลังพิเศษต้องสูญเสียกำลังพลไปคือเสียชีวิต 75 นาย บาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนั้นอาสาสมัครที่ขวัญเสียต่างก็พากันสละสิทธิ์ถอนตัวออกจากการรบอีกเป็นจำนวนมาก
เดือนเมษายนนี้นับว่าเป็นเดือนที่มีการรบหนัก แต่ฝ่ายเราก็พยายามที่จะผลักดันข้าศึกออกไปทางทิศตะวันออกและทางทิศเหนือ พร้อมทั้งทำการกวาดล้างข้าศึกในพื้นที่แนวหลังออกไปให้หมดสิ้น
สำหรับ พัน ป. 635 ได้รับภารกิจอย่างมากมาย แต่กำลังพลทุกนายต่างก็พยายามทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุด แม้ว่ากองพันของเราต้องสูญเสียกำลังพลไปบ้างก็ไม่ได้ทำให้ขวัญและกำลังใจของส่วนที่เหลือลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด
ฐานยิงทั้ง 3 คือ ซีบร้า ไทเกอร์ ไวท์ฮอร์ส ได้ทำการยิงสนับสนุนให้หน่วยต่างๆและยิงสนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างทันท่วงทีและเต็มกำลังเสมอ จนกระทั่ง ผบ.กองกำลังพิเศษ “นายเทพ” ได้มองเห็นความเหนื่อยยากของทหารปืนใหญ่จึงได้พิจารณาให้เราได้กลับไปพักก่อนกำหนดเป็นรางวัล ซึ่งกำลังพลของเราได้รับทราบด้วยความยินดีที่ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงมองเห็นผลงานและความตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยเรา
ทำให้กำลังพลใน พัน ป.ทสพ. 635 มีกำลังใจในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้น”
“กำเนิดผู้นำการโจมตีทางอากาศ : Forward Air Guide-FAG”
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2514 ขณะที่กองพันทหารเสือพราน บีซี 605 และ 606 กำลังเข้าโจมตียอดเนินทางเหนือของบ้านนา เพื่อช่วยเหลือกำลังทหารประจำการ BI-13 ฐานยิงพันเชอร์ที่ถูกล้อมอยู่ที่บ้านนา กองพัน บีซี 606 ถูกสกัดกั้นจากทหารฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างหนัก จึงร้องขอการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศต่อที่หมายที่ตั้งของฝ่ายเวียดนามเหนือซึ่งได้รับการสนับสนุนตามคำขอด้วยเครื่องบินขับไล่ทิ้งระเบิด F-4 สองลำ  แต่เกิดความผิดพลาดในการกำหนดเป้าหมาย 
ระเบิดขนาด 250 ปอนด์ลูกหนึ่งตกลงกลางการวางกำลังของกองพัน 605 …
BATTLE FOR SKYLINE RIDGE ของ  JAMES E. PARKER JR บันทึกเหตุการณ์จากพื้นที่เกิดเหตุดังนี้
“ทหารเสือพราน 16 นายเสียชีวิตทันทีและบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก ไมค์ อิงแฮม ซึ่งอยู่กับกองพัน 605 ตั้งแต่เช้า เพิ่งเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ออกจากพื้นที่การรบ เมื่อได้ทราบข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเดินทางกลับพื้นที่การรบทันที ที่จุดเกิดเหตุ เขาได้พบร่างผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บกระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไมค์ อิงแฮม นำตัวผู้บังคับกองพัน 605 พันตรี ศรีรัตน์ นิลรัตนะ (Major Srirat Nilratana ชื่อรหัส “Deepho”) กลับมายังล่องแจ้งโดยมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่สะโพก 
ขณะที่ไมค์กำลังเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บลงจากเครื่องบิน พันตรี ศรีรัตน์ สบตาเขาแล้วพูดว่า ...
“ทำไม...ไมค์- “Why, Mr.Mike ?” แล้วสิ้นลมหายใจ”
จากเหตุการณ์นี้ ฝ่ายอเมริกันได้สอบสวนหาสาเหตุของความผิดพลาดในทันทีรวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่นี้อย่างเต็มที่ และหาทางแก้ไขมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก 
นำมาซึ่งแนวความคิดในการใช้อาสาสมัครไทยที่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ให้มาทำหน้าที่ “ผู้นำการโจมตีทางอากาศ : Forward Air Guide-FAG” เป็นการด่วน
JAMES  E. PARKER บันทึกไว้ใน “BATTLE FOR SKYLINE” ดังนี้
“จากความผิดพลาดในอุบัติเหตุการทิ้งระเบิดต่อกองพัน BC - 605  ศูนย์บัญชาการที่อุดรจึงตอบสนองทันทีโดยจัดให้มีโครงการฝึก “ผู้นำการโจมตีทางอากาศ (FAG : Forward Air Guide)”ซึ่งเป็นคนไทยที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ให้กับแต่ละกองพัน BC เพื่อให้ทุกกองพันสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องบินของกองทัพอากาศสหรัฐ และศูนย์ควบคุมคริกเก็ต รวมทั้งสามารถติดต่อสื่อสารกับส่วนต่างๆของซีไอเอได้ด้วย
เจ้าหน้าที่ FAG เหล่านี้จะได้รับการคัดเลือกโดยเพ่งเล็งประสิทธิภาพในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นสำคัญ แม้บางคนอาจไม่มีความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษมากนักก็ตาม
จากความเร่งด่วนของสถานการณ์ในพื้นที่การรบ ดังนั้นไม่ว่าใครจะมีภูมิหลังอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะใช้วิธีการคัดเลือกอย่างไร  ก็ขอให้ได้อาสาสมัครมาโดยด่วน แล้วสอนให้ทำหน้าที่ในการนำอากาศยานเข้าปฏิบัติภารกิจให้ได้  โปรแกรมการฝึกจะเป็นไปอย่างรวบรัด 
สิ่งเดียวที่ต้องการ -ขอเพียงทุกคนเปี่ยมล้นไปด้วยความกล้าหาญ 
ทันทีที่เข้าปฏิบัติงานในสนามร่วมกับหน่วยทหารเสือพราน  FAG ทุกคนจะต้องทำงานร่วมกับเครื่องบินรบทุกลำในอากาศ  จะต้องติดต่อกับ บก.FAG ได้   จะต้องสามารถเรียกใช้เครื่องบินของแอร์อเมริกา- Raven หรือเครื่องบินอื่นๆได้จากฐานบิน   จะต้องสามารถเรียกเครื่องบินพยาบาลได้เมื่อจำเป็น ในเวลากลางคืนจะต้องสามารถสร้างความสว่างสนามรบได้จากเครื่องบินทิ้งพลุส่องสว่าง รวมทั้งการยิงสนับสนุนใกล้ชิดจากเครื่องบิน ซี -47 “Spooky”  
FAG บางคน ทั้งๆที่ก่อนหน้าเข้ารับการฝึกเพียง 7 วัน อาจนั่งทำงานที่โต๊ะพนักงานต้อนรับของโรงแรมบางแห่งในกรุงเทพ  แต่งานใหม่ครั้งนี้จะต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องบินนับร้อยลำที่เขาจะต้อง “กวักมือเรียก” คำชมเชยจากเจ้านายที่จะได้รับก็จะแตกต่างออกไป ฯลฯ 
ต้องถือว่าเป็นโชคของซีไอที่ริเริ่มเอาคนที่เพียงพอพูดภาษาอังกฤษได้ให้ไปทำงานร่วมกับแต่ละกองพันในสนาม 
FAG คนไทยเหล่านี้จะได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติงานที่สามารถช่วยให้ภารกิจของซีไอเอเป็นไปอย่างได้ผล”
ผู้เขียนยังได้บันทึกความชื่นชมเป็นพิเศษต่อ FAG คนไทยเจ้าของนามรหัส “Smallman” นามจริง “Somchai Tankulsawat”
“FAG บางคนมีความเป็นผู้นำ-
Leadership และเข้มแข็งมากเสียกว่าผู้นำหน่วยบางคนที่พวกเขาไปร่วมปฏิบัติงานด้วย  หัวหน้า  FAG “Smallman” ซึ่งเป็นผู้ช่วยหัวหน้าซีไอเอในพื้นที่การรบนามรหัส “Hardnose” นามจริง ไมค์ อิงแฮม สามารถให้คำแนะนำการแก้ปัญหาในสถานการณ์คับขัน และยังสามารถให้ข้อมูลทุกๆเรื่องในสนามรบแก่เขาได้ดีเสียยิ่งกว่าข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากการติดต่อภายในกับหน่วย 333 ทุกหน่วยในพื้นที่การรบ”