วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ภูริทัตตเจดีย์




ภูริทัตตเจดีย์

ภูริทัตตเจดีย์ เจดีย์สำหรับบรรจุพระทันตธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทตฺโต  องค์หลวงปู่เจี๊ยะตั้งใจสร้างเพื่อรำลึกถึงคุณบูรพาจารย์อย่างสูงสุด  ท่านได้วางศิลาฤกษ์ในการสร้างเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ รูปทรงของเจดีย์มีความหมายทางธรรมดังนี้

ลักษณะรูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ของเจดีย์สมัยสุโขทัย แปดเหลี่ยม ความหมายคือ อริยมรรคมีองค์แปด ดังนี้
๑. สัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจ ๔
๒. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ดำริในอันไม่พยายาท , ดำริในอันไม่เบียดเบียน
๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ เว้นจากทุจริต ๔
๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ เว้นจากกายทุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือ เว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด
๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือ เพียรในที่ ๔ สถาน
๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือ ระลึกในสติปัฏฐานทั้ง ๔
๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือ เจริญฌานที่ ๔

        มีความกว้าง ๒๒  เมตร ความหมาย คือ ปัจจยาการ ๑๑ ประการ โดยอนุโลม ๑๑ ปฏิโลม ๑๑ รวมเป็น ๒๒ ประการ
         ๑.เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยมีสังขาร
         ๒.เพราะสังขารเป็นปัจจัย มีวิญญาณ
         ๓.เพราะวิญญาณเป็นปัจจัยมีนามรูป
         ๔.เพราะนามรูปเป็นปัจจัยมีสฬายตนะ
         ๕.เพราะสฬายตบะเป็นปัจจัยมีผัสสะ
         ๖.เพราะผัสสะเป็นปัจจัยมีเวทนา
         ๗.เพราะเวทนาเป็นปัจจัยมีตัณหา
         ๘.เพราะตัณหาเป็นปัจจัยมีอุปาทาน
         ๙.เพราะอุปทานเป็นปัจจัยมีภพ
       ๑๐. เพราะภพเป็นปัจจัยมีชาติ
       ๑๑. เพราะชาติเป็นปัจจัยมีความแก่และความตาย

       มีความสูง ๓๗ เมตร ความหมายคือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นธรรมที่เป็นส่วนแห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย สติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ , โพชฌงค์ ๗ , มรรคมีองค์ ๘ รวมเป็น ๓๗ ประการ

        สติปัฏฐาน ๔  การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหมายให้รู้ให้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริงไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้าย ที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส ประกอบด้วย
          ๑. กายานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณากายเป็นอารมณ์ว่า กายนี้สักว่ากาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา
          ๒. เวทนานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาเวทนา คือ สุข ทุกข์ และไม่มีสุขไม่ทุกข์เป็นอารมณ์
          ๓. จิตตานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาใจที่เศร้าหมอง หรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ว่า ใจนี้ก็สักว่าใจไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา
         ๔. ธัมมานุปัสสนา สติกำหนดพิจารณาธรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศลที่บังเกิดใจเป็นอารมณ์ว่าธรรมนี้ก็สักว่าธรรม ไม่ใช่ สัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา

       สัมมัปปธาน ๔
        ๑.สังขรปธาน เพียรว่าไม่ให้บาปเกิดขึ้นในสันดาน
        ๒.ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
        ๓.ภาวนาปธาน เพียรให้กุศลเกิดขึ้นในสันดาน
       ๔.อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อม

      อิทธิบาท ๔ คุณเครื่องให้ถึงความสำเร็จตามประสงค์ ๔ อย่าง
       ๑.ฉันทะ พอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น
       ๒.วิริยะ เพียรพยายามทำในสิ่งนั้น
       ๓.จิตตะ เอาใจฝักใฝ่ในสิ่งนั้นไม่วางธุระ
       ๔.วิมังสา หมั่นตริตรองพิจารณาเหตุผลในสิ่งนั้น

    อินทรีย์ ๕ หรือ พละ ๕ คือ
     ๑.สัทธา
     ๒.วิริยะ
     ๓.สติ
     ๔.สมาธิ
     ๕.ปัญญา

    โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรูหรือองค์ของผู้ตรัสรู้มี ๗ อย่างคือ
       ๑.สติ ความระลึกได้
       ๒.ธัมมวิริยะ ความสอดส่องธรรม
       ๓.วิริยะ ความเพียร
      ๔.ปีติ ความอิ่มใจ
      ๕.ปัสสิทธิ ความสงบและอารมณ์
      ๖.สมาธิ ความตั้งใจมั่น
      ๗.อุเบกขา ความวางเฉยและมรรค ๘ อย่างที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ฯ

วันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555

พระอุบลวรรณาเถรี เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายในทางผู้มีฤทธิ์



พระอุบลวรรณาเถรี 
เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายซ้ายในทางผู้มีฤทธิ์

เกิดในตระกูลเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี บิดามารดาได้ตั้งชื่อให้นางว่า “อุบลวรรณา” ตามนิมิตลักษณะที่นางมีผิวพรรณเหมือนกลีบดอกอุบลเขียว

เพราะสวยบาดใจจึงให้บวช
เมื่อนางเจริญวัยเข้าสู่วัยสาว นอกจากจะมีผิวงามแล้วรูปร่างลักษณะยังงดงามสุดที่จะหาหญิงอื่นทัดเทียมได้ จึงเป็นที่หมายปองต้องการของพระราชาและมหาเศรษฐีทั่งทั้งชมพูทวีป ซึ่งต่างก็ส่งเครื่องบรรณาการอันมีค่าไปมอบให้ พร้อมกับสู่ขอเพื่ออภิเษกสมรสด้วย

ฝ่ายเศรษฐีผู้บิดาของนางรู้สึกลำบากใจด้วยคิดว่า “เราไม่สามารถที่จะรักษาน้ำใจของคนทั้งหมดเหล่านี้ได้ เราควรจะหาอุบายทางออกสักอย่างหนึ่ง” แล้วจึงเรียกลูกสาวมาถามว่า

“แม่อุบลวรรณา เจ้าจะสามารถบวชได้ไหม ? ”

นางได้ฟังคำของบิดาแล้วรู้สึกร้อนทั่วสรรพางค์กาย เหมือนกับมีคนนำเอาน้ำมันที่เคี่ยวให้เดือด ๑๐๐ ครั้ง ราดลงบนศีรษะของนาง ด้วยว่านางได้สั่งสมบุญบารมีมาแต่อดีตชาติ และการเกิดในชาตินี้ก็เป็นชาติสุดท้ายของนาง ดังนั้น นางจึงรับคำของบิดาด้วยความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เศรษฐีผู้บิดาจึงพานางไปยังสำนักของภิกษุณีสงฆ์ แล้วให้บวชเป็นที่เรียบร้อย

เมื่อนางอุบลวรรณาบวชได้ไม่นาน ก็ถึงวาระที่จะต้องไปทำความสะอาดโรงอุโบสถ เธอได้จุดประทีปเพื่อขจัดความมืด แล้วกวาดโรงอุโบสถ นางเห็นเปลวไฟที่ดวงประทีปแล้วยึดเอาเป็นนิมิต ขณะที่กำลังยืนอยู่นั้นได้เข้าฌาน มีเตโชกสิณเป็นอารมณ์ แล้วกระทำฌานนั้นให้เป็นฐานเจริญวิปัสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาและอภิญญาทั้งหลาย ณ ที่นั้นเอง

เมื่อพระเถรีสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ได้เที่ยวจาริกไปยังชนบทต่าง ๆ แล้วกลับมาพักที่ป่าอันธวัน สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้ายังมิได้ทรงบัญญัติห้ามภิกษุณีอยู่ในป่าเพียงลำพัง ประชาชนได้ช่วยกันปลูกกระท่อมไว้ในป่าพร้อมทั้งตั่งกั้นม่าน แล้วถวายเป็นที่พักแก่พระเถรี

บวชแล้วยังถูกข่มขืน
ฝ่ายนันทมาณพ ผู้เป็นลูกชายของลุงของพระเถรีนั้น มีจิตหลงรักนางตั้งแต่ยังไม่บวช เมื่อได้ทราบข่าวว่าพระเถรีมาพักที่ป่าอันธวันใกล้เมืองสาวัตถี จึงได้ถือโอกาสขณะที่พระเถรีไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้เข้าไปในกระท่อมหลบซ่อนตัวอยู่ใต้เตียง เมื่อพระเถรีกลับมาแล้ว เข้าไปในกระท่อมปิดประตูแล้วนั่งลงบนเตียง ขณะที่สายตายังไม่ปรับเข้ากับความมืดในกระท่อม นันทมาณพก็ออกมาจากใต้เตียง ตรงเข้าเข้าปลุกปล้ำข่มขืนพระเถรี ถึงแม้พระเถรีจะร้องห้ามว่า

“เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย เจ้าคนพาล เจ้าอย่าพินาศฉิบหายเลย ”

นันทมาณพ ก็ไม่ยอมเชื่อฟัง ได้ทำการข่มขืนพระเถรีสมปรารถนาแล้วก็หลีกหนีไป พอเขาหลบหนีไปได้ไม่ไกล แผ่นดินใหญ่ก็มีอาการประหนึ่งว่า ไม่สามารถจะรองรับน้ำหนักของเขาเอาไว้ได้ จึงได้อ่อนตัวยุบลงแล้วนันทมาณพก็จมดิ่งลงในแผ่นดิน ไปเกิดในอเวจีมหานรก

ฝ่ายพระอุบลวรรณาเถรี ก็มิได้ ปิดบังเรื่องราวที่เกิดขึ้น ได้บอกแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับตนนั้นแก่ภิกษุณีทั้งหลาย ต่อจากนั้นเรื่องราวของพระเถรีก็ทราบถึงพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภิตว่า

“คนพาล ย่อมร่าเริงยินดีในบาปกรรมลามกที่ตนได้กระทำ ประดุจว่าดื่มน้ำผึ้งที่มีรสหวาน จนกว่าบาปนั้นจะให้ผล จึงจะได้ประสบกับความทุกข์ เพราะกรรมนั้น”

พระขีณาสพเหมือนไม้แห้งไม้ผุ
เมื่อกาลเวลาผ่านไปภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมเกี่ยวกับเหตุการณ์ของพระอุบลวรรณาเถรีว่า

“ท่านทั้งหลาย เห็นพระขีณาสพทั้งหลาย คงยังมีความยินดีในกามสุข คงจะยังพอใจในการเสพกาม ก็ทำไมจะไม่เสพเล่า เพราะท่านเหล่านั้นมิใช่ไม้ผุ มิใช่จอมปลวก อีกทั้งเนื้อหนังร่างกายทั่วทั้งสรีระก็ยังสดอยู่ ดังนั้น แม้จะเป็นพระขีณาสพก็ชื่อว่า ยังยินดีในการเสพกาม”

พระบรมศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถาม ทรงทราบเนื้อความที่พวกภิกษุเหล่านั้นสนทนากันแล้วจึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พระขีณาสพทั้งหลายนั้นไม่ยินดีในกามสุข ไม่เสพกาม เปรียบเสมือนหยาดน้ำตกลงบนใบบัวแล้วไม่ติดอยู่ ย่อมกลิ้งตกไป และเหมือนกับเมล็ดพันธ์ผักกาด ย่อมไม่ติดตั้งอยู่บนปลายเหล็กแหลม ฉันใด ขึ้นชื่อว่ากามก็ย่อมไม่ซึมทราบ ไม่ติดอยู่ในใจของพระขีณาสพ ฉันนั้น”

ห้ามภิกษุณีอยู่ป่า
ต่อมา พระบรมศาสดา ทรงพิจารณาเห็นภัยอันจะเกิดแก่กุลธิดาผู้เข้ามาบวช แล้วพักอาศัยอยู่ในป่า อาจจะถูกคนพาลลามกเบียดเบียนประทุษร้าย ทำให้อันตรายต่อพรหมจรรย์ได้ จึงรับสั่งให้เชิญพระเจ้าประเสนทิโกศลมาเฝ้า ตรัสให้ทราบพระดำริแล้ว ขอให้สร้างที่อยู่ที่อาศัยเพื่อนางภิกษุณีสงฆ์ในที่บริเวณใกล้ ๆ พระนคร และตั้งแต่นั้นมา ภิกษุณีก็มีอาวาสอยู่ในบ้านเมืองเท่านั้น

พระอุบลวรรณาเถรี ปรากฏว่าเป็นผู้ชำนาญในการแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในวันที่พระบรมศาสดาทรงกระทำยมกปฏิหาริย์นั้น พระเถรีก็กราบทูลอาสาขอแสดงฤทธิ์เพื่อต่อสู้กับเดียรถีย์แทนพระองค์ด้วย และทรงอาศัยเหตุนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระอุบลวรรณาเถรีนี้ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้มีฤทธิ์ และเป็นอัครสาวิกาฝ่ายซ้าย

พระเขมาเถรี เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายขวาในทางผู้มีปัญญา



พระเขมาเถรี 
เอตทัคคะอัครสาวิกาฝ่ายขวาในทางผู้มีปัญญา

พระเขมาเถรี เกิดในราชสกุล กรุงสาคละ แคว้นมัททะ พระประยูรญาติได้ให้พระนามว่า “ เขมา ” เพราะนางมีผิวพรรณเลื่อมเรื่อดังสีทอง เมื่อเจริญพระชันษาแล้ว ได้อภิเษกเป็นมเหสีพระเจ้าพิมพิสารแห่งนครราชคฤห์

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์นั้นพระนางได้สดับข่าวว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษในรูปสมบัติและเพราะความที่พระนางเป็นผู้หลงมัวเมาในรูปโฉมของตนเอง จึงไม่กล้าไปเข้าเฝ้าพระทศพลด้วยเกรงว่าพระพุทธองค์จะแสดงโทษในรูปโฉมของพระนาง

หลงอุบายถูกหลอกให้ไปวัด
ฝ่ายพระเจ้าพิมพิสาร ก็ทรงดำริว่า “ เราเป็นอัครอุปฏฐากของพระศาสดาแต่อัครมเหสี ของอริยสาวกเช่นเรานี้กลับไม่ไปเฝ้าพระทศพล ข้อนี้เราไม่ชอบใจเลย ” ดังนั้น พระองค์จึงคิดหาอุบายด้วยการให้พวกนักกวีผู้ฉลาด แต่งบทกวีประพันธ์ถึงคุณสมบัติความงามของพระวิหารเวฬุวันราชอุทยานแล้ว รับสั่งให้นำไปขับร้องใกล้ ๆ ที่พระนางเขมาเทวีประทับ เพื่อให้ทรงสดับบทประพันธ์นั้น

พระนาง ได้สดับคำพรรณนาความงดงามของพระราชอุทยานแล้ว ก็มีพระประสงค์จะเสด็จไปชม จึงเข้าไปกราบทูลพระราชาผู้สามี ซึ่งท้าวเธอก็ทรงยินดีให้เสด็จไปตามพระประสงค์ เมื่อพระนางได้เสด็จชมพระราชอุทยานจนสิ้นวันแล้วใคร่เสด็จกลับ พวกราชบุรุษทั้งหลายได้นำพระนางไปยังสำนักของพระบรมศาสดาทั้ง ๆ ที่พระนางไม่พอพระทัยเลย

พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นพระนางกำลังเสด็จมา จึงทรงเนรมิตนางเทพอัปสรนางหนึ่ง ซึ่งกำลังถือพัดก้านใบตาลถวายงานพัดให้พระองค์อยู่เบื้องหลัง พระนางเขมาเทวี เห็นนางเทพอัปสรนั้นแล้วถึงกับตกพระทัยดำริว่า
“ แย่แล้วสิเรา สตรีที่งามปานเทพอัปสรเห็นปานนี้ยืนอยู่ใกล้ ๆ พระทศพล แม้เราจะเป็นปริจาริกา หญิงรับใช้ของนาง ก็ยังไม่คู่ควรเลย เพราะเหตุไร เราจึงเป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจจิตคิดชั่วหลงมัวเมาอยู่ในรูปเช่นนี้หนอ ”

พระนางยืนทอดพระเนตรเพ่งดูสตรีนั้นอยู่ ในขณะนั้นเอง พระบรมศาสดา ได้ทรงอธิษฐานให้สตรีนั้นมีสรีระเปลี่ยนแปลงล่วงเลยปฐมวัยย่างเข้าสู่มัชฌิมวัย ล่วงมัชฌิมวัยแล้วย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย เป็นผู้มีหนังเหี่ยวย่น ผมหงอกฟันหัก แก่หง่อมแล้วล้มลงกลิ้งพร้อมกับพัดใบตาลนั้น

พระนางเขมาเทวี ได้ทอดพระเนตรเห็นรูปสตรีนั้นโดยตลอดแล้ว จึงดำริว่า
“ สรีระที่สวยงามเห็นปานนี้ยังถึงกับความวิบัติอย่างนี้ได้ แม้สรีระของเราก็จักมีคติเป็นไปอย่างนี้เหมือนกัน ”

ขณะที่พระนางกำลังมีพระดำริอย่างนี้อยู่นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสพระคาถาภาษิตว่า
“ ชนเหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกไปในกระแสราคะ
เหมือนแมลงมุมตกไปในข่ายใยที่ตนทำเอง
เมื่อชนเหล่านั้นตัดกระแสนั้นได้ โดยไม่มีเยื่อใยแล้ว
ละกามสุขเสียได้ ย่อมออกบวช ”

เมื่อจบพระพุทธดำรัสคาถาภาษิตแล้ว พระนางเขมาเทวี ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ในอิริยาบทที่ประทับยืนนั้นเอง

พระอรหันต์ฆราวาสเป็นได้ไม่นาน
ธรรมดาผู้อยู่ครองเรือน เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้วจำต้องปรินิพพานหรือไม่ก็บวชเสียในวันนั้น เพราะเพศฆรวาสไม่สามารถจะรองรับความเป็นพระอรหันต์ได้ แต่พระนางรู้ว่าอายุสังขารของตนยังเป็นไปได้ จึงเสด็จกลับพระราชนิเวศน์เพื่อให้พระเจ้าพิมพิสารพระสวามีทรงอนุญาตการบวชก่อน แม้พระราชาก็ทรงทราบโดยสัญญาณคืออาการที่พระนางแสดงว่าบรรลุอริยธรรมแล้ว ทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ให้พระนางประทับบนวอทองแล้วนำไปอุปสมบทในสำนักของภิกษุณีสงฆ์

เมื่อพระนางบวชแล้วได้นามว่า “ พระเขมาเถรี ” เพราะอาศัยเหตุที่พระนางมีปัญญามาก บรรลุพระอรหัตผลทั้ง ๆ ที่อยู่ในเพศฆราวาส พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่อมเธอไว้ในตำเหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีปัญญา และทรงแต่งตั้งให้เป็น อัครสาวิกาฝ่ายขวา.....

วิชชา ความรู้แจ้ง , ความรู้วิเศษ มี ๘ คือ
๑. วิปัสสนาญาณ ญาณอันนับเข้าในวิปัสสนา
๒. มโนมยิทธิ ฤทธิ์ทางใจ
๓. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๔. ทิพพโสต หูทิพย์
๕. เจโตปริยญาณ รู้จักกำหนดใจผู้อื่นได้
๖. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้
๗. ทิพพจักขุ ตาทิพย์ ( จุตูปปตาญาณ)
๘. อาสวักขยญาณ รู้จักทำอาสวะให้สิ้น

นางสิริมา พระโสดาบัน




นางสิริมา 
พระโสดาบัน

นางสิริมาเป็นหญิงที่มีรูปร่างงดงาม และมีอาชีพเป็นนครโสเภณีอีกคนหนึ่งของพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ( เล่ากันว่านางสิริมาเป็นธิดาของนางสาลวดี โดยเมื่อมารดาคลอดนางแล้วรู้ว่าเป็นเพศหญิงจึงเลี้ยงไว้ เพราะหวังจักให้สืบอาชีพเป็นนครโสเภณีต่อไป ฉะนั้น เมื่อนางสิริมาเติบโตขึ้นจึงได้รับการฝึก อบรมจนฉลาดและชำนาญในคณิกาศิลป์) และมีอาชีพเป็นนครโสเภณีเมื่อเป็นสาวแล้ว

เนื่องจากนางมีรูปร่างงดงาม และมีความรู้ความเชี่ยวชาญในศิลปะอันเป็นวิชาชีพ จึงมีพวกบุรุษทั้งหลายรับนางไปบำเรอและสมสู่ด้วยโดยจ่ายทรัพย์ให้นางเป็นค่าตอบแทนตามราคาที่นางกำหนดไว้ นางสิริมาจึงร่ำรวยด้วยอาชีพเช่นนั้น ทั้งต่อมา นางสิริมาผู้นี้ยังบรรลุคุณธรรมพิเศษคือโสดาปัตติผลอีกด้วย.......นางสิริมาผู้ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว พร้อมด้วยหญิงบริวารจำนวน ๕๐๐ คน ต่างประกาศตนเป็นเป็นอุบาสิกาผู้มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ

มีพระภิกษุรูปหนึ่งตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกไปบิณฑบาตตอนเช้าวันนั้นเผอิญนางสิริมามาใส่บาตร พระภิกษุองค์นั้นรับบาตรจากนางสิริมาแล้วก็ได้มองหน้าทรวดทรงองเอวทั้งอาภรณ์เครื่องประดับแต่งกายของนางสิริมานั้นงดงามมากก็ให้เกิดนึกรักนาง พอกลับถึงวัด ปิดฝาบาตรและวางบาตรไว้ในที่แห่งหนึ่ง ปูจีวร นอนหลับตา ไม่พูดไม่จากับผู้ใดทั้งสิ้น หลับตา นั่งนอนก็ให้นึกถึงแต่ภาพนางสิริมา ทั้งไม่ยอมฉันอาหารอีกเลย ถึงภิกษุผู้เป็นสหายสนิทอ้อนวอนให้ฉันเมื่อถึงเวลาฉัน ก็ไม่ลุกจากที่นอน และไม่ฉัน นอนอดอาหารอย่างนั้นต่อไปในวันอื่นอีกด้วย

เมื่อนางสิริมาใส่บาตรวันนั้นแล้วนางถึงแก่กรรมเพราะโรคที่เกิดแก่นาง พระพุทธเจ้าทรงทราบ เพราะพระพุทธเจ้าทรงเป็นพระสัพพัญญูวิสัย เรื่องที่พระองค์ไม่ทรงรู้นั้นไม่มี พระองค์ทรงทราบแต่ก็นิ่งเฉยไว้ให้เวลากาลผ่านไปสักสองสามวัน นางสิริมาตายสัก ๒- ๓ วัน ก็ปรากฏว่าศพของนางสิริมาก็ขึ้นอืด

ขณะที่นางตายพระเจ้าพิมพ์สารก็ส่งข่าวให้พระพุทธเจ้าทรงทราบว่า “ นางสิริมา น้องสาวหมอชีวก” ถึงแก่กรรมแล้ว พระเจ้าข้า ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ได้ทรงทราบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงให้จัดการกับศพของนางสิริมาอย่างไร ? เนื่องจากนางเป็นโสดาบันอริยบุคคล ผู้เป็นสาวิกาของพระผู้มีพระภาคเจ้าคนหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้มีพระพุทธดำรัสให้ราชบุรุษนั้นไปกราบทูลพระเจ้าพิมพิสารว่า

“ อย่าให้มีการฌาปนกิจ ( กิจคือการเผาศพ) นางสิริมาในระหว่างนี้แต่อย่างใด ขอจงทรงเก็บศพของนางสิริมานั้นไว้ อย่าเพิ่งทำอะไรจนกว่าตถาคตจะสั่ง”

พอถึงวันที่ ๒-๓ วัน ศพของนางสิริมาก็ขึ้นอืด พระองค์จึงได้ทรงรับสั่งกับพระเจ้าพิมพ์สารว่าวันนี้พระตถาคตจะไปเยี่ยมศพของนางสิริมา เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบก็จักสั่งให้การศพไปตั้งไว้ที่กลางแจ้ง

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับสั่งกับพระอานนท์ว่า “ อานนท์วันนี้ตถาคตจะไปเยี่ยมนางสิริมาท่านไม่บอกว่าจะไปเยี่ยมศพ ให้ไปบอกพระทั้งหมดว่าใครจะไปเยี่ยมนางสิริมากับเราบ้างก็ให้ไปได้ พระอานนท์จึงไปบอก พอพระองค์นั้นทราบว่าจะไปเยี่ยมนางสิริมาก็ให้ดีใจ ลุกขึ้นล้างบาตร ข้าวปลาที่บูดเน่ามาหลายวันก็จัดการเก็บล้างเช็ดให้สอาดแต่งตัวห่มผ้าสดสวย พอเเต่งตัวเสร็จพระพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จไป


พอเสด็จไปถึงเขาก็เอาศพออกมาให้ดู พระพุทธเจ้าก็ทรงบอกว่านี้นางสิริมาที่เมื่อก่อนเป็นหญิงที่สวยที่สุดของเมืองราชคฤหมหานคร แต่เวลานี้นางได้ตายแล้ว พวกเธอดูสิว่ามีความสวยงามตรงไหนบ้าง พระทุกองค์ท่านไม่ต้องดูก็ได้ เพราะท่านทราบแล้วว่าไม่สวย อนิจจงฺ วตสงฺขารา ทุกคนเมื่อตายไปแล้วก็ต้องขึ้นอืด แต่พระพระองค์นั้นท่านก็คิดในใจว่า “ เออ..เมื่อวานซืนนางได้ใส่บาตรแก่เรา นางมีรูปร่างสวยสดงดงาม แต่พอเวลานี้ใช้การอะไรไม่ได้ พองอืดมันขึ้นเต็มที่ น้ำเหลืองน้ำหนองมันไหลออกปากปาก และมีหมู่หนอนไต่ออกจากปากทางทั้ง ๙ คือตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ๑ ช่องทวานหนัก ๑ และช่องทวานเบาอีก ๑ รวม ๙ ทางหรือเรียกกันว่าทวานทั้ง ๙”

ก็เลยคิดในใจว่าร่างกายของคนมันเป็นอย่างนี้ พระพุทธเจ้าว่าทรงท่านเทศน์ว่าร่างกายของคนมันเป็นอย่างนี้คือหาความดีไม่ได้ ไอ้สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏเวลานี้นะความจริงมันไม่ได้มาจากทางอื่น มันอยู่ในร่างกายของเรานั้นเอง นางสิริมานั้นเป็นหญิงสวยประจำกรุงราชคฤหมหานครแต่ทว่าในเวลานี้นางสิริมาหมดแล้วซึ้งความสวย แม้แต่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งคนทั้งหลายปรารถนาจะเตะต้องก็ไม่มี

พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งให้พระเจ้าพิมพิสารประกาศว่า จะมีผู้ใดต้องการนางสิริมาไปก็ได้ โดยไม่จ่ายทรัพย์หนึ่งพันกษาปณ์ ( เมื่อนางยังมีชีวิตอยู่ถ้าใครต้องการนางไปร่วมด้วยจะต้องจ่ายทรัพย์หนึ่งพันกษาปณ์ ) ก็ไม่มีผู้ใดต้องการ

พระเจ้าพิมพิสารก็สั่งให้ลดลงมาเรื่อย ๆ เหลือห้าร้อยกษาปณ์ สองร้อย หนึ่งร้อย ห้าสิบ ยี่สิบ สิบ ห้ากษาปณ์ หนึ่งกษาปณ์ ครั้งกษาปณ์ หนึ่งบาท หนึ่งสลึง หนึ่งเฟื้อง ก็ไม่มีผู้ใดรับ และในที่สุดก็ประกาศยกให้เปล่าๆๆ ก็ไม่มีไม่ผู้ใดรับศพของนางสิริมาเลย พระพุทธเจ้าก็เลยรับสั่งให้พระเจ้าพิมพิสารประกาศว่าถ้าใครต้องการร่างกายของนางสิริมาเราจะยกให้เอาไปครองและแถมเงินให้อีกหนึ่งพันกษาปณ์ ก็ไม่มีใครต้องการอีก

พระพุทธเจ้าก็เลยเทศน์โปรดว่าร่างกายคนของเรานี้มันไม่มีประโยชน์แบบนี้ ฉนั้นคนเราถ้าต้องการความดีคือความสุขใจ ว่าให้ใช้ปัญาญาพิจารณาหาตามความเป็นจริง ว่าร่ายกายของผู้ชายก็ดีผู้หญิงก็ดีของสัตว์ทั้งหลายก็ดีมันเต็มไปด้วยความสกปรกเต็มไปด้วยความโสโครก ที่เรามีความต้องการในร่างกายของบุคคลและสัตว์ทั้งหลายก็เพราะว่าด้วยอำนาจกิเลสตัญหาเข้ามาบังตาบังใจอวิชชาเป็นตัวต้น หรือว่าไอ้ความตัวโง่มันเป็นตัวบังเป็นสมุฐาน พระองค์นั้นพอได้ฟังพระผู้พิชิตมารกล่าวดังนี้ก็เลยเป็นพระอรหันต์ในบัดนั้น

ภิกษุกระสันด้วยรูป.....สิริมา
เพลิงราครุมกายา....เร่าร้อน
พระเสด็จนำภิกษุมา....เห็นร่าง นางเฮย
ครั้นตายกายกลับย้อน....เปื่อยเน่าอนิจจัง ฯ

ภิิกษุเห็นอนิจลักษณ์แล้ว..พึงแสยง
ตามพุทธโอวาทแสดง....เหตุนั้น
ข่มจิตมิให้ระแวง.....เป็นหนึ่ง
ดับซึ่งไฟราคกลั้น....กลับได้พระโสดา ฯ

นางวิสาขา เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา




นางวิสาขา 
เอตทัคคะในฝ่ายผู้เป็นทายิกา

เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองภัททิยะ แคว้นอังคะ บิดาชื่อว่าธนญชัย มารดาสุมนาเทวี และปู่ชื่อเมณฑกเศรษฐี ขณะที่เธอมีอยู่ในวัย ๗ ขวบ เป็นที่รักดุจแก้วตาดวงใจของเมณฑกะผู้เป็นปู่ยิ่งนัก

๗ ขวบบรรลุโสดาบัน
เมื่อเมณฑกเศรษฐีได้ทราบข่าวว่า พระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนมากกำลังเสด็จมาสู่เมืองภัททิยะ ท่านเมณฑกเศรษฐี จึงได้มอบหมายให้เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร ออกไปทำการรับเสด็จที่นอกเมือง ขณะที่พระพุทธองค์ประทับพักผ่อนพระอริยบทอยู่นั้น เด็กหญิงวิสาขาพร้อมด้วยบริวาร เข้าไปเฝ้ากราบถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่อันสมควรแก่ตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้พวกเธอฟัง เมื่อจบลงก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกันทั้งหมด

ส่วนเมณฑกเศรษฐี เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาถึงแล้วจึงรีบเข้าไปเฝ้าได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันเช่นกัน แล้วกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ที่ติดตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปรับอาหารบิณฑบาต ณ ที่บ้านของตนตลอดเวลาระยะ ๑๕ วันที่ประทับอยู่ที่ภัททิยนครนั้น

สมัยนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลแห่งเมืองสาวัตถี และพระเจ้าพิมพิสารแห่งเมืองราชคฤห์ มีความเกี่ยวข้องกันโดยต่างก็ได้ภคิณี ( น้องสาว ) ของกันและกันมาเป็นมเหสี แต่เนื่องจากเมืองสาวัตถีของพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น ไม่มีเศรษฐีตระกูลใหญ่ ๆ ผู้มีทรัพย์สมบัติมากเลย และได้ทราบว่าในเมืองราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มีเศรษฐีผู้มีทรัพย์สมบัติขนาดนับไม่ถ้วนอยู่ถึง ๕ คน

ดังนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงเสด็จมายังเมืองราชคฤห์ เข้าเฝ้าพระเจ้าพิมพิสารแล้วแจ้งความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ ก็เพื่อของพระราชทานตระกูลเศรษฐีในเมืองราชคฤห์นี้ไปอยู่ในเมืองสาวัตถีสักหนึ่งตระกูล

พระเจ้าพิมพิสารได้สดับแล้วตรัสตอบว่า “ การโยกย้ายตระกูลใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งตระกูลก็เหมือนกับแผ่นดินทรุด” แต่เพื่อรักษาสัมพันธไมตรีต่อกันไว้ หลังจากที่ได้ปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลายแล้ว เห็นฟ้องต้องกันว่าสมควรยกตระกูลธนญชัยเศรษฐี ให้ไปอยู่เมืองสาวัตถีกับพระเจ้าปเสนทิโกศล

ธนญชัยเศรษฐีได้ขนย้ายทรัพย์สมบัติพร้อมทั้งบริวารและสัตว์เลี้ยงทั้งหลายเดินทางสู่พระนครสาวัตถีพร้อมกับพระเจ้าปเสนทิโกศล และเมื่อเดินทางเข้าเขตแคว้นของพระเจ้าปเสนทิโกศลแล้ว ขณะที่พักค้างแรมระหว่างทางก่อนเข้าเมือง ธนญชัยเศรษฐีเห็นว่าภูมิประเทศบริเวณที่พักนั้นเป็นชัยภูมิเหมาะสมดี

อีกทั้งตนเองก็มีบริวารติดตามมาเป็นจำนวนมาก ถ้าไปตั้งบ้านเรือนภายในเมืองก็จะคับแคบ จึงขออนุญาตพระเจ้าปเสนทิโกศลก่อตั้งบ้านเรือน ณ ที่นั้น และได้ชื่อเมืองใหม่ว่า “ สาเกต” ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถี ๗ โยยช์

หญิงงามเบญจกัลยาณี
ในเมืองสาวัตถีนั้น มีเศรษฐีตระกูลหนึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า มิคารเศรษฐี มีบุตรชายชื่อว่า ปุณณวัฒนกุมาร เมื่อเจริญวัยสมควรที่จะมีภรรยาได้แล้ว บิดามารดาขอให้เขาแต่งงานเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูล แต่เขาเองไม่มีความประสงค์จะแต่งงาน เมื่อบิดามารดารบเร้ามากขึ้น เขาจึงหาอุบายเลี่ยงโดยบอกบิดารมารดาว่า ถ้าได้หญิงที่มีความงามครบทั้ง ๕ อย่าง ซึ่งเรียกว่า เบญจกัลยาณี แล้วจึงยอมแต่งงาน

เบญจกัลยาณี . ความงามของสตรี ๕ อย่างคือ

๑. เกสกลฺยาณํ ผมงาม คือหญิงที่มีผมยาวถึงสะเอวแล้วปลายผมงอนขั้น

๒. มงฺสกลฺยาณํ เนื้องาม คือหญิงที่มีริมฝีปากแดงดุจผลตำลึงสุกและเรียบชิดสนิทกันดี

๓. อฎฺฐกลฺยาณํ กระดูกงาม คือหญิงที่มีฟันสีขาวประดุจสังข์ และเรียบเสมอกัน

๔. ฉวิกลํยาณํ ผิวงาม คือหญิงที่มีผิวงามละเอียด ถ้าดำก็ดำดังดอกบัวเขียว ถ้าขาวก็ขาวดังดอกกรรณีกา

๕. วยกลฺยาณํ วัยงาม คือหญิงที่แม้จะคลอดบุตรถึง ๑๐ ครั้ง ก็ยังคงสภาพร่างกายสาวสวยดุจคลอดครั้งเดียว

บิดามารดาเมื่อได้ฟังแล้วจึงให้เชิญพราหมณ์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้าน อิตถีลักษณะมาถามว่า หญิงผู้มีความงามดังกล่าวนี้มีหรือไม่ เมื่อพวกพราหมณ์ตอบว่ามี จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นออกเที่ยวแสวงหาตามเมืองต่าง ๆ พร้อมทั้งมอบพวงมาลัยและเครื่องทองหมั้นไปด้วยชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม

พวกพราหมณ์ที่เที่ยวแสวงหาไปตามเมืองต่าง ๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่จนมาถึงเมืองสาเกต ได้พบนางวิสาขามีลักษณะภายนอกถูกต้องตามตำราอิตถีลักษณะครบทุกประการ ขณะที่นางพร้อมทั้งหญิงบริวารออกมาเที่ยวเล่นน้ำกันที่ท่าน้ำ ขณะนั้นฝนตกลงมาอย่างหนัก หญิงบริวารทั้งหลายพากันวิ่งหลบหนีฝนเข้าไปในศาลา แต่นางวิสาขายังคนเดินไปด้วยอาการปกติ ทำให้พวกพราหมณ์ทั้งหลายรู้สึกแปลกใจประกอบกับต้องการจะเห็นลักษณะฟันของนางด้วยจึงถามนางว่า “ ทำไม เธอจึงไม่วิ่งหลบหนีฝนเหมือนกับหญิงอื่น ๆ” นางวิสาขาตอบว่า ชน ๔ พวกเมื่อวิ่งจะดูไม่งาม ได้แก่..

๑. พระราชา ผู้ทรงประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พร้อมสรรพ

๒. บรรพชิต ผู้ครองผ้ากาสาวพัสตร์

๓. สตรี ผู้ชื่อว่าเป็นหญิงทั้งหลาย ( นอกจากจะดูไม่งามแล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุจนเสียโฉม หรือพิการ จะทำให้เสื่อมเสียและหมดคุณ่า)

๔. ช้างมงคล ตัวประดับด้วยเครื่องอาภรณ์สำหรับช้าง

พวกพราหมณ์ได้เห็นปัญญาอันชาญฉลาด และคุณสมบัติเบญกัลยาณีครบทุกประการแล้ว จึงขอให้นางพาไปที่บ้านเพื่อทำการสู่ขอต่อพ่อแม่ตามประเพณี เมื่อสอบถามถึงชาติตระกูลและทรัพย์สมบัติก็ทราบว่า มีเสมอกัน จึงสวมพวงมาลัยทองให้นางวิสาขาเป็นการหมั้นหมายและกำหนดวันวิวาหมงคล

ธนญชัยเศรษฐี ได้สั่งให้ช่างทองทำเครื่องประดับชื่อ มหาลดาปสาธน์ เพื่อมอบให้แก่ลูกสาว ซึ่งเป็นเครื่องประดับชนิดพิเศษ เป็นชุดยาวติดต่อกันตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ประกอบด้วยเครื่องเงินทองและรัตนอันมีค่าถึง ๙ โกฏิกหาปณะ ค่าแรงฝีมือช่างอีก ๑ แสน เป็นเครื่องประดับที่หญิงอื่น ๆ ไม่สามารถจะประดับได้เพราะมีน้ำหนักมาก นอกจากนี้ ธนญชับเศรษฐี ยังได้มอบทรัพย์สินเงินทองของให้ต่าง ๆ รวมทั้งข้าทาสบริวารและฝูงโคอีกจำนวนมากมานมหาศาล อีกทั้งส่งกุฏุมพีมีความชำนาญพิเศษด้านต่าง ๆ ไปเป็นที่ปรึกษาดูแลประจำตัวอีก ๘ นายด้วย

ธนญชัยเศรษฐีให้โอวาทลูกสาว
ก่อนที่นางวิสาขาจะไปสู่ตระกูลของสามี ธนญชัยเศรษฐีได้อบรมมารยาทสมบัติของตระกูลสตรีผู้ไปสู่ตระกูลของสามี โดยให้โอวาท ๑๐ ประการ เป็นแนวปฏบัติ คือ..

โอวาทข้อที่ ๑ ไฟในอย่านำออก หมายความว่า อย่านำความไม่ดีของพ่อผัวแม่ผัวและสามีออกไปพูดให้คนภายนอกฟัง

โอวาทข้อที่ ๒ ไฟนอกอย่านำเข้า หมายความว่า เมื่อคนภายนอกตำหนิพ่อผัวแม่ผัวและสามีอย่างไร อย่านำมาพูดให้คนในบ้านฟัง

โอวาทข้อที่ ๓ ควรให้แก่คนที่ให้เท่านั้น หมายความว่า ควรให้แก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วนำมาส่งคืน

โอวาทข้อที่ ๔ ไม่ควรให้แก่คนที่ไม่ให้ หมายความว่า ไม่ควรให้แก่คนที่ยืมของไปใช้แล้วไม่นำมาส่งคืน

โอวาทข้อที่ ๕ ควรให้ทั้งแก่คนคนที่ให้และไม่ให้ หมายความว่า เมื่อมีญาติมิตรผู้ยากจนขอความช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย เมื่อให้ไปแล้วจะให้คืนหรือไม่ให้คืน ก็ควรให้

โอวาทข้อที่ ๖ พึงนั่งให้เป็นสุข หมายความว่า ไม่นั่งในที่กีดขวางของพ่อผัว แม่ผัวและสามี

โอวาทข้อที่ ๗ พึงบริโภคให้เป็นสุข หมายความว่า ควรจัดให้พ่อผัว แม่ผัวและสามีบริโภคแล้ว ตนจึงบริโภคภายหลัง

โอวาทข้อที่ ๘ พึงบำเรอไฟ หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัวและสามีเป็นเหมือนดวงไฟและพญานาคที่จะต้องบำรุงดูแล

โอวาทข้อที่ ๑๐ พึงนอบน้อมเทวดาภายใน หมายความว่า ให้มีความสำนึกอยู่เสมอว่า พ่อผัว แม่ผัว และสามีเป็นเหมือนเทวดาที่จะต้องให้ความนอบน้อม

อานิสงส์ของการทำบุญแล้วแถม
ธนญชัยเศรษฐี ใช้เวลาถึง ๔ เดือนในการเตรียมทรัพย์สมบัติเพื่อมอบให้แก่นางวิสาขา สำหรับใช้สอยเมื่อไปอยู่ในตระกูลของสามี เฉพาะเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์เพียงอย่างเดียวก็ใช้เวลาทำถึง ๔ เดือนเช่นเดียวกัน เมื่อถึงกำหนดนางวิสาขาก็ได้ออกเดินทางไปยังตระกูลของสามี พร้อมด้วยข้าทาสบริวารทรัพย์สินเงินทองของใช้อเนกอนันต์ และโคกระบืออีกมากมายมหาศาล ที่บิดาจัดการมอบให้

แม้กระนั้น โคกระบือของชาวบ้านที่อยู่ในคอกยังทำลายวิ่งออกตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ก็เพราะด้วยอานิสงส์แห่งการทำบุญถวายทานที่นางทำไว้ในอดีตชาติ คือ ในครั้งที่นางวิสาขาเกิดเป็นธิดาของพระเจ้ากิกิ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ นางได้ถวายอาหารแก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำและทั้ง ๆ ที่พระภิกษุสามเณรกล่าวว่า “ พอแล้ว ๆ” นางก็ยังตรัสว่า “ พระเจ้าคุณเจ้าสิ่งนี้อร่อย สิ่งนี้น่าฉัน” แล้วก็ถวายเพิ่มอีก ด้วยอนิสงส์แห่งการถวายเพิ่มนี้บันดาลให้โคเหล่านั้นถึงแม้จะมีคนห้ามมีคอกกั้นอยู่ก็ยังกระโดดออกจากคอกวิ่งตามขบวนของนางวิสาขาไปอีกจำนวนมาก

นางวิสาขาตำหนิพ่อผัว
เมื่อนางวิสาขาเข้ามาสู่ตระกูลของสามีแล้ว เพราะความที่เป็นผู้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลี่ยวฉลาด มีน้ำใจเจรจาไพเราะ ให้ความเคารพผู้ที่มีวัยสูงกว่าตน จึงเป็นที่รักใคร่และชอบใจของคนทั่วไป ยกเว้นมิคารเศรษฐีบิดาของสามี ซึ่งมีจิตศรัทธาฝักใฝ่ในนักบวชอเจลกชีเปลือย

โดยให้ความเคารพนับถือว่าเป็นพระอรหันต์ และนิมนต์ให้มาบริโภคโภชนาหารที่บ้านของตนแล้ว สั่งให้คนไปตามนางวิสาขามาไหว้พระอรหันต์และให้มาช่วยจัดงานเลี้ยงอาหารแก่อเจลกชีเปลือยเหล่านั้นด้วย

นางวิสาขา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาชั้นโสดาบันพอได้ยินคำว่า อรหันต์ ก็รู้สึกปีติยินดีรีบมายังเรือนของมิคารเศรษฐี แต่พอได้เห็นอเจลกชีเปลือย ก็ตกใจจึงกล่าวว่า ” ผู้ไม่มีความละอาย เหล่านี้ จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ” พร้อมทั้งกล่าวติเตียนมิคารเศรษฐีแล้วกลับไปที่อยู่ของตน

ต่อมาอีกวันหนึ่ง ขณะที่มิคารเศรษฐีกำลังบริโภคอาหารอยู่ โดยมีนางวิสาขาคอยปรนนิบัติอยู่ใกล้ ๆ ได้มีพระเถระเที่ยวบิณฑบาตผ่านมาหยุดยืนที่หน้าบ้านของมิคารเศรษฐี นางวิสาขาทราบดีว่าเศรษฐีแม้จะเห็นพระเถระแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น นางจึงกล่าวกับพระเถระว่า “ นิมนต์พระคุณเจ้าไปข้างก่อนก่อนเถิดท่านเศรษฐีกำลังบริโภคของเก่าอยู่ ”

เศรษฐี ได้ฟังดังนั้นแล้วจึงโกรธเป็นที่สุด หยุดบริโภคอาหารทันทีแล้วสั่งให้บริวารมาจับและขับไล่นางวิสาขาให้ออกจากบ้านไป แต่ก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาจับ นางวิสาขาขอชี้แจงแก่กุฏุมพี ๘ นายที่พ่อส่งมาช่วยดูแลนางก่อน และเมื่อมิคารเศรษฐีให้คนไปเชิญกุฏุมพีมาแล้วแจ้งโทษของนางวิสาขาให้ฟัง ซึ่งนางก็แก้ด้วยคำว่า “ ที่ดิฉันกล่าวอย่างนั้น หมายถึง มิคารเศรษฐีบิดาสามีบริโภคบุญเก่าอยู่ มิใช่บริโภคของบูดเน่าอย่างที่เข้าใจ” กุฎุมพีทั้ง ๘ จึงกล่าวกับเศรษฐีว่า “ เรื่องนี้นางวิสาขาไม่มีความผิด”

พ่อผัวยกย่องนางวิสาขาในฐานะมารดา
เมื่อมิคารเศรษฐี ฟังคำชี้แจงของลูกสะใภ้แล้วก็หายโกรธขัดเคือง และกล่าวขอโทษนาง พร้อมทั้งอนุญาตให้นางนิมนต์พระบรมศาสดาพร้อมภิกษุสงฆ์มารับอาหารบิษฑบาตในเรือนของตน ขณะที่นางวิสาขาจัดถวายภัตตาหารแด่พระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์อยู่นั้น ก็ได้ให้คนไปเชิญมิคารเศรษฐีมาร่วมถวายภัตตาหารด้วย

แต่เศรษฐีเมื่อมาแล้วไม่กล้าที่จะออกไปสู่ที่เฉพาะพระพักตร์พระศาสดา เพราะไม่มีศรัทธาเลื่อมใสจึงแอบนั่งอยู่หลังม่าน เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนา ส่วนมิคารเศรษฐีแม้จะหลบอยู่หลัวม่านก็มีโอกาสได้ฟังธรรมด้วยจนจบ และก็ได้สำเร็จเป็นพระโสดาบันบุคคลในพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิกบุคคลตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ทันใดนั้น มิคารเศรษฐีได้ออกมาจากหลังม่านแล้วตรงเข้าไปหานางวิสาขาใช้ปากดูดถันของลูกสะใภ้ และประกาศให้ได้ยินทั่วกัน ณ ที่นั้นว่า “ ตังแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอเธอจงเป็นมารดาของข้าพเจ้า” และตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาก็ได้นามว่า “ มิคารมารดา” คนทั่วไปนิยมเรียกชื่อนางว่า “ วิสาขามิคารมารดา”

คุณสมบัติพิเศษประจำตัวนางวิสาขา
ในบรรดาอุบาสิกาทั้งหลาย นางวิสาขานับว่าเป็นผู้มีบุญสั่งสมมาตั้งแต่อดีตชาติมากเป็นพิเศษกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ หลายประการ เช่น..

๑ . ลักษณะของผู้มีวัยงาม คือ แม้ว่านางจะมีอายุมาก มีลูกชาย-ลูกหญิง ถึง ๒๐ คน ลูกเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกตั้งคนละ ๒๐ คน นางก็มีหลานนับได้ ๔๐๐ คน หลานเหล่านั้นแต่งงานมีลูกอีกคนละ ๒๐ คน นางวิสาขามีเหลนนับได้ ๘,๐๐๐ คน ดังนั้น คนจำนวน ๘,๔๒๐ คน มีต้นกำเนิดมาจากนางวิสาขา นางมีอายุยืน ได้เห็นหลานเหลนทุกคน แม้นางมีอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่ขณะเมื่อนางนั่งอยู่ในกลุ่มของลูก หลาน เหลน นางจะมีลักษณะวัยใกล้เคียงกับคนเหล่านัน คนพวกอื่นไม่สามารถทราบได้ว่า นางวิสาขาคือคนไหน แต่สังเกตได้เมื่อเวลาจะลุกขึ้นยืน ธรรมดาคนหนุ่มสาวจะลุกขึ้นได้ในทันที แต่สำหรับคนแก่จะต้องใช้มือยันพื้นช่วยพยุงกาย และจะยกก้นขึ้นก่อน นั้นแหละจึงจะทราบว่า นางวิสาขาคือคนไหน

๒ . นางมีกำลังมาเท่ากับช้าง ๕ เชื่อกรวมกัน ครั้งหนึ่ง พระราชามีพระประสงค์จะทดลองกำลังของนาง จึงรับสั่งให้ปล่อยช้างพลายตัวที่กำลังมากเพื่อให้วิ่งชนนางวิสาขา นางเห็นช้างวิ่งตรงเข้ามา จึงคิดว่า “ ถ้าเราจับช้างนี้ด้วยมือข้างเดียวแล้วผลักไป ช้างนี้ก็จะเป็นอันตลายถึงชีวิต เราก็จะบาป ควรรักษาชีวิตช้างไว้จะดีกว่า ” นางจึงใช้นิ้วเพียงสองนิ้วจับช้างที่งวงแล้วเหวี่ยงไปปรากฏว่าช่างถึงกับล้มกลิ้ง แต่ก็ไม่เป็นอันตราย

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ชนทั้งหลายเมื่อจัดงานมงคลในบ้านเรือนของตนจึงพากันเชิญนางวิสาขาให้ไปเป็นประธานในงาน มอบให้นางเป็นผู้นำในพิธีต่าง ๆ แม้แต่อาหารก็ให้นางทานก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล จนนางวิสาขาไม่มีเวลาปฏิบัติพระภิกษุที่มาฉันในบ้านของตน ต้องมอบให้ลูก ๆ หลาน ๆ ดำเนินการให้

นางวิสสาขาร้องไห้อาลัยหลาน
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพาราม ซึ่งนางวิสาขาเป็นผู้สร้างถวาย ใกล้กรุงสาวัตถี ขณะนั้น หลานสาวชื่อว่าสุทัตตีผู้เป็นที่รักเป็นที่พอใจอย่างยิ่งได้ถึงแก่กรรมลง ทำให้นางเศร้าโศกเสียใจร้องไห้รำพันถึงหลานรัก เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้ง ๆ ที่กำลังร้องไห้อยู่ด้วย พระพุทธองค์ตรัสถามเหตุแห่งความเศร้าโศก ทรงทราบโดยตลอดแล้ว จึงตรัสถามว่า..

“ ดูก่อนวิสาขา ในพระนครสาวัตถีนี้ เธอต้องการบุตรหลานสักกี่คน ?”

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ต้องการบุตรหลานในพระนครนี้ทั้งหมด พระเจ้าข้า”

“ ดูก่อนวิสาขา ก็ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละเท่าไร ?”

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในพระนครสาวัตถีนี้ มีคนตายวันละ ๑ คนบ้าง ๒ คนบ้าง ถึงวันละ ๑๐ คนบ้าง พระเจ้าข้า”

“ ดูก่อนวิสาขา ถ้าคนเหล่านั้นเป็นบุตรหลานของเธอจริง เธอก็คงมีหน้าเปียกชุ่มด้วยน้ำตาโดยไม่มีวันแห้งเหือดวิสาขา คนในโลกนี้ ผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รัก ๑๐๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๑๐๐ ผู้ใดมีสิ่งที่เป็นที่รัก ๕๐ ผู้นั้นก็จะมีทุกข์ถึง ๕๐ เช่นกัน และถ้าผู้ใดมีสิ่งเป็นที่รักเพียง ๑ เดียว ผู้นั้นก็จะมีทุกข์เพียง ๑ เดียวเช่นกัน”

“ ดูก่อนวิสาขา เราขอบอกเธอว่า ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันที่คนทั้งหลายประสบกันอยู่ในโลกนี้ ก็เพราะอาศัยสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รัก ถ้าไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักแล้ว ความทุกข์ ความเศร้าโศก ความพิไรรำพันเหล่านั้นก็ไม่มี ผู้นั้นก็จะมีแต่ความสุข ดังนั้น ผู้ปรารถนาความสุขให้กับตนเอง ก็ไม่ควรทพสัตว์หรือสังขารให้เป็นที่รัก”

นางวิสาขา เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสสอนจบลงแล้ว ก็คลายจากความเศร้าโศก แต่เพราะความที่นางมีลูกหลานหลายคน ซึ่งต่อจากนั้นอีกไม่นานนักหลานสาวอีกคนหนึ่ง ที่นางได้มอบหมายหน้าที่ประจำก็ได้ถึงแก่ความตายลงอีก นางวิสาขาก็ต้องเสียน้ำตาร่ำไห้ด้วยความรักอาลัยต่อหลานสาวเป็นครั้งที่สอง และพระพุทธองค์ก็ทรงเทศนาโปรดนางให้คลายความเศร้าโศกลงดุจเดียวกับครั้งก่อน

นางวิสาขาสร้างวัด
โดยปกตินางวิสาขาจะไปวัดวันละ ๒ ครั้ง คือ เช้า- เย็น และเมื่อไปก็จะไม่ไปมือเปล่า ถ้าไปเวลาเช้าก็จะต้องมีของเคี่ยวของฉันเป็นอาหารไปถวายพระ ถ้าไปเวลาเย็นก็จะถือน้ำปานะไปถวาย เพราะนางมีปกติทำอย่างนี้เป็นประจำ จนเป็นที่ทราบกันดีทั้งพระภิกษุสามเณรและอุบาสิกาทั้งหลาย แม้นางเองก็ไม่กล้าที่จะไปวัดด้วยมือเปล่า ๆ เพราะละอายที่พระภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยต่างก็จะมองดูที่มือว่านางถืออะไรมา และก่อนที่นางจะออกจากวัดกลับบ้าน นางจะเดินเยี่ยมเยือนถามไถ่ความสุข ความทุกข์ และความประสงค์ของพระภิกษุสามเณร และเยี่ยมภิกษุไข้จนทั่วถึงทุก ๆ องค์ก่อนจึงกลับบ้าน

วันหนึ่ง เมื่อนางมาถึงวัด นางได้ถอดเครื่องประดับมหาลดาปสาธน์มอบให้หญิงสาวผู้ติดตามถือไว้ เมื่อเสร็จกิจการฟังธรรมเเละเยี่ยมเยือนพระภิกษุสามเณรแล้วขณะเดินกลับบ้านนางได้บอกให้หญิงรับใช้ส่งเครื่องประดับให้ แต่หญิงรับใช้ลืมไว้ที่ศาลาฟังธรรม นางจึงบอกให้กลับไปนำมา แต่สั่งว่า ถ้าพระอานนท์เก็บรักษาไว้ก็ไม่ต้องเอามาคืนมา ให้มอบถวายท่านไปเลย เพราะนางคิดว่าจะไม่ประดับเครื่องประดับที่พระคุณเจ้าถูกต้องสำผัสแล้ว ซึ่งพระอานนท์ท่านก็มักจะเก็บรักษาของที่อุบาสกอุบาสิกาลือไว้เสมอ

และได้เป็นไปตามที่นางคิดไว้จริง ๆ แต่นางก็กลับคิดได้อีกว่า “ เครื่องประดับนี้ไม่มีประโยชน์แก่พระเถระ” ดังนั้นนางจึงขอรับคืนมาแล้วนำออกขายในราคา ๙ โกฏิ กับ ๑ แสนกหาปณะ ตามราคาทุนที่ทำไว้ แต่ก็ไม่มีผู้ใดมีทรัพย์พอที่จะซื้อเอาไว้ได้ นางจึงต้องซื้อเอาไว้เอง ด้วยการนำทรัพย์เท่านั้นมาซื้อที่ดินและวัสดุก่อสร้าง ดำเนินการสร้างถวายเป็นพระอารามที่ประทับของพระบรมศาสดา และเป็นที่อยู่อาศัยจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์สามเณร พระบรมศาสดา รับสั่งให้พระมหาโมคคัลลนะ เป็นผู้อำนวยการดูแลการก่อสร้าง ซึ่งมีลักษณะเป็นปราสาท ๒ ชั้น มีห้องสำหรับพระภิกษุพักอาศัยชั้นละ ๕๐๐ ห้อง โดยใช้เวลาก่อสร้างถึง ๙ เดือน และเมื่อสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นามว่า “ พระวิหารบุพพาราม”

เพราะพระเปลือยกายจึงถวายผ้าอาบน้ำฝน
โดยปกตินางวิสาขา จะกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์มาเสวยและฉันภัตตาหารที่บ้านของนางเป็นประจำ เมื่อการจัดเตรียมภัตตาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะให้สาวใช้ไปกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปยังบ้านของนาง

วันหนึ่ง สาวใช้ได้มาตามปกติเหมือนทักวัน แต่วันนั้นมีฝนตกลงมาพระสงฆ์ทั้งหลาย จึงพากันเปลือยกายอาบน้ำฝน เมื่อสาวใช้มาเห็นเข้าก็ตกใจเพราะความที่ตนมีปัญญาน้อยคิดว่าเป็นนักบวชชีเปลือย จึงรีบไปแจ้งแก่นางวิสาขาว่า

“ ข้าแต่แม่เจ้า วันนี้ที่วัดไม่มีพระอยู่เลย เห็นมีแต่ชีเปลือยแก้ผ้าอาบน้ำ กันอยู่ ”

นางวิสาขา ได้ฟังคำบอกเล่าของสาวใช้ เพราะความที่นางเป็น พระอริยบุคคลชั้นโสดาบัน เป็นพระหมาอุบาสิกา เป็นผู้มีปัญญาศรัทธาเลื่อมใส มีความใกล้ชิดกับพระภิกษุสงฆ์ จึงทราบเหตุการณ์โดยตลอดว่า พระบรมศาสดาทรงอนุญาตให้พระภิกษุมีผ้าสำหรับใช้สอยเพียง ๓ ผืน คือ ผ้าจีวรสำหรับห่ม ผ้าสังฆาฏิสำหรับห่มซ้อน และผ้าสบงสำหรับนุ่ง ดังนั้น เมื่อเวลาพระภิกษุจะอาบน้ำจึงไม่มีผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำ ก็จำเป็นต้องเปลือยกายอาบน้ำ

อาศัยเหตุนี้ เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาประทับที่บ้านและเสร็จภัตกิจแล้วนางวิสาขาจึงได้เข้าไปกราบทูลขอพร เพื่อถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์ พระพุทธองค์ประทานอนุญาตตามที่ขอนั้น นางวิสาขาก็เป็นบุคคลแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระภิกษุสงฆ์

พระภิกษุคิดว่านางเป็นบ้า
นางวิสาขา ได้ชื่อว่าเป็นมหาอุบาสกาผู้ยิ่งใหญ่ เป็นยอดแห่งอุปัฏฐายิกาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาด้วยวัตถุจตุปัจจัยไทยทานต่าง ๆ ทั้งที่ถวายเป็นของสงฆ์ส่วนรวม และถวายเป็นของสงฆ์ส่วนบุคคลคือแก่ภิกษุแต่ละองค์ ๆ การทำบุญของนางนับว่าครบถ้วนทุกประการตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ดังคำที่นางเปล่งอุทานในวันฉลองวิหาร คือวัดบุพพาราม ที่นางสร้างถวายนั้นด้วยคำว่า..

“ ความปรารถนาใด ๆ ที่เราตั้งไว้ในกาลก่อน ความปรารถนานั้น ๆ ทั้งหมดของเราได้สำเร็จเสร็จสิ้นสมบูรณ์ทุกประการแล้ว”

ความปรารถนาเหล่านั้นคือ...

๑. ความปรารถนาที่จะสร้างปราสาทฉาบด้วยปูนถวายเป็นพระวิหารทาน

๒. ความปรารถนาที่จะถวายเตียง ตั่ง ฟูก หมอน และเสนาสนภัณฑ์

๓. ความปรารถนาที่ะถวายสลากภัตเป็นโภชนทาน

๔. ความปรารถนาที่จะถวายผ้ากาสาสิกพัสตร์ ผ้าเปลือกไม้ ผ้าฝ้าย เป็นจีวรทาน

๕. ความปรารถนาที่จะถวายเนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นเภสัชทาน

ความปรารถนาเหล่านั้นของนางวิสาขาสำเร็จครอบถ้วนทุกประการ สร้างความเอิบอิ่มใจแก่นางยิ่งนัก นางจึงเดินเวียนรอบปราสาทอันเป็นวิการทานพร้อมทั้งเปล่งอุทานดังกล่าว

พระภิกษุทั้งหลาย ได้เห็นกิริยาอาการของนางวิสาขาแล้ว ต่างก็รู้สึกประหลายใจ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาง จึงพร้อมใจกันเข้าไปกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า

“ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตั้งแต่ได้พบเห็นและรู้จักนางวิสาขามาก็เป็นเวลานานพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ไม่เคยเห็นนางขับร้องเพลงและแสดงอาการอย่างนี้มาก่อนเลย แต่วันนี้ นางอยู่ในท่ามกลางการแวดล้อมของบรรดาบุตรธิดาและหลาน ๆ ได้เดินเวียนรอบปราสาทและบ่นพึมพำคล้ายกับร้องเพลง เข้าใจว่าดีของนางคงจะกำเริบ หรือไม่นางก็คงจะเสียจริตไปแล้วหรืออย่างไร พระเจ้าข้า ?”

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุเหล่านั้นว่า

“ ภิกษุทั้งหลาย ธิดาของเรามิได้ขับร้องเพลงหรือเสียจริตอย่างที่พวกเธอเข้าใจหรอก แต่ธิดาของเราเป็นอย่างนั้นก็เพราะความปีติยินดีที่ความปรารถนาของตนที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นนั้นสำเร็จลุล่วงสมบูรณ์ทุกปราการ นางจึงเดินเปล่งอุทานออกมาด้วยความเอิบเอมใจ

ด้วยเหตุที่นางวิสาขาได้อุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุสงฆ์ และได้ถวายวัตถุจตุปัจจัยในพระพุทธศานาเป็นจะนวนมาก ดังกล่าวมา พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงประกาศยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้เป็นทายิกา..

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

สงกรานต์มอญ...ที่เกาะเกร็ด


สรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์ที่เกาะเกร็ด

        สงกรานต์ไทย-รามัญ เกาะเกร็ด วัฒนธรรมอันโดดเด่นของจังหวัดนนทบุรี คราวนี้จะสัญจรสู่เกาะใหญ่กลางลำน้ำเจ้าพระยา ไปเที่ยวงานสงกรานต์ไทย-รามัญ เกาะเกร็ด นนทบุรี จุดเด่นของเกาะเกร็ดก็คือ เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวไทย-รามัญหรือชาวมอญนั่นเอง ไม่มีขบวนแห่ ไม่มีประกวดนางสงกรานต์ เป็นความงามของวิถีคนมอญที่มาตั้งถิ่นฐาน นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี วันหยุดสงกรานต์นี้ถ้าได้มาเที่ยวเกาะเกร็ด ได้เดินชมชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา ได้ชิมข้าวแช่เย็นชื่นใจตำรับชาวมอญเดิม ซึ่งนิยมทำในช่วงสงกรานต์ ภาษามอญ เรียกว่า "เปิงสงกราน" แต่เดี๋ยวนี้หากินได้ตลอดทั้งปี เพราะกลายเป็นอาหารยอดนิยมไปแล้ว ได้แวะไหว้พระที่วัดปรมัยยิกาวาส วัดสำคัญของชาวมอญที่มีเจดีย์เอียงสีขาวเป็นเอกลักษณ์ ขากลับมีของฝากถ้วยดินเผา โมบายเก๋ ๆ ทำจากดินเผาจากเกาะเกร็ด


ประเพณีในเกาะเกร็ด

เนื่องจากในเกาะเกร็ดมีคนมอญอพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากพอสมควร  คนมอญจึงนำประเพณีและความเชื่อต่างๆมาจากเมืองมอญด้วย ประเพณีจึงมีหลากหลายและแตกต่างไปจากประเพณีไทย เช่นประเพณีสงกรานต์ จะมีการทำบุญกลางบ้าน มีการแห่ข้าวแช่ แห่น้ำหวาน แห่หางหงส์ มีการรำเจ้า มีการเล่นสะบ้ามอญและทะแยมอญ เป็นต้น  นอกจากประเพณีสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีอื่นๆอีก เช่น ประเพณีการจุดลูกหนู ประเพณีตักบาตรทางน้ำ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีรำมอญ ประเพณีการเล่นเพลงเจ้าขาว และ ประเพณีการละเล่นเพลงระบำบ้านไกล เป็นต้น
นอกจากประเพณีในเกาะเกร็ดแล้ว ยังมีประเพณีที่น่าสนใจที่ปฏิบัติกันไม่ไกลจากเกาะเกร็ดมากนักคือ ประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด  จึงนำมากล่าวไว้ด้วย  ขอเชิญอ่านรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ได้ตามลำดับไป ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันแต่เดิม แต่ปัจจุบันได้ปฏิบัติผิดเพี้ยนไปบ้าง มีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยบ้าง

ประเพณีสงกรานต์
     ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยทั้งชาติ แต่คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด มีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากที่อื่น และเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "ปัจอะห์ต๊ะห์" โดยจะมีการทำบุญเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬารทุกหมู่บ้านของชุมชนในเกาะเกร็ด เทศกาลสงกรานต์นี้ใช้เวลาหลายวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี พิธีจะเริ่มจากการทำบุญฉลองสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วย การแห่ข้าวเช่ เเห่น้ำหวาน แห่สงกรานต์ ปล่อยปลา และทำบุญกลางบ้าน  ก่อนวันสงกรานต์จะมีการกวนขนมกาละแม ข้าวเหนียวเเดง ข้าวเหนียวแก้ว และมีการทำคะนอมจินหรือขนมจีนเพื่อทำบุญด้วย ในตอนเย็นและกลางคืนตามหมู่บ้านต่างๆจะมีการเล่นสะบ้ามอญ และทะเเยมอญ  หลังวันที่ 15 เมษายนจะมีการทำบุญกลางบ้าน จากนั้นจะมีการทำบุญต่อเนื่องไปอีกด้วยการทำบุญสรงน้ำพระ แห่หางหงส์ และจบด้วยการรำเจ้าประจำปีของแต่ละหมู่บ้านจะเห็นได้ว่า ในเทศกาลสงกรานต์ของเกาะเกร็ด มีประเพณีต่างๆที่น่าสนใจหลากหลายทีเดียว เช่น แห่สงกรานต์ แห่น้ำหวาน แห่ข้าวแช่ แห่หางหงส์ เล่นสะบ้ามอญ เล่นทะแยมอญ รำเจ้า การปล่อยปลา การทำบุญกลางบ้าน สรงน้ำพระและเจดีย์มอญ จะได้กล่าวถึงประเพณีเหล่านี้ตามลำดับไป


แห่สงกรานต์ 
เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ดถือว่าเป็นการขึ้นศักราชใหม่ จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันด้วยการทำบุญรักษาศีลเพื่อเป็นการต้อนรับศักราชใหม่ และเพื่อบูชาพระรัตนตรัยและนางสงกรานต์ คนมอญนั้นเมื่อถึงหน้าทำบุญ ก็จะทำบุญกันอย่างจริงจัง และสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เทศกาลสงกรานต์ของคนมอญจึงมีทั้งพิธีกรรมทางศาสนา และการละเล่นต่างๆ หลังวันที่ 15 เมษายน จะมีการแห่สงกรานต์ ซึ่งจัดการแห่อย่างยิ่งใหญ่ทีเดียว โดยขบวนแห่จะเดินไปอย่างมีระเบียบสวยงาม จะแต่งตัวอย่างพิถีพิถันสวยงามเป็นพิเศษ ขบวนแห่สงกรานต์นี้จะมีทั้งแห่น้ำหวาน ปลาและนกที่จะนำไปปล่อย พร้อมทั้งขบวนการละเล่นต่างๆเช่น มอญรำ เม้ยเจิง เป็นต้น


แห่ข้าวแช่
ประเพณีการแห่ข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนมอญเรียกว่า "เปิงฮุงกราน" คือในเช้าวันสงกรานต์ชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับอาหาร และนำข้าวแช่ใส่ในหม้อดินเผา สาเหตุที่ใช้ภาชนะหม้อดินเผาใส่ข้าวแช่ ก็เพราะจะช่วยทำให้ข้าวแช่เย็นและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ที่เกาะเกร็ดจะมีการหุงข้าวแช่โดยจัดทำรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมกันออกค่าใช้จ่ายและรวมกันทำข้าวแช่ในที่เดียวกัน เวลานำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัดจะจัดเป็นขบวนแห่ เรียกว่า "แห่ข้าวแช่" และจะจัดทำพิธีบูชานางสงกรานต์ที่มอญเรียกว่า "มี๊ซงกรานต์" ด้วยการสร้างศาลเพียงตาหน้าบ้าน นำข้าวแช่พร้อมเครื่องบูชามาวางไว้ จะมีการส่งสำรับข้าวแช่ให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วยเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ โดยปกติการแห่ข้าวแช่จะทำกันปีละ 2 ครั้งคือในวันสงกรานต์ครั้งหนึ่ง และในวันออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง


แห่หางหงส์
     การแห่หางหงส์ เป็นประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด จะจัดพิธีแห่หางหงส์เพื่อเฉลิมฉลอง  หางหงส์จะทำด้วยผ้ามาตัดเย็บเป็นรูปธงยาวผูกปลายไม้ แห่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อเป็นศิริมงคล ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้าน และถวายเป็นพุทธบูชา ชาวบ้านมีศรัทธามาร่วมกันทำหางหงส์ ผู้มีศรัทธามักตัดผมตนเองไปผูกไว้ที่หางหงส์ แล้วแห่ไปถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงวัดชาวบ้านจะทำการสักการะพระเจดีย์ที่สำคัญของวัดนั้น แล้วเชิญหางหงส์ขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ของวัด พระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อเป็นศิริมงคล ประเพณีแห่หางหงส์ยังทำกันในเกาะเกร็ดจนถึงปัจจุบันนี้

      เนื่องจาก "หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับ "หงส์" ในพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้วมีสำเภาใหญ่ลำหนึ่งแล่นมาจากพิทยานคร ในประเทศอินเดีย เพื่อจะไปค้าขายยังสุวรรณภูมิลมได้พัดพาเรือสำเภาไปถึงบริเวณภูเขา สุทัศนะมรังสฤษดิ์ บรรดาผู้คนในเรือสำเภานั้นแลเห็นหงส์ทองสองตัวกำลังเล่นน้ำอยู่ที่หาดทราย พราหมณ์ผู้รู้จดหมายเหตุโบราณได้กราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชาเจ้าผู้ครองพิทยานครว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่นั้น ได้เคยเสด็จมาถึงสถานที่หงส์ทองสองตัวลงเล่นน้ำ ได้ทรงทำนายว่าสถานที่นี้จะได้เป็นพระมหานครต่อมา เจ้าชายสมละกุมารและเจ้าชายวิมลกุมารโอรสฝาแฝดของพระเจ้าเสนะคงคาและพระนางวิมลาราชเทวีได้พาผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและสร้างเมืองขึ้นมีพระอินทร์ลงมาช่วยสร้าง เหตุที่มีหงส์ทองมาลงแล่นน้ำที่นั้น จึงขนานนามว่า "หงสาวดี" หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ และเพื่อเป็นสิริมงคลจึงนิยมทำเสาหงส์ ไว้ตามวัดเป็นพุทธบูชา

สะบ้ามอญ  
การเล่นสะบ้ามอญ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญในเกาะเกร็ดระหว่างเทศกาลสงกรานต์ คือในวันที่ 13-15 เมษายน ช่วงตอนเย็นและกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้ามอญตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกัน แต่ก็อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพราะสถานที่เล่นสะบ้ามอญนั้นจัดขึ้นในบริเวณหมู่บ้าน หรือในบริเวณบ้านใดบ้านหนึ่ง หรือหลายๆบ้านในหมู่บ้านนั้น สถานที่เล่นสะบ้ามอญ เรียกว่า "บ่อน" ทำบนลานดิน ต้องปรับที่ทุบดินให้เรียบ ที่กว้างขวางพอที่จะให้สาวๆนั่งเรียงกันได้ตั้งแต่ 8 - 12 คน ประดับประดาบริเวณด้วยกระดาษสีและผ้าสีต่างๆ มีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรองแขกด้วย หนุ่มๆที่จะมาเล่นสะบ้ามอญต้องจัดมาเป็นกลุ่มเป็นพวก มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าบุคคลอื่น พวกรุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหนุ่มๆพร้อมด้วยเครื่องดนตรี ซึ่งกลุ่มหนุ่มเหล่านี้จะร้องรำทำเพลงเรียกว่า "กล่อมสะบ้า" ทำให้บรรยากาศสนุกสนานยิ่งขึ้น



ประวัติตำบลเกาะเกร็ด 
              เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นทั้งชุมชนค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง ๆ ที่จะเดินทางผ่านไปมายังอยุธยา รวมถึงวัดวาอารามต่าง ๆ บนเกาะเกร็ดล้วนมีความสวยงาม ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาทั้งสิ้น แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้เอกราชได้พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณเกาะเกร็ดแห่งนี้อีกครั้ง
           แต่เดิมเกาะเกร็ดไม่ได้มีลักษณะเป็นเกาะ เป็นส่วนของแผ่นดินรูปโค้งลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อมาแต่ก่อนว่า บ้านแหลม แต่ได้มีการขุดลอกคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นในส่วนที่เป็นแหลม ในเวลาต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้น มีการกัดเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อที่เรียกนั้น ชื่อเดิมเรียกว่า  เกาะศาลากุน


          ในสมัยอยุธยามีเรือสินค้าทั้งในและต่างประเทศผ่านเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อจะไปยังอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.2251-2275) จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขุดคลองลัดตามลำน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เพื่อลดระยะทางและระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งทางน้ำในสมัยนั้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเกาะเกร็ดขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลวกกลับมาทางทิศตะวันออกในปี พ.ศ.2265 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ?ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์ไพร่พล คนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คนหมื่นเศษให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้งบางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามาให้เกณฑ์คนไพร่พล ในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๖ วา ทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ
          เมื่อทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ทำให้เกิดการเดินเรือลัดได้เร็วขึ้น เรียกคลองในสมัยนั้นว่า คลองลัดเกร็ดน้อย  ต่อมานิยมเรียกว่า  คลองลัดเกร็ด  ต้นคลองหรือปากคลองเรียกว่า  ปากเกร็ด  ต่อมาคลองลัดเกร็ดได้ถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จนกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นแม่น้ำไป ที่ดินบริเวณที่เป็นแหลมยื่นออกไปจึงมีลักษณะเป็น  เกาะ  เรียกกันว่า เกาะเกร็ด


          ในสมัยโบราณเรียกเกาะเกร็ดที่เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กนี้ว่า  เกร็ดน้อย  (ที่เชียงราก จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า เกร็ดใหญ่ เพราะมีการขุดคลองลัดแล้วกลายเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะเกร็ด) อาจเป็นไปได้ว่าคนสมัยโบราณนิยมเรียกเกาะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่า เกร็ด ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะปากเกร็ดเป็นชื่อของตำบลและชื่อของอำเภอ เกาะเกร็ดก็ได้ยกฐานะเป็นตำบลเกาะเกร็ดด้วยจนถึงปัจจุบัน

          ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับพ.ศ.2317 ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด (รวมทั้งในเกาะเกร็ด) และสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมอญแพ้สงครามกับพม่า เมื่อมอญสู้พม่าไม่ได้จึงอพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกพื้นที่ช่วงเกาะเกร็ดและปากเกร็ดเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ โดยทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จล่วงหน้าขึ้นไปในวันแรม 4 ค่า เดือน 3 ครั้นถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 จึงเสด็จไปรับ พระตำหนักบางธรณีด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางครั้งนี้นับเป็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ใช้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่ปากเกร็ดและเกาะเกร็ด มีการจัดกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และกระขวนเรืออัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่ยิ่งใหญ่

          ต่อมาในปี พ.ศ.2538 ตรงกับสมันรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวมอญ ซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และได้โปรดเกล้าฯให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์(พระประแดง)บ้าง ดังนั้นจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในเกาะเกร็ดและหลายท้องที่หลายตำบลในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากมีชาวมอญอพยพเข้ามาถึง 2 ครั้ง คือ ในปีพ.ศ.2317และปีพ.ศ.2358

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มักจะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางประอินเสมอ กล่าวกันว่าทรงแวะพักเรือพระที่นั่งตามวัดต่าง ๆ บริเวณปากเกร็ดและเกาะเกร็ดนี้ทุกวัด และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกับพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงอภิบาลทำนุบำรุงสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์มาตั้งแต่ครั้นทรงพระเยาว์

      ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหลังจากพ.ศ.2475 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่บ้านในตำบลย่านเกาะเกร็ดและปากเกร็ดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมรับสภาวะวิกฤตในกรุงเทพฯ มีนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้มาสร้างบ้านสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาทางราชการได้เข้ายึดบ้านดังกล่าว




สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจของเกาะเกร็ด


 เริ่มกันที่วัดซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดไปแล้ว นั่นคือ "วัดปรมัยยิกาวาส" (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาส ตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบัน ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า  


          พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี

          พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

          อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้ คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด  

          ส่วนที่ "พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสและหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา" จะจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง "เหม" ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้น จนนับว่าเป็นงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้า ซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระ จะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ – ศุกร์ เปิดเวลา 13.00 - 16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เปิดเวลา 9.00 - 16.30 น.

          "วัดเสาธงทอง" เป็นวัดเก่า เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต” หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น
       
          "วัดไผ่ล้อม" สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้"

          "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา


          "คลองขนมหวาน" บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหวานอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมสาธิตวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย



          อย่างไรก็ตาม แรงดึงดูดอย่างหนึ่งบนเกาะเกร็ดที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวที่นี่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของอาหารการกินที่ดูจะหลากหลายมากมายกันจนลายตา ไม่ว่าจะเป็น "ข้าวแช่" อาหารของชาวมอญ ที่สืบทอดสูตรกันมายาวนาน รับประทานพร้อมเครื่องเคียงครบรสที่มีให้เลือกเพียบ คือ ลูกกะปิทอด, หมูกับปลาเค็มปั้นทอด, ไชโป๊หวาน, ปลาหวาน, พริกหยวกสอดไส้, หัวหอมทอดสอดไส้ และผักชนิดต่างๆ


          ส่วนใครที่ไปเกาะเกร็ดแล้วไม่ได้รับประทาน "ทอดมันหน่อกะลา" ก็เหมือนไปไม่ถึง เพราะ "ทอดมันหน่อกะลา" ถือเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่เลยก็ว่าได้ แถมยังมีให้เลือกซื้อเลือกชิมหลายร้าน ทั้งเจ้าเก่าเจ้าใหม่ เรื่องของรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่า อร่อยไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ตามร้านค้าสองข้างทางยังมีอาหารอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น รวมถึงของคาวอย่าง ห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกปลากราย ไข่ปลาทอด ผักทอด พร้อมร้านขายน้ำเก๋ๆ ที่ขายน้ำพร้อมแก้วน้ำกระถาง ปั้นโดยฝีมือคนท้องถิ่นนั่นเอง และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ร้ายจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง กระถาง เซรามิกรูปร่างต่างๆ ก็มีให้เลือกซื้อเลือกชมกันอย่างละลานตา...














ปิดท้ายด้วยภาพเด็ดของเกาะเกร็ด


วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555

คาถาเงินล้าน





ที่มาของ คาถาเงินล้าน

ก่อนที่อยู่วัดท่าซุงนะฉันอยู่กระต๊อบ เงินร้อยก็หายากสำหรับเงินทำบุญ คาถาวิระทะโย ก็ทำเรื่อยๆ ไป ต่อมาท่านก็มาหา ก็บอกว่า คาถาบทนี้นะที่เขาทำพระวัดพนัญเชิงองค์แรก มีเจ้าอาวาสองค์แรกท่านไปนั่งกรรมฐาน และเสกด้วยคาถาบทนี้ สามปี ท่านให้ดูตัวอย่างวัดพนัญเชิงเงินขาดไหมฉันก็ทำมาเรื่อย

มาอีกปีหนึ่ง กำลังบวงสรวง ท่านบอกว่า"คาถาบทนี้ เป็นคาถาเงินแสนนะ" ก็ใช้คาถาบทนั้น มาประมาณครึ่งปี คนมา ทอดกฐินผ้าป่าได้เงินเป็นแสน นี่เห็นชัดนะ

แล้วต่อมา อีกปีหนึ่ง ท่านบอกว่า "คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินล้านนะ" ให้ว่าต่อเนื่องกันไปแล้วไปลง "คาถาวิระทะโย" ต่อมาก็จริง ๆ เพราะปี 27 ก็ใช้เงินล้าน เป็นเดือน ซึ่งไอ้อย่างนี้เราก็คิดไม่ออก ต้องค่อย ๆ ใจเย็น ๆ

เวลาว่าไป อย่าไปว่าหวังเอาลาภ คือ ต้องภาวนาด้วยนะ ถ้าทางที่ดีเวลาภาวนากรรมฐาน พอจิตสบายน่ะต่อเลย เพราะเวลา กรรมฐานนี่จิตเป็นฌาณใช่ไหมเอาอย่างนี้ดีกว่า เวลาฝึกมโนมยิทธิออกไปให้ได้นั้น ออกไปเดี๋ยวเดียวก็ได้ออกไปได้ นี่จิต เป็นฌาณ 4 เข้าเขตพระนิพพาน ได้จิตสะอาดถึงที่สุด กลับลงมาด้วยคาถาบทนี้เลย มากน้อยก็ช่างให้หลับไปเลยคือ ถ้าจิต สะอาดมากผลก็เกิดเร็ว

ก็สงสัยเหมือนกันนะ เมื่อปี 26 ท่านบอกว่าปี 27 มีอะไรบ้างก็ตุน ๆ ไว้บ้างนะ 28 จะเครียดมาก การค้าของใคร ถ้าทรงตัว ได้ก็ถือว่า ดีไว้ก่อน อันนี้ท่านบอกว่า "ถ้าลูกเราจะจนก็จนไม่เท่าเขา"

ถ้าพูดถึงผลฉันก็นั่งดูเรื่อยๆมาว่า เอ๊ะ! เงินแสนมันจะมีมาอย่างไร ภายในปีนั้นปรากฏว่าสมัยนั้นวัดต่างๆเขายังไม่ถึงหมื่น เลย แล้วต่อมาคาถาเงินล้านก็ต้องว่าต่อ เพราะต่อไปข้างหน้าต้องใช้เงิน

พระพุทธเจ้าบอกนี่ ต้องเชื่อต้องใจเย็นๆไม่ใช่ไปเร่งรัด ถ้าไปว่าแล้วคิดว่าเราต้องรวยนี่เสร็จ พัง ต้องว่าด้วยจิตเคารพนาน หลายปี ท่านไม่ยอมเปิดกับใคร ก่อนจะเข้าถึงดี มันต้องเครียด ไอ้ปี 28 ความจริงมัน น่าจะดี แต่ไปๆมาๆ ก็มีจุดสะดุดจุด สะดุด นี่เป็นชะตาของชาติ แต่ยังไงๆ ก็ต้องไปเจอะจุดรวยแน่

ถ้าพวกนี้รวยนะ วัดท่าซุง ไม่เป็นไร คือว่า หนี้นี่นะ…..อย่าคิดว่ามันโจ๊ะกันได้ เมื่อปี 30 นะ มันเกิน ค่าใช้ จ่ายเดือนละ 2 ล้านเศษ อันนี้ ต้องคิด เดือนนี้ก็ตกเกือบ 3 ล้าน คือ 2 ล้าน 9 แสนเศษ

ตอนนี้ ท่านให้ฉันเขียนโครงการ ที่จะทำให้เสร็จ ในปี 30 โครงการของท่าน จริง ๆ มีมาก ท่านย่า ก็เคยบอก ท่านบอกว่า "ท่านไม่บอกคุณตรง ๆ หรอก ท่านรู้ใจคุณ ถ้าบอกโครงการทั้งหมด คุณไม่ทำแน่"

พระพุทธเจ้า ก็รู้คอนะ ไปๆ มาๆ ท่านให้นั่งเขียน ตามนี้นะ 12 รายการ ให้เสร็จ ภายในปี 30 เลย คิดว่า เงินที่ต้องใช้เป็น ล้านๆ รายการมากนะลูก ถ้าหากจะถามว่า 10 ล้านพอไหม ก็ต้องบอกว่า มันไม่ได้ครึ่งหลัง ที่ท่านสั่งทำหรอก

วันนั้นก็ขึ้นไปที่กระต๊อบฉัน ไปถึงกระต๊อบ ก็ปรากฏว่า สมเด็จองค์ปัจจุบัน ท่านประทับอยู่ที่นั่น และท่านพระเจ้าแม่ให้นาม ว่า "มัทรี" หรือ"พิมพา"ไปที่อเมริกา ท่านบอก "ฉันแม่คุณ เหมือนกัน ฉันเคยเป็นแม่คุณ" ถามว่าชื่ออะไร "ชื่อมัทรี" แล้วคุมมาตั้งแต่อเมริกาเวลานี้ก็ยังคุมอยู่ ก็ไปกราบเรียนถามท่านว่า คำสั่งที่สั่งให้ทำมันเกินวิสัย แค่อาคาร 300 ห้องจาก พ.ศ. นี้ไปจนถึง 30 มันก็เสร็จยากเหลือเกิน และ อีกหลายรายการ มันก็ใหญ่ทั้งนั้น ท่านแม่มัทรีก็บอกว่า

"เอาอย่างนี้ซิลูก ขออำนาจพระพุทธานุภาพ" ก็เลยหันไปกราบพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่า

"ได้ ฉันต้องช่วยเธอ"

แล้วต่อมา เดินเล่นในบริเวณกระต๊อบของฉันเล็กๆ มันมีถนนหนทางใช่ไหม ก็ปรากฏว่า เดินไปเดินมา สมเด็จองค์ปฐมก็ เสด็จมาเดินด้วย ท่านบอกว่า

"สภาพของพระนิพพาน มันเป็นอย่างนี้นะ คนที่ถึงพระนิพพานแล้ว กิจอื่นที่ทำ ไม่มี มันเป็นอย่างนี้นะ เวลานี้ เราเดินกลาง บริเวณ พวกเราทั้งหมดลองนั่งดูซิ มันจะมีอะไรไหม"

ที่มันเป็นที่นั่งไม่มีเลย พอนั่งปุ๊บไอ้เตียงตั่งมันเสือกมาได้อย่างไร ก็ไม่รู้ เลยคุยไปคุยมา ท่านก็เลยบอกว่า

"งานที่ฉันสั่งต้องเสร็จทัน 30"

ท่านย่ากับแม่ศรีก็ขึ้นไป ท่านย่าบอกว่า อำนาจพุทธานุภาพก็มีแล้ว สังฆานุภาพก็มีแล้ว พรหมานุภาพกับ เทวานุภาพก็ช่วย แล้ว แต่ว่า ถ้าบรรดาลูกหลานมันยากจน และ ปี 28 มันจะเครียด ขอพรพระพุทธเจ้าขอคาถาสักบท (ที่ท่านให้ฉันไว้นี่) ขอ ให้ลูก ๆ หลาน ๆ ใช้เถอะ ให้ อนุมัติ"

ความจริงคาถาเฉพาะนี่จะให้ใครไม่ได้เลย ท่านก็เลยบอกว่า "ถ้าอย่างนั้นไปพิมพ์แจก และก็ให้มันทำด้วยความเคารพ"

ฉันไม่ยืนยันว่าคนที่ไม่เคารพฉันจะมีผล จำให้ดีนะ

จึงขอให้ทุกคนถ้าได้รับคาถานี้ ให้ตั้งใจปฏิบัติด้วยความจริงใจด้วย ความเคารพในพระพุทธเจ้า

ต่อนี้ไปก็อ่านคาถาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน และให้ทุกคนตั้งใจนึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ เจ้า คิดว่า คาถาทั้งหมดนี้ จงปรากฏ อยู่ในจิตของเรา ลาภผลต่างๆ ให้ปรากฏแก่เรา ตามที่พระองค์ทรงต้องการนะ นึกถึง ท่านนะ

สัมปจิตฉามิคาถาสนองกลับ

นาสังสิโม คาถาพระพุทธกัสสป

บทแรก "พรหมา จะ มหาเทวา สัพเพยักขา ปะรายันติ" อันนี้ตัดอุปสรรค ที่ลาภจะมา แต่เขามาบอกว่า มีผลแน่นอน คือว่าแกจะไม่ยอมให้ลูกแกจน พูดง่าย ๆ ก็แล้วกัน พระพุทธเจ้า ก็ทรงยืนยันบอกว่า ให้หมด

บทที่สอง "พรหมา จะ มหาเทวา อภิลาภา ภะวันตุเม" คาถาบทนี้เป็นคาถาเงินแสนของท่าน

บทที่สาม "มหาปุญโญ มหาลาโภ ภะวันตุ เม" บทนี้เป็นคาถาปลุกพระวัดพนัญเชิง

บทที่สี่ "มิเตพาหุหะติ" เป็นคาถาเงินล้าน

บทที่ห้า"พุทธะมะอะอุ นะโมพุทธายะ วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัส
สะ มานีมามะ พุทธัสสะ สวาโหม" เป็นคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า

บทที่หก "สัมปติฉามิ"บทนี้เป็นบทเร่งรัดบทสุดท้าย

บทที่เจ็ด "เพ็ง ๆ พา ๆ หา ๆ ฤา ๆ" พระปัจเจกพุทธเจ้ามาบอกหลวงพ่อ เมื่อ พ.ย.33 เป็นภาษาโบราณแต่เทียบกับ ภาษาไทย อ่านได้อย่างนี้ เป็นคาถามหาลาภ มีผลยิ่งใหญ่มาก ทั้งหมดนี้ต้องสวด เป็นบทเดียวกัน บูชาเรื่อย ๆ ไป การบูชา ถ้าบูชาเฉย ๆ มันเป็นเบี้ยต่อไส้

อย่าลืมนะ เวลาสวดมนต์ แล้วให้สวดคาถานี้ 9 จบเท่าเดิมนะ และเวลาภาวนานอนภาวนาก็ได้ ว่าเรื่อยๆ ไปจนกระทั่งหลับ ไปเลย ตื่นขึ้นมา ต่อจากกรรมฐาน นอนก็ได้ ใจสบาย ๆ นะ บางทีเผลอ ๆ ฉันก็ต้องว่า ของฉันเรื่อย ๆ ไป คาถาเงินล้านนี่ มาให้เมื่อปีฝังลูกนิมิต ท่านบอกว่า งานข้างหน้าจะหนักมาก หลังจากนี้เป็นต้นไป เงินจะใช้มากกว่า สมัยที่สร้างโบสถ์ อย่า ลืมนะ...เวลาว่างๆ นั่งนึกก็ได้เดินไปก็ได้ ไม่ห้ามเลยนะให้มันติดใจอยู่อย่างนั้น ให้ถือว่าเป็นกรรมฐานไปในตัวเสร็จเพราะ คาถาที่พระพุทธเจ้าบอก ทุกบทก่อนจะทำ ต้องนึกถึงท่าน ถือว่าเป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน


คัดมาจากหนังสือ "สมบัติพ่อให้" ของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี






ที่มาของ คาถาวิระทะโย 


หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค จ.อยุทธยา

ในปัจจุบันนี้ ภาวะทางเศรษฐกิจย่ำแย่ ตามบริษัท ห้างร้านต่างๆ ต่างคน ต่างก็บ่นพึมพำ ชาวบ้าน หรือก็หนักใจ พูดกันตาม ความเป็นจริงแล้ว พระไม่อยากให้ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่อยากให้ชาวบ้านจน ถ้าชาวบ้านจนเมื่อไรพระอดอยากเมื่อนั้นแล้ว ควรจะทำอย่างไรดีล่ะ ในที่สุด พระจำเป็นจะต้องทำหน้าที่อย่างเดียวคือ นั่งแช่ง นอนแช่ง ให้ชาวบ้านรวย นอนไปก็ว่า เรื่อย ไป เวลานี้ มีคำสั่งให้ทำอยู่สองอย่าง คือ ถ้าว่างก็ให้ว่าคาถาบทนี้ไปด้วย เพื่อช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านเขา ให้มีกินมีใช้ ยุชาว บ้านเขาปลอดภัย ยุให้ชาวบ้านเขารวย พระเราก็จะพลอยมีกินมีใช้ไปด้วย ถ้าพระองค์ไหนแช่งให้ชาวบ้านเขาจนละซวยอด กินแน่ๆ

เมื่อพูดถึงเรื่องจน ก็ทำให้นึกถึง คาถาวิระทะโย คาถาบทนี้ มีความสำคัญมาก พวกเราทุกคนควรจะทำ ทำให้ได้พื้นฐาน ไว้ก่อน คาถาบทนี้ ถ้าทำขึ้นน้อยๆ ถ้าเงินมันขาดมือ มันจะชดใช้กันทัน ถ้าหากทำขึ้นเต็มอัตรา เงินจะเหลือใช้ แต่ต้องทำ เป็นสมาธินะ การทำสมาธินี่ ไม่ต้องนั่งก็ได้ ถ้าว่างตอนไหน ก็นึกว่า มันเรื่อยไปขายของอยู่ ทำงานอยู่พอว่างนิดก็ว่าไปเดิน ไปนึกขึ้นได้ว่าไป คาถาวิระทะโยนี้ ถ้าใครมีความจำเป็น มากจริงๆ ถ้าทำถึง อุปจารสมาธิ ตอนนี้ เงินไม่ขาดตัวแน่ ถ้ามี - ความจำเป็นมากจริงมักจะหาได้ทัน ถ้าเข้าถึงปฐมญานตอนนี้ละขังตัวไม่ใช่พอใช้นะเหลือใช้แต่ต้องทำได้ตั้งแต่ปฐมญาน ขึ้นไปนะ

คาถาบท นี้ มีคนใช้ได้ผลมาเยอะแล้ว คนที่ใช้ได้ผลคนแรกสุด ก็คือ นายห้างขายยาตราใบโพธิ์ ที่ว่า เป็นคนแรกเพราะ อะไรเพราะตอนนั้น หลวงพ่อปาน ท่านไปเรียนมาจาก ครูผึ้ง ซึ่งอยู่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียนมาแล้วก็มีนายห้างขาย ยาตราใบโพธิ์สนใจ จึงขอเรียนจากหลวงพ่อปาน และทำได้ผลเป็นคนแรก

สำหรับประวัติของครูผึ้ง สมัยนั้น แปลกดีมาก ครูผึ้งคนนี้ มีคติว่า ร้อยบาท ใครเขาจะแต่งงานไปบอกแก แกให้ หนึ่งร้อย งานโกนจุก หนึ่งร้อย บวชพระ หนึ่งร้อย แกมีคติแบบนี้ ใครไปบอกบุญแก แกขอทำบุญด้วยร้อยบาทอย่าลืมนะว่าสมัยนั้น เงินครึ่งสตางค์ หนึ่งสตางค์มีค่ามาก เงินร้อยบาทสมัยนั้นมันมากกว่าเงินเดือนของร้อยตรีอันดับหนึ่ง ถ้าใครมีเงินร้อยบาท ละก็ เริ่มรวยแล้ว แต่แกทำบุญครั้งละร้อยบาท ก็เป็นที่น่าแปลกใจเหมือนกัน

หลวงพ่อปาน ท่านไปพบเข้า คุยกันรู้เรื่อง แต่ว่า ท่านพบของท่าน อย่างไรก็ไม่ทราบนะ วันนั้น หลวงพ่อปาน ท่านจำวัดอยู่ ฉันนั่งข้างนอก ตอนเย็นมีคนใส่เสื้อราชปะแต็น นุ่งผ้าม่วง สวมถุงเท้า ใส่รองเท้าแบบ ชั้นดีเลย ถือไม้เลี่ยม เดินเข้ามาหา หลวงพ่อปาน

มาถึงก็ถามว่า "หลวงพ่อปานอยู่ไหม?"
ไอ้เราก็บอกว่า "อยู่ แต่ว่ากำลังจำวัด"
แกก็บอกว่า "ฮึ จำวัดอย่างไร ก็สั่งให้ฉันมาพบ ไปตามฉันมาที่นี่"

แล้วกัน หลวงพ่อปาน ท่านนอนอยู่กับเรา หาว่า ท่านไปตามมาได้ เราก็แปลกใจ แต่ก็บอกแก ให้รออยู่ข้างนอกก่อน จะเข้า ไปดูให้ พอเข้าไปก็เห็นหลวงพ่อ ท่านเตรียมตัวออกมาแล้ว เลยถามท่าน

"หลวงพ่อครับ เขาบอกว่า หลวงพ่อไปตามเขามาหาหรือ ?
หลวงพ่อปานบอก "ฮือ แกไม่ต้องรู้หรอก"

เอาอีกแล้ว ท่านบอกแกไม่ต้องรู้หรอกเป็นความลับ เออแปลกดี พอออกมาเจอกันแล้วท่านก็คุยถึงเรื่องประวัติ คุยไปคุยมา ครูผึ้งก็บอกว่า "คาถาบทนี้เป็นของพระธุดงค์ พระธุดงค์ท่านบอกว่า คาถาบทนี้เป็น คาถาของพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่าน มาปักกลดอยู่หลังบ้าน 7 วัน ฉันก็เอาของไปถวายท่านทั้ง 7 วัน"

ตามปกติครูผึ้ง ท่านรักษาศีลอยู่แล้วก่อนที่พระธุดงค์จะไป ท่าได้ให้คาถาบทนี้ และบอกว่า "ตอนเช้าทุกวัน ควรใส่บาตรทุก วัน ก่อนจะใส่บาตรก็ให้ว่าคาถาบทนี้หนึ่งจบ แล้ววิธีใส่บาตรมีอยู่ 2 อย่างถ้าไม่มีพระจะมาให้ใช้ข้าวสารตักแทนก็ได้ แต่ว่า เดี๋ยวนี้เราใช้สตางค์ใส่บาตรแทนก็ได้ เงินนั้นให้ใช้เป็นค่าอาหาร มากน้อยตามกำลัง ไม่จำเป็นต้องไปรอพระมา ถ้าเห็นว่า มันมากพอสมควร ก็เอาไปถวายพระ บอกท่านว่า เป็นค่าอาหาร แล้วท่านจะนำไปใช้เป็นค่าอาหาร หรือเอาไปใช้ก่อสร้าง ก็ เป็นเรื่องของท่านเท่านั้นก็พอ

แล้วท่านก็บอกอีกว่า "ก่อนปลูกผัก ปลูกต้นไม้ หว่านข้าว ตำข้าว ก็ว่าคาถาบทนี้ หนึ่งจบ ตามวิธีการของท่าน เวลาบูชาพระ กลางคืนให้ว่า 3 จบ หรือ 5 จบ หรือ 7 จบก็ได้นอกจากนั้นก็ควรจะเจริญเป็นสมาธิ แต่บูชาพระกับว่าตอนใส่บาตรท่านบอก ว่า มีสภาพเป็นเบี้ยต่อไส้ หมายความว่า ถ้าจะหมดตัวจริง ๆ ก็จะหาได้ทัน

ฉันเคยโดนมาบ่อย ๆ ในระยะต้น ๆ โดนเองจึงรู้ แต่พอจวนตัว ก็จะมีมา ทุกครั้งไป ถ้าภาวนาให้จิตเป็น ฌาน จะมีผลมาก แล้วท่านก็เล่าความเป็นมาให้ฟัง

หลวงพ่อปานท่านถามว่า "เดิมทีเดียวน่ะ ท่านมีฐานะอย่างไร?"
ครูผึ้งบอกว่า "ผมอันดับหนึ่งครับ"

พอท่านพูดอย่างนั้น เราหูผึ่งเลย คิดว่าท่านเป็นมหาเศรษฐี
ท่านบอกว่า "อันดับหนึ่งน่ะไม่ใช่เศรษฐี ฉันจนอันดับหนึ่งต่างหาก"

คิดผิดถนัด ท่านบอกอีกว่า "กางเกงไม่ขาด ผมไม่เคยนุ่ง กับเขาเลย มันหาไม่ได้จริง ๆ ครับ กางเกง ที่ดีที่สุด มันมีอยู่ตัว เดียว เก็บไว้ใช้เวลาไปทำบุญที่วัด กลับมาก็ต้องรีบเก็บ นอกจากนั้น กลีบมันแย่งกันขึ้นเลย รอยขาดแย่งกันโผล่"


ท่านเล่าให้ฟังอีกเยอะ สนุก ความจริงอายุของท่านตั้ง 99 ปี แล้ว แต่ร่างกายยังแข็งแรงดีมาก ต่อมาเมื่อ ได้คาถาบทนี้ มา แล้ว ด้วยความจนบีบบังคับ ท่านก็เริ่มทำสมาธิ ตอนเริ่มทำเป็นสมาธิ พอจิตเริ่ม เข้าถึงอุปจารสมาธิ ซึ่งจะสังเกตได้ตามนี้

ถ้าสภาพเดิม มันมืดอยู่ พอจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิ ก็จะมีสภาพ เกิดแสงสว่างขึ้นบ้าง หรือ ไม่อย่างนั้น ก็จะปรากฏ แสงสีขึ้น เห็นเป็นภาพพระหรือภาพอะไรก็แวบ ๆ อันนี้แหละ คือ อุปจารสมาธิ

นับตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา เงินมันเริ่มขังตัว การหากินคล่องขึ้น บางที ถ้าต้องการอะไร ที่มันเกินวิสัย ที่จะหาได้ แต่ว่ามัน อยากได้ เพียงไม่กี่วันหรอก อย่างดีก็ 3 -4 วัน จะมีสตางค์ พอหาซื้อของ อย่างนั้นได้ และต่อมา เมื่อทำเป็นฌาน เงินก็เริ่ม มากขึ้น

ท่านเล่าว่า "มีวิธีการปฏิบัติ เพื่อเจริญ อีกอย่างหนึ่ง แต่ว่าห้ามพูดนะถ้ารู้ว่าเงินเกิน เวลาที่เราบูชา พระด้วยคาถาบทนี้ กี่จบ เวลาที่จะเก็บสตางค์ ให้ถือสตางค์ไว้ แล้วยื่นลงไปในที่สำหรับเก็บ มือมันกำสตางค์อยู่แล้วว่า คาถาบทนี้เท่านั้นจบ ว่า เสร็จแล้วปล่อยมือออกเป็นอันว่าใช้ได้

ทีนี้เวลาที่จะนำสตางค์ไปใช้ท่านให้หยิบสตางค์อันนั้น แต่ว่าห้ามนับเงิน แล้วว่าคาถาตามจำนวนที่เราบูชาพระดึงเอาเงิน นั้นออกมา ถ้าเกินกว่าจำนวนที่เราต้องการ เวลาที่เราจะเก็บเราก็ว่า คาถาแบบนี้เหมือนกัน ถ้าทำแบบนี้ ท่าบอกว่า เงินจะ ขาดที่นั้นไม่ได้เลย

ถ้าบางครั้ง ปริมาณเงินที่เราเก็บไว้ สมมุติว่า เป็นเงิน 1,000 บาท มันเป็นปึกเราดึงมาทั้งปึก (1,000 บาท) แต่ปรากฏว่า เงินมันมีอีก ห้ามนำไปพูดกับคนอื่น ถ้าพูดเงินจะหด ท่านห้ามอวด

อันนี้นายห้างประยงค์เคยไปเล่าให้ฟังเหมือนกันท่านทำได้ผลตามนี้ ท่านบอกว่า ท่านเบิกเงินมาจากธนาคารเดือนละหมื่น แต่รายนี้รับรอง กลับถึงบ้าน ยังไม่ใช้เงิน ต้องนำเงินเข้าตู้เซฟก่อนว่า คาถาบทนี้ ตามแบบ เช้าตื่นขึ้นมา ก็ว่าตามแบบอีก เงินทุกปึกจะต้องเกินเสมอ เกินทุกปึก หนึ่งร้อยบ้าง สองร้อยบ้าง เกินอยู่ตลอดเวลา ลองคิดดูซิมีธนาคารที่ไหนบ้าง เขานับ เงินเกิน ท่านยืนยันว่า ไม่มีธนาคารไหน เขานับเกินหรอก

แต่ทว่าตามปกติ ถ้าท่านทำแบบนี้ จะต้องมีเงินเกิน นายห้างประยงค์คนนี้ ก็ทำเป็นฌานเหมือนกัน เลยถาม นายห้างประ - ยงค์ว่า ท่านทำอย่างไร ท่านบอกว่า หลังจากที่ได้คาถาบทนี้จากหลวงพ่อปาน ซึ่งตอนนั้นท่าน เพิ่งกลับมาจาก นครศรีธรรม ราช หลวงพ่อปานท่านไปแวะ ที่วัดสระเกศ คณะที่ 11 ก็มีคนนำอาหาร ไปถวายท่าน เวลาท่านฉันข้าว ท่านก็เล่าความเป็น มาของคาถาบทนี้ให้ฟัง คนทุกคนฟังแล้ว ก็ไม่มีใครสนใจ มีแต่ นายห้างประยงค์คนเดียว ซึ่งอยู่ตอนหลัง มีความสนใจ พอ หลวงพ่อปานท่านว่า คาถาบทนี้ไป แกก็จดตาม

เมื่อฉันเสร็จให้พรเสร็จ ญาติโยมทั้งหลายก็ลากลับ แต่นายห้างประยงค์ยังไม่ยอมกลับ ท่านเข้าไปหากราบๆ หลวงพ่อปาน แล้วขออนุญาตนำคาถาบทนี้ไปทำ ความจริงที่หลวงพ่อท่านพูดน่ะ ท่านจะดูว่า มีใครสนใจไหมในเมื่อคนอื่นไม่สนใจ มีแต่ นายห้างประยงค์สนใจคนเดียวท่านก็เลยบอกว่า "เออดีแล้ว ไอ้ลูกคนหัวปี"

คำว่า ลูกคนหัวปี ก็หมายความว่า คาถาบทนี้มีคนสนใจเป็นคนแรกและก็คนเดียว ท่านบอกว่าให้เอาไปลองทำ แล้วท่านก็ บอกรายละเอียดในการทำให้ฟัง แล้วก็สั่งว่า "ถ้าเอ็งทำสองปีไม่มีผล หลวงพ่อจะไม่สอนใครเลย" ตอนนั้น ท่านให้นายห้าง ประยงค์ทดลองทำก่อน ที่ไหนได้ ผลปรากฏพอครบ 2 ปี นายห้าง ประยงค์ก็ไปวัด ไปเล่าให้ฟัง บอกว่า

"เมื่อก่อนนี้ครับ ก่อนที่ผมจะได้คาถาบทนี้ไป ถ้าเดือนไหน ห้างผมขายของได้กำไรถึงสองร้อยบาท (สองร้อยบาทเป็นกำไร สุทธินะ) เดือนนั้นสองผัวเมียนอนไม่หลับ ดีใจ"

ก็เลยถามท่านว่า "เวลานี้ละ เป็นอย่างไรบ้าง?"
ท่านบอกว่า "แหม หมื่นหนึ่งยังเฉย ๆ เลยครับ"

ต่อมาหลวงพ่อปานก็ให้นายห้างประยงค์ออกสตางค์สร้างวัดเขาสะพานนาค นายห้างประยงค์ถามว่า

"จะเอาเงินเท่าไหรจึงจะพอครับ"
ท่านบอก "ทำไปเรื่อย ๆ มีเงินเป็นทุนสำรองไว้ประมาณ 2 หมื่นบาท"
หลวงพ่อปานสั่งว่า "ถ้าเอ็งจะเอาเงินไหน ไปเป็นทุนสำรอง เอ็งเอาเงินนั้นมาให้พ่อก่อนนะ"

แล้วนายห้างประยงค์ ก็เอาเงินมาให้หลวงพ่อปาน แทนที่หลวงพ่อปาน ท่านจะเอาไว้ ท่านก็เอาเงินจำนวนนี้ มาเสกด้วยคา ถาวิระทะโยอีก 7 คืน และท่านก็สั่งให้เงินนั้นกลับไป

ท่านสั่งว่า ถ้าเวลาที่พ่อสั่งก็เอามาให้ เอ็งเอาเงินกองนี้นะ ห้ามเอากองอื่น"

เวลาที่ท่านสั่งให้เอาเงินมาเขาก็เอาเงินกองนั้นแหละมาให้หยิบเข้าหยิบออกอยู่อย่างนั้น จนกระทั่งสร้างวัดเขาสะพานนาค เสร็จ เงินยังเหลือ 2 หมื่น

แหม...คนแบบนี้ซวยจัด ที่ว่าซวยเพราะอะไรรู้ไหม ก็ซวยตรง...ที่ไม่รู้จักคำว่าจนไงล่ะ เงินหมดไม่เป็น

ต่อมาเราก็ย่องไปถามท่านว่า "มันเป็นอย่างไร"
นายห้างประยงค์บอกว่า "หลวงพ่อปานท่านสั่งไว้ว่าก่อนจะหยิบก็ต้องว่าคาถาบทนี้เท่านั้น เวลาเก็บก็ต้องว่าจำนวนเท่ากัน"

ท่านทำตาม หลวงพ่อปาน ทั้งหมด ตอนเช้าตื่นขึ้นมา ท่านจะต้องทำเป็นสมาธิก่อน แล้วจึงใส่บาตร ก่อนไป ห้างก็สวดมนต์ ด้วยคาถาบทนี้ ยามว่างตอนนั่งรถไปทำงานท่านก็ว่า คาถาบทนี้ไป เมื่อจิตมันว่างมันก็เข้า ฌาน พอตอนเย็นกลับบ้าน อาบ น้ำเสร็จ รับประทานอาหารเสร็จ ทำสมาธิพักหนึ่งก่อน และก่อนจะนอน ถ้าไม่ปวดเมื่อยท่านก็นั่งสมาธิ ถ้าปวดเมื่อย ก็นอน ว่า จนหลับไป

นายห้างประยงค์บอกว่า ตั้งแต่จิตเริ่มเข้าอุปจารสมาธิ จะเห็น พระพุทธเจ้าบ้าง พระสงฆ์บ้าง นับตั้งแต่ ตอนนั้น เป็นต้นมา เงินค้างเรื่อยมา ก็มีวาระแรก ที่เงินค้างมากเกินไป สองคนผัวเมียเกือบทะเลาะกัน ต่างคนต่างหาว่าเอาเงินไปซุกไว้

เมียบอกว่า "ทำไมคุณเอาเงินมาไว้แล้วไม่บอกฉัน" นายห้างประยงค์บอก "ฉันไม่เคยเก็บเงิน เธอเป็นคนเก็บ เธอเป็นคน เอามาไว้ แล้วทำไมจึงไม่จำ"

ไล่ไปไล่มานึกถึงผลของคาถาบทนี้ ได้คิดว่าน่ากลัวจะเป็นผลของการทำคาถาบทนี้แน่ ๆ เพราะหลวงพ่อ ปานท่านสั่งว่า ถ้า ผลมันเกิดขึ้นมาแล้วอย่าโวยวาย ต่างคนต่างนึกขึ้นมาได้ก็เลยเงียบ

จำไว้นะทุกคน ที่ได้คาถาบทนี้ไปแล้ว ควรท่องคาถานี้ให้ชิน แล้วก็ทำเป็นสมาธิเหมือนๆ กับที่เราทำนี่แหละ ผลมันเท่ากัน ผลที่เราพึงจะได้รับก็คือ จิตเป็นสมาธิ และก็สตางค์ขังตัว คือ ไม่ขาดมือ

หมายเหตุ คาถาวิระทะโยนี้ เป็นคาถาเริ่มแรกดั้งเดิม หรือคาถาที่หลวงพ่อปาน ท่านนำมาเผยแพร่แล้วต่อมา หลวงพ่อพระราชพรหมยานก็ได้มาต่อเติมให้เป็นคาถาเงินล้านในปัจจุบัน จึงถือว่า เป็นที่มาหรือเป็นส่วนหนึ่ง ของคาถาเงินล้านนั่นเอง ดังนั้นถ้าจะภาวนา ก็ให้ใช้คาถาเงินล้านได้เลย มีในหนังสือท้ายบท


คัดมาจากหนังสือธัมมวิโมกข์ 



ประสบการณ์ของผู้ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของหลวงพ่อที่ได้รับผลในปัจจุบันนี้

ผู้ถาม :  "หลวงพ่อครับ ผมก็คิดเรื่องการเรื่องงานเป็นประจำเลยครับ ทีนี้อยากถามว่ากรรมฐานบทไหนที่ทำให้ค้าขายดีครับ..?"

หลวงพ่อ :  "อ๋อ... ก็บทค้าขายราคาถูกซิ เขาขายหนึ่งบาท เราขายห้าสิบสตางค์ รับรองพรึบเดียวหมด บทนี้ดีมาก เพราะเมตตาบารมีไงล่ะ"

ผู้ถาม :  "โอ้โฮ.. ตรงเปี๊ยบเลยหลวงพ่อ.."

หลวงพ่อ :  "ยังมีอีกนะ ถ้าบทที่สองดีกว่านี้อีก จาคานุสสติ แจกดะเลย"

ผู้ถาม :  ( หัวเราะ ) "โอ...บทนี้น่ากลัวจนแย่เลย"

หลวงพ่อ :  "ไอ้เรื่องค้าขายดีมีคาถาตกอยู่บทหนึ่ง"

ผู้ถาม :  "เดี๋ยวผมขอจดก่อนครับ"

หลวงพ่อ :  "ไม่ต้องจดหรอก คาถามหาโต๊ะ มหาโต๊ะนี่สมัยนั้นบวชด้วยกัน มีโยมคนหนึ่งแกหาบข้าวแกงมาขาย หาบไปตั้งแต่เช้ากลับมาบ่าย มันก็ไม่หมด
วันหนึ่งมหาโต๊ะยืนล้างหน้าอยู่ที่หน้าต่างแกก็บอก
"ท่านมหา มีคาถาอะไรดี ๆ ทำน้ำมนต์ให้ทีเถอะจะได้ขายหมดเร็ว ๆ "
มหาโต๊ะแกไม่ใช่นักคาถาอาคมกะเขานี่ ก็นึกไม่ออก แต่ไอ้นี่น่าจะดีว่ะ "อนัตตา" แกนึกในใจนะ แกไม่ได้บอก แกก็เอาน้ำล้างหน้าพรม ๆ ยายนั่นแกก็กลับไป พอสาย ๆ แกก็กลับ ปรากฏว่าหมด"

ผู้ถาม :  "อะไรหมดครับ...?"

หลวงพ่อ :  "ของหมด ข้าวแกงหมด แต่หม้อยังอยู่ หาบยังอยู่และคนหาบก็ยังอยู่ แหม..นี่ต้องให้อธิบายให้ละเอียดเลยนะ"

ผู้ถาม :  ( หัวเราะ )"คือสงสัยครับ"

หลวงพ่อ :  "ก็เป็นอันว่าวันต่อมา โยมคนนั้นแกก็มาหาเรื่อย ๆ แกก็สังเกตมหาโต๊ะ ในที่สุดมหาโต๊ะต้องทำน้ำมนต์ด้วยคาถาบทนี้เอาไว้ที่บูชา แกก็ไปขายหมดทุกวัน ก็แปลกเหมือนกันเพราะจิตตรงใช่ไหม .. อนัตตา นี่เขาแปลว่าสลายตัวไงล่ะ"

ผู้ถาม :  "ลูกหลานเอาไปใช้ได้ไหมครับหลวงพ่อ..?"

หลวงพ่อ :  "ปู่ย่าตายายก็ใช้ได้"

ผู้ถาม :  ( หัวเราะ )"แล้ว คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้ได้ไหมครับ...?"

หลวงพ่อ :  "ความจริงคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้าของเขาก็ดี เขาขายของแล้วก็พรมตั้งแต่ตอนเช้า ถ้าตั้งร้านก็พรมหน้าร้านตั้งแต่เช้าตรู่ ตอนล้างหน้านั่นแหล่ะ ทำตอนนั้น เอาน้ำ ล้างเสกด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสกแล้วพอล้างหน้าเสร็จก็พรม ตอนพรมก็ว่าไปด้วยนะ"

ผู้ถาม :  "บางคนก็บอกว่า ถ้าว่าคาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เมฯ ก็จะมีลาภมาก..?"

หลวงพ่อ :  "มหาปุญโญ เป็นคาถาเสกพระวัดพนัญเชิง เจ้าอาวาสวัดนั้นรูปร่างผอมดำ นั่งเสกด้วยคาถาบทนี้ ๓ ปี ฉะนั้นวัดนั้นจึงมีลาภมาก แล้วต่อมาสมเด็จหรือใครก็ไม่ทราบ ถามว่าเสกด้วยคาถาอะไร ท่านบอกว่า เสกด้วยคาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เมฯ แล้วท่านก็บอกให้ต่อด้วยคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า มีอยู่รายหนึ่งชื่อ นายแจ่ม เปาเล้ง บ้านอยู่อำเภอดำเนินสะดวก แกเป็นคนจน ทำสวนอยู่ที่บางช้าง ปลูกพริกขายเป็นอาชีพ เพราะอาศัยความจนของแก จึงได้เป็นหนี้เป็นสินเขาอยู่ตั้ง ๒ หมื่น ( นี่พูดถึงเงินในสมัยนั้นนะ เดี๋ยวนี้เป็นเงินเท่าไรก็คิดกันดู ) ตาแจ่มจึงมาขอเรียนคาถาพระปัจเจกโพธิ์ เมื่อได้ไปแล้ว วัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรนอกจากท่องแต่คาถาอย่างเดียว นั่งทำอยู่ทั้งวันทั้งคืน

ข้างฝ่ายลูกเมียของตาแจ่มก็ดีแสนดี ไม่ยอมให้แกทำอะไรเหมือนกัน นอกจากท่องคาถา
"คาถาบทนี้ เขาทำแล้วรวยนี่ ต้องให้มันรวยให้ได้" ลูกเมียแกว่าอย่างนั้น

ตาแจ่มแกคิดจะเอาอย่าง นายประยงค์ ตั้งตรงจิตร นั่นแหล่ะ? ทีนี้ พอพริกออกดอกออกผลขึ้นมาจริง ๆ ตาแจ่มก็คิดจะขายพริกละ ไอ้พริกของคนอื่นนะ งามสะพรั่งมีพริกเยอะแยะ มองดูหนาทึบ ไปหมด ส่วนพริกของตาแจ่มพิเศษกว่าเขา มียอดหงุก ๆ หงิก ๆ เม็ดก็บางตา มองดูโปร่ง ๆ ดูท่าทางแล้วเห็นจะขายได้ไม่กี่สตางค์
อีตอนเก็บนี่ซิ คนอื่นเก็บพริกได้กองใหญ่เท่าไร ตาแจ่มก็เก็บได้กองโตเท่านั้น เห็นพริกบาง ๆ ยอดหงุกหงิก ๆ นั่นแหล่ะ เขาเก็บได้เท่าไร ตาแจ่มก็เก็บได้เท่านั้น มาถึงตอนขาย เจ๊กชั่งของคนอื่นได้ ๑ หาบ พอมาของตาแจ่มกลับเป็น ๒ หาบ ทั้ง ๆ ที่กองก็โตเท่ากัน เจ๊กหาว่าตาแจ่มโกง คิดว่าเอาทราบใส่เข้าไปในกองพริกเป็นการถ่วงน้ำหนักเลยเอะอะโวยวายใหญ่ ปรากฏว่าเม็ดดินเม็ดทรายที่เจ๊กว่า นั้นหาไม่ได้เลย เล่นเอาเจ๊กแปลกใจ แต่ก็ต้องซื้อไปตามนั้น

พริกของคนอื่นเขาเก็บกัน ๒ - ๓ ครั้ง ก็หมดแล้วครั้งแรกมาก ครั้งที่สองได้มากหน่อย พอครั้งที่สาม เก็บได้อีกเพียงเล็กน้อยเป็นอันว่าหมดกัน ต้องถอนต้นพริกทิ้งแล้วปลูกกันใหม่ ส่วนพริกของตาแจ่มไม่เป็นอย่างนั้น ต้องลงมือเก็บกัน ๖ ครั้งถึงได้หมด พริกที่ได้แต่ละครั้งก็มีปริมาณเท่า ๆ กัน นี่ไอ้พริกใบหงุกหงิก ๆ นั้นแหละ เก็บกันซะ ๖ คราว ผลที่สุด พริกของตาแจ่มก็กลายเป็นของอัศจรรย์ แถมเจ๊กยังตีราคาให้สูงกว่า พริกของคนอื่นเสียอีก เพราะว่า "เมื่อส่งไปแล้วเป็นพริกที่มีค่า ทางโน้นเขาให้ราคาสูง" ปีนั้นจึงใช้หนี้สองหมื่นหลุดหมด แถมยังมีเงินเหลืออีกตั้งสองหมื่น"


( นี่เห็นไหม... ถ้าหากว่า ท่านภาวนาคาถาบทนี้อยู่เสมอ ท่านอาจจะรวยกว่านายแจ่มก็ได้นะ )

ต่อมามีผู้นำคาถา อนัตตา ไปปฏิบัติหลังจากที่หลวงพ่อแนะนำไปแล้ว เขาผู้นั้นได้เข้ามารายงานกับหลวงพ่อว่า
"หลวงพ่อครับ อนัตตา แจ๋วเลยครับ อัศจรรย์มาก ตอนบ่ายวันนี้ฟลุ๊คมาก ของที่ผมขายฝรั่งซื้อคนเดียว ๑,๖๐๐ บาท ไม่เคยมีปรากฏเลยครับ""

"อาจารย์ทำยังไงล่ะ.. อาจารย์ใช้แบบไหน จึงมีผลตามลำดับ... จะได้แจกจ่ายคนอื่นเขาบ้าง"


ผู้ถาม :  "อันดับแรกตักน้ำใส่แก้ว แล้วนำไปไว้หน้าพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชา แล้วชุมนุมเทวดาไหว้พระบูชาพระตามหลวงพ่อกล่าวนำ มีมนต์อะไรก็สวดไป ของผมสวดยาวหน่อย เมื่อสวดเสร็จแล้ว ก็อาราธนาบารมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย แล้วก็มาหลวงปู่ปาน แล้วมาหลวงพ่อ
เสร็จแล้วเช้าตื่นมาก็กราบแก้วน้ำ ๕ ครั้ง แล้วก็เอามาที่ห้องน้ำ แบ่งครึ่ง ครึ่งหนึ่งใส่ขันสำหรับล้างหน้า ก่อนจะแบ่งก็ตั้งจิตให้ดี ว่านะโม ๓ จบ แล้วก็ว่าคาถานี้อีกครั้งหนึ่ง เท่าที่ใช้ก็ใช้คาถา มหาปุญโญ มหาลาโภ ภวันตุ เม ฯ แล้วก็มาว่า คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อว่าเสร็จแล้วก็บอก "อนัตตา ขายเกลี้ยง"
อีกครึ่งหนึ่งเราแบ่งมาแล้วก็ว่า คาถาวิระทะโย ไป แล้วก็พรมตู้อะไรต่าง ๆ แล้วก็ลงท้าย "อนัตตา ขายเกลี้ยง ๆ ๆ" แม้แต่หน้าร้านก็พรมออกไปเลย ถ้าใครเดินมาถูกน้ำมนต์ปุ๊บอยู่ไม่ได้ ต้องมาซื้อ อันนี้ได้ผลดีครับ"
หลวงพ่อ :  "อ้าว.. จำได้ไหมล่ะ อันนี้ก็ดีมีประโยชน์นะ ควรจะนำไปใช้ทุก ๆ คนนะ ฉันบอกให้อาจารย์เขาไปทำ ท่านทำแล้วผลมันเกิดขึ้นทุกวัน"


ผู้ถาม :  "แล้วถ้าฟลุ๊คอะไรเป็นพิเศษละก้อ เวลาจุดธูปเทียนหรือพรมน้ำมนต์ มันจะมีขนลุกซู่ซ่า ถ้าซู่มากละ มาแน่"


หลวงพ่อ :  "อ้อ..กำลังปีติสูง ใช่ เพราะซู่ซ่านี่เจ้าของมาแสดงให้ปรากฏ ถ้านึกถึงท่านจริง ท่านเข้ามาช่วยจริงก็ถือว่าเป็นอาการของปีติ เมื่อสัมผัสแล้วทางจิตใจก็เกิดปีติ ความอิ่มใจเกิดขึ้น ขนลุกซู่ซ่ามาก การแสดงออกตามอาจารย์พูดน่ะถูก ถ้าหากว่าสัมผัสน้อยก็มีผลน้อยหน่อย แต่ก็ดีกว่าปกติ สัมผัสมากก็มีผลมากหน่อย ปัจจุบันทันด่วน อันนี้ถูกต้อง ถ้าทำขึ้น หนักจริง ๆ นะ ถ้าขายของเป็นน้ำหนัก น้ำหนักจะสูงขึ้น แล้วก็ไม่สูงแต่ของเรา เอาไปขายคนอื่นต่อก็สูง นี่เขาทำมาแล้วนะ คนที่ไทรย้อยแกขายข้าว ไปซื้อข้าวมาวันนี้ พรุ่งนี้จะเอาไปขึ้นโรงสี แกก็พรมน้ำมนต์ก่อน พอถึงบ้านก็พรมน้ำมนต์หน่อย พอขึ้นโรงสีปรากฏว่าน้ำหนักสูง

ถ้าหากว่าของที่เก็บไว้ในปี๊บในถุงในอะไรก็ตาม จะมีปริมาณสูง
เมื่อก่อนหลวงพ่อปานท่านบอก เอาข้าวใส่ยุ้งฉางให้เรียบร้อย ตวงให้ดี แล้วนับให้ดี ทำมาจนกว่าจะถึงฤดูออกมาใช้มาขาย แล้วตวง มันจะมากทุกคราว
จำเอาไว้นะ ถ้าปฏิบัติ ทุกคนจะไม่จน ฉันอยากให้ทุกคนรวย ฉันจะได้รวยด้วย พระแช่งให้ชาวบ้านจนก็ซวย พระไม่มีกินน่ะซิ"

จบ...





วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต




หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดภูจ้อก้อ ตำบลหนองสูงใต้ อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร
“พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าท่านพระอาจารย์มั่น”

     พระเดชพระคุณหลวงปู่หล้า เขตปตฺโต ท่านเป็นผู้มีนิสัยบากบั่น อุตสาหพยายามอย่างยิ่งยวดเพื่อหาทางพ้นทุกข์ บารมีธรรมคำสั่งสอนเป็นที่ซาบซึ้งถึงใจและหยั่งรากฝังลึกลงในหัวใจของมหาชน ท่านได้อบรมสั่งสอนบรรดาสานุศิษย์ด้วยเมตตาธรรม ดุจดังพ่อแม่อบรมสั่งสอนลูก

นับได้ว่าท่านเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของพระอาจารย์มั่นที่สำคัญยิ่งรูปหนึ่ง หลังจากท่านละสังขารไม่นาน อัฐิได้กลายเปลี่ยนเป็นพระธาตุ ได้รับคำชมและยกย่องจากหลวงตามหาบัวว่า “เป็นพระที่ซื่อสัตย์ต่อครูบาอาจารย์ เอาใจใส่ในอาจริยวัตรเสมอ แม้ถูกดุด่าก็อดทนต่อคำสั่งสอน ไม่เหนื่อยหน่ายต่อโอวาทธรรมที่ครูอาจารย์พร่ำสอน และเป็นดั่งผ้าเช็ดเท้าของท่านพระอาจารย์มั่น”

ท่านเป็นศิษย์รูปหนึ่งที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายอุปัฏฐากแด่ท่านพระอาจารย์มั่นอย่างใกล้ชิด มีภาระปฏิบัติหลายหน้าที่ อาทิ การสรงน้ำ การซักย้อมสบงจีวร การตามไฟถวายเมื่อองค์ท่านจงกรมในยามค่ำคืน การดูแลไปให้ความอบอุ่นในยามหนาวเย็น การชำระอุจจาระปัสสาวะเมื่อองค์ท่านอาพาธ ท่านจึงเป็นผู้หนึ่งที่ได้สังเกตศึกษาปฏิปทาและจริยาวัตรของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่นอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องตลอดเวลา ๔ ปีสุดท้ายแห่งชนม์ชีพของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

     ท่านเกิดวันจันทร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ตรงกับวันขึ้น ๓ ค่ำ ปีกุน ณ บ้านกุดสระ ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เป็นบุตรของนายคูณ และนางแพง เสวตร์วงศ์

อายุได้ ๑๘ ปี บวชเณร ณ วัดบัวบาน บ้านกุดสระ ตำบลกุดสระ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระอาจารย์หนู ติสฺสเถโร เป็นพระปัพพขาจารย์

อุปสมบทครั้งแรกเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๓ โดยมี พระอาจารย์หนู ติสฺสเถโร เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชได้ไม่นานก็ได้ลาสิกขาจากพระภิกษุ แม้จะไม่อยากลาเท่าใดนัก แต่หมู่เพื่อนพาคะนองก็ได้ลาไปตามเพื่อ ภายหลังท่านได้แต่งงาน ๒ ครั้ง มีบุตร ๑ คนกับภรรยาคนแรก และมีบุตร ๓ คนกับภรรยาคนต่อมา

อายุได้ ๓๒ ปี ได้กลับคืนสู่เพศพรหมจรรย์อีกครั้งในเดือนเมษายน พงศ. ๒๔๘๖ ณ วัดบ้านยาง โดยมี พระครูคูณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เสาร์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

บวชอยู่ได้ ๓ พรรษา โยมมารดาก็ถึงแก่กรรม ภายหลังฌาปนกิจศพมารดาก็ได้กราบลาอุปัชฌาย์จารย์ ไปศึกษาธรรมกับพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อไปถึงวัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี

วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๘ จึงได้ญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุต ณ วัดโพธิสมภรณ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมี พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูธรรมธร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น และตั้งสัจวาจาว่า “ขอมอบกายถวายชีวิตต่อท่านพระอาจารย์มั่น ผูกขาดทุกลมปราณ ตลอดทั้งคณะสงฆ์ในที่นี้ทุกๆ องค์ด้วย”
ท่านพระอาจารย์มั่น ได้กล่าวสอนสั้นๆ ว่า ณ “กรรมฐานสี่สิบห้องเป็นน้องอานาปานสติ อานาปานสติเป็นยอดมงกุฎของกรรมฐานทั้งหลาย”

ต่อจากนั้นหลวงตามหาบัว ซึ่งเป็นพระเถระที่ดูแลหมู่คณะ ในสมัยนั้นได้กล่าวเตือนว่า “เอาให้ดีนะ เมื่อคุณได้มอบกายถวายตัวกับองค์ท่านแบบแจบจมอย่างนี้แล้ว ต้องเข่นหนักนะ”

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ จำพรรษาที่วัดโคกกลอย ตำบลนากลาง อำเภอโคกกลอย จังหวัดพังงา กับหลวงปู่เทสก์ เทสฺรงฺสี

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔-๙๕ จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าตะโหนด อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา กับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖-๒๔๙๙ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านห้วยทราย อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร กับหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน

ปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ เป็นต้นมา ท่านได้อยู่จำพรรษาที่วัดกู้จ้อก้อ ต่อเนื่องมาจนถึงกาลเป็นที่สุดแห่งชนม์ชีพของท่าน

วันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ หลวงตามหาบัว ญาณฺสมฺปนฺโน ได้มาเยี่ยมอาการอาพาธของหลวงปู่หล้า ซึ่งคณะแพทย์ก็ได้กราบเรียนว่าไม่สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นอีกได้ หลวงตามหาบัวได้เมตตาให้คำแนะนำว่า เมื่อการรักษาไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้วก็ควรหยุดการรักษา ปล่อยให้ท่านอยู่กับธรรมชาติของท่าน ซึ่งหลวงปู่หล้าก็ได้ละสังขารไปเมื่อเวลา ๑๓.๕๙ น. ในวันนั้นเอง

วันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ทำการถวายเพลิงศพหลวงปู่หล้า เขมฺปตฺโต โดยมีหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน เป็นประธานพระเถรานุเถระและศิษยานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จากทั่วทุกสารทิศเดินทางมาร่วมในงานนี้อย่างเนืองแน่น
สิริอายุ ๘๔ ปี ๑๑ เดือน ๕๒ พรรษา