วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- พระพุทธรูปปางต่างๆ 2.


๓๖.ปางอุ้มบาตร   
   พระพุทธรูปปางอุ้มบาตร วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรราวสะเอวมีบาตรวางอยู่ที่ฝ่าพระหัตถ์ในท่าประคอง

ความเป็นมาของปางอุ้มบาตร 
   หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงเวสสันดรชาดกแล้ว พระประยูรญาติต่างถวายนมัสการทูลลากลับสู่พระราชสถาน แต่ไม่มีใครทูลนิมนต์พระพุทธองค์ให้รับภัตตาหารเช้าเลย โดยเข้าใจเอาเองว่า คงเสด็จไปเสวยภัตตาหารในพระราชนิเวศน์ ครั้นถึงรุ่งเช้า พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปางก่อนเมื่อเสด็จมาประทับ ณ พระนครของพุทธบิดา ได้เสด็จบิณฑบาตเพื่อโปรดมหาชน พระพุทธองค์จึงเสด็จออกบิณฑบาตตามพุทธประเพณี




๓๗.ปางโปรดพุทธบิดา   
   พระพุทธรูปปางโปรดพุทธบิดา วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าประคองบาตร พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางโปรดพุทธบิดา 
   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้าสุทโธทนะทรงเห็นว่าเป็นการเสื่อมเสียพระเกียรติของพระโอรสกษัตริย์ พระพุทธองค์ตรัสอธิบายว่าเป็นพุทธประเพณี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและที่จะมาตรัสรู้ในอนาคตต่างก็ดำรงชีพด้วยอาหารบิณฑบาต จากนั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาอริยวังสิกสูตรแก่พุทธบิดา ความว่า เป็นบรรพชิตไม่ควรประมาทในอาหาร ผู้ประพฤติสุจริตธรรม ย่อมประสบสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อจบพระธรรมเทศนา พุทธบิดาก็ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน และกราบทูลอาราธนา พระพุทธองค์พร้อมพระสงฆ์สาวกให้เสด็จไปรับอาหารบิณฑบาต ณ พระราชนิเวศน์ พระเจ้าสุทโธทนะ บรรลุอรหันผลในเวลาต่อมา





๓๘.ปางรับผลมะม่วง   
    พระพุทธรูปปางรับผลมะม่วง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาถือผลมะม่วง หงายหลังพระหัตถ์ไว้บนพระชานุ ( เข่า ) 

ความเป็นมาของปางรับผลมะม่วง 
    ณ กรุงราชคฤห์ มีเศรษฐีผู้หนึ่งนำบาตรไม้จันทร์แดงไปแขวนไว้สูง ๖๐ ศอก พร้อมประกาศว่า ถ้าพระอรหันต์มีจริง ขอให้แสดงฤทธิ์เหาะมาเอาบาตรนี้ไปเถิด หากพ้น ๗ วัน แล้วไม่มีผู้ใดกระทำได้ ตนจะถือว่ามิได้มีพระอรหันต์ในโลกพระปิณโฑลภารทวาชะได้เหาะไปนำบาตรมา มหาชนทั้งหลายอยากชมปาฏิหาริย์ จึงติดตามมาจนถึงพระเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุการณ์ จึงตรัสตำหนิพร้อมมีคำสั่งห้ามพระสาวกแสดงปาฏิหาริย์ พวกเดียรถีย์ประกาศว่าพวกตนจะแสดงปาฏิหาริย์ แข่งกับพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงทรงประกาศว่า จะทรงแสดงพระปาฏิหาริย์ ณ คัณฑามพฤกษ์ ( ต้นมะม่วง ) ณ กรุงสาวัตถี พวกเดียรถีย์ จ้างพวกนักเลงโค่นต้นมะม่วงจนหมดสิ้น เว้นแต่ที่ปลูกอยู่ในพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อ คัณฑะ ได้ถวายผลมะม่วงสุกผลหนึ่งแด่พระพุทธองค์ พระอานนท์ได้นำมะม่วงผลนั้นทำน้ำปานะถวาย 





๓๙.ปางแสดงยมกปาฏิหาริย์   
    พระพุทธรูปปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) บนบัลลังก์ ห้อยพระบาททั้งสองวางบนดอกบัวที่รองรับ พระชานุ ( เข่า ) ยกตั้งแบบประทับบนพระเก้าอี้ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) จีบนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางแสดงยมกปาฏิหาริย์ 
    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสวยน้ำปานะเสร็จ ทรงรับสั่งให้นายคัณฑะนำเม็ดมะม่วงไปปลูก เมื่อทรงล้างพระหัตถ์ลงบนปากหลุม เม็ดมะม่วงก็เจริญเติบโตออกผลเต็มต้นเป็นอัศจรรย์ ต้นมะม่วงนั้นมีชื่อว่า คัณฑามพฤกษ์ ตามชื่อของนายคัณฑะ พระพุทธองค์ทรงเนรมิตจงกรมแก้วในอากาศเหนือต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรมนั้น ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ( อ่านว่า ยะ - มะ - กะ - ปา - ติ - หาน ) หรือการทำปาฏิหาริย์ให้บังเกิดเป็นคู่ ๆ โดยวิธีต่าง ๆ คือ มีท่อน้ำและท่อไฟพุ่งมา จากส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายสลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกมานั้นมีฉัพพรรณรังสี คือ มี ๖ สีสลับกัน เมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก ทรงเนรมิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาอีกพระองค์หนึ่ง ทรงให้พุทธเนรมิตแสดงพระอาการสลับกันกับพระพุทธองค์ เมื่อพระพุทธองค์ทรงยืน พระพุทธเนรมิตก็เสด็จจงกรม เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม พระพุทธเนรมิตก็ทรงยืน เมื่อทรงตั้งปัญหาถามพระพุทธเนรมิตก็ตรัสวิสัชนาแก้ สลับกันไป พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์สลับกับการแสดงพระธรรมเทศนา พุทธบริษัททั้งหลายเกิดความเลื่อมใสและได้บรรลุธรรมเป็นจำนวนมาก








๔๐.ปางโปรดพุทธมารดา
     พระพุทธรูปปางโปรดพุทธมารดา วัดพระปมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) บางแบบวางบนพระชานุ ( เข่า ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางโปรดพุทธมารดา
   หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเวลา ๓ เดือน เพื่อแสดงพระธรรมเทศนาโปรดพุทธมารดาซึ่งไปบังเกิดเป็นเทพบุตร ณ สวรรค์ชั้นดุสิต เพื่อตอบแทนพระคุณ ท้าวสักกเทวราชมีความปิติยินดี รีบป่าวประกาศแก่เทวดาทั้งหลายให้มาฟังพระธรรมเทศนา ในที่สุดพุทธมารดาได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน





๔๑.ปางเปิดโลก   
   พระพุทธรูปปางเปิดโลก วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงเปิดโลกบางแบบยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองขึ้น 

ความเป็นมาของปางเปิดโลก 
   เมื่อครบกำหนด ๓ เดือน ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระพุทธองค์ทรงทำโลกวิวรณปาฏิหาริย์ คือ ทรงเปิดโลกทั้ง ๓ อันได้แก่ เทวโลก ยมโลก และมนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์สู่สังกัสสนคร ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑







๔๒.ปางเสด็จลงจากดาวดึงส์   
   พระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) จีบนิ้วพระหัตถ์ทั้งสอง เป็นกิริยาทรงแสดงธรรม

ความเป็นมาของปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ 
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยบันไดแก้วมณีที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตน้อมถวาย โดยมีเหล่าพรหมและเทวดาจำนวนมากส่งเสด็จและยังมีปัญจสิขเทพบุตรทรงพิณ ขับร้องด้วยเสียงอันไพเราะ มาตลีเทพบุตรถือของหอมและดอกไม้ทิพย์โปรยปรายในระหว่างทาง พระพุทธองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา จึงมีประเพณีตักบาตรเทโว เพื่อรับเสด็จพระพุทธองค์ในวันออกพรรษาสืบมาจนถึงปัจจุบัน







๔๓.ปางลีลา   
    พระพุทธรูปปางลีลา วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกส้นพระบาทขวาสูงขึ้นจากพื้น ปลายพระบาทยังจรดอยู่กับพื้น ( อยู่ในพระอิริยาบถเสด็จพุทธดำเนิน ) พระหัตถ์ขวาห้อยอยู่ในท่าไกว พระหัตถ์ซ้าย ( บางตำนานว่าพระหัตถ์ขวา ) ยกเสมอพระอุระ ( อก ) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ป้องไปเบื้องหน้า บางแบบจีบนิ้วพระหัตถ์

ความเป็นมาของปางลีลา 
    เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พร้อมด้วยเหล่าเทวดาและพรหมที่ตามมาส่งเสด็จนั้น ขบวนตามเสด็จมาหยุด ณ ประตูสังกัสสนคร เมืองที่พระสารีบุตรจำพรรษาอยู่ พระพุทธองค์ทรงมีพุทธลีลาและพระสิริงดงามยิ่ง ครอบงำรัศมีของเหล่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย เป็นภาพที่งดงามเหนือคำบรรยาย เป็นที่ชื่นชมโสมนัสแก่พุทธบริษัทที่เฝ้ารับเสด็จ






๔๔.ปางห้ามแก่นจันทร์   
    พระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทร์ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ขวาลงข้างพระวรกาย ฝ่าพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) และยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม

ความเป็นมาของปางห้ามแก่นจันทร์ 
    เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้น มีตำนานกล่าวว่า พระเจ้าปเสนทิโกศล กษัตริย์แห่งนครสาวัตถีทรงลำลึกถึงพระพุทธองค์มาก ด้วยความเคารพรักและศรัทธาจึงสั่งให้ช่างหลวงทำพระพุทธรูปลักษณะคล้ายองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยไม้แก่จันทร์หอมอย่างดี ประดิษฐานไว้ในพระราชนิเวศน์เพื่อสักการะบูชา พระไม้แก่นจันทร์องค์นี้ถือว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกในพระพุทธศาสนา






๔๕.ปางพระอิริยาบถยืน   
   พระพุทธรูปปางพระอิริยาบถยืน วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ห้อยพระหัตถ์ทั้งสองข้างลงชิดพระวรกาย ลืมเนตรทอดตรงไปข้างหน้า เป็นกิริยาตรวจความพร้อมเพรียงและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพระสงฆ์สาวก

ความเป็นมาของปางพระอิริยาบถยืน 
   ในยามเช้าของทุก ๆ วัน ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จออกโปรดสัตว์จะทรงหยุดยืน ณ หน้ามุขพระคันธกุฏิเสมอ เพื่อทอดพระเนตรความพร้อมเพรียงของหมู่สงฆ์ ครั้นทรงเห็นว่าพระสงฆ์สาวกมีความพร้อมเพรียงและเป็นระเบียบดีแล้ว จึงเสด็จเป็นประธานนำหมู่สงฆ์ออกบิณฑบาต หรือไปในที่ที่ได้รับนิมนต์ไว้ นับเป็นพุทธจริยวัตรที่แสดงถึงพระเมตตาและพระกรุณายิ่งแก่พระสงฆ์ สาวก และทรงเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำหมู่คณะ







๔๖.ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท   
   พระพุทธรูปปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองวางอยู่ที่พระเพลา ( ตัก ) บางแบบประสานพระหัตถ์วางที่พระเพลา พระบาทซ้ายทรงเหยียบหลังพระบาทขวา เป็นกิริยากดพระบาท

ความเป็นมาของปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาท 
   ปางประดิษฐานรอยพระพุทธบาทนั้น เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ ๓ เหตุการณ์ ดังนี้ คือ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเขาสัจพันธ์ ทรงหยุดบุษบกอยู่บนอากาศ เพื่อทรมานสัจพันธ์ฤาษีให้ละมิจฉาทิฐิ จนได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ แล้วขึ้นบุษบกตามเสด็จไปยังสถานที่ที่ทรงรับนิมนต์ไว้ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทำภัตกิจเสร็จ พญานาคราชทูลขอให้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ริมฝั่งนัมทามหานที ครั้งที่ ๒ เมื่อเสด็จกลับถึงเขาสัจพันธ์ ได้ตรัสสั่งพระสัจพันธ์ให้พักอยู่ที่เขาแห่งนี้ เพื่อปลดเปลื้องผู้ที่พระสัจพันธ์เคยสอนลัทธิผิด ๆ ไว้ ให้พ้นจากมิจฉาทิฐิ พระพุทธองค์ได้ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หลังหิน ตามที่พระสัจพันธ์ทูลขอไว้ และครั้งที่ ๓ ในพระนครโกสัมพี มีพราหมณ์ชื่อว่า มาคันทิยะ มีธิดาสาวสวยชื่อ มาคันทิยา มาคันทิยะได้เห็นพระพุทธองค์ซึ่งงามพร้อมด้วยมหาบุรุษลักษณะทุกประการ จึงนำลูกสาวมาถวาย พระพุทธองค์ได้ทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาให้ปรากฏยังพื้นดิน แล้วเสด็จจากไปประทับอยู่ในบริเวณนั้น พราหมณีภรรยามาคันทิยพราหมณ์เห็นรอยพระพุทธบาทแล้วทราบทันทีว่า รอยเท้าเช่นนี้เป็นรอยเท้าของคนสละกามได้แล้ว ต่อมาทรงแสดงธรรมโปรดพราหมณ์ทั้งสองจนได้เป็นพระอนาคามี








๔๗.ปางสรงน้ำฝน  
   พระพุทธรูปปางสรงน้ำฝน วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ทรงห่มผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) เฉลียงพระอังสา ( บ่า ) พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นลูบที่พระอุระ ( อก ) เป็นกิริยาสรงน้ำฝน

ความเป็นมาของปางสรงน้ำฝน 
   สมัยหนึ่งนครสาวัตถีเกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค มหาชนทั้งหลายต่างพร้อมใจกันมากราบทูลอาราธนาให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกสรงน้ำฝน ณ กลางแจ้งด้วยเชื่อในพุทธปาฏิหาริย์และพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะอนุเคราะห์มหาชน จึงทรงผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) แล้วเสด็จออไปยืน ณ กลางแจ้ง แล้วทรงทอดพระเนตรแลดูทิศทั้งหลาย ด้วยพุทธานุภาพ ทันใดนั้นมหาเมฆก็บังเกิดขึ้นเป็นอัศจรรย์ เกิดเสียงฟ้าร้องคำรามสายฟ้าแลบแปลบปลาบ พลันฝนก็ตกลงมาอย่างมากมาย ยังผลให้พระพุทธองค์สรงน้ำฝนกลางแจ้งได้สมพระประสงค์ มหาชนทั้งหลายได้อาบและดื่มกินอย่างสุขสำราญทั่วกัน





๔๘.ปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( นั่ง )   
    พระพุทธรูปปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( นั่ง ) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ ผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แบพระหัตถ์ซ้ายวางอยู่บนพระชานุ ( เข่า ) บางแบบวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) 

ความเป็นมาของปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( นั่ง ) 
    หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ประมาณ ๕๐๐ ปี กษัตริย์เมืองคันธาระ พระนามว่า พระเจ้ามิลินท์ ได้โต้ตอบปัญหาธรรมะกับพระนาคเสนพุทธสาวกผู้เป็นพระอรหันต์ ทรงเลื่อมใสที่พระนาคเสนตอบข้อสงสัยในพระพุทธศาสนาของพระองค์ได้ทุกแง่ทุกมุม พระเจ้ามิลินท์จึงทรงได้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่นับถือสูงสุดในชีวิต และรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปขึ้นบูชาในเมืองคันธาระ







๔๙.ปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( ยืน )   
    พระพุทธรูปปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( ยืน ) วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ทรงผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเป็นกิริยากวัก แสดงอาการขอฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองรับน้ำฝน

ความเป็นมาของปางคันธารราฐหรือปางขอฝน ( ยืน ) 
    สมัยหนึ่งนครสาวัตถี แคว้นโกศล เกิดความแห้งแล้ง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล พืชผลได้รับความเสียหาย ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค สระโบกขรณี ( สระบัว ) ภายในพระเชตวันมหาวิหารก็แห้งขอดติดก้นสระ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะอนุเคราะห์แก่มหาชน พระพุทธองค์ทรงผ้าวัสสิกสาฎก ( ผ้าอาบน้ำฝน ) แล้วเสด็จไปประทับ ณ บันไดสระ ยกพระหัตถ์ขวาขึ้นกวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายรองรับน้ำฝน ทันใดนั้นบังเกิดมหาเมฆตั้งเค้าขึ้นพร้อมกัน ในทุกทิศานุทิศ ด้วยพุทธานุภาพและพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฝนได้ตกลงมาเป็นอัศจรรย์ 





๕๐.ปางชี้อสุภะ   
   พระพุทธรูปปางชี้อสุภะ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถสบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) ชี้นิ้วพระหัตถ์ตรงไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางชี้อสุภะ 
   ในกรุงราชคฤห์ มีหญิงนครโสเภณีชั้นสูงชื่อนางสิริมา นางมีความงามมาก ใครปรารถนาจะได้ร่วมอภิรมย์กับนางจะต้องจ่ายทรัพย์ถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ ต่อ ๑ คืน นางถึงแก่กรรมด้วยโรคปัจจุบัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับสั่งให้ระงับการเผาศพนางสิริมาไว้สามวัน แล้วจึงเสด็จไปทอดพระเนตรศพนางสิริมา พร้อมด้วยพุทธบริษัทเป็นจำนวนมาก ทรงมีพระดำรัสให้พระเจ้าพิมพิสาร ขายทอดตลาดศพนางสิริมา ในราคา ๑,๐๐๐ กหาปณะ และลดราคาลงมาตามลำดับ ก็ไม่มีใครซื้อ จนยกให้เปล่า ๆ ก็ไม่มีผู้ใดยอมรับ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร ยังผลให้มหาชนบรรลุอริยมรรค อริยผลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งภิกษุหนุ่มผุ้หนึ่งซึ่งเคยลุ่มหลงในความงามของนางสิริมาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน






๕๑.ปางชี้มาร   
   พระพุทธรูปปางชี้มาร วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระพักตร์ ชี้นิ้วไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางชี้มาร 
   พระโคถิกเถระ ปฏิบัติธรรมจนสำเร็จอรหันต์ผล เป็นพระอรหันต์ มารคิดว่าวิญญาณของท่านเพิ่งออกจากร่าง จึงแฝงกายเข้าไปในก้อนเมฆ เที่ยวตามหาวิญญาณของท่าน แต่ไม่พบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกพระหัตถ์ชี้มารให้ภิกษุทั้งหลายดูและตรัสบอกภิกษุว่า "มารผู้มีใจบาปกำลังแสวงหาวิญญาณพระโคธิกะอยู่ แต่ไม่มีวิญญาณของพระเถระในที่นั้น ด้วยเธอได้นิพพานไปแล้ว" เมื่อมารค้นหาวิญญาณของพระโคธิกเถระไม่พบ จึงแปลงเพศเป็นมาณพน้อยเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ มารทูลถามว่า พระโคธิกะอยู่ที่ใด เมื่อพระพุทธองค์ตรัสตอบว่า พระโคธิกะนิพพานแล้ว มารตกตะลึงด้วยคาดไม่ถึง อันตรธานหายวับไปทันที พระพุทธองค์ตรัสว่า "ผู้มีศีลบริสุทธิ์ อยู่ด้วยความไม่ประมาทย่อมถึงวิมุตติ เพราะฌานหยั่งรู้ชอบแล้ว มารจะไม่ประสบพบทางชองท่านได้เลย"








๕๒.ปางปฐมบัญญัติ   
   พระพุทธรูปปางปฐมบัญญัติ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ยกฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองข้างตะแคงยื่นออกไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางปฐมบัญญัติ 
   ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นครเวสาลี สุทินกลันทบุตร ได้ฟังพระธรรมเทศนา บังเกิดความเลื่อมใสทูลขอบรรพชาอุปสมบท แต่บิดามารดาอยากให้สึกมาดูแลสมบัติของตระกูล พระสุทินยังยินดีในพรหมจรรย์ บิดาจึงขอทายาทเพราะหากไม่มีผู้สืบสกุล ทรัพย์สินจะถูกยึดตามธรรมเนียม พระสุทินจึงได้ร่วมประเวณีกับภรรยาเก่าตามคำขอร้องและได้บุตรชายคนหนึ่ง ต่อมาท่านรู้สึกไม่สบายใจจึงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายทราบ ความทราบถึงพระพุทธองค์ ทรงติเตียนพระสุทิน ที่ทำกรรมที่ไม่สมควรอย่างยิ่งแก่สมณะ จึงบัญญัติสิกขาบทว่า "ภิกษุเสพเมถุนต้องขาดจากความเป็นภิกษุทันที" นับเป็นปฐมบัญญัติ คือ ข้อแรกในพระวินัยของพระภิกษุ การประพฤติของพระสุทินสมัยนั้นถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นภิกษุ พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาผิด เพราะยังมิได้มีสิกขาบทห้ามไว้ แต่ถ้าภิกษุใดทำเช่นนี้อีก ถือว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที 







๕๓.ปางขับพระวักกลิ   
    พระพุทธรูปปางขับพระวักกลิ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาตะแคงอยู่บริเวณพระนาภี ( สะดือ ) บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) แสดงกิริยาทรงโบกพระหัตถ์ขับไล่ให้ออกไป

ความเป็นมาของปางขับพระวักกลิ 
    กุลบุตรจากตระกูลพราหมณ์นามวักกลิ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดเลื่อมใสในพุทธจริยวัตรและพึงพอใจในพระสรีระของพระองค์ จึงออกบวชเพราะต้องการจะชมพระบารมีของพระพุทธองค์อย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามพระพุทธองค์ไปทุกแห่ง เมื่อบวชก็ไม่ได้ใส่ใจปฏิบัติและศึกษาพระธรรมวินัย พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทว่า "ดูก่อนพระวักกลิ เธอมัวติดตามดูร่างกายอันต้องเปลือยเน่านี้ด้วยเหตุอันใด ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นจึงเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมเห็นธรรม" แต่พระวักกลิยังคงปฏิบัติเช่นเดิม ในที่สุดพระพุทธองค์ก็ทรงขับไล่พระวักกลิ ทำให้พระวักกลิน้อยใจจนคิดฆ่าตัวตาย พระพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณจึงทรงแสดงปาฏิหาริย์ให้พระรูปของพระองค์ไปปรากฎอยู่เฉพาะหน้าของพระวักกลิ และตรัสเทศนาธรรมโปรด พระวักกลิปลื้มปีติอย่างยิ่ง และพิจารณาธรรมไปตามลำดับจนได้บรรลุอรหันผล พระวักกลิได้รับการสรรเสริญจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศในด้านศรัทธาวิมุตติ คือเป็นผู้พ้นจากกิเลสด้วยศรัทธา 





๕๔.ปางสนเข็ม   
    พระพุทธรูปปางสนเข็ม วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรุปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองข้างยกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในพระอิริยาบถจับเข็ม พระหัตถ์ขวาจับเส้นด้าย เป็นกิริยาสนเข็ม

ความเป็นมาของปางสนเข็ม 
    ครั้งหนึ่งพระจีวรของพระอนุรุทธเถระเก่ามาก ท่านจึงแสวงหาผ้าบังสุกุลเพื่อมาทำจีวร พระเถระพบผ้า ๓ ผืนที่กองหยากเยื่อจึงเก็บมา ในสมัยโบราณการทำจีวรต้องตัดเย็บและย้อมเอง พระสงฆ์ทั้งหลายจึงมาช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงแบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงช่วยร้อยด้ายเข้าในบ่วงเข็ม ( สนเข็ม ) เมื่อพระรูปใดด้ายหมดก็ส่งเข็มถวาย พระพุทธองค์ก็ทรงสนเข็มประทาน จนการเย็บจีวรสำเร็จเรียบร้อยด้วยดี






๕๕.ปางประทานพร ( นั่ง )   
   พระพุทธรูปปางประทานพร ( นั่ง ) วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) แบฝ่าพระหัตถ์ขวายื่นออกไปวางที่พระชานุ ( เข่า )

ความเป็นมาของปางประทานพร ( นั่ง ) 
   เมื่อครั้งพระอานนท์ถูกสงฆ์เลือกให้ทำหน้าที่เป็นพระอุปัฏฐาก ท่านได้ขอพร ๘ ประการ จากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร ๔ ข้อแรก ได้แก่ ไม่ประทานจีวรอันประณีตแก่ท่าน ไม่ประทานบิณฑบาตอันประณีตที่พระองค์ได้มาแก่ท่าน ไม่ประทานให้ท่านอยู่คันธกุฏิเดียวกับพระพุทธองค์ และไม่ทรงพาท่านไปในที่นิมนต์ ส่วน ๔ ข้อหลังได้แก่ ขอให้พระพุทธองค์ไปในที่นิมนต์ที่ท่านรับไว้ ถ้าท่านนำพุทธบริษัทมาจากแดนไกลขอให้ได้เข้าเฝ้าทันที ถ้าท่านมีความสงสัยขอให้ถามท่านได้ทันที และข้อสุดท้ายคือ ถ้าพระพุทธองค์ทรงไปแสดงพระธรรมที่ไหน ถ้าท่านไม่ได้ฟัง ขอให้แสดงแก่ท่านอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันคำครหาว่าท่านอุปัฏฐากแล้วไม่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากพระพุทธองค์เลยพระพุทธองค์ได้ประทานพรทั้ง ๘ ประการ แก่พระอานนท์





๕๖.ปางประทานพร ( ยืน)   
   พระพุทธรูปปางประทานพร ( ยืน) วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ขวาเสมอพระอุระ ( อก ) แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ซ้ายห้อยลง แบฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า บางแบบยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้น ห้อยพระหัตถ์ขวา

ความเป็นมาของปางประทานพร ( ยืน) 
   มหาอุบาสิกาวิสาขา บุตรีของธนัญชัยเศรษฐี เป็นหญิงที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นเบญจกัลยาณี ได้แก่ มีผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม นางมีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และเป็นพระโสดาบันบุคคลตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ในช่วงฤดูฝนในพรรษาหนึ่ง นางวิสาขาไให้นางทาสีของนางมานิมนต์พระภิกษุ พอดีฝนตก พระภิกษุเปลือยกายอาบน้ำฝนอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร นางทาสีเข้าใจว่าเป็นนักบวชลัทธิชีเปลือย จึงกลับไปบอกนางวิสาขา หลังจากถวายภัตตาหารและพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว นางวิสาขาจึงกราบทูลขอประทานพรจากพระพุทธองค์เพื่อถวายสิ่งของต่าง ๆ แก่ภิกษุ ภิกษุณี ได้แก่ 
( ๑ ) ผ้าอาบน้ำฝน 
( ๒ ) อาหารสำหรับภิกษุอาคันตุกะ 
( ๓ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้เตรียมจะไป 
( ๔ ) อาหารสำหรับภิกษุป่วยไข้ 
( ๕ ) อาหารสำหรับภิกษุผู้พยาบาลภิกษุ 
( ๖ ) ยาสำหรับภิกษุผู้ป่วยไข้ 
( ๗ ) ขอให้ได้ถวายข้าวยาคู 
( ๘ ) ผ้าอาบน้ำสำหรับภิกษุณี 
พระพุทธองค์ทรงประทานพรทั้ง ๘ ข้อแก่นางวิสาขา 






๕๗.ปางประทานธรรม   
   พระพุทธรูปปางประทานธรรม วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายจับด้ามพัด พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ ( เข่า ) 

ความเป็นมาของปางประทานธรรม 
   ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ว่าพระพุทธองคทรงประกอบด้วยทศพลญาณ ๑๐ เวสารัชญาณ ๔ จึงได้ปฏิญาณฐานะของผู้องอาจและทรงประทานธรรมเรื่องเบญจขันธ์ ( รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ) และปฏิจจสมุปบาท ( การที่ทุกข์เกิดเพราะอาศัยปัจจัยต่อเนื่องกันมา ) แก่เทวดาและมนุษย์





๕๘.ปางประทานอภัย ( นั่ง )   
    พระพุทธรูปปางประทานอภัย ( นั่ง ) วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ ยกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองเบนไปข้างหน้าเล็กน้อย บางแบบเป็นพระอิริยาบถยืน

ความเป็นมาของปางประทานอภัย ( นั่ง ) 
    พระเจ้าอชาตศรัตรู พระราชโอรสของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ถูกพระเทวทัตยุยงให้ปลงพระชนม์พระราชบิดา แล้วขึ้นครองราชแทน พระเจ้าอชาตศัตรูยังทรงช่วยสนับสนุนพระเทวทัตส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ไม่สำเร็จ ภายหลังสำนึกตัว จึงเสด็จมาสารภาพความผิดของตนและขอพระราชทานอภัยโทษกับพระพุทธองค์ ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด หันมาทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงให้ความอุปถัมภ์ในการทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ ๑






๕๙.ปางโปรดพญาช้างนาฬาคิรี   
    พระพุทธรูปปางโปรดพญาช้างนาฬาคิรี วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวาคว่ำลงยื่นไปข้างหน้าเสมอพระนาภี ( สะดือ ) เป็นกิริยา ทรงลูบกระพองศรีษะพญาช้างนาฬาคิรีที่เข้ามาหมอบเฝ้าอยู่แทบพระบาท

ความเป็นมาของปางโปรดพญาช้างนาฬาคิรี 
    พระเทวทัตคิดประทุษร้ายต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ ครั้งแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ในครั้งที่ ๓ พระเทวทัตได้ติดสินบนแก่ควาญช้างเพื่อมอมเหล้าพญาช้างนาฬาคิรีจนเกิดความคลุ้มคลั่ง แล้วปล่อยให้ไปทำร้ายพระพุทธองค์ ขณะเสด็จพุทธดำเนินบิณฑบาตโปรดสัตว์ ขณะที่พญาช้างส่งเสียกึกก้องโกญจนาท วิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น พระอานนท์วิ่งออกมาขวางหมายน้อมถวายชีวิต พระพุทธองค์จึงทรงใช้พุทธปาฏิหาริย์บันดาลให้พญาช้างวิ่งไปทางอื่น แล้วทรงแผ่เมตตาจนช้างได้สติ ทรุดกายลงยกงวงขึ้นถวายอภิวาท พระพุทธองค์ทรงยกพระหัตถ์ขวาลูบกระพองศรีษะและทรงประทานโอวาทแก่พญาช้างให้หยุดกระทำปาณาติบาต ละเลิกความโกรธ ไม่คิดเบียดเบียนอีกต่อไป






๖๐.ปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง   
   พระพุทธรูปปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง วัดหน้าพระเมรุราชิการาม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ ( เข่า ) ทรงเครื่องต้นอย่างพระมหากษัตริย์

ความเป็นมาของปางโปรดพญาชมพูบดีหรือปางทรงเครื่อง 
  พญาชมพูบดีผู้มีฤทธิ์เดชมาก มีความริษยาพระเจ้าพิมพิสาร เพราะทรงมีปราสาทงดงามกว่าปราสาทของพระองค์ จึงมารุกรานข่มเหง จนพระเจ้าพิมพิสารต้องหนีไปพึ่งพระบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระองค์เองเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่งดงามดุจท้าวมหาพรหม และรับสั่งให้ท้าวสักกเทวราชแปลงเป็นราชทูตไปทูลเชิญพญาชมพูบดีมา พญาชมพูบดีตกตะลึงในความงดงามและความยิ่งใหญ่แห่งพระนครของพระราชาธิราช พระพุทธองค์ทรงให้โอกาสพญาชมพูบดีแสดงอิทธิฤทธิ์ แต่ก็พ่ายต่อพระพุทธองค์ จึงทรงบันดาลให้ทุกสิ่งกลับคืนสู่สภาพเดิมและทรงแสดงธรรมโปรด จนพญาชมพูบดีเบื่อหน่ายในราชสมบัติอันไม่ยั่งยืน ทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาแก่พญาชมพูบดี






๖๑.ปางปาลิไลยก์   
   พระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) บนก้อนศิลา พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายขวาวางคว่ำบนพระชานุ ( เข่า ) พระหัตถ์ขวาวางหงายบนพระชานุนิยมสร้างช้างหมอบใช้งวงจับกระบอกน้ำ อีกด้านหนึ่งมีลิงถือรวงผึ้งถวาย

ความเป็นมาของปางปาลิไลยก์ 
   ครั้งหนึ่งพระภิกษุในวัดโฆสิตาราม กรุงโกสัมพี ทะเลาะวิวาทกัน ประพฤติตนเป็นผู้ว่านอนสอนยาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงระอาพระทัยจึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่ในป่าแถบหมู่บ้านปาลิเลยยกะ โดยมีพญาช้าปาลิเลยยกะและลิงตัวหนึ่งเป็นอุปัฏฐาก ครั้นออกพรรษา พระอานนท์พร้อมด้วยคณะพระภิกษุได้มากราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร หลังจากพระพุทธองค์เสด็จกลับ พญาช้างเสียใจล้มลงขาดใจตาย บรรดาพระภิกษุผู้ว่ายากเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จกลับมายังพระเชตวันมหาวิหาร ก็รีบเดินทางมาเข้าเฝ้าเพื่อแสดงความสำนึกผิด 






๖๒.ปางแสดงโอฬาริกนิมิต   
   พระพุทธรูปปางแสดงโอฬาริกนิมิต วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเหนือพระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ( เข่า )

ความเป็นมาของปางแสดงโอฬาริกนิมิต 
   ในวันเพ็ญเดือน ๓ ( วันมาฆบูชา ) พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่ปาวาลเจดีย์ ทรงแสดงโอฬาริกนิมิต คือ ตรัสให้พระอานนท์ทราบว่าผู้ใดเจริญอิทธิบาทภาวนา หรือ อิทธิบาท ๔ ได้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้นย่อมสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ถึงกัปหนึ่งหรือเกินกว่าได้ตามประสงค์ แม้พระพุทธองค์ได้ตรัสแสดงนิมิตถึง ๓ หน แต่พระอานนท์ก็มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปเพราะถูกมารดลใจ พระพุทธองค์ทรงเคยแสดงนิมิตทำนองนี้ในสถานที่ต่าง ๆ ถึง ๑๖ ครั้ง ( อิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา )






๖๓.ปางโปรดอสุรินทราหู   
    พระพุทธรูปปางโปรดอสุรินทราหู วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถนอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายแนบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย ( หมอน ) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ ( รักแร้ )

ความเป็นมาของปางโปรดอสุรินทราหู 
    อสุรินทราหู อุปราชของท้าวเวปจิตติอสุรบดินทร์ผู้ครองอสูรพิภพ ได้สดับพระเกียรติคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากเหล่าเทวดาทั้งหลาย จึงมีความประสงค์จะฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แต่คิดว่าพระพุทธองค์เป็นมนุษย์มีพระวรกายเล็ก ตนมีร่างกายใหญ่หากไปเฝ้าก็จะต้องก้มลงมองด้วยความลำบาก วันหนึ่งตัดสินใจไปเข้าเฝ้า พระพุทธองค์ทรงเนรมิตพระวรกายให้ใหญ่กว่าขุนเขาและเสด็จสีหไสยาสน์ พระเศียรหนุนภูเขาต่างพระเขนย แม้พระบาททั้งสองข้างที่วางซ้อนกันอยู่ก็ยังสูงใหญ่กว่าอสุรินทราหู อสุรินทราหูต้องแหงนคอตั้งบ่าเพื่อชมพุทธลักษณะ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์พาอสุรินทราหูขึ้นไปยังพรหมโลก บรรดาพรหมทั้งหลายมีร่างกายเล็กกว่าพระพุทธองค์และต่างมองอสุรินทราหูเหมือนประหนึ่งมนุษย์จ้องมองมดปลวกตัวเล็กๆ อสุรินทราหูบังเกิดความกลัวต้องหลบอยู่หลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง






๖๔.ปางโปรดอาฬวกยักษ์ 
    พระพุทธรูปปางโปรดอาฬวกยักษ์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาทรงแสดงธรรม บางแบบพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ ( เข่า ) 

ความเป็นมาของปางโปรดอาฬวกยักษ์
    ครั้งหนึ่งเจ้าผู้ครองนครอาฬวี ชอบล่าสัตว์เป็นกิจวัตร วันหนึ่งพลัดหลงเข้าไปพักใต้ต้นไทรซึ่งเป็นเขตหวงห้ามของอาฬวกยักษ์ ถูกยักษ์จับไว้เพื่อกินเป็นอาหาร จึงขอให้ปล่อยตัวกลับและสัญญาจะส่งคนมาให้กินวันละหนึ่งคน เมื่อนักโทษหมดก็ส่งเด็กให้วันละคน ต่อมาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงได้เสด็จไปยังที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ แล้วแสดงธรรมโปรดจนอาฬวกยักษ์ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน






๖๕.ปางโปรดองคุลิมาลโจร   
   พระพุทธรูปปางโปรดองคุลิมาลโจร วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) นิ้วพระหัตถ์ตั้งตรง หันฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย

ความเป็นมาของปางโปรดองคุลิมาลโจร 
  อหิงสกกุมารบุตรพราหมณ์ปุโรหิตแห่งสาวัตถี ได้ศึกษาสรรพวิชาอยู่ ณ สำนักทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลา ผู้เป็นอาจารย์ถูกยุยงว่า อหิงสกะหมายล้มล้างตน จึงหาทางกำจัดโดยยืมมือผู้อื่นฆ่า และบอกว่าจะสอน "วิษณุมนต์" ให้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องหานิ้วมือมนุษย์จำนวนหนึ่งพันนิ้วจากหนึ่งพันคนมาบูชาครู พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณว่า อหิงสกะ หรือ องคุลีมาลโจรหรือจอมโจรผู้มีนิ้วมือเป็นมาลัย กำลังจะทำกรรมหนัก เพราะกำลังจะฆ่ามารดาจึงเสด็จไปขวางทาง องคุลีมาลโจรตะโกนว่า "หยุดก่อนสมณะ" พระพุทธองค์ทรงรับสั่งว่า "เราหยุดแล้ว แต่ท่านนั่นแหละยังไม่หยุด" พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจนองคุลีมาลทูลขอบรรพชา พระพุทธองค์จึงทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้องคุลีมาลได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหัต์ในกาลต่อมา





๖๖.ปางโปรดพกาพรหม์   
   พระพุทธรูปปางโปรดพกาพรหม วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืนบนเศียรพกาพรหมซึ่งประทับบนหลังโคอุสุภราช พระหัตถ์ทั้งสองวางทาบบนพระเพลา ( ตัก ) บางแบบพระหัตถ์ประสานกันอยู่ระหว่างพระเพลา พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ

ความเป็นมาของปางโปรดพกาพรหม 
   ท้าวพกาพรหมมีความเห็นว่าสิ่งทั้งหลายเป็นของเที่ยงแท้ไม่แปรผัน ซึ่งขัดต่อคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ว่าสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง เป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พระพุทธองค์โปรดให้ท้าวพกาพรหมแสดงฤทธิ์โดยให้ไปซ่อนตัว แต่ไปซ่อนที่ใด พระพุทธองค์ก็ทรงทราบ ต่อมาพระพุทธองค์ทรงทำปาฏิหาริย์อันตรธารหายไป และทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้ได้ยินแต่พระสุรเสียง และทรงตรัสว่ากำลังเดินจงกรมอยู่บนเศียรของท้าพกาพรหม ท้าวพกาพรหมหมดทิฐิมานะ จึงตั้งใจฟังธรรมเทศนาจนได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบัน 





๖๗.ปางพิจารณาชราธรรม   
   พระพุทธรูปปางพิจารณาชราธรรม วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบทประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางคว่ำอยู่บนพระชานุ(เข่า) ทั้งสองข้าง

ความเป็นมาของปางพิจารณาชราธรรม 
   วันหนึ่งในพรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้ายแห่งพระชนมายุ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปราศรัยเรื่องชราธรรมกับพระอานนท์ว่า "ดูก่อนอานนท์ บัดนี้เราชราภาพล่วงกาลผ่านวัยจนพระชนมายุล่วงเข้า ๘๐ ปีแล้ว กายของตถาคตทรุดโทรมเสมือนเกวียนชำรุดที่ต้องซ่อม ต้องมัดกระหนาบให้อยู่ด้วยไม้ไผ่ อันมิใช่สัมภาระแห่งเกวียนนั้น ดูก่อนอานนท์ เมื่อใดตถาคตเข้าอนิมิตเจโตสมาธิ ตั้งจิตสงบมั่น คือ ไม่ไห้มีนิมิตใดๆ เพราะไม่ทำนิมิตทั้งหลายไว้ในใจ ดับเวทนาบางเหล่าเสียและหยุดยั้งอยู่ด้วยอนิมิตสมาธิ เมื่อนั้นกายแห่งตถาคตย่อมผ่องใส มีความผาสุก สบายตลอดกาย ดูก่อนอานนท์ เพราะธรรมคือ นิมิตสมาธิธรรมนั้นมีความผาสุก ฉะนั้นท่านทั้งหลายจงมีตนเป็นเกราะ มีธรรมเป็นที่พึ่งทุกอิริยาบถเถิด"








๖๘.ปางปลงอายุสังขาร   
    พระพุทธรูปปางปลงอายุสังขาร วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระชานุ(เข่า) บางแบบวางหงายบนพระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นทาบที่พระอุระ(อก) เป็นอาการลูบพระวรกาย

ความเป็นมาของปางปลงอายุสังขาร 
    เมื่อครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับ ณ ปาวาลเจดีย์ มารมาทูลอาราธนาให้ปรินิพพาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงปลงอายุสังขาร ก็เกิดอัศจรรย์แผ่นดินไหว กลองทิพย์ก็บันลือลั่นในอากาศ พระอานนท์บังเกิดความพิศวงในบุพพนิมิตจึงทูลถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอัศจรรย์นี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า ได้ปลงอายุสังขารแล้ว ต่อแต่นี้ไปอีก ๓ เดือน จะปรินิพพาน พระอานนท์จึงทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ตลอดกัปหนึ่งเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก พระพุทธองค์ตรัสว่าได้ทรงแสดงโอฬาริกนิมิตถึง ๑๖ ครั้ง แต่พระอานนท์มิได้ทูลอาราธนาให้ดำรงพระชนม์ชีพอยู่ต่อ และบัดนี้พญามารได้ทูลอาราธนาให้พระพุทธองค์ดับขันธปรินิพพานแล้ว พระพุทธองค์ได้สละแล้ว จะนำสิ่งนั้นกลับมาอีกด้วยเหตุใด








๖๙.ปางนาคาวโลก   
    พระพุทธรูปปางนาคาวโลก วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาห้อยเยื้องมาข้างหน้าวางไว้ที่พระเพลา(ตัก)ด้านซ้าย พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระองค์ตามปกติ บางแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยมาข้างหน้า พระหัตถ์ขวาห้อยลงตามปกติ เอี้ยวพระวรกายผินพระพักตร์เหลียวไปข้างหลัง บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ(อก)

ความเป็นมาของปางนาคาวโลก 
    วันหนึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาแล้ว ทรงนำเหล่าภิกษุสงฆ์เสด็จออกจากรุงเวสาลี พร้อมรับสั่งว่า การเห็นกรุงเวสาลีครั้งนี้เป็นปัจฉิมทัศนา คือ เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย การตรัสเช่นนี้ถือเป็นมรณญาณ เป็นลสงบอกให้ทราบว่าพระพุทธองค์ใกล้ปรินิพพานแล้ว และทรงทราบด้วยพระญาณว่า แม้มหาชนทั่วไปก็ไม่อาจเห็นเมืองเวสาลีอีก เพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน กองทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูจะเข้ายึดเมืองเวสาลีเพราะกษัตริย์ลิจฉวีไม่ได้ตั้งมั่นในอาปริหานิยธรรมที่พระพุทธองค์ประทานสำหรับใช้ปกครองร่วมกัน ซึ่งเคยต้านทัพของพระเจ้าอชาตศัตรูไว้ได้ถึง ๒ ครั้ง การทอดพระเนตรครั้งนี้ เรียกว่า "นาคาวโลก" คือการเหลียวมองอย่างพญาช้าง สถานที่นี้มีผู้สร้างเจดีย์เอาไว้เรียกว่า "นาคาวโลกเจดีย์"






๗๐.ปางทรงรับอุทกัง   
   พระพุทธรูปปางทรงรับอุทกัง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา(ตัก) พระหัตถ์ขวาทรงบาตรวางบนพระชานุ(เข่า) เป็นกิริยายื่นบาตรออกรับอุทกัง คือ รับน้ำ

ความเป็นมาของปางทรงรับอุทกัง 
  เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ นายจุนทะได้จัดภัตราหารอันประณีตไว้ถวายพร้อมสุกรมัททวะ หลังจากที่เสวยภัตตาหารของนายจุนทะแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงพระประชวรโรคโลหิตปักขัณทิกาพาธ แต่ก็เสด็จไปยังเมืองกุสินารา ระหว่างทางทรงกระหายน้ำเป็นกำลัง จึงรับสั่งให้พระอานนท์นำน้ำมาถวาย พระอานนท์กราบทูลว่า มีเกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่มข้ามแม่น้ำไป ทำให้น้ำขุ่นไม่ควรเสวย และเชิญเสด็จไปยังแม่น้ำอีกสายที่อยู่ใกล้ๆ แต่ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ไปนน้ำมา พระอานนท์ทูลทัดทานถึง ๒ ครั้ง ครั้งที่ ๓ จึงทำตามพระบัญชา เมื่อพระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำมาถวาย น้ำกลับใสสะอาดไม่ขุ่นมัวเป็นอัศจรรย์ พระพุทธองค์จึงเสวยน้ำนั้น






๗๑.ปางทรงพยากรณ์
   พระพุทธรูปปางทรงพยากรณ์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย(หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกขึ้นวางที่พระอุทร(ท้อง)

ความเป็นมาของปางทรงพยากรณ์ 
   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระอานนท์เศร้าโศกเสียใจมาก จึงแอบไปยืนร้องไห้อยู่เพียงลำพัง พระพุทธองค์ได้ตรัสปลอบว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง จะหาความเที่ยงแท้จากสังขารได้แต่ที่ไหน ทุกสิ่งที่มีเกิดในเบื้องต้น ต้องแปรปรวนในท่ามกลาง และดับสลายลงในที่สุด ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจนั้นเป็นของธรรมดา ให้ละความเศร้าโศรก และตั้งใจปฏิบัติธรรม จากนั้นทรงสรรเสริญความดีของพระอานนท์ และทรงตรัสพยากรณ์ว่า พระอานนท์จักบรรลุธรรมเป็นอรหันต์ ก่อนที่คณะสงฆ์จะทำปฐมสังคายนา






๗๒.ปางโปรดสุภัททปริพาชก   
   พระพุทธรูปปางโปรดสุภัททปริพาชก วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา ลืมพระเนตร พระเศรียรหนุนพระเขนย(หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปกับพระวรกาย พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ เป็นกิริยาแสดงธรรมโปรดสุภัททปริพาชก

ความเป็นมาของปางโปรดสุภัททปริพาชก 
   ขณะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรทมอยู่ระหว่างต้นสาละคู่หนึ่ง ในเมืองกุสินารา มีปริพาชกนามว่า สุภัททะ ทราบข่าวว่าพระองค์จะปรินิพพาน จึงปรารถนาเข้าเฝ้าเพื่อทูลถามข้อข้องใจ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เข้าเฝ้า และทรงแสดงพระธรรมเทศนา คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ และทรงย้ำว่าตราบใดที่สาวกของพระองค์ปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ สุภัททปริพาชกเลื่อมใส ทูลขออุปสมบทและบรรลุอรหันตผลในราตรีนั้น นับเป็นพุทธสาวกองค์สุดท้ายที่ได้เป็นอรหันต์ทันพระชนชีพของพระพุทธองค์






๗๓.ปางปรินิพพาน   
    พระพุทธรูปปางปรินิพพาน วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย(หมอน) พระหัตถ์ซ้ายทอดทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาวางหงายอยู่ข้างพระเขนย พระบาทซ้ายทับซ้อนพระบาทขวา

ความเป็นมาของปางปรินิพพาน 
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (เดิอน ๖) ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี การถวายพระเพลิงได้จัดขึ้น ณ มกุฎพันธเจดีย์ กรุงกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (วันอฏฐมี) หลังจากถวายพระเพลิงเสร็จแล้ว ๓ เดือน คณะสงฆ์ได้สังคายนาพระไตรปิฎก การทำปฐมสังคายนาใช้เวลา ๗ เดือน