วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

สงกรานต์มอญ...ที่เกาะเกร็ด


สรงน้ำพระบรมธาตุเจดีย์ที่เกาะเกร็ด

        สงกรานต์ไทย-รามัญ เกาะเกร็ด วัฒนธรรมอันโดดเด่นของจังหวัดนนทบุรี คราวนี้จะสัญจรสู่เกาะใหญ่กลางลำน้ำเจ้าพระยา ไปเที่ยวงานสงกรานต์ไทย-รามัญ เกาะเกร็ด นนทบุรี จุดเด่นของเกาะเกร็ดก็คือ เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวไทย-รามัญหรือชาวมอญนั่นเอง ไม่มีขบวนแห่ ไม่มีประกวดนางสงกรานต์ เป็นความงามของวิถีคนมอญที่มาตั้งถิ่นฐาน นับตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี วันหยุดสงกรานต์นี้ถ้าได้มาเที่ยวเกาะเกร็ด ได้เดินชมชุมชนคนมอญที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา ได้ชิมข้าวแช่เย็นชื่นใจตำรับชาวมอญเดิม ซึ่งนิยมทำในช่วงสงกรานต์ ภาษามอญ เรียกว่า "เปิงสงกราน" แต่เดี๋ยวนี้หากินได้ตลอดทั้งปี เพราะกลายเป็นอาหารยอดนิยมไปแล้ว ได้แวะไหว้พระที่วัดปรมัยยิกาวาส วัดสำคัญของชาวมอญที่มีเจดีย์เอียงสีขาวเป็นเอกลักษณ์ ขากลับมีของฝากถ้วยดินเผา โมบายเก๋ ๆ ทำจากดินเผาจากเกาะเกร็ด


ประเพณีในเกาะเกร็ด

เนื่องจากในเกาะเกร็ดมีคนมอญอพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากพอสมควร  คนมอญจึงนำประเพณีและความเชื่อต่างๆมาจากเมืองมอญด้วย ประเพณีจึงมีหลากหลายและแตกต่างไปจากประเพณีไทย เช่นประเพณีสงกรานต์ จะมีการทำบุญกลางบ้าน มีการแห่ข้าวแช่ แห่น้ำหวาน แห่หางหงส์ มีการรำเจ้า มีการเล่นสะบ้ามอญและทะแยมอญ เป็นต้น  นอกจากประเพณีสงกรานต์แล้ว ยังมีประเพณีอื่นๆอีก เช่น ประเพณีการจุดลูกหนู ประเพณีตักบาตรทางน้ำ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประเพณีการตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีรำมอญ ประเพณีการเล่นเพลงเจ้าขาว และ ประเพณีการละเล่นเพลงระบำบ้านไกล เป็นต้น
นอกจากประเพณีในเกาะเกร็ดแล้ว ยังมีประเพณีที่น่าสนใจที่ปฏิบัติกันไม่ไกลจากเกาะเกร็ดมากนักคือ ประเพณีทำบุญตักบาตรพระร้อยแปด  จึงนำมากล่าวไว้ด้วย  ขอเชิญอ่านรายละเอียดของประเพณีเหล่านี้ได้ตามลำดับไป ซึ่งเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันแต่เดิม แต่ปัจจุบันได้ปฏิบัติผิดเพี้ยนไปบ้าง มีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันสมัยบ้าง

ประเพณีสงกรานต์
     ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของคนไทยทั้งชาติ แต่คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด มีการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากที่อื่น และเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "ปัจอะห์ต๊ะห์" โดยจะมีการทำบุญเฉลิมฉลองกันอย่างมโหฬารทุกหมู่บ้านของชุมชนในเกาะเกร็ด เทศกาลสงกรานต์นี้ใช้เวลาหลายวัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี พิธีจะเริ่มจากการทำบุญฉลองสงกรานต์ ซึ่งประกอบด้วย การแห่ข้าวเช่ เเห่น้ำหวาน แห่สงกรานต์ ปล่อยปลา และทำบุญกลางบ้าน  ก่อนวันสงกรานต์จะมีการกวนขนมกาละแม ข้าวเหนียวเเดง ข้าวเหนียวแก้ว และมีการทำคะนอมจินหรือขนมจีนเพื่อทำบุญด้วย ในตอนเย็นและกลางคืนตามหมู่บ้านต่างๆจะมีการเล่นสะบ้ามอญ และทะเเยมอญ  หลังวันที่ 15 เมษายนจะมีการทำบุญกลางบ้าน จากนั้นจะมีการทำบุญต่อเนื่องไปอีกด้วยการทำบุญสรงน้ำพระ แห่หางหงส์ และจบด้วยการรำเจ้าประจำปีของแต่ละหมู่บ้านจะเห็นได้ว่า ในเทศกาลสงกรานต์ของเกาะเกร็ด มีประเพณีต่างๆที่น่าสนใจหลากหลายทีเดียว เช่น แห่สงกรานต์ แห่น้ำหวาน แห่ข้าวแช่ แห่หางหงส์ เล่นสะบ้ามอญ เล่นทะแยมอญ รำเจ้า การปล่อยปลา การทำบุญกลางบ้าน สรงน้ำพระและเจดีย์มอญ จะได้กล่าวถึงประเพณีเหล่านี้ตามลำดับไป


แห่สงกรานต์ 
เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ คนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ดถือว่าเป็นการขึ้นศักราชใหม่ จึงจัดให้มีการเฉลิมฉลองกันด้วยการทำบุญรักษาศีลเพื่อเป็นการต้อนรับศักราชใหม่ และเพื่อบูชาพระรัตนตรัยและนางสงกรานต์ คนมอญนั้นเมื่อถึงหน้าทำบุญ ก็จะทำบุญกันอย่างจริงจัง และสนุกสนานกันอย่างเต็มที่ เทศกาลสงกรานต์ของคนมอญจึงมีทั้งพิธีกรรมทางศาสนา และการละเล่นต่างๆ หลังวันที่ 15 เมษายน จะมีการแห่สงกรานต์ ซึ่งจัดการแห่อย่างยิ่งใหญ่ทีเดียว โดยขบวนแห่จะเดินไปอย่างมีระเบียบสวยงาม จะแต่งตัวอย่างพิถีพิถันสวยงามเป็นพิเศษ ขบวนแห่สงกรานต์นี้จะมีทั้งแห่น้ำหวาน ปลาและนกที่จะนำไปปล่อย พร้อมทั้งขบวนการละเล่นต่างๆเช่น มอญรำ เม้ยเจิง เป็นต้น


แห่ข้าวแช่
ประเพณีการแห่ข้าวแช่ เป็นประเพณีที่คนมอญเรียกว่า "เปิงฮุงกราน" คือในเช้าวันสงกรานต์ชาวบ้านจะจัดเตรียมสำรับอาหาร และนำข้าวแช่ใส่ในหม้อดินเผา สาเหตุที่ใช้ภาชนะหม้อดินเผาใส่ข้าวแช่ ก็เพราะจะช่วยทำให้ข้าวแช่เย็นและมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ที่เกาะเกร็ดจะมีการหุงข้าวแช่โดยจัดทำรวมกันเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจะรวมกันออกค่าใช้จ่ายและรวมกันทำข้าวแช่ในที่เดียวกัน เวลานำข้าวแช่ไปถวายพระที่วัดจะจัดเป็นขบวนแห่ เรียกว่า "แห่ข้าวแช่" และจะจัดทำพิธีบูชานางสงกรานต์ที่มอญเรียกว่า "มี๊ซงกรานต์" ด้วยการสร้างศาลเพียงตาหน้าบ้าน นำข้าวแช่พร้อมเครื่องบูชามาวางไว้ จะมีการส่งสำรับข้าวแช่ให้แก่ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือด้วยเพื่อเป็นการแสดงความเคารพ โดยปกติการแห่ข้าวแช่จะทำกันปีละ 2 ครั้งคือในวันสงกรานต์ครั้งหนึ่ง และในวันออกพรรษาอีกครั้งหนึ่ง


แห่หางหงส์
     การแห่หางหงส์ เป็นประเพณีในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งคนไทยเชื้อสายมอญที่เกาะเกร็ด จะจัดพิธีแห่หางหงส์เพื่อเฉลิมฉลอง  หางหงส์จะทำด้วยผ้ามาตัดเย็บเป็นรูปธงยาวผูกปลายไม้ แห่ไปตามหมู่บ้าน เพื่อเป็นศิริมงคล ความร่มเย็นเป็นสุขของบ้าน และถวายเป็นพุทธบูชา ชาวบ้านมีศรัทธามาร่วมกันทำหางหงส์ ผู้มีศรัทธามักตัดผมตนเองไปผูกไว้ที่หางหงส์ แล้วแห่ไปถึงหมู่บ้าน เมื่อถึงวัดชาวบ้านจะทำการสักการะพระเจดีย์ที่สำคัญของวัดนั้น แล้วเชิญหางหงส์ขึ้นสู่ยอดเสาหงส์ของวัด พระสงฆ์สวดชยันโตเพื่อเป็นศิริมงคล ประเพณีแห่หางหงส์ยังทำกันในเกาะเกร็ดจนถึงปัจจุบันนี้

      เนื่องจาก "หงส์" เป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ ซึ่งมีตำนานเกี่ยวกับ "หงส์" ในพงศาวดารมอญกล่าวไว้ว่า ครั้งหนึ่งเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้วมีสำเภาใหญ่ลำหนึ่งแล่นมาจากพิทยานคร ในประเทศอินเดีย เพื่อจะไปค้าขายยังสุวรรณภูมิลมได้พัดพาเรือสำเภาไปถึงบริเวณภูเขา สุทัศนะมรังสฤษดิ์ บรรดาผู้คนในเรือสำเภานั้นแลเห็นหงส์ทองสองตัวกำลังเล่นน้ำอยู่ที่หาดทราย พราหมณ์ผู้รู้จดหมายเหตุโบราณได้กราบทูลพระเจ้าบัณฑุราชาเจ้าผู้ครองพิทยานครว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้ายังมีพระชนมายุอยู่นั้น ได้เคยเสด็จมาถึงสถานที่หงส์ทองสองตัวลงเล่นน้ำ ได้ทรงทำนายว่าสถานที่นี้จะได้เป็นพระมหานครต่อมา เจ้าชายสมละกุมารและเจ้าชายวิมลกุมารโอรสฝาแฝดของพระเจ้าเสนะคงคาและพระนางวิมลาราชเทวีได้พาผู้คนมาตั้งบ้านเรือนและสร้างเมืองขึ้นมีพระอินทร์ลงมาช่วยสร้าง เหตุที่มีหงส์ทองมาลงแล่นน้ำที่นั้น จึงขนานนามว่า "หงสาวดี" หงส์จึงเป็นสัญลักษณ์ของชนชาติมอญมาแต่โบราณ และเพื่อเป็นสิริมงคลจึงนิยมทำเสาหงส์ ไว้ตามวัดเป็นพุทธบูชา

สะบ้ามอญ  
การเล่นสะบ้ามอญ เป็นการละเล่นพื้นบ้านของคนมอญในเกาะเกร็ดระหว่างเทศกาลสงกรานต์ คือในวันที่ 13-15 เมษายน ช่วงตอนเย็นและกลางคืนจะมีการเล่นสะบ้ามอญตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้มีโอกาสรู้จักสนิทสนมกัน แต่ก็อยู่ในสายตาของผู้ใหญ่ เพราะสถานที่เล่นสะบ้ามอญนั้นจัดขึ้นในบริเวณหมู่บ้าน หรือในบริเวณบ้านใดบ้านหนึ่ง หรือหลายๆบ้านในหมู่บ้านนั้น สถานที่เล่นสะบ้ามอญ เรียกว่า "บ่อน" ทำบนลานดิน ต้องปรับที่ทุบดินให้เรียบ ที่กว้างขวางพอที่จะให้สาวๆนั่งเรียงกันได้ตั้งแต่ 8 - 12 คน ประดับประดาบริเวณด้วยกระดาษสีและผ้าสีต่างๆ มีการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มไว้รับรองแขกด้วย หนุ่มๆที่จะมาเล่นสะบ้ามอญต้องจัดมาเป็นกลุ่มเป็นพวก มีหัวหน้าซึ่งอาวุโสกว่าบุคคลอื่น พวกรุ่นน้องต้องเชื่อฟังอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มหนุ่มๆพร้อมด้วยเครื่องดนตรี ซึ่งกลุ่มหนุ่มเหล่านี้จะร้องรำทำเพลงเรียกว่า "กล่อมสะบ้า" ทำให้บรรยากาศสนุกสนานยิ่งขึ้น



ประวัติตำบลเกาะเกร็ด 
              เกาะเกร็ดเป็นย่านชุมชนที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เป็นทั้งชุมชนค้าขายและเป็นที่ตั้งด่านตรวจเรือต่าง ๆ ที่จะเดินทางผ่านไปมายังอยุธยา รวมถึงวัดวาอารามต่าง ๆ บนเกาะเกร็ดล้วนมีความสวยงาม ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาทั้งสิ้น แต่คงจะมาร้างคนเมื่อพม่ามายึดกรุงศรีอยุธยา หลังจากกอบกู้เอกราชได้พระเจ้าตากสินมหาราชจึงโปรดให้ชาวมอญที่เข้ารีตมาตั้งถิ่นฐานที่บริเวณเกาะเกร็ดแห่งนี้อีกครั้ง
           แต่เดิมเกาะเกร็ดไม่ได้มีลักษณะเป็นเกาะ เป็นส่วนของแผ่นดินรูปโค้งลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปตามความโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยา มีชื่อมาแต่ก่อนว่า บ้านแหลม แต่ได้มีการขุดลอกคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นในส่วนที่เป็นแหลม ในเวลาต่อมากระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางแรงขึ้น มีการกัดเซาะตลิ่งทำให้คลองขยาย แผ่นดินตรงแหลมจึงกลายเป็นเกาะ ชื่อที่เรียกนั้น ชื่อเดิมเรียกว่า  เกาะศาลากุน


          ในสมัยอยุธยามีเรือสินค้าทั้งในและต่างประเทศผ่านเข้ามาตามลำน้ำเจ้าพระยา เพื่อจะไปยังอยุธยา เมื่อถึงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พ.ศ.2251-2275) จึงพิจารณาเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องขุดคลองลัดตามลำน้ำเจ้าพระยาเพิ่มเติม เพื่อลดระยะทางและระยะเวลาในการคมนาคมขนส่งทางน้ำในสมัยนั้น รวมถึงเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงเกาะเกร็ดขึ้นบริเวณที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลโค้งอ้อมไปทางทิศตะวันตก แล้วไหลวกกลับมาทางทิศตะวันออกในปี พ.ศ.2265 ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า ?ในปีขาล จัตวาศกนั้น ทรงพระกรุณาโปรดให้พระธนบุรีเป็นแม่กองเกณฑ์ไพร่พล คนหัวเมืองปากใต้ให้ได้คนหมื่นเศษให้ขุดคลองเกร็ดน้อยลัดคุ้งบางบัวทองนั้นอ้อมนัก ขุดลัดให้ตรง พระธนบุรีรับสั่งแล้วถวายบังคมลามาให้เกณฑ์คนไพร่พล ในบรรดาหัวเมืองปากใต้ได้คนหมื่นเศษ ให้ขุดคลองเกร็ดน้อยนั้นลึก ๖ ศอก กว้าง ๖ วา ทางไกลได้ ๒๙ เส้นเศษ ขุดเดือนเศษจึงแล้ว พระธนบุรีนั้นจึงกลับมากราบทูลพระกรุณาให้ทราบทุกประการ
          เมื่อทำการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยาได้แล้ว ทำให้เกิดการเดินเรือลัดได้เร็วขึ้น เรียกคลองในสมัยนั้นว่า คลองลัดเกร็ดน้อย  ต่อมานิยมเรียกว่า  คลองลัดเกร็ด  ต้นคลองหรือปากคลองเรียกว่า  ปากเกร็ด  ต่อมาคลองลัดเกร็ดได้ถูกความแรงของกระแสน้ำเซาะตลิ่งพัง จนกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นแม่น้ำไป ที่ดินบริเวณที่เป็นแหลมยื่นออกไปจึงมีลักษณะเป็น  เกาะ  เรียกกันว่า เกาะเกร็ด


          ในสมัยโบราณเรียกเกาะเกร็ดที่เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กนี้ว่า  เกร็ดน้อย  (ที่เชียงราก จังหวัดปทุมธานี เรียกว่า เกร็ดใหญ่ เพราะมีการขุดคลองลัดแล้วกลายเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่กว่าเกาะเกร็ด) อาจเป็นไปได้ว่าคนสมัยโบราณนิยมเรียกเกาะที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ว่า เกร็ด ต่อมาเมื่อมีการยกฐานะปากเกร็ดเป็นชื่อของตำบลและชื่อของอำเภอ เกาะเกร็ดก็ได้ยกฐานะเป็นตำบลเกาะเกร็ดด้วยจนถึงปัจจุบัน

          ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตรงกับพ.ศ.2317 ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงไปรับครอบครัวมอญมาตั้งบ้านเรือนอยู่ในท้องที่ปากเกร็ด (รวมทั้งในเกาะเกร็ด) และสามโคก จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากมอญแพ้สงครามกับพม่า เมื่อมอญสู้พม่าไม่ได้จึงอพยพครอบครัวมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเลือกพื้นที่ช่วงเกาะเกร็ดและปากเกร็ดเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง ที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ โดยทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์เสด็จล่วงหน้าขึ้นไปในวันแรม 4 ค่า เดือน 3 ครั้นถึงวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 จึงเสด็จไปรับ พระตำหนักบางธรณีด้วยพระองค์เอง สำหรับพระราชพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางครั้งนี้นับเป็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ที่ใช้บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในท้องที่ปากเกร็ดและเกาะเกร็ด มีการจัดกระบวนเรือเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค และกระขวนเรืออัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางที่ยิ่งใหญ่

          ต่อมาในปี พ.ศ.2538 ตรงกับสมันรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตน์โกสินทร์ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าให้เจ้าฟ้ามงกุฎ (รัชกาลที่ 4) ไปรับครอบครัวมอญ ซึ่งหนีภัยสงครามมาจากพม่ามาอาศัยอยู่ที่ด่านเจดีย์สามองค์ เมืองกาญจนบุรี และได้โปรดเกล้าฯให้พระยาอภัยภูธร สมุหนายก ไปรับครอบครัวมอญเหล่านั้นมาอยู่ที่เมืองนนทบุรีบ้าง ปทุมธานีบ้าง เมืองเขื่อนขันธ์(พระประแดง)บ้าง ดังนั้นจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่ในเกาะเกร็ดและหลายท้องที่หลายตำบลในอำเภอปากเกร็ด เนื่องจากมีชาวมอญอพยพเข้ามาถึง 2 ครั้ง คือ ในปีพ.ศ.2317และปีพ.ศ.2358

          ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มักจะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังพระราชวังบางประอินเสมอ กล่าวกันว่าทรงแวะพักเรือพระที่นั่งตามวัดต่าง ๆ บริเวณปากเกร็ดและเกาะเกร็ดนี้ทุกวัด และพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดปากอ่าว (วัดปรมัยยิกาวาส) เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลร่วมกับพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมเสด็จพระสุดารัตนราชประยูร และพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ที่ทรงอภิบาลทำนุบำรุงสมเด็จพระเทพศิรินทรพระบรมราชชนนีและพระองค์มาตั้งแต่ครั้นทรงพระเยาว์

      ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ช่วงหลังจากพ.ศ.2475 และช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่บ้านในตำบลย่านเกาะเกร็ดและปากเกร็ดริมแม่น้ำเจ้าพระยา กลายเป็นแหล่งหลบซ่อนตัวเพื่อเตรียมรับสภาวะวิกฤตในกรุงเทพฯ มีนักการเมืองและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายท่านได้มาสร้างบ้านสำรองไว้ยามฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาทางราชการได้เข้ายึดบ้านดังกล่าว




สถานที่ท่องเที่ยวและสิ่งที่น่าสนใจของเกาะเกร็ด


 เริ่มกันที่วัดซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของเกาะเกร็ดไปแล้ว นั่นคือ "วัดปรมัยยิกาวาส" (วัดปากอ่าว) ในวัดนี้มีสิ่งที่น่าชมอยู่หลายอย่าง ที่ท่าเรือหน้าวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอด ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ) ของอดีตเจ้าอาวาส ตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่กระนั้นพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ และปัจจุบัน ที่นี่เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฏกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยฝีพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง ด้านหลังพระอุโบสถ มีพระมหารามัญเจดีย์ จำลองแบบมาจากเจดีย์ชเวดากองของพม่า  


          พระวิหาร ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์สมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาดยาว 9.50 เมตร ภาพจิตรกรรมที่เพดานนั้นแปลกตากว่าที่อื่น เป็นภาพลายปฐมจุลจอมเกล้า หน้าพระวิหารประดับตราพระเกี้ยว เป็นตราประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้านหลังพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปประจำจังหวัดนนทบุรี

          พระนนทมุนินท์ เป็นพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย ปางขัดสมาธิเพชร ประดิษฐานอยู่ในบุษบกแบบมอญ (จองพารา) สลักโดยฝีมือช่างที่นี่ ที่มุขเด็จหน้าวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปหินอ่อน ซึ่ง ซาง ซิว ซูน ชาวพม่าถวายให้กับรัชกาลที่ 5 พระวิหารเปิดทุกวันตั้งแต่ 9.00 - 16.00 น.

          อย่างไรก็ตาม เอกลักษณ์ของมอญอีกอย่างหนึ่งในวัดนี้ คือ เจดีย์ทรงรามัญที่จำลองแบบมาจากพระธาตุเจดีย์มุเตา เมืองหงสาวดี ซึ่งคนมอญนับถือมาก ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เนื่องจากเจดีย์อยู่ติดแม่น้ำ กระแสน้ำกัดเซาะฐานราก ทำให้เจดีย์มีลักษณะเอียง ดูแปลกตา นับเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเกาะเกร็ด  

          ส่วนที่ "พิพิธภัณฑ์วัดปรมัยยิกาวาสและหอไทยนิทัศน์เครื่องปั้นดินเผา" จะจัดแสดงวัตถุต่างๆ ที่ล้วนน่าชม เช่น พระพิมพ์ เครื่องแก้ว เครื่องถ้วยชาม รวมทั้ง "เหม" ที่ พ.อ. ชาติวัฒน์ งามนิยม บรรจงสร้างขึ้น จนนับว่าเป็นงานศิลป์ชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว นับตั้งแต่การออกแบบโครงสร้าง การต่อลาย การตอกไข่ปลาเพื่อต่อลายบนกระดาษอลูมิเนียม ทุกชิ้นส่วนที่นำมาประกอบเป็นเหมนี้ ล้วนแต่ต้องทำอย่างละเอียด ประณีต เชื่อว่าชาวมอญคงดัดแปลงลักษณะของเหมมาจากโลงของพระพุทธเจ้า ซึ่งก้นสอบปากบานข้างแคบเช่นกัน (ในพิพิธภัณฑ์แสดงภาพไว้) โลงเหมใช้กับศพแห้ง เหมพระ จะมีลักษณะพิเศษกว่าตรงที่เจาะหน้าต่างมองเห็นศพด้านในได้ ทั้งนี้ ในวันจันทร์ – ศุกร์ เปิดเวลา 13.00 - 16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เปิดเวลา 9.00 - 16.30 น.

          "วัดเสาธงทอง" เป็นวัดเก่า เดิมชื่อ "วัดสวนหมาก" นอกจากเป็นที่ตั้งโรงเรียนประถมแห่งแรกของอำเภอปากเกร็ดแล้ว ด้านหลังโบสถ์ยังประดิษฐานเจดีย์ที่สูงที่สุดของอำเภอปากเกร็ดด้วย พระเจดีย์เป็นศิลปะอยุธยาย่อมุมไม้สิบสอง มีเจดีย์องค์เล็กเป็นบริวารโดยรอบอีก 2 ชั้น ส่วนด้านข้างโบสถ์มีเจดีย์องค์ใหญ่อีก 2 องค์ องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังหรือทรงลังกา อีกองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ทรงมะเฟือง ภายในโบสถ์มีลายเพดานสวยงามมาก เขียนลายทองกรวยเชิงอย่างงดงาม พระประธานเป็นพระปางมารวิชัยปูนปั้นขนาดใหญ่ คนมอญเรียกวัดนี้ว่า “เพี๊ยะอาล๊าต” หน้าโบสถ์มีเจดีย์ขนาดย่อมสององค์ รูปทรงคล้ายมะเฟือง ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมสิบสอง ประดับลายปูนปั้น
       
          "วัดไผ่ล้อม" สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีโบสถ์ที่งดงามมาก ลายหน้าบันจำหลักไม้เป็นลายดอกไม้ มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามเช่นกัน คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้"

          "วัดฉิมพลีสุทธาวาส" มีโบสถ์ขนาดเล็กงดงามมาก และยังมีสภาพสมบูรณ์แบบดั้งเดิม หน้าบันจำหลักไม้เป็นรูปเทพทรงราชรถ ล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ ซุ้มประตูเป็นทรงมณฑป ซุ้มหน้าต่างแบบหน้านาง ยังคงเห็นความงามอยู่ และฐานโบสถ์โค้งแบบเรือสำเภา


          "คลองขนมหวาน" บริเวณคลองขนมหวานและคลองอื่นๆ รอบเกาะเกร็ด ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งคลองจะทำขนมหวาน จำพวกทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง และขนมหวานอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมสาธิตวิธีการทำให้นักท่องเที่ยวได้ชม พร้อมซื้อกลับไปเป็นของฝากได้อีกด้วย



          อย่างไรก็ตาม แรงดึงดูดอย่างหนึ่งบนเกาะเกร็ดที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวที่นี่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของอาหารการกินที่ดูจะหลากหลายมากมายกันจนลายตา ไม่ว่าจะเป็น "ข้าวแช่" อาหารของชาวมอญ ที่สืบทอดสูตรกันมายาวนาน รับประทานพร้อมเครื่องเคียงครบรสที่มีให้เลือกเพียบ คือ ลูกกะปิทอด, หมูกับปลาเค็มปั้นทอด, ไชโป๊หวาน, ปลาหวาน, พริกหยวกสอดไส้, หัวหอมทอดสอดไส้ และผักชนิดต่างๆ


          ส่วนใครที่ไปเกาะเกร็ดแล้วไม่ได้รับประทาน "ทอดมันหน่อกะลา" ก็เหมือนไปไม่ถึง เพราะ "ทอดมันหน่อกะลา" ถือเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่เลยก็ว่าได้ แถมยังมีให้เลือกซื้อเลือกชิมหลายร้าน ทั้งเจ้าเก่าเจ้าใหม่ เรื่องของรสชาตินั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกได้ว่า อร่อยไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ ตามร้านค้าสองข้างทางยังมีอาหารอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ขนมชั้น รวมถึงของคาวอย่าง ห่อหมกปลาช่อน ห่อหมกปลากราย ไข่ปลาทอด ผักทอด พร้อมร้านขายน้ำเก๋ๆ ที่ขายน้ำพร้อมแก้วน้ำกระถาง ปั้นโดยฝีมือคนท้องถิ่นนั่นเอง และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ร้ายจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา โอ่ง กระถาง เซรามิกรูปร่างต่างๆ ก็มีให้เลือกซื้อเลือกชมกันอย่างละลานตา...














ปิดท้ายด้วยภาพเด็ดของเกาะเกร็ด