วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

พลเอก หาญ เพไทย



วีรกรรมที่ห้าวหาญ กล้าแกร่งของวีรบุรุษนักรบ ชื่อ "พลเอก หาญ เพไทย"
โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
ที่มา www.matichon.co.th

นายทหารที่โดดเด่นท่านนี้ สืบค้นประวัติได้ยาก เพราะเป็นคนถ่อมตัว ไม่ค่อยจะเปิดเผยภารกิจ แต่เพื่อนร่วมตายทั้งหลายพากันแซ่ซ้อง ยกย่องให้เป็นวีรบุรุษสงครามทั้งในและนอกประเทศที่มีนามว่า พล.อ.หาญ เพไทย

เด็กชายหาญ เพไทย เป็นบุตรของ พันตรี สงคราม และนางบุญชอบ เพไทย เกิดเมื่อ 29 ธันวาคม 2482 คุณแม่ไปคลอดที่หน่วยเสนารักษ์ ในกรม ปตอ.เกียกกาย มีพี่น้อง 8 คน จบประถมจาก ร.ร.วัดราชาธิวาส และจบ ม.6 จาก ร.ร.วัดเบญจมบพิตร พ.ศ.2502 สอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมนายร้อยรุ่น 18 และศึกษาต่อ ร.ร.นายร้อย จปร.รุ่น 11 สำเร็จการศึกษา เข้ารับพระราชทานกระบี่ใน พ.ศ.2507 บรรจุเป็นผู้บังคับหมวด ทหารสารวัตร กองพลทหารราบที่ 3 โคราช เข้าฝึกต่อในหลักสูตรโดดร่ม และจู่โจม และต่อมาจึงขอย้ายไปรับราชการในหน่วยรบพิเศษ ลพบุรี เพราะต้องการชีวิตที่เข้มข้น บึกบึนตามแบบฉบับของทหารรบพิเศษ

วิชาที่หาคนสอนได้ยากในโรงเรียนทหาร คือ วิชาผู้นำ ซึ่งเคยมีการใช้คำว่า “ประมุขศิลป์” (Leadership) มีตำราหลากหลาย มีทฤษฎีเยอะ เพื่อให้ศึกษา แต่บางคนไม่ต้องเรียน เพราะเกิดมาเป็น “ผู้นำโดยธรรมชาติ” แต่ “ภาวะผู้นำ” ก็สามารถบ่มเพาะและสร้างขึ้นมาได้

การนำหน่วยทหารที่เห็นในภาพยนตร์ ผู้นำทัพในอดีต คือ คนที่ถือดาบ 2 มือวิ่งนำหน้ากองทัพ หรือขี่ม้า-ขี่ช้าง ถืออาวุธนำหน้าทหารพุ่งเข้าหาข้าศึก ผู้นำจะต้องนำหน้าไปก่อนเสมอ

ผู้นำต้องขจัดความกลัว ความเจ็บปวด และพร้อมจะเผชิญกับความสูญเสีย

ในตำแหน่งหัวหน้าชุดจู่โจมของหน่วยรบพิเศษ ร้อยโท หาญ เพไทย นำกำลังปะทะ ผกค.ครั้งแรกเมื่อ สิงหาคม 2510 ที่ อ.นาแก จ.นครพนม เทือกเขาภูพาน และปะทะต่อเนื่องถึง 4 ครั้ง ได้ 3 ศพ ยึดฐาน ผกค. และอาวุธได้ ผู้หมวดหนุ่มได้รับพระราชทานเหรียญเสรีชนชั้น 2

สมรภูมิที่จะพิสูจน์ความเป็นผู้นำหน่วย ใช้ชีวิตแบบดุเดือดในยุคสมัยนั้น ต้องไปรบเวียดนาม ร้อยโท หาญ เพไทย สมัครไปรบที่เวียดนาม เลือกตำแหน่ง ผบ.หมวดลาดตระเวนระยะไกล ของกองร้อยลาดตระเวนระยะไกล กองพลทหารอาสาสมัคร หน่วยนี้มีภารกิจคือ การไปควานหาข้าศึกในป่าเขา ล้อกันเล่นว่า ไปล่อเป้าให้ข้าศึกยิง



ผู้หมวดหาญนำหน่วยทหารเดนตายขนาดเล็ก 12 นาย ไปลาดตระเวนค้นหาที่ตั้งทหารเวียดกง ซึ่งถ้าพบข้าศึกจะเข้าปะทะ หรือจะซุ่มโจมตี หรือจะขอการโจมตีทางอากาศ หรือขอปืนใหญ่ยิงสนับสนุน ทหารเหล่านี้คือ นักรบปีศาจที่ต้องมีความเชี่ยวชาญ ฉลาด มีประสาทสัมผัสรอบด้าน ที่สำคัญที่สุดคือ กล้าหาญ

เหตุการณ์ที่ต้องจารึกไว้ คือ 16 เมษายน 2514 หน่วยเหนือต้องการพิสูจน์ทราบกำลังของเวียดกงในพื้นที่ ใกล้ลำน้ำซุยคา อำเภอลองถั่น เฮลิคอปเตอร์นำกำลังของผู้หมวดหาญไปลงในพื้นที่ของเวียดกง

เสมือนการเข้าไปท้ารบในบ้านเค้า เพียงอึดใจเดียวหลังถึงพื้นดิน กำลังพล 12 นายของผู้หมวดหาญ ปะทะกับนักรบเวียดกงที่แห่กันมารุมกินโต๊ะ ความเชี่ยวชาญของนักรบที่ฝึกมาดี แหวกวงล้อมออกมาได้ พลวิทยุส่งคำขอกำลังทางอากาศยิงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์พลิกกลับ หน่วยของผู้หมวดกลับเป็นฝ่ายรุก ติดตามเข้าไปสังหารเวียดกงถึงในฐาน ระเบิดทำลาย เผาฐานทหารเวียดกง

ท่ามกลางเสียงปืน เสียงระเบิด และความตาย ร้อยโท หาญ เพไทย ชำเลืองเห็นทหารเวียดกงยังคงหลบอยู่ในบังเกอร์ ร้อยโทหนุ่มหยิบลูกระเบิดขว้างออกมาถือ ถอดสลัก แล้วทรุดตัวคลานเข้าไปหาบังเกอร์ (ที่พัก/หลุมที่ตั้งยิง) ของนักรบเวียดกงที่อยู่ตรงหน้า

กระสุน 2 นัดจากปืนพกของเวียดกง พุ่งใส่หน้าอกด้านซ้ายของผู้หมวดหาญจนผงะหงายหลัง เลือดทะลัก เสือย่อมเป็นเสือ ผู้หมวดหาญพลิกตัวกลับ พาร่างโชกเลือดคลานแนบพื้นดิน มือกำน้อยหน่ามรณะแน่น เพียงชั่วอึดใจ ผู้หมวดใจเพชรเหยียดแขนไปหย่อนระเบิดเพชฌฆาตเข้าไปในบังเกอร์ของเวียดกง เสียงระเบิดดังสนั่นปานฟ้าผ่า ร่างของทหารเวียดกง พร้อมทั้งอาวุธกระสุนระเบิดแหลกเหลวกระจายออก เสียงปืนเสียงจากเวียดกงจึงยุติลง ปิดฉากการต่อสู้แบบเลือดเดือด

ร้อยโทหาญนำกำลังเข้าตีฐานครั้งนั้นสังหารเวียดกงได้ 8 ศพ ฝ่ายเราบาดเจ็บ 3 นาย

ร่างของคนเจ็บทั้ง 3 รวมทั้งผู้หมวด ถูกลำเลียงโดย ฮ.ส่งกลับโรงพยาบาลสนามในค่ายส่วนหลังที่มีทหารบาดเจ็บแขนขาด ขาขาดนอนเกลื่อนไปหมด แม่ทัพของสหรัฐได้รับรายงานพฤติกรรมการเข้าตีฐานเวียดกงอย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของทหารไทย จึงขออนุมัติเหรียญกล้าหาญ Silver Star ของสหรัฐ กองทัพเวียดนามใต้มอบเหรียญกล้าหาญ Gallantry Cross With Palm และเมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว ร้อยโท หาญ เพไทย กลับมารับพระราชทานเหรียญกล้าหาญของไทย



เป็นความสำเร็จของหน่วยทหารปีศาจ ผู้หมวดที่ถูกยิง 2 นัดแล้วยังกัดฟันคลานเข้าไปหย่อนระเบิดใส่บังเกอร์เวียดกงจนเละ เป็นที่กล่าวขวัญ ยกย่องกันกระหึ่ม เพราะที่ผ่านมาฝ่ายอเมริกันและเวียดนามใต้มักจะเป็นฝ่ายสูญเสีย

ร้อยโทหาญสร้างบรรทัดฐานของความเป็นผู้นำไว้สูงมาก จึงทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาที่เป็นนักรบเกิดความศรัทธา เชื่อมั่น จึงเป็นผลทีมงานขนาดเล็กทุ่มเทกายใจ และพยายามที่จะทำให้งานสำเร็จด้วยความเต็มใจ พร้อมจะเป็นผู้ตามที่ดี

ลักษณะผู้นำเยี่ยงนี้ สร้างได้โดยการฝึกฝน การฝืนใจตัวเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ความละอายที่จะเป็นผู้นำที่ขี้ขลาด

จบภารกิจในเวียดนามนาน 1 ปี ชีวิตของร้อยโท หาญ เพไทย ยังคงผูกพันกับศึกสงครามในภาคเหนือของไทยที่เคยทำมาก่อน ผู้หมวดหาญกลับมาทำงานต่อในพื้นที่ภูหินร่องกล้า อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ในตำแหน่งนายทหารยุทธการ หน่วย พตท.1617 ผลงานคือ ฝ่ายเราสามารถจัดตั้งฐานปฏิบัติการทหารในพื้นที่สำเร็จเป็นครั้งแรก



ห้วง พ.ศ.2518-พ.ศ.2522 ผู้กองหาญ ในตำแหน่งผู้บังคับกองร้อย ลาดตระเวนระยะไกลที่ 4 กองพลทหารราบที่ 4 ควบกับตำแหน่งนายทหารยุทธการ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำเข็ก อ.เขาค้อ ตามพระราชดำริ ท่านนำหน่วยร่วมปฏิบัติตามแผนดอนเจดีย์ 2 และแผนยุทธการร่วมใจ 10 ในพื้นที่เขาค้อ ร่วมจัดตั้งหมู่บ้านยุทธศาสตร์พัฒนา นำหน่วยคุ้มครองการก่อสร้างเส้นทางในพื้นที่เขาค้อ

ชีวิตของ พันตรี หาญ เพไทย คลุกเคล้า มีความรับผิดชอบสูง สมบุกสมบันอย่างต่อเนื่อง มีชีวิตในป่าเขาที่ไม่ค่อยเป็นข่าวปรากฏ

ท่านผู้อ่านอาจจะพอจำได้ว่า 11 มิถุนายน 2519 กองทัพภาคที่ 3 ปฏิบัติการกวาดล้าง ผกค.ครั้งใหญ่ มีเครื่องบินขับไล่ F-5 ของกองทัพอากาศที่เข้าร่วมโจมตีที่หมายในป่าลึกถูกยิงตก มีสัญญาณว่านักบินยังคงรอดชีวิต กองทัพภาคที่ 3 จัดกำลังรบ “ชุดขุนศึก” เดินเท้ามุ่งหน้าสู่บริเวณเครื่องบินตก ทุกนาทีมีค่ายิ่งนัก ทหาร หรือ ผกค.ใครจะเข้าถึงบริเวณเครื่องบินตกก่อนกัน ชุดขุนศึก เข้าไปตกอยู่ในวงล้อมของ ผกค.การสู้รบเป็นไปอย่างดุเดือด หน่วยเหนือไม่สามารถส่งกระสุนและเสบียงให้ชุดขุนศึกได้ พยายามทิ้งร่มลงที่หมายแต่เนื่องจากลมแรงและ ผกค.ระดมยิงอย่างหนัก ทีมนักรบชุดขุนศึกถูกตัดขาด

“ชุดสมเด็จ” ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเดินเท้าเข้าไปช่วย “ชุดขุนศึก” ซึ่งต้องข้ามลำน้ำเข็ก ผกค.ซุ่มยิงทหารเสียชีวิตอีก 3 นาย ศพลอยไปตามกระแสน้ำหายไป “ชุดสมเด็จ” เข้าไปติดพันกับห่ากระสุนของ ผกค.เคลื่อนที่ต่อไม่ได้ พันตรี หาญ เพไทย นำกำลังเข้าตีผ่าน ผกค.เกิดการปะทะต่อเนื่องอยู่หลายวัน จนกระทั่งสร้างสนาม ฮ.แบบเร่งด่วน จัดวางกำลังคุ้มกันจน ฮ.สามารถร่อนลงมารับคนเจ็บจาก “ชุดสมเด็จ” กลับไปได้ใน 26 มิ.ย.19 ซึ่งการค้นหาของฝ่ายเรานานนับเดือน ไม่พบซากเครื่องบิน F-5A ที่ถูกยิงตก



ชีวิตของพันโทหาญยังคงวนเวียนอยู่ในสมรภูมิ ในห้วงตุลาคม 2523-เมษายน 2524 ในตำแหน่ง ผบ.พัน ร.3444 (หรือกองพันทหารราบที่ 4 กรมทหารราบที่ 4) ผู้พันหาญนำกำลังเข้าร่วมแผนยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1 ยึดสันเขาค้อ (ปางก่อ) ได้ตลอดทั้งสันเขา กำลังทหารฝ่ายเราออกคำสั่งคุ้มครองการก่อสร้างเส้นทาง เขาค้อ-สะเดาะพงได้สำเร็จ

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/23 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เป็นเสมือนยารักษาโรคที่ได้ผลชะงัดเมื่อใช้ปฏิบัติควบคู่กับการปฏิบัติการทางทหาร เป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์



ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 2 (20 กุมภาพันธ์-30 เมษายน2524) ทหารไทยปฏิบัติยุทธการเคลื่อนย้ายทางอากาศ (Air Mobile Operations) ใช้ ฮ.ติดอาวุธ นำนักรบเดนตายบินเต็มท้องฟ้า ไปลงในพื้นที่สันเขาค้อ เสียง ฮ.กระหึ่มเร้าใจ เย้ายวนให้ทหารราบ ทหารม้า ทหารปืนใหญ่ ทหารช่างทหารพราน ทุกระดับมีจิตใจห้าวหาญรุกรบ เพื่อเข้ากวาดล้างศัตรูของแผ่นดินให้หมดสิ้นจากเขาค้อ

พันโทหาญนำกำลังเข้ายึดฐานที่มั่น และศูนย์สั่งการของ ผกค.เขตงาน 15 ยึดโรงเรียนการเมือง การทหาร ในพื้นที่หนองรางช้าง และหนองแม่นาได้สำเร็จ นับเป็นจุดเปลี่ยนปิดฉาก และสลายอิทธิพลของ ผกค.ในพื้นที่เขาค้อ

ผลงานที่โชกโชนในสนามรบพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง เป็นสิ่งที่ทำให้ พ.อ.หาญ เพไทย ได้รับพระราชทานบำเหน็จความชอบในราชการคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นอัศวิน จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ 6 พฤษภาคม 2525

สถานการณ์สู้รบในพื้นที่เขาค้อ สงบลงในปี พ.ศ.2527

พันเอก หาญ เพไทย ย้ายกลับไปเจริญก้าวหน้าในหน่วยรบพิเศษ ถึงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ (พลตรี) เจ้ากรมการรักษาดินแดน (พลโท) และเป็นที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก (พลเอก) ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2543

หลังเกษียณราชการ พล.อ.หาญ เพไทย ได้รับความไว้วางใจจาก พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ อดีตขุนพลนักรบเขาค้อให้ดูแลความเป็นอยู่ของประชาชน พืชผลการเกษตร เพื่อความกินดีอยู่ดีอย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียนขอเพิ่มเติมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ครับ มีทหารพลีชีพ 24 นาย จากการสู้รบเพื่อเข้าไปค้นหาซากเครื่องบิน F-5A ที่ตกในพื้นที่เขาค้อ ซึ่งขณะนั้นหน่วยรบติดพันกับ ผกค.ในป่าเขาหลายวัน ศพทหารเริ่มเน่าและถูกฝังไว้ในพื้นที่การรบ ซึ่งหลังเกษียณอายุราชการ พล.อ.หาญและอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาตั้งทีมเพื่อค้นหาโครงกระดูก ปลายปี 2540 พล.อ.หาญและอดีตนักรบใช้ทุนส่วนตัว เมื่อมกราคม 2541 ทีมงานขุดพบโครงกระดูก ร.อ.ทองใบ อิ่มจิตต์, ร.ต.พจน์ รัตนัย, จ.ส.อ.สละ มาด้วง ซึ่งอดีตนักรบสามารถยืนยันได้ว่าโครงกระดูกเหล่านี้เป็นของผู้ใด เนื่องจากตอนฝังมีการทำสัญลักษณ์ไว้

การค้นหากระดูกนักรบที่เขาค้อระยะที่ 2 เมื่อมกราคม 2542 สามารถขุดค้นพบโครงกระดูกเพิ่มขึ้นอีก 8 นาย หลังจากนั้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติและสดุดีวีรบุรุษทั้ง 11 นาย จึงได้ขอพระราชทานเพลิง ณ เมรุวัดเขาค้อพัฒนาราม โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานผ้าไตรทอดหน้าศพด้วย ยังความปลื้มปีติต่อครอบครัวผู้วายชนม์เป็นล้นพ้น หลัง พล.อ.หาญเสียชีวิต ภารกิจการค้นหาโครงกระดูกดังกล่าวก็ยกเลิกไป

ในเดือนตุลาคม 2553 พล.อ.หาญ เพไทย มีอาการป่วยด้วยมะเร็งตับอ่อน เข้ารับการรักษาตัว ณ โรงพยาบาลศิริราช ท่านเป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ต่อสู้กับโรคร้ายนานหลายเดือน มีนาคม 2554 อาการทรุดลงไปอีก พล.อ.หาญ เพไทย เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อ 8 เมษายน 2554 รวมอายุได้ 71 ปี

คุณค่าของชีวิตไม่ได้อยู่ที่ได้รับมาเท่าใด คุณค่าของชีวิตอยู่ที่ให้ไปเท่าใด พล.อ.หาญ เพไทย คือ วีรบุรุษนักรบที่ชนรุ่นหลังขอยกย่องสดุดีและระลึกถึงตลอดไป!

article and photos by http://www.matichon.co.th/news/507440

http://2013.gun.in.th/index.php?topic=67906.300