วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เจ้าแม่ลชาเคารี (Laja Gauri)



ฉันจึงเปลือยด้วยพลานุภาพแห่งท่าแหกขาและโยนี


การนับถืออวัยวะเพศทั้งของหญิงและของชายนั้นปรากฏแพร่หลายทั่วไปทั้งอนุทวีป อวัยวะเพศจึงเป็นสัญลักษณ์ดั้งเดิมพื้นฐานของความเชื่อในหลายเรื่อง ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามยุค พระศิวะทรงมีลึงค์ที่ชี้ขึ้นฟ้า ตั้งผงาดค้ำโลกเป็นสัญลักษณ์สะท้อนอำนาจของพระองค์ในฐานะพระผู้สร้าง หากชายใดมีอวัยวะเพศที่ไม่เเขงงตัวเขาจะมิสามารถครอบครองอำนาจแห่งการสร้างชีวิตได้ ในเมื่อเจ้าโลกแท่งเขื่องคือตัวแทนอำนาจการสร้างฝ่ายชาย ฉันใดก็ฉันนั้นอำนาจการให้กำเนิดในฝ่ายหญิงก็ย่อมมีที่มาจากโนนสวรรค์แห่งการให้กำเนิด สรรพชีวิตที่ผุดออกจากโยนีของแม่ย่อมมีชีวิตบนโลกไม่ว่ายาวหรือสั้น โยนีจึงเป็นตัวแทนอำนาจฝ่ายผู้สร้างของแม่ไปโดยปริยาย


ความต่างอย่างหนึ่งของลึงค์กับโยนี คือ โยนีนั้นเห็นองค์ประกอบได้ยาก เนื่องจากเป็นอวัยวะที่ปิดอยู่ แต่ลึงค์นั้นพร้อมแสดงตัวตนได้เสมอจึงเห็นง่าย เมื่อความเห็นยาก-ง่ายที่ต่างกันจึงนำไปสู่แสดงออกเพื่อต่อรองอำนาจแห่งการเกิดที่ต่างไป พระศิวะทรงแสดงตนชัดเจนผ่านลึงค์ที่ตั้งขึ้น (อุรธวลึงค์) ที่ปรากฏเห็นได้ทั้งองค์ศิวะลึงค์และประติมากรรมพระศิวะ แต่เทวีที่ถือครองอำนาจฝ่ายเกิดอีกส่วนกลับไม่แสดงขุมอำนาจแห่งตน แต่ใช้ชื่อหรือสีสันมาเป็นตัวเเทนอำนาจในส่วนนี้ เช่น ภคะ ในคำว่า ภควาน ที่แปลว่าเทวดาหรือเทพเจ้านั้น คำ ๆ นี้แปลว่า ช่องคลอด (โยนี), สมบัติ, หรือขุ่มทรัพย์ ตรงนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่า อำนาจฝ่ายหญิงครอบครองพื้นที่การสร้างอยู่ เทพเจ้าผู้ให้กำเนิดไม่ว่าชาย (ภควาน) หรือหญิง (ภควตี) ย่อมมีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับโยนี อันนำไปสู่ทรัพย์ (การเกิด) ด้วยอำนาจมากมายขนาดนั้นทำไมโยนีจึงถูกคลุมล่ะ จากหลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า แต่เดิมในวัฒนธรรมตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์จนกระทั่งวัฒนธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ อำนาจฝ่ายหญิงทรงพลังเป็นอย่างมาก หลักฐานหนึ่งที่ตกค้างมาจนปัจจุบันของอำนาจโบราณแห่งภคะนี้ คือ เทวีนั่งแหกโชว์ของลับอย่างเปิดเผย “เจ้าแม่ลชาเคารี” (Laja Gauri)


ท่าแหกขานี้ได้แต่ใดมา? สันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ คงได้มาแต่วัฒนธรรมสินธุ เพราะ มีการพบตราประทับมีภาพเจ้าแม่นั่งแหกขาแล้วมีต้นไม้เกิดออกมาจากอวัยวะเพศ สะท้อนอำนาจการเกิดอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา ความตรงไปตรงมานี้ชี้ว่า ท่าแหกขานั้นคือ “ท่าคลอดบุตร” ท่าที่ทรงพลังที่สุดของฝ่ายแม่ในฐานะผู้สร้าง การสร้างจะไม่สมบูรณ์เลย หากไม่มีการแหกขาเพื่อคลอด (ในทางเดียวกันลึงค์ที่แข็งตัวจึงเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของอำนาจการสร้างฝ่ายชาย) พระนางลชาเคารีผู้แสดงท่าทางนี้มีลักษณะอื่นที่สำคัญคือ ทรงไม่มีเศียร ในส่วนเศียรมักถูกแทนที่ด้วยดอกบัวขนาดใหญ่ ประทับแหกขา ร่างการเปลือยเปล่า ในตรงนี้ทางประติมานวิทยาตีความว่า พระนางคือแผ่นดินที่ให้กำเนิดชีวิต ทรงเป็นที่มาแห่งความอุดมสมบูรณ์ทั้งหลายดังแผ่นดินแผ่นน้ำ ในอีกทางหนึ่งดอกบัวก็คือแสดงความผลิบานของโยนีสาวแรกรุ่นที่เปี่ยมด้วยอำนาจแห่งการสร้าง และท่าคลอดบุตรก็แสดงว่า เราคือสิ่งที่ถูกสร้างผ่านช่องคลอดของเจ้าแม่


พระนางที่แสดงเครื่องเพศชัดเจนเช่นนี้จึงได้รับการตีความว่าเป็นเทวีแห่งบรรพกาล แต่พระนางมิเคยเก่าเลย ทรงได้รับการนับถือทั่วทั้งอินเดียมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ ในบริเวณรัฐอานธรประเทศ อุตรประเทศ มัธยมประเทศ CAROL RADCLIFFE BOLON กล่าวว่า แท้จริงแล้วพระนางมีรูปแบบมากกว่านี้ บางครั้งแสดงเศียรอย่างมนุษย์ บางครั้งทรงดอกบัวในพระหัตถ์ทั้ง 2 คล้ายพระลักษมีเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ ลักษณะทางประติมานนำไปสู่ข้อสันนิษฐานว่า พระนางอาจเป็นต้นแบบหนึ่งของพระลักษมีหรือไม่ เพียงแต่เปลี่ยความอุดมสมบูรณ์ที่แสดงออกให้เรียบร้อยขึ้นในสายตาแบบศาสนาฝ่ายชาย คือ จับโยนีมาส่วมสาหรี่นั่นเอง


ในฤคเวทอธิบายว่า พระนางเป็นส่วนหนึ่งกับเทวีอทิติ เจ้าแม่แห่งท้องฟ้า ทรงเป็นรูปปรากฏของอทิติผู้เป็นอนังคะ (ไร้รูป) ประเด็นส่วนนี้หมายความว่า พระนางคือฟ้า คือฝน คือความอุดมสมบูรณ์ ถ้าพูดเช่นนี้คงไม่ต้องอธิบายนะครับว่า ฝนนั้นคือน้ำอะไร ส่วนนี้อธิบายได้ว่า แม้เข้าสู่ยุคพระเวทคือหลังการรับวัฒนธรรมอารยันแล้ว พระนางก็ยังคงครองพื้นที่ด้านความอุดมสมบูรณ์อยู่เช่นเก่า โดยร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีช่วยยืนยันว่า เทวีที่แสดงท่าแหกขานั้นมีสืบมาในศิลปะอินเดียโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 3-6) แอบ ๆ อยู่ตามสัญลักษณ์มงคลต่าง ๆ ทั่วทั้งสถูปสาญจี กระทั่งการสร้างรูปเคารพของพระนางปรากฏเป็นประติมากรรมชัดเจนในสืบพุทธศตวรรษที่ 9 และก็ดูเหมือนว่าจะยังคงมีมาเสมอ บ้างนำเอาไปประดับฐานเสา ฐานสถาปัตยกรรม เป็นเครื่องรางขนาดเล็ก เป็นตราประทับบนเหรียญเงิน เป็นต้น


แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ดึงเอาอำนาจออกจากร่างเปลือยเปล่า สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นหลังความคิดเรื่องการฝึกฝนจิตใจ ที่เน้นการยกเลิกการร่วมเพศ เมื่อการร่วมเพศไม่เกิดโยนีก็ถูกปิดคลุม ผู้คนมองไม่เห็นอีก ต่างจากลึงค์แม้จะถูกคลุมด้วยผ้าก็ยังสามารถมองเห็นได้ อำนาจการสร้างจึงเลื่อนไปสู่ลึงค์มากขึ้น อีกสิ่งหนึ่งคือ ลึงค์นั้นสามารถกระตุ้นได้ด้วยเจ้าของ แต่โยนีมีข้อจำกัดอย่างหนึ่งคือรอบเดือน เมื่อมีรอบเดือนการควบคุมโยนีก็จะยากขึ้น ศาสนาฝ่ายบุรุษจึงใช้ส่วนนี้มาอ้างความเหนือกว่าในเรื่องของการไปสู่ทางหลุดพ้น แต่ถึงกระนั้นโยนีกับลึงค์ก็ยังคงครองพื้นที่ในศาสนาและมีอำนาจในฐานะสัญลักษณ์แห่งการเกิดอยู่ดังเดิม พระนางลชาเคารีก็ยังคงได้รับการเคารพ แม้บทบาทอาจจะลดลงบ้าง เพราะแท้จริงนั้นเทวีไม่เคยตาย โยนีไม่เคยร้างการให้กำเนิด


ข้อมูล


Yogi Ananda Saraswathi https://vedicgoddess.weebly.com/…/by-yogi-ananda-saraswathi…

Carol R. Bolon - Forms of the Goddess Lajjā Gaurī in Indian Art-Pennsylvania State University Press

คำสนทนากับอ.คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร