วันพฤหัสบดีที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2555

มองอินเดีย...จาก Nattapat



       ถ้าหากว่ามีใครสักคนเอ่ยถึงประเทศ "อินเดีย" ความคิดแว่บแรกที่เข้ามาในความคิดของคนไทยส่วนใหญ่ก็ต้องนึกถึง ภาพความรก รุงรังของท้องถนน ขอทาน เครื่องเทศกลิ่นแรง ความสกปรก บางคนก็เหมารวมไปว่าอินเดีย ไม่เห็นมีอะไรน่าดูเลย ซึ่งดิฉันก็เคยรู้สึกเช่นนั้น มาก่อน แต่เมื่อได้เดินทางไปสัมผัส ท่องเที่ยวที่อินเดียมาแล้ว ก็ทำให้ความคิดเก่าๆ ค่อยเปลี่ยนไปเป็นความ "ทึ่ง" อย่างไม่น่าเชื่อ

     หากเราจะเปรียบประเทศอินเดียเป็นคน ก็คงจะเป็นคนคนหนึ่ง ใส่เสื้อผ้าปอนๆ หิ้วย่ามเก่าๆ แต่กลับซุกซ่อนของล้ำค่าเอาไว้มากมาย เมื่อเราได้หยิบของแต่ละชิ้นออกมาเพ่งพินิจดูแล้ว ทั้งหมดช่างงดงามจนประเมินค่ามิได้ แต่อย่างไรเสียเราก็คงต้องใช้ความพยายามพอสมควรสำหรับการค้นหา เพราะเจ้าของสมบัติไม่ได้เก็บทุกอย่างไว้เป็นระเบียบ มันก็เลยผสมปนเปกันไปหมด....

      แต่ถึงกระนั้น การท่องเที่ยวในอินเดียยังมีครบทุกรสชาติให้ได้สัมผัสทั้งผู้คน อาหาร บ้านเรือน ฝูงวัว หรือสถาปัตยกรรมความงามติดอันดับโลกเลยนะคะ เพียงแค่เราเปิดใจให้กว้าง อารมณ์ดี และคิดในแง่บวกเข้าไว้ค่ะ อินเดียเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นพันล้านคน ต่างนิสัยใจคอกันไป บางครั้งอาจจะดูขัดหู ขัดตาเราบ้าง แต่ที่แน่ๆ คนอินเดียมักคุยเก่ง แต่ไม่มีพิษภัยอะไรหรอกค่ะ อาจจะต้องระวังเป็นพิเศษก็คนขับรถแท็กซี่ หรือตุ๊กๆ อาจเจ้าเล่ห์กว่าคนทั่วๆไป (ซึ่งก็คงเหมือนๆกันทุกประเทศในโลก) เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วก็พร้อมที่จะเดินทางไปท่องประเทศที่น่าทึ่งอย่าง อินเดียได้แล้วนะคะ....


      เป็นที่ทราบกันดีว่าอินเดีย ไม่เพียงแต่ศาสนาฮินดู และพุทธเท่านั้นที่มีอิทธิพลในอินเดีย อารยธรรมอิสลามจากเอเชียกลางก็เข้ามาเรืองอำนาจด้วยเช่นกัน โดยการนำมาของพ่อค้าชาวอาหรับ

     และต่อมาจักรวรรดโมกุล หรือมุฆัล (Mughal) ของอิสลาม ซึ่งเป็นนักรบผู้สืบเชื้อสายมาจากติมูร์ และเจงกิสข่าน ก็เข้ามาครองอำนาจและแผ่ขยายไปทั่วราชอาณาจักร และได้วางราฐานการปกครองที่มีระบบ ระเีบียบ ทั้งยังเป็นกลุ่มที่อุปถัมภ์งานศิลปะ... วรรณกรรม และผสมผสานสถาปัตยกรรมเข้ากับอารยธรรมท้องถิ่นได้อย่างกลมกลืน จนเกิดเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ ให้ชนรุ่นหลังอย่างเราๆได้ชื่นชมในความงดงาม

     อย่างเช่นรูปนี้คือ Taj-ul-Masajid, ในเมือง Bhopal ของรัฐ Madhya Pradesh Taj หรือที่มีชื่อเรียกกันว่า " มงกุฎแห่งมัสยิด" โดยการก่อสร้างของสุลต่าน Shah Jahan แห่งเมือง Bhopal