วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บันทึกธรรม เมษายน ๒๕๐๙



บันทึกธรรม เมษายน ๒๕๐๙


พยายามทำจิตให้เป็นปกติสบาย ไม่ฟุ้งเฟ้อซ่านถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ แล้วภาวนาตั้งสติให้อยู่ในอารมณ์เดียว พอสมาธิเกิดจะเห็นแสงสว่างเหมือนแสงไฟฟ้า พิจารณาใช้ปัญญาวิปัสสนาต่อไป ถ้าหากภาวนาเท่าไร ๆ จิตก็ไม่สงบลงได้ ท่านให้ใช้ปัญญาเลยทีเดียว พิจารณาธาตุขันธ์ ปัญจกรรมฐาน เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ หรืออาการ ๓๒ หรืออะไร ๆ ก็ได้ เช่น เรื่องนรกสวรรค์ พุทธานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น คิดนึกไปไตร่ตรองไปใจมันจะสงบลงเอง เมื่อได้ใช้ปัญญาชั่วขณะหนึ่งและจิตสงบก็ให้พักอยู่ในสมาธินั้นสักครู่หนึ่ง คือภาวนาเรื่อย ๆ ไป ให้จิตเป็นสมาธิมาก ๆ ขึ้นแล้วจึงหวนกลบมาใช้ปัญญาต่อไป

ท่านเปรียบเหมือนกรรมกรทำงานแบกหาม เขาเริ่มทำงานสองโมงเช้า พอเที่ยงเขาก็หยุดพักจริง ๆ บ่ายโมงเขาก็เริ่มทำงานใหม่ จนบ่ายสี่โมงเย็นก็หยุดเลิกงาน คือทำงานหนื่อยแล้วต้องหยุดพักผ่อนชั่วคราวจึงทำงานต่อไปใหม่ การปฏิบัติทางจิตต้องทำอย่างนี้ต้องให้จิตมีเวลาได้พักผ่อนบ้าง ขืนใช้ปัญญาตะบันไปไม่ถูกหลัก ขืนสงบเป็นสมาธิเสียเรื่อยก็ไม่มีประโยชน์ มันเหมือนกับสมาธิหัวหลักหัวตอ เป็นเสาไม้ตั้งโด่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย หรือเวลาจิตสงบเกิดนิมิตเห็นโน่นเห็นนี่ มันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ให้พิจารณาสังขารว่าเป็นปฏิกูล ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ดู ๆ ไปจนจิตละคลายความยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นอนัตตา ตัวตนสัตว์ บุคคล หญิง ชาย นั้นของเราของเขา พิจารณาจนเกิดเบื่อหน่ายในสังขารนี้ ให้ท่องคาถา ๒ บทนี้ไว้ให้ขึ้นใจ คือ

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจา

สพฺเพ ธมฺมา อนฺตตา ติ