การแผ่เมตตา
ความหมายและคุณค่า
เมตตา หมายถึงความรัก ความปรารถนาดี ต้องการให้มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปโดยปราศจากความอิจฉาริษยา และหมายถึงความมีไมตรีจิตต่อกันด้วยความจริงใจฐานมิตร ดังนั้น การแผ่เมตตาจึงได้แก่การส่งกระแสจิตของตนไปสู่ผู้อื่นทั้งที่เป็นเทวดา มนุษย์ และสัตว์ด้วยความหวังดีที่จะให้เขามีความสุข ได้รับความสมหวังในชีวิต เป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรมของผู้แผ่เมตตา
การแผ่เมตตา เป็นสิ่งที่โบราณบัณฑิตทั้งหลายปฏิบัติต่อกันมาตามลำดับ เพราะเห็นประโยชน์ว่า การแผ่เมตตานี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติเป็นประจำมีจิตใจอ่อนโยน เยือกเย็นลงได้ และทำให้มองเห็นว่าการที่มนุษย์หวังดีต่อกันนั้นเป็นทางนำให้โลกเกิดสันติ สุขได้ และเมื่อตัวเองได้รับความสุขแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องการให้เพื่อนร่วมโลกได้ รับความสุขอย่างนั้นบ้าง จึงได้แผ่กระแสจิตอันเยือกเย็นและอ่อนโยนนั้นไปยังผู้อื่น ผู้ได้รับเมตตาจิตนั้นแล้วก็จะพลอยมีจิตอ่อนโยน เยือกเย็น และได้พบกับความสุขทางใจไปด้วย ด้วยเหตุแห่งการแผ่เมตตาไปยังเพื่อนมนุษย์เช่นนี้จึงทำให้มนุษย์และสัตว์ อยู่กันด้วยความมีน้ำใจดีต่อกัน รักใคร่กันฉันพี่น้อง และหันหน้าเข้าหากันด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำให้อยู่กันด้วยความอบอุ่นไว้วางใจกัน ปราศจากความระแวกันและกัน เป็นเหตุให้ไม่เบียดเบียนกันแต่จะอุดหนุนเกื้อกูลกันและกันด้วยน้ำใสใจจริง
วิธีการแผ่เมตตา
ท่านสอนว่า การแผ่เมตตานั้นควรแผ่ให้ตนเองก่อน คือต้องปรารถนาความสุขให้แก่ตัวเองเสียก่อนโดยวิธีสร้างความรักตัวเองในทาง ที่ถูกที่ควร คือไม่ทรมานตัวเองด้วยการกระทำ ด้วยความคิดที่ผิด ๆ ทำตัวเองให้มีอำนาจทางจิตด้วยความดีเสียก่อน แล้วค่อย ๆ ขยายวงเมตตาออกไปยังผู้อื่น สัตว์อื่น ตามลำดับ แม้ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ตนไม่ชอบหรือเป็นศัตรูกันก็ตาม เพราะถ้าหากสามารถแผเมตตาไปให้แก่ผู้ไม่ถูกกันได้ นั่นแสดงว่าผู้นั้นได้ยกระดับจิตให้พ้นจากอำนาจความโกรธเคืองหรือความอิจฉา ริษยาได้แล้วด้วยเมตตา เพราะเมตตานี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลสคือ โกธะ
ความโกรธ โทสะ ความประทุษร้าย อรติ ความไม่ชอบใจด้วยอำนาจของความอิจฉาริษยาเสียได้ ต่อไปตัวเองก็จะประสบความสุขความสงบทางใจ ไม่มีความเดือดร้อนใจ ไม่มีความกระวนกระวายใจอะไรต่อไปอีก เพราะปล่อยวางความโกรธความไม่พอใจเสียได้แล้ว ซึ่งผิดกับตอนที่ยังโกรธอยู่ ยังอิจฉาริษยาเขาอยู่ ในตอนนั้นจิตใจจะมีแต่ความร้อนรุ่มกลุ้มอก กระวนกระวายใจ และไม่เป็นอันกินอันนอนอย่างเห็นได้ชัด
วิธีที่ท่านสอนมา ท่านให้แผ่เมตตาทุกวัน อย่างน้อยก็ก่อนนอนทุกคืน ถ้าสามารถทำให้มากครั้งต่อวันได้ก็ยิ่งจะเป็นกำไรชีวิต เช่น นึกแผ่เมตตาทุกอิริยาบถ ขณะเดินไปตามถนนหนทาง ขณะนั่งรถไปทำงาน ขณะเดินทางไปต่างจังหวัด หรือขณะนั่งพักผ่อน ณ ที่ใดที่หนึ่งหลังจากว่างงาน เพราะในขณะนั้นจิตใจจะปลอดโปร่งเหมาะที่จะนึกแผ่เมตตาอย่างยิ่ง และในขณะนั้นเท่ากับว่าได้ทำกรรมฐานไปในตัวด้วย เพราะการแผ่เมตตานี้จัดเป็นกรรมฐานประการหนึ่ง ที่จะทำให้ใจสงบเย็นลงได้ และจะคอยควบคุมจิตใจให้นึกคิดไปในทางที่ถูกที่ควรได้รวดเร็ว ฉะนั้น แม้ว่าผู้แผ่เมตตาจะทำได้เพียงวันละเล็กวันละน้อย แต่ทำทุกวันจนติดเป็นนิสัย ก็จะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้
คำแผ่เมตตา
ผู้ต้องการจะแผ่เมตตา ให้นึกถึงคำภาวนาต่อไปนี้แล้วนึกภาวนาไป ๆ จะกี่เที่ยวก็ตามต้องการยิ่งมากเที่ยวก็จะยิ่งทำให้จิตใจสงบยิ่งขึ้น ทำให้จิตมีอานุภาพมีพลังมากขึ้น
แบบที่หนึ่ง
คำแผ่เมตตาสำหรับตนเอง
อหํ สุขิโต โหมิ นิทฺทุกฺโข อเวโร อพฺยาปชฺโฌ อนีโฆ สุขี อตฺตานํ ปริหรามิ ฯ
ขอข้าพเจ้าจงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มีความคับแค้นใจ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ฯ
คำแผ่เมตตาไปสู่ผู่อื่น
สพฺเพ สตฺตา สุขิตา โหนฺตุ นิทฺทุกฺขา อเวรา อพฺยาปชฺฌา สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ ฯ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงถึงความสุข ปราศจากความทุกข์ ไม่มีเวร ไม่มีภัย ไม่มี ความคับแค้นใจ จงมีความสุขการสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ฯ
แบบที่สอง
คำแผ่เมตตาแบบทั่วไป
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อเวรา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อพฺยาปชฺฌา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อนีฆา จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยอันตรายทั้งสิ้นเถิด ฯ
การแผ่เมตตาทั้งสองแบบนี้ จะใช้เพียงแบบใดแบบหนึ่งตามถนัดก็ได้หรือจะนึกภาวนาเฉพาะภาษาไทยหรือภาษา บาลีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ หรือทั้งสองอย่างก็ได้ ฯ
อานิสงส์ของการแผ่เมตตา
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในพระบาลีอังคุตตรนิกายว่า ผู้แผ่เมตตาเป็นประจำ ย่อมได้รับ
อานิสงส์ ๑๑ ประการ ดังนี้
๑.หลับเป็นสุข คือ หลับสบาย หลับสนิท
๒.ตื่นเป็นสุข คือเมื่อตื่นขึ้นมาก็สบายตัว สบายใจ หายอ่อนเพลีย ไม่มีอาการง่วงติดต่ออีก
๓.ไม่ฝันร้าย คือ จะไม่ฝันเห็นสิ่งเลวร้ายทำให้สะดุ้งตื่นกลางคัน หรือไม่ฝันหวาดเสียวต่าง ๆ
๔.เป็นที่รักของคนทั่วไป คือ จะเป็นคนมีเสน่ห์ ไปที่ใดก็ปราศจากศรัตรูผู้คิดร้ายแม้ผู้ไม่ชอบใจก็จะกลับมาชอบได้
๕.เป็นที่รักของอมนุษย์ทั่วไป คือแม้สัตว์ต่าง ๆ ก็รักผู้แผ่เมตตา ไม่ขบกัด ไม่ทำร้ายทำให้ปลอดภัยจากเขี้ยวงาทุกชนิด
๖.เทวดารักษาคุ้มครอง คือ จะเดินทางไปไหนมาไหนเทวดาจะคุ้มครองให้ความปลอดภัยตลอดเวลา จะไม่ประสบอุปัทวภัยต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
๗.ไฟ ศาสตรา ยาพิษ ไม่แผ้วพาน คือสิ่งเหล่านี้จะทำอันตรายมิได้ จะปลอดภัยจากสิ่งเหล่านี้
๘.จิตเป็นสมาธิเร็ว คือ ผู้แผ่เมตตาเป็นประจำ ถ้าทำสมาธิ จิตจะสงบนิ่งได้เร็ว หรือจะอ่านหนังสือจะทำงานอันใดก็ตาม จิตจะไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมตั้งใจได้เร็ว ทำงานนั้นสำเร็จสมประสงค์
๙.หน้าตาผิวพรรณจะผ่องใส คือผู้มีเมตตาจิตเป็นประจำ หน้าตาและผิวพรรณจะมีน้ำมีนวลมีเสน่ห์เรียก
ความสนใจได้ จะดูอิ่มเอิบตลอดเวลา แม้จะมีอายุมาก แม้รูปร่างจะไม่สวยงาม แม้จะไม่ได้รับการแต่งเติมด้วยเครื่องสำอางใด ๆ หน้าตาผิวพรรณก็ผ่องใสน่าดูน่าชมได้เสมอ
๑๐. ไม่หลงเวลาตาย คือเวลาใกล้ตาย จะไม่หลงเพ้อ ละเมอ หรือโวยวายอย่างนั้นอย่างนี้หรือไม่ดิ้นทุรนทุรายเป็นที่น่าเวทนาของผู้พบ เห็น จะสิ้นใจอย่างสงบเหมือนนอนหลับไป ฉะนั้น
๑๑.เมื่อไม่อาจบรรลุธรรมชั้นสูง ย่อมเข้าถึงพรหมโลก คือ ผู้มีเมตตาจิตเป็นประจำแม้ไม่ได้บรรลุธรรมชั้นสูงขึ้นไปกว่านี้ ก็ย่อมจะไปบังเกิดในพรหมโลกอันเป็นที่เกิดของผู้ได้ฌาน
เพราะฉะนั้น ผู้ประสงค์เป็นที่รักเป็นที่นับถือของผู้อื่น หรือหวังความสุขความสงบความเยือกเย็นแห่งจิตใจจึงควรได้แผ่เมตตากันดูเถิด สร้างเมตตาธรรมไว้ในใจดีกว่าจะมานั่งเดือดร้อนใจด้วยไฟโกรธไฟริษยาอาฆาต และดีกว่าจะมาเสียเวลาหานะหาเมตตามหานิยม นะหน้าทอง เพื่อเพิ่มเสน่ห์ให้แก่ตัวเอง เพราะวิธีปลูกต้นเมตตานี้ ไม่ทำให้หนักตัวเพราะพกพาไป ไม่ต้องกลัวหาย และไม่ต้องกลัวถูกลักขโมย เพราะมีติดตัวติตใจประจำอยู่ตลอดเวลา.