ทรงตัดโมลีถือเพศบรรพชา ณ ฝั่งน้ำอโนมา ฆฏิการพรหมถวายอัฐบริขาร
เจ้าชายสิทธัตถะพร้อมด้วยนายฉันนะที่ตามเสด็จ ทรงขับม้าพระที่นั่งไปตลอดคืน ไปสว่างเอาที่แม่น้ำแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเขตแดนกั้นเมืองทั้ง ๓ คือ กบิลพัสดุ์ สาวัตถี และไพศาลี ทรงถามนามแม่น้ำนี้กับนายฉันนะ นายฉันนะกราบทูลว่า "พระลูกเจ้า! แม่น้ำนี้มีชื่อว่า อโนมานที พระเจ้าข้า"
ทรงพาม้าและมหาดเล็กข้ามแม่น้ำ แล้วเสด็จลงจากหลังม้าประทับนั่งบนหาดทราย อันขาวดุจแผ่นเงิน พระหัตถ์ขวาจับพระขรรค์แสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายจับพระจุฬา คือ ยอดหรือปลายพระเกศา กับพระโมฬี คือ มุ่นพระเกศา หรือผมที่มุ่นเป็นมวย แล้วทรงตัดด้วยพระขรรค์แสงดาบเหลือพระเกศาไว้ยาวประมาณ ๒ นิ้ว เป็นวงกลมเวียนไปทางขวา
เสร็จแล้วทรงเปลื้องพระภูษาทรงออก แล้วทรงครองผ้ากาสาวพัสตร์ที่ฆฏิการพรหมนำมาถวายพร้อมด้วยเครื่องบริขารอย่างอื่นของนักบวช แล้วทรงอธิษฐานเพศเป็นนักบวชที่บนหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำอโนมานั่นเอง
ทรงมอบพระภูษาทรง และม้าพระที่นั่งให้นายฉันนะนำกลับไปกราบทูลแจ้งข่าวแก่พระราชบิดาให้ทรงทราบ นายฉันนะมีความอาลัยรักองค์ผู้เป็นเจ้านาย ถึงร้องไห้กลิ้งเกลือกแทบพระบาทไม่อยากกลับไป แต่ขัดรับสั่งไม่ได้ ด้วยเกรงพระอาญา
เจ้าชายหรือตั้งแต่นี้เป็นต้นไป หนังสือพุทธประวัติเรียกว่า 'พระมหาบุรุษ' ทรงลูบหลังม้าที่กำลังจะจากพระองค์กลับเมือง ม้าน้ำตาไหลอาบหน้า แล้วแลบชิวหาออกเลียพื้นฝ่าพระบาทของพระองค์ผู้เคยทรงเป็นเจ้าของ
ทั้งม้าทั้งคนคือนายฉันนะน้ำตาอาบหน้า ข้ามน้ำกลับมาเมือง แต่พอลับพระเนตรพระมหาบุรุษ ม้ากัณฐกะก็หัวใจแตกออก ๗ ภาค หรือหัวใจวายตาย นายฉันนะจึงปลดเครื่องม้าออก แล้วนำดอกไม้ป่ามาบูชาศพพญาสินธพ แล้วฉันนะก็หอบพระภูษาทรงและเครื่องม้าเดินร้องไห้กลับเมืองคนเดียว
ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา ปัญจวัคคีย์เฝ้าปฎิบัติ พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา
ตอนนี้เป็นตอนที่พระมหาบุรุษบำเพ็ญทุกกรกิริยา กลุ่มคนที่นั่งอยู่เบื้องหน้าพระพักตร์นั้นคือคณะปัญจวัคคีย์ มี ๕ คนด้วยกัน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ทั้งหมดตามเสด็จพระมหาบุรุษออกมาเพื่อเฝ้าอุปัฏฐาก ส่วนผู้ที่ถือพิณอยู่บนอากาศนั้นคือพระอินทร์
คนหัวหน้าคือโกณฑัญญะ เป็นคนหนึ่งในจำนวนพราหมณ์ ๘ คน ที่เคยทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ ตอนนั้นยังหนุ่ม แต่ตอนนี้แก่มากแล้ว อีก ๔ คน เป็นลูกของพราหมณ์ ที่เหลือ คือในจำนวนพราหมณ์ ๗ คนนั้น
ทุกกรกิริยาเป็นพรตอย่างหนึ่งซึ่งนักบวชสมัยนั้นนิยมทำกัน มีตั้งแต่อย่างต่ำธรรมดา จนถึงขั้นอาการปางตายที่เกินวิสัยสามัญมนุษย์จะทำได้อย่างยิ่งยวด ปางตาย คือ กัดฟัน กลั้นลมหายใจเข้าออกและอดอาหาร
พระมหาบุรุษทรงทดลองดูทุกอย่าง จนบางครั้ง เช่น คราวลดเสวยอาหารน้อยลงๆ จนถึงงดเสวยเลย แทบสิ้นพระชนม์ พระกายซูบผอม พระโลมา (ขน) รากเน่าหลุดออกมา เหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เวลาเสด็จดำเนินถึงกับซวนเซล้มลง
ทรงทดลองดูแล้วก็ทรงประจักษ์ความจริง ความจริงที่ว่านี้ กวีท่านแต่งเป็นปุคคลาธิษฐานคือ พระอินทร์ถือพิณสามสายมาทรงดีดให้ฟัง สายพิณที่หนึ่งลวดขึงตึงเกินไปเลยขาด สายที่สองหย่อนเกินไปดีดไม่ดัง สายที่สามไม่หย่อนไม่ตึงนัก ดีดดังเพราะ
พระอินทร์ดีดพิณสายที่สาม (มัชฌิมาปฏิปทา) ดังออกมาเป็นความว่า ไม้สดแช่อยู่ในน้ำทำอย่างไรก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ถึงอยู่บนบก แต่ยังสด ก็สีให้เกิดไฟไม่ได้ ส่วนไม้แห้งและอยู่บนบกจึงสีให้เกิดไฟได้ อย่างแรกเหมือนคนยังมีกิเลสและอยู่ครองเรือน อย่างที่สองเหมือนคนออกบวชแล้ว แต่ใจยังสดด้วยกิเลส อย่างที่สามเหมือนคนออกบวชแล้วใจเหี่ยวจากกิเลส
พอทรงเห็นหรือได้ยินเช่นนั้น พระมหาบุรุษจึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกกรกิริยา ซึ่งเป็นความเพียรทางกาย แล้วเริ่มกลับเสวยอาหารเพื่อบำเพ็ญความเพียรทางใจ พวกปัญจวัคคีย์ทราบเข้าก็เกิดเสื่อมศรัทธา หาว่าพระมหาบุรุษคลายความเพียรเวียนมาเพื่อกลับเป็นผู้มักมากเสียแล้ว เลยพากันละทิ้งหน้าที่อุปัฏฐากหนีไปอยู่ที่อื่น
นางสุชาดากับทาสีมาถวายข้าวมธุปายาส โดยสำคัญว่าเทวดา
นับตั้งแต่พระมหาเสด็จออกบวชเป็นต้นมาจนถึงวันที่เห็นอยู่ในภาพนี้ เป็นเวลาย่างเข้าปีที่ ๖ตอนนี้พระมหาบุรุษเริ่มเสวยอาหารจนพระวรกายมีกำลังเป็นปกติแล้ว และวันนี้เป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ก่อนพระพุทธเจ้านิพพาน ๔๕ ปี สตรีที่กำลังถวายของแด่พระมหาบุรุษคือนางสุชาดา เป็นธิดาของคหบดีผู้หนึ่งในหมู่บ้าน ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ของที่นางถวายคือข้างมธุปายาส คือ ข้าวที่หุงด้วยนมโคล้วนเป็นอาหารจำพวกมังสวิรัติ ไม่ปนเนื้อ ไม่เจือปลา ใช้สำหรับบวงสรวงเทพเจ้าโดยเฉพาะ
ปฐมสมโพธิเล่าว่า นางสุชาดาเคยบนเทพเจ้าไว้ที่ต้นไทรเพื่อให้ได้สามีผู้มีชาติสกุลเสมอกันและได้ลูกที่มีบุญ เมื่อนางได้สมปรารถนาแล้ว จึงหุงข้าวมธุปายาสเพื่อแก้บน ก่อนถึงวันหุง นางสุชาดาสั่งคนงานให้ไล่ต้อนฝูงโคนมจำนวนหนึ่งพันตัวเข้าไปเลี้ยงในป่าชะเอมเครือ ให้แม่โคกินชะเอมเครือ กินอิ่มแล้วไล่ต้อนออกมา แล้วแบ่งแม่โคนมออกเป็นสองฝูงๆ ละ ๕๐๐ ตัว แล้วรีดเอานมจากแม่โคนมฝูงหนึ่งมาให้แม่โคนมอีกฝูงหนึ่งกิน แบ่งและคัดแม่โคนมอย่างนี้เรื่อยๆ ไปจนเหลือแม่โคนม ๘ ตัว เสร็จแล้วจึงรีดน้ำนมจากแม่โคนมทั้ง ๘ มาหุงข้าวมธุปายาส
หุงเสร็จแล้ว นางสุชาดาสั่งให้นางทาสีหญิงรับใช้ไปทำความสะอาดปัดกวาดบริเวณต้นไทรนางทาสีไปแล้วกลับมารายงานให้นางสุชาดาทราบว่า เวลานี้รุกขเทพเจ้าที่จะรับเครื่องสังเวยได้สำแดงกายให้ปรากฏ นั่งรออยู่ที่โคนต้นไทรแล้ว นางสุชาดาดีใจเป็นกำลัง จึงยกถาดข้าวมธุปายาสขึ้นทูนหัวเดินมาที่ต้นไทรพร้อมกับนางทาสี ก็ได้เห็นจริงอย่างนางทาสีเล่า นางจึงน้อมถาดข้าวมธุปายาสเข้าไปถวาย พระมหาบุรุษทรงรับแล้วพระเนตรดูนาง นางทราบพระอาการกิริยาว่า พระมหาบุรุษไม่มีบาตรหรือภาชนะอย่างอื่นรับอาหาร นางจึงกล่าวคำมอบถวายข้าวมธุปายาสพร้อมทั้งถาดนั้น
ถวายเสร็จแล้วก็ไหว้ แล้วเดินกลับบ้านด้วยความยินดี และด้วยความสำคัญหมายว่า พระมหาบุรุษนั้นเป็นรุกขเทพเจ้า
ทรงลอยถาด ถาดจมลงไปกระทบกับถาดเดิม ๓ ใบ พญานาคก็รู้ว่าพระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้
เมื่อนางสุชาดากลับไปบ้านแล้ว พระมหาบุรุษเสด็จลุกขึ้นจากอาสนะ ทรงถือถาดทองข้าวมธุปายาส เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เสด็จลงสรงน้ำ แล้วขึ้นมาประทับนั่งริมฝั่ง ทรงปั้นข้าวมธุปายาสออกเป็นปั้น รวมได้ ๔๙ ปั้น แล้วเสวยจนหมด ปฐมสมโพธิว่า 'เป็นอาหารที่คุ้มไปได้ ๗ วัน ๗ หน'
เสร็จแล้วทรงลอยถาดและทรงอธิษฐานว่า ถ้าจะได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ถาดจงลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง ๘๐ ศอก ไปจนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง ถาดนั้นจึงจมดิ่งหายไปจนถึงพิภพของกาฬนาคราช กระทบกับถาดสามใบของพระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์เสียงดังกริ๊ก
พระพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์นั้นคือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ และพระกัสสปะ พระมหาบุรุษกำลังจะเป็นองค์ที่ ๔
กาฬนาคราชหลับมาตั่งแต่สมัยพระพุทธเจ้าในอดีต จะตื่นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงถาด พอได้ยินก็รู้ได้ว่าพระพุทธเจ้าองค์ใหม่เกิดในโลกแล้ว คราวนี้ก็เหมือนกัน เมื่อได้ยินเสียงถาดของพระมหาบุรุษก็งัวเงียขึ้นแล้วงึมงำว่า "เมื่อวานนี้พระชินสีห์ (หมายถึงพระกัสสปพุทธเจ้า) อุบัติในโลกพระองค์หนึ่ง แล้วซ้ำบังเกิดอีกพระองค์หนึ่งเล่า" ลุกขึ้นมาไหว้พระพุทธเจ้าเกิดใหม่ แล้วก็หลับต่อไปอีก
ความที่กล่าวมาถึงตอนพระมหาบุรุษทรงลอยถาด แล้วถาดลอยทวนกระแสน้ำจนถึง กาฬนาคราชได้บาดาลได้ยินเสียงถาดตกลงนั้น ท่านพรรณาเป็นปุคคลาธิษฐานถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐานก็ได้ความอย่างนี้คือ ถาดนั้นคือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า แม่น้ำคือ โลกหรือคนในโลก คำสั่งสอนหรือพระศาสนาของพระพุทธเจ้า พาคนไหลทวนกระแสโลกไปสู่กระแสนิพพาน คือความพ้นทุกข์ที่ไม่มีเกิด แก่ เจ็บและตาย ส่วนกระแสโลกไหลไปสู่ความเกิด แก่ เจ็บ และตาย พญานาคใต้บาดาลผู้หลับใหล คือสัตวโลกที่หนาแน่นด้วยกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอุบัติบังเกิดขึ้นมาในโลกก็รู้ว่าเป็นพระพุทธเจ้า รู้แล้วก็หลับใหลไปด้วยอำนาจแห่งกิเลสต่อไปอีก
ทรงลาดหญ้าคาประทับเป็นโพธิบัลลังก์ ตกเย็นพญามารก็กรีฑาพลมาขับไล่
เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า 'มารผจญ' ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหก ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่งโมง พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ สัตว์สี่เท้าที่กำลังจะใช้งาทิ่มแทงพระมหาบุรุษนั้นมีชื่อว่า 'นาราคีรีเมขล์' เป็นช้างทรงของพระยาวัสสวดีมารซึ่งเป็นจอมทัพ สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้นคือพระนางธรณี มีชื่อจริงว่า 'สุนธรีวนิดา'
พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน มาทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาลขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้ารักษาพระมหาบุรุษต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมดเพราะเกรงกลัวมาร
ปฐมสมโพธิพรรณนาภาพพลมารตอนนี้ไว้ว่า "...บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง ลางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง...บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ...ลางพวกกายท่อนล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำหลากเป็นมนุษย์..."
ส่วนตัวพระยามารเนรมิตพาหาคือแขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่างๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด) จักรสังข์ อังกัส (ของ้าวเหล็ก) คทา ก้อนศิลา หลาวเหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล (หลาวสามง่าม) ฯลฯ
เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่ามายึดเอาโพธิบัลลังก์คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้ เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน
แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี
สถานที่ที่พระมหาบุรุษประทับนั่งพื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ แสวงหาทางตรัสรู้ ซึ่งอยู่ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น เรียกว่า 'โพธิบัลลังก์' พระยามารกล่าวตู่ว่าเป็นสมบัติของตน ส่วนพระมหาบุรุษทรงกล่าวแก้ว่า บังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งบุญบารมีที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อน แล้วทรงอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน
ปฐมสมโพธิว่า "พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้...ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นปฐพี..." แล้วกล่าวเป็นพยานมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า 'ทักษิโณทก'อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อนางบีบก็หลั่งไหลออกมา
ปฐมสมโพธิว่า "เป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร...หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้นส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งทรงองค์พระยาวัสสวดี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร... พระยามารก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด"
บารมีนั้นคือความดี พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตรที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือแม่พระธรณี
ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฝ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา
เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญสมาธิให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ
ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือ ให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดาส่วนญาณคือปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ 'ฌาน' แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับปัญญา (ญาณ)
พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่หนึ่งในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม)
ญาณที่หนึ่งนี้เรียกว่า'บุพเพนิวาสานุสติญาณ' หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น
พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่สอง ที่เรียกว่า 'จุตูปปาตญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความจุติคือ ดับและเกิดของสัตวโลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า 'กรรม'
พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่สามคือ 'อาสวักขยญาณ' หมายถึงความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์
การได้บรรลุญาณทั้งสามของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนั้น พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปทรงมีพระนามใหม่ว่า 'อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า' แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง
เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิตต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน
ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า
เสด็จไปประทับโคนต้นไทร สามธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงใยดี
ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗วัน คำว่า 'เสวยวิมุติสุข' เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือพักผ่อนภายหลังที่ตรากตรำงานมานั่นเอง
หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธคือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ 'อชปาล' แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำนานบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมา
ระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่ นักแต่งเรื่องเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลัง พระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซึ่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอน ก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี
ทั้งสามนางเข้าไปประเล้าประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าผู้ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้วไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติแม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง
เรื่องธิดาพระยามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้งสามธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคาหรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือความริษยา
ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงพระอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง
ประทับโคนไม้จิก ฝนตกพรำ พญานาคมาขดขนดปกพระกาย กำบังฝน
ระหว่างที่พระพุทธเจ้ายังไม่ตัดสินใจพระทัยว่าจะทรงแสดงธรรมโปรดใครเพื่อประกาศพระศาสนา นับตั้งแต่ตรัสรู้เป็นต้นมานี้ ได้เสด็จแปรสถานที่ประทับแห่งละ ๗ วัน ที่เห็นอยู่ตามภาพนี้เป็นสัปดาห์ที่สาม และสถานที่ประทับก็เป็นแห่งที่สาม คือ ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์
มุจลินทร์เป็นต้นไม้ที่เกิดอยู่ในที่ทั่วไปในประเทศอินเดีย มีชื่อปรากฏอยู่ในวรรณคดี ทั้งประเภทชาดก และอย่างอื่นมากหลาย ในเวสสันดรชาดกก็กล่าวถึงสระมุจลินทร์ที่เวสสันดรไปประทับอยู่เมื่อคราวเสด็จไปอยู่ป่า
ไทยเราแปลต้นมุจลินทร์กันว่าต้นจิก เข้าใจว่าจะใช่ เพราะดูลักษณะที่เกิดคล้ายกัน คือ ชอบเกิดตามที่ชุ่มชื้น เช่น ตามห้วย หนอง คลอง บึง เป็นไม้เนื้อเหนียว ดอกระย้า มีทั้งสีขาวและสีแดง ใบประมาณเท่าใบชมพู่สาแหรก ปกติใบดกหนา เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาดี
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ที่นี่ ฝนเจือลมหนาวตกพรำตลอดเจ็ดวันไม่ขาดสาย ท่านผู้รจนาปฐมสมโพธิได้แต่งเล่าเรื่องไว้ว่า พญานาคชื่อมุจลินทร์ขึ้นจากสระน้ำที่อยู่ในบริเวณแห่งเดียวกันนี้เข้าไปวงขนด ๗ รอบ แล้วแผ่พังพานปกพระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันลมฝนมิให้พัดและสาดกระเซ็นมาต้องพระวรกาย ครั้นฝนหาย ฟ้าสาง พญานาคจึงคลาดขนดออก แล้วจำแลงแปลงเป็นเพศมาณพยืนเฝ้าพระพุทธเจ้าทางเบื้องพระพักตร์
พระพุทธรูปนาคปรกที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้น ก็เป็นนิมิตหมายถึงเหตุการณ์ที่เกิดกับพระพุทธเจ้าในปางหรือในตอนนี้ เป็นพระพุทธรูปที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ทางเมตตา เพราะเป็นรูปหรือภาพที่สอนคนโดยทางอ้อมให้เห็นอานิสงส์หรือผลดีของเมตตา เพราะแม้แต่พญางูใหญ่ในสระน้ำก็ยังขึ้นจากสระเข้าไปถวายความอารักขาแก่พระพุทธเจ้า ทั้งนี้พลานุภาพแห่งพระมหากรุณาของพระพุทธองค์
ทรงคำนึงเห็นอุปนิสัยเวไนยสัตว์เปรียบด้วยดอกบัว ๔ เหล่าจึงรับอาราธนา
ท้าวสหัมบดีพรหมที่เสด็จมากราบทูลอาราธนา พระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก ดังที่ได้บรรยายไว้ในภาพที่ ๓๒ นั้น เป็นเรื่องที่กวีแต่งเป็นปุคคลาธิษฐาน คือ แต่งเป็นนิยายมีบุคคลเป็นตัวแสดงในเรื่อง ถ้าถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน หรืออธิบายกันตรงๆ ก็คือ สหัมบดีพรหมนั้น ได้แก่พระมหากรุณาของพระพุทธเจ้านั่นเอง
ถึงพระพุทธเจ้าจะทรงท้อพระทัยว่าจะไม่แสดงธรรม แต่อีกพระทัยหนึ่งซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าคือพระมหากรุณา และพระมหากรุณานี่เองที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตัดสินพระทัยว่า จะทรงแสดงธรรมหลังจากตัดสินพระทัยแล้ว จึงทรงพิจารณาดูอัธยาศัยของของคนในโลก แล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคนถึง ๔ ระดับ หรือ ๔ จำพวก
๑. อุคฆฏิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมแต่พอท่านยกหัวข้อขึ้นแสดง
๒. วิปจิตัญญู ผู้อาจรู้ธรรมต่อเมื่อท่านอธิบายความแห่งหัวข้อนั้น
๓. เนยยะ ผู้พอแนะนำได้
๔. ปทปรมะ ผู้มีบทเป็นอย่างยิ่ง
จำพวกที่หนึ่ง เหมือนดอกบัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน ที่สอง เหมือนดอกบัวใต้น้ำที่จะโผล่พ้นน้ำ และที่จะบานในวันรุ่งขึ้น ที่สาม เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อๆ ไป และที่สี่ เหมือนดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาของปลาและเต่าเสียก่อน
ครั้นแล้วพระพุทธเจ้าทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์จะเสด็จไปโปรด ทรงมองเห็นภาพของดาบสทั้งสอง ที่พระองค์เคยเสด็จไปทรงศึกษาอยู่ด้วย แต่ทั้งสองนั้นก็สิ้นชีพเสียแล้ว ทรงเห็นเบญจวัคคีย์ว่ายังมีชีวิตอยู่ จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จไปโปรดเบญจวัคคีย์เป็นอันดับแรก