วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

พระโพธิธรรมาจารย์เถร(หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)
วัดป่าเขาน้อย ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

“พระอริยเจ้าผู้หลุดพ้นด้วยอิริยาบถเดิน”

พระเดชพระคุณพระโพธิธรรมาจารย์เถร (สุวัจน์ สุวโจ) พระอริยจ้าผู้เป็นศิษย์สายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต อีกรูปหนึ่ง เมื่อได้พบท่านพระอาจารย์มั่นครั้งแรก ได้รับโอวาทธรรมจากท่านว่า “คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ของเล่น ถ้าทำเล่นจะไม่เห็นของจริง” ท่านเป็นศิษย์ต้นของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้รับการยกย่องจากหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง ท่านเป็นพระที่รักสันโดษ โดดเดี่ยว ปลีกวิเวก มีจิตฝังลึกลงในธรรมของพระตถาคตเจ้าด้วยศรัทธา ที่มีเหตุผล มั่นคง มีความปรารถนาจะบรรพชาและอุปสมบทตั้งแต่เยาว์วัย อุปนิสัยของท่านชอบท่องเที่ยวจาริกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศและต่างประเทศ ไม่ยึดติดในหมู่คณะไม่ติดสถานที่ ไม่คลุกคลีกับใครหรือผู้ใด เปรียบเหมือนนกตัวน้อยๆ โผปีกทั้งสองทะยานขึ้นสู่โลกกว้าง ไม่อาลัยกับสิ่งใดๆ ท่านจึงเป็นพระประเภท “เอเกโก ว” ชอบเที่ยวไปผู้เดียว ปรารถนารสแห่งวิเวกอันมีวิมุตติธรรม เป็นเครื่องดื่มด่ำ บางปีท่านเดินธุดงค์ถึง ๒ รอบ จากจังหวัดสกลนครไปทางจังหวัดอุบลฯ ลงไปทางจังหวัดนครราชสีมา แล้วก็ย้อนกลับมาทางจังหวัดอุดธานี แล้วเข้าสู่สกลนครตามเดิม บางครั้งท่านเป็นผู้นำพระกรรมฐานรุ่นน้องออกธุดงค์ เช่น คราวที่ถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นเสร็จ พระกรรมฐานระส่ำระสายขาดที่พึ่ง ท่านจึงเป็นผู้นำออกธุดงค์ไปทางเขตอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระอาจารย์วัน อุตฺตโม พระอาจารย์จวน กุลเวฏโฐ พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต พระอาจารย์ประยูร เป็นผู้ติดตาม

ท่านถึงที่สุดแห่งธรรมในระหว่างปี ๒๕๑๕-๒๕๒๔ ที่ถ้ำศรีแก้ว จังหวัดสกลนคร ด้วยอิริยาบถเดิน ขณะกลับกุฏิ ท่านเล่าว่า “คำเทศน์ของหลวงปู่ฝั้นและหลวงตามหาบัว เป็นหัวใจอันสำคัญที่นำท่านไปสู่อุดมธรรม” ท่านได้ทำประโยชน์ตนถึงที่สุดแล้ว ก็ยังทำประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อม ท่านได้นำพระธรรมที่บรรลุรู้เห็นแจ้งไปประกาศกังวานไกลถึงต่างแดนเป็นที่เลื่อมใสของชาวต่างชาติ ท่านเป็นพระประเภท “ปาสาณเลขูปโม” คือสลักความดีลงบนแผ่นหินคือหัวใจอันแข็งแกร่ง ไม่มีใครสามารถลบล้างทั้งไปได้ ถูกจารึกตลอดอนันตกาล

เดิมท่านชื่อ “อุ้ง” เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ ณ บ้านตากูก ตำบลตากูก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของนายบุตร และนางกึง ทองศรี มีพี่น้องรวมกัน ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในวัยหนุ่มท่านมีอาชีพเป็นช่างทอง วันหนึ่งท่านนั่งอยู่กลางทุ่งนาเห็นพระธุดงค์เดินผ่านมา เมื่อได้สนทนาเกิดความเลื่อมใส จึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า “กาลข้างหน้าจะต้องออกบวชเป็นพระธุดงค์” อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ปลงธรรมสังเวชในมนุษย์เป็นๆ คือ มีผู้หญิงท้องแก่คลอดก่อนกำหนด ไม่มีใครอยู่ในหมู่บ้าน เธอร้องขอความช่วยเหลือ น้ำคร่ำไหลออกเต็มไปหมด ท่านไปเห็นเช่นนั้นจึงได้เข้าไปช่วยเหลือ ช่วยจับ ช่วยดึง ช่วยบอกให้เบ่งๆ ๆ สิ่งที่ไม่เคยรู้เคยเห็นตั้งแต่วันเกิดมาประจักษ์แก่ใจมากในวันนั้น สงสารก็สงสาร สังเวชก็สังเวช ทั้งเลือดทั้งคนปะปนกันออกมาความเกิดเป็นทุกข์ประจักษ์ใจแบบไม่มีวันลืม เกิดความเบื่อหน่ายในกามทั้งหลายขึ้นมาทันใด ได้กระทำไว้ในใจว่า “สักวันหนึ่งจะต้องออกบวชอย่างแน่นอน”

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ อายุ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกระพุมรัตน์ บ้านตากูก ตำบลตากูก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ฝ่ายมหานิกายโดยมี พระอาจารย์อุเทน เป็นพระบรรพชาจารย์ บวชได้ ๑ ปี ก็ลาสิกขามาช่วยบิดาทำงาน ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ อายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท เป็นพระฝ่ายมหานิกายที่วัดกระพุมรัตน์ ตำบลตากูก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ โดยมี พระครูธรรมทัศน์พิมล (ดัน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์อุเทน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลังจากนั้นท่านได้เดินทางแสวงหาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ จึงได้พบท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าศรัทธาราม อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เกิดความเลื่อมใสปฏิปทาของท่านพระอาจารย์ฝั้นเป็นยิ่งนัก จึงขอญัตติเป็นพระฝ่ายธรรมยุติเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ณ วัดสุทธจินดา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดยมี พระธรรมฐิติญาณ (สังข์ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมธร (ทองดี) เป็นพระอุเทศาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุวโจ” แปลว่า “ผู้ว่ากล่าวตักเตือนง่าย” เมื่อญัตติแล้วท่านได้อยู่จำพรรษาและศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล หลังจากนั้นได้ติดตามพระอาจารย์ผั่น ปาเรสโก ออกธุดงค์ไปทางพระธาตุพนม

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัน จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้ธุดงค์ไปทางจังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้นเทือกเขาภูพาน เข้าพักที่วัดบ้านหนองผือ กราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านพระอาจารย์มั่นได้ให้โอวาทว่า “อาจารย์ของเธอคือพระอาจารย์ฝั้น ตอนนี้ก็แก่มากแล้ว สมควรที่เธอจะต้องทดแทนบุญคุณ เธอไม่ต้องมา อยู่กับเราที่นี่ ให้ไปปฏิบัติท่านอาจารย์ฝั้น ศึกษาและปฏิบัติกับท่านฝั้นก็เป็นที่เพียงพอแล้ว” หลังจากนั้นท่านได้ติดตามอุปัฏฐากท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร จนกระทั่งนิพพาน

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๕-๒๕๒๖ ท่านเดินทางไปเผยแพร่ธรรมที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามคำนิมนต์ มีผู้ศรัทธาซื้อที่ดินถวายสร้างวัดวอชิงตันพุทธวนาราม เลขที่ 4401 south 360th street Aubrn WA 98001 จำนวน ๗ เอเคอร์ (๑๗.๕ ไร่)

ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ สร้างวัดป่าธรรมชาติที่เมืองลาพวนเต้ แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เนื้อที่ ๕ เอเคอร์

ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐-๒๕๓๕ สร้างวัดภูริทัตตวนาราม เมืองออนทาริโอ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย มีชาวอเมริกันศรัทธาซื้อที่ดินจำนวน ๖๐ เอเคอร์ (๑๕๐ ไร่) ราคา ๑๗,๕๐๐,๐๐๐ บาท ถวาย เพื่อสร้างเป็นวัดเมตตาวนาราม เมืองแวลเลย์เซ็นเตอร์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย

ปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ เป็นต้นมา ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดป่าเขาน้อย ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๕ สิริรวมอายุได้ ๘๒ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ๖๑ พรรษา