พระครูวิเวกพุทธกิจ(หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล)
วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
พระปรมาจารย์กรรมฐาน
พระเดชพระคุณหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะ วิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทอ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ ต้องเดินธุดงค์ไปหาวิเวกเจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงเขาในที่ต่างๆทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว
พระเดชพระคุณหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยน้อมไปในทางสมถะ วิปัสสนา มีความเพียรเป็นเลิศ มีความสงบเสงี่ยม กิริยามารยาทอ่อนน้อม สุขุม พูดน้อย และพอใจแนะนำสั่งสอนผู้อื่นในทางนั้นด้วย เป็นผู้ใฝ่ใจในธุดงควัตรหนักแน่นในพระธรรมวินัย ชอบวิเวกและไม่ติดถิ่นที่อยู่ ต้องเดินธุดงค์ไปหาวิเวกเจริญสมณธรรมตามชายป่าดงพงเขาในที่ต่างๆทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๔-๒๔๓๖ หลวงปู่เสาร์ได้ธุดงค์ผ่านหมู่บ้านคำบง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ได้เทศนาสั่งสอนท่านพระอาจารย์มั่นสมัยยังเป็นฆราวาสจนเกิดศรัทธาเลื่อมใสติดตามออกบวช และจุดนี้เป็นความยิ่งใหญ่ของวงศ์พระกรรมฐานตราบจนถึงปัจจุบัน วงศ์พระกรรมฐานจึงขนานนามท่านพระอาจารย์เสาร์ว่า “พระปรมาจารย์กรรมฐาน” อุปนิสัยท่านเป็นคนพูดน้อย ประพฤติองค์เป็นแบบอย่างแก่สานุศิษย์มากกว่ากล่าวอบรมสั่งสอน ท่านมีอุปนิสัยโน้มน้าวไปทางพระปัจเจกเจ้า คือไม่มีนิสัยเทศนาธรรมสั่งสอนทั่วไป
คราวหนึ่งในปี พุทธศักราช ๒๔๘๐ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ท่านจำพรรษาที่วัดป่าบ้านข่าโคม เจ้าจอมมารดาทับทิม มีศรัทธานำผ้าป่ามาทอดถวายและนิมนต์ท่านขึ้นแสดงธรรม ท่านขึ้นธรรมาสน์ตั้ง นโม ๓ จบ กล่าวเทศนาเพียงบทธรรมสั้นๆ ว่า “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค” แล้วจบลงด้วยคำว่า “เอวังฯ” ท่านจึงก้าวลงจากธรรมาสน์ไปอย่างสบาย
ท่านเกิดวันจันทร์ แรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ปี ระกา วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔ ที่บ้านข่าโคม ตำบลหนองขอน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายทาและนางโม่ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน ท่านพระอาจารย์เสาร์ ได้เข้าไปพำนักรับใช้เป็นศิษย์วัดใต้ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี พออายุ ๑๕ ปี พุทธศักราช ๒๔๑๗ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดใต้ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในคณะมหานิกาย ปีพุทธศักราช ๒๔๒๒ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในคณะมหานิกายที่วัดใต้ (วัดพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้จำพรรษาที่นี่ ๑๐ พรรษา ปีพุทธศักราช ๒๔๓๒ ท่านได้ฟังธรรมจาก ท่านเทวธัมมี (ม้าว) แล้วเกิดความศรัทธาเลื่อมใสจึงขอมอบตัวเป็นศิษย์ ได้ทำการญัตติกรรมใหม่ ในคณะธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) มีพระครูทา โชติปาโล เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าอธิการสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ปีพุทธศักราช ๒๔๕๙-๒๔๖๔ ท่านพำนักจำพรรษาที่ถ้ำจำปา ภูผากูด ตำบลหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดมุกดาหาร และได้จำพรรษาอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย วันหนึ่ง หลวงปู่เสาร์นั่งอยู่ในที่สงัดองค์เดียว ท่านพิจารณาถึงอริยสัจ ได้รู้ได้เห็นตามความเป็นจริงนั้น ในวันนั้นท่านก็ได้ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด จวนจะถึงการปวารณาออกพรรษา ท่านก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ จึงได้บอกกับท่านอาจารย์มั่นว่า “เราได้เลิกการปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว!” ท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินดังนั้นก็เกิดปีติเป็นอย่างมากและได้ทราบทางวาระจิตว่า “หลวงปู่เสาร์พบวิมุตติธรรมแน่แล้วในอัตภาพนี้”
หลวงปู่เสาร์ละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานประกอบพร้อมด้วยความมีสติอันไพบูลย์ด้วยอิริยาบถก้มการบพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาอำมาตยาราม นครจำปาศักดิ์ ประเทศลาวเมื่อวันอังคารที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ แรม ๓ ค่ำเดือน ๓ ปีมะเมีย สิริอายุได้ ๘๒ ปี ๖๒ พรรษา