พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์(หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม)
วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
“พระอริยเจ้าผู้เป็นยอดขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมกรรมฐาน”
พระเดชพระคุณพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ท่านปฏิบัติเคร่งครัดในวินัยมาก เป็นเสมือนองค์แทนของหลวงปู่เสาร์และท่านพระอาจารย์มั่น และเป็นยอดขุนพลเอกแห่งกองทัพธรรมกรรมฐาน ภาคอีสาน เป็นหนึ่งในสามพระบูรพาจารย์สายกรรมฐานที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล พระกรรมฐานทั้งมวลล้วนเคยผ่านการอบรม สั่งสอนจากท่านแทบทั้งนั้น
ปีพุทธศักราช ๒๔๕๘ ท่านได้เข้าไปหาท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลฯ เห็นท่านพระอาจารย์มั่นเดินจงกรมอยู่ ท่านจึงนั่งสมาธิรออยู่ที่โคนต้นมะม่วง เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเหลือบเห็นพระอาจารย์สิงห์ ท่านจึงเรียกขึ้นไปบนกุฏิแล้วพูดว่า “เราได้รอเธอมานานแล้ว อยากพบและต้องการชักชวนให้มาปฏิบัติธรรมด้วยกัน” ท่านพรอาจารย์สิงห์ได้ฟังเช่นนั้นก็ตอบทันทีว่า “กระผมอยากมาปฏิบัติธรรมกับท่านพระอาจารย์มานานแล้ว” แล้วท่านพระอาจารย์มั่นก็สอนให้ท่านพิจารณากายคตาสติกัมมัฏฐานข้อ “ปัปผาสัง” ให้เป็นบทบริกรรม
เมื่อท่านได้ฝึกกรรมฐานอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นสอน วันหนึ่งขณะที่ท่านกำลังสอนนักเรียนโรงเรียนสร่างโศรกเกษมศิลป์ ท่านพิจารณากรรมฐานข้อนี้แล้วเพ่งไปที่นักเรียนในชั้นนั้นทั้งหมด ปรากฏว่าทุกคนกลายเป็นโครงกระดูก คราวนั้นท่านเกิดสลดจิตอย่างมาก ตั้งแต่นั้นมาท่านลาออกจากการเป็นครูและติดตามท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์ไปทุกหนทุกแห่ง
ท่านปรารถนาผลอันยิ่งใหญ่คือพุทธภูมิ ท่านได้มุ่งสู่ราวป่าและปฏิบัติตามเยี่ยงพระอริยเจ้าทั้งหลาย ด้วยความวิริยะอุตสาหพยายาม ด้วยวิสัยพุทธบุตร ท่านสามารถรอบรู้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายของกิเลสตัณหาได้อย่างแยบยลด้วยสติปัญญาและกุศโลบายอันยอดเยี่ยมเข้าพิชิตติดตามฆ่าเสียซึ่งอาสวะกิเลสต่างๆ ที่เข้ามารุมเร้าจิตใจของท่านได้อย่างภาคภูมิ จนสามารถรอบรู้นำหมู่คณะพระกรรมฐานแห่งยุคนั้นออกเที่ยวอบรมสั่งสอนประชาชนผู้โง่เขลาเบาปัญญา ให้หันมานับถือพระพุทธศาสนา ยึดมั่นในพระไตรสรณคมน์ น้อมจิตให้หันมาประพฤติปฏิบัติธรรม ครั้งหนึ่งท่านกับพระอาจารย์มหาปิ่นผู้เป็นพระน้องชาย และบรรดาพระอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติเดินธุดงค์ผ่านมาถึงจังหวัดปราจีนบุรี ได้เปิดสำนักปฏิบัติธรรมขึ้นแห่งหนึ่งซึ่งบริเวณนั้นเป็นป่าช้า ชื่อเสียงในการสั่งสอนและแสดงพระธรรมเทศนาของท่านลึกซึ้ง จับใจ เป็นที่นิยมของคนในจังหวัดนั้น ได้สร้างความไม่พอใจแก่คนเลวบางคนเป็นยิ่งนัก ถึงขนาดจ้างมือปืนมาฆ่าท่าน แต่ก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นในขณะที่มือปืนเล็งเป้าหมายยิงท่านนั้น ต้นไม้ทุกต้นในบริเวณป่าช้าแกว่งไกวเหมือนถูกลมพัดอย่างรุนแรง ขนาดต้นไม้โตๆ ล้มระเนระนาด ทำให้มือปืนใจชั่วตกใจเหลือกำลัง จะวิ่งหนีแต่ขาก้าวไม่ออก ปืนได้ตกลงสู่พื้นดิน มือปืนจึงก้มลงกราบพร้อมกับกล่าวคำสารภาพผิด ท่านได้อบรมจิตใจของมือปืนรับจ้างด้วยความเมตตาและปล่อยตัวไป ซึ่งต่อมาผู้มีอิทธิพลซึ่งจ้างมือปืนฆ่าท่านได้สำนึกและได้รับฟังธรรมะโอวาทจากท่าน เกิดปีติในธรรมะอย่างล้นพ้น เลื่อมใสศรัทธาด้วยจิตใจบริสุทธิ์ จึงพร้อมใจกันฝากตัวเป็นศิษย์ของท่าน และได้ชักชวนกันสร้างสำนักสงฆ์อันถาวรถวายท่านเพื่อเป็นเครื่องระลึกคุณของท่านที่ได้เปิดตาเปิดใจพวกเขาให้ได้รับแสงสว่างในธรรมะและได้ตั้งชื่อไว้ว่า “วัดป่ามะม่วง” หรือ “วัดป่าทรงคุณ”
ท่านเกิดที่บ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๒ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๔ ปีฉลู เป็นบุตรของท่านเพีย อัครวงศ์ และนางหล้า บุญโท (เพีย อัครวงศ์ มีตำแหน่งเป็นข้าราชการหัวเมืองลาวกาว-ลาวพวน มีหน้าที่จัดการศึกษาและการพระศาสนา) บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๖ ใน สำนักพระอุปชฌาย์ป้อง ณ วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวทะเล อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทัศนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๒ โดยมี สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕ หลวงชาญนิคม ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความเลื่อมใสในธรรมของพระพุทธเจ้า และเลื่อมใสในพระธุดงค์กรรมฐานมาก มีประสงค์เป็นอย่างยิ่งที่จะฟื้นฟูจังหวัดนครราชสีมาให้เป็นศูนย์รวมของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจึงได้ถวายที่ดินอันเป็นป่าช้าแก่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) สมเด็จจึงนิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ให้ไปช่วยสร้างวัดป่าสาลวัน เพื่อให้เป็นวัดป่าต้นแบบของพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ตลอดชีวิตของท่านได้ทุ่มเทกับงานด้านเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการอบรมสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายได้ตั้งกองทัพธรรมขึ้นที่วัดป่าสาลวัน โคราช ด้วยความมุ่งมั่นและความเป็นผู้เอาจริงเอาจังทุกอย่าง แม้จะมีอุปสรรคมากมายหลายอย่าง แต่ท่านก็ฝ่าฟันเอาชนะมาได้ด้วยธรรม
ท่านละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสนิพพาน เมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗ เวลา ๑๐.๒๐ น. ด้วยโรคมะเร็งเรื้อรังในกระเพาะอาหาร ณ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา สิริอายุ ๗๓ ปี ๕๐ พรรษา