วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต


ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

“พระอริยเจ้าผู้เป็นบิดาของพระกรรมฐาน”

พระเดชพระคุณท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านเป็นสุดยอดพระอรหันต์แห่งยุค เป็นบิดาของพระกรรมฐานตำนานชีวิตและปฏิปทาของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ

ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ ๔ อย่าง คือ

๑. ธัมมปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในธรรม

๒. อัตถปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในอรรถ

๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในภาษา

๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา คือ แตกฉานในปฏิภาณ

ในพุทธศักราช ๒๔๗๘ ท่านบรรลุธรรมชั้นสูงสุดที่ ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นท่านได้ธุดงค์ไปยังดอยนะโม ที่นได้พูดกับลูกศิษย์คือหลวงปู่ขาวว่า “ผมหมดงานที่จะทำแล้ว ก็อยู่สานกระบุงตะกร้า พอช่วยเหลือพวกท่านและลูกศิษย์ ลูกหาได้บ้างเท่านั้น” ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ เป็นครู เป็นพ่อ และเป็นต้นแบบของพระกรรมฐานที่ยึดมั่นในหลักพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเคร่งครัด ท่านถือธุดงค์และทรงผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ท่องเที่ยวธุดงค์ทางภาคอีสาน กลาง เหนือ ในประเทศไทย ประเทศลาว ประเทศเขมร ประเทศพม่า ชอบอยู่ตามถ้ำและป่าลึก อาศัยบิณฑบาตกับชาวป่าชาวเขา เป็นผู้สมถะสันโดษ มักน้อยในลาภสักการะมีชีวิตเป็นอยู่ด้วยพระธรรมวินัยทุกอิริยาบถ ในประวัติศาสตร์ของชาติไทยยังไม่มีพระมหาเถระรูปใดจะยิ่งใหญ่ด้วยวัตรปฏิบัติ ปฏิปทา ถึงพร้อมด้วยศีลธรรม มีอำนาจจิตยิ่งใหญ่ครอบโลกธาตุ เป็นที่เคารพบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ถึงเพียงนี้ พระอรหันต์ในประเทศไทยล้วนเป็นศิษย์ของท่านแทบทั้งนั้น เดิมท่านปรารถนาพุทธภูมิ แต่ด้วยเห็นว่าจะเป็นการเนิ่นช้าจึงถอนความปรารถนานั้น มุ่งมั่นเป็นอรหันต์ในปัจจุบันชาติ ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวบาง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่ายในทางที่ถูก ไม่ยอมทำตามในทางที่ผิด

ท่านเกิดวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ที่บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายคำด้วงและนางจันทร์ แก่นแก้ว เมื่อท่านอายุได้ ๑๔ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง พออายุได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน เมื่อลาสิกขาแล้ว จิตยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสต์อยู่เสมอ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า “เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ามา”


ครั้นอายุได้ ๒๒ ปี มีความอยากบวชเป็นกำลัง ได้เข้าศึกษาพระธรรมในสำนักหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล วัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ได้อุปสมบท ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๖ โดยมี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสีทา ชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ (สุ่ย) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทแล้วได้กลับมาศึกษากรรมฐานภาวนาในสำนักหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี ใช้คำบริกรรมภาวนาว่า “พุทโธ”

อยู่มาวันหนึ่งท่านบังเกิดสุบินนิมิตว่า “ได้เดินออกจากหมู่บ้านๆ หนึ่ง มีป่า เลยป่าออกไปก็ถึงทุ่งเวิ้งว้าง จึงเดินตามทุ่งไป ได้เห็นต้นชาติต้นหนึ่งที่บุคคลตัดให้ล้มลงแล้ว ปราศจากใบ ตอของต้นชาติสูงประมาณ ๑ คืบ ใหญ่ประมาณ ๑ คนโอบ ท่านขึ้นสู่ขอนชาตินั้น พิจารณาดูอยู่ว่าผุพังไปบ้าง และจักไม่งอกขึ้นได้เลย ในขณะที่กำลังพิจารณาอยู่นั้น มีม้าตัวหนึ่งไม่ทราบว่ามาจากไหน มาเทียมขอนชาติ ท่านจึงขี่ม้าตัวนั้น ม้าพาวิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างเต็มฝีเท้า ขณะที่ม้าพาวิ่งไปนั้นได้แลเห็นตู้ใบหนึ่งเหมือนตู้พระไตรปิฎก ตั้งอยู่ข้างหน้า ตู้นั้นวิจิตรด้วยเงินสีขาววาววับเป็นประกายยิ่งนัก ม้าพาวิ่งเข้าไปสู่ตู้นั้น ครั้นถึงม้าก็หยุดและหายไป ท่านลงตรงมายังตู้พระไตรปิฎกแต่มิได้เปิดตู้ดู ไม่ทราบว่ามีอะไรอยู่ในนั้น แลดูไปข้างหน้าเห็นเป็นป่าชัฏเต็มไปด้วยขวากหนามต่างๆ จะไปต่อไม่ได้”

เลยรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเมื่อท่านพิจารณาสุบินนิมิตนั้นจึงได้ความว่า การที่ท่านออกบวชในพระพุทธศาสนาและปฏิบัติตามอริยมรรคนั้น ชื่อว่าออกจากบ้าน บ้านนั้นคือความผิดทั้งหลาย และป่านั้นคือกิเลส ซึ่งเป็นความผิดเหมือนกัน ขอนชาติ ได้แก่ ชาติความเกิด ม้า ได้แก่ ตัวปัญญาวิปัสสนา จักมาแก้ความผิด การขึ้นสู่ม้าแล้วม้าพาวิ่งไปสู่ตู้พระไตรปิฎกนั้น คือ เมื่อพิจารณาไปแล้วจักสำเร็จเป็นปฏิสัมภิทานุศาสน์ ฉลาด รู้อะไรๆ ในเทศนาวิธี ทรมานแนะสั่งสอนสานุศิษย์ทั้งหลายให้ได้รับความเย็นใจในข้อปฏิบัติทางจิต แต่จะไม่ได้ในจตุปฏิสัมภิทาญาณเพราะไม่ได้เปิดดูตู้นั้น

สุบินนิมิตนี้เป็นบุพพนิมิตบอกความมั่นใจในการทำความเพียรของท่าน ท่านจึงตั้งหน้าทำความเพียรประโยคพยายามมิได้ท้อถอย มีการเดินจงกรมบ้าง นั่งสมาธิบ้าง ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ก็มิได้ทอดทิ้ง คงดำเนินตามข้อปฏิบัติอันท่านโบราณบัณฑิตทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นทรงบำเพ็ญตามทางแห่งอริยมรรค ท่านได้แสวงหาวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วยธาร เงื้อมผา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับเจ้าพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ๓ พรรษา แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือ ถ้ำสาลิกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงโตจังหวัดลพบุรี ขึ้นไปทาง ภาคเหนือจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงและเป็นพระอุปัชฌาย์ แต่ท่านไม่รับตำแหน่ง หนีเข้าป่าอาศัยอยู่ตามดอยมูเซอ ถ้ำเชียงดาว ฯลฯ แล้วออกไปพัก ตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่งเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสน์ บรรลุพระอรหัตผล ที่ถ้ำดอกคำ ตำบลน้ำแพร่ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ จึงกลับมาภาคอีสาน

วาระสุดท้ายท่านจำพรรษาที่ วัดป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เวลา ๐๒.๒๓ น. สิริอายุ ๘๐ ปี ๕๖ พรรษา