หลวงปู่สาม อกิญฺจโณ
วัดป่าไตรวิเวก อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
“พระอริยเจ้าผู้เคร่งครัดในธุดงควัตร”
พระเดชพระคุณหลวงปู่สาม อกิญฺจโน ท่านเป็นพระอริยสงฆ์ผู้เจริญด้วยธุดงควัตรสัมมาปฏิบัติ กตัญญูกตเวทีต่อพระบูรพาจารย์เป็นที่ตั้ง เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ท่านนอนเฝ้ารักษาศพของท่านอาจารย์มั่นตลอด ๓ เดือนจนถึงพิธีประชุมเพลิง เบื้องต้นก่อนจะเข้ามาวงศ์กรรมฐานท่านได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ให้เข้าหาท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ไม่ติดสถานที่ ท่องเที่ยวภาวนาตามป่าเขาไปเรื่อยทั่วทุกภาคของประเทศไทย ท่านจำพรรษามากแห่งแทบจะไม่ซ้ำกัน เป็นหนึ่งในกองทัพธรรมยุคแรกที่ธุดงค์เผยแพร่ธรรมจนได้รับคำชมจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า “เป็นผู้เจริญด้วยธุดงควัตร จำพรรษาได้มากแห่ง และเป็นผู้เคร่งครัดในธุดงควัตร” ท่านมีสหธรรมิกคือ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ และท่านพ่อลี ธมฺมธโร ท่านสามารถเข้าฌานสมาบัติได้อย่างเชี่ยวชาญ
ครั้งหนึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๐๖ ท่านจำพรรษากับพวกกะเหรี่ยงที่บ้านแม่หลอด อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ออกพรรษาแล้วเที่ยววิเวกไปแถวเชิงบ้านผ่าเด่ง อยู่กับพวกแม้วพวกกระเหรี่ยง ทำให้เขาเกิดศรัทธา จึงทำให้ท่านถูกคนอิจฉาริษยาและคิดปองร้ายหมายเอาชีวิต คืนวันหนึ่งท่านนั่งเข้าฌานสมาบัติพิจารณาธรรมชั้นสูงตัดขาดความเกี่ยวพันกับโลกภายนอก ดื่มด่ำรสพระธรรม เพลิดเพลินในแดนแห่งจิต สมาธิ ท่องเที่ยงไปทั้งเบื้องสูงและเบื้องล่าง โปรดจิตวิญญาณที่ยากไร้ ได้เวลานานพอสมควรท่านจึงถอนจิตออกจากฌานสมาบัติ ปรากฏฝากระท่อมทับตัวอยู่ เมื่อเอาสิ่งขิงที่ทับตัวออก จุดเทียนขึ้นดูมีเลือดท่วมกาย ข้างกายมีก้อนหินตกอยู่ ๑ ก้อนและอีกข้างหนึ่งมี ๒ ก้อน มีเลือดเปรอะเกรอะกรังเปื้อนตัว ท่านเล่าว่า พวกโจรผู้ร้ายคงเอาก้อนหินทุบศีรษะและใบหน้าท่านอย่างแรงและคิดว่าท่านคงตายแล้ว จึงตีฝากระท่อมให้ล้มทับตัวท่านไว้ ท่านรอดตายมาได้ราวปาฏิหาริย์ นี้คือความอัศจรรย์แห่งฌานสมาบัติของพระอริยเจ้า
ท่านเกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่บ้านนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ เป็นบุตรของนายปวม และ นางกึง เกษแก้วสี ครั้งอายุได้ ๑๙ ปี ได้บวชเป็นสามเณรที่วัดนาสามและอุปสมบทเป็นฝ่ายมหานิกายในปีพุทธศักราช ๒๔๑๗ โดยมี พระครูวิมลศีลพรต เป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเอี่ยม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์สาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อได้ทรายข่าวว่าพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น พักอยู่ที่ป่าหนองเสม็ด ตำบลบ้านเฉลียง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ จึงไปพบท่านอาจารย์ดูลย์ ณ ที่นั้น ถวายตนเป็นศิษย์แล้วออกธุดงค์ไปบนเขาพนมสวาย
ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ได้ศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น ที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ท่านพระอาจารย์มั่น แนะนำให้ติดตามท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาตโม และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ออกธุดงค์ ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑ อายุ ๒๘ ปี ได้ติดตามคณะกองทัพธรรมของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ไปทางจังหวัดยโสธร และได้ญัตติเป็นพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๑ เวลา ๑๖.๐๖ น. ณ วัดศรีธรรมาราม อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร โดยมีพระครูวิจิตรวิโส ธนาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ท่านเข้าสู่นิพพานที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เวลา ๑๙.๓๐ น. สิริอายุได้ ๙๑ ปี ๔ เดือน ๑๙ วัน ๖๒ พรรษา