วันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- คาถาชินบัญชร




คาถาชินบัญชร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พระคาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ตกทอดมาจากลังกา
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯค้นพบในคัมภีร์โบราณและได้ดัดแปลงแต่งเติมให้ดีขึ้นเป็นเอกลักษณ์พิเศษ
ผู้ใดสวดภาวนาพระคาถานี้เป็นประจำสม่ำเสมอจะทำให้เกิดความสิริมงคลแก่ตนเอง
ศัตรูไม่กล้ากล้ำกราย มีเมตตามหานิยม ขจัดภัยตลอดจนคุณไสยต่างๆ
ก่อนเจริญภาวนาให้ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วระลึกถึงหลวงปู่โตและตั้งคำอธิษฐานแล้วเริ่มสวด





เริ่มสวด นโม 3 จบ 

นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ


นึกถึงหลวงปู่โตแล้วตั้งอธิษฐาน

ปุตตะกาโมละเภปุตตัง ธะนะกาโมละเภธะนัง
อัตถิกาเยกายะญายะ เทวานังปิยะตังสุตตะวา
อิติปิโสภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มรณังสุขัง อะระหังสุคะโต นะโมพุทธายะ



เริ่มบทพระคาถาชินบัญชร 
  
  1. ชะยาสะนากะตา พุทธา       เชตวา มารัง สะวาหะนัง
      จะตุสัจจาสะภัง ระสัง         เย ปิวิงสุ นะราสะภา.

  2. ตัณหังกะราทะโย พุทธา      อัฏฐะวีสะติ นายะกา
      สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง       มัตถะเกเต มุนิสสะรา.

  3.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง        พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
     สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง      อุเร สัพพะคุณากะโร.

  4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ        สารีปุตโต จะทักขิเณ
      โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง    โมคคัลลาโน จะ วามะเก.

  5. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง       อาสุง อานันทะ ราหุโล
      กัสสะโป จะ มะหานาโม      อุภาสุง วามะโสตะเก.

  6. เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง        สุริโย วะ ปะภังกะโร
      นิสินโน สิริสัมปันโน          โสภิโต มุนิปุงคะโว

  7. กุมาระกัสสโป เถโร           มะเหสี จิตตะ วาทะโก
     โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง       ปะติฏฐาสิคุณากะโร.

  8. ปุณโณ อังคุลิมาโร จะ          อุปาลี นันทะ สีวะลี
      เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา        นะลาเต ติละกา มะมะ.

  9. เสสาสีติ มะหาเถรา            วิชิตา ชินะสาวะกา
      เอเตสีติ มะหาเถรา            ชิตะวันโต ชิโนระสา
      ชะลันตา สีละเตเชนะ           อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

10. ระตะนัง ปุระโต อาสิ            ทักขิเณ เมตตะ สุตตะกัง
      ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ         วาเม อังคุลิมาละกัง

11. ขันธะโมระปะริตตัญจะ         อาฏานาฏิยะ สุตตะกัง
      อากาเส ฉะทะนัง อาสิ           เสสา ปาการะสัณฐิตา

12. ชินา นานาวะระสังยุตตา         สัตตัปปาการะ ลังกะตา
      วาตะปิตตาทะสัญชาตา          พาหิรัช ฌัตตุปัททะวา.

13. อะเสสา วินะยัง ยันตุ            อะนันตะชินะ เตชะสา
      วะสะโต เม สะกิจเจนะ          สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

14. ชินะปัญชะระมัชฌัมหิ           วิหะรันตัง มะฮี ตะเล
      สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ        เต มะหาปุริสาสะภา.

15. อิจเจวะมันโต            สุคุตโต สุรักโข
     ชินานุภาเวนะ           ชิตุปัททะโว
     ธัมมานุภาเวนะ          ชิตาริสังโฆ
     สังฆานุภาเวนะ          ชิตันตะราโย
     สัทธัมมานุภาวะปาลิโต   จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ.



คำแปล 

  1. พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์
      ทรงพิชิตพระยามาราธิราชผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวยอมตรสคือ
      อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

  2. มี ๒๘ พระองค์คือ พระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นต้น พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น

  3. ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้า
      องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่บนศีรษะ
      พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง
      พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก

  4. พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจพระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา
      พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง

  5. พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา
      พระกัสสะปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย

  6. มุนีผู้ประเสริฐคือพระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริดังพระอาทิตย์ส่องแสง
      อยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

  7. พระเถระกุมาระกัสสะปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ
      มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ

  8. พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวะลี
      พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฏเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก

  9. ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือผู้มีชัยและเป็นพระโอรส
      เป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย แต่ละองค์ล้วน
      รุ่งเรืองไพโรจน์ด้วยเดชแห่งศีลให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่

10. พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้าพระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา
      พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตรอยู่เบื้องหลัง

11. พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร
      เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ

12. อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้
      ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง
      สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น

13. ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้าไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ
      เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อม
      แห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวะทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน
      อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น
      เป็นสมุฏฐานจงกำจัดให้พินาศไปอย่าได้เหลือ

14. ขอพระมหาบุรุษผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น
      จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร
      ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดีฉะนี้แล

15. ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม
      จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า
      ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพ
      แห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ
  

แปลและอธิบายอย่างละเอียด


1.ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง 
   จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา. 

พระพุทธเจ้าและพระนราสภาทั้งหลาย ผู้ประทับนั่งแล้วบนชัยบัลลังก์ ทรงพิชิตพระยามาราธิราช ผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนาราชพาหนะแล้ว เสวย อมตรส คือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์


พระพุทธองค์ทรงพิชิตพระยามารที่สำคัญได้ถึง 3 ครั้ง กล่าวคือ 


1.พระยามารห้ามบรรพชาว่า อีก ๗ วันจะได้เสวยสมบัติบรมจักร แต่ไม่ทรงฟัง 

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จทรงม้าพระที่นั่งผ่านประตูเมืองออกมา ในเวลาราตรีที่มีแสงจันทร์กระจ่าง ก็มีเสียงคล้ายเสียงดนตรีขึ้นที่ข้างประตูนอกเมือง เสียงนั้นร้องห้ามเจ้าชายมิให้เสด็จออกบวช เจ้าชายสิทธัตถะ ท่านนี้มีนามชื่อใด” 
เจ้าของสียง “เราชื่อวสวัตตีมาร” 

พระยามารแจ้งข่าวให้เจ้าชายทรงทราบว่า อีก ๗ วันในเบื้องหน้า นับแต่วันนี้เป็นต้นไป จักรแก้วจักเกิดขึ้น ผู้ได้เป็นเจ้าของจักรแก้วนั้นคือเจ้าชาย จักรแก้วตามความหมายของพระยามารในที่นี้คือ ความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ

เจ้าชาย “เรื่องนี้เราทราบแล้ว” 
พระยามาร “ถ้าเป็นเช่นนั้น ท่านจะเสด็จออกบวชเพื่อประโยชน์อันใด” 
เจ้าชาย “เพื่อสัพพัญญุตญาณ” 

สัพพัญญุตญาณตามความหมายในพระดำรัสของเจ้าชาย คือ ความได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า ความที่บรรยายมาทั้งหมดนั้น บรรยายตามความในวรรณคดีที่กวีท่านแต่งไว้ในปฐมสมโพธิ และที่พระพุทธโฆษาจารย์รจนาไว้ในอรรถกถาธรรมบท โดยท่านสาธกให้เห็นเป็นปุคคลาธิษฐาน

ปุคคลาธิษฐาน คือ การแปลสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตา หรือสัมผัสไม่ได้ด้วยประสาททั้ง ๕ ที่เรียกว่า ‘นามธรรม’ แปลออกมาให้เห็นเป็นฉาก เป็นบุคคลซึ่งเป็นตัวแสดงในเรื่อง เหมือนนักเขียนนวนิยายที่ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาทางตัวละคร ถ้าไม่สาธกอย่างนี้คนก็จะไม่เข้าใจ และท้องเรื่องก็จะจืด

ความในวรรณคดีที่เป็นปุคคลาธิษฐานดังกล่าวข้างต้นนั้น ถ้าว่าถึงเนื้อแท้ก็คือ พอเสด็จออกพ้นประตูเมือง เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งทรงอยู่ในภาวะปุถุชน แม้พระทัยหนี่งจะปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้า แต่อีกพระทัยหนี่งก็ยังทรงห่วงบ้านเมือง

ความที่ทรงห่วงนี้ กวีท่านจำลองออกมาในรูปของพระยามารผู้ขัดขวาง แต่แล้วเจ้าชายก็ทรงเอาชนะเสียได้ จะเรียกว่าชนะพระยามาร หรือชนะความห่วงที่เป็นข้าศึกในพระทัยนั้นก็ได้ทั้งนั้น


2.พญามารมาตอนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้ 

เหตุการณ์ที่เกิดกับพระมหาบุรุษตอนนี้เรียกว่า ‘มารผจญ’ ซึ่งเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ก่อนตรัสรู้ไม่กี่ชั่วโมง พระอาทิตย์กำลังอัสดงลงลับทิวไม้ สัตว์ ๔ เท้าที่กำลังจะใช้งาทิ่มแทงพระมหาบุรุษนั้นมีชื่อว่า ‘นาราคีรีเมขล์’ เป็นช้างทรงของพระยาวสวัตตีมารซึ่งเป็นจอมทัพ สตรีที่กำลังบีบมวยผมนั้นคือพระนางธรณี มีชื่อจริงว่า ‘สุนทรีวนิดา’ 

พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน มาทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาล ขนาดเทพเจ้าที่มาเฝ้ารักษาพระมหาบุรุษต่างเผ่นหนีกลับวิมานกันหมด เพราะเกรงกลัวมาร

ปฐมสมโพธิพรรณนาภาพพลมารตอนนี้ไว้ว่า “…บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง ลางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง …บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ …ลางพวกกายท่อนล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำหลากเป็นมนุษย์…” 

ส่วนตัวพระยามารเนรมิตพาหาคือแขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่างๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด) จักรสังข์ อังกุส (ของ้าวเหล็ก) คทา ก้อนศิลา หลาว เหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล (หลาวสามง่าม) ฯลฯ

เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วก็ใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่ามายึดเอาโพธิบัลลังก์ คือตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพญามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยานไม่ได้ เทพเจ้าเล่าก็เปิดหนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณี พระนางธรณีจึงผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน

 สถานที่ที่พระมหาบุรุษประทับนั่งเพื่อทรงบำเพ็ญเพียรทางใจ แสวงหาทางตรัสรู้ ซึ่งอยู่ที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น เรียกว่า ‘โพธิบัลลังก์’ พระยามารกล่าวตู่ว่าเป็นสมบัติของตน ส่วนพระมหาบุรุษทรงกล่าวแก้ว่า บังเกิดขึ้นด้วยผลแห่งผลบุญบารมีที่พระองค์บำเพ็ญทรงมาแต่ชาติปางก่อน แล้วทรงอ้างพระนางธรณีเป็นพยาน

ปฐมสมโพธิว่า “พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้…ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากปฐพี…” แล้วกล่าวเป็นพยานมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘ทักษิโณทก’ อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อนางบีบก็หลั่งไหลออกมา

ปฐมสมโพธิว่า “เป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร…หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยไปตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้น ส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งองค์พระยาวสวัตตี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายตรงอยู่ได้ ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร… พระยามารก็พ่ายแพ้ไปในที่สุด” 

ที่นี้จะถอดความเป็นธรรมาธิษฐาน กล่าวคือ มารนั้นคือกิเลสในใจคน เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสติ ปัญญาที่เป็นเครื่องรู้บาปบุญคุณโทษ กิเลสยินดีในการทำชั่วคน เห็นใครทำดีจึงขัดขวาง พระมหาบุรุษก่อนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ในพระทัยยังมีกิเลสอยู่ แต่เป็นกิเลสที่กำลังจะหลุดจากขั้วพระทัย กิเลสนี้คือความห่วงใย คิดถึงความหลัง คิดถึงความสุขในราชสมบัติและบ้านเมือง แต่ทรงชนะกิเลสนี้ได้ด้วยบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาบารมีนั้นคือความดี พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตร ที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า ความดีที่ทำไว้ไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือพระแม่ธรณี


ครั้งที่ 3 พญามารมาตอนใกล้ปรินิพพาน 

ถึงเพ็ญเดือน ๓ พรรษาที่ ๔๕ พญามารเข้าเฝ้าทูลให้เสด็จปรินิพพาน ทรงรับอาราธนา พระพุทธเจ้าเสด็จจาริกประกาศพระศาสนาตามแคว้นและเมืองต่างๆ เป็นเวลาถึง ๔๕ พรรษานับตั้งแต่วันตรัสรู้เป็นต้นมา พรรษาที่ ๔๕ จึงเป็นพรรษาสุดท้ายของพระพุทธเจ้า และนับเป็นเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุได้ ๘๐ ปีนับแต่ประสูติเป็นต้นมา

พรรษาสุดท้าย พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุคาม แขวงเมืองไพศาลี ระหว่างพรรษาทรงพระประชวรอาพาธหนัก จวนเจียนจะเสด็จนิพพาน พระภิกษุทั้งปวงที่ยังเป็นปุถุชน หรือแม้แต่พระอานนท์ องค์อุปัฎฐาก ต่างก็หวั่นไหว เพราะความตกใจที่เห็นพระพุทธเจ้าประชวรหนัก พระพุทธเจ้าตรัสบอกพระอานนท์ว่า เวลานี้พระกายของพระองค์ถึงอาการชรามาก มีสภาพเหมือนเกวียนชำรุด ที่ซ่อมแซมด้วยไม้ไผ่

ทรงหายจากอาพาธคราวนี้แล้ว และเมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอานนท์เสด็จไปประทับที่ร่มพฤกษาแห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์ แขวงเมืองไพศาลี เวลากลางวัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอภาสนิมิตแก่พระอานนท์ว่า ‘อิทธิบาท ๔’ (ชื่อของธรรมหมวดหนึ่งมี ๔ ข้อ) ถ้าผู้ใดได้บำเพ็ญได้เต็มเปี่ยมแล้ว สามารถจะต่ออายุให้ยืนยาวไปได้อีกกำหนดระยะเวลาหนึ่ง

‘โอภาสนิมิต’ แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่าบอกใบ้ คือพระพุทธเจ้ามีพระชนมายุจะสิ้นสุดลงในปีที่กล่าวนี้ จึงทรงบอกใบ้ให้พระอานนท์กราบทูลอาราธนาให้พระพุทธเจ้าทรงมีพระชนมายุยืนยาวต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่พระอานนท์ท่านนึกไม่ออก ทั้งๆที่พระพุทธเจ้าทรงบอกใบ้ถึง ๓ หน

ปฐมสมโพธิบอกว่า เมื่อพระอานนท์นึกไม่ออกเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสบอกพระอานนท์ให้ไปนั่งอยู่ที่ใต้ร่มไม้อีกแห่งหนึ่ง แล้วมารก็ไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลพระพุทธเจ้าให้เสด็จนิพพาน พระพุทธเจ้าทรงรับคำแล้วทรงปลงอายุสังขาร


 มารอีก 3 ตัว 

เสด็จไปประทับโคนต้นไทร ๓ ธิดามารมาประโลมล่อให้หลง ก็ไม่ทรงไยดี ตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นเวลา ๗ วัน คำว่า ‘เสวยวิมุติสุข’ เป็นภาษาที่ใช้สำหรับท่านผู้ทรงหลุดพ้นแล้ว เทียบกับภาษาสามัญชนคนมีกิเลสก็คือพักผ่อนภายหลังจากที่ตรากตรำงานมานั่เอง

หลังจากนั้นจึงเสด็จไปยังต้นอชปาลนิโครธ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ต้นนิโครธหรือต้นไทร ส่วนคำหน้าคือ ‘อชปาล’ แปลว่า เป็นที่เลี้ยงแพะ ตามตำราบอกว่าที่ใต้ต้นไทรแห่งนี้เคยเป็นที่อาศัยของคนเลี้ยงแพะมานาน คนเลี้ยงแพะที่ตำบลแห่งนี้ได้เข้ามาอาศัยร่มเงาของต้นไทรเป็นที่เลี้ยงแพะเสมอมาระหว่างที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่นี่

นักแต่งเรื่องในยุคอรรถกถาจารย์ ยุคนี้เกิดขึ้นภายหลังพระพุทธเจ้านิพพานแล้วหลายร้อยปี ได้แต่งเรื่องขึ้นเฉลิมพระเกียรติของพระพุทธเจ้าว่า ลูกสาวพระยามารซี่งเคยยกทัพมาผจญพระพุทธเจ้าเมื่อตอนก่อนตรัสรู้เล็กน้อยแต่ก็พ่ายแพ้ไป ได้ขันอาสาพระยามารผู้บิดาเพื่อประโลมล่อพระพุทธเจ้าให้ตกอยู่ในอำนาจของพระยามารให้จงได้ ลูกสาวพระยามารมี ๓ คน คือ นางตัณหา นางราคา และนางอรดี ทั้ง ๓ นางเข้าไปประโลมพระพุทธเจ้าด้วยกลวิธีทางกามารมณ์ต่างๆ เช่น เปลื้องภูษาอาภรณ์ทรงออก แปลงร่างเป็นสาวแรกรุ่นบ้าง เป็นสาวใหญ่บ้าง เป็นสตรีในวัยต่างๆ บ้าง แต่พระพุทธเจ้าทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิงแล้ว ไม่แสดงอาการผิดปกติแม้แต่ลืมพระเนตรแลมอง

เรื่องธิดามารประโลมพระพุทธเจ้าก็เป็นเรื่องปุคคลาธิษฐาน ถอดความได้ว่า ทั้ง ๓ ธิดาพระยามารนั้น ล้วนหมายถึงกิเลสทั้งนั้น อย่างหนึ่งคือความยินดี อีกอย่างหนึ่งคือความยินร้ายหรือความเกลียดชัง ความยินดีส่วนหนึ่งแยกออกเป็นตัณหา คือความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด อีกส่วนหนึ่งเป็นราคา หรือราคะ คือความใคร่หรือกำหนัด ความเกลียดชังหรือยินร้ายออกมาในรูปของอรดี อรดีในที่นี้คือ ความริษยา

ความที่ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงแสดงอาการผิดปกติ แม้แต่ทรงลืมพระเนตรนั้น ก็หมายถึงว่า พระพุทธเจ้าทรงอยู่ห่างไกลจากกิเลสดังกล่าวมาโดยสิ้นเชิงนั่นเอง


 จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา. 

เสวย อมตรส คือ อริยะสัจธรรมทั้งสี่ประการ เป็นผู้นำสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้นจากกิเลสและกองทุกข์

เมื่อพระมหาบุรุษทรงชนะมารแล้วนั้น พระอาทิตย์กำลังจะอัสดง ราตรีเริ่มย่างเข้ามา พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งไม่หวั่นไหวที่โพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงเริ่มบำเพ็ญบารมีให้เกิดในพระทัยด้วยวิธีที่เรียกว่าเข้าฌาน แล้วทรงบรรลุญาณ

ฌาน คือ วิธีทำจิตให้เป็นสมาธิ คือ ให้จิตแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่านคิดโน่นคิดนี่อย่างปุถุชนธรรมดา ส่วนญาณ คือปัญญาความรู้แจ้ง เปรียบเทียบให้เห็นความง่ายเข้าก็คือ แสงเทียนที่นิ่งไม่มีลมพัด คือ ‘ฌาน’ แสงสว่างอันเกิดจากแสงเทียนเท่ากับ ‘ปัญญา’ (ญาณ)

พระมหาบุรุษทรงบรรลุญาณที่ ๑ ในตอนปฐมยาม (ประมาณ ๓ ทุ่ม) ญาณที่ ๑ นี้เรียกว่า ‘ปุพเพนิวาสานุสติญาณ’ หมายถึง ความรู้แจ้งถึงอดีตชาติหนหลังทั้งของตนและของคนอื่น

พอถึงมัชฌิมยาม (ประมาณเที่ยงคืน) ทรงบรรลุญาณที่ ๒ ที่เรียกว่า ‘จุตูปปาตญาณ’ หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความจุติ คือดับและเกิดของสัตว์โลก ตลอดถึงความแตกต่างกันที่เรียกว่า ‘กรรม’

พอถึงปัจฉิมยาม (หลังเที่ยงคืนล่วงแล้ว) ทรงบรรลุญาณที่ ๓ คือ ‘อาสวักขยญาณ’ หมายถึง ความรู้แจ้งถึงความสิ้นไปของกิเลส และอริยสัจ ๔ คือ ความทุกข์ เหตุเกิดของความทุกข์ ความดับทุกข์ และวิธีดับทุกข์ ญาณทั้ง ๓ นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘วิชชา ๓’

การได้บรรลุญาณทั้ง ๓ ของพระมหาบุรุษนั้นเรียกว่า ตรัสรู้ความเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเกิดขึ้นในคืนวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หลังจากนี้ พระนามว่า สิทธัตถะก็ดี พระโพธิสัตว์ก็ดี ที่เกิดใหม่ตอนก่อนตรัสรู้ว่าพระมหาบุรุษก็ดี ได้กลายเป็นพระนามในอดีตหนหลัง เพราะตั้งแต่นี้ต่อไป ทรงมีพระนามใหม่ว่า ‘อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า’ แปลว่าพระผู้ตรัสรู้ธรรมเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสโดยชอบด้วยพระองค์เอง

เหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง กวีจึงแต่งความเป็นปุคคลาธิษฐานเฉลิมพระเกียรติพระพุทธเจ้าว่า นำสัตว์ มนุษย์นิกร และทวยเทพในหมื่นโลกธาตุ หายทุกข์ หายโศก สิ้นวิปโยคจากผองภัย สัตว์ทั้งหลายต่างมีเมตตาจิต ต่อกันทุกถ้วนหน้า เว้นจากเวรานุเวร อาฆาตมาดร้ายแก่กัน ทวยเทพต่างบรรเลงดนตรีสวรรค์ ร่ายรำ ขับร้อง แซ่ซ้องถวายเป็นพุทธบูชาและกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณกันทั่วหน้า

................................................................


2. ตัณหังกะราทะโย พุทธาอัฏฐะวีสะติ นายะกา 
    สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง มัตถะเก เต มุนิสสะรา. 

คำแปล มี ๒๘ พระองค์ คือ พระผู้ทรงพระนามว่าตัณหังกรเป็นอาทิ พระพุทธเจ้าผู้จอมมุนีทั้งหมดนั้น

พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ 

๑.. พระพุทธเจ้าตัณหังกร - ผู้กล้าหาญ
๒. พระพุทธเจ้าเมธังกร - ยศใหญ่
๓. พระพุทธเจ้าสรณังกร - ผู้เกื้อกูลแก่โลก
๔. พระพุทธเจ้าทีปังกร - ผู้ทรงไว้ซึ่งปัญญาอันรุ่งเรือง
๕. พระพุทธเจ้าโกณฑัญญะ - ผู้เป็นประมุขแห่งหมู่ชน
๖. พระพุทธเจ้าสุมังคละ - ผู้เป็นบุรุษประเสริฐ
๗. พระพุทธเจ้าสมุนะ - ผู้เป็นธรีบุรุษมีพระหทัยงาม
๘. พระพุทธเจ้าเรวัต - ผู้เพิ่มพูนความยินดี
๙. พระพุทธเจ้าโสภิตะ - ผู้สมบูรณ์ด้วยพระคุณ
๑๐. พระพุทธเจ้าอโนมัทสส - ผู้อุดมอยู่ในหมู่ชน
๑๑. พระพุทธเจ้าปทุมะ - ผู้ทำให้โลกสว่าง
๑๒. พระพุทธเจ้านารทะ - ผู้เป็นสารถีประเสริฐ
๑๓. พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ - ผู้เป็นที่พึ่งแก่หมู่สัตว์
๑๔. พระพุทธเจ้าสุเมธะ - ผู้หาบุคคลเปรียบมิได้
๑๕. พระพุทธเจ้าสุชาติ - ผู้เลิศกว่าสัตว์โลกทั้งปวง
๑๖. พระพุทธเจ้าปิยทัสสี - ผู้ประเสริฐกว่าหมู่นรชน
๑๗. พระพุทธเจ้าอัตถทัสสี - ผู้มีพระกรุณา
๑๘. พระพุทธเจ้าธัมมทัสสี - ผู้บรรเท่ามืด
๑๙. พระพุทธเจ้าสิทธัตถะ - ผู้หาบุคคลเสมอมิได้ในโลก
๒๐. พระพุทธเจ้าติสสะ - ผู้ประเสริฐกว่านักปราชญ์ทั้งหลาย
๒๑. พระพุทธเจ้าปุสสะ - ผู้ประทานธรรมอันประเสริฐ
๒๒. พระพุทธเจ้าวิปัสสี - ผู้หาที่เปรียบมิได้
๒๓. พระพุทธเจ้าสิขี - ผู้เป็นศาสดาเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
๒๔. พระพุทธเจ้าเวสสภู - ผู้ประทานความสุข
๒๕. พระพุทธเจ้ากกุสันธะ - ผู้นำสัตว์ออกจากกันดาร คือ กิเลส
๒๖. พระพุทธเจ้าโกนาคมนะ - ผู้หักเสียซึ่งข้าศึก คือ กิเลส
๒๗. พระพุทธเจ้ากัสสปะ - ผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ
๒๘. พระพุทธเจ้าโคตมะ (พระสมณะโคดม) - ผู้ประเสริฐแห่งหมู่ศากยราช





3.สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน 
  สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง อุเร สัพพะคุณากะโร 

คำแปล 
ข้าพระพุทธเจ้าขออัญเชิญมาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่บนศีรษะ พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง พระสงฆ์ผู้เป็นอากรบ่อเกิดแห่งสรรพคุณอยู่ที่อก
นั่นคือการยึดถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะ 

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ 
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ 
สังฆัง สรณัง คัจฉามิ 

ที่พึ่งในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๒ ลักษณะด้วยกัน ประกอบด้วย

๑. ที่พึ่งที่เป็นสรณะอันสูงสุด ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะที่พึ่งของจิตใจ
๒. อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน

ที่พึ่งทั้ง ๒ นี้ เป็นที่พึ่งที่ชาวพุทธทุกคนควรน้อมเข้ามาสู่ตัว เพราะถ้ามีที่พึ่งทั้ง ๒ แบบนี้แล้ว ชีวิตย่อมเป็นไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง มีแต่ความสุข ความเป็นสิริมงคล

ที่พึ่งอย่างแรกคือการมี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ

เป็นที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ เหตุใดจึงต้องมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง เพราะจิตใจของเรากับจิตใจของพระพุทธเจ้า ของพระอริยสงฆ์สาวก มีความแตกต่างกัน จิตใจของพวกเรา ยังมี กิเลส ตัณหา อวิชชา ความหลง ความมืดบอดครอบงำจิตใจอยู่ เหมือนคนตาบอดที่พึ่งตัวเองไม่ได้ ส่วนจิตใจของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกนั้น เป็นจิตใจที่ไม่มี กิเลส ตัณหา อวิชชา ความหลงปกปิดหุ้มห่อ ไม่มีความมืดบอดครอบงำ เป็นจิตใจที่มีแสงสว่างแห่งธรรม ที่รู้ทั้งเหตุและรู้ทั้งผล รู้ว่าการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางจิตใจ เป็นเหตุให้มีผลเกิดขึ้นมา การกระทำมีทั้งดีและชั่ว บาปและบุญ เมื่อทำไปแล้วจะมีผลตามมา ถ้าทำบุญ ทำความดี ก็มีความสุข ความเจริญตามมา ถ้าตายไปก็ได้ไปสู่สวรรค์ ถ้าทำความชั่ว ทำบาป ทำกรรม ก็จะมีแต่ความทุกข์ ความหายนะ ความเสื่อมเสียตามมา ถ้าตายไปก็ต้องไปสู่นรก ไปสู่อบาย
นี่คือสิ่งที่พระพุทธองค์และพระอริยสงฆ์สาวก เห็นแจ้งชัดเหมือนกับคนที่มีตามองเห็นสิ่งต่างๆในโลกนี้ พวกเราที่อยู่ในห้องนี้เวลาลืมตา เราจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในห้องนี้ว่ามีอะไรบ้าง แต่ถ้าปิดตาเราจะไม่เห็นอะไรเลย จะเห็นแต่ความมืด ไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆที่มีอยู่ในห้องได้ จิตใจของปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราอย่างท่าน ก็เหมือนกับคนที่ปิดตาไว้ เหมือนกับคนตาบอด ย่อมไม่สามารถเห็นสิ่งต่างๆที่คนตาดีเห็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นสิ่งต่างๆที่คนตาดีเห็น ย่อมเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อเหลือวิสัยของคนตาบอดที่จะรู้เห็นตามได้ จะทำได้อย่างเดียวก็คือจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น เช่น นรก สวรรค์ กรรม การเวียนว่ายตายเกิด สิ่งเหล่านี้พระพุทธองค์ และพระอริยสงฆ์สาวก ทรงรู้ทรงเห็นอย่างแจ้งชัด เพราะมีตามองเห็น แล้วก็เอามาแสดงให้พวกเราฟัง แต่พวกเราตาบอดก็เลยไม่ทราบว่าสิ่งเหล่านี้เท็จจริงอย่างไร




4. หะทะเย เม อะนุรุทโธ สารีปุตโต จะ ทักขิเณ 
    โกณทัญโญ ปิฏฐิภาคัสมิง โมคคัลลาโน จะ วามะเก. 

คำแปล พระอนุรุทธะอยู่ที่ใจ พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา พระโมคคัลลาน์อยู่เบื้องซ้าย พระอัญญาโกณทัญญะอยู่เบื้องหลัง

พระอนุรุทธะ เอตทัคคะในทางผู้มีทิพย์จักษุญาณ 
จะเห็นว่าจากคาถาบทก่อนในกระทู้ที่แล้วเราให้พระธรรมสถิตย์ที่อก ครั้งนี้ก็ให้พระอนุรทธะอยู่ที่ใจ เป็นการบ่งบอกว่าธรรม เป็นเหมือนดวงตา ทำให้เรามองเห็นวิชชา ออกจากความมืดเมามัวทั้งหลาย

พระอนุรุทธะ เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแล้ว
เข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสมฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้นได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ:-
๑ ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนาใหญ่
๒ ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ
๓ ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในหมู่
๔ ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน
๕ ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลง
๖ ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น
๗ ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม
เมื่อพระเถระตรึกอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาเสด็จไปยังที่อยู่ของพระเถระ ทราบว่าเธอ
กำลังตรึกอยู่อย่างนั้น ทรงอนุโมทนาว่า ดีล่ะ ดีล่ะ แล้วทรงแนะให้ตรึกในข้อที่ ๘ ว่า
๘ ธรรมนี้ของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า


พระสารีบุตร เอตทัคคะทางปัญญา 
เป็นอัครสาวกเบื้องขวา จึงให้ท่านอยู่ทางขวา ได้รับยกย่องในทางผู้มีปัญญา

เอาเรื่องยักษ์ตีพระสารีบุตรมาเล่าละกัน 

สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ส่วนพระ ส่วนพระ ธรรมเสนาบดีสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานเถระ อัครสาวกทั้งสองได้ปลีกตัวจาริกไปอยู่ ณ กโปตกันทราวิหาร (วิหารที่สร้างใกล้ซอกเขาซึ่งเป็นที่อยู่ของนกพิราบ) ในดิถีคืนเดือนเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระสารีบุตรเถระซึ่งปลงผมใหม่ ๆ นั่งเข้าสมาธิ อยู่ในที่กลางแจ้ง ขณะนั้นมียักษ์ ๒ ตน ผ่านมาทางนั้น ยักษ์อีกตนหนึ่ง เป็นสัมมาทิฏฐิ เคารพ เลื่อมใสในพระรัตนตรัย ยักษ์นันกะ เห็นพระเถระแล้วนึกอยากจะตีที่ศีรษะของท่านจึงบอก ความประสงค์ของตากับสหาย แม้ยักษ์ผู้เป็นสหายจะกล่าวห้ามปรามถึง ๓ ครั้งว่า:-

“อย่าเลยสหาย อย่าทำร้ายสมณศากยบุตรพุทธสาวกเลย สมณะรูปนี้มีคุณธรรมสูงยิ่งนัก" ยักษ์นันทกะ ไม่เชื่อคำห้ามปรามของสหาย ใช้ไม้กระบองตีพระเถระ ศีรษะอย่างเต็มแรง ซึ่งความแรงนั้นสามารถทำให้ช้างสูง ๘ ศอก จมดินได้ หรือสามารถทำลายยอดภูเขาขนาด ใหญ่ให้ทลายลงได้ และในทันใดนั้นเอง เจ้ายักษ์มิจฉาทิฏฐิ ตนนั้นก็ร้องลั่นว่า “โอ๊ย ! ร้อนเหลือ เกิน” พอสิ้นเสียงร่างของมันก็จมลงในแผ่นดิน เข้าไปสู่ประตูมหานรกอเวจี ณ ที่นั้นเอง
เหตุการณ์ครั้งนี้ พระมหาโมคคัลลานเถระ ได้เห็นโดยตลอด ด้วยทิพยจักษุ รุ่งเช้าจึง เข้าไปหาพระสารีบุตรแล้วถามว่า:-

“ท่านสารีบุตร ยังสบายดีอยู่หรือ ที่ยักษ์ตีท่านนั้น อาการเป็นอย่างไรบ้าง ?” 
“ท่านโมคคัลลานะ ผมสบายดี แต่รู้สึกเจ็บที่ศีรษะนิดหน่อย” 
พระมหาโมคคัลลานะ ได้ฟังแล้วก็กล่าวว่า “น่าอัศจรรย์จริง ๆ ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย ท่านสารีบุตรนี่มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากจริง ๆ ถูกยักษ์ตีรุนแรงขนาดนี้ ยังบอกว่าเพียงแต่เจ็บที่ ศีรษะนิดหน่อย” 

ส่วนพระสารีบุตร ก็กล่าวชมพระมหาโมคคัลลานะว่า “ช่างน่าอัศจรรย์ เช่นกัน ท่านโมคคัลลานะ ท่านก็มีฤทธานุภาพมากหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ท่านเห็นแม้กระทั่งยักษ์ ส่วนผมเอง แม้แต่ปีศาจคลุกฝุ่นสักตน ก็ยังไม่เคยเห็นเลย” 

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงสดับเสียงการสนทนาของพระเถระทั้งสอง ด้วยพระโสต ทิพย์ จึงทรงเปล่งพุทธอุทานนี้ว่า:-
“ผู้ใดมีจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวดุจภูเขา 
ไม่กำหนัดในอารมณ์อันชวนให้กำหนัด 
ไม่ขัดเคืองในอารมณ์อันชวนให้ขัดเคือง 
ผู้อบรมจิตได้อย่างนี้ ความทุกข์จะมีได้อย่างไร” 



 พระโมคคัลลาน ผู้เลิศทางฤทธิ์ 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชมพระโมคคัลลานะในเรื่อง ที่ว่า ท่านแม้นจะมีฤทธิ์เดชมาก แต่ไม่ว่าจะไป ที่ใดก็ไม่เคยทำความชอกช้ำแก่ตระกูลนั้น เลย จะบิณฑบาตรับของถวายอะไรก็ตาม ก็คอยดู ว่า เขาจะเดือดร้อนไหมรับแต่พอประมาณ เปรียบ เหมือนแมลงภู่บินเข้าสวนดูดเกสรดอกไม้จน อิ่มหนำสำราญ แต่ไม่เคนทำความช้ำชอกให้แก่ดอก ไม้เลย

*********พระพุทธเจ้าประทานโอวาทแก่พระโมคคัลลานก่อนจะบรรลุพระอรหันต์ 3 ข้อ คือ*******

๑. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจะไม่ชูงวง คือ ความถือตัวว่าเราเป็นนั่น นี่ เข้าไปสู่สกุล เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วยคิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าคนในสกุลเขามีการงานมาก ก็จะเกิดอิดหนาระอาใจ ถ้าเขาไม่ใส่ใจต้องรับ เธอก็จะเก้อเขินคิด ไปในทางต่าง ๆ เกิดความฟุ้งซ่านไม่สำรวม จิตก็จะห่างจากสมาธิ

๒. โมคคัลลานะ เธอจงทำไว้ในใจว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกันเพราะถ้าเถียง กันก็จะต้องพูดมาก และผิดใจกัน เป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม และจิตก็จะห่างจากสมาธิ

๓. โมคคัลลานะ ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง แต่ก็ไม่ตำหนิ การคลุกคลีไปทุกอย่าง คือ เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต แต่ เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ อันสงบสงัดปราศจากเสียงอื้ออึง ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ ตามสมณวิสัย

พระมหาโมคคัลลานะ ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา ช่วยแบ่งเบาภารกิจ และยังพุทธดำริต่าง ๆ ให้สำเร็จด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่ง กว่าพระสาวกรูปอื่น ๆ จนได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง พระ อัครสาวกเบื้องซ้าย โดยทรงยกย่องให้เป็นอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรว่า:-

“พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้กำเนิดบุตร พระโมคคัลลานะ เป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย เปรียบเสมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดมาแล้ว พระสารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระโมคคัลลานะ ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณ เบื้องสูงขึ้นไป” 



 พระอัญญาโกณทัณญะ เอตทัคคะในทางรัตตัญญู 

ร่วมทำนายพระลักษณะ / ออกบวชติดตามพระสิทธัตถะ / ปัญจวัคคีย์ปลีกตัวหนี /ฟังปฐมเทศนา / พระสงฆ์รูปแรกในพุทธศาสนา / ได้รับยกย่องทางรัตตัญญู 

เพราะความที่ท่านเป็นพระเถระ ผู้มีอายุพรรษากาลมาก มีประสบการณ์มาก จึงได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดา ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุ ทั้งหลายในทาง ผู้รัตตัญญู หมายถึง ผู้รู้ราตรีนาน

บั้นปลายชีวิต 
พระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นพระเถระผู้เฒ่า ไม่ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ชอบหลีกเร้น อยู่ในสถานที่อันสงบวิเวกตามลำพัง ในคัมภีร์มโนรถปูรณี และคัมภีร์ธุรัตวิลาสินี กล่าวไว้ตรง กันว่า เป็นเวลา ๑๒ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพานท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดาไปจำพรรษา ณ ป่าหิมพานต์ ตามลำพัง
นอกจากต้องการความสงบดังกล่าวแล้ว ยังมีเหตุผลส่วนตัวของท่าน อีก ๓ ประการคือ

๑ ท่านไม่ประสงค์จะเห็นพระอัครสาวก คือ พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยแบ่งเบาภาระของพระพุทธองค์ กิจการพระศาสนาด้าน ต่าง ๆ ที่ต้องมาแสดงความเคารพนอบน้อมต่อพระผู้เฒ่าชราอย่างท่าน ซึ่งสังขารนับวันจะร่วงโรย และใกล้แตกดับเข้าไปทุกขณะ

๒ ท่านได้รับความเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก ที่ต้องคอยต้อนรับผู้ไปมาหาสู่ ซึ่งมีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ การอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านจึงไม่เหมาะสมสำหรับพระแก่ชราอย่างท่าน

๓ ท่านเบื่อหน่ายในความดื้อรั้น ของพระสัทธิวิหาริกรุ่นหลัง ๆ ที่มักประพฤตินอกลู่นอกทาง ห่างไกลจากการบรรลุมรรคผล

จากลักษณะของท่านดังกล่าวจึงให้ท่านสถิตย์อยู่เบื้องหลัง




5..ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง อาสุง อานันทะราหุโล 
     กัสสะโป จะ มะหานาโม อุภาสุง วามะโสตะเก 

คำแปล พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา พระกัสสปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้าย

พระอานนท์ 

ผู้เป็นเอตทัคคะทางพหูสูตร ผู้มีสติ ผู้มีความเพียร และเป็นพุทธอุปฏาก

พระอานนท์ติดตามพระพุทธเจ้าประหนึ่งฉายา ได้ฟังพระสัทธรรมเทศนา เฉพาะพระพักตร์ ทรงจำไว้ได้ทั้งสิ้นจึงให้ท่านสถิตย์ที่หูข้างขวา
กิจในหน้าที่ของพุทธอุปัฏฐาก 
๑. ถวายน้ำ ๒ อย่าง คือน้ำเย็นและน้ำร้อน
๒. ถวานไม้สีฟัน ๓ ขนาด
๓. นวดพระหัตถ์และพระบาท
๔. นวดพระปฤษฏางค์
๕. ปัดกวาดพระคันธกุฏี และบริเวณพระคันธกุฏี

ในตอนกลางคืนท่านกำหนดเวลาได้ว่า เวลานี้พระพุทธองค์ทรงต้องการอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเข้าเฝ้า เมื่อเฝ้าเสร็จก็ออกมาอยู่ยาม ณ ภายนอกพระคันธกุฏีในคืนหนึ่ง ๆ ท่านถือประทีปด้ามใหญ่เวียนรอบบริเวณพระคันธกุฏีถึง ๘ ครั้ง ท่านคิดว่าหากท่านง่วงนอน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียกท่านจะไม่สามารถขานรับได้ ฉะนั้น จึงไม่ยอมวางประทีปตลอดทั้งคืน

พระอานนท์ได้รับการสรรเสริญจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะ (เลิศ) 5 ประการคือ 
1.มีสติ รอบคอบ
2.มีคติ คือความทรงจำแม่นยำ
3.มีความเพียรดี
4.เป็นพหูสูต
5.เป็นยอดของภิกษุผู้อุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

ภิกษุอื่น ๆ ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นเอตทัคคะก็ได้รับเพียงอย่างเดียว แต่พระอานนท์ท่านได้รับถึง 5 ประการ นับว่าหาได้ยากมาก 

ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้เล่าไว้ว่า ท่านพระอานนท์มีปัญญา มีความจำดี ท่านได้ฟังครั้นเดียว ไม่ต้องถามอีกก็สามารถจำได้เป็นจำนวนตั้ง 60,000 บาท 15,000 คาถา โดยไม่เลอะเลือน ไม่คลาดเคลื่อน เหมือนบุคคลเอาเถาวัลย์มัดดอกไม้ถือไป เหมือนจารึกอักษรลงบนแผ่นศิลา เหมือนน้ำมันใสของราชสีห์ที่บุคคลใส่ไว้ในหม้อทองคำ ฉะนั้น

ด้วยเหตุที่ท่านขยันเรียน และมีความจำดีนี่เอง ท่านจึงได้รับยกย่องว่าเป็นพหูสูต เป็นธรรมภัณฑาคาริก ทรงจำพระพุทธพจน์ได้ถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ คือท่านเรียกจากพระพุทธองค์ 82,000 พระธรรมขันธ์และเรียนจากเพื่อนสหธรรมมิกอีก 2,000 พระธรรมขันธ์ แม้ท่านจะเป็นเพียงพระโสดาบันก็ตาม แต่ท่านก็มีปัญญาแตกฉานในปฏิสัมภิทา มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องปฏิจจสมุปบาท จึงสามารถสั่งสอนศิษย์ได้มากมาย ศิษย์ของท่านส่วนมากก็เป็นพหูสูตเช่นเดียวกับท่าน ว่ากันว่า ท่านพูดได้เร็วกว่าคนธรรมดา 8 เท่า คือคนเราพูด 1 คำ ท่านพูดได้ 8 คำ



 พระราหุล เอตทัคคะในทางผู้ใคร่ในการศึกษา 

ทรงให้สถิตย์ทางหูขวาเช่นกันดังเช่นพระอานนท์ผู้เป็นพหูสูตร

พระราหุล เป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะ (พุทธโอรส) กับพระนางยโสธรา หรือพิมพา เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ ประสูติวันเดียวกันกับที่พระบิดาเสด็จออกบวช ดังนั้น ท่านจึงเจริญพระชันษาเติบโตขึ้นมาโดยมิเคยเห็นพระพักตร์รู้จักพระบิดาเลย จวบจนครั้นเมื่อพระบรมศาสดาตรัสรู้แล้ว เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ราหุลกุมารทูลขอทรัพย์สมบัติจากพระราชบิดา พระพุทธเจ้าทรงประทานพระราชทานอริยทรัพย์

ได้รับยกย่องเป็นผู้ใคร่การศึกษา 

พระราหุล เป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ทุกวันที่ท่านตื่นขึ้นมาเวลาเช้า ท่านจะกำทรายให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้วตั้งความปรารถนาว่า “วันนี้ ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่งสอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์และสำนักพระอาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้” 
ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดา ให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ผู้ใคร่ในการศึกษา

ในอรรถกถาเล่มที่ ๑๔ กล่าวว่า พระราหุลเถระท่านเป็นผู้ถือธุดงควัตรในข้อ ถือการนั่งเป็นวัตร โดยไม่เอนกายลงนอนเลยเป็นเวลา ๑๒ ปี

ไม่มีรายละเอียดว่า ท่านปรินิพพานอย่างไร ทราบเพียงว่า ท่านปรินิพพานก่อนพระอัครสาวกทั้งสอง และก่อนพระพุทธเจ้า โดยการทูลลาพระพุทธเจ้าไปนิพพานที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์.



พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์ 

ท่านเดินทางไปตามลำดับ ได้พบพระผู้มีพระภาคเสด็จประทับที่ภายใต้ร่มไทร ระหว่างกรุงราชคฤห์กับนาลันทา เห็นพุทธจริยาน่าเลื่อมใสแปลกกว่านักบวชอื่น ๆ ที่ตนเคยพบมา ปลงใจเชื่อว่าต้องเป็นพระอรหันต์แน่นอน จึงน้อมกายกราบถวายบังคมแทบพระบาท กราบ ทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
พระพุทธองค์ ประทานการอุปสมบทด้วยวิธีให้รับโอวาท ๓ ข้อ เรียกว่า “โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา” โอวาท ๓ ข้อนั้นคือ
๑) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักตั้งความละอายและความเกรงใจไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นพระเถระผู้เฒ่า ผู้มีพรรษาปานกลาง และทั้งผู้บวชใหม่
๒) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจักฟังธรรม บทใดบทหนึ่งอันประกอบด้วยกุศลด้วยความตั้งใจฟังโดยเคารพ และพิจารณาจดจำเนื้อความธรรมบทนั้น
๓) กัสสปะ เธอพึงศึกษาว่า เราจะไม่ละสติไปในกาย คือ พิจารณากายเป็นอารมณ์ โดยสม่ำเสมอ

ได้รับยกย่องในทางผู้ทรงธุดงค์ 

เมื่อท่านอุปสมบทแล้วทำความเพียรไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล หลังจากอุปสมบทได้ ๘ วัน พุทธบริษัททั้งหลายรู้จักท่านในนาม “พระมหากัสสะ” ท่านได้ช่วยรับภารธุระอบรม สั่งสอนพระภิกษุและพุทธบริษัทอื่น ๆ จนมีภิกษุเป็นบริวารจำนวนมาก ท่านมีปกติสมาทาน ธุดงค์ ๓ ประการ อย่างเคร่งครัด คือ:-
๑) ถือการนุ่งห่มบังสุกุลเป็นวัตร
๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

ชีวิตในบั้นปลาย 

ในคัมภีร์พระสาวกนิพพานกล่าว่า พระมหากัสสปะเถระ เมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่านแล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสอน ภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท
แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แสดงอิทธิปาฏิหาริยิ์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัทแล้ว อธิษฐานจิตขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ซึ่งในภูขาทั้ง ๓ ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพตสถานที่ทำปฐมสังคายนารวมอยู่ด้วย

แล้วท่านก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น ท่านยังอธิษฐาน ขอให้สรีระของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกระทั่งพระศาสนาพระศรีอริยเมตไตร ซึ่งพระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตแล้ว ยกสรีระของพระเถระวางบนพระหัตถ์ขวาชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุก็จะเกิด ขึ้นเผาสรีระของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรพุทธเจ้านั้น



พระมหานามะ 

ชาติภูมิ: 

เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองกบิลพัสดุ์ บิดาท่านได้รับเชิญไปงานเลี้ยงฉลองครบรอบ ๕ วันของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากนั้นท่านโกณฑัญญะก็ได้ไปชวนบิดาท่านซึ่งเสียชีวิตแล้วและได้สั่งท่านไว้ ให้ออกบวชตามเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านจึงออกบวชบำเพ็ญตนอุปัฏฐากมหาสัตว์รอฟังธรรม กับเพื่อนอีก ๔ คน ในกลุ่มปัญจวัคคีย์

การบวช: 

เมื่อทราบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จึงได้เดินทางไปโปรดพระปัญจวัคคีย์ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด หลังจากพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุพระโสดาบันและได้บวชด้วยเอหิ-ภิกขุอปสัมปทาเป็นพระสงฆ์สาวกรูปแรกแล้ว ในวันแรม ๓ ค่ำ เดือน ๘ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสงปกิณณกะเทศนาแก่ท่าน จนได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน และได้ทรงประทานการบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นรูปที่สี่ หลังจากนั้นในวันแรม ๕ ค่ำเดือน ๘ พระพุทธองค์ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร เมื่อจบพระธรรมเทศนาท่านก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ส่วนหลักฐานการประกาศพระศาสนาของท่านไม่ปรากฏชัด แต่เป็นพระภิกษุชุด ๖๐ รูปแรก ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งไปประกาศพระศาสนา เมื่อดำรงค์อยู่ตามสมควรแก่อายุท่านก็นิพพาน ฯ





6.เกสันเต ปิฏฐิภาคัสมิง สุริโยวะ ปะภังกะโร 
    นิสินโน สิริสัมปันโน โสภี โต มุนิปุงคะโว 

คำแปล มุนีผู้ประเสริฐ คือ พระโสภิตะผู้สมบูรณ์ด้วยสิริ ดังพระอาทิตย์ส่องแสงอยู่ที่ทุกเส้นขน ตลอดร่างทั้งข้างหน้าและข้างหลัง

พระโสณภิตเถระ 
เอตทัคคะในทางระลึกปุพเพนิวาสานุสติญาณ

พระโสภิตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองสาวัตถี ชื่อบิดามารดาของท่านไม่ปรากฏ เมื่อท่านเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยา คือ วิชาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตะวันมหาวิหาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสกราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วย
ปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ 
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในอรรถ (ผล)
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในธรรม (เหตุ)
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในนิรุต (นิรุตติ คือ ภาษที่จะพูดให้ คนอื่นเข้าใจ)
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ (ปฏิภาณ คือ การโต้ ตอบ)

นอกจากนี้ท่านยังมีปกติสั่งสมวสี ๕ ประการ คือความชำนาญแคล่วคลองในปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่ ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติในอดีตได้ วสี ๕ ประการ คือ:-
๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญในการนึก
๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้า
๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญในการหยุด
๔. วุฏฐานวสี ความชำนาญในการออก
๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการพิจารณา

ได้รับยกย่องในทางระลึกบุพเพนิวาสานุสสติด้วยความชำนาญแคล่วคล่องดังกล่าวนี้ ครั้งหนึ่งท่านนั่งพิจารณาการระลึกชาติในอดีต ของท่านเองได้มากมายหลายแสนชาติแล้วเกิดปีติโสมนัส ขึ้นว่า “เราเป็นผู้มีสิตปัญญาระลึก ชาติในอดีตได้ถึง ๕๐๐ กัป อย่างรวดเร็ว เหมือนนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในคืนเดียว ทั้งนี้ก็เพราะเราเจริญสติปัฎฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง”

นับว่าท่านเป็นพระขีณาสพผู้ประเสริฐ เลิศด้วยความรู้ความสามารถ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้มีความสามารถในการระลึกชาติได้ เสมอกับพระองค์ และทรงแต่งตั้งท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ระลึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน





7.กุมาระกัสสะโป เถโร มะเหสี จิตตะวาทะโก 
   โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง ปะติฏฐาสิ คุณากะโร 

คำแปล พระเถระกุมารกัสสปะผู้แสวงบุญทรงคุณอันวิเศษ มีวาทะอันวิจิตรไพเราะอยู่ปากเป็นประจำ

พระกุมารกัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร 

พระกุมารกัสสปะ เป็นบุตรของธิดาเศรษฐี ในเมืองราชคฤห์ เดิมชื่อว่า “กัสสปะ” แต่เพราะท่านได้รับการบำรุงเลี้ยงดูจากพระเจ้าเสนทิโกศล ดังนั้นประชาชน จึงเรียกท่านว่า “กุมารกัสสปะ” ประวัติชีวิตของท่าน มีดังต่อไปนี้:-

มารดาภิกษุณีตั้งท้อง 
ขณะเมื่อมารดาของท่านยังเป็นสาวรุ่นอยู่นั้นมีศรัทธาปรารถนาจะบวชเป็นภิกษุณีในพระพุทธศาสนา แต่บิดามารดาไม่อนุญาต อยู่ต่อมาจนกระทั่งนางได้แต่งงานมีสามีอยู่ครองเรือนระยะหนึ่ง นางได้ปฏิบัติต่อสามีเป็นอย่างดีจนสามารถเกิคความพอใจแล้วได้อ้อนวอนขออนุญาตบวช สามีก็ไม่ขัดใจอนุญาตให้นางบวชตามความปรารถนา นางจึงไปขอบวชในสำนักของนางภิกษุณี ผู้เป็นศิษย์ของพระเทวทัต

ครั้นบวชแล้วได้ไม่นานปรากฏว่าครรภ์ของนางโตขึ้น จึงเป็นที่รังเกียจสงสัยของเพื่อนนางภิกษุณีทั้งหลาย และได้นำเรื่องนี้ไปแจ้งแก่พระเทวทัต เพื่อให้ตัดสินความ พระเทวทัตได้ตัดสินให้เธอสระสมณเพศสึกออกไปเสียจากสำนัก

นางได้ฟังคำตัดสินเกิดความเสียใจเป็นอย่างมาก ได้พูดอ้อนวอนขอร้องให้โปรดอย่า ลงโทษเธอถึงขนาดนั้นเลย เพราะนางมิได้ประพฤติชั่วทำผิดพระธรรมวินัยเลย เมื่อคำอ้อนวอนของ นางไม่เป็นผล นางจึงกล่าวว่า:-

“ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ดิฉันมิได้บวชอุทิศตนต่อพระเทวทัต แต่ดิฉันบวชอุทิศตนต่อพระบรมศาสดา ดังนั้น ขอท่านทั้งหลายจงพาดิฉันไปสู่สำนักของพระบรมศาสดาด้วยเถิด” 

พระอุบาลีเถระได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มาร่วมกันพิสูจน์ โดยมีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นประธาน มีนางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถปิณฑิกะเศรษฐี และตระกูลอื่น เป็นต้น

นางวิสาขาให้ขึงผ้าม่านโดยรอบแล้ว เรียกนางภิกษุณีเข้าไป แล้วตรวจดูมือ เท้า สะดือ และลักษณะของครรภ์แล้วนับวันนับเดือนสอบประวัติย้อนหลังโดยละเอียดแล้วก็ทราบชัดเจนว่า “นางตั้งครรภ์มาตั้งแต่ก่อนบวช” พระอุบาลีเถระ จึงได้ประกาศตัดสินอธิกรณ์ในท่ามกลางพุทธบริษัททั้ง ๔ ว่า นางภิกษุณีรูปนี้ยังมีศีลบริสุทธิ์อยู่ แล้วกราบทูลเนื้อความให้พระบรมศาสดาทรงทราบ พระพุทธองค์ได้ตรัสอนุโมทนาสาธุการแก่พระเถระว่า ชำระความได้ถูกต้องยุติธรรม

พระเจ้าปเสนทิโกศลขอบุตรนางภิกษุณีไปเลี้ยง อายุครบ ๒๐ ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุแล้ว กราบทูลลาพระผู้มีพระภาค เพื่อไปทำความเพียร บำเพ็ญสมณธรรมในป่า ได้บรรลุคุณพิเศษเบื้องต้นแล้ว จึงกลับมาศึกษาพระกรรมฐานในระดับสูงยิ่ง ๆ ขึ้นแล้วเข้าไปสู่ป่าอันธวัน บำเพ็ญเพียรอย่างอุกฤษฎ์ต่อไป

ครั้งนั้นได้มีพรหมชั้นสุทธาวาส ผู้ซึ่งในอดีตชาติเคยเป็นสหายปฏิบัติสมณธรรมร่วมกันกับท่านพระกุมารกัสสปะ ในครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี แล้วจุติไปเกิดเป็นพรหมในชั้นสุทธาวาสนั้นเห็นท่านพระกุมารกัสสปะบำเพ็ญเพียรอย่างหนัก ก็ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จึงลงมาช่วยเหลือด้วยการแก้ปัญหา ๑๕ ข้อ แนะนำให้ไปกราบทูล พระผู้มีพระภาคให้พระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ให้ ท่านได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพระหรหมนั้น

ปัญหา ๑๕ ข้อนั้นคือ 

๑. จอมปลวก ๒. กลางคืนเป็นควัน ๓. กลางวันเป็นไฟ ๔. พราหมณ์ ๕. สุเมธผู้เป็นศิษย์ ๖. จอบ ๗. เครื่องขุด ๘.ลูกสลัก ๙.อึ่งอ่าง ๑๐. ทาง ๒ แพร่ง ๑๑. กระบอกกรองน้ำ ๑๒. เต่า ๑๓ เขียง ๑๔. ชิ้นเนื้อ ๑๕. นาค 

พระบรมศาสดาทรงสดับปัญหาทั้ง ๑๕ ข้อแล้วตรัสแก้ว่า ดูก่อนภิกษุ

- คำว่า จอมปลวก นั้นหมายถึง อัตภาพร่างกายนี้ เพราะว่า จอมปลวกเกิดจากตัวปลวก นำดินมาผสมกับน้ำลายเหนียว ๆ แล้วก่อขึ้นเป็นจอมปลวก ฉันใด อัตภาพร่างกายนี้ ก็เกิดขึ้นเพราะมีพ่อแม่เป็นแดนเกิด ฉันนั้น จอมปลวกมีรูพรุน มีตัวปลวกอยู่อาศัย ร่างกายก็มีรูพรุนคือ ทวารทั้ง ๙ และรูขุมขนทั่วตัว เป็นที่อยู่อาศัยของหมู่หนอนและเชื้อโรคต่าง ๆ จอมปลวกต้องแตกสลายแม้ร่างกายก็ต้องเน่าเปื่อยเช่นกัน

- คำว่า กลางคืนเป็นควัน นั้นหมายถึง วิตก คือการคิดนึก และวิจารณ์ คือการพิจารณาใคร่ครวญถึงการงานที่จนทำเมื่อตอนกลางวันว่า มีคุณมีโทษอย่างไรและใคร่ครวญถึงวันรุ่งขึ้นว่าจะทำอะไรต่อไป การคิดใคร่ครวญอย่างนี้มีอาการดุจควันไฟที่คุกรุ่นอยู่

- คำว่า กลางวันเป็นไฟ หมายถึง การทำงานตามที่คิดไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืนต้องรีบเร่ง ร่างกายเหน็ดเหนื่อย ท่านจึงเปรียบเหมือนไฟที่ลุกโพลง

- คำว่า พราหมณ์ หมายถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านเรียกว่าพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เพราะพราหมณ์ มีประเพณีลอยบาปด้วยการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคา ชำระบาปคือ ความชั่วออกจากกาย ส่วนที่ เรียกพราหมณ์ คือ พระพุทธองค์นั้น เพราะพระองค์ทรงชำระบาปทั้ง ๗ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สี ลัพพัตตปรามาส ได้โดยไม่เหลือ

- คำว่า สุเมธ หมายถึง พระภิกษุผู้ยังเป็นเสขะ ผู้มีปัญญากำลังศึกษาในไตรสิกขา

- คำว่า จอบ หมายถึง ปัญญาเป็นเครื่องขุดความโง่ทิ้ง ขุดจนสามารถตักรากเง่าของความโง่ออกได้หมด

- คำว่า การขุด หมายถึงความเพียร คือ เพียรเจริญสติปัฏฐาก ๔ พิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม ให้เห็นว่าเป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้แน่นอน

- คำว่า ลูกสลัก หมายถึง อวิชชา ความไม่รู้ เป็นเครื่องกั้นตัว วิชชา คือความรู้ไม่ให้เกิดขึ้น อวิชชา จึงเปรียบดังลูกสลักหรือกลอนประตูที่ไม่ยอมให้ประตูเปิด

- คำว่า อึ่งอ่าง ได้แก่ ความโกรธ เพราะความโกรธมีลักษณะทำให้ใจพองขึ้นเหมือนอึ่งอ่าง

- คำว่า ทาง ๒ แพร่ง ได้แก่ วิจิกิจฉา ความสงสัยลังเล เหมือนทาง ๒ แพร่งที่คนไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนดี

- คำว่า กระบอกน้ำ หมายถึง นิวรณ์ ๕ ประการ มีกามฉันทะ เป็นต้น คนที่มีนิวรณ์ทั้ง ๕ อยู่ในใจ ไม่สามารถจะแสวงหากุศลธรรมให้ติดตัวอยู่ได้เหมือนกระบอกกรองน้ำที่ไม่สามารถจะเก็บน้ำไว้ได้

- คำว่า เต่า หมายถึง อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเหมือนกับเต่าที่มี ๔ ขา มีหัว ๑ รวมเป็น ๕ ท่านสอนให้ตัดความรักใคร่พอใจในอุปาทานขันธ์นั้นเสีย

- ค่ำว่า เขียง ได้แก่ กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันเป็นที่รักใคร่พอใจดุจคนวางชิ้นเนื้อไว้บนเขียงแล้วเชือดชำแหละด้วยมีด ฉันใด กิเลสทั้งหลาย ฆ่าหมู่สัตว์แล้ววางไว้บนเขียง คือ กามคุณทั้ง ๕ แล้วเชือดชำแหละ ฉันนั้น พระพุทธองค์ทรงสอนให้ละกามคุณทั้ง ๕ นั้นเสีย

- คำว่า ชิ้นเนื้อ ได้แก่นันทิราคะ ความรักใคร่เพลิดเพลินอยู่ในกามคุณทั้งหลาย อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ในภายหลัง

- คำว่า นาค หมายถึงภิกษุผู้สิ้นกิเลสแล้ว เป็นพระอรหันต์ เว้นจากการทำความชั่วทั้งปวงจึงเรียกว่า นาค แปลว่าผู้ประเสริฐ

พระกุมารกัสสปะ ส่งกระแสจิตไปตามลำดับแห่งคำพยากรณ์แก้ปัญหานั้น เมื่อจบข้อสุดท้ายท่านก็บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย 


พระกุมารกัสสปะนั้นท่านได้เป็นกำลังช่วยเหลือกิจการพระศาสนาเต็มกำลังความสามารถ ท่านมีความสามารถพิเศษในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดาร ทั้งข้ออุปมาอุปไมย เปรียบเทียบให้ผู้ฟังรู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจอย่างง่ายดาย
ครั้งหนึ่ง ท่านได้แสดงธรรมโปรดพระเจ้าปายาสิ ผู้ครองนครเสตัพยะ ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิดว่าโลกหน้าไม่มี กรรมดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ก็ไม่มี เมื่อได้ฟังธรรมจาก พระเถระแล้วกลับเป็นสัมมทิฏฐิ ประกาศตนเป็นอุบาสก นับถือพระรัตนตรัยตลอดพระชนม์ชีพ


ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้แสดงธรรมอันวิจิตร




8. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ อุปาลี นันทะสีวลี 
    เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา นะลาเฏ ติละกา มะมะ. 

คำแปล พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะ และพระสีวลี พระเถระทั้ง ๕ นี้ จงปรากฎเกิดเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผาก

พระปุณณะ 
พระปุณณมันตานีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้เป็นพระธรรมกถึก 

โดยสายเลือดนับว่าท่านเป็นหลานของพระอัญญาโกณฑัญญะ
ปฏิบัติอย่างไรสอนอย่างนั้น
เมื่อท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว มีปฏิปทาตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรม ๑๐ ประการ คือ:-
๑ อัปปิจฉตา เรื่องความปรารถนาน้อย
๒ สันตุฏฐิตา เรื่องความสันโดษ
๓ ปวิเวกตา เรื่องความสงัด
๔ อสังสัคคตา เรื่องความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕ วิริยารัมภะ เรื่องความเพียร
๖ สีลตา เรื่องศีล
๗ สมาธิ เรื่องสมาธิ
๘ ปัญญา เรื่องปัญญา
๙ วิมุตติ เรื่องความหลุดพ้น
๑๐ วิมุตติญาณทัสนะ เรื่องความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น

ท่านพระปุณณมันตานีบุตรเถระ จะสั่งสอนบริษัทบริวารของท่านด้วย เพราะความที่พระปุณณมันตานีบุตรเถระ ท่านดำรงต้นตั้งมั่นอยู่ในคุณธรรมเช่นไร ก็สั่งสอนบรรดาศิษย์และพุทธบริษัทอื่น ๆ ให้ดำรงอยู่ในคุณธรรมนั้นด้วย พระผู้มีพระภาค จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ใน ทาง ผู้เป็นพระธรรมกถึก

พระปุณณะเถระได้ทำอธิการกุศลมาในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อน สมัยเป็นดาบสอยู่ในป่าหิมพานต์มีพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานอยู่ในเงื้อมเขา ท่านเห็นแสงสว่างใหญ่จึงไปเสาะหาดู พบพระปัจเจกพุทธเจ้าปรินิพพานจึงหาฟืนมาเผาแล้วรดด้วยน้ำหอม เทวบุตรเห็นเหตุการณ์จึงยืนในอากาศแล้วบอกว่า ดีแล้วๆสัตตบุรุษ ท่านจะได้ชื่อว่า ปุณณะ ซึ่งแปลว่า ผู้มีบุญมาก ครั้นมาถึงสมัยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้เกิดมาในตระกูลคฤหบดี ที่ท่าเรือสุปารกะ ใน สุนาปรันตชนบท (ประเทศไทยในปัจจุบัน) ได้ไปค้าขายยังอินเดีย และ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่กรุงสาวัตถี จึงเกิดความศรัทธาและออกบวช เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๑๙ พรรษาท่านเจริญสมณธรรมได้ ๓ ปี ก็ใคร่จะกลับมายังเมืองไทย บ้านเกิดของท่าน จึงขอเข้าเฝ้าและขอพระโอวาทย่อๆจึงเกิดพระปุณโณวาทสูตรในพระไตรปิฎก บันลือ ๗ ครั้ง แล้วกลับเมืองไทย ไปเจริญสมณธรรม ที่บ้านมกุล หรือ แม่กุน ( ตามกระเบื้องจารไว้ว่าเป็นลูกชายคนโตของ พ่อกล่อมและแม่กุน หรือ ขุนกล่อม ขุนหญิงกุน มีน้องชายชื่อจุน หรือ จุลปุณณ และมีน้องชาย น้องสาวอีก) พระปุณณะเถระได้สำเร็จพระอรหันต์ในพรรษานั้น เมื่อพ่อค้าญาติของท่านเดินทางไปประสบภัยในทะเล ท่านก็เหาะไปช่วยให้ปลอดภัยกลับมา ได้ขนไม้จันทน์หอมมาขายได้กำไรมาก ท่านจึงชวนญาติให้สร้างโรงกลมใหญ่ ๕๐๐ ห้อง เสร็จได้ด้วยฤทธิ์ แล้วทูลเชิญพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวก ๔๙๙ องค์ เสด็จผ่านมาโดยเรือนยอดตลอดทางประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ทางละโว้โบราณ และได้โปรดสัจจพันธ์ดาบส (ชีพัน) บรรลุอรหันต์แล้ว ครบอรหันต์ ๕๐๐ องค์ ก็ถึงเมืองไทย ในปีพุทธพรรษา ๒๒ ทรงประทับที่ป่าชายบ้านแม่กุน ๒ คืน ต่อมาสมัยพระโสณะอุตตระ (พ.ศ. ๒๒๓ – ๒๓๕) ได้ให้มาสร้างวัดตรงที่ประทับ จึงรู้ว่าเป็นวัดพริบพลีนี้ พระปุณณะเถระได้พาเสด็จมาทางเมืองทอง และ ทรงรับสั่งว่าจะเป็นสุวรรณภูมิ (ประเทศไทย) ไปถึงหน้าเขางู ตรัสว่าจะเป็นเมืองราชพลี ต่อจากสุวรรณภูมิ แล้วได้เข้าประทับ ณ ถ้ำฤษี ตรัสว่าจะมีคนนับถือมาก เสด็จผ่านเมืองทองได้พบกับพระเจ้าทับไทยทอง และ ตรัสชวนไปมคธ แล้วพระปุณณะเถระได้พาเสด็จไป ณ นิมมทานที (ไทยว่านัมมทา) ทรงโปรดนาคราช ซึ่งทูลขอสิ่งที่บำเรอจึงประทับรอยพระพุทธบาท ณ นิมมทานที เมื่อเสด็จไปสัจจพันธคีรี พระสัจจพันธ์ได้ทูลขอบ้าง จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทและทรงอธิษฐานให้ขยายใหญ่ขึ้น ๓ เท่า ประดิษฐาน ณ พระพุทธบาทสระบุรีจนถึงทุกวันนี้



พระอังคุลิมาล 

พระองคุลิมาล แต่เดิมชื่อ อหิงสกะ เมื่อแรกเกิดโหรทำนายไว้ว่าจะเป็นโจร บิดาของท่านจึงส่งไปเรียนวิชาความรู้ ท่านก็เรียนได้เก่งกว่าคนอื่นจนเพื่อนๆ อิจฉาจึงยุอาจารย์ให้เกลียด อาจารย์ก็หลงเชื่อจึงหลอกให้ท่านไปฆ่าคนมาให้ได้ครบหนึ่งพันคนแล้วจะสำเร็จวิชาสูงสุด นับแต่นั้นมาท่านก็เป็นจอมโจรที่ฆ่าคนแล้วตัดนิ้วมือมาร้อยคอเป็นสร้อยเพื่อนับจำนวนให้ครบพัน จึงได้ฉายา องคุลิมาล จนกระทั้งคนสุดท้ายที่จะต้องฆ่า ท่านก็คิดจะฆ่ามารดาตนเอง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จมาโปรด ท่านก็เปลี่ยนใจจะมาฆ่าพระพุทธองค์แทน แต่วิ่งเท่าไรก็ไม่ทันจึงตะโกนบอกให้หยุด พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เราหยุดแล้ว แต่เจ้าสิยังไม่หยุด ด้วยความสงสัยท่านจึงถามความหมาย พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า เราเป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร จึงชื่อว่าหยุด แต่เจ้าเป็นผู้เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่าไม่หยุด เมื่อได้ฟังดังนั้นจอมโจรองคุลิมาลก็เกิดดวงตาเห็นธรรมจึงทูลขอบวช เมื่อท่านได้บวชเป็นพระแล้วไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด ก็จะถูกผู้คนที่มีความโกรธแค้นทำร้ายอยู่เป็นนิจ ท่านก็อดทนใช้หนี้กรรม และปฏิบัติธรรมอย่างไม่ลดละจนเข้าถึงซึ่งพระนิพพาน


พระอุบาลี 
พระอุบาลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงพระวินัย 

ทำหน้าที่เป็นช่างกัลบก หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ช่างภูษามาลา มีหน้าที่ตัดแต่งพระเกศา ในสมัยที่พระพุทธองค์ เสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่นครกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จไปประทับที่อนุปิยอัมพวัน ซึ่งเป็นแว่นแคว้นของมัลลกษัตริย์ เจ้าชายศากยะทั้ง ๕ พระองค์ ที่กล่าวนามข้างต้น ได้ตัดสินพระทัยออกบวชเป็นพุทธสาวก และอุบาลีช่างกัลบกก็ขอบวชด้วย จึงรวมเป็น ๗ พระองค์ด้วยกัน

ท่านปฏิบัติตามพระพุทธดำรัสที่ตรัสแนะนำ ได้ศึกษาพระพุทธพจน์ไปพร้อมกับเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตผลในพรรษานั้น หลังจากนั้นท่านก็เป็นกำลังสำคัญ ในการเผยแผ่พระศาสนา เพราะความที่ท่านอยู่ใกล้ชิดพระบรมศาสดาโดยตรง ท่านจึงมีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ในด้านพระวินัย ท่านช่วยอบรมสั่งสอนถ่ายทอดความรู้ด้านพระวินัยให้แก่ศิษย์ลัทธิวิหาริกของท่านเป็นจำนวนมาก ถ้ามีอธิกรณ์เกิดขึ้นแก่ภิกษุสงฆ์หรือเกี่ยวกับพระวินัยแล้ว พระพุทธองค์จะทรงมอบให้ท่านเป็นผู้วินิจฉัย




พระนันทะ 
พระนันทกเถระ เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาสภิกษุณี

ท่านก็เป็นอีกรูปหนึ่ง ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการระลึกชาติในอดีตของตนเองและสัตว์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการแสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ สามารถชี้แจงยกอุปมาอุปไมยอธิบาย จนทำให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง

ท่านเคยแสดงธรรมแก่ภิกษุณี จำนวนถึง ๕๐๐ รูป จนได้บรรลุพระอรหัตผล ณ วัดราชการาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าปเสนทิโกศล สร้างถวายตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งในครั้งนั้นขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร พระมหาปชาบดีเถรี ได้พาภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อรับฟังพระธรรมเทศนาและพระพุทธองค์ได้ทรงมอบหมายให้พระภิกษุณีเหล่านั้น และในบรรดาภิกษุสาวกเหล่านั้น ก็มีพระนันทกะรวมอยู่ด้วย



พระสีวลีเถระ 
พระสีวลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก 

พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติลงถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์ของพระมารดา นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติพระมารดาได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า พระนางจึงขอให้พระสวามีไปกราบบังคมทูลขอพร
จากพระบรมศาสดาและพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า:-
“ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุข ปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด” 
ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไปพระนาง ประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนานพระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร” 

พระสารีบุตรเถระ ผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้น คือ
ตจปัญจกกรรมฐานทั้ง ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ (หนัง) ให้พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งานเป็นของสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อโกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็น พระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จ ท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านใน ตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก





9. เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา 
    เอเตสีติ มะหาเถรา ชิตะวันโต ชิโนระสา 
    ชะลันตา สีละเตเชนะ อังคะมังเคสุ สัณฐิตา 


คำแปล ส่วนพระอสีติมหาเถระที่เหลือ ผู้มีชัยและเป็นพระโอรสเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัยแต่ละองค์ล้วนรุ่งเรืองไพโรจน์ ด้วยเดชแห่งศีล ให้ดำรงอยู่ทั่วอวัยวะน้อยใหญ่ 

พระอสีติมหาเถระ ที่เหลือมีที่ไม่ได้กล่าวถึงคือ

พระอุรุเวลกัสสปเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้มีบริวารมาก 
บวชเป็นฤาษีชฎิล / ละลัทธิเดิม / ฟังอาทิตตปริยายสูตร / ตามเสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสาร / ได้รับยกย่องในทางผู้มีบริวารมาก

พระกาฬุทายีเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้นำตระกูลให้เลื่อมใส แจ้งข่าวพระบรมศาสดาเสด็จ 

พระนันทเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์ 
อุ้มบาตรตามเสด็จ / จำใจบวช / เปรียบอดีตเจ้าสาวเหมือนลิงแก่ / ได้รับยกย่องเป็นผู้สำรวม อินทรีย์

พระภัททิยเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้เกิดในตระกูลสูง 
บวชเพราะเพื่อนชวน / เปล่งอุทานว่า สุขหนอ ๆ

พระโมฆราชเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ยินดีในจีวรเศร้าหมอง 
ทดสอบการตรัสรู้ / กราบทูลถามปัญหาเป็นคนที่ ๑๕

พระปิ่นโฑลภารทวาชเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้บันลือสีหนาท
โทษของการไม่รู้ประมาณในอาหาร / เศรษฐีอยากรู้จักพระอรหันต์ / เดียรถีย์แสดงท่าเหาะ / พระปิณโฑลภารทวาชะเหาะขึ้นไปเอาบาตร / ได้รับยกย่องในทางผู้บันลือสีหนาท


พระมหากัจจายนเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้อธิบายความย่อให้พิสดาร 
กราบทูลขอแก้ไขพุทธบัญญัติ / ความสามารถพิเศษของท่าน / พระเถระแปลงร่าง/ ได้รับยกย่องในทางอธิบายความย่อให้พิสดาร

พระโสณกุฎิกัณณเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้มีวาจาไพเราะ 
อยู่ชนบทบวชพระยาก / เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค / ถวายพระธรรมเทศนา / ได้รับยกย่องในทางผู้มีวาจาไพเราะ

พระราธเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ว่าง่าย 
ทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยวิธีญัตติจตุตถกรรม / ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย

พระลกุณฏกภัททิยะเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้พูดเสียงไพเราะ 
คนแคระก็บวชได้ / ถูกล้อเลียนว่าเป็นสามเณร / ได้รับยกย่องว่าพูดเสียงไพเราะ

พระทัพพมัลลบุตรเถระ
เอตทัคคะในทางผู้จัดเสนาสนะ 
ประสูติบนเชิงตะกอน / โกนผมเสร็จก็บรรลุอรหันต์ / ขอรับภารกิจของสงฆ์ / ถูกภิกษุณีกล่าวหาว่าข่มขืน / ได้รับยกย่องทางจัดเสนาสนะ

พระพากุลเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ไม่มีโรคาพยาธิ 
คลอดจากท้องคนเข้าไปอยู่ในท้องปลา / ลูกใครกันแน่ / เข้ามาบวชในพุทธศาสนา / ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้ไม่มีโรคาพาธ

พระวักกลิเถระ 
เอตทัคคะในทางศรัทธาวิมุตติ 
บวชเพราะอยากชมพระรูปโฉม / ถูกขับไล่ไปโดดเขาตาย

พระมหากัปปินเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ให้โอวาทภิกษุ 
ทรงทราบข่าวพระรัตนตรัยเกิดขึ้นในโลก / เสด็จออกบวชพร้อมอำมาตย์ / พระพุทธองค์ทรงรับเสด็จ / พระเทวีและภรรยาอำมาตย์ออกบวช / พระมหากัปปินะเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ”

พระอุปเสนเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้นำซึ่งความเลื่อมใส 
แค่ ๑ พรรษาตั้งตนเป็นอุปัชฌาย์ / เป็นต้นบัญญัติเรื่องตั้งอุปัชฌาย์ / ความปรารถนาบรรลุผล

พระเรวตขทิรวนิยเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้อยู่ป่า 
๗ ขวบได้แต่งงาน / หนีเมียบวช / พระพุทธองค์เสด็จเยี่ยม / พระหลวงตานินทาพระเถระ

พระสุภูติเถระ 
เอตทัคคะในทางอรณวิหารและทักขิเณยยบุคคล 
ออกบวชคราวฉลองพระเชตวัน / พักกลางแจ้งฝนจึงแห้งแล้ง

พระพาหิยเถระ 
เอตทัคคะในทางขิปปาภิญญา 
เรือแตกแต่รอดตาย / อรหันต์เปลือย / เดินทางทั้งวันทั้งคืน / ตรัสรู้เร็วพลัน

พระวังคีสเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณ 
รับจ้างดีดกะโหลก / บวชเพื่อเรียนมนต์

พระโสณโกฬิวิสเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ปรารภความเพียร 
มีขนสีเขียวขึ้นที่ฝ่าเท้า / ทรงแนะนำให้ทำความเพียรเหมือนพิณ ๓ สาย / มูลเหตุทรงอนุญาตให้ภิกษุสวมรองเท้าได้

พระโสณภิตเถระ 
เอตทัคคะในทางระลึกปุพเพนิวาสานุสติญาณ 
ได้รับยกย่องในทางระลึกบุพเพนิวาสานุสติ

พระกังขาเรวตเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้เพ่งด้วยฌาณ 
แอบนั่งฟังธรรมท้ายสุด / เหตุที่ได้นามว่ากังขาเรวตะ

พระมหาปันถกเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้เจริญวิปัสสนา
ธิดาเศรษฐีหนีตามชายหนุ่ม / มาอยู่กับตายายจึงได้บวช / ได้รับยกย่องในทางผู้เจริญวิปัสสนา

พระจูฬปันถกเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญในมโนมยิทธิ 
เพราะปัญญาทึบพี่ชายไล่สึก / ประกาศความเป็นอรหันต์ / บุพกรรมของพระจูฬปันถก

พระกุณฑธานเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้จับสลากเป็นที่หนึ่ง 
หญิงสาวตามทุกย่างก้าว / กรรมเก่าของท่าน / พระเจ้าปเสนทิโกศลพิสูจน์ความจริง / สุขภาพกายดีจิตก็ดีด้วย

พระรัฐบาลเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา 
บวชด้วยศรัทธาแรงกล้า / บิดามารดาอ้อนวอนให้สึก / แสดงธรรมมุทเทศแด่พระเจ้าโกรัพยะ

พระมหาโกฏฐิตเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ๔ 
ทิ้งพราหมณ์ถือพุทธ / เป็นผู้แตกฉานเพราะชอบถามปัญหา

พระสาคตเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้ชำนาญเตโชสมาบัติ 
แสดงฤทธิ์ช่วยชาวบ้าน / พระเถระเมาเหล้า (ต้นบัญญัติห้ามดื่มสุรา)

พระปิลินทวัจฉเถระ 
เอตทัคคะในทางผู้เป็นที่รักใคร่ของเทพยดา 
เบื่อโลกจึงออกบวช / มีปกติเรียกคนอื่นว่า “คนถ่อย” / ถูกเพื่อนภิกษุฟ้องพระพุทธเจ้า / ได้รับยกย่องว่าเป็นที่รักของเทวดา




10. ระตะนัง ปุระโต อาสิ ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง 
       ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ วาเม อังคุลิมาละกัง 

คำแปล พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย พระธชัคคะสูตร อยู่เบื้องหลัง 

รัตนสูตร 
แปลว่าสูตรที่เป็นรัตนะ รัตนะแปลว่าแก้ว คือให้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ ให้สำเร็จความประสงค์ที่ต้องการ รัตนสูตรมีธรรมะดีๆ เยอะครับ ลองศึกษาดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณสมบัติของพระโสดาบัน มีคุณสมบัติของพระพุทธเจ้าไปจนถึงอนันตริยกสมาธิ อย่างนี้เป็นต้น มีของดีๆ อยู่ในนั้น ลองศึกษาดูและทำความเข้าใจ และปฏิบัติดำเนินตามข้อความในรัตนสูตร แล้วรัตนสูตรก็จะมาอยู่ข้างหน้าของเราได้ เพราะเรามีสิ่งนั้นอยู่ แต่ถ้าเราสวดเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้ มาอยู่ไม่ได้ นี้เราพูดกันในลักษณะของการศึกษาพุทธศาสนาด้วยปัญญา

เมตตาสูตร
อยู่เบื้องขวา เมตตาสูตรก็ดี มีคุณสมบัติของผู้ที่ถึงสันตบท พระอริยะท่านได้ดำเนินชิวีตถึงสันตบท ถึงนิพพานด้วย บทที่สงบระงับด้วยวิธีใด ผู้ฉลาดก็ควรดำเนินตาม ดำเนินตามรอยของท่าน ผู้ที่จะดำเนินตามทางนั้น เช่นว่า สักโก...เป็นผู้กล้าหาญ อุชุ...เป็นผู้ซื่อตรง อัปปคัพโต...เป็นผู้ไม่คะนองกายวาจาเรื่อยๆ ไป มีคุณสมบัติที่ดีเยอะแยะในเมตตาสูตร จนถึงสอนให้เป็นคนมีเมตตา แผ่เมตตาจิตไปไม่มีประมาณในสัตว์โลกทั้งปวง ... อันนี้เป็นข้อปฏิบัติทั้งนั้น

ธชัคคสูตร 
อยู่เบื้องหลัง ธชคฺคํ ปชฺโต อาส ธชัคคะ (ธชะ + อัคคะ) แปลว่ายอดธง ธชัคคสูตร...เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าว่าเวลาเกิดเทวาสุรสงครามขึ้น ท้าวสักกะบอกให้ดูยอดธงของท่าน พวกเทวดาก็มีกำลังใจเมื่อเห็นธงของท้าวสักกะอยู่ หัวหน้าแม่ทัพยังมีธงสะบัดอยู่ก็มีกำลังใจ พระสงฆ์ที่อยู่ป่าหรือชาวพุทธที่อยู่ป่าให้ถือเอา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณเป็นยอดธง ให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเวลาเกิดความกลัว ความตกใจ ความหวั่น ขนพองสยองเกล้า ก็ให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า ถ้ายังสะดุ้งอยู่ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระธรรม ถ้ายังกลัวอยู่ก็ให้ระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ ทำนองนี้ นี่เป็นธชัคคสูตรให้ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย

อังคุลิมาลสูตร 
เป็นคำอธิษฐานของพระองคุลิมาล พระองคุลิมาลมีประวัติที่โหดร้ายมาก่อน เป็นโจรใจเหี้ยม ฆ่าคนมามากมายถึง ๙๙๙ คน เกือบจะถึง ๑,๐๐๐ คนอยู่แล้ว ก็มาบวช ขณะที่เห็นหญิงมีครรภ์เดินลำบากก็เกิดความเมตตา เมื่อบวชแล้วจิตเปลี่ยนไป เกิดความเมตตา มาทูลพระพุทธเจ้าว่าทำอย่างไรอยากช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความลำบาก พระพุทธเจ้าตรัสว่า งั้นเอาอย่างนี้องคุลิมาล ไปบอกว่า ...ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมายังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์เลย ด้วยสัจจะว่าจาอันนี้ขอให้เธอคลอดโดยปลอดภัย ขอให้ครรภ์ของเธอปลอดภัย พระองคุลิมาลก็กล่าวว่า จะไม่เป็นการกล่าวเท็จหรือพระจ้าข้า เพราะว่าข้าพระองค์ฆ่าคนมาตั้งเยอะแยะ พระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่างนั้นเพิ่มเข้าไปว่า ...ตั้งแต่เกิดโดยอริยชาติ ได้บวชแล้ว ไม่เคยมีความจงใจที่จะฆ่าสัตว์เลย ด้วยสัจจะวาจาอันนี้ขอให้ครรภ์ของนางปลอดภัย ท่านองคุลิมาลก็ไปว่าตามนั้น นางก็คลอดปลอดภัย อันนี้พระก็เอามาสวดในงานแต่งงานและงานอะไรต่ออะไร ผู้หญิงมีครรภ์มาขอพระก็ทำน้ำมนต์สวดคาถาอังคุลิมาลปริตรนี้ อังคุลิมาลสูตรทำนองนี้

การขอให้พระสูตรต่างๆ มาอยู่ทางซ้าย ทางขวา ทางอะไรของเรา ถ้าเล็งในการปฏิบัติก็ต้องศึกษาให้เข้าใจในสิ่งเหล่านี้ แล้วนำมาปฏิบัติจะได้ผล ถ้าท่องเฉยๆ สวดเฉยๆ อย่างนี้ก็เป็นแต่เพียงกำลังใจ แต่ประโยชน์ไม่เท่ากับที่เราศึกษาให้เข้าใจ แล้วนำมาใช้ประโยชน์เลย คือปฏิบัติเลย ไม่ได้สวดอย่างเดียว




11. ขันธะโม ระปะริตัญ จะ อาฏานาฏิยะสุต ตะกัง 
       อากาเส ฉะทะนัง อาสิ เสสา ปาการะ สัณฐิตา 

คำแปล พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร เป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาอยู่บนนภากาศ 

 อานุภาพแห่งพระพุทธมนต์ 
 และความเป็นมาของการสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนาน 

โดยทั่วไปพุทธศาสนิกชนมักทำบุญโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดสาธยายบทพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลหรือพิธีที่จัดขึ้นเพื่อความสุขความเจริญเป็นสิริมงคลแก่การดำเนินชีวิตในวาระต่างๆ ซึ่งมักจะเรียกรวมกันว่าว่า พิธีเจริญพระพุทธมนต์

คำว่า “พระพุทธมนต์” หมายถึง พระพุทธพจน์อันเป็นพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏในพระไตรปิฏกบ้าง เป็นคำที่แต่งขึ้นมาภายหลังบ้าง โดยถือกันว่าพระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ สามารถปัดป้องอันตรายต่างๆได้ จึงเรียกอีกอย่างว่า “พระปริตร” 

คำว่า”ปริตร” มีความหมายว่า คุ้มครองรักษา หรือเครื่องคุ้มครองป้องกัน

ซึ่งบทพระพุทธมนต์ที่นิยมว่าศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ปรากฏรวบรวมไว้มี ๗ บท จึงเรียกว่า เจ็ดตำนาน (ตามปกติ คำว่าตำนาน จะหมายถึงเรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆมา แต่ในที่นี้เป็นการเรียกพระปริตรบทๆหนึ่งว่า ตำนาน ซึ่งมีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแผลงมาจากคำว่า ตาณ ในภาษาบาลีที่แปลว่า ต้านทานหรือป้องกันเช่นเดียวกับคำว่า ปริตร หรืออาจจะหมายถึงตำนานอันเป็นที่มาของแต่ละพระสูตรก็เป็นได้)

การสวดพระปริตรหรือเจ็ดตำนานนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศลังกา ราวพ.ศ. ๕๐๐ ด้วยว่าชาวลังกาที่นับถือพุทธศาสนาในขณะนั้น ประสงค์ให้พระสงฆ์ช่วยเหลือตนให้เกิดสิริมงคลและป้องกันภยันตรายต่างๆด้วยการสวดมนต์และคาถาตามแบบอย่างพราหมณ์ซึ่งมีความเชื่อว่าผู้ทรงเวทจะทำให้เกิดสิริมงคลและป้องกันภยันตรายแก่มหาชนได้ ด้วยเหตุนี้ พระสงฆ์ลังกาจึงได้คิดวิธีสวดพระปริตรขึ้น โดยเลือกเอาพระสูตรหรือคาถาที่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย อันเกิดขึ้นเนื่องด้วยเหตุการณ์ต่างๆมาสวดเป็นมนต์

โดยการสวดครั้งแรกๆก็ขึ้นกับเหตุการณ์ที่ไปสวด เช่น ไปสวดพิธีมงคลก็ใช้มงคลสูตรสวด สวดให้คนเจ็บป่วยก็ใช้โพชฌงคสูตร ครั้นคนนิยมมากขึ้นก็คิดค้นพระสูตรต่างๆมาสวดเป็นพระปริตรมากขึ้นเป็นลำดับ

ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินประเทศลังกาก็ได้รับสั่งให้คณะสงฆ์ปรับปรุงพระสูตรและคาถาที่ใช้สวดพระปริตรขึ้นใหม่ให้เหมาะกับเหตุการณ์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีหลวงโดยได้เพิ่มพระสูตรและคาถาให้มากขึ้น และเรียกว่า “ราชปริตร” แปลว่า มนต์คุ้มครองพระเจ้าแผ่นดิน ต่อมาประชาชนต่างก็นิยมให้มีการสวดพระปริตรในพิธีของตนบ้าง จึงเกิดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน


เจ็ดตำนานหรือพระปริตร 

ซึ่งหมายถึง มนต์อันเป็นเครื่องป้องกันภยันตรายต่างๆมีอยู่ด้วยกัน ๗ พระสูตรคือ

๑.มงคลสูตร ว่าด้วยเหตุที่จะทำให้เกิดสิริมงคล 


๒.รัตนสูตรว่าด้วยรัตนทั้ง ๓ คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ สวดเพื่อปัดเป่าอุปัทวันตรายให้หมดไป 


๓.กรณียเมตตสูตร ว่าด้วยการเจริญเมตตา ไปไหนมาไหนให้คน เทวดารักใคร่เมตตา 


๔.ขันธปริตร ว่าด้วยพระพุทธมนต์สำหรับป้องกันสัตว์ร้ายพวกอสรพิษ 


๕.ธชัคคสูตร ว่าด้วยการเคารพธงและการรำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยทำให้หายหวาดกลัว 


๖.อาฏานาฏิยปริตร ว่าด้วยพระพุทธมนต์ที่สามารถป้องกันอุปัทวันตรายทั้งปวง 


๗.อังคุลิมาลปริตร ว่าด้วยมนต์ขององคุลีมาล ใช้ในงานมงคลหรือทำให้คลอดลูกง่าย 


สำหรับความเป็นมาของพระสูตรแต่ละเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช) กระทรวงวัฒนธรรมได้สรุปส่วนหนึ่งจากหนังสือ”วรรณคดีขนบประเพณีฯ”ของอาจารย์เบญจมาศ พลอินทร์ ความว่า

มงคลสูตร 

เกิดจากชาวชมพูทวีปต่างถกเถียงและตกลงกันไม่ได้ว่ามงคลคืออะไร จึงพากันไปทูลถามพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ก็ได้ให้คำตอบว่าสิ่งอันเป็นมงคลในชีวิตมี ๓๘ ประการหรือที่ชาวพุทธรู้จักในนาม มงคล ๓๘ นั่นเอง เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต วาจาเป็นสุภาษิต ฯลฯ ซึ่งธรรมอันเป็นมงคลนี้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าไม่ว่ามนุษย์หรือเทวดาปฏิบัติก็ล้วนเป็นสิริมงคลแก่ตัวทั้งสิ้น

รัตนสูตร 

เล่ากันว่าครั้งหนึ่งเมืองไพสาลีเกิดทุพภิกภัยฝนแล้งข้าวยากหมากแพง คนล้มตายเพราะความอดอยาก ประชาชนก็ไปร้องต่อพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้ประชาชนตรวจสอบพระองค์ว่าผิดธรรมข้อใดหรือเปล่า จึงเกิดเหตุเช่นนี้ ก็ปรากฏว่าไม่ผิดธรรมข้อใด จึงพากันไปอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเมืองไพสาลี เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงก็ปรากฏว่ามีฝนตกมาห่าใหญ่ ครั้นนั้นพระพุทธองค์ได้ตรัสเรียกพระอานนท์ให้มาเรียนรัตนสูตร อันมีเนื้อความสรรเสริญแก้ววิเศษ ๓ ประการที่ไม่มีแก้วอื่นใดเสมอเหมือนคือพุทธรัตนะ ธัมมรัตนะ และสังฆรัตนะ และทำให้ผู้สวด ผู้ฟัง ผู้บูชาและผู้ระลึกถึงประสบแต่ความสวัสดี ซึ่งเมื่อพระอานนท์เรียนจากพระพุทธองค์ ก็นำบาตรน้ำมนต์ของพระพุทธเจ้าไปประพรมทั่วนครไพสาลี เมื่อน้ำพระพุทธมนต์ไปถูกพวกปีศาจๆก็หนีไป ไปถูกมนุษย์ที่เจ็บป่วย โรคเหล่านั้นก็หายสิ้น แต่นั้นมาชาวเมืองก็มีความสงบสุขตลอดมา

กรณียเมตตสูตร 

เป็นพระสูตรที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนพระภิกษุ ๕๐๐ รูปที่ได้เรียนกัมมัฏฐานแล้วคิดจะหาสถานที่สงบบำเพ็ญธรรม เมื่อเดินทางไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง ชาวบ้านเห็นก็เลื่อมใสยินดีนิมนต์ให้อยู่ปฏิบัติธรรมพร้อมทั้งสร้างกุฏิให้ ปรากฏว่าทำให้เทวดาที่อยู่ละแวกนั้นเดือนร้อน ไม่มีที่อยู่ จึงได้แสดงอาการน่ากลัวต่างๆมาหลอกพระภิกษุ เมื่อพระภิกษุเห็นก็เกิดความหวาดกลัว ไม่อาจทำจิตใจให้เป็นสมาธิได้ จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์ พระองค์จึงได้สอนกรณีย เมตตสูตร อันมีเนื้อความว่าขอให้บุคคลเป็นผู้อาจหาญ ซื่อตรง ว่าง่าย อ่อนโยนไม่หยิ่งยะโส มีสันโดษ ไม่ประกอบกรรมที่ผู้รู้ติเตียน อย่าดูหมิ่นหรือหาทุกข์ให้กัน ฯลฯ เมื่อพระภิกษุกลับไปและนำไปสวดสาธยาย เหล่าเทวดาก็เกิดความเมตตาแก่พระภิกษุ มิได้สำแดงอาการอย่างใดอีก ทำให้พระภิกษุบำเพ็ญธรรมได้เต็มที่ พระสูตรบทนี้ถือเป็นบทแนะนำวิธีสร้างเมตตามหานิยม สร้างเสน่ห์แก่ตนเอง

ขันธปริตร 

เกิดจากพระภิกษุรูปหนึ่งถูกงูกัดที่เท้า ทนพิษไม่ไหวถึงแก่มรณภาพ เมื่อพระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงตรัสสอนให้พระภิกษุรู้จักแผ่เมตตาแก่สกุลพญางูทั้งสี่ คือ พญางูวิรูปักข์ พญางูเอราบถ พญางูฉัพยาบุตร และพญางูกัณหาโคตมะ ซึ่งมีเนื้อความว่า ไมตรีของเราจงมีแก่สกุลพญางูทั้งสี่ ตลอดทั้งสัตว์สองเท้า สี่เท้า อย่าเบียดเบียนเรา สัตว์ทั้งหลาย เช่น งู แมลงป่อง ตะขาบ เป็นต้นมีประมาณไม่มากเหมือนคุณพระรัตนตรัย เราทำการนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ขอสัตว์ร้ายจงหลีกไป ในทางความเชื่อพระพุทธมนต์บทนี้ใช้ภาวนาป้องกันอสรพิษทุกชนิดได้ แต่กล่าวกันว่า ในงานพิธีทั่วไปไม่นิยมขึ้นต้นที่ “วิรูปกฺเข”เพราะเชื่อว่าเป็นบทปลุกผีให้ออกมาอาละวาด พระมักจะขึ้นที่ “อปปฺมาโณ” 

ธชัคคสูตร 

มาจากที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าให้พระภิกษุฟังว่า เมื่อเทวดากับอสูรรบกัน ท้าวสักกะซึ่งเป็นใหญ่ในหมู่เทวดา ได้แนะให้เหล่าเทวดาที่เกิดความกลัว หวาดสะดุ้ง หรือขนพองสยองเกล้า ได้แลดูชายธงของเทวราชทั้งหลาย เพื่อให้คลายจากความกลัว แต่พระพุทธองค์กล่าวว่าการดูธงของเหล่าเทวราช อาจจะทำให้หายหรือไม่หายกลัวก็ได้ เพราะเหล่าเทวดายังไม่ละกิเลส อย่างไรก็ยังต้องมีความหวาดกลัวอยู่ ดังนั้น จึงสอนให้พระภิกษุเชื่อและยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแห่งจิตใจ จะทำให้คลายจากความกลัว และรู้สึกปลอดภัยไม่หวั่นไหว บทนี้มักจะใช้สวดในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าธงไชยเฉลิมพล

อาฏานาฏิยปริตร 

เกิดเมื่อท้าวมหาราชทั้งสี่คือ ท้าวธตรฐ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักข์ และท้าวเวสสวัณ ตั้งใจจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่เกรงว่าหากพวกอสูรรู้ว่าบนดาวดึงส์ไม่มีใครอยู่ ก็อาจถือโอกาสมากวน ซึ่งพวกตนก็อาจกลับมาไม่ทัน จึงได้จัดตั้งกองทหารไว้ ๔ กองประกอบด้วยคนธรรพ์ ยักษ์ นาครักษาแต่ละทิศไว้ แล้วพากันไปประชุมที่อาฏานาฏิยนคร แล้วผูกมนต์เป็นอาฏานาฏิยปริตรขึ้น จากนั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมบริวารเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าบริวารของท้าวมหาราชเหล่านี้ ต่างก็มีปฏิกิริยาต่อพระพุทธองค์ต่างๆกัน เพราะบ้างก็นับถือ บ้างก็ไม่เชื่อถือ จนเป็นเหตุให้บรรดาสาวกของพระพุทธเจ้าที่ไปบำเพ็ญธรรมตามที่ต่างๆ ต้องถูกผี ปีศาจ ยักษ์ที่ไม่เลื่อมใสเหล่านี้รบกวน จนเจ็บไข้ได้ป่วย หรือเป็นอันตรายต่างๆนานา ท้าวเวสสวัณจึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธองค์รับอาฏานาฏิยปริตรไว้ประทานแก่สาวกของพระองค์ เพื่อป้องกันมิให้ยักษ์ และภูตผีปีศาจรบกวน ซึ่งเนื้อความเป็นการสรรเสริญพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ และขอนอบน้อมพระพุทธเจ้าเหล่านั้นด้วยกาย วาจา ใจ ไม่ว่าเวลานอน เดิน นั่งหรือยืน ขอให้พระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้คุ้มครองรักษาให้พ้นภัย พ้นโรค และความเดือดร้อนต่างๆ ปริตรบทนี้ใครเจริญภาวนาอยู่เป็นนิตย์ เชื่อว่ายักษ์ ผี ปีศาจก็จะช่วยคุ้มครองให้มีความสุขความเจริญ

อังคุลิมาลปริตร 
มี ๒ ปริตรรวมกันคือ อังคุลิมาลปริตร และโพชฌงคปริตร

โดยได้เล่าเรื่องขององคุลีมาล ซึ่งเดิมเป็นบุตรปุโรหิตนามว่า อหิงสกกุมาร ไปร่ำเรียนวิชากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ด้วยความเก่งและปัญญาดี เลยเป็นที่อิจฉาริษยาของศิษย์อื่น แล้วก็ไปยุยงอาจารย์จนหลงเชื่อ จะหาทางกำจัดอหิงสก โดยหลอกให้ไปฆ่าคนมาพันคน แล้วจะบอกวิชาให้ อหิงสกอยากได้วิชาก็ทำตามอาจารย์แนะ เที่ยวไล่ฆ่าคนไปทั่ว ฆ่าเสร็จก็ตัดนิ้วมาร้อยห้อยเป็นพวงมาลัย จนเป็นที่หวั่นกลัวของมหาชน และถูกขนานนามใหม่ว่า “องคุลิมาล” อันหมายถึงโจรที่ตัดนิ้วนั่นเอง องคุลิมาลฆ่าคนไปได้ถึง ๙๙๙ คน ขาดอีกหนึ่งเดียว วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงทราบและหยั่งรู้ด้วยญาณว่าโจรนี้ยังมีทางจะโปรดได้ ก็เลยเสด็จบิณฑบาตผ่านหน้าองคุลิมาลๆเห็นก็ดีใจคิดว่าคราวนี้ได้นิ้วครบพันแล้ว แต่ปรากฏว่าเดินตามพระพุทธเจ้าเท่าไรก็ไม่ทัน ในที่สุดพระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอนและองคุลิมาลก็ได้บวชเป็นสาวก แต่เนื่องจากฆ่าคนไว้มาก พอไปบิณฑบาตที่ไหนคนก็วิ่งหนีหวาดกลัว ทำให้องคุลิมาลไม่ได้ข้าวแม้ทัพพีเดียว วันหนึ่งมีหญิงท้องแก่ใกล้คลอดเห็นองคุลิมาลก็วิ่งหนีไปลอดรั้วด้วยความกลัว แต่ลอดไม่ได้ ทำให้ต่อมาเกิดความลำบากในการคลอดลูก บรรดาญาติจึงต่างปรึกษากันและเห็นว่าองคุลิมาลคงไม่ฆ่าใครแล้ว และเป็นสาเหตุให้หญิงนี้คลอดยาก จึงนิมนต์พระองคุลิมาลมาเล่าสาเหตุให้ฟัง ท่านฟังแล้วก็ตั้งสัตย์อธิษฐาน ความว่า ตนเองเกิดมาไม่เคยคิดฆ่าสัตว์โดยเจตนา ด้วยความสัตย์นี้ขอให้ความสวัสดิ์จงมีแก่ครรภ์หญิงนั้น ก็ปรากฏว่าทำให้นางคลอดลูกได้โดยสะดวก พระปริตรบทนี้ถือว่าสวดแล้วจะมีความสวัสดีและคลอดลูกง่าย นิยมสวดในพิธีมงคลสมรสด้วย

โพชฌงคปริตร 

คำว่า โพชฌงค์ แปลว่า ธรรมเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ เป็นพระสูตรที่สวดร่วมกับองคุลิมาลปริตรรที่สั้นเกินไป ทำให้ฟังดูไม่มีน้ำหนัก จึงได้เพิ่มโพชฌงคปริตร ซึ่งมีคุณคล้ายกันในด้านแก้เจ็บไข้ได้ป่วยมาสวดต่อให้ยาวขึ้น โดยมีเรื่องเล่าว่าเมื่อครั้นพระมหากัสสปอาพาธหนักได้รับทุกขเวนาอย่างแสนสาหัส พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปตรัสเทศนาโพชฌงค์เจ็ดคือ สติ ความระลึกได้ ธรรมวิจัย คือการวิจัยข้อธรรม วิริยะคือ ความเพียร ปีติ คือ ความเอิบอิ่มในธรรม ปัสสัทธิ คือ ความระงับ สมาธิ คือ ความตั้งใจมั่นและอุเบกขาคือ ความวางเฉย พร้อมทั้งแสดงอานิสสงค์แห่งการเจริญโพชฌงค์ พระมหากัสสปเมื่อได้ฟังก็เพลิดเพลินในธรรมหายอาพาธ ต่อมาพระโมคคัลลานะอาพาธ พระพุทธองค์ก็เสด็จไปแสดงโพชฌงคปริตร พระโมคคัลลานะก็หายอาพาธเช่นเดียวกับพระมหากัสสป และแม้แต่พระพุทธองค์เองเมื่อทรงประชวร ก็ตรัสให้พระมหาจุนทะแสดงโพชฌงค์ ๗ พระองค์ก็หายประชวรเช่นกัน พระสูตรนี้จึงถือว่าเป็นมนต์ต่ออายุ ใช้สวดต่ออายุคนเจ็บ

ราชปริตรหรือเจ็ดตำนานอันเป็นพระพุทธมนต์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หลายคนอาจจะคิดว่าแค่สวดมนต์ทำไมถึงมีความศักดิ์สิทธิ์หรืออานุภาพที่เป็นพลังให้ความคุ้มครอง ป้องกัน หรือช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งอวมงคล รวมถึงภยันตรายต่างๆออกไปได้ และยังก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ หากเราจะได้พิจารณาเนื้อความจากบทสวดแต่ละบทแล้ว จะเห็นว่าส่วนใหญ่จะเป็นการสรรเสริญพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นการสอนให้ยึดพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง เป็นหลักธรรมในการดำเนินชีวิต สอนให้รู้จักชนะศัตรูด้วยคุณความดีและแผ่เมตตา สอนให้ไม่ประมาท สอนให้รู้จักเคารพนอบน้อมผู้รู้ ผู้เป็นแบบฉบับ เป็นต้น ซึ่งแม้เราจะฟังไม่บทสวดไม่เข้าใจทั้งหมด แต่การได้ยินได้ฟังสิ่งที่ดีงาม ก็ย่อมทำให้เรามีจิตเป็นกุศล และยิ่งหากใครเข้าใจและปฏิบัติตามคำสอนดังกล่าวก็ย่อมจะพบความสุข ความเจริญ ไปไหนมาไหนก็มีคนรักใคร่เมตตามากขึ้นแน่นอน




12. ชินานา วะระสังยุตตา สัตตัปปาการะลัง กะตา 
      วาตะปิตตาทิสัญ ชาตา พาหิรัช ฌัตตุปัท ทะวา 

คำแปล อนึ่งพระชินเจ้าทั้งหลาย นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนี้ ผู้ประกอบพร้อมด้วยกำลังนานาชนิด มีศีลาทิคุณอันมั่นคง คือ สัตตะปราการเป็นอาภรณ์มาตั้งล้อมเป็นกำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้น 

ขยายความ;ศิลาทิคุณ
การเห็นสัตบุรุษทั้งหลายผู้เพรียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณ ย่อมยังประโยชน์ ให้สำเร็จ เป็นเหตุตัดความสงสัยเสียได้ ทำความรู้ให้เจริญงอกงาม สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมกระทำพาลชนให้เป็นบัณฑิตได้ เพราะฉะนั้นการสมาคมกับสัตบุรุษ จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้.
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๕๔๑๔ - ๕๔๑๗. หน้าที่ ๒๒๖

สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้ดำเนินตามมรรค เป็นผู้ประกอบด้วยศีลาทิคุณ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑ขุททกนิกาย มหานิทเทส

กำแพงคุ้มครองเจ็ดชั้นพบได้ที่เมืองกุสาวดี ดังมีคำบรรยายดังนี้

ดูกรอานนท์ กุสาวดีราชธานี แวดล้อมด้วยกำแพง ๗ ชั้น คือ กำแพงแล้วด้วย

ทองชั้น ๑

แล้วด้วยเงินชั้น ๑

แล้วด้วยแก้วไพฑูรย์ชั้น ๑

แล้วด้วยแก้วผลึกชั้น ๑

แล้วด้วยแก้วโกเมนชั้น ๑

แล้วด้วยบุษราคัมชั้น ๑

แล้วด้วยรัตนะทุกอย่างชั้น ๑

ดังนั้นถ้าพวกเราทุกท่านปฎิบัติตามแนวของพระพุทธองค์คือหนทางแห่งมรรคอันมั่นคงแล้ว ย่อมเปรียบได้ดั่งกำแพงคุ้มกันภัยให้พวกเราทุกคนประสบความเจริญงอกงาม ยังความสำเร็จในทุกๆด้าน




13.อะเสสา วินะยัง ยันตุ อะนันตะ ชินะเต ชะสา 
     วะสะโต เม สะกิจเจ นะ สะทา สัมพุทธะปัญชะเร 

คำแปล ด้วยเดชานุภาพแห่งพระอนันตชินเจ้า ไม่ว่าจะทำกิจการใดๆ เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเข้าอาศัยอยู่ในพระบัญชรแวดวงกรงล้อมแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอโรคอุปัทวทุกข์ทั้งภายนอกและภายใน อันเกิดแต่โรคร้าย คือ โรคลมและโรคดีเป็นต้น เป็นสมุฏฐาน จงกำจัดให้พินาศอย่าให้เหลือ.




14. ชินะ ปัญชะระ มัชฌัมหิ วิหะรันตัง มะหิี ตะเล 
       สะทา ปาเลนตุมัง สัพเพ เต มะหาปุริสา สะภา 

คำแปล ขอพระมหาบุรุษ ผู้ทรงพระคุณอันล้ำเลิศทั้งปวงนั้น จงอภิบาลข้าพระพุทธเจ้า ผู้อยู่ในภาคพื้น ท่ามกลางพระชินบัญชร ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการคุ้มครองปกปักรักษาภายในเป็นอันดี ฉะนี้แล 

ขอขยายความว่า พระมหาบุรุษ พระพุทธองค์ท่านทรงมีลักษณะของบุคคลผู้เป็นมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ หรือที่เรียกว่า มหาปุริสลักษณะ มหาปุริสลักษณะ หรือลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการนั้น คือ 

๑. มหาบุรุษ มีพื้นเท้าสม่ำเสมอ

๒. มหาบุรุษ ที่ฝ่าเท้ามีจักรเกิดขึ้น มีซี่ตั้งพัน พร้อมทั้งกงและดุม

๓. มหาบุรุษ มีส้นเท้ายาว

๔. มหาบุรุษ มีข้อนิ้วยาว

๕. มหาบุรุษ มีลายฝ่าเท้าอ่อนละมุน

๖. มหาบุรุษ มีลายฝ่ามือฝ่าเท้าดุจตาข่าย

๗. มหาบุรุษ มีข้อเท้าอยู่สูง

๘. มหาบุรุษ มีแข้งดุจแข้งเนื้อทราย

๙. มหาบุรุษ ยืนไม่ย่อตัวลง แตะเข่าได้ด้วยมือทั้งสอง

๑๐. มหาบุรุษ มีองคชาติตั้งอยู่ในฝัก

๑๑. มหาบุรุษ มีสีกายดุจทอง คือมีผิวหนังดุจทอง

๑๒. มหาบุรุษ มีผิวหนังละเอียด ละอองจับไม่ได้

๑๓. มหาบุรุษ มีขนขุมละเส้น เส้นหนึ่ง ๆ อยู่ขุมหนึ่ง ๆ

๑๔. มหาบุรุษ มีปลายขนช้อนขึ้น สีดุจดอกอัญชัน ขึ้นเวียนขวา

๑๕. มหาบุรุษ มีกายตรงดุจกายพรหม

๑๖. มหาบุรุษ มีเนื้อนูนหนาในที่ ๗ แห่ง (คือหลังมือหลังเท้าบ่อคอ)

๑๗. มหาบุรุษ มีกายข้างหน้า ดุจราชสีห์

๑๘. มหาบุรุษ มีหลังเต็ม (ไม่มีร่องหลัง)

๑๙. มหาบุรุษ มีทรวดทรงดุจต้นไทร กายกับวาเท่ากัน

๒๐. มหาบุรุษ มีคอ กลมเกลี้ยง

๒๑. มหาบุรุษ มีประสาทรับรสอันเลิศ

๒๒. มหาบุรุษ มีคางดุจราชสีห์

๒๓. มหาบุรุษ มีฟัน ๔๐ ซี่บริบูรณ์

๒๔. มหาบุรุษ มีฟันเรียบเสมอ

๒๕. มหาบุรุษ มีฟันสนิท (ชิด)

๒๗. มหาบุรุษ มีลิ้น (ใหญ่และยาว) เพียงพอ

๒๘. มหาบุรุษ มีเสียงดุจเสียงพรหม พูดเหมือนนกการเวก

๒๙. มหาบุรุษ มีตาเขียวสนิท (ตานิล)

๓๐. มหาบุรุษ มีตาดุจตาวัว

๓๑. มหาบุรุษ มีอุณาโลมหว่างคิ้ว ขาวอ่อนเหมือนสำลี

๓๒. มหาบุรุษ มีศีรษะรับกับกรอบหน้า

บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. ๑๑/๑๕๗/๑๓๐..
ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน.


…คุณความดีอันใดหรือที่พระพุทธองค์ทรงกระทำแล้ว ทำให้พระองค์มีลักษณะของมหาบุรุษครบถ้วน ๓๒ ประการ พุทธองค์ได้ทรงตรัสเล่าไว้ดังต่อไปนี้

พระพุทธองค์ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า พระมหาบุรุษผู้สมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้ ย่อมมีคติเป็นสองเท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่นได้เลย คือ ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรอันมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการคือ

๑. จักรแก้ว
๒. ช้างแก้ว
๓. ม้าแก้ว
๔. แก้วมณี
๕. นางแก้ว
๖. คฤหบดีแก้ว
๗. ปริณายกแล้ว

พระราชบุตรของพระองค์มีกว่าพัน ล้วนกล้าหาญ มีรูปร่างสมเป็นวีรกษัตริย์ สามารถย่ำยีทหารของข้าศึกได้ พระองค์ทรงมีชัยชนะโดยธรรม มีมหาสมุทรเป็นขอบเขต ไม่มีหลักตอ ไม่มีเสี้ยนหนาม มีความมั่งคง เบิกบาน เกษม ร่มเย็น ปราศจากเสนียดคือ โจร ทรงครอบครองโดยธรรม อันสม่ำเสมอ มิได้ใช้อาชญาและศาสตรา

พระมหาบุรุษนี้ ถ้าเสด็จออกบวชเป็นบรรพชิต ก็จะได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีหลังคาคือกิเลสอันเปิดแล้วในโลก

พระพุทธองค์ ได้ตรัสถึงสาเหตุที่ทำให้พระองค์มีมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการครบถ้วน เกิดจากการสร้างกรรมดี ดังต่อไปนี้

ภิกษุทั้งหลาย มหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ เหล่านี้แลพวกฤาษีแม้เป็นภายนอก (หมายถึงภายนอกศาสนา) ย่อมทรงจำมหาปุริสลักษณะของมหาบุรุษ ๓๒ เหล่านี้ได้

แต่ฤาษีทั้งหลายนั้นย่อมไม่ทราบว่า พระโพธิสัตว์ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกรรมต่าง ๆ อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ สัตว์ที่บำเพ็ญกุศลกรรมนั้น ย่อมครอบงำเทวดาทั้งหลายอื่นในโลกสวรรค์ โดยสถาน ๑๐ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ ความสุขทิพย์ ยศทิพย์ ความเป็นอธิบดีทิพย์ รูปทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์และโผฏฐัพพะทิพย์ ครั้นจุติจากโลกสวรรค์นั้นแล้ว มาสู่ความเป็นอย่างนี้ย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้

๑. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้สมาทานมั่นในกุศลธรรม มีสมาทาน (การรับมาทรงไว้) ไม่ถอยหลังในกายสุจริต ในวจีสุจริต ในมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีล ในการรักษาอุโบสถในการปฏิบัติดีในมารดา ในการปฏิบัติดีในบิดา ในการปฏิบัติดีในสมณพราหมณ์ ในความเป็นผู้เคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุลและในธรรม อันเป็นอธิกุศลอื่น ๆ เพราะกรรมนั้น อันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะอย่างนี้คือมีพระบาทตั้งอยู่เฉพาะเป็นอันดี คือ เหยียบพระบาทเสมอกันบนพื้น ยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน จรดภาคพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน เป็นมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักขณะนั้น

๒. ตถาคตเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ได้เป็นผู้นำความสุขมาให้แก่ชนเป็นอันมาก บรรเทาภัยคือความหวาดกลัวและความหวาดเสียว จัดการรักษาปกครองกันโดยธรรม และบำเพ็ญทานพร้อมด้วยวัตถุอันเป็นบริวารเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะอย่างนี้ คือ ในฝ่าพระบาททั้งสองมีจักรเกิดเป็นอันมาก มีซี่กำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง มีระหว่าง(ช่องห่าง) อันกุศลกรรมแบ่งเป็นอันดี เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๓. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละปาณาติบาตแล้ว เว้นขาดจากปาณาติบาตแล้ววางทัณฑะวางศัสตราแล้ว มีความละอาย มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการ คือ ส้นพระบาทยาว ๑ มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทยาว ๑ มีพระกายตรงดังกายแห่งพรหม ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งหลายนั้น

๔. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ให้ของที่ควรเคี้ยว และของที่ควรบริโภคอันประณีตและมีรสอร่อยและให้น้ำที่ควรซดควรดื่มเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มังสะ(เนื้อ) อูมในที่ ๗ สถาน คือ ที่หลังพระบาททั้งสองที่บนพระอังสาทั้งสอง ที่ลำพระศอ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๕. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้สงเคราะห์ประชาชนด้วยสังคหวัตถุ ๔ คือ การให้การกล่าวคำเป็นรัก การประพฤติให้เป็นประโยชน์ และความเป็นผู้มีตนเสมอเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะทั้ง ๒ นี้ คือ พระหัตถ์และพระบาท มีพื้นอ่อนนุ่ม ๑ และพระหัตถ์และพระบาทมีลายดังตาข่าย ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

๖. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ประกอบด้วยธรรมแนะนำประชาชนเป็นอันมาก เป็นผู้นำประโยชน์และความสุขมาหาสัตว์ทั้งหลายเป็นผู้บูชาธรรมอยู่เสมอ เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้ซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระบาทดุจสังข์คว่ำ ๑ มีพระโลมชาติล้วนมีปลายช้อนขึ้นข้างบนทุก ๆ เส้น ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

๗. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ตั้งใจสอนศิลปะ วิชชาและกรรม ด้วยมนสิการว่าทำไฉน ชนทั้งหลายนี้ ถึงรู้เร็ว พึงสำเร็จ ไม่พึงลำบากนานเพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนั้น คือ มีพระชงฆ์เรียวดังแข้งแห่งเนื้อทราย เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น

๘. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้เข้าหาสมณะหรือพราหมณ์แล้วซักถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญกรรมส่วนกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนอกุศลเป็นอย่างไร กรรมส่วนที่มีโทษเป็นอย่างไร กรรมส่วนไม่มีโทษเป็นอย่างไรกรรมที่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมที่ไม่ควรเสพเป็นอย่างไร กรรมอะไรที่พึงเป็นไปเพื่อความเป็นประโยชน์ เพื่อสุขตลอดกาลนาน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนั้น คือ มีพระฉวีสุขุมละเอียด ธุลีละอองมิติดพระกายได้ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๙. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ไม่มีความโกรธ ไม่มีความแค้นใจ แม้ถูกคนหมู่มากว่าเอาก็ไม่ขัดใจ ไม่โกรธ ไม่ปองร้าย ไม่จองผลาญ ไม่ทำความโกรธ ความเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาดมีเนื้อละเอียดอ่อนและให้ผ้าสำหรับนุ่งห่มมีเนื้อละเอียด เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะทั้งนี้ คือ มีวรรณะดั่งทองคำ มีผิวหน้าคล้ายทองคำ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๑๐. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้นำพวกญาติมิตรสหาย ผู้มีใจดี ที่สูญหาย พลัดพรากไปนานให้กลับมาพบกัน นำมารดากับบุตรให้พบกัน นำบุตรกับบิดาให้พบกัน นำพี่ชายพี่สาวกับน้องชายน้องสาวให้พบกัน ครั้นเขาทำการพร้อมเพรียง (รักใคร่ปรองดอง) กันแล้วก็ชื่นชม เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๑๑. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิด ก่อน ๆ เมื่อตรวจดูมหาชนเป็นผู้ดูที่ควรสงเคราะห์ ย่อมรู้จักชนที่เสมอกัน รู้จักบุรุษพิเศษ หยั่งทราบว่าบุคคลนี้ควรปฏิบัติด้วยอย่างนี้ ๆ แล้วทำกิจอันเป็นประโยชน์พิเศษในบุคคลนั้น ๆ ในกาลก่อน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ คือ มีพระกายเป็นระเบียบงดงาม และเมื่อยืนอยู่ไม่ต้องน้อมกายลง ย่อมลูบคลำชานุทั้งสอง ด้วยฝ่าพระหัตถ์ทั้งสองได้เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๑๒. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้หวังประโยชน์หวังความเกื้อกูล หวังความผาสุก หวังความเกษมจากโยคะแก่ชนเป็นอันมาก ด้วยมนสิการว่า ทำไฉนชนเหล่านี้พึงเจริญด้วยศรัทธา เจริญด้วยศีล เจริญด้วยสุระ เจริญด้วยพุทธิ เจริญด้วยจาคะ เจริญด้วยธรรม เจริญด้วยปัญญา เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก เจริญด้วยนาและสวน เจริญด้วยทาสและกรรมกร เจริญด้วยญาติ เจริญด้วยมิตร เจริญด้วยพวกพ้อง ดังนี้ เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๓ ประการนี้ คือ มีส่วนพระกายข้างหน้าดังว่ากึ่งกายข้างหน้า แห่งราชสีห์ ๑ มีระหว่างพระปฤษฎางค์เต็มดี ๑ มีลำพระศอกกลมเสมอกัน ๑ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๓ ประการนั้น

๑๓. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายด้วยฝ่ามือ ก้อนดิน ท่อนไม้หรือศัตรา เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอันเลิศ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๑๔. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ไม่ถลึงตาดู ไม่ค้อนตาดู ไม่ชำเลืองตาดู เป็นผู้ตรงมีใจตรงเป็นปกติแลดูตรง ๆ และดูมหาชนด้วยปิยจักษะ (แววตาแห่งความรัก) เพระกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระเนตรสีดำสนิท และมีดวงพระเนตรดังว่าตาแห่งโค เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

๑๕. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ เป็นหัวหน้าของมหาชนในธรรมทั้งหลายฝ่ายกุศล เป็นประธานของมหาชนด้วยการสุจริตด้วยวจีสุจริต ด้วยมโนสุจริต ในการบำเพ็ญทาน ในการสมาทานศีลในการรักษาอุโบสถ ในความปฏิบัติดีในมารดา ในความปฏิบัติดีในบิดา ในความปฏิบัติดีในสมณะพราหมณ์ ในความเคารพต่อผู้ใหญ่ในสกุล และในธรรมเป็นอธิกุศลอื่น ๆ เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระเศียรดุจดังว่าประดับด้วยอุณหิส เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนี้

๑๖. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละการพูดเท็จ เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดแต่คำจริง ดำรงคำสัตย์มีถ้อยคำเป็นหลักฐาน (เชื่อถือได้) ควรเชื่อได้ไม่พูดลวงโลก เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีโลมชาติขุมละเส้น และมีอุณาโลมในระหว่างคิ้วมีสีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

๑๗. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำส่อเสียด ฟังจากข้างนี้แล้วไม่ไปบอกข้างโน้น เพื่อให้คนหมู่นี้แตกร้าวกัน หรือฟังจากข้างโน้นแล้วไม่มาบอกข้างนี้เพื่อให้คนหมู่โน้นแตกร้าวกัน สมานคนที่แตกร้าวกันแล้วบ้าง ส่งเสริมคนที่พร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพรียงกันแล้วบ้าง กล่าวแต่คำที่ทำให้คนพร้อมเพียงกัน เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระทนต์ ๒๐ ซี่ และมีพระทนต์ไม่ห่างเป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

๑๘. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำหยาบ เว้นขาดจากคำหยาบ กล่าวแต่คำไม่มีโทษ เพราะหูชวนให้รักจับใจ เป็นของชาวเมือง (พูดตามภาษาโลก) คนส่วนมากรักใคร่พอใจ เพระกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการเหล่านี้ คือ มีพระชิวหาใหญ่ และมีสุรเสียงดัง เสียงพรหม มีพระกระแสเหมือนเสียงนกการะเวก เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะ ๒ ประการนั้น

๑๙. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละคำเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำเพ้อเจ้อ พูดถูกกาล พูดแต่คำที่เป็นจริง พูดอิงอรรถ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดแต่คำมีหลักฐาน มีที่อ้างมีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะนี้ คือ มีพระหนุดังว่าคางราชสีห์ เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น

๒๐. ตถาคตเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ ภพก่อน ๆ กำเนิดก่อน ๆ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง การโกงด้วยของปลอม การโกงด้วยเครื่องตวงวัด การโกงด้วยการรับสินบน การหลอกลวงและการตลบตะแลง เว้นขาดจากการตัดการฆ่า การจองจำ การตีชิง การปล้น และกรรโชก เพราะกรรมนั้นอันตนทำสั่งสมพอกพูนไพบูลย์ ตถาคตย่อมได้เฉพาะซึ่งมหาปุริสลักษณะ ๒ ประการ เหล่านี้ คือ มีพระทนต์เสมอกัน และมีพระทาฐะสีขาวงาม เป็นพระมหาบุรุษสมบูรณ์ด้วยลักษณะทั้งสองนั้น


มหาบุรุษคือคนประเภทไหน 

ปัญหา ที่เรียกว่า มหาบุรุษ ในทางพระพุทธศาสนานั้นหมายถึงคนประเภทไหน ? 


พุทธดำรัสตอบ 


“ดูก่อนสารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้น เราไม่เรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น" 


“ดูก่อนสารีบุตร ก็บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นภายในกายอยู่เป็นปกติ...พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่เป็นปกติ.... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่เป็นปกติ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่เป็นปกติ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย.....จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น 


“ดูก่อนสารีบุตร บุคคลเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นอย่างนี้แล เราเรียกว่ามหาบุรุษ ...” 
 .



15.อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว 
     ธัมมานุภาเวนะ ชิตา ริสังโฆ สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะ ราโย 
     สัทธัมมานุภาวะ ปาลิโต จะรามิ ชินะ ปัญชะเรติ ฯ 

คำแปล ข้าพระพุทธเจ้าได้รับการอภิบาลด้วยคุณานุภาพแห่งสัทธรรม จึงชนะเสียได้ซึ่งอุปัทวอันตรายใดๆ ด้วยอานุภาพแห่งพระชินะพุทธเจ้า ชนะข้าศึกศัตรูด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม ชนะอันตรายทั้งปวงด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ ขอข้าพระพุทธเจ้าจงได้ปฏิบัติ และรักษาดำเนินไปโดยสวัสดีเป็นนิจนิรันดรเทอญฯ 

คุณานุภาพแห่งสัทธรรม 

สัทธรรม แปลว่า ธรรมของสัตบุรุษ ใช้ หมายถึงพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้า เรียกโดยเคารพว่า พระสัทธรรม

สัทธรรม แบ่งเป็น ๓ อย่าง คือ

๑. ปริยัติสัทธรรม คือคำสอนที่แสดงถึงหลักสำหรับศึกษาเล่าเรียน ทรงจำ แนะนำสั่งสอนกัน ได้แก่ พระสูตร คาถา ชาดก เป็นต้น

๒. ปฏิปัตติสัทธรรม คือ คำสอนที่แสดงถึงหลักปฏิบัติตามที่ศึกษามา แสดงวิธีปฏิบัติสูงขึ้นไปตามลำดับ คือระดับศีล ระดับสมาธิ ระดับปัญญา

๓. ปฏิเวธสัทธรรม คือคำสอนที่แสดงถึงผลที่เกิดจากการปฏิบัติ ได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ซึ่งเรียกว่า โลกุตรธรรม

เรียกพระสัทธรรม ๓ อย่างนี้ย่อๆ ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็ได้


ด้วยความยึดมั่นในพระสัทธรรมและพระรัตนตรัยอันเป็นสรณะอันสูงสุด ย่อมปกปักรักษาเราให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง

มีพระคาถาหนึ่ง ในขุททกนิกาย กล่าวถึงคนที่เกิดความกลัว ก็ยึดเอาสิ่งต่างๆ เป็นอำนาจศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้นไม้ เป็นภูเขา จอมปลวก กราบๆไหว้ๆ ขอให้ช่วยเหลือ แต่ที่พึ่งเหล่านั้น ก็ไม่เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ อย่างมากก็แค่ช่วยให้มีที่พึ่งทางใจเพียง ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่นานก็เกิดความทุกข์ ส่วนผู้ที่ยึดเอาพระรัตนตรัย ว่าเป็นสรณะ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ถึงซึ่ง ที่พึ่งอันเกษม เพราะ สามารถทำให้นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมีตัวอย่างจากพระพุทธเจ้า หลักการปฏิบัติจากพระธรรม และผู้ที่นำสืบ พระธรรมมาคือพระสงฆ์ ย่อมทำให้ถึงที่สุด แห่งทุกข์ได้

ผู้ใดระลึกถึงพระรัตนตรัย คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมเป็นเหตุนำไปสู่สุคติ คือ มนุษย์ สวรรค์ พรหมโลก และถึงจุดสูงสุด คือ พระนิพพาน โดยการเข้าถึงนั้น อาจเป็นไปในระดับธรรมดา ระดับกลาง และ ระดับสูง คือ

ก. ผู้ที่ระลึกถึงพระรัตนตรัย ในระดับธรรมดา เช่น กราบพระพุทธรูป สวดมนต์ กราบไหว้บูชาพระสงฆ์ ทำบุญอยู่เป็นนิตย์ หรือแม้เพียงการได้ทำจิตให้เลื่อมใสใน พระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ จิตของผู้นั้นย่อมเป็นกุศลจิตอยู่ตลอดเวลา และทำให้จิตใจไม่เศร้าหมอง เมื่อถึงเวลาที่กระทำกาละ (ตาย) ย่อมไปสุสุคติ ดังเรื่อง ของนายมัฏฐกุณฑลี เป็นตัวอย่าง ซึ่งแม้ชีวิตของเขาจะไม่เคยได้ทำบุญด้วยการให้ทานอย่างใดๆเลย เพราะเศรษฐีผู้เป็นพ่อ เป็นคนตระหนี่อย่างแรง แต่เมื่อเขาใกล้จะตาย เพราะโรค ซึ่งบิดาได้นำเขาออกมาวางไว้ที่แคร่ข้างนอกบ้าน พระพุทธเจ้าได้เสด็จผ่านหน้าบ้านของเขา เขาได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว กระทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธองค์ เพียงเท่านั้น เมื่อเขาได้ตายลงด้วยโรคนั้นเอง ได้ไปอุบัติในสุคติภพ คือ ดาวดึงส์เทวโลก เพียงเพราะกุศลอันเกิดจากการทำจิตให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

ข. ผู้ที่ระลึก หรือเข้าถึงพระรัตนตรัยในขั้นกลาง คือ ผู้ที่กระทำซึ่งพระรัตนตรัย ให้เป็นอนุสสติ เช่นพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ น้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย เสมอ จนจิตเป็นสมาธิ เป็นสมธกรรมฐาน ถึงขั้นฌานแล้ว เมื่อกระกระทำกาละไป ย่อมทำให้เข้าถึงสุคติคือพรหมโลก เพราะอำนาจแห่งฌาน อันเกิดจากการเจริญอนุสสติ คือ การมีพระรัตนตรัยเป็นอารมณ์นั่นเอง

ค. ผู้ที่ระลึก หรือเข้าถึงพระรัตนตรัยขั้นสูง คือ ผู้ที่ได้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน โดยอาศัยอำนาจฌานสมาบัติ อันเกิดจากการเจริญพุทธานุสสติเป็นต้นนั้น เป็นบาทฐานแห่ง วิปัสสนาญาณ และปฏิบัติ โดยยึดถือแบบอย่างของพระพุทธเจ้า ของพระอริยสงฆ์ ทำให้ตนเองมีความตั้งใจในการปฏิบัติ ซึ่งสูงสุดแห่งการเจริญวิปัสสนาญาณนั้น คือการ ได้บรรลุอริยธรรม ถึงสูงสุดคืออรหัตตผล อย่างนี้เรียกว่า พระรัตนตรัย นำไปสู่พระนิพพาน