วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- วัดอโศการาม



วัดอโศการาม สมุทรปราการ 

ประวัติความเป็นมา
เดิมบริเวณนี้เรียกว่า นาแม่ขาว เจ้าของที่ดินคือนางกิมหงษ์ และนายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายที่ดินให้สร้างวัด วัดอโศการามเป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติ  สร้างขึ้นตามปณิธานของ พระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ หรือที่รู้จักในนาม ท่านพ่อลี เดิมท่านเป็นชาวจังหวัดอุบลราชธานี เลื่อมใสในบวรพุทธศาสนา จึงบวชเป็นพระภิกษุเมื่ออายุได้ 20 ปี เป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ รักษาธุดงควัตรเป็นนิตย์ เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่น เป็นผู้มีความแตกฉานในสมถวิธี มีความสามารถในการอบรมศิษยานุสิทธิ์ให้บำเพ็ญสมาธิได้ผล ท่านได้จาริกบำเพ็ญธุดงควัตรไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในที่สุดได้จาริกแสวงบุญมาถึงที่ชาวบ้านเรียกว่า นาแม่ขาว ซึ่งอยู่ในเขตตำบลท้ายบ้าน เป็นป่าชายเลนเงียบสงบเหมาะในการบำเพ็ญเพียร จึงปักกลดบำเพ็ญสมณธรรมสั่งสอนชาวบ้าน ปรากฏว่าชาวบ้านเลื่อมใสมาฟังคำสั่งสอนและฝึกสมาธิเป็นจำนวนมาก ในที่สุดชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างเสนาสนะถวาย และได้เริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในที่ดินที่นางกิมหงษ์ และ นายสุเมธ ไกรกาญจน์ ได้ถวายให้สร้างวัดมีเนื้อที่ประมาณ 53 ไร่ ในปี 2497 จึงก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก
เมื่อมีสิ่งก่อสร้าง มีพระภิกษุสงฆ์ มีความมั่นคงที่จะเป็นวัดได้ กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ จึงอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2499 ได้นามว่า วัดอโศการาม และขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา (สร้างโบสถ์ เพื่อพระภิกษุสงฆ์จะไปประกอบพิธีสังฆกรรมได้) และผูกพัทธสีมาเมื่อ วันที่ 10 พฤษภาคม 2503 วัดอโศการามแห่งนี้ ท่านพ่อลีได้ตั้งปณิธานไว้ว่า จะสร้างถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แห่งพระเจ้าอโศการามมหาราช (พระนามเต็มว่า พระศรีธรรมาโศกราช) แห่งประเทศอินเดีย ท่านได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และยังเผยแพร่ศาสนาพุทธมายังประเทศลังกา กรีก ธิเบต พม่า ไทย เมื่อปีพุทธศักราช 2493 ท่านพ่อลีได้เดินทางไปจำนำพรรษายังตำบลสารนารถ (ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ที่ทรงแสดง ธรรมจักร) ณ ประเทศอินเดีย ได้เห็นพระเจดีย์ พระสถูปที่พระเจ้าอโศกมหราช สร้างไว้ทรุดโทรม บางแห่งก็ถูกทำลาย จึงรู้สึกสังเวชใจ จึงตั้งพระปณิธานจะสร้างวัดอโศการามไว้เป็นอนุสรณ์ปัจจุบันวัดอโศการามเป็นสถานที่ที่อุบาสก อุบาสิกา จากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเดินทางมาบำเพ็ญกุศลและสักการะท่านพ่อลี ธุตังคเจดีย์ หลวงพ่อเศียร และวิหารวิสุทธิธรรมรังสี นอกจากนี้ยังเที่ยวชมธรรมชาติ ป่าชายเลน ชมฝูงนก และ สัตว์ต่าง ๆ ที่มาอาศัยอยู่ในบริเวณป่าชายเลน เป็นจำนวนมาก เนื่องจากบริเวณเหล่านี้วัดได้กำหนดให้เป็นเขตอภัยทาน










ประวัติท่านพ่อลี ธัมธโร





งานฉลอง 25 ศตวรรษ 
รวมทั้งเรื่องต่างๆของวัดอโศการาม เสนาสนะและงานของท่านพ่อลี















พระธุตังคเจดีย์



พระธุตังคเจดีย์

          “ พระธุตังคเจดีย์ “ เป็นนามพระเจดีย์หมู่ รวม 13 องค์ ณ วัดอโศการาม สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่ง “ ธุดงควัตร  “ 13 ข้อ ในพระบวรพุทธศาสนาโดยความดำริริเริ่ม ของพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ( พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร ) 


          คำว่า “ ธุดงควัตร “ หมายถึง ข้อปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลส


          คำว่า “ พระธุดงค์ “ ก็คือพระภิกษุที่มีกิเลสอันกำจัดแล้วด้วยถือธุดงค์


          คำว่า “ ถือธุดงค์ “ หมายถึง เจตนาที่แสดงออก เพื่อขจัดกิเลสของตน เกี่ยวแก่เรื่อง เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และความเพียร ด้วยข้อปฏิบัติ “ ธุดงควัตร “ การถือธุดงค์นี้สำเร็จด้วยการสมาทาน คือด้วยอธิษฐานใจหรือแม้ด้วยเปล่งวาจา


ธุดงควัตร 13


1.      ปังสุกูลิกังคธุดงค์ ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร คำว่าสมาทานว่า “ คหปติจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ ปํสุกูลิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดคฤหบดีจีวรเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร “ 


2.      เตจีวรริกังคธุดงค์ ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ จตุตฺถจีวรํ ปฏิกฺขิปามิ เตจีวริกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดจีวรผืนที่ 4 เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร “ 


3.      ปิณฑปาติกังคธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตรเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดอติเรกลาภเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือบิณฑบาตรเป็นวัตร “


4.      สปทานจาริกกังคธุดงค์ ถือการเที่ยวบิณฑบาตรไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ สปทาน จาริกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดการเที่ยวโลเลเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตรไปตามแถวเป็นวัตร “


5.      เอกาสนิกังคธุดงค์ ถือการฉันจังหันในอาสนะเดียว ( ฉันมื้อเดียว ) เป็นวัตร คำสมาทานว่า “ นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดการฉัน ณ ต่างอาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร


6.      ปัตตปิณฑิกังคธุดงค์ ถือการฉันในภาชนะอันเดียว ( คือฉันในบาตร ) เป็นวัตร คำสมาทานว่า “ ทุติยภาชนํ ปฏิกฺขิปามิ ปตฺตปิณฺฑิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า เรางดภาชนะที่ 2 เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร “ 


7.      ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ อติริตฺตโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ ขลุปจฺฉาภตฺติกงคํสมาทิยามิ “ แปลว่า  “ เรางดโภชนะอันเหลือเฟือเสีย สมาทานองค์แห่งผู้ห้ามภัตอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร “


8.      อารัญญิกังคธุดงค์ ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร คำสมาทานว่า “ คามนฺตเสนาสนํ ปฏิกฺขิปามิ อารญฺญิกงฺคํสมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดเสนาสนะชายบ้านเสีย สมาทานองค์แห่งผู้ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร


9.      รุกขมูลิกังคธุดงค์ ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร คำสมาทานว่า “ ฉนฺนํ ปฏิกฺขิปามิ รุกฺขมูลิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า เรางดที่มุงบังเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตร “


10.  อัพโภกาสิกังคธุดงค์ ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร  คำสมาทานว่า “ ฉนฺนญฺจ รุกฺมูลญฺจ ปฏิกฺขิปามิ อพฺโภกาสิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดที่มุงที่บังและโคนไม้เสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร


11.  โสสานิกังคธุดงค์ ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร  คำสมาทานว่า “ อสุสานํ ปฏิกฺขิปามิ โสสานิกงฺคํ สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดที่มิใช่ป่าช้าเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร “


12.  ยถาสันถติกังคธุดงค์ ถือการอยู่เสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร  คำสมาทานว่า “ เสนาสนโลลุปฺเป ปฏิกฺขิปามิ  ยถาสนฺถติกงฺคํ สมาทิยามิ “  แปลว่า  “ เรางดความโลเลในเสนาสนะเสีย สมาทานองค์ของผู้อยู่ในเสนาสนะเท่าที่ท่านจัดให้


13.  เนสัชชิกังคธุดงค์ ถือการไม่นอนเป็นวัตร  คำสมาทานว่า “ เสยฺยํ ปฏิกฺขิปามิ เนสชฺชิกงฺคั สมาทิยามิ “ แปลว่า “ เรางดการนอนเสีย สมาทานองค์ของผู้ถือการนั่งเป็นวัตร “