วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- หลักธรรม ๓ เรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมาก

"หลักธรรม ๓ เรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมาก"

     พระพุทธเจ้าได้เทศนาสั่งสอนประชาชนหลังจากตรัสรู้แล้วเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์จึงมีมากมายรวมเรียกว่า พระไตรปิฎก มีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ อันประกอบด้วย พระวินัยปิฎก (๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) พระสูตร หรือ พระสุตตันตปิฎก(๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) พระอภิธรรมปิฎก (๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์) เป็นหนังสือภาษาบาหลีจำนวน ๔๕ เล่ม และแปลเป็นภาษาไทยออกมาได้ ๘๐ เล่มขนาดใหญ่

     หลักธรรม ๓ เรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตประจำวันมากคือ

     ๑. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร หรือปฐมเทศนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงโปรดพระปัญจวัคคีย์ (มี ๕ องค์ คือ อัญญาโกณฑัญญะ, วัปปะ, ภัททิยะ, มหานานะ,อัสสชิ) เป็นครั้งแรกจนทำให้ท่านอัญญาโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม อันแสดงว่าการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าอาจ อาจมีผู้สามารถรู้ตามได้ ในสูตรนี้พระองค์ทรงแสดงอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ ๑ เหตุให้เกิดทุกข์ ๑ การดับทุกข์ ๑ และทางที่จะดำเนินไปสู่ความดับทุกข์ ๑ ซึ่งทางที่จะดำเนินไปสู่ความดับทุกข์นี้ เรียกกันว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง
     ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร คือ พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป หรือพระสูตรว่าด้วยการหมุนวงล้อธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ในวันขึ้น ๑๕ คำ เดือน ๘ หลักจากวันซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้สองเดือน

     ๒. อนัตตลักขณสูตร ในสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของสิ่งต่าง ๆ คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมตลอดไปได้ทั้งเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง ๆ เลย เป็นการสมมุติขึ้นมาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถบังคับให้มันอยู่ในอำนาจของเราได้
     อนัตตลักณสูตร เป็นพระสูตรที่แสดงลักษณะแห่งเบญจขันธ์ว่าเป็นอนัตตา พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ภายหลังจากแสดงปฐมเทศนาแล้ว ภิกษุปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ได้สำเร็จพระอรหัตด้วยได้ฟังอนัตตลักขณสูตรนี้

     ๓. กาลมสูตร พระสูตรนี้ได้แสดงให้เห็นความเป็นนักเสรีประชาธิปไตยของพระพุทธเจ้า เพราะพระองค์ทรงสอนให้คนใช้ความคิดด้วยเหตุผลโดยรอบคอบเสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าจงอย่าได้เชื่อโดยการอ้างตำรา หรือเพราะครูอาจารย์สอนไว้อย่างนั้น หรือเพราะคำพูดนั้นตรงกับความเห็นของเรา หรือเพราะผู้นั้นเป็นบุคคลที่ควรเชื่อ หรือโดยการคาดคะเนหรือ นึกเดาเอาหรือโดยการใช้เหตุผลตามหลักตรรกศาสตร์ พระองค์ทรงสอนว่าการกระทำใด ๆ ถ้าจะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ในภายหลัง นักปราชญ์ไม่ติเตียน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนและผู้อื่นแล้ว พึงทำเถิดแต่ถ้าตรงกันข้ามกันก็อย่าทำเลย
          กาลามสูตร เป็นสูตรหนึ่งในคัมภีร์ติกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระพุทธเจ้าตรัสสอนชนชาวกาลามะแห่งเกสปุตตนิคมในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ตามหลัก ๑๐ ข้อ คือ อย่าปลงใจเชื่อเพราะ
          ๑. ด้วยการฟังตามกันมา
          ๒. ด้วยการถือสืบ ๆ กันมา
          ๓. ด้วยการเล่าลือ
          ๔.ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์
          ๕. ด้วยตรรก
          ๖. ด้วยการอนุมาน
          ๗. ด้วยการคิดตรึกตรองตามแนวเหตุผล
          ๘. ด้วยเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน
          ๙. ด้วยเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าเชื่อ
          ๑๐. ด้วยเพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา

     ต่อเมื่อใด พิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่า ธรรมเหล่านั้นเป้นอกุศลเป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษ เป็นต้นแล้ว จึงควรละหรือปฏิบัติตามนั้น