วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์


ประวัติและความเป็นมา


พระพุทธสิริสัตตราช(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) องค์จริงนั้น เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกหล่อสัมฤทธิ์โบราณ ตามการสันนิษฐานของกรมศิลปากรมีอายุประมาณ 800 ปีเศษ มีพุทธลักษณะคล้ายศิลปะเชียงแสน หรือเวียงจันทร์ ขนาด ฐานกว้างประมาณ 10 นิ้ว สูงประมาณ 15 นิ้ว น้ำหนักประมาณ 10 กิโลกรัม พุทธลักษณะพิเศษ คือ เป็นพระพุทธรูปที่มี งูใหญ่ 7 ตัว 7 หัว แผ่คลุมองค์พระ ซึ่งไม่เหมือนกับพระพุทธรูปปางนาคปรกโดยทั่วไปที่มีพญานาค 1 ตัว 7 หัวบ้าง 5 หัวบ้าง พระพุทธรูปลักษณะนี้มีอยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งอยู่ในเจดีย์นครปฐม อีกองค์หนึ่งอยู่กับ พระครูภาวนากิจโกศล (หลวงปู่สอ พันธุโล) วัดป่าบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร


หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์องค์จริง ถ่ายที่บ้านเรือนไทย ลาดพร้าว 57/1

   ขณะที่หลวงปู่สอ พันธุโล จำพรรษา และฝึกสมาธิอยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ได้นิมิตเห็นงูใหญ่สีทองเลื้อยเข้ามาในกุฏิ แล้วดันตัวท่านลอยขึ้นไป ขดลำตัวเป็นวงกลมซึ่งเป็นนิมิตเริ่มต้นที่จะได้มาซึ่งพระพุทธสิริสัตตราช (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) องค์จริงในช่วงพรรษาที่ 2 ต่อมาในพรรษาที่ 6  ขณะทำสมาธิได้ยินเสียงปรากฎในตัวท่านว่า สิ่งที่ปรากฎกับในพรรษาที่ 2 นั้นจะเป็นเครื่องหมายของท่าน ในพรรษาที่ 8 จะตกทอดลงมาจากอากาศ หรือบางทีอาจจะมีคนเขาเก็บไว้แล้วนำมาถวายในวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9
    พอล่วงเข้าพรรษาที่ 8 ตรงกับวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ท่านกำลังนึกถึงนิมิตที่เกิดขึ้นกับท่าน ในช่วงพรรษาที่ 2 และ พรรษาที่ 6 อยู่ว่าอะไรหนอคือสิ่งที่เราจะได้รับ ขณะนั้นท่านได้เห็นคนแต่งชุดเขียว มีผ้าเคลียบ่าสีเขียว ใส่กำไลแขน ในมือถือพิณสามสายมาด้วย สงสัยว่าจะเป็นพระจันทร์ และได้ยินเสียง พูดเบา ๆ ว่า กำลังมานะ กำลังมา...ไม่นานก็เห็นรถบรรทุกวิ่งเข้ามาจอดในบริเวณวัดมีโยมผู้ชาย ถือห่อผ้าขาวและโยมผู้หญิงถือขันดอกไม้ตรงมาที่กุฏิหลวงปู่ และได้ถวายห่อผ้าขาวแก่หลวงปู่ สิ่งที่ปรากฎในนิมิตภาพที่ปรากฎต่อหน้าหลวงปู่ คือ พระพุทธรูปโสภณปางนาคปรกมีลักษณะแปลกกว่าที่เคยเห็น คือ มีนาค 7 ตัว 7 หัว  ขนาดของพระพุทธรูป หน้าตักประมาณ 9 นิ้ว สูงประมาณ 15 นิ้ว  ผิวออกคล้ำเป็นมัน ซึ่งโยมผู้ชายได้เล่าให้ฟังว่า พระพุทธรูปองค์นี้ไม่ทราบว่ามาจากไหน เป็นของโยมพ่อและโยมพี่ชาย จนกระทั่งตกมาถึงตนซึ่งหลังแต่งงานแล้ว ภรรยาของตน มักได้ยินว่าบ่อย ๆ ว่า พระพุทธรูปองค์นี้มิใช่ของเราให้ไปถวายพระอาจารย์วัดป่า พระพุทธสิริสัตตราช จึงตกเป็นสมบัติของหลวงปู่สอ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

หลวงปู่สอได้ทำพระพุทธรูปองค์นี้ไปให้พระอาจารย์มหาบัวดู ท่านพิจารณาแล้วท่านว่า เป็นของดีแท้ๆ รักษาให้ดีๆ หลวงปู่ขาวก็เช่นเดียวกัน ท่านบอกว่าเป็นของดีจริงๆ พอตกกลางคืนจะมีแสงปรากฎสว่างรุ่งเรือง ออกมาจากองค์พระ มีอยู่คืนหนึ่งช้างป่ามาที่กุฏิของท่าน สามารถมองเห็นช้างป่าได้จากแสงสว่างของพระพุทธรูปองค์นี้ หลวงปู่ฝั้น ก็บอกว่าของดีจริง ๆ รักษาไว้ให้ดีนะ ร้อยองค์พันองค์ ก็ไม่มีองค์หนึ่งนะที่เกิดจากสมาธิอย่างนี้ 

     มีอยู่ครั้งหนึ่ง หลวงปู่สอท่านถวายนาม เรียกท่านว่าหลวงพ่อนาค เพราะเห็นว่ามีนาค 7 ตัว 7 หัวบ้าง  ต่อมา หลวงปู่สอ ได้ยินเสียง พูดขึ้นมาเบา ๆ ว่า เราไม่ได้ชื่อนาคนะ เราคือสัจจธรรม ให้เรียกเราว่า หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ อายุ 800 ปีเศษ แต่ไม่ยอมบอกว่ามาจากที่ไหน และใครเป็นผู้สร้าง บอกแต่เพียงว่ามาอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกที่นครปฐม 

     หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ที่ประดิษฐานบนยอดเขาสันเขื่อนฝั่งขวา ปัจจุบันนี้จัดสร้างตามมติคณะกรรมการโครงการจัดสร้างพระพุทธสิริสัตตราช(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์)จำลอง ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์จำลองขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว จำนวน 2 องค์ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เพื่อพระราชทานให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ โดย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประทานเททอง ณ บริเวณหน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2542 และกฟผ.ได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ เขื่อนทั้งสองแห่งแล้วตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2542


       ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล ความสงบร่มเย็นและความสันติสุขแก่ปวงชน จนเป็นที่กล่าวขานถึงความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ซึ่งท่านเป็นสัญลักษณ์แห่งถ้ำ แห่งเขื่อนจริงๆ ก่อให้เกิดความศรัทธาในพุทธานุภาพของหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์และสังฆานุภาพของหลวงปู่สอ พันธุโล แก่ผู้ที่เคารพสักการะบูชาเป็นอันมาก ซึ่งปัจจุบันนี้หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์จำลอง ได้ประดิษฐานตามเขื่อนต่างๆ ของกฟผ.ทั่วประเทศ

       พระพุทธสิริสัตตราช(หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) จำลอง ขนาดหน้าตัก 39 นิ้ว ประดิษฐาน ณ เขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก ได้ประกอบพิธีสมโภชน์และพุทธาภิเษกโดยมีพระครูภาวนากิจโกศล(หลวงปู่สอ พันธุโล)เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2542 

หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ที่บ้านเรือนไทย ซ.ลาดพร้าว 57/1


การบูรณะหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์
 ที่วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อ.ศรีวิไล จ.หนองคาย

        หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ ประดิษฐานที่ศาลาบริเวณชั้นที่ ๑ ของภูทอก เป็นพระพุทธรูปหน้าตัก ๓๙ นิ้ว
ปี ๒๕๔๙ ได้มีโอกาสไปบูรณะองค์พระ....... ดูตามรูปครับ

ประตูทางขึ้นภูทอก ศาลาหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ เดินขึ้นไปประมาณ ๑๐๐ เมตร

ทางขวามือ จะเห็นศาลาหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์



องค์พระหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์ก่อนการบูรณะ
















ทำการบูรณะหลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์

ล้างขัดทำความสะอาดเอาเหตุปัจจัยเดิมออกให้หมด

เด็กวัดมาช่วยขัดทำความสะอาด หลังจากนั้นต้องทำงานคนเดียว

เริ่มทำการลงรักปิดทองโดยเริ่มจากส่วนบนสุดก่อน

ทองคำเปลวขนาดหนึ่งตารางนิ้วปูทีละแผ่น ที่ละแผ่น

งานปิดทองเป็นงานแก้นิสัยคนใจร้อนได้ดี


ทองคำกระทบกับแสงแดดยามเช้าของเดือนตุลาคม







วันเวลาผ่านไปปิดทองทีละส่วน ที่ละส่วน

 ทีละหนึ่งตารางนิ้ว ทีละหนึ่งตารางนิ้ว





แดดยามเช้าของปลายฝนต้นหนาว



ตลอดเวลาการบูรณะเกือบเดือน มีแม่ชีและเด็กมาช่วยบ้าง
จากเดิมที่สอบถามเด็กๆว่า เมื่อก่อนไม่กล้ามาไหว้พระเพราะดูแล้วน่ากลัว
คราวนี้ งดงามไม่น่ากลัวแล้ว

ขออุทิศส่วนบุญและกุศลนี้
ให้กับผู้ที่ได้มีส่วนร่วมและผู้ที่อนุโมทนาในการบูรณะนี้
ให้ท่านทั้งหลายได้บุญกุศลนั้นๆเปรียบเสมือนท่านได้ลงมือกระทำ
ด้วยตนของท่านเอง...เทอญ