ตอนที่ 1 ประวัติย่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
สถานที่เกิด
1.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้เป็นความย่อๆเรียกว่า “เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์” พิมพ์ขึ้นปีพ.ศ. 2466 กล่าวว่า “…สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้นามฉายาว่า “พรหมรังสี” อุบัติขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา…”
2.มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) รวบรวมประวัติเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี และเรียบเรียงเรื่องปีพ.ศ. 2473 กล่าวว่า “…สมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) อุบัติขึ้นบนบ้านที่ปลูกใหม่บางขุนพรหม กรุงเทพ…”
บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ต่อมาปรากฎว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปีพ.ศ. 2350 ได้โปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ทรงโปรดฯรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
ธุดงควัตร และไม่ปรารถนาสมณศักดิ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณ และเกียรติคุณแต่ท่านไม่ยอมรับ (ปกติท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ดังจะเห็นได้จากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ไม่ปรารถนายศศักดิ์จึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระเปรียญ) ต่อมาเล่ากันว่า “…ท่านออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆกัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลไก่จัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง" นอกจากนี้ยังมีปูชนียสถานที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ในที่ต่างๆอีก ซึ่งทุกอย่างที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระคุณท่าน อนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ ณ ที่ใดๆท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของมหาชนทุกหนทุกแห่งและด้วยบารมีของเจ้าประคุณสมเด็จฯนี้เอง จึงทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนในยุคนั้นเคารพเลื่อมใส ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูปองค์ใหญ่โตที่ท่านสร้างจะต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้าง จึงจะทำได้สำเร็จ ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อท่านจะทำการใดคงจะต้องมีผู้อุทิศทั้งทรัพย์และแรงงานช่วยทำการก่อสร้างปูชนียวัตถุจึงสำเร็จสมดังนามของท่านทุกประการ
สมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดปรานสมเด็จฯเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกถวายเป็น พระราชาคณะที่พระธรรมกิติ ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี ครั้งนั้นท่านยอมรับสมณศักดิ์ ( โดยมีเหตุผลที่ทำให้ต้องยอมรับสมณศักดิ์ ) ครั้นต่อมาอีก 2 ปี คือพ.ศ. 2397 ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ “ พระเทพกวี “ อีก 10 ปี ( พ.ศ. 2407 ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามจารึกตามหิรัญบัตรว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ อนึ่งกิตติคุณ และชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ขจรกระจายไปทั่วทิศานุทิศว่า “ เจ้าประคุณสมเด็จ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ทั้งมวล”
องค์หลวงพ่อโตอนุสรณ์งานก่อสร้างครั้งสุดท้าย
ในราวปี พ.ศ. 2410 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ องค์หลวงพ่อโต ที่วัดอินทรวิหาร ครั้นท่านทำการก่อสร้างได้สูงถึงพระนาภี (สะดือ) ก็มีเหตุให้ไม่สำเร็จ เพราะวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้สิ้นชีพตักษัย ( มรณภาพ ) บนศาลาเก่าบางขุนพรหม สิริอายุคำนวณได้ 85 ปีเศษ และมีชีวิตอยู่ในสมณเพศได้ 65 พรรษา
ตอนที่ 2 กิตติคุณและคุณลักษณะพิเศษบางอย่างเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี
1.เจ้าประคุณฯสมเด็จ เป็นอัจฉริยะและสั่งสมบุญบารมีดียิ่ง
ดังจะเห็นได้จากสติปัญญาตั้งแต่ครั้งเป็นสามเณรโต คือ รอบรู้ในสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว กระทั่งครูอาจารย์ที่สอนยกย่องว่า “สามเณรโตไม่ได้มาให้ฉันสอน แต่มาแปลหนังสือให้ฉันฟัง” คือแทนที่อาจารย์จะต้องสอนแต่ท่านก็รู้ด้วยตัวของท่านเอง นับว่าแปลกมหัศจรรย์อย่างยิ่ง
2.เจ้าประคุณสมเด็จฯไม่ปรารถนาทรัพย์สมบัติในทางโลก
หลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างข้างต้น คือ เมื่อบุคคลใดทำบุญถวายพระคุณท่าน ปัจจัยนั้นจะต้องไปถึงบุคคลอื่นที่กำลังมีความทุกข์ยากต่างๆ ดังมีเรื่องเล่ากันหลายสิบเรื่อง อาทิเช่น “…สองผัวเมียเป็นทุกข์เรื่องค้าขายแตงโมกำลังจะเน่าขาดทุนต้องเป็นหนี้สิน ครั้นสมเด็จฯท่านผ่านมาพบ และรู้ว่าสองผัวเมียนี้เป็นทุกข์เรื่องค้าขายขาดทุน พระคุณท่านจึงช่วยซื้อแตงโมเท่าที่มีปัจจัยจากจากคนอื่นถวาย เมื่อซื้อแตงโมพร้อมจ่ายเงินให้แล้วก็ยกแตงโมให้สองผัวเมียอีกด้วย " นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีเรื่องอื่นๆอีกหลายสิบเรื่อง ดังนั้นจึงสรุปว่า “ทรัพย์สมบัติในทางโลกของพระคุณท่านนั้นไม่มี”
3.เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปรารถนาที่จะช่วยให้บุคคลนั้นสมความปรารถนาตรงตามหลักธรรมของพระพุทธองค์ที่ว่า “…ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง…”
เมื่อบุคคลมีความปรารถนาสิ่งใดครั้นไม่ได้สิ่งนั้นบุคคลนั้นก็เป็นทุกข์ จากความจริงในทางโลกดังกล่าว ถ้าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้พบหรือได้รู้ท่านเป็นต้องหาทางช่วยให้บุคคลที่อยู่ในห้วงของความทุกข์ได้สมความปรารถนาในวิถีทางที่ท่านจะช่วยได้ ดังจะเห็นได้จากการปฏิบัติของพระคุณท่านในเรื่องที่ผ่านมาและเรื่องอื่นๆอีกเช่น “…เมื่อพระคุณท่านทราบว่า เรื่อที่ท่านได้เคยนั่ง และกำลังนั่งข้ามฝากกำลังจะหมดสภาพ เพราะรั่วโดยเจ้าของเรือบอกเจ้าประคุณสมเด็จฯว่า “ไม่มีสตางค์จะซ่อมเรือ” พอถึงฝั่งเจ้าประคุณสมเด็จฯก็หยิบพัดยศให้เจ้าของเรือถือไว้ จากนั้นเจ้าประคุณก็ขึ้นฝั่งไปทำกิจที่ได้รับนิมนต์ในพิธีหลวง พอถึงพิธีเจ้ากรมสังฆการีรู้ว่าพัดยศสมเด็จฯ อยู่ที่คนแจวเรือจ้าง โดยพระคุณท่านปรารถนาจะช่วยเหลือให้เจ้าของเรือจ้างได้รับเงินประมาณแปดสลังเฟื้อง เพื่อเป็นค่ายาเรือ ดังนั้นเจ้ากรมสังฆาการีจึงต้องนำเงินแปดสลึงเฟื้องไปถ่ายพัดยศที่เจ้าประคุณสมเด็จมอบให้คนแจวเรือจ้างถือไว้…”
นอกจากเรื่องนี้แล้วยังมีอุทาหรณ์อีกว่า “ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ปรารถนาจะช่วยบุคคลไม่เลือกบุคคลว่าจะเป็นคนเลวหรือเป็นคนดี “ ดังเช่น “ขโมยเอื้อมมือลอดล่องจากใต้กุฏิที่ท่านพักอาศัยเพื่อควานหาของมีค่าแต่เอื้อมไม่ถึง พระคุณท่านรู้ใจขโมยว่าอยากจะได้อะไรจึงหยิบของนั้นส่งให้ขโมยเพื่อช่วยให้ขโมยสมความปรารถนา” นอกจากเรื่องนี้แล้ว เมื่อครั้งขโมยเข้ามาลักเรือที่ใต้กุฏิ สมเด็จฯ ยังโผล่หน้าต่างมาบอกขโมยว่า ถ้าจะให้ดีต้องทำอย่างใดจึงจะเอาเรือไปได้โดยไม่เกิดเสียงดัง เพราะถ้าเกิดเสียงดังเด็กวัดตื่นเดี๋ยวจะมีเรื่องเจ็บตัว ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้ปรารถนาสมหวังจึงช่วยแนะนำขโมยเพื่อให้ขโมยได้สมความปรารถนา” จึงนับได้ว่าพระคุณท่านมีปณิธานจะช่วยให้บุคคลทุกคนสมความปรารถนาอย่างแท้จริง
4.เจ้าประคุณสมเด็จฯ กอร์ปด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่ง
คือ เมตตา กรุณา จากอุทาหรณ์ที่เล่ามาหลายๆเรื่องที่แล้วมาเป็นหลักฐานสนับสนุนว่า “เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี” เจริญธรรมพิเศษ คือ ให้ความเมตตา กรุณา และปรารถนาที่จะให้บุคคลอื่นสมความปรารถนา นอกจากบุคคลแล้วในเรื่องของสัตว์ก็เช่นเดียวกัน คือ ถ้าพระคุณท่านได้พบเป็นต้องช่วยเหลือดังอุทาหรณ์ที่เล่ากันมาว่า “ … เมื่อครั้งท่านธุดงค์ พบสัตว์กำลังอยู่ในระหว่างมีทุกข์ เพราะติดอยู่ที่บ่วงท่านก็ปลดปล่อยสัตว์นั้นให้พ้นทุกข์แล้วเอาเท้าของพระคุณท่านไว้แทนที่รอกระทั่งเจ้าของบ่วงมาถึง จึงขอบิณฑบาตรสัตว์นั้นแล้วเทศน์อานิสงฆ์การทำบุญเพื่อให้เจ้าของบ่วงเลิกทำอกุศล…”
5.เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเป็นพระธรรมกถึกเอก
คือเป็นพระเถระที่เทศน์ได้ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง รวมทั้งสัมผัสติดต่อกันได้ ซึ่งในยุคนั้นเป็นที่กล่าวขวัญเรื่องลือกันมาก ฉะนั้นกิจนิมนต์ของเจ้าประคุณสมเด็จจึงมีมิได้ขาด แต่ผู้ที่ต้องการจะฟังเทศน์ของเจ้าประคุณสมเด็จฯจะต้องมีข้อแม้ คือ “จะกำหนดเวลาไม่ได้ ต้องสุดแท้แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯท่านจะมาได้ และจะมาเวลาใด” สำหรับเรื่องเทศน์นั้นมีเรื่องเล่าลือมากมาย และที่กำลังจะนำมาเล่านี้ก็เป็นคุณลักษณะพิเศษที่เจ้าประคุณสมเด็จฯท่านปฏิบัติ ถ้าท่านคิดให้ลึกซึ้งท่านจะทราบซึ้งในคุณธรรมอันสูงส่งยิ่ง “มีหญิงหม้ายคนหนึ่ง บ้านอยู่ตำบลบ้านช่างหล่อ ไม่ไกลจากวัดระฆังมากนักได้ศรัทธาและนิมนต์สมเด็จฯไปเทศน์ ก่อนเทศน์หญิงหม้ายได้เอาเงินติดเทียนกัณฑ์เทศน์ 100 บาท พร้อมกราบเรียนว่า “ขอพระเดชพระคุณนิมนต์เทศน์ให้เพราะๆสักหน่อยนะเจ้าคะ เพราะดิฉันมีศรัทธาติดกัณฑ์เทศน์ 100 บาท” เจ้าประคุณสมเด็จฯพอท่านนั่งบนธรรมาสน์ให้ศีลบอกศักราช ตั้งนะโม จากนั้นท่านก็เทศน์ว่า “พุทธัง ธัมมัง สังฆัง ธัมมัง เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ยถา…สัพพี” จบก็ลงจากธรรมาสน์เป็นอันว่าการเทศน์สิ้นสุดลง หญิงนั้นขุ่นข้องหมองใจมาก เพราะไม่สบอารมณ์สมความตั้งใจ แต่ก็ไม่ว่าอะไร พอวันรุ่งขึ้นเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ไปเทศน์ที่บ้านอีกครั้ง โดยที่มิได้มีการนิมนต์ก่อนเทศน์ เจ้าประคุณสมเด็จบอกหญิงนั้นว่า “เมื่อวานนี้ฉันรับจ้างเทศน์จ๊ะ แต่วันนี้ฉันมาเทศน์ให้เป็นธรรมทานนะจ๊ะ” คราวนี้ประคุณสมเด็จฯ เทศน์ได้เพราะจับใจผู้ที่ได้ฟังเป็นยิ่งนัก จากอุทาหรณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านเป็นพระเถระที่น่าศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง
6.เจ้าประคุณสมเด็จฯ อนุเคราะห์คนยากจนด้วยใจที่ปรารถนาจะช่วยให้พ้นจากความความยากจน
สมัยก่อนมีหวยชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเรียกกันว่าหวย กข มีการออกวันละ 2 เวลา คือ เช้ากับเย็น บุคคลเป็นจำนวนมากที่อยู่ในกรุงเทพฯนิยมเล่น แต่ถ้าคิดกันให้ดีแล้วโอกาสถูกยาก เพราะตัวผิดมากกว่าตัวถูกจำนวนมาก ดังนั้นเจ้ามือจึงร่ำรวย คนจนๆจึงยิ่งจนมากขึ้น เพราะหลงหวย กข สำหรับหวย กข นี้มีการออกเบอร์ไว้แล้วเพียงแต่จะชักรอกที่ใส่เบอร์ลงมาดูกันว่าวันนี้เวลาเช้าจะเป็นตัวอะไร และตอนบ่ายจะเป็นเบอร์อะไรทั้งนี้สุดแท้แต่เจ้ามือหวยจะเป็นผู้กำหนดให้ออกตัวอะไร
อุทาหรณ์ที่เล่าลือกันมากก็คือ “เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านรู้ว่าหวยจะออกอะไร ดังนั้นท่านมักจะอนุเคราะห์คนยากจนด้วยปริศนาต่างๆ อาทิเช่น ถ้ามีผู้นิมนต์ท่านไปเทศน์ในตอนท้ายสุด พระคุณท่านมักจะไบ้หวยโดยลงท้ายว่า “เอวัง กังสือ” บางวันก็บอกว่า “เอวัง หุนหัน” ถ้าใครคิดทันก็ตีเป็นหวยถูกเล่าลือกันไป กระทั่งวัดระฆังมีผู้มาคอยดูพฤติกรรมสมเด็จฯแล้วนำไปคิดเป็นหวยก็มีจำนวนไม่น้อย อนึ่งหลายครั้งท่านเทศน์ไม่ให้คนลุ่มหลงในหวยเพราะเป็นอบายมุขไปสู่ความยากจน แต่ในขณะเดียวกันท่านก็เมตตาคนจนอยากจะอนุเคราะห์ช่วยเหลือ โดยบางครั้งพระคุณท่านตั้งใจช่วยคนยากจน เช่นแทนที่จะใช้รัตประคตคาดเอวกับใช้เชือกปอคาดเอวแทนพอเทศน์ไปก็ขยับเชือกปอที่คาดเอวคล้ายจะเป็นปริศนาให้คิดว่าวันนี้หวยจะต้องออกตัว “ป” ถ้าใครมีปัญญาก็คิดได้ บางวันแม่ค้านำขนมจีนมาถวายพอแม่ค้าหันหลังกลับ ท่านก็ตะโกนบอก 2 จานนะจ๊ะ โดยตะโกนบอกอยู่เช่นนั้น 2-3 ครั้ง เหตุที่ท่านตะโกน ก็เป็นปริศนาบอกไบ้หวยว่าวันนี้หวยจะออก “จ” จากคำเล่าลือในเรื่องเจ้าประคุณสมเด็จฯไบ้หวยได้แม่นยำได้เล่าลือไปถึงพระกรรณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนั้นวันหนึ่งในปีจุลศักราช 1226 เจ้าประคุณสมเด็จฯได้ถูกนิมนต์เทศน์หน้าพระที่นั่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วจึงสัพยอกว่า “เขาพากันชมเจ้าคุณว่าเทศน์ดีนักนี่ วันนี้ต้องลองฟังดู” พระธรรมกิติ (โต) ถวายพระพรว่า “ผู้ที่ไม่มีความรู้เหตุผลในธรรม ครั้นเขาฟังรู้เขาก็ชมว่าดี” พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวล และทรงถามว่า “ได้ยินข่าวอีกว่าเจ้าคุณบอกหวยเขาถูกกันจริงหรือ” พระธรรมกิติ (โต) ทูลว่า “…ตั้งแต่อาตมาภาพได้อุปสมบทไม่เคยออกวาจาว่าหวยจะออก ด กวางเหม้ง ตรงๆเหมือนดังบอก ด กวางเหม้ง แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าอย่างวันนี้…” ปรากฎว่าวันนั้นหวยออก ด กวางเหม้ง ตรงตามที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จได้กล่าวไว้ทุกประการ อนึ่งเรื่องการไบ้หวยของเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้น ท่านมีเจตนาที่จะช่วยเหลือคนยากจน เพราะไม่เช่นนั้นเจ้ามือหวยจะร่ำรวย โดยคนจนก็จนมากขึ้นไปอีก แต่ถึงกระนั้นท่านก็พยายามเทศน์ไม่ให้ศิษย์เล่นหวยหรือการพนัน เพราะเป็นทางของความเสื่อม
7.เจ้าประคุณสมเด็จฯ พระอมตะเถระพระที่มีความศักดิ์สิทธิ์ตลอดกาล
จากการศึกษาประวัติเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยตลอดจะเห็นได้ว่าท่านอุบัติมาในโลกเพื่อช่วยเหลือมนุษย์และสัตว์โลกอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากประวัติได้กล่าวมาแล้ว และที่กำลังจะกล่าวถึง ก็เป็นอุทาหรณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า “พระคุณท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่สูงยิ่ง” ครั้งหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปทอดกฐินที่อ่างทองเรือบรรทุกกฐินจอดอยู่ท้ายเกาะท่านขึ้นไปจำวัดบนโบสถ์วัดท่าซุง คนในเรือหลับหมด ขโมยมาล่วงเอาเครื่องกฐินไปหมดเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านกลับดีใจยิ้มแต้ลงเรือโดยไม่มีความโกรธเลย ชาวบ้านถามว่า “พระคุณท่านทอดกฐินแล้วหรือ” เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านตอบว่า “ทอดแล้วจ๊ะ แบ่งบุญให้ด้วย” ตอนกลับท่านเลยซื้อหม้อบางตะนาวศรีบรรทุกเต็มลำเพื่อไปแจกชาวบ้านที่กรุงเทพฯ (โดยเฉพาะบ้านที่คลองโอ่งอ่าง คลองสะพานหินส่วนมากมักจะได้รับแจกหม้อดิน) จากข่าวที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ แจกหม้อบุคคล บุคคลที่มีปัญญาเก็บไปคิดเป็นหวยแล้วซื้อ “ม หันหุน” ก็ถูกร่ำรวยไปตามๆกัน อนึ่งเรื่องหวย กข และคุณลักษณะพิเศษอื่นๆของเจ้าประคุณสมเด็จฯยังมีอีกมาก ถ้าจะเขียน หรือเล่าอีก 3 วันก็ยังไม่จบ เพราะเกียรติคุณและชื่อเสียงของหลวงพ่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ขจรกระจายไปทั่วทิศแม้แต่ประชาชนต่างจังหวัดก็เคารพศรัทธา เช่น ชาวสระบุรี ลพบุรี นับถือและเล่าลือกันมากว่าน้ำล้างเท้าเจ้าประคุณสมเด็จฯ รักษาโรคฝีดาษได้ ซึ่งเป็นโรคที่น่ากฃัวมากที่สุดในสมัยนั้น ฉะนั้น ชาวลพบุรี และสระบุรี จึงเก็บน้ำล้างเท้าเจ้าประคุณสมเด็จฯไวเป็นน้ำมนต์ และเป็นที่น่าอัศจรรย์ที่แถวนั้นไม่ค่อยจะมีใครเป็นโรคฝีดาษ เพราะโรคฝีดาษกลัวน้ำล้างเท้าเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
8.พระเครื่องและวัตถุมงคลสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
วัตถุมงคลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น “ พระพุทธรูป “ หรือ “ พระสมเด็จ “ ซึ่งเป็นพระเครื่องขนาดเล็ก ปรากฎว่ามีพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่นิยมของมหาชนทุกยุคทุกสมัย ในปัจจุบันมีสนนราคา แสน-ล้าน ยังมีบุคคลศรัทธาเช่า และแสวงหาพระเครื่องของเจ้าประคุณสมเด็จฯยิ่งกว่าพระเครื่องชนิดใดๆทั้งหมด อนึ่งพระสมเด็จที่แท้จริงนั้นตามตำนานว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯท่านสร้างไว้เพียง 84,000 องค์ เท่าพระธรรมขันธ์ ส่วนจะเป็นพิมพ์ใดมีจำนวนเท่าใดนั้นไม่มีใครทราบ บางท่านก็คิดว่าแต่ละพิมพ์มีจำนวน 84,000 องค์ แต่ในทัศนะส่วนตัวคิดว่า “พระสมเด็จวัดระฆัง” คงจะมีจำนวนทั้งหมดไม่ถึง 84,000 องค์ ส่วนพระสมเด็จกรุวัดใหม่บางขุนพรหมอาจจะมีจำนวน 84,000 องค์ ในสมัยนั้นก็ต้องนับว่ามากโข เพราะกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2410 ประชาชนทั้งกรุงเทพฯ จะมีประมาณ 15,000 ครอบครัว หรือประมาณ 75,000 คน สำหรับพุทธานุภาพพระเครื่องของสมเด็จฯนั้นมีผู้โจษขานเลื่องลือกันมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์สำคัญเมื่อครั้งอหิวาตกโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ในอดีต เมื่อปีระกา พ.ศ. 2416 ปรากฎว่าบ้านใดมีพระสมเด็จแล้วอาราธนาพระสมเด็จทำน้ำมนต์อาบ บริโภคจะปราศจากโรคร้ายได้ แต่ถึงกระนั้นประชากรในกรุงเทพฯก็ล้มตายกันประดุจใบไม้ล่วงถึงกับมีคำขวัญว่า “คนหัวโตกินแตงโมวัดแจ้ง ไปดูแร้งวัดสระเกศ ไปดูเปรตวัดสุทัศน์” คำว่าแร้งวัดสระเกศหมายถึงบรรดาแร้งที่ลงกินศพคนตาย ซึ่งไม่สามารถจะเผาศพได้ทันจึงนำมาสุมกันไว้ เมื่อใครได้มาเห็นจะเกิดธรรมสังเวชในจิตใจเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันมีผู้พยายามปลอมพระเครื่องสมเด็จ กระทั่งมีคำกล่าวกันว่า “พระปลอมพิมพ์สมเด็จลดบรรทุกสิบล้อ 3 คันขนยังไม่หมด” ฉะนั้นท่านที่ปรารถนาพระเครื่องสมเด็จจงคิดใคร่ครวญให้ดี และจากประสบการณ์พบว่าบุคคลจำนวนมากไม่ทราบว่าพระสมเด็จที่แท้จริงเป็นอย่างไรจึงมักทึกทักไว้ว่าของตัวเองแท้ก็มีจำนวนไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีคณะบุคคลแอบอ้างทำพระปลอมแล้วนำไปบรรจุไว้ในที่ต่างๆแล้วอุปโลภสร้างเรื่องว่าเป็นพระของสมเด็จ หรือสร้างหลักฐานเท็จพร้อมพิมพ์หนังสือประวัติประกอบพระเครื่องเพื่อสร้างความมั่นใจในพระสมเด็จปลอมก็ยังมี ฉะนั้นขอท่านที่ปรารถนาพระสมเด็จจงใช้ปัญญาให้ถูกต้อง และขอเตือนด้วยใจจริงว่า “ไม่ควรจะไปแสวงหา เพราะโอกาสที่ท่านจะได้พระสมเด็จวัดระฆังมีน้อยมาก นอกจากนี้บุคคลจำนวนมากได้ถูกหลอก หรือหมดเงินทอง เพราะความอยากได้พระสมเด็จฯ มีเป็นจำนวนมาก ถ้าท่านศรัทธาหรือเชื่อมั่นในบารมีเจ้าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี แล้วขอท่านจงปฏิบัติแต่คุณงามความดีและบูชาสมเด็จฯด้วยจิตใจมั่นคง ท่านจะมีแต่ความสุขและเหมือนมีพระสมเด็จฯอยู่กับตัว
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์พบว่าใครศรัทธาบูชาเจ้าประคุณสมเด็จฯ แม้จะไม่มีพระสมเด็จฯ แต่ถ้าประพฤติปฏิบัติอยู่ในศีลธรรมก็เหมือนมีพระสมเด็จฯ เพราะเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีความเมตตา กรุณา และปรารถนาจะช่วยสาธุชน โดยเฉพาะคนที่มีความทุกข์ หรือคนจนๆ ซึ่งท่านมีความปรารถนาจะช่วยอยู่แล้ว ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุด คือ มอบกายถวายชีวิตต่อสมเด็จฯแล้วบำเพ็ญตัวเองให้อยู่ในศีลธรรม และเคารพสวดมนต์บูชาสมเด็จฯแล้วเจริญธรรมเมตตา กรุณา รับรองชีวิตของท่านจะมีแต่ความสมหวังทุกประการ
อนึ่งแม้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี จะได้มรณภาพไปนานกว่า 115 ปีแล้วก็ตาม แต่ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อก็มิได้ลดลงกลับเพิ่มทวีคูณอย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง ฉะนั้นเราชาวพุทธที่มีทุกข์และหมดที่พึ่งโปรดอย่าลืมมานมัสการบูชารูปหล่อเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่วัดอินทรวิหาร หรือวัดระฆัง หรือวัดที่มีรูปหล่อของเจ้าประคุณสมเด็จฯบางทีความทุกข์ร้อนของท่านอาจจะลดลง และอาจจะได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่ก็คงจะอยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม คือบุคคลต่างๆย่อมมีกรรมเป็นของตนเอง เมื่อทำกรรมสิ่งใดไว้ย่อมได้รับผลกรรมนั้น ฉะนั้นขอท่านจงคิดและตั้งใจกระทำคุณงามความดี ถ้าเป็นไปได้ขอท่านจงสละกิเลส โดยยึดถือแนวทางการปฏิบัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นแนวทางของชีวิตแล้วท่านอาจจะได้พบความสุข สมหวัง โดยถ้วนหน้ากัน
ตอนที่ 3 ความสัมพันธ์เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) กับวัดอินทรวิหาร (บางขุนพรหม) กรุงเทพฯ
ก่อนอื่นจะขอทำการแนะนำวัดอินทรวิหาร ให้ท่านรู้จักเป็นการเบื้องต้นดังนี้
ประวัติวัดอินทรวิหาร
วัดอินทรวิหาร เป็นวัดราษฎร์ และเป็นวัดโบราณวัดหนึ่งในกรุงเทพฯตั้งอยู่ที่บริเวณใกล้วสี่แยกบางขุนพรหม
สำหรับใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใดนั้นไม่อาจทราบได้ เพราะขาดหลักฐานอ้างอิงในรายละเอียด นอกจากจะสันนิษฐานจากคำเล่าของผู้สูงอายุว่า “…เจ้าอินทรวงศ์ทรงปฏิสังขรณ์วัดอินทร์ฯเสร็จแล้ว จึงได้นิมนต์เจ้าคุณอรัญญิก ชาวเวียงจันทน์ พระเถระผู้เชี่ยวชาญทางวิปัสสนาอีกทั้งเป็นที่นับถือของเจ้าอินทรวงศ์ และชาวเวียงจันทน์ที่ได้อพยพมาแต่ครั้งโบราณ โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ ณ ละแวกตำบลวัดอินทรวิหาร ซึ่งเดิมยังปรากฎตามรูปภาพที่เขียนฝาผนังอุโบสถวัดอินทรวิหาร ในสมัยโบราณ นอกจากนี้ยังปรากฎหลักฐานหนังสือพระไตรปิฎกเก่าที่เหลืออยู่ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอักษณลาวเป็นส่วนมาก และถ้าสันนิษฐานนามวัดจะเห็นได้ว่าสอดคล้องกับนามของเจ้าอินทรวงศ์ ดังนั้นวัดอินทรวิหารจึงเป็นวัดโบราณอย่างแน่นอน
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี กับ วัดอินทรวิหาร
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เมื่อครั้งเยาว์วัยเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี มีความผูกพันกับวัดอินทรวิหารและตำบล บางขุนพรมเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้ง การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านอยู่วัดระฆัง แต่ทำไมหนอท่านจึงได้สร้างปูชนียวัตถุหลายๆอย่างไว้ที่วัดอินทรวิหาร จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดว่า …เพราะอะไรท่านจึงไม่สร้างไว้ที่วัดระฆังซึ่งเป็นวัดที่ท่านอยู่ … เรื่องนี้ไม่มีใครทราบเหตุผลและจุดมุ่งหมายของพระคุณท่านแน่ชัด นอกจากจะสันนิษฐานโดยหาเหตุผลสนับสนุนซึ่งก็ไม่ทราบอีกเช่นกัน ว่าจะถูกหรือผิดอย่างไรก็ตามสิ่งที่กล่าวถึงต่อไปนี้ คือ เป็นเรื่องราวและปูชนียสถานที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีทั้งสิ้น คือ
1. สถานที่เกิดของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตามหนังสือที่พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) กล่าวไว้ในประวัติสมเด็จว่า เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี อุบัติขึ้นบนเรือนปลูกใหม่ บางขุนพรหม ซึ่งขัดแย้งกับหนังสืออื่นๆที่กล่าวว่า ท่านอุบัติขึ้นที่ตำบล ไก่จัน (ท่าหลวง) อำเภอ ท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามจากชีวประวัติเจ้าประคุณสมเด็จฯ ครั้งเยาว์วัย มีความตรงกันว่า “…เจ้าประคุณสมเด็จฯ ครั้งเยาว์วัยเป็นศิษย์สำนักวัดอินทรวิหารตั้งแต่แรก” ต่อมาเมื่อบรรพชาเป็นสามเณรเทศน์ได้ไพเราะเพราะชวนฟัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระเมตตา
2. เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้มอบหมายให้ช่างเขียนภาพประวัติของพระคุณท่านฯไว้ที่ผนังอุโบสถวัดอินทรวิหาร ขณะนี้ภาพผนังได้ลบเลือนเพราะในอดีตวัดไม่เห็นความสำคัญ ครั้นเมื่อมีการบูรณะพระอุโบสถจึงไม่ได้อนุรักษ์ไว้ ถ้าสนใจอาจจะศึกษาประวัติเจ้าประคุณสมเด็จฯ พระพุฒาจารย์ (โต) จากฉบับของพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ซึ่งได้รวบรวมประวัติ ปี พ.ศ. 2473 จากภาพประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ขณะนั้นภาพยังอยู่ในสภาพดีที่ผนังอุโบสถ
3.เจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างกุฎิเล็กๆ 2 หลัง เพื่อประดิษฐานรูปปั้น โยมบิดา และ โยมมารดา อยู่คนละกุฎิ ซึ่งนังปรากฎอยู่ทุกวันนี้ ฉะนั้น ของดีวัดอินทรวิหารที่สำคัญยิ่ง คือ รูปปั้นโยมบิดา และรูปปั้นโยมมารดา ในปัจจุบันทางวัดได้เปิดวิหารให้ท่านได้นมัสการบูชาทุกวัน
4.เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างวิหาร กว้างประมาณ 3 วา ยาวประมาณ 5 วาเศษ ฝาผนังก่ออิฐถือปูนหลังคามุงจากแบะในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี (ปางสมาธิ) หน้าตักกว้าง 2 ศอก ตำนานเล่ากันว่า “พระพุทธรูปองค์นี้ท่านสร้างไว้เป็นปริศนา คือ สร้างเสร็จหันหน้าเข้าฝาผนัง” คล้ายจะบอกว่ากาลข้างหน้าบริเวณนี้จะมีการเปลี่ยนแปลง ต่อมาได้มีการจัดสร้างถนนผ่านบริเวณนั้นจริง ฉะนั้น ท่านที่ได้มาวัดอินทรวิหารจึงได้นมัสการพระพุทธรูปประจำองค์หลวงพ่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีอีกด้วย
5.เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ทำบ่อน้ำมนต์ไว้บ่อหนึ่งที่หน้าอุโบสถวัดอินทรวิหารซึ่งขณะนี้ก็ปรากฎอยู่ ตำนานเล่ากันว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เสกแผ่นดินงบน้ำอ้อยฝังไว้ใต้บ่อนี้ด้วย สมัยนั้นนับถือกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
6.ต้นตระ กูลธนะโกเศศ ได้ขอผงพระสมเด็จหรือจัดสร้างพระสมเด็จแล้วนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯปลุกเสกพระเครื่องบรรจุกรุที่เจดีย์วัดใหม่อมตรส หรือวัดใหม่บางขุนพรม ( แต่เดิมเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เจดีย์ที่อยู่วัดอมตรส สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในบริเวณวัดอินทรวิหาร แต่ภายหลังคงได้มีการเปลี่ยนแปลงจึงได้เรียกนาม บางขุนพรหมออกเป็นนอกกับบางขุนพรหมใน) สำหรับพระเครื่องชุดสมเด็จบางขุนพรหมนี้มีพุทธานุภาพใกล้เคียงเหมือนสมเด็จวัดระฆังทุกประการ แด่ที่ต่างกันก็คือ
6.1ลักษณะพิมพ์แตกต่างจากพระพิมพ์วัดระฆังแต่มีบางพิมพ์วัดระฆัง
6.2มวลสารในการสร้างแตกต่างกัน
6.3สนนราคาพระเครื่องบางขุนพรหมถูกกว่าวัดระฆัง 2 –3 เท่า
อนึ่ง ถ้าท่านเคารพศรัทธาสมเด็จฯด้วยใจที่มั่นคงแล้ว พระเครื่องฯไม่ว่าจะเป็นพระสมเด็จวัดระฆังหรือบางขุนพรหมก็ดีเหมือนกัน
เจ้าประคุณสมเด็จฯ พระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ริเริ่มสร้างพระยืนขึ้นที่วัด
อินทรวิหาร เมื่อราว ปี พ.ศ. 2410 แต่สรางได้เพียงครึ่งองค์ก็มีเหตุให้ไม่สำเร็จ คือ คืนวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สิ้นชีพตักษัย (มรณภาพ) บาศาลาเก่าบางขุนพรหม (ในระหว่างที่ท่านมาควบคุมการก่อสร้างหลวงพ่อโต) เป็นที่น่าสังเกตุอีกเช่นกันว่า “ พระคุณท่านอยู่วัดระฆัง แต่กลับมามรณภาพที่วัดอินทรวิหาร ดังนั้น
ฉะนั้น วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ จึงเป็นทั้งวัดและมีปูชนียสถานสำคัญสำหรับเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี มากกว่าทุกวัด ดังได้ประมวลเป็นเรื่องราวให้ท่านได้ทำการศึกษามาตั้งแต่ต้น
ความศักดิ์สิทธิ์ขององค์หลวงพ่อโต และบารมีเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ
ในที่นี้จะกล่าวถึงอภินิหารพระโตวัดอินทรวิหารเป็นนิทัศนุทาหรณ์พระโตองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มาก ว่าสามารถคุ้มกับสรรพภัยพิบัติและให้เกิดสุขสวัสดิ์ลาภผลอย่างมหัศจรรย์ ดังพรรณนาไว้ในเรื่องประวัติ พิมพ์เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2390 (หนังสือประวัติวัดระฆัง ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี คณะสงฆ์วัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเทพสิทธินายก (นาค) วันที่ 15 มิถุนายน 2514, หน้า 116.)คัดมาลงไว้ดังต่อไปนี้
อภินิหารของหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์มาก ดังเป็นที่ประจักษ์อยู่แล้วโดยทั่วกัน สักขีพยานซึ่งได้เห็นกันอยู่ในเร็วๆนี้ ในระหว่างที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในระหว่างสงคราม (พ.ศ. 2484-2487) หลวงพ่อโตหาได้กระทบกระเทือนอย่างใดไม่คงอยู่เป็นมิ่งขวัญ เป็นที่สักการะของชาวเราอยู่ตลอดไป ได้มีผู้กล่าวสรรเสริญถึงอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์ของท่านอยู่เสมอมิได้ขาด ในยามสงครามประชาชนในเขตอื่นๆอพยพกันเป็นจ้าระหวั่น แต่ในบริเวณเขตหลวงพ่อโตมิใคร่จะมีใครอพยพกัน ซึ่งมีบางท่านกล่าวว่า จะไม่ยอมไปไกลจากองค์หลวงพ่อโตเป็นอันขาด แต่มีบางท่านจะต้องอพยพได้ไปลาสมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสส เทโว) วัดสุทัศน์ มีรับสั่งว่า อย่าไปเลยในบริเวณวัดอินทรวิหารเหมาะสมและปลอดภัยดีแล้ว เพราะหลวงพ่อโตท่าน คุ้มครองอยู่ คงจะปัดเป่าภยันตรายไปได้ และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านเป็นผู้สร้างได้ทำไว้ดีแล้ว ประชาชนส่วนมากในวัดอินทรวิหารจึงไม่ใคร่อพยพจากไป นอกจากนั้นเมื่อมีภัยทางอากาศเกิดขึ้นในคราวใด ประชาชนในเขตอื่นๆยังพลอยหลบภัยเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณหลวงพ่อโตเป็นจำนวนมาก ปรากฎว่ามีเรื่องเครื่องบินมาทิ้งระเบิดบริเวณวัดอินทรวิหารเหมือนกัน เป็นลูกระเบิดเพลิงรวมด้วยกัน 11 ลูก แต่ไม่ระเบิด และไม่เกิดเพลิงอย่างใดในครั้งต่อมาได้มีเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่ตำบลเทเวศร์ โดยเฉพาะองค์หลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารใกล้กับจุดอันตรายมาก แต่หาเป็นอันตรายแม้แต่น้อยไม่ ซึ่งประชาชนส่วนมากที่หลบภัยเข้ามาในบริเวณหน้าหลวงพ่อโต มองเห็นฝูงเครื่องบินมาทิ้งระเบิดบ่ายโฉมหน้าพุ่งตรงมายังหลวงพ่อโต ครั้นมาถึงในระยะใกล้เครื่องบินฝูงนั้นก็วกไปทิศอื่นเสีย ซึ่งประหนึ่งว่าหลวงพ่อโตท่านโบกพระหัตถ์ให้ไปทางทิศอื่นเสีย ประชาชนและบ้านเรือนในเขตบริเวณหน้าหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหาร จึงหาเป็นอันตรายแต่ประการใดไม่
เรื่องที่กล่าวมานี้นับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อยู่มิใช่น้อย นี่ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่าหลวงพ่อโตวัดอินทรวิหารท่านมีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์มากเพียงใด จนกระทั่งในทุกวันนี้ประชาชนก็พากันไปนมัสการสักการะบูชามิได้ขาด ชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาชมพระนคร ก็ยังเลยมานมัสการหลวงพ่อโตเสมอ
ตอนที่ 4 ชินบัญชรคาถาและคาถาบทอื่นๆ ของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้อัญเชิญพระคาถาที่สูงยิ่ง คือ “ชินบัญชรคาถา” ซึ่งเป็นพระคาถาที่เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ใช้เป็นบทสำคัญในการปลุกเสกพระเครื่องสมเด็จ ดังนั้น “พระเครื่องสมเด็จฯ จึงพุทธานุภาพสูง และมีความศักดิ์สิทธิ์ตลอดกาล”
อนึ่งชินบัญชรคาถานี้ปรากฎว่าในยุคปัจจุบันเป็นที่นิยมของมหาชนได้นำไปสวดเพื่อเป็นศิริมงคล ดังนั้นจึงขอนำชินบัญชรคาถา และพระคาถาอื่นๆซึ่งหนังสือต่างๆกล่าวอ้างว่า เป็นของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) มาบรรจุไว้ในตอนที่ 4 อนึ่งชินบัญชรคาถามักจะมีบางส่วนที่แตกต่างกันและไม่เหมือนกัน ดังนั้นการที่จะสรุปว่าบทใดถูกหรือฉบับใดผิดก็ไม่ได้ เพราะแม้แต่พระเถระเปรียญ 9 ประโยคซึ่งถือว่า “มีการศึกษาสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา” ยังกล่าวถึงชินบัญชรคาถาของเจ้าประคุณสมเด็จฯแตกต่างกันไปในบางบท ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ท่านที่อาจสงสัยได้หมดสงสัย และจะได้ไม่ติดใจในการที่จะแสวงหาฉบับที่ถูกต้อง เพราะทุกฉบับต่างก็บอกว่าฉบับนี้ถูกต้องที่สุด อย่างไรก็ตามถ้าท่านจะศรัทธาชินบัญชรคาถาฉบับใดคงไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ความสำคัญนั้นจะอยู่ที่ “จิตใจอันมั่งคงที่จะดำเนินรอยตามเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มากน้อยเพียงใด”