วันอาทิตย์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- พระพุทธรูปปางต่างๆ 1.


ประวัติการสร้างพระพุทธรูป   
   ในระยะแรกหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนก็ได้นำเอา ดิน น้ำ และใบโพธิ์จากสังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสูติ (ลุมพินีวัน) ตรัสรู้ (พุทธคยา) ปฐมเทศนา (พาราณสี) และ ปรินิพพาน (กุสินารา) เก็บมาไว้เพื่อบูชาคุณพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต่อมามีการสร้างรูปอื่นที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ เช่น ทำดวงตราสัญลักษณ์ประจำสถานที่ต่างๆ ขึ้น ด้วยดินเผาหรือแผ่นเงิน เช่นที่เมืองกบิลพัสดุ์สร้างตราดอกบัว หมายถึงมีสิ่งบริสุทธิ์เกิดขึ้น และตราม้า หมายถึงม้ากัณฐกะ ที่เมืองพาราณสีสร้างตราธรรมจักร มีรูปกวางหมอบอันหมายถึงการแสดงธรรมจักร และพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างเสาหินอโศกไว้ในสถานที่ประสูติ เป็นต้น

    ส่วนการสร้างพระพุทธรูปมีประวัติความเป็นมาดังนี้ คือ ตามตำนานพุทธประวิติกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าปเสนธิโกศลแห่งแคว้นโกศล ได้โปรดให้ช่างจำหลักพระรูปเหมือนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นจากไม้แก่นจันทร์ เพื่อเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธองค์ที่เสด็จไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา นับเป็นการสร้างพระพุทธรูปเป็นครั้งแรก แต่ตำนานพระแก่นจันทร์นี้ บางท่านกล่าวว่าเป็นเพียงตำนานที่ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้อย่างชัดเจน ถ้าไม่นับพระแก่นจันทร์ก็สันนิษฐานกันว่า พระพุทธรูปนั้น เริ่มสร้างในราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ตั้งแต่สมัยคันธารราฐ ซึ่งเป็นแคว้นที่อยทางตอนู่เหนือ ของอินเดียโบราณ (ปัจจุบันอยู่ในแถบตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานและตะวันออกของอัฟกานอสถาน) ผู่ริเริ่มสร้างไม่ใช่ชาวอินเดียแต่เป็นพวกโยนก (กรีก) สันนิษฐานว่าเริ่มสร้างในสมัยพระเจ้าเมนันเดอร์หรือพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีกแห่งแคว้นคันธาระ หรือคันธาราฐ

   เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชนำพระพุทธศาสนาเข้าไปเผยแผ่ในคันธาราฐ พวกโยนกยอมรับนับถือพระพุทธศาสนา พระเจ้ามิลินท์มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก แสดงองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจิริญรุ่งเรือง แต่เดิมนั้นพระพุทธศาสนาไม่มีรูปเคารพแต่อย่างใด เพราะในสมัยอินเดียในสมัยนั้นมีข้อห้ามในการทำรูปเคารพ แต่เคยนับถือศาสนเทวนิยมและจำหลักรูปเคารพของเทพเจ้ากลุ่มโอลิมปัสมาก่อน เช่น รูปอพอลโลและซีอุส เมื่อเปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนา ก็เลยจำหลักศิลารูปพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นเคารพบูชาเป็นครั้งแรก


พระพุทธรูปปางต่างๆ



๑.ปางประสูติ   
   ประติมากรรมพุทธประวัติปางประสูตร วัดพรหมวงศาราม กรุงเทพมหานคร พระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา) ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาทรงเหนี่ยวกิ่งสาละ พระบรมโพธิสัตว์อยู่อิริยาบถยืน พร้อมด้วยบรรดาข้าราชบริพาร บางแบบมีพระพรหม พระอินทร์ และเหล่าเทวดาล้อมอยู่ด้วย 

ความเป็นมาของปางประสูติ 
   พระบรมโพธิสัตว์จุติจากดุสิตเทวโลก เสด็จปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางสิริมหามายา อัครมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เมื่อพระนางทรงพระครรภ์แก่ได้เสด็จกลับไปคลอดที่กรุงเทวหะ ซึ่งเป็นบ้านเกิดตามธรรมเนียม ครั้นเสด็จถึงลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวหะ ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ (วันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖) ในเวลาใกล้เที่ยง พระนางก็ประสูติพระราชโอรส ณ โคนต้นสาละ ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ขวาเหนี่ยวกิ่งสาละ เมื่อประสูติพระราชกุมารก็อยู่ในอิริยาบถยืนหันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ เสด็จย่างพระบาทไป ๗ ก้าว มีดอกบัวผุดขึ้นมารองรับ ๗ ดอก แล้วทรงกล่าววาจาอันองอาจว่า "เราเป็นผู้เลิศในโลก เราเป็นผู้เจริญที่สุดในโลก เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้การเกิดใหม่มิได้มี" 



๒.ปางมหาภิเนษกรมณ์   
   ประติมากรรมพุทธประวัติปางมหาภิเนษกรมณ์ วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าชายสิทธัตถะทรงม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะ เกาะหลังม้าตามเสด็จ ขาม้าทั้ง ๔ ขา มีท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ ประจำอยู่ นำพระองค์เหาะข้ามกำแพงพระนครออกไปด้วยปาฏิหารย์ 

ความเป็นมาของปางมหาภิเนษกรมณ์ 
   พระราชกุมาร ทรงพระนามว่าเจ้าชายสิทธัตถะ พระองค์ทรงได้รับคำทำนายจากดาบสและพราหมณ์ผู้เชี่ยวชาญในพระเวทว่าจะเสด็จออกบรรพชา และตรัสรู้ธรรมเป็นศาสดาเอกของโลก เมื่อทรงเจริญวัย ทรงศึกษาศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการจนสำเร็จ ทรงอภิเษกกับพระนางพิมพา และมีพระโอรสพระนามว่า ราหุล เจ้าชายสิทธัตถะทรงตระหนักถึงทุกข์จากความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งย่ำยีสรรพสัตว์โดยไม่ยกเว้น จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จหนีออกบรรพชา โดยเสด็จขึ้นหลังม้ากัณฐกะและมีนายฉันนะตามเสด็จ




๓.ปางตัดพระเมาลี   
   ประติมากรรมพุทธประวัติปางตัดพระเมาลี (มวยผม) วัดไผ่โรงวัว จังหวัดสุพรรณบุรี เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) บนพระแท่นพระหัตถ์ซ้ายทรงรวบพระเมาลีไว้ พระหัตถ์ขวาทรงพระขันค์ทำอาการทรงตัดพระเมาลี มีนายฉันนะและม้ากัณฐกะอยู่ด้านหลัง

ความเป็นมาของปางตัดพระเมาลี 
   เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นว่าพระเมาลีไม่สมควรแก่เพศบรรพชิต จึงทรงตัดออกด้วยพระองค์เอง หลังจากนั้นพระเกศาก็ปรากฏยาวประมาณ ๒ องคุลี ม้วนกลมเป็นทักขิณาวัฏ (เวียนขวา) ทุกๆเส้น และคงอยู่อย่างนั้นตราบถึงดับขันธปรินิพพาน แล้วทรงจับพระเมาลีขว้างขึ้นไปบนอากาศ อธิฐานว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้ ก็ให้พระเมาลี จงตั้งอยู่ในอากาศ อย่าได้ตกลงมา แม้นมิได้ตรัสรู้สมความประสงค์ ขอให้พระเมาลีตกลงสู่พื้นพสุธา" พระเมาลีนั้นได้ประดิษฐานลอยอยู่บนอากาศสูงประมาณ ๑ โยชน์ ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) อัญเชิญพระเมาลีไปบรรจุไว้ในพระจุฬามณีเจดีย์ในสวรรคชั้นดาวดึงส์ ฆฏิการพรหมได้นำเครื่องอัฐบริขาร คือสิ่งจำเป็นสำหรับบรรพชิตมาน้อมถวาย แล้วอัญเชิญพระภูษาเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ไปบรรจุไว้ ณ ทุสเจดีย์ในพรหมโลก




๔.ปางอธิษฐานเพศบรรพชิต   
   พระพุทธรูปปางอธิษฐานเพศบรรพชิต วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้น ตั้งฝ่าพระหัตถ์เสมอพระอุระ ( อก ) เบนฝ่าพระหัตถ์ไปทางซ้าย อันเป็นกิริยาสำรวมจิตอธิษฐานเพศบรรพชิต

ความเป็นมาของปางอธิษฐานเพศบรรพชิต 
   เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์จนมาถึงฝั่งแม่น้ำอโนมา จึงเสด็จลงจากหลังม้า ประทับเหนือหาดทรายริมฝั่งแม่น้ำ รับสั่งแก่นายฉันนะว่า พระองคักบรรพชาถือเพศเป็นบรรพชิต ณ ที่นี้ ให้นำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร เจ้าชายสิทธัตถะทรงตั้งพระทัยว่า เมื่อได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะเสด็จกลับมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติ





๕.ปางปัจจเวกขณะ   
   พระพุทธรูปปางปัจจเวกขณะ วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร ที่วางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) ทอดพระเนตรลงต่ำ

ความเป็นมาของปางปัจจเวกขณะ 
   หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะ หรือ พระบรมโพธิสัตว์ ได้บรรพชาแล้ว ได้เสด็จไปเสวยสุขจากการบรรพชา ณ ป่ามะม่วงนามว่า อนุปิยอัมพวัน โดยเว้นการเสวยพระกระยาหาร ๗ วัน ด้วยอิ่มในสุขจากการบรรพชา ในวันที่ ๘ ได้เสด็จไปบิณฑบาตในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ในเขตกรุงราชคฤห์ แล้วเสด็จมาประทับ ณ บัณฑวบรรพต ทอดพระเนตรอาหารซึ่งปะปนกันในบาตรแล้วเสวยไม่ลง เพราะเคยเสวยแต่อาหารที่ประณีต จึงได้เตือนพระองค์เองว่า "บัดนี้เราเป็นบรรพชิต ต้องอาศัยผู้อื่นเลี้ยงชีพ ไม่มีสิทธิ์เลือกอาหารตามใจชอบ การบริโภคอาหารของผู้แสวงหาสัจธรรมนั้น ก็เพียงเพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด ไม่มีจุดประสงค์อื่น นอกจากแสวงหาทางหลุดพ้นเท่านั้น" แล้วจึงเสวยภัตตาหาร




๖.ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา   
   พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกรกิริยา วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองซ้อนกันบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย เป็นกิริยานั่งสมาธิ มองเห็นพระวรกายซูบผอมจนพระอัฐิ ( กระดูก ) และพระนหารุ ( เส้นเอ็น ) ปรากฏ 

ความเป็นมาของปางบำเพ็ญทุกรกิริยา
   พระบรมโพธิสัตว์ทรงศึกษาจนสำเร็จสมาบัติ ๗ จากสำนักอาฬารดาบสและสมาบัติ ๘ จากสำนักอุทกดาบส อุทกดาบสได้ตั้งพระบรมโพธิสัตว์ไว้ในตำแหน่งอาจารย์เสมอด้วยตนเอง แต่พระบรมโพธิสัตว์เห็นว่าวิชาที่ศึกษามายังมิใช่หนทางแห่งโพธิญาณ จึงอำลาออกจากสำนัก ทรงแสวงหาหนทาง ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม มีปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ เป็นอุปัฏฐาก พระบรมโพธิสัตว์ทรงกระทำทุกรกิริยา เช่น ลดอาหารลงทีละน้อยจนถึงงดเสวย ร่างกายซูบผอม พระโลมา ( ขน ) มีรากเน่าหลุดออกมา แลเห็นพระอัฐิได้ชัดเจน ไปทั่วพระวรกาย จะลุกขึ้นก็เซล้มลงไปแทบสิ้นพระชนม์




๗.ปางทรงพระสุบิน   
   พระพุทธรูปปางทรงพระสุบิน วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถบรรทมตะแคงขวา พระหัตถ์ซ้ายทอดไปตามพระวรกาย พระพาหา ( ต้นแขน ) ขวาแนบกับพื้น ยกหลังพระหัตถ์ขึ้นแนบพระหนุ ( คาง ) งอนิ้วพระหัตถ์แนบกับพระปราง ( แก้ม ) หลับพระเนตร พระเศียรหนุนพระเขนย เป็นกิริยาบรรทมหลับในลักษณะสีหไสยาสน์

ความเป็นมาของปางทรงพระสุบิน 
   ต่อมาพระบรมโพธิสัตว์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะทรงเห็นว่ามิใช่หนทางแห่งพระโพธิญาณ ทรงเปลี่ยนมาใช้มัชฌิมาปฏิปทา หรือ การปฏิบัติโดยทางสายกลาง จึงเสด็จออกบิณฑบาตดังเดิม ปัญจวัคคีย์ ทั้ง ๕ เข้าใจว่า บัดนี้ พระบรมโพธิสัตว์ได้ละความเพียรแล้วหันมาบริโภคอาหารดังเดิม ไหนเลยจะพบธรรมวิเศษได้ จึงพากันเดินทางจากไป พระบรมโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตมาจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ขณะบรรทมทรงปัญจมหาสุบิน ( ฝัน ) เป็นบุพนิมิตรมหามงคล ๕ ประการ เมื่อตื่นบรรทมพระบรมโพธิสัตว์ทรงทำนายมหาสุบินนิมิตรด้วยพระองค์เอง ทรงทราบว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงทรงเบิกบานพระทัยเป็นอย่างยิ่ง 




๘.ปางรับมธุปายาส   
   พระพุทธรูปปางรับมธุปายาส วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ แบพระหัตถ์ทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า เป็นกิริยารับถาดข้าวมธุปายาส บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท

ความเป็นมาของปางรับมธุปายาส 
   เช้าวันเพ็ญวิสาขะ หรือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ( ปีระกา ) อันเป็นวันครบรอบพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ของพระบรมโพธิสัตว์ นางสุชาดา ธิดาของเศรษฐีผู้หนึ่ง แห่งตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาส มาแก้บนต่อรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ ครั้นแลเห็นพระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โคนต้นไทร ทรงรัศมีออกจากพระวรกายแผ่ซ่านไปทั่วปริมณฑล เข้าใจว่าเป็นรุกขเทวดา จึงนำข้าวมธุปายาสไปถวายพร้อมกับถาดทองคำ พระองค์ทรงแบพระหัตถ์ทั้งสองออกรับถาดข้าวมธุปายาส





๙.ปางเสวยมธุปายาส   
   พระพุทธรูปปางเสวยมธุปายาส วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ ประคองถาดมธุปายาส

ความเป็นมาของปางเสวยมธุปายาส 
   เมื่อนางสุชาดาทูลลากลับไปแล้ว พระบรมโพธิสัตว์เสด็จออกจากร่มไทร ทรงถือถาดข้ามธุปายาส เสด็จไปยังริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา สรงพระวรกาย ( อาบน้ำ ) แล้วประทับริมฝั่งแม่น้ำ หันพระพักตร์สู่ทิศตะวันออก ทรงแบ่งข้าวมธุปายาส ออกเป็น ๔๙ ส่วน แล้วปั้นเป็นก้อน ๔๙ ก้อน แล้วเสวยจนหมด ถือเป็นอาหารทิพย์ที่จะคุ้มได้ถึง ๔๙ วัน ในการเสวยวิมุตติสุขภายหลังการตรัสรู้






๑๐.ปางเสี่ยงบารมีลอยถาด   
   พระพุทธรูปปางเสี่ยงบารมีลอยถาด วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) คุกพระชานุ ( เข่า ) ทั้งสองกับพื้น พระหัตถ์ซ้ายวางที่พระเพลา ( ตัก ) ข้างซ้าย เป็นอาการค้ำพระวรกายให้ตั้งมั่น ทอดพระเนตรลงต่ำ พระหัตถ์ขวาอยู่ในพระอิริยาบถยื่นถาดไปข้างหน้า

ความเป็นมาของปางเสี่ยงบารมีลอยถาด 
   หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์เสวยข้าวมธุปายาสแล้ว ทรงลอยถาดลงในแม่น้ำเนรัญชรา พร้อมกับทรงอธิษฐานเสี่ยงพระบารมีว่า "ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ แม้นว่าไม่ได้สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยล่องไปตามกระแสน้ำ" พุทธประวัติกล่าวว่า ถาดนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป จนถึงวังน้ำวนแห่งหนึ่ง จึงจมลงสู่นาคพิภพ ไปกระทบกับถาดสามใบของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีตสามพระองค์พญานาคราชซึ่งกำลังนอนหลับอยู่ในนาคพิภพได้ยินเสียงถาดกระทบกัน จึงทราบว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบังเกิดขึ้นในโลกมนุษย์อีกพระองค์หนึ่งแล้ว ( ในกัปปัจจุบัน หรือที่เรียกว่าภัทรกัป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๕ พระองค์ เจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ที่ ๔ ทรงพระนามว่า "พระสมณโคดมพุทธเจ้า" )




๑๑.ปางรับหญ้าคา   
   พระพุทธรูปปางรับหญ้าคา วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงข้างพระวรกาย พระหัตถ์ขวายื่นออกมาข้างหน้า เป็นกิริยาทรงรับหญ้าคา บางแบบทำเป็นพระอิริยาบถทรงถือหญ้าคาก็มี บางแบบมีรูปพราหมณ์กำลังยื่นหญ้าคาถวายด้วย 

ความเป็นมาของปางรับหญ้าคา 
   พระบรมโพธิสัตว์ทอดพระเนตรเห็นถาดทองลอยทวนกระแสน้ำดังอธิษฐานจึงทรงโสมนัส ( ดีใจ ) เสด็จสู่ร่มสาละ ครั้นถึงเวลาบ่ายได้เสด็จกลับไปยังอัสสัตถโพธิพฤกษ์มณฑล ( ร่มโพธิ์ ) ระหว่างทางได้พบกับโสตถิยพราหมณ์ ถือหญ้ากุสะ ( หญ้าคา ) ๘ กำ เดินสวนทางมา โสตถิยพราหมณ์เลื่อมใสในพระสิริที่งามสง่าของพระบรมโพธิสัตว์ จึงน้อมถวายหญ้ากุสะทั้ง ๘ กำ  





๑๒.ปางสมาธิเพชร   
   พระพุทธรูปปางสมาธิเพชร วัดนิเวศธรรมประวัติ ราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิไขว้พระชงฆ์ ( แข้ง ) หงายฝ่าพระบาททั้งสองข้าง ฝ่าพระหัตถ์วางหงายซ้อนกันบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาทับบนพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางสมาธิเพชร 
   หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์รับหญ้าคาจากโสตถิยพราหมณ์แล้ว ทรงนำไปปูต่างบัลลังก์ ณ ควงไม้อัสสัตถโพธิพฤกษ์ แล้วประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ อธิษฐานว่า "เนื้อและเลือดในสรีระนี้ แม้จะเหือดแห้งไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนังเอ็นและกระดูกก็ตามที ถ้าเรายังไม่บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้" 





๑๓.ปางมารวิชัย   
   พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ ( เข่า ) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี บางแห่งทำรูปแม่พระธรณีนั่งบีบมวยผมประกอบ นิยมสร้างเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ความเป็นมาของปางมารวิชัย 
   ขณะที่พระบรมโพธิสัตว์ประทับ ณ โพธิบัลลังก์ พญามารวสวัตตีประทับบนหลังช้างคีรีเมฃล์สูง ๑๕๐ โยชน์ ยกทัพมาหมายจะทำลายความเพียรของพระองค์ พญามารเนรมิตร่างสูงใหญ่มีมือนับพันถือศัสตราวุธพร้อม นำเหล่าเสนามารมากมายมืดฟ้ามัวดิน เหล่าเทวดาทั้งหลายหนีไปหมด แต่พระบรมโพธิสัตว์มิได้หวาดกลัว พวกมารซัดศัสตราวุธเข้าใส่พระบรมโพธิสัตว์ แต่ศัสตราวุธเหล่านั้นกลายเป็นบุปผามาลัยไปสิ้น พญามารยังกล่าวทึกทักว่า รัตนบัลลังก์เป็นของตน พระบรมโพธิสัตว์ ทรงกล่าวว่า รัตนบัลลังก์นี้เกิดมาด้วยบุญที่พระองค์สั่งสมมาแต่ปางก่อน โดยอาศัยแม่พระธรณีเป็นพยาน แม่พระธรณีได้ปล่อยมวยผมบีบน้ำ กรวดอุทิศผลบุญจากการทำทานของพระบรมโพธิสัตว์ให้ไหลพัดพาเหล่ามารไปจนสิ้น





๑๔.ปางสมาธิหรือปางตรัสรู้   
   พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย พระชงฆ์ (แข้ง) ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางสมาธิ 
   หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มีชัยชนะเหนือพญามารแล้ว ทรงบำเพ็ญสมาธิต่อไป เมื่อจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใสปราศจากอุปกิเลสแล้ว ในปฐมยามทรงบรรลุปุพพเนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้หลายชาติไม่มีที่สิ้นสุด ในมัชฉิมยามทรงบรรลุจุตูปปาตญาณ คือ สามารถหยั่งรู้การเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ว่า สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วตายไป ประสบสุขและทุกข์ตามกรรมที่ทำไว้ และในปัจฉิมยามพระองค์ทรงบรรลุอากาสวักขยญาณ ทรงทำอาสวกิเลสทั้งหลายให้ดับสิ้นไป จนได้บรรลุอนุตรสัมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุโณทัย ตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ (วันวิสาขบูชา) สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปัจจุบันอยู่ในตำบลพุทธคยา ประเทศอินเดีย 




๑๕.ปางถวายเนตร   
   พระพุทธรูปปางถวายเนตร วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถยืน ลืมพระเนตรทั้งสองเพ่งไปข้างหน้า พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงมาประสานกันอยู่ข้างหน้าระหว่างพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาซ้อนเหลื่อมอยู่บนพระหัตถซ้าย อยู่ในอาการสังวรทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์

ความเป็นมาของปางถวายเนตร 
   หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ได้ประทับเสวยวิมุดติสุข (สุขที่เกิดจากความหลุดพ้น) ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ๗ วัน จากนั้นเสด็จไปทรงยืนอยู่กลางแจ้ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงทำอุปหาร คือ ยืนทอดพระเนตรต้นศรีมหาโพธิ์ สถานที่เสด็จมาทรงยืนทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้นได้นามว่า "อนิมิสเจดียสถาน" 





๑๖.ปางจงกรมแก้ว   
   พระพุทธรูปปางจงกรมแก้ว วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระบาทขวาก้าวเหยียบพื้น ยกซ้นพระบาทซ้ายขึ้น ปลายพระบาทจรดพื้น พระหัตถ์ทั้งสองประสานกันอยู่ที่หน้าพระเพลา ( ตัก ) ทอดพระเนตรลงต่ำ 

ความเป็นมาของปางจงกรมแก้ว 
   สัปดาห์ที่ ๓ หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเนรมิตที่จงกรมแก้วขึ้น ณ กึ่งกลางระหว่าง อนิมิสเจดีย์ กับ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเสด็จจงกรม ณ ที่นั้นเป็นเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นได้นามว่า "รัตนจงกรมเจดีย์"




๑๗.ปางเรือนแก้ว    
   พระพุทธรูปปางเรือนแก้ว วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิในเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาวางคว่ำที่พระชานุ ( เข่า ) บางแบบพระหัตถ์ทั้งสองวางซ้อนกันบนพระเพลา บางแบบอยู่ในพระอิริยาบถขัดสมาธิเพชรในเรือนแก้ว

ความเป็นมาของปางเรือนแก้ว  
   ในสัปดาห์ที่ ๔ จากวันตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จขึ้นประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ณ เรือนแก้วที่เทวดาเนรมิตถวายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นศรีมหาโพธิ์ ทรงพิจารณาธรรมตลอดเวลา ๗ วัน สถานที่นั้นเรียกว่า "รัตนฆรเจดีย์" ในหนังสือพระปฐมสมโพธิกถา กล่าวว่าในสัปดาห์ที่ ๑ - ๓ พระฉัพพรรณรังสี ( รัศมี ๖ ประการ ) ยังมิได้โอภาสออกจากพระวรกาย จนในสัปดาห์ที่ ๔ เมื่อเสด็จประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ ทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้วแล้ว พระฉัพพรรณรังสีจึงมีโอภาสออกมาจากพระวรกาย





๑๘.ปางห้ามมาร   
   พระพุทธรูปปางห้ามมาร วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงาย อยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวายกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) แสดงอาการห้าม

ความเป็นมาของปางห้ามมาร 
   หลังจากทรงพิจารณาธรรมในเรือนแก้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประทับใต้ต้นไทร ธิดาทั้ง ๓ ของพญามาร คือ นางราคา นางตัณหา นางอรดี ได้อาสาผู้เป็นบิดาไปทำลายตบะเดชะของพระพุทธองค์ ด้วยการเนรมิตร่างเป็นสตรีที่สวยงามในวัยต่าง ๆ ตลอดจนแสดงอิตถีายาโดยการฟ้อนรำขับร้อง แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงเอาพระทัยใส่ กลับขับไล่ธิดาทั้ง ๓ ของพญามารให้หลีกไป 





๑๙.ปางนาคปรก   
   พระพุทธรูปปางนาคปรก วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนกันบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาซ้อนทับพระหัตถ์ซ้าย เหมือนปางสมาธิ แต่มีพญานาค ขดร่างเป็นวงกลมเป็นพุทธบัลลังก์ และแผ่พังพานปกคลุมอยู่เหนือพระเศียร

ความเป็นมาของปางนาคปรก 
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกจากใต้ร่มไทร เสด็จประทับที่ใต้ต้นมุจลินท์ ( ต้นจิก ) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ฝนเจือลมหนาวตกพรำอยู่ตลอดเวลา ๗ วันไม่ขาดสาย พญานาคราชชื่อมุจลินท์ ราชาแห่งนาคพิภพได้ขึ้นมาจากบาดาล ขนดกายเป็นพุทธบัลลังก์ แล้วแผ่พังพานเหมือนกั้นเศวตฉัตรถวายพระพุทธองค์ ปกป้องมิให้ลมฝน ยุง เหลือบ ริ้น ไร และสัตว์เลื้อยคลานมาต้องพระวรกาย เมื่อฝนหยุด พญานาคราชจึงจำแลงกายเป็นชายหนุ่มมาถวายนมัสการต่อพระพุทธองค์





๒๐.ปางฉันผลสมอ   
   พระพุทธรูปปางฉันผลสมอ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ หงายพระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาถือผลสมอ หงายพระหัตถ์วางที่พระชานุ ( เข่า )

ความเป็นมาของปางฉันผลสมอ 
   ครั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จออกจากร่มไม้จิกแล้ว ก็เสด็จไปประทับเสวยวิมุตติสุข ณ ร่มไม้เกด ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นเวลา ๗ วัน แล้วจึงทรงออกจากสมาธิ ท้าวสักเทวราชทรงทราบว่านับแต่พระพุทธองค์ตรัสรู้มา ๗ สัปดาห์ รวม ๔๙ วัน มิได้เสวยภัตตาหารเลย จึงนำผลสมออันเป็นทิพยโอสถจากเทวโลกมาน้อมถวาย พระพุทธองค์จึงทรงเสวยผลสมอทิพย์นั้น แล้วทรงบ้วนพระโอษฐ์ด้วยน้ำที่ท้าวสักกเทวราชถวาย จากนั้นเสด็จประทับ ณ ร่มไม้เกดตามเดิม 




๒๑.ปางประสานบาตร   
   พระพุทธรูปปางประสานบาตร วัดปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ มีบาตรวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตร คว่ำพระหัตถ์ขวายกขึ้นปิดปากบาตร

ความเป็นมาของปางประสานบาตร 
   หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้แล้ว ๔๙ วัน พ่อค้าสองพี่น้องชื่อ ตปุสสะและภัลลิกะ ได้รับคำแนะนำจากเทวดาซึ่งเคยเป็นญาติกับพ่อค้าทั้งสองในอดีตชาติ ให้นำภัตตาหารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ เพื่อประโยชน์สุขแก่ทั้งสองสิ้นกาลนาน เมื่อตปุสสะและภัลลิกะเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ร่มไม้เกด ต่างมีจิตเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าไปทำการอภิวาทและถวายข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง พระพุทธองค์มีพระประสงค์จะรับ แต่บาตรที่ฆฏิการพรหมถวายในวันเสด็จออกบรรพชาได้อันตรธานไป ท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔ จึงได้เหาะนำบาตรศิลามาถวายองค์ละใบ พระองค์จึงทรงประสานบาตรทั้ง ๔ ใบนั้นเป็นใบเดียวกัน แล้วใช้รับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผง






๒๒.ปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง   
   พระพุทธรูปปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) ทอดพระเนตรลงต่ำ เป็นกิริยาทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงด้วยบาตร

ความเป็นมาของปางรับสัตตุก้อนสัตตุผง 
   พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับข้าวสัตตุก้อนสัตตุผงที่พ่อค้าสองพี่น้องถวายด้วยความเลื่อมใส เมื่อทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว พ่อค้าทั้งสองทูลขอถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นที่พึ่งนับถือสูงสุดในชีวิต เพราะขณะนั้น ยังไม่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้น ถือเป็นเทววาจิกอุบาสก นับเป็นอุบาสกคู่แรกในโลก






๒๓.ปางพระเกศธาตุ   
   พระพุทธรูปปางพระเกศธาตุ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกขึ้นแนบพระเศียร เป็นกิริยาเสยพระเกศา

ความเป็นมาของปางพระเกศธาตุ 
   หลังจากที่ตปุสสะและภัทลิกะได้ขอถึงพระพุทธและพระธรรมว่าเป็นที่พึ่งสูงสุดในชีวิต ถือเป็นปฐมอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ทูลขอสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ควรค่าแก่การอภิวาทต่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้บูชา พระพุทธองค์ทรงลูบพระเศียรเกล้าด้วยพระหัตถ์ขวา มีพระเกศา ๘ เส้น อยู่บนฝ่าพระหัตถ์ จึงโปรดประทานพระเกศาทั้ง ๘ เส้นนั้นแก่พ่อค้าทั้งสอง เมื่อกราบบังคมลาไปสู่บ้านเมืองของตนแล้ว พ่อค้าทั้งสองได้สร้างพระสถูปบรรจุพระเกศาไว้เป็นที่สักการะบูชาแก่มหาชนทั่วไป






๒๔.ปางรำพึง   
   พระพุทธรูปปางรำพึง วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ทั้งสองประสานยกขึ้นประทับที่พระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย

ความเป็นมาของปางรำพึง 
   ขณะที่ประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่า บุคคลในโลกนี้เปรียบเสมือนบัว ๔ เหล่า ดังนี้ คือ 
( ๑ ) อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที 
( ๒ ) วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป 
( ๓ ) เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและ ฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันหนึ่ง 
( ๔ ) ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณ ก็ทรงอธิษฐานว่าจะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า





๒๕.ปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร   
   พระพุทธรูปปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ บางแห่งสร้างเป็นพระอิริยาบถนั่งห้อยพระบาท พระหัตถ์ขวายกขึ้นจีบนิ้วพระหัตถ์เป็นวงกลม เป็นเครื่องหมายธรรมจักร พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา (ตัก) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายประคองพระหัตถ์ขวา หรือพระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นถือชายจีวร

ความเป็นมาของปางปฐมเทศนาหรือปางแสดงธรรมจักร 
   ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหปุณมี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร อันเป็นปฐมเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์ มีใจความสำคัญดังนี้ คือ ทรงให้งดเว้นทางสุดโต่ง ๒ สาย คือ กามสุขขัลลิกานุโยค ได้แก่ การประกอบตนให้หมกมุ่นในกาม และอัตตกิลมถานุโยค คือ ทำตนเองให้ลำบาก ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ได้แก่ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นข้อปฏิบัติให้ถึงทางดับทุกข์ และอริยสัจ ๔ หรือความจริงอันประเสริฐ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โกณฑัญญพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรมในวันนั้น 






๒๖.ปางประทานเอหิภิกขุ   
   พระพุทธรูปปางประทานเอหิภิกขุ วัดสุทัศนเทพวาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ (นั่ง) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ฝ่าพระหัตถ์แบ นิ้วพระหัตถ์งองุ้มลงเล็กน้อย

ความเป็นมาของปางประทานเอหิภิกขุ 
   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเสร็จแล้ว โกณฑัญญพราหมณ์ได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลและทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้โกณฑัญญพราหมณ์เป็นภิกษุด้วยพระวาจา ความว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด" ซึ่งถือเป็นการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และเป็นผลให้เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๓ ประการ ในวันอาสาฬหบูชา หรือ วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ นี้ คือ 
( ๑ ) พระพุทธองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตร 
( ๒ ) มีพระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา 
( ๓ ) พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บังเกิดขึ้นครบองค์สามเป็นครั้งแรก






๒๗.ปางภัตกิจ   
   พระพุทธรูปปางภัตกิจ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายประคองบาตรซึ่งวางอยู่บนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาหย่อนลงในบาตร เป็นกิริยาเสวย

ความเป็นมาของปางภัตกิจ 
   ยสกุลบุตรผู้หนีความวุ่นวายในเรือน ออกมา ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน ต่อมาพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดบิดาของยสกุลบุตรได้แสดงตนเป็นอุบาสกขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง นับเป็นปฐมอุบาสกผู้ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งคนแรกในพระพุทธศาสนา การเทศนาครั้งที่ ๒ นี้ ยังผลให้ยสกุลบุตร ผู้นั่งฟังอยู่ด้วยบรรลุอรหัตผล พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ยสกุลบุตร วันต่อมาทรงรับนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านบิดาพระยสะ นับเป็นครั้งแรกที่เสด็จไปเสวยภัตตาหารตามบ้านและได้ทรงแสดงธรรมโปรดมารดาและภรรยาเก่าของพระยสะ จนได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบันและขอถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งเป็นอุบาสิกาคู่แรกในพระพุทธศาสนา 





๒๘.ปางห้ามสมุทร   
   พระพุทธรูปปางห้ามสมุทร วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ทั้งสองแบตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้า เสมอพระอุระ ( อก ) เป็นกิริยาห้าม บางแบบเป็นพระทรงเครื่อง

ความเป็นมาของปางห้ามสมุทร 
   ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จไปประกาศพระศาสนายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ทรงขอประทับอยู่ในสำนักของอุรุเวลกัสสปะ ผู้เป็นหัวหน้าชฎิลซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของมหาชนในแคว้นมคธ ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์นานับประการเพื่อให้อุรุเวลกัสสปะคลายความพยศลง พระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ห้ามน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุกสารทิศมิให้เข้ามาในที่ประทับ และเสด็จจงกลมภายในวงล้อมที่มีน้ำเป็นกำแพง เหล่าชฎิลพายเรือมาดู เห็นเป็นอัศจรรย์ จึงยอมรับในพุทธานุภาพ และขออุปสมบทเป็นพระภิกษุ 





๒๙.ปางห้ามญาติ   
   พระพุทธรูปปางห้ามญาติ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน แบพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) ตั้งฝ่าพระหัตถ์ยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาห้าม เป็นปางเดียวกันกับปางห้ามสมุทร นิยมทำแบบพระทรงเครื่อง

ความเป็นมาของปางห้ามญาติ 
   ครั้งหนึ่งเหล่ากษัตริย์ศากยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธบิดา และเหล่ากษัตริย์โกลิยวงศ์ พระญาติฝ่ายพุทธมารดา ทะเลาะวิวาทกันเพราะเรื่องแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเนื่องจากฝนแล้ง น้ำไม่เพียงพอ การทะเลาะวิวาทลุกลามไป จนเกือบกลายเป็นศึกใหญ่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทราบเหตุด้วยพระญาณ จึงเสด็จไปห้ามสงคราม โดยตรัสให้เห็นถึงความไม่สมควรที่กษัตริย์ต้องมาฆ่าฟันกันด้วยสาเหตุเพียงแค่การแย่งน้ำเข้านา และตรัสเตือนสติว่า ระหว่างน้ำกับความเป็นพี่น้อง อะไรสำคัญยิ่งกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงได้สติ คืนดีกัน และขอพระราชทานอภัยโทษต่อเบื้องพระพักตร์พระพุทธองค์






๓๐.ปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล   
   พระพุทธรูปปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร ( ไม้เท้า ) ยื่นพระหัตถ์ขวาออกไปข้างหน้า ทอดพระเนตรลงเบื้องต่ำ เป็นกิริยาชักผ้าบังสุกุล บางแห่งสร้างแบบพระหัตถ์ซ้ายห้อยลงทาบที่พระเพลา ( ตัก )

ความเป็นมาของปางปลงกัมมัฏฐานหรือปางชักผ้าบังสุกุล 
   ครั้งหนึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระประสงค์จะนำผ้าขาวที่ห่อศพมาซักย้อมเป็นผ้าสังฆาฏิ จึงเสด็จไปพิจารณาปฏิกูลสัญญา แล้วทรงชักผ้าบังสุกุลและนำมาซักตากให้หมดกลิ่นซากศพ แล้วเย็บเป็นจีวร ในพุทธประวัติเล่าว่าท้าวสักกเทวราชเสด็จลงมาช่วยทำจีวร ตักแต่ซัก ตาก และเย็บเสร็จภายในคืนเดียว ผ้าจีวรผืนนี้พระพุทธองค์ทรงนำมาทำผ้าสังฆาฏิ ภายหลังได้ประทานผ้าผืนนี้แก่พระมหากัสสปะ ผู้เป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์




๓๑.ปางชี้อัครสาวก   
   พระพุทธรูปปางชี้อัครสาวก วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา ( ตัก ) พระหัตถ์ขวาชี้ไปข้างหน้า เป็นกิริยาทรงประกาศอัครสาวกให้ปรากฏในที่ประชุมสงฆ์

ความเป็นมาของปางชี้อัครสาวก 
   อุปติสสะและโกลิตะเป็นสหายรักกัน วันหนึ่งอุปติสสะ ได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ และได้ดวงตาเห็นธรรม เป็นพระโสดาบัน จึงไปแสดงธรรมแก่โกลิตะจนได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ทั้งสองจึงพาบริวารไปยังพระเวฬุวันมหาวิหาร เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นอุปติสสะและโกลิตะนำบริวารเดินมา พระพุทธองค์ได้ตรัสแก่เหล่าภิกษุทั้งหลายว่า ทั้งสองคือคู่แห่งอัครสาวกผู้เป็นธรรมเสนาบดี พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้ทั้งสองด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา เมื่ออุปสมบทแล้วนิยมเรียกพระอุปติสสะว่า "พระสารีบุตร" พระโกลิตะว่า "พระโมคคัลลานะ" ตามชื่อมารดาของท่าน ต่อมาพระสารีบุตรได้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวา พระโมคคัลลานะเป็นพระอัครสาวกเบื้องซ้าย






๓๒.ปางประทานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์   
   พระพุทธรูปปางประทานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) ขัดสมาธิ พระหัตถ์ทั้งสองยกขึ้น จีบนิ้วพระหัตถ์ไว้เสมอพระอุระ ( อก ) เป็นกิริยาทรงประทานโอวาทปาติโมกข์

ความเป็นมาของปางประทานโอวาทหรือปางแสดงโอวาทปาติโมกข์ 
   ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ ๙ เดือน ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมที่ครบองค์ ๔ ได้แก่ 
( ๑ ) วันนั้นเป็นวันดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ( วันเพ็ญเดือน ๓ ) 
( ๒ ) พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย 
( ๓ ) พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖
( ๔ ) พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ คือ เป็นผู้ที่พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง 
ในวันนั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ใจความสำคัญแห่งพระโอวาทนั้น ได้แก่ ละเว้นความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส วันเพ็ญเดือน ๓ ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า "วันมาฆบูชา"





๓๓.ปางประทับเรือ   
    พระพุทธรูปปางประทับเรือ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถประทับ ( นั่ง ) บนพระแท่น พระหัตถ์ทั้งสองข้างวางคว่ำ บนพระชานุ ( เข่า ) บางแบบพระหัตถ์ซ้ายคว่ำที่พระชานุ พระหัตถ์ขาวจับชายจีวร พระบาททั้งสองวางอยู่บนดอกบัว 

ความเป็นมาของปางประทับเรือ 
    ครั้งหนึ่งได้เกิดภัยพิบัติ ๓ ประการขึ้น ณ นครเวสาลี แคว้นวัชชี ได้แก่ 
( ๑ ) ทุพภิกขภัย คือ เกิดข้าวยากหมากแพง ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนพากันอดอยากหิวโหยล้มตาย 
( ๒ ) อมนุษยภัย คือ เหล่าภูติผีปีศาจทั้งหลายต่างเข้ามาหลอกหลอนเบียดเบียนชาวเมือง 
( ๓ ) อหิวาตกภัย คือ เกิดอหิวาตกโรคระบาด ชาวเมืองก็ยิ่งเจ็บป่วยล้มตายมากขึ้น

ในเวลานั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาจำพรรษาณ พระเวฬุวันมหาวิหาร เจ้าลิจฉวีนามว่า มหาลิ เข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทูลอาราธนาไปช่วยดับทุกข์ เมื่อเรือพระที่นั่งของพระพุทธองค์มาถึงท่าเรือนครเวสาลี เจ้าชายมหาลิจึงเชิญเสด็จพระพุทธองค์ขึ้นจากเรือ และถวายการต้อนรับอย่างมโหฬาร 







๓๔.ปางห้ามพยาธิ   
    พระพุทธรูปปางห้ามพยาธิ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงแนบพระวรกายตามปกติ พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ ( อก ) แบฝ่าพระหัตถ์ตั้งขึ้นยื่นออกไปข้างหน้าเป็นกิริยาทรงห้าม 

ความเป็นมาของปางห้ามพยาธิ  
    เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงย่างพระบาทสู่พื้นดินนครเวสาลี ทรงรำลึกถึงพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญเพียรมาตั้งแต่อดีตชาติ ทันใดนั้น มหาเมฆเริ่มตั้งเค้า สายฟ้าแลบแปลบปลาบ ฝนกระหน่ำลงมา บังเกิดสายน้ำพัดพาซากศพมนุษย์และสิ่งปฏิกูลทั้งหลายออกสู่ทะเล เมื่อฝนหยุด พื้นแผ่นดินก็สะอาด ปราศจากสิ่งปฏิกูลอากาศที่ร้อนก็พลันเย็นลง พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์สวดพระปริตรรัตนสูตร และปะพรมน้ำพระพุทธมนต์อันศักดิ์สิทธิ์ตลอดราตรี บรรดาภูติผีปีศาจตกใจกลัวพุทธานุภาพพากันหนีไปจนหมดสิ้น มหาชนทั้งหลายเมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาต่างเกิดศรัทธา พากันประกาศตนเป็นพุทธมามกะ 






๓๕.ปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์   
   พระพุทธรูปปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน พระหัตถ์ซ้ายยกขึ้นป้องเสมอพระอุระ ( อก ) พระหัตถ์ขวาห้อยลงแนบพระวรกาย บางแบบพระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ พระหัตถ์ซ้ายห้อยลงตามปกติ บางแบบพักพระชานุ ( เข่า ) 

ความเป็นมาของปางแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ 
   เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อโปรดพระประยูรญาติครั้งแรก พระญาติผู้ใหญ่ไม่ทำความเคารพ เพื่อให้พระญาติเหล่านั้นลดทิฐิมานะลง พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์โดยเหาะขึ้นไปบนอากาศ ประหนึ่งว่าละอองธุลีพระบาทได้หล่นสู่เศียรเกล้าของเหล่าพระประยูรญาติ พระเจ้าสุทโธทนะ จึงประณมพระหัตถ์แล้วกราบทูลว่า “เมื่อพระองค์ประสูติวันแรก หม่อมฉันให้พี่เลี้ยงพามานมัสการกาฬเทวิลดาบส พระองค์ได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ขึ้นไปสถิตบนชฎาของดาบส หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งแรก ครั้นถึงงานพระราชพิธีวัปปมงคลแรกนาขวัญ พระองค์ประทับ ณ ใต้ต้นหว้า เงาร่มไม้หว้านั้นมิได้เลื่อนขยับไปตามแนวดวงตะวันแม้เป็นเวลาบ่าย หม่อมฉันได้ถวายนมัสการเป็นครั้งที่สอง และครั้งนี้เป็นคำรบสามที่หม่อมฉันถวายนมัสการ ” เหล่าพระประยูรญาติจึงได้คลายทิฐิมานะ ถวายนมัสการพระพุทธองค์ ด้วยบุญญาภินิหาร พลันเกิดมหาเมฆขึ้นในอากาศ ยังผลให้ฝนโบกขรพรรษตกลงมา น้ำฝนโบกขรพรรษนี้มีสีแดง ถ้าผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกกายจึงเปียก หากไม่ปรารถนาให้เปียกก็ไม่เปียก เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ฝนโบกขรพรรษนี้ก็เคยตกมาแล้ว พระองค์ได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกแก่พระประยูรญาติด้วย




ต่อ
พระพุทธรูปปางต่างๆ 2.