วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) : โลกธรรมนั้นเป็นสิ่งธรรมดาโลก




พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) เป็นพระสงฆ์องค์สำคัญท่านมีชีวิตอยู่ถึง ๔ แผ่นดิน คือตั้งแต่รัชกาลที่ ๔-๗ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๕ ของวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ท่านได้กอปรคุณูปการต่อวงการพระพุทธศาสนาอย่างมหาศาล ทั้งในด้านการปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ และการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์ทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ

ท่านยังเคยกล่าวยกย่องท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโตในที่ประชุมว่า “ท่านมั่นเป็นกัลยาณมิตร ควรสมาคม”ในยุคสมัยนั้นพระป่าที่ไม่ได้ศึกษาทางปริยัติ ยังไม่เป็นที่ยอมรับจากพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ล้วนมีการศึกษาสูงแต่ด้วยการสนับสนุนของท่านเจ้าคุณฯทำให้ท่านพระอาจารย์มั่นเป็นที่รู้จักของพระสงฆ์ระดับผู้ใหญ่ ในธรรมยุติกนิกาย

แม้ว่าท่านเจ้าคุณฯ จะเป็นพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติปฏิบัติชอบเพียงใดก็ไม่อาจจะพ้นไปจากโลกธรรม ๘ อันเป็นสิ่งธรรมดาของโลกได้ ดังตัวอย่างของการ “ได้ยศ-เสื่อมยศ” ซึ่งท่านได้เล่าไว้ว่า...

“...ส่วนบรรดาศักดิ์ถึงปีขาล วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนตำแหน่งเป็นพระเทพโมลีครั้นถึงปี ๒๔๕๘ พรรษาที่ ๓๙ ปลายปีถูกถอดลดยศออกจากตำแหน่งพระเทพโมลี...” 

หลังจากการถูกถอดสมณศักดิ์ ท่านได้แสดงพระธรรมเทศนาอันแสดงถึงความเข้าใจในโลกธรรม อันเป็นสิ่งที่เป็นปกติของโลก

“เวลานี้เราเป็นหลวงตาจันทร์แล้ว ขณะนี้หลวงตาจันทร์กำลังจะเทศน์ โลกธรรมนั้นเป็นสิ่งธรรมดาโลก ถ้าใครไปยึดถือมันเข้าก็จะต้องหลงเกิดความเดือดร้อนกระวนกระวาย อย่าไปถือเลย หลวงตาจันทร์กับเจ้าคุณมันก็คนคนเดียวกันนั้นเอง แต่เป็นเรื่องที่เขาสวมหัวโขนให้กันเท่านั้น"

สาเหตุของการถูกถอดยศนั้นเกิดจากการที่ท่านได้แต่งหนังสือชื่อว่า "ธรรมวิจยานุศาสน์" เพื่อแจกในงานศพของหม่อมราชวงศ์หญิงท่านหนึ่งเนื้อหาบางส่วนไม่เป็นที่พึงใจของทางราชการท่านจึงถูกถอดจากสมณศักดิ์ แล้วถูกนำตัวไปกักไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯแต่ในที่สุดได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืนดังปรากฏในอัตชีวประวัติของท่าน

“...วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๙ ทรงพระราชทานอภัยให้อัตตโนพ้นจากโทษแล้วทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์ให้เป็นพระธรรมธีรราชมหามุนี มีตำแหน่งเสมอกับพระราชาคณะชั้นเทพ...” 

ท่านได้กลับมาปกครองวัดบรมนิวาสตามเดิมและต่อมาได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ “พระโพธิวงศาจารย์” และเป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์” อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดที่ท่านได้รับ

โลกธรรม ๘ อันประกอบด้วย สุข-ทุกข์ ได้ลาภ-เสื่อมลาภ ได้ยศ-เสื่อมยศ ได้รับคำสรรเสริญ-ถูกนินทานั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนจะต้องเผชิญการยอมรับในธรรมดาโลกว่าไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้คงทน สรรพสิ่งต้องแปรปรวนไปย่อมทำให้มีชีวิตอยู่บนโลกอย่างเข้าใจ ไม่หวั่นไหวเมื่อต้องพบสิ่งที่ไม่ปรารถนาดังที่ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ได้ปฏิบัติให้เราชาวพุทธผู้เป็นศิษย์พระพุทธเจ้าได้ดำเนินตามแนวทางอันดีงามของท่าน


- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -- - - - - - - - -



เอกสารประกอบการเขียน
“รวมธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์” โดย ชมรมพุทธศาสตร์ เอสโซ่ ฉบับพิมพ์เมื่อ ธันวาคม ๒๕๒๖
“คิริมานนทสูตรและอัตตปวัตติ” โดยพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๔๒
"พระครูวิเวกพุทธกิจ หลวงปู่ใหญ่เสาร์ กนฺตสีโล พระปรมาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกรรมฐาน" โครงการหนังสือบูรพาจารย์ เล่ม ๕ โดย ปฐมและภัทรา นิคมานนท์ ฉบับพิมพ์เมื่อธันวาคม ๒๕๔๖
“พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจนฺโท (จันทร์) นักปราชญ์จากแดนอีสาน” โดย เอนก นาวิกมูล ฉบับพิมพ์ปี ๒๕๕๐


ประวัติ


ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ มีนามเดิมว่า จันทร์ เกิดเมื่อเวลา 11 ทุ่มเศษ วันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง จุลศักราช 1218 ตรงกับวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2399 เป็นบุตรหัวปีของนายสอน นางแก้ว อาชีพทำสวนทำนา ชาติภูมิอยู่บ้านหนองไหล อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุลบลราชธานี มีพี่น้อง 11 คน ตายเสียแต่ยังเล็ก 4 คน ใหญ่มาจนเป็นเหย้าเป็นเรือน 7 คน

นายสอนซึ่งเป็นบิดาของท่านนั้น ต่อมา พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ (ต้นสกุล ชุมพล) ซึ่งเป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสาน ทรงตั้งให้เป็นหลวงสุโภรสุประการ ฝ่ายสังฆการี เมืองอุบลราชธานี ขณะที่ท่านดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิจิตรธรรมภาณี

เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 ในสมัยเริ่มรัชกาลที่ 5 เมื่ออายุได้ 13 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านหนองไหล เจ้าอธิการโสดา เป็นอุปัชฌายะ ต่อมาได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนัก เจ้าอธิการม้าว เทวธมฺมี วัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นญาติกัน และท่านเจ้าอธิการม้าวเป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์) ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

 เป็นสามเณรเล่าเรียนอยู่ 7 ปี จนพ.ศ.2417 อายุย่างเข้า 19 ปี กำลังเริ่มเรียนมูลกัจจายน์ ก็ต้องลาสิกขาจากสามเณรมาอยู่กับบิดามารดา 3 ปี ท่านม้าว พระอุปัชฌายะก็ใช้คนมาตามเอาตัวนายจันทร์ไปบวชอีก วันขึ้น 8 ค่ำเดือน 6 ปีฉลู พ.ศ.2420 นายจันทร์บวชพระ ท่านม้าวเป็นพระอุปัชฌายะ เจ้าอธิการสีโห วัดไชยมงคลเป็นกรรมวาจาจารย์ บวชแล้วท่านสีโหขอรับตัวไปช่วยกิจวัตรในวัดไชยมงคล เพราะวัดอยู่ห่างกันแค่ 10 เส้น เวลาเรียนหนังสือให้มาเรียนที่วัดสีทอง

ต่อมาอีก 4 พรรษา จึงมาอยู่ที่ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร ในสำนัก พระปลัดผา ซึ่งถือนิสสัยเป็นอันเตวาสิก หรือศิษย์ของพระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดเทพศิรินทราวาส ศึกษาพระปริยัติธรรมกับ พระมหาดิษและพระอาจารย์บุษย์ ปีเศษ ครั้นมีคนบอกว่ามีอาจารย์อีกองค์ ชื่ออาจารย์บุญ บอกหนังสืออยู่ที่วัดกันมาตุยารามดีมาก (อาจารย์บุญผู้นี้ต่อมาคือ พระยาธรรมปรีชา ท่านมีนิวาสสถานอยู่ใกล้วัดกันมาตุยาราม ท่านเป็นอาจารย์ของผู้มีชื่อเสียงในสมัยนั้นหลายท่าน เช่น เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทร์ เป็นต้น) จึงไปขอเรียนในสำนักอาจารย์บุญ ได้ไปพักแรมอยู่วัดกันมาตุยารามเป็นคราวๆ ครั้นพระอริยมุนี (เอม) เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์เป็นอหิวาตกโรคถึงมรณภาพแล้ว พระปลัดผาก็พาพระจันทร์ไปฝากท่านเจ้าคุณวิเชียรมุนี กับมหาอ่อน หรือพระสาสนโสภณ แห่งวัดบุบผาราม จึงย้ายไปอยู่ที่ วัดบุปผาราม จังหวัดธนบุรี ในสำนักพระสาสนโสภณ (อ่อน) แต่ยังเป็นเปรียญฯ


ถึงปีระกา พ.ศ.2428 ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมครั้งแรกที่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้เป็นเปรียญ 3 ประโยค ในครั้งนั้นท่านเห้นว่าอายุ 31 ปีแล้ว ตั้งใจว่าต่อจากนี้จะไปศึกษาทางวิปัสสนาธุระ จึงได้ทูลลาออกไปอยู่เมืองอุบล กลับไปอุปัฏฐากท่านม้าว วัดสีทองในปีกุน พ.ศ.2430 รวมอยู่วัดบุบผาราม 3 ปี อุปัฏฐากพระอุปัชฌายะอยู่พรรษาหนึ่ง เป็นพรรษาที่ 11  พรรษาที่ 12 มหาจันทร์ออกไปจำพรรษาที่บ้านหนองไหลโดยปลูกกุฏิอยู่ที่ป่า

หน้าแล้งปีนั้น เจ้านครจำปาศักดิ์ แต่งกรมการมาขอพระธรรมยุติจากท่านม้าวไปตั้งคณะธรรมยุติที่เมืองนครจำปาศักดิ์ หาคนไปไม่ได้ ที่สุดมหาจันทร์ต้องรับภาระของพระอุปัชฌายะไปจัดการ โดยเดินทางไปยังจำปาศักดิ์ในปลายปี พ.ศ.2431

ในเวลานั้นพระยามหาอำมาตย์ (หรุ่น ศรีเพ็ญ)) เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่นั่น พร้อมด้วยเจ้านครจำปาศักดิ์สร้างวัดให้ใหม่ ให้ชื่อว่า วัดมหามาตยาราม มีพระเณรไปเรียนหนังสือด้วย 1-12 องค์ ท่านจึงจำพรรษาที่วัดมหามาตยารามเป็นพรรษาที่ ๑๓

ต่อมาพระยามหาอำมาตย์ กับเจ้านครจำปาศักดิ์พร้อมใจกันมีหนังสือเข้าไปกราบบังคมทูล ขอให้มหาจันทร์เป็นเจ้าคณะสังฆปาโมกข์เมืองนครจำปาศักดิ์ ออกพรรษาแล้ว พอเดือนยี่ก็ได้รับท้องตราให้เข้าไปรับสัญญาบัตรที่กรุงเทพฯ

ได้ออกจากเมืองนครจำปาศักดิ์เมื่อเดือน 3 พ.ศ.2432 ใช้เวลาเดินทาง 3 เดือนจึงถึงกรุงเทพฯ พักจำพรรษาอยู่วัดพิชยญาติการาม กับเจ้าคุณสาสนโสภณ (อ่อน) ผู้เป็นอาจารย์ เวลานั้นยังเป็นพระเมธาธรรมรส เป็นพรรษาที่ 14

ครั้นถึง ณ วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2433 ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นที่พระครูวิจิตรธรรมภาณี เจ้าคณะใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ ตาลปัตรแฉกทองแผ่ลวดมีนิตยภัตร 8 บาท ถึงเดือน 6 พ.ศ. 2434 กลับออกไปเมืองนครจำปาศักดิ์ เดินทาง 3 เดือนถึงนครจำปาศักดิ์ในเดือน 8  จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์ เป็นพรรษาที่ 15

พรรษาที่ 16 ก็จำพรรษาที่นครจำปาศักดิ์

พรรษาที่ 17 เมื่อไทยเสียดินแดนแถบจำปาศักดิ์ให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2436 ท่านจึงได้ทูลลา กลับมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏน์ เมืองอุบล

พรรษาที่ 18 พ.ศ. 2437 เข้ามาจำพรรษาที่วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ การเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ คราวนี้ ทรงตั้งให้ท่านเป็นกรรมการในมหามกุฎราชวิทยาลัยด้วย ออกพรรษาแล้ว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส โปรดให้ไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส ไปเป็นผู้ช่วย หม่อมเจ้า พระศรีสุคตขัติยานุวัตร ผู้เป็นเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสเป็นสมภารพรรษายังไม่ถึง 10 รับนิสัยพระสงฆ์ยังไม่ได้ ให้ท่านไปเป็นผู้รับนิสัยพระสงฆ์ และเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนภาคมคธ​ด้วย



กรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ชุดแรก พ.ศ. ๒๔๓๖

(แถวหน้าจากซ้าย) พระราชกวี (ถม) พระศรีสุคตคัตยานุวัตร (ม.จ. พร้อม) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส พระสถาพรพิริยพรต (ม.จ.ถุชงค์) พระเมธาธรรมรส (อ่อน)

(แถวที่ ๒) พระครูปลัดอุทิจยานุศาสก์ (ท้วม) พระธรรมราชานุวัตร (ต่าย) พระสมุทรมุนี (เนตร) พระครูวิจิตรธรรมภาณี (จันทร)

(แถวที่ ๓) พระครูปลัดจุฬานุนายก (ชม) พระอมราภิรักขิต (แสง) หม่อมราชวงศ์พระชื่น เปรียญ


ในแล้งนี้มีกำหนดการแปลพระปริยัติธรรมในท้องสนามหลวงด้วย (สมัยนั้นไม่ได้มีการสอบทุกปี) สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ รับสั่งให้ท่านเข้าแปลประโยค 4 ด้วย ท่านได้เป็นเปรียญ 4 ประโยคในการสอบครั้งนี้

ในพรรษาที่ 19 พ.ศ.2438 นี้ท่านได้ช่วยหม่อมเจ้าพระศรีสุคตฯ อยู่วัดเทพศิรินทราวาสตลอดพรรษา พอออกพรรษาแล้ว ท่านเห็นว่า ร่างกายไม่มีกำลังพอที่จะทำงาน ถ้าขืนอยู่ในเพศสมณะต่อไปคงเกิดโรคภัยเบียดเบียน ไม่มีทางจะออกตัวอย่างไรได้ เห็นแต่ทางสึกเป็นดีกว่าอย่างอื่น จึงได้ทูลลาสึก

 ในเดือน 12 ปีนั้น ได้ออกไปเรียนวิปัสสนาอยู่กับเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถร (สิง) วัดปทุมวนาราม จนถึงเดือนอ้าย ท่านออกไปเจริญวิปัสสนาอยู่ที่เขาคอก ในระหว่างเดือนอ้ายนั้นก็ได้ตรึกตรองถึงชีวิตในภายหน้า จนกระทั่งตัดสินใจได้ว่ายอมถวายตัวเป็นข้าพระรัตนตรัยอยู่ในพระศาสนาตลอดชีวิต จึงได้มีลิขิตเข้ามาถวาย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรถึงการตัดสินใจของท่าน ว่าตัดสินใจถวายพรหมจรรย์แก่พระศาสนาแล้ว ด้วยพระองค์ท่านคอยฟังข่าวอยู่ เนื่องจากได้ทูลไว้เมื่อตอนสึกว่า จะออกไปหาที่วิเวกตรึกตรองก่อน พระองค์ทรงพระเมตตาท่านมาก คอยจะทรงอุปการะอยู่

ครั้นตัดสินใจได้แล้วก็เดินรุกขมูลต่อไป ได้ออกไปเที่ยวอยู่ในแขวงเมืองนครราชสีมาตลอดแล้ง จนถึง เดือน 6 พ.ศ. 2439 ได้กลับเข้ามาจำพรรษาอยู่ที่วัดปทุมวนาราม เป็นปีพรรษาที่ 20

อยู่ที่ วัดพิชัยญาติการาม 1 พรรษา แล้วกลับไปอยู่วัดเทพศิรินทร์อีก ต่อจากนี้ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมอีกครั้ง สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงโปรดให้ไปจัดการศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีได้ 2 ปีเศษ

ถึงปีกุน พ.ศ.2442 ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่พระญาณรักขิต แล้วโปรดให้เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน จึงกลับไปอยู่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี 5 พรรษา ภายหลังขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต กลับเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อยู่ที่วัดเทพศิรินทร์บ้าง ไปธุดงค์บ้าง จนถึงปีมะโรง พ.ศ.2447 จึงโปรดให้อาราธนาไปครองวัดบรมนิวาส ถึงปีระกา พ.ศ.2452 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระราชกวี

ถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 ทรงโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระเทพโมลี ต่อมาถึง พ.ศ.2458 ได้แต่งหนังสือ เทศน์ เห็นเป็นอันไม่ต้องด้วยรัฐประศาสนโยบายบางประการ อันเกี่ยวกับการป้องกันพระราชอาณาจักร จึงถูกถอดจากสมณศักดิ์ คราวหนึ่ง

ครั้นถึงวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2459 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ กลับตั้งให้เป็นพระราชาคณะ ที่พระธรรมธีรราชมหามุนี มีสมณศักดิ์เสมอชั้นเทพ และโปรดให้ครองวัดบรมนิวาสตามเดิม

ถึงปี พ.ศ.2466 โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระโพธิวงศาจารย์ เสมอตำแหน่งชั้นธรรม

ครั้นถึง พ.ศ.2468 ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะ ตำแหน่งเจ้าคณะรองฝ่ายอรัญญวาสี มีนามในสัญญาบัตรว่า "พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ญาณวิสุทธจริยาปรินายก ตรีปิฏกคุณาลังการ นานาสถานราชคมนีย์ สาธุการีธรรมาดร สุนทรศีลาทิขันธ์"

ได้เคยรับราชการทางคณะสงฆ์ ในหน้าที่สำคัญๆ หลายตำแหน่งคือ เป็นเจ้าคณะใหญ่ เมืองนครจำปาศักดิ์ เป็นเจ้าคณะมณฑลอีสาน มณฑลจันทบุรี มณฑลราชบุรี และ มณฑลกรุงเทพฯ

ท่านเป็นพระนักปกครองผู้มีอัธยาศัยงดงาม ให้ความคุ้มครอง และให้ความดีความชอบแก่ผู้น้อย เป็นผู้มีใจกันทุกครั้งเมื่อมีโอกาส ท่านแสดงธรรมสั่งสอนให้เขาเหล่านั้น เป็นผู้ฉลาด ชี้ให้เห็นเหตุผล แจ่มแจ้งในกว้างเฉลี่ยลาภผล เกื้อกูลแก่สพรหมจารี ไปอยู่ที่ไหน ก็ยังคุณความดี ให้เกิดแก่หมู่ เป็นคณโสภณผู้ทำหมู่ให้งาม เป็นผู้ฉลาดในเชิงช่าง

นอกจากนี้ ท่านยังใส่ใจในการศึกษาของภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา และ กุลบุตรกุลธิดามาก ทั้งภาษาบาลีและไทย เมตตาสั่งสอนให้ได้รู้หนังสือ ท่านมีความ สามารถในการอธิบายอรรถธรรม ให้เข้าใจง่าย และชักชวนให้อาจหาญร่าเริง ในสัมมาปฏิบัติ จัดเป็นธรรมกถึกเอก มีเชาวนะปฏิภาณว่องไวเฉียบแหลม วิจารณ์อรรถธรรมอันลุ่มลึก ให้แจ่มแจ้ง ท่านแต่งหนังสือไว้ทั้ง คำร้อยแก้วทั้งคำกาพย์

เมื่ออยู่เมืองนครจำปาศักดิ์ ได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดมหาอำมาตย์ (วัดนี้พระยามหาอำมาตย์หรุ่น กับ เจ้านครจำปาศักดิ์ สร้าง) ให้ชื่อว่า "โรงเรียนบุรพา​​​สยามเขตร" สอนทั้งภาษาบาลี ทั้งภาษาไทย และยังได้จัดตั้ง "โรงเรียนอุบลวิทยาคม" ขึ้นที่ วัดสุปัฏน์ เช่นกัน ครั้นได้ดำรง ตำแหน่ง เจ้าคณะมณฑล ก็จัดการการศึกษาทั่วไป จนได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ได้จัดการศึกษา ของกุลบุตรให้เจริญ ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ แม้ถึงวัดสิริจันทรนิมิตร ที่เขาบ่องาม (เขาพระงามในปัจจุบัน) จังหวัดลพบุรีและวัดเจดีย์หลวง นครเชียงใหม่ ก็ได้จัดการศึกษาของกุลบุตรให้รุ่งเรืองขึ้นโดยควรแก่ฐานะ

แม้ในการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านก็ได้สร้างคุณประโยชน์อันมากมาย เช่น การปฏิสังขรณ์ วัดบวรมงคล คือ พระอุโบสถ พระระเบียง ตลอดจนวิหารคด การปฏิสังขรณ์วัดบรมนิวาส คือ


พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล

พระอุโบสถแล พระอสีติมหาสาวก วิหารคด และ พระพิชิตมาร ซึ่งเป็นพระประธานในศาลาอุรุพงษ์ คือ เป็นพระลีลาเก่า อัญเชิญมาจาก จังหวัดราชบุรี และได้ให้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เช่น โรงเรียนภาษาบาลี และ ภาษาไทย สระน้ำ ศาลาอุรุพงษ์ ส่วนของระฆัง และหอระฆัง มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนมรุพงศ์สิริวัฒน์เป็นผู้ร่วมสร้าง ตลอดจนกุฏิสร้างใหม่ให้เป็นตึก หอเขียว ซึ่งเป็นกุฏิใหญ่ในวัดนี้ หม่อมเจ้าหญิงเมาลี หม่อมเจ้าหญิงคอยท่า หม่อมเจ้าหญิงโอฐอ่อน หม่อมเจ้าหญิงคำขาว และ หม่อมเจ้าหญิงรับแข สกุลปราโมช  ทรงร่วมกันสร้างด้วยความสามัคคีธรรมแห่ง คณะญาติ นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้ประเดิมสร้างวัดเสน่หานุกูล จังหวัดนครปฐม และที่วัดสิริจันทรนิมิตร จังหวัดลพบุรีนั้น ท่านได้สร้างพระพุทธปฏิมากร อันมีนามว่า พระพุทธปฏิภาคมัธยมพุทธกาล ซึ่งมีหน้าตักกว้าง 11 วา 1 ศอก สูงทั้งรัศมี 18 วา อีกทั้ง พระอุโบสถ พระประธาน และ พระกัจจายน์ วิหาร ตลอดถึงถ้ำและกุฏิ ศาลา บ่อน้ำ ท่านเป็นผู้นำในการสร้างมณฑปวัดบ้านแป้ง จังหวัดสิงห์บุรี

ท่านเป็นผู้ยินดีในสัมมาปฏิบัติ สันโดษมักน้อยใฝ่ใจในสัลเลขปฏิบัติ ประกอบด้วยธุดงควัตรเที่ยวรุกขมูล รักษาขนบธรรมเนียม ของสมณะที่ดีไว้มั่นคง มีสติสัมปชัญญคุณทุกเมื่อ มีความเยือกเย็นอาจหาญอดกลั้นทนทานต่อสถานการณ์ต่างๆ แม้ในยามอาพาธ สุดท้าย พิษของโรครุนแรงด้วยทุกขเวทนายิ่งนัก ท่านยังได้ให้โอวาทแก่ผู้มาเยี่ยมเยือนว่า "เราเป็นนักรบ ได้ฝึกหัดวิธีรบไว้ก็ไม่เสียที ได้ผจญต่อพยาธิธรรมและมรณธรรมจริงๆ ก็อาจหาญอดกลั้นทนทานไม่สะทกสะท้าน มีสติสัมปชัญญคุณรอบคอบไม่หลงใหลไม่ฟั่นเฟือน ไม่กระวนกระวาย หากถึงกาลแตกดับ ก็ไปด้วยความสงบเงียบหายดุจหลับไป" จึงได้ชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติได้ผลโดยควรแก่ภาวะโดยแท้

ธรรมโอวาท

ท่านได้กล่าวไว้มากมาย ขอคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ คือ

ที่ว่าร่างกายจิตใจเป็นแก้วสารพัดนึกนั้น พึงพิเคราะห์ดู เรามีตา นึกจะดูอะไรก็ดูได้เรามีหู นึกจะฟังอะไรก็ฟังได้ เรามีจมูก อยากจะรู้กลิ่นอะไรก็รู้ได้ เรามีปาก มีลิ้น นึกอยากจะรู้รสอะไรก็รู้ได้ นึกอยากจะกินอะไรก็กินได้ เรามีมือ นึกอยากจะทำอะไรก็ทำได้ เรามีเท้านึกอยากเดินไปไหนก็ไปได้ เรามีจิตมีใจ นึกอยากจะน้อมนึกตรึกตรองอะไร ก็ได้สมประสงค์ ผู้รู้ตนว่า เป็นของวิเศษอย่างนี้ ย่อมเป็นเหตุให้ได้ความสุข คือ ใช้ตามหน้าที่ ไม่ให้วัตถุเหล่านั้นเป็นข้าศึกแก่ตน คือ เกิดปฏิฆะโทมนัสยินดี ยินร้ายเพราะวัตถุของตน นิสัยของผู้ฉลาด ย่อมไม่ให้วัตถุวิเศษของตนเป็นข้าศึกแก่ตน อารมณ์ที่ผ่านไปผ่านมา เลือกเอาแต่ส่วนที่เป็นประโยชน์ ส่วนที่จักเป็นโทษ จงปล่อยผ่านไปเสีย ไม่รับไม่เก็บเข้ามาไว้ คือ หัดชำระวัตถุภายในนี้ ให้ผ่องใส สมกับที่ว่า เป็นแก้วสารพัดนึกอยู่ทุกเมื่อ อาศัยความหัด บ่อยๆ สติก็แก่ขึ้น วัตถุภายในก็ปราศจากโทษ คือ ไม่เป็นข้าศึกแก่ตน ให้ความสุขแก่ตนทุกอิริยาบถ จึงสมกับพุทธโอวาท ที่ทรงสั่งสอนว่า

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน

ถ้าว่าโดยสมมติ สกลกายนี้เองเป็นตน ถ้าว่าโดยสกลกายนี้เองเป็นธรรม ที่ว่า อตฺตสรณา ธมฺมสรณา ให้มีตนเป็นที่ระลึกนี้ คือ ให้เห็นว่า ตนเป็นธรรม ธรรมเป็นตน ความรู้ธรรมเป็นพุทธะ สกลกายที่ทรงคุณความดีไว้เป็นธรรมะ ความประพฤติให้คุณความดี มีขึ้นในตนเป็นสังฆะ ผู้ที่มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนอย่างนี้ ชื่อว่า ผู้ถึงไตรสรณคมน์ในชาตินี้

ตลอดชาติชั้นศีล ชั้นสมาธิ ชั้นปัญญา ชั้นวิมุตติ ชั้นวิมุตติญาณทัสสนะ สุดแท้แต่วาสนาของใครจะถึงได้ในชั้นใด จะต้องได้รับผล คือ ความสุขตามชั้นตามภูมิของตนทั้งนั้น อย่าเป็นคนสงสัย ลังเลยึดให้มั่นคั้นให้ตาย อย่างมงายเชื่อเกจิอาจารย์ที่สอน นอกรีตนอกทาง อย่าพากันหลงใหลไปตามเขา เพราะพระนิพพานของ พระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า นิพพานสมบัติ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ มีสติปัฏฐาน เป็นต้น มีอัฏฐังคิกมรรค เป็นที่สุด เหล่านี้เป็นนิพพานสมบัติ อย่างอื่นๆ ถ้าไม่เป็นไปตามนี้เป็นอวิชชาทั้งนั้น

พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ต้องประพฤติตนให้มั่งมีเหมือนพระพุทธเจ้า ทั้งสมบัติภายนอกแลสมบัติภายใน

ปัจฉิมบท

ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ สิริจนฺโท (จันทร์) เปรียญ 4 ประโยค เจ้าอาวาส วัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร อาพาธเนื่องด้วยโรคชรา ถึงมรณภาพ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 คำนวณอายุได้ 77 ปี พรรษา 55 ได้พระราชทานโกศโถ มีชั้นรองสองชั้น ฉัตรเบญจา 4 ประกอบศพเป็นเกียรติยศ