วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- วันออกพรรษา


           วันออกพรรษา เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งชาววัดและชาวบ้าน ได้พร้อมใจกันกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ตามคติประเพณีที่เคยประพฤติปฏิบัติสืบ ๆ กันมาแต่โบราณกาล เช่นมีการตักบาตรเทโว หรือเรียกตักบาตรดาวดึงส์ เป็นต้น "วันออกพรรษา" มีสาเหตุเนื่องมาจาก "วันเข้าพรรษา" ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (เพ็ญเดือน ๑๑) ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึงพระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ
๑.ไปไหนไม่ต้องบอกลา 
๒.ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด 
๓. ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้ 
๔. มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก ๔ เดือน 
            อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า " วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"

            แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี 

            การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทางท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผลจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผลนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาตัดไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตามให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ โดยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าวชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่คือผู้มีอาวุโสท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้วถูกไปหมดทุกอย่าง 

            การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อยๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง 

            ตัวอย่าง วันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา 

            ส่วนพิธีของฆราวาสนั้นควรจะนำเอาพิธีปวารณาของพระท่านมาใช้ดูบ้าง ซึ่งจะมีผลดีที่เกิดขึ้นแก่กลุ่มชนที่อยู่รวมกัน ไม่ว่าครอบครัวและสังคมต่าง ๆ และมีพิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังธรรม ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง 

            มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า " ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก หรือการตักบาตรนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" และการตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน 

            การทำบุญตักบาตรเทโวนี้ ท่านจัดเป็นกาลนาน คือ หนึ่งปีมีหนึ่งครั้ง และการกระบุญเช่นนี้ โดยยึดถือว่าเป็นวันคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ตามตำนานกล่าวว่า 


            เมื่อก่อนพุทธศักดิ์ราช ๘๐ ปี พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนา "พระสัตตปรณาภิธรรม" คือพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา (ซึ่งทรงบังเกิดอยู่ในสวรรคชั้นดุสิต)

            ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ ๓ เดือน พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลง จากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ โดย เสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของนับไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวาบันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง ๓ พาด บนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิตรสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์"

            อนึ่งในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้น ประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง บางวัดจึงเตรียมการในคฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้างแล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อน และมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายกทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตร เป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าว กับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาวและข้าวต้มลูกโยนนี้มี ประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนมากเข้าไปใส่บาตรไม่ได้ 

ความมุ่งหมายของการปวารณากรรม 
            ปวารณากรรม มีความมุ่งหมายชัดเจนปรากฏอยู่ในคำที่สงฆ์ใช้ปวารณาซึ่งกันและกัน ดังนี้ 
            - เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัย ให้หมดไปในที่สุด 

            - เป็นทางประสานรอยร้าว ที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

            - เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ 

            - เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดว่ากล่าวตักเตือนได้โดยไม่จำกัดด้วย ยศ ชั้น พรรษา วัย 

            - ก่อให้เกิด "ภราดรภาพ" รู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงานคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญุตา 

พิธีตักบาตรเทโว(วันพระเจ้าเปิดโลก) 
            มีปรากฎในอรรถกถาธรรมบทว่าในขณะนั้นพระพุทธเจ้าจำพรรษาอยู่ในนครสาวัตถี พรรษาที่ ๒๕ ผู้คนในชมพูทวีปหันมาเลื่อมในพระพุทธศาสนาทำให้นักบวชของศาสนา อิจฉาเพราะเขาเหล่านั้นเดือดร้อนในการขาดผู้ค้ำจุนดูแลและขาดลาภสักการะจึงทำการกลั่นแกล้ง พระพุทธศาสนาโดยประการต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องฤทธิ์พระองค์และเหล่าสาวกของพระองค์เอง ศาสนาอื่นปลุกปั่นจนพระองค์ทรงห้ามเหล่าสาวกทั้งหลายแสดงฤทธิ์ พระองค์ก็งดแสดงฤทธิ์เช่นกัน จึงทำให้ศาลามีจุดที่จะทำให้ศาสนาอื่น เช่น อาจารย์ทั้ง ๖ และศาสนาเชน ทำการโฆษณาชวนเชื่อว่า พระพุทธศาสนานั้นมีพระพุทธเจ้า และสาวกสิ้นฤทธิ์หมดแล้วอย่าไปนับถือเลยสู้พวกตนไม่ได้ยังมีฤทธิ์เหนือกว่า ควรจะมานับถือพวกตนดีกว่าพระพุทธเจ้าทรงเห็นว่า ถือขืนปล่อยไว้เฉยต่อไป โดยไม่ตอบโต้บ้าง อาจเป็นผลเสียต่อพระพุทธศาสนา ดังนั้นวันเพ็ญอาสาฬหะ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นคู่ ๆ ซึ่งก็มีปรากฎเพียงครั้งเดียวในครั้งนั้นทำให้ผู้คนที่เคลือบแครงสงสัย หันมานับถือศาสนาอย่างมั่นคงอีกครั้ง ในวันรุ่งขึ้นแรม ๑ ค่ำ เดือนอาสาฬหะ เป็นวันอธิฐานเข้าพรรษา พระพุทธเจ้าทรงประกาศจำพรรษาที่สรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทำกันมาเมื่อลาพระพุทธเจ้าทรงลาบริษัทแล้วก็เสด็จไป ณ ดาวดึงส์เทวโลกเพื่อโปรดพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรม ๗ พอครบเวลา ๓ เดือนของการโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ในวันเพ็ญเดือน ๑๑ ก็เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ณ ที่ประตูเมือง สังกัสสนคร ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยบริวารตามลงมาเสด็จทางบันใดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพ พระพุทธเจ้าทรงใช้อิทธิฤทธิ์บรรดาลให้โลกทั้ง ๓ มี เทวโลก , มนุษย์โลก , สัตว์นรก มองเห็นกันทั้งหมด จึงเรียกวันนั้นว่า วันพระเจ้าเปิดโลกพอวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ผู้คนในชมพูทวีปพากันมาใส่บาตรพระสงค์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข การตักบาตรในครั้งนั้นไได้นัดหมายกันมาก่อนเลยต่างคนก็ต่างมาด้วยศรัทธาจึงทำให้คนมามากมาย เมื่อมีมามากทำให้ไม่ถึงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จึงเอาข้าวของตนห่อหรือปั้นเป็นก้อน โยนใส่บาตรพระด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลังจึงนิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในวันเทโวณหณะ 
  
พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน

             ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้ 


พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน 
            ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัดจึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้ 

ภาคกลาง 
            จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

            จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตรหรือปางลีลา โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาตร

            สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล

            สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒ วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล 


ภาคใต้ 
            ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ 

            ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูป ในวันแรม 1 ค่ำเดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก กับชักพระทางน้ำ 

            พิธีชักพระทางบก 
            จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน " ปัด" คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง) ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ๑ - ๒ สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ ๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า)บนบุษบกจะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงานพอเช้าวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง ๒ ตัวเมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่าง ๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี มีอิสลามร่วมด้วย 

            พิธีชักพระทางน้ำ
ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่าง ๆ ก็จะนำเรือมา ๒ - ๓ ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทางที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานจะมีเรือพระหลาย ๆ วัดมาร่วมงาน ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน 

            พิธีรับพระภาคกลาง 
พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระ-พุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย 

            ประเพณีตักบาตรพระร้อย 
            "ประเพณีตักบาตรพระร้อย" หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญประเพณีของชาวประเพณีโดยเฉพาะ ส่วนมากจัดพิธีขึ้นทางน้ำเนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต 

            เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตพระร้อยสืบมา 

            ประโยชน์ของพิธีออกพรรษา 
            ๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติ ที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษาและเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำกุศลไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป

            ๒. ประโยชน์ที่โดดเด่น คือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษาเพื่อ ให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมา ปวารณากัน คือเปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง 

            จากพิธีออกพรรษา 
            ๑. เตือนสติว่าเวลาที่ผ่านพ้นไปอีกพรรษาหนึ่งแล้วได้คร่าชีวิตมนุษย์ ให้ผู้คนนั้นดำรงค์อยู่ในความไม่ประมาทและหันมาสร้างกุศล

            ๒. การทำบุญออกพรรษาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นชำระความผิดของตนได้ คือหลักปวารณา ปกติคนเราคบกันนาน ๆ ก็จะเผย "สันดาน" ที่แท้ออกมาอาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้าง ๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้นตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

            ๓. ได้ข้อคิดที่ว่า คนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา

            ๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกันโดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใด ๆ ต่อในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


--------------------------------------------------------------------------------

บรรณานุกรม 
๑. จ. เปรียญ. ประเพณีและพิธีมงคลไทย. ธรรมบรรณาคาร. ๒๕๑๘ กรุงเทพ ฯ.
๒. สมปราชญ์ อัมมะพันธ์. ประเพณีและพิธีกรรมในวรรณคดี. โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้า.๒๕๓๖ กรุงเทพ ฯ.
๓. สุเมธ เมธาวิทยกุล. สังกัปพิธีกรรม. พริ้นติ้ง เฮ้า. ๒๕๓๒ . กรุงเทพ ฯ.
๔. แสงฉาย อนงคาราม. อานิสงค์จากพระไตรปิฎก. ส. ธรรมภักดี. กรุงเทพ ฯ.
๕. ประพันธ์ กุลวินิจฉัย เทศกาลและพิธีกรรมทางพุทธศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ ม.มจร กรุงเทพ ฯ. 

............................
ข้อมูล และภาพจาก
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
http://www.onab.moe.go.th