วันเสาร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- คาถาโพชฌังคปริตร

โพชฌังคปริตร

โพชฌังคปริตร ถือเป็นพุทธมนต์ที่ช่วยให้คนป่วยที่ได้สดับตรับฟังธรรมบทนี้แล้วสามารถหายจากโรคภัยไข้เจ็บได้ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะมีเรื่องในพระไตรปิฎกเล่าว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหากัสสปะที่อาพาธ พระองค์ทรงแสดงสัมโพชฌงค์แก่พระมหากัสสปะ พบว่าพระมหากัสสปะสามารถหายจากโรคได้ อีกครั้งหนึ่งพระองค์ได้ทรงแสดงธรรมบทนี้แก่พระโมคคัลลานะซึ่งอาพาธ หลังจากนั้น พบว่า พระโมคคัลลานะก็หายจากอาพาธได้ ในที่สุด เมื่อพระพุทธองค์เองทรงอาพาธ จึงตรัสให้พระจุนทะเถระแสดงโพชฌงค์ถวาย ซึ่งพบว่าพระพุทธเจ้าก็หายประชวร

พุทธศาสนิกชนจึงพากันเชื่อว่า โพชฌงค์นั้น สวดแล้วช่วยให้หายโรคได้ ซึ่งในพระไตรปิฎกกล่าวว่า ธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นธรรมเกี่ยวกับ ปัญญา เป็นธรรมชั้นสูง ซึ่งเป็นความจริงในเรื่องการทำใจให้สว่าง สะอาดผ่องใส ซึ่งสามารถช่วยรักษาใจ เพราะจิตใจมีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับ ร่างกาย เนื่องจากกายกับใจเป็นสิ่งที่อาศัยกันและกัน จึงทำให้หายจากโรคได้




โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา
( โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ )

วิริยัมปีติ ปัสสัทธิ โพชฌังคา จะ ตะถาปะเร
( วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ )

สะมาธุเปกขะโพชฌังคา
( สมาธิสัมโพชฌงค์ และอุเบกขาสัมโพชฌงค์ )

สัตเตเต สัพพะทัสสินา มุนินา สัมมะทักขาตา
( 7ประการเหล่านี้ เป็นธรรมอันพระมุนีเจ้า ผู้ทรงเห็นธรรมทั้งปวงตรัสไว้ชอบแล้ว )

ภาวิตา พะหุลีกะตา
( อันบุคคลเจริญแล้วกระทำให้มากแล้ว )

สังวัตตันติ อะภิญญายะ นิพพานายะ จะ โพธิยา
( ย่อมเป็นไปเพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน )

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ 
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )

โสตถิ เต โหตุ สัพพะท
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )

เอกัสมิง สะมะเย นาโถ โมคคัลลานัญจะ กัสสะปัง คิลาเน ทุกขิเต ทิสวา
( ในสมัยหนึ่ง พระโลกนาถเจ้า ทอดพระเนตรเห็นพระโมคคัลลานะ 
และพระมหากัสสปะเป็นไข้ ได้รับความลำบาก )

โพชฌังเค สัตตะ เทสะยิ
( จึงทรงแสดงโพชฌงค์ 7 ประการ ให้ท่านทั้งสองฟัง )

เต จะ ตัง อะภินันทิตวา
( ท่านทั้งสองนั้น ชื่นชมยินดียิ่ง ซึ่งโพชฌงคธรรม )

โรคา มุจจิงสุ ตังขะเณ 
( โรคก็หายได้ในบัดดล )

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )

เอกะทา ธัมมะราชาปิ เคลัญเญนาภิปีฬิโต
( ในครั้งหนึ่ง องค์พระธรรมราชาเอง (พระพุทธเจ้า) ทรงประชวรเป็นไข้หนัก )

จุนทัตเถเรนะ ตัญเญวะ ภะณาเปตวานะ สาทะรัง
( รับสั่งให้พระจุนทะเถระ กล่าวโพชฌงค์นั้นนั่นแลถวายโดยเคารพ )

สัมโมทิตวา จะ อาพาธา ตัมหา วุฏฐาสิ ฐานะโส
( ก็ทรงบันเทิงพระหฤทัย หายจากพระประชวรนั้นได้โดยพลัน )

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ 
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ )

ปะหีนา เต จะ อาพาธา ติณณันนัมปิ มะเหสินัง
( ก็อาพาธทั้งหลายนั้น ของพระผู้ทรงคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 องค์นั้น หายแล้วไม่กลับเป็นอีก )

มัคคาหะตะกิเลสาวะ ปัตตานุปปัตติธัมมะตัง
( ดุจดังกิเลส ถูกอริยมรรคกำจัดเสียแล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดอีกเป็นธรรมดา )

เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ
( ด้วยการกล่าวคำสัตย์นี้ )

โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา
( ขอความสวัสดี จงบังเกิดมีแก่ท่าน ตลอดกาลทุกเมื่อ เทอญ. )





ความหมายในโพชฌงค์ 7 ประการ มีความหมายอย่างไร 

เป็นข้อธรรม และก็เป็นกระบวนการกำจัดมลพิษภายในจิตวิญญาณ เป็นขบวนการในการจัดระเบียบของจิตวิญญาณความรู้สึกนึกคิดของตนให้เป็นผู้ซื่อตรงถูกต้องตามครรลองคลองธรรม หรือครรลองของสภาวะธรรมนั้นๆ ซึ่งมีอยู่ในตนของตน

ฉะนั้น ความหมายของโพชฌงค์ 

ในข้อแรกก็คือ สติสัมโพชฌงค์ นั่นก็คือ โพชฌงค์ข้อแรกต้องปฏิบัติตนให้เป็นคนมีสติ และในความหมายของโพชฌงค์ก็คือ วิถีแห่งการบรรลุธรรม วิถีแห่งความพ้นทุกข์หรือไม่ก็วิถีแห่งการตัดอาสวะกิเลส เป็นกระบวนการทางจิตชนิดหนึ่ง

เป็นอารมณ์แห่งจิตที่ทำงานเป็นอารมณ์แห่งจิตที่มีสาระ เป็นอารมณ์แห่งจิตที่มีความหมายพัฒนาไปเป็นจิตที่ประเสริฐ ในสติสัมโพชฌงค์ เมื่อบุคคลใดเป็นผู้ยังให้เกิดขึ้น ยังให้ตั้งขึ้น และมีขึ้น


พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเมื่อมีสติแล้วจะต้องมีธัมมวิจยะ คือการวิจารณ์ธรรม เลือกเฟ้นธรรม แสวงหาธรรม ที่เหมาะตรงถูกต้องแก่ตนที่สามารถปฏิบัติได้เมื่อมีสติมีการแสวงหาวิจารณ์ธรรมที่ดีอยู่แล้ว ที่ตรงถูกต้องก็ต้องทำด้วย ความเพียร มานะพยายามบากบั่นอย่างยิ่ง เมื่อมีความเพียรแล้วผลที่ได้รับกลับมาก็คือความปีติสุข นั่นก็คือเป็นอารมณ์หนึ่งในโพชฌงค์ เมื่อมีปิติสุขซึ่งเป็นผลที่ได้รับจากการทำด้วยความวิริยะพากเพียรแล้ว


สิ่งที่จะตามมาจากปีติสุขก็คือ ความผ่อนคลาย ความปล่อยวาง ในสิ่งที่เป็นทาสจากตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัสใดๆ ผ่อนคลายจากความชั่วเลวร้ายเสียหาย ทั้งกาย วาจาและใจ เมื่อมีความผ่อนคลายปล่อยวางแล้วก็จะขยับเข้าไปถึงความหมายหรือองค์คุณแห่งสมาธิ คือความตั้งมั่นแห่งจิต

ผลแห่งสมาธินั้นเมื่อตั้งมั่นดีแล้ว จะเป็นเอกัคคตา คือเป็นหนึ่งเดียว มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว กระบวนการต่างๆ เหล่านั้นทั้ง 7 ประการที่กล่าวมาแล้ว


และหากกล่าวโดยสรุปแล้วความหมายของโพชฌงค์ 7 ประการก็คือ 

กุญแจที่จะปลดปล่อยไขประตูและก็ปลดปล่อยเราให้ออกมาจากคุกของอารมณ์ คุกที่กักขังเราไว้ คุกที่ควบคุมกักขังตัวเรานั้น ไม่ใช่เป็นคนอื่น ใครอื่น สิ่งอื่น หรือที่อื่นๆ แต่เป็นตัวเราเองที่เรากักขังตัวเองไว้ ในอารมณ์ใดๆ โดยที่เราไม่รู้เท่าทันมัน รวมทั้งขังตัวเองเอาไว้ในสุข ทุกข์ เวทนาและก็กิจกรรมหรือการที่เป็นไปในกาย เช่นเกิดอาพาธ เกิดโรคหรือกักขังตัวเองไว้ในเวทนาของโรคนั้นๆ

ฉะนั้นการเจริญโพชฌงค์ก็คือการปลดปล่อยตัวเองออกจากเวทนา และโรคร้ายเหล่านั้นก็จะหมดออกไปจากอารมณ์ เมื่อโรคออกจากอารมณ์เหล่านั้น ใจก็เป็นปรกติ

โพชฌงค์ 7 ประการ

1.สติสัมโพชฌงค์(ความระลึกได้ สำนึกพร้อมอยู่ ใจอยู่กับกิจ จิตอยู่กับเรื่อง)

2.ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์( ความเฟ้นธรรม,ความสอดส่องค้นหาธรรม )

3.วิริยะสัมโพชฌงค์(ความเพียร)

4.ปีติสัมโพชฌงค์(ความอิ่มใจ)

5.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์(ความสงบกายสงบใจ)

6.สมาธิสัมโพชฌงค์(ความมีใจตั้งมั่น,จิตแน่วในอารมณ์)

7.อุเบกขาสัมโพชฌงค์(ความมีใจเป็นกลางเพราะเห็นตามเป็นจริง)

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตโต)



สวดโพชฌงค์ แปล เสียงหลวงพ่อพุธ ฐานิโย