วันอังคารที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2553

- ประวัติหลวงปู่ดูลย์ อตุโล 2


๘. ปฏิปทาในการเผยแพร่

    พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศิษย์มากมายที่เคารพเลื่อมใสและศรัทธาในวัตรปฏิปทาของท่าน ทั้งที่เป็นบรรพชิตและเป็นฆราวาส ปฏิปทาในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในด้านของการส่งเสริมศิษย์ของท่านนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ให้ความเห็นว่า ศิษย์ที่เป็นภิกษุสามเณรและปรารถนาจะเจริญงอกงามอยู่ในบวรพุทธศาสนา  ควรทำการศึกษาทั้งสองด้าน คือทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ

   กล่าวคือผู้ที่อายุยังน้อยมีความสามารถในการศึกษาเล่าเรียน  ท่านก็สนับสนุนให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมไปก่อน  ครั้นพอมีเวลาว่างจากการศึกษาก็ให้ฝึกฝนในการปฏิบัติสมาธิภาวนาไปด้วย  และถ้าผู้ใดสามารถที่จะศึกษาเล่าเรียนในชั้นสูงต่อได้  ก็จะจัดส่งไปเรียนต่อในสำนักต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ หรือที่ซึ่งเจริญด้วยการศึกษาพระปริยัติธรรม  ทำให้ท่านมีศิษย์ที่จบการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูง  หรือปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ จนกระทั่งไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เป็นจำนวนมาก สำหรับผู้ที่มีอายุมาก หรือผู้ที่สนใจในธุดงค์กัมมัฏฐานก็ดี  ท่านก็แนะนำให้ศึกษาพระธรรมวินัยให้พอเข้าใจให้พอคุ้มครองรักษาตัวเอง  แล้วจึงมุ่งปฏิบัติกัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง

   โดยได้แนะแนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานต่อไปให้จริงจัง  โดยได้แนวทางให้สองวิธี กล่าวคือผู้ที่สนใจในทางธุดงค์กัมมัฏฐานตามแบบของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็จะแนะนำและส่งให้ไปอยู่รับการศึกษาตามสำนักต่าง ๆ กับครูบาอาจารย์ในแถบจังหวัดสกลนคร , อุดรธานี และหนองคาย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักวัดป่าอุดมสมพร และสำนักถ้ำขามของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร หลวงปู่ได้ฝากฝังไปอยู่มากที่สุด

หลวงปู่ลงจากถ้ำขาม

    ส่วนผู้สนใจจะปฏิบัติทางด้านสมาธิวิปัสสนาอย่างเดียว  ท่านจะให้อยู่ในสถานที่ที่ตนเองยินดี  โดยให้เหตุผลว่า การปฏิบัติธรรมอย่างนี้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่ไหน ในเมื่อกายยาว ๑ วา หนา ๑ คืบนี้แลเป็นตัวธรรม  เป็นตัวโลก เป็นที่เกิดแห่งธรรม เป็นที่ดับแห่งธรรม เป็นที่ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้อาศัยบัญญัติไว้ซึ่งธรรมทั้งปวง  แม้ใครใคร่จะปฏิบัติธรรมก็ต้องปฏิบัติธรรมที่กายและใจเรานี้  หาได้ไปปฏิบัติที่อื่นไม่ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องหอบสังขารนี้ไปที่ไหน  ถ้าตั้งใจจริงแล้ว นั่งอยู่ที่ไหนธรรมก็เกิดที่ตรงนั้น  ยิ่งผู้ใดสามารถปฏิบัติภาวนาในท่ามกลางความวุ่นวาย ความอึกทึกครึกโครมรอบ ๆ ตัว  จนกำหนดจิตตั้งสมาธิได้ สมาธินั้นเป็นสมาธิที่เข้มแข็งและมั่นคงกว่าธรรมดา  ด้วยเหตุที่สามารถต่อสู้เอาชนะสภาวะที่ไม่เป็นสัปปายะได้ คือไม่อำนวยนั่นเอง ท่านยังกล่าวอีกว่า การเดินจงกรมจนกระทั่งจิตหยั่งลงสู่ความสงบนั้น  จะเกิดสมาธิที่แข็งแกร่งกว่าสมาธิที่สำเร็จจากการนั่งหรือนอน  หรือแม้แต่การเข้าป่าเป็นยิ่งนัก

หลวงปู่ดูลย์และคณะศิษย์


แนวทางการสอน

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ได้ชื่อว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่พึ่งของลูกศิษย์ทั้งที่เป็นฆราวาสและพระหนุ่มเณรน้อยทั่วไปได้เป็นอย่างดี

ท่านได้กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“ความหนักอกหนักใจที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักปฏิบัติ  คือการขาดกัลยาณมิตรที่มีความสามารถแนะนำทางและวิธีแก้ไขการปฏิบัติให้ได้ตลอดสาย  และบางทีแม้มีกัลยาณมิตรคือครูบาอาจารย์ที่สามารถ  แต่ท่านก็บังเอิญอยู่ไกลบ้าง  โอกาสไม่อำนวยบ้างทำให้ไม่อาจแก้ไขแนวทางปฏิบัติได้ทันท่วงที  ทำให้เกิดการเนิ่นช้าไปโดยใช่เหตุ
ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือ  บางครั้งทำให้หลงวกวนไปไกลจนกระทั่งหลงผิดไปก็มี  บางกรณีถ้ามีผู้ชี้แนะให้ทันการก็จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวง  ทั้งแก่เพื่อนนักปฏิบัติและทั้งแก่พระศาสนาเอง ผู้ใดมีปัญหาหรือข้อสงสัยแม้เล็กน้อยในทางปฏิบัติ  ขออย่าได้รีรอลังเลหรือว่าเกรงอกเกรงใจอะไร  ขอให้ไปพบเพื่อไต่ถามได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง  แม้ว่าเมื่อไปแล้วพบว่าท่านเข้าที่ไปเสียแล้ว  ก็ขอให้เรียกได้ทันที  อย่าได้ต้องพลาดโอกาสสูญเสียประโยชน์ใหญ่เพราะเหตุความเกรงใจเพียงเล็กน้อย  ตัวท่านนั้นเป็นเพียงนักปฏิบัติชราที่ผ่านประสบการณ์มานานปี  พอจะสามารถเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง”

ท่านมักย้ำอยู่เสมอว่า  ท่านไม่ต้องการใช้คำว่าครูและศิษย์  ท่านต้องการให้คิดว่า ท่านเป็นเพื่อนร่วมศึกษาแนวทางรอด  แนวทางการสอนของท่านเป็นไปในแนวทางการบอกถึงประสบการณ์  และให้ผู้ศึกษาลองพิจารณาหรือปฏิบัติแล้วนำไปเปรียบเทียบดู  เพราะท่านบอกว่าธรรมของใครก็ของมัน  แม้จะมีเป้าหมายเดียวกันคือความพ้นทุกข์  แต่แนวทางการปฏิบัติจะไม่เหมือนกัน  ท่านจะไม่เรียกใครว่าเป็นศิษย์ของท่านเลย  จะใช้คำอื่นแทน เช่น ศิษย์ที่ติดตามท่านเดินธุดงค์  จะเรียกว่าคนเคยเดินธุดงค์ร่วมกัน  เคยปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นต้น ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว  แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ  การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว ถ้าพูดเรื่องอื่น ๆ การสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์มักจะไม่ยืดยาว  แต่ถ้าพูดเรื่องการปฏิบัติ การสนทนาจะยืดยาวทีละหลายชั่วโมง  บางครั้งพูดยันสว่างก็เคยมีมาแล้ว

แต่ที่พิเศษยิ่งกว่านั้นก็คือ  ท่านสามารถพูดหรือสนทนาทางจิตกับผู้อื่นได้  ซึ่งนับเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก  เมื่อถูกถามว่า ไม่คุยกันแล้วจะรู้เรื่องได้อย่างไร  พระอาจารย์ดูลย์ท่านตอบว่า “การพูดไม่สามารถตอบปัญหาได้ทุกอย่างหรอก”

สมเด็จพระญาณสังวรเสด็จเยี่ยม พ ศ.๒๕๒๑




เรื่องของหลวงตาพวง

พระอาจารย์ดูลย์ เป็นพระที่มีพรสวรรค์ในการอธิบายธรรมให้แจ่มแจ้ง  ท่านสามารถอธิบายธรรมที่มีผู้ไม่เข้าใจ ให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ท่านยังเป็นอาจารย์แก้อารมณ์ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมให้ปฏิบัติไปอย่างถูกต้อง  ยากที่จะหาผู้ใดมาเทียบได้ ทั้งนี้มีตัวอย่างของหลวงตาพวง ซึ่งศิษย์ของท่านได้บันทึกเอาไว้ว่า ศิษย์ของหลวงปู่ชื่อหลวงตาพวง ได้มาบวชตอนวัยชรา นับเป็นผู้บุกเบิกสำนักปฏิบัติธรรมบนเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์  หลวงตาพวงได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจให้แก่การประพฤติปฏิบัติ  เพราะท่านสำนึกตนว่าขอบวชเมื่อแก่  มีเวลาแห่งชีวิตเหลือน้อย  จึงเร่งความเพียรตลอดวันตลอดคืน

พอเริ่มได้ผลเกิดความสงบ  ก็เผชิญกับวิปัสสนูปกิเลสอย่างร้ายแรง  เกิดความสำคัญผิด เชื่อมั่นอย่างสนิทว่าตนเองได้บรรลุอรหัตผล เป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง เป็นผู้สำเร็จผู้เปี่ยมไปด้วยบุญญาธิการ ได้เล็งญาณ (คิดเอง) ไปจนทั่วสากลโลก เห็นว่าไม่มีใครรู้หรือเข้าถึงธรรมเสมอด้วยตน  บังเกิดจิตคิดเอ็นดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ใคร่จะไปโปรดให้พ้นจากทุกข์โทษ ความโง่เขลา เล็งเห็นพระสงฆ์ทั้งหมด ตลอดจนครูบาอาจารย์ล้วนแต่ยังไม่รู้  จึงตั้งใจจะไปโปรดหลวงปู่ดูลย์ผู้เป็นพระอาจารย์เสียก่อน

ดังนั้นหลวงตาพวงจึงได้เดินทางด้วยเท้าเปล่าจากเขาพนมรุ้ง เดินทางข้ามจังหวัดมาไม่ต่ำกว่า ๘๐ กิโลเมตร มาจนถึงวัดบูรพาราม หวังจะแสดงธรรมให้หลวงปู่ฟัง หลวงตาพวงมาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๖ ทุ่มกว่า กุฏิทุกหลังปิดประตูหน้าต่างหมด  พระเณรจำวัดกันหมด หลวงปู่ก็เข้าห้องไปแล้ว ท่านร้องเรียกหลวงปู่ด้วยเสียงอันดัง  ตอนนั้นท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนียังเป็นสามเณรอยู่  ได้ยินเสียงเรียกอันดังลั่นว่า “หลวงพ่อ หลวงพ่อ หลวงพ่อดูลย์”  ก็จำได้ว่าเป็นเสียงของหลวงตาพวงจึงลุกไปเปิดประตูรับ สังเกตดูกิริยาก็ไม่เห็นมีอะไรผิดแปลก  เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่า ตามธรรมดาท่านหลวงตาพวงมีความเคารพอ่อนน้อมต่อหลวงปู่  พูดเสียงเบา ไม่บังอาจระบุชื่อของท่าน แต่คืนนี้ค่อนข้างจะพูดเสียงดังและระบุชื่อด้วยว่า “หลวงตาดูลย์ ออกมาเดี๋ยวนี้ พระอรหันต์มาแล้ว”

ครั้นเมื่อหลวงปู่ออกมาแล้ว  ตามธรรมดาหลวงตาพวงจะต้องกราบหลวงปู่ แต่คราวนี้ไม่กราบ  แถมยังต่อว่าเสียอีกว่า “อ้าว ไม่เห็นกราบ ท่านผู้สำเร็จมาแล้ว ไม่เห็นกราบ”  เข้าใจว่าหลวงปู่ท่านคงทราบโดยตลอดว่าอะไรเป็นอะไร ท่านจึงนั่งเฉย ไม่พูดอะไรแม้แต่คำเดียว ปล่อยให้หลวงตาพวงพูดไปเรื่อย ๆ

หลวงตาพวงสำทับว่า “รู้ไหมว่าเดี๋ยวนี้ผู้สำเร็จอุบัติขึ้นแล้ว ที่มานี่ด้วยเมตตา ต้องการจะมาโปรด ต้องการจะมาชี้แจงแสดงธรรมปฏิบัติให้เข้าใจ”

หลวงปู่ยังคงวางเฉย ปล่อยให้ท่านพูดไปเป็นชั่วโมงทีเดียว  สำหรับพวกเราพระเณรที่ไม่รู้เรื่องไม่เข้าใจ ก็พากันตกอกตกใจกันใหญ่ ด้วยไม่รู้ว่ามันเป็นอะไรกันแน่  ครั้นปล่อยให้หลวงตาพวงพูดนานพอสมควรแล้ว  หลวงปู่ก็ซักถามเป็นเชิงคล้อยตามเอาใจว่า “ที่ว่าอย่างนั้น ๆ เป็นอย่างไร และหมายความว่าอย่างไร”  หลวงตาพวงก็ตอบตะกุกตะกัก ผิด ๆ ถูก ๆ แต่ก็อุตส่าห์ตอบ  เมื่อหลวงปู่เห็นว่าอาการรุนแรงมากเช่นนั้น  จึงสั่งว่า “เออ เณรพาหลวงตาไปพักผ่อนที่โบสถ์  ไปโน่นที่พระอุโบสถ”  เณร (เจ้าคุณพระโพธินันทมุนี) ก็พาหลวงตาไปที่โบสถ์จัดที่จัดทางถวาย  หลวงตาวางสัมภาระแล้วก็กลับออกจากโบสถ์ไปเรียกพระองค์นั้นองค์นี้ที่ท่านรู้จักให้ลุกขึ้นฟังเทศน์ฟังธรรม  รบกวนพระเณรตลอดทั้งคืน

หลวงปู่พยายามแก้ไขหลวงตาพวงด้วยอุบายวิธีต่าง ๆ หลอกล่อให้นั่งสมาธิ ให้นั่งสงบแล้วย้อนจิตมาดูที่ต้นตอ  มิให้จิตแล่นไปข้างหน้า จนกระทั่งสองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว ไม่สำเร็จ หลวงปู่จึงใช้อีกวิธีหนึ่งซึ่งคงเป็นวิธีของท่านเอง  ด้วยการพูดแรงให้โกรธหลายครั้งก็ไม่ได้ผล  ผ่านมาอีกหลายวันก็ยังสงบลงไม่ได้  หลวงปู่เลยพูดให้โกรธด้วยการด่าว่า “เออ สัตว์นรก ๆ ไปเดี๋ยวนี้ ออกจากกุฏิเดี๋ยวนี้”  ทำให้หลวงตาพวงโกรธอย่างรุนแรง ลุกพรวดพราดขึ้นไปหยิบเอาบาตร จีวรและกลดของท่านลงจากกุฏิ มุ่งหน้าไปวัดป่าโยธาประสิทธิ์  ซึ่งอยู่ห่างจากวัดบูรพารามไปทางใต้ ประมาณ ๓-๔ กิโลเมตร ซึ่งขณะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) ยังพำนักอยู่ที่นั่น ที่เข้าใจว่าหลวงตาพวงโกรธนั้นเพราะเห็นท่านมือไม้สั่น หยิบของผิด ๆ ถูก ๆ คว้าเอาไต้ (สำหรับจุดไฟ) ดุ้นหนึ่ง นึกว่าเป็นกลด และยังเปล่งวาจาออกมาอย่างน่าขำว่า “เออ กูจะไปเดี๋ยวนี้ หลวงตาดูลย์ไม่ใช่แม่กู” เสร็จแล้วก็คว้าเอาบาตร จีวร และหยิบเอาไต้ดุ้นยาวขึ้นแบกไว้บนบ่า คงนึกว่าเป็นคันกลดของท่าน แถมคว้าเอาไม้กวาดไปด้ามหนึ่งด้วย ไม่รู้เอาไปทำไม

ครั้นพอไปถึงวัดป่า ทันทีที่ย่างเท้าเข้าสู่บริเวณวัดป่าที่นั่นเอง  อาการของจิตที่น้อมไปติดมั่นอยู่กับอารมณ์ภายนอก  โดยปราศจากการควบคู่ของสติที่ได้สัดส่วนกันก็แตกทำลายลง  เพราะถูกกระแทกด้วยอานุภาพแห่งความโกรธอันเป็นอารมณ์ที่รุนแรงกว่า  ยังสติสัมปชัญญะให้บังเกิดขึ้น ระลึกย้อนกลับได้ว่าตนเองได้ทำอะไรลงไปบ้าง  ผิดถูกอย่างไร สำคัญตนผิดอย่างไร และได้พูดวาจาไม่สมควรอย่างไรออกมาบ้าง  เมื่อหลวงตาพวงได้สติสำนึกแล้ว ก็ได้เข้าพบท่านเจ้าคุณพระราชสุทธาจารย์ และเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ท่านทราบ  ท่านก็ได้ช่วยแนะนำและเตือนสติเพิ่มเติมอีก  ทำให้หลวงตาพวงได้สติคืนมาอย่างสมบูรณ์และบังเกิดความละอายใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากได้พักผ่อนเป็นเวลาพอสมควรแล้ว  ก็ย้อนกลับมากราบขอขมาหลวงปู่  กราบเรียนว่าท่านจำคำพูดและการกระทำทุกอย่างได้หมด  และรู้สึกละอายใจมากที่ตนทำอย่างนั้น หลวงปู่ได้แนะทางปฏิบัติให้ และบอกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ว่าถึงประโยชน์ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน มีส่วนดีอยู่เหมือนกัน คือจะได้เป็นบรรทัดฐาน เป็นเครื่องนำสติมิให้ตกอยู่สภาวะนี้อีก  เป็นแนวทางตรงที่จะได้นำมาประกอบการปฏิบัติให้ดำเนินไปอย่างมั่นคงในแนวทางตรงต่อไป”


กุศโลบายสอนนักเลง

ตามปกติคนทั่วไปมักจะมองพระธุดงค์ว่าเป็นผู้ที่มีวิชาอาคม  หรือว่ามีของดีเอาไว้ป้องกันตัว จึงทำให้สามารถท่องเที่ยวไปตามป่าเขาลำเนาไพร  หรือป่าลึกที่มีแต่อันตรายได้โดยปลอดภัย

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระอาจารย์ดูลย์เดินทางกลับจาก จ.อุบลราชธานี  มา จ.สุรินทร์ เพื่อโปรดญาติโยม  และพำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ดนั้น  มีนักเลงอันธพาลผู้หนึ่ง มีความโหดร้ายระดับเสือเป็นที่กลัวเกรงแก่ประชาชนในละแวกนั้น  กลุ่มของชายผู้นี้ท่องเที่ยวหากินแถบชายแดนไทยและกัมพูชา  เมื่อทราบข่าวว่ามีพระธุดงค์เดินทางมาพำนักที่นี่  ด้วยความมั่นใจว่าพระองค์นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีวิชาด้านคาถาอาคมล้ำเลิศอย่างแน่นอน  จึงออกเดินทางพร้อมลูกน้อง ๔ คน พร้อมอาวุธครบมือ มุ่งหน้ามายังสถานที่ซึ่งพระอาจารย์ดูลย์พักอยู่  ด้วยต้องการเครื่องรางของขลังไว้ป้องกันตัว ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒ ทุ่ม นักเลงกลุ่มนั้นได้เข้ามาหาท่าน และแจ้งวัตถุประสงค์ให้ทราบ ดังที่ทราบแล้วว่า พระอาจารย์ดูลย์ท่านเป็นเลิศในการหาอุบายสอนคน เมื่อท่านทราบว่าวัตถุประสงค์แล้ว  จึงกล่าวกับนักเลงเหล่านั้นว่า ถ้าอยากได้อาคม ต้องมีพื้นฐานให้แน่นก่อน มิฉะนั้นแล้วอาคมอาจจะย้อนเป็นอันตรายแก่ผู้เรียน

พื้นฐานที่ท่านสอนนักเลงเหล่านั้นหาใช่ใดอื่น คือสมาธินั่นเอง โดยท่านได้ให้เหตุผลแก่พวกนักเลงไว้อย่างน่าสนใจว่า คาถาทุกคาถา หรือวิชาอาคมที่ประสงค์จะเรียนนั้น  จะต้องอาศัยพื้นฐานคือพลังจิต จิตเล่าจะมีพลังได้ก็ต้องมีสมาธิ สมาธินั้นจะเกิดขึ้นได้ก็แต่การนั่งภาวนา ทำใจให้สงบ วิชาที่ร่ำเรียนไปจึงจะบังเกิดผลศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีพิบัติภัยตามมา

ฝ่ายนักเลงเหล่านั้น เมื่อแลเห็นอากัปกิริยาอันสงบเย็น มั่นคง มิได้รู้สึกสะทกสะท้านต่อพวกเขา  ประกอบกับปฏิปทาอันงดงามของท่าน ก็เกิดความเลื่อมใสนับถือ จึงยินดีปฏิบัติตามที่พระอาจารย์ดูลย์แนะนำนักเลงเหล่านั้นพากันนั่งสมาธิด้วยความตั้งใจ  เพียงชั่วระยะเวลาไม่กี่นาที  จิตใจของเขาก็เข้าสูสมาธิ  และบังเกิดปีติอย่างแรงกล้า ท่านได้คอยแนะนำจนนักเลงพวกนั้นนั่งสมาธิไปถูกทาง  และนั่งอยู่กับท่านตลอดคืน อานุภาพแห่งศีลและสมาธิที่ได้รับการแนะนำจากท่าน ยังให้เกิดปัญญาแก่นักเลงกลุ่มนั้น  ทำให้จิตใจของเขารู้สึกอิ่มเอิบ เปี่ยมไปด้วยศรัทธา จึงเปลี่ยนใจไปจากการอยากได้วิชาอาคม เพราะซาบซึ้งในรสแห่งการปฏิบัตินั้น

ครั้นรุ่งเช้า ต่างก็พากันปฏิญาณตนว่าจะกลับตัวเป็นคนดี เลิกประพฤติในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น  แล้วกราบลาพระอาจารย์ดูลย์กลับบ้านเรือนของตนไป

พระมหาสมศักดิ์ (พระโพธินันทมุนี) สรงน้ำทำบุญ ปี ๒๕๐๘




อุบายสอนศิษย์

พระธุดงค์กับสัตว์ป่า มักจะหนีกันไม่พ้น พระธุดงค์มักจะต้องเผชิญกับสัตว์ป่าเสมอ ๆ  บางครั้งก็พบสัตว์ที่ไม่เป็นอันตราย  แต่บางครั้งก็แทบเอาชีวิตไม่รอด ในชีวิตการเดินธุดงค์ของพระอาจารย์ดูลย์  ท่านได้เผชิญกับสิงสาราสัตว์มาหลายครั้ง  แต่ท่านก็สามารถรอดพ้นจากการถูกสัตว์ป่าทำร้ายมาได้

พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้ให้เหตุผลว่า  ตามธรรมชาติของสัตว์ป่าแล้ว มักจะไม่ทำอันตรายผู้ที่ไม่ทำอันตรายแก่มัน  และมันจะเป็นฝ่ายวิ่งหนีเสมอ เพราะสัตว์เดรัจฉานนั้นย่อมมีความกลัวมนุษย์  มันจะตกใจแล้วรีบหลบหนีไปเมื่อได้พบเห็นมนุษย์  แต่เมื่อเห็นทีท่าว่ามันจะมาทำอันตราย  เราก็พยายามหลีกหนี ถ้าจำเป็นก็ขึ้นต้นไม้ใหญ่ ๆ สัตว์เหล่านั้นก็จะผ่านพ้นไปตามทางของมัน แต่ถ้าเราไม่เห็นมัน และมันกำลังตกมันหรือเป็นบ้า มันก็จะเอาความบ้ามาทำอันตรายเราได้  ถ้าสัตว์นั่นเป็นปกติธรรมดาแล้ว  มันก็ย่อมกลัวเราเช่นกัน ย่อมจะไปตามเรื่องของมัน จะไม่มีการเบียดเบียนกันเลย หลังจากท่านพระอาจารย์ดูลย์เดินธุดงค์ไปทางกัมพูชามาครั้งหนึ่งแล้วกับสามเณรโชติและสามเณรทอน  ท่านประสบเหตุร้ายถูกควายป่าขวิด แต่ก็ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใดในคราวนั้น

อีกคราวหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์พำนักอยู่ที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด  พอออกพรรษาแล้วท่านก็เดินธุดงค์ไปกัมพูชาอีกครั้ง  โดยครั้งนี้มีเด็กชายซอม ผู้มีกิตติศัพท์ว่ามีความดื้อดึงผิดปกติกว่าเด็กทั่วไปเป็นผู้ติดตาม ขณะที่เดินทางผ่านป่าโปร่งแห่งหนึ่ง ก็ต้องชะงักฝีเท้าลง เพราะปรากฏภาพที่น่าตื่นตระหนกสะท้านขวัญขึ้นที่ต้นไม้ใหญ่เบื้องหน้า  บนต้นไม้มีเสือตัวหนึ่งหมอบนิ่งอยู่บนกิ่งไม้  ต่ำลงมาที่คาคบไม้ไม่ห่างกันนักมีหมาป่าตัวหนึ่งอยู่สงบนิ่งนัยน์ตาจ้องเขม็งไปที่เสือ ครู่หนึ่งพระอาจารย์ดูลย์ก็ปลอบโยนเด็กชายซอมให้คลายจากความตื่นตกใจกลัว เพราะเมื่อสังเกตพิจารณาดูโดยละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด  ด้วยความสงสัยว่าเหตุใดสองสัตว์ร้ายนี้จึงมาอยู่ในที่เปลี่ยวด้วยกัน  และมีอาการนิ่งเงียบไม่ไหวติง แทนที่เจ้าสุนัขป่าจะวิ่งหนีและเจ้าเสือวิ่งไล่ตะครุบเพื่อเป็นภักษาหาร

ท่านจึงพาเด็กชายซอมเคลื่อนที่เข้าไปใกล้  แล้วชี้ให้เด็กชายซอมที่มีท่าทางดื้อดึงผิดปกติดูว่า เสือที่หมอบนิ่งบนกิ่งไม้นั้น มีท่าทางอกสั่นขวัญหาย มีขนยุ่งเหยิง หางหลุบซุกอยู่ที่ก้น แสดงว่ามันขวัญหนีดีฝ่อหมดแล้ว ไม่คิดจะทำอะไรใครอีกแล้ว ส่วนเจ้าหมาป่าที่อยู่คาคบข้างล่างนั้น สงบนิ่งอยู่ในท่ากระโจน ตาจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างไม่กระพริบ ส่วนคอของมันขัดอยู่กับง่ามกิ่งไม้ที่อยู่ถัดขึ้นไป ลักษณะของมันบอกให้รู้ว่าตายสนิท เมื่อพิจารณาดูพื้นดินโดยรอบแล้วก็สันนิษฐานได้ว่า

เมื่อคืนนี้ ขณะที่เจ้าเสือ ออกท่องเที่ยวหาอาหารอยู่ ก็ประจันหน้าเข้ากับฝูงสุนัขทันที  ฝูงสุนัขป่าที่ดุร้ายก็วิ่งไล่ล้อมขย้ำกัดอย่างชุลมุนวุ่นวาย  เจ้าเสือก็คงจะสู้สุดฤทธิ์ ระหว่างที่สู้พลางหนีพลางก็มาถึงต้นไม้พอดี  เสือก็กระโจนขึ้นไปหอบลิ้นห้อยอยู่บนนั้น ส่วนฝูงสุนัขป่าคงห้อมล้อมกันอยู่ใต้ต้นไม้  เห่ากรรโชกใส่ บางตัวก็กระโจนขึ้นบ้าง เจ้าตัวที่ตายอยู่บนคาคบไม้นั้น อาจจะเป็นจ่าฝูงก็ได้ เพราะดูท่าจะกระโจนได้สูงกว่าเพื่อน แต่เคราะห์ร้ายที่มันกระโจนพรวดเข้าไปในง่ามกิ่งไม้พอดีในจังหวะที่มันร่วงลงมา  ส่วนศีรษะจึงถูกง่ามกิ่งขัดเอาไว้  กระชากระดูกก้านคอให้หลุดจากกัน ทำให้ถึงแก่ความตายทันที โดยที่ตาทั้งคู่ที่ฉายแววดุร้ายกระหายเลือด ยังจ้องเป๋งอยู่ที่เสือตัวนั้นอย่างชนิดมุ่งร้ายหมายขวัญ ทำให้เจ้าเสือที่เข็ดเขี้ยวมาตั้งแต่เมื่อคืน  ไม่กล้าขยับเขยื้อนหลบหนีไปจากต้นไม้นั้นเพราะเกิดอาการขวัญกระเจิง เด็กชายซอมฟังอรรถาธิบายจากอาจารย์แล้วก็เข้าใจดี กลายเป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย และหัวเราะออกมาได้เมื่อเห็นท่าทางอันน่าขันของเสือ

พระอาจารย์ดูลย์ให้เด็กชายซอมหากิ่งไม้มาแหย่ดันให้หมาป่าหลุดจากง่ามกิ่งไม้ตกลงมายังพื้น  แล้วช่วยกันตะเพิดไล่เจ้าเสือให้หลบหนีไป  เมื่อเสือเห็นเจ้าหมาป่าหล่นไปกองอยู่ที่พื้นดิน  ไม่มาจ้องขมึงทึงจะกินเลือดกินเนื้ออยู่อีก  มันก็รีบกระโจนพรวดหลบลงไปอีกด้านหนึ่ง แล้วเผ่นหนีไปอย่างรวดเร็ว


ปริยัติกับปฏิบัติ

มักจะมีข้อโต้แย้งกันเสมอ ระหว่างการศึกษาจากตำรา (ปริยัติ) ฝ่ายหนึ่งกับการปฏิบัติแต่ไม่เน้นการศึกษาจากตำรา  อีกฝ่ายหนึ่ง ว่าแนวทางใดจะให้ผลดีกว่ากัน หรือตรงกว่ากัน  พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านเสนอแนะให้ดำเนินสายกลาง นั่นคือถ้าเน้นเพียงด้านใดด้านหนึ่ง และละเลยอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นการสุดโต่งไป

ท่านแนะนำแก่ผู้ที่มุ่งปฏิบัติธรรมว่า ให้ศึกษาพระวินัยให้เข้าใจ เพื่อที่จะปฏิบัติไม่ผิด แต่ในส่วนของพระธรรมนั้นให้ตั้งใจปฏิบัติเอา ศิษย์ของท่านคนหนึ่งคือหลวงตาแนน มาบวชเมื่อมีอายุมากแล้ว ท่านเป็นพระที่มีความตั้งใจดี ปฏิบัติกิจวัตรไม่ขาดตกบกพร่อง มีความต้องการที่จะจาริกธุดงค์ พระอาจารย์ดูลย์ก็อนุญาตให้ไปตามประสงค์ หลวงตาแนนเมื่อได้รับอนุญาตก็วิตกว่า ตนไม่รู้หนังสือ ไม่รู้ภาษาพูดจะปฏิบัติกับเขาได้อย่างไร

หลวงปู่จึงแนะนำด้วยเมตตาว่า

“การปฏิบัติไม่ได้เกี่ยวกับอักขระ พยัญชนะ หรือคำพูดอะไรหรอก ที่รู้ว่าตนไม่รู้ก็ดีแล้ว สำหรับวิธีปฏิบัตินั้น ในส่วนวินัยให้พยายามดูแบบเขา ดูแบบอย่างครูบาอาจารย์ผู้นำ อย่าทำให้ผิดแผกจากท่าน ในส่วนธรรมะนั้นให้ดูที่จิตของตัวเอง ปฏิบัติที่จิต เมื่อเข้าใจจิตแล้ว อย่างอื่นก็เข้าใจได้เอง”

ท่านให้ข้อสังเกตในการปฏิบัติธรรมไว้ว่า

“ผู้ที่ยังไม่รู้หัวข้อธรรมอะไรเลย เมื่อปฏิบัติอย่างจริงจัง มักจะได้ผลเร็ว เมื่อเขาปฏิบัติจนเข้าใจจิต หมดสงสัยเรื่องจิตแล้ว หันมาศึกษาตริตรองข้อธรรมในภายหลัง จึงจะรู้แจ้งแทงตลอด แตกฉานน่าอัศจรรย์
ส่วนผู้ที่ศึกษาเล่าเรียนมาก่อน แล้วจึงหันมาปฏิบัติต่อภายหลัง จิตจะสงบเป็นสมาธิยากกว่า เพราะชอบใช้วิตกวิจารมาก  เมื่อวิตกวิจารมาก วิจิกิจฉาก็มาก จึงยากที่จะประสบผลสำเร็จ”

ท่านให้ข้อแนะนำต่อไปอีกว่า "ผู้ที่ศึกษาทางปริยัติจนแตกฉานมาก่อนแล้ว เมื่อหันมามุ่งปฏิบัติอย่างจริงจัง จนถึงขั้นอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ผลสำเร็จก็จะยิ่งวิเศษขึ้นไปอีก  เพราะเป็นการเดินตามแนวทางปริยัติ ปฏิบัติ ย่อมแตกฉานทั้งอรรถะและพยัญชนะ ฉลาดในการชี้แจงแสดงธรรม”

ท่านให้ความสำคัญทั้งการศึกษาด้านปริยัติและปฏิบัติ  ว่าเป็นสิ่งจำเป็นและต้องไปด้วยกัน และกล่าวย้ำอีกว่า

“ผู้ใดหลงใหลในตำราและอาจารย์  ผู้นั้นไม่อาจพ้นทุกข์ได้ แต่ผู้จะพ้นทุกข์ได้ ต้องอาศัยตำราและอาจารย์เหมือนกัน”



๙. พระธุดงค์

ที่สัปปายะสำหรับพระธุดงค์ คือป่าเขาลำเนาไพรตลอดรวมไปถึงถ้ำต่างๆ ด้วย  พระธุดงค์จะไม่ยึดติดที่อยู่  ค่ำไหนก็นอนนั่น แต่ต้องกำหนดระยะทางเพื่อความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ เอาไว้ด้วย พระครูนันทปัญญาภรณ์ ศิษย์ใกล้ชิดของพระอาจารย์ดูลย์  ได้กล่าวถึงการเดินธุดงค์เอาไว้อย่างน่าฟังว่า ตามธรรมเนียมถือปฏิบัติในการเดินธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น  เมื่อเดินไปเรื่อย ๆ จนถึงหมู่บ้านใดหมู่บ้านหนึ่งในระยะเวลาบ่ายมากแล้ว  ถ้าขืนเดินทางต่อไปจะต้องค่ำมืดกลางทางแน่  พระธุดงค์ก็จะกำหนดเอาหมู่บ้านที่มาถึงเป็นที่เที่ยวภิกขาจารหาอาหารในเช้าวันรุ่งขึ้น

ครั้นในระยะห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๕๐๐ ช่วงคันธนู หรือ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ตามที่พระวินัยกำหนดแล้ว  ก็จะแสวงหาร่มไม้หรือสถานที่สมควรปักกลดกำหนดเป็นที่พำนักภาวนาในคืนนั้น พอรุ่งเช้าก็จะย้อนเข้าในหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต  ชาวบ้านที่รู้ข่าวตั้งแต่เมื่อวานก็นำอาหารมาใส่บาตรตามกำลังศรัทธาและกำลังความสามารถ  ครั้นกลับถึงที่พักก็ทำการพิจารณาฉันภัตตาหาร  เสร็จแล้วจึงเดินทางต่อไป  ยกเว้นแต่จะกำหนดสถานที่นั้นพักภาวนามากกว่า ๑ คืน  ก็จะอยู่บำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนั้นต่อไป  ชาวบ้านที่สนใจก็อาจจะติดตามมาฟังพระธรรมเทศนาและแนวทางปฏิบัติในตอนค่ำบ้าง ในตอนเช้าหลังการบิณฑบาตบ้าง  เมื่อเป็นเช่นนี้พระธุดงค์ก็จะถามชาวบ้านถึงเส้นทางที่จะเดินทางต่อไป  เพื่อจะได้สามารถกำหนดเส้นทางและกำหนดหมู่บ้านอันเป็นที่สมควรแก่การเที่ยวภิกขาจารในวันต่อ ๆ ไปได้ นี้เป็นการเดินธุดงค์ไปตามเส้นทางธรรมดาของพระธุดงค์แท้พระธุดงค์จริงตามแบบอย่างที่พระอาจารย์มั่น และสานุศิษย์ได้ถือปฏิบัติมา

สำหรับการปักกลดนั้น ในทางปฏิบัติก็ต้องเอามุ้งกลดแขวนไว้กับเส้นเชือกที่ผูกตรึงกับต้นไม้  ไม่ใช่ปักไว้กับพื้นดิน เพราะการขุดดินหรือทำให้ดินเสียปกติสภาพของมันไป  เป็นการอาบัติโทษอย่างหนึ่ง และจะไปเที่ยวปักกลดในหมู่บ้านใกล้ในสถานที่ราชการ  ใกล้เส้นทางคมนาคม เช่น ริมถนน ริมทางรถไฟหรือที่มีคนพลุกพล่านผ่านไปมาอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ผิดพระพุทธบัญญัติ ยกเว้นแต่ว่าถือวินัยอื่นบัญญัติอื่นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยังมีการเดินธุดงค์อีกแบบหนึ่งของธุดงค์กัมมัฏฐานแผนโบราณ เรียกได้ว่าเป็นการเดินธุดงค์ขั้นอุกฤษฏ์ของพระธุดงค์ที่ผ่านการฝึกฝนอบรมแล้ว การเดินธุดงค์แบบนี้คือ การเดินไปในป่าดงดิบในเส้นทางที่ไม่มีผู้คนไป หรือมีก็มีแต่น้อย และไม่ใช่เส้นทางสัญจรตามปกติ


ประสบการณ์เดินธุดงค์

พระธุดงค์ได้ชื่อว่าเป็นเลิศในการสังเกต ท่านจะรู้ว่า สถานที่ที่ท่านอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร  ไกลหรือใกล้หมู่บ้าน หรืออยู่ในป่าลึก เป็นต้น  ทั้งนี้อาศัยประสบการณ์ของพระแต่ละรูปเป็นสำคัญ สำหรับพระอาจารย์ดูลย์ถือได้ว่า ท่านเป็นผู้มีประสบการณ์ในการเดินธุดงค์และยอดเยี่ยมในเรื่องการสังเกตอีกท่านหนึ่ง ตามปกติหลังออกพรรษาแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์มักจะพาบรรดาคณะศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ไปทางแถบชายแดนไทย กัมพูชา บริเวณ จ.สุรินทร์นั่นเอง  เพราะเป็นสถานที่อันเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมเป็นยิ่งนัก

แต่บริเวณนี้ลำบากในเรื่องอาหารการขบฉัน อันเนื่องมาจากมีบ้านเรือนราษฎรอยู่น้อย บางครั้งต้องอดอาหารเป็นเวลาหลายวันกว่าจะหาหมู่บ้านเพื่อบิณฑบาตได้ แต่หามีใครปริปากบ่นไม่

ครั้งหนึ่ง พระอาจารย์ดูลย์พาศิษย์ของท่านออกเดินธุดงค์ ซึ่งการจาริกธุดงค์ในครั้งนั้นมีเด็กชายซอมติดตามไปด้วย  เผอิญครั้งนี้เกิดหลงป่า ทำให้อดอาหารไปตาม ๆ กัน  เหล่าศิษย์ทั้งหิวทั้งกลัว ส่วนพระอาจารย์ดูลย์ท่านเฉย ๆ มีเพียงท่าทางที่อิดโรยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไร้ร่องรอยบ้านเรือน ซ้ำสิ่งที่จะแทนอาหารได้ก็หาไม่พบเลย เด็กชายซอมแทบสิ้นหวัง  แต่เหมือนกับสวรรค์โปรด เมื่อได้ยินพระอาจารย์ดูลย์พูดขึ้นว่า

“ไม่ต้องกลัวแล้ว ได้กินข้าวแน่วันนี้”

ว่าแล้วพระอาจารย์ดูลย์ท่านก็เดินลิ่ว พาศิษย์บุกป่าฝ่าดงไปอย่างรวดเร็ว  แต่เดินไปเท่าไหร่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพบบ้านเรือนผู้คน มีแต่ป่าและป่าเหมือนเดิม เด็กชายซอมแทบหมดแรงเมื่อคิดว่าพระอาจารย์ดูลย์พูดให้กำลังใจเท่านั้น แต่ก็ทนฝืนเดินตามท่านต่อไป

จากนั้นไม่นานนักเมื่อเดินพ้นดงไม้แล้ว ภาพที่ปรากฏให้เห็นอยู่เบื้องหน้าคือกระท่อมมุงหลังคาด้วยหญ้าเก่า ๆ หลังหนึ่ง ความรู้สึกในเวลานั้น เด็กชายซอมมองเห็นว่ากระท่อมหลังนั้นงดงามกว่าปราสาทพระราชวังใด ๆ ที่เคยเห็นมา

“พระอาจารย์ดูลย์รู้ได้อย่างไรว่ามีบ้านอยู่ตรงนี้  ท่านจึงได้มั่นใจว่าวันนี้มีข้าวกินแน่  และนำลิ่วมาถูกทางเสียด้วย” เด็กชายซอมถามขึ้นด้วยความสงสัย  หลังจากที่พากันอิ่มหนำสำราญแล้ว

คำตอบที่ได้คือ ท่านเดินป่ามามาก ก็มีประสบการณ์รู้จักสังเกตสังกา และอนุมานเอาได้ ขอให้พยายามฝึกฝนต่อไป บ่มนิสัยให้รู้จักสังเกตให้มากขึ้น ๆ แล้วก็จะรู้เรื่อง


พระป่า พระเมือง

ผู้ที่เรียนเฉพาะปริยัติโดยไม่สนใจในการปฏิบัติเลยนั้น  บางครั้งเมื่อต้องอธิบายความหมายก็จะอธิบายเพียงตามตำราที่เรียนมาเท่านั้น  ออกนอกตำราแล้วไม่รู้เรื่อง  แต่ผู้ที่ทั้งปฏิบัติและทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนมาด้วยกัน  สามารถที่จะอธิบายความได้แจ้งตลอดทั้งสายทีเดียว

พระครูนันทปัญญาภรณ์ บันทึกเกี่ยวกับคำสนทนาของพระอาจารย์ดูลย์กับพระราชาคณะผู้เป็นพระเมือง เอาไว้เรื่องหนึ่งว่า หลวงปู่เสร็จจากศาสนกิจในพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวัง ก็กลับมาพักที่พระตำหนักทรงพรต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ครั้นพอหลวงปู่สรงน้ำเสร็จแล้ว ก็เอนกายพักผ่อนอยู่ ให้ภิกษุสามเณรบำเพ็ญอาจาริยวัตร ด้วยการนวดเฟ้นพัดวีต่าง ๆ

ครั้งนั้นพระราชาคณะรูปหนึ่งก็แวะเข้ามาเยี่ยม ขอโอกาสว่าให้หลวงปู่เอนกายพักผ่อนตามสบาย เพราะประสงค์เพียงแวะมาคุยอย่างกันเอง ในระหว่างการสนทนาด้วยเรื่องราวหลากหลายนั้น  ท่านเจ้าคุณเอ่ยขึ้นตอนหนึ่งว่า “เขาว่าคนสนใจเรียนคาถาอาคมอันศักดิ์สิทธิ์ สมัยก่อนเป็นยักษ์”

หลวงปู่ลุกขึ้นพรวดพราดกล่าวว่า  “ผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลยท่านเจ้าคุณ  ท่านเจ้าคุณเคยศึกษาถึงปัญจทวาราวัชชนจิตไหม”  พระราชาคณะรูปนั้นได้ยินว่าปัญจทวาราวัชชนจิตแล้วถึงกับอึ้ง ไม่คิดว่าจะมีคำถามสวนกลับมา พระอาจารย์ดูลย์กล่าวต่อไปว่า

“ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ คือกิริยาจิตที่แฝงอยู่กับทวารทั้ง ๕ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นกิริยาจิตที่ทำหน้าที่ประจำรูปกาย อาศัยอยู่ตามทวารทั้ง ๕ เป็นทางที่ติดต่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างจิตกับสิ่งภายนอกหรืออารมณ์ภายนอก  เป็นกิริยาจิตที่มีอยู่อย่างนั้น เป็นอยู่อย่างนั้น ห้ามไม่ได้ บังคับไม่ให้เป็นไปไม่ได้  แต่อาจเป็นพาหะให้ทุกข์เกิดได้  และที่น่าตื่นใจก็คือ ให้กิริยาจิตเหล่านี้เป็นไปโดยประการที่ทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้ก็ได้

อันนี้แหละที่น่าสนใจ น่าสำเหนียกศึกษาที่สุด ว่าทำอย่างไรเมื่อตาเห็นรูปแล้ว รู้ว่าสวยงามหรือน่ารังเกียจอย่างไร  แล้วก็หยุดเพียงเท่านี้ เมื่อหูได้ยินเสียงรู้ว่าไพเราะหรือน่ารำคาญแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อลิ้นได้ลิ้มรสรู้ว่าอร่อยหรือไม่อร่อย เปรี้ยวหวานมันเค็มอย่างไรแล้วก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อจมูกได้กลิ่นหอมหรือเหม็นอย่างไรแล้วก็หยุดเพียงเท่านี้  เมื่อกายสัมผัสโผฏฐัพพะรู้ว่าอ่อนแข็งอย่างไรแล้ว ก็หยุดเพียงเท่านี้  ครั้นเมื่อศึกษาถึงขั้นนี้แล้วก็จะปรากฏเหตุอันน่าอัศจรรย์ที่เรียกว่า หัสสิตุปปาทะ คือกิริยาที่จิตยิ้มขึ้นมาเองโดยไม่มีต้นสายปลายเหตุ  หาสาเหตุที่มาไม่ได้  อันหัสสิตุปปาทะหรือกิริยาที่จิตยิ้มเองนี่ ย่อมไม่มีปรากฏมีในสามัญชนโดยทั่วไป

ดังนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายควรกระทำไว้ในใจ ในอันที่จะสำเหนียกศึกษา  ทำความกระจ่างแจ้งในอเหตุกจิตอันนี้ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต้องเข้าใจให้ถ่องแท้ว่า เมื่อปฏิบัติไปถึงลำดับนี้แล้ว  จิตจะเกิดยิ้มขึ้นมาเอง ไม่มีการกระทำ ไม่มีการบังคับให้เกิดขึ้น ย่อมเป็นไปเองโดยไม่รู้ตัว

อนึ่ง เมื่อปฏิบัติตามหลัก “จิตเป็นจิต” อันมีการ “หยุดคิดหยุดนึก” เป็นลักษณะ  ถ้าใช้ปัญญาอันยิ่งสอดส่องสำรวจตรวจตราดูตามทวารทั้ง ๕ เหล่านี้เพื่อจะหาวิธีป้องกันการที่จิตจะแล่นไปหาเรื่องใส่ตัวในภายนอก  ก็จะเห็นและเข้าใจได้ว่าเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนเราจำเป็นจะต้องใช้ทวารทั้ง ๕ เหล่านั้น  กระทำการอันสัมพันธ์กับภายนอก

เมื่อพิจารณาให้ถ้วนถี่ยิ่งขึ้นก็จะได้อุบายอันแยบคาย  ว่าในขณะที่เกิดสัมพันธภาพกับภายนอก จิตก็ควรจะกำหนดให้อยู่ในจิต  เมื่อเห็นก็กำหนดให้รู้เท่าทันการเห็น แต่ไม่ถึงกับต้องรำพึงรำพันออกมาว่า เห็นแล้วนะ เห็นแล้วหนออะไรดอก  เพราะขณะจิตหนึ่ง ๆ นั้น  มันไม่กินเวลาอะไร ๆ เมื่อรู้เท่าทันแล้วก็ไม่ต้องไปรำพึงรำพันการปรุงแต่งเพิ่มเติมอีก

ในการกำหนดรู้ให้เท่าทันนั้น  อย่าได้ถูกลวงด้วยสัญญาแห่งภาษาคน ภาษาโลก  ดังเช่นการรู้เท่าทันคนที่จะมาหลอกลวงเรา เป็นต้น  การรู้เท่าทันอารมณ์ในภาษาธรรมนั้นหมายความว่า  ความรู้จะต้องทัน ๆ กันกับการรับอารมณ์ของทวารทั้ง ๕ เช่น ในขณะที่ตาเห็นรูป  จะต้องมีสติรู้อยู่อย่างเต็มที่สมบูรณ์ มีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเวลา  โดยไม่จำเป็นต้องรู้อะไร เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกข์อันอาศัยปัจจัยคือการเห็นเป็นต้นนั้น ย่อมไม่เกิด และเราก็จะสามารถมองอะไรได้อย่างอิสระเสรี  โดยที่รูปหรือสิ่งที่เรามองเห็น  ไม่อาจมีอิทธิพลอันใดเหนือเราได้เลยแม้แต่น้อย

ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือกิริยาจิตที่แล่นอยู่ตามทวารทั้ง ๕ ย่อมสัมพันธ์กันกับมโนทวาร  ในมโนทวารนั้นมีมโนทวารวัชชนจิต  อันเป็นกิริยาจิตที่แฝงอยู่ มีหน้าที่คิดนึกต่าง ๆ สนองตอบอารมณ์ที่มากระทบไปตามธรรมดา ดังนั้นในทางปฏิบัติจะให้หยุดคิดหยุดนึกทุกกรณีย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ด้วยการอาศัยอุบายวีดังกล่าวแล้วนี้แหละ  เมื่อจิตตริความนึกคิดอันใดออกมาทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว  ก็ทำความกำหนดรู้พร้อมในเท่าทันกัน  เช่นเดียวกันเมื่อความรู้พร้อมทัน ๆ กันกับอารมณ์ดังนี้แล้ว  ปัญญาที่รู้เท่าเอาทันย่อมตัดวัฏฏจักรให้ขาดออกจากกัน  ไม่อาจจะเกิดสืบเนื่องหมุนเวียนต่อไปได้  กล่าวคือการก่อรูปก่อร่างต่อไปของจิต ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ และความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็มีอยู่เองโดยไม่ต้องมีอาการลวง ๆ ว่า  ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรเลย ความไม่ยึดมั่นถือมั่นก็เป็นแต่เพียงชื่อที่เรานำมาใช้เรียกขานกันให้รู้เรื่อง เมื่อวัฏฏะมันขาดไปเท่านั้น

โดยนัยนี่จึงน่าจะศึกษาให้เข้าใจในอันที่จะกำหนดรู้อย่างไรจึงจะถูกต้อง  เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร  ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น อย่าไปทะเลาะวิวาท โต้แย้ง อย่าไปเอออวย เห็นดีเห็นงาม ให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวต่อไป  อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้ หยุดกันเพียงเท่านี้ นี่แหละ ทฤษฎีกับปฏิบัติ ต่างกันด้วยประการฉะนี้แล




พระปรมาจารย์

บรรดาพระนักปฏิบัติหรือพระป่า ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ พระอาจารย์ดูลย์กล่าวถึงท่านเหล่านั้นให้พระครูนันทปัญญาภรณ์  ศิษย์ใกล้ชิดของท่านฟังว่า

“ถ้าจะพูดในแง่ธุดงค์แล้ว ท่านอาจารย์ใหญ่ (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต) จะถือธุดงค์อย่างเคร่งครัดที่สุด ยืนยันได้เลยว่าลูกศิษย์ของท่านทั้งหมด ตั้งแต่รุ่นโน้นมาจนถึงรุ่นปัจจุบันนี้  ยังไม่มีผู้ใดถือได้เท่าเทียมกับท่านอาจารย์ใหญ่เลยแม้แต่องค์เดียว"

ท่านพระปรมาจารย์ หรือท่านอาจารย์ใหญ่ของพระอาจารย์ดูลย์นั้น จะไม่ยอมใช้ผ้าสบงจีวรสำเร็จรูป หรือคหบดีจีวรที่มีผู้ซื้อจากท้องตลาดมาถวาย  นอกจากได้ผ้ามาเองแล้วมาตัดเย็บย้อมเองทั้งหมดจึงใช้ และไม่เคยดำริหรือริเริ่มให้ใครคนใดคนหนึ่งสร้างวัดสร้างวาเลย  มีแต่สัญจรไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่าป่าตรงไหนเหมาะสมท่านก็อยู่  เริ่มด้วยการปักกลด แล้วทำที่สำหรับเดินจงกรม  ส่วนญาติโยมผู้มีศรัทธาเลื่อมใส  เมื่อมาพบและมองเห็นความเหมาะสมสำคัญก็จะสร้างกุฎิเล็กกุฎิน้อย สร้างศาลาชั่วคราวถวายท่าน  จากนั้นสถานที่นั้นก็กลายเป็นวัดป่า เจริญรุ่งเรืองต่อมา ยิ่งกว่านั้น แม้แต่การรับกฐินท่านก็ไม่เคย  สมัยต่อมานั่นไม่ทราบ และท่านไม่เคยถือเอาประโยชน์ที่ได้รับอานิสงส์พรรษาตามพระพุทธบัญญัติ  ที่อนุญาตให้แก่ภิกษุสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาตลอดสามเดือนได้รับการยกเว้น  บางอย่างในการปฏิบัติท่านจะถือสิกขาบทโดยตลอด ไม่เคยงดเว้น ถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎของธุดงควัตรโดยสม่ำเสมอ ด้านอาหารการฉันก็เช่นเดียวกัน ท่านถือการบิณฑบาตโปรดสัตว์เป็นประจำ ไม่เคยขาด

แม้จะเจ็บไข้ได้ป่วยแต่พอเดินได้ ท่านก็เดิน จนกระทั่งในที่สุดเมื่อเดินไปบิณฑบาตไม่ได้ ท่านก็จะยืนแล้วอุ้มบาตร  ศิษยานุศิษย์ที่กลับมาจากบิณฑบาตและญาติโยมก็มาใส่บาตรให้ท่าน  แล้วท่านก็จะขบฉันเฉพาะอาหารที่อยู่ในบาตรเท่านั้น

แม้เมื่อเวลาท่านชราภาพมากแล้ว  เวลาท่านเจ็บไข้หรือป่วยมากจนไม่อาจเดินออกนอกวัดได้ ก็ทราบว่าท่านเป็นอยู่อย่างนี้ และยังฉันอาหารมื้อเดียวตลอด แม้แต่หยูกยาคิลานเภสัชต่าง ๆ ที่ใช้ในยามเจ็บไข้  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็ไม่นิยมใช้ยาสำเร็จรูป หรือแม้แต่ยาตำราหลวง หากแต่พยายามใช้สมุนไพรตัวยาต่าง ๆ มาทำเอง ผสมเองเป็นประจำ

แม้แต่การเข้าไปพักก็นิยมพักวัดที่เป็นป่า  จำได้ว่าท่านไม่เคยเข้าไปอยู่ในวัดบ้านเลย แต่จะอยู่วัดที่เป็นป่าหรือชายป่า  เมื่อไม่มีวัดเช่นนี้อยู่ ท่านก็จะหลีกเร้นอยู่ตามชายป่า แม้ว่าจะมีความจำเป็นเวลาเดินทาง ก็ยากนักที่จะเข้าไปอาศัยวัดวาในบ้าน

ท่านอาจารย์ใหญ่สั่งสอนไว้ว่า

การฉันอาหารต้องฉันอย่าประหยัด มีสติสัมปชัญญะ เพื่อขัดเกลาจิตใจมิให้เกิดความโลภ

วิธีการฉันนั้น เมื่อรับข้าวสุกมากะว่าพออิ่มสำหรับตนแล้ว ให้แบ่งข้าวสุกที่ตนพออิ่มนั้นออกเป็น ๔ ส่วน เอาออกเสียส่วนหนึ่ง แล้วจึงรับเอากับข้าวมาในปริมาณที่เท่ากับส่วนหนึ่งที่เอาออกไป

กล่าวคือ ให้มีข้าว ๓ ส่วน กับข้าว ๑ ส่วน แล้วจึงลงมือฉัน ท่านอาจารย์ใหญ่เองก็จะฉันภัตตาหารในลักษณะเช่นนี้โดยตลอด  เมื่อมีผู้ใดจะตระเตรียมภัตตาหารในบาตรถวายท่าน  ท่านอาจารย์ใหญ่ก็จะแนะนำให้จัดแจงมาในลักษณะเช่นนี้ แล้วจึงฉัน

สำหรับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร นั้น พระอาจารย์ดูลย์กล่าวถึงว่า

“ท่านอาจารย์ฝั้นนั้น มีพลังจิตสูงมาก น่าอัศจรรย์ ในด้านการธุดงค์กัมมัฏฐานหรือการปฏิบัติของท่าน ท่านเป็นนักต่อสู้และเอาชีวิตเข้าแลกทีเดียวต่อการปฏิบัติ


ดังนั้นในระยะหลังจึงมีคนนับถือท่านมาก  มีผู้สนใจการปฏิบัติมาหาท่านมาก  เมื่อมีคนมาหาท่านมาก ท่านมีเมตตาต้องรับแขกมาก คนเหล่านั้นไม่รู้หรอกว่าได้ทำความลำบากแก่ขันธ์ของท่านเพียงไร


ตัวเรานี้ถ้ามีแขกมากหรือทำอะไรมาก ๆ อย่างท่านอาจารย์ฝั้นแล้ว  ก็จะไม่มีอายุยืนนานถึงขนาดนี้ดอก  แต่ก็เป็นธรรมดาสำหรับนักปฏิบัติระดับนี้  ที่จะต้องเอื้อเฟื้อต่อสรรพสัตว์ เพราะตนเองก็ไม่ห่วงสังขารอะไรอยู่แล้ว”

งานถวายเพลิงศพหลวงปูมั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
๑.หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ๒.หลวงปู่สาม อกิญฺจโน


๑๐. ปูชนียบุคคล

ตั้งแต่เข้าสู่ร่มเงาผ้ากาสาวพัตร์จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพนั้น  พระอาจารย์ดูลย์ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาอย่างสมบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด

พระอาจารย์ดูลย์มีวัตรปฏิปทาที่ถูกต้อง งดงาม มั่นคง ทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ กำลังความสามารถในการบริหารพระศาสนา ท่านมุ่งมั่นแต่ในทางพระศาสนา  แต่กิจวัตรส่วนตัวของท่าน ไม่เคยบกพร่องแต่ประการใดเลย เคยประพฤติปฏิบัติอย่างไร  ท่านก็คงยึดปฏิปทาปฏิบัติอยู่อย่างนั้นสม่ำเสมอ

ด้วยวัตรปฏิปทาของพระอาจาย์ดูลย์ดังกล่าว  ทำให้ท่านเป็นพระเถระที่มีผู้เคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก  ทั้งใน จ.สุรินทร์และจังหวัดที่อยู่ในภาคอีสาน  ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาทุกสาขาอาชีพอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ  จึงนับว่าท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากยิ่ง


นิสสัย ๔

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิต เรียกว่า นิสสัย มี ๔ อย่างได้แก่

๑. เพียรบิณฑบาต  ๒. นุ่งห่มผ้าบังสุกุล  ๓. อยู่โคนไม้  ๔. ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

พระอาจารย์ดูลย์ถือนิสสัยอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะการบิณฑบาตนั้น ท่านไม่เคยขาด แต่เมื่อท่านชราภาพลงมากแล้ว ทำให้การเดินบิณฑบาตทำได้ไม่สะดวก  ท่านจึงบิณฑบาตภายในวัด โดยให้พระเณรนำอาหารที่บิณฑบาตได้นำมาตักใส่บาตรของท่านที่ตั้งไว้หน้ากุฏิ

พระอาจารย์ดูลย์ไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับอาหาร ท่านไม่เคยวิจารณ์เกี่ยวกับรสชาติอาหารให้ผู้ใดฟังเลย  ได้มาอย่างไรก็ฉันไปอย่างนั้น จะประณีตหรือไม่ก็ตาม  เพราะท่านถือว่าอาหารบิณฑบาตเหล่านั้น  เขาถวายท่านด้วยศรัทธาและท่านเป็นศิษย์ตถาคต  อาศัยชาวบ้านเป็นอยู่ ต้องอยู่ง่ายกินง่าย ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน

ครั้งหนึ่ง พระครูนันทปัญญาภรณ์มีความคิดว่า พระและฆราวาสผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ  คงจะตัดความยินดีในรสอาหารและไม่ยินร้ายในรสอาหารได้  จึงได้เข้าไปหาพระอาจารย์ดูลย์ บอกถึงความคิดของตน และได้เรียนถามท่านว่า ผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  สามารถตัดความยินดีในรสอาหารได้จริงหรือไม่

พระอาจารย์ดูลย์ตอบว่า “เข้าใจถูกครึ่งหนึ่ง เข้าใจผิดครึ่งหนึ่ง แต่ก็เป็นการดีแล้วแล้วที่มาพบเพื่อพยายามทำความเข้าใจ  ที่ว่าเข้าใจถูกนั้นก็คือท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว  สามารถตัดความยินดีในรสอาหารได้จริง ที่ว่าผิดนั้นก็เพราะท่านมีความรู้สึกรับรู้รสของอาหารได้เป็นอย่างดี ดีผิดจากคนธรรมดาสามัญ  ทั้งนี้เนื่องจากธาตุขันธ์ของท่านบริสุทธิ์หมดจดแล้ว  ด้วยการชำระล้างแห่งธรรมอันยิ่ง  ประสาทรับรู้รสอันประกอบด้วยเส้นตั้งพัน ตามที่ปรากฏในพระธรรมบทขุททกนิกาย  ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่รับรู้รสของตน ๆ ได้อย่างอิสระเต็มที่เต็มทางตามความสามารถแห่งคุณสมบัติของตน  จึงรู้รสชาติต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนละเอียดลออ ไม่ขาดไปแม้แต่รสเดียวและแต่ละรสมีรสชาติขนาดไหนก็รู้สึกได้  เสียแต่ว่าไม่มีคำพูดหรือภาษาที่บัญญัติไว้ให้พออธิบายให้เข้าใจได้เท่านั้นเอง  ซึ่งด้วยภูมิธรรมของปุถุชนสามัญธรรมดา  หากสามารถรับรู้รสชาติเห็นปานนี้ได้  น่าที่จะต้องเกิดคลั่งไคล้ใหลหลงอย่างแน่นอน

ดังนั้น ไม่ว่าอาหารนั้นจะได้รับการปรุงแต่งให้มีรสชาติมากหรือรสชาติน้อยอย่างไร  รสชาติบรรดาที่มีอยู่ในตัวอาหารนั้น ๆ  ท่านที่ปฏิบัติชอบแล้วก็สามารถรับรู้ได้จนครบถ้วนทุกรส  แต่เมื่อรับรู้แล้วก็หมดกันแค่นั้น ไม่เกิดความยินดีพอใจสืบเนื่องต่อไป”



จริยาวัตร

ตั้งแต่หนุ่มจนกระทั่งท่านชราภาพ  กิจทุกอย่างท่านมักจะทำด้วยตัวท่านเอง  ไม่ชอบที่จะให้คนมารับใช้หรือเอาใจท่านมากนัก  พระครูนันทปัญญาภรณ์ได้สรุปจริยาวัตรของพระอาจารย์ดูลย์ในเรื่องนี้ไว้เป็นบันทึกของท่านว่า

“ประการแรกหลวงปู่ท่านเป็นคนที่ไม่มีมายา ไม่มีการวางมาด นั่งอย่างนั้น ยืนอย่างนี้ พูดอย่างนี้ เดินอย่างนั้น อะไรทำนองที่ทึกทักเอาด้วยตนเองว่า  ทำให้เกิดความภูมิฐาน น่าเลื่อมใส นับถือ หรือยำเกรงบุญญาธิการ เวลาจะพูดก็ไม่ทำสุ้มเสียงให้ห้าวกระหึ่มผิดปกติให้น่าเกรงขาม ทำตนเป็นคนที่ใคร ๆ เอาใจยากหน่อย ไม่งั้นมันจะดูเป็นคนธรรมดาสามัญจนเกินไป  ท่านจะทำอะไรก็ทำโดยกิริยา พูดโดยกิริยา ไม่ทำให้ใครลำบากโดยใช่เหตุ ไม่พูดให้ใครอึดอัดใจ เพียงเพื่อจะสนองตัณหา หรือปมด้อย หรืออัสมิมานะ (การถือเขาถือเรา) อะไรบางอย่าง

ประการที่สองหลวงปู่ท่านเป็นคนเข้มแข็ง  คนที่เข้มแข็งย่อมไม่นิยมการพึ่งพาผู้อื่นเป็นธรรมดา โดยเฉพาะในกิจที่เล็ก ๆ น้อย ๆ คนอ่อนแอเท่านั้นที่คอยแต่จะอาศัยผู้อื่นโดยไม่จำเป็น เด็กที่อ่อนแอย่อมคอยแต่จะออดอ้อนมารดา  โยกเยกโยเยด้วยอาการต่าง ๆ เป็นอาจิณ  ผู้ใหญ่ที่อ่อนแอก็ฉันนั้น อยู่ก็ยาก กินก็ลำบาก งอแง หงุดหงิด เจ้าโทสะ ต้องมีคนคอยเอาอกเอาใจอยู่ตลอดเวลาเหมือนเด็กอ่อนที่ขี้โรค

แต่หลวงปู่ท่านเป็นคนที่หาความอ่อนแอไม่พบ  เป็นผู้ที่มีความสง่าผ่าเผยโดยไม่ต้องวางมาด ทุกอิริยาบถของท่าน อวัยวะทุกส่วนเคลื่อนไหวตัวเองตามหน้าที่อย่างอิสระ  ปราศจากการควบคุมบรรจงจัดให้น่าประทับใจแต่อย่างใดไม่เคยนั่งตัวงอ  หรือเอนกายในที่สาธารณสถาน ไม่เอนกายเอกเขนก หรือนอนรับคารวะจากสหธรรมิก แม้สามเณรที่เพิ่งบวชในวันนั้น

บางครั้งเราจะเห็นภาพที่ผู้มองอดขำเสียมิได้ คือเมื่อท่านมีอายุมากกว่า ๙๐ ปีแล้ว ญาติโยมก็มีจิตศรัทธาซื้อหาไม้เท้ามาถวายให้ท่านได้ใช้เป็นเครื่องพยุงกาย  ท่านก็ฉลองศรัทธาญาติโยมด้วยการนำไม้เท้านั้นติดตัวไปไหนมาไหนด้วย  แต่กลับไม่ค่อยได้ใช้ไม้เท้าค้ำยันกายเลย

จึงเกิดภาพที่น่าขันที่เห็นท่านนำไม้เท้าไปในลักษณะที่ถือไปทุกครั้ง  ทำให้มองดูกลับกลายเป็นว่า  หลวงปู่ไม่ได้พึ่งพาอาศัยไม้เท้านั้น แต่ไม้เท้านั้นกลับต้องพึ่งพาให้หลวงปู่พาไป


ผู้ไม่หวั่นไหว

ปฏิปทาที่น่าเลื่อมใสของพระอาจารย์ดูลย์อีกข้อหนึ่งนั้นคือ  ความเป็นผู้เยือกเย็น ไม่หวั่นไหว คงเพราะท่านได้จากการออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมนั่นเอง

มีเรื่องเล่าถึงปฏิปทาของพระอาจารย์ดูลย์โดยศิษย์ของท่านในเรื่องนี้ไว้ว่า

“ครั้งนั้น ๔๐ ปีกว่าล่วงมาแล้ว เกิดมหันตภัยรายแรงที่สุดที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์เมืองสุรินทร์  คือเกิดเหตุการณ์อีคคีภัยครั้งใหญ่ในตลาดจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านชาวเมืองเรียกไฟไหม้ครั้งนั้นว่า “ไฟบรรลัยกัลป์” เพราะเป็นการลุกไหม้เผาผลาญอย่างวินาศสันตะโรจริง ๆ

ไฟเริ่มไหม้ที่ใจกลางเมืองพอดี  แล้วลุกลามขยายออกไปเป็นวงกลมรอบทิศ  หน่วยดับเพลิงต่างสิ้นหวังและหมดปัญญาจะสกัดไฟได้  สามารถป้องกันได้เพียงบางจุดเท่านั้น ในส่วนอื่น ๆ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม  เป็นที่แน่ชัดว่าแทบทั้งเมืองจะต้องราพณาสูญไปด้วยฤทธิ์พระเพลิงอย่างไม่ต้องสงสัย

ทั้งในวัดและบริเวณใกล้เคียงนั้น  เกิดความโกลาหลทั่วไปหมด ชาวบ้านวิ่งกันสับสนอลหม่าน คนจำนวนมากวิ่งหนีเข้ามาหวังจะพึ่งวัด หอบลูกจูงหลานแบกข้าวของกันอึงคะนึง  พระเณรชีต่างก็อกสั่นขวัญหนี  เพราะทั้งกุฏิเสนาสนะต่าง ๆ ในวัดและอาคารบ้านเรือนรอบ ๆ วัดล้วนเป็นไม้เก่าแก่  นับว่าเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ต่างไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะไฟแลบลุกไหม้เข้ามา  และจะต้องเข้าถึงวัดอย่างไม่ต้องสงสัย ความสับสนอลหม่านในวัดได้เกิดขึ้น  จนไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ทั้งชาวบ้านที่วิ่งชนพระเณรชี และวิ่งชนข้าวของกันดูชุลมุนวุ่นวายไปหมด

พระเณรจำนวนหนึ่งกรูกันขึ้นไปบนกุฏิหลวงปู่  เห็นท่านนั่งจิบน้ำชาอยู่ด้วยสีหน้าปกติ  ต่างก็ลนลานขอโอกาสท่านเพื่อขนของหนีไฟ  หลวงปู่ห้ามว่า “ไม่จำเป็น” ไฟโหมลุกไหม้ใกล้วัดเข้ามาทุกที  และอีกไม่กี่คูหาก็จะถึงวัดแล้ว  พระเณรกรูกันลงมาจากกุฏิหลวงปู่ วิ่งไปด้านหลังมณฑปหลวงพ่อพระชีว์  เห็นเปลวไฟลามใกล้เข้ามาจะถึงวัดแล้ว  จึงพากันวิ่งกรูขึ้นไปบนกุฏิหลวงพ่อเพื่อช่วยกันขนย้ายอีก  หลวงปู่ยังนั่งอยู่ที่เดิมแล้วห้ามไว้ด้วยอาการสงบเย็นว่า “ไม่จำเป็น”

ทันใดนั้นขณะไฟลุกลามมาติดเขตวัด  สุดยอดแห่งความบังเอิญที่เกิดขึ้น เกิดมีลมกรรโชกขึ้นมาอย่างแรง  พัดกระพือจากทิศตะวันออกอันเป็นเขตวัดตลบกลับไปทางทิศตะวันตกอันเป็นเขตภายนอกวัด  พัดเปลวไฟกลับไปสู่บริเวณที่ลุกไหม้อยู่ก่อน จนกระทั่งมอดไหม้สงบไปในที่สุด  มหันตภัยครั้งนั้นก็สิ้นสุดลงด้วยความสูญเสียครั้งร้ายแรงของชาวบ้านร้านตลาดในจังหวัดสุรินทร์ ทุกคนภายในวัดต่างก็เหนื่อยอ่อนกันถ้วนทั่ว”



บริสุทธิ์ทั้งกายวาจาใจ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนพระสงฆ์สาวกของพระองค์ว่า  ควรจะพูดถ้อยคำที่ประกอบด้วยองค์ ๔ คือ เป็นเรื่องจริง มีประโยชน์ ผู้ฟังพอใจ และถูกต้องเหมาะกับเวลา และสถานที่ จะขาดองค์หนึ่งองค์ใดไม่ได้

พระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้ที่มีความสะอาดทั้งกาย ทั้งวาจา ทั้งใจ ท่านรักษาความสะอาดของร่างกายเป็นอย่างดี  เครื่องนุ่มห่มสะอาดสะอ้าน เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย พอเช้าขึ้นก็ต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยตามแบบพระกัมมัฏฐาน

ท่านสอนศิษย์อยู่เสมอว่า “เมื่อฝึกให้เคยชินการรักษาความสะอาดและทนความสกปรกไม่ได้เป็นนิสัยแล้ว  นิสัยนี้จะแฝงฝังอยู่ในใจ เมื่อใดเกิดกิเลสตัณหาอันเป็นความสกปรกทางใจเกิดขึ้น  มันก็จะดำรงอยู่ได้ไม่นาน  เพราะใจจะทนไม่ได้ไปเอง อดที่จะกำจัดขัดเกลาทิ้งเสียไม่ได้”

ในเรื่องของวาจานั้น ท่านเป็นคนพูดน้อย แต่คำพูดเหล่านั้นมักจะรวบรัดหมดจดชัดเจน  แต่ก็มีความหมายลึกซึ้ง เป็นถ้อยคำที่ไม่ผิดพลาดจากความเป็นจริง ถูกกาลเทศะ ตรงต่อพระธรรมวินัย ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน และผู้อื่นทั้งโดยเจตนาหรือไม่เจตนา พูดตามความจำเป็นตามเหตุการณ์คำพูดแต่ละคำของท่านนั้น  ไม่มีมายาเจือปนแม้แต่น้อย ไม่พูดพร่ำเพรื่อเพ้อเจ้อ ไม่พูดตลกคะนอง  ไม่พูดหรือปลอบโยนเอาอกเอาใจ หรือพูดจากเพื่อเลียบเคียงหวังประโยชน์แต่ประการใด

เมื่อมีเหตุการณ์อะไรไม่สมควรที่ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติ  ท่านจะพูดเพียงครั้งเดียวแล้วก็หยุด  ไม่พูดพร่ำเพรื่อ หรือเมื่อจำเป็นต้องปรามให้หยุดการกระทำนั้น ก็จะปรามครั้งเดียวไม่มีอะไรต่อ  คือจะมีอะไรที่แรงออกมาค่ำหนึ่งแล้วท่านก็สงบระงับไปอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อมีอะไรที่น่าพอใจ น่าขัน ก็จะหัวเราะออกมาในวาระแรกแล้ว ต่อไปก็ยิ้มๆ และเป็นยิ้มที่สะอาดหมดจด เป็นปกติ จริงใจ บุคลิกที่มีประจำตัวอีกอย่างของพระอาจารย์ดูลย์ประการหนึ่ง ก็คือเมื่อเวลาสนทนากัน ท่าจะไม่มองหน้าใครตรง ๆ จะมองเพียงครั้งแรกที่พบ  จากนั้นท่านก็จะทอดสายตาลงต่ำ นาน ๆ ครั้งจึงจะหันหรือเงยหน้าขึ้นมองบ้างเมื่อจำเป็น  แม้แต่เมื่อพูดกับสมณะด้วยกัน ท่านก็ปฏิบัติเช่นนี้

ด้านจิตใจของท่านนั้น นับว่าเป็นแบบฉบับของบุคคลที่เขาเรียกกันว่า เป็นผู้มีจิตใจสะอาด บริสุทธิ์ เป็นผู้ใหญ่ที่ควรเคารพบูชาอย่างแท้จริง ไม่มีเล่นแง่แสนงอน หรือเอาเหลี่ยมเอาเชิงกับใคร  ท่านไม่มีทิฏฐิมานะถือว่าตนเองเป็นใหญ่กว่า  ผู้น้อยจะมาล้ำหน้าก้ำเกินไม่ได้ แม้จะไม่เจตนาก็ตาม ท่านไม่เคยมีจิตใจถือโทษเลย




ปราศจากทิฏฐิมานะ

ดังกล่าวแล้วว่า พระอาจารย์ดูลย์ท่านเป็นผู้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งกาย ทั้งวาจา และใจ ท่านมีจิตใจที่ปราศจากทิฏฐิมานะ และเปี่ยมไปด้วยเมตตาอย่างยิ่ง

ลูกศิษย์ของพระอาจารย์ดูลย์ผู้หนึ่งได้เล่าเอาไว้ว่า

“ครั้งหนึ่ง เมื่อใกล้เทศกาลเข้าพรรษาในปีหนึ่ง ที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์ ที่อยู่ชานเมืองจังหวัดสุรินทร์  มีการบวชนาคหลายรูปด้วยกัน บิดามารดาและญาติมิตรสหายของนาคทั้งหลายก็มาชุมนุมทำพิธีสมโภชนาคพร้อมกัน  กำหนดการว่ารุ่งเช้าก็จะแห่นาคมาบวชที่วัดบูรพารามพร้อมกัน  โดยได้เผดียงหลวงปู่เป็นพระอุปัชฌาย์ไว้เป็นที่เรียบร้อยล่วงหน้า

พอดีในคืนที่กำลังทำพิธีโภชนาคนั่นเอง  ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ (โชติ คุณสมฺปนฺโน) เดินทางมาจากวัดวชิราลงกรณ์ นครราชสีมา ผู้ปกครองนาคคนหนึ่ง เป็นผู้มีความเลื่อมใสเคารพนับถือในตัวหลวงปู่โชติมาก  มีความดีอกดีใจ จึงขอแยกนาคที่เป็นบุตรชายของตนออกมาทำพิธีบวชต่างหาก โดยอาราธนาหลวงปู่โชติเป็นพระอุปัชฌาย์  แม้จะถูกขอร้องและทัดทานจากนาคอื่นว่าไม่ควรทำเช่นนั้น  เพราะได้กราบอาราธนานิมนต์พระอาจารย์ดูลย์เป็นอุปัชฌาย์แล้ว  แต่ทางฝ่ายนาคคนนั้นไม่ฟัง

พอรุ่งเช้า ขบวนแห่นาคก็พากันยกมาถึงวัดบูรพารามโดยพร้อมเพรียงกัน  นาคทุกคนยกเว้นนาคผู้นั้นก็พากันไปทำพิธีบวชในพระอุโบสถ ครั้นหลวงปู่ทำพิธีบวชให้เรียบร้อยแล้ว ก็พากันออกจากโบสถ์ บิดามารดาของนาคที่แยกตัวออกมาก็อาราธนาเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์ให้ทำพิธีบวชให้บุตรของตนแต่ผู้เดียว  ท่านก็ไม่ขัดข้อง แต่ปรากฏกว่านาคผู้นั้นซึ่งเคยซ้อมขานนาคมาด้วยกัน ๔ คน  เมื่อมาขานนาคเดี่ยวเข้าก็ไม่คล่องแคล่ว  เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ท่านเจ้าคุณพระเทพสุทธาจารย์จึงไม่บวชให้  ทั้งนาคและบิดามารดาญาติมิตรสหายต่างก็พากันลากลับไปด้วยความผิดหวัง

ในวันรุ่งขึ้น คณะของนาคคนนั้นก็ยกขบวนมาวัดบูรพารามอีกครั้ง  เพื่อมาขอบวช โดยอาราธนาพระอาจารย์ดูลย์ให้เป็นอุปัชฌาย์ ท่านพระมหาสมศักดิ์ (พระครูนันทปัญญาภรณ์)  ได้กราบเรียนพระอาจารย์ดูลย์ว่า “หลวงปู่ครับ นาคองค์นี้แหละที่ไม่ยอมบวชกับหลวงปู่เมื่อวานนี้  เขานิมนต์ท่านเจ้าคุณโชติให้บวชให้ต่างหากเป็นพิเศษ  เมื่อเขามานิมนต์ให้บวชให้อีกในวันนี้  หลวงปู่จะต้องลงโบสถ์ไปบวชให้เขาทำไม ให้เขาไปบวชที่โคราชไม่ดีหรือ”

ท่านตอบว่า “เมื่อเขาอยากบวชก็บวชได้ เมื่อเขาไม่บวชก็เป็นเรื่องของเขา เมื่อวานเขาไม่พร้อม วันนี้เขาพร้อม มีหน้าที่บวชให้เขาก็บวชก็เขาไป”


พลังจิต

ถ้าสังเกตดูจะพบว่า พระอาจารย์ดูลย์ท่านจะไม่พูดถึงอภินิหาร หรือผีสางเทวดาเลย ท่านจะพูดก็แต่ธรรมะเพียงประการเดียว  มีคนชอบถามท่านเกี่ยวกับเรื่องอิทธิฤทธิ์บ้าง  หรือจิตที่มีฤทธิ์มีพลังอย่างใดอย่างหนึ่งบ้าง  แต่เนื่องจากท่านไม่สนใจในเรื่องมหัศจรรย์ท่านจึงไม่นิยมพูดให้ใครฟัง  สำหรับเรื่องจิตนั้นท่านพูด คือท่านพูดเรื่องจิต ท่านไม่ค่อยใช้คำว่าอิทธิฤทธิ์ โดยมากท่านจะพูดว่าพลังจิตนั้นมีอยู่

พระอาจารย์ดูลย์ได้กล่าวถึงพลังจิตว่า พลังจิตที่เกิดจากสมาธิถูกต้องนั้น คือ เมื่อมีสมาธิเกิดขึ้นแล้วก็อาศัยพลังแห่งจิต  เพราะสมาธินั้นเกิดจากจิตรวมคือมันละอารมณ์ต่าง ๆ เมื่อมันไปแบกเอาอารมณ์ต่าง ๆ ไว้มาก  จิตมันก็ไม่มีกำลัง ไม่มีพลังอะไร ต่อเมื่อจิตสามารถตัดอารมณ์ต่าง ๆ ได้  ก็เกิดสมาธิ ก็ใช้คำว่า จิตเดียวที่ปราศจากอารมณ์มากเกินไป จิตก็จะเกิดมีพลังขึ้นมา

ระหว่างที่จิตเราเกิดมีพลังสมาธินี่แหละ บุคคลจะเอาไปใช้ทางไหนก็ได้ผลในทางนั้น แต่เมื่อใช้ในทางที่เสียหาย มันก็ทำให้เสียหายได้ หรือใช้ไปทางที่ให้ประโยชน์ให้เกิดพลังปัญญาก็ได้  หมายความว่าอย่างที่พูดในหลักวิชาการเรียนทางศาสนาว่า ศีล สมาธิ ปัญญา  ที่ว่าศีลทำให้เกิดการอบรมสมาธิ  สมาธิอบรมปัญญา  ฉะนั้นพลังจิตที่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงหลังเกิดสมาธินั้น หมายถึงว่า จิตนั้นยกสภาวธรรมขึ้นมาไตร่ตรอง  ให้เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดปัญญาแล้ว ปัญญานั้นก็จะแจ่มแจ้งดีกว่าจิตที่ไม่เกิดสมาธิหรือจิตที่ไม่มีสมาธิ  โดยกล่าวว่าพลังจิตนั้นสามารถยกระดับภาวะ  หรือป้องกันความทุกข์ยากอันเนื่องจากการที่จิตส่งออกไปเพื่อรับอารมณ์ต่าง ๆ ได้  ท่านยอมรับว่าจิตนั้นย่อมเป็นจิตที่มีพลัง เมื่อจิตมีพลังแล้วมันก็จะเป็นคุณประโยชน์ได้หลายอย่าง  แต่ท่านก็จะขึ้นต้นว่าจิตจะมีพลังได้นั้นก็ต่อเมื่อมีสมาธิ  หรือเกิดสมาธิ จิตมีอารมณ์เดียว จิตจึงจะมีพลัง  เมื่อจิตมีพลังแล้วจะหันไปใช้ทางไหนก็ย่อมได้  แม้หันไปทางที่ผิดทางของพระพุทธศาสนาก็ย่อมจะได้  ล้วนแต่เป็นสมาธิซึ่งนับว่าเป็นมิจฉาสมาธิได้

ส่วนสัมมาสมาธินั้น  หมายถึงจิตที่เป็นสมาธิตามลำดับ ตั้งแต่ขั้นต้น คือ ขณิกสมาธิ  จนกระทั่งเข้าสู่ อัปปนาสมาธิ อะไรในกระแสนี้  แล้วจิตนั้นก็จะเป็นพลังส่องทางไปให้เกิดปัญญา  ถ้าอาศัยพลังจิตไปในเรื่องอื่น เรื่องอิทธิฤทธิ์อะไรนั้นไม่ถูกต้อง  หรือไม่ถูกพุทธประสงค์ทั้งหมด แต่ถ้าใช้พลังจิตนั้นเพื่อเป็นเหตุให้ปัญญาผุดผ่องขึ้น  เพื่อจะตัดกิเลสปัญหาและความชั่วร้ายต่าง ๆ เพื่อยกระดับจิตของเราให้พ้นทุกข์  จึงจะเป็นพลังจิตที่เป็นสัมมาทิฏฐิ  และเป็นทางที่ถูกต้อง ท่านกล่าวอย่างนี้  ส่วนทางที่ว่าเอาพลังจิตไปแสดงอิทธิฤทธิ์ท่านไม่ค่อยกล่าวถึง  จะระมัดระวังในเรื่องการปฏิบัติให้เป็นไปในทางที่ดีที่ถูกต้อง


สิ่งพ้นวิสัย

พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เชื่อเรื่องกรรม ไม่มีใครหลุดพ้นจากกรรมไปได้ และไม่มีใครหรือสิ่งใดจะช่วยได้  แต่ชาวพุทธบางส่วนยังไม่วายที่จะหาสิ่งต่าง ๆ ไว้เป็นที่พึ่งของตน  แทนที่จะยึดพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งที่ระลึก  แล้วประพฤติตามคำสอนของพระพุทธองค์ คือพระธรรมที่พระสงฆ์อันเป็นเนื้อนาบุญของโลกนำมาสั่งสอน  เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้ที่เป็นที่พึ่งของคนกลุ่มนี้ก็คือพระไม่ว่าพระป่าหรือจะเป็นพระเมืองก็ตาม  จุดประสงค์ก็คือเครื่องรางของขลังที่พวกเขาคิดว่าจะคุ้มครองให้เขาอยู่รอดปลอดภัยได้

พระอาจารย์ดูลย์เป็นพระที่ไม่สนใจในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธ์ หรือสิ่งพ้นวิสัยหรือแม้กระทั่งในเรื่องของฤกษ์ยาม ท่านใส่ใจแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

เมื่อมีคนมาถามเรื่องฤกษ์เรื่องยาม ท่านจะบอกว่า วันไหนก็ได้ ถ้าคนที่จะทำมีความพร้อม ไม่ว่าจะขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน และงานมงคลอื่น ๆ ท่านว่ามันขึ้นอยู่กับคนทำ ไม่ใช่วันหรือเวลาแต่อย่างใด

ท่านเคยพูดในหมู่สงฆ์ว่า “ถ้ากาย วาจา และจิตใจดี อำนาจความดีงามก็จะเกิดขึ้นเอง”

ส่วนเรื่องการเจิมบ้าน เจิมรถนั้น มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอาจารย์ดูลย์ว่า  ครั้งหนึ่ง มีพระภิกษุนำรถของตนมาให้ท่านเจิม ท่านไม่ทำและดุเอาว่างมงาย  บางครั้งมีคนมาขอชานหมาก ท่านก็กล่าวว่าเอาไปทำไมของสกปรก  หรือถ้ามีคนมาขอให้ท่านเป่าหัวให้ ท่านก็ตอบว่า เป่าทำไม เดี๋ยวน้ำลายเลอะ เป็นต้น  ในระยะแรก ท่านไม่เคยทำเลย แต่เมื่อท่านมาพิจารณาดูแล้วก็เห็นว่า  เพื่อเป็นการสงเคราะห์ญาติโยมคือให้กำลังใจ ให้ญาติโยมเกิดความสบายใจ ท่านจึงทำให้

และในเรื่องวัตถุมงคล เมื่อมีคนถามว่า มีความศักดิ์สิทธิ์จริงหรือไม่  ท่านจึงได้สร้างหรืออนุญาตให้สร้างขึ้นมา

พระอาจารย์ดูลย์ตอบคำถามนี้ว่า

“พวกท่านทั้งหลายแสดงความสนใจในการบำเพ็ญภาวนา ก็พากันบำเพ็ญภาวนาไป ไม่ต้องไปห่วงไปสนใจกับวัตถุมงคลอันเป็นของภายนอกนี้  แต่สำหรับผู้ที่มีจิตใจเพลิดเพลินอยู่  ยังยินดีในการเกิดการตายในวัฏฏสงสาร  ยังไม่สามารถรับธรรมของพระพุทธองค์ได้  ยังไม่สามารถหันมาสู่การปฏิบัติธรรมได้ ก็ให้อาศัยวัตถุภายนอก  เช่นวัตถุมงคลเช่นนี้เป็นที่พึ่งไปก่อนเถิด  อย่าไปตำหนิติเตียนอะไรเลย  ครั้นเขาเหล่านั้นประสบเหตุเภทภัยมีภยันตรายแก่ตน  และเกิดแคล้วคลาดด้วยคุณแห่งพระรัตนตรัยก็ดี โดยบังเอิญก็ดี เขาก็จะบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ในภายหลัง ซึ่งก็จะเป็นเหตุให้เจริญงอกงามในทางที่ถูกต้องได้เอง”



๑๑. อาพาธ

ประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๘  พระอาจารย์ดูลย์อาพาธด้วยโรคตับอักเสบ  บางครั้งท่านปวดท้องอย่างรุนแรง  ฉันอาหารทีไรเป็นต้องอาเจียนออกมาเสียทุกครั้งไป  สร้างความวิตกให้แก่บรรดาเหล่าศิษย์เป็นอย่างมาก

ในการอาพาธครั้งนี้ ท่านไม่ได้แสดงท่าทีปริวิตกให้เห็นแต่ประการใด  สร้างความสบายใจให้แก่ผู้เฝ้าพยาบาลท่านเป็นยิ่งนัก  แม้ว่าบางครั้งอาการของท่านจะหนัก  ถ้าเป็นคนทั่วไปคงจะต้องร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด  แต่ท่านสามารถทนต่อเวทนานั้นได้อย่างยอดเยี่ยม  แม้ท่านจะแสดงอาการออกมาทางใบหน้า  แต่ก็เป็นอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าไม่สังเกตแทบไม่รู้ว่าท่านเจ็บปวดและต่อมาใบหน้าก็สงบนิ่งตามเดิม การอาพาธครั้งนี้ พระอาจารย์ดูลย์ได้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุรินทร์เป็นเวลา ๙ วัน ก็หายเป็นปกติ


อารมณ์ขัน

พระอาจารย์ดูลย์ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นพระเถระที่มีปฏิปทาสมบูรณ์ เป็นผู้สงบเสงี่ยม ทำทุกอย่างด้วยความสำรวมระวัง  เวลายิ้มท่านยิ้มน้อย ๆ ที่มุมปากเท่านั้น แต่มีเรื่องหนึ่งที่พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้หัวเราะอย่างเต็มที่  เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ท่านเข้าพำนักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสุรินทร์  ซึ่งพระครูปัญญาภรณ์ได้บันทึกเอาไว้ว่า มีอยู่ครั้งหนึ่ง และครั้งเดียวเท่านั้น ที่เคยเห็นหลวงปู่หัวเราะอย่างเต็มที่ และมีอาการสะกดกลั้นการหัวเราะนั้นเป็นระยะ  เพื่อให้ตนเองหยุดหัวเราะ จนกระทั่งหยุดหัวเราะไปในที่สุด

ความเป็นมาของเรื่องนี้มีอยู่ว่า

เมื่อนายแพทย์ใหญ่ตรวจอาการของอาจารย์อีกครั้งหนึ่ง  เห็นว่าเพื่อให้อาจารย์ทุเลาจากอาพาธโดยเร็วที่สุด  จึงเห็นสมควรที่จะนำท่านเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล จ.สุรินทร์  เพราะว่าที่นั่นมีอุปกรณ์การแพทย์เพียบพร้อม  และมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่ตลอดเวลา ทางคณะสงฆ์พิจารณาร่วมกัน  ก็เห็นควรอนุโลมให้เป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์  ดังนั้นในวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘  อาจารย์จึงเข้ารักษาอาการอาพาธที่โรงพยาบาลสุรินทร์

ข่าวคราวการเข้าโรงพยาบาลของอาจารย์แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว  การเยี่ยมเยียนก็ยิ่งทวีความคึกคักขึ้นอีก  ทั้งญาติโยมพุทธบริษัททั่วไป  ทั้งพระภิกษุสามเณร ตลอดจนคณาจารย์เจ้าสำนักต่าง ๆ ก็พากันมาเยี่ยมไปขาดระยะ บ่ายวันหนึ่ง พระอาจารย์รูปหนึ่งมากับญาติโยมสองสามคน

ครั้นกระทำสามีจิกรรมคือกราบนมัสการหลวงปู่แล้ว  พระอาจารย์รูปนั้นก็กรากเข้าไปชิดหลวงปู่  กรีดกรายฝ่ามือประคองต้นแขนหลวงปู่อย่างนุ่มนวลพลางพูดว่า

“หลวงพ่อ อย่าไปคิดอะไรมาก ปล่อยวาง ปล่อยวาง สังขารทั้งหลายมันไม่เที่ยงอย่างนี้แหละนะ หลวงพ่อนะ ปล่อยวาง ปล่อยวางนะหลวงพ่อ”

แล้วพระอาจารย์องค์นั้นยิ้ม ทำเอาหลวงปู่เกิดความขบขันเป็นอย่างมาก ท่านหัวเราะออกมาอย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วท่านก็พยายามสะกดกลั้นเป็นระยะ ๆ

ครู่หนึ่งอาการหัวเราะก็หยุดลง  วางสีหน้าเฉยเป็นปกติ แล้วเอ่ยวาจาขอบอกขอบใจพระอาจารย์รูปนั้นและญาติโยมที่อุตส่าห์มาเยี่ยม  และก็สนทนาธรรมดาอื่น ๆ ต่อไป  ด้วยอาการเรียบตามปกติของหลวงปู่


สิ่งที่ดีที่สุด

ครั้นอาการอาพาธทุเลาลง ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๘ ขณะที่เตรียมตัว ท่านได้แนะนำเรื่องความตายให้ศิษย์ของท่านไว้คิดว่า

“ถึงคราวตาย ต้องตายให้เป็น ต้องตัดสินใจว่า ถึงยังไงก็จะตายแน่แล้ว ไปวิตกทุกข์ร้อนหวั่นไหวก็ไม่มีประโยชน์ จากนั้นต้องสำรวมจิตใจให้สงบเป็นหนึ่ง แล้วก็หยุดเพ่ง ปล่อยวางทั้งหมดสุคติก็เป็นอันหวังได้แน่นอน ถ้ายังไม่ถึงที่สุดทุกข์ในตอนนั้น หากกำลังเพียงพอ ก็อาจหมดปัญหาไปเลย”

เมื่อพระอาจารย์ดูลย์กลับมาพำนักที่วัด จะมีผู้ที่เคารพนับถือทั้งพระและฆราวาสมาเยี่ยมท่านเป็นจำนวนมาก  ท่านได้พูดคุยกับเขาเหล่านั้นอย่างเป็นกันเองตามสมณวิสัยที่จะทำได้  บางครั้งก็สนทนาธรรมดา ตลอดจนเทศนาสั่งสอนไปด้วย เพื่อตอบแทนไมตรีจิตของเขาเหล่านั้น

ค่ำวันหนึ่ง ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์พักผ่อนเอนกายอยู่บนเก้าอี้  ศิษย์ผู้เฝ้าพยาบาลกำลังเช็ดตัวท่านด้วยน้ำอุ่น แล้วถวายการบีบนวดปรนนิบัติตามปกติ ญาติโยมกลุ่มหนึ่งที่มาภาวนาปฏิบัติธรรมที่ศาลาโรงธรรม ก็ขึ้นมากราบเยี่ยมพระอาจารย์ดูลย์ พร้อมกับนำน้ำปานะมาถวาย หลังจากถามไถ่อาการป่วยไข้ของท่านและสนทนาเรื่องราวต่าง ๆ พอสมควร  อุบาสกท่านหนึ่งก็นมัสการถามท่านถึงวิธีการเริ่มต้นในการบำเพ็ญภาวนา

“พวกกระผมถกเถียงกัน บางคนบอกว่าก่อนที่จะนั่งสมาธิภาวนา ต้องกล่าวคำแสดงตนถึงพระรัตนตรัยก่อน แล้วก็รับศีล จึงจะทำสมาธิให้บังเกิดผลได้ บางพวกบอกว่าไม่ต้อง สะดวกสบายตอนไหนก็นั่งกำหนดจิตได้เสมอ ขอฟังคำแนะนำจากหลวงปู่ครับ”

พระอาจารย์ดูลย์ได้ตอบว่า

“เราเคยบอกแล้วว่า ตราบใดที่มีลมหายใจก็ทำได้ และควรจะทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ต้องให้จิตอยู่ในจิต มีสติกำกับอยู่เสมอ ในการนั่งสมาธินั้น จะเริ่มต้นยังไงก็ตามแต่จะพอใจ ใครจะแสดงตนถึงพระรัตนตรัย สมาทานศีลก่อนก็ทำไป เพราะถึงอย่างไร มันก็เป็นเพียงแว่นดำที่คนตาบอดสวมใส่  ไม่ได้ช่วยให้มองเห็นอะไร เพียงแต่ช่วยให้คนอื่นดูดีขึ้นบ้างเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็ไม่รู้ไม่เห็นว่าจะดูดีขึ้นได้อย่างไร”


อาพาธหนัก

หลังจากอาพาธหนักมาแล้ว ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ แม้ต่อมาท่านจะมีอาการอาพาธขึ้นบ้างตามประสาของผู้ชราภาพ  แต่อาการก็ไม่หนักหนาสาหัสมากนัก  หลังจากนั้นอีก ๑๘ ปี เมื่อท่านเจริญขันธ์มาถึง ๙๕ ปี  จึงมีอาการผิดปกติด้านสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๒๖

อาการอาพาธครั้งนี้ เริ่มมีอาการปวดชาตั้งแต่บั้นเองลงไปถึงปลายเท้า เริ่มเป็นด้านซ้ายข้างเดียวก่อน  ต่อมาอาการอย่างนี้ก็ลามมาที่ขาข้างขวา รู้สึกเหมือนจะปวดหนักปวดเบาอยู่ตลอดเวลา  แต่เวลาถ่ายกลับถ่ายไม่ออก และมีอาการหนาว ๆ ร้อน ๆ และกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นท่านก็อดทนเป็นอย่างมาก  ท่านไม่เคยต้องการหมอ หรือไม่เคยพูดถึงโรงพยาบาลเลย ทุกครั้งที่จะต้องนำหมอมารักษา หรือพาท่านไปที่โรงพยาบาล จะต้องขอร้องทุกครั้ง อาการอาพาธของท่านทรงอยู่ตลอดวันและมีมากขึ้นในตอนกลางคืน  จนศิษย์ผู้ใกล้ชิดต้องนำส่งโรงพยาบาล  ในเวลา ๐๔.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น

เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์ได้ให้น้ำเกลือและสวนปัสสาวะออก  แต่อาการก็ยังไม่ทุเลาลง ถึงกระนั้นท่านก็รบเร้าขอให้พาออกจากโรงพยาบาล แม้ใครจะขอร้องอย่างไรท่านก็ไม่ยอม จึงต้องนำท่านกลับวัดตามความประสงค์ของท่านในวันนั้น แต่ด้วยอาการของพระอาจาย์ดูลย์ทรุดหนักขึ้นกว่าเดิม  คณะสงฆ์ที่เป็นศิษย์ของท่านตกลงกันที่จะนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ โดยออกเดินทางเวลา ๐๙.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ มกราคม ต้องใช้เวลาถึง ๙ ชั่วโมงกว่าที่รถพยาบาลจะไปถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทั้งที่ปกติรถวิ่งจากสุรินทร์ไปกรุงเทพนั้น  ใช้เวลาเพียง ๖ – ๗ ชั่วโมงเท่านั้น แต่เพราะกลัวว่าท่านกระทบกระเทือน รถพยาบาลจึงแล่นอย่างระมัดมะวัง ตลอดเวลาที่รถวิ่งนั้นพระอาจารย์ดูลย์นอนสงบอยู่ตลอดเวลา  ไม่ได้แสดงอาการเจ็บปวดออกมาแต่อย่างใด

ครั้นถึงเวลา ๑๗.๔๐ น. รถได้มาถึงโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต้องรีบนำพระอาจารย์ดูลย์เข้ารักษาที่ตึกฉุกเฉิน เนื่องจากเป็นวันเสาร์และนอกเวลาราชการ  ขณะนั้นอาการของท่านหนักมาก แถมยังลำบากต้องเดินทางไกล และยังต้องรอเวลาให้แพทย์ตรวจเป็นเวลานาน แพทย์สอบถามข้อมูลหลายอย่างและฉายเอ็กซเรย์ด้วย เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้พาหลวงปู่เข้าพักที่ห้องพิเศษตึกวชิราวุธ ชั้น ๒ หมายเลขห้อง ๒๒

เมื่อเข้าห้องพักได้ประมาณ ๒ ชั่วโมงกว่า คณะแพทย์ก็มาตรวจอาการแล้ว บอกว่ามีความจำเป็นต้องนำท่านไปเอ็กซเรย์อีก  แม้ท่านจะอ่อนเพลียมากก็ตาม  คณะแพทย์ทำการเอ็กซเรย์โดยใช้เวลากว่า ๒ ชั่วโมง  เนื่องจากเกิดปัญหาทางเครื่องฉายและฟิล์ม ต้องฉายหลายครั้งกว่าจะสำเร็จได้ ขณะที่นำท่านเข้าห้องเอ็กซเรย์นั้น เป็นเวลา ๕ ทุ่ม พระอาจารย์ดูลย์อยู่ในอาการสงบนิ่ง ไม่ไหวติง ต้องใส่ท่ออ๊อกซิเจนช่วยหายใจ  แม้พยาบาลจะฉีดยาหรือให้น้ำเกลือก็ทำไม่สะดวก  บางครั้งก็แทงเข็มไม่เข้า จนคณะแพทย์บอกว่าร่างกายของท่านไม่รับ  ซึ่งหมอเองก็ท้อใจ การทำงานของคณะแพทย์ใช้เวลาประมาณ ๕ ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ  แต่การวินิจฉัยในคืนนั้นไม่ได้รับผลอะไรเลย

ครั้นประมาณตีสาม ท่านได้พูดประโยคแรกนับจากออกจากวัดบูรพารามว่า “หมอตรวจเสร็จแล้วหรือ”  ซึ่งเหมือนกับว่าท่านรู้เหตุการณ์ตลอด  ทั้งที่ตั้งแต่ออกจากวัดบูรพารามจนกระทั่งแพทย์นำไปเอ็กซเรย์ครั้งที่ ๒ นั้น  ท่านอยู่ในอาการหลับตา สงบนิ่ง ไม่ไหวติง เป็นเวลามากกว่า ๑๔ ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องอัศจรรย์ยิ่งนัก  เมื่อได้รับคำตอบว่าเสร็จแล้ว ท่านก็ให้พากลับวัดบูรพารามทันที  พระครูนันทปัญญาภรณ์ต้องอธิบายให้ท่านทราบว่า ท่านต้องรักษาอาการอาพาธอีกหลายวัน  ไม่สามารถพาท่านกลับในตอนนั้นได้ พร้อมทั้งลำดับเหตุการณ์ที่ผ่านมาให้ท่านฟัง

ในวันนั้น คณะศิษย์ได้กราบเรียนท่านเจ้าคุณสมเด็จพระญาณสังวร (สมเด็จพระสังฆราช) ให้ทรงทราบ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ จึงเจริญพรไปยังสำนักพระราชวังต่อไป


พระมหากรุณาธิคุณ

ครั้นรุ่งเช้าวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๖ อาการของท่านก็ดีขึ้น  คณะแพทย์ได้เข้าตรวจร่างกายของท่านอีกครั้งหนึ่ง  จากผลการเอ็กซเรย์พบว่าท่านมีอาการเกี่ยวกับกระดูก ปอด และสมอง กล่าวคือกระดูกและปอดมีจุดดำ  และลามไปถึงสมอง แพทย์ลงความเห็นว่าจะต้องใช้เวลารักษาอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเดือนจึงจะหาย  ที่ตึกวชิราวุธของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นี้ มีระเบียบว่าห้ามอยู่เฝ้าพยาบาลเกิน ๒ คน  ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์จึงต้องไปค้างคืนที่วัดบวรนิเวศวิหาร  และเมื่อกราบเรียนให้สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทราบถึงอาการอาพาธของพระอาจาย์ดูลย์  และปัญหาในเรื่องการเฝ้าพยาบาลให้ท่านทราบ  ท่านได้ให้เลขาฯ ของท่าน ติดต่อไปที่คุณหญิงสมรักษ์ เพื่อขอย้ายพระอาจารย์ดูลย์ออกจากตึกวชิราวุธ

ครั้นในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ พระอาจารย์ดูลย์ได้ย้ายมาอยู่ที่ห้องพระราชทาน ชั้น ๓ ตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ เพื่อพักรักษาตัวต่อไป นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชทานสงเคราะห์พระอาจารย์ดูลย์ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้พระราชทานแพทย์หลวงมาทำการรักษาเป็นพิเศษ



ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นั้น  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อทรงเยี่ยมพระอาจารย์ดูลย์ ในวโรกาสต่าง ๆ ดังนี้

วันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๙.๔๕ น. สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมพระอาจารย์ดูลย์ ทรงสนทนาถามถึงอาการอาพาธของท่าน จนกระทั่งเวลา ๒๐.๓๐ น. จึงเสด็จฯ กลับ

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๘.๑๙ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มาทรงเยี่ยมพระอาจารย์ดูลย์  โดยที่มิได้ทรงมีกำหนดการมาก่อน แต่ปรากฏว่าพระอาจารย์ดูลย์ได้เตรียมพร้อมไว้ก่อน  แล้วคล้ายท่านจะรู้ว่าทั้งสองพระองค์จะเสด็จฯ  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนทนากับพระอาจารย์ดูลย์  ในขณะที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ  ทรงจัดดอกไม้ที่โต๊ะหมู่บูชา และทรงทำน้ำปานะจากส้มเขียวหวานด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง  และได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้พระองค์ถวายแก่พระอาจารย์ดูลย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนทนาธรรมกับพระอาจารย์ดูลย์  ท่านได้แสดงถึงการเข้าฌานและการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าก่อนเสด็จฯ กลับ  ทั้งสองพระองค์ได้ถวายพระพรพระอาจารย์ดูลย์ว่า ขอให้ท่านดำรงขันธ์อยู่มากกว่า ๑๐๐ ปี  พระอาจารย์ดูลย์ได้ทูลตอบเหมือนที่ได้เคยทูลตอบพระองค์เมื่อครั้งก่อนว่า  “แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปเองของเขาดอก”

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๒  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระราชโอรสและพระราชธิดาสองพระองค์ พระราชสุนิสา และพระเจ้าหลานเธอ ได้เคยเสด็จฯ ไปที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ มาแล้ว

ในครั้งนี้พระอาจารย์ดูลย์ได้แสดงธรรมเทศนาถวาย ครั้นแสดงธรรมจบลง
 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า 
“หลวงปู่การที่จะละกิเลสให้ได้นั้นควรจะละกิเลสอะไรก่อน”
ท่านก็ได้ถวายวิสัชนาว่า
“กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน”

ครั้นพอสมควรแก่เวลาแล้ว ก่อนเสด็จฯ กลับ ทรงมีพระราชดำรัสคำสุดท้ายว่า
“ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่ให้นานต่อไปอีกเกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่จะรับได้ไหม”  
พระอาจารย์ดูลย์ถวายพระพรว่า
“อาตมภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง จะอยู่ได้นานอีกเท่าไรก็ไม่ทราบ”

วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ เวลา ๑๗.๐๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนสุดา สยามราชกุมารี ทรงเสด็จฯ เยี่ยม  เมื่อทรงทราบว่าท่านมีอาการดีขึ้น ทรงชมว่าท่านแข็งแรงดี และเมื่อสมควรแก่เวลาจึงเสด็จฯ กลับ


สายธารแห่งปัญญา

ครั้นเมื่อข่าวแพร่สะพัดไปว่า พระอาจารย์ดูลย์อาพาธอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  ทำให้มีผู้ที่เคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาได้ทยอยกันมาเยี่ยมนมัสการท่านเป็นจำนวนมาก  ซึ่งมีทั้งพระและฆราวาส ในส่วนของพระมีตั้งแต่พระธรรมดาขึ้นไป  จนกระทั่งถึงสมเด็จพระราชาคณะ  สำหรับในส่วนของฆราวาสนั้นก็มีตั้งแต่ประชาชนธรรมดาสามัญ ไปจนกระทั่งถึงระดับผู้บริหารประเทศนอกจากจะมาเยี่ยมแล้ว ยังนำภัตตาหารของขบฉันอื่น ๆ รวมทั้งเครื่องสักการะบูชาต่าง ๆ เช่น ธูปเทียน เป็นต้น มาถวายท่าน ซึ่งมีมากมายจนกระทั่งต้องนำไปแจกจ่ายให้แก่คนไข้อนาถาตามตึกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล

ในครั้งแรก คณะศิษย์ไม่อยากให้ใครมารบกวนพระอาจารย์ดูลย์มากนัก ด้วยต้องการให้ท่านได้พักผ่อน แต่เมื่อเห็นศรัทธาที่แรงกล้าของบรรดาญาติโยมผู้ตั้งใจมาเยี่ยมแล้ว  ในที่สุดจึงต้องยอมให้เยี่ยมตามสะดวก เมื่อเห็นอาการของท่านที่ดีขึ้นทุกคนก็ค่อยสบายใจ



กลับวัดบูรพาราม

พระอาจารย์ดูลย์พำนักรักษาอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลาประมาณ ๒ เดือน อาการอาพาธของท่านดีขึ้นเป็นลำดับ  คณะแพทย์จึงลงความเห็นว่าให้ออกจากโรงพยาบาลได้ ภายหลังจากทราบว่าจะออกจากโรงพยาบาลได้ในวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๖ เป็นที่แน่นอนแล้ว  พอถึงวันที่ ๒๐ มีนาคม ก่อนจะกลับวัดบูรพาราม  คณะศิษย์ได้จัดให้มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ๑๐ รูป เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพบุรุษและผู้ก่อสร้างโรงพยาบาล  นอกจากนี้ได้นำจตุปัจจัยที่ผู้มีจิตศรัทธาถวายพระอาจารย์ดูลย์ในขณะที่ท่านพักรักษาตัวอยู่นั้น จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท บริจาคบำรุงโรงพยาบาลด้วย

ครั้นถึงวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๒๖ อันเป็นวันครบกำหนดที่จะเดินทางกลับวัดนั้น  มีศิษยานุศิษย์จากสาขาต่าง ๆ พากันเดินทางมาส่งพระอาจารย์ดูลย์ที่หน้าโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อย่างล้นหลาม ขบวนรถที่ไปส่งนั้นประกอบไปด้วยรถจากราชสำนัก รถของโรงพยาบาลและรถส่วนตัว โดยมีรถตำรวจทางหลวงนำหน้าและปิดท้ายไปตลอดทาง  ตลอดทางที่รถแล่นไปพระอาจารย์ดูลย์อยู่ในอิริยาบถนอนเหมือนกับตอนที่เดินทางมาโรงพยาบาล และท่านสามารถตอบคำถามถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่รถแล่นผ่านได้อย่างถูกต้อง โดยที่ไม่ได้ลืมตาขึ้นดูเลย ขบวนรถที่มาส่งพระอาจารย์ดูลย์ได้มาถึงวัดบูรพาราม เวลา ๑๕.๐๐ น. พบว่ามีสาธุชนมาคอยรับท่านอยู่เป็นจำนวนมาก  คณะสงฆ์และบรรดาญาติโยมได้ร่วมกันประกอบพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายกุศล  เพื่อแสดงกตเวทิตาคุณ  ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๒๓ มีนาคม มีพิธีทำบุญตักบาตรถวายกุศลแด่ท่าน

การรักษาพยาบาลในระยะนี้ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ  นอกจากถวายยาฉันตามที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้  และรายงานอาการให้แพทย์ประจำทราบโดยสม่ำเสมอในส่วนตัวของท่านนั้น  ตามปกติไม่เคยทำความลำบากใจให้ใครอยู่แล้ว  วางตนเป็นผู้สุขสบายทุกกรณี จึงทำให้ศิษย์และบุคคลทั่วไปเห็นว่าท่านมีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดีเป็นปกติ หลังจากกลับมาพำนักที่วัดบูรพารามแล้ว  แม้ว่าพระอาจารย์ดูลย์จะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังไม่หายขาด คณะศิษย์จึงได้จัดให้ท่านรับกิจนิมนต์น้อยที่สุด  แม้กระทั่งการรับแขกก็กำจัดเวลาด้วย ด้วยความห่วงใยในสุขภาพของท่าน  ซึ่งต้องได้รับการพักผ่อนให้มากที่สุด อันเป็นสิ่งที่ขัดกับอุปนิสัยที่ไม่ชอบอยู่นิ่งของท่าน  ในระหว่างนั้นคณะศิษย์จึงต้องยอมให้ท่านแสดงธรรมเพียงอย่างเดียว โดยละกิจอื่น ๆ ไว้ทั้งหมด

อาการกำเริบ

อาการอาพาธของพระอาจารย์ดูลย์อย่างที่เคยเป็น คือไม่มีแรง ปวดเมื่อยและกระสับกระส่าย เกิดขึ้นอีกครั้ง  เมื่อเวลาประมาณ ๐๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๒๖ ศิษย์ผู้พยาบาลได้พากันนำน้ำมันมานวดให้ท่านจนอาการอาพาธทุเลาลง

ครั้นตอนเช้าภายหลังฉันอาหารแล้ว ศิษย์ได้เชิญแพทย์มาตรวจอาการพบว่าความดันของท่านขึ้นสูง  จึงถวายยาให้ท่านฉัน เมื่อฉันยาเสร็จแล้วท่านได้หลับไปชั่วโมงกว่า ๆ เมื่อตื่นขึ้นอาการก็เป็นปกติ แต่ยังคงเพลียอยู่ พอถึงเวลาเพล ท่านก็ลุกขึ้นมาฉันบนเก้าอี้แต่ไม่ยอมฉัน เมื่อถูกคะยั้นคะยอท่านก็ฉันข้าวต้มได้ ๔ ช้อน และของหวานอีกเล็กน้อย หลังจากนั้นท่านก็นอนพักผ่อน อาการของท่านดูเป็นปกติดี เว้นแต่อาการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ระหว่างกระปรี้กระเปร่ากับอ่อนเพลีย ซึ่งจะเป็นไปทุก ๔๐ หรือ ๔๕ นาที

ตลอดทั้งวันท่านใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอธิบายธรรมให้ศิษย์ฝ่ายกัมมัฏฐานของท่านฟัง  สามารถลำดับธรรมะเป็นกระแสที่ชัดเจน  และตอบคำถามข้อปฏิบัติขั้นปรมัตถ์อย่างดี ด้วยน้ำเสียงชัดเจนแจ่มใส ทำให้คณะศิษย์อุ่นใจ หลังสรงน้ำในเวลาเย็นแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ปรารภธรรมให้ศิษย์ฟังว่า

“ในทางโลกเขามีสิ่งที่มี แต่ในทางธรรมมีสิ่งที่ไม่มี”

ซึ่งท่านได้ขยายความว่า

“คนในโลกนี้ต้องมีสิ่งที่มี เพื่ออาศัยสิ่งนั้นเป็นอยู่ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมต้องปฏิบัติ จนถึงสิ่งที่ไม่มี และอยู่กับสิ่งที่ไม่มี”

เมื่อเห็นว่าท่านรู้สึกเพลียจึงขอให้ท่านพักผ่อน  ระหว่างนั้นอาการอ่อนเพลียของท่านก็เพิ่มมากขึ้น  ขณะเดียวกันท่านก็นอนพูดธรรมะให้ฟังต่อไปอีก  โดยจะพูดอธิบายธรรมะชั้นสูงเกี่ยวกับการปฏิบัติ  บางช่วงท่านก็อยู่เฉย ๆ สักพักหนึ่งแล้วก็ปรารภธรรมบทใดบทหนึ่งต่อทันที


ฉลองอายุ ๘ รอบ

ครั้นรุ่งเช้า วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖  พระอาจารย์ดูลย์มีอาการปวดที่เท้าซ้ายขึ้นไปจนถึงบั้นเอว  พร้อมกับมีอาการไข้เล็กน้อย และมีชีพจรเต้นผิดปกติตลอดเวลา อาการเปลี่ยนไปมาแบบทรง ๆ ทรุด ๆ เมื่อเห็นอาการดังนั้น พระครูนันทปัญญาภรณ์จึงได้โทรศัพท์ทางไกล เพื่อกราบเรียนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกให้ทรงทราบ อาจารย์พวงทองศิษย์ของท่านผู้หนึ่ง  ได้โทรศัพท์ไปบอกนายแพทย์ชูฉัตร กำภู ที่ทางพระราชสำนักมอบหมายให้ดูแล  และนำพระอาจารย์ดูลย์เดินทางกลับจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มาพักที่วัดให้ทราบ  ท่านแนะนำให้รีบนำไปรักษาอาการที่กรุงเทพฯ ทันที

ครั้นเวลา ๐๖.๓๐ น. หลวงปู่ยังออกจากห้องได้ นั่งฉันภัตตาหารข้างนอกตามปกติ เสร็จแล้วนั่งพักประมาณ ๑๐ นาที แล้วเข้าไปพักผ่อนในห้อง หลังจากฉันเช้าแล้ว แพทย์ได้มาตรวจอาการอีก วัดความดันดูยังอยู่ในระดับปกติ  จึงได้ฉีดยานอนหลับถวายเพื่อให้ได้พักผ่อนมาก ๆ  ซึ่งแต่ละครั้งท่านมักจะห้ามไว้ไม่ให้ฉีด แต่ส่วนใหญ่หมอจำเป็นต้องฝืนฉีดให้ แม้แต่น้ำเกลือท่านก็ไม่ยอมรับโดยบอกว่า “ขออยู่เฉย ๆ ดีกว่า”

เมื่อได้โอกาส พระครูนันทปัญญาภรณ์บอกว่าจะนำท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง  แต่ท่านปฏิเสธและห้ามนำท่านไปด้วย โดยท่านให้เหตุผลว่า ถึงไปอาการป่วยก็ไม่หาย ต่อมา ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดสุรินทร์หลายท่าน  พากันมาเยี่ยมพระอาจารย์ดูลย์ พร้อมกับปรึกษาที่จะนำท่านไปรักษาที่กรุงเทพฯ  แต่เมื่อเห็นท่านมีลักษณะปกติเหมือนไม่อาพาธประกอบกับท่านไม่อยากไป ก็เลยไม่ได้ตัดสินใจอย่างไร ในตอนสาย มีประชาชนมาที่วัดเป็นจำนวนมาก พุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งในจังหวัดสุรินทร์  และจังหวัดอื่นต่างหลั่งไหลกันมาอย่างมากมาย  มีสุภาพสตรีมาร่วมบวชชีปฏิบัติธรรมจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคน  เนื่องจากเป็นวันที่คณะกรรมการและศิษย์กำหนดให้เป็นวันฉลองอายุครบ ๘ รอบ ๙๖ ปี ของพระอาจารย์ดูลย์

ตามกำหนดการ เวลา ๑๐.๐๐ น. พระสงฆ์จำนวน ๑๐ รูป จะมาเจริญพระพุทธมนต์ แล้วถวายภัตตาหารเพล

ในตอนบ่าย เวลา ๑๓.๐๐ น. พระพุทธพจนวราภรณ์ จากวัดราชบพิตรจะมาแสดงพระธรรมเทศนา  เรื่อง “ปูชนียบุคคลประยุกต์กับคุณธรรมความดีของหลวงปู่”  ระหว่างที่กำลังแสดงพระธรรมเทศนานั้น  พระอาจารย์ดูลย์ท่านได้ให้พระมาตาม พระครูนันทปัญญาภรณ์ให้ไปพบ

ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์รู้สึกตกใจเล็กน้อย  รีบไปหาพระอาจารย์ดูลย์ ครั้นพอไปถึงเห็นท่านยังสดใสเป็นปกติ  และเมื่อเข้าไปใกล้ท่านก็ถามถึงการจัดงานว่าเป็นอย่างไร ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์รายงานท่านให้ทราบว่า  งานทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามที่กำหนดไว้ ไม่มีปัญหา และได้กราบเรียนให้ท่านทราบว่าเมื่อจบพิธีแสดงธรรมของพระพุทธพจนวราภรณ์  จากวัดราชบพิตรแล้ว ศิษย์ฝ่ายสงฆ์จะเข้านมัสการถวายสักการะท่าน พระครูนันทปัญญาภรณ์บันทึกไว้ว่า เสียงของพระอาจารย์ดูลย์ในขณะนั้นเบามาก แต่หน้าตาของท่านยังสดใสเหมือนเดิม

ต่อมา ศิษย์อาวุโสฝ่ายสงฆ์หลายรูป ได้เข้ามากราบนมัสการพระอาจารย์ดูลย์และถามถึงข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ท่านก็ได้อธิบายข้อธรรมเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีลักษณะที่บ่งบอกว่าอาพาธแต่อย่างใด ท่านพระครูนันทปัญญาภรณ์เห็นดังนั้นก็รู้สึกเบาใจ จึงกราบลาพระอาจารย์ดูลย์ออกไปยังศาลาโรงธรรมซึ่งมีญาติโยมอยู่เป็นจำนวนมาก

ครั้นเวลา ๑๖.๐๐ น. พระอาจารย์ดูลย์ได้ออกมานั่งที่ห้องรับแขกเพื่อให้บรรดาญาติโยมมากราบนมัสการ จากนั้นท่านก็กลับเข้าห้องเพื่อสรงน้ำ แล้วนอนพักผ่อนท่ามกลางคณะสงฆ์ฝ่ายอรัญญวาสีที่นั่งล้อมรอบท่านอยู่อย่างเงียบกริบ



๑๒. ปัจฉิมกาล

พระอาจารย์ดูลย์อยู่ในอิริยาบถนอนหงาย หนุนหมอนสูง หลับตาลงท่ามกลางคณะสงฆ์ที่อยู่ล้อมรอบ ครั้นเวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. ท่านก็ได้ลืมตาขึ้น มองไปตรงช่องว่างที่เป็นกระจกที่มีผ้าม่านปิดอยู่  ท่านยกแขนขวาขึ้นบอกท่าทางให้รูดม่านออกแล้วบอกให้พระเณรออกจากห้องไปได้  แต่ยังเหลือพระคอยดูแลรับใช้ท่านภายในห้องอีก ๘-๙ รูป ท่านก็สั่งให้พระที่อยู่สวดมนต์ให้ท่านฟัง  พระที่อยู่ในห้องจึงพร้อมใจกันสวดมนต์เจ็ดตำนานให้ท่านฟังจนจบ  จากนั้นท่านบอกให้สวดโพชฌงคสูตรอีก ๓ จบ  และปฏิจจสมุปบาทอีก ๓ รอบ  พระเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งท่านโดยสวดให้ท่านฟังจนจบ

ครั้นสวดมนต์จบลง แพทย์ก็เข้าไปตรวจอาการอีกครั้งหนึ่ง  ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ ๒๒.๐๐ น. เมื่อแพทย์ตรวจเสร็จก็กราบลากลับไป เมื่อแพทย์ที่มาตรวจอาการกลับไปแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ได้ลืมตาขึ้นแล้วบอกให้พระสวดมนต์มหาสติปัฏฐานสูตรให้ท่านฟัง  แต่ปรากฏว่าไม่มีพระรูปไหนสามารถสวดได้เลย ท่านจึงบอกให้เปิดหนังสือสวด

เมื่อได้หนังสือมาแล้วเผอิญเป็นหนังสือเล่มใหญ่และหนามาก  ด้วยความไม่คุ้นเคย  ทำให้ผู้เปิดหาบทที่จะสวดนั้นต้องพลิกกลับไปกลับมา  และยังไม่ทันที่จะพบ พระอาจารย์ดูลย์ก็สั่งให้นำหนังสือมาให้ท่าน  แล้วหยิบมาเปิดโดยไม่ต้องดู พร้อมกับบอกว่า “สวดตรงนี้” พระที่อยู่ในที่นั้นทุกรูปต่างก็รู้สึกแปลกใจมาก  เพราะหน้าหนังสือที่พระอาจารย์ดูลย์เปิดมานั้น ตรงกับบทสวดมหาสติปัฏฐานสูตรพอดี จากนั้นก็พร้อมกันสวดมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างช้า ๆ และใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง  เพราะเป็นบทสวดที่มีความยาวมาก  ขณะนั้นพระอาจารย์ดูลย์อยู่ในอิริยาบถนอนตะแคงขวา ในอาการสงบนิ่ง

ครั้นเมื่อพระสวดจบลง ท่านพูดธรรมะกับพระที่เฝ้าอยู่เป็นครั้งคราว  ในอิริยาบถนั่งบ้าง นอนบ้าง จากนั้นพระอาจารย์ดูลย์ได้ให้ศิษย์นำท่านออกมานอกกุฏิ  และให้พาไปยังศาลาที่อยู่ด้านหน้ากุฏิของท่านเพื่อสูดอากาศ  ท่านได้มองไปรอบ ๆ บริเวณวัดเหมือนกับว่าเป็นการมองครั้งสุดท้าย  เพื่ออำลาสถานที่ที่ท่านได้อยู่และบูรณปฏิสังขรณ์มาเป็นเวลากว่า ๕๐ ปี


สิ้นอายุขัย

ครั้นถึงเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖  พระอาจารย์ดูลย์ได้แสดงธรรมให้แก่ลูกศิษย์ที่อยู่ในห้องนั้นได้รับฟัง  โดยท่านอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย ข้อธรรมที่ท่านมักจะแสดงบ่อย ๆ ในระยะนี้นั้นก็คือ  ธรรมอันว่าด้วยลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน  ครั้งนั้นเมื่อแสดงธรรมจบแล้ว  พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่ได้กล่าวอะไรอีกเลย

ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์แสดงพระธรรมเทศนาจบลง  เป็นเวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ท่านอยู่ในอิริยาบถนอนสงบนิ่ง  หายใจเบา ๆ ดูอาการเป็นปกติคล้ายกับคนนอนหลับตามธรรมดา  แต่ลมหายใจท่านเบาลงมาก  นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นเลย  เป็นความงดงามบริสุทธิ์ และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง

ท่านได้ละทิ้งสังขาร มรณภาพเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖  เวลา ๐๔.๑๓ น. รวมอายุได้ ๙๖ ปี ๒๖ วัน พรรษา ๗๔



โกศพระราชทาน







งานพระราชทานเพลิงศพ

ศพของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ มีศิษย์จากทุกสารทิศหลั่งไหลมานมัสการและสรงน้ำสรีระเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดสุรินทร์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ  พร้อมกับทั้งได้พระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ  และทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล ๗ วัน , ๕๐ วัน และ ๑๐๐ วัน ตามลำดับ

วันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิง ที่จัดให้มีขึ้น ณ วนอุทยานแห่งชาติ เขาพนมสวาย  ซึ่งห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ ๒๒ กิโลเมตร ทั้งพระและฆราวาสต่างมาร่วมแสดงกตัญญูกตเวทิตาต่อพระอาจารย์ดูลย์เป็นจำนวนมาก คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ได้มีมติให้จัดสร้างอนุสรณ์ขึ้นภายในบริเวณวัดบูรพาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์ อันเป็นวัดที่ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์และพำนักตลอดมา  ตราบจนกระทั่งท่านได้สิ้นอายุขัย รวมเวลาประมาณ ๕๐ ปี  อาคารดังกล่าวดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐานหลวงปู่ดูลย์ อตุโล” ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วยรูปเหมือนของพระอาจารย์ดูลย์ ในอิริยาบถนั่งห้อยเท้า หล่อด้วยโลหะ ขนาด ๒ เท่าครึ่งขององค์จริง  พร้อมเครื่องอัฐบริขารของท่าน

อนุสรณ์สถานอีกแห่งหนึ่งคือ พระธาตุเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระอาจารย์ดูลย์  โดยก่อสร้างครอบเมรุที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ดูลย์  มีลักษณะเป็นเจดีย์ ภายในมีรูปเหมือนพระอาจารย์ดูลย์หล่อด้วยโลหะขนาดเท่าองค์จริง  มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับประวัติชีวิตของท่าน  ตั้งอยู่ที่บริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาพนมสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์

พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล (พระราชวุฒาจารย์)  เป็นพระเถระผู้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างมหาศาล  เสียสละแรงกายแรงใจในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสนา  ทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติตลอดระยะเวลา ๗๔ พรรษา  แห่งการดำรงชีวิตอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของท่าน  ท่านได้อุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนา ปฏิบัติธรรมวินัยได้อย่างถูกต้อง บริสุทธิ์ และบริบูรณ์ทุกประการ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์






สมเด็จพระญาณสังวร ทรงเป็นองค์ประธานพิธี

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จกลับ
ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม ลมพัดแรง และฝนได้ตกลงมากราวใหญ่ดุจพรมน้ำมนต์




เมื่อไฟพระราชทานเริ่มมอดลง
ตรงกลางเพดานเมรุมีน้ำรั่วไหลตามอุบะตกลงมาเป็นสาย
ดิ่งลงกลางจิตกาธาน ดับไฟให้อัฐิธาตุหลวงปู่ชุ่มเย็น

เหนือคำบรรยาย




พระธาตุของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล




พระอุโบสถและพิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐาน-อัฐิธาตุ



รูปหล่อโลหะ และ หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

อัฐิธาตุหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

อัฐบริขารของหลวงปู่



เจดีย์อนุสรณ์สถาน พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)
ณ.วนอุทยานพนมสวาย ต.นาบัว อ.เมือง จ.สุรินทร์