วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด)






พระธาตุประจำปีเกิด (ปีชวด)

คนปีชวด (หนู) เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรคการดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น (โดยเฉพาะช่วงอายุ ๓๖ – ๔๘ และ ๖๐ ปี ตามเกณฑ์ทั่วไปคนปีชวดจะมีเคราะห์) ควรหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีชวด (หนู) ต้องไปบูชา พระธาตุจอมทอง ที่อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรืออย่างน้อยสักครั้งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆ ในชีวิตของท่าน จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลและมีอายุยืน

พระธาตุจอมทอง อยู่ที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง (๑๕๗ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่) บรรจุพระบรมธาตุส่วนกะโหลกด้านขวา (เรียกว่าทักษิณโมษีธาตุ) ธาตุกระดูกด้ามมีดเบื้องขวา (ขากรรไกร) สัณฐานรูปสามเหลี่ยมเท่าเมล็ดข้าว สารหักและส่วนอื่นรวม ๕ องค์ เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดสัณฐานกลมเกลี้ยงสีดอกพิกุลแห้ง หรือสีดอกบัว (เปลี่ยนสีตามกาลได้)

ปราสาทที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนี้ สร้างโดยพระรัตนราช (พระเมืองแก้ว) เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีอายุประมาณ ๔๐๐ กว่าปี ก่อด้วยอิฐถือปูนสลักลวดลายอย่างงดงาม ปิดทองทั้งองค์ลักษณะสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ฐานกว้าง ๔ เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอด ๘ เมตร ภายในปราสาทเป็นคูหามีประตูปิดเปิดได้ กลางคูหามีแท่นสำหรับตั้งพระโกศพระบรมธาตุ

โกศที่ประดิษฐานพระบรมธาตุมี ๕ ชั้นคือ ชั้นที่ ๑ เป็นโกศเงินสัณฐานกลมกว้าง ๑ ศอก สูง ๑ เมตร ชั้นที่ ๒ ภายในโกศเงินเป็นโกศทองเหลืองหล่อปิดทองสัณฐานกลมกว้าง ๑๐ นิ้วสูง ๑ ศอก ชั้นที่ ๓ ภายในโกศทองเหลืองเป็นผอบเงิน ชั้นที่ ๔ ภายในผอบเงินเป็นผอบทองคำลงยาประดับเพชร น้ำหนัก ๔๑กรัม ชั้นที่ ๕ ภายในผอบลงยาเป็นผอบทองคำเกลี้ยงหนัก ๑๖ กรัม ขนาดเท่าผลมะยมเขื่อง พระบรมธาตุประดิษฐานอยู่ในผอบทองคำชั้นที่ ๕นี้

องค์พระบาทธาตุ เป็นพระบรมธาตุขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียวหรือเมล็ดข้าวโพด สัณฐานกลมเกลี้ยง สีดอกพิกุลแห้ง หรือคล้ายดอกทองบวม พูดถึงสีพระบรมธาตุองค์นี้นับว่าเป็นแปลก เพราะเมื่อดูขณะหนึ่งเป็นสีหนึ่ง เมื่อดูอีกก็จะกลายเป็นสีหนึ่งไป แม้แต่ผู้ที่ไปเห็นมาด้วยกันก็เห็นไม่เหมือนกัน บางคนก็เห็นเป็นสีขาว บางคนก็เห็นเป็นสีเหลือง ตามความสังเกตของผู้ใกล้ชิด ถ้าดูห่างๆจะเห็นเป็นสีเหลืองคล้ายทองคำ ถ้าดูใกล้ๆจะเห็นเป็นสีขาวหม่น

เกี่ยวกับอภินิหาร ปรากฏว่าพระบรมธาตุองค์นี้มักสำแดงอภินิหารอยู่เสมอ กล่าวคือ เมื่อถึงวันพระ ๘-๑๕ ค่ำ เวลากลางคืนมักจะมีแสงสว่างประหลาดผุดพุ่งขึ้นข้างบน ฉวัดเฉวียนไปมาแต่ไม่มีเสมอทุกวันพระ

ปกติที่วัดพระธาตุศรีจอมทอง จัดงานประจำปี ณ วันเพ็ญเดือน ๗ (เดือน ๙เหนือ) และวันเพ็ญเดือน ๓ (เดือน ๕เหนือ)

วันเพ็ญเดือน ๗ (หรือเดือน ๙เหนือ)เป็นวันพระบรมธาตุเข้าพรรษา มีงานตั้งแต่ขึ้น ๑๐ ค่ำ มีการแห่พระบรมธาตุไปบูชาที่พระอุโบสถ ประชาชนนำเครื่องไทยทานไปถวายบูชาพระบรมธาตุ สรงน้ำพระบรมธาตุ กลางคืนมีมหรสพ ดอกไม้เพลิงและอื่นๆพอถึงวันเพ็ญเดือน ๓(หรือเดือน๕เหนือ)เป็นวันพระบรมธาตุออกพรรษา มีงานฉลองเช่นกัน แต่ไม่มากเท่าวันเพ็ญเดือน ๗
การบูชาพระธาตุ นอกจากจะจัดอัฏฐบริขารแล้ว ยังมีเครื่องแห่ คือ พัดค้าว จามรบังตะวัน เกือกทุ่งยุ โคม ธงชัย ธงลาย ธงทองคำ ธงช้าง ธงชัยเงินและเครื่องสักการะอื่นๆ

คำไหว้พระธาตุจอมทอง จ.เชียงใหม่

อะหัง นะมามิ ติโลกะโมลี ติโลภัสสะ ภะคะวะโต ทักขิณโมลี ปะติ ฏฐิตัง ภะคะวะโต อะธิษฐานะพะเลนัฏฐิตัง โลหะกูเฏพุทธะนิ อังคะรัฏฐะ กิตติมันตัง มะโนหะรัง โลกานัง สัพพะโลเกหิปูชิตัง อะมิสะปะฏิปัตติวาสะนะ สัพพะทา

แปลว่า อันว่าข้าขอไหว้ซึ่งพระธาตุจอมหัวเบื้องขวาแห่งพระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐล้ำเลิศในโลกทั้งสาม ซึ่ง(พระธาตุนั้น)ตั้งอยู่ด้วยกำลังอธิษฐานแห่งพระพุทธเจ้าบนดอยจอมทอง อันมีเมืองอังครัฏฐะอันลือชา นำมาซึ่งความเลื่อมใสศรัทธายินดีปิติปราโมทย์แห่งโลกทั้งสาม ซึ่งควรบูชาด้วยสามารถแห่งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาในกาลทุกเมื่อแลฯ

น้ำสำหรับสรงพระบรมธาตุวัดพระธาตุจอมทอง

ผู้คนจากที่อื่นๆอาจจะไม่ทราบ เตรียมน้ำสะอาดไปสรง แต่ความจริงนิยมสรงด้วยน้ำแม่กลาง ซึ่งไหลมาจากน้ำตกแม่กลาง ผ่านมาทางทิศตะวันตกของวัด เจือด้วยน้ำหอมหรือแก่นจันทร์ ความเชื่อดังกล่าวมาจากตำนานที่ว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพระยาอังครัฏฐะทรงเสด็จประทับบนดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสายนี้ และพระพุทธองค์เสด็จลงสรงสนามในแม่น้ำนี้ด้วย หากสามารถกระทำตามที่แนะนำได้ ย่อมได้อานิสงค์เพิ่มมากขึ้น