วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีฉลู)




พระธาตุประจำปีเกิด (ปีฉลู)

คนปีฉลู(วัว)เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหา หรือมีอุปสรรคการดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ควรหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีฉลู(วัว)ต้องไปบูชา พระธาตุลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ระหว่างที่มีชีวิตอยู่หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆในชีวิตของท่าน จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลและมีอายุยืน ที่สำคัญการที่ได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่าได้อานิสงส์มาก ได้บุญมาก

พระธาตุลำปางหลวง ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุลำปาง (๕๔๑ บ้านลำปางหลวง หมู่๑ ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง) ห่างจากตัวจังหวัดลำปางไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ ๑๘ กม. องค์พระธาตุกว้างด้านละ ๑๒ วา สูงจากฐานถึงยอด ๒๒ วา ๒ ศอก (สูง ๔๕ เมตร)ก่อด้วยอิฐถือปูนาทาบด้วยแผ่นทองเหลือง แผ่นทองแดงตลอดทั้งองค์และธาตุ เมื่อครั้งพุทธกาลครั้งนั้นพระสถูปเจดีย์ที่ลั๊วะก่อนสร้างสูงเพียง ๗ ศอก ต่อมาเมื่อพระองค์ปรินิพานแล้ว ๒๑๘ ปี มีพระอรหันต์ ๒ องค์ชื่อกุมารกัสสปะ ได้นำเอาอัฐิธาตุพระนลาตข้างขวาของพระพุทธเจ้า และพระเมฆิยะเถระนำเอาอัฐิธาตุลำคอข้างหน้าข้างหลังมาบรรจุไว้อีก

พระสถูปเจดีย์ซึ่งปรากฏในตำนาน ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกหลายครั้ง ที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ได้สร้างเมื่อครั้งเจ้าเมืองหาญศรีรัตถะมหาสุรมนตรี ซึ่งพระเจ้าติลกปนัดดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ส่งมาครองเมืองนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๙

ตามตำนานพระธาตุลำปางหลวงกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงสำราญพระอิริยาบถ อยู่พระเชตวันมหาวิหาร คืนหนึ่งยามใกล้รุ่งพระองค์ทรงรำพึงว่า ตั้งแต่ถาคตได้ตรัสรู้เป็นสัพพัญญูตญาณมาได้ ๒๕ พรรษาแล้ว เมื่ออายุได้ ๘๐ ปี ตถาคตก็จะปรินิพพานควรที่ตถาคตจักอธิษฐานธาตุให้ย่อย เพื่อให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายนำไปบรรจุกราบไหว้บูชา เสมือนดังตถาคตยังทรงพระชนม์อยู่ ดังนั้นรุ่งขึ้นเป็นวันมหาปวารนาออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระอรหันต์ ๓ องค์ กับพระอานนท์เถระรวมเป็นองค์ที่ ๔ พระเจ้าปเสนทิโกศลตามเสด็จออกจากพระเชตวันมหาวิหาร ไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ทั้งหลาย จนกระทั่งเสด็จถึงบ้านสัมภะการี(บ้านลำปางหลวง) พระพุทธองค์ทรงประทับนั่งอยู่เหนือดอยม่อนน้อย(เขาเตี้ย)ขณะนั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อลั๊วะอ้ายกอนเห็นพระพุทธเจ้าประทับอยู่ก็มีความเลื่อมใส จึงได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้าง(ไม้ข้าวหลามไม้เปราะ) พร้อมด้วยมะพร้าวและมะตูมอย่างละ ๔ ลูกถวายพระพุทธเจ้าพระพุทธองค์ทรงรับ แล้วส่งมอบกระบอกน้ำผึ้งแก่พระอานนท์เถระนำไปกรองลงในบาตร แล้วพระองค์จึงได้เสวยน้ำผึ้งนั้นและพระองค์จึงทรงพยากรณ์ว่า สถานที่นี้ต่อไปจักมีผู้มาสร้างเมืองมีชื่อว่า “ลัมภะกัปปะนคร” และต่อจากนั้นพระองค์ก็ยกพระหัตถ์ข้างขวาขึ้นลูบพระเศียรได้พระเกศา ๑ เส้นติดพระหัตถ์มาพระองค์จึงมอบให้แก่ลั๊วะอ้ายกอน ลั๊วะอ้ายกอนรับเอาพระเกศาโดยความโสมนัสเป็นล้นพ้น แล้วนำลงบรรจุในผอบทองคำใหญ่ ๗ กำ ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิฯพร้อมด้วยพระอรหันต์เจ้าจึงให้ขุดหลุมอันหนึ่งกว้าง ๕ วาลึก ๕ วา อัญเชิญพระธาตุเกศาประดิษฐานกลางหลุมนั้น ได้นำแก้วแหวนเงินทองเป็นอันมากถวายเป็นพุทธบูชาลงฝังในหลุมนั้นด้วย เสร็จแล้วก็แต่งยนต์ผัด(ยนต์หมุน)รักษาพระเกศาธาตุไว้จัดการถมดินดีแล้ว ได้ก่อเป็นพระเจดีย์บนหลุมอุโมงค์นั้นสูง ๗ ศอกพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ต่อไปว่า เมื่อตถาคตปรินิพพานแล้วได้ ๒๑๘ ปี จักมีพระอรหันต์ลูกศิษย์ตถาคต ๒ องค์ คือกุมารกัสปะเถระจักได้นำพระอัฐฺพระนลาตข้างขวา พระเมฆิยเถระจักได้นำเอาอัฐิลำคอข้างหน้าหลังของตถาคตมาบรรจุไว้ในที่นี้อีกแล เจดีย์นี้จักปรากฏเป็นเจดีย์ทองจักได้ชื่อว่า “ลัมภะกัปปะ” หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านน้อยเมืองใหญ่ต่อไป

ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้ปรินิพพานแล้วได้ ๒๑๘ ปี ได้มีพระยาศรีธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศก)บังเกิดศรัทธาในพระศาสนาอยากจะสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เพื่อถวายเป็นการบูชาพระธรรมของพระพุทธองค์ ซึ่งมี ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระองค์ได้ทรงรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าตามเมืองต่างๆ แล้วจึงได้แบ่งมอบให้พระเถระเจ้าทั้งหลายอัญเชิญไปประดิษฐานในเจดีย์นั้นๆ

ส่วนกุมารกัสสปะเถระและพระเมฆิยเถระ ก็ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุตามดังกล่าวมาประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ลัมภะกัปปะนครวัดพระธาตุลำปางหลวง ตามพระพุทธพยากรณ์ทุกประการปกติที่วัดพระธาตุลำปางหลวง จัดงานประจำปี ทุกวันเพ็ญเดือน ๑๒ (วันลอยกระทง)

คำไหว้พระธาตุลำปางหลวง จ.ลำปาง

ยา ปาตุภูตา อะตุลานุภาคะจีรัง ปะติฏฐาลัมภะ กัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะระภิทัยยานะมามิ ภันตัง วะระชินะธาตุง

คำไหว้พระธาตุลำปางหลวง (สำนวนเก่า)

ยา ปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฏฐฺตา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิเธยยา นะมามิหันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระ กัสสะปัง นะลาตะธาตโย เมฆิยะมะหาเถระ กัณณะธาตุ ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระ เทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย