วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร




ท่านพ่อลี ธมฺมธโร
วัดอโศการาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ
“พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตแก่กล้า”

     พระเดชพระคุณพระสุทธิธรรมรังสี คัมภีรเมธาจารย์ หรือท่านพ่อลี ธมฺมธโร พระอริยะเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ถึงพร้อมด้วยอำนาจแห่งบารมีและบุญที่สั่งสมไว้แต่ปางบรรพ์ เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ที่มีภูมิธรรมและพลังจิตสูงยิ่ง มีจริวัตรที่งดงาม มีศรัทธาที่เต็มเปี่ยมในการเผยแพร่สัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ท่านเป็นศิษย์ที่ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต โปรดเป็นที่สุด ในยามที่ท่านเดินทางไปคารวะท่านพระอาจารย์มั่นสำนักวัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร ท่านได้รับการต้อนรับจากท่านพระอาจารย์มั่นเป็นกรณีพิเศษ ว่ากันว่า...

“ท่านเป็นพระเจ้าอโศกมหาราชกลับชาติมาเกิดเพื่อบรรลุธรรม และเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่นเพียงรูปเดียวที่ไม่เคยถูกอาจารย์มั่นต้องติเมื่อออกจากสำนักไป ท่านเป็นผู้ที่ทำให้ชาวพระนครได้รู้จักพระกรรมฐาน และทำให้วงศ์กรรมฐานเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน

ท่านได้บรรลุภูมิธรรมขั้นสูงที่ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และบรรลุธรรมขั้นสูงสุดที่ถ้ำเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว

นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ที่มีสามารถจัดงานฉลองกึ่งพุทธกาลได้อย่างยิ่งใหญ่สมศักดิ์ศรีที่เมืองไทยเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา”

ท่านจึงเป็นผู้ที่ท่านพระอาจารย์มั่นเมตตาและให้การยกย่องว่า “มีพลังจิตสูง เป็นผู้เด็ดเดี่ยว อาจหาญ เฉียบขาด ถึงพร้อมด้วยศีลด้วยธรรม”

สมศักดิ์ศรีที่ได้รับความไว้วางใจ จากท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ให้เป็น “อัศวินแห่งกองทัพธรรมกรรมฐานสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต” ที่มีธรรมะเป็นอาวุธ

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ท่านเป็นพระผู้ล้ำเลิศด้วยคุณธรรม เป็นที่เคารพบูชาของบรรดาพุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนาม อีกทั้งบรรดาสานุศิษย์ของท่านก็มีมากมาย ท่านเป็นพุทธทายาทที่องอาจในศีลบารมี สมาธิบารมี และปัญญาบารมี อีกทั้งยังเป็นพระนักปฏิบัติที่องอาจในการเผยแพร่ธรรมะโดยแท้

ปฏิปทาอันละมุนละไมของท่านพ่อลี ทำให้บรรดาสาธุชนเลื่อมใสทั้งกาย วาจา และใจ ขันติธรรมและเมตตาธรรมของท่านเป็นที่ซาบซึ้งแก่พุทธบริษัททั้งปวง สั่งสอนอบรมพุทธบริษัทให้เป็นบุคคลพลเมืองดีในชาติ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ที่บูชา แสงแห่งพุทธธรรมส่องสว่างโดยพุทธสาวกผู้บริสุทธิ์ ให้ความอบอุ่นสงบสุขแก่ผู้คนทั้งปวง

ชื่อเดิมของท่าน คือ ชาลี นามสกุล นารีวงศ์ เกิดที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลยางโยภาพ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ในวันพฤหัสบดี วันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๙ เวลา ๒๑.๐๐ น. เดือนยี่แรม ๒ ค่ำ ปีมะเมีย

เป็นบุตรของนายปาว และนางพ่วย นารีวงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม ๙ คน เป็นชาย ๕ คน เป็นหญิง ๔ คน

ท่านเล่าว่า “...เมื่อเกิดมาได้ ๙ วัน เกิดมีอาการรบกวนพ่อแม่เป็นการใหญ่ ไม่มีใครสามารถจะเลี้ยงให้ถูกใจได้ เป็นเด็กที่เลี่ยงยากที่สุด มักร้องไห้เอาแต่ใจเสมอ เมื่อโยมแม่ออกไฟได้ ๓ วัน เราเกิดเจ็บป่วยด้วยโรคบนศีรษะ ไม่ยอมกินไม่ยอมนอนเป็นเวลาหลายวัน”

พออายุได้ ๑๑ ปี จิตคิดขึ้นเองว่า “ไม่มีอะไรที่จะทำไม่ได้ ในเรื่องที่จะตอบแทนบุญคุณข้าวป้อนของพ่อแม่” แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ทำไม่ได้จึงพูดกับแม่ว่า “แม่...มีอยู่เรื่องเดียวที่ลูกจนใจที่สุดก็แต่เลือดในอกที่ดื่มเข้าไปเท่านั้นที่หามาตอบแทนพ่อแม่ไม่ได้” ฯ

อายุ ๑๒ ปี ได้เรียนหนังสือไทยพออ่านออก เขียนได้ เรียนก็ไม่เก่ง สอบชั้นประถมก็ตกเสียอีก คิดว่า “ช่างหัวมันประไร!” ถึงจะสอบตกแต่จะไปเรียนจนครูให้ออก

อายุ ๑๕ ปี ท่านมีคติธรรมฝันแน่นในหัวใจ ๓ อย่างคือ

๑.ในจำนวนคน ๘๐ หลังคาเรือน ในหมู่บ้านเดียวกันนี้ ท่านจะไม่ยอมให้ใครมาเหยียบหัวแม่ตีนเป็นอันขาด
๒.ในบรรดาคนที่เกิดปีเดียวกัน ท่านจะไม่ยอมแพ้ใครในเชิงหาเงิน
๓.ถ้าอายุไม่ถึง ๓๐ ปี ท่านจะไม่ยอมมีเมีย จะต้องหาเงินอยู่ในกระเป๋าของตัวเองให้พอเสียก่อน จะไม่ยอมแบมือขอใครกิน ถ้าจะมีเมียต้องเป็นผู้เลือกเอง ใครจะมาข่มเหงคลุมถุงชนไม่ได้ และผู้ที่จะเป็นเมียจะต้องมีพร้อมทั้งรูปสมบัติ คุณสมบัติ และสกุลสมบัติ

     ปีพุทธศักราช ๒๔๖๘ อายุครบ ๒๐ ปี
ท่านได้ออกบวชเมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันวิสาขบูชา ณ พัทธสีมาวัดบ้านหนองสองห้อง โดยมี หลวงปู่อ้ม เจ้าอาวาสวัดบ้านหนองสองห้องเป็นพระอุปัชฌาย์
เมื่อท่านบวชได้ ๒ พรรษาจึงตั้งใจอธิฐานให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณธรรมว่า
“เวลานี้ข้าพเจ้ามุ่งหวังเอาดีทางพระศาสนาขอจงให้ได้พบครูบาอาจารย์ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบภายใน ๓ เดือน”

     ด้วยแรงอธิษฐานของท่าน ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ท่านได้พบท่านอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี สมความตั้งใจ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านได้สอนให้บริกรรมภาวนา “พุทโธ” เพียงคำเดียวเท่านั้น ขณะนั้นท่านกำลังอาพาธ ท่านจึงแนะนำให้ไปพักอยู่เสนาสนะป่าบ้านท่าวังหิน ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัดวิเวกดี มี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระพี่เลี้ยง

     ท่านขอญัตติใหม่ในคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ใน วันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๐ โดยมี ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เป็นผู้ให้ไตรสรณคมน์ และศีล พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปญฺโญ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการเพ็ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๐ จำพรรษาที่เสนาสนะ ป่าช้าบ้านหัวงัว ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มี พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ พระอาจารย์อาอน ญาณสิริ พระอาจารย์สาม อกิญฺจโน ร่วมจำพรรษา
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๑–๒๔๗๓ จำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชียงใหม่ จำพรรษาร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

     ในคราวที่จำพรรษาวัดเจดีย์หลวงนั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ได้สั่งให้ท่านพ่อลี ไปปฏิบัติกรรมฐาน ในที่เป็นมงคลสถาน ๓ แห่ง คือ
๑) ดอยขะม้อ จังหวัดลำพูน
๒) ถ้ำบวบทอง จังหวัดเชียงใหม่
๓) ถ้ำเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ปีพุทธศักราช ๒๔๗๕-๒๔๗๖ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าบ้องชี (ปัจจุบัน วัดป่าธรรมิการาม) อำเภอกระโทก (โชคชัย) จังหวัดนครราชสีมา
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านตะคร้อ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี
ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘-๒๔๙๒ จำพรรษาที่เสนาสนะป่าช้าผีดิบ คลองกุ้ง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ จำพรรษา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ประเทศนเดีย
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ จำพรรษาที่วัดควนมีด อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ จำพรรษา ที่เสนาสนะ ป่าบ้านผาแด่น ตำบลป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖-๒๔๙๘ จำพรรษาที่วัดบรมนิวาส อำเภอปทุมวัน กรุงเทพ
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๙-๒๕๐๔  จำพรรษาที่วัดอโศการาม ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ

     ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ณ วัดอโศการามในวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ เวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. สิริอายุ ๕๕ ปี ๓๓ พรรษา

     หลังจากท่านมรณภาพ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) มีบัญชาให้เก็บศพท่านไว้ยังไม่ถวายเพลิง เอาอย่างพระมหากัสสปะเถระ ที่ในวันหนึ่งในอนาคตกาลจะมีพระศรีอริยเมตไตรย มาเผาศพพระมหากัสสปะอย่างสมศักดิ์ศรี

     นัยของท่านพ่อลีก็ขอให้เอาเยี่ยงอย่างนี้เป็นอุทาหรณ์ว่า “ผู้มีบุญกรรมที่เกี่ยวข้องกับท่านในวัยข้างหน้า จะได้มาถวายเพลิงสรีระร่างของท่านอย่างสมศักดิ์ศรี”และท่านมีบัญชาอีกว่า ให้บำเพ็ญกุศลและสวดมนต์อุทิศถวายท่านพ่อลีทุกคืนบรรดาบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งเป็นคณะศิษย์ของท่านพ่อลีได้ปฏิบัติตามมาโดยตลอด