วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีเถาะ)






พระธาตุประจำปีเกิด (ปีเถาะ)

     คนปีเถาะ (กระต่าย) เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรค การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ควรหาเวลาหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีเถาะ (กระต่าย) ต้องไปบูชา พระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆ ในชีวิตของท่าน จะคลี่คบายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลและมีอายุยืน ที่สำคัญการที่ท่านได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่าได้อานิสงส์มาก ได้บุญมาก
อนึ่งคนที่เกิดปีเถาะที่มีอายุลงท้ายด้วย ๑-๓-๖ และ ๙ นับเป็นช่วงชีวิตที่มีโฉลกดี ขอแนะนำว่า ช่วงเวลาดังกล่าวถ้าจะให้ดีควรทำบุญมากๆ เป็นพิเศษ จะได้เป็นกุศลหนุนส่งให้ชีวิตช่วงนั้นดวงชะตาดียิ่งขึ้นไปอีก การงานหรือกิจการที่ทำอยู่เจริญรุ่งเรือง มีโชคมีลาภแวะเวียนมาหาไม่ขาดสาย และที่สำคัญให้หาเวลา ไปนมัสการพระธาตุแช่แห้ง ให้ได้ แม้ท่านจะรู้ว่าชีวิตช่วงนั้นเจริญก้าวหน้าและมีความสุขอย่างที่ท่านคาดไม่ถึง

     พระธาตุแช่แห้ง อยู่ที่วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่าหมู่ ๓ ตำบลฝายแก้ว (ม่วงติ๊ด) อำเภอเมือง อยู่บนดอยภูเพียงแช่แห้ง ๓ กิโลเมตร ไปทางตะวันออกของแม่น้ำน่าน

     พระธาตุแช่แห้ง เป็นพุทธสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดน่าน อายุกว่า ๖๐๐ ปี ประวัติมีว่า เมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๙๖ เจ้าพระยาการเมืองขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นเจ้าเมืองน่านได้ทรงรับมอบพระบรมสารีริกธาตุ ๗ องค์จากพระยาลิไท แห่งเมืองสุโขทัย พระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นมีวรรณะ (สี) ต่างกัน คือ เท่าเม็ดพันธุ์ผักกาด มีวรรณะดังแก้ว ๒ องค์ มีวรรณดังมุก ๓ องค์ และมีวรรณดังทองคำ ๒ องค์ พร้อมด้วยพระพิมพ์ทองคำ ๒๐ องค์ พระพิมพ์เงิน ๒๐ องค์ จึงอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ดอยภูเพียงแช่แห้ง ทรงนำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพิมพ์ทองคำ พระพิมพ์เงินบรรจุลงในเต้าปูนสำริดแล้วก่อพระเจดีย์คร่อมขึ้นสูงเหนือพื้นดิน ๑ วา แล้วทำกำแพงโดยรอบพระเจดีย์นั้นด้วย
ต่อมาเจ้าหลวงท้าวขาก่าน ได้ก่อพระเจดีย์คร่อมองค์เดิมสูง ๖ วา และต่อมาปีพุทธศักราช ๒๐๒๘ เจ้าเมืองติโลราชเชียงใหม่ได้สั่งให้ท้าวอ้ายยวมมาครองนครน่าน ได้สร้างเจดีย์คร่อมองค์เดิมให้สูงกว่าเก่าคือกว้าง ๑๐ วา สูง ๑๗ วา สิ้นเวลา ๔ ปีจึงสำเร็จ และได้ทำการฉลองเป็นการใหญ่

      ต่อมาเจ้าผู้ครองนครน่าน ได้บูรณปฏิสังขรณ์ตลอดมาอีกหลายครั้งรวมทั้งได้ปิดทองคำเปลว ทำฉัตร ๙ ชั้น สวมยอดเจดีย์ด้วย ตามตำนานกล่าวว่าปีพ.ศ. ๒๓๓๒ ขณะที่ทำการยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุแช่แห้งนั้น มีอัศจรรย์ ๗ ประการปรากฏให้เห็นกล่าวคือ มีพระยาแร้ง ๔ ตัวเข้ามาแอบซ่อนอยู่ที่พระมหาเจดีย์ผู้คนทั้งหลายต่างได้รู้เห็นกันและได้ยินเสียงเหมือนเสียงนกยูงบินมาแต่ทิศใต้ แต่มองไม่เห็นตัว และยังปรากฏว่าได้เห็นงูตัวหนึ่ง เลื้อยเข้าไปในบริเวณพระมหาธาตุเจดีย์แล้วก็หายไป โดยไม่ทราบว่าหายไปไหน อีกทั้งเมฆฝนบนท้องฟ้าก็หายไปสิ้น อากาศบริสุทธิ์สว่างมากนัก ดาวบนท้องฟ้ายังปรากฏให้เห็นแก่คนทั้งหลายในเที่ยงวันนั้น ทั้งปรากฏการณ์เป็นฝนตกลงมาเห็นเม็ดอยู่แท้ๆ เหมือนจะถูกต้องตัวคนและจับถือเอาได้ แต่ก็ไม่ถูกต้องตัวคนและจับเม็ดฝนไม่ได้สักคน เหตุอัศจรรย์เช่นนี้ปรากฏอยู่ ๒ วันจึงหายไป

     ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ ในโอกาสที่รัฐบาลไทยได้ทำการเฉลิมฉลอง มีพระพุทธศาสนาได้ยั่งยืนมากึ่งพุทธกาล คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้ร่วมกันบริจาคแผ่นทองเหลือง เพื่อหุ้มองค์ธาตุให้เหมือนของเดิม (เจดีย์สูง ๕๕.๕ เมตร) เมื่อหุ้มองค์พระธาตุเจ้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้ลงรักปิดทองเหลืองอร่ามดังที่เห็นอยู่ปัจจุบันนี้

     ตำนานพระธาตุแช่แห้งกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปโปรดสัตว์ ประกาศพระศาสนาตามชนบทบ้านน้อยเมืองใหญ่หลาย ก็ได้เสด็จมาถึงเมืองนนทบุรี ได้เสด็จประทับ ณ ริมน้ำน่านทางทิศตะวันออกที่บ้านห้วยไคร้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของจังหวัดน่านปัจจุบัน ในกาลนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปถึงริมน้ำห้วยไคร้ ทรงทอดพระเนตรเห็นน้ำอันใสสะอาดดุจแก้วไพฑูรย์ พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาที่จะสรงน้ำ ขณะเดียวกันท้าวอมละราช เจ้าเมืองนนทบุรีพร้อมกับภริยาก็มาเพื่ออาบน้ำมนที่นั้นด้วยเช่นกัน ได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธเจ้าก็มีความตกใจกลัว คิดในใจว่าชลอยจะเป็นพระอินทร์หรือเทวดาแน่แท้ จึงได้เข้าไปไหว้ทูลถามว่า “พระองค์มีพระนามว่าอะไร”

      พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า “เราได้ชื่อว่าตถาคต คือ เป็นพระพุทธเจ้าเป็นครูแก่โลกทั้งสาม” เจ้าเมืองเมื่อได้ทราบว่าเป็นพระพุทธเจ้า ก็มีความปีติยินดียิ่งนักจึงได้ถวายผ้าขาวแด่พระพุทธเจ้าผืนหนึ่ง พระองค์ก็ทรงรับผ้าขาวนั้นด้วยพระมหากรุณาพร้อมกับได้ถวายผลสมอแห้งจำนวน ๗ ลูกแด่พระพุทธเจ้าด้วย พระพุทธองค์ได้ตรัสพยากรณ์กับเจ้าเมืองว่า ต่อไปในภายภาคหน้าสถานที่นี้จะเป็นนครอันกว้างใหญ่ไพศาล มีความอุดมสมบูรณ์ และจะมีนามว่าเมืองน่าน และพระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปประทับ ณ โคนต้นสำโรงบนดอยภูเพียงแช่แห้ง และเสวยผลสมอแห้งที่เจ้าเมืองถวาย แต่เนื่องจากผลสมอแห้งมากก่อนเสวยได้ทรงแช่ผลสมอในน้ำเสียก่อน และทรงพยากรณ์ต่อไปว่า ณ สถานที่นี้ต่อไปจะมีผู้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระองค์มาบรรจุไว้ เพื่อเป็นที่สักการบูชาแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายตราบสิ้น ๕,๐๐๐ พรรษาและจะมีชื่อว่าพระธาตุแช่แห้ง ตามนิมิตที่เจ้าเมืองได้แช่สมอแห้งถวายพระพุทธเจ้า

     ปกติที่วัดพระธาตุแช่แห้ง จัดงานประจำปี ซึ่งเป็นงานประเพณีนมัสการพระบรมธาตุและปิดทองพระ ทุกวันเพ็ญเดือน ๔ (หรือเดือน ๖ เหนือ) และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย


คำไหว้พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

ตั้งนะโม ๓ จบ แล้วกล่าวคำบูชาว่า
ยา ธาตุภูตา อะตุลา นันทะปุเร เทวานุภาเวนะ วะระธาตุ เสฏฐัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย

คำไหว้พระธาตุแช่แห้ง สำหรับผู้เกิดปีเถาะ

ยา ธาตุภูตา อะตุลานุภาวา จิรัง ปะติฏฐิตา นันทะกัปปะเก ปุเร เทเวนะ คุตตา วะระพุทธะธาตุงจิรัง วันทามิ หันติง ชินะธาตุโยโส ตะถาคะตัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ทูระโต