วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ




พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ
วัดเจติยาคีรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย
“พระอริยเจ้าผู้มีกายและจิตสมควรแก่วิมุติธรรม”

     พระเดชพระคุณพระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโร พระอริยเจ้าผู้ถึงพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ เกิดมาเพื่อบรรลุธรรมในปัจจุบันชาติ ท่านมีนิสับโน้มน้อมมาทางพระธรรมตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อได้ฟังธรรมจากพระกรรมฐาน จิตสงบรวมเป็นหนึ่ง สามารถแยกกายและจิตได้ ท่านจึงได้สละทรัพย์ และบ้านเรือนออกบวช

ท่านเป็นผู้มีความเพียรพยายามเป็นเลิศ มีสติในการแก้ไขกิเลสเฉียบพลัน อุบายธรรมและปฏิปทาเป็นปัจเจกแปลกจากครูบาอาจารย์รูปอื่น

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำพวง อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ได้เกิดจิตปฏิพัทธ์หญิงสาวคนหนึ่ง จึงคิดหาอุบายแก้ไข โดยยกภาษิตโบราณมาเทียบสิ่งที่ท่านหลงใหลอยู่ว่า “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง ยังเอากระดูกมาแขวนคอ” ท่านจึงคิดดัดนิสัยของตนเองที่ไปหลงรักผู้หญิงเข้าด้วยการเอากระดูกช้างมาแขวนคอ ห้อยต่องแต่ง ท่านตั้งในมั่นว่า “ตราบใดที่ใจยังตัดใจอาลัยรักในสตรีไม่ได้ ยืน เดิน นั่ง นอน ออกบิณฑบาต ฉันข้าว ก็จะเอากระดูกช้างแขวนคอไว้ตราบนั้น” ไม่ว่าท่านจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรือ รับกิจนิมนต์ไปในหมู่บ้านก็ตาม ท่านเอากระดูกช้างแขวนคอไว้ตลอด จนชาวบ้านทั้งหลายเขาเล่าลือกันว่า “ท่านเป็นบ้า”

เมื่อท่านปฏิบัติอย่างนี้ เกิดความละอายใจเห็นโทษภัยในความลุ่มหลง จิตก็คลายความกำหนัดรักใคร่ในหญิงนั้น เมื่อหลวงปู่ขาว อนาลโย ได้ถามถึงเหตุที่ท่านทำเข่นนั้นท่านได้กราบเรียนดังที่กล่าวมาแล้ว หลวงปู่ขาวกล่าวชมว่า “อุบายนี้ดีนักแล”

จิตของท่านจึงมุ่งไปสู่ความหลุดพ้อ โจรทะยานทำลายกองกิเลส ดั่งสายน้ำพุ่งลงจากยอดเขาสูงลงสู่พื้นล่าง ท่านชอบท่องเที่ยวและแสวงหาครูบาอาจารย์ที่อยู่ตามป่าเขาลึกๆ เช่น เข้าไปศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์หล้า ขนฺติโก พระอริยเจ้าผู้อยู่แต่เพียงโดดเดี่ยวบนสันเทือกเขาภูพาน

ท่านมีสหธรรมิกคือ ท่านพระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร ได้รับอบรมในทางธรรมจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่ขาว อนาลโย

ท่านได้รับการยกย่องจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า “...กาเยนะ วาจายะ วะเจตวิสุทธิยา ท่านจวน! เป็นผู้มีกายและจิตสมควรแก่ข้อปฏิบัติธรรม เป็นผู้สามารถรวมจิตทีเดียวถึงฐีติจิต”

ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคมพ.ศ. ๒๔๖๓ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก ณ บ้านเหล่ามันแกว บ้านเลขที่ ๒๘ หมู่ที่ ๑๒ ตำบลดงมะยาง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ

เป็นบุตรของนายลา  และนางแหวะ วงศ์จันทร์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๗ คนท่านเป็นบุตรคนที่ ๖

เมื่อท่านอายุได้ ๑๔-๑๕ ปี ได้พบพระธุดงค์มาปักกลดอยู่ใกล้บ้านก็บังเกิดความเลื่อมใสตั้งปณิธานว่าต่อไปจะบวชอย่างท่านบ้าง พระธุดงค์ได้มอบหนังสือ “ไตรสรณคมน์” ของท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตฺยาคโม ไว้ให้ เมื่อท่านได้อ่านแล้วบังเกิดความคิดเลื่อมใสศรัทธา ได้พยายามปฏิบัติตาม เริ่มสวดมนต์ไหว้พระ นั่งสมาธิ บริกรรมภาวนาจิตรวมเป็นหนึ่ง จิตอยู่เฉพาะจิต กายอยู่เฉพาะกาย เวทนาใดก็ไม่มีปรากฏเลย

หลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ อายุย่างเข้า ๑๘ ปี ท่านได้เข้าทำราชการกรมทางหลวงแผ่นดินอยู่เป็นเวลา ๔ ปี

ภายหลังระหว่างทำงานได้รับหนังสือ “จตุราลักษณ์” ของท่านพระอาจารย์เสาร์ กฺนตสีโล เมื่อท่านอ่านไปถึงบทมรณานุสติ จิตก็สลดสังเวชว่า “เราก็ต้องตาย”

เมื่ออายุเพียง ๒๐ ปีท่านสละเงินที่เก็บหอมรอมริบระหว่างทำงานอยู่กรมทางหลวงทั้งหมดเป็นเจ้าภาพสร้างมหากฐินคนเดียว สร้างพระประธาน สร้างห้องน้ำ ถวายสงฆ์จนเงินหมด

เมื่อท่านอายุ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดเจริญจิต บ้านโคกกลาง ตำบลดงมะยาง อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ พระอาจารย์บุ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาแจ้ง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า “กลฺยาณธมฺโม” ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรม และสอบได้นักธรรมตรีในพรรษานั้น และต่อมาก็ได้ลาสิกขา

หลังจากสึกมาเป็นฆราวาสแล้วท่านได้เดินทางไปแสวงหาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐานธรรมยุต และได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุต เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๖  ณ วัดป่าสำราญนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยมี พระครูทัศนวิสุทธิ (มหาดุสิต เทวิโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ได้รับฉายาว่า “กุลเชฎฺโฐ”

เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ท่องปาฏิโมกข์ และเจ็ดตำนานจบหมดภายในเวลาหนึ่งเดือน

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๘ พรรษาที่ ๓ ท่านจำพรรษาที่วัดบ้านนาจิกดอนเมย บ้านหนองปลิง ตำบลนาจิก ได้อธิษบานทำความเพียรจะไม่นอนและไม่ฉันตอลกพรรษา

ท่านอธิฐานจิตว่า “ถ้ายังมีบุญวาสนาอยู่ในพรหมจรรย์แล้ว ขอให้ได้นิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต”

หลังจากนั้น ๓ วัน ท่านได้นิมิตว่า ได้เดินทางไปสู่สำนักท่านพระอาจารย์มั่น เห็นท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ พอเห็นก็รู้ว่านี่คือท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเหลือบมาเห็นเข้าก็ทักพระอาจารย์จวนอย่างดีใจว่า “อ้อ...ท่านจวนมาแล้ว ท่านจวนมาแล้ว” มีความรู้สึกคล้ายกับพ่อเห็นลูก ลูกเห็นพ่อ พอท่านตรงเข้าไปจะกราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์มั่นก็โก่งหลัง บอกให้ท่านขึ้นขี่หลังเหมือนขี่ม้า แล้วท่านจึงพาเหาะขึ้นบนอากาศจนลิบเมฆ แล้วพามาลงที่กลางภูเขาลูกหนึ่ง แล้วบอกว่า “เอาละ ลงนี่แหละ พอดีพอควรแล้ว”

ท่านพิจารณาเกิดปีติยินดีว่า คงจะมีวาสนาบารมีอยู่ในเพศพรหมจรรย์ จึงเร่งทำความเพียรต่อไป

หลังออกพรรษาได้ ๕ วัน พระอริยคุณาธาร (มหาเส็ง ปุสฺโส) ได้เดินทางมาที่วัดป่า บ้านนาจิก พระอุปัชฌาย์จึงได้ฝากท่านกับพระอริยคุณาธาร ขอให้ช่วยนำไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นด้วย

ปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ พรรษาที่ ๔ ท่านจึงได้ติดตามท่านเจ้าคุณอริยคุณาธารไปอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร

ขณะที่ท่านอยู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือใหม่ๆ ใจก็อดคิดตามประสาปุถุชนไม่ได้ว่า “เขาเล่าลือกันว่าท่านพระอาจารย์ใหญ่เป็นพระอรหันต์ เราก็ไม่ทราบว่าจริงไม่หรือ ถ้าเป็นอรหันต์จริง คืนนี้ก็ให้มีปาฏิหาริย์ให้เห็นปรากฏด้วย”

ในคืนวันนั้นเอง พอท่านภาวนา ก็ปรากฏนิมิตเห็นท่านพระอาจารย์มั่นเดินจงกรมอยู่บนอากาศ และแสดงปาฏิหาริย์เหาะขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา และเวลานอนหลับก็ยังฝันเห็นท่านเดินอยู่บนอากาศเช่นเดียวกัน ท่านจึงยกมือไหว้และกล่าวขอขมาว่าเชื่อแล้ว...

หลังจากวันนั้น ท่านก็เกิดคิดขึ้นมาอีกว่า “เอ...เขาว่าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของลูกศิษย์ทุกคนจริงไหมหนอ? เราน่าจะทอลองดู ถ้าท่านอาจารย์ใหญ่รู้วาระจิตของเรา ขอให้ท่านอาจารย์ใหญ่มาหาเราที่กุฏิคืนวันนี้เถอะ” พอท่านคิดได้ประเดี๋ยวเดียวก็ได้ยินเสียงไม้เท้าเคาะใกล้เข้ามา และกระแทกเปรี้ยงเข้าที่ฝากุฏิของท่าน พร้อมกับเสียงของท่านพระอาจารย์มั่นเอ็ดลั่นว่า “ท่านจวน...ทำไมจึงไปคิดอย่างนั้น นั่นไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ รำคาญเรานี่”

พรรษาที่ ๕-๖ ปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๑ จำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ คืนหนึ่งขณะนั่งภาวนาในโบสถ์มีนิมิตเกิดขึ้นว่ามีพระเถระรูปหนึ่งได้มาให้โอวาทตักเตือนว่า “ท่านจวน ท่านอย่าวางแผ่นดิน เพราะความประพฤติของท่านยังไม่สม่ำเสมอ”

ท่านได้มาพิจารณาดู แผ่นดินแปลว่า ให้มีความหนักแน่นเหมือนแผ่นดิน เมื่อถูกกระทบกระเทือนจากอารมณ์ก็อย่าวอกแวก ตั้งใจให้เป็นสมาธิ ไม่หวั่นไหวฟุ้งซ่าน ท่านจึงได้เขียนจดหมายกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นถึงนิมิตในครั้งนี้

ท่านพระอาจารย์มั่นได้ตอบจดหมายว่า

“ถึงท่านจวนที่อาลัยยิ่ง
...ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมได้แนะนำให้ท่านนั้น ขอให้ท่านจงตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามคำที่ผมแนะนำ อย่าได้ประมาท เพื่อจะได้เป็นเกียรติยศแก่พระพุทธศาสนาต่อไป”

หลังจากนั้นท่านได้ออกวิเวกอาศัยอยู่บนดอยกับชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือติดกับเขตพม่าเข้าเขตจังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า แล้วกลับมาทางภาคอีสาน

เมื่อกลับมาได้ไปกราบนมัสการท่านพระอาจารย์มั่น ที่วัดบ้านหนองผือ จังหวัดสกลนคร ท่านพระอาจารย์มั่นได้ถามว่าการภาวนาเป็นอย่างไรบ้าง ท่านอาจารย์ได้กราบเรียนท่านว่า “ไม่ดีเหมือนอยู่กับพ่อแม่ครูบาอาจารย์”

ท่านอาจารย์มั่นจึงบอกว่า “ต่อไปให้ภาวนาอยู่ทางภาคอีสานนี้แหละ อย่าไปที่อื่นอีกเลย” หลังจากนั้นท่านก็ท่องเที่ยวธุดงค์อยู่ป่าเขาถ้ำทางภาคอีสานมาโดยตลอด

พรรษาที่ ๒๗-๓๘  ปีพุทธศักราช ๒๕๑๒-๒๕๒๓ ท่านได้สร้างวัดเจติยาคิรีวิหาร (ภูทอก) อำเภอศรีวิไล จังหวัดหนองคาย ให้เป็นศาสนสถานที่สำคัญสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติธรรม ด้วยวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่าน และความสวยงามของภูทอก เมื่อใครได้ไปสัมผัสแล้วต่างก็เกิดซาบซึ้งศรัทธากันถ้วนหน้า

ท่านละสังขารเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๓ ด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตก ณ ท้องนาทุ่งรังสิต หมู่ที่ ๔ ตำบลคลองหลวง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พร้อมกับอาจารย์บุญมา ฐิตเปโม พระอาจารย์วัน อุตตฺโม พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม
สิริรวมอายุ ๕๙ ปี ๙ เดือน ๑๘ วัน ๓๘ พรรษา