วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีระกา)




พระธาตุประจำปีเกิด (ปีระกา)

คนปีระกา(ไก่)เมื่อมีเคราะห์หรือช่วงชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรค การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ควรหาเวลาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีระกา(ไก่)ต้องไปบูชา พระธาตุหริภุญชัย ที่จังหวัดลำพูน ระหว่างที่มีชีวิตอยู่หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆในชีวิตของท่าน จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลมากและมีอายืน ที่สำคัญการที่ท่านได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่า ได้อานิสงส์มาก

และที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษก็คือ ตามเกณฑ์ชะตาคนที่เกิดปีระกา(ไก่)ปีใดที่มีอายุลงท้ายด้วยเลข ๐ เป็นช่วงชีวิตที่มีเคราะห์ควรทำบุญมากๆหน่อย ให้ทำบุญใหญ่ ปล่อยวัวปล่อยควาย การงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่จะเจริญรุ่งเรือง มีลาภผลตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นจึงขอแนะนำว่า ควรหาโอกาสไปนมัสการ พระธาตุหริภุญชัยให้ได้ ย่อมบังเกิดอานิสงส์ให้ชีวิตคนปีระกาดีขึ้นอย่างแน่นอน

พระธาตุหริภุญชัย ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุหริภุญชัย (เลขที่๓๓๕ ถนนอินทยงยศ หมู่ ๑ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน)สร้างราว พ.ศ. ๑๔๔๑ ในรัชสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เจดีย์สูง ๔๖เมตร มีงานนมัสการทุกวันวิสาขบูชา หรือสันเพ็ญเดือน ๖ (ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทางเหนือ)บรรจุพระธาตุสวนธารพระโมฬีหรือท้ายทอย พระทรวง พระองคุลี(นิ้ว)พระธาตุส่วนย่อยอีกเต็มบาตรพระ ตามตำนานเล่าว่า พระกัจจายนะเป็นผู้นำมา พระบรมธาตุมีทั้งหมด ๑๑๒ องค์ ขนาดใหญ่เท่าผลมะเขือพวง ๕๖ องค์ เล็กขนาดเท่าเม็ดข้าวโพด ๕๖ องค์ มีลักษณะกลมเกลี้ยง สีขาวหม่น แต่มีแววประกายสดใสอยู่ในตัว ถือเป็นสุวรรณเจดีย์(เจดีย์ทอง)ประจำองค์ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธองค์เคยทรงกล่าวกับพระอานนท์ว่า “ดูกร,อานนท์เมื่อตถาคตนิพพานแล้ว ไม่นานสถานที่นี้จักเป็นมหานครอันหนึ่ง ชื่อว่า เมืองหริภุญชัยบุรี เหตุที่ตถาคตได้ฉันผลสมอในที่นี้ พระพุทธเจ้าล่วงเกิดแล้ว ๓ องค์ ย่อมมีเจดีย์ทองคำองค์ละหลัง ในที่อันตถาคตนั่งนี้จักเป็นที่ตั้งสุวรรณเจดีย์ทองคำแห่งตถาคตไม่นานแล”

เกี่ยวกับพระธาตุหริภุญชัย ยังมีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ดังนี้ราว พ.ศ. ๑๕๙๐ สมัยพระเจ้าอาทิตยราช ถูก กา ซึ่งอยู่รักษาพระบรมบรมธาตุถ่ายมูลรดพระเศียรขณะจะทรงถ่ายพระบังคนหนัก ณ จุดที่ตั้งพระบรมธาตุหริภุญชัยปัจจุบัน ทรงรับสั่งให้จับกาให้เณรเรียนภาษากา จนฟังภาษาการู้เรื่อง ในที่สุดก็รู้ว่า มีพระบรมธาตุอยู่ ณ ที่นั้น ทรงอธิษฐานว่าถ้ามีพระบรมอยู่จริง ขอจงแสดงปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์ ขณะนั้น ผอบพระบรมธาตุที่พระเจ้าอโศกได้ทรงทำไว้(พันกว่าปีก่อนหน้าดังกล่าว)ก็ผุดขึ้นมาสูง ๓ ศอก เปล่งฉัพพรรณรังสีลอยอยู่ ณ ที่นั้น ทำให้ทุกคนปลื้มปิติโดยทั่วกัน ครั้นจะย้ายไปที่อื่นก็จมลงอีก เมื่อพระราชาอธิษฐานว่าจะสร้างเจดีย์ไว้ที่เดิมจึงผุดขึ้นมาเปล่งรัศมีอีกครั้งหนึ่ง จึงทรงสร้างสถูปทรงปราสาทสูง ๑๒ ศอกมี ๔ เสา ๔ ประตู เมื่อ พ.ศ. ๑๖๐๗ ซึ่งเหตุการณ์ตอนนี้มีการเล่ารายละเอียด ดังนี้

“...ขุดลอกเอาดินจากจุดที่พระบรมธาตุผุดขึ้นโดยรอบ ๔ ด้าน ด้านละ ๙ วา ขุดลึกลงไป ๙ วา จะเป็นหลุมกว้าง ๙ วาลึก ๙ วา วัดออกไปรอบนอกหลุมรัศมีอีก ๙ วา นี้ให้ขุดเอาหน้าดินออกทิ้งเสียนำเอาดินภายใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ๙ ต้นมาถมแทน ดินถมดินให้ประพรมด้วยน้ำสุคนธรสอันหอมหวลภายใต้หลุมใหญ่นั้น ให้ผูกหุ่น ผูกยนต์ (หุ่นพยนต์) ไว้  ๔ทิศ คือ ยนต์น้ำ ยนต์หอก ยนต์ดาบ ยนต์ทราย ยนต์เหล่านี้จะเฝ้ารักษาองค์พระบรมธาตุไว้มิให้ผู้ใดขุดคุ้ย ทำลายถึงองค์พระธาตุเจ้าได้ โดยจะสำแดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆ ให้เป็นอันตรายต่อผู้บุกรุก ตรงจุดศูนย์กลางหลุมให้ก่อฐานรองรับพระธาตุขึ้นสูง ๒ ศอก ข้างหลุมทั้ง ๔ ทิศ บนยนต์ทำเป็นซุ้มไว้ทิศละ ๑ ซุ้ม บรรจุรูปช้าง ม้า วัว ควาย และราชสีห์ หล่อด้วยทองคำบริสุทธิ์หนักตัวละ ๒๐ บาท ที่สำหรับรองรับพระบรมธาตุทำเป็นรูปเรือสำเภอ ด้วยทองคำหนัก ๑๕๖ บาท สลักลวดลายอย่างประณีตสวยงามบนสำเภาทองคำ มีแท่นวางโกศบรรจุพระบรมธาตุเจ้าโกศนี้มี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ ทำด้วยทองแดง ชั้นที่ ๒ ทำด้วยเงิน ชั้นที่ ๓ ทำด้วยทองคำ บรรจุพระบรมธาตุเจ้าไว้ ภายในโกศและในเรือสำเภาทองคำมีดอกไม้เงิน ๑๕๖ ดอก ดอกไม้คำ (ทองคำ) ๑๕๖ ดอก จัดวางไว้เป็นเครื่องสักการบูชา องค์พระบรมธาตุเจ้า วันอัญเชิญโกศบรรจุพระบรมธาตุเข้าไปประดิษฐานบนสำเภาทองคำ อาราธนานิมนต์พระเถระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ๑๙ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายร่วมอนุโมทนา เมื่อได้ฤกษ์ก็อุ้มโกศบรรจุพระธาตุลงไปประดิษฐานไว้บนสำเภาทองคำ จากนั้นก็หยาดคำบอกกล่าวแก่แม่พระธรณี อินทรพรหม ยม ยักษ์ทั้งหลายทั่วสากลจักรวาลให้รับรู้และร่วมอนุโมทนารับเอากุศลผลบุญนี้ นอกนั้นต่างคนต่างก็อธิษฐานจิตตามปรารถนาขั้นตอนต่อไปได้แก่การสร้างพระเจดีย์ครอบองค์พระบรมธาตุ การก่อสร้างให้ก่อทับครอบบริเวณก้นหลุมที่ประดิษฐานพระบรมธาตุไว้ด้วยอิฐดิน เผาจนถึงปากหลุมแล้วก่อขึ้นเป็นองค์พระเจดีย์มีฐานเป็นรูป ๘ เหลี่ยม บนฐาน ๘ เหลี่ยมนี้ทำเป็นรูประฆังคว่ำสูง ๓ วา ๑ คืบ ดินที่จะนำมาทำอิฐ ให้เอาที่เหลือจากการสร้างพระรอดในสมัยพระนางจามเทวีมาบดละเอียดผสมลงไปด้วย  รวมกับดินใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ และดินทรายจากแม่น้ำปิงที่ไหลผ่านทิศเหนือของลำพูน จำนวน ๕๖ หาบ พรมด้วยน้ำพุทธมนต์ ปรุงด้วยของหอม และเกสรดอกไม้ เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นสักการะพระบรมธาตุไปด้วย นำดินที่คลุกเคล้าผสมกันดีแล้วไปหมักแช่ด้วยน้ำอ้อย ยางรัก น้ำหอม จนได้ที่ดีแล้ว จึงนำมาเข้าแบบปั้นเป็นก้อนอิฐ ขณะก่อสร้างผู้ที่ทำการก่อสร้างทุกคนต้องสมาทานศีล ๕ และศีล ๘ ตามกำลังศรัทธา ให้สำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ประพฤติในสิ่งไม่เป็นมงคล เวลาที่ทำงานก็นุ่งห่มด้วยผ้าขาวเพื่อแสดงความสะอาดบริสุทธ์ ตั้งใจทำงานด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า ใช้เวลาทำการก่อสร้างหนึ่งเดือนเต็ม การสมโภชพระธาตุเมื่อสร้างเสร็จดีแล้วนิมนต์พระสงฆ์ ๑๙ รูปกล่าวอนุโมทนาและเจริญพร ด้วยกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่นี้ ทำให้บังเกิดปาฏิหาริย์มหัศจรรย์เป็นฉัพพรรณรังสีอันเจิดจ้าสวยงาม มีรัศมีกระจายออกจากจากองค์พระเจดีย์เป็น ๗ สี เหมือนที่เคยปรากฏมาแล้วครั้งหนึ่ง พอสิ้นฉัพพรรณรังสีก็พลันเกิดฝนตกลงมาห่าใหญ่ จนน้ำไหลนองท่วมถึงหลังเท้าคน...”

การบรรจุองค์พระบรมธาตุหริภุญชัย มีรายละเอียด ดังนี้
“...มีสิงห์ทองคำสูง ๗ ศอกหันไปทางทิศตะวันออก มีท่อแก้งใหญ่อันหนึ่งตั้งตรงขึ้นไป ท่อแก้วนี้มีสีเหลืองแจ่มใสมองทะลุได้ มีโกศแก้วสีเขียวงดงามขนาดไหอยู่ภายในท่อเป็นที่บรรจุพระบรมธาตุ ท่อแก้วอันนี้ขึ้นไปถึงพื้นฐานพระเจดีย์ระดับพื้นดิน เวลาใดที่พระบรมธาตุจะเสด็จออก จะไปทางท่อแก้วนี้ จนบรรลุถึงยอดแก้ว อันเป็นยอดเจดีย์ที่ประดิษฐานอยู่เบื้องบนโน้น

พื้นที่รองรับแผ่นแก้วสีเขียวเป็นทรายคำ (ทอง) เบื้องหน้าสิงห์ทองคำมีวิหารใหญ่ ๙๐ ห้องสร้างด้วยทองคำทั้งหลัง ณ ๔ มุมจะมีปราสาททองคำมุมละ ๑ หลัง แต่ละหลังจะจุดเทียนไว้ ๑ เล่ม เทียนเหล่านี้จะไม่มีวันดับเลยจนสิ้นพระศาสนา แต่ละมุมจะมีโคมทองคำตุง (ธง) ทองคำ น้ำ บ่อแก้ว ปราสาทดอกไม้ มีพญา ๗ องค์เป็นผู้ใหญ่ดูแลอยู่ เป็นผู้สร้างแท่นแก้วกว้าง ๒๗ ศอก สูง ๓ วา สร้างแล้ว ๒๐ ชั้น เฉพาะฐานที่เป็นแก้วล้วนๆ สูง ๕ ศอก ขึ้นไปจากนั้นเป็นทองคำทั้งหมด กาละใดเมื่อคนทุศีลใจบาปหยาบช้าถูกอำนาจฟ้าดินกวาดไปหมดแล้ว ฝนจะตกลงมาท่วมชั่วขาธนูเพื่อชำระล้างพื้นโลกให้สะอาด เมื่อน้ำแห้งลงจะมีดอยโผล่ขึ้นมา ๔ ลูกที่หน้าวัดชีวรแท่น แก้วนี้จักประดิษฐานอยู่บนยอดดอยนั้น เพื่อให้มนุษย์ผู้มีศีลธรรมได้ขึ้นไปอยู่ แล้วจะพ้นจากภัยพิบัติ ทั้งปวง...”

การบูรณะต่อยอดพระบรมธาตุหริภุญชัย ซึ่งกระทำกันในสมัยพระเจ้าติโลกราช พ.ศ. ๑๘๙๖ จากสูง ๑๕ วา เป็น ๒๓ วา ใช้ฉัตร ๗ ชั้นแก้วบุษบกหนัก ๒๓๐ เฟื้อง ศิลาแลง ๖๐,๐๐๐ ก้อน อิฐ ๑๐๐,๐๐๐ ก้อน ปูน ๑.๖ ล้านหน่วย ค่าน้ำกล้วยตีบเงิน ๖๐,๐๐๐ สิ้นน้ำหนัก ๔,๐๐๐,๐๐๐ ราคาเงิน ๙,๐๐๐ รวมเงินค่าก่อสร้างทั้งหมด ๔,๐๐๐,๐๐๐ ทองจังโกฎก์ (ทองแดงผสมนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดองค์พระเจดีย์ ๑๕,๐๐๐ แผ่น

คำไหว้พระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐัง สะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนา ยิตะปัตตัปปะรัง สีเสนะ มัยหัง ปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา

แปลว่า ข้าพเจ้าขอเอาเศียรเกล้าของข้าพเจ้า นอบน้อมพระธาตุอันเป็นพระเจดีย์ทอง ซึ่งต้องอยู่ในเมืองหริภุญชัย คือพระอัฐิเบื้องธาร พระโมลี อันประเสริฐ พระอัฐิเบื้องทรวงอันประเสริฐสุด กับทั้งพระอัฐิ พระอังคุลี และพระธาตุย่อยเต็มบาตรหนึ่ง อันพระกัจจายนะนำมา ข้าพเจ้าขอวันทาในกาลทุกเมื่อแล