วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีมะโรง)






พระธาตุประจำปีเกิด (ปีมะโรง)

คนปีมะโรง (งูใหญ่) เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรค การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ควรหาเวลาหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีมะโรง (งูใหญ่) ต้องไปบูชา พระธาตุวัดพระสิงห์ ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ (บางแห่งว่า พระพุทธสิหิงค์ ที่วัดพระสิงห์ จังหวัดเชียงใหม่) ระหว่างที่มีชีวิต หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆ ในชีวิตของท่าน จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลและมีอายุยืน ที่สำคัญการที่ท่านได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่าได้อานิสงค์มากได้บุญมาก

และที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษก็คือ ตามหลักโหราศาสตร์คนที่เกิดปีมะโรง (งูใหญ่) ปีใดที่มีอายุลงท้ายด้วยเลข ๖ และ ๐ นับเป็นช่วงที่มีเคราะห์ ควรทำบุญมากๆ หน่อย ให้ทำบุญใหญ่ปล่อยวัวควาย กิจการที่ทำอยู่จะเจริญรุ่งเรือง มีลาภผลตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ดังนั้นจึงขอแนะนำว่า ควรหาโอกาสไปนมัสการ พระธาตุวัดพระสิงห์ (หรือนมัสการพระพุทธสิหิงค์) ให้ได้ ขอรับรองว่าชีวิตของคนปีมะโรงดีขึ้นอย่างแน่นอน

พระธาตุวัดพระสิงห์ ตั้งอยู่ในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร ถนนสามล้าน ตำบลพระสิงค์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นับเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเชียงใหม่ เป็นที่รวมตัวอย่างของศิลปกรรมแบบล้านนา

องค์พระมหาเจดีย์สูงจากพื้นดินถึงยอด ๒๕ วา ฐานสี่เหลี่ยมยาวด้านละ ๑๖ วา ๑ ศอก ๖ นิ้ว พระมหาเจดีย์นี้พระเจ้าผายูเจ้า ผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้โปรดให้สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๘๘๘ ต่อมาครูบาศรีวิสัยนักบุญแห่งล้านนาได้บูรณะปฎิสังขรณ์ และเสริมสร้างให้สูงใหญ่ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ ในประวัติวัดพระสิงห์ไม่ปรากฏรายละเอียดมากนักว่า พระมหาเจดีย์นี้บรรจุพระบรมธาตุส่วนไหน ใครเป็นผู้นำมาบรรจุไว้

อย่างไรก็ตามวัดพระสิงห์วรวิหาร ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทะรูปที่ศักดิ์สิทธิ์และมีพุทธลักษณะที่สวยงาม เป็นที่เคารพสักการบูชาของคนทั่วไป คือพระพุทธสิหิงค์หรือคนทั่วไปเรียกว่าพระสิงห์ และจากคำกล่าวนมัสการพระธาตุพระสิงห์ ที่ปรากฏในตำราพระธาตุประจำปีเกิดนั้น เมื่อแปลเป็นภาษาไทย ทำให้ทรายว่าคงหมายถึงพระพุทธสิหิงค์ ที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่วัดพระสิงห์นี้ ดังนั้นจึงขอนำประวัติพระพุทธสิหิงค์มาลงให้ปรากฏโดยสังเขป

พระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งได้สร้างขึ้น พระเจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายสมเด็จพระเจ้ารามราช (พระร่วง) พระเจ้ากรุงสุโขทัย พระพุทธสิหิงค์ได้ประดิษฐานอยู่ที่กรุงสุโขทัย เป็นที่เคารพสักการบูชามาหลายรัชกาล จนถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ครั้นกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้นแล้ว จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานอยู่ ณ กรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระยาญาณดิศผู้เป็นราชบุตร ได้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองกำแพงเพชร อยู่มาไม่นานพระยาพรหมเจ้าเมืองเชียงรายยกทัพมาตีเมืองกำแพงเพชรได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงราย ครั้นกาลล่วงมา พระยาพรหมกับพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้าเมืองเชียงใหม่เกิดวิวาทกัน พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายและได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงมาประดิษฐานไว้ ณ นครเชียงใหม่ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๐๕ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จไปตีนครเชียงใหม่ได้ จึงได้อาราธนาอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานไว้ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ในกรุงศรีกรุงศรีอยุธยา และประดิษฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๐๕ ปี จนถึงกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ซึ่งในสมัยนั้น เมืองเชียงใหม่ยังเป็นของพม่าอยู่ ชาวเมืองเชียงใหม่จึงได้พากันอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปประดิษฐานไว้ ณ เมืองเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐