วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

พระธาตุประจำปีเกิด (ปีกุน)




พระธาตุประจำปีเกิด (ปีกุน)

คนปีกุน(หมู) เมื่อมีเคราะห์หรือชีวิตช่วงใดรู้สึกมีปัญหาหรือมีอุปสรรค การดำเนินชีวิตไม่ราบรื่น ควรหาเวลาหาโอกาสไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิดของตน ซึ่งคนปีกุน(หมู) ต้องไปบูชาพระธาตุดอยตุงจังหวัดเชียงราย ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ หรืออย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งนอกจากความยุ่งยากต่างๆในชีวิตของท่านจักคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ยังถือว่าท่านได้บุญกุศลมากและมีอายุยืนที่สำคัญการที่ท่านได้มานมัสการพระบรมธาตุนั้น โบราณท่านว่า ได้อานิสงส์

ที่อยากจะเน้นเป็นพิเศษก็คือ ตามเกณฑ์ชะตา คนที่เกิดปีกุน(หมู)ปีใดที่มีอายุลงท้ายด้วย ๙ เป็นช่วงชีวิตที่มีเคราะห์ ควรทำบุญมากๆหน่อย ให้ทำบุญใหญ่ปล่อยวัวปล่อยควาย การงานหรือธุรกิจที่ทำอยู่จะเจริญรุ่งเรือง มีลาภผลตลอดช่วงเวลาดังกล่าว และขอแนะนำว่าควรหาโอกาสไปนมัสการ พระธาตุดอยตุง ให้ได้ย่อมบังเกิดอานิสงส์ให้ชีวิตคนปีกุนดีขึ้นอย่างแน่นอนและทันตาเห็น

พระธาตุดอยตุง ตั้งอยู่ที่ตำบลห้วยไคร้ กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังเชียงราย (สูงจากระดับน้ำทะเล ๒,๐๐๐เมตร)ตามตำนานพระธาตุดอยตุง กล่าวไว้ว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จประกาศสัจจธรรมและโปรดสรรพสัตว์ทั้งหลาย พร้อมด้วยพระอรหันต์ ๕๐๐ รูป ได้เสด็จถึงเมืองเชียงแสน ทรงทอดพระเนตรไปยังภูเขา ๓ ลูกปรากฏอยู่เบื้องหน้า จากนั้นพระองค์ก็เสด็จโดยทางอากาศพร้อมพระอรหันต์ ๕๐๐ รูปลงบนยอดดอยปู่เจ้า ประทับนั่งเหนือหินก้อนหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะสัณฐานดังมะนาวผ่าครึ่ง ทรงทอดพระเนตรดูบ้านเมืองและทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปภายหน้าเมืองนี้จะเป็นราชธานีเมืองใหญ่ เป็นที่ตั้งอยู่แห่งพระศาสนาของพระตถาคตตราบเท่า ๕,๐๐๐ พรรษาและเมื่อพระองค์นิพพานแล้ว จักละกระดูกรากขวัญเบื้องซ้าย(กระดูกด้ามมีดหรือไหปลาร้า)ไว้ ณ ที่นี้ ให้เป็นที่สักการะบูชาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ดังนี้แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับเมืองกุสินารายณ์

ครั้งเมื่อรัชสมัยพระเจ้าอชุตะราช (รัชกาลที่ ๓แห่งราชวงศ์สิงหนวัติ เจ้าผู้ครองแคว้นโยนกนาคนคร) ครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๔๕๒ และต่อมาอีก ๓ ปี ได้มีพระมหากัสสปเถระเจ้าได้นำพระอัฐิธาตุพระศอและพระรากขวัญเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า ซึ่งบรรจุอยู่ในพระโกศแก้วจากอินเดีย มาถวายแด่พระเจ้าอชุตะราช พระเจ้าอชุตะราชทรงมีความปีติยินดียิ่งนักโปรดให้สร้างโกศทองคำซ้อนภายนอกอีกชั้นหนึ่ง พร้อมจัดเครื่องสักการะบูชาเป็นอันมากถวาย และได้อัญเชิญพระธาตุขึ้นสู่ยอดดอยตุง เพื่อนำไปประดิษฐานบนยอดเขานั้น ตามพุทธพยากรณ์ เมื่อถึงยอดเขาแล้วพระมหากัสสปเถระได้นำเอาโกศบรรจุพระธาตุของพระพุทธเจ้าตั้งไว้เหนือก้อนหินที่พระพุทธองค์เคยเสด็จมาประทับ ได้อธิษฐานขอให้โกศบรรจุพระธาตุนั้นจมลงไปในก้อนหินนั้น ๗ ศอก ขณะเดียวกันพระธาตุของพระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหารย์เปล่งฉัพพรรณรังสีขึ้นบนท้องฟ้าส่องสว่างทั่วนคร จากนั้นพระมหากัสสปเถระจึงอธิษฐานปักตุง (ธง) ตะขาบใหญ่ยาว ๑,๐๐๐ วา กว้าง ๕๐ วา ไว้บนยอดดอยปู่เจ้า ในเวลาต่อมาผู้คนพากันเรียกว่า “ดอยตุง” ตามที่ได้เห็นผ้าตุง (ธง) ขนาดใหญ่ผืนนั้น พระเจ้าอชุตะราชโปรดฯ ให้สร้างพระมหาสถูปครอบทับพระธาตุเจ้านั้นด้วย เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาพร้อมทั้งจัดข้าทาสบริวารให้อุปัฏฐากพระมหาธาตุเจ้าด้วย

ต่อมาใยสมัยพระเจ้ามังรายนรราช ราชโอรสของพระเจ้าอชุตะราช ได้มีพระเถระชื่อ พระมหาวชิรโพธิเถระนำพระบรมธาตุจำนวน ๕๐ องค์ (บางแห่งก็ว่า ๑๕๐ องค์) พร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ รูปมาถวาย จึงโปรดให้สร้างเจดีย์อีกองค์ไว้คู่องค์เดิมรวมพระบรมสารีริกธาตุทั้งสิ้น ๖๕๐ องค์ พระธาตุดอยตุงจึงปรากฏมีพระเจดีย์ ๒ องค์จนถึงปัจจุบันนี้

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปรากฏการณ์สำแดงอานุภาพของพระบรมธาตุ เมื่อคราวที่พระมหาวชิรโพธิเถระนำเอาพระบรมสารีริกธาตุ ๑๕๐ องค์ จากถ้ำสัตตบัณณคูหา ดอยเวภารบรรพตกรุงราชคฤห์ ใส่โกศแก้วพระธรรมราช (ปัทมราช) ลูกเท่าหมากน้ำเต้ามาถวายพระเจ้าเม็งรายๆ ได้อันเชิญสู่ดอยตุง ยกเอาโกศขึ้นประดิษฐานเหนือก้อนหินอันพระบรมสารีริกธาตุเดิม บรรจุไว้ก่อน พระบรมธาตุได้แสดงอภินิหารจมลึกลงไป ๗ ศอก คือ ประดิษฐานอยู่สูงกว่าพระบรมธาตุเดิม ๑ ศอก พระเจ้าเม็งรายให้ช่างก่อสร้างพระเจดีย์ครอบสูง ๗ ศอกและจัดงานฉลองสมโภชนานถึง ๓ เดือน

คำไหว้พระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (ว่า ๓ จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรัง มะหาคะมา นะมามิหัง
อะหัง วันทามิ สัพพะทาฯ (ว่า ๓ จบ)