วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ




หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ
วัดป่าประสิทธิธรรม บ้านดงเย็น อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี
“พระอริยเจ้าผู้มีอุปนิสัยแก่กล้าในทางธรรม”

     พระเดชพระคุณหลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ พระอริยสงฆ์ประเภทขิปปาภิญญา (บรรลุธรรมเร็ว) เป็นผู้มีอินทรีย์แก่กล้าหาได้ยาก สละทรัพย์สมบัติ ออกบวชตามรอยบาทพระศาสดา ไม่มีความอาลัยเสียดาย ประดุจบ้วนน้ำลายทิ้งลงบนแผ่นดิน เป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดสดับฟังโอวาทและติดตามท่านพระอาจารย์มั่น ท่านเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในธุดงควัตร ชอบเที่ยวธุดงค์ในประเทศลาวและประเทศพม่า เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีวิสัยวาสนาแก่กล้า พยายามฟันฝ่ากับอุปสรรคทั้งปวงเพื่อจะขอเอาดวงจิตของท่านพ้นทุกข์ให้ได้

ท่านเกิดเมื่อวันอังคาร พุทธศักราช ๒๔๓๑ ปีขาล ณ บ้านตาล ตำบลโคกสี อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรของนายจันทร์ และนางวันดี สุภาพงษ์

ชีวิตสมัยเป็นฆราวาสท่านแต่งงานสองครั้ง ครั้งแรก ภรรยาคลอดลูกตายทั้งกลม ท่านเศร้าเสียใจเป็นอย่างมาก ทำให้ครุ่นคิดได้ว่า “ทำอย่างไรหนอชีวิตของเรานี้จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง” ครั้งที่สอง ได้อยู่กินกับภรรยาใหม่ด้วยความราบรื่นจนออกบวช ท่านเป็นคนหมั่นขยันฉลาด ประกอบอาชีพเป็นพ่อค้ากองเกวียน (นายฮ้อย) จนมีฐานะ ร่ำรวย ด้วยความประพฤติดีเป็นที่พึ่งของลูกน้องได้ ท่านจึงได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาท่านได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์สาร ศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น เกิดความดื่มด่ำซาบซึ้งในรสพระธรรม จึงขอให้ภรรยาบวชชีก่อน แล้วตัวท่านได้สละทรัพย์สมบัติออกบวชตาม โดยแจกทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดเป็นทาน ไม่ยินดีอาลัยในทรัพย์สินเหล่านั้น ผู้คนที่มาเข้าแถวยาวเหยียดรอรับแจกทานจากท่านเป็นทิวแถวยาวเหยียดสุดสายตา ท่านใช้เวลาแจกทานวัตถุถึง ๓ วัน ๓ คืนจนหมด

ปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ เมื่อท่านอายุ ๓๗ ปี ได้อุปสมบท ณ วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูประสาทคณานุกิจ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ส่วนน้องชาย น้องสาวและน้องเขยได้ฟังคำสอนจากท่านก็ออกบวชตามด้วย นัยว่าเป็นผู้มั่นคงในศาสนาตลอดชีวิตทุกคน

หลังจากบวชแล้วท่านเดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ขณะที่ท่านเห็นพระอาจารย์มั่นเป็นครั้งแรก ท่านได้นึกประมาทอยู่ในใจว่า “พระองค์เล็กๆ อย่างนี้นะหรือ...ที่ผู้คนเข้าล่ำลือกันว่าเก่งหนา ดูและไม่น่าจะเก่งกาจอะไรเลย”

ครั้นเข้าไปนมัสการพระอาจารย์มั่นท่านกล่าวขึ้นเสียงดังว่า“การด่วนวินิจฉัยความสามารถของคนโดยมองดูแต่เพียงร่างกายเท่านั้นใช้ไม่ได้จะเป็นการตั้งสติอยู่ในความประมาท” เมื่อท่านได้ยินดังนั้นถึงกับสะดุ้ง เกิดความอัศจรรย์ในการรู้วาระจิตของท่านพระอาจารย์มั่น บังเกิดศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งสัจวาจาถวายชีวิต

สมัยที่ท่านเดินธุดงค์แสวงหาความวิเวกในประเทศพม่า ท่านเล่าว่าขณะที่ท่านนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่นั้นได้ปรากฏมีภาพพระภิกษุรัศมีในกายสีฟ้าบอกว่า “เราคือพระอุปคุต...เธอเคยเป็นศิษย์ของเรา เธอมีนิสัยแก่กล้า เอาให้พ้นทุกข์นะ” ท่านได้รับชมเชยจากพระอาจารย์มั่นต่อหน้าพระเถระผู้ใหญ่หลายองค์ว่า “ท่านพรหม...เป็นผู้มีความพากเพียรสูงยิ่ง เป็นผู้มีสติ มีความตั้งใจแน่วแน่ ได้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดที่สุด เป็นตัวอย่างที่ดี ควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง”

ทางคราวท่านพระอาจารย์มั่นได้ถามท่านต่อหน้าพระเถรานุเถระทั้งหลายขั้นว่า “ท่านพรหม...ท่านเดินทางมาแต่ไกลเป็นอย่างไรบ้าง การพิจารณากาย การภาวนา เป็นอย่างไร” ท่านตอบอย่างอาจหาญว่า “เกล้าฯ ไม่มีอกถังกถีแล้ว” (ไม่มีความลังเล สิ้นสงสัย) ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวยกย่องว่า “ท่านพรหม...สำเร็จเป็นพระอรหันต์ หลังจากบวชได้เพียงพรรษา ๕”

ท่านละสังขารเข้าสู่แดนอนุปาทิเสสพระนิพพาน เมื่อสันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ เวลา ๑๗.๓๐ น. ด้วยโรคชรา
สิริอายุ ๘๑ ปี ๔๓ พรรษา